19 พ.ย. 2559

สิทธิจำนองครอบทรัพย์สินซึ่งจำนองเพียงใด

          1. สิทธิจำนองครอบทรัพย์สินซึ่งจำนองทุกสิ่ง
          มาตรา  716 "จำนองย่อมครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจำนองหมดทุกสิ่ง แม้จะได้ชำระหนี้แล้วบางส่วน"
          กรณีเอาทรัพย์สินหลายสิ่งมาจำนองเป็นประกันหนี้รายเดียวกันหรือกรณีจำนองที่ดินแล้วต่อมามีการแบ่งแยกโฉนดออกเป็นหลายโฉนด ถึงแม้จะมีการชำระหนี้จำนองบางส่วนแล้วก็ตาม สิทธิจำนองย่อมครอบไปถึงทรัพย์สินทุกรายการหรือทุกสิ่ง เว้นแต่จะมีการตกลงกับผู้รับจำนองว่าให้ทรัพย์สินรายการใดหลุดพ้น ดังนั้น ถ้ามีลูกหนี้จำนองขอชำระหนี้บางส่วนเพื่อให้ทรัพย์สินที่จำนองบางสิ่งปลอดจำนอง ย่อมเป็นสิทธิของผู้รับจำนองว่าจะยอมรับหรือไม่ก็ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3068/2539  เมื่อจำเลยที่ 4 เป็นหนี้จำเลยที่ 1 จำนวน 42,000,000 บาทเศษ แม้หากจำเลยที่ 3 ชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 1,300,000 บาท การจำนองก็ยังคงครอบไปถึงที่ดินที่จำนองทุกแปลง เว้นแต่จำเลยที่ 1 ผู้รับจำนองยินยอมด้วยก็สามารถปลอดจำนองที่ดินแปลงใดได้ ดังนั้น การที่โจทก์ขอชำระหนี้ที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 เพียงบางส่วน เพื่อให้ที่ดินพิพาทปลอดจากจำนอง ย่อมเป็นสิทธิของจำเลยที่ 1 ที่จะยอมรับหรือไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ยินยอม ก็ไม่มีทางที่จะบังคับจำเลยที่ 1 ให้ยินยอมอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4175/2539  จำเลยในคดีนี้เป็นโจทก์ในอีกคดีหนึ่งฟ้องบริษัท ส.ขอให้บังคับจำนองที่ดินหลายแปลงซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาทในคดีนี้ที่บริษัท ส. เป็นลูกหนี้อยู่ เมื่อโจทก์เป็นผู้ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทที่แบ่งแยกออกมาจากบริษัท ส. ที่ต้องเสี่ยงภัยเสียสิทธิในการที่จะได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทหากปล่อยให้บังคับคดี โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเข้าใช้หนี้ให้จำเลยแทนบริษัท ส. ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 230 แต่แม้ว่าจะมีการไถ่ถอนจำนองไปบางส่วนแล้ว ทรัพย์สินซึ่งจำนองทั้งหมดที่เหลืออยู่ก็จะต้องเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญาจำนองของเงินจำนวนทั้งหมดที่ค้างอยู่ตามมาตรา 716 และ 717 เมื่อหนี้จำนองที่บริษัท ส. มีต่อจำเลยยังเหลืออยู่อีก 5,396,629.37 บาท แต่มีที่ดินพิพาทเหลืออยู่เพียงแปลงเดียวการไถ่ถอนจำนอง ก็ต้องชำระหนี้ทั้งหมดที่บริษัท ส.เป็นหนี้จำเลยอยู่ โจทก์จะบังคับให้จำเลยรับชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองเพียง 386,788.60 บาท ไม่ได้

          2. จำนองครอบทรัพย์สินที่จำนองทุกส่วน
          มาตรา  717 "แม้ว่าทรัพย์สินซึ่งจำนองจะแบ่งออกเป็นหลายส่วนก็ตาม ท่านว่าจำนองก็ยังคงครอบไปถึงส่วนเหล่านั้นหมดทุกส่วนด้วยกันอยู่นั่นเอง
          ถึงกระนั้นก็ดี ถ้าผู้รับจำนองยินยอมด้วย ท่านว่าจะโอนทรัพย์สินส่วนหนึ่งส่วนใดไปปลอดจากจำนองก็ให้ทำได้ แต่ความยินยอมดั่งว่านี้หากมิได้จดทะเบียน ท่านว่าจะยกเอาขึ้นเป็นข้อต่อสู้แก่บุคคลภายนอกหาได้ไม่"
          เป็นเรื่องเอาทรัพย์สินสิ่งเดียวแต่มีหลายส่วนไปจำนองเป็นประกันหนี้ สิทธิจำนองย่อมครอบไปถึงทุกส่วนของทรัพย์สินนั้น แต่ถ้าผู้รับจำนองจะตกลงยินยอมให้ส่วนใดปลอดจำนองก็ได้ โดยต้องนำความยินยอมนั้นไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกได้

          3. จำนองครอบไปถึงทรัพย์อันติดพันกับทรัพย์สินซึ่งจำนอง
          มาตรา  718 "จำนองย่อมครอบไปถึงทรัพย์ทั้งปวงอันติดพันอยู่กับทรัพย์สินซึ่งจำนอง แต่ต้องอยู่ภายในบังคับซึ่งท่านจำกัดไว้ในสามมาตราต่อไปนี้"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2410/2524  บ้านเรือนซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินแปลงใด ย่อมเป็นส่วนควบของที่ดินแปลงนั้น ถ้าไม่ปรากฏหลักฐานเป็นอย่างอื่นผู้ใดเป็นเจ้าของที่ดินแปลงใด ย่อมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านที่ปลูกอยู่ในที่ดินแปลงนั้น ดังนั้น การจำนองหรือการโอนที่ดินถ้าหากไม่ปรากฏว่ามีเงื่อนไขว่าจำนองหรือโอนไปโดยไม่รวมถึงบ้านอันเป็นส่วนควบของที่ดินแล้ว ก็ต้องถือว่าได้จำนองหรือโอนบ้านซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินแปลงนั้นด้วย โดยไม่จำต้องระบุว่าการจำนองหรือโอนนั้นให้รวมถึงสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนั้นด้วย
          ข้อยกเว้นหลักเรื่องจำนองย่อมครอบไปถึงทรัพย์ทั้งปวงอันติดพันอยู่กับทรัพย์สินซึ่งจำนอง ตามมาตรา 718 
          (1) จำนองที่ดินไม่ครอบไปถึงโรงเรือนที่ปลูกสร้างภายหลังวันจำนอง
          มาตรา  719 "จำนองที่ดินไม่ครอบไปถึงเรือนโรงอันผู้จำนองปลูกสร้างลงในที่ดินภายหลังวันจำนอง เว้นแต่จะมีข้อความกล่าวไว้โดยเฉพาะในสัญญาว่าให้ครอบไปถึง
          แต่กระนั้นก็ดี ผู้รับจำนองจะให้ขายเรือนโรงนั้นรวมไปกับที่ดินด้วยก็ได้ แต่ผู้รับจำนองอาจใช้บุริมสิทธิของตนได้เพียงแก่ราคาที่ดินเท่านั้น"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2410/2524   บ้านเรือนซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินแปลงใด ย่อมเป็นส่วนควบของที่ดินแปลงนั้น ถ้าไม่ปรากฏหลักฐานเป็นอย่างอื่นผู้ใดเป็นเจ้าของที่ดินแปลงใด ย่อมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านที่ปลูกอยู่ในที่ดินแปลงนั้น ดังนั้น การจำนองหรือการโอนที่ดินถ้าหากไม่ปรากฏว่ามีเงื่อนไขว่าจำนองหรือโอนไปโดยไม่รวมถึงบ้านอันเป็นส่วนควบของที่ดินแล้ว ก็ต้องถือว่าได้จำนองหรือโอนบ้านซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินแปลงนั้นด้วย โดยไม่จำต้องระบุว่าการจำนองหรือโอนนั้นให้รวมถึงสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนั้นด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2521/2516   ผู้ที่มิใช่เจ้าของทรัพย์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะนำทรัพย์นั้นไปจำนอง 
          แม้เอกสารต่อท้ายสัญญาจำนองจะมีข้อความระบุว่าผู้จำนองได้จำนองสิ่งปลูกสร้างซึ่งได้ปลูกสร้างขึ้นภายหลังจำนองด้วย ข้อความดังกล่าวก็ย่อมหมายถึงสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้จำนองเท่านั้น ไม่รวมถึงทรัพย์ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลภายนอกด้วย  ผู้รับจำนองจึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายสิ่งปลูกสร้างของบุคคลภายนอกซึ่งได้ปลูกสร้างไว้บนที่ดินของผู้จำนอง
          (2) จำนองโรงเรือนที่ปลูกในที่ดินผู้อื่นไม่ครอบไปถึงที่ดินนั้นด้วย
          มาตรา  720 "จำนองเรือนโรงหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นซึ่งได้ทำขึ้นไว้บนดินหรือใต้ดิน ในที่ดินอันเป็นของคนอื่นเขานั้นย่อมไม่ครอบไปถึงที่ดินนั้นด้วย ฉันใดกลับกันก็ฉันนั้น"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3916/2525   สิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ปลูกอยู่บนที่ดินของจำเลยที่ 2 การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ 2 ในส่วนที่เป็นที่ตั้งของสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวด้วย ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองที่ดินจากจำเลยที่ 2 ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ปล่อยที่ดินส่วนดังกล่าวซึ่งมิใช่เป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 288 
          สำหรับสิ่งปลูกสร้างที่ผู้ร้องรับจำนองไว้จากจำเลยที่ 1 นั้น ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 เจ้าพนักงานบังคับคดีมีสิทธิที่จะยึดและนำออกขายทอดตลาดเพื่อเอาเงินชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาได้ ผู้ร้องชอบที่จะขอรับชำระหนี้จำนองจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดก่อนเจ้าหนี้อื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 หรือหากผู้ร้องไม่ขอรับชำระหนี้จำนอง สิทธิจำนองของผู้ร้องซึ่งอาจร้องขอให้บังคับเหนือสิ่งปลูกสร้างนั้นก็ไม่ถูกกระทบกระทั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอให้ปล่อยสิ่งปลูกสร้างนั้น
          (3) จำนองไม่ครอบไปถึงดอกผลของทรัพย์สินซึ่งจำนอง
          มาตรา  721 "จำนองไม่ครอบไปถึงดอกผลแห่งทรัพย์สินซึ่งจำนอง  เว้นแต่ในเมื่อผู้รับจำนองได้บอกกล่าวแก่ผู้จำนองหรือผู้รับโอนแล้วว่าตนจำนงจะบังคับจำนอง"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1819/2530  ดอกผล แห่งทรัพย์สินที่จำนองซึ่งผู้รับจำนองจะบังคับเอาได้นั้น ถ้าเงินค่าเช่าที่ดินและบ้านที่จำนองอันเป็นดอกผลนิตินัยแล้ว จะต้องเป็นการเช่าที่มีอยู่ก่อนและขณะผู้รับจำนองบอกกล่าวบังคับจำนอง ไม่ใช่ไม่มีการเช่า อยู่เลยแล้วคาดหมายว่าอาจให้เช่า และได้ค่าเช่าจำนวนหนึ่งในภาคหน้า ฉะนั้น ค่าเช่าที่ดินและบ้านที่จำนองซึ่งโจทก์คาดว่าจะได้ในภาคหน้า ดังกล่าวจึงไม่ใช่ดอกผล ที่โจทก์ผู้รับจำนองจะพึงบังคับจำนองเอาตาม ป.พ.พ.มาตรา 721 ได้