12 พฤศจิกายน 2559

ทายาทมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดก

          เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกก็ตกแก่ทายาททันที ทายาทย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกหรือฟ้องแบ่งทรัพย์มรดกได้ทันที เว้นแต่จะมีพินัยกรรมกำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาไว้ให้เรียกร้องกันในภายหลัง ตามมาตรา 1637
          แต่อย่างไรก็ตาม การฟ้องแบ่งมรดกนั้นกฎหมายได้กำหนดอายุความไว้ตามมาตรา 1754 คือ มีอายุความหนึ่งปี นับแต่วันที่ทายาทได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย และมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย
          ทั้งนี้ การฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกจะต้องอยู่ในบังคับแห่งอายุความ ตามมาตรา 1754 แต่ถ้าทายาทคนใดได้ครบครองทรัพย์มรดก ทายาทคนนั้นก็ฟ้องให้แบ่งมรดกนั้นได้แม้จะพ้นกำหนดอายุความในมาตรา 1754 แล้วก็ตาม (มาตรา 1748)

          1. สิทธิขอแบ่งมรดกของทายาทที่ได้ครอบครองทรัพย์มรดก 
          มาตรา  1748  "ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน ทายาทคนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แล้วก็ดี
          สิทธิที่จะเรียกให้แบ่งทรัพย์มรดกตามวรรคก่อน จะตัดโดยนิติกรรมเกินคราวละสิบปีไม่ได้"



          การครอบครองทรัพย์มรดกของทายาท ตามมาตรา 1748 นี้ คือ การยึดถือทรัพย์มรดกนั้นไว้เพื่อตนในฐานะทายาท โดยการครอบครองอาจมีการครอบครองแทนก็ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 433/2493  การที่ทายาทของผู้ตายร่วมกันไปกู้เงินผู้อื่นมาไถ่นาพิพาท และให้เจ้าหนี้ทำนาพิพาทต่างดอกเบี้ยภายใน 1 ปีนับแต่เจ้ามรดกตายนั้น ถือว่าทายาทเหล่านั้นได้ครอบครองนาพิพาทด้วยกัน ตลอดเวลาที่เจ้าหนี้ทำนามรดกนั้นต่างดอกเบี้ยอยู่ หากทายาทคนใดไปลอบไถ่มาโดยไม่แจ้งให้ทายาทอื่นทราบ ก็ไม่ถือว่าทายาทคนอื่นสละการครอบครอง คงถือว่าทายาทลอบที่ไถ่มาครอบครองแทนทายาทอื่นนั้น และคดีไม่ขาดอายุความมรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 259/2506 (ประชุมใหญ่)  โจทก์อยู่กับมารดาที่เรือนมารดาในที่พิพาท ก่อนมารดาตาย มารดาตายที่พิพาทตกเป็นมรดกของมารดา โจทก์ก็ยังคงอยู่ที่เรือนมารดาอีกหลายเดือนนับแต่มารดาตาย แล้วเรือนมารดาก็ถูกรื้อถวายวัด โจทก์จึงมาอยู่ที่เรือนจำเลยในที่พิพาทอีกหลายเดือน รวมเวลาที่โจทก์อยู่ในที่พิพาทหลังจากมารดาตายได้ราวปีเศษ โจทก์จึงไปอยู่ที่จังหวัดอื่น นับว่าโจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกมากับจำเลยด้วยกันในตอนแรก โจทก์กับจำเลยจึงมีฐานะเป็นเจ้าของทรัพย์มรดกร่วมกันมา การที่จำเลยครอบครองที่พิพาทต่อมาถือได้ว่าครอบครองที่พิพาทไว้แทนในฐานะเจ้าของร่วม แม้โจทก์มาฟ้องขอให้แบ่งมรดกที่พิพาทภายหลังมารดาตายแล้ว 18 ปี  คดีก็ไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1365/2508  การที่จำเลยได้ครอบครองทรัพย์มรดกแทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ตลอดมาตั้งแต่เจ้ามรดกตาย แม้ต่อมาโจทก์บรรลุนิติภาวะแล้ว จำเลยก็ยังคงครอบครองแทนต่อมาอีก โจทก์ย่อมฟ้องคดีเกิน 10 ปีนับตั้งแต่เจ้ามรดกตายได้ คดีไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748
          การที่จำเลยบอกโจทก์ว่าจะไม่ให้ทรัพย์มรดกที่เจ้ามรดกให้นั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยพูดไปด้วยความโมโห ไม่มีเจตนาจริงจังก็ไม่ถือว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะการยึดถือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 กรณีไม่ใช่โจทก์ถูกจำเลยแย่งการครอบครอง โจทก์จึงไม่ต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6460/2538  จำเลยทั้งสองทำกินในทรัพย์มรดกร่วมกับเจ้ามรดกและมารดาจำเลยทั้งสองก่อนเจ้ามรดกถึงแก่กรรม 10 ปีเศษ เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรมก็ยังครอบครองทรัพย์มรดกนับแต่เจ้ามรดกถึงแก่กรรมเกิน 10 ปีแล้ว โดยโจทก์และผู้ร้องสอดไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่แรก ฉะนั้นสิทธิของโจทก์และผู้ร้องสอดให้จำเลยทั้งสองแบ่งมรดกซึ่งเป็นคดีมรดกจึงต้องห้ามมิให้ฟ้องตาม ป.พ.พ.มาตรา 1754 วรรคท้าย สิทธิในทรัพย์มรดกดังกล่าวย่อมตกแก่จำเลยทั้งสองโดยสมบูรณ์ การที่จำเลยที่ 1 ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกในเวลาต่อมาก็เพื่อจะดำเนินการให้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนให้ได้สิทธิโดยสมบูรณ์ในทรัพย์มรดกเท่านั้น หาใช่เพื่อประโยชน์แก่ทายาทอื่น ๆ ซึ่งสิ้นสิทธิในการฟ้องคดีเกี่ยวกับทรัพย์มรดกไปโดยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1754 แล้วไม่
          กรณีดังกล่าวมิใช่กรณีจำเลยที่ 1 สละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 192 เดิม หรือ 193/24 ใหม่ ฉะนั้นถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองครอบครองทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกแทนหรือเพื่อประโยชน์แก่ทายาทอื่นทั้งปวงของเจ้ามรดก โจทก์และผู้ร้องจะยกเอาประโยชน์แห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1748 มาอ้างสิทธิเพื่อเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองแบ่งทรัพย์มรดกเมื่อล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แล้วหาได้ไม่ จำเลยจึงยกอายุความใช้ยันโจทก์และผู้ร้องสอดได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1111/2540  ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนด การที่ผู้ตายยกที่ดินพิพาทให้ผู้ร้อง ซึ่งทายาทคนหนึ่งของผู้ตาย แต่มิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่สมบูรณ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 525 เมื่อการยกให้ไม่สมบูรณ์ ต่อมาเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายและไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้แสดงเจตนาไปยังทายาทคนอื่นว่าผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตนเอง การครอบครองที่ดินพิพาทของผู้ร้องจึงเป็นการครอบครองแทนทายาทคนอื่นด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 754/2541  เมื่อทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่พิพาทยังอยู่ระหว่างทายาทครอบครองร่วมกันและยังมิได้มีการแบ่งปันกัน แม้จำเลยจะครอบครองทรัพย์มรดกก็เป็นการครอบครองทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ยังมิได้แบ่งปันกัน เป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นซึ่งรวมถึงโจทก์ด้วย แม้โจทก์จะฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายหรือนับแต่เมื่อโจทก์รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก คดีของโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1754 และเมื่อพ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลาและสตูล พ.ศ.2489 มาตรา 3 กำหนดให้การวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องอายุความมรดกไม่อยู่ในบังคับต้องใช้กฎหมายอิสลาม กรณีจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1231/2547  ขณะมีชีวิตอยู่ ห. เพียงแต่มีความประสงค์จะยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเท่านั้น แต่ยังไม่ได้มีการยกให้จริง ดังนั้น ห. ถึงแก่กรรมที่ดินพิพาทจึงย่อมเป็นทรัพย์มรดกของ ห. ตกได้แก่บรรดาทายาทของ ห. ซึ่งรวมถึงโจทก์และจำเลยด้วย การที่จำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาภายหลังจากที่ ห. ถึงแก่กรรมแล้วจึงเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทของ ห. คนอื่นๆ ด้วย จำเลยเพิ่งจะมาเปลี่ยนเจตนาครอบครองเพื่อตนก็เมื่อจำเลยไปยื่นคำขอให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแต่เพียงผู้เดียวเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2537 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2538 จึงมีอำนาจฟ้อง

          ระยะเวลาในการครอบครองทรัพย์มรดกที่จะมีผลตามมาตรา 1748 นั้น แม้จะเป็นการครอบครองเพียงหนึ่งวันก็ถือว่าทายาทนั้นได้ครอบครองแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องเข้าครอบครองภายในอายุความด้วย มิฉะนั้น ทายาทอื่นอาจยกอายุความขึ้นใช้ยันเอาได้ อันจะทำให้การเข้ายึดถือนั้นไม่เกิดผล
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 752/2508  เจ้ามรดกตาย ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกได้ครอบครองมรดกร่วมกัน แม้เพียง 1 เดือนก็ถือได้ว่าได้ร่วมกันรับมรดกดังกล่าวและเป็นเจ้าของทรัพย์มรดกร่วมกันแล้ว เมื่อทายาทฝ่ายหนึ่งมาฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวนั้น จึงเป็นการฟ้องขอให้แบ่งทรัพย์ซึ่งทายาทฝ่ายนั้นเป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วย จะนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาใช้บังคับไม่ได้
          โจทก์จำเลยครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกันมา ต่อมาโจทก์โกรธจำเลยจึงแยกไปอยู่เสียที่อื่น จำเลยจึงครอบครอบทรัพย์มรดกนั้นแต่ผู้เดียวต้องถือว่าครอบครองในฐานะเจ้าของร่วมกันและแทนกัน มิใช่เป็นการเข้าแย่งการครองครองดังประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375
          ทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกมีสิทธิจะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดก แม้จะล่วงพ้นอายุความตามมาตรา 1754 แล้วนั้น หมายถึง เรียกร้องให้แบ่งปันทรัพย์มรดกเฉพาะทรัพย์สินที่ตนได้ครอบครองเท่านั้น จะเรียกร้องให้แบ่งปันทรัพย์มรดกอื่นที่ไม่ได้ครอบครองหาได้ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3201/2545  โจทก์ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกภายหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายเป็นเวลาถึง 37 ปีเศษ จึงพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เจ้ามรดกตายหรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ซึ่งต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 แต่หากโจทก์ซึ่งเป็นทายาทได้ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งกันก็ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1748 แล้ว
          ทรัพย์มรดกที่ดินของ ผ. เจ้ามรดกได้แบ่งปันให้แก่ ร. บ. และ ส. ทายาทของผ. และบุคคลทั้งสามดังกล่าวเข้าครอบครองที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัด อันเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคแรก จึงถือว่าการแบ่งปันมรดกเสร็จสิ้นแล้ว และนับแต่นั้นมาย่อมถือว่า บุคคลทั้งสามครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตน มิใช่ครอบครองแทนโจทก์ซึ่งเป็นทายาท ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเอาส่วนแบ่งมรดกอีก

          ผู้จัดการมรดกครอบครองทรัพย์มรดกนั้นในฐานะตัวแทนทายาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5710/2544  โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกมิใช่ฟ้องให้จำเลยรับผิดในการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้กระทำไปในฐานะผู้จัดการมรดก จึงเป็นคดีมรดกไม่ใช่คดีจัดการมรดก
          เมื่อข้อเท็จจริงยังมีที่ดินมรดกอีก 3 แปลงที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกยังไม่ได้จัดการแบ่งให้ทายาทแสดงว่าการจัดการมรดกยังอยู่ในระหว่างจัดการ เมื่อจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกจึงเป็นผู้แทนของทายาททั้งปวงโดยนำลักษณะตัวการตัวแทนมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1720 การที่จำเลยครอบครองทรัพย์มรดกในระหว่างจัดการมรดกถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทตาม มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1368 โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทชอบที่จะฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยได้แม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความตาม มาตรา 1754 ทั้งนี้ ตาม มาตรา 1748

          ผู้เช่าครอบครองทรัพย์มรดกต่อมาภายหลังจากเจ้ามรดกตาย ถือว่าผู้เช่าครอบครองแทนทายาททุกคน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1751/2542  ท. เช่าที่ดินพิพาทจาก จ. แม้ จ. ถึงแก่กรรมแล้ว ท. ก็ยังเช่าติดต่อกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ถือได้ว่า ท. ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทของ จ. ซึ่งก็คือโจทก์กับจำเลยทั้งสอง มิได้ครอบครองแทนเฉพาะจำเลยทั้งสองที่เป็นผู้เก็บค่าเช่าเท่านั้น การที่จำเลยทั้งสองได้จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินพิพาทโดยโจทก์ไม่ทราบประกาศกับมิได้คัดค้าน ยังถือไม่ได้ว่ามีการแบ่งมรดกที่ดินพิพาทแล้ว เพราะการปิดประกาศการขอรับมรดกของเจ้าพนักงานที่ดินก็เพื่อให้ผู้ที่มีสิทธิเกี่ยวข้องได้ทราบและมีการกำหนดเวลาให้เพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินสามารถดำเนินการเกี่ยวกับคำขอรับมรดกได้หากไม่มีผู้คัดค้าน เมื่อถือว่าโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งกัน โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความหนึ่งปี ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 748/2542  เมื่อโจทก์และทายาทอื่นซึ่งมีสิทธิได้รับมรดก ได้ตกลงแบ่งปันมรดกกันแล้ว แม้มรดกส่วนที่โจทก์จะได้รับโจทก์ยังไม่เข้าครอบครองในฐานะเจ้าของแต่โจทก์ได้ให้ผู้อื่นครอบครองแทน ซึ่งเปรียบเสมือนโจทก์ได้รับส่วนแบ่งและได้ครอบครองที่ดินพิพาทด้วยตนเองแล้ว การแบ่งปันมรดกจึงเสร็จสิ้นแล้ว
          โจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดก จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินมรดกที่ บ.มารดาจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับการแบ่งปันมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกโดยไม่มีส่วนของโจทก์ บ.ได้ครอบครองทำประโยชน์โดยโจทก์ไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยว ต่อมา บ.ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2และที่ 3 ครอบครองทำประโยชน์ต่อ โจทก์ไม่ฟ้องขอแบ่งมรดกภายใน 1 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความ ดังนี้ตามคำให้การจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีประเด็นเรื่องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้เปลี่ยนลักษณะการยึดถือที่ดินพิพาทอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์อันเป็นการแย่งการครอบครองของโจทก์ การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยประเด็นนี้แล้วอ้างเป็นเหตุยกฟ้องจึงเป็นการไม่ชอบ
          โจทก์และ บ.มารดาจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท โดย บ.ครอบครองที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ไว้แทน การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาหลังจาก บ.ถึงแก่ความตาย จึงเป็นการครอบครองแทนโจทก์ด้วย โจทก์จึงยังคงเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทอยู่ครึ่งหนึ่ง และมีสิทธิขอแบ่งที่ดินพิพาทตามฟ้อง

          2. ข้อตกลงมิให้แบ่งมรดก
          มาตรา 1748 วรรคสอง "สิทธิที่จะเรียกให้แบ่งทรัพย์มรดกตามวรรคก่อน จะตัดโดยนิติกรรมเกินคราวละสิบปีไม่ได้"
          สิทธิที่จะแบ่งมรดกในฐานะเจ้าของรวมนั้น เจ้าของรวมจะตกลงกันมิให้แบ่งก็ได้ ข้อตกลงนั้นอาจทำได้เป็นครั้งคราวไป โดยครั้งหนึ่งๆจะตกลงกันมิให้แบ่งปันเป็นระยะเวลาเกิน 10 ปีไม่ได้ โดยเมื่อครบกำหนด 10 ปี ก็อาจทำความตกลงกันใหม่มีระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี

          3. สิทธิร้องสอดเข้ามาในคดีฟ้องเรียกทรัพย์มรดก
          มาตรา  1749 วรรคหนึ่ง "ถ้ามีคดีฟ้องเรียกทรัพย์มรดก ผู้ซึ่งอ้างว่าตนเป็นทายาทมีสิทธิในทรัพย์มรดกนั้น จะร้องสอดเข้ามาในคดีก็ได้"

          4. การเรียกทายาทเข้ามารับส่วนแบ่งหรือกันส่วนไว้ให้ทายาทอื่น
          มาตรา  1749 วรรคสอง "แต่ศาลจะเรียกทายาทอื่น นอกจากคู่ความ หรือผู้ร้องสอด ให้เข้ามารับส่วนแบ่งหรือกันส่วนแห่งทรัพย์มรดกไว้เพื่อทายาทอื่นนั้นไม่ได้"
          ตามมาตรา 1749 วรรคสอง มีข้อห้ามอยู่ 2 ประการคือ 
          (1.) ห้ามศาลเรียกทายาทอื่นเข้ามารับส่วนแบ่ง
          (2.) ห้ามศาลกันส่วนแห่งทรัพย์มรดกไว้เพื่อทายาทอื่น
          ซึ่งข้อห้ามดังกล่าวนี้ ไม่เกี่ยวกับการฟ้องขอแบ่งมรดกในคดีอื่นๆ




คดีอาญา โจทก์จะต้องฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในอายุความ

          อายุความ
          มาตรา  95 "ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ
          (1) ยี่สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกยี่สิบปี
          (2) สิบห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี
          (3) สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี
          (4) ห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี
          (5) หนึ่งปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนลงมาหรือต้องระวางโทษอย่างอื่น
          ถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว ผู้กระทำความผิดหลบหนีหรือวิกลจริต และศาลสั่งงดการพิจารณาไว้จนเกินกำหนดดังกล่าวแล้วนับแต่วันที่หลบหนีหรือวันที่ศาลสั่งงดการพิจารณา ก็ให้ถือว่าเป็นอันขาดอายุความเช่นเดียวกัน"
          มาตรา  96 "ภายใต้บังคับมาตรา  95 ในกรณีความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ"




          อัยการขอผัดฟ้อง โดยไม่ได้นำตัวจำเลยส่งศาล แม้ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ผัดฟ้องได้ ก็ยังถือไม่ได้ว่าได้ตัวจำเลยมาอยู่ในอำนาจศาลแล้ว เพราะไม่มีการส่งมอบตัวจำเลยต่อศาล
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2144/2539  ความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 264 วรรคหนึ่ง มีกำหนดอายุความฟ้องร้อง 10 ปี นับแต่วันกระทำความผิดตามมาตรา 95(3)จำเลยกระทำความผิดข้อหาดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2527ต่อมาวันที่ 28 พฤศจิกายน 2537 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยส่งมอบแก่พนักงานสอบสวน ในวันเดียวกันพนักงานสอบสวนอนุญาตให้ประกันตัวไป วันที่ 30 พฤศจิกายน 2537 พนักงานอัยการขอผัดฟ้อง โดยไม่ได้นำตัวจำเลยส่งศาล แม้ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ผัดฟ้องได้ ก็ยังถือไม่ได้ว่าได้ตัวจำเลยมาอยู่ในอำนาจศาลแล้ว เพราะไม่มีการส่งมอบตัวจำเลยต่อศาล โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายยื่นฟ้องในวันที่ 2 ธันวาคม 2537 จนกระทั่งวันที่ 7 มีนาคม 2538 ซึ่งเป็นวันนัดไต่สวนมูลฟ้องและวันสุดท้ายของอายุความ 10 ปี คือวันที่ 3 ธันวาคม 2537 โจทก์ก็มิได้ตัวจำเลยมาส่งศาล จึงขาดอายุความฟ้องร้อง

          ศาลชั้นต้นได้รับฝากขังผู้ต้องหาไว้จากพนักงานสอบสวนและออกหมายขังไว้แล้วผู้ต้องหาหลบหนีไปเสียก่อนโจทก์ยื่นฟ้อง กรณีเช่นนี้นับได้ว่าจำเลยเป็นผู้อยู่ในอำนาจศาลในคดีนี้แล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1735/2514 (ประชุมใหญ่)  ในคดีอาญาถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลด้วยอายุความจึงจะหยุดนับ แต่ถ้าไม่ได้ตัวจำเลยมาศาลแม้จะยื่นฟ้องแล้วอายุความก็ยังคงเดินอยู่  ศาลชั้นต้นได้รับฝากขังผู้ต้องหาไว้จากพนักงานสอบสวนและออกหมายขังไว้แล้วผู้ต้องหาหลบหนีไปเสียก่อนโจทก์ยื่นฟ้อง กรณีเช่นนี้นับได้ว่าจำเลยเป็นผู้อยู่ในอำนาจศาลในคดีนี้แล้ว ศาลชั้นต้นชอบที่จะรับฟ้องของโจทก์ไว้ดำเนินการต่อไป

          ความผิดอันยอมความได้ อายุความฟ้องร้องตามมาตรา 95  ต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 96 ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด มิฉะนั้นขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2269/2538   จำเลยบุกรุกที่ดินโจทก์ แต่ในทางพิจารณาโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยเริ่มบุกรุกที่ดินของโจทก์ในเวลากลางวันหรือกลางคืน จึงฟังให้เป็นคุณแก่จำเลยว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์ในเวลากลางวัน ความผิดฐานบุกรุกเกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งแรกที่จำเลยเข้าไปรบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์ ส่วนการที่จำเลยครอบครองที่ดินต่อมาเป็นเพียงผลของการบุกรุกไม่ใช่เป็นความผิดต่อเนื่อง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 บทเดียว หาเป็นความผิดตามมาตรา 365 (3) อีกบทหนึ่งไม่ ซึ่งมาตรา 366 บัญญัติว่า เป็นความผิดอันยอมความได้ อายุความฟ้องร้องตามมาตรา 95  ต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 96 ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดมิฉะนั้นขาดอายุความ โจทก์มาร้องทุกข์เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2534 ทั้งๆที่ทราบเรื่องจำเลยบุกรุกตั้งแต่ต้นปี 2526 คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตาม.อ.มาตรา 96

          อายุความฟ้องผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 ต้องถือตามข้อหาหรือฐานความผิดที่ศาลพิจารณาได้ความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2060/2538  อัตราโทษในการพิจารณากำหนดอายุความฟ้องผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 ต้องถือตามข้อหาหรือฐานความผิดที่ศาลพิจารณาได้ความ ไม่ใช่พิจารณาจากข้อหาหรือฐานความผิดที่โจทก์ฟ้อง มิฉะนั้นอาจเป็นการขยายอายุความฟ้องคดี ซึ่งเป็นโทษต่อจำเลย

          อายุความเริ่มนับแต่วันกระทำความผิด ไม่สนว่าโจทก์จะได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1050/2537   โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 267 และ 268 ในวันที่ 31 สิงหาคม 2513 และ 15 มีนาคม 2520 โจทก์จะต้องฟ้องจำเลยสำหรับความผิดดังกล่าวภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันกระทำความผิดทั้งนี้ไม่ว่าโจทก์จะได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ แต่โจทก์เพิ่งฟ้องจำเลยสำหรับความผิดดังกล่าวเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2533 โจทก์จึงไม่ได้ฟ้องจำเลยภายในกำหนดสิบปี นับแต่วันกระทำความผิด ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(3)  
          ตามคำขอรังวัดเปลี่ยน น.ส.3 เป็น น.ส.3 ก. ที่จำเลยยื่นต่อนายอำเภอโดยลงชื่อจำเลยเป็นผู้ขอและมีข้อความระบุว่าจำเลยเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองที่ดิน น.ส.3 เอกสารดังกล่าวจึงเป็นเอกสารที่จำเลยยื่นต่อเจ้าพนักงานมิใช่เอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานที่จำเลยแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความลงในเอกสารนั้นการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 267 ดังนั้นการที่จำเลยนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) ที่เจ้าพนักงานที่ดินออกให้ตามคำขอของจำเลยดังกล่าวซึ่งไม่ใช่เอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตาม มาตรา 267 ไปคัดค้านการรังวัดออกโฉนดที่ดินของโจทก์จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268

          แต่อายุความร้องทุกข์สำหรับความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 มีกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดประกอบกันทั้งสองประการ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1011/2532  อายุความในการร้องทุกข์สำหรับความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 มีกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดประกอบกันทั้งสองประการ กฎหมายหาได้บัญญัติให้นับอายุความร้องทุกข์ตั้งแต่วันที่จำเลยกระทำความผิดไม่ จำเลยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มีข้อความหมิ่นประมาทโจทก์เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2528 และต่อมาวันที่ 14 มกราคม 2528 หนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวตามที่จำเลยให้สัมภาษณ์ ต้องถือว่าโจทก์รู้ตัวผู้กระทำความผิดในวันดังกล่าวเมื่อโจทก์ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ 13 เมษายน 2528 ซึ่งอยู่ภายในกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิด และรู้ตัวผู้กระทำความผิด แม้โจทก์นำคดีมาฟ้องหลังจากวันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเกินสามเดือนแต่ยังอยู่ภายในกำหนดอายุความตามมาตรา 95 คดีของโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ

          ราษฎรเป็นโจกท์ฟ้องจำเลยภายในอายุความ ปรากฏว่าในระหว่างไต่สวนมูลฟ้องคดีขาดอายุความ ศาลก็ไม่สามารถพิจารณาคดีต่อไปได้ ต้องพิพากษายกฟ้อง 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 270/2528   ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 นั้น ต้องฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว อายุความจึงจะหยุดนับ บทบัญญัติตามมาตรานี้ไม่ได้ใช้บังคับในกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์เท่านั้น ในกรณีที่ราษฎรเป็นโจกท์ก็ต้องถือหลักอย่างเดียวกัน
          โจทก์บรรยายฟ้องว่า เหตุเกิดระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2507 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2514 ความผิดของจำเลยที่โจทก์ฟ้องมีอายุความสิบปี โจทก์จะต้องฟ้องและได้ตัวจำเลยผู้กระทำผิดมายังศาลภายในวันที่ 30 มีนาคม 2524 คดีจึงจะไม่ขาดอายุความ โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยวันที่ 30 มีนาคม 2524 แต่ศาลชั้นต้นต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องของโจทก์ต่อไป ระหว่างนั้นจะถือว่าได้ตัวจำเลยมายังศาลและจำเลยอยู่ในอำนาจศาลแล้วไม่ได้ อายุความยังไม่หยุดนับศาลชั้นต้นสั่งคดีมีมูล หมายเรียกจำเลยแก้คดีและได้ตัวจำเลยมาพิจารณาเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2524 เกินสิบปีนับแต่วันที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดคดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1735/2514 ประชุมใหญ่)



07 พฤศจิกายน 2559

การร้องขอเพิกถอนหมายจับ เมื่อศาลมีสั่งอย่างใดแล้ว จะอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้ เนื่องจากเป็นอำนาจเฉพาะตัวของผู้พิพากษาศาลชั้นต้น

          อำนาจในการออกหมายจับผู้ต้องหาเป็นอำนาจเฉพาะตัวของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นคนหนึ่ง เมื่อมีสั่งอย่างใดแล้ว จะอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้

          ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
          มาตรา  59 "ศาลจะออกคำสั่งหรือหมายจับ หมายค้น หรือหมายขัง ตามที่ศาลเห็นสมควรหรือโดยมีผู้ร้องขอก็ได้
          ในกรณีที่ผู้ร้องขอเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ต้องเป็นพนักงานฝ่ายปกครองตั้งแต่ระดับสามหรือตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่าขึ้นไป
          ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนซึ่งมีเหตุอันควรโดยผู้ร้องขอไม่อาจไปพบศาลได้ ผู้ร้องขออาจร้องขอต่อศาลทางโทรศัพท์ โทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่นที่เหมาะสมเพื่อขอให้ศาลออกหมายจับหรือหมายค้นก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้เมื่อศาลสอบถามจนปรากฏว่ามีเหตุที่จะออกหมายจับหรือหมายค้นได้ตามมาตรา 59/1 และมีคำสั่งให้ออกหมายนั้นแล้ว ให้จัดส่งสำเนาหมายเช่นว่านี้ไปยังผู้ร้องขอโดยทางโทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่น  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา
          เมื่อได้มีการออกหมายตามวรรคสามแล้ว ให้ศาลดำเนินการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขอหมายมาพบศาลเพื่อสาบานตัวโดยไม่ชักช้า โดยจดบันทึกถ้อยคำของบุคคลดังกล่าวและลงลายมือชื่อของศาลผู้ออกหมายไว้ หรือจะใช้เครื่องบันทึกเสียงก็ได้โดยจัดให้มีการถอดเสียงเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของศาลผู้ออกหมาย บันทึกที่มีการลงลายมือชื่อรับรองดังกล่าวแล้ว ให้เก็บไว้ในสารบบของศาล หากความปรากฏต่อศาลในภายหลังว่าได้มีการออกหมายไปโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ศาลอาจมีคำสั่งให้เพิกถอนหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงหมายเช่นว่านั้นได้  ทั้งนี้ ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ร้องขอจัดการแก้ไขเพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องตามที่เห็นสมควรก็ได้"
          มาตรา 59/1 "ก่อนออกหมาย จะต้องปรากฏพยานหลักฐานตามสมควรที่ทำให้ศาลเชื่อได้ว่ามีเหตุที่จะออกหมายตามมาตรา 66 มาตรา 69 หรือมาตรา 71
          คำสั่งศาลให้ออกหมายหรือยกคำร้อง จะต้องระบุเหตุผลของคำสั่งนั้นด้วย
          หลักเกณฑ์ในการยื่นคำร้องขอ การพิจารณา รวมทั้งการออกคำสั่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา"
          มาตรา  66 "เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้
          (1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี หรือ
          (2) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น
          ถ้าบุคคลนั้นไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือไม่มาตามหมายเรียกหรือตามนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร ให้สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นจะหลบหนี"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2853/2559  การไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนหมายจับของผู้ร้องก่อนมีคำสั่งเป็นดุลพินิจในการดำเนินกระบวนพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ของศาลชั้นต้นเพื่อให้การพิจารณาคดีเสร็จไปโดยรวดเร็วและชอบด้วยกฎหมาย เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำร้องของผู้ร้องสามารถวินิจฉัยได้ ศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะมีคำสั่งได้ทันทีโดยไม่จำต้องไต่สวนก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21 (4) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
          อำนาจในการออกหมายจับเป็นอำนาจเฉพาะตัวของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นคนหนึ่งเพื่อให้ได้ตัวผู้ต้องหามาสอบสวน ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (1) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (2) มาตรา 66 และมาตรา 134 ผู้ร้องซึ่งถูกหมายจับของศาลชั้นต้นยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 59 วรรคสี่ ตอนท้าย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ดังนี้ ผู้ร้องจะอุทธรณ์หรือฎีกาไม่ได้



31 ตุลาคม 2559

เจ้าพนักงานท้องถิ่นละเลยต่อหน้าที่โดยไม่ตรวจสอบ ดูแลสภาพโครงสร้าง ระบบและอุปกรณ์ต่างๆ ในการป้องกันและบรรเทาอัคคีภัยของอาคารสถานบริการ เมื่อเกิดเพลิงไหม้และมีผู้เสียชีวิต หน่วยงานรัฐต้นสังกัดจะต้องรับผิดชอบ

          คดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ         

          กรณีของเจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ โดยไม่ควบคุมดูแลและตรวจสอบอาคารที่เจ้าของได้ดัดแปลงให้ผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ต่อมาเกิดอุบัติภัยในอาคารจนมีผู้เสียชีวิต มีปัญหาว่าเจ้าพนักงานท้องถิ่นและหน่วยงานรัฐต้นสังกัด จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากความเสียหายนั้นหรือไม่ อย่างไร ?
         
          มีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยไว้ กรณีไฟไหม้ "ซานติก้าผับ"

          คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 222/2558  ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เจ้าของอาคารได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารชนิดตึก (ชั้นลอย) 1 ชั้น เพื่อใช้เป็นอาคารพาณิชย์ พักอาศัย แต่ต่อมาได้มีการดัดแปลงอาคารดังกล่าวเป็นสถานบันเทิง ชื่อว่า “ซานติก้าผับ” โดยมิได้ขออนุญาตดัดแปลงอาคาร ซึ่งต่อมาได้เกิดเพลิงไหม้และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก รวมทั้งบุตรของผู้ฟ้องคดีด้วย
          ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองว่า การที่บุตรของผู้ฟ้องคดีเสียชีวิตในที่เกิดเหตุเป็นผลมาจากการละเลยต่อหน้าที่ของเจ้าหน้าที่(ผู้อำนวยการเขตซึ่งได้รับมอบอำนาจจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครตามกฎหมายควบคุมอาคาร) ของผู้ถูกฟ้องคดี(กรุงเทพมหานคร) โดยไม่ตรวจสอบ
ควบคุม ดูแลสภาพโครงสร้าง ระบบ อุปกรณ์ต่างๆ ในการป้องกันและบรรเทาอัคคีภัยของอาคารสถานบริการให้เป็นไปตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยอ้างข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพอาคาร ตามรายงานการตรวจสอบที่เกิดเหตุของเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
          โดยขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดี
          ผู้ถูกฟ้องคดีให้การต่อสู้ว่า การก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ไม่เคยขออนุญาตดัดแปลง ไม่เคยปรากฏว่ามีเหตุร้องเรียน และได้มีการตรวจสถานที่ตามนโยบายจัดระเบียบสังคมของรัฐบาลพบว่ามีระบบป้องกนอัคคีภัยเพียงพอ และเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานสรุปความเห็นการเกิดเหตุว่า มีสาเหตุจากการจุดดอกไม้เพลิง (พลุ) และประกายไฟและความร้อนไปถูกกับโฟมที่ใช้ตกแต่งสถานที่ มิใช่มีสาเหตุมาจากการก่อสร้างที่ผิดจากแบบแปลน

          คดีมีประเด็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีอันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่

          คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ผู้อํานวยการเขตในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครย่อมต้องมีอำนาจตามมาตรา 40 มาตรา 41 มาตรา 42 และมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ผู้อำนวยการเขตจึงสามารถที่จะทําการตรวจสอบได้ว่ามีการดัดแปลงอาคารหรือใช้อาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่ออาคารดังกล่าวได้เปิดเป็นสถานบริการซึ่งมีผู้ใช้บริการจำนวนมากและตั้งอยู่ห่างจากสำนักงานเขตไม่มาก ทั้งยังปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตได้เคยเข้าไปตรวจสถานที่ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุถึง 3 ครั้งตามนโยบายจัดระเบียบสังคมของรัฐบาลขณะนั้น ผู้อำนวยการเขตจึงไม่อาจอ้างว่าอาคารดังกล่าวได้มีการก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนหรือเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาต และได้ใช้ หรือยินยอมให้บุคคลใดใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้โดยไม่มีใบรับรองจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น
          ถ้าหากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้อำนวยการเขต ได้ใช้อํานาจตามพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว เจ้าของอาคารก็จะไม่สามารถใช้อาคารโดยผิดกฎหมาย และไม่เกิดเพลิงไหม้จนเป็นเหตุให้บุตรของผู้ฟ้องคดีเสียชีวิตได้ จึงเป็นกรณีที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้อํานวยการเขตกระทําละเมิดจากการละเลยต่อหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และความเสียหายของผู้ฟ้องคดีเป็นผลโดยตรงจากการละเลยต่อหน้าที่ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้อำนวยการเขต อันเป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะหน่วยงานของรัฐจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 



10 ตุลาคม 2559

กรณีถูกเวนคืนที่ดินและต้นยางพารา ผู้ถูกเวนคืนสามารถขอค่าเสียหายในอนาคตได้อีก | เวนคืนที่ดิน

          การกำหนดค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งต้นไม้ อันเนื่องมาจากการเวนคืนที่ดินโดยหน่วยงานของรัฐนั้น มักจะกำหนดในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง โดยมักจะอ้างไปถึงราคากลางต่างๆที่หน่วยงานของรัฐกำหนดขึ้น และมักจะไม่คำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติ การได้มาและสภาพที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์และความเสียหายของผู้ถูกเวนคืนอย่างรอบด้าน ค่าทดแทนดังกล่าวที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18  ได้รับจากหน่วยงานของรัฐจึงมักจะไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งการกำหนดค่าทดแทนดังกล่าวจะต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมและความเสียหายที่ผู้ถูกเวนคืนได้รับจากการเวนคืนด้วย ดังมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยไว้ว่า การกำหนดค่าทดแทนจากการเวนคืนที่ดินและต้นไม้นั้น จะต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมที่เป็นค่าเสียหายในอนาคตให้ด้วย
          คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 113/2557  เป็นเรื่องของเจ้าของสวนยางพารา ซึ่งถูกเวนคืนที่ดินและต้นยางพารา แต่ไม่พอใจการกำหนดราคาค่าทดแทนต้นยางพาราที่หน่วยงานของรัฐกำหนดให้จึงนำคดีมาฟ้องศาลปกครองขอให้กรมชลประทาน ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่เวนคืนที่ดินจ่ายค่าทดแทนเพิ่มขึ้น
          ข้อเท็จจริงในคดีนี้ กรมชลประทานได้เวนคืนที่ดินของผู้ฟ้องคดีเนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน 4 ตารางวา และเวนคืนต้นยางพาราจำนวน  356 ต้น โดยกรมชลประทานกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินไร่ละ 30,000 บาท และค่าทดแทนต้นยางพาราต้นละ 500 บาท ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าขณะที่ต้นยางพาราถูกเวนคืนมีอาย 7  ปีซึ่งถือเป็นช่วงที่ต้นยางพาราเริ่มให้น้ำยางดี มีจุดคุ้มทุนอยู่ที่ 13 ปีควรได้รับค่าชดเชยต้นละ 704 บาท เงินค่าทดแทนต้นยางพาราที่กรมชลประทานกำหนดให้เป็นราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมากจึงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่ไม่ได้รับแจงผลการพิจารณาอุทธรณ์จึงนาคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง
          คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดี(กรมชลประทาน)อ้างว่า เจ้าของที่ดินรายอื่นที่ถูกเวนคืนโครงการเดียวกับผู้ฟ้องคดีไม่ได้เรียกร้องเงินค่าทดแทนต้นยางพาราเพิ่ม ซึ่งการจ่ายเงินค่าทดแทนตนยางพาราให้แก่ผู้ฟ้องคดีต้นละ  704 บาท จะไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนรายอื่น อีกทั้ง คณะกรรมการกําหนดราคาเบื้องต้นไม่เคยนําค่าเสียโอกาสในอนาคตมากําหนดการจ่ายเงินค่าทดแทนต้นไม้ในการเวนคืนทุกโครงการ ประเด็นของคดีนี้คือกรมชลประทานกำหนดค่าทดแทนต้นยางพาราให้แก่ผู้ฟ้องคดีถูกต้องและเป็นธรรมหรือไม่ ?
          ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ถึงแม้ราคาค่าชดเชยต้นยางพาราที่ผู้ถูกฟ้องคดีกำหนดให้แก่ผู้ฟ้องคดีต้นละ  500 บาท จะสูงกว่าราคาค่าชดเชยต้นยางพาราที่กำหนดไว้ในบัญชีประเมินค่าชดเชยของสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ปีพ.ศ. 2543-2545 แต่พยานผู้เชี่ยวชาญ มีความเห็นว่า หากต้นยางพาราของผู้ฟ้องคดีไม่ถูกเวนคืน จะสามารถให้ผลผลิตได้อีก 16 ปีและต้นยางพาราควรจะมีค่าตอบแทนต้นละ 1,021.44 บาท โดยคำนวณจาก ผลตอบแทนหลงหักต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวผลผลิต และนำมาคูณด้วยระยะเวลาการให้ผลผลิต จำนวน 16 ปี อีกทั้ง เมื่อต้นยางพาราไม่สามารถให้ผลผลิตก็สามารถขายลำต้นเพื่อแปรรูปได้ไร่ละประมาณ 10,000 บาท จึงเห็นว่า แม้ไม่อาจคาดหมายว่าผลผลิตและราคานํ้ายางพารา ซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรจะคงที่ตลอดระยะเวลายาวนาน 16 ปี เพราะขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัยต่างๆ ที่ไม่อาจควบคุมได้ในอนาคตหลายประการ เช่น ภัยธรรมชาติ โรคและศัตรูพืช ราคาปัจจัยการผลิต ปริมาณน้ำฝน  การดูแลรักษา แต่เมื่อคำนึงถึงความเป็นธรรมและความเสียหายที่ได้รับจากการเวนคืนตามมาตรา 49 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในเวลาที่มีการเวนคืนต้นไม้ของผู้ฟ้องคดีแล้วเห็นว่าเงินค่าทดแทนที่ได้รับยังไม่เป็นธรรม ส่วนการที่ผู้ที่ถูกเวนคืนเช่นเดียวกับผู้ฟ้องคดีพอใจในเงินค่าทดแทนที่ผู้ถูกฟ้องคดีกําหนดให้นั้น ก็มิอาจถือเป็นเกณฑ์ว่าเงินค่าทดแทนที่ผู้ถูกฟ้องคดีกําหนดให้ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม เมื่อผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยกับเงินค่าทดแทนจึงยอมดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติเพื่อรักษาสิทธิของตนเองได้แต่เมื่อผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระเงินค่าทดแทนต้นยางพาราเพิ่มเป็นต้นละ 740 บาท ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องจ่ายเงินค่าทดแทนต้นยางพาราเพิ่มให้ผู้ฟ้องคดีอีกต้นละ 204 บาท