13 สิงหาคม 2559

สัญญาประกันภัยค้ำจุน (ประกันภัยรถยนต์)

          ป.พ.พ.
          มาตรา 887  "อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ
          บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยโดยตรง แต่ค่าสินไหมทดแทนเช่นว่านี้หาอาจจะคิดเกินไปกว่าจำนวนอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้ตามสัญญานั้นได้ไม่ ในคดีระหว่างบุคคลผู้ต้องเสียหายกับผู้รับประกันภัยนั้น ท่านให้ผู้ต้องเสียหายเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาในคดีด้วย
          อนึ่ง ผู้รับประกันภัยนั้นแม้จะได้ส่งค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้วก็ยังหาหลุดพ้นจากความรับผิดต่อบุคคลผู้ต้องเสียหายนั้นไม่ เว้นแต่ตนจะพิสูจน์ได้ว่าสินไหมทดแทนนั้นผู้เอาประกันภัยได้ใช้ให้แก่ผู้ต้องเสียหายแล้ว"
          มาตรา 888   "ถ้าค่าสินไหมทดแทนอันผู้รับประกันภัยได้ใช้ไปโดยคำพิพากษานั้นยังไม่คุ้มค่าวินาศภัยเต็มจำนวนไซร้ ท่านว่าผู้เอาประกันภัยก็ยังคงต้องรับใช้จำนวนที่ยังขาด เว้นไว้แต่บุคคลผู้ต้องเสียหายจะได้ละเลยเสียไม่เรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาสู่คดีด้วยดังกล่าวไว้ในมาตราก่อน"

          สัญญาประกันภัยค้ำจุน เป็นสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ ตัวอย่างเช่น สัญญาประกันภัยรถยนต์ชั้น 1, 2 หรือ 3 เป็นต้น ที่กำหนดให้บริษัทประกันต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมให้กับบุคคลภายนอกแทนเจ้าของรถที่ทำประกันภัยซึ่งเป็นฝ่ายผิด




          มีคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ 

          เมื่อคดีอาญาฟังได้ว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยกระทำละเมิดต่อโจทก์ แม้ผู้รับประกันภัยจะไม่ได้ถูกฟ้องด้วยก็ตาม แต่ต้องรับผิดชดไช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ เพราะผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9209/2558   แม้ในคดีอาญาจำเลยที่ 3 จะไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลย จึงไม่ถูกผูกพันที่ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งที่ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ก็ตาม แต่จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัย ตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยจะไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ผู้ขับรถยนต์คันที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัยไว้จากจำเลยที่ 2 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 มีสิทธิใช้รถยนต์ดังกล่าวเสมือนเป็นรถยนต์ของตนเอง จึงถือเสมือนว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เอาประกันภัยด้วย ทั้งตามคำให้การ จำเลยที่ 3 ก็มิได้ปฏิเสธว่าตนไม่ต้องรับผิดเพราะจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้เอาประกันภัย ดังนี้ เมื่อคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงยุติว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้มีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย กรณีจึงต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 3 ไม่อาจนำสืบเปลี่ยนแปลงให้ผิดไปจากความรับผิดของจำเลยที่ 1 ได้

          ผู้รับประกันภัยที่ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว และอยู่ในฐานะผู้เข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่ในมูลหนี้ต่อบุคคลภายนอก ต้องนับอายุความตามสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่เดิม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15977/2557   สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ที่เสียหาย ที่ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์และอยู่ในฐานะผู้เข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่ในมูลหนี้ต่อบุคคลภายนอก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 ประกอบ 226 วรรคหนึ่งนั้น ในการนับอายุความของโจทก์ดังกล่าว ต้องนับตามสิทธิของผู้เอาประกันภัย คดีนี้เมื่อสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะฟ้องมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยที่เข้ารับช่วงสิทธิ ก็ย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้เอาประกันภัย คือ ต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยหรือตัวแทนของผู้เอาประกันได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวเช่นกัน หาใช่นับอายุความ ตั้งแต่วันที่โจทก์รู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ เมื่อได้ความว่า ผู้ขับรถคันที่โจทก์รับประกัน ซึ่งถือเป็นตัวแทนของผู้เอาประกันภัยได้รู้ตัวผู้ขับรถยนต์อีกฝ่ายว่าเป็นผู้ใดในวันที่ 3 เมษายน 2546 ซึ่งเป็นวันที่พนักงานสอบสวนนัดผู้ขับรถของผู้เอาประกันมาตกลงกับจำเลยที่ 1 และเป็นวันที่ผู้ขับรถของผู้เอาประกันภัยพบกับพนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุของโจทก์เป็นครั้งแรก ฉะนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 8 ธันวาคม 2548 จึงเกินกว่า 1 ปี เมื่อนับแต่วันที่ 3 เมษายน 2546 ดังกล่าว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

          เมื่อเหตุวินาศภัยได้เกิดขึ้นแก่ อ. ผู้ตาย จากการขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 5 ผู้ครอบครองและเป็นผู้เอาประกันภัยรถแท็กซี่ที่จำเลยที่ 2 ขับ ไว้กับจำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดชอบด้วย แม้ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 ขาดอายุความ มิใช่ศาลยกฟ้องเพราะจำเลยที่ 5 ไม่ต้องรับผิดชอบในเหตุรถเฉี่ยวชนกัน จำเลยที่ 4 จึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาประกันภัย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7109/2557    ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ เมื่อเหตุวินาศภัยได้เกิดขึ้นแก่ อ. ผู้ตาย จากการขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 5 ผู้ครอบครองและเป็นผู้เอาประกันภัยรถแท็กซี่ที่จำเลยที่ 2 ขับ ไว้กับจำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดชอบด้วย แต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 เพราะฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 ขาดอายุความมิใช่ยกฟ้องเพราะจำเลยที่ 5 ไม่ต้องรับผิดชอบในเหตุรถเฉี่ยวชนกัน จำเลยที่ 4 จึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาประกันภัย

          เมื่อความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยยังคงมีอยู่ในขณะที่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์และขณะนั้นจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยซึ่งมีความรับผิดตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยอยู่ก่อนแล้ว จำเลยที่ 2 จึงหาหลุดพ้นความรับผิดไปด้วยไม่ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนยังคงต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 500/2557   ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และผู้ครอบครองรถบรรทุกคันเกิดเหตุที่ได้เอาประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัย โดยวันเกิดเหตุลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถของจำเลยที่ 1 ไปส่งสินค้าให้แก่โจทก์ ย่อมถือได้ว่าลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 รับประกันภัยโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 เมื่อลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถคันที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยถอยหลังชนซุ้มเสาประตูโรมันค้ำยันและรองรับระเบียงหน้าบ้านของโจทก์แตกหักเสียหาย โจทก์ซึ่งเป็นผู้ต้องเสียหายจึงชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยโดยตรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคสอง ซึ่งโจทก์สามารถฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดได้โดยลำพัง เพียงแต่หากโจทก์ผู้ต้องเสียหายไม่ได้ฟ้องหรือเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาสู้คดีด้วย จะมีผลเพียงทำให้ผู้ต้องเสียหายไม่อาจเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนที่ยังขาดจากผู้เอาประกันภัยได้เท่านั้น หาได้มีผลถึงกับทำให้ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดต่อผู้ต้องเสียหายและทำให้ผู้รับประกันภัยหลุดพ้นความรับผิดไปด้วยไม่ คดีนี้ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยรวมมากับจำเลยที่ ๒ ผู้รับประกันภัยโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุ แต่ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุเอง ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เนื่องจากไม่ได้เป็นไปตามคำฟ้องของโจทก์นั้น หาทำให้มูลหนี้อันเกิดจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ระงับสิ้นไปไม่ ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างที่ลูกจ้างได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ตามกฎหมายก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ผิดไปมีผลทำให้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดตามฟ้องเท่านั้น ดังนั้น เมื่อความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยยังคงมีอยู่ในขณะที่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์และขณะนั้นจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยซึ่งมีความรับผิดตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยอยู่ก่อนแล้ว จำเลยที่ 2 จึงหาหลุดพ้นความรับผิดไปด้วยไม่ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนยังคงต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหาย กรณีหาใช่เรื่องมูลความแห่งคดีที่การชำระหนี้มิอาจแบ่งแยกกันได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยหลุดพ้นความรับผิดอันจะเป็นผลให้จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยต้องหลุดพ้นไปจากความรับผิดแต่อย่างใดไม่

          โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกซึ่งผู้เอาประกันจะต้องรับผิดชอบ บุคคลภายนอกมีสิทธิเรียกร้องจากผู้รับประกันภัยได้โดยตรง แม้ผู้เอาประกันภัยจะทำผิดเงื่อนไขกรมธรรม์ก็ตาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3254/2556   โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุน โจทก์ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกซึ่งผู้เอาประกันจะต้องรับผิดชอบ บุคคลภายนอกมีสิทธิเรียกร้องจากผู้รับประกันภัยได้โดยตรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 เมื่อจำเลยผู้เอาประกันภัยทำละเมิดและต้องรับผิดชอบต่อ ว. ท. และ จ. บุคคลภายนอก โจทก์ย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ ว. ท. และ จ. ตามบทบัญญัติในมาตราดังกล่าว โจทก์ไม่อาจนำข้อยกเว้นความรับผิด เนื่องจากขณะขับขี่จำเลยมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดไม่น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 ข้อ 7.6 ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ใช้บังคับระหว่างโจทก์ผู้รับประกันภัยกับจำเลยผู้เอาประกันภัยไปใช้เป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกตามบทบัญญัติในมาตราดังกล่าวได้ โจทก์ยังต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก เพียงแต่เมื่อโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกไปแล้ว จำเลยต้องใช้เงินที่โจทก์ใช้ไปนั้นคืนโจทก์

          การฟ้องให้ผู้รับประกันภัยรับผิดตามสัญญาประกันภัย ซึ่งโจทก์สามารถฟ้องผู้รับประกันภัยให้รับผิดได้โดยไม่จำต้องฟ้องผู้เอาประกันภัยด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 รับประกันภัยรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุจาก น. และข้อเท็จจริงได้ความว่า น. ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุชนรถที่โจทก์รับประกันภัยโดยละเมิด จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2912/2555   แม้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับ น. ในฐานะนายจ้าง แต่โจทก์มิได้ฟ้องโดยยืนยันว่า จำเลยที่ 2 รับประกันภัยรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุจากจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด โจทก์เพียงแต่ฟ้องว่า น. ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถในทางการที่จ้างโดยประมาทชนรถที่โจทก์รับประกันภัย จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์กระบะของจำเลยที่ 1 ไว้ในขณะเกิดเหตุ และกรมธรรม์ยังคุ้มครองอยู่ในขณะเกิดเหตุ โดยกรมธรรม์มีเงื่อนไขสำคัญว่า หากรถยนต์กระบะที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยก่อความเสียหายแก่บุคคลภายนอก จำเลยที่ 2 จะรับผิดต่อบุคคลภายนอกในนามของผู้เอาประกันภัยแทนผู้เอาประกันภัย เป็นการฟ้องให้ผู้รับประกันภัยรับผิดตามสัญญาประกันภัย ซึ่งโจทก์สามารถฟ้องผู้รับประกันภัยให้รับผิดได้โดยไม่จำต้องฟ้องผู้เอาประกันภัยด้วย ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามที่จำเลยที่ 2 ให้การและนำสืบรับว่า จำเลยที่ 2 รับประกันภัยรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุจาก น. และข้อเท็จจริงได้ความว่า น. ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุชนรถที่โจทก์รับประกันภัยโดยละเมิด จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ผู้รับช่วงสิทธิมาฟ้อง

          กรณีเป็นผู้รับประกันภัยของคู่กรณีทั้งฝ่ายจำเลย(ผู้ทำละเมิด)และฝ่ายโจทก์(ผู้เสียหาย) ผู้รับประกันภัยไม่อาจนำเอาหนี้ค่าสินไหมทดแทนที่จ่ายให้แก่โจทก์ไปแล้วมาหักกลบลบกับค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องส่วนที่ขาดอีกได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8829/2551    จำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์และรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 เมื่อรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 เฉี่ยวชนรถยนต์ของโจทก์เสียหาย จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งในฐานะเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ในความเสียหายที่โจทก์ได้รับตามกรมธรรม์ประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 และในฐานะที่จำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 ซึ่งต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกคือโจทก์ในความเสียหายที่เกิดจากรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 เช่นนี้ จำเลยที่ 4 จึงมีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองกรณีเพียงฝ่ายเดียว โจทก์ไม่มีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 4 การที่จำเลยที่ 4 ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 และรับช่วงสิทธิจากโจทก์ไล่เบี้ยเอาแก่ผู้ที่ทำให้รถยนต์โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 4 ก็มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เท่านั้น หาได้ก่อให้เกิดภาระหนี้แก่โจทก์ไม่ เมื่อการใช้ค่าสินไหมทดแทนของจำเลยที่ 4 แก่โจทก์ยังไม่เพียงพอแก่ความเสียหายที่แท้จริง โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายส่วนที่ขาดจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ผู้ทำละเมิด และยังเรียกให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 ภายในวงเงินตามกรมธรรม์ประกันภัยระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 ได้อีกด้วย จำเลยที่ 4 จึงตกเป็นหนี้โจทก์ที่จะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายส่วนที่ขาดแก่โจทก์อีก เมื่อโจทก์ไม่ได้เป็นหนี้จำเลยที่ 4 จึงไม่ใช่กรณีที่บุคคลสองคนต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้อันมีวัตถุประสงค์เป็นอย่างเดียวกัน และหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดจะชำระที่ลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะนำมาหักกลบลบหนี้กันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 จำเลยที่ 4 จึงไม่อาจนำเอาหนี้ค่าสินไหมทดแทนที่จ่ายให้แก่โจทก์ไปแล้วมาหักกลบลบกับค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องส่วนที่ขาดอีกได้ ทั้งไม่ใช่เป็นกรณีที่สิทธิและความรับผิดในหนี้รายใดตกอยู่แก่บุคคลเดียวกันอันจะทำให้หนี้รายนั้นระงับสิ้นไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 353