31 ต.ค. 2559

เจ้าพนักงานท้องถิ่นละเลยต่อหน้าที่โดยไม่ตรวจสอบ ดูแลสภาพโครงสร้าง ระบบและอุปกรณ์ต่างๆ ในการป้องกันและบรรเทาอัคคีภัยของอาคารสถานบริการ เมื่อเกิดเพลิงไหม้และมีผู้เสียชีวิต หน่วยงานรัฐต้นสังกัดจะต้องรับผิดชอบ

          คดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ         

          กรณีของเจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ โดยไม่ควบคุมดูแลและตรวจสอบอาคารที่เจ้าของได้ดัดแปลงให้ผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ต่อมาเกิดอุบัติภัยในอาคารจนมีผู้เสียชีวิต มีปัญหาว่าเจ้าพนักงานท้องถิ่นและหน่วยงานรัฐต้นสังกัด จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากความเสียหายนั้นหรือไม่ อย่างไร ?
         
          มีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยไว้ กรณีไฟไหม้ "ซานติก้าผับ"

          คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 222/2558  ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เจ้าของอาคารได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารชนิดตึก (ชั้นลอย) 1 ชั้น เพื่อใช้เป็นอาคารพาณิชย์ พักอาศัย แต่ต่อมาได้มีการดัดแปลงอาคารดังกล่าวเป็นสถานบันเทิง ชื่อว่า “ซานติก้าผับ” โดยมิได้ขออนุญาตดัดแปลงอาคาร ซึ่งต่อมาได้เกิดเพลิงไหม้และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก รวมทั้งบุตรของผู้ฟ้องคดีด้วย
          ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองว่า การที่บุตรของผู้ฟ้องคดีเสียชีวิตในที่เกิดเหตุเป็นผลมาจากการละเลยต่อหน้าที่ของเจ้าหน้าที่(ผู้อำนวยการเขตซึ่งได้รับมอบอำนาจจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครตามกฎหมายควบคุมอาคาร) ของผู้ถูกฟ้องคดี(กรุงเทพมหานคร) โดยไม่ตรวจสอบ
ควบคุม ดูแลสภาพโครงสร้าง ระบบ อุปกรณ์ต่างๆ ในการป้องกันและบรรเทาอัคคีภัยของอาคารสถานบริการให้เป็นไปตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยอ้างข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพอาคาร ตามรายงานการตรวจสอบที่เกิดเหตุของเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
          โดยขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดี
          ผู้ถูกฟ้องคดีให้การต่อสู้ว่า การก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ไม่เคยขออนุญาตดัดแปลง ไม่เคยปรากฏว่ามีเหตุร้องเรียน และได้มีการตรวจสถานที่ตามนโยบายจัดระเบียบสังคมของรัฐบาลพบว่ามีระบบป้องกนอัคคีภัยเพียงพอ และเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานสรุปความเห็นการเกิดเหตุว่า มีสาเหตุจากการจุดดอกไม้เพลิง (พลุ) และประกายไฟและความร้อนไปถูกกับโฟมที่ใช้ตกแต่งสถานที่ มิใช่มีสาเหตุมาจากการก่อสร้างที่ผิดจากแบบแปลน

          คดีมีประเด็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีอันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่

          คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ผู้อํานวยการเขตในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครย่อมต้องมีอำนาจตามมาตรา 40 มาตรา 41 มาตรา 42 และมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ผู้อำนวยการเขตจึงสามารถที่จะทําการตรวจสอบได้ว่ามีการดัดแปลงอาคารหรือใช้อาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่ออาคารดังกล่าวได้เปิดเป็นสถานบริการซึ่งมีผู้ใช้บริการจำนวนมากและตั้งอยู่ห่างจากสำนักงานเขตไม่มาก ทั้งยังปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตได้เคยเข้าไปตรวจสถานที่ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุถึง 3 ครั้งตามนโยบายจัดระเบียบสังคมของรัฐบาลขณะนั้น ผู้อำนวยการเขตจึงไม่อาจอ้างว่าอาคารดังกล่าวได้มีการก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนหรือเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาต และได้ใช้ หรือยินยอมให้บุคคลใดใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้โดยไม่มีใบรับรองจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น
          ถ้าหากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้อำนวยการเขต ได้ใช้อํานาจตามพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว เจ้าของอาคารก็จะไม่สามารถใช้อาคารโดยผิดกฎหมาย และไม่เกิดเพลิงไหม้จนเป็นเหตุให้บุตรของผู้ฟ้องคดีเสียชีวิตได้ จึงเป็นกรณีที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้อํานวยการเขตกระทําละเมิดจากการละเลยต่อหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และความเสียหายของผู้ฟ้องคดีเป็นผลโดยตรงจากการละเลยต่อหน้าที่ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้อำนวยการเขต อันเป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะหน่วยงานของรัฐจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539