7 พ.ย. 2559

การร้องขอเพิกถอนหมายจับ เมื่อศาลมีสั่งอย่างใดแล้ว จะอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้ เนื่องจากเป็นอำนาจเฉพาะตัวของผู้พิพากษาศาลชั้นต้น

          อำนาจในการออกหมายจับผู้ต้องหาเป็นอำนาจเฉพาะตัวของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นคนหนึ่ง เมื่อมีสั่งอย่างใดแล้ว จะอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้

          ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
          มาตรา  59 "ศาลจะออกคำสั่งหรือหมายจับ หมายค้น หรือหมายขัง ตามที่ศาลเห็นสมควรหรือโดยมีผู้ร้องขอก็ได้
          ในกรณีที่ผู้ร้องขอเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ต้องเป็นพนักงานฝ่ายปกครองตั้งแต่ระดับสามหรือตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่าขึ้นไป
          ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนซึ่งมีเหตุอันควรโดยผู้ร้องขอไม่อาจไปพบศาลได้ ผู้ร้องขออาจร้องขอต่อศาลทางโทรศัพท์ โทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่นที่เหมาะสมเพื่อขอให้ศาลออกหมายจับหรือหมายค้นก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้เมื่อศาลสอบถามจนปรากฏว่ามีเหตุที่จะออกหมายจับหรือหมายค้นได้ตามมาตรา 59/1 และมีคำสั่งให้ออกหมายนั้นแล้ว ให้จัดส่งสำเนาหมายเช่นว่านี้ไปยังผู้ร้องขอโดยทางโทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่น  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา
          เมื่อได้มีการออกหมายตามวรรคสามแล้ว ให้ศาลดำเนินการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขอหมายมาพบศาลเพื่อสาบานตัวโดยไม่ชักช้า โดยจดบันทึกถ้อยคำของบุคคลดังกล่าวและลงลายมือชื่อของศาลผู้ออกหมายไว้ หรือจะใช้เครื่องบันทึกเสียงก็ได้โดยจัดให้มีการถอดเสียงเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของศาลผู้ออกหมาย บันทึกที่มีการลงลายมือชื่อรับรองดังกล่าวแล้ว ให้เก็บไว้ในสารบบของศาล หากความปรากฏต่อศาลในภายหลังว่าได้มีการออกหมายไปโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ศาลอาจมีคำสั่งให้เพิกถอนหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงหมายเช่นว่านั้นได้  ทั้งนี้ ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ร้องขอจัดการแก้ไขเพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องตามที่เห็นสมควรก็ได้"
          มาตรา 59/1 "ก่อนออกหมาย จะต้องปรากฏพยานหลักฐานตามสมควรที่ทำให้ศาลเชื่อได้ว่ามีเหตุที่จะออกหมายตามมาตรา 66 มาตรา 69 หรือมาตรา 71
          คำสั่งศาลให้ออกหมายหรือยกคำร้อง จะต้องระบุเหตุผลของคำสั่งนั้นด้วย
          หลักเกณฑ์ในการยื่นคำร้องขอ การพิจารณา รวมทั้งการออกคำสั่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา"
          มาตรา  66 "เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้
          (1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี หรือ
          (2) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น
          ถ้าบุคคลนั้นไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือไม่มาตามหมายเรียกหรือตามนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร ให้สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นจะหลบหนี"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2853/2559  การไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนหมายจับของผู้ร้องก่อนมีคำสั่งเป็นดุลพินิจในการดำเนินกระบวนพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ของศาลชั้นต้นเพื่อให้การพิจารณาคดีเสร็จไปโดยรวดเร็วและชอบด้วยกฎหมาย เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำร้องของผู้ร้องสามารถวินิจฉัยได้ ศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะมีคำสั่งได้ทันทีโดยไม่จำต้องไต่สวนก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21 (4) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
          อำนาจในการออกหมายจับเป็นอำนาจเฉพาะตัวของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นคนหนึ่งเพื่อให้ได้ตัวผู้ต้องหามาสอบสวน ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (1) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (2) มาตรา 66 และมาตรา 134 ผู้ร้องซึ่งถูกหมายจับของศาลชั้นต้นยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 59 วรรคสี่ ตอนท้าย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ดังนี้ ผู้ร้องจะอุทธรณ์หรือฎีกาไม่ได้