02 มีนาคม 2567

ความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ (ป.อ.มาตรา 157)


          มาตรา 157  "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือ ทั้งจำทั้งปรับ"

          มารา 157 เป็นบททั่วไป หากเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติและประพฤติมิชอบแล้วไม่ผิดบทเฉพาะก็จะมาผิดมาตรานี้ ซึ่งอาจแบ่งการกระทำเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ส่วนที่สองเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าทีโดยทุจริต

          ก. ความผิดส่วนแรก เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

          1. เป็นเจ้าพนักงาน มาตรา 157 ครอบคลุมถึงเจ้าพนักงานทุกประเภท 
          เจ้าพนักงาน หมายถึง เจ้าพนักงานทุกประเภท เช่น เจ้าพนักงานตำรวจ เจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรี ปลัดเทศบาล ป่าไม้อำเภอ พนักงานอัยการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18161/2557  การกระทำอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ผู้กระทำต้องเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งหมายถึงผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐที่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐอื่นที่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา หรือผู้ที่มีกฎหมายบัญญัติว่าหากได้รับแต่งตั้งจากผู้มีอำนาจหน้าที่ให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา
          สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่เมื่อพิจารณา พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 มาตรา 39 ที่ว่าด้วยส่วนราชการของกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ไม่ปรากฏว่าสถาบันแห่งนี้เป็นส่วนราชการในสังกัดของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย จำเลยจึงมิใช่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐที่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน และไม่ปรากฏว่ามีบทมาตราใดบัญญัติว่าการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสถาบันแห่งนี้เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญาด้วย การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในฐานะประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยในการพิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ตามฟ้องจึงไม่อาจเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ได้
          ขณะเกิดเหตุจำเลยมีตำแหน่งเป็นรองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นข้าราชการพลเรือนและรับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดิน ทำหน้าที่ประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยตามฟ้องเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย มิได้เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของรองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน จะถือว่าการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยของจำเลยเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะรองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยมิได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13996/2557   เจ้าพนักงานซึ่งจะเป็นผู้กระทำความผิดตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการนั้น หมายถึงผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย โดยอาจระบุไว้เป็นการเฉพาะว่าให้ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน หรือระบุองค์การและให้ผู้ที่สังกัดอยู่เป็นเจ้าพนักงาน หรืออาจเป็นการแต่งตั้งโดยกฎหมายทั่วไปซึ่งระบุถึงวิธีการแต่งตั้งไว้ และได้มีการแต่งตั้งถูกต้องตามกฎหมายดังกล่าว สำหรับส่วนราชการ แม้จะมีฐานะเป็นนิติบุคคลมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด แต่ส่วนราชการเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน การแบ่งส่วนราชการหรือกฎหมายจัดตั้งส่วนราชการนั้น มิใช่ได้รับการแต่งตั้งโดยกฎหมาย จำเลยที่ 1 (สภาความมั่นคงแห่งชาติ) จึงหาใช่เจ้าพนักงานตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญาไม่

          2. ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อาจแยกออกเป็น

          (1) "ปฏิบัติ" ได้แก่
          ตำรวจจับโดยไม่ชอบ เช่น จับโดยไม่มีหมาย ทั้งไม่เป็นความผิดซึ่งหน้าและไม่ใช่เหตุฉุกเฉินอย่างยิ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 706/2516  โจทก์ได้กระทำผิดซึ่งหน้า แต่ความผิดที่โจทก์กระทำเป็นแต่เพียงความผิดฐานลหุโทษ ฐานฉายภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์เก็บค่าดูจากประชาชนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยทุกคนรู้จักหลักแหล่งของโจทก์แล้ว จึงไม่เป็นเหตุให้ถือว่าเป็นกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 96(2) การที่จำเลยทั้งหมดผู้เป็นเจ้าพนักงานไปทำการจับกุมโจทก์ในที่รโหฐานในเวลากลางคืนโดยไม่มีหมาย จึงไม่มีอำนาจที่จะทำได้ตามกฎหมาย โจทก์มีสิทธิป้องกันการจับกุมได้ และการที่จำเลยทั้งหมดควบคุมโจทก์จากโรงภาพยนตร์ไปสถานีตำรวจ ถือได้ว่าเป็นการหน่วงเหนี่ยวโจทก์ให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายเช่นกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4243/2542  จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมผู้เสียหายที่ได้ก่อการทะเลาะวิวาทก่อนหน้านั้นแต่เหตุแห่งการทะเลาะวิวาทได้ยุติลงแล้ว เหตุวิวาทยังไม่ชัดแจ้งว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิด ไม่ใช่การกระทำผิดซึ่งหน้า โดยมีคู่กรณีกับผู้เสียหายชี้ให้จับ แต่มิได้ร้องทุกข์ไว้ตามระเบียบ อีกทั้งไม่ใช่กรณีที่มีเหตุสงสัยว่ากระทำความผิดมาแล้วจะหลบหนี จำเลยซึ่งไม่มีหมายจับไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะจับผู้เสียหาย จำเลยจับผู้เสียหายโดยไม่แจ้งข้อหาไม่ทำบันทึกจับกุม ไม่ส่งมอบตัวให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี กลับนำไปควบคุมที่ด่านตรวจ ชี้เจตนาจำเลยว่ากระทำโดยโกรธแค้น แสดงอำนาจ เพื่อข่มขู่กลั่นแกล้งผู้เสียหายให้เดือดร้อนเสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องรุนแรงต่อความรู้สึกของประชาชนไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษ
          หัวหน้า(สรรพากรจังหวัด)รายงานเท็จจนผู้ใต้บังคับบัญชาถูกตั้งกรรมการสอบสวน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4170/2530   การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสรรพากรจังหวัดสั่งให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี 3 เสนอสำนวนการตรวจสอบภาษีอากรของห้าง จ. ต่อจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ก็ปฏิบัติตาม โดยไม่ผ่านการตรวจพิจารณาของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ช่วยสรรพากรจังหวัด ตามคำสั่งและระเบียบปฏิบัติของทางราชการนั้น เป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้บังคับบัญชาย่อมมีอำนาจที่จะสั่งการใดให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติตามได้ เพื่อให้งานดำเนินไปโดยถูกต้องและรวดเร็วเกิดผลดีแก่ทางราชการทั้งนี้เพราะคำสั่งและระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ ย่อมมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม ส่วนจำเลยที่ 1 นั้นเพิ่งจะเข้ารับราชการ ย่อมจะต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในสำนักงาน ประกอบกับโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้มีการโต้เถียงกันเกี่ยวกับการตรวจสอบภาษีอากรของห้างดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่อาจฟังได้ว่ามีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อันจะเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
          ส่วนการที่จำเลยที่ 2 รายงานต่ออธิบดีกรมสรรพากรว่า โจทก์ได้มอบเงินแก่จำเลยที่ 2 เพื่อให้จำเลยที่ 2 ช่วยเหลือในการชำระภาษีอากรของห้าง จ. นั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีพฤติการณ์ดังที่จำเลยที่ 2 รายงาน โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งมีเรื่องโกรธเคืองกับโจทก์เป็นส่วนตัวแกล้งรายงานดังกล่าวจนโจทก์ถูกตั้งกรรมการสอบสวนและให้ออกจากราชการไว้ก่อน จึงเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และการบรรยายฟ้องในเรื่องแกล้งรายงานของจำเลยที่ 2 นี้ เป็นการบรรยายฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามมาตรา 157 อีกกระทงหนึ่ง นอกเหนือจากข้อหาหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 ซึ่งถึงที่สุดแล้ว จึงลงโทษจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 157 ได้

          (2) "ละเว้นการปฏิบัติ"
          ตำรวจไม่ใส่ใจเรื่องที่ญาติของผู้ต้องหาขอประกันตัว โดยไม่ได้ดำเนินการอย่างใดตามระเบียบราชการเลย แต่ออกไปรับประทานอาหารและไปโต๊ะสนุ๊กเกอร์ ถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2577/2534  จำเลยเป็นข้าราชการตำรวจซึ่งเกี่ยวข้องกับการที่โจทก์เป็นผู้ต้องหาและถูกจับมาควบคุมไว้ การที่จำเลยพูดในตอนแรกที่ญาติโจทก์แสดงความจำนงขอประกันตัวโจทก์ว่าจะประกันไปทำไมจะดัดนิสัย 2 - 3 วันก่อน และว่าจำเลยไม่ว่างจะไปตั้งด่านตรวจ แต่จำเลยกลับไปรับประทานอาหารโดยมิได้ตั้งด่านตรวจตามที่พูดไว้นานเกือบ 1 ชั่วโมง จึงกลับมาที่สถานีตำรวจแล้วจำเลยพูดกับญาติโจทก์อีกครั้งหนึ่งว่าจะประกันไปทำไม  ตอนนี้ผู้เสียหายกำลังแรงให้ถูกขัง 4 - 5 วันก่อน จากนั้นจำเลยก็ออกไปโต๊ะสนุกเกอร์ ดังนี้ จำเลยมีหน้าที่จะต้องอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้มาติดต่อ และตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา ฯ และมีหน้าที่ต้องขวนขวายกระวีกระวาดแนะนำชี้แจงแก่ญาติโจทก์ที่มาติดต่อขอประกันตัวโจทก์ว่าจะยื่นเรื่องราวได้อย่างไร นำเสนอแก่ใคร และจำเลยต้องคอยให้โอกาสในการที่คนเหล่านั้นจะได้ดำเนินการดังกล่าวไปด้วยดี รวดเร็วและเรียบร้อยตามสมควรแก่เวลาและพฤติการณ์การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ผู้ถูกคุมขัง เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157


          ป่าไม้ไม่ตรวจไม้แล้วรับรองเท็จว่าตรวจแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 70/2542   ป่าไม้เขตได้ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเจ้าหน้าที่คัดเลือกไม้ที่ไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจประเภทไม้แก่จัดมีขนาดโตเกินขนาดจำกัดมากและอยู่ในวัยเสื่อมโทรมหรือยอดไม่สมบูรณ์และให้ตีตราคัดเลือกอนุญาตให้ตัดฟันไม้เพื่อบำรุงป่า หรือ บร. กับทำบัญชีคัดเลือกไม้เสนอผู้บังคับบัญชาแล้วป่าไม้เขตจะได้ประมูลหาผู้รับจ้างตัดโค่นและซื้อไม้ดังกล่าว โดยแต่งตั้งให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 15 ไปทำการตรวจวัดตีตรารัฐบาลขาย หรือ รข.เป็นการอนุญาตให้ชักลากไม้ได้ โดยจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 15 จะต้องตีตราเฉพาะไม้ที่มีตรา บร. เท่านั้น และจะต้องตรวจดูว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตีตราต้นไม้ถูกต้องหรือไม่ หากไม่ถูกต้อง จะตีตรา รข. ไม่ได้ และจะต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กลับตีตราไม้ที่ดีมีค่าทางเศรษฐกิจเป็นการขัดคำสั่ง ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เกิดความเสียหายแก่กรมป่าไม้และรัฐเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
          พนักงานสอบสวนไม่รับแจ้งความร้องทุกข์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4436/2531  การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจสืบสวนสอบสวนคดีอาญาได้รับแจ้งความจาก ช. ว่ามีคนร้ายลักเรือและเครื่องยนต์ของผู้เสียหายไป แต่ไม่ยอมลงรับแจ้งความในประจำวันเป็นหลักฐานและเมื่อจับคนร้ายที่ลักทรัพย์ดังกล่าวแล้ว จำเลยกลับปล่อยตัวคนร้ายไปเสีย ถือได้ว่าจำเลยได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และยังเป็นการกระทำการในตำแหน่งหน้าที่อันเป็นการมิชอบเพื่อจะช่วยคนร้ายมิให้ต้องโทษตามมาตรา 200 วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบทหนัก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7630/2549  โจทก์ทั้งสองเมาสุราจนครองสติไม่ได้ ประพฤติตนวุ่นวายในทางสาธารณะหรือสาธารณสถาน แต่โจทก์ทั้งสองได้ชำระค่าปรับตามที่พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบแล้ว ทำให้คดีอาญาที่โจทก์ทั้งสองถูกกล่าวหาเป็นอันเลิกกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 37 (2) เมื่อโจทก์ทั้งสองกล่าวหาต่อจำเลยในฐานะพนักงานสอบสวนว่า จ่าสิบตำรวจ ป. ทำร้ายร่างกายโจทก์ทั้งสองในเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งเป็นการกล่าวหาว่าจ่าสิบตำรวจ ป. ได้กระทำความผิดข้อหาทำร้ายร่างกาย ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหายโดยมีเจตนาจะให้จ่าสิบตำรวจ ป. ได้รับโทษเช่นนี้ จึงเป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) และเป็นการกระทำที่แยกต่างหากจากการกระทำที่โจทก์ทั้งสองถูกกล่าวหาว่าเมาสุราจนครองสติไม่ได้ ประพฤติตนวุ่นวายในทางสาธารณะหรือสาธารณสถาน จำเลยในฐานะพนักงานสอบสวนมีหน้าที่ต้องรับคำร้องทุกข์ของโจทก์ทั้งสองไว้เพื่อดำเนินการสอบสวนตามอำนาจหน้าที่ต่อไปการที่จำเลยไม่รับคำร้องทุกข์ของโจทก์ทั้งสองในข้อหาทำร้ายร่างกาย อ้างเพียงว่าคดีเลิกกันแล้วโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ จึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย
          การพิจารณาคดีในข้อหาทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นหลังจากจำเลยไม่ยอมรับคำร้องทุกข์ของโจทก์ทั้งสองแล้ว จนโจทก์ทั้งสองต้องไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนคนอื่นในเวลาต่อมา แม้ศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องก็ไม่มีผลลบล้างการกระทำของจำเลยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และฟังไม่ได้ว่าจำเลยใช้ดุลพินิจโดยชอบ

          (3) "หน้าที่"
          ต้องเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานนั้นมีหน้าที่ต้องทำ ถ้าเป็นเรื่องนอกหน้าที่หรือพ้นหน้าที่ไปแล้วก็ไม่ผิดมาตรา 157 รวมทั้งถ้าไม่มีหน้าที่เลยก็ไม่ผิดมาตรา 157 เช่น
          ขณะเกิดเหตุอยู่นอกหน้าที่แล้ว ไม่ผิดมาตรา 157
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 294/2525  ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้นจะต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดดังนั้น เมื่อโจทก์ไปยื่นคำคัดค้านเกี่ยวกับที่ดินและจำเลยก็ได้รับคำคัดค้านของโจทก์ไว้ดำเนินการต่อไป ถือได้ว่าจำเลยปฏิบัติการไปตามหน้าที่โดยชอบแล้ว แม้จำเลยจะกล่าวต่อ โจทก์ว่า "มึงมาค้านแล้ว ทำไมมึงมาค้านอีก ฯลฯ" ต่อไปอย่าเข้ามาทำนาที่กูรังวัดไว้ รู้จักว่ากูเป็นที่ดินใหญ่ไหม ขืนดื้อทำไปต้องเป็นข้าวของคนอื่น ฯลฯ"  ก็ไม่ทำให้โจทก์เสียหายเกี่ยวกับคำคัดค้านของโจทก์ เพราะการกล่าวถ้อยคำดังกล่าวหาใช่เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่
          ถูกสั่งมิให้ปฏิบัติหน้าที่ไปก่อนแล้ว ไม่ผิดมาตรา 157
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2255/2520   จำเลยรับราชการเป็นตำรวจ แต่ในขณะที่แสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานทำการจับกุมผู้เสียหายแล้วไม่นำส่งสถานีตำรวจ กลับพาไปข่มขืนกระทำชำเราและปล่อยตัวไปนั้น จำเลยถูกสั่งพักราชการแล้ว แม้จะยังมิได้มีคำสั่งปลดหรือให้จำเลยออกจากราชการ จำเลยก็ถูกสั่งมิให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามตำแหน่งหน้าที่ การกระทำของจำเลยจึงมิใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการในฐานะเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
          ไม่เกี่ยวกับหน้าที่ของตน ไม่ผิดมาตรา 157
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2120/2523   ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 นั้น จะต้องเป็นเจ้าพนักงานที่ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบส่วนมาตรา 157 นั้น จะต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติเฉพาะแต่ตามหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นโดยตรงตามที่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่นั้นๆเท่านั้น ถ้าไม่เกี่ยวกับหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นโดยตรงแล้วย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ และคดีนี้ข้อเท็จจริงคงฟังได้เป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนว่าจำเลยไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับคดีที่ ส. ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด การที่จำเลยเรียกและรับเงินจาก บ. เป็นเรื่องปฏิบัตินอกหน้าที่ แสดงว่าจำเลยไม่มีอำนาจหรือหน้าที่ใดๆเกี่ยวกับคดีที่ ส. เป็นผู้ต้องหาเลย การที่จำเลยเรียกและรับเงินไปจาก บ. จึงเป็นเรื่องปฏิบัตินอกหน้าที่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 262/2543   ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำเลยมีตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รายงานและให้ความเห็นในการขอลาออกจากผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ ไม่มีหน้าที่ในการทำหนังสือขอลาออกของ ซ. ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองในท้องที่ของจำเลยและใช้เอกสารปลอม จึงไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
          ตำรวจสายสืบขอเงินค่าสืบจากผู้เสียหาย ในขณะที่ยังไม่มีการแจ้งความและยังไม่มีการออกหมายจับคนร้าย ถือว่าขณะนั้นยังไม่มีหน้าที่ จึงไม่ผิดมาตรา 157
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5053/2530  จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ มีอำนาจทำการสืบสวนคดีอาญาและจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมาย การที่จำเลยทราบจากผู้เสียหายว่ามีคนร้ายลักทรัพย์ผู้เสียหาย แล้วจำเลยพูดว่า เรื่องนี้พอสืบได้แต่ต้องไถ่ทรัพย์คืนโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รู้ว่าผู้ใดเป็นคนร้ายลักทรัพย์หรือรับของโจรรายนี้และยังไม่รู้ว่าทรัพย์ที่ถูกลักรายนี้ถูกเก็บรักษาไว้ ณ ที่ใด ทั้งยังไม่ได้มีการแจ้งความออกหมายจับคนร้าย จำเลยจึงไม่มีอำนาจหน้าที่จะจับกุมผู้ใดมาดำเนินคดีหรือนำทรัพย์ที่ถูกลักไปมาคืนผู้เสียหายหรือส่งมอบพนักงานสอบสวน ยังถือไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 157
          กรณีตำรวจทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาเพื่อให้รับสารภาพในข้อหาที่ถูกกล่าวหา ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวอยู่ในอำนาจหน้าที่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1399/2508   จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีอาญา ในระหว่างสอบสวนโจทก์ ได้ทำร้ายโจทก์เพราะโจทก์ไม่ยอมรับสารภาพ ไม่ยอมลงชื่อตามที่จำเลยต้องการ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เป็นความผิดตามมาตรา 157, 391
          ถ้าตำรวจทำร้ายในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ แต่เป็นเรื่องส่วนตัว ก็ไม่ใช่เรื่องการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 364/2531  ปกติการทำร้ายร่างกายไม่เกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจับโจทก์ข้อหาวิ่งราวทรัพย์ แล้วทำร้ายร่างกายโจทก์โดยเจตนาทำร้ายธรรมดา มิใช่เพื่อประสงค์จะให้เกิดผลอันใดในการปฏิบัติการตามหน้าที่ เพราะจำเลยจับโจทก์ได้แล้ว ทั้งจำเลยมิใช่พนักงานสอบสวนที่ทำร้ายโจทก์เพื่อประสงค์จะให้โจทก์รับสารภาพ กรณีจึงมิใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เมื่อโจทก์ได้รับอันตรายแก่กายจากการกระทำของจำเลยจำเลยมีความผิดตามมาตรา 295
          สิบเวรลวนลามทางเพศผู้ต้องหาหญิงที่ถูกตำรวจอื่นจับมาฐานเป็นเจ้ามือสลากกินรวบ ถือว่ากระทำนอกหน้าที่ ไม่ผิดมาตรา 157
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 737/2504  ศาลฎีกาเห็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นความผิดที่เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานนั้นเองโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือโดยทุจริต แต่ที่โจทก์ฟ้องและนำสืบว่าจำเลยเข้าไปคร่อมตัวโจทก์เลิกผ้าและจับนม เป็นการกระทำในทางรักใคร่ในทางชู้สาวหรือจะร่วมประเวณีกับโจทก์ ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเลยการกระทำของจำเลยจึงไม่มีมูลความผิดตามมาตรา 157
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3135/2535  ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 จะต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติซึ่งอยู่ในหน้าที่ของเจ้าพนักงานนั้นเองโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือโดยทุจริต ถ้าเป็นการกระทำนอกหน้าที่ไม่ผิดมาตรานี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นอันยุติได้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจหรือหน้าที่ใด ๆ เกี่ยวกับคดีที่คนร้ายลักกระบือของผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 กับการปล่อยคืนรถยนต์ให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 เป็นตัวการในการเรียกและรับเงินจากผู้เสียหายที่ 1 จึงเป็นเรื่องปฏิบัตินอกหน้าที่ ไม่เป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 157
          การกระทำที่อยู่ในหน้าที่นั้น หน้าที่ต้องเกิดจากคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายจากผู้มีอำนาจมอบหมายหรือมีอำนาจสั่งเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3680/2531  คำสั่งของบุคคลซึ่งมิได้เป็นผู้บังคับบัญชาที่ได้มอบหมายงานให้จำเลยปฏิบัติ เป็นคำสั่งที่ออกโดยไม่มีอำนาจ จำเลยจึงไม่เป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจกระทำการตามคำสั่งนั้น การที่จำเลยรับเงินค่าดูดสิ่งปฏิกูลของเทศบาลซึ่งมิใช่หน้าที่ของจำเลยแล้วเบียดบังไว้จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157 และ 161 แต่เป็นความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ แม้ต่อมาจำเลยจะได้นำเงินจำนวนที่ยักยอกไปดังกล่าวมาชดใช้คืนแก่เทศบาลก็ตาม ก็เป็นเพียงการกระทำเพื่อบรรเทาความเสียหายเท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าเทศบาลซึ่งเป็นผู้เสียหายตกลงให้ระงับข้อพิพาทหรือสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญากับจำเลยเช่นนี้ ย่อมถือไม่ได้ว่า เป็นการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายที่จะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2)
          ถึงแม้ว่าจะไม่มีหน้าที่โดยตรง แต่อาจมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามมาตรา 157 ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6653/2562  แม้จำเลยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการที่สังกัดในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่อำนาจหน้าที่ในการบรรจุแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการระดับ 8 ให้อธิบดีผู้บังคับบัญชาเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าวเมื่อได้รับความเห็นชอบจากปลัดกระทรวง ไม่ใช่เป็นอำนาจหน้าที่ของปลัดกระทรวงโดยตรง จำเลยในฐานะปลัดกระทรวง จึงไม่มีอำนาจสั่งย้ายโจทก์ไปดำรงตำแหน่งป่าไม้จังหวัดอำนาจเจริญด้วยตนเอง จึงขาดคุณสมบัติเฉพาะตัวตามที่กฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ ไม่อาจลงโทษจำเลยในฐานะเป็นตัวการเพราะใช้ให้กระทำความผิดได้ แต่การที่จำเลยให้ ด. ออกคำสั่งย้ายโจทก์ ถือได้ว่าเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ตาม ป.อ. มาตรา 86 ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดส่วนนี้ได้ 


          (4) โดยมิชอบ
          กระทำรักษาความสงบเรียบร้อย แม้ไม่ถูกขั้นตอนไปบ้าง ไม่เป็นการกระทำโดยมิชอบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 437/2515   ผู้เสียหายถูกเตะทั้งรองเท้า มีบาดแผล คือ 1. รอยช้ำบวมที่หน้าผากข้างขวาเหนือคิ้วขวา 2. เบ้าตาขวาช้ำบวมเขียว ตาขาวมีรอยช้ำเลือด 3. ริมฝีปากล่างซ้ายแตก 4. รอยช้ำบวมที่ปลายคาง5. หัวเข่าซ้ายบวมเล็กน้อย มีรอยถลอกเลือดออกซับบาดแผลทั้งหมดควรจะหายภายใน 7 วัน เช่นนี้ ถือว่าได้รับอันตรายแก่กาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 แล้ว
          จำเลยเป็นจ่าสิบตำรวจและสิบตำรวจเอกได้จับกุมผู้เสียหายในข้อหาเสพสุราจนเป็นเหตุให้เมาประพฤติวุ่นวายครองสติไม่ได้ขณะอยู่ในถนนสาธารณะ เมื่อนำไปยังสถานีตำรวจแล้วผู้เสียหายยังร้องเอะอะอาละวาด เตะโน่นเตะนี่ เดินไปมาและจะลงไปจากสถานีตำรวจ จำเลยจึงเอาตัวผู้เสียหายเข้าไปขังไว้ในห้องขังเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และเพื่อไม่ให้ทรัพย์สินของทางราชการเสียหาย ดังนี้ไม่ถือว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้ผู้เสียหายปราศจากเสรีภาพในร่างกายอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 310
          ตำรวจไม่จับเพื่อหลีกเลี่ยงเหตุวุ่นวาย ไม่เป็นการกระทำโดยมิชอบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 786/2532   จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่เกิดเหตุได้ พบกลุ่มเยาวชนกำลังขัดขวางการปฏิบัติการตามหน้าที่ และข่มขืนใจเจ้าพนักงานสรรพสามิตให้ปล่อยตัว อ. ผู้ต้องหา ให้คืนสุราแช่ของกลาง ให้มอบบันทึกการจับกุม และการตรวจค้นยึดสุราแช่จำเลยที่ 1 มิได้ทำการจับกุมในทันที ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นนั้น ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

          3. เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด (เจตนาพิเศษ)
          เป็นเจ้าพนักงานแต่ไปร่วมกระทำความผิดเล่นการพนันด้วยแล้วไม่จับกุมผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน ไม่เป็นความผิดมาตรา 157
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7836-7837/2544   จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจหน้าที่ในการจับกุมผู้กระทำผิดแต่จำเลยกลับเป็นผู้ร่วมกระทำผิดด้วยการร่วมเล่นการพนันไพ่รัมมี่ แล้วจำเลยไม่จับกุมผู้ร่วมเล่นไพ่รัมมี่ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร่วมเล่นการพนันหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การกระทำดังกล่าวของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
          ถ้าการกระทำนั้นขาดเจตนาพิเศษ ไม่ผิดมาตรา 157
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3295/2543   การที่จะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามป.อ.มาตรา 157 จะต้องประกอบด้วยเจตนาพิเศษ คือต้องเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
          จำเลยเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ได้ลงลายมือชื่อออก น.ส.3 ก. ระบุชื่อ ต.เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามเรื่องราวเท็จ เอกสารปลอมที่ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องนำเสนอ โดยไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงตามอำนาจหน้าที่ อันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษละเว้นไม่ตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของเอกสารดังกล่าวเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมที่ดิน ต.หรือผู้หนึ่งผู้ใดจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามป.อ.มาตรา 157

          4. เจตนา
          พนักงานอัยการบรรยายฟ้องคลาดเคลื่อนไป ไม่ถือว่าเจตนาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 975/2531   จำเลยซึ่งเป็นพนักงานอัยการฟ้องโจทก์ในข้อหาดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ฯ โดยบรรยายฟ้องเป็นสองตอน คือตอนแรกเป็นข้อความที่อ้างว่าโจทก์เป็นผู้กล่าวซึ่งได้ระบุไว้ในเครื่องหมายอัญประกาศ ส่วนตอนหลังมีใจความเป็นการแปลหรืออธิบายความหมายของข้อความในตอนแรก ดังนี้ เมื่อพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ประกอบด้วยแล้ว แสดงว่าข้อความที่พนักงานอัยการระบุไว้ในเครื่องหมายอัญประกาศ คือ 'ถ้อยคำพูด' ที่พนักงานอัยการต้องกล่าวไว้ในฟ้องตามบทกฎหมายดังกล่าว และข้อความตอนหลังเป็นการอธิบายความหมายเท่านั้น เมื่อข้อความที่โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยบรรยายฟ้องอันเป็นความเท็จเป็นส่วนหนึ่งของคำบรรยายฟ้องในตอนหลังและมีลักษณะเป็นการอธิบายความหมายด้วยเช่นกัน จึงเห็นได้ว่าข้อความที่โจทก์อ้างว่าเป็นเท็จนั้นพนักงานอัยการมีความประสงค์จะอธิบายความหมายของถ้อยคำพูดของโจทก์เท่านั้น แม้จะใช้ถ้อยคำผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปบ้าง กรณีก็ไม่อาจถือได้ว่าพนักงานอัยการยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จ ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 และจำเลยย่อมไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์แต่อย่างใด กับไม่มีมูลเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ด้วย
          การใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานตามอำเภอใจโดยปราศจากเหตุผล ถือว่ามีเจตนากระทำความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7663/2543   แม้ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการฯ มาตรา 27บัญญัติให้เป็นอำนาจของประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.)ที่จะเสนอก.อ.ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งข้าราชการอัยการนอกจากตำแหน่งอัยการผู้ช่วยแต่จำเลยซึ่งเป็นอธิบดีกรมอัยการหรืออัยการสูงสุดในฐานะผู้บังคับบัญชาของข้าราชการอัยการทั่วประเทศในการใช้อำนาจบริหารงานบุคคลยังมีอำนาจเสนอตารางประวัติการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อประกอบการพิจารณาในการปฏิบัติหน้าที่ของประธาน ก.อ.รวมทั้งมีอำนาจเสนอเรื่องต่อก.อ. ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 21 การจัดทำตารางประวัติการปฏิบัติราชการเสนอที่ประชุมก.อ. เพื่อพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการอัยการ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของจำเลย
          อำนาจของอธิบดีกรมอัยการหรืออัยการสูงสุดในเรื่องนี้มีลักษณะเป็นอำนาจในเชิงดุลพินิจที่อาจเลือกวินิจฉัยหรือเลือกกระทำได้หลายอย่างที่ชอบด้วยกฎหมาย การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของอธิบดีกรมอัยการหรืออัยการสูงสุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157นี้ นอกจากหมายถึงการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นการกระทำนอกขอบเขตแห่งอำนาจหรือโดยปราศจากอำนาจประการหนึ่ง ที่เป็นการกระทำฝ่าฝืนต่อวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการนั้นประการหนึ่ง และที่เป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอีกประการหนึ่งแล้ว ยังหมายถึงการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบอีกด้วย
          การใช้อำนาจดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาสั่งการหรือเลือกกระทำตามที่เห็นว่าเหมาะสมโดยศาลไม่แทรกแซงนั้น หมายความว่า เมื่อผู้บังคับบัญชาใช้ดุลพินิจไปในทางใดแล้ว ศาลต้องยอมรับการใช้ดุลพินิจนั้น แต่การใช้ดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาจะต้องอยู่ภายในขอบเขตของความชอบด้วยกฎหมาย คือ ต้องมิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ มิใช่การใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ หรือโดยปราศจากเหตุผล
          การแต่งตั้งข้าราชการอัยการให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ รวมทั้งตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายนั้นมีการพิจารณาอาวุโสประกอบ การที่จำเลยเสนอตารางประวัติการปฏิบัติราชการแก่ประธาน ก.อ. เพื่อแต่งตั้งอัยการพิเศษฝ่ายโดยเสนอชื่อบุคคลที่มีอาวุโสต่ำกว่าโจทก์ไว้เป็นอันดับสูงกว่าโจทก์ถึงสามครั้งเพราะถือเอาสาเหตุที่จำเลยมีสาเหตุส่วนตัวกับโจทก์ เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและในการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบดังกล่าวจำเลยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ในฐานะที่จำเลยเป็นเจ้าพนักงานจำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 91
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4436/2562  จำเลยเป็นผู้บังคับบัญชามีอำนาจจะอนุญาตให้โจทก์ลาหรือไม่ก็ได้ แต่การใช้ดุลยพินิจต้องอยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผลที่วิญญูชนทั่วไปยอมรับได้ว่ามิใช่เป็นการใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจ เมื่อปรากฏว่าจำเลยเคยมีปัญหาไม่พอใจกับโจทก์มาก่อน และเมื่อโจทก์ยื่นใบลากิจล่วงหน้าตามระเบียบ และภายหลังโจทก์ก็ได้ยื่นใบลาป่วยแทนใบลากิจที่จำเลยมีคำสั่งไม่อนุญาตไปก่อนแล้ว จำเลยจึงเกษียณคำสั่งคาดโทษโจทก์ว่า เป็นการลาเท็จ เพื่อหาเหตุตั้งคณะกรรมการสอบสวนการลาของโจทก์อันเป็นการหาเหตุลงโทษทางวินัยโจทก์ แม้ภายหลัง อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา เขต 8 จะพิจารณายกเลิกคำสั่งดังกล่าว แต่โจทก์ก็ยังมิได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนปกติ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการก่อความเสียหายแก่โจทก์และเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ไม่อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล เป็นการใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจ ถือได้ว่าจำเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157
          อัยการใช้ดุลพินิจวินิจฉัยสั่งไม่ฟ้องคดีโดยมิได้อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ ถือว่ามีเจตนากระทำความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3509/2549   การวินิจฉัยสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีของพนักงานอัยการมิใช่เป็นการวินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดหรือเป็นผู้บริสุทธิ์ดังเช่นกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล แต่เป็นเพียงการวินิจฉัยมูลความผิดตามที่กล่าวหาเท่านั้น ซึ่งเกณฑ์วินิจฉัยมูลความผิดของพนักงานอัยการที่วินิจฉัยสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหาคือมีเหตุผลอันสมควรเพียงพอหรือไม่ที่จะนำผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเพื่อให้ศาลวินิจฉัยชั้นสุดท้ายว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ ดังนั้น การใช้ดุลพินิจวินิจฉัยสั่งคดีของจำเลยทีมีคำสั่งไม่ฟ้องบริษัท ส. และ ป. ทั้งที่หนังสือพิมพ์ ซึ่งบริษัท ส. เป็นเจ้าของและ ป. เป็นบรรณาธิการลงข้อความเป็นความเท็จ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ในกรณีนี้ เป็นการใช้ดุลพินิจที่มิได้อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล แต่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ จึงเกินล้ำออกนอกขอบเขตของความชอบด้วยกฎหมาย และในฐานะที่จำเลยเป็นข้าราชการอัยการชั้นสูง จำเลยย่อมทราบดีถึงเกณฑ์วินิจฉัยมูลความผิดของพนักงานอัยการ การใช้ดุลยพินิจผิดกฎหมายในกรณีนี้ จำเลยเห็นได้อยู่ในตัวแล้วว่าเป็นการมิชอบและยังเห็นได้อีกว่าจำเลยเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย อีกทั้งเพื่อจะช่วยบริษัท ส. และ ป. มิให้ต้องโทษจากการกระทำความผิดของตนอีกด้วย จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และมาตรา 200 วรรคหนึ่ง
          ผู้บังคับบัญชาประวิงเวลาไม่ให้ข้าราชการกลับเข้าสู่ตำแหน่งหน้าที่ในลักษณะที่ต้องการกลั่นแกล้ง เป็นความผิดมาตรา 157
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2105/2544  จำเลยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สั่งพักราชการโจทก์ซึ่งเป็นปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยปราศจากเหตุอันสมควรด้วยเหตุที่บริษัท ฮ. ฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และศาลชั้นต้นสั่งประทับฟ้องต่อมานายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้จำเลยยกเลิกคำสั่งพักราชการโจทก์และมีคำสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิม ซึ่งขณะนั้นตำแหน่งยังว่างอยู่ จำเลยสามารถสั่งให้เข้ารับราชการได้ทันที แต่จำเลยกลับเสนอขอกำหนดตำแหน่งที่ปรึกษา เพื่อจะให้โจทก์เข้ารับราชการในตำแหน่งดังกล่าว และได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนคำสั่งทั้งที่จำเลยเป็นนักกฎหมายและมีประสบการณ์ในการทำงานราชการมามาก ทั้งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนพ.ศ. 2535 มาตรา 126 วรรคสาม ระบุไว้ว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีสั่งการแล้วจะอุทธรณ์ต่อไปอีกมิได้ จำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามเท่านั้นแม้คำสั่งดังกล่าวไม่ได้กำหนดระยะเวลาให้ปฏิบัติไว้ แต่ก็ต้องปฏิบัติตามในเวลาอันสมควร ทั้งการปฏิบัติตามก็กระทำได้โดยง่าย แต่จำเลยกลับปล่อยให้ล่วงเลยถึง 7 เดือน จึงมีคำสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิม ซึ่งเหลือเวลา 15 วัน โจทก์จะครบเกษียณอายุ แสดงว่าจำเลยมีเจตนาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

          5. เจตนาพิเศษ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
          ถ้าการกระทำนั้นขาดเจตนาพิเศษ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ผู้กระทำก็ไม่มีความผิดตามมาตรา 157
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2445/2562  การกระทำที่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 นอกจากเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่โดยตรงในการปฏิบัติหน้าที่นั้นแล้ว ต้องมีเจตนาในการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด พยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้แต่เพียงว่า จำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ผู้เป็นรองนายกเทศมนตรีเทศบาลจำเลยที่ 1 ร่วมกันอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างและปรับปรุงถนนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์โดยไม่ได้ตรวจสอบ เพราะเชื่อคำรับรองของ ป. ผู้ใหญ่บ้านว่าถนนดังกล่าวเป็นทางสาธารณะแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 รู้อยู่แล้วว่าถนนที่จะก่อสร้างปรับปรุงนั้นรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบว่าแนวถนนที่จะก่อสร้างปรับปรุงรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ใดหรือไม่ อันเป็นการกระทำโดยมิชอบตามกฎหมาย เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิด ซึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดต่อโจทก์ในทางแพ่งเท่านั้น ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 มีเจตนาพิเศษ ขาดองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ป.อ. มาตรา 157 เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 157 ดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 8 และที่ 9 ซึ่งมิใช่เจ้าพนักงานที่ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ย่อมไม่เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนผู้เป็นเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ป.อ. มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2330/2562  โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ว่า จำเลยทั้งสี่เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ ได้ร่วมกันจัดทำเอกสารและกรอกข้อความลงในเช็คสั่งจ่ายเงินให้แก่ ร. โดยไม่ได้ตั้งฎีกาเบิกเงินงบประมาณรายจ่าย ไม่ขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือและไม่ได้ขีดคร่อมเช็ค ทั้งไม่ส่งมอบเช็คแก่ ร. ผู้มีสิทธิรับเงินตามเช็ค อันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แล้วร่วมกันนำเช็คไปเรียกเก็บเงินและเบียดบังเงินนั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริตอันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต โดยโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องระบุว่า จำเลยทั้งสี่กระทำไปโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของความผิด มาตรา 157 การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
   
           ข. ส่วนที่สอง เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าทีโดยทุจริต
          1. เป็นเจ้าพนักงาน
          2. ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
          3. โดยทุจริต (เจตนาพิเศษ)
          4. โดยเจตนา
          ซึ่งองค์ประกอบก็จะคล้ายกับส่วนแรก แตกต่างเฉพาะข้อ 3. คือการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นนั้นต้องมีเจตนาทุจริต

          การปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3677/2525  จำเลยรับราชการเป็นตำรวจซึ่งมีหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยได้รับแต่งตั้งตามกฎหมาย ย่อมเป็นเจ้าพนักงาน แม้จำเลยจะรับราชการประจำกองกำกับการตำรวจม้า มีหน้าที่ในการถวายอารักขาแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรอบเขตพระราชฐานก็เป็นเพียงหน้าที่เฉพาะตามคำสั่งแต่งตั้งของทางราชการ แต่โดยทั่วไปจำเลยยังมีอำนาจสืบสวนคดีอาญาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 17 การที่จำเลยจับกุมโจทก์ร่วมหาว่ามีพลอยหนีภาษีและยึดพลอยของกลางไว้จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานตามกฎหมายเมื่อจำเลยจับกุมโจทก์ร่วมและยึดพลอยของกลางไว้ แล้วกลับปล่อยโจทก์ร่วมไปไม่นำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย ย่อมเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3194/2536  จำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นข้าราชการครูได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสอบสัมภาษณ์ในการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการครูตามคำสั่งของสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติ ย่อมถือว่าเป็นเจ้าพนักงานในการสอบครั้งนี้แม้จะเป็นเพียงกรรมการสอบสัมภาษณ์ก็ตาม หน้าที่ในการสอบย่อมคลุมถึงการสอบตั้งแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งจนถึงการสอบเสร็จสิ้น หาใช่เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่เฉพาะในช่วงการสอบสัมภาษณ์ เท่านั้นไม่ เมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 มีเจตนาทุจริตร่วมกันนำเข้าสอบซึ่งเป็นความลับของทางราชการไปเปิดเผยให้ บ. กับพวกรู้ก่อนเข้าสอบ จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและฐานเป็นเจ้าพนักงานกระทำโดยมิชอบด้วยหน้าที่ให้ผู้อื่นล่วงรู้ความลับในราชการ และจำเลยที่ 4 ที่ 5 ซึ่งเป็นข้าราชการครูซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำผิดแต่มิได้เป็นกรรมการสอบมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 2 ที่ 3
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4532/2548  การที่จำเลยนำสมุดบันทึกการประชุมในวันที่ 15 และ 19 สิงหาคม 2538 ไปให้ จ. และ ส. ลงลายมือชื่อในบันทึกการประชุม ทั้งที่ไม่ได้มีการประชุม และบันทึกรายงานการประชุมดังกล่าวระบุว่า ร. เป็นผู้จดรายงานการประชุมการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ ร. ผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมแต่มีชื่อเข้าร่วมประชุมและประชาชนทั่วไปในตำบลท่าเรือ ทั้งเอกสารที่ทำปลอมขึ้นนั้นเป็นบันทึกรายงานการประชุมของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลในราชการส่วนท้องถิ่น จึงเป็นการปลอมเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 265 เมื่อจำเลยซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือมีหน้าที่ขออนุมัติข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2538 จากสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือเพื่อนำเสนอนายอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชอนุมัติ จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ดูแลรักษาเอกสาร กระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้นตาม ป.อ. มาตรา 161 และการที่จำเลยลงลายมือชื่อรับรองสำเนารายงานการประชุมทั้งสองครั้งดังกล่าวในสำเนาข้อบังคับเรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2538 ว่ามีการประชุมจริง จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับเอกสารรับรองเป็นหลักฐานว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และจำเลยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือ และประชาชนในตำบลท่าเรือ โดยการนำงบประมาณมาจัดประมูลให้ผู้รับเหมาทำงานตามที่ตนเองต้องการ อันเป็นการแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 157
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 759/2547  จำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจนับคะแนนประจำหน่วยเลือกตั้งโดยผู้มีอำนาจตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 จึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยที่ 1 ได้หยิบบัตรเลือกตั้งใส่ในเสื้อที่สวมใส่แล้วเดินออกไปยังจุดนัดพบกับ ต. เพื่อให้ ต. ต่อจากนั้นได้กลับมายังที่หน่วยเลือกตั้ง จนเวลาประมาณ 13 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขออนุญาตออกไปทำธุระข้างนอกและไปหา ต. กับพวกรวม 3 คน แล้วนำบัตรเลือกตั้งกลับมายังหน่วยเลือกตั้ง จากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ล้วงเอาบัตรเลือกตั้งจากในเสื้อออกมาใส่กล่องบัตรดี บัตรเลือกตั้งทุกแผ่นมีการกากบาทเครื่องหมายไว้แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปโดยมีเจตนาที่จะมิให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้ยังเป็นการทำให้บัตรเลือกตั้งเสียหายไม่อาจนำไปใช้การได้อีก อันถือได้ว่าเป็นการทำให้ผู้มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งครั้งนั้นได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1161/2538  จำเลยเป็นข้าราชการครู มีหน้าที่ปฏิบัติราชการของวิทยาลัยเทคนิค ร. ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาให้มีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างต่อเติมวิทยาลัยอาชีวศึกษา ส. ซึ่งเป็นงานราชการของวิทยาลัยเทคนิค ร. จำเลยจึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้าง ปรับปรุงต่อเติมอาคารวิทยาลัยอาชีวศึกษา ส. ดูแลรักษาวัสดุที่เหลือใช้จากการก่อสร้างการที่จำเลยให้ ก. นำเหล็กไลท์เกจ อันเป็นวัสดุที่เหลือใช้ซึ่งอยู่ในหน้าที่ความดูแลรับผิดชอบของจำเลยไปเก็บไว้ที่ร้าน ก. และให้ ก. เอาเหล็กดังกล่าวไปเสียจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้เกิดความเสียหายแก่กรมอาชีวศึกษา และเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ผิด ป.อ. มาตรา 157
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5799/2562  ขณะที่ บ. เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ส. และโรงพยาบาลส่งใบแสดงค่ารักษาพยาบาลไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลศาลเจ้าไก่ต่อนั้น บ. ยังไม่ได้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย และจำเลยไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายต้องอุปการะเลี้ยงดู บ. ไม่ใช่บุคคลในครอบครัวตามนิยามที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของพนักงานส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2541 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ แม้ต่อมาจำเลยจดทะเบียนว่า บ. เป็นบุตร ก็มีผลให้ บ. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลยนับแต่วันที่จดทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1557 (เดิม) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ หาได้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ บ. เกิดแต่อย่างใดไม่ จำเลยและ บ. จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามระเบียบดังกล่าวสำหรับค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นก่อนวันที่จำเลยจดทะเบียนว่า บ. เป็นบุตร การที่จำเลยลงชื่อในฎีกาขอเบิกเงินและออกเช็คชำระเงินค่ารักษาพยาบาลของ บ. ให้แก่โรงพยาบาล ส. จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาและเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่น เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 157 (เดิม)


ยักยอกทรัพย์มรดก


          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 354  "ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 352 หรือมาตรา 353 ได้กระทำในฐานที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งของศาล หรือตามพินัยกรรม หรือในฐานเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจ อันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
          มาตรา 352  "ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง"
          มาตรา 353  "ผู้ใดได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น หรือทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใดๆ โดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          ผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล มีหน้าที่ต้องจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทตามสิทธิของแต่ละคน  ไม่มีสิทธิที่จะทำการเบียดบังทรัพย์มรดกโดยนำมาจดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกเป็นของตนเองหรือผู้หนึ่งผู้ใดแต่เพียงผู้เดียว หากการกระทำของผู้จัดการมรดกซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาลกระทำหน้าที่ของตนจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้ทายาทแล้ว ผู้จัดการมรดกก็มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดก ตามมาตรา 354
          
          ผู้จัดการมรดกสามารถเลือกวิธีการแบ่งมรดกด้วยการขายที่ดินพิพาทเพื่อเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท แต่เมื่อการประมูลขายที่ดินพิพาทของผู้จัดการมรดกเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และมีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางไม่ชอบมาพากล มีเจตนากระทำความผิดทางอาญาด้วยการวางแผนแสวงหาประโยชน์จากที่ดินพิพาทอย่างเป็นขั้นเป็นตอนโดยทุจริต จากการที่ผู้จัดการมรดกมอบหมายให้บุตรชายของตนเข้าประมูลซื้อที่ดินพิพาทเพื่อให้เป็นของตนเอง โดยผู้จัดการมรดกไม่ได้นำเงินที่ขายได้ทั้งหมดมาแบ่งปันแก่ทายาท จึงเป็นกรณีที่ผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลได้ครอบครองและเบียดบังเอาทรัพย์มรดกเป็นของตนหรือของบุคคลที่สามโดยทุจริต จึงมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3256/2563  เมื่อศาลตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ ว. แล้ว จำเลยไม่อาจจัดการมรดกให้เป็นไปทางหนึ่งทางใดตามอำเภอใจได้ แต่จักต้องทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกภายใต้กรอบและหลักเกณฑ์ที่ ป.พ.พ. กำหนดไว้ โดยประการสำคัญ จำเลยมีหน้าที่ต้องรวบรวมทรัพย์มรดกทั้งหลายของ ว. แล้วนำมาจัดการมรดกโดยทั่วไปและจัดสรรแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิทุกคนให้เป็นไปตามกฎหมายและตามพินัยกรรมของ ว. ซึ่งในการนี้ จำเลยต้องกระทำเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกด้วยความสุจริต โปร่งใสและตรงไปตรงมาอย่างเปิดเผยเพื่อไม่ได้เป็นที่คลางแคลงใจ อันจะก่อให้เกิดความขัดแย้งกระทบกระทั่งต่อความสัมพันธ์อันดีในระหว่างทายาทผู้มีสิทธิทุกคน มิฉะนั้น จำเลยอาจต้องรับผิดในทางแพ่งต่อทายาทตามมาตรา 1720 ทั้งหากกระทำการโดยทุจริตเพื่อประโยชน์แก่ตนเองเป็นที่ตั้ง จำเลยก็อาจต้องรับผิดทางอาญาในความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 และ 354 
          ผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งมีอำนาจและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 ทั้งการจัดการมรดกเป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะต้องจัดการโดยตนเอง เว้นแต่เข้าข้อยกเว้นให้ผู้จัดการมรดกมอบให้ตัวแทนทำการได้ตามอำนาจที่ให้ไว้ชัดแจ้งหรือโดยปริยายในพินัยกรรม หรือโดยคำสั่งศาล หรือในพฤติการณ์เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามมาตรา 1723 นอกจากนี้ ผู้จัดการมรดกที่ศาลมีคำสั่งตั้งมิใช่ตัวแทนของทายาท โดยอำนาจหน้าที่และความรับผิดของผู้จัดการมรดกที่มีต่อทายาทเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมาย ผู้จัดการมรดกจึงอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาทที่จะต้องจัดการมรดกเพื่อประโยชน์แก่ทายาทและกองมรดก โดยทายาทไม่มีอำนาจที่จะสั่งการให้ผู้จัดการมรดกกระทำการใด ๆ ได้ เพียงแต่ผู้จัดการมรดกจะต้องรับผิดต่อทายาทตามมาตรา 1720 โดยกฎหมายให้นำบทบัญญัติบางมาตราในลักษณะตัวแทนมาใช้บังคับโดยอนุโลม และทายาทอยู่ในฐานะเป็นผู้ควบคุมการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกให้อยู่ในขอบอำนาจตามที่พินัยกรรมและกฎหมายกำหนดไว้ รวมทั้งมีอำนาจที่จะขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกที่ละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ เมื่อการจัดการมรดกของ ว. เป็นหน้าที่โดยตรงของจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกที่จะต้องกระทำด้วยตนเอง โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ ว. จึงไม่มีอำนาจบังคับจำเลยให้ดำเนินการขายที่ดินพิพาทในรูปแบบของคณะกรรมการขายที่ดินตามมติที่ประชุมทายาทและในทางกลับกัน จำเลยย่อมมีอำนาจเต็มที่ที่จะจัดการมรดกของ ว ได้โดยไม่จำต้องขออนุญาตหรือต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์หรือที่ประชุมทายาทก่อน ว. เจ้ามรดก มิได้กำหนดให้ผู้จัดการมรดกกระทำโดยวิธีการใด เพียงแต่ระบุให้ทายาทรวม 6 คน ได้รับส่วนแบ่งทรัพย์สินคนละส่วนเท่า ๆ กัน ดังนั้น การแบ่งปันทรัพย์มรดกจึงต้องดำเนินการไปตามหลักเกณฑ์ที่ มาตรา 1750 กำหนดไว้โดยเฉพาะ กล่าวคือ การแบ่งปันทรัพย์มรดกสามารถกระทำได้ 3 วิธี โดยวิธีแรก ให้ทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด วิธีที่สอง ให้ดำเนินการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท และวิธีที่สาม ให้ทายาทตกลงกันด้วยการทำรูปแบบของสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 850 และ 852 มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อทายาทหรือตัวแทนของทายาทเป็นสำคัญ จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกเลือกวิธีการแบ่งมรดกด้วยการขายที่ดินพิพาทเพื่อเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาทแม้จำเลยจะเป็นทายาทของ ว. ที่มีส่วนในทรัพย์มรดกมากกว่าโจทก์และทายาทคนอื่น แต่เมื่อการประมูลขายที่ดินพิพาทของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ว. เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และมีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางไม่ชอบมาพากลหลายประการ รูปคดีจึงบ่งชี้ว่าจำเลยไม่เพียงจัดการมรดกโดยมิชอบในทางแพ่งเท่านั้น แต่ยังมีเจตนากระทำความผิดทางอาญาด้วยการวางแผนแสวงหาประโยชน์จากที่ดินพิพาทอย่างเป็นขั้นเป็นตอนโดยทุจริต ซึ่งความในข้อนี้เห็นได้ชัดจากการที่จำเลยมอบหมายให้ อ. บุตรชายของจำเลยเข้าประมูลซื้อที่ดินพิพาทเพื่อให้เป็นของจำเลย โดยจำเลยไม่ได้นำมูลค่าของที่ดินพิพาท ที่ประมูลซื้อในราคา 8,150,000 บาท มาแบ่งปันแก่ทายาทแต่อย่างใด อีกทั้งจำเลยยังดำเนินการแบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็นที่ดินแปลงย่อย 4 แปลง แล้วขายที่ดินแปลงคงและแปลงย่อยรวม 5 แปลง ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ว. ให้แก่ ศ. ในราคาสูงถึง 19,000,000 บาท แล้วนำเงินเข้าบัญชีของจำเลย แม้ต่อมาจำเลยได้ถอนเงินจำนวน 9,000,000 บาท นำเข้าฝากในบัญชีกองมรดกของ ว. ก็ตาม แต่เงินอีก 10,000,000 บาท ไม่ใช่เงินส่วนตัวของจำเลยเพราะจำเลยขายที่ดินพิพาทในฐานะผู้จัดการมรดกของ ว. คดีจึงรับฟังได้มั่นคงว่า จำเลยในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดกของ ว. ตามคำสั่งศาลได้ครอบครองและเบียดบังเอาทรัพย์มรดกของ ว. เป็นของตนหรือของบุคคลที่สามโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ประกอบมาตรา 354       
          
          ผู้จัดการมรดกของผู้ตายมีหน้าที่จัดการมรดกและแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายตามสิทธิที่จะพึงมีพึงได้ การที่ผู้จัดการมรดกโอนหุ้นของผู้ตายให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้วจำเลยที่ 3 โอนหุ้นดังกล่าวกลับมาให้จำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดก จึงเป็นการกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 354
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 532/2553  จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายมีหน้าที่จัดการมรดกและแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายตามสิทธิที่จะพึงมีพึงได้ การที่จำเลยที่ 1 โอนหุ้นของผู้ตายให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้วจำเลยที่ 3 โอนหุ้นดังกล่าวกลับมาให้จำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดก จึงเป็นการกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต ทำให้โจทก์ทั้งสามไม่ได้รับแบ่งปันหุ้นดังกล่าว ถือว่าเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสาม แม้จะได้ความว่าบริษัทนี้มีหนี้สินค้างชำระเป็นจำนวนมากก็เป็นคนละกรณีกัน เพราะโจทก์ทั้งสามต้องรับไปทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิด การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 354 ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ทั้งไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับมอบหมายให้จัดการหุ้นดังกล่าวของผู้ตายหรือไม่ อย่างไร คงได้ความแต่เพียงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนหุ้นดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และจำเลยที่ 2 รับโอนหุ้นกลับมาจากจำเลยที่ 3 เท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิด จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา 354 ประกอบมาตรา 86

          แม้มีการยักยอกทรัพย์มรดก แต่ถ้าผู้กระทำไม่ได้เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลหรือตามพินัยกรรม ก็มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ตามมาตรา 352 เท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1205/2542    แม้ตามสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านกับสำเนาทะเบียนนักเรียนระบุว่า ล. เป็นบิดาโจทก์ ทั้งปรากฏว่าโจทก์ไม่เคยใช้นามสกุลของผู้ตายก็ตาม แต่การที่ผู้ตายรับโจทก์มาอยู่กับผู้ตายที่บ้านและจำเลยที่ 3 ระบุในบัญชีเครือญาติว่าโจทก์เป็นบุตรเจ้ามรดกต่างมารดาเท่ากับยอมรับว่าโจทก์เป็นบุตรของผู้ตาย เมื่อได้ความว่าผู้ตายได้อุปการะเลี้ยงดูและให้โจทก์เรียนตัดเย็บเสี้อผ้า ทั้งผู้ตายยังเป็นเจ้าภาพแต่งงานให้โจทก์ด้วย พฤติการณ์ดังกล่าวที่ผู้ตายแสดงต่อโจทก์ให้เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าโจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายของผู้ตายที่ผู้ตายได้รับรองแล้ว โจทก์จึงเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627  โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลของผู้ตายได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา  2 (4),  28 (2) 
          หนังสือสัญญาพินัยกรรมระบุว่าผู้ตายเป็นผู้ออกเงินซื้อที่ดินตามฟ้องทั้ง 3 แปลง แต่ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 แทน โดยมีจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มิได้นำที่ดินทั้ง 3 แปลงไปเป็นมรดกของผู้ตายโดยมิได้ระบุในรายการทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้าง การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงมีมูลความผิดฐานยักยอก ส่วนผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลชั้นต้นมิได้เป็นทายาทของผู้ตายและมิได้ลงลายมือชื่อในสัญญาพินัยกรรมด้วยเชื่อว่าที่ดินทั้ง 3 แปลงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมิได้นำมาระบุไว้เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง  
          โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำผิดในฐานที่เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งคดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีมูลความผิดตาม ป.อ. มาตรา 354 ประกอบมาตรา 83 แต่มีมูลความผิดตามมาตรา 352 ประกอบมาตรา 83  และเมื่อคดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีมูลความผิดตามมาตรา 352, 83 แล้ว ในการกระทำอันเดียวกันนั้น ย่อมไม่มีมูลความผิดตามมาตรา 354 ประกอบ 86 อีก
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์...ว่า คดีโจทก์มีมูลว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องนั้น เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังมิได้วินิจฉัย แต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในสำนวนพอแก่การวินิจฉัยข้อกฎหมายได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยใหม่ ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของ จ. พยานโจทก์ว่า เมื่อปี 2533 ผู้ตายเคยบอกว่าซื้อที่ดินทั้ง 3 แปลงตามฟ้อง แต่ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไว้แทน เนื่องจากผู้ตายมีที่ดินจำนวนมากอาจถูกสำนักงานปฏิรูปที่ดินยึดคืนไป ซึ่งคำเบิกความดังกล่าวสอดคล้องกับข้อความในหนังสือสัญญาพินัยกรรม พ.ศ. 2536 ที่ว่า ผู้ตายเป็นผู้ออกเงินซื้อที่ดินทั้ง 3 แปลงดังกล่าวและใส่ชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 แทน นอกจากนี้โจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมดังกล่าวด้วย เห็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมดังกล่าวเช่นนี้ย่อมทราบข้อความดังกล่าวดี การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มิได้นำที่ดินทั้ง 3 แปลงตามที่ระบุไว้ไปเป็นมรดกของผู้ตายโดยมิได้ระบุในรายการทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้าง เอกสารการจัดการมรดกของผู้ตาย การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จึงมีมูลความผิดฐานยักยอกตามฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นเพียงผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลชั้นต้น จำเลยที่ 4 และที่ 5 มิได้เป็นทายาทของผู้ตายและมิได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมดังกล่าว เมื่อที่ดินทั้ง 3 แปลงดังกล่าวมีชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ จำเลยที่ 4 และที่ 5 ย่อมเชื่อว่าที่ดินทั้ง 3 แปลง ดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมิได้นำมาระบุไว้เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ทั้งโจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเพียงผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้ง 3 แปลง แทนผู้ตายหรือจำเลยที่ 4 และที่ 5 รู้เห็นในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อย่างไร คดีเฉพาะจำเลยที่ 4 และที่ 5 ไม่มีมูลอันเป็นความผิดตามฟ้อง 
          อนึ่ง เมื่อได้ความตามทางไต่สวนมูลฟ้องว่า เฉพาะจำเลยที่ 3 เท่านั้นซึ่งคดีมีมูลว่าได้กระทำผิดในฐานที่เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ตาม ป.อ. มาตรา 354 ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 แม้ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 3 ด้วยก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามคำฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำผิดในฐานที่เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล คดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีมูลความผิดตาม ป.อ. มาตาม 354 ประกอบด้วยมาตรา 83 แต่มีมูลความผิดตามมาตรา 352 ประกอบด้วยมาตรา 83 และเมื่อคดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีมูลความผิดตามมาตรา 352, 83 แล้ว ในการกระทำอันเดียวกันนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมไม่มีมูลเป็นความผิดตามมาตรา 354 ประกอบมาตรา 86 อีก

          ผู้จัดการมรดกได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า เหตุที่ไม่ได้โอนมรดกรายนี้ให้ทายาทอื่นด้วยนั้น เนื่องจากได้แบ่งมรดกส่วนอื่นให้ไปแล้ว และจำเลยในฐานะทายาทได้ทำบันทึกให้ความยินยอมโดยที่ความจริงผู้จัดการมรดกยังไม่ได้แบ่งมรดกรายอื่นให้แก่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทอื่นเลย ผู้จัดการมรดกผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดก ตามมาตรา 354 ส่วนทายาทที่ช่วยเหลือให้ความยินยอมผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา 353, 354 ประกอบ 86
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6870/2541  ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 352 ผู้กระทำผิดต้องเป็นผู้ครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย และได้เบียดบังเอาทรัพย์เป็นของตนเองหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ส่วนความผิดตามมาตรา 353 ผู้กระทำความผิดต้องเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์ของผู้อื่นหรือทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริตจนทำให้เกิดความเสียหาย สำหรับความผิดตามมาตรา 354 ต้องเป็นกรณีที่ผู้กระทำความผิดมาตรา 352 หรือ 353 ได้กระทำในฐานะที่เป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาลหรือตามพินัยกรรม เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยหรือ ว. เป็นผู้ครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น และจำเลยไม่ได้เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์ของผู้อื่น และไม่ได้มีฐานะเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาลหรือตามพินัยกรรม จำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นผู้กระทำความผิดตามมาตรา 352 มาตรา 353 และมาตรา 354 ได้ เมื่อจำเลยไม่สามารถกระทำผิดตามมาตราดังกล่าวได้ จำเลยจึงเป็นตัวการร่วมกับ ว.ในการกระทำความผิดตามมาตรา 83 ไม่ได้ 
          การจดทะเบียนโอนมรดกให้แก่ผู้จัดการมรดกในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกนั้น สามารถทำได้โดยไม่ต้องสอบถามทายาทอื่น แตกต่างกับการจดทะเบียนโอนมรดกให้แก่ผู้จัดการมรดกในฐานะเป็นผู้รับมรดกเอง ซึ่งจะต้องมีการบันทึกการยินยอมของทายาทเจ้ามรดกไว้ด้วย และเป็นการจดทะเบียนที่ดินประเภทมีทุนทรัพย์ เมื่อปรากฏว่า ว. ได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า เหตุที่ไม่ได้โอนมรดกรายนี้ให้ทายาทอื่นด้วยนั้น เนื่องจาก ว.ได้แบ่งมรดกส่วนอื่นให้ไปแล้ว และจำเลยในฐานะทายาทได้ทำบันทึกให้ความยินยอมโดยที่ผู้จัดการมรดกยังไม่ได้แบ่งมรดกรายอื่นให้แก่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทอื่นเลย จึงเป็นการที่จำเลยช่วยเหลือให้ ว. ผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลได้จดทะเบียนโอนมรดกเป็นของ ว.ในฐานะผู้รับมรดกเองอันเป็นการกระทำที่มีมูลความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตาม ป.อ.มาตรา 353, 354 ประกอบ 86 แล้ว

          กองมรดกยังมีหนี้สินตามคำพิพากษาและเจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้ ต้องถือว่าทรัพย์มรดกยังคงอยู่ในระหว่างจัดการ ซึ่งมีสาระสำคัญว่าตราบใดที่เจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้ จะมีการแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทมิได้ การที่ผู้จัดการมรดกมิได้แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท จะฟังว่าเป็นการยักยอกทรัพย์มรดกไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 769-770/2539    การที่จะเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 ผู้กระทำจะต้องกระทำโดยเจตนา คือรู้อยู่แล้วว่าข้อความที่ตนนำมาเบิกความนั้นเป็นความเท็จ จำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ตั้งเป็นผู้จัดการมรดกและเบิกความตามคำร้องนั้น โดยเชื่อตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ที่ดินและความเห็นของทนายความ โดยไม่มีเจตนาที่จะเบิกความเท็จ การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จ  
          กองมรดกยังมีหนี้สินตามคำพิพากษาและเจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1736 ต้องถือว่าทรัพย์มรดกยังคงอยู่ในระหว่างจัดการ ซึ่งมีสาระสำคัญว่าตราบใดที่เจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้ จะมีการแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทมิได้ที่จำเลยยังไม่ได้แบ่งปันทรัพย์มรดกแก่โจทก์จะฟังว่าเป็นการยักยอกทรัพย์ของโจทก์ไม่ได้ การที่จำเลยแบ่งขายที่ดินมรดกก็เป็นการปฏิบัติตามสัญญาที่เจ้ามรดกทำไว้ก่อนตายกับผู้ซื้อ ถือไม่ได้ว่าเป็นการยักยอกทรัพย์มรดกของโจทก์เช่นกัน

          ผู้จัดการมรดกขายที่ดินทรัพย์มรดกโดยยังไม่แบ่งเงินให้แก่ทายาท แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าทายาทยังไม่ได้เคยทวงถามให้แบ่งเงินที่ได้จากการขายที่ดินแต่อย่างใด การขายที่ดินจึงเป็นวิธีเกี่ยวกับการจัดการและแบ่งปันทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719, 1750 คดีไม่มีมูลความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 604/2537  ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ ย. ผู้ตายต่อมาจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนขายที่ดินทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่ ว. โดยไม่ได้แบ่งเงินที่ได้จากการขายที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทของผู้ตาย ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ขายที่ดินทรัพย์มรดกของผู้ตายไปด้วยวิธีการอันไม่สุจริตหรือมีเจตนาที่จะเบียดบังเงินที่ได้จากการขายที่ดินทรัพย์มรดกไว้โดยทุจริตอย่างไร ทั้งก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์ทั้งสี่ก็ไม่เคยทวงถามจำเลยให้แบ่งเงินที่ได้จากการขายที่ดินทรัพย์มรดกให้โจทก์ทั้งสี่การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ทำการขายที่ดินทรัพย์มรดกของผู้ตายไปนั้น จึงเป็นวิธีเกี่ยวกับการจัดการและแบ่งปันทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719, 1750 คดีของโจทก์จึงไม่มีมูลดังฟ้อง

          ผู้จัดการมรดกกระทำผิดหน้าที่โดยเลือกโอนทรัพย์มรดกให้แก่ตนเองแล้วโอนต่อให้แก่ทายาทบางคน มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 128/2537  จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งของศาลและรู้ว่าทรัพย์มรดกจะต้องแบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมทุกคนเท่าๆ กัน แต่จำเลยไม่ยอมแบ่งที่ดินมรดกให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง กลับโอนที่ดินดังกล่าวให้ตนเองและโอนต่อให้ ส. เช่นนี้ จึงเป็นกรณีที่จำเลยได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาล กระทำผิดหน้าที่ด้วยการโอนทรัพย์สินนั้นเป็นของตนเองและโอนต่อให้ผู้อื่นโดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินแก่โจทก์ จำเลยมีความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 วรรคแรก, 354

          จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล มีหน้าที่จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทตามสิทธิของแต่ละคน  การที่จำเลยกระทำผิดหน้าที่ในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกด้วยการจดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทเป็นของตน จึงเป็นการกระทำโดยทุจริต มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353 ประกอบด้วย มาตรา 354
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 113/2535  จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล มีหน้าที่จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทตามสิทธิของแต่ละคน (ไม่มีสิทธิจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาลกระทำหน้าที่ด้วยการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินนั้นเป็นของตนจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น) ทายาทส่วนใหญ่ไม่รู้มาก่อนว่าจำเลยได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกเพราะได้มอบ-หมายให้โจทก์ร่วมเป็นผู้จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดก เอกสารหลักฐานทรัพย์มรดกทั้งหมดโจทก์ร่วมเป็นผู้เก็บรักษาไว้ ซึ่งจำเลยก็รู้เห็น แต่จำเลยกลับไปแจ้งความว่าตราจองที่ดินพิพาทสูญหาย ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทน แล้วจำเลยได้จดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียวโดยอ้างว่าควรจะเป็นของจำเลยจำเลยไม่ยินยอมที่จะให้เอาชื่อทายาทอื่นเป็นผู้รับมรดกร่วมกับจำเลย แสดงให้เห็นว่าจำเลยกระทำผิดหน้าที่ในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกด้วยการจดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทเป็นของตน จึงเป็นการกระทำโดยทุจริต มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353 ประกอบด้วย มาตรา 354

          ทรัพย์มรดกย่อมตกทอดแก่ทายาททุกคนตามส่วน การร่วมกันเบียดบังทรัพย์มรดกโดยไม่ยอมแบ่งปันให้แก่ทายาทบางคน ถ้ากระทำในฐานะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลหรือตามพินัยกรรมก็เป็นความผิดตามมาตรา 353 ประกอบมาตรา 354 ส่วนผู้ร่วมกระทำความผิดคนอื่นคงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3412/2532  โจทก์และจำเลยทั้งสามต่างเป็นทายาทโดยธรรมของ  ส. เจ้ามรดกมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ  ส. ตามคำสั่งศาล จำเลยทั้งสามทราบอยู่แล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของ  ส. ด้วย การที่จำเลยนำที่ดินเหล่านั้นมาแบ่งปันกันโดยไม่แบ่งให้โจทก์หรือกันส่วนของโจทก์ไว้ จึงเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นการร่วมกันเบียดบังที่ดินที่เป็นส่วนของโจทก์โดยทุจริต โดยเฉพาะจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกโดยทุจริตเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของโจทก์ด้วย จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 353 ประกอบด้วยมาตรา 354 ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3ไม่ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นหรือทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ทั้งมิได้เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล คงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก.

          เนื่องจากความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดกเป็นความผิดที่ยอมความได้ ผู้เสียหายจึงต้องร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่รู้เรื่องกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว มิเช่นนั้น คดีย่อมขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1777/2554  เมื่อศาลมีคำสั่งตั้ง จ. เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกแล้วย่อมถือว่า จ. เป็นตัวแทนของทายาททั้งหมด มีหน้าที่ในการรวบรวมทรัพย์มรดก ทั้งดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาต่อผู้ที่กระทำความเสียหายแก่กองมรดกด้วย ดังนั้นเมื่อ จ. นำคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดกไปดำเนินการที่ธนาคาร ก. สาขาวังทอง เพื่อขอรับเงินในบัญชีของเจ้ามรดก แต่เจ้าหน้าที่ธนาคารแจ้งว่าจำเลยนำคำสั่งศาลแต่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกมารับเงินในบัญชีไปแล้ว ย่อมถือว่า จ. รู้เรื่องผู้กระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว และต้องถือว่าโจทก์ร่วมในฐานะทายาททราบเรื่องกระทำผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดแล้วด้วย
          แม้วันสุดท้ายที่โจทก์ร่วมมีสิทธิร้องทุกข์ จะตรงกับวันหยุดราชการ แต่การร้องทุกข์สามารถกระทำได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ โจทก์ร่วมไม่ร้องทุกข์ในวันสุดท้าย คดีจึงขาดอายุความ

          เมื่อความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดกเป็นความผิดที่ยอมความได้ ดังนั้น หากมีการยอมความ ถอนฟ้อง หรือถอนคำร้องทุกข์ ก่อนคดีถึงที่สุดแล้ว ย่อมมีผลให้ความผิดดังกล่าวระงับไป 
         
          แต่การยอมความหรือการถอนคำร้องทุกข์นั้นจะต้องกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4903/2565 คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 353 และมาตรา 354 ซึ่งมาตรา 356 ได้บัญญัติว่าเป็นความผิดอันยอมความได้ อีกทั้งการถอนคำร้องทุกข์เป็นสิทธิซึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 126 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ร้องทุกข์ที่จะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ แต่การถอนคำร้องทุกข์อันจะเป็นเหตุให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) นั้นต้องเป็นการถอนคำร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นเมื่อสิทธิถอนคำร้องทุกข์ในความผิดฐานยักยอกถือเป็นสิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สิน การที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดหนองบัวลำภูมีคำสั่งตั้ง น. เป็นผู้ปกครองของผู้เสียหายทั้งสาม และให้ตั้งผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดหนองบัวลำภูเป็นผู้กำกับการปกครองในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เสียหายทั้งสาม แต่ น. กลับเข้าทำบันทึกข้อตกลงซึ่งมีข้อความว่า ผู้ปกครองผู้เสียหายทั้งสามถอนคำร้องทุกข์คดีนี้ อันเป็นการทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เสียหายทั้งสามซึ่งเป็นผู้เยาว์ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดหนองบัวลำภูจึงเป็นการไม่ชอบ การแสดงเจตนาตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาถอนคำร้องทุกข์โดยถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้การที่ น. ทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวอันมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดหนองบัวลำภู จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1574 (12) ถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

          ผู้ครอบครองทรัพย์มรดกที่ดินพร้อมตึกแถวพิพาท โดยเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลด้วย ซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต โดยจดทะเบียนโอนทรัพย์สินนั้นเป็นของตน เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้อื่น เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353 ประกอบด้วยมาตรา 354
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 987/2554  จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกที่ดินพร้อมตึกแถวพิพาท แต่เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต โดยจดทะเบียนโอนทรัพย์สินนั้นเป็นของตน เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้อื่น เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353 ประกอบด้วยมาตรา 354 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่จำต้องปรับบทลงโทษตามมาตรา 352 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก
          แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนทรัพย์มรดกจากจำเลยที่ 1 โดยไม่สุจริตอันเป็นการสมคบกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดด้วยก็ตาม แต่ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ได้ เพราะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้กระทำในฐานเป็นผู้จัดการมรดกของผู้อื่นตามคำสั่งศาล คงลงโทษได้เพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353, 354 ประกอบด้วยมาตรา 86

          ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกเท่านั้นที่จะเป็นผู้เสียหาย หากมิใช่ทายาทหรือไม่มีสิทธิรับมรดก ก็ไม่มีอำนาจดำเนินคดี
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2494/2565 โจทก์ที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตายโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสไม่ใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย แม้ตามทางนำสืบจะได้ความว่า จำเลยทั้งสามและทายาทของผู้ตายตกลงยินยอมให้โจทก์ที่ 1 มีส่วนในทรัพย์มรดกของผู้ตายเท่าทายาทชั้นบุตรก็เป็นเพียงข้อตกลงระหว่างคู่ความและผู้มีส่วนได้เสียในทางแพ่ง ไม่ทำให้โจทก์ที่ 1 เปลี่ยนสถานะเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายได้ เพราะการเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมายหาใช่เกิดขึ้นโดยข้อตกลงระหว่างทายาทด้วยกันเองไม่ สำหรับความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดกตาม ป.อ. มาตรา 354 บุคคลที่จะเป็นผู้เสียหายในความผิดดังกล่าว ได้แก่ บรรดาทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกเท่านั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 มิใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมาย จึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามในฐานะส่วนตัวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225



รับช่วงสิทธิ


          รับช่วงสิทธิ เป็นกรณีที่สิทธิเรียกร้องเปลี่ยนมือจากเจ้าหนี้ไปยังบุคคลอื่นหรือบุคคลภายนอกโดยผลของกฎหมายทำให้บุคคลนั้นเข้ามาใช้สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง

          มาตรา 226 วรรคหนึ่ง  "บุคคลผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง"



          เหตุที่ทำให้เกิดการรับช่วงสิทธิ
          การรับช่วงสิทธิเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายและจำกัดเฉพาะกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่งการรับช่วงสิทธิแบ่งออกได้เป็น 5 กรณี ได้แก่
          (1) กรณีลูกหนี้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามมาตรา 227 ในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินหรือสิทธิใดๆของเจ้าหนี้แล้ว ลูกหนี้ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้อันเกี่ยวกับทรัพย์หรือสิทธินั้น ๆ ด้วยอำนาจกฎหมาย
          มาตรา 227  "เมื่อเจ้าหนี้ได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเต็มตามราคาทรัพย์หรือสิทธิซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นแล้ว ท่านว่าลูกหนี้ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้อันเกี่ยวกับทรัพย์หรือสิทธินั้น ๆ ด้วยอำนาจกฎหมาย"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4085/2559  โจทก์รับจ้างขนส่งข้าวสารของห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. โดยมีข้อตกลงว่าหากข้าวสารเกิดความเสียหายโจทก์จะต้องรับผิดชอบ แม้ขณะเกิดเหตุละเมิดข้าวสารจะอยู่ในความครอบครองของโจทก์ แต่เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนข้าวสารที่เสียหายให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. โจทก์จึงไม่ใช่ผู้รับช่วงสิทธิและไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในส่วนของข้าวสารที่เสียหายจากจำเลยร่วมทั้งสองผู้ทำละเมิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12980/2558   จำเลยเป็นผู้ซ่อมรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยซึ่งประสบอุบัติเหตุได้รับความเสียหาย เมื่อจำเลยซ่อมเสร็จและส่งมอบรถยนต์ให้ผู้เอาประกันภัยแล้ว แต่เมื่อคนขับรถของผู้เอาประกันภัยนำรถไปขับปรากฏว่าเครื่องยนต์ดับและเกิดความเสียหายอันเนื่องจากการที่จำเลยไม่ใช้ความระมัดระวังในการซ่อมรถยนต์ให้เพียงพอ ซึ่งตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ หมวดการคุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์ ข้อ 7 ระบุว่า การยกเว้นความเสียหายต่อรถยนต์ การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครอง... 7.2 การแตกหักของเครื่องจักรกลไกของรถยนต์ หรือการเสีย หรือการหยุดเดินของเครื่องจักรกลไก หรือเครื่องไฟฟ้าของรถยนต์อันมิได้เกิดจากอุบัติเหตุ ดังนั้น เมื่อโจทก์อ้างว่าการที่เครื่องยนต์ของรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหาย เกิดจากการที่จำเลยไม่ใช้ความระมัดระวังในการซ่อม เท่ากับเป็นการอ้างว่าความเสียหายไม่ได้เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ ซึ่งต้องด้วยข้อยกเว้นตามข้อ 7.2 ความเสียหายของเครื่องยนต์ดังกล่าวจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย โจทก์ไม่จำต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เอาประกันภัย การที่โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนไปจึงไม่ได้รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยที่จะมาฟ้องเรียกเอาจากจำเลย ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่ได้กล่าวอ้างขึ้นในฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7630/2554  การรับช่วงสิทธิจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยอำนาจของกฎหมาย จึงต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้รับช่วงสิทธิได้ การที่โจทก์จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลซึ่งเป็นเงินทดแทนแก่ลูกจ้างตามกฎหมายแรงงานอันเป็นกฎหมายพิเศษซึ่งใช้บังคับระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างกรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการทำงานให้แก่นายจ้างโดยเฉพาะ มิใช่การจ่ายค่าสินไหมทดแทนความเสียหายและกฎหมายก็ไม่ได้บัญญัติให้สิทธิแก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างเรียกเอาเงินทดแทนที่จ่ายไปนั้นคืนจากผู้ทำละเมิดต่อลูกจ้างโจทก์ได้แต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจอ้างการรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์จ่ายไปคืนจากจำเลยที่ 7 ได้


          (2) กรณีที่มีการชำระหนี้ของเจ้าหนี้ด้อยสิทธิตามมาตรา 229 (1) 
          มาตรา 229 (1)  "บุคคลซึ่งเป็นเจ้าหนี้อยู่เอง และมาใช้หนี้ให้แก่เจ้าหนี้อีกคนหนึ่งผู้มีสิทธิจะได้รับใช้หนี้ก่อนตน เพราะเขามีบุริมสิทธิ หรือมีสิทธิจำนำจำนอง"

          (3) กรณีรับช่วงสิทธิของผู้ซื้อทรัพย์จำนองตามมาตรา 229 (2)
          มาตรา 229 (2)  "บุคคลผู้ได้ไปซึ่งอสังหาริมทรัพย์ใด และเอาเงินราคาค่าซื้อใช้ให้แก่ผู้รับจำนองทรัพย์นั้นเสร็จไป"

          (4) กรณีรับช่วงสิทธิของบุคคลผู้มีความผูกพันร่วมกับผู้อื่นตามมาตรา 229 (3)
          มาตรา 229 (3) "บุคคลผู้มีความผูกพันร่วมกับผู้อื่น หรือเพื่อผู้อื่นในอันจะต้องใช้หนี้ มีส่วนได้เสียด้วยในการใช้หนี้นั้น และเข้าใช้หนี้นั้น"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4117/2550  ศาลแพ่งพิพากษาให้โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมด้วยค่าฤชาธรรมเนียมแก่ อ. เมื่อโจทก์ได้ใช้เงินแก่ อ. ไปตามคำพิพากษาแล้วย่อมรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษาดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 229 (3) สิทธิเรียกร้องนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้ จึงต้องถือว่ามีอายุความสิบปีตามมาตรา 193/30 และสิทธิไล่เบี้ยของโจทก์เพิ่งมีขึ้นนับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นต้นไป การนับกำหนดอายุความจึงต้องเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตามมาตรา 193/12 คือวันที่โจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่ อ.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5035/2549  โจทก์กับจำเลยที่ 2 และ 3 ต่างเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อบรรษัทเงินทุน อ. แม้วงเงินค้ำประกันจะไม่เท่ากัน โจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ต้องรับผิดต่อบรรษัทเงินทุน อ. อย่างลูกหนี้ร่วมกับ ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อโจทก์ชำระหนี้แก่บรรษัทเงินทุน อ. แทนจำเลยที่ 1 ไปแล้ว4,838,567.40 บาท โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของบรรษัทเงินทุน อ. ไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ตามส่วนเท่าๆ กัน ตามมาตรา 229 (3) และมาตรา 296 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์คนละ 1,612,855.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินให้แก่บรรษัทเงินทุน อ. จนกว่าจะชำระเสร็จ

          (5) ผู้เสี่ยงภัยจะเสียสิทธิในทรัพย์อันเนื่องจากเจ้าหนี้นำบังคับยึดทรัพย์ ตามมาตรา 230
          มาตรา 230  "ถ้าในการที่เจ้าหนี้นำบังคับยึดทรัพย์อันหนึ่งอันใดของลูกหนี้นั้นบุคคลผู้ใดจะต้องเสี่ยงภัยเสียสิทธิในทรัพย์อันนั้นเพราะการบังคับยึดทรัพย์ไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้นั้นมีสิทธิจะเข้าใช้หนี้เสียแทนได้ อนึ่งผู้ครองทรัพย์อันหนึ่งอันใด ถ้าจะต้องเสี่ยงภัยเสียสิทธิครองทรัพย์นั้นไปเพราะการบังคับยึดทรัพย์ ก็ย่อมมีสิทธิจะทำได้เช่นเดียวกับที่ว่ามานั้น
          ถ้าบุคคลภายนอกผู้ใดมาใช้หนี้แทนจนเป็นที่พอใจของเจ้าหนี้แล้ว บุคคลผู้นั้นย่อมเข้ารับช่วงสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ แต่สิทธิเรียกร้องอันนี้จะบังคับให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่เจ้าหนี้หาได้ไม่"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4362/2540  โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์มีส่วนได้เสียในที่ดิน กับเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของ ม. เจ้ามรดกจำต้องชดใช้หนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินแทนจำเลยซึ่งเป็นผู้จำนอง เพื่อปัดป้องมิให้สิทธิของโจทก์ในที่ดินต้องถูกกระทบกระเทือน จะต้องเสี่ยงภัยเสียสิทธิในที่ดินเพราะอาจถูกผู้รับจำนองบังคับยึดออกขายทอดตลาดชำระหนี้ได้ โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงใช้หนี้ตามสัญญาจำนองแทนจำเลยจนเป็นที่พอใจของผู้รับจำนอง โดยได้มีการไถ่ถอนจำนองแล้วย่อมเข้ารับช่วงสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้บังคับเอาแก่จำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 230 หาใช่เรื่องจัดการงานนอกสั่งหรือลาภมิควรได้ไม่ แม้เป็นการขืนใจลูกหนี้ แต่เมื่อโจทก์ได้ชำระหนี้นั้นอันเนื่องจากจำเลยไม่ยอมไถ่ถอนจำนองและหากไม่มีการไถ่ถอนจำนองโจทก์ก็ย่อมเสียสิทธิในที่ดินไปโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
          โจทก์เป็นผู้รับช่วงสิทธิจากผู้รับจำนองมาไล่เบี้ยเอาจากจำเลยผู้จำนอง ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้ได้ในนามของตนเอง เมื่อหนี้เดิมผู้รับจำนองมีสิทธิบังคับจำนองแม้หนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 189 เดิม ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4838/2540   การจะใช้สิทธิชำระหนี้แทนลูกหนี้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 230 ได้นั้นจะต้องเป็นการชำระหนี้แทนโดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้ด้วยเมื่อปรากฏว่า ขณะโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ยื่นฟ้องจำเลย บริษัท ส.เป็นหนี้จำเลยตามคำพิพากษาตามยอมอยู่เป็นเงินประมาณ 18,852,600 บาท ทั้งการจำนองรายนี้เป็นการจำนองที่ดินแปลงใหญ่เพียงแปลงเดียว คือที่ดินโฉนดเลขที่ 109377 ภายหลังที่ดินแปลงดังกล่าวได้แบ่งแยกเป็นแปลงย่อย ๆ โดยถือว่าที่ดินแปลงย่อยที่แบ่งแยกออกไปยังคงจำนองด้วยตามสัญญาเดิม หาใช่เป็นการจำนองที่ดินหลายแปลงอันจะแบ่งภาระการจำนองได้ไม่ โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงไม่อาจใช้สิทธิตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นบังคับจำเลยให้ยอมรับการชำระหนี้บางส่วนแทนบริษัท ส. แล้วให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนสิทธิจำนองให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 โดยให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 สวมสิทธิเจ้าหนี้จำนองแทนจำเลยตามฟ้องเพราะอาจเป็นการเสียหายแก่จำเลยได้


          ผลของการรับช่วงสิทธิ
          (1) ผู้รับช่วงสิทธิสามารถใช้สิทธิตามมูลหนี้ที่รับช่วงสิทธิมานั้นในนามของตนเอง
          (2) ผู้รับช่วงสิทธิได้รับช่วงสิทธิมาเท่ากับที่ชำระหนี้ไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4205/2540  ตามหนังสือสัญญากู้ที่จำเลยผู้กู้ได้กู้ยืมเงินไปจาก ท.โดยมีโจทก์เป็นผู้ค้ำประกันมีข้อตกลงว่า จำเลยผู้กู้ยอมรับผิดในค่าพาหนะและค่าเสียหายต่าง ๆซึ่งผู้ให้กู้ต้องเสียไปในการทวงถาม ฟ้องร้อง จำเลยยอมใช้ให้ตามที่เสียหายจนครบถ้วน ต่อมา ท.นำสัญญากู้ฉบับนี้ไปฟ้องจำเลยและโจทก์ โจทก์ได้ชำระเงินตามคำพิพากษา 89,220 บาท และค่าใช้จ่ายอย่างอื่น 2,080 บาท ให้ ท.แม้เงินส่วนนี้ ท.จะมิได้เรียกร้องไว้ในขณะฟ้อง แต่เมื่อโจทก์ได้จ่ายเงินจำนวน2,080 บาท ให้ ท.ไปจริง จึงรวมเป็นต้นเงินทั้งหมดที่โจทก์ชำระให้ ท.ไปโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยให้จำเลยชำระเงินจำนวน 91,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยจากจำเลยตาม ป.พ.พ.มาตรา 693
          (3) การรับช่วงสิทธิตามมาตรา 227 ใช้อายุความตามมูลหนี้เดิม แต่ถ้ารับช่วงสิทธิตามมาตรา 229 (3) ต้องใช้อายุความทั่วไป คือ 10 ปี โดยเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันที่ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1818/2541  ประเด็นในคดีอาญาและคดีนี้เป็นประเด็นเดียวกันว่าจำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ กรณีจึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อโจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับช่วงสิทธิของโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยมาฟ้องเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้อันเกิดจากมูลละเมิดในการที่จำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ผู้เอาประกันภัยเสียหาย โจทก์ที่ 1 จึงชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่โจทก์ที่ 2 มีอยู่ในมูลหนี้ต่อจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 226 วรรคหนึ่ง เมื่อคดีอาญาถึงที่สุดแล้ว โดยศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ก่อนที่โจทก์ที่ 2 ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่ง สิทธิของโจทก์ที่ 2 ที่จะฟ้องคดีแพ่งย่อมมีตามกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/32 ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 51 วรรคสาม เมื่อโจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับช่วงสิทธิของโจทก์ที่ 2 ที่มีอยู่ดังกล่าว สิทธิของโจทก์ที่ 1 จึงย่อมมีอายุความ 10 ปี เช่นเดียวกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2370/2526  โจทก์เอาประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันเกิดเหตุไว้แก่จำเลย ลูกจ้างของโจทก์ขับรถยนต์ดังกล่าวโดยประมาทไปชนรถยนต์ของ ร. เสียหาย ร. จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์และจำเลย คดีถึงที่สุดโดยศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ ร. โจทก์และจำเลยไม่ชำระ ร. จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของโจทก์   โจทก์จึงชำระหนี้ตามคำพิพากษาทั้งหมดให้แก่ ร. ไป ดังนี้ โจทก์ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของ ร. ด้วยอำนาจกฎหมายมีสิทธิฟ้องเรียกร้องเงินที่โจทก์ได้ชำระให้แก่ ร. ไปแล้วคืนจากจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ร่วมได้ 
          สิทธิเรียกร้องของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้ จึงต้องถือว่ามีอายุความสิบปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 (มาตรา 193/30)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4117/2550  ศาลแพ่งพิพากษาให้โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมด้วยค่าฤชาธรรมเนียมแก่ อ. เมื่อโจทก์ได้ใช้เงินแก่ อ. ไปตามคำพิพากษาแล้วย่อมรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษาดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 229 (3) สิทธิเรียกร้องนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้ จึงต้องถือว่ามีอายุความสิบปีตามมาตรา 193/30 และสิทธิไล่เบี้ยของโจทก์เพิ่งมีขึ้นนับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นต้นไป การนับกำหนดอายุความจึงต้องเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตามมาตรา 193/12 คือวันที่โจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่ อ.
          (4) ผู้รับช่วงสิทธิมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยกรณีลูกหนี้ผิดนัดตั้งแต่วันรับช่วงสิทธิ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 961/2535  โจทก์เป็นผู้รับประกันภัย ฐานะของโจทก์เป็นผู้รับช่วงสิทธิตามป.พ.พ. มาตรา 880 สิทธิของโจทก์ย่อมเกิดมีขึ้นนับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นต้นไป จึงชอบที่จะคิดดอกเบี้ยให้นับแต่วันชำระค่าสินไหมทดแทน แต่เมื่อทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าได้ชำระค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวทั้งหมดหรือครั้งสุดท้ายไปเมื่อใดแน่ ศาลเห็นสมควรกำหนดให้แก่โจทก์นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
          (5) ถ้าหนี้ที่รับช่วงสิทธิมานั้นเป็นหนี้มีประกัน ผู้รับช่วงสิทธิย่อมได้ประโยชน์จากประกันนั้นโดยไม่ต้องทำสัญญาใหม่ เพียงแต่ต้องส่งมอบหลักฐานหรือทรัพย์ที่เป็นหลักประกันแก่ผู้รับช่วงสิทธิ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1067/2524   โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกันยักยอกเงินของสหกรณ์ ไป ต้องร่วมกันรับผิดชอใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นแก่สหกรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 432 วรรคแรก ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่มีพฤติการณ์ที่จะต้องรับผิดยิ่งหย่อนกว่ากันจึงต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กันตามมาตรา 432 วรรคสาม เมื่อโจทก์ได้ชำระเงินที่ยักยอกให้สหกรณ์ฯ ไป ย่อมรับช่วงสิทธิของสหกรณ์ฯ มาไล่เบี้ยเอากับจำเลยที่ 1 ได้ตามมาตรา 229 (3), 266 การที่โจทก์ใช้เงินคืนแก่สหกรณ์ฯ ไม่เป็นการต้องห้ามตามกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โจทก์ฟ้องเรียกเงินส่วนที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อสหกรณ์ฯ จากจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์ได้ชำระให้ไปแล้ว มิใช่ฟ้องเรียกเงินที่โจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ยักยอกมา จึงไม่เป็นการต้องห้ามตามกฎหมายและถือไม่ได้ว่าเป็นการมาศาลด้วยมืออันไม่บริสุทธิ์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในการเข้าทำงานกับสหกรณ์ฯ เมื่อหนี้ที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นต่อสหกรณ์ฯ นี้เป็นหนี้ที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันแล้ว โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิจากสหกรณ์ จึงใช้สิทธิของสหกรณ์ฯ บังคับเอาแก่จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ได้ตามมาตรา 226
          (6) เจ้าหนี้ที่ถูกรับช่วงสิทธิไปแล้ว หมดสิทธิที่จะบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้แก่ตนอีก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2949/2524  รถของโจทก์ถูกรถของจำเลยชนได้รับความเสียหายบริษัทประกันภัยซึ่งรับประกันภัยรถของโจทก์ไว้ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์แล้วบริษัทประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของโจทก์ในอันที่จะใช้สิทธิเรียกร้องจากจำเลยเท่าจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ได้ใช้ไปและการเข้าสู่ ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธินี้เป็นไปด้วยอำนาจของกฎหมายแม้บริษัทประกันภัยจะยังไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องจากจำเลยตามสิทธิที่ได้รับช่วงมาโจทก์ก็ขาดสิทธิที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยในส่วนที่ได้รับชดใช้จากบริษัทประกันภัยเพราะสิทธิเรียกร้องดังกล่าวบริษัทประกันภัยได้รับช่วงไปแล้ว
          (7) กรณีรับช่วงสิทธิตามมาตรา 227 ถ้าลูกหนี้ชำระหนี้ด้วยการเอาทรัพย์อื่นมาแทนทรัพย์ที่ถูกทำให้เสียหายหรือทำลาย ผู้รับช่วงสิทธิมีสิทธิเหนือทรัพย์นั้นด้วย


การกระทำความผิดโดยอ้างเหตุบันดาลโทสะ

          
          ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72  "ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้"

          หลักเกณฑ์ 
          1. ผู้กระทำความผิดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรง ด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
          2. การถูกข่มเหงเช่นนั้นเป็นเหตุให้ผู้กระทำบันดาลโทสะ
          3. ผู้กระทำได้กระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะบันดาลโทสะ

          การข่มเหง หมายถึง รังแก แกล้ง หรือทำให้รู้สึกอับอาย หรือข่มเหงน้ำใจ เช่น 
          ด่าว่าแม่ของผู้กระทำผิดเป็นโสเภณี เป็นการข่มเหงผู้กระทำผิดอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2770/2544  ผู้เสียหายตะโกนด่าถึงมารดาจำเลยว่ามารดาจำเลยเป็นโสเภณีและถึงแก่กรรมด้วยโรคเอดส์ เป็นการกล่าวหาว่ามารดาจำเลยสำส่อนทางเพศ ถือว่าเป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรม การที่จำเลยตบหน้าผู้เสียหาย2 ครั้ง ในขณะนั้นจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ ซึ่งศาลฎีกาลงโทษจำเลยตามที่พิจารณาได้ความได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้ายประกอบด้วยมาตรา 215 และมาตรา 225

          เอาเท้าพาดศีรษะผู้อื่นแล้วลูบเล่น เป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3315/2522  ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "ข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองฟังต้องกันเป็นยุติว่า ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยกับผู้ตายนั่งดื่มสุราด้วยกันบนบ้านนาง พ. แล้วเกิดขัดใจกันขึ้น จำเลยได้ใช้กำลังกายชกต่อยเตะ และใช้เท้ากระทืบผู้ตายที่บริเวณท้องและหน้าอก เป็นเหตุให้ผู้ตายได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา ตามรายงานการตรวจศพของแพทย์ท้ายฟ้อง ปรากฏว่าเหตุที่ผู้ตายถึงแก่ความตายเพราะลำไส้ทะลุ เส้นเลือดดำในท้องฉีกขาด และเยื่อบุช่องท้องอักเสบทั่วๆไป จากการได้รับอันตรายอย่างรุนแรงที่หน้าท้องและหน้าอก ในชั้นนี้มีปัญหาว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันตัวหรือเพราะบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรมหรือไม่พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า จำเลยนำสืบว่าผู้ตายตบศีรษะจำเลยแล้วเอาเท้าขึ้นวางพาดศีรษะจำเลย จำเลยปัดเท้าผู้ตายออกไป พร้อมกับลุกขึ้นจะออกจากบ้านนาง พ. ผู้ตายกลับฉุดกระชากแขนจำเลยไว้ และเอามืออีกข้างหนึ่งล้วงที่เอวจำเลยเข้าใจว่าผู้ตายล้วงเอามีดหรือปืนออกมาทำร้ายจำเลย จำเลยจึงชกที่บริเวณศีรษะผู้ตาย 1 ที และเตะบริเวณลำตัว 2-3 ที ข้อนี้จำเลยไม่ได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวนเพิ่งจะยกขึ้นอ้างในชั้นพิจารณา ข้อนำสืบของจำเลยจึงไม่น่าเชื่อรูปคดีฟังไม่ได้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันตัวดังที่จำเลยนำสืบ ส่วนการกระทำของจำเลยเป็นเพราะบันดาลโทสะหรือไม่ ได้ความจากนาง พ. พยานโจทก์ว่า สาเหตุแห่งการทำร้ายกันอาจเป็นเพราะผู้ตายเมาสุราแล้วเอาเท้าพาดหัวจำเลยและลูบหัวเล่น จำเลยเป็นคนถือพระถือเจ้าจึงโกรธและทำร้ายเอาก็ได้ ประกอบกับร้อยตำรวจเอก ส.พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่า ชั้นสอบสวนจำเลยให้การว่า ขณะเกิดเหตุผู้ตายเมาสุราได้ใช้มือลูบคลำตบศีรษะจำเลยเล่น จำเลยห้ามก็ไม่เชื่อกลับพูดจาก้าวร้าวจำเลย จำเลยลุกขึ้นจะหนีแต่ผู้ตายดึงมือไว้อีกจนเซไป จำเลยรู้สึกโมโหจึงได้เข้าทำร้ายผู้ตายทันที ดังนี้ถือได้ว่าจำเลยถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จำเลยได้เข้าทำร้ายผู้ตายในขณะนั้น จึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ"

          พูดเย้ยหยันว่าเคยฆ่าบิดาจำเลยมาแล้ว วันนี้จะมาฆ่าจำเลยซึ่งเป็นลูกอีก เป็นการข่มเหงจิตใจของจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7774/2544  ผู้ตายพูดกับจำเลยว่า "มึงไม่นักเลง พ่อมึงถูกกูฆ่าตั้งแต่เล็ก ๆ มึงไม่มีน้ำยา" จำเลยตอบว่า "เสร็จแล้วก็ให้เสร็จกันไป" ผู้ตายพูดว่า"เสร็จแต่มึง กูไม่เสร็จ" เป็นการพูดในบริเวณงานต่อหน้าผู้มาร่วมงานศพจำนวนหลายคน ทั้งผู้ตายถูกกล่าวหาว่าฆ่าบิดาจำเลย แต่ต่อสู้คดีจนพ้นความผิด ที่ผู้ตายกล่าวถ้อยคำตอกย้ำความรู้สึกของจำเลยว่าผู้ตายฆ่าบิดาจำเลยตั้งแต่จำเลยยังเป็นเด็ก แต่จำเลยก็ไม่มีความกล้าหาญพอที่จะทำอะไรได้ แม้จำเลยจะพูดโต้ตอบไปว่าไม่ติดใจในเรื่องดังกล่าวอีกต่อไปแล้ว แต่ผู้ตายก็ยังพูดทำนองท้าทายจะเอาเรื่องกับจำเลยอีกย่อมเป็นการเย้นหยันสบประมาทต่อจำเลยอย่างร้ายแรง ทำให้จำเลยรู้สึกอับอายขายหน้าและแค้นเคืองขึ้นมาโดยทันใดอย่างมาก ถือได้ว่าการกระทำของผู้ตายเป็นการข่มเหงจิตใจของจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยหยิบมีดพร้าในบริเวณที่เกิดเหตุฟันผู้ตายในขณะนั้น 1 ครั้ง ที่บริเวณศีรษะจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 72

          ทำร้ายร่างกายผู้อื่น เป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงและด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5189/2531  ผู้ตายกับภรรยาซึ่งเป็นบุตรสาวจำเลยทะเลาะกันอยู่ในห้องนอนและมีเสียงร้องดัง จำเลยจึงเปิดประตูห้องเข้าไปดูเพื่อระงับเหตุเห็นผู้ตายกำลังนั่งคร่อมทับเอามือจับที่คอภรรยาอยู่ จำเลยเดินเข้าไปกระชากไหล่ผู้ตายออกจากภรรยา ผู้ตายลุกขึ้นชกจำเลย 1 ทีแต่จำเลยหลบทัน แล้วจำเลยคว้าอาวุธปืนลูกซองยาวซึ่งอยู่ในห้องนอนนั้นยิงผู้ตายไป 1 นัด ถึงแก่ความตาย ดังนี้ การที่จำเลยเข้าไประงับเหตุระหว่างผู้ตายกับภรรยา แต่กลับถูกผู้ตายซึ่งเป็นบุตรเขยชกทำร้ายเอานั้น นับได้ว่าผู้ตายได้กระทำการอันไม่สมควรและโดยปราศจากความเคารพยำเกรงต่อจำเลยผู้เป็นพ่อตาซึ่งมีอายุมากแล้ว เป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงและด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมการที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายในขณะนั้นจึงเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ

          แอบดูลูกสาวผู้อื่นอาบน้ำ ถือเป็นการข่มเหงบิดาอย่างร้ายแรงและด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3649 - 3650/2547  ผู้เสียหายทั้งสองซึ่งเป็นวัยรุ่นบุกรุกเข้ามาในบริเวณบ้านที่จำเลยที่ 2 และครอบครัวอยู่อาศัยและปีนหลังคาห้องน้ำแอบดูการอาบน้ำของน้องสาวจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ในวัยรุ่นเช่นกันและยังอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาของจำเลยที่ 2 ย่อมเป็นการข่มเหงจำเลยที่ 2 อย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จนก่อให้เกิดโทสะขึ้นถึงขั้นกระทำความผิดลงได้ จำเลยที่ 2 ใช้มีดพร้าฟันผู้เสียหายทั้งสองได้รับอันตรายสาหัส แม้การกระทำของจำเลยที่ 2 จะกระทำต่อผู้เสียหายทั้งสองในลักษณะที่รุนแรงเกินไป การกระทำของจำเลยที่ 2 ก็ยังเป็นการกระทำผิดโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72 ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ ทั้งนี้โดยคำนึงถึงความเหมาะสมแห่งพฤติการณ์และความร้ายแรงในการกระทำผิด

          ชายอื่นไปนอนกับภริยาในห้องนอน แม้ไม่ได้ร่วมประเวณีกันก็เป็นการข่มเหงสามีอย่างร้ายแรงและด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม  
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3955/2547 การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเนื่องจากผู้ตายกับ น. ภริยาจำเลยอยู่ด้วยกันภายในห้องนอนตามลำพังสองต่อสอง และจำเลยพบเห็นเหตุการณ์โดยไม่คาดคิดมาก่อนจำเลยเกิดความโมโหหรือมีอารมณ์โกรธ จึงยิงไปในขณะนั้นทันทีที่พบเห็น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.อ. มาตรา 68 แต่เป็นการกระทำโดยเหตุบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72

          การข่มเหงเป็นการกระทำของผู้เสียหายเอง และเป็นการกระทำของผู้เสียหายฝ่ายเดียว เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายต้องรับผิดชอบฝ่ายเดียว เช่น ผู้เสียหายตบศีรษะจำเลยก่อน จำเลยร้องห้ามก็ไม่ฟัง จำเลยจึงทำร้ายผู้เสียหาย กรณีนี้ เมื่อเป็นเรื่องร้ายแรง จำเลยก็สามารถอ้างเหตุบันดาลโทสะได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 816/2517  ตอนเกิดเหตุผู้ตายเมาสุรา จำเลยไม่เมา เกิดโต้เถียงท้าทายกัน แล้วจำเลยเดินถอยหลังหนี ผู้ตายเดินตาม และใช้มือตบศรีษะจำเลยผู้มีอายุสูงกว่าถึง 5 ปี (จำเลยอายุ 48 ปี) จำเลยห้ามผู้ตายก็ไม่ฟังยังตามจำเลยเข้าไปข่มเหงอีก ดังนี้ เห็นว่าผู้ตายได้ข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยใช้ปืนตีและยิงผู้ตายไปในขณะนั้น จึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ

          ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นผู้ก่อเหตุขึ้นก่อน จะอ้างบันดาลโทสะไม่ได้ หรือผู้กระทำความผิดสมัครใจวิวาทกับผู้อื่น จะอ้างว่าถูกผู้อื่นข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมและกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะไม่ได้ เช่น จำเลยผู้กระทำความผิดด่าแม่ผู้เสียหาย จากนั้นผู้เสียหายจึงด่าแม่จำเลยบ้าง จากนั้นทั้งสองฝ่ายใช้มีดแทงกัน ดังนี้ เป็นเรื่องด่าว่าและทะเลาะวิวาทกัน จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกข่มเหงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงไม่อาจอ้างว่าเป็นการกระทำผิดโดยบันดาลโทสะเพื่อให้ศาลลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1332/2553) การข่มเหงอาจกระทำต่อบุคคลที่มีควาามสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดก็ได้ และถือว่าเป็นการข่มเหงต่อผู้กระทำความผิดด้วย เช่น ทำร้ายบิดามารดา ถือว่าเป็นการข่มเหงบุตรด้วย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2770/2544)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1332/2553  การที่จำเลยด่าแม่โจทก์ร่วมตอบโต้ไป ก่อนเข้าฟันโจทก์ร่วม เท่ากับว่าจำเลยได้ถลำเข้าไปทะเลาะวิวาทกับโจทก์ร่วมด้วยแล้ว เมื่อต่างคนต่างก็ทะเลาะด่าว่าซึ่งกันและกันเช่นนี้ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะเพราะถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมตาม ป.อ. มาตรา 72 และไม่อาจอ้างว่าเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะเพื่อให้ศาลลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับความผิดที่ได้กระทำนั้นได้
          การจำเลยใช้มีดอีโต้ซึ่งเป็นมีดทำครัวขนาดใหญ่เลือกฟันอย่างแรงที่ศีรษะลำคอและกลางหลัง ซึ่งล้วนเป็นอวัยวะสำคัญจนเป็นแผลฉกรรจ์ หากรักษาไม่ทันอาจถึงแก่ความตายได้ จำเลยย่อมจะเล็งเห็นผลได้ว่าการกระทำของจำเลยอาจทำให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายถึงแก่ความตายได้ พฤติการณ์ชี้ชัดว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าโจทก์ร่วมแล้ว แม้เมื่อโจทก์ร่วมล้มลงหมดสติไปจำเลยจะไม่ได้ฟันโจทก์ร่วมซ้ำอีกก็ตาม

          ความสัมพันธ์อาจไม่ใช่ทางสายเลือดหรือเครือญาติ อาจเป็นความสัมพันธ์กันทางครอบครัวและทางจิตใจก็ได้ เช่น หญิงชายอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา มีบุตรด้วยกัน แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีความสัมพันธ์กันทางครอบครัวและจิตใจ ชายอื่นมาล่วงเกินทางเพศต่อหญิงนั้น ถือเป็นการข่มเหงต่อชายนั้นอย่างร้ายแรงได้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1350/2563  ขณะ จ. อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลย จ. คบหาฉันชู้สาวกับผู้ตายจนเป็นสาเหตุให้จำเลยหึงหวงและทะเลาะกัน แล้วแยกกันอยู่กับ จ. ไม่ได้อยู่กินฉันสามีภริยากันอีก วันเกิดเหตุเมื่อผู้ตายเห็นรถจำเลยจอดอยู่ จึงขับรถมาจอดเทียบข้างรถจำเลย แล้วจำเลยพูดกับผู้ตายว่า มึงยังไม่เลิกยุ่งกับเมียกูอีกหรือ ลูกโตกันหมดแล้ว ก็เป็นการพูดในทำนองขอร้องให้ผู้ตายเลิกคบหากับ จ. และให้เห็นแก่บุตรของจำเลยกับ จ. ซึ่งโตแล้ว แต่ผู้ตายกลับพูดด้วยถ้อยคำหยาบคายว่า จะเลิกยุ่งทำไม เมียมึงเย็ดมันดี ซึ่งเป็นการพูดต่อหน้าบุตรชายของจำเลยที่เกิดกับ จ. ด้วย คำพูดของผู้ตายเช่นนั้นเป็นการเย้ยหยันและดูถูกเหยียดหยามศักดิ์ศรีของจำเลยอย่างรุนแรง จึงเป็นการข่มเหงจิตใจจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม และการที่ผู้ตายคบหากับ จ. มาตั้งแต่ขณะ จ. อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลย ถือว่าจำเลยถูกกดขี่ข่มเหงต่อเนื่องมาโดยตลอด ทำให้จำเลยไม่อาจ อดกลั้นโทสะไว้ได้จึงใช้ปืนยิงผู้ตายไปในทันทีทันใด กรณีย่อมเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 72 ผู้ตายมีส่วนก่อให้จำเลยกระทำความผิด ผู้ตายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยสำหรับความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามฟ้อง โจทก์ร่วมซึ่งเป็นภริยาของผู้ตายย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) และไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่ปัญหาว่าจำเลยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ภริยาของผู้ตายหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ตายมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายโดยมีส่วนก่อให้จำเลยกระทำความผิด ก็เป็นข้อเท็จจริงที่จะนำมาใช้ประกอบดุลยพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิของผู้เสียหายที่จะขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหมดไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2373/2544  จำเลยและ ส. มิได้เป็นสามีภรรยากันตามกฎหมายแต่จำเลยได้อุปการะเลี้ยงดู ส. เยี่ยงภรรยา ซึ่งผู้เสียหายก็รู้แต่ผู้เสียหายยังไปลักลอบหลับนอนร่วมประเวณีกับ ส. การที่จำเลยยิงผู้เสียหายในขณะดังกล่าว จึงเป็นการบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม

          การข่มเหงนั้น ต้องเป็นเรื่องร้ายแรง ซึ่งปัญหาว่าร้ายแรงหรือไม่ ถือตามความรู้สึกของวิญญูชน แม้การกระทำนั้นจะไม่ถึงขนาดกระทำผิดกฎหมายก็ตาม แต่ถ้าวิญญูชน คือ คนทั่วๆไปที่มีฐานะอย่างเดียวกับผู้กระทำผิดมีความรู้สึกโกรธก็ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง เช่น สามีหรือภริยามีชู้ สังคมไทยถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง

          การกระทำของผู้ข่มเหงต้องเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม คือ ผู้ข่มเหงไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ผู้ข่มเหงมีอำนาจที่จะกระทำได้ ผู้กระทำก็ต้องยอมรับ

          การกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ เป็นการกระทำโดยเจตนา หากผลเกิดแก่บุคคลอื่นโดยพลาด ถือว่าเป็นการกระทำโดยพลาดตามมาตรา 60 ด้วย

          การกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ ผู้กระทำความผิดจะต้องกระทำความผิดเพราะความโกรธที่มาจากการข่มเหง และต้องกระทำความผิด ต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น แต่ถ้าการข่มเหงขาดตอนไปแล้ว ควรหมดโทสะได้แล้ว หากไปกระทำผิดต่อผู้นั้นอาจจะเพื่อแก้แค้น ดังนี้ ก็อ้างบันดาลโทสะไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6936/2562  แม้ก่อนเกิดเหตุผู้ตายทำร้ายจำเลยฝ่ายเดียว ด้วยการชกต่อยและบีบคอจำเลย อันถือว่าภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายได้เกิดขึ้นแล้วก็ตาม แต่หลังจากเด็กชาย ช. วิ่งออกจากบ้านเข้ามาดึงแยกจำเลยออกจากผู้ตายแล้ว จำเลยก็วิ่งเข้าไปในบ้าน ส่วนผู้ตายวิ่งไปที่รถจักรยานยนต์ ถือได้ว่าภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายดังกล่าวที่มีต่อจำเลยได้หมดไปแล้ว จำเลยจะใช้อ้างเพื่อกระทำการป้องกันสิทธิของตนย่อมหมดไปด้วย แม้ขณะที่จำเลยวิ่งกลับเข้าไปภายในบ้านจะได้ยินผู้ตายตะโกนพูดว่า มึงตายแน่ และเมื่อกลับออกมาก็เห็นผู้ตายยืนเปิดเบาะล้วงเข้าไปหยิบของในกล่องใต้เบาะรถจักรยานยนต์ก็ตาม แต่จำเลยกลับออกมาพร้อมถืออาวุธปืนมาด้วยแล้วใช้อาวุธปืนยิงไปที่ผู้ตาย 1 นัด ทันที โดยไม่ปรากฏว่าผู้ตายได้กระทำการใดเลย จำเลยจึงไม่อาจอ้างเหตุความสำคัญผิดในข้อเท็จจริงโดยเข้าใจว่ากล่องใต้เบาะรถจักรยานยนต์ของผู้ตายมีอาวุธปืนอยู่และผู้ตายล้วงลงไปเพื่อนำอาวุธปืนออกมายิงจำเลยได้ แต่การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องจากการที่ถูกผู้ตายชกต่อยและบีบคอฝ่ายเดียว ซึ่งถือว่าเป็นการข่มเหงจำเลยด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมย่อมก่อให้เกิดโทสะแก่จำเลย การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจึงถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ ตาม ป.อ. มาตรา 72
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5486/2560 จำเลยเห็นผู้ตายขณะมีเพศสัมพันธ์กับภริยาจำเลย จึงเข้าไปชกต่อยต่อสู้กับผู้ตาย เมื่อจำเลยเพลี่ยงพล้ำ ภริยาจำเลยและผู้ตายรีบสวมใส่กางเกง แล้วภริยาจำเลยไปติดเครื่องรถจักรยานยนต์และเรียกผู้ตายขึ้นรถ ผู้ตายก็รีบวิ่งไปนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่ภริยาจำเลยขับออกไป ดังนี้ ภยันอันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายได้ผ่านพ้นไปแล้ว การที่จำเลยวิ่งตามไปทันทีแล้วใช้ไม้และเสียมตีผู้ตายจึงไม่อาจอ้างว่าเป็นการป้องกันสิทธิของตนได้ แต่อย่างไรก็ตาม การกระทำดังกล่าวต่อเนื่องกระชั้นชิดกับเหตุการณ์ที่จำเลยเห็นผู้ตายมีเพศสัมพันธ์กับภริยาจำเลย ถือได้ว่าจำเลยถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยใช้ไม้และเสียมตีผู้ตายในขณะนั้น จึงเป็นการฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6370/2554 แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ณ. ตะโกนบอกให้จำเลยที่ 1 หยุด แต่ขณะนั้นจำเลยที่ 1 กำลังยิงต่อสู้กับ อ. โดยบันดาลโทสะ ประกอบกับเกิดเหตุชุลมุนเนื่องจากคนที่มาในงานศพวิ่งแตกตื่น เชื่อว่าจำเลยที่ 1 คงไม่ได้ยิน เมื่อจำเลยที่ 1 เห็น ณ. ซึ่งไม่ได้แต่งเครื่องแบบ ใช้อาวุธปืนยิงจำเลยที่ 1 เช่นนี้ จำเลยที่ 1 ย่อมสำคัญผิดได้ว่า ณ. เป็นพวก อ. และได้ช่วยเหลือ อ. ยิงตน การที่จำเลยที่ 1 ยิงต่อสู้กับ ณ. อันเป็นระยะเวลาต่อเนื่องใกล้ชิดติดพันกับการยิง อ. โดยบันดาลโทสะ ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะเช่นกัน แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ยกเรื่องยิง ณ. โดยบันดาลโทสะขึ้นต่อสู้ ศาลฎีกาย่อมหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ เพราะเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1196/2564  การกระทำโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72 เป็นการกระทำที่ผู้กระทำความผิดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้นคือ ในระยะเวลาต่อเนื่องที่ตนยังมีโทสะอยู่ เมื่อโจทก์ร่วมที่ 1 และ ท. ทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 เดินกลับบ้าน เชื่อว่าระหว่างที่จำเลยที่ 1 เดินกลับบ้านและก่อนที่จำเลยที่ 2 จะออกจากบ้านไปร้านที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1 สามารถระงับสติอารมณ์ทำให้โทสะหมดสิ้นไปแล้วและกลับมามีสติสัมปชัญญะดีเหมือนเดิม การที่จำเลยที่ 1 ตามจำเลยที่ 2 ไปร้านที่เกิดเหตุแล้วใช้อาวุธปืนของกลางยิงโจทก์ร่วมที่ 1 หลังจากจำเลยที่ 2 พูดสอบถามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับจำเลยที่ 1 จากโจทก์ร่วมที่ 1 และโจทก์ร่วมที่ 1 มีท่าทางเกรี้ยวกราดมากขึ้นและชี้หน้าพร้อมพูดว่า กูรู้ว่าใครร้องเรียน แล้วทำท่าทางลักษณะคล้ายล้วงอาวุธปืนออกมาจากกระเป๋าสะพายสีน้ำตาล เชื่อได้ว่าเป็นการตัดสินใจเฉพาะหน้าของจำเลยที่ 1 ในทันที หาใช่เป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกระชั้นชิดกับที่จำเลยที่ 1 ยังมีโทสะอยู่ไม่ แต่เป็นเหตุการณ์ที่ขาดตอนไปแล้ว จำเลยที่ 1 จะอ้างว่ากระทำโดยบันดาลโทสะไม่ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนของกลางยิงโจทก์ร่วมที่ 1 แต่โจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น 

          ถ้าการข่มเหงขาดตอนไปแล้วจึงควรหมดโทสะได้แล้ว หากไปกระทำผิดต่อผู้นั้นอาจจะเพื่อแก้แค้น หากถึงตายก็ผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 81/2554 หลังจากผู้ตายใช้ขวดสุราตีศีรษะจำเลย ผู้ตายกับจำเลยยังได้รับประทานอาหารด้วยกัน และจำเลยกลับไปบ้านแล้ว ต่อมานานถึง 2 ชั่วโมงเศษ จำเลยจึงมาที่บ้านเกิดเหตุและใช้มีดโต้ฟันผู้ตายขณะที่ผู้ตายกับ ข. นอนหลับกันแล้ว เหตุการณ์ที่ผู้ตายใช้ขวดสุราตีศีรษะจำเลยได้ขาดตอนตั้งแต่นั่งรับประทานอาหารด้วยกัน จำเลยจึงมิได้กระทำความผิดในขณะที่บันดาลโทสะอยู่ แต่กระทำความผิดในภายหลังเป็นเวลานานถือได้ว่าเหตุบันดาลโทสะขาดตอนแล้ว และการที่จำเลยกลับบ้านนั่งคิดแค้นอยู่ที่บ้านตั้ง 2 ชั่วโมง จึงไปทำร้ายตายในขณะกำลังนอนหลับในยามวิกาลและเวลาดึกสงัดโดยใช้มีดโต้ขนาดใหญ่เลือกฟันผู้ตายที่ศีรษะ ใบหน้าและลำคอหลายครั้ง ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญ หากถูกฟันอย่างแรงเพียงครั้งเดียวก็ถึงแก่ความตายแล้ว แม้จำเลยมิได้เตรียมมีดมา แต่จำเลยก็เตรียมไฟฉายมาค้นหาอาวุธ ซึ่งจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าที่บ้านเกิดเหตุมีมีดโต้ใช้เป็นอาวุธทำร้ายผู้ตายได้และใช้ไฟฉายส่องหาทำร้ายผู้ตายได้ไม่ผิดตัวพฤติการณ์ชี้ชัดว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

          เหตุบันดาลโทสะอาจเกิดเพราะคำบอกเล่าก็ได้ ไม่จำเป็นต้องประสบเหตุการณ์ด้วยตนเอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6788/2554  เหตุบันดาลโทสะอาจเกิดเพราะคำบอกเล่าได้ ไม่จำเป็นต้องประสบเหตุการณ์ด้วยตนเอง วันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 บอกจำเลยที่ 1 ว่าผู้ตายซึ่งเป็นภริยาจำเลยที่ 1 มีชู้โดยจำเลยที่ 2 เห็นผู้ตายกับชายชู้เข้าห้องและปิดประตูอยู่ด้วยกัน มีลักษณะว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวถือได้ว่าเป็นการข่มเหงจิตใจจำเลยที่ 1 อย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้ตายทันทีที่ได้รับคำบอกเล่าจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72

          บันดาลโทสะ เป็นเหตุลดโทษ ถ้าฟังว่าเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้


          จำเลยฆ่าผู้ตายโดยบันดาลโทสะ ผู้ตายจึงเป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำความผิด ผู้ตายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย มารดาของผู้ตายจึงไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายในการเข้าร่วมเป็นโจทก์กับอัยการ

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10908/2556  จำเลยฆ่า ส. ผู้ตายโดยบันดาลโทสะ ส. จึงเป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำความผิด ส. จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยสำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 72 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ว. มารดาของ ส. ย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) และไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 รวมทั้งไม่อาจใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 กับไม่มีสิทธิฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยโดยไม่รอการลงโทษและขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วม ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ ว. เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ และศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยคำร้องขอให้บังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

          จำเลยกล่าวอ้างเหตุบันดาลโทสะ ภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวย่อมตกแก่จำเลยที่จะต้องนำสืบให้เห็นว่า ผู้เสียหายข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมอย่างไร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1020/2563  แม้ตาม ป.วิ.อ. จะมิได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า หน้าที่นำสืบหรือภาระการพิสูจน์ในคดีอาญาเป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายใดก็ตาม แต่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 บัญญัติให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้ และตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 บัญญัติให้คู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคำคู่ความของตนมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ อันเป็นการยอมรับข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์ แต่อ้างเหตุลดหย่อนโทษว่ากระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ ภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวย่อมตกแก่จำเลยที่จะต้องนำสืบให้เห็นว่า ผู้เสียหายข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมอย่างไร อันจะทำให้การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72

          ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3583/2555 จ. เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยซึ่งจำเลยย่อมมีสิทธิตามกฎหมายที่จะกระทำการป้องกันเกียรติยศชื่อเสียงของตนโดยมิให้ชายอื่นมามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับภรรยาของตนได้ แต่ขณะเกิดเหตุจำเลยพบเห็น จ. นอนหนุนตักผู้ตายและกอดจูบกันเท่านั้นโดยยังไม่มีการร่วมประเวณีกัน และการที่ผู้ตายกระทำต่อ จ. ดังกล่าวก็เป็นไปโดย จ. สมัครใจยินยอม พฤติการณ์เช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่ามีภยันตรายซึ่งเกิดการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ซึ่งจำเลยจำต้องกระทำการป้องสิทธิแต่อย่างใด แต่การที่ผู้ตายกับ จ. กอดจูบกันเช่นนี้ นับเป็นการกระทำที่ข่มเหงจิตใจของจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม เมื่อจำเลยเห็นเหตุการณ์เช่นนี้ย่อมเหลือวิสัยของจำเลยที่จะอดกลั้นโทสะไว้ได้ จึงเข้าไปชกต่อยผู้ตายแล้วใช้มีดปอกผลไม้ที่วางอยู่ใกล้ตัวแทงผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72 ไม่ใช่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6370/2554 แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ณ. ตะโกนบอกให้จำเลยที่ 1 หยุด แต่ขณะนั้นจำเลยที่ 1 กำลังยิงต่อสู้กับ อ. โดยบันดาลโทสะ ประกอบกับเกิดเหตุชุลมุนเนื่องจากคนที่มาในงานศพวิ่งแตกตื่น เชื่อว่าจำเลยที่ 1 คงไม่ได้ยิน เมื่อจำเลยที่ 1 เห็น ณ. ซึ่งไม่ได้แต่งเครื่องแบบ ใช้อาวุธปืนยิงจำเลยที่ 1 เช่นนี้ จำเลยที่ 1 ย่อมสำคัญผิดได้ว่า ณ. เป็นพวก อ. และได้ช่วยเหลือ อ. ยิงตน การที่จำเลยที่ 1 ยิงต่อสู้กับ ณ. อันเป็นระยะเวลาต่อเนื่องใกล้ชิดติดพันกับการยิง อ. โดยบันดาลโทสะ ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะเช่นกัน แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ยกเรื่องยิง ณ. โดยบันดาลโทสะขึ้นต่อสู้ ศาลฎีกาย่อมหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ เพราะเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3568/2554 เพียงแต่ผู้ตายเป็นผู้ดำเนินการย้ายตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ติดตั้งที่หน้าบ้านจำเลยไปติดตั้งที่ศาลารวมใจ และโต้เถียงกับจำเลยในเรื่องดังกล่าว แม้ผู้ตายจะด่าจำเลยด้วยถ้อยคำหยาบคายดังที่จำเลยอ้าง ก็หาใช่เป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม ทั้งจำเลยเป็นอดีตผู้ใหญ่บ้านท้องที่เกิดเหตุ ไม่มีเหตุที่ผู้ตายจะข่มเหงจำเลย การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจึงไม่เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ