27 พ.ย. 2559

เอกสารปลอมและเอกสารเท็จ

          ความผิดฐานปลอมเอกสารนั้น จะเป็นความผิดต่อเมื่อเป็นการปลอมเอกสาร โดยการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร ตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง หรือ เป็นการกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้น ตามมาตรา 264 วรรคสอง เท่านั้น
          ".....เอกสารปลอม คือ เอกสารนั้นแสดงว่าผู้ใดทำโดยที่ผู้นั้นมิได้ทำเอกสารนั้น ไม่ได้ให้อำนาจผู้ใดอื่นทำเอกสารนั้น เอกสารที่คนหนึ่งทำขึ้นโดยให้เข้าใจว่าเป็นเอกสารที่คนอื่นทำขึ้น จึงจะเป็นเอกสารปลอม คือหลอกในตัวผู้ทำเอกสาร ไม่เกี่ยวกับข้อความที่เขียนลงในเอกสารนั้นว่า จริงหรือเท็จแต่ประการใด" (หมายเหตุท้ายคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2379/2526 โดยท่านศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์)
          แต่ถ้าเอกสารที่ทำขึ้นโดยเจ้าของ โดยแสดงว่าตนเองเป็นผู้ทำอยู่แล้ว แม้เอกสารนั้นจะไม่เป็นความจริง หรือมีข้อความเท็จ ก็เป็นเรื่องเอกสารเท็จ ไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร แต่ประการใด


          กรณีทำเอกสารขึ้นเองโดยให้ผู้เห็นเอกสารเข้าใจว่าเป็นเอกสารที่คนอื่นทำขึ้น เป็นเอกสารปลอม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12/2519  จำเลยได้รับทำสำเนาทะเบียนบ้านปลอมขึ้นตามที่เจ้าพนักงานตำรวจได้วางแผนเพื่อจับกุม และเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้พร้อมสำเนาทะเบียนบ้านปลอมดังกล่าวเป็นของกลางซึ่งจำเลยฉีกขาดขณะจับกุม  ดังนี้ แม้สำเนาทะเบียนบ้านปลอมนั้นจะมิได้นำไปใช้ในกิจการที่จำเลยทำและไม่มีผู้ใดเจตนานำไปใช้ก็ดี แต่ในการทำสำเนาทะเบียนบ้านปลอมขึ้นที่พึงเห็นได้ว่า จำเลยได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงอยู่ในตัว การกระทำของจำเลยจึงเข้าองค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 934/2519  จำเลยเขียนบันทึกคำให้การนายจุ้นฮองผู้ขอหนังสือเดินทางโดยมิได้สอบปากคำ ทั้งลงลายมือชื่อนายจุ้นฮองเอาเอง เพื่อให้ทางราชการหลงเชื่อว่าเป็นคำให้การนายจุ้นฮอง ทำให้เสียหายแก่ราชการกรมตำรวจและกระทรวงการต่างประเทศ เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2830/2524  จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานในหน่วยงานของรัฐ โดยเป็นเสมียนสถานธนานุเคราะห์สังกัดกรมประชาสงเคราะห์ มีหน้าที่เขียนตั๋วรับจำนำ จำเลยที่ 2 พิมพ์ลายนิ้วมือของตนในตั๋วรับจำนำซึ่งมีชื่อผู้อื่นเป็นผู้จำนำ แสดงออกว่าเป็นลายพิมพ์นิ้วมือของผู้จำนำ มีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2316/2529  การที่จำเลยทำคำสั่งจังหวัดตราดเรื่องแต่งตั้งข้าราชการลงในกระดาษไขโดยไม่มีอำนาจ แล้วตัดเอากระดาษไขที่มีลายมือชื่อของผู้ว่าราชการจังหวัดตราดซึ่งได้ลงนามไว้ในคำสั่งฉบับอื่น มาติดไว้ท้ายคำสั่งที่จำเลยทำขึ้น และจำเลยโรเนียวคำสั่งนี้ออกมา เพื่อแสดงให้บุคคลอื่นหลงเชื่อว่าคำสั่งที่จำเลยทำขึ้นนี้เป็นคำสั่งที่แท้จริง ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10385/2546   ใบถอนเงินที่จำเลยทำปลอมขึ้นและนำไปใช้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหาย เป็นหลักฐานที่ใช้แสดงว่าผู้เสียหายได้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากไปแล้ว ใบถอนเงินจึงเป็นเอกสารอันก่อให้เกิดสิทธิในการรับเงินจากธนาคารจึงเป็นเอกสารสิทธิ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (9)
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายว่า ใบถอนเงินของธนาคาร ก. ที่จำเลยนำไปยื่นต่อพนักงานของธนาคารดังกล่าว ประจำสาขาอยุธยา เป็นเอกสารสิทธิหรือไม่ เห็นว่า ใบถอนเงินที่จำเลยทำปลอมขึ้นและนำไปใช้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหายดังกล่าว เป็นหลักฐานที่ใช้แสดงว่าผู้เสียหายได้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคารไปแล้ว ใบถอนเงินดังกล่าวจึงเป็นเอกสารอันก่อให้เกิดสิทธิในการรับเงินจากธนาคาร จึงเป็นเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (9) การที่จำเลยได้นำแบบพิมพ์ใบถอนเงินของธนาคาร ก. มากรอกข้อความโดยเขียนชื่อนางสาว ศ. ในช่องชื่อบัญชี เขียนเลขที่บัญชี จำนวนเงิน และลงลายมือชื่อปลอมของนางสาว ศ. ในช่องผู้รับเงินและในช่องผู้ถอนเงิน แล้วนำใบถอนเงินไปยื่นต่อพนักงานของธนาคารดังกล่าว ประจำสาขาอยุธยา ซึ่งหลงเชื่อว่าเป็นใบถอนเงินที่แท้จริงจึงจ่ายเงินให้จำเลยไป ดังนี้ การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการทำเอกสารสิทธิปลอมขึ้นทั้งฉบับ เพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง และก่อให้เกิดความเสียหายแก่นางสาว ศ. ธนาคาร และพนักงานธนาคารแล้ว จึงเป็นการปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมทั้งสองฉบับ

          แต่ถ้าเป็นเอกสารที่เจ้าของทำขึ้นเอง ไม่ได้ทำเพื่อให้เห็นว่าเป็นเอกสารของผู้อื่น แม้ข้อความในเอกสารจะเป็นความเท็จ ก็ไม่ใช่เอกสารปลอม ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 106/2497   เช่าบ้านเขาอยู่โดยไม่ได้ทำหนังสือสัญญาเช่ากันไว้ ครั้นเจ้าของบ้านขายบ้านนั้นให้ผู้อื่นไป ผู้ซื้อคนใหม่ให้ผุ้เช่าออกจากบ้านเช่า ผู้เช่าก็ไม่ยอมออก ผู้ซื้อจึงฟ้องขับไล่ผู้เช่าได้สมคบกับเจ้าของบ้านคนเดิมทำหนังสือสัญญาเช่าขึ้น 1 ฉะบับแล้วผู้เช่าเอามาอ้างเป็นพยานต่อศาลดังนี้ ถือว่ายังไม่เป็นผิดฐานปลอมหนังสือ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2179/2524  จำเลยเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบัญชีมีหน้าที่ควบคุมดูแลบัญชีกระแสรายวัน ได้กรอกข้อความในแบบพิมพ์ใบนำฝากเงินเข้าบัญชีกระแสรายวันว่ามีการนำเช็คเงินสดมาเข้าบัญชีลูกค้าของธนาคาร และลงชื่อในช่องลายเซ็นชื่อผู้มีอำนาจท้ายแบบพิมพ์ เอกสารที่จำเลยทำขึ้นนั้นจำเลยทำในหน้าที่ของจำเลยเอง จำเลยไม่ได้ทำขึ้นเพื่อให้เห็นว่าเป็นเอกสารของผู้อื่น แม้ข้อความในเอกสารจะไม่เป็นความจริงโดยไม่มีเช็คมาเข้าบัญชี ก็เป็นเพียงจำเลยทำหนังสือของจำเลยเองอันมีข้อความเป็นเท็จเท่านั้น จำเลยยังไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิแม้จำเลยนำไปใช้ก็ไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารปลอม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1046 - 1047/2526   เอกสารทั้งสองฉบับที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำขึ้นเป็นเอกสารของจำเลยซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 4 ได้ลงลายมือชื่อของตนเอง มิได้ปลอมลายมือชื่อของผู้ใดและมิใช่เป็นการปลอมหรือเลียนแบบเอกสารอันแท้จริงของผู้ใด แม้ข้อความในเอกสารจะไม่ตรงต่อความจริงหรือเป็นเท็จ การกระทำของจำเลยทั้งสี่ก็ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารหรือปลอมเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา264 และ 265 ดังนั้น ความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 จึงไม่เกิดขึ้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6509/2549   จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้จัดการและผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นประธานที่ประชุมผู้ถือหุ้นเป็นผู้มีหน้าที่ต้องจัดให้มีการทำรายงานการประชุมของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 ได้จัดให้มีการทำบันทึกรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นขึ้นตามหน้าที่ของตนและลงลายมือชื่อตนเองเป็นประธานที่ประชุม มิได้ทำในนามของบุคคลอื่น จึงเป็นเอกสารที่แท้จริงของจำเลยที่ 2 แม้ข้อความในเอกสารจะไม่เป็นความจริง เพราะไม่มีการประชุมดังกล่าว ก็เป็นการทำเอกสารอันเป็นความเท็จเท่านั้น ไม่ทำให้เป็นเอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 264 เมื่อการกระทำดังกล่าวไม่เป็นการปลอมเอกสาร การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 264, 368