27 พฤศจิกายน 2559

ความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์

          มาตรา  217 "ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น  ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท"
          มาตรา  218 "ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ดังต่อไปนี้
          (1) โรงเรือน เรือ หรือแพที่คนอยู่อาศัย
          (2) โรงเรือน เรือ หรือแพอันเป็นที่เก็บหรือที่ทำสินค้า
          (3) โรงมหรสพหรือสถานที่ประชุม
          (4) โรงเรือนอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นสาธารณสถาน หรือเป็นที่สำหรับประกอบพิธีกรรมตามศาสนา
          (5) สถานีรถไฟ ท่าอากาศยาน หรือที่จอดรถหรือเรือสาธารณะ
          (6) เรือกลไฟ หรือเรือยนต์ อันมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป อากาศยาน หรือรถไฟที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะ
          ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี"

          ความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์นั้น ทรัพย์ต้องเป็นของผู้อื่นเท่านั้น ถ้าเผาทรัพย์ของตนเองแม้ผู้อื่นจะเป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วย ก็ไม่เป็นความผิดฐานวางเพลิง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5364/2536  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่านาง จ.ผู้เสียหายกับจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายมีบุตรด้วยกัน 5 คน แยกกันอยู่มาเป็นเวลา 10 ปีเศษแต่ยังมิได้จดทะเบียนหย่า ตามวันเวลาเกิดเหตุมีคนร้ายวางเพลิงเผาบ้านของผู้เสียหายซึ่งผู้เสียหายอยู่อาศัยเป็นเหตุให้บ้านและเครื่องใช้ภายในบ้านได้รับความเสียหาย คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า การวางเพลิงเผาทรัพย์ที่ผู้เสียหายมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมกับจำเลย เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218(1) หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าบทบัญญัติ มาตรา 218 เป็นเหตุฉกรรจ์ของมาตรา 217โดยมาตรา 218 บัญญัติให้ผู้กระทำผิดต่อทรัพย์ที่ระบุไว้ในมาตรา 218(1) ถึง (6) ต้องได้รับโทษหนักขึ้น ดังนั้นการกระทำอันมิได้เป็นความผิดตามมาตรา 217 แม้กระทำต่อทรัพย์ที่ระบุในมาตรา 218 ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิดเช่นกันเมื่อมาตรา 217 บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าการวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นเป็นความผิด ไม่มี ข้อความว่า "หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย" ก็เป็นความผิดแล้ว จะตีความคำว่า"ทรัพย์ของผู้อื่น" ให้รวมถึงทรัพย์ที่ผู้อื่นมีส่วนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยดังที่โจทก์ฎีกาย่อมมิได้ เพราะการตีความบทกฎหมายที่มีโทษทางอาญาจะต้องตีความโดย เคร่งครัด จะขยายความออกไปถึงกรณีที่ไม่ได้ระบุไว้ในตัวบทโดยชัดแจ้งเพื่อให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยย่อมมิได้เพราะขัดต่อหลักความรับผิดของบุคคลในทางอาญาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 2    

          ความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์จะเป็นความผิดสำเร็จต่อเมื่อทรัพย์นั้นไหม้ ถ้าเพลิงยังไม่ไหม้ทรัพย์ ก็เป็นเพียงพยายามกระทำความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5544/2531  การกระทำที่จะเป็นความผิดสำเร็จฐานวางเพลิงเผาทรัพย์นั้นไม่หมายความเพียงว่าเอาเพลิงไปวางเท่านั้น หากต้องเป็นการเผาทำให้เกิดเพลิงไหม้ทรัพย์นั้นติดไฟขึ้นด้วย เพียงแต่ทรัพย์มีรอยเกรียม ดำแต่ยังไม่ไหม้ไฟ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดสำเร็จคงเป็นความผิดฐานพยายามเท่านั้น การที่จำเลยโกรธผู้เสียหายเนื่องจากถูกผู้เสียหายทำร้ายต่อหน้าบุคคลอื่น จึงบุกรุกเข้าไปในบ้านผู้เสียหาย โดยมีน้ำมันเบนซิน ไม้ขีดไฟและมีดโต้ติดตัวไปด้วย แล้วใช้มีดฟันประตูครัวราดน้ำมันเบนซินใส่และจุดไฟเผาจากนั้นวิ่งขึ้นชั้นบนราดน้ำมันเบนซินใส่พื้นบ้านจุดไม้ขีดไฟเผาอีกแล้วจำเลยวิ่งลงมาใช้มีดโต้ฟันทรัพย์สินอื่น ๆ ในบ้านแตกเสียหาย ถือได้ว่าเป็นการกระทำต่อเนื่องกันโดยมีเจตนาอันแท้จริงที่จะทำลายทรัพย์สินของผู้เสียหายในคราวเดียวกัน แม้จำเลยจะวางเพลิงและใช้มีดโต้ฟันทำลายทรัพย์สินด้วยก็เป็นเพียงแต่การใช้วิธีการที่แตกต่างกันเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6666/2542  จำเลยมีเจตนาจะทำลายรั้วไม้ไผ่ที่ปักติดเป็นแผงของผู้เสียหายโดยนำไปเผาให้ใช้การไม่ได้เท่านั้น การที่จำเลยดึงรั้วไม้ไผ่ของผู้เสียหายจำนวน2 แผง แล้วนำไปเผาทำลายใกล้บริเวณรั้วนั้น จำเลยจึงมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 358 เพียงบทเดียว มิใช่กระทำผิดหลายบท การเผาแผงไม้ไผ่เป็นการทำลายทรัพย์ของผู้เสียหายให้เสียหาย มิใช่จำเลยวางเพลิงเผารั้วบ้านของผู้เสียหายในขณะที่มีสภาพเป็นรั้วบ้านกั้นขอบเขตเป็นที่อยู่อาศัย จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 217 อีกกระทงหนึ่ง

          ในส่วนมาตรา 218 นั้น เป็นเรื่องของโทษที่หนักขึ้นเท่านั้น แต่หลักเกณฑ์ว่าเป็นความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์หรือไม่ ก็ใช้หลักเกณฑ์เช่นเดียวกับมาตรา 217
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 114/2531 การที่จำเลยจุดไฟเผาที่นอนในห้องของโรงน้ำชาเพราะไม่พอใจหญิงบริการของโรงน้ำชานั้น จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าเมื่อที่นอนถูกเผาไหม้แล้วไฟอาจจะลุกลามไหม้เตียงนอน ฝาผนัง เพดาน จนกระทั่งโรงน้ำชาแห่งนั้นทั้งหมดได้ เมื่อได้ความว่าโรงน้ำชานั้นมีคนอยู่อาศัยด้วย จำเลยจึงต้องมีความผิดฐานวางเพลิงเผาโรงเรือนที่คนอยู่อาศัยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218(1)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6738/2537  จำเลยใช้ของเหลวไวไฟเทราดผู้ตายตั้งแต่ศีรษะลงมาถึงฟื้นห้องของเหลวไวไฟดังกล่าวเป็นวัตถุไวไฟที่ร้ายแรงติดไฟได้ง่ายและสามารถลุกลามไปได้ทั้งร่างกาย เมื่อเทของเหลวไวไฟแล้วจำเลยใช้ไฟแช็กจุดไฟที่ต้นคอผู้ตาย ก่อให้ไฟไหม้ตามตัวของผู้ตายร้อยละ90 ของร่างกาย จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลที่จะฆ่าผู้ตาย จำเลยได้ขอซื้อไฟแช็คจากส. ครั้งหนึ่งแล้ว แต่เพื่อนจำเลยห้ามไม่ให้ ส.ขายให้ทั้งจำเลยเป็นผู้ริเริ่มโทรศัพท์นัดให้ ค.และผู้ตายไปตกลงเรื่องชู้สาวในวันเกิดเหตุและตระเตรียมการซื้อไฟแช็กเพื่อประสงค์ใช้ในการจุดไฟการกระทำของจำเลยชี้ให้เห็นว่าจำเลยได้คิดทบทวนล่วงหน้าก่อนจะกระทำผิดแล้วจำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ขณะจำเลยใช้ของเหลวไวไฟเทราดไปที่ผู้ตายนั้น โจทก์ร่วมที่ 2 ลุกจากที่นั่งมาที่ผู้ตายห่างเพียง 1 เมตร จะเข้าไปห้ามปรามจำเลย แต่กลับรู้สึกตัวว่ามีไฟลุกไหม้ที่หน้าตามลำตัวด้านหน้าและที่มือทั้งสองข้าง อันเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ใช้ของเหลวไวไฟเทราดผู้ตายแล้วของเหลวไวไฟกระเด็นไปถูกตัวโจทก์ร่วมที่ 2ด้วย ทำให้โจทก์ร่วมที่ 2 ได้รับบาดเจ็บที่ใบหน้าและตามลำตัวด้านหน้าใช้เวลารักษา 5 เดือน ถือได้ว่าจำเลยกระทำโดยเจตนาฆ่าแก่โจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 60 ด้วย เมื่อโจทก์ร่วมที่ 2 ไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าโจทก์ที่ 2 โดยไตร่ตรองไว้ก่อนอีกบทหนึ่ง จำเลยใช้ของเหลวไวไฟเทราดและจุดไฟให้ลุกไหม้ผู้ตายขณะอยู่ในห้องทำงานของโจทก์ร่วมที่ 2 บนชั้นสองของตึกแถวที่เกิดเหตุซึ่งเป็นโรงเรือนที่พักอาศัยและเป็นโรงเรียนสอนตัดเสื้อของโจทก์ที่ 1 ปรากฏว่านอกจากไฟจะลุกไหม้ผู้ตาย และโจทก์ร่วมที่ 2 แล้วยังลุกไหม้โต๊ะ เก้าอี้ และพื้นห้องของโจทก์ร่วมที่ 1 ดังกล่าวเสียหาย ซึ่งเห็นได้ว่าโดยลักษณะแห่งการกระทำของจำเลยเช่นนี้จำเลยย่อมเล็งเห็นผลการกระทำของจำเลยดังกล่าวได้ว่า ไฟต้องลุกไหม้ขึ้นภายในอาคารตึกแถวที่เกิดเหตุ ถือได้ว่าจำเลยกระทำโดยมีเจตนาวางเพลิงเผาโรงเรือนของโจทก์ร่วมที่ 1 ด้วย


19 พฤศจิกายน 2559

สิทธิจำนองครอบทรัพย์สินซึ่งจำนองเพียงใด

          1. สิทธิจำนองครอบทรัพย์สินซึ่งจำนองทุกสิ่ง
          มาตรา  716 "จำนองย่อมครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจำนองหมดทุกสิ่ง แม้จะได้ชำระหนี้แล้วบางส่วน"
          กรณีเอาทรัพย์สินหลายสิ่งมาจำนองเป็นประกันหนี้รายเดียวกันหรือกรณีจำนองที่ดินแล้วต่อมามีการแบ่งแยกโฉนดออกเป็นหลายโฉนด ถึงแม้จะมีการชำระหนี้จำนองบางส่วนแล้วก็ตาม สิทธิจำนองย่อมครอบไปถึงทรัพย์สินทุกรายการหรือทุกสิ่ง เว้นแต่จะมีการตกลงกับผู้รับจำนองว่าให้ทรัพย์สินรายการใดหลุดพ้น ดังนั้น ถ้ามีลูกหนี้จำนองขอชำระหนี้บางส่วนเพื่อให้ทรัพย์สินที่จำนองบางสิ่งปลอดจำนอง ย่อมเป็นสิทธิของผู้รับจำนองว่าจะยอมรับหรือไม่ก็ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3068/2539  เมื่อจำเลยที่ 4 เป็นหนี้จำเลยที่ 1 จำนวน 42,000,000 บาทเศษ แม้หากจำเลยที่ 3 ชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 1,300,000 บาท การจำนองก็ยังคงครอบไปถึงที่ดินที่จำนองทุกแปลง เว้นแต่จำเลยที่ 1 ผู้รับจำนองยินยอมด้วยก็สามารถปลอดจำนองที่ดินแปลงใดได้ ดังนั้น การที่โจทก์ขอชำระหนี้ที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 เพียงบางส่วน เพื่อให้ที่ดินพิพาทปลอดจากจำนอง ย่อมเป็นสิทธิของจำเลยที่ 1 ที่จะยอมรับหรือไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ยินยอม ก็ไม่มีทางที่จะบังคับจำเลยที่ 1 ให้ยินยอมอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4175/2539  จำเลยในคดีนี้เป็นโจทก์ในอีกคดีหนึ่งฟ้องบริษัท ส.ขอให้บังคับจำนองที่ดินหลายแปลงซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาทในคดีนี้ที่บริษัท ส. เป็นลูกหนี้อยู่ เมื่อโจทก์เป็นผู้ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทที่แบ่งแยกออกมาจากบริษัท ส. ที่ต้องเสี่ยงภัยเสียสิทธิในการที่จะได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทหากปล่อยให้บังคับคดี โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเข้าใช้หนี้ให้จำเลยแทนบริษัท ส. ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 230 แต่แม้ว่าจะมีการไถ่ถอนจำนองไปบางส่วนแล้ว ทรัพย์สินซึ่งจำนองทั้งหมดที่เหลืออยู่ก็จะต้องเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญาจำนองของเงินจำนวนทั้งหมดที่ค้างอยู่ตามมาตรา 716 และ 717 เมื่อหนี้จำนองที่บริษัท ส. มีต่อจำเลยยังเหลืออยู่อีก 5,396,629.37 บาท แต่มีที่ดินพิพาทเหลืออยู่เพียงแปลงเดียวการไถ่ถอนจำนอง ก็ต้องชำระหนี้ทั้งหมดที่บริษัท ส.เป็นหนี้จำเลยอยู่ โจทก์จะบังคับให้จำเลยรับชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองเพียง 386,788.60 บาท ไม่ได้

          2. จำนองครอบทรัพย์สินที่จำนองทุกส่วน
          มาตรา  717 "แม้ว่าทรัพย์สินซึ่งจำนองจะแบ่งออกเป็นหลายส่วนก็ตาม ท่านว่าจำนองก็ยังคงครอบไปถึงส่วนเหล่านั้นหมดทุกส่วนด้วยกันอยู่นั่นเอง
          ถึงกระนั้นก็ดี ถ้าผู้รับจำนองยินยอมด้วย ท่านว่าจะโอนทรัพย์สินส่วนหนึ่งส่วนใดไปปลอดจากจำนองก็ให้ทำได้ แต่ความยินยอมดั่งว่านี้หากมิได้จดทะเบียน ท่านว่าจะยกเอาขึ้นเป็นข้อต่อสู้แก่บุคคลภายนอกหาได้ไม่"
          เป็นเรื่องเอาทรัพย์สินสิ่งเดียวแต่มีหลายส่วนไปจำนองเป็นประกันหนี้ สิทธิจำนองย่อมครอบไปถึงทุกส่วนของทรัพย์สินนั้น แต่ถ้าผู้รับจำนองจะตกลงยินยอมให้ส่วนใดปลอดจำนองก็ได้ โดยต้องนำความยินยอมนั้นไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกได้

          3. จำนองครอบไปถึงทรัพย์อันติดพันกับทรัพย์สินซึ่งจำนอง
          มาตรา  718 "จำนองย่อมครอบไปถึงทรัพย์ทั้งปวงอันติดพันอยู่กับทรัพย์สินซึ่งจำนอง แต่ต้องอยู่ภายในบังคับซึ่งท่านจำกัดไว้ในสามมาตราต่อไปนี้"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2410/2524  บ้านเรือนซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินแปลงใด ย่อมเป็นส่วนควบของที่ดินแปลงนั้น ถ้าไม่ปรากฏหลักฐานเป็นอย่างอื่นผู้ใดเป็นเจ้าของที่ดินแปลงใด ย่อมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านที่ปลูกอยู่ในที่ดินแปลงนั้น ดังนั้น การจำนองหรือการโอนที่ดินถ้าหากไม่ปรากฏว่ามีเงื่อนไขว่าจำนองหรือโอนไปโดยไม่รวมถึงบ้านอันเป็นส่วนควบของที่ดินแล้ว ก็ต้องถือว่าได้จำนองหรือโอนบ้านซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินแปลงนั้นด้วย โดยไม่จำต้องระบุว่าการจำนองหรือโอนนั้นให้รวมถึงสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนั้นด้วย
          ข้อยกเว้นหลักเรื่องจำนองย่อมครอบไปถึงทรัพย์ทั้งปวงอันติดพันอยู่กับทรัพย์สินซึ่งจำนอง ตามมาตรา 718 
          (1) จำนองที่ดินไม่ครอบไปถึงโรงเรือนที่ปลูกสร้างภายหลังวันจำนอง
          มาตรา  719 "จำนองที่ดินไม่ครอบไปถึงเรือนโรงอันผู้จำนองปลูกสร้างลงในที่ดินภายหลังวันจำนอง เว้นแต่จะมีข้อความกล่าวไว้โดยเฉพาะในสัญญาว่าให้ครอบไปถึง
          แต่กระนั้นก็ดี ผู้รับจำนองจะให้ขายเรือนโรงนั้นรวมไปกับที่ดินด้วยก็ได้ แต่ผู้รับจำนองอาจใช้บุริมสิทธิของตนได้เพียงแก่ราคาที่ดินเท่านั้น"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2410/2524   บ้านเรือนซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินแปลงใด ย่อมเป็นส่วนควบของที่ดินแปลงนั้น ถ้าไม่ปรากฏหลักฐานเป็นอย่างอื่นผู้ใดเป็นเจ้าของที่ดินแปลงใด ย่อมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านที่ปลูกอยู่ในที่ดินแปลงนั้น ดังนั้น การจำนองหรือการโอนที่ดินถ้าหากไม่ปรากฏว่ามีเงื่อนไขว่าจำนองหรือโอนไปโดยไม่รวมถึงบ้านอันเป็นส่วนควบของที่ดินแล้ว ก็ต้องถือว่าได้จำนองหรือโอนบ้านซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินแปลงนั้นด้วย โดยไม่จำต้องระบุว่าการจำนองหรือโอนนั้นให้รวมถึงสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนั้นด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2521/2516   ผู้ที่มิใช่เจ้าของทรัพย์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะนำทรัพย์นั้นไปจำนอง 
          แม้เอกสารต่อท้ายสัญญาจำนองจะมีข้อความระบุว่าผู้จำนองได้จำนองสิ่งปลูกสร้างซึ่งได้ปลูกสร้างขึ้นภายหลังจำนองด้วย ข้อความดังกล่าวก็ย่อมหมายถึงสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้จำนองเท่านั้น ไม่รวมถึงทรัพย์ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลภายนอกด้วย  ผู้รับจำนองจึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายสิ่งปลูกสร้างของบุคคลภายนอกซึ่งได้ปลูกสร้างไว้บนที่ดินของผู้จำนอง
          (2) จำนองโรงเรือนที่ปลูกในที่ดินผู้อื่นไม่ครอบไปถึงที่ดินนั้นด้วย
          มาตรา  720 "จำนองเรือนโรงหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นซึ่งได้ทำขึ้นไว้บนดินหรือใต้ดิน ในที่ดินอันเป็นของคนอื่นเขานั้นย่อมไม่ครอบไปถึงที่ดินนั้นด้วย ฉันใดกลับกันก็ฉันนั้น"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3916/2525   สิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ปลูกอยู่บนที่ดินของจำเลยที่ 2 การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ 2 ในส่วนที่เป็นที่ตั้งของสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวด้วย ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองที่ดินจากจำเลยที่ 2 ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ปล่อยที่ดินส่วนดังกล่าวซึ่งมิใช่เป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 288 
          สำหรับสิ่งปลูกสร้างที่ผู้ร้องรับจำนองไว้จากจำเลยที่ 1 นั้น ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 เจ้าพนักงานบังคับคดีมีสิทธิที่จะยึดและนำออกขายทอดตลาดเพื่อเอาเงินชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาได้ ผู้ร้องชอบที่จะขอรับชำระหนี้จำนองจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดก่อนเจ้าหนี้อื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 หรือหากผู้ร้องไม่ขอรับชำระหนี้จำนอง สิทธิจำนองของผู้ร้องซึ่งอาจร้องขอให้บังคับเหนือสิ่งปลูกสร้างนั้นก็ไม่ถูกกระทบกระทั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอให้ปล่อยสิ่งปลูกสร้างนั้น
          (3) จำนองไม่ครอบไปถึงดอกผลของทรัพย์สินซึ่งจำนอง
          มาตรา  721 "จำนองไม่ครอบไปถึงดอกผลแห่งทรัพย์สินซึ่งจำนอง  เว้นแต่ในเมื่อผู้รับจำนองได้บอกกล่าวแก่ผู้จำนองหรือผู้รับโอนแล้วว่าตนจำนงจะบังคับจำนอง"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1819/2530  ดอกผล แห่งทรัพย์สินที่จำนองซึ่งผู้รับจำนองจะบังคับเอาได้นั้น ถ้าเงินค่าเช่าที่ดินและบ้านที่จำนองอันเป็นดอกผลนิตินัยแล้ว จะต้องเป็นการเช่าที่มีอยู่ก่อนและขณะผู้รับจำนองบอกกล่าวบังคับจำนอง ไม่ใช่ไม่มีการเช่า อยู่เลยแล้วคาดหมายว่าอาจให้เช่า และได้ค่าเช่าจำนวนหนึ่งในภาคหน้า ฉะนั้น ค่าเช่าที่ดินและบ้านที่จำนองซึ่งโจทก์คาดว่าจะได้ในภาคหน้า ดังกล่าวจึงไม่ใช่ดอกผล ที่โจทก์ผู้รับจำนองจะพึงบังคับจำนองเอาตาม ป.พ.พ.มาตรา 721 ได้




18 พฤศจิกายน 2559

สัญญาจำนอง

          ลักษณะของสัญญาจำนอง
          มาตรา  702 "อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนอง เป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง
          ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่"

          ลักษณะสำคัญของสัญญาจำนอง มีดังนี้
          1. ผู้จำนองอาจเป็นลูกหนี้ชั้นต้นหรือบุคคลที่สามก็ได้ เนื่องจากการจำนองเป็นการประกันการชำระหนี้ด้วยทรัพย์สิน ดังนั้น ผู้จำนองจึงอาจเป็นลูกหนี้ชั้นต้นเองหรือบุคคลที่สามก็ได้ (มาตรา 709)
          2. เอาทรัพย์สินตราไว้เป็นประกันการชำระหนี้ หมายถึง นำเอกสารที่แสดงถึงสิทธิในทรัพย์สินนั้นไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ทรัพย์สินนั้นผูกพันเป็นประกันการชำระหนี้ประธาน ซึ่งหมายถึงหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ชั้นต้น กฎหมายจึงกำหนดให้สัญญาจำนองต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ (มาตรา 714)
          3. ผู้รับจำนองต้องเป็นเจ้าหนี้ ตามมาตรา 702 ซึ่งใช้คำว่า "เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนอง เป็นประกันการชำระหนี้" ดังนั้น ถ้าจำนองต่อบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่เจ้าหนี้ การจำนองนั้นก็ไม่มีผล
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 817/2521 (ประชุมใหญ่)  โจทก์ที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทจำกัด โจทก์ที่ 1  จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ที่ 1  จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จำนองที่ดินไว้กับโจทก์ที่ 2  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อพิจารณามาตรา 702 ประกอบกับมาตรา 709 แล้ว ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่าผู้รับจำนองจะต้องเป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่มีการจำนองค้ำประกันนั้น ซึ่งอาจเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นในอนาคต หรือหนี้มีเงื่อนไข จะจำนองไว้เพื่อหนี้นั้น อาจเป็นผลได้จริง ก็จำนองได้ ส่วนผู้จำนองจะเป็นลูกหนี้หรือบุคคลอื่นใดก็ได้ไม่จำกัด เมื่อโจทก์ที่ 2 ผู้รับจำนองยังไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้สัญญาจำนองจึงไม่มีหนี้ที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 ดังนั้น โจทก์ที่ 2 ซึ่งไม่ใช่เจ้าหนี้จำนองจึงบังคับแก่หนี้ที่จำเลยที่ 1 กู้โจทก์ที่ 1 ไม่ได้


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4436/2545   การที่จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่โจทก์นั้น แท้จริงแล้วเป็นการจำนองประกันหนี้ที่จำเลยมีต่อ ล. โจทก์ผู้รับจำนองจึงมิได้เป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่จำเลยจำนองที่ดินเป็นประกัน สัญญาจำนองจึงไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงบังคับจำนองแก่จำเลยมิได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2761/2549   โจทก์ที่ 1 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำนิติกรรมแทนโจทก์ที่ 2 การที่โจทก์ที่ 1 รับจำนองที่ดินจากจำเลยเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ที่จำเลยกู้ยืมไปจากโจทก์ที่ 2 เป็นการกระทำแทนโจทก์ที่ 2 แม้ตามหนังสือสัญญาจำนองระบุชื่อโจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับจำนองเท่านั้น โดยไม่ได้ระบุว่ากระทำการแทนโจทก์ที่ 2 ก็เป็นกรณีที่โจทก์ที่ 2 ตัวการซึ่งยังไม่เปิดเผยชื่อแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาจำนองซึ่งโจทก์ที่ 1 ได้ทำไว้แทนตน ซึ่งโจทก์ที่ 2 มีสิทธิกระทำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 และเป็นกรณีที่ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 798 วรรคหนึ่ง ที่การตั้งตัวแทนเพื่อทำสัญญาจำนองเป็นหนังสือ ดังนั้นแม้การตั้งตัวแทนของโจทก์ที่ 2 เพื่อทำสัญญาจำนองกับจำเลยจะมิได้ทำเป็นหนังสือ แต่เมื่อสิทธิของโจทก์ที่ 2 ตามสัญญาจำนองเป็นสิทธิที่มีอยู่ในฐานะตัวการที่ไม่เปิดเผยชื่อตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 โจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำนองได้
          4. ผู้จำนองไม่จำต้องส่งมอบทรัพย์สินที่จำนอง เพียงแต่มีการตราไว้เป็นการประกันการชำระหนี้ดังกล่าวก็ใช้ได้ ในทางกลับกันถ้าไม่มีการตราทรัพย์สินไว้เป็นการประกันการชำระหนี้ แต่ได้มอบเอกสารแสดงถึงสิทธิในทรัพย์สินนั้นไว้กับเจ้าหนี้เพื่อเป็นประกันหนี้ก็ไม่ใช่สัญญาจำนอง
          แม้ไม่ใช่จำนอง แต่เจ้าหนี้มีสิทธิตามสัญญาที่จะยึดเอกสารนั้นไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1369/2510   สามีภริยาร่วมรู้เห็นยินยอมให้บุคคลภายนอกเอาโฉนดที่ดินซึ่งเป็นสินบริคณห์ไปให้ธนาคารยึดถือไว้เป็นหลักฐานในการกู้เบิกเงินเกินบัญชีของบุคคลภายนอก เมื่อบุคคลภายนอกยังค้างชำระหนี้ธนาคารอยู่ ธนาคารก็มีสิทธิยึดโฉนดไว้ได้ สามีและภริยาเจ้าของโฉนดไม่มีสิทธิเรียกคืนโฉนดนั้น
          เมื่อไม่ใช่จำนอง ถ้าต่อมาหนี้นั้นขาดอายุความแล้วเจ้าหนี้ย่อมไม่มีสิทธิยึดเอกสารของลูกหนี้นั้นไว้ต่อไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 229/2522   แม้จะฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยนำสืบว่า  โจทก์ได้กู้เงินจำเลยและได้มอบโฉนดที่ดินให้จำเลยยึดถือไว้เป็นประกันการกู้เงิน   ตามสัญญากู้มิได้กำหนดวันชำระเงินไว้  สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่จะให้โจทก์ชำระเงินตามสัญญากู้  เริ่มนับตั้งแต่วันกู้เป็นต้นไป  และมีอายุความ 10 ปี  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 164  นับตั้งแต่วันกู้เงิน ถึงวันที่โจทก์ฟ้องเป็นเวลาเกิน 10 ปีแล้ว  จำเลยมิได้นำสืบให้เห็นว่าสิทธิเรียกร้องของจำเลยไม่ขาดอายุความเพราะเหตุใด  เมื่อหนี้ที่จำเลยอาศัยป็นมูลเหตุยึดถือโฉนดฉบับพิพาทของโจทก์ไว้ขาดอายุความเสียแล้ว  จำเลยก็ไม่มีสิทธิยึดถือโฉนดไว้เป็นประกันหนี้นั้นต่อไป
          การที่โจทก์กู้เงินและมอบโฉนดให้จำเลยยึดถือไว้เป็นประกันเงินกู้  ไม่เข้าลักษณะจำนำ  กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 189  จำเลยไม่มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดของโจทก์ไว้ต้องคืนให้โจทก์  (วรรคแรกวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่  19/2521)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1064/2509   มอบอำนาจให้ไปทำจำนองและมอบโฉนดให้ไว้ ตราบใดที่ยังมิได้ไปจดทะเบียนจำนองการจำนองก็ยังไม่มีขึ้นโดยสมบูรณ์ เพราะยังไม่ได้ทำตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ เมื่อผู้มอบอำนาจตาย ใบมอบอำนาจย่อมระงับไป ผู้ที่รับโฉนดไว้ไม่มีสิทธิยึดโฉนดไว้ได้
          5. หนี้ที่จำนองเป็นประกันต้องเป็นหนี้ที่สมบูรณ์ ตามมาตรา 707
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9091/2538   ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอนไว้ภายใน 10 ปี ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 31 ดังนั้นการที่โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายเพื่อโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยภายในกำหนดเวลาห้ามโอนเป็นการกระทำนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายนิติกรรมสัญญาจะซื้อจะขายจึงตกเป็นโมฆะ แม้ต่อมาหลังจากทำสัญญาแล้วจะได้มีพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.ที่ดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2521 มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 31 แห่ง ป.ที่ดิน ที่ใช้บังคับอยู่เดิมมิให้ใช้บังคับกับที่ดินในกรณีเช่นคดีนี้ก็ตาม ก็ไม่ทำให้นิติกรรมที่เป็นโมฆะแล้วนั้นกลับสมบูรณ์ขึ้นได้อีก ดังนั้นเมื่อสัญญาจะซื้อจะขายตกเป็นโมฆะ สัญญาจำนองเพื่อประกันสัญญาจะซื้อจะขายจึงไม่อาจบังคับได้เพราะสัญญาจำนองจะมีได้เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 707 ประกอบด้วย มาตรา 681 ดังนั้น จึงไม่อาจบังคับตามสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาจำนองได้ เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายตกเป็นโมฆะ จึงต้องบังคับตามป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง กล่าวคือ ในการคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรมให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ จำเลยต้องคืนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และรับเงินค่าที่ดินพิพาทที่โจทก์นำไปวางไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4372/2545   การที่โจทก์นำเงินดอกเบี้ยจำนวน 60,000 บาท  ที่จำเลยค้างชำระซึ่งเป็นดอกเบี้ยที่คิดในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน  อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.  2475  มาตรา 3 ประกอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 654 ไปรวมเข้ากับต้นเงิน 300,000 บาท ที่กู้ยืมนั้น  แสดงว่าโจทก์และจำเลยมีเจตนาที่จะแบ่งแยกการกู้เงินออกเป็นสองส่วน  คือจำนวน 300,000 บาท และ 60,000 บาท เฉพาะนิติกรรมกู้ยืมส่วนที่เป็นดอกเบี้ย 60,000 บาท เท่านั้นที่ตกเป็นโมฆะ  ส่วนนิติกรรมการกู้ยืมในส่วนจำนวน 300,000 บาท ยังคงสมบูรณ์อยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 173 หนี้กู้ยืมระหว่างโจทก์จำเลยในส่วนนี้จึงเป็นหนี้ที่สมบูรณ์  จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้เงินกู้ในวงเงิน 360,000 บาท   สัญญาจำนองดังกล่าวจึงมีผลบังคับได้ตามจำนวนหนี้ประธานที่สมบูรณ์คือจำนวน 300,000 บาท  เมื่อโจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองแล้วโจทก์ก็ย่อมมีสิทธิบังคับจำนองในหนี้ส่วนนี้ได้
          เมื่อหนี้สมบูรณ์แล้ว แม้จะขาดหลักฐานในการฟ้องร้อง ก็สามารถจำนองประกันหนี้นั้นได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1604/2536  การนำสืบถึงมูลหนี้เดิมอันเป็นที่มาแห่งหนี้ตามฟ้องเป็นการนำสืบตามประเด็นแห่งคดีหาเป็นการนำสืบนอกประเด็นไม่   จำเลยที่ 2 และที่ 3 จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 1 แม้การกู้ยืมเงินขาดหลักฐานตามกฎหมายก็เพียงต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องบังคับคดีเอากับจำเลยที่ 1 เท่านั้นเมื่อหนี้การกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีอยู่จริงและสมบูรณ์ตามกฎหมาย ย่อมมีการจำนองเป็นประกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 707 และ 681 เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ โจทก์ย่อมบังคับเอากับผู้จำนองได้
          หนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไขจะจำนองไว้เป็นประกันก็ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2207/2531   ก.  ผู้เป็นสมาชิกสหกรณ์จำเลยได้กู้เงินจำเลยโดยโจทก์ผู้เป็นสมาชิกอีกผู้หนึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาโจทก์กู้เงินจำเลยโดยจำนองที่ดินไว้แก่จำเลยสัญญาจำนองมีข้อความว่า เพื่อประกันเงินซึ่งโจทก์เป็นหนี้จำเลยอยู่ในขณะทำสัญญาหรือในเวลาหนึ่งเวลาใดต่อไปภายหน้า กับทั้งหนี้สินต่าง ๆ ซึ่งโจทก์จะต้องรับผิดไม่ว่าในฐานะใด ๆ ต่อจำเลย ดังนี้ สัญญาจำนองย่อมครอบคลุมถึงหนี้ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวด้วย แม้โจทก์จะชำระหนี้ที่โจทก์กู้จากจำเลยครบถ้วนแล้ว สัญญาจำนองก็ยังไม่ระงับสิ้นไป จำเลยมีสิทธิที่จะไม่จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินให้โจทก์
          6. สัญญาจำนองเป็นสัญญาที่ก่อให้เกิดหนี้อุปกรณ์ คือ สัญญาจำนองทำขึ้นมาเพื่อประกันการชำระหนี้ประธาน หนี้จำนองจึงต้องอยู่ในกรอบหนี้ประธาน ถ้าหนี้ประธานไม่มีผลผูกพัน สัญญาจำนองก็ไม่มีผลผูกพันให้ผู้จำนองต้องรับผิดไปด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 906/2536   การที่จำเลยที่ 1 ผู้จัดการสาขาธนาคารจำเลยที่ 2 ให้สินเชื่อแก่โจทก์ร่วมอยู่ในกรอบวัตถุประสงค์ของธนาคารจำเลยที่ 2 และการที่จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ลงชื่อในใบรับเงินในใบถอนเงิน โดยจำเลยที่ 1ไม่ได้จ่ายเงินนั้น เป็นการกระทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมีมูลเหตุควรเชื่อว่าจำเลยที่ 1 มีอำนาจกระทำได้ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามหลักกฎหมายเรื่องตัวการตัวแทน   การจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ แม้จะจดทะเบียนจำนองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยชอบ แต่เมื่อไม่มีมูลหนี้ที่ลูกหนี้จะต้องรับผิดต่อผู้รับจำนอง ผู้จำนองก็มีสิทธิขอให้ผู้รับจำนองจดทะเบียนปลดจำนองได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 40/2513   จำนองเป็นสัญญาที่เอาทรัพย์สินตราไว้เป็นประกันการชำระหนี้ จึงมีหนี้ที่จะต้องชำระแก่กันอันเป็นหนี้ประธาน และมีจำนองเป็นอุปกรณ์ของหนี้นั้น
          การบังคับจำนองแก่ทรัพย์ซึ่งจำนองจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีการไม่ชำระหนี้อันเป็นประธานเกิดขึ้น ดังนั้น ในกรณีที่มีการบังคับจำนองโดยเอาทรัพย์สินของจำเลยซึ่งจำนองไว้ออกขายทอดตลาดเพื่อใช้เงินที่จำเลยกู้โจทก์ไป แต่ขายได้เงินสุทธิน้อยกว่าเงินที่จำเลยค้างชำระอยู่ หากในสัญญาจำนองไม่ปรากฏว่าจำเลยยอมให้เอาทรัพย์อื่นนอกจากทรัพย์ที่จำนองชำระหนี้ได้อีกแล้ว จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดในจำนวนเงินที่ขาด โจทก์จะขอให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยมาชำระหนี้อีกหาได้ไม่
          7. ผู้รับจำนองมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ ตามมาตรา 702 วรรคสอง "ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่" ซึ่งเจ้าหนี้สามัญ คือ เจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันอะไรเป็นพิเศษที่จะทำให้ได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6293/2545   โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยเพื่อนำออกขายทอดตลาดปรากฏว่าโฉนดที่ดินของที่ดินที่ถูกยึดอยู่ในความครอบครองของผู้ร้องในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากเจ้าหนี้เดิมของจำเลย ผู้ร้องย่อมเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้จำนองในที่ดินผู้ร้องในฐานะผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินจำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญโดยมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 702 วรรคสอง เพราะการจำนองย่อมติดตามตัวที่ดินไปตลอดจนกว่าผู้ร้องจะได้รับชำระหนี้ แต่การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ผู้ร้องส่งมอบโฉนดที่ดินที่จะขายทอดตลาดนั้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 275, 276 ประกอบด้วยมาตรา 304 กรณีเรื่องสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินจึงเป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องผู้เป็นเจ้าหนี้กับจำเลยผู้เป็นลูกหนี้เท่านั้น ผู้ร้องจะยึดหน่วงโฉนดที่ดินไว้รอจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้อันเป็นการกระทบสิทธิโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอีกคดีหนึ่งที่จะบังคับยึดที่ดินเพื่อขายทอดตลาดหาได้ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4105/2548   การขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองมีทั้งการขายโดยปลอดจำนอง และการขายโดยจำนองติดไป หากเป็นการขายทอดตลาดโดยปลอดจำนอง เจ้าหนี้จำนองย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้รายอื่น ส่วนการขายทอดตลาดโดยจำนองติดไป ผู้รับจำนองยังมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง โดยบังคับจำนองเอาแก่ผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนองตามมาตรา 735 เมื่อจำเลยเป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนองโดยการซื้อทรัพย์สินที่จำนองจากการขายทอดตลาด มิใช่คู่สัญญาตามสัญญาจำนอง จำเลยจึงเป็นบุคคลภายนอก ย่อมไม่ต้องรับผิดตามสัญญาจำนองและสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองที่ยอมให้บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นที่มิใช่ทรัพย์สินที่จำนอง แม้โจทก์ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองโดยมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 702 วรรคสอง แต่จำเลยผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนองก็มีหน้าที่เพียงปลดเปลื้องภาระจำนองด้วยการไถ่ถอนจำนอง ตามบทบัญญัติในบรรพ 3 ลักษณะ 12 หมวด 5 แห่ง ป.พ.พ. เท่านั้น ดังนั้น จำเลยจึงไม่ต้องชำระหนี้ตามสัญญาจำนองแก่โจทก์ และหากการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองได้เงินสุทธิไม่พอ จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดแก่โจทก์อีก


12 พฤศจิกายน 2559

ทายาทมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดก

          เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกก็ตกแก่ทายาททันที ทายาทย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกหรือฟ้องแบ่งทรัพย์มรดกได้ทันที เว้นแต่จะมีพินัยกรรมกำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาไว้ให้เรียกร้องกันในภายหลัง ตามมาตรา 1637
          แต่อย่างไรก็ตาม การฟ้องแบ่งมรดกนั้นกฎหมายได้กำหนดอายุความไว้ตามมาตรา 1754 คือ มีอายุความหนึ่งปี นับแต่วันที่ทายาทได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย และมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย
          ทั้งนี้ การฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกจะต้องอยู่ในบังคับแห่งอายุความ ตามมาตรา 1754 แต่ถ้าทายาทคนใดได้ครบครองทรัพย์มรดก ทายาทคนนั้นก็ฟ้องให้แบ่งมรดกนั้นได้แม้จะพ้นกำหนดอายุความในมาตรา 1754 แล้วก็ตาม (มาตรา 1748)

          1. สิทธิขอแบ่งมรดกของทายาทที่ได้ครอบครองทรัพย์มรดก 
          มาตรา  1748  "ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน ทายาทคนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แล้วก็ดี
          สิทธิที่จะเรียกให้แบ่งทรัพย์มรดกตามวรรคก่อน จะตัดโดยนิติกรรมเกินคราวละสิบปีไม่ได้"



          การครอบครองทรัพย์มรดกของทายาท ตามมาตรา 1748 นี้ คือ การยึดถือทรัพย์มรดกนั้นไว้เพื่อตนในฐานะทายาท โดยการครอบครองอาจมีการครอบครองแทนก็ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 433/2493  การที่ทายาทของผู้ตายร่วมกันไปกู้เงินผู้อื่นมาไถ่นาพิพาท และให้เจ้าหนี้ทำนาพิพาทต่างดอกเบี้ยภายใน 1 ปีนับแต่เจ้ามรดกตายนั้น ถือว่าทายาทเหล่านั้นได้ครอบครองนาพิพาทด้วยกัน ตลอดเวลาที่เจ้าหนี้ทำนามรดกนั้นต่างดอกเบี้ยอยู่ หากทายาทคนใดไปลอบไถ่มาโดยไม่แจ้งให้ทายาทอื่นทราบ ก็ไม่ถือว่าทายาทคนอื่นสละการครอบครอง คงถือว่าทายาทลอบที่ไถ่มาครอบครองแทนทายาทอื่นนั้น และคดีไม่ขาดอายุความมรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 259/2506 (ประชุมใหญ่)  โจทก์อยู่กับมารดาที่เรือนมารดาในที่พิพาท ก่อนมารดาตาย มารดาตายที่พิพาทตกเป็นมรดกของมารดา โจทก์ก็ยังคงอยู่ที่เรือนมารดาอีกหลายเดือนนับแต่มารดาตาย แล้วเรือนมารดาก็ถูกรื้อถวายวัด โจทก์จึงมาอยู่ที่เรือนจำเลยในที่พิพาทอีกหลายเดือน รวมเวลาที่โจทก์อยู่ในที่พิพาทหลังจากมารดาตายได้ราวปีเศษ โจทก์จึงไปอยู่ที่จังหวัดอื่น นับว่าโจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกมากับจำเลยด้วยกันในตอนแรก โจทก์กับจำเลยจึงมีฐานะเป็นเจ้าของทรัพย์มรดกร่วมกันมา การที่จำเลยครอบครองที่พิพาทต่อมาถือได้ว่าครอบครองที่พิพาทไว้แทนในฐานะเจ้าของร่วม แม้โจทก์มาฟ้องขอให้แบ่งมรดกที่พิพาทภายหลังมารดาตายแล้ว 18 ปี  คดีก็ไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1365/2508  การที่จำเลยได้ครอบครองทรัพย์มรดกแทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ตลอดมาตั้งแต่เจ้ามรดกตาย แม้ต่อมาโจทก์บรรลุนิติภาวะแล้ว จำเลยก็ยังคงครอบครองแทนต่อมาอีก โจทก์ย่อมฟ้องคดีเกิน 10 ปีนับตั้งแต่เจ้ามรดกตายได้ คดีไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748
          การที่จำเลยบอกโจทก์ว่าจะไม่ให้ทรัพย์มรดกที่เจ้ามรดกให้นั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยพูดไปด้วยความโมโห ไม่มีเจตนาจริงจังก็ไม่ถือว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะการยึดถือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 กรณีไม่ใช่โจทก์ถูกจำเลยแย่งการครอบครอง โจทก์จึงไม่ต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6460/2538  จำเลยทั้งสองทำกินในทรัพย์มรดกร่วมกับเจ้ามรดกและมารดาจำเลยทั้งสองก่อนเจ้ามรดกถึงแก่กรรม 10 ปีเศษ เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรมก็ยังครอบครองทรัพย์มรดกนับแต่เจ้ามรดกถึงแก่กรรมเกิน 10 ปีแล้ว โดยโจทก์และผู้ร้องสอดไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่แรก ฉะนั้นสิทธิของโจทก์และผู้ร้องสอดให้จำเลยทั้งสองแบ่งมรดกซึ่งเป็นคดีมรดกจึงต้องห้ามมิให้ฟ้องตาม ป.พ.พ.มาตรา 1754 วรรคท้าย สิทธิในทรัพย์มรดกดังกล่าวย่อมตกแก่จำเลยทั้งสองโดยสมบูรณ์ การที่จำเลยที่ 1 ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกในเวลาต่อมาก็เพื่อจะดำเนินการให้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนให้ได้สิทธิโดยสมบูรณ์ในทรัพย์มรดกเท่านั้น หาใช่เพื่อประโยชน์แก่ทายาทอื่น ๆ ซึ่งสิ้นสิทธิในการฟ้องคดีเกี่ยวกับทรัพย์มรดกไปโดยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1754 แล้วไม่
          กรณีดังกล่าวมิใช่กรณีจำเลยที่ 1 สละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 192 เดิม หรือ 193/24 ใหม่ ฉะนั้นถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองครอบครองทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกแทนหรือเพื่อประโยชน์แก่ทายาทอื่นทั้งปวงของเจ้ามรดก โจทก์และผู้ร้องจะยกเอาประโยชน์แห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1748 มาอ้างสิทธิเพื่อเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองแบ่งทรัพย์มรดกเมื่อล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แล้วหาได้ไม่ จำเลยจึงยกอายุความใช้ยันโจทก์และผู้ร้องสอดได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1111/2540  ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนด การที่ผู้ตายยกที่ดินพิพาทให้ผู้ร้อง ซึ่งทายาทคนหนึ่งของผู้ตาย แต่มิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่สมบูรณ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 525 เมื่อการยกให้ไม่สมบูรณ์ ต่อมาเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายและไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้แสดงเจตนาไปยังทายาทคนอื่นว่าผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตนเอง การครอบครองที่ดินพิพาทของผู้ร้องจึงเป็นการครอบครองแทนทายาทคนอื่นด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 754/2541  เมื่อทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่พิพาทยังอยู่ระหว่างทายาทครอบครองร่วมกันและยังมิได้มีการแบ่งปันกัน แม้จำเลยจะครอบครองทรัพย์มรดกก็เป็นการครอบครองทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ยังมิได้แบ่งปันกัน เป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นซึ่งรวมถึงโจทก์ด้วย แม้โจทก์จะฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายหรือนับแต่เมื่อโจทก์รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก คดีของโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1754 และเมื่อพ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลาและสตูล พ.ศ.2489 มาตรา 3 กำหนดให้การวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องอายุความมรดกไม่อยู่ในบังคับต้องใช้กฎหมายอิสลาม กรณีจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1231/2547  ขณะมีชีวิตอยู่ ห. เพียงแต่มีความประสงค์จะยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเท่านั้น แต่ยังไม่ได้มีการยกให้จริง ดังนั้น ห. ถึงแก่กรรมที่ดินพิพาทจึงย่อมเป็นทรัพย์มรดกของ ห. ตกได้แก่บรรดาทายาทของ ห. ซึ่งรวมถึงโจทก์และจำเลยด้วย การที่จำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาภายหลังจากที่ ห. ถึงแก่กรรมแล้วจึงเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทของ ห. คนอื่นๆ ด้วย จำเลยเพิ่งจะมาเปลี่ยนเจตนาครอบครองเพื่อตนก็เมื่อจำเลยไปยื่นคำขอให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแต่เพียงผู้เดียวเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2537 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2538 จึงมีอำนาจฟ้อง

          ระยะเวลาในการครอบครองทรัพย์มรดกที่จะมีผลตามมาตรา 1748 นั้น แม้จะเป็นการครอบครองเพียงหนึ่งวันก็ถือว่าทายาทนั้นได้ครอบครองแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องเข้าครอบครองภายในอายุความด้วย มิฉะนั้น ทายาทอื่นอาจยกอายุความขึ้นใช้ยันเอาได้ อันจะทำให้การเข้ายึดถือนั้นไม่เกิดผล
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 752/2508  เจ้ามรดกตาย ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกได้ครอบครองมรดกร่วมกัน แม้เพียง 1 เดือนก็ถือได้ว่าได้ร่วมกันรับมรดกดังกล่าวและเป็นเจ้าของทรัพย์มรดกร่วมกันแล้ว เมื่อทายาทฝ่ายหนึ่งมาฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวนั้น จึงเป็นการฟ้องขอให้แบ่งทรัพย์ซึ่งทายาทฝ่ายนั้นเป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วย จะนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาใช้บังคับไม่ได้
          โจทก์จำเลยครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกันมา ต่อมาโจทก์โกรธจำเลยจึงแยกไปอยู่เสียที่อื่น จำเลยจึงครอบครอบทรัพย์มรดกนั้นแต่ผู้เดียวต้องถือว่าครอบครองในฐานะเจ้าของร่วมกันและแทนกัน มิใช่เป็นการเข้าแย่งการครองครองดังประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375
          ทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกมีสิทธิจะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดก แม้จะล่วงพ้นอายุความตามมาตรา 1754 แล้วนั้น หมายถึง เรียกร้องให้แบ่งปันทรัพย์มรดกเฉพาะทรัพย์สินที่ตนได้ครอบครองเท่านั้น จะเรียกร้องให้แบ่งปันทรัพย์มรดกอื่นที่ไม่ได้ครอบครองหาได้ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3201/2545  โจทก์ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกภายหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายเป็นเวลาถึง 37 ปีเศษ จึงพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เจ้ามรดกตายหรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ซึ่งต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 แต่หากโจทก์ซึ่งเป็นทายาทได้ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งกันก็ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1748 แล้ว
          ทรัพย์มรดกที่ดินของ ผ. เจ้ามรดกได้แบ่งปันให้แก่ ร. บ. และ ส. ทายาทของผ. และบุคคลทั้งสามดังกล่าวเข้าครอบครองที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัด อันเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคแรก จึงถือว่าการแบ่งปันมรดกเสร็จสิ้นแล้ว และนับแต่นั้นมาย่อมถือว่า บุคคลทั้งสามครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตน มิใช่ครอบครองแทนโจทก์ซึ่งเป็นทายาท ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเอาส่วนแบ่งมรดกอีก

          ผู้จัดการมรดกครอบครองทรัพย์มรดกนั้นในฐานะตัวแทนทายาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5710/2544  โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกมิใช่ฟ้องให้จำเลยรับผิดในการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้กระทำไปในฐานะผู้จัดการมรดก จึงเป็นคดีมรดกไม่ใช่คดีจัดการมรดก
          เมื่อข้อเท็จจริงยังมีที่ดินมรดกอีก 3 แปลงที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกยังไม่ได้จัดการแบ่งให้ทายาทแสดงว่าการจัดการมรดกยังอยู่ในระหว่างจัดการ เมื่อจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกจึงเป็นผู้แทนของทายาททั้งปวงโดยนำลักษณะตัวการตัวแทนมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1720 การที่จำเลยครอบครองทรัพย์มรดกในระหว่างจัดการมรดกถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทตาม มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1368 โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทชอบที่จะฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยได้แม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความตาม มาตรา 1754 ทั้งนี้ ตาม มาตรา 1748

          ผู้เช่าครอบครองทรัพย์มรดกต่อมาภายหลังจากเจ้ามรดกตาย ถือว่าผู้เช่าครอบครองแทนทายาททุกคน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1751/2542  ท. เช่าที่ดินพิพาทจาก จ. แม้ จ. ถึงแก่กรรมแล้ว ท. ก็ยังเช่าติดต่อกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ถือได้ว่า ท. ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทของ จ. ซึ่งก็คือโจทก์กับจำเลยทั้งสอง มิได้ครอบครองแทนเฉพาะจำเลยทั้งสองที่เป็นผู้เก็บค่าเช่าเท่านั้น การที่จำเลยทั้งสองได้จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินพิพาทโดยโจทก์ไม่ทราบประกาศกับมิได้คัดค้าน ยังถือไม่ได้ว่ามีการแบ่งมรดกที่ดินพิพาทแล้ว เพราะการปิดประกาศการขอรับมรดกของเจ้าพนักงานที่ดินก็เพื่อให้ผู้ที่มีสิทธิเกี่ยวข้องได้ทราบและมีการกำหนดเวลาให้เพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินสามารถดำเนินการเกี่ยวกับคำขอรับมรดกได้หากไม่มีผู้คัดค้าน เมื่อถือว่าโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งกัน โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความหนึ่งปี ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 748/2542  เมื่อโจทก์และทายาทอื่นซึ่งมีสิทธิได้รับมรดก ได้ตกลงแบ่งปันมรดกกันแล้ว แม้มรดกส่วนที่โจทก์จะได้รับโจทก์ยังไม่เข้าครอบครองในฐานะเจ้าของแต่โจทก์ได้ให้ผู้อื่นครอบครองแทน ซึ่งเปรียบเสมือนโจทก์ได้รับส่วนแบ่งและได้ครอบครองที่ดินพิพาทด้วยตนเองแล้ว การแบ่งปันมรดกจึงเสร็จสิ้นแล้ว
          โจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดก จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินมรดกที่ บ.มารดาจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับการแบ่งปันมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกโดยไม่มีส่วนของโจทก์ บ.ได้ครอบครองทำประโยชน์โดยโจทก์ไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยว ต่อมา บ.ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2และที่ 3 ครอบครองทำประโยชน์ต่อ โจทก์ไม่ฟ้องขอแบ่งมรดกภายใน 1 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความ ดังนี้ตามคำให้การจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีประเด็นเรื่องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้เปลี่ยนลักษณะการยึดถือที่ดินพิพาทอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์อันเป็นการแย่งการครอบครองของโจทก์ การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยประเด็นนี้แล้วอ้างเป็นเหตุยกฟ้องจึงเป็นการไม่ชอบ
          โจทก์และ บ.มารดาจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท โดย บ.ครอบครองที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ไว้แทน การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาหลังจาก บ.ถึงแก่ความตาย จึงเป็นการครอบครองแทนโจทก์ด้วย โจทก์จึงยังคงเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทอยู่ครึ่งหนึ่ง และมีสิทธิขอแบ่งที่ดินพิพาทตามฟ้อง

          2. ข้อตกลงมิให้แบ่งมรดก
          มาตรา 1748 วรรคสอง "สิทธิที่จะเรียกให้แบ่งทรัพย์มรดกตามวรรคก่อน จะตัดโดยนิติกรรมเกินคราวละสิบปีไม่ได้"
          สิทธิที่จะแบ่งมรดกในฐานะเจ้าของรวมนั้น เจ้าของรวมจะตกลงกันมิให้แบ่งก็ได้ ข้อตกลงนั้นอาจทำได้เป็นครั้งคราวไป โดยครั้งหนึ่งๆจะตกลงกันมิให้แบ่งปันเป็นระยะเวลาเกิน 10 ปีไม่ได้ โดยเมื่อครบกำหนด 10 ปี ก็อาจทำความตกลงกันใหม่มีระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี

          3. สิทธิร้องสอดเข้ามาในคดีฟ้องเรียกทรัพย์มรดก
          มาตรา  1749 วรรคหนึ่ง "ถ้ามีคดีฟ้องเรียกทรัพย์มรดก ผู้ซึ่งอ้างว่าตนเป็นทายาทมีสิทธิในทรัพย์มรดกนั้น จะร้องสอดเข้ามาในคดีก็ได้"

          4. การเรียกทายาทเข้ามารับส่วนแบ่งหรือกันส่วนไว้ให้ทายาทอื่น
          มาตรา  1749 วรรคสอง "แต่ศาลจะเรียกทายาทอื่น นอกจากคู่ความ หรือผู้ร้องสอด ให้เข้ามารับส่วนแบ่งหรือกันส่วนแห่งทรัพย์มรดกไว้เพื่อทายาทอื่นนั้นไม่ได้"
          ตามมาตรา 1749 วรรคสอง มีข้อห้ามอยู่ 2 ประการคือ 
          (1.) ห้ามศาลเรียกทายาทอื่นเข้ามารับส่วนแบ่ง
          (2.) ห้ามศาลกันส่วนแห่งทรัพย์มรดกไว้เพื่อทายาทอื่น
          ซึ่งข้อห้ามดังกล่าวนี้ ไม่เกี่ยวกับการฟ้องขอแบ่งมรดกในคดีอื่นๆ




คดีอาญา โจทก์จะต้องฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในอายุความ

          อายุความ
          มาตรา  95 "ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ
          (1) ยี่สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกยี่สิบปี
          (2) สิบห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี
          (3) สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี
          (4) ห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี
          (5) หนึ่งปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนลงมาหรือต้องระวางโทษอย่างอื่น
          ถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว ผู้กระทำความผิดหลบหนีหรือวิกลจริต และศาลสั่งงดการพิจารณาไว้จนเกินกำหนดดังกล่าวแล้วนับแต่วันที่หลบหนีหรือวันที่ศาลสั่งงดการพิจารณา ก็ให้ถือว่าเป็นอันขาดอายุความเช่นเดียวกัน"
          มาตรา  96 "ภายใต้บังคับมาตรา  95 ในกรณีความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ"




          อัยการขอผัดฟ้อง โดยไม่ได้นำตัวจำเลยส่งศาล แม้ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ผัดฟ้องได้ ก็ยังถือไม่ได้ว่าได้ตัวจำเลยมาอยู่ในอำนาจศาลแล้ว เพราะไม่มีการส่งมอบตัวจำเลยต่อศาล
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2144/2539  ความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 264 วรรคหนึ่ง มีกำหนดอายุความฟ้องร้อง 10 ปี นับแต่วันกระทำความผิดตามมาตรา 95(3)จำเลยกระทำความผิดข้อหาดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2527ต่อมาวันที่ 28 พฤศจิกายน 2537 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยส่งมอบแก่พนักงานสอบสวน ในวันเดียวกันพนักงานสอบสวนอนุญาตให้ประกันตัวไป วันที่ 30 พฤศจิกายน 2537 พนักงานอัยการขอผัดฟ้อง โดยไม่ได้นำตัวจำเลยส่งศาล แม้ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ผัดฟ้องได้ ก็ยังถือไม่ได้ว่าได้ตัวจำเลยมาอยู่ในอำนาจศาลแล้ว เพราะไม่มีการส่งมอบตัวจำเลยต่อศาล โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายยื่นฟ้องในวันที่ 2 ธันวาคม 2537 จนกระทั่งวันที่ 7 มีนาคม 2538 ซึ่งเป็นวันนัดไต่สวนมูลฟ้องและวันสุดท้ายของอายุความ 10 ปี คือวันที่ 3 ธันวาคม 2537 โจทก์ก็มิได้ตัวจำเลยมาส่งศาล จึงขาดอายุความฟ้องร้อง

          ศาลชั้นต้นได้รับฝากขังผู้ต้องหาไว้จากพนักงานสอบสวนและออกหมายขังไว้แล้วผู้ต้องหาหลบหนีไปเสียก่อนโจทก์ยื่นฟ้อง กรณีเช่นนี้นับได้ว่าจำเลยเป็นผู้อยู่ในอำนาจศาลในคดีนี้แล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1735/2514 (ประชุมใหญ่)  ในคดีอาญาถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลด้วยอายุความจึงจะหยุดนับ แต่ถ้าไม่ได้ตัวจำเลยมาศาลแม้จะยื่นฟ้องแล้วอายุความก็ยังคงเดินอยู่  ศาลชั้นต้นได้รับฝากขังผู้ต้องหาไว้จากพนักงานสอบสวนและออกหมายขังไว้แล้วผู้ต้องหาหลบหนีไปเสียก่อนโจทก์ยื่นฟ้อง กรณีเช่นนี้นับได้ว่าจำเลยเป็นผู้อยู่ในอำนาจศาลในคดีนี้แล้ว ศาลชั้นต้นชอบที่จะรับฟ้องของโจทก์ไว้ดำเนินการต่อไป

          ความผิดอันยอมความได้ อายุความฟ้องร้องตามมาตรา 95  ต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 96 ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด มิฉะนั้นขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2269/2538   จำเลยบุกรุกที่ดินโจทก์ แต่ในทางพิจารณาโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยเริ่มบุกรุกที่ดินของโจทก์ในเวลากลางวันหรือกลางคืน จึงฟังให้เป็นคุณแก่จำเลยว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์ในเวลากลางวัน ความผิดฐานบุกรุกเกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งแรกที่จำเลยเข้าไปรบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์ ส่วนการที่จำเลยครอบครองที่ดินต่อมาเป็นเพียงผลของการบุกรุกไม่ใช่เป็นความผิดต่อเนื่อง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 บทเดียว หาเป็นความผิดตามมาตรา 365 (3) อีกบทหนึ่งไม่ ซึ่งมาตรา 366 บัญญัติว่า เป็นความผิดอันยอมความได้ อายุความฟ้องร้องตามมาตรา 95  ต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 96 ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดมิฉะนั้นขาดอายุความ โจทก์มาร้องทุกข์เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2534 ทั้งๆที่ทราบเรื่องจำเลยบุกรุกตั้งแต่ต้นปี 2526 คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตาม.อ.มาตรา 96

          อายุความฟ้องผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 ต้องถือตามข้อหาหรือฐานความผิดที่ศาลพิจารณาได้ความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2060/2538  อัตราโทษในการพิจารณากำหนดอายุความฟ้องผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 ต้องถือตามข้อหาหรือฐานความผิดที่ศาลพิจารณาได้ความ ไม่ใช่พิจารณาจากข้อหาหรือฐานความผิดที่โจทก์ฟ้อง มิฉะนั้นอาจเป็นการขยายอายุความฟ้องคดี ซึ่งเป็นโทษต่อจำเลย

          อายุความเริ่มนับแต่วันกระทำความผิด ไม่สนว่าโจทก์จะได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1050/2537   โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 267 และ 268 ในวันที่ 31 สิงหาคม 2513 และ 15 มีนาคม 2520 โจทก์จะต้องฟ้องจำเลยสำหรับความผิดดังกล่าวภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันกระทำความผิดทั้งนี้ไม่ว่าโจทก์จะได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ แต่โจทก์เพิ่งฟ้องจำเลยสำหรับความผิดดังกล่าวเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2533 โจทก์จึงไม่ได้ฟ้องจำเลยภายในกำหนดสิบปี นับแต่วันกระทำความผิด ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(3)  
          ตามคำขอรังวัดเปลี่ยน น.ส.3 เป็น น.ส.3 ก. ที่จำเลยยื่นต่อนายอำเภอโดยลงชื่อจำเลยเป็นผู้ขอและมีข้อความระบุว่าจำเลยเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองที่ดิน น.ส.3 เอกสารดังกล่าวจึงเป็นเอกสารที่จำเลยยื่นต่อเจ้าพนักงานมิใช่เอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานที่จำเลยแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความลงในเอกสารนั้นการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 267 ดังนั้นการที่จำเลยนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) ที่เจ้าพนักงานที่ดินออกให้ตามคำขอของจำเลยดังกล่าวซึ่งไม่ใช่เอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตาม มาตรา 267 ไปคัดค้านการรังวัดออกโฉนดที่ดินของโจทก์จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268

          แต่อายุความร้องทุกข์สำหรับความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 มีกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดประกอบกันทั้งสองประการ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1011/2532  อายุความในการร้องทุกข์สำหรับความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 มีกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดประกอบกันทั้งสองประการ กฎหมายหาได้บัญญัติให้นับอายุความร้องทุกข์ตั้งแต่วันที่จำเลยกระทำความผิดไม่ จำเลยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มีข้อความหมิ่นประมาทโจทก์เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2528 และต่อมาวันที่ 14 มกราคม 2528 หนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวตามที่จำเลยให้สัมภาษณ์ ต้องถือว่าโจทก์รู้ตัวผู้กระทำความผิดในวันดังกล่าวเมื่อโจทก์ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ 13 เมษายน 2528 ซึ่งอยู่ภายในกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิด และรู้ตัวผู้กระทำความผิด แม้โจทก์นำคดีมาฟ้องหลังจากวันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเกินสามเดือนแต่ยังอยู่ภายในกำหนดอายุความตามมาตรา 95 คดีของโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ

          ราษฎรเป็นโจกท์ฟ้องจำเลยภายในอายุความ ปรากฏว่าในระหว่างไต่สวนมูลฟ้องคดีขาดอายุความ ศาลก็ไม่สามารถพิจารณาคดีต่อไปได้ ต้องพิพากษายกฟ้อง 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 270/2528   ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 นั้น ต้องฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว อายุความจึงจะหยุดนับ บทบัญญัติตามมาตรานี้ไม่ได้ใช้บังคับในกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์เท่านั้น ในกรณีที่ราษฎรเป็นโจกท์ก็ต้องถือหลักอย่างเดียวกัน
          โจทก์บรรยายฟ้องว่า เหตุเกิดระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2507 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2514 ความผิดของจำเลยที่โจทก์ฟ้องมีอายุความสิบปี โจทก์จะต้องฟ้องและได้ตัวจำเลยผู้กระทำผิดมายังศาลภายในวันที่ 30 มีนาคม 2524 คดีจึงจะไม่ขาดอายุความ โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยวันที่ 30 มีนาคม 2524 แต่ศาลชั้นต้นต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องของโจทก์ต่อไป ระหว่างนั้นจะถือว่าได้ตัวจำเลยมายังศาลและจำเลยอยู่ในอำนาจศาลแล้วไม่ได้ อายุความยังไม่หยุดนับศาลชั้นต้นสั่งคดีมีมูล หมายเรียกจำเลยแก้คดีและได้ตัวจำเลยมาพิจารณาเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2524 เกินสิบปีนับแต่วันที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดคดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1735/2514 ประชุมใหญ่)