25 มี.ค. 2560

ความผิดฐานเจ้าพนักงานในการยุติธรรมกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ ตามมาตรา 200

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 200  "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาหรือจัดการให้เป็นไปตามหมายอาญา กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด ๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อจะช่วยบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องโทษ หรือให้รับโทษน้อยลง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท
          ถ้าการกระทำหรือไม่กระทำนั้น เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องรับโทษ รับโทษหนักขึ้น หรือต้องถูกบังคับตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท"

          องค์ประกอบความผิดตามมาตรา 200

          (1) เป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาหรือจัดการให้เป็นไปตามหมายอาญา แต่ไม่รวมถึงผู้พิพากษา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3509/2549  จำเลยซึ่งเป็นพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องบริษัท ส. และ ป. ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทโจทก์ ทั้งที่หนังสือพิมพ์ ด. ซึ่งบริษัท ส. เป็นเจ้าของและ ป. เป็นบรรณาธิการ ลงข้อความในหนังสือพิมพ์เป็นความเท็จ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เป็นการใช้ดุลพินิจที่มิได้อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล แต่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ จึงเกินล้ำออกนอกของเขตของความชอบด้วยกฎหมายและในฐานะที่จำเลยเป็นข้าราชการอัยการชั้นสูง จำเลยย่อมทราบดีถึงเกณฑ์วินิจฉัยมูลความผิดของพนักงานอัยการ การใช้ดุลพินิจผิดกฎหมายในกรณีนี้ จำเลยเห็นได้อยู่ในตัวแล้วว่าเป็นการมิชอบและมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย อีกทั้งเพื่อจะช่วยบริษัท ส. และ ป. มิให้ต้องโทษจากการกระทำความผิดของตนอีกด้วย จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และมาตรา 200 วรรคหนึ่ง

          (2) กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด ๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4436/2531  การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจสืบสวนสอบสวนคดีอาญาได้รับแจ้งความจาก ช. ว่ามีคนร้ายลักเรือและเครื่องยนต์ของผู้เสียหายไป แต่ไม่ยอมลงรับแจ้งความในประจำวันเป็นหลักฐานและเมื่อจับคนร้ายที่ลักทรัพย์ดังกล่าวแล้ว จำเลยกลับปล่อยตัวคนร้ายไปเสีย ถือได้ว่าจำเลยได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และยังเป็นการกระทำการในตำแหน่งหน้าที่อันเป็นการมิชอบเพื่อจะช่วยคนร้ายมิให้ต้องโทษตามมาตรา 200 วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา 157ซึ่งเป็นบทหนัก

          (3) เพื่อจะช่วยบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องโทษ หรือให้รับโทษน้อยลง
          แต่ถ้าเป็นการแกล้งเพื่อให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องรับโทษ รับโทษหนักขึ้น หรือต้องถูกบังคับตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักขึ้นตามมาตรา 200 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 929/2537  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 139 บัญญัติว่าให้พนักงานสอบสวนบันทึกการสอบสวนตามหลักทั่วไปในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันว่าด้วยการสอบสวนและให้เอาบันทึกเอกสารอื่นซึ่งได้มา อีกทั้งบันทึกและเอกสารทั้งหลายซึ่งเจ้าพนักงานอื่นผู้สอบสวนคดีเดียวกันนั้นส่งมารวมเข้าสำนวนไว้ดังนั้น จำเลยที่ 1 ในฐานะพนักงานสอบสวนจึงต้องนำบันทึกคำให้การซึ่งเป็นบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาและผู้กล่าวหาฉบับเดิมที่จำเลยที่ 1 เป็นคนร่วมสอบสวนและบันทึกรวมเข้าสำนวนไว้ จำเลยที่ 1จะอ้างว่าได้ทำบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาและผู้กล่าวหาใหม่แล้วของเดิมไม่สำคัญ หรือผู้ให้ถ้อยคำไม่ประสงค์จะใช้ของเดิมจึงไม่นำเข้ารวมสำนวนไว้ ย่อมไม่อาจกระทำได้ การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวน เอาไปเสียซึ่งคำให้การฉบับเดิมของผู้ต้องหาและผู้กล่าวหา ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ปกครองดูแลรักษา โดยเจตนาเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหามิให้ต้องโทษถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำการในตำแหน่งพนักงานสอบสวนโดยมิชอบเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหาตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 วรรคแรก และทำให้ผู้กล่าวหาและกรมตำรวจเสียหายอันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 ด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดกรรมเดียว

          (4) เจตนาธรรมดา (องค์ประกอบภายใน) ถ้าหากไม่มีเจตนาก็ไม่ผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2707/2530  การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจปล่อยตัวนาย ข. ที่เข้าไปคว้าเงินของผู้เสียหายภายในร้าน โดยไม่ส่งตัวไปให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีเพราะจำเลยเห็นว่า นาย ข. เป็นสายลับตำรวจเข้าไปยึดเงินดังกล่าวเพื่อเป็นหลักฐานในการเล่นการพนันนั้น เป็นเรื่องที่จำเลยเข้าใจและใช้ดุลพินิจว่านาย ข. ไม่ได้กระทำผิดฐานชิงทรัพย์ การกระทำของจำเลยจึงไม่มีเจตนาจะช่วยเหลือนาย ข. มิให้ต้องรับโทษ ยังไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200.

          การกระทำเพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องได้รับโทษหรือได้รับโทษน้อยลง หมายความถึงบุคคลอื่น แต่ถ้าหากตัวเองเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วย และกระทำเพื่อช่วยให้ตนเองพ้นผิด ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 200
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 717/2511  ก่อนเกิดเหตุ จำเลยมีปากเสียงกับนาย ส. กับพวกในร้านอาหาร เมื่อออกจากร้าน ผู้ตายออกจากป้อมยามตำรวจตรงมาที่นาย ส. กับพวกขณะห่างจากจำเลยประมาณ 2 วา ผู้ตายทำของตกก้มลงเก็บ ขณะนั้นจำเลยซึ่งมีอาการเมาสุราด้วยน่าจะสำคัญผิดว่าผู้ตายจะทำร้ายตน จึงชักปืนยิงผู้ตายอันเป็นการเข้าใจเหตุการณ์เองโดยไม่มีเหตุสมควร และแม้จะถือว่าการสำคัญผิดเกิดขึ้นด้วยความประมาท การกระทำของจำเลยก็เป็นการเกินสมควรแก่เหตุจำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 68, 69
          แต่ในข้อหาขัดขวางนายสุทินกับพวกแจ้งความและไม่รับแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ฟังว่าผิด แต่มิใช่กระทำเพื่อจะช่วยผู้อื่นมิให้ต้องรับผิดจึงไม่ผิดตามมาตรา 200  เนื่องจากความผิดตามมาตรา 200 ฐานเป็นเจ้าพนักงานกระทำหรือละเว้นกระทำในตำแหน่งอันมิชอบ จะต้องมีความมุ่งหมายเพื่อช่วยบุคคลอื่น จึงจะเป็นความผิดตามมาตรานี้หากเพื่อช่วยเหลือตัวผู้กระทำผิดเอง และเกิดเสียหายแก่ผู้อื่น ย่อมเป็นความผิดตาม มาตรา 157
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3278/2522  กรณีจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ต้องเป็นการปฎิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติเฉพาะแต่ตามหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นโดยตรง ตามที่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่นั้น ๆ เท่านั้น
          การที่จะมีคำสั่งชี้ขาดให้ฟ้องผู้ต้องหาตามความเห็นแย้งของอธิบดีกรมตำรวจนั้น เป็นอำนาจของอธิบดีกรมอัยการตาม ป.วิ.อ.มาตรา 145 เมื่อได้ความว่าจำเลยได้ลอบทำบันทึกสั่งไม่ฟ้อง จ. กับพวก และมีหนังสือแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องไปยังอธิบดีกรมตำรวจภายหลังจากวันที่จำเลยพ้นจากการเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการแล้ว การกระทำดังกล่าวจึงไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลย จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
          จำเลยเป็นพนักงานอัยการตำแหน่งรองอธิบดีกรมอัยการ แม้จะพ้นจากการเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการแล้ว แต่รู้อยู่แล้วว่าอธิบดีกรมอัยการคนก่อนได้มีคำสั่งชี้ขาดให้ฟ้อง จ. กับพวก ตามความเห็นแย้งของอธิบดีกรมตำรวจ ระหว่างที่จำเลยยังไม่ได้มอบงานให้ ก. รองอธิบดีกรมอัยการซึ่งจะเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการแทนจำเลย จำเลยย่อมมีหน้าที่ดูแลปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำสั่งชี้ขาดให้ฟ้องคดีของอธิบดีกรมอัยการคนก่อน ซึ่งได้สั่งเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามคำสั่งชี้ขาดให้ฟ้องคดีของอธิบดีกรมอัยการคนก่อน ซึ่งได้สั่งเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่จำเลยกลับลอบทำบันทึกสั่งไม่ฟ้อง จ. กับพวก แล้วลอบแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องนั้นไปยังอธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีเจตนาป้องกันหรือขัดขวางมิให้การเป็นไปตามคำสั่งของอธิบดีกรมอัยการคนก่อน เพื่อจะช่วย จ. กับพวกมิให้ต้องโทษ จนอธิบดีกรมตำรวจได้แจ้งคำสั่งของจำเลยดังกล่าวให้ผู้ร้องทุกข์และผู้ต้องหาทราบทุกคนแล้วเช่นนี้จำเลยจึงต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 165, 200
          เมื่ออธิบดีกรมอัยการชี้ขาดให้ฟ้องคดีตามความเห็นแย้งของอธิบดีกรมตำรวจแล้ว คำสั่งชี้ขาดให้ฟ้องคดีของอธิบดีกรมอัยการเป็นอันถึงที่สุด ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 145 พนักงานอัยการต้องฟ้องคดีไปตามนั้น เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้อำนาจอธิบดีกรมอัยการรื้อฟื้นคดีไปตามนั้น เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้อำนาจอธิบดีกรมอัยการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาชี้ขาดใหม่ได้ อธิบดีกรมอัยการจึงไม่มีอำนาจที่จะชี้ขาดกลับคำสั่งของตนได้อีก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3130/2556  คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหาได้มีอำนาจที่จะตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม รายงานการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติก็มิได้ชี้มูลความผิดฐานนี้ การที่อนุกรรมการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการไต่สวนในความผิดฐานนี้มาด้วย จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ และแม้การสอบสวนของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงซึ่งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกำแพงเพชรแต่งตั้งจะพบการกระทำความผิดฐานนี้ ก็มิใช่การสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อหานี้ให้จำเลยทราบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว
          จำเลยเป็นพนักงานสอบสวนแก้ไขข้อความในสำนวนการสอบสวนจากเดิมที่มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาเป็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาหลังจากเสนอสำนวนการสอบสวนให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นลงชื่อแล้วเพื่อช่วยผู้ต้องหามิให้ต้องโทษ จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และ 200 วรรคแรก