ภายใต้บังคับมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ เมื่อศาลเห็นสมควรไม่ว่าเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลงหรือเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายเพราะเหตุดังกล่าวยื่นคำร้องต่อศาล ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวง หรือวิธีการบังคับใดๆโดยเฉพาะ หรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างใดตามที่ศาลเห็นสมควร
การยื่นคำร้องตามมาตรานี้อาจกระทำได้ไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่าสิบห้าวันนับแต่วันที่ที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น แต่ทั้งนี้ผู้ยื่นคำร้องต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หลังจากได้ทราบเรื่องฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้แล้วหรือต้องมิได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำนั้น และในกรณีเช่นว่านี้ผู้ยื่นคำร้องจะขอต่อศาลในขณะเดียวกันนั้นให้มีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ในระหว่างพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดก็ได้
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ให้ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลง เมื่อได้มีการดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่คำบังคับหรือหมายบังคับคดีกำหนดให้ส่งมอบทรัพย์สิน กระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างใด เมื่อได้มีการปฏิบัติตามคำบังคับหรือหมายบังคับคดีที่ให้ส่งมอบทรัพย์สินกระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างนั้นแล้ว แต่ถ้าการปฏิบัติตามคำบังคับหรือหมายบังคับคดีดังกล่าว อาจแยกได้เป็นส่วนๆ เมื่อได้มีการปฏิบัติตามคำบังคับหรือหมายบังคับคดีในส่วนใดแล้ว ให้ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงเฉพาะในส่วนนั้น
(2) ในกรณีที่คำบังคับหรือหมายบังคับคดีกำหนดให้ใช้เงิน เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้จ่ายเงินตามมาตรา 318 มาตรา 319 มาตรา 320 มาตรา 321 หรือมาตรา 322 แล้วแต่กรณีแล้ว แต่ถ้าทรัพย์สินที่ถูกบังคับคดีมีหลายรายการ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้จ่ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินรายการใดแล้ว ให้ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงเฉพาะทรัพย์สินรายการนั้น
ในการยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรานี้ หากมีพยานหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำร้องนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่อาจได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องดังกล่าวร้องขอ ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้ยื่นคำร้องวางเงินหรือหาประกันต่อศาลตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนดเพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลนั้นได้ ถ้าผู้ยื่นคำร้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องนั้นเสีย คำสั่งของศาลที่ออกตามความในวรรคนี้ให้เป็นที่สุด
ในกรณีที่ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องที่ยื่นไว้ตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องดังกล่าวเห็นคำร้องนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า บุคคลดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่งยกคำร้องเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ยื่นคำร้องนั้นชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้แยกการพิจารณาเป็นสำนวนต่างหากจากคดีเดิม และเมื่อศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าคำร้องนั้นรับฟังได้ ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ยื่นคำร้องนั้นชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลที่ได้รับความเสียหายดังกล่าวตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควรถ้าผู้ยื่นคำร้องนั้นไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ศาลมีอำนาจบังคับผู้ยื่นคำร้องนั้นได้เสมือนหนึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา"
มีคำพิพากษาศาลฎีกาไดวินิจฉัยไว้ เช่น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9314/2557 การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีบรรยายสภาพที่ดินว่าติดทางสาธารณะ แต่แผนที่สังเขปแสดงข้อมูลถูกต้องว่าติดทางในหมู่บ้านจัดสรร จึงฟังไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีจงใจปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์และใช้กลฉ้อฉลผู้ซื้อทรัพย์ การที่จำเลยทั้งสามไม่ได้ทำการตรวจสอบให้ดีก่อนทำการประมูลว่าแท้จริงที่ดินดังกล่าวติดทางสาธารณะหรือทางส่วนบุคคล จึงเป็นความบกพร่องของจำเลยทั้งสามเองเพราะตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ระบุคำเตือนผู้ซื้อไว้แล้วว่าเรื่องเขตเนื้อที่ ประเภทและสภาพของทรัพย์ เป็นหน้าที่ผู้ซื้อที่จะต้องไปตรวจสอบสถานที่ด้วยตนเอง จำเลยทั้งสามจึงยกเรื่องดังกล่าวมากล่าวอ้างว่า เข้าซื้อทรัพย์โดยถูกกลฉ้อฉลทำให้สำคัญผิดในสาระสำคัญของทรัพย์หาได้ไม่ และการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีระบุรายละเอียดในประกาศไม่ถูกต้องทั้งหมด ก็ไม่ถึงขนาดที่ทำให้ผู้ซื้อทรัพย์ประมูลซื้อในราคาที่สูงกว่าความเป็นจริง เพราะก่อนซื้อจำเลยทั้งสามได้ตรวจสอบทำเล สภาพและสถานที่ตั้งแล้ว พยานหลักฐานจำเลยทั้งสามฟังไม่ได้ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีใช้กลฉ้อฉลผู้ซื้อ
ป.พ.พ. มาตรา 514 บัญญัติให้ผู้สู้ราคาในการขายทอดตลาดย่อมพ้นความผูกพันในราคาที่ตนสู้แต่ขณะเมื่อมีผู้อื่นสู้ราคาสูงขึ้น หรือมีการถอนทรัพย์สินรายนั้นจากการขายทอดตลาด ผู้สู้ราคาก็พ้นความผูกพันแต่ขณะที่ถอนนั้นดุจกัน แต่กรณีของจำเลยทั้งสามเป็นเรื่องที่สู้ราคาสูงสุดและเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินได้จากการขายทอดตลาดแล้วไม่ชำระราคา จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 514 เจ้าพนักงานบังคับคดีนำทรัพย์ออกขายทอดตลาดอีกครั้งหนึ่งได้ราคา 10,500,000 บาท ซึ่งไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ไม่ครบ จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้สู้ราคาเดิมต้องรับผิดในส่วนที่ขาด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 และสัญญาซื้อขายจำเลยทั้งสามจึงต้องชำระเงินส่วนที่ขาด 1,650,000 บาท แก่โจทก์ สัญญาซื้อขายระบุชัดว่า ขอวางเงินมัดจำไว้ 50,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระภายใน 15 วัน เงินจำนวนนี้จึงเป็นเงินมัดจำ เมื่อจำเลยทั้งสามไม่ชำระราคาภายในกำหนด จำเลยทั้งสามจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา เจ้าพนักงานบังคับคดีมีสิทธิริบเงินดังกล่าว เมื่อริบเงินดังกล่าวแล้วย่อมไม่สามารถนำมาหักจากเงิน 1,650,000 บาท ที่จำเลยทั้งสามต้องชำระแก่โจทก์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16195/2556 คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยออกขายทอดตลาดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แต่ได้เงินไม่พอชำระหนี้ และความปรากฏว่าจำเลยถึงแก่ความตายไปแล้ว โจทก์จึงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของจำเลยเพิ่ม จึงเป็นกรณีที่โจทก์ขอให้ดำเนินการบังคับคดีเอาจากกองมรดกของจำเลยตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 271 ซึ่งโจทก์มีสิทธิที่จะดำเนินการดังกล่าวภายในระยะเวลา 10 ปี มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องคดีมรดกซึ่งมีอายุความ 1 ปี นับแต่เมื่อโจทก์เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ดังที่ผู้ร้องอ้าง ผู้ร้องทั้งสามจึงไม่อาจยกเหตุนี้ขึ้นอ้างเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8212/2556 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 302 วรรคหนึ่ง ศาลจังหวัดลพบุรีเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาไต่สวนและมีคำสั่งเกี่ยวกับการบังคับคดีนี้ และมีอำนาจมอบหมายให้ศาลชั้นต้นดำเนินการบังคับคดีแทนได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 302 วรรคสาม ฉะนั้นเมื่ออยู่ระหว่างการบังคับคดีแทน ศาลชั้นต้นเห็นว่าตนเองบังคับคดีผิดพลาดหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย ก็ย่อมเพิกถอนกระบวนการบังคับคดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบมาตรา 296 วรรคหนึ่ง
ก่อนผู้ซื้อทรัพย์เข้าสู้ราคาได้ไปดูที่ดินพิพาททั้งสองแปลงโดยอาศัยแผนที่สังเขปแสดงที่ตั้งของหลักประกันและบริเวณใกล้เคียงแล้ว และได้ตรวจดูที่ดินข้างเคียงในแผนที่ดังกล่าวที่มีการขายทอดตลาดในวันเดียวกันเป็นข้ออ้างอิง จึงเชื่อว่าที่ดินที่ได้ไปดูตามแผนที่ดังกล่าวเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) จึงเข้าสู้ราคาซื้อที่ดินดังกล่าว เมื่อปรากฏว่าที่ดินทั้งสองแปลงไม่มีอยู่จริง จึงไม่อาจถือได้ว่าผู้ซื้อทรัพย์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
เมื่อที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ไม่มีอยู่จริง ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดและนำออกขายทอดตลาด จึงเป็นการบังคับคดีที่ไม่ชอบและฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งศาลมีอำนาจให้เพิกถอนการยึดทรัพย์และการขายทอดตลาดที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคหนึ่ง
ส่งหมายแจ้งการยึดและประกาศขายทอดตลาดโดยมิชอบแล้ว ศาลจะต้องมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและให้ขายทอดตลาดใหม่ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7385/2556 โจทก์ส่งแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อส่งหมายแจ้งการยึดและประกาศขายทอดตลาดให้แก่ ส. ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดิน เมื่อแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรมีข้อความระบุว่า ส. ถูกจำหน่ายชื่อจากทะเบียนบ้าน เนื่องจากตายเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2542 ปรับปรุงข้อมูลครั้งสุดท้ายวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2550 ย่อมแสดงว่า ในขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งหมายแจ้งการยึดและประกาศขายทอดตลาดนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องทราบแล้วว่า ส. ได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว จึงไม่มีสภาพเป็นบุคคลที่จะส่งหมายแจ้งการยึดและประกาศขายทอดตลาดให้ทราบได้ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดียังคงส่งหมายดังกล่าวให้แก่ ส. โดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2550 กรณีจึงถือไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งหมายแจ้งการยึดและประกาศขายทอดตลาดโดยชอบแล้ว เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ส่งหมายดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องทายาทของผู้ตายซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียทราบ จึงเป็นการดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง ชอบที่ศาลจะต้องมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวและให้ขายทอดตลาดใหม่ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งหมายแจ้งการยึดและหมายแจ้งประกาศขายทอดตลาดให้แก่ ส. ผู้ตาย ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินที่โจทก์นำยึดไว้ โดยไม่ได้ส่งหมายให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทของ ส. นั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า ได้ความจากคำเบิกความผู้ร้องว่า ในการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 7121 ตำบลบ้านม้า อำเภอบางปะหัน (นครใน) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โจทก์หรือผู้แทนโจทก์ได้ส่งแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อส่งหมายแจ้งการยึดและหมายแจ้งประกาศขายทอดตลาดให้แก่ ส. ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินแปลงดังกล่าวด้วย เมื่อแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรมีตราประทับของกระทรวงยุติธรรมและมีลายมือชื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีรับรอง มีข้อความระบุในเอกสาร “....นาย ส...บุคคลนี้ถูกจำหน่ายชื่อจากทะเบียนบ้านเนื่องจากตายเมื่อ 19 มกราคม 2542 ปรับปรุงข้อมูลครั้งสุดท้าย วันที่ 7 เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 รับรองว่าเป็นรายการจากฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎร วันที่ 8 เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550...” ย่อมแสดงว่า ในขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งหมายแจ้งการยึดและหมายแจ้งประกาศขายทอดตลาดนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องทราบแล้วว่า ส. เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินที่โจทก์นำยึดได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว จึงไม่มีสภาพเป็นบุคคลที่จะส่งหมายแจ้งการยึดและหมายแจ้งประกาศขายทอดตลาดให้ทราบได้ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดียังคงส่งหมายดังกล่าวให้แก่ผู้ตายโดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2550 ตามที่ปรากฏจากแบบรายงานการตรวจสอบผลการส่งประกาศขายทอดตลาด เอกสารท้ายรายงานข้อเท็จจริงของเจ้าพนักงานบังคับคดีฉบับลงวันที่ 3 มีนาคม 2551 กรณีจึงถือไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งหมายแจ้งการยึดและหมายแจ้งประกาศขายทอดตลาดโดยชอบแล้ว เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ส่งหมายดังกล่าวให้ผู้ร้องทายาทของผู้ตายซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียทราบ จึงเป็นการดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 306 วรรคหนึ่ง ชอบที่ศาลจะต้องมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวและให้ขายทอดตลาดใหม่ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของผู้ร้องนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 7121 ตำบลบ้านม้า อำเภอบางปะหัน (นครใน) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16991/2555 การขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง ต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง และเกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี แม้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ซื้อทรัพย์เดิมจากการขายทอดตลาดจะเป็นบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าหลังจากผู้ร้องประมูลซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างได้จากการขายทอดตลาดแล้ว ผู้ร้องไม่ชำระราคา เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องนำทรัพย์ออกขายทอดตลาดใหม่ จากนั้นผู้ซื้อทรัพย์ประมูลซื้อในราคาซึ่งสูงกว่าราคาที่ผู้ร้องประมูลซื้อไว้ครั้งก่อน จึงไม่มีราคาทรัพย์ส่วนที่ขาดที่ผู้ร้องจะต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้ต้องเสียหายเพราะเหตุที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2997/2554 คำฟ้องของโจทก์ที่ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 23422 พร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้าง และให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถอนการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 19323 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง โดยโจทก์ทั้งสองอ้างว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งประกาศขายทอดตลาดให้ทราบ และขายทอดตลาดทรัพย์ไปในราคาต่ำกว่าราคาปกติ ทำให้โจทก์ทั้งสองมีหนี้ค้างชำระต้องถูกยึดทรัพย์อื่นอีก อันเป็นคำฟ้องที่อ้างว่าการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง จึงต้องยื่นคำร้องต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดี โจทก์ทั้งสองหาอาจนำคดีมาฟ้องใหม่ได้ไม่และในกรณีที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายเป็นค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีแทนโจทก์ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์นั้น เมื่อศาลยังไม่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดหรือเพิกถอนการยึดทรัพย์ก็จะฟังว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งสองหาได้ไม่ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2202/2554 เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีหนังสือแจ้งอายัดเงินประกันผลงานของจำเลยไปยังผู้ร้อง ผู้ร้องได้มีหนังสือปฏิเสธการส่งเงินแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีว่า ได้มีการหักเงินประกันผลงานไปแล้วและไม่มีเงินเหลือที่จะส่งให้ ถือว่าเป็นการปฏิเสธหรือโต้แย้งหนี้ที่เรียกร้องเอาแก่ผู้ร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 312 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นจึงต้องไต่สวนให้ได้ความว่าผู้ร้องยังมีหนี้ต้องชำระแก่จำเลยอยู่หรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีให้ยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้ร้องโดยไม่ได้ทำการไต่สวนเสียก่อนจึงเป็นการไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 284/2554 จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด โดยอ้างว่าการขายทอดตลาดมีผู้เข้าสู้ราคาเพียงรายเดียวและราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดต่ำเกินสมควรอันเกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลหรือความไม่สุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีและโจทก์ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยแล้ว จำเลยยื่นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาว่าการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ไปโดยมีผู้เข้าสู้ราคาเพียงรายเดียวชอบหรือไม่ ซึ่งเป็นอุทธรณ์ในประเด็นที่ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุอื่นตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง มิใช่ประเด็นที่ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุการขายทอดตลาดทรัพย์สินในราคาต่ำเกินสมควรโดยมิชอบตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง อันจะทำให้คำสั่งศาลชั้นต้นเป็นที่สุดได้ตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสี่
การขายทอดตลาดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา กฎหมายมิได้บัญญัติให้ต้องมีผู้เข้าแข่งขันประมูลราคา แม้การขายทอดตลาดทรัพย์คดีนี้จะมีโจทก์เข้าสู้ราคาเป็นผู้ซื้อทรัพย์เพียงรายเดียวก็ตาม เจ้าพนักงานบังคับคดีก็สามารถดำเนินการขายทอดตลาดไปได้โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ประมูลราคารายอื่นเข้ามาแข่งขันด้วยประกอบกับยังได้ความอีกว่า การขายทอดตลาดดังกล่าวเป็นการขายทอดตลาดครั้งที่ 19 ซึ่งการขายทอดตลาดครั้งก่อนหน้านี้ไม่มีผู้ใดสนใจเข้าสู้ราคานอกจากโจทก์ดังนั้น การดำเนินการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงชอบด้วยกฎหมายแล้วไม่มีเหตุให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้
ยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบเรื่องที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสามกำหนด ผู้ร้องทั้งสามย่อมไม่มีสิทธิร้องคัดค้านให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 108/2554 ผู้ร้องทั้งสามทราบประกาศการขายทอดตลาดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้ร้องทั้งสามโดยชอบ และทราบเรื่องที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 อันเป็นวันขายทอดตลาดแล้ว แต่ผู้ร้องทั้งสามมายื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2549 จึงเป็นการยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาสิบห้าวันที่ ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสามกำหนด ผู้ร้องทั้งสามย่อมไม่มีสิทธิร้องคัดค้านให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือไม่อีก
การยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของจำเลยอาจกระทำได้ไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่า 15 วัน นับแต่วันที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1574/2553 การยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของจำเลยที่ 1 อาจกระทำได้ไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่า 15 วัน นับแต่วันที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสาม คดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีเพิ่งขายทอดตลาดไปเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 และยังมิได้จ่ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดแก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้การบังคับคดีจึงยังไม่เสร็จลงตามมาตรา 296 วรรคสี่ ส่วนที่ต้องไม่ช้ากว่า 15 วัน นับแต่วันที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น ศาลชั้นต้นต้องไต่สวนให้ได้ความก่อนว่ามีข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นหรือไม่และจำเลยที่ 1 ทราบแล้วหรือไม่ เมื่อใด เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งโดยไม่ไต่สวนจึงเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบ การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 14 ธันวาคม 2547 ฉบับแรก ขอให้รับคำร้องขอเพิกถอนการพิจารณาของจำเลยที่ 1 ไว้ไต่สวนต่อไป ย่อมเป็นการแสดงว่าจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา 27 จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
จำเลยที่ 1 เพิ่งทราบเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2547 ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดไปแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมอบให้ ว. ไปขอคัดถ่ายเอกสารการขายทอดตลาดที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดสมุทรสาคร และเพิ่งได้รับเอกสารมาเมื่อวันที่ 7 เดือนเดียวกัน ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นตั้งแต่วันที่ 7 เดือนดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 1 ทราบแล้วก็มอบให้ทนายความของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ทนายความของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดฉบับลงวันที่ 9 ธันวาคม 2547 จึงเป็นการยื่นคำร้องไม่ช้ากว่า 15 วัน นับแต่วันที่ทราบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7878/2553 คำร้องของผู้ซื้อทรัพย์อ้างว่า โจทก์ไม่สามารถส่งมอบที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ที่ขายทอดตลาดให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ได้ เนื่องจากที่ดินดังกล่าวได้ออกทับโฉนดที่ดินแปลงอื่นโดยไม่มีเนื้อที่เหลืออยู่เลย เท่ากับอ้างว่าโจทก์หรือเจ้าพนักงานบังคับคดีนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาดแต่ไม่สามารถส่งมอบทรัพย์ให้แก่ผู้ซื้อ ถือได้แล้วว่าเป็นการอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสองแล้ว เมื่อได้ความว่า มีการออกเอกสารสิทธิในที่ดินทับซ้อนกันและยังมิได้มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินฉบับใดฉบับหนึ่ง ย่อมมีเหตุขัดข้องในการบังคับคดีให้ลุล่วงไป กรณีมีเหตุสมควรให้เพิกถอนการขายทอดตลาดรายนี้ได้ ส่วนเรื่องเพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินฉบับใดฉบับหนึ่งหรือไม่อย่างไรเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องไปว่ากล่าวกันต่างหากหลังจากเพิกถอนการขายทอดตลาดแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5752/2553 จำเลยยื่นคำร้องขอเพิกถอนหมายบังคับคดีในคดีนี้อ้างว่าจำเลยไม่ได้ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลพิพากษาตามยอม การที่จำเลยยื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีในอีกคดีหนึ่งที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอายัดทรัพย์สินของจำเลยว่า ทรัพย์สินของจำเลยถูกเจ้าหนี้หลายรายรวมทั้งโจทก์อายัดไว้แล้ว การอายัดทรัพย์สินในคดีดังกล่าวจึงเป็นการอายัดซ้ำ ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการอายัดและเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ถอนการอายัดแล้วเป็นการดำเนินการในคดีอื่นมิใช่ในคดีนี้ จึงมิใช่กรณีที่จำเลยได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หรือเป็นการให้สัตยาบันแก่การกระทำนั้น จำเลยจึงมีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดีในคดีนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม
วันครบกำหนดชำระหนี้ตรงกับวันเสาร์ การที่จำเลยนำเงินเข้าบัญชีของโจทก์ในธนาคารทันทีในวันแรกที่เปิดทำการจึงไม่ถือว่าจำเลยผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์ล่วงพ้นกำหนดและตกเป็นผู้ผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/8 แม้ธนาคารเปิดทำการในวันเสาร์อาทิตย์ก็มี ก็ไม่อาจเป็นข้อยกเว้นของกฎหมายได้
ทราบถึงสิทธิของผู้ร้องแล้ว แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่แจ้งกำหนดวันขายทอดตลาดให้แก่ผู้ร้องที่ 1 ทราบ จึงเป็นการบังคับคดีโดยฝ่าฝืนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องที่ 1 ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7342/2552 เมื่อโจทก์ขอหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อบังคับคดีจำเลยแล้ว ผู้ร้องที่ 1 ก็ได้รับซื้อสินทรัพย์อันเป็นสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อจำเลยตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 หลังจากนั้นผู้ร้องที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แทนโจทก์ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี ผู้ร้องที่ 1 ย่อมเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 แม้ผู้ร้องที่ 1 จะไม่ได้ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิต่อศาลชั้นต้น แต่ก็ได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้วผู้ร้องที่ 1 จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในการบังคับคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทราบถึงสิทธิของผู้ร้องแล้วก่อนวันขายทอดตลาด การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยโดยได้แจ้งกำหนดวันขายทอดตลาดให้โจทก์ทราบแต่ไม่แจ้งแก่ผู้ร้องที่ 1 ทราบ จึงเป็นการบังคับคดีโดยฝ่าฝืนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องที่ 1 ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง และศาลชอบที่จะต้องมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวและให้ขายทอดตลาดใหม่
ระหว่างการขายทอดตลาดทรัพย์ จำเลยได้ตกลงกับโจทก์โดยขอผ่อนชำระหนี้ และจำเลยได้ผ่อนชำระตามบันทึกดังกล่าวให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีหน้าที่ที่จะขอให้งดการบังคับคดี โดยงดการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยไว้ แต่โจทก์หาได้กระทำแต่อย่างใด คงปล่อยให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลย ทั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งให้ผู้ร้องทราบถึงวันขายทอดตลาด พฤติการณ์ดังกล่าวจึงมีเหตุให้ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7313/2552 ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์โดยอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมาย กล่าวคือมิได้แจ้งประกาศการขายทอดตลาดทรัพย์ให้จำเลยที่ 1 หรือให้แก่ผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียทราบถึงวันขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ทั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ไปโดยไม่สุจริต สมรู้ร่วมคิดกับผู้ซื้อทรัพย์กดราคาและกระทำโดยประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องทั้งสอง จึงเป็นการร้องขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ประกอบมาตรา 296 วรรคสอง หากผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งอาจได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องขอดังกล่าวเห็นว่ามีพยานหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำร้องนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้ร้องทั้งสองวางเงินหรือหาประกันต่อศาลภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนด เพื่อเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลนั้นได้ซึ่งผู้ซื้อทรัพย์ได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้ผู้ร้องทั้งสองนำเงินมาวางประกัน 50,000 บาท ผู้ร้องทั้งสองได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้ว ต่อมาศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง ผู้ร้องทั้งสองยื่นอุทธรณ์ หากผู้ซื้อทรัพย์เห็นว่าคำร้องนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า ผู้ซื้อทรัพย์ก็มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าวเพื่อขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องทั้งสองนั้นชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้ ในกรณีเช่นว่านี้ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้แยกการพิจารณาเป็นสำนวนต่างหากจากคดีเดิม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคท้าย ดังนั้น ที่ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้มีคำสั่งให้ผู้ร้องทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนในคดีเดิมจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ระหว่างการขายทอดตลาดทรัพย์ จำเลยที่ 3 ได้ตกลงกับโจทก์โดยขอผ่อนชำระหนี้ และจำเลยที่ 3 ได้ผ่อนชำระตามบันทึกดังกล่าวให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีหน้าที่ที่จะขอให้งดการบังคับคดี โดยงดการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ไว้ แต่โจทก์หาได้กระทำแต่อย่างใด คงปล่อยให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ทั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งให้ผู้ร้องที่ 1 ทราบถึงวันขายทอดตลาด พฤติการณ์ดังกล่าวจึงมีเหตุให้ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดจึงมิใช่การยื่นคำร้องโดยไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6956/2552 จำเลยในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับเงินค่าขายทรัพย์พิพาทไปเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2548 ต้องถือว่าการบังคับคดีสำหรับทรัพย์สินพิพาทได้เสร็จลงแล้วตั้งแต่วันดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสองและวรรคสาม การที่โจทก์มายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดในวันที่ 14 มีนาคม 2548 เป็นการยื่นภายหลังจากการบังคับคดีได้เสร็จลง โจทก์จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5321/2552 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทในราคาต่ำกว่าราคาประเมินและมูลค่าที่ดินมาก โดย ศ. ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ได้คัดค้านแล้ว แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่เลื่อนการขายทอดตลาดไปทั้งที่เป็นการขายทอดตลาดที่มีผู้เสนอราคาครั้งแรก เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการโต้แย้งกระบวนวิธีการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง มิใช่โต้แย้งว่าราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินมีจำนวนต่ำเกินสมควร อันเกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการเข้าสู้ราคาหรือความไม่สุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ซึ่งการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดในกรณีของจำเลยทั้งสองนี้ไม่มีบทกฎหมายบัญญัติให้คำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นที่สุด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองโดยวินิจฉัยว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นที่สุดตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับแก่กรณีการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง จึงเป็นการไม่ถูกต้องไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 242 (1) ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยทั้งสองจะไม่ได้ยกขึ้นอ้างในฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247
แม้จำเลยที่ 1 ไม่มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาท แต่จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อการขายทอดตลาดครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ไม่มีผู้เสนอราคาต่อมาในการขายทอดตลาดครั้งที่ 3 ผู้ซื้อทรัพย์ทั้งสองได้เสนอราคาสูงสุด ก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะเคาะไม้ขายให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิคัดค้านว่าราคาดังกล่าวมีจำนวนต่ำเกินสมควร ในกรณีเช่นว่านี้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องเลื่อนการขายทอดตลาดไปตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคหนึ่ง ศ. เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิคัดค้านราคาในนามของจำเลยที่ 1 ได้ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่เลื่อนการขายทอดตลาดไปโดยอนุมัติการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ ถือได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง