แต่อย่างไรก็ตาม การฟ้องแบ่งมรดกนั้นกฎหมายได้กำหนดอายุความไว้ตามมาตรา 1754 คือ มีอายุความหนึ่งปี นับแต่วันที่ทายาทได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย และมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย
ทั้งนี้ การฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกจะต้องอยู่ในบังคับแห่งอายุความ ตามมาตรา 1754 แต่ถ้าทายาทคนใดได้ครบครองทรัพย์มรดก ทายาทคนนั้นก็ฟ้องให้แบ่งมรดกนั้นได้แม้จะพ้นกำหนดอายุความในมาตรา 1754 แล้วก็ตาม (มาตรา 1748)
1. สิทธิขอแบ่งมรดกของทายาทที่ได้ครอบครองทรัพย์มรดก
มาตรา 1748 "ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน ทายาทคนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แล้วก็ดี
สิทธิที่จะเรียกให้แบ่งทรัพย์มรดกตามวรรคก่อน จะตัดโดยนิติกรรมเกินคราวละสิบปีไม่ได้"
การครอบครองทรัพย์มรดกของทายาท ตามมาตรา 1748 นี้ คือ การยึดถือทรัพย์มรดกนั้นไว้เพื่อตนในฐานะทายาท โดยการครอบครองอาจมีการครอบครองแทนก็ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 433/2493 การที่ทายาทของผู้ตายร่วมกันไปกู้เงินผู้อื่นมาไถ่นาพิพาท และให้เจ้าหนี้ทำนาพิพาทต่างดอกเบี้ยภายใน 1 ปีนับแต่เจ้ามรดกตายนั้น ถือว่าทายาทเหล่านั้นได้ครอบครองนาพิพาทด้วยกัน ตลอดเวลาที่เจ้าหนี้ทำนามรดกนั้นต่างดอกเบี้ยอยู่ หากทายาทคนใดไปลอบไถ่มาโดยไม่แจ้งให้ทายาทอื่นทราบ ก็ไม่ถือว่าทายาทคนอื่นสละการครอบครอง คงถือว่าทายาทลอบที่ไถ่มาครอบครองแทนทายาทอื่นนั้น และคดีไม่ขาดอายุความมรดก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 259/2506 (ประชุมใหญ่) โจทก์อยู่กับมารดาที่เรือนมารดาในที่พิพาท ก่อนมารดาตาย มารดาตายที่พิพาทตกเป็นมรดกของมารดา โจทก์ก็ยังคงอยู่ที่เรือนมารดาอีกหลายเดือนนับแต่มารดาตาย แล้วเรือนมารดาก็ถูกรื้อถวายวัด โจทก์จึงมาอยู่ที่เรือนจำเลยในที่พิพาทอีกหลายเดือน รวมเวลาที่โจทก์อยู่ในที่พิพาทหลังจากมารดาตายได้ราวปีเศษ โจทก์จึงไปอยู่ที่จังหวัดอื่น นับว่าโจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกมากับจำเลยด้วยกันในตอนแรก โจทก์กับจำเลยจึงมีฐานะเป็นเจ้าของทรัพย์มรดกร่วมกันมา การที่จำเลยครอบครองที่พิพาทต่อมาถือได้ว่าครอบครองที่พิพาทไว้แทนในฐานะเจ้าของร่วม แม้โจทก์มาฟ้องขอให้แบ่งมรดกที่พิพาทภายหลังมารดาตายแล้ว 18 ปี คดีก็ไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1365/2508 การที่จำเลยได้ครอบครองทรัพย์มรดกแทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ตลอดมาตั้งแต่เจ้ามรดกตาย แม้ต่อมาโจทก์บรรลุนิติภาวะแล้ว จำเลยก็ยังคงครอบครองแทนต่อมาอีก โจทก์ย่อมฟ้องคดีเกิน 10 ปีนับตั้งแต่เจ้ามรดกตายได้ คดีไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748
การที่จำเลยบอกโจทก์ว่าจะไม่ให้ทรัพย์มรดกที่เจ้ามรดกให้นั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยพูดไปด้วยความโมโห ไม่มีเจตนาจริงจังก็ไม่ถือว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะการยึดถือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 กรณีไม่ใช่โจทก์ถูกจำเลยแย่งการครอบครอง โจทก์จึงไม่ต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6460/2538 จำเลยทั้งสองทำกินในทรัพย์มรดกร่วมกับเจ้ามรดกและมารดาจำเลยทั้งสองก่อนเจ้ามรดกถึงแก่กรรม 10 ปีเศษ เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรมก็ยังครอบครองทรัพย์มรดกนับแต่เจ้ามรดกถึงแก่กรรมเกิน 10 ปีแล้ว โดยโจทก์และผู้ร้องสอดไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่แรก ฉะนั้นสิทธิของโจทก์และผู้ร้องสอดให้จำเลยทั้งสองแบ่งมรดกซึ่งเป็นคดีมรดกจึงต้องห้ามมิให้ฟ้องตาม ป.พ.พ.มาตรา 1754 วรรคท้าย สิทธิในทรัพย์มรดกดังกล่าวย่อมตกแก่จำเลยทั้งสองโดยสมบูรณ์ การที่จำเลยที่ 1 ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกในเวลาต่อมาก็เพื่อจะดำเนินการให้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนให้ได้สิทธิโดยสมบูรณ์ในทรัพย์มรดกเท่านั้น หาใช่เพื่อประโยชน์แก่ทายาทอื่น ๆ ซึ่งสิ้นสิทธิในการฟ้องคดีเกี่ยวกับทรัพย์มรดกไปโดยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1754 แล้วไม่
กรณีดังกล่าวมิใช่กรณีจำเลยที่ 1 สละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 192 เดิม หรือ 193/24 ใหม่ ฉะนั้นถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองครอบครองทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกแทนหรือเพื่อประโยชน์แก่ทายาทอื่นทั้งปวงของเจ้ามรดก โจทก์และผู้ร้องจะยกเอาประโยชน์แห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1748 มาอ้างสิทธิเพื่อเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองแบ่งทรัพย์มรดกเมื่อล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แล้วหาได้ไม่ จำเลยจึงยกอายุความใช้ยันโจทก์และผู้ร้องสอดได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1111/2540 ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนด การที่ผู้ตายยกที่ดินพิพาทให้ผู้ร้อง ซึ่งทายาทคนหนึ่งของผู้ตาย แต่มิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่สมบูรณ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 525 เมื่อการยกให้ไม่สมบูรณ์ ต่อมาเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายและไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้แสดงเจตนาไปยังทายาทคนอื่นว่าผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตนเอง การครอบครองที่ดินพิพาทของผู้ร้องจึงเป็นการครอบครองแทนทายาทคนอื่นด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 754/2541 เมื่อทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่พิพาทยังอยู่ระหว่างทายาทครอบครองร่วมกันและยังมิได้มีการแบ่งปันกัน แม้จำเลยจะครอบครองทรัพย์มรดกก็เป็นการครอบครองทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ยังมิได้แบ่งปันกัน เป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นซึ่งรวมถึงโจทก์ด้วย แม้โจทก์จะฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายหรือนับแต่เมื่อโจทก์รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก คดีของโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1754 และเมื่อพ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลาและสตูล พ.ศ.2489 มาตรา 3 กำหนดให้การวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องอายุความมรดกไม่อยู่ในบังคับต้องใช้กฎหมายอิสลาม กรณีจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1231/2547 ขณะมีชีวิตอยู่ ห. เพียงแต่มีความประสงค์จะยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเท่านั้น แต่ยังไม่ได้มีการยกให้จริง ดังนั้น ห. ถึงแก่กรรมที่ดินพิพาทจึงย่อมเป็นทรัพย์มรดกของ ห. ตกได้แก่บรรดาทายาทของ ห. ซึ่งรวมถึงโจทก์และจำเลยด้วย การที่จำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาภายหลังจากที่ ห. ถึงแก่กรรมแล้วจึงเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทของ ห. คนอื่นๆ ด้วย จำเลยเพิ่งจะมาเปลี่ยนเจตนาครอบครองเพื่อตนก็เมื่อจำเลยไปยื่นคำขอให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแต่เพียงผู้เดียวเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2537 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2538 จึงมีอำนาจฟ้อง
ระยะเวลาในการครอบครองทรัพย์มรดกที่จะมีผลตามมาตรา 1748 นั้น แม้จะเป็นการครอบครองเพียงหนึ่งวันก็ถือว่าทายาทนั้นได้ครอบครองแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องเข้าครอบครองภายในอายุความด้วย มิฉะนั้น ทายาทอื่นอาจยกอายุความขึ้นใช้ยันเอาได้ อันจะทำให้การเข้ายึดถือนั้นไม่เกิดผล
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 752/2508 เจ้ามรดกตาย ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกได้ครอบครองมรดกร่วมกัน แม้เพียง 1 เดือนก็ถือได้ว่าได้ร่วมกันรับมรดกดังกล่าวและเป็นเจ้าของทรัพย์มรดกร่วมกันแล้ว เมื่อทายาทฝ่ายหนึ่งมาฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวนั้น จึงเป็นการฟ้องขอให้แบ่งทรัพย์ซึ่งทายาทฝ่ายนั้นเป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วย จะนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาใช้บังคับไม่ได้
โจทก์จำเลยครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกันมา ต่อมาโจทก์โกรธจำเลยจึงแยกไปอยู่เสียที่อื่น จำเลยจึงครอบครอบทรัพย์มรดกนั้นแต่ผู้เดียวต้องถือว่าครอบครองในฐานะเจ้าของร่วมกันและแทนกัน มิใช่เป็นการเข้าแย่งการครองครองดังประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375
ทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกมีสิทธิจะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดก แม้จะล่วงพ้นอายุความตามมาตรา 1754 แล้วนั้น หมายถึง เรียกร้องให้แบ่งปันทรัพย์มรดกเฉพาะทรัพย์สินที่ตนได้ครอบครองเท่านั้น จะเรียกร้องให้แบ่งปันทรัพย์มรดกอื่นที่ไม่ได้ครอบครองหาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3201/2545 โจทก์ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกภายหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายเป็นเวลาถึง 37 ปีเศษ จึงพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เจ้ามรดกตายหรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ซึ่งต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 แต่หากโจทก์ซึ่งเป็นทายาทได้ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งกันก็ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1748 แล้ว
ทรัพย์มรดกที่ดินของ ผ. เจ้ามรดกได้แบ่งปันให้แก่ ร. บ. และ ส. ทายาทของผ. และบุคคลทั้งสามดังกล่าวเข้าครอบครองที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัด อันเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคแรก จึงถือว่าการแบ่งปันมรดกเสร็จสิ้นแล้ว และนับแต่นั้นมาย่อมถือว่า บุคคลทั้งสามครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตน มิใช่ครอบครองแทนโจทก์ซึ่งเป็นทายาท ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเอาส่วนแบ่งมรดกอีก
ผู้จัดการมรดกครอบครองทรัพย์มรดกนั้นในฐานะตัวแทนทายาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5710/2544 โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกมิใช่ฟ้องให้จำเลยรับผิดในการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้กระทำไปในฐานะผู้จัดการมรดก จึงเป็นคดีมรดกไม่ใช่คดีจัดการมรดก
เมื่อข้อเท็จจริงยังมีที่ดินมรดกอีก 3 แปลงที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกยังไม่ได้จัดการแบ่งให้ทายาทแสดงว่าการจัดการมรดกยังอยู่ในระหว่างจัดการ เมื่อจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกจึงเป็นผู้แทนของทายาททั้งปวงโดยนำลักษณะตัวการตัวแทนมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1720 การที่จำเลยครอบครองทรัพย์มรดกในระหว่างจัดการมรดกถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทตาม มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1368 โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทชอบที่จะฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยได้แม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความตาม มาตรา 1754 ทั้งนี้ ตาม มาตรา 1748
ผู้เช่าครอบครองทรัพย์มรดกต่อมาภายหลังจากเจ้ามรดกตาย ถือว่าผู้เช่าครอบครองแทนทายาททุกคน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1751/2542 ท. เช่าที่ดินพิพาทจาก จ. แม้ จ. ถึงแก่กรรมแล้ว ท. ก็ยังเช่าติดต่อกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ถือได้ว่า ท. ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทของ จ. ซึ่งก็คือโจทก์กับจำเลยทั้งสอง มิได้ครอบครองแทนเฉพาะจำเลยทั้งสองที่เป็นผู้เก็บค่าเช่าเท่านั้น การที่จำเลยทั้งสองได้จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินพิพาทโดยโจทก์ไม่ทราบประกาศกับมิได้คัดค้าน ยังถือไม่ได้ว่ามีการแบ่งมรดกที่ดินพิพาทแล้ว เพราะการปิดประกาศการขอรับมรดกของเจ้าพนักงานที่ดินก็เพื่อให้ผู้ที่มีสิทธิเกี่ยวข้องได้ทราบและมีการกำหนดเวลาให้เพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินสามารถดำเนินการเกี่ยวกับคำขอรับมรดกได้หากไม่มีผู้คัดค้าน เมื่อถือว่าโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งกัน โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความหนึ่งปี ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 748/2542 เมื่อโจทก์และทายาทอื่นซึ่งมีสิทธิได้รับมรดก ได้ตกลงแบ่งปันมรดกกันแล้ว แม้มรดกส่วนที่โจทก์จะได้รับโจทก์ยังไม่เข้าครอบครองในฐานะเจ้าของแต่โจทก์ได้ให้ผู้อื่นครอบครองแทน ซึ่งเปรียบเสมือนโจทก์ได้รับส่วนแบ่งและได้ครอบครองที่ดินพิพาทด้วยตนเองแล้ว การแบ่งปันมรดกจึงเสร็จสิ้นแล้ว
โจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดก จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินมรดกที่ บ.มารดาจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับการแบ่งปันมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกโดยไม่มีส่วนของโจทก์ บ.ได้ครอบครองทำประโยชน์โดยโจทก์ไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยว ต่อมา บ.ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2และที่ 3 ครอบครองทำประโยชน์ต่อ โจทก์ไม่ฟ้องขอแบ่งมรดกภายใน 1 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความ ดังนี้ตามคำให้การจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีประเด็นเรื่องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้เปลี่ยนลักษณะการยึดถือที่ดินพิพาทอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์อันเป็นการแย่งการครอบครองของโจทก์ การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยประเด็นนี้แล้วอ้างเป็นเหตุยกฟ้องจึงเป็นการไม่ชอบ
โจทก์และ บ.มารดาจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท โดย บ.ครอบครองที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ไว้แทน การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาหลังจาก บ.ถึงแก่ความตาย จึงเป็นการครอบครองแทนโจทก์ด้วย โจทก์จึงยังคงเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทอยู่ครึ่งหนึ่ง และมีสิทธิขอแบ่งที่ดินพิพาทตามฟ้อง
2. ข้อตกลงมิให้แบ่งมรดก
มาตรา 1748 วรรคสอง "สิทธิที่จะเรียกให้แบ่งทรัพย์มรดกตามวรรคก่อน จะตัดโดยนิติกรรมเกินคราวละสิบปีไม่ได้"
สิทธิที่จะแบ่งมรดกในฐานะเจ้าของรวมนั้น เจ้าของรวมจะตกลงกันมิให้แบ่งก็ได้ ข้อตกลงนั้นอาจทำได้เป็นครั้งคราวไป โดยครั้งหนึ่งๆจะตกลงกันมิให้แบ่งปันเป็นระยะเวลาเกิน 10 ปีไม่ได้ โดยเมื่อครบกำหนด 10 ปี ก็อาจทำความตกลงกันใหม่มีระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี
3. สิทธิร้องสอดเข้ามาในคดีฟ้องเรียกทรัพย์มรดก
มาตรา 1749 วรรคหนึ่ง "ถ้ามีคดีฟ้องเรียกทรัพย์มรดก ผู้ซึ่งอ้างว่าตนเป็นทายาทมีสิทธิในทรัพย์มรดกนั้น จะร้องสอดเข้ามาในคดีก็ได้"
4. การเรียกทายาทเข้ามารับส่วนแบ่งหรือกันส่วนไว้ให้ทายาทอื่น
มาตรา 1749 วรรคสอง "แต่ศาลจะเรียกทายาทอื่น นอกจากคู่ความ หรือผู้ร้องสอด ให้เข้ามารับส่วนแบ่งหรือกันส่วนแห่งทรัพย์มรดกไว้เพื่อทายาทอื่นนั้นไม่ได้"
ตามมาตรา 1749 วรรคสอง มีข้อห้ามอยู่ 2 ประการคือ
(1.) ห้ามศาลเรียกทายาทอื่นเข้ามารับส่วนแบ่ง
(2.) ห้ามศาลกันส่วนแห่งทรัพย์มรดกไว้เพื่อทายาทอื่น
ซึ่งข้อห้ามดังกล่าวนี้ ไม่เกี่ยวกับการฟ้องขอแบ่งมรดกในคดีอื่นๆ