27 พ.ย. 2559

ความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์

          มาตรา  217 "ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น  ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท"
          มาตรา  218 "ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ดังต่อไปนี้
          (1) โรงเรือน เรือ หรือแพที่คนอยู่อาศัย
          (2) โรงเรือน เรือ หรือแพอันเป็นที่เก็บหรือที่ทำสินค้า
          (3) โรงมหรสพหรือสถานที่ประชุม
          (4) โรงเรือนอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นสาธารณสถาน หรือเป็นที่สำหรับประกอบพิธีกรรมตามศาสนา
          (5) สถานีรถไฟ ท่าอากาศยาน หรือที่จอดรถหรือเรือสาธารณะ
          (6) เรือกลไฟ หรือเรือยนต์ อันมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป อากาศยาน หรือรถไฟที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะ
          ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี"

          ความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์นั้น ทรัพย์ต้องเป็นของผู้อื่นเท่านั้น ถ้าเผาทรัพย์ของตนเองแม้ผู้อื่นจะเป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วย ก็ไม่เป็นความผิดฐานวางเพลิง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5364/2536  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่านาง จ.ผู้เสียหายกับจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายมีบุตรด้วยกัน 5 คน แยกกันอยู่มาเป็นเวลา 10 ปีเศษแต่ยังมิได้จดทะเบียนหย่า ตามวันเวลาเกิดเหตุมีคนร้ายวางเพลิงเผาบ้านของผู้เสียหายซึ่งผู้เสียหายอยู่อาศัยเป็นเหตุให้บ้านและเครื่องใช้ภายในบ้านได้รับความเสียหาย คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า การวางเพลิงเผาทรัพย์ที่ผู้เสียหายมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมกับจำเลย เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218(1) หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าบทบัญญัติ มาตรา 218 เป็นเหตุฉกรรจ์ของมาตรา 217โดยมาตรา 218 บัญญัติให้ผู้กระทำผิดต่อทรัพย์ที่ระบุไว้ในมาตรา 218(1) ถึง (6) ต้องได้รับโทษหนักขึ้น ดังนั้นการกระทำอันมิได้เป็นความผิดตามมาตรา 217 แม้กระทำต่อทรัพย์ที่ระบุในมาตรา 218 ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิดเช่นกันเมื่อมาตรา 217 บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าการวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นเป็นความผิด ไม่มี ข้อความว่า "หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย" ก็เป็นความผิดแล้ว จะตีความคำว่า"ทรัพย์ของผู้อื่น" ให้รวมถึงทรัพย์ที่ผู้อื่นมีส่วนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยดังที่โจทก์ฎีกาย่อมมิได้ เพราะการตีความบทกฎหมายที่มีโทษทางอาญาจะต้องตีความโดย เคร่งครัด จะขยายความออกไปถึงกรณีที่ไม่ได้ระบุไว้ในตัวบทโดยชัดแจ้งเพื่อให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยย่อมมิได้เพราะขัดต่อหลักความรับผิดของบุคคลในทางอาญาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 2    

          ความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์จะเป็นความผิดสำเร็จต่อเมื่อทรัพย์นั้นไหม้ ถ้าเพลิงยังไม่ไหม้ทรัพย์ ก็เป็นเพียงพยายามกระทำความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5544/2531  การกระทำที่จะเป็นความผิดสำเร็จฐานวางเพลิงเผาทรัพย์นั้นไม่หมายความเพียงว่าเอาเพลิงไปวางเท่านั้น หากต้องเป็นการเผาทำให้เกิดเพลิงไหม้ทรัพย์นั้นติดไฟขึ้นด้วย เพียงแต่ทรัพย์มีรอยเกรียม ดำแต่ยังไม่ไหม้ไฟ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดสำเร็จคงเป็นความผิดฐานพยายามเท่านั้น การที่จำเลยโกรธผู้เสียหายเนื่องจากถูกผู้เสียหายทำร้ายต่อหน้าบุคคลอื่น จึงบุกรุกเข้าไปในบ้านผู้เสียหาย โดยมีน้ำมันเบนซิน ไม้ขีดไฟและมีดโต้ติดตัวไปด้วย แล้วใช้มีดฟันประตูครัวราดน้ำมันเบนซินใส่และจุดไฟเผาจากนั้นวิ่งขึ้นชั้นบนราดน้ำมันเบนซินใส่พื้นบ้านจุดไม้ขีดไฟเผาอีกแล้วจำเลยวิ่งลงมาใช้มีดโต้ฟันทรัพย์สินอื่น ๆ ในบ้านแตกเสียหาย ถือได้ว่าเป็นการกระทำต่อเนื่องกันโดยมีเจตนาอันแท้จริงที่จะทำลายทรัพย์สินของผู้เสียหายในคราวเดียวกัน แม้จำเลยจะวางเพลิงและใช้มีดโต้ฟันทำลายทรัพย์สินด้วยก็เป็นเพียงแต่การใช้วิธีการที่แตกต่างกันเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6666/2542  จำเลยมีเจตนาจะทำลายรั้วไม้ไผ่ที่ปักติดเป็นแผงของผู้เสียหายโดยนำไปเผาให้ใช้การไม่ได้เท่านั้น การที่จำเลยดึงรั้วไม้ไผ่ของผู้เสียหายจำนวน2 แผง แล้วนำไปเผาทำลายใกล้บริเวณรั้วนั้น จำเลยจึงมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 358 เพียงบทเดียว มิใช่กระทำผิดหลายบท การเผาแผงไม้ไผ่เป็นการทำลายทรัพย์ของผู้เสียหายให้เสียหาย มิใช่จำเลยวางเพลิงเผารั้วบ้านของผู้เสียหายในขณะที่มีสภาพเป็นรั้วบ้านกั้นขอบเขตเป็นที่อยู่อาศัย จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 217 อีกกระทงหนึ่ง

          ในส่วนมาตรา 218 นั้น เป็นเรื่องของโทษที่หนักขึ้นเท่านั้น แต่หลักเกณฑ์ว่าเป็นความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์หรือไม่ ก็ใช้หลักเกณฑ์เช่นเดียวกับมาตรา 217
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 114/2531 การที่จำเลยจุดไฟเผาที่นอนในห้องของโรงน้ำชาเพราะไม่พอใจหญิงบริการของโรงน้ำชานั้น จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าเมื่อที่นอนถูกเผาไหม้แล้วไฟอาจจะลุกลามไหม้เตียงนอน ฝาผนัง เพดาน จนกระทั่งโรงน้ำชาแห่งนั้นทั้งหมดได้ เมื่อได้ความว่าโรงน้ำชานั้นมีคนอยู่อาศัยด้วย จำเลยจึงต้องมีความผิดฐานวางเพลิงเผาโรงเรือนที่คนอยู่อาศัยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218(1)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6738/2537  จำเลยใช้ของเหลวไวไฟเทราดผู้ตายตั้งแต่ศีรษะลงมาถึงฟื้นห้องของเหลวไวไฟดังกล่าวเป็นวัตถุไวไฟที่ร้ายแรงติดไฟได้ง่ายและสามารถลุกลามไปได้ทั้งร่างกาย เมื่อเทของเหลวไวไฟแล้วจำเลยใช้ไฟแช็กจุดไฟที่ต้นคอผู้ตาย ก่อให้ไฟไหม้ตามตัวของผู้ตายร้อยละ90 ของร่างกาย จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลที่จะฆ่าผู้ตาย จำเลยได้ขอซื้อไฟแช็คจากส. ครั้งหนึ่งแล้ว แต่เพื่อนจำเลยห้ามไม่ให้ ส.ขายให้ทั้งจำเลยเป็นผู้ริเริ่มโทรศัพท์นัดให้ ค.และผู้ตายไปตกลงเรื่องชู้สาวในวันเกิดเหตุและตระเตรียมการซื้อไฟแช็กเพื่อประสงค์ใช้ในการจุดไฟการกระทำของจำเลยชี้ให้เห็นว่าจำเลยได้คิดทบทวนล่วงหน้าก่อนจะกระทำผิดแล้วจำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ขณะจำเลยใช้ของเหลวไวไฟเทราดไปที่ผู้ตายนั้น โจทก์ร่วมที่ 2 ลุกจากที่นั่งมาที่ผู้ตายห่างเพียง 1 เมตร จะเข้าไปห้ามปรามจำเลย แต่กลับรู้สึกตัวว่ามีไฟลุกไหม้ที่หน้าตามลำตัวด้านหน้าและที่มือทั้งสองข้าง อันเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ใช้ของเหลวไวไฟเทราดผู้ตายแล้วของเหลวไวไฟกระเด็นไปถูกตัวโจทก์ร่วมที่ 2ด้วย ทำให้โจทก์ร่วมที่ 2 ได้รับบาดเจ็บที่ใบหน้าและตามลำตัวด้านหน้าใช้เวลารักษา 5 เดือน ถือได้ว่าจำเลยกระทำโดยเจตนาฆ่าแก่โจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 60 ด้วย เมื่อโจทก์ร่วมที่ 2 ไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าโจทก์ที่ 2 โดยไตร่ตรองไว้ก่อนอีกบทหนึ่ง จำเลยใช้ของเหลวไวไฟเทราดและจุดไฟให้ลุกไหม้ผู้ตายขณะอยู่ในห้องทำงานของโจทก์ร่วมที่ 2 บนชั้นสองของตึกแถวที่เกิดเหตุซึ่งเป็นโรงเรือนที่พักอาศัยและเป็นโรงเรียนสอนตัดเสื้อของโจทก์ที่ 1 ปรากฏว่านอกจากไฟจะลุกไหม้ผู้ตาย และโจทก์ร่วมที่ 2 แล้วยังลุกไหม้โต๊ะ เก้าอี้ และพื้นห้องของโจทก์ร่วมที่ 1 ดังกล่าวเสียหาย ซึ่งเห็นได้ว่าโดยลักษณะแห่งการกระทำของจำเลยเช่นนี้จำเลยย่อมเล็งเห็นผลการกระทำของจำเลยดังกล่าวได้ว่า ไฟต้องลุกไหม้ขึ้นภายในอาคารตึกแถวที่เกิดเหตุ ถือได้ว่าจำเลยกระทำโดยมีเจตนาวางเพลิงเผาโรงเรือนของโจทก์ร่วมที่ 1 ด้วย