25 มี.ค. 2560

ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเข้ามีส่วนได้เสียในกิจการที่ตนมีหน้าที่ (ผลประโยชน์ทับซ้อน) ตามมาตรา 152

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 152  "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท"

          องค์ประกอบความผิดของมาตรา 152

          (1) เป็นเจ้าพนักงาน
          ถ้าเป็นลูกจ้างไม่ว่าประจำหรือชั่วคราวก็ไม่ใช่เจ้าพนักงาน ไม่ผิดมาตรานี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 231/2503  โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นเจ้าพนักงานทำการทุจริตต่อหน้าที่และจดหลักฐานเท็จแต่ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยได้รับแต่งตั้งจากอธิบดีกรมชลประทานให้เป็นช่างบังคับหมู่เขื่อนระบายน้ำโพธิ์เตี้ยมีหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้าง ซ่อมแซมบำรุงรักษา ควบคุมการเบิกจ่ายค่าแรงคนงาน ควบคุมคนงานโดยได้รับเงินค่าจ้างเป็นรายวันจากงบประมาณ ซึ่งมิใช่ประเภทเงินเดือน เมื่อจำเลยได้เบิกค่าแรงคนงานเกินความจริงและจดหลักฐานเท็จ ก็จะเอาผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานทุจริตต่อหน้าที่และทำหลักฐานเท็จตามฟ้องไม่ได้เพราะถือว่าจำเลยไม่ใช่เจ้าพนักงานและตามฟ้องของโจทก์ก็มิได้บรรยายถึงความผิดอย่างอื่นอันเป็นเรื่องที่เห็นได้ว่า โจทก์มีความประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยซึ่งไม่ใช่ในฐานเป็นเจ้าพนักงานด้วย เมื่อเป็นดังนี้ คดีก็ไม่มีทางจะลงโทษจำเลยได้

          (2) มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด หมายถึง บรรดาผู้จัดการ ผู้อำนวยการต่างๆที่เป็นเจ้าพนักงาน

          (3) เข้ามีส่วนได้เสียเนื่องด้วยกิจการนั้น โดยอาจจะเป็นผู้รับเหมาเสียเองหรือไปยืมชื่อผู้อื่นมาเป็นผู้รับเหมางานหรือเข้าไปเป็นหุ้นส่วนกับผู้รับเหมาประมูลงานที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนเอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7776/2540  จำเลยที่ 1 เป็นปลัดสุขาภิบาลได้รับคำสั่งแต่งตั้งจากสุขาภิบาลให้เป็นผู้ตรวจงานจ้างในการจ้างเหมาขุดลอกและล้างทางระบายน้ำในเขตสุขาภิบาล จำเลยที่ 1 ได้เข้าดำเนินการขุดลอกและล้างทางระบายน้ำโดยใช้คนงานของสุขาภิบาลทำงานให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีหน้าที่จัดการและดูแลกิจการของสุขาภิบาล เมื่อจำเลยที่ 1 เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองและผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการดังกล่าวโดยจ่ายค่าจ้างคนงานเพียง 1,750 บาท แต่เบิกเงินค่าจ้างตามสัญญาไป 2,900 บาท เป็นเหตุให้สุขาภิบาลได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152, 157 อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา 152 ซึ่งเป็นบทหนัก

          (4) เพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น
          กฎหมายให้รวมไปถึงเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นด้วย ดังนั้น กิจการที่เข้ามารับงานตามที่ล็อคสเป็คไว้ ถ้าเป็นของภริยาหรือบุตร พี่เขย น้องเมีย พ่อตา แม่ยาย ญาติ เพื่อน หรือนายทุนที่สนับสนุนพรรคการเมืองก็ผิดมาตรา 152 นี้
          คดี อม. 1/2550  (คดีที่ดินรัชดา) ระหว่างอัยการสูงสุด โจทก์ กับพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร จำเลยที่ 1 และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร จำเลยที่ 2 คดีนี้จำเลยที่ 1 ผิดตามกฎหมายเฉพาะคือกระทำความผิดโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 100 (1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำสัญญาซื้อขายที่ดินในลักษณะผลประโยชน์ส่วนบุคคลขัดแย้งกับผลประโยชน์ส่วนรวม แต่ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 152 เพราะไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น

          (5) เจตนาธรรมดา (องค์ประกอบภายใน) ถ้าไม่มีเจตนาก็ไม่มีความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1706/2535  ผู้ที่จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 จะต้องเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น เมื่อปรากฏว่าในการจัดซื้อดินถมพร้อมบดอัดแน่นจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. นั้น เทศบาลได้ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบของทางราชการและราคาที่ตกลงซื้อก็ต่ำกว่าราคาที่เทศบาลตั้งงบประมาณไว้ แสดงว่าการจัดซื้อดินดังกล่าวจำเลยที่ 1 ในฐานะนายกเทศมนตรีได้กระทำไปตามอำนาจหน้าที่ของตนไม่ได้มุ่งหวังประโยชน์ของเทศบาลเป็นสำคัญ แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ก็ตามกรณีก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยการทำสัญญาซื้อขายดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 152 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิด จำเลยที่ 2ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.ก็ไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน