01 มีนาคม 2567

เหตุสุดวิสัย ที่อาจจะขอขยายระยะเวลาดําเนินการตามสัญญาทางปกครอง

               สัญญาทางปกครอง
               สัญญาเป็นการแสดงเจตนาทำข้อตกลงที่มีการกำหนดสิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่สัญญา ซึ่งหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำผิดสัญญาโดยไม่ปฏิบัติตามที่ได้ตกลงกันไว้ อาจจะต้องเสียค่าปรับ ถูกบอกเลิกสัญญา หรืออาจถูกลงโทษ ตามข้อกําหนดที่ได้ตกลงไว้ในสัญญา ซึ่งคู่สัญญาฝ่ายผู้รับจ้างในสัญญาทางปกครองต้องปฏิบัติไปตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด เนื่องจากการทําสัญญากับทางราชการมีกฎหมายกําหนด ระเบียบ ขั้นตอน และหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติอย่างชัดเจน ซึ่งบางกรณี การที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่สามารถปฏิบัติไปตามข้อตกลงที่ได้ตกลงกันไว้อาจไม่ได้เกิดขึ้นจากคู่สัญญาฝ่ายนั้นแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่อาจเกิดขึ้นจากเหตุสุดวิสัยบางประการ ซึ่งในกรณีที่เกิดเหตุสุดวิสัยขึ้นกฎหมายได้กําหนดให้หัวหน้าส่วนราชการมีอํานาจที่จะพิจารณาอนุญาตขยายระยะเวลาดําเนินการตามสัญญาได้ 
               ส่วนกรณีใดจะถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยอันอาจขยายระยะเวลาได้นั้น ศาลปกครองได้เคยวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวไว้ว่า เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความรุนแรงจนเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการรับเหมาซึ่งรวมทั้งผู้ฟ้องคดีประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่จะเข้าทํางานในพื้นที่ก่อสร้างจริง ถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่สามารถขอขยายเวลาการทำงานตามสัญญาออกไปได้

          คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 260/2552  คดีนี้ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นซองประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารที่ว่าการอําเภอบันนังสตา จังหวัดยะลาและได้ลงนามในสัญญาจ้างกับผู้ถูกฟ้องคดีเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2547 วงเงินค่าก่อสร้าง 7,980,000 บาท รวมทั้งได้นําหนังสือค้ําประกันของธนาคารดีบีเอส ไทยทนุจํากัด (มหาชน) จํานวน 399,000 บาท มอบให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีเพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา โดยต้องเริ่มทํางานภายในวันที่ 23 มีนาคม 2547 และต้องทําให้เสร็จสมบูรณ์ภายในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2547 ซึ่งในสัญญาจ้างดังกล่าวได้กําหนดว่าถ้าผู้รับจ้างมิได้ลงมือทํางานภายในกําหนดเวลาหรือไม่สามารถทํางานให้แล้วเสร็จตามกําหนดเวลา ผู้ว่าจ้างมีสิทธิยกเลิกสัญญาและมีสิทธิจ้างผู้รับจ้างรายใหม่เข้าทํางาน รวมทั้งมีสิทธิริบหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา ภายหลังจากที่ทําสัญญาแล้ว ผู้ฟ้องคดีไม่ได้เข้าทํางานภายในระยะเวลาที่กําหนด นายอําเภอบันนังสตาในฐานะผู้รับมอบอํานาจจากผู้ถูกฟ้องคดีจึงจัดทําหนังสือเร่งรัดให้ผู้ฟ้องคดีเข้าดําเนินการก่อสร้างตามสัญญา แต่ผู้ฟ้องคดีขอสงวนสิทธิขยายระยะเวลาการก่อสร้างโดยอ้างว่าสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในภาคใต้ทําให้แรงงานไม่ยอมเข้าทํางานในพื้นที่ ผู้ถูกฟ้องคดีเห็นว่า เหตุดังกล่าวมิใช่เหตุอันอาจขอขยายระยะเวลาได้แต่เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีขาดสภาพคล่องทางการเงิน จึงได้ขอให้ผู้ฟ้องคดีเร่งก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญา ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือยืนยันความรับผิดชอบในการทํางาน แต่เมื่อถึงกําหนดก็ไม่ได้เข้าดําเนินการก่อสร้าง ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างและขอสงวนสิทธิในการริบเงินประกันตามสัญญากับผู้ฟ้องคดี หลังจากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีได้อนุมัติให้อําเภอบันนังสตาดําเนินการจ้างก่อสร้างอาคารที่ว่าการโดยวิธีพิเศษ แต่ไม่มีผู้ประกอบการรายใดสนใจรับงานก่อสร้างอาคารดังกล่าว นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าก่อนหน้านี้ผู้ถูกฟ้องคดีได้ทําการสํารวจว่ามีผู้ประกอบการรับเหมาที่อยู่ในข่ายได้รับผลกระทบการขาดแคลนแรงงานจากปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยที่เกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งผลปรากฏว่ามีผู้รับเหมายื่นคําร้องขอขยายระยะเวลาการก่อสร้างหรือขอต่ออายุสัญญาจ้างหรือของดหรือลดค่าปรับ ผู้ฟ้องคดีจึงเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีไม่อาจริบหลักประกันได้เนื่องจากการที่ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาเป็นเพราะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทําให้คนงานไม่กล้าเข้าไปทํางานในพื้นที่ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้ฟ้องคดี
               ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 139 วรรคหนึ่ง กําหนดว่า การงดหรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญาหรือขยายระยะเวลาทําการตามสัญญาหรือข้อตกลง ให้อยู่ในอํานาจของหัวหน้าส่วนราชการที่จะพิจารณาได้ตามจํานวนที่มีเหตุเกิดขึ้นจริงเฉพาะกรณีดังต่อไปนี้ (1) เหตุเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของส่วนราชการ (2) เหตุสุดวิสัย (3) เหตุเกิดจากพฤติการณ์อันหนึ่งอันใดที่คู่สัญญาไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดียอมรับว่าได้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จริง กรณีจึงมีเพียงปัญหาที่ต้องพิจารณาว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีความรุนแรงจนเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถจัดหาคนงานเข้าทํางานในพื้นที่ก่อสร้างได้จริงหรือไม่ ซึ่งเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีได้ทําการสํารวจแล้วพบว่า ผู้ประกอบการรับเหมาเกือบทั้งหมดอยู่ในข่ายได้รับผลกระทบการขาดแคลนแรงงานจากปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น นอกจากนี้เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีบอกเลิกสัญญากับผู้ฟ้องคดีก็ปรากฏว่าไม่มีผู้ประกอบการรายใดสนใจที่จะรับงานก่อสร้างดังกล่าว โดยต่างให้เหตุผลว่า พื้นที่ก่อสร้างเป็นพื้นที่ล่อแหลมเสี่ยงภัย คนงานก่อสร้างไม่กล้าเข้าทํางาน หรือพักอาศัยในสถานที่ก่อสร้าง ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถรับงานจ้างก่อสร้างอาคารที่ว่าการอําเภอบันนังสตา ไม่ได้มีสาเหตุสําคัญมาจากเรื่องงบประมาณที่ไม่เพียงพอแต่เพียงประการเดียว และข้อเท็จจริงดังกล่าวเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น มีความรุนแรง จนเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการรับเหมาซึ่งรวมทั้งผู้ฟ้องคดีประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่จะเข้าทํางานในพื้นที่ก่อสร้างจริง ประกอบกับเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่ผู้ฟ้องคดีไม่อาจป้องกันได้ แม้จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควร อันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นผู้ฟ้องคดี กรณีจึงถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยตามนัยข้อ 139 วรรคหนึ่ง ของระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และของสัญญาจ้าง เมื่อผู้ฟ้องคดีมีหนังสือแจ้งเหตุสุดวิสัยดังกล่าวให้ผู้ถูกฟ้องคดีทราบและขอขยายระยะเวลาการก่อสร้างตามสัญญาจ้าง ผู้ถูกฟ้องคดีชอบที่จะพิจารณาขยายระยะเวลาให้แก่ผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่พิจารณาขยายระยะเวลาและบอกเลิกสัญญาจ้างกับผู้ฟ้องคดี รวมทั้งริบเงินหลักประกันจากธนาคารผู้ค้ำประกันจึงเป็นการไม่ชอบตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 
               

กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย


          มาตรา 291  "ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท"

           กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มีหลักดังนี้
          (1) ผู้ใด
          (2) กระทำโดยประการใด
          (3) เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
          (4) โดยประมาท (ไม่ต้องมีเจตนา)


          การกระทำโดยประมาท คือ การกระทำที่ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังทั้งๆที่สามารถใช้ความระมัดระวังเช่นนั้นได้ ซึ่งมีกฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 59 วรรคสี่ "กระทำโดยประมาท ได้แก่กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่"
          การกระทำนั้น ได้แก่ การเคลื่อนไหวและรวมถึงการงดเว้น ตามมาตรา 59 วรรคท้าย 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7581/2561 การที่จำเลยที่ 3 มีหน้าที่โดยตรงในการควบคุมและดูแลความปลอดภัยของผู้ต้องหาแต่ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากเหตุอันสมควร จึงเป็นการกระทำโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลคือ อันตรายที่อาจเกิดขึ้นแก่ชีวิตของผู้ตาย เมื่อจำเลยที่ 3 กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามภาวะวิสัยและพฤติการณ์และจำเลยที่ 3 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการกระทำโดยประมาท แม้มีเหตุเพลิงไหม้ทำให้เกิดผลคือความตายของผู้ตายด้วย ก็ไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 3 และผลคือความตายของผู้ตายขาดตอนลง เพราะถ้าจำเลยที่ 3 อยู่ปฏิบัติหน้าที่ย่อมช่วยเหลือผู้ตายได้ทันเนื่องจากห้องทำงานของจำเลยที่ 3 อยู่หน้าห้องขังเยาวชนและติดกับห้องขังหญิง ความตายของผู้ตายจึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 3
          การที่จำเลยที่ 3 นำสืบต่อสู้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและพยายามช่วยเหลือผู้ต้องหาทั้งสี่อย่างเต็มที่แล้วแต่ไม่สามารถช่วยได้ แสดงให้เห็นว่านอกจากจำเลยที่ 3 จะต่อสู้ว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องแล้วยังนำสืบต่อสู้ด้วยว่าไม่ได้กระทำโดยประมาท ข้อที่จำเลยที่ 3 อ้างว่าหลงต่อสู้ ทำให้ไม่มีโอกาสนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยที่ 3 ไม่ได้กระทำโดยประมาท จึงฟังไม่ขึ้น แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 3 ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องว่า จำเลยที่ 3 เจตนาฆ่าผู้อื่น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ลงโทษตามข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางพิจารณาได้เพราะการกระทำโดยเจตนาและการกระทำโดยประมาทมิใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญและไม่ถือเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จึงชอบแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1909/2516  จำเลยขับรถยนต์บรรทุกเสาไฟฟ้าโดยใช้ล้อพ่วง  เมื่อล้อรถพ่วงหลุดทำให้เสาตกลงมาขวางถนน  จนกระทั่งค่ำแล้วจำเลยก็ไม่ได้จัดให้มีโคมไฟหรือเครื่องสัญญาณอย่างอื่น เพื่อให้ผู้ใช้ถนนเห็นเสาที่ขวางถนนอยู่นั้น  เป็นเหตุให้รถที่แล่นมาชนเสา มีคนตายและบาดเจ็บ ถือได้ว่าจำเลยกระทำโดยประมาท และผลเสียหายเกิดขึ้นจากการที่จำเลยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นได้แต่หากระทำไม่ จำเลยจึงมีความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 148/2538  จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ปิดกั้นถนนซึ่งมีทางรถไฟผ่านได้เปิดสวิตช์สัญญาณไฟ 5 ดวง และให้สัญญาณโคมไฟสีเขียวแก่จำเลยที่ 2 ผู้ขับขบวนรถไฟเพื่อผ่าน แต่ไม่ได้นำแผงกั้นถนนไปปิดกั้นถนน เป็นสาเหตุทำให้รถยนต์โดยสารแล่นข้ามชนตู้โดยสารรถไฟ เป็นเหตุให้คนตาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำโดยประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2210/2544  แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าจุดที่จำเลยจอดรถและเกิดเหตุชนกันอยู่ในไหล่ทางด้านซ้ายของถนนในลักษณะที่ไม่กีดขวางการจราจรแล้วก็ตาม แต่การที่จำเลยจอดรถในเวลามืดค่ำโดยไม่ได้เปิดไฟหรือใช้แสงสว่างตามที่กำหนดในกฎกระทรวงเพื่อเป็นสัญญาณให้ผู้ขับขี่มองเห็นรถที่จอดอยู่ จนเป็นเหตุให้ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์พุ่งเข้าชนท้ายรถคันที่จำเลยจอดทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นผลจากความประมาทของจำเลยไม่ว่าจะฟังว่าผู้ตายมีส่วนประมาทอยู่ด้วยก็ตามก็ต้องถือว่าเหตุที่ผู้ตายถึงแก่ความตายเกิดเพราะความประมาทของจำเลยด้วยจึงเป็นผลโดยตรงที่เกิดจากความประมาทของจำเลยที่งดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้น

          การกระทำนั้นประมาทหรือไม่ ต้องสมมุติบุคคลขึ้นมาคนหนึ่งนำมาเปรียบเทียบกับตัวผู้กระทำ คือ เป็นบุคคลที่อยู่ในภาวะเช่นเดียวกัน อยู่ในวิสัยเช่นเดียวกัน และมีพฤติการณ์อย่างเดียวกัน แล้วเปรียบเทียบดูว่าหากบุคคลที่สมมุติอยู่ในภาวะเช่นนั้น มีวิสัยเช่นเดียวกับผู้กระทำ และมีพฤติการณ์อย่างเดียวกันสามารถใช้ความระมัดระวังได้หรือไม่ ถ้าหากใช้ความระมัดระวังได้แต่ผู้กระทำไม่ได้ใช้ความระมัดระวัง การกระทำนั้นย่อมเป็นการกระทำโดยประมาท

          ผลที่เกิดขึ้นจะต้องมีความสัมพันธ์กับการกระทำโดยประมาท (ผลโดยตรง)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7581/2561  การที่จำเลยที่ 3 มีหน้าที่โดยตรงในการควบคุมและดูแลความปลอดภัยของผู้ต้องหาแต่ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากเหตุอันสมควร จึงเป็นการกระทำโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลคือ อันตรายที่อาจเกิดขึ้นแก่ชีวิตของผู้ตาย เมื่อจำเลยที่ 3 กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามภาวะวิสัยและพฤติการณ์และจำเลยที่ 3 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการกระทำโดยประมาท แม้มีเหตุเพลิงไหม้ทำให้เกิดผลคือความตายของผู้ตายด้วย ก็ไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 3 และผลคือความตายของผู้ตายขาดตอนลง เพราะถ้าจำเลยที่ 3 อยู่ปฏิบัติหน้าที่ย่อมช่วยเหลือผู้ตายได้ทันเนื่องจากห้องทำงานของจำเลยที่ 3 อยู่หน้าห้องขังเยาวชนและติดกับห้องขังหญิง ความตายของผู้ตายจึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 3
          การที่จำเลยที่ 3 นำสืบต่อสู้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและพยายามช่วยเหลือผู้ต้องหาทั้งสี่อย่างเต็มที่แล้วแต่ไม่สามารถช่วยได้ แสดงให้เห็นว่านอกจากจำเลยที่ 3 จะต่อสู้ว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องแล้วยังนำสืบต่อสู้ด้วยว่าไม่ได้กระทำโดยประมาท ข้อที่จำเลยที่ 3 อ้างว่าหลงต่อสู้ ทำให้ไม่มีโอกาสนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยที่ 3 ไม่ได้กระทำโดยประมาท จึงฟังไม่ขึ้น แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 3 ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องว่า จำเลยที่ 3 เจตนาฆ่าผู้อื่น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ลงโทษตามข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางพิจารณาได้เพราะการกระทำโดยเจตนาและการกระทำโดยประมาทมิใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญและไม่ถือเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จึงชอบแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5055/2559  เหตุคดีนี้เกิดจากการที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์แล่นแซงรถกระบะที่อยู่ด้านหน้าล้ำเข้าไปเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของผู้ตายที่แล่นสวนทางมาในช่องเดินรถของผู้ตาย ซึ่งหากจำเลยไม่ขับรถจักรยานยนต์แล่นล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของผู้ตายเหตุครั้งนี้ก็คงไม่เกิดขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ผู้ตายขับรถโดยไม่ชิดขอบทางด้านซ้ายและขับรถมาด้วยความเร็ว ก็อาจเป็นเพียงการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 เท่านั้น ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการกระทำความผิดของจำเลย ประการสำคัญขณะเกิดเหตุผู้ตายขับรถจักรยานยนต์แล่นอยู่ในช่องเดินรถของตน การที่ผู้ตายขับรถโดยไม่ชิดขอบทางด้านซ้ายและขับรถมาด้วยความเร็วดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นเหตุโดยตรงที่ทำให้รถจักรยานยนต์ของผู้ตายถูกรถจักรยานยนต์ของจำเลยเฉี่ยวชน แต่การที่รถจักรยานยนต์ของผู้ตายถูกรถจักรยานยนต์ของจำเลยเฉี่ยวชน และผู้ตายถึงแก่ความตายเป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทของจำเลย ผู้ตายหามีส่วนประมาทด้วยไม่ ผู้ตายจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งเป็นบิดามารดาของผู้ตายย่อมมีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1011/2503  เมื่อจำเลยขับขี่รถจักรยานยนต์เข้าชนรถสามล้อโดยประมาทแล้ว ผู้ตายซึ่งโดยสารมาในรถสามล้อก็ตกกระเด็นลงไปล้มนอนอยู่ที่ทางรถราง พอดีกับรถรางแล่นมาถึงแล้วทับครูดไปในระยะ 1 วา รถรางจึงสามารถหยุดนิ่งได้ ทำให้ผู้ตายได้รับบาดเจ็บมากและถึงตายเพราะพิษบาดแผลนั้น โดยรถรางมิได้แล่นมาเร็วผิดธรรมดา กรณีเช่นนี้ถือว่า ความตายของผู้ตายเป็นผลโดยตรงจากความประมาทของจำเลย จำเลยย่อมมีความผิดฐานทำให้คนตายโดยประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1068/2502  เมื่อจำเลยรู้อยู่ว่าผู้ตายกำลังโหนตัวอยู่ข้างนอกรถด้านขวาและกำลังมีรถสวนมาด้วยความเร็ว จำเลยก็มิได้ชลอลดความเร็วลงหรือหยุดรถ เพียงแต่หักรถหลบไปในระยะกระชั้นชิด ผู้ตายจึงถูกรถที่สวนมาเฉี่ยวถึงแก่ความตาย ย่อมได้ชื่อว่าเป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ ซึ่งจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ เช่นนี้ เป็นการกระทำโดยประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1436/2511  เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยขับรถด้วยความประมาทชนเสาไม้ที่ปักริมทางแฉลบจะไปชนเสาไฟฟ้าอย่างแรงอันเป็นการหวาดเสียวและใกล้อันตรายแล้วแม้ผู้ตายจะกระโดดลงจากรถก่อน หากแต่ในระยะกระชั้นชิดกับที่รถจะเข้าชนเสาไฟฟ้าดังกล่าวเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายอันเกิดขึ้นเฉพาะหน้า และในที่สุดก็ได้เกิดขึ้นจริง ๆ ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ก็ต้องถือว่าเป็นผลอันเกิดใกล้ชิดกับเหตุที่จำเลยขับรถด้วยความประมาท จำเลยต้องมีความผิด


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5729/2556  ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 นั้น จำเลยที่ 1 ต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอก คือ (1) ผู้ใด (2) ฆ่า (3) ผู้อื่น กล่าวคือ รู้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการฆ่า และรู้ด้วยว่า วัตถุแห่งการกระทำคือผู้อื่นนั้นยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งปัญหาว่าจำเลยที่ 1 รู้หรือไม่ว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วนั้น โจทก์ไม่ได้ฎีกา และฎีกาโจทก์รับว่าจำเลยที่ 1 เข้าใจว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ทั้งข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลล่างว่าจำเลยที่ 1 พยายามข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายโดยใช้กำลังประทุษร้ายผู้ตายจนหมดสติแล้วนำไปทิ้งที่อ่างเก็บน้ำโดยเข้าใจว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 มิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดว่าผู้ตายยังไม่ถึงแก่ความตาย จะถือว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลไม่ได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงขาดองค์ประกอบความผิดตามความใน ป.อ. มาตรา 59 วรรคสาม จำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาฆ่าผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 แต่กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายตามมาตรา 291
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12114/2556  การที่จำเลยนำรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปซ่อมรอยรั่วซึมของถังน้ำมัน โดยจำเลยไม่ได้แจ้งให้นายจ้างทราบก่อน กลับแจ้งผู้ตายโดยตรงให้ซ่อมถังน้ำมันของรถยนต์บรรทุกน้ำมัน อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในการทำงานที่มีขึ้นเพื่อความปลอดภัย และจำเลยไม่ได้บอกผู้ตายว่ารถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุบรรทุกน้ำมันเบนซินมาด้วย ทำให้ผู้ตายไม่ทราบข้อเท็จจริงจึงไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนในการทำงาน เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกน้ำมันเกิดระเบิดขึ้นและผู้ตายถึงแก่ความตาย นับเป็นผลโดยตรงจากความประมาทของจำเลยฝ่ายเดียวที่งดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้น หาได้เกิดจากความประมาทของผู้ตายด้วยไม่ จำเลยจึงมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

          ถ้าผลที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการกระทำโดยประมาท หรือไม่ใช่ผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาท ผู้กระทำก็ไม่ต้องรับผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 114/2510  จำเลยไม่ได้ขับรถเร็ว และทางลากไม้ที่ขับมานั้นเป็นทางจำกัดบังคับให้ขับโดยข้างหนึ่งเป็นคลอง อีกข้างหนึ่งเป็นเขาจะขับให้ห่างคลองอีกไม่ได้ เพราะติดเขา การที่ล้อพ่วงเอียงนั้นก็เนื่องจากที่ตรงนั้นเป็นหลุมเอาหินกองไว้ หินแตกเป็นเหตุให้ระดับล้อที่ผ่านไปทรุดต่ำลง เช่นนี้ หาใช่ความประมาทของจำเลยไม่ และรถที่จำเลยขับมาก็ไม่ได้คว่ำ ถ้าผู้ตายไม่ด่วนตัดสินใจกระโดยลงจากรถเหมือนคนอื่นก็คงไม่ได้รับอันตรายแต่อย่างใด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2147/2553  บริเวณที่เกิดเหตุเป็นสามแยกติดตั้งสัญญาณจราจรไฟ และขณะเกิดเหตุสัญญาณจราจรไฟเป็นสัญญาณจราจรไฟสีเขียวให้เลี้ยวขวา เมื่อได้รับสัญญาณจราจรไฟสีเขียวให้เลี้ยวขวารถทุกคันที่จะเลี้ยวขวาย่อมเคลื่อนที่แล่นเข้าสู่ทางร่วมทางแยกผ่านช่องเดินรถของรถที่แล่นสวนทางมาไปได้ การที่จำเลยขับรถล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของรถที่แล่นสวนมาก็เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเลี้ยวขวาแล่นผ่านช่องเดินรถของรถที่แล่นสวนทางมาเท่านั้น แต่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนั้นเนื่องจากการกระทำของผู้ตายที่ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีแดงแล่นเข้าชนรถโดยสารที่จำเลยเป็นผู้ขับโดยที่ไม่ว่าจำเลยหรือผู้ใดก็ไม่อาจคาดคิดได้ จำเลยจึงไม่เป็นฝ่ายประมาท การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 291
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 598/2538  รถยนต์คันที่ ส. ขับมีผู้ตายทั้งสองนั่งโดยสารมาด้วย ส.ขับรถชนท้ายรถบรรทุกห้องเย็นอย่างแรงแล้วจึงถูกรถจำเลยชนท้ายไม่รุนแรงนัก ก. และ ท. ที่นั่งโดยสารมากับรถจำเลยในที่นั่งตอนหน้าได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย การที่ผู้ตายทั้งสองซึ่งนั่งอยู่หน้ารถ ส. อยู่ห่างไกลจุดชนมากกว่า ก. และ ท. กลับได้รับอันตรายถึงแก่ความตายเช่นนี้ย่อมแสดงว่าความตายของผู้ตายทั้งสองมิใช่เป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทของจำเลย แต่น่าจะเป็นผลโดยตรงมาจากการที่ ส.ขับรถชนท้ายรถยนต์บรรทุกห้องเย็นมากกว่า จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 แต่มีความผิดตามมาตรา 390
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3445/2535  ตามวันเวลาที่โจทก์ฟ้อง จำเลยขับรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน 80-6988 อุดรธานีมาถึงที่เกิดเหตุยางล้อหลังระเบิด จำเลยจึงนำรถเข้าจอดข้างทาง ในเวลาเดียวกัน นาย พ. ขับรถยนต์มาถึงที่เกิดเหตุ ชนเข้ากับท้ายรถของจำเลยที่จอดไว้เป็นเหตุให้เด็กชาย จ. ถึงแก่ความตายกับเป็นเหตุให้นาย ถ. นาย บ. และนาง ร. ได้รับอันตรายแก่กายถึงสาหัส โดยรถยนต์โดยสารที่จำเลยขับยางล้อหลังระเบิดจำเลยจึงจอดรถยนต์ไว้ชิดไหล่ทางด้านซ้าย ล้อหน้าอยู่ที่ไหล่ทาง ส่วนล้อหลังด้านขวาอยู่บนถนน แล้วจำเลยได้หากิ่งไม้มาวางและเปิดสัญญาณไฟกระพริบ ถือได้ว่าจำเลยใช้ความระมัดระวังเพียงพอแล้ว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการกระทำโดยประมาท.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3194/2556  โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำประมาทของจำเลยว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยขับรถยนต์ด้วยความเร็วและเปลี่ยนช่องเดินรถโดยกะทันหัน เข้าไปเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับในช่องเดินรถของผู้ตาย เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย แต่ทางพิจารณาโจทก์ทั้งสองนำสืบว่า ก่อนเกิดเหตุมีรถจักรยานยนต์ที่ขับคู่กันมาเบียดรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับล้มลงในช่องเดินรถช่องที่ 1 ขณะผู้ตายกำลังจะลุกขึ้น จำเลยซึ่งขับรถตามหลังมาในช่องเดินรถที่ 2 ได้เปลี่ยนช่องเดินรถเข้ามาในช่องเดินรถที่ 1 โดยขณะขับรถจำเลยกำลังใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่พูดคุย เป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยขับชนผู้ตาย ดังนี้ เหตุที่ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์เสียหลักล้มลงไม่ได้เกิดจากการที่จำเลยขับรถเปลี่ยนช่องเดินรถมาเฉี่ยวชนตามที่โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้อง และขณะที่จำเลยขับรถพุ่งเข้าชนนั้น ผู้ตายและรถของผู้ตายล้มลงบนถนนแล้ว มิใช่ผู้ตายกำลังขับรถจักรยานยนต์อยู่บนถนนตามที่โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้อง รวมทั้งข้อที่โจทก์ทั้งสองนำสืบว่าจำเลยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่พูดคุยในขณะขับรถยนต์นั้น โจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้กล่าวในฟ้อง ข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสองนำสืบเกี่ยวกับการกระทำประมาทของจำเลยดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อเท็จจริงอันเป็นการกระทำโดยประมาทของจำเลยตามที่โจทก์ทั้งสองบรรยายมาในฟ้อง ต้องห้ามมิให้ศาลพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
       

          ความผิดฐานประมาทเป็นเรื่องที่ไม่มีเจตนา จึงไม่มีความผิดฐานเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน แต่อย่างไรก็ตาม การประมาทร่วมกันย่อมมีได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1326/2510  เหตุที่รถเกิดชนกันขึ้น เป็นเพราะความประมาทด้วยกันทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ รถก็จะไม่ชนกัน ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น ถ้ารอให้รถของจำเลยที่ 1 ซึ่งขับมาตามทางตรงผ่านไปก่อน รถก็จะไม่ชนกันขึ้นเหมือนกัน การที่เกิดชนกันขึ้นจึงเป็นผลโดยตรงมาจากความประมาทของจำเลยทั้งสองที่ไม่ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของกฎหมาย จึงเป็นความผิดด้วยกันทั้งคู่

          บางกรณีผู้กระทำอาจจะฝ่าฝืนบทกฎหมายที่กำหนดไว้ แต่ผู้กระทำได้ใช้ความระมัดระวังเพียงพอแล้ว ย่อมไม่เป็นการกระทำโดยประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 294/2501  ว่าการฝ่าฝืนกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับรถยนต์และการจราจร แม้จะกระทำโดยมิได้ตั้งใจซึ่งตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 43 บัญญัติว่าเป็นการกระทำโดยประมาท แต่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 หาได้บัญญัติเช่นนั้นไม่ จึงปรับเอาว่าจำเลยได้ทำให้ น. ตายโดยประมาท เพราะเหตุการฝ่าฝืนกฎหมายและข้อบังคับดังกล่าวหาได้ไม่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 3  
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1727/2503  เรือยนต์จำเลยแท่นทวนน้ำแอบฝั่งขวาของคลองโดยถูกต้องตามกฎหมายเรือยนต์อีกลำหนึ่งแล่นตามน้ำสวนมาในเส้นทางเดินเรือของจำเลย บันทุกคนโดยสารเกินอันตรามากแล้ว เกิดชนกันในเวลาค่ำมือในเส้นทางของเรือจำเลยโดยเรือจำเลยไม่สามารถหลบหลีกได้ หัวเรือจำเลยชนถูกผู้โดยสารในเรือที่แล่นมาผิดทางถึงตาย ดังนี้ ถึงแม้เรือจำเลยไม่ได้จุดโคมไฟ จำเลยก็ไม่ผิดฐานทำให้คนตายโดยประมาท (คงผิดแต่ฐานไม่จุดโคมไฟตามพระราชบัญญัติการเดินเรือ ซึ่งไม่ใช่ผลโดยตรงที่ก่อให้เกิดชนกันและทำให้คนตาย )
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6450/2558   ตามฟ้องที่จำเลยให้การรับสารภาพฟังได้ว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยขับรถยนต์บรรทุกพ่วงในทางเดินรถของจำเลย จำเลยไม่ได้ขับล้ำเข้าไปในทางเดินรถสวน ส่วน ร. ขับรถจักรยานยนต์สวนทางมาโดยขับตามหลังรถอีแต๋นที่ บ. เป็นผู้ขับ แต่ ร. ขับแซงขึ้นหน้ารถอีแต๋นล้ำเข้าไปในทางเดินรถของจำเลย เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ที่ ร. ขับชนกับรถจำเลย หาก ร. ไม่ขับรถล้ำเข้าไปในทางเดินรถของจำเลย เหตุรถทั้งสองคันชนกันก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ แม้จะฟังว่าจำเลยมิได้ขับรถชิดขอบทางด้านซ้าย แต่ก็ยังขับอยู่ในทางเดินรถของจำเลย และตามรายงานชันสูตรพลิกศพเอกสารท้ายฟ้องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องระบุว่า ร. ขับรถตัดหน้ารถจำเลยเป็นเหตุให้ชนกัน แล้วรถจำเลยเสียหลักไปชนรถอีแต๋น แสดงว่า ร. ขับแซงขึ้นหน้ารถอีแต๋นในระยะกระชั้นชิดขณะที่รถจำเลยใกล้จะสวนทางกับรถอีแต๋น การที่รถจำเลยเสียหลักพุ่งชนรถอีแต๋น จึงเป็นผลโดยตรงจาก ร. ขับแซงขึ้นหน้าในระยะกระชั้นชิดเข้าไปในทางเดินรถของจำเลย มิใช่ผลโดยตรงที่จำเลยมิได้ขับรถชิดขอบทางด้านซ้ายหรือไม่ชะลอความเร็ว จะถือว่าจำเลยมีส่วนประมาทด้วยหาได้ไม่ เพราะการที่รถจำเลยเสียการควบคุมไปชนรถอีแต๋นเป็นผลจากความประมาทอย่างร้ายแรงของ ร. ที่ขับแซงขึ้นหน้าในระยะกระชั้นชิด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและรับอันตรายแก่กาย ศาลฎีกามีอำนาจยกฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ 225 แต่การที่จำเลยขับรถยนต์บรรทุกพ่วงซึ่งเป็นรถขนาดใหญ่บรรทุกหินเต็มคันรถด้วยความเร็วสูงในทางแคบ ถือได้ว่าเป็นการขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157

          การที่จะขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดี ผู้ตายจะต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย (ไม่มีส่วนประมาทด้วย)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5055/2559  เหตุคดีนี้เกิดจากการที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์แล่นแซงรถกระบะที่อยู่ด้านหน้าล้ำเข้าไปเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของผู้ตายที่แล่นสวนทางมาในช่องเดินรถของผู้ตาย ซึ่งหากจำเลยไม่ขับรถจักรยานยนต์แล่นล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของผู้ตายเหตุครั้งนี้ก็คงไม่เกิดขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ผู้ตายขับรถโดยไม่ชิดขอบทางด้านซ้ายและขับรถมาด้วยความเร็ว ก็อาจเป็นเพียงการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 เท่านั้น ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการกระทำความผิดของจำเลย ประการสำคัญขณะเกิดเหตุผู้ตายขับรถจักรยานยนต์แล่นอยู่ในช่องเดินรถของตน การที่ผู้ตายขับรถโดยไม่ชิดขอบทางด้านซ้ายและขับรถมาด้วยความเร็วดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นเหตุโดยตรงที่ทำให้รถจักรยานยนต์ของผู้ตายถูกรถจักรยานยนต์ของจำเลยเฉี่ยวชน แต่การที่รถจักรยานยนต์ของผู้ตายถูกรถจักรยานยนต์ของจำเลยเฉี่ยวชน และผู้ตายถึงแก่ความตายเป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทของจำเลย ผู้ตายหามีส่วนประมาทด้วยไม่ ผู้ตายจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งเป็นบิดามารดาของผู้ตายย่อมมีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19300/2556   การที่โจทก์ร่วมทั้งสี่ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 เป็นการยื่นคำร้องโดยอาศัยสิทธิตามคำฟ้องของพนักงานอัยการ เมื่อคำฟ้องของพนักงานอัยการบรรยายว่าผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ด้วยความประมาทด้วย โจทก์ร่วมทั้งสี่จึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำฟ้องโดยไม่จำต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบว่าผู้ตายมีส่วนประมาทด้วยหรือไม่ เมื่อคำฟ้องของโจทก์ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทด้วย ผู้ตายจึงมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด เช่นนี้ ผู้ตายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมทั้งสี่ย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายและยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) และ 30

          แต่กรณีที่ยื่นคำร้องในคดีอาญาเพื่อขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทางแพ่ง การพิจารณาว่าผู้ใดจะมีสิทธิยื่นคำร้องต้องพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่ง ไม่ใช่กรณีที่จะนำความหมายของคำว่า ผู้เสียหายในทางอาญา เช่น เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) มาบังคับใช้  (ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5400/2560 (ประชุมใหญ่)  ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 บัญญัติว่า "ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุที่ได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจหรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้" เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์จะช่วยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายในทางแพ่งได้รับความสะดวกรวดเร็วในการได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่งเป็นอีกคดีหนึ่ง ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาจะได้เสร็จสิ้นไปในคราวเดียวกัน โดยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญาทุกประเภทที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ต่อเนื่องไปได้เพื่อให้การพิจารณาคดีส่วนแพ่งเป็นไปโดยรวดเร็วดังที่ปรากฏในหมายเหตุท้าย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 24) พ.ศ.2548 นั้น แม้ตาม ป.วิ.อ. ได้มีคำอธิบายคำว่าผู้เสียหายไว้ในมาตรา 2 (4) ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้เสียหาย หมายถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6" แต่ข้อความตามมาตรา 44/1 ที่บัญญัติให้ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้นั้น ย่อมมีความหมายในตัวว่า หมายถึง ผู้ที่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน จึงมีความหมายที่แตกต่างขัดกับความหมายของผู้เสียหาย ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 2 (4) การตีความคำว่าผู้เสียหายตามมาตรา 44/1 จึงไม่ต้องถือตามความหมายเช่นเดียวกับมาตรา 2 (4) ทั้งนี้เป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 1 ที่บัญญัติว่า "ในประมวลกฎหมายนี้ ถ้าคำใดมีคำอธิบายไว้แล้วให้ถือตามความหมายดังได้อธิบายไว้ เว้นแต่ข้อความในตัวบทจะขัดกับคำอธิบายนั้น" ดังนั้น การพิจารณาว่าผู้ใดจะมีสิทธิยื่นคำร้องต้องพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่ง ไม่ใช่กรณีที่จะนำความหมายของคำว่า ผู้เสียหายในทางอาญา เช่น เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) มาบังคับใช้ สำหรับคดีนี้ผู้ร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนมา 2 ส่วน คือ ค่าเสียหายของรถยนต์ของ ผ. และค่าขาดไร้อุปการะ สำหรับค่าเสียหายของรถยนต์ ผ. เป็นผู้เสียหายในฐานะเจ้าของรถ เมื่อ ผ. ถึงแก่ความตายไปแล้ว สิทธิในการเรียกค่าเสียหายเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ผ. จึงใช้สิทธิในฐานะทายาทเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ได้ และค่าขาดไร้อุปการะนั้น ผู้ร้องในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ผ. เป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตัวของผู้ร้องเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม และมาตรา 1461 วรรคสอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ได้เช่นกัน ส่วนความประมาทของ ผ. นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่จะนำมาใช้ประกอบดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิของผู้ร้องที่จะขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหมดไป (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2560)


การครอบครองทรัพย์มรดกในฐานะเจ้าของร่วมและแทนกันของทายาทโดยธรรม‬

          การครอบครองทรัพย์มรดกในฐานะเจ้าของร่วมและแทนกันของทายาทโดยธรรม

          ป.พ.พ.มาตรา 1745  "ถ้ามีทายาทหลายคน ทายาทเหล่านั้นมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกร่วมกันจนกว่าจะได้แบ่งมรดกกันเสร็จแล้ว และให้ใช้มาตรา 1356 ถึงมาตรา 1366 แห่งประมวลกฎหมายนี้บังคับ เพียงเท่าที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติแห่งบรรพนี้"

          กรณียังไม่มีการแบ่งปันทรัพย์มรดก ต้องถือว่าครอบครองในฐานะเจ้าของร่วมและแทนกัน ดังนี้ ทายาทจึงไม่มีสิทธินำทรัพย์มรดกส่วนของทายาทอื่นไปจำหน่ายจ่ายโอนโดยลำพัง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่‬ 3340/2526 โจทก์ทั้งสี่และบิดาจำเลยร่วมกันครอบครองที่นามรดกแปลงพิพาทต่อจากเจ้ามรดก ถือได้ว่าร่วมกันรับมรดกดังกล่าวและเป็นเจ้าของที่นามรดกรายนี้ร่วมกันแล้ว แม้ภายหลังบิดาจำเลยจะเป็นฝ่ายครอบครองที่นาพิพาทแต่เพียงผู้เดียวก็ต้องถือว่าครอบครองในฐานะเจ้าของร่วมกันและแทนกันมิใช่เป็นการแย่งการครอบครองตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 จำเลยอยู่ในฐานะผู้สืบสิทธิของบิดาจำเลย การที่บิดาจำเลยยกที่นาแปลงพิพาทให้แก่บุตรของตนรวมทั้งจำเลยแล้วจำเลย เอาที่นาดังกล่าวขอออก น.ส.3 เป็นชื่อจำเลยและพี่น้อง ไม่ทำให้จำเลยได้สิทธิครอบครองในที่นาแปลงพิพาทในส่วนของโจทก์ทั้งสี่ เมื่อโจทก์ทั้งสี่ยื่นฟ้อง จำเลยยังไม่ถึง 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยไม่ยินยอมแบ่งที่นาแปลงพิพาทให้ โดยอ้างว่าที่นาดังกล่าวเป็นของจำเลยและพี่น้องของจำเลยโจทก์จึงไม่หมดสิทธิที่จะฟ้องเรียกคืนซึ่งการครอบครอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3254/2528 การที่จำเลยยื่นคำร้องขอจัดการมรดกเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตามที่โจทก์ขอแบ่ง แสดงว่าที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นทรัพย์สินในกองมรดกซึ่งอยู่ระหว่างจัดการมรดกถึงแม้ว่าจำเลยจะครอบครองที่พิพาทนั้นตั้งแต่เจ้ามรดกถึงแก่กรรมแต่ผู้เดียว ก็เป็นการครอบครองทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปันกัน และต่อมาจำเลยก็ได้เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ดังนั้น การที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะทายาทก็ดีและในฐานะผู้จัดการมรดกก็ดี ถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย จำเลยจึงจะยกอายุความหนึ่งปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 มาใช้บังคับไม่ได้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกย่อมมีอำนาจฟ้องขอแบ่งทรัพย์พิพาทจากจำเลยได้ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2528)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 383/2535 โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ และห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้อง แต่ได้ความว่าโจทก์เป็นภริยาของ ต. จำเลยยกที่พิพาทให้ ต. ไม่ได้ยกให้โจทก์ด้วย หลังจาก ต. ตายโจทก์ครอบครองที่พิพาทตลอดมา โดยไม่ปรากฏว่า โจทก์ได้ครอบครองอย่างเจ้าของ โดยเปลี่ยนลักษณะการยึดถือ ถือว่าโจทก์ครอบครองแทนทายาทของ ต. โจทก์จึงไม่ได้สิทธิครอบครองที่พิพาทและไม่มีอำนาจฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3455/2537 การที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตร กับจำเลยที่ 2 และโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นหลาน โดยโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 2 ยังไม่บรรลุนิติภาวะนั้น เมื่อเจ้ามรดกตายที่พิพาทจึงตกได้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1745 เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ขอออก น.ส.3 ก. สำหรับที่พิพาท โดยใส่ชื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเป็นผู้รับมรดกคนหนึ่งและเป็นพี่ของโจทก์ทั้งสองร่วมด้วย อันเป็นการเข้ารับมรดกแสดงว่าจำเลยที่ 1 เข้าครอบครองที่พิพาทในฐานะทายาทตามพินัยกรรมและเป็นการเข้าครอบครองแทนโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหลานที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือจึงยังคงเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกัน การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขายที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 จึงเป็นการขายเฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เท่านั้นจำเลยที่ 3 ได้สิทธิไปเท่าที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีอยู่ การครอบครองที่พิพาทในส่วนของโจทก์ทั้งสองจะถือว่าเป็นการแย่งการครอบครองไม่ได้ โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้แบ่งทรัพย์นั้นได้และจะนำอายุความตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาใช้บังคับแก่โจทก์ทั้งสองไม่ได้ คดีของโจทก์ทั้งสองจึงไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2627/2542 ประเด็นที่ผู้ร้องยกขึ้นกล่าวอ้างในคำร้องขอมีเพียงว่าผู้ร้องครอบครองทำนาในที่ดินพิพาทโดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องติดต่อกันมา 56 ปีเศษ จึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ไม่มีประเด็นเรื่องการได้รับที่ดินพิพาทโดยการยกให้จากบิดามารดาก่อนบิดามารดาถึงแก่ความตาย ศาลจึงไม่อาจหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยให้ได้ เพราะจะเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น เมื่อบิดามารดาของผู้ร้องถึงแก่ความตายโดยมิได้ยกที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทผู้หนึ่งผู้ใดเป็นการเฉพาะทั้งก่อนตายและโดยพินัยกรรมนอกจากนี้ระหว่างทายาทด้วยกันเองก็ยังไม่มีการแบ่งที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกดังกล่าวแม้ผู้ร้องจะครอบครองที่ดินพิพาทนั้นนานสักเพียงใด ตราบใดที่ผู้ร้องไม่เคยแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังทายาททั้งหลายว่า ผู้ร้องมีเจตนายึดถือเพื่อตน ทั้งผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับมรดกแทนที่ของมารดาทายาทผู้หนึ่งที่มีสิทธิในทรัพย์มรดกร่วมกับผู้ร้องยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมาจนถึงปัจจุบัน โดยผู้ร้องมิได้กล่าวอ้างกรรมสิทธิ์และขับไล่ผู้คัดค้านที่ 3 ออกจากที่ดินพิพาท การครอบครองที่ดินพิพาทของผู้ร้องจึงเป็นการครอบครองแทนทายาททั้งปวงที่ดินพิพาทยังคงเป็นทรัพย์มรดกที่จะแบ่งให้แก่ทายาทผู้ร้องไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ

          ทายาทคนหนึ่งในฐานะเจ้าของรวมอาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อประโยชน์แก่ทายาททุกคนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 ประกอบมาตรา 1745 มีสิทธิที่จะฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาท เพื่อเอาทรัพย์ที่ดินพิพาทกลับคืนสู่กองมรดกได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3450/2562 ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมรับซื้อฝากที่ดินพิพาทโดยสุจริต เมื่อที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกซึ่งมีทายาทด้วยกัน 5 คน โจทก์เป็นทายาทคนหนึ่งในฐานะเจ้าของรวมอาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อประโยชน์แก่ทายาททุกคนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 ประกอบมาตรา 1745 โจทก์มีสิทธิที่จะฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เพื่อเอาทรัพย์ที่ดินพิพาทกลับคืนสู่กองมรดก แต่เมื่อจำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท 1 ใน 5 ส่วน จำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจขายฝากที่ดินพิพาทส่วนของตนได้ จึงต้องเพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์และทายาทอื่นรวม 4 ใน 5 ส่วน
          
          ทายาทมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งร่วมกันจนกว่าจะแบ่งมรดกแล้วเสร็จ จึงถือได้ว่าทายาทเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทเท่า ๆ กัน จึงมีสิทธิฟ้องผู้จัดการมรดกเพื่อขอแบ่งทรัพย์มรดกได้
          จทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 2 ต่างเป็นทายาทโดยธรรมของ พ. เจ้ามรดกลำดับเดียวกัน ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งมรดกเท่ากัน ทั้งมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งร่วมกันจนกว่าจะแบ่งมรดกแล้วเสร็จ จึงถือได้ว่าโจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทเท่า ๆ กัน การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ พ. โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาททุกคน จึงเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 ดังนั้น โจทก์ทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกย่อมฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกที่จำเลยที่ 1 โอนให้แก่จำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวจากจำเลยที่ 2 ได้ตามมาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1363 เมื่อโจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกกระทำการโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวซึ่งไม่ถูกต้อง จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก กำหนดอายุความต้องบังคับตามมาตรา 1733 วรรคสอง หาใช่บังคับตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1755

          จำเลยได้รับจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทรัพย์พิพาทอันเป็นมรดกของเจ้ามรดกมา ก็เนื่องจากทายาททุกคนตกลงมอบหมายให้จำเลยเป็นผู้นำไปขายแล้วนำเงินมาแบ่งแก่ทายาท จำเลยจึงครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคนเพื่อประโยชน์ร่วมกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9787/2552  จำเลยได้รับจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทรัพย์พิพาทอันเป็นมรดกของเจ้ามรดกมา ก็เนื่องจากทายาททุกคนตกลงมอบหมายให้จำเลยเป็นผู้นำไปขายแล้วนำเงินมาแบ่งแก่ทายาท ดังเห็นได้จากที่จำเลยแบ่งเงินที่ขายให้แก่ทายาทบางคนตามสิทธิในเวลาต่อมา จำเลยจึงครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคนเพื่อประโยชน์ร่วมกันดังกล่าว ดังนั้น แม้ปรากฏว่าในวันที่ 1 มิถุนายน 2537 จำเลยขายที่ดินมรดกนี้ไปก็เป็นการปฏิบัติตามข้อตกลงนั้น ถือว่าจำเลยยังครอบครองเงินที่ขายแทนทายาททุกคนเพื่อการแบ่งปันกันอายุความตัดสิทธิในระหว่างทายาทด้วยกันยังไม่เริ่มนับเพราะการแบ่งปันทรัพย์มรดกนี้ยังไม่เสร็จสิ้น จำเลยจะยกอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสองและวรรคท้ายมาต่อสู้โจทก์หาได้ไม่

          แต่ **** การที่ทายาทคนหนึ่งครอบครองทรัพย์มรดกไว้นั้น ไม่มีกฎหมายสนับสนุนว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทคนอื่นด้วย การที่จะเป็นการครอบครองแทนทายาทคนอื่นหรือครอบครองไว้เพื่อตนเอง ย่อมแล้วแต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในแต่ละคดี 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9992/2560 (ประชุมใหญ่) ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก" และวรรคสี่ บัญญัติว่า "ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อนๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย" อย่างไรก็ตามบทบัญญัติดังกล่าวมีข้อยกเว้นตามมาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน ทายาทคนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แล้วก็ดี" การที่ทายาทคนหนึ่งครอบครองทรัพย์มรดกไว้นั้น ไม่มีกฎหมายสนับสนุนว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทคนอื่นด้วย การที่จะเป็นการครอบครองแทนทายาทคนอื่นหรือครอบครองไว้เพื่อตนเองย่อมแล้วแต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในแต่ละคดี เพราะหากถือว่าทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียวเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นที่ไม่ได้ครอบครองทรัพย์มรดกด้วย อายุความตามมาตรา 1754 ก็ไม่อาจใช้บังคับได้เลย
          การที่ ก. เป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกพิพาทของผู้ตายตั้งแต่ขณะที่ผู้ตายยังมีชีวิตและภายหลังผู้ตายถึงแก่ความตายอย่างเป็นเจ้าของโดยถือว่าเป็นสินส่วนตัวตลอดมาแต่เพียงผู้เดียว โดยโจทก์ไม่เคยฟ้องหรือร้องขอให้พนักงานอัยการยกคดีนี้ขึ้นว่ากล่าวเอาแก่ ก. ซึ่งเป็นมารดาเพื่อขอแบ่งมรดกพิพาทจาก ก. แต่อย่างใด และเมื่อ ก. แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1335 ออกเป็น 7 แปลง โดยมีที่ดินโฉนดเลขที่ 78021 รวมอยู่ด้วย โจทก์ก็ไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน ยิ่งกว่านั้นในคดีที่ ก. ฟ้องขอให้เพิกถอนคืนการให้ที่ดินแก่โจทก์รวม 5 แปลง ซึ่งที่ดินดังกล่าวมีชื่อ ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ขณะที่ผู้ตายยังมีชีวิตและ ก. ได้จดทะเบียนยกให้โจทก์นั้น โจทก์ก็ไม่ได้โต้แย้งว่าที่ดินทั้งห้าแปลงและที่ดินที่ขายไปเป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายและ ก. และเป็นมรดกของผู้ตายกึ่งหนึ่งอันจะตกแก่โจทก์ที่เป็นทายาทและทายาทอื่นด้วย ก. ไม่เคยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายรวมทั้งไม่เคยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายอันจะถือว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น นอกจากนี้ตามคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายของ ศ. ระบุเพียงว่า ผู้ตายมีทรัพย์มรดกคือเงินฝากในธนาคารเท่านั้น และ ศ. ก็เบิกความยืนยันว่า ได้จัดการแบ่งเงินทรัพย์มรดกของผู้ตายเสร็จสิ้นไปแล้ว ผู้ตายไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่จะจัดการอีก อันเป็นข้อสนับสนุนว่า ก. ครอบครองทรัพย์มรดกพิพาทที่มีชื่อ ก. แต่ผู้เดียวโดย ศ. และทายาทอื่นไม่ได้ร่วมครอบครองทรัพย์มรดกที่เป็นที่ดินเลย กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2532 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2556 เกินสิบปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ จำเลยเป็นผู้สืบสิทธิ ก. ผู้เป็นทายาทย่อมมีสิทธิยกอายุความดังกล่าวขึ้นต่อสู้ได้ตามมาตรา 1755
          (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 15/2560)
          

ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงในที่ดิน(ทรัพย์สิน) มีสิทธิยึดหน่วงในที่ดินจนกว่าจะได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้น


          กรณีทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินซึ่งผู้จะซื้อได้ชำระค่าที่ดินและเข้าครอบครองที่ดินแล้ว ต่อมาเมื่อเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้จะขายเสียชีวิตและผู้จะซื้อซึ่งทราบถึงการเสียชีวิตนั้นแล้วกว่า 1 ปี มีปัญหาว่า ฝ่ายผู้จะซื้อจะฟ้องทายาทเพื่อบังคับให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ได้หรือไม่ และคดีขาดอายุความเรียกร้องแล้วหรือไม่ ?

          คำตอบ  การทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ซึ่งฝ่ายผู้จะซื้อได้จ่ายเงินค่าที่ดินและเข้าครอบครองที่ดินนั้นแล้ว ผู้จะซื้อจึงมีสิทธิยึดหน่วงในที่ดินจนกว่าจะได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้น เมื่อเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นผู้จะขายเสียชีวิตลง ทายาทหรือผู้จัดการมรดกย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของเจ้ามรดก ผู้จะซื้อในฐานะผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงจึงสามารถฟ้องบังคับให้ทายาทหรือผู้จัดการมรดกโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ตนเองได้ แม้จะพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่ผู้จะซื้อได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกก็ตาม ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/27, 241 (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 253/2497)

          หลักกฎหมาย
          มาตรา 241  "ผู้ใดเป็นผู้ครองทรัพย์สินของผู้อื่น และมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครองนั้นไซร้  ท่านว่าผู้นั้นจะยึดหน่วงทรัพย์สินนั้นไว้จนกว่าจะได้ชำระหนี้ก็ได้ แต่ความที่กล่าวนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ เมื่อหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนด
          อนึ่ง บทบัญญัติในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าการที่เข้าครอบครองนั้นเริ่มมาแต่ทำการอันใดอันหนึ่งซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย"
          มาตรา 193/27  "ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรือที่ได้ยึดถือไว้  แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้"

         
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19411/2555  การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท และขอบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ทำไว้ต่อโจทก์โดยไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ซึ่งต้องเริ่มนับแต่ขณะที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ คือนับแต่โจทก์ทราบว่าเอกสารสูญหายและให้จำเลยนำเอกสารชุดใหม่มาให้อันเป็นช่วงระหว่างปี 2525 และเมื่อนับถึงวันฟ้องคือ วันที่ 9 ธันวาคม 2545 ล่วงเลย 10 ปี แล้วก็ตาม แต่จากคำฟ้องและคำเบิกความของโจทก์อ้างว่าจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดยโจทก์ชำระราคาที่ดินครบถ้วนและจำเลยส่งมอบการครอบครองที่ดินให้โจทก์แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญา อันเป็นเหตุให้โจทก์นำคดีมาฟ้องให้จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญา เช่นนี้ หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์ ย่อมถือได้ว่าหนี้ดังกล่าวเป็นคุณประโยชน์แก่โจทก์เกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่โจทก์ครอบครองอยู่ ทำให้โจทก์อยู่ในฐานะเป็นผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง ซึ่งย่อมมีสิทธิยึดหน่วงที่ดินพิพาทไว้จนกว่าจะมีการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาแม้คดีจะขาดอายุความแล้วก็ตาม อันเป็นการใช้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 241

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6734/2547  โจทก์กับ ข. ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทโดยโจทก์ชำระราคาครบถ้วนแล้ว ส่วน ข. ได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ครอบครอง แต่ยังมิได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ หนี้ดังกล่าวจึงเป็นคุณประโยชน์แก่โจทก์เกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครอบครองอยู่จนกว่าจะมีการจดทะเบียนโอน โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงที่ดินพิพาทตามความหมายใน ป.พ.พ. มาตรา 241 แม้คดีโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1755 วรรคสาม ก็ตาม แต่ตามมาตรา 1755 วรรคสาม ยังบัญญัติให้อยู่ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 ก็กำหนดให้ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงที่ดินไว้จนกว่าจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ข. ไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ทั้งยังมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ด้วย เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยปัญหาเรื่องอายุความมรดกที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ทั้งในชั้นอุทธรณ์โจทก์ได้อุทธรณ์เรื่องอายุความดังกล่าวและอ้างว่ามีสิทธิยึดหน่วงตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 ด้วย ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็ได้วินิจฉัยเรื่องอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ประกอบมาตรา 193/27 และมาตรา 241 อันเป็นเรื่องอายุความมรดกตามที่คู่ความว่ากล่าวกันมาโดยชอบ จึงมิใช่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาเกินคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4793/2546  โจทก์จำเลยตกลงซื้อขายที่ดินพิพาท โดยมีข้อตกลงว่าจะไปจดทะเบียนแบ่งแยกและโอนให้โจทก์เมื่อจำเลยนำที่ดินพิพาทไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้ว จึงเป็นสัญญาจะซื้อขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสองโจทก์ชำระเงินให้จำเลยครบถ้วนและจำเลยมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้โจทก์แล้วแม้สิทธิครอบครองจะยังไม่โอนมาเป็นของโจทก์เพราะคู่สัญญาประสงค์จะให้มีการโอนทางทะเบียน แต่โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิยึดหน่วงที่ดินพิพาทไว้จนกว่าจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ได้ โจทก์ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงย่อมมีสิทธิบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้ตามมาตรา 193/27 และ 241 แม้โจทก์จะฟ้องคดีเกิน 10 ปี คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ
          แม้โจทก์จะมีคำขอท้ายฟ้องขอให้จำเลยไปแบ่งแยกที่ดินด้านทิศใต้ส่วนที่โจทก์ครอบครอง แล้วโอนให้โจทก์เป็นเนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ ก็เป็นเพียงประมาณการเท่านั้นเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินให้ช่างรังวัดสอบเขตและทำแผนที่พิพาทตามคำสั่งของศาลชั้นต้นโดยโจทก์และจำเลยเป็นผู้นำชี้ซึ่งช่างรังวัดที่ดินพิพาทส่วนที่โจทก์ครอบครองได้เนื้อที่27 ไร่ 1 งาน 42 ตารางวา ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามเนื้อที่ซึ่งปรากฏในแผนที่พิพาทได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3837/2545  โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจากจำเลย โดยชำระราคาให้บางส่วนแล้วส่วนที่เหลือจะชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยส่งมอบให้โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาท อันเป็นทรัพย์สินของจำเลยโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวซึ่งจำเลยในฐานะผู้จะขายยังมีหนี้ที่จะต้องไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ผู้จะซื้อ หนี้ดังกล่าวจึงเป็นคุณประโยชน์แก่โจทก์เกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่โจทก์ครอบครองอยู่ โจทก์จึงชอบที่จะยึดหน่วงที่ดินพิพาทไว้ได้จนกว่าจำเลยจะได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241 แม้จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายเกินกว่า10 ปี ซึ่งขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/27 ระบุไว้ว่า แม้สิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความ โจทก์ในฐานะผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงก็ยังคงมีสิทธิบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่ตนได้พร้อมรับเงินส่วนที่เหลือจากโจทก์ไป



ทางจำเป็น



          1. ทางจำเป็นคืออะไร

          มาตรา 1349  "ที่ดินแปลงใดมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้
          ที่ดินแปลงใดมีทางออกได้  แต่เมื่อต้องข้ามสระ บึง หรือทะเล หรือมีที่ชัน อันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมากไซร้ ท่านว่าให้ใช้ความในวรรคต้นบังคับ
          ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่าน กับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้ ถ้าจำเป็นผู้มีสิทธิจะผ่านจะสร้างถนนเป็นทางผ่านก็ได้
          ผู้มีสิทธิจะผ่าน ต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่ เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น ค่าทดแทนนั้นนอกจากค่าเสียหายเพราะสร้างถนน ท่านว่าจะกำหนดเป็นเงินรายปีก็ได้"

          ทางจำเป็นเป็นการให้สิทธิเจ้าของที่ดินรวมทั้งคนในครอบครัวหรือบริวารของเจ้าของที่ดิน ที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ สามารถผ่านที่ดินแปลงที่ล้อมอยู่ออกไปสู่ทางสาธารณะได้ ในขณะเดียวกันทางจำเป็นก็ถือเป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิของผู้เป็นเจ้าของที่ดินแปลงที่ล้อมอยู่ ที่จะต้องยอมให้เจ้าของที่ดินแปลงในที่ถูกล้อมผ่านที่ดินของตนออกไปสู่ทางสาธารณะ มีข้อสังเกตว่าผู้ที่จะใช้สิทธิในทางจำเป็นได้จะต้องเป็นเจ้าของที่ดิน หากเป็นเจ้าของโรงเรือนเท่านั้นไม่ใช่เจ้าของที่ดิน แม้จะถูกที่ดินอื่นล้อมก็ไม่มีสิทธิขอใช้ทางจำเป็น และทางสาธารณะที่จะออกไปสู่นั้นจะเป็นถนนหรือแม่น้ำลำคลองได้ การใช้ทางจำเป็นตามที่กฎหมายบัญญัติไว้นี้มีข้อจำกัดไว้ว่าจะต้องเป็นการขอผ่านไปสู่ทางสาธารณะเท่านั้น จะขอผ่านไปสู่สถานที่หรือทางอย่างอื่นนอกจากทางสาธารณะไม่ได้ ซึ่งต่างจากทางภาระจำยอมที่ทางภาระจำยอมอาจผ่านไปสู่ที่ใดก็ได้ นอกจากนั้นทางสาธารณะที่จะผ่านไปสู่จะต้องเป็นทางสาธารณะที่มีสภาพการใช้ประโยชน์อย่างทางสาธารณะได้ ถ้าเป็นคลองสาธารณะที่ตื้นเขินแล้วใช้ประโยชน์ในการสัญจรไปมาไม่ได้ ก็ไม่ถือว่าเป็นทางสาธารณะในความหมายเรื่องทางจำเป็น          


          ที่ดินมีทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว กรณีย่อมไม่อาจขอทางผ่านที่ดินผู้อื่นโดยอ้างเรื่องทางจำเป็น

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2621/2559  เมื่อที่ดินของโจทก์ทั้งสามด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือติดลำกระโดงสาธารณะ สามารถใช้เรือสัญจรไปมาได้ ที่ดินของโจทก์ทั้งสามจึงมีทางออกสู่สาธารณะได้ กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 ที่โจทก์ทั้งสามจะอ้างใช้ทางพิพาทเป็นทางจำเป็น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12116/2553 ก. ยกที่ดินเนื้อที่ 5 ไร่ ให้แก่กระทรวงการคลังเพื่อใช้ประโยชน์ในราชการกรมตำรวจ ที่ดินส่วนนี้จำเลยที่ 1 ใช้จัดตั้งสถานีวิทยุตำรวจตระเวนชายแดนค่ายพระเจ้าตากนับแต่ได้รับการยกให้ในปี 2528 มีการกันที่ดินไว้เป็นทางสาธารณประโยชน์เพื่อเชื่อมจากที่ดินจำเลยที่ 1 สู่ทางหลวงแผ่นดินสายตาก - เถิน (พหลโยธิน) ซึ่งเป็นทางสาธารณะไว้ก่อนตั้งแต่ ก. แสดงเจตนายกที่ดินให้แก่กระทรวงการคลัง จึงไม่ใช่กรณีที่ดินจำเลยที่ 1 มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะ จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจผ่านที่ดินโจทก์ซึ่งล้อมอยู่ออกไปสู่ทางสาธารณะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5740/2551 ทางจำเป็นนั้น กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าของที่ดินที่ถูกปิดล้อมโดยเฉพาะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เจ้าของที่ดินเท่านั้นที่จะมีสิทธิฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นได้ โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ใช่เจ้าของที่ดินแต่เป็นเพียงผู้ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินเท่านั้น แม้ที่ดินดังกล่าวถูกที่ดินแปลงอื่นปิดล้อม โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็น
          โจทก์ที่ 4 ที่ 5 ส. น. และ ม. เป็นเจ้าของรวมในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 439 โดยมิได้แบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดว่าผู้ใดเป็นเจ้าของที่ดินส่วนใด ความเป็นเจ้าของของแต่ละคนจึงครอบที่ดินทั้งแปลง เจ้าของรวมคนใดคนหนึ่งจึงอาจใช้สิทธิในฐานะเป็นเจ้าของรวมครอบที่ดินทั้งแปลงเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 การที่โจทก์ที่ 4 และที่ 5 ใช้สิทธิฟ้องจำเลยขอให้เปิดทางจำเป็นจึงเป็นการใช้สิทธิแทนเจ้าของรวมอื่นซึ่งรวมถึง ส. ด้วย กล่าวคือหากโจทก์ที่ 4 และที่ 5 มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็นได้ ทางดังกล่าวย่อมได้ประโยชน์แก่เจ้าของรวมทุกคน แต่ ส. เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2528 ซึ่งด้านหนึ่งติดถนนสาธารณะอีกด้านหนึ่งติดกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 439 ส. จึงไม่มีสิทธิขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็นสำหรับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 439 ได้ เพราะ ส. สามารถเข้าออกสู่ทางสาธารณะโดยผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 2528 ของตนเอง การที่ ส. ปลูกสร้างอาคารในที่ดินโฉนดเลขที่ 2528 โดยเว้นทางเข้าออกด้านที่ติดกับของจำเลยไว้เพียง 1 เมตร เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 4 และที่ 5 ไม่สามารถนำรถยนต์ผ่านเข้าออกได้แต่ยังคงเดินเข้าออกได้นั้นเป็นเพียงทำให้ความสะดวกของโจทก์ที่ 4 และที่ 5 ในการเข้าออกสู่ทางสาธารณะลดลงเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 439 ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์ที่ 4 และที่ 5 จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็น





          แม้ที่ดินอยู่ติดคลองระบายน้ำ แต่ไม่ได้ใช้เป็นทางสัญจรแล้ว และในหน้าแล้งมีผักตบชวาขึ้นเต็มหนาแน่น คลองระบายน้ำนั้นย่อมมิใช่ทางสาธารณะที่จะใช้เป็นทางออกของที่ดิน ตามมาตรา 1349 วรรคหนึ่ง แต่เป็นกรณีที่ดินมีทางออกสู่ทางสาธารณะได้แต่ต้องข้ามสระ บึง ทะเล หรือในสภาพยากลำบากอื่นทำนองเดียวกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสอง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13874/2557  คลองบางสี่บาทมีสภาพเป็นทางระบายน้ำ ตื้นเขิน มีวัชพืชปกคลุม น้ำในคลองเน่าเสีย เรือไม่สามารถลอดใต้สะพาน สภาพเช่นนี้ประชาชนไม่สามารถใช้คลองสัญจรไปมาได้อย่างคลองสาธารณะอื่น จึงไม่ถือเป็นทางสาธารณะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13760/2556  แม้ที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันตกจะติดกับแม่น้ำท่าคอยหรือคลองระบายสายใหญ่สามชุก 1 แต่ปัจจุบันแม่น้ำท่าคอยไม่ได้ใช้เป็นทางสัญจรไม่มีเรือโดยสารหรือเรือสินค้าสัญจรผ่านไปมาคงมีแต่เรือหาปลาและในหน้าแล้งจะมีผักตบชวาขึ้นเต็มหนาแน่นเช่นนี้ แม่น้ำท่าคอยหรือคลองระบายสายใหญ่สามชุก 1 จึงหาใช่ทางสาธารณะที่จะใช้เป็นทางออกของที่ดินโจทก์ตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง แต่หมายความว่าที่ดินโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้แต่ต้องข้ามสระ บึง ทะเล หรือในสภาพยากลำบากอื่นทำนองเดียวกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสอง เมื่อเจ้าของที่ดินเดิมของโจทก์และโจทก์เคยใช้ทางพิพาทที่มีอยู่ในที่ดินของจำเลยเป็นทางผ่านเข้าออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอเปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นเพื่อผ่านที่ดินจำเลยออกสู่ทางสาธารณะได้

          ต้องขออนุญาตผ่านที่ดินผู้อื่นออกไปสู่ทางสาธารณะ ถือว่าที่ดินถูกล้อมรอบด้วยที่ดินของผู้อื่นจนไม่อาจออกสู่ทางสาธารณะได้ จึงฟ้องขอเปิดทางจำเป็นได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9325/2553  ทางจำเป็นจะขอได้ต่อเมื่อที่ดินมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1349 แต่หากเป็นกรณีแบ่งแยกที่ดินแปลงเดียวกันทำให้ที่ดินที่แบ่งแยกนั้นแปลงใดไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะซึ่งหมายถึงทางสาธารณะที่มีอยู่ในขณะแบ่งแยกนั้นแล้ว ก็จะเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1350 เมื่อปรากฏว่าที่ดินของโจทก์และที่ดินพิพาทถูกแบ่งแยกออกจากที่ดินแปลงเดียวกันก่อนมีถนนพุทธมณฑลสาย 1 กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1350 มาบังคับได้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ที่ดินของโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะ 3 ทาง แต่เป็นเส้นทางที่ต้องผ่านที่ดินของบุคคลอื่นและไม่ปรากฏว่าเป็นทางสาธารณะ อีกทั้งไม่ใช่ทางที่เป็นภารยทรัพย์ของที่ดินของโจทก์ ซึ่งเจ้าของที่ดินอาจจะอนุญาตให้โจทก์ใช้ทางหรือไม่ก็ได้ และแม้เจ้าของที่ดินนั้นจะยินยอมให้โจทก์ผ่านที่ดินของตนได้ก็ไม่ใช่สิทธิตามกฎหมาย ประกอบกับมีระยะทางจากที่ดินของโจทก์ไปสู่ทางสาธารณะไกลไม่สะดวก จึงฟังได้ว่าที่ดินของโจทก์ถูกล้อมรอบด้วยที่ดินของผู้อื่นจนไม่อาจออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นได้ แต่การที่จะเปิดทางจำเป็นนั้นต้องเลือกให้พอสมควรแก่ความจำเป็นของโจทก์โดยคำนึงถึงประโยชน์การใช้สอยที่ดินพิพาทให้เสียหายน้อยที่สุด

          แม้ทางเข้าที่ดินผ่านทางสาธารณะประโยชน์ซึ่งเชื่อมต่อถนนทางหลวงมีความสูงชันกว่ากันมาก แต่ก็เป็นความสูงชันแตกต่างระหว่างทางสาธารณะด้วยกัน มิใช่ความสูงชันของที่ดินกับทางสาธารณะ จึงมิใช่กรณีตามมาตรา 1349 วรรคสอง 

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12116/2553 แม้ทางเข้าที่ดินจำเลยที่ 1 ผ่านทางสาธารณประโยชน์ซึ่งเชื่อมต่อกับถนนพหลโยธินมีความสูงชันกว่ากันมาก ก็เป็นความสูงชันแตกต่างระหว่างทางสาธารณะด้วยกัน มิใช่ความสูงชันของที่ดินจำเลยที่ 1 กับทางสาธารณะ จำเลยทั้งสองจึงมิอาจถือประโยชน์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสอง ได้เช่นกัน

          ที่ดินที่แบ่งจากที่ดินแปลงใหญ่ทุกแปลงมีทางออกผ่านที่ดินของจำเลยออกสู่ทางสาธารณะเป็นทางจำเป็นอยู่แล้ว ดังนั้น โจทก์ทั้งสามที่แบ่งแยกที่ดินมาจากที่ดินแปลงใหญ่ดังกล่าวย่อมมีสิทธิผ่านที่ดินของจำเลยซึ่งเป็นทางจำเป็นได้เช่นเดียวกัน เพราะจำเลยไม่มีสิทธิปิดกั้นทางจำเป็นได้อีกต่อไป

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2900/2553 เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 319 เป็นที่ดินแปลงใหญ่ ต่อมามีการแบ่งแยกออกไปรวม 8 แปลง โดยที่ดินของโจทก์ทั้งสามแปลงต่างแบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 319 ด้วย ส่วนที่เหลือจากการแบ่งแยกมีโจทก์ที่ 2 และนาย ล. กับพวกอีก 6 คน เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม และโฉนดที่ดินของนาย ล. ที่แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 319 แปลงใหญ่ เป็นที่ดินที่มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้เช่นเดียวกับที่ดินโจทก์ทั้งสาม เมื่อนาย ล. ผ่านที่ดินจำเลยซึ่งล้อมอยู่ออกไปสู่ทางสาธารณะคลองคอกกระบือและถนนเอกชัยได้ โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่แบ่งแยกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 319 ย่อมมีสิทธิผ่านที่ดินจำเลยซึ่งเป็นทางจำเป็นได้เช่นเดียวกับนาย ล. จำเลยไม่มีสิทธิปิดกั้นทางจำเป็นได้อีกต่อไป และถือว่าโจทก์ทั้งสามมีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิให้จำเลยเปิดทางจำเป็นในที่ดินแปลงอื่นได้อีก

          สำหรับการวางท่อน้ำ สายไฟฟ้า หรือสิ่งอื่นซึ่งคล้ายกันในที่ดินติดต่อ หาใช่เป็นเรื่องทางจำเป็นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 และ 1350 ไม่ แต่เป็นเรื่องที่เจ้าของที่ดินจำต้องยอมให้เจ้าของที่ดินติดต่อวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ สายไฟฟ้า หรือสิ่งอื่นซึ่งคล้ายกับผ่านที่ดินของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1352 ซึ่งการใช้สิทธิวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ ฯลฯ ในที่ดินของผู้อื่น จะต้องยอมจ่ายค่าทดแทนตามสมควรให้แก่เจ้าของที่ดินเสียก่อน 

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7775/2552   การวางท่อน้ำ สายไฟฟ้า ท่อประปา สายโทรศัพท์ หรือสิ่งอื่นซึ่งคล้ายกันในที่ดินติดต่อ หาใช่เป็นเรื่องทางจำเป็นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 และ 1350 ไม่ แต่เป็นเรื่องที่เจ้าของที่ดินจำต้องยอมให้เจ้าของที่ดินติดต่อวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ สายไฟฟ้า หรือสิ่งอื่นซึ่งคล้ายกับผ่านที่ดินของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1352 การใช้สิทธิวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ ฯลฯ ในที่ดินของผู้อื่น ผู้ที่จะวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ ฯลฯ จะต้องยอมจ่ายค่าทดแทนตามสมควรให้แก่เจ้าของที่ดินเสียก่อน หากผู้ที่จะวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ ฯลฯ ไม่จ่ายค่าทดแทนตามสมควรแล้ว เจ้าของที่ดินย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ยอมให้วางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ ฯลฯ ในที่ดินของตนได้ จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ซึ่งเป็นผู้วางท่อน้ำ สายไฟฟ้า ฯลฯ ที่จะต้องบอกกล่าวเสนอจำนวนค่าทดแทนให้แก่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินทราบก่อน มิฉะนั้นโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยยอมให้โจทก์วางท่อน้ำ สายไฟฟ้า ฯลฯ ในที่ดินของจำเลย เมื่อทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เสนอค่าทดแทนแก่จำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยยินยอมให้โจทก์วางท่อน้ำ สายไฟฟ้า ฯลฯ ในที่ดินของจำเลยได้


          2. ทางจำเป็นเกิดขึ้นได้อย่างไร

          การได้สิทธิใช้ทางจำเป็น ไม่จำต้องมีนิติกรรมสัญญาระหว่างเจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมกับเจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่ เพราะทางจำเป็นเป็นการได้สิทธิตามกฎหมาย และผู้ที่จะขอใช้ทางจำเป็นไม่จำเป็นต้องใช้สิทธิมานาน ถูกล้อมวันไหน เวลาใด แม้จะเพิ่งเข้ามาอยู่ในที่ดินซึ่งถูกล้อมก็ขอใช้ทางจำเป็นได้ 
          สิทธิในทางจำเป็นย่อมเกิดขึ้นโดยอำนาจของกฎหมาย ตามสภาพความเป็นจริงของที่ดินในขณะยื่นฟ้อง

          ทางจำเป็นเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย เมื่อที่ดินแปลงใดมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2989/2552  ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ที่ดินแปลงใดมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้” กฎหมายบัญญัติให้มุ่งพิจารณาถึงสภาพของที่ดินนั้นจะต้องถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะเป็นสำคัญ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นจึงมีสิทธิจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ออกไปสู่ทางสาธารณะได้ ทั้งมิได้บังคับว่าเจ้าของที่ดินที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจะต้องขอผ่านที่ดินที่ล้อมซึ่งอยู่ใกล้ทางสาธารณะมากที่สุด เจ้าของที่ดินซึ่งถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจึงมีสิทธิขอผ่านที่ดินที่ล้อมแปลงใดก็ได้ เพียงแต่การที่จะผ่านที่ดินที่ล้อมนั้น มาตรา 1349 วรรคสาม บัญญัติว่า “ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่านกับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้ ถ้าจำเป็นผู้มีสิทธิจะผ่านจะสร้างถนนเป็นทางผ่านก็ได้” เมื่อที่ดินของโจทก์ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะ โจทก์จึงมีสิทธิขอเปิดทางในที่ดินของจำเลยเป็นทางจำเป็น
          ทางจำเป็นเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย ผู้มีสิทธิใช้ทางจำเป็นจึงต้องใช้โดยมีขอบเขตด้วยความระมัดระวัง โดยคำนึงถึงผลเสียหายอันเกิดขึ้นแก่ผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกบังคับใช้ทางจำเป็นด้วย เมื่อที่ดินของโจทก์เป็นที่ว่างเปล่ายังไม่ทำประโยชน์ใดๆ ส่วนที่ดินแปลงอื่นที่ล้อมอยู่โดยรอบมีสภาพเป็นทุ่งนา โจทก์ซื้อที่ดินมาตั้งแต่ปี 2517 ขณะนั้นยังไม่มีทางสาธารณะ โจทก์ย่อมรู้อยู่แล้วแต่ในขณะนั้นว่า ที่ดินที่โจทก์ซื้อไม่อาจใช้รถยนต์ผ่านเข้าออกได้ คงใช้ทางได้เฉพาะการเดินเข้าออกเท่านั้น เมื่อโจทก์ยอมรับสภาพการที่จะไม่ใช้รถยนต์เข้าออกในทางขณะที่ซื้อที่ดินมาแต่แรกเท่ากับโจทก์ยอมรับสภาพที่จะต้องจอดรถยนต์ไว้ในสถานที่อื่น โจทก์จึงไม่อาจอ้างได้ว่าเป็นทางจำเป็นเพื่อการใช้รถยนต์ ประกอบกับที่ดินของจำเลยมีเนื้อที่ประมาณ 3 งานเศษเท่านั้น หากเปิดทางกว้างถึง 2 วา หรือ 4 เมตร ตามที่โจทก์ขอย่อมเสียหายแก่จำเลยเกินสมควร



          3. การพิจารณาทำทางจำเป็น

          การผ่านที่ดินของผู้อื่นก็ไม่จำกัดว่าจะต้องเดินผ่านเท่านั้น ถ้าจำเป็นอาจทำถนนให้ยานพาหนะผ่านก็ได้ แต่ถ้าผู้ขอผ่านไม่มีรถยนต์ใช้จะขอทำถนนสำหรับรถยนต์ไม่ได้ เพราะเกินความจำเป็น นอกจากนี้ การใช้ทางจำเป็นก็ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นทางบก อาจเป็นทางน้ำก็ได้ เช่น ที่ดินตั้งอยู่ในบริเวณที่มีทางสาธารณะเป็นทางน้ำ การสัญจรไปมาต้องใช้เรือเป็นพาหนะ เช่นนี้จะขอขุดคูทำทางน้ำสำหรับใช้เรือผ่านไปมาก็ได้ เว้นแต่จะเกินจำเป็นแก่ผู้ขอผ่านและเสียหายแก่เจ้าของที่ดินที่ให้ผ่านมาก
          ทั้งนี้ การพิจารณาทำทางจำเป็นผ่านที่ดินต้องคำนึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายน้อยที่สุด ดังนั้น ระหว่างที่ดินที่มีอาคารปลูกเต็มพื้นที่กับที่ดินว่างเปล่า การเลือกทำทางจำเป็นผ่านที่ดินว่างเปล่าย่อมเสียหายน้อยที่สุดแล้ว หรือการขอผ่านที่ดินส่วนที่ใช้เป็นทางเข้าออกอยู่แล้วซึ่งเป็นเส้นทางที่เหมาะสมและสะดวก ทั้งก่อความเสียหายให้แก่ที่ดินที่ล้อมอยู่น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้




          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13874/2557  ด้านทิศตะวันออกของที่ดินของโจทก์อยู่ห่างจากทางสาธารณประโยชน์เพียง 50 เซนติเมตร เท่ากับความกว้างของที่ดินโฉนดเลขที่ 41058 ซึ่งปิดล้อมอยู่ด้านนี้ แต่ด้านทิศตะวันตกของที่ดินของโจทก์อยู่ห่างจากทางสาธารณประโยชน์ถึง 4 เมตร 50 เซนติเมตร เท่ากับความกว้างของที่ดินของจำเลยทั้งสี่ จากที่ดินของโจทก์เมื่อผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 41058 เพื่อออกสู่ถนนพระรามที่ 2 ก็เป็นระยะทางที่ใกล้กว่าที่จะผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสี่ออกสู่ถนนพระรามที่ 2 ถึง 280 เมตร แม้ทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศตะวันออกจะมีความกว้างประมาณ 4 เมตร ถึง 6 เมตร 40 เซนติเมตร ส่วนทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศตะวันตกแม้มีความกว้างถึง 12 เมตร มี 4 ช่องเดินรถ แต่ก็ไม่ได้มีความกว้างเช่นนี้ตลอดแนวที่ดินของจำเลยทั้งสี่ คงมีความกว้างเช่นนี้เฉพาะบริเวณที่อยู่หน้าสวนหย่อมสำหรับพักผ่อนและออกกำลังกายของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล พระราม 2 พ้นจากนั้นก็ลดลงเหลือเพียง 2 ช่องเดินรถ เฉพาะความกว้างเพียงบางส่วนของทางสาธารณประโยชน์ด้านนี้ก็ไม่ได้ทำให้ความสะดวกในการใช้ทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศตะวันตกมีมากกว่าทางด้านทิศตะวันออก โดยเฉพาะทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศตะวันตกนี้ติดกับทางเข้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล พระราม 2 และอยู่ตรงข้ามกับสวนหย่อมสำหรับพักผ่อนและออกกำลังกายของห้างซึ่งน่าจะมีการจราจรที่พลุกพล่านมากกว่าทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศตะวันออก เมื่อพิจารณาถึงความจำเป็นของโจทก์ที่ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณประโยชน์แล้ว ทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศตะวันออกจึงมีความเหมาะสมแก่ความจำเป็นมากกว่าเพราะเนื้อที่ดินที่จะต้องสูญเสียไปเนื่องจากการทำทางผ่านมีความกว้างเพียง 50 เซนติเมตร น้อยกว่าเนื้อที่ดินที่จำเลยทั้งสี่ต้องสูญเสียไปเนื่องจากการผ่านของโจทก์ถึง 4 เท่า ทั้งเมื่อเทียบขนาดความกว้างของที่ดินแล้ว ที่ดินของจำเลยทั้งสี่ย่อมอยู่ในสภาพที่สามารถทำประโยชน์ได้มากกว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 41058 ซึ่งปรากฏว่า จำเลยทั้งสี่ทำร้านขายอาหารและเครื่องดื่มอยู่บนที่ดินด้วย ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 41058 มีสภาพเป็นร่องสวน
          ถนนภายในหมู่บ้านเป็นทางสาธารณประโยชน์ ประชาชนทั่วไปย่อมมีสิทธิใช้สอยร่วมกัน ผู้ใดจะกีดกันหรือไม่ยินยอมให้ผู้อื่นใช้สอยไม่ได้เพราะไม่ใช่ทรัพย์ส่วนตัว ส่วนผู้ที่ใช้สอยไม่ว่าเป็นสาธารณประโยชน์ประเภทใดก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายทั่วไปและกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสาธารณประโยชน์นั้นเพื่อไม่ให้เป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่นและไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่สาธารณประโยชน์นั้นเช่นกัน ที่โจทก์อ้างว่า ชาวบ้านภายในหมู่บ้าน พ. จะไม่ยินยอมให้โจทก์ใช้ถนนภายในหมู่บ้านและการนำรถบรรทุกดินผ่านถนนในหมู่บ้านจะทำให้ถนนเสียหาย จึงไม่ใช่เหตุผลที่โจทก์จะนำมาอ้างว่าโจทก์ไม่สามารถใช้ทางสาธารณประโยชน์ภายในหมู่บ้านได้ เมื่อยังมีที่ดินโฉนดเลขที่ 41058 ที่โจทก์จะผ่านออกถึงทางสาธารณประโยชน์ได้และจะเกิดความเสียหายแก่ที่ดินที่ล้อมอยู่น้อยกว่าของจำเลยทั้งสี่ ทั้งไม่ได้ทำให้โจทก์สูญเสียความสะดวกหรือประโยชน์ใช้สอยที่พอสมควรแก่ความจำเป็นที่จะออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ได้แล้ว แต่โจทก์กลับมาขอผ่านในที่ดินของจำเลยทั้งสี่ซึ่งจะได้รับความเสียหายมากกว่าจึงเป็นกรณีเกินกว่าความจำเป็นของโจทก์ที่จะออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ จึงไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1349
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11428 - 11429/2556  ที่ดินเลขที่ดิน 106 และ 107 มีสิ่งปลูกสร้างเป็นอาคารบนที่ดินจนเต็มพื้นที่ โจทก์ทั้งสองไม่สามารถใช้เป็นทางเข้าออกได้ หากจะใช้ทางดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก ขณะที่ใช้ทางผ่านที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 กลับเป็นการสะดวกมากกว่า เพราะที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นที่ดินว่างเปล่า และมีระยะทางออกสู่ทางสาธารณะใกล้ที่สุด ทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่เสียหายน้อยที่สุด โจทก์ทั้งสองมีสิทธิเรียกร้องขอผ่านที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ และเนื่องจาก ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคท้าย บัญญัติให้ผู้มีสิทธิจะผ่านทางจำเป็นต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรกำหนดให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าทดแทนแก่จำเลยที่ 3 ในคราวเดียวกันกับจำเลยที่ 2 ด้วย แม้จำเลยที่ 3 จะไม่ได้ให้การและฟ้องแย้งในเรื่องค่าทดแทนไว้ก็ตาม มิฉะนั้นจำเลยที่ 3 ก็คงต้องไปฟ้องเป็นคดีใหม่ และโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 3 ก็จะต้องนำสืบถึงข้อเท็จจริงซ้ำในเรื่องที่เคยนำสืบมาแล้ว ซึ่งหาชอบด้วยความยุติธรรมไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2989/2552  ทางจำเป็นเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย ผู้มีสิทธิใช้ทางจำเป็นจึงต้องใช้โดยมีขอบเขตด้วยความระมัดระวัง โดยคำนึงถึงผลเสียหายอันเกิดขึ้นแก่ผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกบังคับใช้ทางจำเป็นด้วย เมื่อที่ดินของโจทก์เป็นที่ว่างเปล่ายังไม่ทำประโยชน์ใดๆ ส่วนที่ดินแปลงอื่นที่ล้อมอยู่โดยรอบมีสภาพเป็นทุ่งนา โจทก์ซื้อที่ดินมาตั้งแต่ปี 2517 ขณะนั้นยังไม่มีทางสาธารณะ โจทก์ย่อมรู้อยู่แล้วแต่ในขณะนั้นว่า ที่ดินที่โจทก์ซื้อไม่อาจใช้รถยนต์ผ่านเข้าออกได้ คงใช้ทางได้เฉพาะการเดินเข้าออกเท่านั้น เมื่อโจทก์ยอมรับสภาพการที่จะไม่ใช้รถยนต์เข้าออกในทางขณะที่ซื้อที่ดินมาแต่แรกเท่ากับโจทก์ยอมรับสภาพที่จะต้องจอดรถยนต์ไว้ในสถานที่อื่น โจทก์จึงไม่อาจอ้างได้ว่าเป็นทางจำเป็นเพื่อการใช้รถยนต์ ประกอบกับที่ดินของจำเลยมีเนื้อที่ประมาณ 3 งานเศษเท่านั้น หากเปิดทางกว้างถึง 2 วา หรือ 4 เมตร ตามที่โจทก์ขอย่อมเสียหายแก่จำเลยเกินสมควร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1997/2552  ที่ดินที่ ล. ยกให้จำเลยที่ 1 เป็นที่ดินที่อยู่บริเวณกลางที่ดินของ ล. ไม่ติดทางสาธารณประโยชน์ แต่เพื่อให้จำเลยที่ 1 มีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ได้ ล. จึงยกที่ดินทางด้านทิศใต้ที่เชื่อมติดทางสาธารณะให้จำเลยที่ 1 แสดงว่า ล. ประสงค์จะให้ใช้เป็นทางออกร่วมกัน การที่ที่ดินของโจทก์มีที่ดินของบุคคลอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณประโยชน์และโจทก์ขอทางจำเป็นผ่านที่ดินจำเลยที่ 1 จึงเป็นการขอผ่านที่ดินส่วนที่ใช้เป็นทางเข้าออกอยู่แล้วซึ่งเป็นเส้นทางที่เหมาะสมและสะดวก ทั้งก่อความเสียหายให้แก่ที่ดินที่ล้อมอยู่น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
          ภาระจำยอมหรือทางจำเป็น เป็นทรัพย์สิทธิที่ติดกับตัวทรัพย์ สามารถใช้ยันกับบุคคลภายนอกโดยทั่วไปได้ โจทก์จึงฟ้องบังคับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินกับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินจากจำเลยที่ 1 และกระทำละเมิดโดยเปิดทางจำเป็นของโจทก์ได้ แต่จำเลยที่ 4 ไม่ได้ความว่ากระทำการปิดกั้นทางของโจทก์ในนามส่วนตัวเกินอำนาจหน้าที่หรือกระทำการโดยขัดกับระเบียนหรือนอกขอบอำนาจของจำเลยที่ 3 การกระทำของจำเลยที่ 4 จึงเป็นการกระทำในนามจำเลยที่ 3 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 ให้เปิดทางภาระจำยอมหรือทางจำเป็นได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6229/2551 การอ้างสิทธิที่จะผ่านที่ดินของบุคคลอื่นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350 ที่ดินที่แบ่งแยกออกมานั้นจะต้องไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยทางอื่นได้ แม้ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 แบ่งแยกหรือแบ่งโอนมาจากที่ดินแปลงใหญ่โฉนดเลขที่ 81 ทำให้ที่ดินแปลงนี้ถูกที่ดินที่แบ่งแยกในคราวเดียวกันปิดล้อมไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ก็ตาม แต่ในเวลานั้น ฉ. ซึ่งเป็นเจ้าของผู้ได้รับที่ดินจากการแบ่งแยกยังเป็นเจ้าของที่ดินอีกแปลงหนึ่งซึ่งอยู่ติดกับที่ดินแปลงที่ได้รับการแบ่งแยกทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ คือที่ดินโฉนดเลขที่ 17419 (ก่อนการแบ่งแยกตามคำพิพากษาศาลฎีกา) และที่ดินโฉนดเลขที่ 17419 เดิมนั้นมีทางพิพาทกว้างประมาณ 10 เมตร เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะซึ่ง ฉ. สามารถใช้ทางพิพาทในที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะของที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 ได้ จึงถือได้ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 ที่แบ่งแยกออกมานั้นมีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยทางอื่นได้อยู่แล้ว สิทธิเรียกร้องเอาทางจำเป็นบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกมาในคราวเดียวกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350 ย่อมหมดไปตั้งแต่นั้นแล้ว แม้ต่อมาที่ดินโฉนดเลขที่ 17419 เดิมจะถูกบังคับให้แบ่งแยกและบังคับให้โอนขายแก่จำเลยตามคำพิพากษาของศาลฎีกา ทำให้ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 12253 ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะอีกครั้ง โจทก์ผู้เป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดเลขที่ 12253 ก็จะกลับไปใช้สิทธิเรียกร้องเอาทางจำเป็นบนที่ดินแปลงที่แบ่งแยกมาด้วยกันในครั้งก่อนตามมาตรา 1350 อีกไม่ได้ คงมีสิทธิที่จะผ่านที่ดินแปลงใดแปลงหนึ่งซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ในฐานะทางจำเป็นตามมาตรา 1349 เท่านั้น เมื่อโจทก์นำสืบฟังได้ว่า การใช้ทางพิพาทบนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 79060 ของจำเลยออกสู่ทางสาธารณะซึ่งโจทก์เคยใช้ผ่านมาก่อนมีระยะทางเพียง 50 เมตร แต่หากใช้เส้นทางอื่นผ่านที่ดินแปลงที่แบ่งแยกมาด้วยกันในครั้งก่อนเพื่อออกทางถนนราชมรรคาต้องใช้ระยะทางถึง 100 เมตรเศษ ซึ่งไกลกว่ากันถึงหนึ่งเท่าตัวเช่นนี้ทางพิพาทย่อมสะดวกและเหมาะสมที่จะเป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 ของโจทก์กว่าทางอื่น โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เปิดทางพิพาทในที่ดินโฉนดเลขที่ 79060 ของจำเลยเป็นทางจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 ของโจทก์ได้


          4. การได้มาและการสิ้นสุดของทางจำเป็น

          ด้วยเหตุที่ทางจำเป็นเกิดขึ้นโดยเป็นการได้สิทธิตามกฎหมาย ในเมื่อมีความจำเป็น ดังนั้น ถ้าหมดความจำเป็นไม่ถูกล้อมเมื่อใด เช่น ซื้อที่ดินติดต่อกับทางสาธารณะออกเองได้ ทางจำเป็นก็จะต้องสิ้นสุดไป ขอผ่านที่เขาอีกไม่ได้
          
          แม้ต่อมาที่ดินที่ใช้เป็นทางจำเป็นจะเปลี่ยนมือไปเป็นของคนอื่น หากยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ ทางจำเป็นก็ยังคงอยู่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7775/2552 โจทก์มีสิทธิใช้ทางเดินและทางรถยนต์ในที่ดินเป็นทางจำเป็นด้วยอำนาจแห่งกฎหมาย แม้มีการโอนที่ดินแปลงดังกล่าวไปเป็นของผู้อื่น โจทก์ก็ยังคงมีสิทธิใช้ทางจำเป็นในที่ดินดังกล่าวอยู่นั่นเอง จึงไม่จำเป็นต้องกำหนดให้จำเลยไปจดทะเบียนสิทธิทางจำเป็น



          5. ค่าทดแทน

          ในเรื่องการขอใช้ทางจำเป็น กฎหมายบังคับว่า ผู้มีสิทธิจะผ่านต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่             
          1. ค่าทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่มีทางผ่าน จะเสียหายมากหรือน้อยก็แล้วแต่ชนิดของทางที่ผ่าน เช่น จำต้องตัดต้นไม้บางต้นเพื่อให้ทำทางผ่านไปได้            
          2. ค่าทดแทนที่เป็นค่าใช้ที่ดินของเขาเป็นทาง การที่ต้องมีทางผ่านไปย่อมทำให้เจ้าของที่ดิน ไม่ได้ใช้ที่ดินตรงนั้นทำประโยชน์ได้ตามประสงค์ การใช้ค่าทดแทนในกรณีนี้คล้ายกับเป็นค่าเช่า จะตกลงกันเป็นรายปีหรือเป็นเงินก้อนก็ได้
          นอกจากทางจำเป็นจะมีขึ้นได้ดังได้กล่าวข้างต้นแล้ว ในมาตรา 1350 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ยังได้บัญญัติว่า ถ้าที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่ง ไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกัน และไม่ต้องเสียค่าทดแทน” ดังนั้น กรณีที่มีการแบ่งแยกที่ดินแล้วทำให้ที่ดินที่แบ่งแยกออกมาแปลงหนึ่งแปลงใดไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นก็สามารถเรียกร้องเอาทางผ่านจากที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยก โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทน
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การกำหนดค่าทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคท้าย นั้น เป็นการกำหนดค่าทดแทนเพื่อความเสียหายแก่ที่ดินที่ตกเป็นทางจำเป็น ไม่ได้กำหนดจากการที่จำเลยใช้ทางจำเป็นแล้วจะทำให้ที่ดินของจำเลยมีราคาสูงเพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไรเพราะมิใช่ความเสียหายที่โจทก์ได้รับ ฉะนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์สำหรับการรื้อถอนรั้วคอนกรีตบางส่วนบนที่ดินโฉนดเลขที่ 47798 และค่าทดแทนสำหรับการใช้ถนนบนที่ดินโฉนดเลขที่ 302 และ 295 เป็นเงินรวม 100,000 บาทนับว่าเป็นประโยชน์แก่โจทก์มากแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น          
          
          การกำหนดค่าทดแทนเพื่อความเสียหายแก่ที่ดินที่ตกเป็นทางจำเป็น ไม่ได้กำหนดจากการที่ใช้ทางจำเป็นแล้วจะทำให้ที่ดินของผู้ได้สิทธิใช้ทางจำเป็นมีราคาสูงเพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไร 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4727/2555  การกำหนดค่าทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคท้าย เป็นการกำหนดค่าทดแทนเพื่อความเสียหายแก่ที่ดินที่ตกเป็นทางจำเป็น ไม่ได้กำหนดจากการที่ใช้ทางจำเป็นแล้วจะทำให้ที่ดินของผู้ได้สิทธิใช้ทางจำเป็นมีราคาสูงเพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไร เพราะไม่ใช่ความเสียหายที่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่ได้รับ



          6. ข้อแตกต่างระหว่างทางจำเป็นกับภาระจำยอม

            1. ทางจำเป็นจะต้องเป็นการขอผ่านไปสู่ทางสาธารณะเท่านั้น ส่วนทางภาระจำยอมไม่จำเป็นต้องเป็นการผ่านไปสู่ทางสาธารณะ จะผ่านไปสู่ที่ใดก็ได้
            2. ทางจำเป็นจะเกิดขึ้นได้จะต้องเป็นกรณีที่ที่ดินถูกล้อมอยู่จนออกสู่ทางสาธารณะไม่ได้  ถือเป็นการได้สิทธิโดยกฎหมาย แต่การขอใช้ทางภาระจำยอมไม่จำเป็นจะต้องเป็นที่ดินที่ถูกล้อมจนออกสู่ทางสาธารณะไม่ได้ แม้ที่ดินไม่ถูกล้อมก็สามารถขอใช้ทางภาระจำยอมได้ โดยอาจได้สิทธิภาระจำยอมโดยนิติกรรมหรือโดยอายุความ
            3. ผู้ขอใช้ทางจำเป็นจะต้องเสียค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่ แต่ทางภาระจำยอมโดยนิติกรรม กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเสียค่าทดแทนจึงแล้วแต่จะตกลงกันว่าจะมีการเสียค่าทดแทนหรือไม่
            4. ทางจำเป็นเป็นการได้สิทธิตามกฎหมาย การได้สิทธิไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ส่วนภาระจำยอมที่ได้มาโดยนิติกรรมต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 1299 วรรค 1 มิฉะนั้นไม่บริบูรณ์




          7. การจดทะเบียน “สิทธิทางจำเป็น”

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติเรื่องทางจำเป็นไว้ในมาตรา 1349 ว่า "ที่ดินแปลงใดมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้"
          ทางจำเป็นเป็นการได้สิทธิโดยอำนาจของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 โดยไม่ต้องจดทะเบียน (คำพิพากษาฎีกาที่ 3774/2549) แต่อย่างไรก็ตาม กรมที่ดินได้เคยพิจารณาตอบข้อหารือว่า ให้พนักงานเจ้าหน้าที่รับจดทะเบียนในประเภท “สิทธิทางจำเป็น” โดยอนุโลมปฏิบัติตามแนวทางการจดทะเบียนประเภทภาระจำยอม



            โดยที่ทางจำเป็นเป็นเรื่องการได้สิทธิโดยกฎหมาย ดังนั้น การได้มาซึ่งทางจำเป็นจึงไม่ต้องจดทะเบียนแต่ประการใด แต่ผู้ขอใช้ทางจำเป็นต้องใช้ค่าทดแทนอันเนื่องมาจากความเสียหายที่เกิดจากการใช้ทางจำเป็นนั้นให้แก่เจ้าของที่ดินที่ถูกใช้ทาง อย่างไรก็ตาม กฎหมายก็ไม่ได้ห้ามเจ้าของที่ดินที่จะตกลงให้จดทะเบียนเป็นทางภาระจำยอม อาจมีการตกลงกันให้จดทะเบียนเป็นทางภาระจำยอมก็ได้ ทางจำเป็นนั้นก็กลายเป็นทางภาระจำยอมได้ อย่างไรก็ตาม ก็เคยปรากฏว่าได้มีคำพิพากษาของศาลให้จดทะเบียนทางจำเป็น ในกรณีนี้ การจดทะเบียนสิทธิทางจำเป็นก็จะดำเนินการโดยอนุโลมปฏิบัติเช่นเดียวกับการจดทะเบียนภาระจำยอม