21 ส.ค. 2559

ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์

          ประมวลกฎหมายอาญา

          มาตรา 358  "ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          มาตรา 359  "ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 358 ได้กระทำต่อ
          (1) เครื่องกลหรือเครื่องจักรที่ใช้ในการประกอบกสิกรรมหรืออุตสาหกรรม
          (2) ปศุสัตว์
          (3) ยวดยานหรือสัตว์พาหนะ ที่ใช้ในการขนส่งสาธารณ หรือในการประกอบกสิกรรม หรืออุตสาหกรรม หรือ
          (4) พืชหรือพืชผลของกสิกร
          ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          มาตรา 360  "ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          มาตรา 360 ทวิ   "ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ วรรคหนึ่ง ที่ประดิษฐานอยู่ในสถานที่ตามมาตรา 335 ทวิ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          มาตรา 361  "ความผิดตามมาตรา 358 และมาตรา 359 เป็นความผิดอันยอมความได้"

          องค์ประกอบความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ มาตรา 358
          1.ผู้ใด
          2.ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์
          3.ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
          4.เจตนา (องค์ประกอบภายใน)

          ส่วนของการกระทำคือ 
          1.ทำให้เสียหาย หมายถึง ทำให้ทรัพย์ชำรุด บุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์เปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวลง
          2.ทำลาย คือ การทำให้ทรัพย์สิ้นสภาพไปเลย
          3.ทำให้เสื่อมค่า คือ การทำให้ทรัพย์ราคาลดลง
          4.ทำให้ไร้ประโยชน์ คือ ทำให้ทรัพย์นั้นหมดประโยชน์ไป แม้เพียงชั่วคราวก็ตาม



          มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ เช่น

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 361/2518  จำเลยล้อมรั้วที่ดินตาม น.ส.3 ของจำเลยรุกล้ำเข้าห้วยสาธารณะกั้นเอาบ่อน้ำสาธารณะมาเป็นของตน ทำให้ประชาชนเข้าไปใช้น้ำในบ่อไม่ได้ โดยมีเจตนาจะเอาบ่อน้ำนั้นไว้ใช้เป็นส่วนตัว มิได้มุ่งหมายหรือมีเจตนาโดยตรงที่จะทำให้บ่อน้ำนั้นเสียหายหรือไร้ประโยชน์และบ่อน้ำคงมีสภาพเป็นบ่อน้ำอยู่ตามเดิม ไม่ได้ถูกทำให้ไร้ประโยชน์ไปอย่างใด ดังนี้การล้อมรั้วกั้นเอาบ่อน้ำไว้จึงเป็นการห่างไกลเกินความประสงค์ของจำเลยในเรื่องทำให้บ่อน้ำนั้นเสียหายหรือ ไร้ประโยชน์ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8140/2541  จำเลยบุกรุกยึดถือครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์และได้แผ้วถางที่ดินดังกล่าวใช้ทำไร่ ทำให้บุคคลอื่นทั่วไปไม่สามารถใช้ประโยชน์จากหนองคำปลาหลาอันเป็นสาธารณประโยชน์ในส่วนที่จำเลยบุกรุกยึดถือครอบครอง เป็นการทำให้หนองสาธารณะนั้นไร้ประโยชน์แม้เป็นเพียงบางส่วน การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อ สาธารณประโยชน์แล้ว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3314/2545   การที่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองคลองควายซึ่งเป็นคลองสาธารณะโดยใช้เสาคอนกรีตปักปิดขวางช่วงปากคลอง ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถใช้ประโยชน์สัญจรผ่านไปมาในคลองเพื่อออกสู่แม่น้ำได้นั้น การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน และฐานทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ตาม ป.อ. มาตรา 360 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จึงไม่อาจอาศัยบทเบาตาม ป. ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสอง มาบังคับให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินซึ่งจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองตามที่โจทก์ขอได้
          ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยและนาย บ. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 9363 เลขที่ดิน 30 ตำบลลานตากฟ้า อำเภอเมืองนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม หลักฐานตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล. 13 ระบุว่าทิศเหนือจดลำกระโดงสาธารณประโยชน์ ทิศใต้จดทางสาธารณประโยชน์ ทิศตะวันออกจดที่ดินเลขที่ 28 ทิศตะวันตกจดแม่น้ำนครชัยศรี ระหว่างวันที่ 5 มกราคม 2538 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 21 เมษายน 2538 เวลากลางวัน จำเลยได้ปักเสาคอนกรีตจำนวน 6 ต้น ปิดขวางลำคลองควาย ซึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้ของที่ดินจำเลยกับนายบุญมีจุดแรก 3 ต้น จุดที่สองห่างจากจุดแรกยาวตามลำคลองประมาณ 75.30 เมตร อีก 3 ต้น ทำให้ประชาชนไม่สามารถสัญจรไปมาในคลองควายเพื่อออกสู่แม่น้ำนครชัยศรีได้ คดีมีปัญหาว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่… พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีเหตุผลและน้ำหนักรับฟังได้ว่าคลองควายซึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้ของที่ดินจำเลยมีสภาพเป็นคลองสาธารณะ เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน เมื่อจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครอง โดยใช้เสาคอนกรีตปักปิดขวางช่วงปากคลอง 3 ต้น และถัดต่อจากปากคลองอีก 3 ต้น ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถใช้ประโยชน์สัญจรผ่านไปมาในคลองเพื่อออกสู่แม่น้ำนครชัยศรีได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง พยานหลักฐานจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ อย่างไรก็ตามการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยึดถือครอบครองคลองควายที่ดินของรัฐ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน และฐานทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้และมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อลงโทษฐานทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้และมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดแล้วจึงไม่อาจอาศัยบทเบาตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสอง มาบังคับให้จำเลยและบริวารออกจากที่คลองควายซึ่งจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองตามที่โจทก์ขอได้ เพราะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ไม่ได้บัญญัติข้อบังคับดังกล่าวไว้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1111/2504   ทำลายทรัพย์ของผู้อื่นซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินที่ผู้นั้นอพยพย้ายออกไปจากที่ดินนั้นแล้ว ไม่ว่าที่ดินนั้นจะเป็นที่สาธารณะหรือของบุคคลใดก็ดี ถึงแม้ผู้เสียหายจะรื้อกระท่อมไปแล้วก็ดี แต่ทรัพย์เหล่านั้นผู้เสียหายก็ยังกล่าวฝากเพื่อนบ้านให้ดูแลไว้ แสดงว่ายังหวงแหนเป็นของตนอยู่ และการทำลายทรัพย์ผู้อื่นนี้ เมื่อเห็นผลอยู่แล้วว่าทำให้ทรัพย์ของเขาเสียหายก็พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำโดยแกล้งหรือทำให้เสียหายถึงขนาด ก็ย่อมมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์แล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 705/2507   ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 นั้น ผู้กระทำจะต้องมีเจตนากระทำเพื่อให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย จึงจะเป็นผิด เพราะฉะนั้น การที่จำเลยเพียงแต่ถอนเสารั้วของโจทก์แล้วเอาไปกองไว้ เพื่อใช้ทางเดินตามที่เคยใช้เท่านั้น มิได้มีเจตนากระทำเพื่อให้ทรัพย์ของโจทก์เสียหายอย่างใด จึงยังไม่ผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 14/2507)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1355/2508   ต้นพลูเป็นต้นไม้ยืนต้น จึงเป็นส่วนควบของที่ดิน  โจทก์เป็นผู้ปลูกต้นพลู แต่ต้นพลูได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่โจทก์ปลูกต้นพลูเสียแล้ว แม้จำเลยจะร่วมกันตัดต้นพลู ก็ย่อมไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง
          ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินแปลงที่โจทก์ปลูกต้นพลูนี้ ขณะเกิดเหตุกรรมสิทธิ์ตกเป็นของจำเลยที่ 4 แล้ว ต้นพลูตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 108 ถือเป็นไม้ยืนต้น จึงเป็นส่วนควบของที่ดิน เมื่อกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นของจำเลยที่ 4 โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ต้นพลูก็ตกเป็นของจำเลยที่ 4 ฉะนั้น หากจะรับฟังดังพยานโจทก์ว่าจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 1, 2, 3 สับฟันขุดถอนต้นพลูรายพิพาทไป ก็ย่อมไม่มีผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ เพราะจำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของต้นพลู โจทก์แม้จะเป็นผู้ปลูกต้นพลู แต่ต้นพลูได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๔ เจ้าของที่ดินซึ่งปลูกต้นพลูเสียแล้ว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 ดังโจทก์ฟ้อง 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 331/2527   โจทก์จำเลยต่างโต้เถียงกรรมสิทธิ์นาพิพาทกันอยู่  เมื่อโจทก์ปลูกต้นข้าวในนาพิพาท จำเลยเสียหายอย่างไรชอบที่จะฟ้องร้องว่ากล่าวกัน  การที่จำเลยกลับเข้าไถนาพิพาทเป็นเหตุให้ข้าวที่โจทก์ปลูกไว้ก่อนเสียหาย  การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ และต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1155/2520  การที่จำเลยถ่อเรือเข้าไปตัดใบบัวในหนองสาธารณะซึ่งผู้เสียหายปลูกต้นข้าวไว้โดยต้นข้าวขึ้นปะปนอยู่กับกอบัว จนเป็นเหตุให้ต้นข้าวเน่าตายไปจำนวนหนึ่ง  เช่นนี้จำเลยย่อมเล็งเห็นอยู่ว่าการถ่อเรือเข้าไปในป่าข้าวทำความเสียหายแก่ต้นข้าวได้  การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเจตนาทำให้เสียทรัพย์
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า  แม้ผู้เสียหายจะอ้างสิทธิครอบครองในหนองสาธารณะที่ปลูกข้าวไว้ไม่ได้  และจำเลยมีสิทธิใช้ประโยชน์ในหนองนี้เท่าเทียมกับผู้เสียหายก็จริง  แต่จำเลยก็ไม่มีสิทธิที่จะไปทำให้ต้นข้าวที่ผู้เสียหายปลูกไว้เสียหาย ตามทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยทราบอยู่ว่าผู้เสียหายซึ่งอยู่บ้านใกล้ ๆ กับจำเลยได้ปลูกข้าวไว้ที่นั่น และเมื่อจำเลยนำเรือเข้าไปตัดใบบัวก็ต้องเห็นต้นข้าวขึ้นปะปนอยู่กับกอบัว  จำเลยย่อมเล็งเห็นอยู่ว่าการถ่อเรือเข้าไปในป่าข้าวทำความเสียหายแก่ต้นข้าว  จึงถือว่าเป็นการกระทำโดยเจตนาของจำเลย  ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสองแล้ว


          ผู้กระทำต้องกระทำโดยมีเจตนาจึงจะเป็นความผิด คือ เจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผล ตามมาตรา 59
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 963/2502   จำเลยเป็นนายอำเภอ สั่งให้คนปลดเชือกผูกป้ายผ้าโฆษณาหาเสียงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งแขวนไว้ที่ทางเดินขึ้นจากท่าเรือจ้างหน้าที่ว่าการอำเภอ ให้พ้นการขีดขวางทางเดิน ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ดูแลรักษาท่าเรือจ้างนั้น ต่อมาผ้าป้ายนั้นได้หายไป โดยไม่ได้เกิดจากการกระทำของจำเลยโดยตรง  จำเลยมิได้มีเจตนาจะทำให้เสียทรัพย์ จำเลยยังไม่มีผิดฐานทำให้เสียทรัพย์และฐานใช้อำนาจและตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วย

          แต่ถ้าผู้กระทำมีอำนาจตามกฎหมายที่จะทำให้ทรัพย์นั้นเสียหายได้ การกระทำนั้นก็ไม่เป็นความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1097/2507  เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของอาคารรื้อถอนอาคารที่นายช่างตรวจพบว่าไม่มั่นคงแข็งแรงหรือไม่ปลอดภัยได้ หากเจ้าของอาคารไม่ปฏิบัติตามหรือไม่อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์เกี่ยวแก่การก่อสร้างอาคารภายใน 15 วัน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นก็มีอำนาจรื้อถอนอาคารนั้นได้ ตามพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2478 มาตรา 11 ทวิ วรรค 3 การที่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นรื้อถอนอาคาร จึงเป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่โดยชอบ ไม่มีมูลเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ 
          ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 นั้น หมายถึงการกระทำแก่ตัวทรัพย์ให้เสียหายฯ เช่น รื้อถอนตึกแถวลง ย่อมเป็นการการกระทำแก่ตัวทรัพย์ ทำให้ตึกแถวถูกทำลายเสียหาย แต่เมื่อรื้อแล้ว ไม่นำวัตถุก่อสร้างไปมอบเจ้าของจนวัตก่อสร้างสูญหายไปนั้น หาใช่เป็นการกระทำแก่ตัวทรัพย์ไม่ จึงไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2207/2524   จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินย่อมมีสิทธิเหนือพื้นดินโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะสร้างรางน้ำรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยและจำเลยมีสิทธิขัดขวางมิให้โจทก์สอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของตนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น การที่จำเลยรื้อรางน้ำดังกล่าวโดยเชื่อว่าได้รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของจำเลย จึงเป็นการใช้สิทธิในที่ดินตามสมควรแก่การสร้างตึกแถวของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 2762/2523)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1846/2500   ในทางแพ่ง    ถ้าจำเลยได้บอกกล่าวโจทก์เสียก่อนและให้เวลาพอสมควรแล้ว  จำเลยก็อาจตัดกิ่งไม้ของโจทก์ที่ยื่นล้ำที่ของจำเลยเข้าไปนั้นได้  ส่วนในทางอาญา  ต้องพิจารณาเจตนาของจำเลยเป็นเรื่องๆไป ถ้าตามพฤติการณ์ที่ปรากฎเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยไม่มีเจตนาทำผิดทางอาญา แม้จำเลยไม่ได้บอกกล่าวโจทก์เสียก่อน จำเลยก็ตัดกิ่งไม้ที่ยื่นรุกล้ำเข้ามาในที่ของตนได้ เพราะเป็นเรื่องที่จำเลยเพียงแต่กระทำการป้องกันกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของตนตามที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้โดยทั่วๆไป หากแต่จำเลยมิได้ปฏิบัติการให้ครบถ้วนตามวิธีการที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1347  เท่านั้น (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5/2501)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6344/2531  นายอำเภอขอความร่วมมือจากประชาชนให้ร่วมกันพัฒนาบริเวณที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ได้ตัดฟันต้นไม้ของโจทก์ในบริเวณนั้นโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของโจทก์ทั้งจำเลยที่ 2 เคยตัดฟันต้นไม้ของโจทก์มาก่อนจนถูกฟ้องมาแล้วครั้งหนึ่ง แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาทำให้ทรัพย์ของโจทก์เสียหาย การที่นายอำเภอขอความร่วมมือดังกล่าว เป็นแต่เพียงคำแนะนำ จำเลยที่ 2 จะกระทำหรือไม่กระทำตามก็ได้ มิได้มีลักษณะเป็นคำสั่งตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 70 อันจะทำให้จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับโทษ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6666/2542   จำเลยมีเจตนาจะทำลายรั้วไม้ไผ่ที่ปักติดเป็นแผงของผู้เสียหายโดยนำไปเผาให้ใช้การไม่ได้เท่านั้น การที่จำเลยดึงรั้วไม้ไผ่ของผู้เสียหายจำนวน2 แผง แล้วนำไปเผาทำลายใกล้บริเวณรั้วนั้น จำเลยจึงมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 358 เพียงบทเดียว มิใช่กระทำผิดหลายบท การเผาแผงไม้ไผ่เป็นการทำลายทรัพย์ของผู้เสียหายให้เสียหาย มิใช่จำเลยวางเพลิงเผารั้วบ้านของผู้เสียหายในขณะที่มีสภาพเป็นรั้วบ้านกั้นขอบเขตเป็นที่อยู่อาศัย จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 217 อีกกระทงหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6303/2539  โจทก์และจำเลยโต้เถียงการครอบครองที่พิพาทอยู่ การที่จำเลยเข้าไปปักเสาสร้างรั้วในที่พิพาทจึงเป็นการเข้าใจโดยสุจริตว่า ที่พิพาทเป็นของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานบุกรุก 
          ต้นไผ่ที่จำเลยเข้าไปตัดฟันปลูกอยู่ในที่พิพาท แม้โจทก์เป็นผู้ปลูกแต่ต้นไผ่เป็นไม้ยืนต้นจึงเป็นส่วนควบของที่พิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่งและตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่พิพาทซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์ประธานตาม ป.พ.พ.มาตรา 144 วรรคสอง เมื่อโจทก์และจำเลยยังโต้เถียงสิทธิครอบครองในที่พิพาทกันอยู่เท่ากับว่าโจทก์และจำเลยยังโต้เถียงกรรมสิทธิ์ของต้นไผ่ซึ่งปลูกอยู่ในที่พิพาทการที่จำเลยเข้าไปตัดฟันต้นไผ่ พฤติการณ์จึงมีเหตุอันสมควรให้จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าต้นไผ่ดังกล่าวเป็นของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์