มีคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ เช่น
ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้รู้ข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องอ้างว่าผู้ร้องซึ่งเป็นคู่สมรสไม่รู้เห็นยินยอมในการที่จำเลยนำที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องและจำเลยไปจำนองไว้กับโจทก์แต่อย่างใด เมื่อที่ดินพิพาทมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวต้องถือว่าโจทก์รับจำนองไว้โดยสุจริต การจำนองจึงสมบูรณ์มีผลผูกพันทรัพย์จำนองทั้งหมดทุกส่วน เมื่อโจทก์ฟ้องบังคับจำนองและศาลพิพากษาให้บังคับตามสัญญาจำนองแล้วเช่นนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาได้ ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้กับส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินรายนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7608/2553 ทางนำสืบของผู้ร้องไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้รู้ข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องอ้างว่าผู้ร้องไม่รู้เห็นยินยอมในการที่จำเลยนำที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องและจำเลยไปจำนองไว้กับโจทก์แต่อย่างใด เมื่อที่ดินพิพาทมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวต้องถือว่าโจทก์รับจำนองไว้โดยสุจริต การจำนองจึงสมบูรณ์มีผลผูกพันทรัพย์จำนองทั้งหมดทุกส่วน เมื่อโจทก์ฟ้องบังคับจำนองและศาลพิพากษาให้บังคับตามสัญญาจำนองแล้วเช่นนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาได้ ส่วนการที่จำเลยนำทรัพย์ส่วนของผู้ร้องเข้าร่วมจำนองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ร้องนั้น หากเป็นเหตุให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายอย่างไร ผู้ร้องก็ชอบที่จะไปว่ากล่าวเอาแก่จำเลยเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก จะมาร้องขอกันส่วนให้การบังคับคดีมีผลผิดไปจากคำพิพากษาหาได้ไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ร้องกับจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยจำนองไว้กับโจทก์และโจทก์ดำเนินการบังคับคดีนำยึดในคดีนี้เป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องและจำเลยได้มาระหว่างสมรส โดยมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิขอกันส่วนทรัพย์จำนองที่โจทก์นำยึดดังกล่าวหรือไม่ ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้ร้องยอมให้ใส่ชื่อจำเลยเป็นเจ้าของเพียงผู้เดียวในที่ดินพิพาทเพราะไว้ใจจำเลยเนื่องจากเป็นสามีภริยากัน แต่ผู้ร้องไม่รู้เห็นยินยอมในการที่จำเลยนำที่ดินพิพาทไปจำนองไว้กับโจทก์นั้น เห็นว่า ทางนำสืบของผู้ร้องไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รู้ข้อเท็จจริงดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้างแต่อย่างใด เมื่อที่ดินพิพาทมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวต้องถือว่าโจทก์รับจำนองไว้โดยสุจริต การจำนองจึงสมบูรณ์มีผลผูกพันทรัพย์จำนองทั้งหมดทุกส่วน เมื่อโจทก์ฟ้องบังคับจำนองและศาลพิพากษาให้บังคับตามสัญญาจำนองแล้วเช่นนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาได้ ส่วนการที่จำเลยนำทรัพย์ส่วนของผู้ร้องเข้าร่วมจำนองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ร้องนั้น หากเป็นเหตุให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายอย่างไร ผู้ร้องก็ชอบที่จะไปว่ากล่าวเอาแก่จำเลยเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก จะมาร้องขอกันส่วนให้การบังคับคดีมีผลผิดไปจากคำพิพากษาหาได้ไม่ ฎีกาข้ออื่นของผู้ร้องไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4803/2553 ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นสินสมรสของจำเลยที่ 1 กับผู้ร้อง เมื่อบุคคลทั้งสองจดทะเบียนหย่ากันสินสมรสต้องแบ่งให้แก่จำเลยที่ 1 กับผู้ร้องคนละส่วนเท่ากัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1533 จำเลยที่ 1 และผู้ร้องจดทะเบียนหย่ากันโดยจำเลยที่ 1 ทำบันทึกยกสินสมรสส่วนของตนให้แก่ผู้ร้องแต่มิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ นิติกรรมให้จึงไม่สมบูรณ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 จำเลยที่ 1 กับผู้ร้องยังคงเป็นเจ้าของรวมมีส่วนเท่าๆ กัน
นับแต่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินสินสมรสเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2517 แก่ ส. ซึ่งขณะนั้นจำเลยที่ 1 กับผู้ร้องยังมิได้จดทะเบียนหย่ากัน ก็ได้มีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและจดทะเบียนจำนองแก่นิติบุคคลอื่นอีกหลายรายต่อเนื่องกันมาโดยตลอดจนถึงโจทก์ซึ่งจดทะเบียนรับจำนองครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2536 เป็นระยะเวลายาวนานถึง 19 ปีเศษ ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้ใช้สิทธิโต้แย้งการทำนิติกรรมจำนองของจำเลยที่ 1 จึงมีเหตุผลให้น่าเชื่อว่าผู้ร้องได้รับรู้และไม่คัดค้าน เมื่อผู้ร้องมิได้นำสืบให้รับฟังได้ว่าโจทก์จดทะเบียนรับจำนองโดยรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่จำนองแต่ผู้เดียว ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่าโจทก์รับจำนองโดยสุจริต นิติกรรมจำนองทรัพย์สินดังกล่าวจึงมีผลบริบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จำนองย่อมมีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินที่จำนองได้ทั้งหมดเพราะสิทธิจำนองครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจำนองหมดทุกสิ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 716 และเป็นทรัพยสิทธิใช้ยันแก่ผู้ร้องและบุคคลทั่วไป อีกทั้งถือได้ว่าการยื่นคำร้องขอกันส่วนของผู้ร้องเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอกันเงินสินสมรสส่วนของตนจากการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาท
ผู้ร้องรู้เห็นในการที่ภริยากู้ยืมเงินจากโจทก์หนี้รายนี้จึงเป็นหนี้ร่วมระหว่างผู้ร้องกับภริยาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4) ผู้ร้องจะต้องร่วมรับผิดกับภริยาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินซึ่งเป็นสินสมรสได้ทั้งหมด ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้กับส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินรายนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6686/2552 ผู้ร้องเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของ ส. การที่ ส. กู้ยืมเงินโจทก์เป็นจำนวนมาก น่าเชื่อว่านำเงินมาใช้จ่ายในครอบครัวและให้การศึกษาบุตร ทั้งยังต้องใช้เงินรักษาตัวเป็นจำนวนมาก อีกทั้ง ส. นำโฉนดที่ดินไปวางเป็นประกันเงินกู้ให้แก่โจทก์ ผู้ร้องน่าจะทราบดีเพราะผู้ร้องยืนยันว่า ส. ไม่เคยหยิบโฉนดที่ดินโดยไม่บอกกล่าวผู้ร้องก่อน ทั้งผู้ร้องยังเบิกความยอมรับว่า ภายหลังได้รับหนังสือทวงถามหนี้ ผู้ร้องเคยไปพบโจทก์รวม 2 ครั้ง คดีรับฟังได้ว่า ผู้ร้องรู้เห็นในการที่ ส. กู้ยืมเงินจากโจทก์หนี้รายนี้จึงเป็นหนี้ร่วมระหว่างผู้ร้องกับ ส. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4) ผู้ร้องจะต้องร่วมรับผิดกับ ส. ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินซึ่งเป็นสินสมรสได้ทั้งหมด ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้กับส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินรายนี้
ในกรณีจำนองที่ดินเฉพาะส่วนของเจ้าของรวมบางคน แต่ขณะจำนองที่ดินยังไม่มีการแบ่งแยก ถือว่าการจำนองที่ดินพิพาทจึงยังคงครอบไปถึงส่วนเหล่านั้นหมดทุกส่วนด้วยกันอยู่นั่นเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 717 วรรคหนึ่ง หากต่อมาภายหลังจำนองมีการตกลงแบ่งแยกที่ดินเป็นสัดส่วนก็จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้รับจำนองด้วย มิฉะนั้น การแบ่งแยกการครอบครองที่ดินย่อมไม่มีผลผูกพันผู้รับจำนองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเพราะไม่ได้ตกลงยินยอมด้วย เมื่อมีการบังคับจำนอง เจ้าของรวมคนอื่นจึงไม่มีสิทธิขอกันที่ดินเฉพาะส่วนของตนออกจากที่ดินพิพาทก่อนขายทอดตลาด แต่ขอกันส่วนได้เฉพาะเงินที่ได้จากการขายทอดตลาด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4805-4806/2552 ในขณะที่จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนเป็นประกันเงินกู้ไว้แก่โจทก์ ผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทยังมิได้แบ่งแยกการครอบครองที่ดินกันเป็นส่วนสัด กรณีต้องถือว่าผู้ร้องทั้งสอง จำเลย และผู้ถือกรรมสิทธ์รวมคนอื่นได้ร่วมกันครอบครองที่ดินพิพาททุกส่วนทั้งแปลง แม้ภายหลังผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมจะได้ตกลงแบ่งแยกการครอบครองที่ดินพิพาทกันเป็นส่วนสัดแล้วตาม ก็เป็นเพียงข้อตกลงภายในระหว่างผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมด้วยกันเอง โดยโจทก์มิได้ตกลงด้วยจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก การจำนองที่ดินพิพาทจึงยังคงครอบไปถึงส่วนเหล่านั้นหมดทุกส่วนด้วยกันอยู่นั่นเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 717 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิยึดที่ดินพิพาททั้งแปลงออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ ผู้ร้องทั้งสองไม่มีสิทธิขอกันที่ดินเฉพาะส่วนของตนออกจากที่ดินพิพาทก่อนขายทอดตลาด
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ผู้ร้องทั้งสอง จำเลย ต. ม. ช. และ ก. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 3034 ตำบลบางบ่อ อำเภอบางบ่อ (บางเหี้ย) จังหวัดสมุทรปราการ ต่อมาวันที่ 29 กันยายน 2535 จำเลย จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนประกันหนี้เงินกู้ไว้แก่โจทก์ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ชำระ โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพิพาทั้งแปลงออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษามีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ผู้ร้องทั้งสองมีสิทธิขอกันส่วนที่ดินเฉพาะส่วนของตนออกจากที่ดินพิพาทก่อนขายทอดตลาดหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าในขณะที่จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่โจทก์ ผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทยังมิได้แบ่งแยกการครอบครองที่ดินกันเป็นส่วนสัด โจทก์จึงมีสิทธิยึดที่ดินพิพาททั้งแปลงออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ได้ เห็นว่า ในข้อนี้ผู้ร้องทั้งสองอ้างว่าผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทได้แบ่งแยกการครอบครองที่ดินกันเป็นส่วนสัดแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิยึดที่ดินพิพาทแปลงออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ ผู้ร้องทั้งสองจึงต้องมีภาระการพิสูจน์ให้เห็นว่าผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทได้ตกลงแบ่งแยกการครอบครองที่ดินกันเป็นส่วนสัดก่อนที่โจทก์จะรับจำนองที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลย แต่ข้อเท็จจริงกลับได้ความตามคำเบิกความของ ว. ผู้รับมอบอำนาจของผู้ร้องทั้งสองและ พ. พยานผู้ร้องทั้งสองซึ่งรับราชการในตำแหน่งนักวิชาการที่ดิน 6ว. สำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการสาขาบางพลี ว่า ผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทได้ร่วมกันยื่นคำขอเพื่อรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2538 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์รับจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยแล้วเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2535 ถึง 3 ปีเศษ และในครั้งแรกเอกสารของผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมบางคนไม่ครบจึงยังไม่สามารถแบ่งแยกได้ต่อมาทำการรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมใหม่ โดยมีข้อตกลงให้แบ่งที่ดินออกเป็นทางสาธารณประโยชน์ 1 แปลง เป็นคลองชลประทาน 1 แปลง และแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม 7 แปลง โดยมีเนื้อที่และตำแหน่งตามบันทึกถ้อยคำ ผู้ร้องที่ 1 จึงมีหนังสือแจ้งว่าให้ผู้ร้องที่ 1 ดำเนินการแจ้งไปยังผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมเพื่อทำการแบ่งแยกต่อไป ต่อมาวันที่ 2 ตุลาคม 2540 เจ้าพนักงานที่ดินได้รังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมและจัดทำโฉนดที่ดินแล้ว โดยผู้ร้องทั้งสองได้รับแบ่งคนละ 2 ไร่ 3 งาน 54 ตารางวา แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม จะเห็นได้ว่า การนำสืบพยานหลักฐานของผู้ร้องทั้งสองไม่ว่าจะเป็นการนำสืบถึงเรื่องการยื่นคำขอเพื่อรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมหรือข้อตกลงเกี่ยวกับการแบ่งแยกการครอบครองที่ดินพิพาทกันเป็นส่วนสัดระหว่างผู้ถูกกรรมสิทธิ์รวม ล้วนแต่เป็นข้อเท็จจริงซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากที่โจทก์รับจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยแล้วทั้งสิ้น โดยผู้ร้องมิได้นำสืบให้เห็นถึงข้อตกลงระหว่างผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมเกี่ยวกับการแบ่งแยกการครอบครองที่ดินพิพาทกันเป็นส่วนสัดก่อนที่โจทก์รับจำนองที่ดินพิพาทไว้จากจำเลย ส่วนหนังสือสัญญาจำนองที่ดินพิพาท แม้จะมีข้อความระบุว่าจำเลยตกลงจำนองที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนกรรมสิทธิ์ของตนแก่โจทก์ก็ตาม แต่ก็มิได้ระบุว่ามีการแบ่งแยกที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยกับผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมคนอื่นว่ามีอาณาเขตอย่างไร อันจะพอถือได้ว่ามีการตกลงแบ่งแยกการครอบครองที่ดินพิพาทกันเป็นส่วนสัดแล้ว ก่อนที่โจทก์รับจำนองที่ดินพิพาทไว้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ในขณะที่จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนเป็นประกันเงินกู้ไว้แก่โจทก์ ผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทยังมิได้แบ่งแยกการครอบครองที่ดินกันเป็นส่วนสัดกรณีต้องถือว่าผู้ร้องทั้งสอง จำเลย และผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมคนอื่นได้ร่วมกันครอบครองที่ดินพิพาททุกส่วนทั้งแปลง แม้ภายหลังผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมจะได้ตกลงแบ่งแยกการครอบครองที่ดินพิพาทกันเป็นส่วนสัดแล้วก็ตาม ก็เป็นเพียงข้อตกลงภายในระหว่างผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมด้วยกันเอง โดยโจทก์มิได้ตกลงด้วย จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก การจำนองที่ดินพิพาทจึงยังคงครอบไปถึงส่วนเหล่านั้นหมดทุกส่วนด้วยกันอยู่นั่นเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 717 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิยึดที่ดินพิพาททั้งแปลงออกขาดทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ ผู้ร้องทั้งสองไม่มีสิทธิขอกันที่ดินเฉพาะส่วนของตนออกจากที่ดินพิพาทก่อนขายทอดตลาดที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
แต่ถ้าเป็นกรณีเจ้าหนี้สามัญมีสิทธิบังคับคดีได้เท่าที่จำเลยมีสิทธิในที่ดินพิพาทเท่านั้น เมื่อที่ดินมีการตกลงแบ่งแยกการครอบครองที่ดินพิพาทก่อนมีการบังคับคดีแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่มีสิทธิเอาที่ดินส่วนของผู้ร้องมาขายทอดตลาด ผู้ร้องย่อมมีสิทธิขอให้กันที่ดินพิพาทส่วนที่ผู้ร้องครอบครองก่อนนำที่ดินทั้งแปลงออกขายทอดตลาดได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2124/2551 ที่ดินพิพาทมีชื่อจำเลยและผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน แต่ผู้ร้องและจำเลยได้ตกลงแบ่งแยกการครอบครองที่ดินพิพาทก่อนมีการบังคับคดีแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวย่อมผูกพันจำเลยและผู้ร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้สามัญมีสิทธิบังคับคดีได้เท่าที่จำเลยมีสิทธิในที่ดินพิพาทเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิเอาที่ดินส่วนของผู้ร้องมาขายทอดตลาดได้ ผู้ร้องย่อมมีสิทธิขอให้กันที่ดินพิพาทส่วนที่ผู้ร้องครอบครองก่อนนำที่ดินทั้งแปลงออกขายทอดตลาดได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287
จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้ผู้ร้องตามมูลหนี้สัญญาจะซื้อจะขายและศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมจนคดีถึงที่สุดแล้ว สิทธิของผู้ร้องตามคำพิพากษาที่จะเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่ตนย่อมเกิดขึ้นทันที ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะที่จะบังคับให้จดทะเบียนสิทธิของตนเหนือที่ดินพิพาททั้งสองแปลงได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ.มาตรา 1300 โจทก์ทั้งสองหามีสิทธิขอให้บังคับยึดที่ดินพิพาททั้งสองเพื่อนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้อันเป็นการกระทบถึงสิทธิของผู้ร้องตาม ป.วิ.พ.มาตรา 287 ได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 797/2552 ตาม ป.พ.พ.มาตรา 6 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่า ผู้ร้องและจำเลยสมคบกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความขึ้นโดยเจตนาไม่สุจริต เพื่อให้ทรัพย์สินพ้นจากการบังคับดคีและทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์จึงต้องมีภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว เมื่อจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้ผู้ร้องตามมูลหนี้สัญญาจะซื้อจะขายและศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมจนคดีถึงที่สุดแล้ว สิทธิของผู้ร้องตามคำพิพากษาที่จะเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่ตนย่อมเกิดขึ้นทันทีแม้ผู้ร้องจะต้องชำระเงินที่เหลือจำนวนหนึ่งให้แก่จำเลยตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความด้วยก็ตาม การที่ผู้ร้องยังไม่ชำระเงินที่เหลือจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยมีผลเพียงทำให้ผู้ร้องยังไม่อาจจะเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ตอบแทนเท่านั้น หามีผลทำให้สิทธิของผู้ร้องที่จะเรียกให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาหมดไปไม่ ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะที่จะบังคับให้จดทะเบียนสิทธิของตนเหนือที่ดินพิพาททั้งสองแปลงได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ.มาตรา 1300 โจทก์ทั้งสองหามีสิทธิขอให้บังคับยึดที่ดินพิพาททั้งสองเพื่อนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้อันเป็นการกระทบถึงสิทธิของผู้ร้องตาม ป.วิ.พ.มาตรา 287 ได้ไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2540 ผู้ร้องได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 7808, 7809 ตำบลบางพูด (บางพัง) อำเภอปากเกร็ดจังหวัดนนทบุรี เนื้อที่ 33.9 และ 35 ตารางวา และให้จำเลยรับเงินจำนวน 1,102,800บาท จากผู้ร้อง หากไม่สามารถโอนได้ให้คืนเงินจำนวน 275,200 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ระหว่างพิจารณา ผู้ร้องกับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และศาลพิพากษาตามยอมให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่ผู้ร้อง และผู้ร้องยอมชำระเงินจำนวน 1,102,800 บาท ให้แก่จำเลย หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และหากจำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงได้ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 275,200 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีแก่ผู้ร้อง ต่อมาโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเพื่อนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสอง ผู้ร้องจึงมายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการยึด
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องในข้อแรกว่า ผู้ร้องกับจำเลยสมคบกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความขึ้นโดยเจตนาไม่สุจริตหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต ดังนั้นการที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่า ผู้ร้องและจำเลยสมคบกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความขึ้นโดยเจตนาไม่สุจริต เพื่อให้ทรัพย์สินพ้นจากการบังคับคดีและทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์จึงต้องมีภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว แต่จากพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองมีเพียง ส. ทนายโจทก์ทั้งสองมาเบิกความว่า ผู้ร้องไม่ใช่ลูกค้าผู้ซื้อที่ดินจากจำเลย เนื่องจากไม่มีชื่อผู้ร้องในบัญชีรายชื่อลูกค้าตามเอกสารหมาย ค. 2 เท่านั้น รายชื่อลูกค้าในรายงานสรุปการขายเอกสารหมาย ค. 2 มิใช่รายชื่อลูกค้าทั้งหมด จึงยังไม่อาจสรุปได้จากเอกสารหมาย ค. 2 ว่า ผู้ร้องมิได้เป็นลูกค้าของจำเลยดังที่ ส. เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ทั้งสองไม่มีน้ำหนักพอให้รับฟังได้ว่า ผู้ร้องกับจำเลยสมคบกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ดังนี้ คดีจึงฟังไม่ได้ว่า ผู้ร้องกับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยเจตนาไม่สุจริต
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องข้อต่อไปว่า ผู้ร้องอยู่ในฐานะที่จะบังคับให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้ผู้ร้องตามมูลหนี้สัญญาจะซื้อจะขายและศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมจนคดีถึงที่สุดแล้วตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2575/2540 ของศาลชั้นต้น สิทธิของผู้ร้องตามคำพิพากษาที่จะเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่ตนย่อมเกิดขึ้นทันที แม้ผู้ร้องจะต้องชำระเงินที่เหลือจำนวนหนึ่งให้แก่จำเลยตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความด้วยก็ตาม การที่ผู้ร้องยังไม่ชำระเงินที่เหลือจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยมีผลเพียงทำให้ผู้ร้องยังไม่อาจจะเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ตอบแทนเท่านั้น หามีผลทำให้สิทธิของผู้ร้องที่จะเรียกให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาหมดไปไม่ ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะที่จะบังคับให้จดทะเบียนสิทธิของตนเหนือที่ดินพิพาททั้งสองแปลงได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 โจทก์ทั้งสองหามีสิทธิขอให้บังคับคดียึดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเพื่อนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้อันเป็นการกระทบถึงสิทธิของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้องมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น”
แม้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทมาก่อนที่ศาลในคดีอื่นจะได้พิพากษาบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้อง แต่เมื่อศาลในคดีอื่นได้พิพากษาบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้องแล้ว ที่ดินพิพาทจะต้องตกเป็นของผู้ร้องเท่านั้น ไม่มีเหตุที่จะให้ที่ดินพิพาทหลุดมือจากผู้ร้องตกไปเป็นของผู้อื่น จึงถือได้ว่าผู้ร้องอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ศาลก็ไม่อาจปล่อยให้มีการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทได้ เพราะผู้ที่ซื้อได้ไม่มีสิทธิที่จะได้รับโอนเนื่องจากผู้ร้องเท่านั้นที่มีสิทธิจะได้รับโอน ทั้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 บัญญัติไม่ให้การยึดทรัพย์มีผลกระทบถึงสิทธิของผู้ร้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8870/2550 การที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาท ยังไม่มีการจดทะเบียนสิทธิโอนที่ดินพิพาท แต่เมื่อได้ยึดมาแล้วต้องนำออกขายทอดตลาด หากมีผู้ซื้อได้ก็ต้องมีการโอนทางทะเบียนให้แก่ผู้ซื้อ จึงมิใช่เพียงแต่ยึดไว้เท่านั้น การที่ศาลในคดีอื่นได้พิพากษาบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้องแล้ว ที่ดินพิพาทจะต้องตกเป็นของผู้ร้องเท่านั้น ไม่มีเหตุที่จะให้ที่ดินพิพาทหลุดมือจากผู้ร้องตกไปเป็นของผู้อื่น จึงถือได้ว่าผู้ร้องอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 แม้โจทก์จะได้นำยึดที่ดินพิพาทไว้ก่อนที่ศาลจะพิพากษาบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้อง แต่ศาลก็ไม่อาจปล่อยให้มีการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทได้ เพราะผู้ที่ซื้อได้ไม่มีสิทธิที่จะได้รับโอนเนื่องจากผู้ร้องเท่านั้นที่มีสิทธิจะได้รับโอน ทั้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 ก็มีบทบัญญัติไม่ให้การยึดทรัพย์มีผลกระทบถึงสิทธิของผู้ร้อง
ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคนหนึ่งมีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษากับเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอีกคนหนึ่งได้นั้น หมายถึง เจ้าหนี้ผู้ที่จะมาขอเฉลี่ยต้องเป็นผู้ไม่มีอำนาจเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ ส่วนกรณีที่ผู้ร้องได้สิทธิโดยคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้อง ผู้ร้องมีสิทธิตามคำพิพากษาที่จะบังคับให้จดทะเบียนสิทธิได้อยู่แล้วจึงไม่มีกรณีที่จะต้องมาขอเฉลี่ยทรัพย์ แม้โจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยก็ไม่มีสิทธิยึดที่ดินเพื่อบังคับคดีให้กระทบกระทั่งสิทธิ
ทรัพย์ที่โจทก์นำยึดเป็นสินสมรสที่ผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมกัน เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธินำยึดและขายทอดตลาดได้ทั้งแปลง ผู้ร้องคงมีสิทธิขอกันส่วนของตนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14800/2551 เมื่อทรัพย์ที่โจทก์นำยึดเป็นสินสมรส อันเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมกัน โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธินำยึดและขายทอดตลาดได้ทั้งแปลง ผู้ร้องคงมีสิทธิขอกันส่วนของตนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดเท่านั้น จึงไม่สมควรมีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้อง โดยให้ระงับการขายทอดตลาดทรัพย์ไว้ในระหว่างการอุทธรณ์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ผู้ร้องฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยทำเป็นคำร้องซึ่งไม่ถูกต้อง แต่เมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของผู้ร้องมาโดยไม่สั่งให้ผู้ร้องแก้ไขจึงอนุโลมให้ถือว่าเป็นฎีกาที่สั่งรับมาโดยชอบ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องมีว่า สมควรมีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้องในระหว่างอุทธรณ์หรือไม่ โดยผู้ร้องกล่าวอ้างมาในคำร้องขอกันส่วนว่า ที่ดินที่โจทก์นำยึดเป็นสินสมรสของผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 และหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่หนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา ขอให้ศาลมีคำสั่งกันที่ดินส่วนของผู้ร้องไว้นั้น เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง แต่เมื่อทรัพย์ที่โจทก์นำยึดเป็นสินสมรส อันเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมกัน โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธินำยึดและขายทอดตลาดได้ทั้งแปลง ผู้ร้องคงมีสิทธิขอกันส่วนของตนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดเท่านั้น จึงไม่สมควรมีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้องโดยให้ระงับการขายทอดตลาดทรัพย์ไว้ในระหว่างอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
ซื้อที่ดินพร้อมบ้านพิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริตย่อมได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 ผู้ซื้อจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาท จำเลยจะยกเหตุว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับ ส. สามีจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีที่ถูกยึดที่ดินและบ้านพิพาทขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลเพื่อร้องขอกันส่วนเงินจากการขายทอดตลาดมาเป็นข้อต่อสู้เพื่ออยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทดังกล่าวหาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8239/2551 โจทก์ซื้อที่ดินพร้อมบ้านพิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริตย่อมได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาท จำเลยจะยกเหตุว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับ ส. สามีจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีที่ถูกยึดที่ดินและบ้านพิพาทขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลเพื่อร้องขอกันส่วนเงินจากการขายทอดตลาดมาเป็นข้อต่อสู้เพื่ออยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทดังกล่าวหาได้ไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย
หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดูตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ ถือได้ว่าเป็นหนี้ร่วมกันระหว่างผู้ร้องและจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (1) เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิที่จะดำเนินการบังคับคดีแก่เงินในบัญชีเงินฝากของผู้ร้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6306/2551 สัญญากู้ยืมเงินเป็นหนี้ที่จำเลยซึ่งเป็นภริยาผู้ร้องก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรส และเป็นหนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดูตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ ถือได้ว่าเป็นหนี้ร่วมกันระหว่างผู้ร้องและจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (1) แม้ภายหลังจำเลยกับผู้ร้องได้จดทะเบียนหย่าและแบ่งสินสมรสกันก็ไม่กระทบสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะดำเนินการบังคับคดีแก่เงินในบัญชีเงินฝากของผู้ร้อง โจทก์จึงมีสิทธิอายัดเงินในบัญชีเงินฝากของผู้ร้องเพื่อนำมาชำระหนี้ให้โจทก์ได้