การเวนคืนที่ดิน

          พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530
          มาตรา 5  "เมื่อรัฐมีความจำเป็นที่จะต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการใด ๆ อันจำเป็นเพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภคหรือการอันจำเป็นในการป้องกันประเทศ หรือการได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ หรือเพื่อการผังเมือง หรือเพื่อการพัฒนาการเกษตร หรือการอุตสาหกรรม หรือเพื่อการปฏิรูปที่ดิน หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น ถ้ามิได้ตกลงในเรื่องการโอนไว้เป็นอย่างอื่น ให้ดำเนินการเวนคืนตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้
          ในกรณีที่มีบทบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนไว้ในกฎหมายอื่นโดยเฉพาะแล้ว ถ้าจะต้องดำเนินการเวนคืนเพื่อกิจการตามกฎหมายดังกล่าว เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นสมควรจะมีมติให้ดำเนินการเวนคืนตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้แทนก็ได้
          เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการเวนคืนตามวรรคหนึ่ง จะตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนไว้ก่อนก็ได้"

          วิธีการจัดสรรกรรมสิทธิ์ที่ดิน มีวิธีดำเนินการ 3 วิธี ได้แก่
          1. วิธีจัดซื้อ เป็นวิธีการปรองดองโดยการทำสัญญาซื้อขายกับเจ้าของทรัพย์สินก่อนที่จะมีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในเบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ
          2. โดยการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ โดยการระบุท้องที่ (ตำบล อำเภอ จังหวัด) วัตถุประสงค์ในการเวนคืน จุดเริ่มต้น จุดสิ้นสุดและแนวขอบเขตความกว้างของบริเวณที่จะเวนคืน (มีแผนที่สังเขปแนบท้าย) และจะปิดประกาศพระราชกฤษฎีกาไวตามสถานที่ต่างๆ ดังนี้
          (1) ที่ทำการของเจ้าหน้าที่
          (2) ศาลากลางจังหวัด หรือศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
          (3) สำนักงานที่ดินจังหวัด หรือสำนักงานที่ดินสาขา หรือสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร
          (4) ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขต
          (5) ที่ทำการ อบต. หรือที่ทำการเทศบาล
          (6) ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน
          3. โดยการออกเป็นพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ตกเป็นของรัฐ

          ขั้นตอนการจัดสรรกรรมสิทธิ์ที่ดิน

          1. โดยการสำรวจที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และต้นไม้ยืนต้น ซึ่งผู้รับมอบหมายจากหน่วยงานที่ทำการเวนคืนและเจ้าหน้าที่เวนคืนจะแจ้งกำหนดวันทำการสำรวจให้เจ้าของทรัพย์สินทราบล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน
          2. การกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินที่ถูกเวนคืนโดยคณะกรรมการปรองดอง หรือคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น (กรณีออก พรฎ.) หรือคณะกรรมการกำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืน (กรณีออก พรบ.) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ จะแต่งตั้งขึ้นมา
          3. การกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินให้แก่บุคคลดังต่อไปนี้
          (1) เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งที่ดินที่ต้องเวนคืน
          (2) เจ้าของโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่รื้อถอนไม่ได้ ซึ่งมีอยู่ในที่ดินที่ต้องเวนคืนนั้นในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 หรือได้ปลูกสร้างขึ้นภายหลังโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่
          (3) ผู้เช่าที่ดิน โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นในที่ดินที่ต้องเวนคืน แต่การเช่านั้นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ซึ่งได้ทำไว้ก่อนวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 หรือได้ทำขึ้นภายหลังโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ และการเช่านั้นยังมิได้ระงับไปในวันที่เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ได้เข้าครอบครองที่ดิน โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว แต่เงินค่าทดแทนในการเช่านี้พึงกำหนดให้เฉพาะที่ผู้เช่าได้เสียหายจริงโดยเหตุที่ต้องออกจากที่ดิน โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวก่อนสัญญาเช่าระงับ
          (4) เจ้าของต้นไม้ยืนต้นที่ขึ้นอยู่ในที่ดินในวันที่ใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6
          (5) เจ้าของโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่รื้อถอนได้ ซึ่งมีอยู่ในที่ดินที่ต้องเวนคืนนั้น ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 แต่ต้องไม่เป็นผู้ซึ่งจำต้องรื้อถอนโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไปเมื่อได้รับแจ้งจากเจ้าของที่ดิน เงินค่าทดแทนตาม (5) นี้พึงกำหนดให้เฉพาะค่ารื้อถอน ค่าขนย้าย และค่าปลูกสร้างใหม่เท่านั้น
          (6) บุคคลผู้เสียสิทธิในการใช้ทาง วางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ สายไฟฟ้า หรือสิ่งอื่นซึ่งคล้ายกันผ่านที่ดินที่ต้องเวนคืนนั้นตามมาตรา 1349 หรือมาตรา 1352 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในกรณีที่บุคคลเช่นว่านั้นได้จ่ายค่าทดแทนในการใช้สิทธิดังกล่าวให้แก่เจ้าของที่ดินที่ต้องเวนคืนแล้ว
           4. การกำหนดค่าทดแทนจะต้องพิจารณาโดยคำนึงถึง
          (1) ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ
          (2) ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่
          (3) ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
          (4) สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น และ
          (5) เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน
          (6) การได้หรือเสียประโยชน์จากการเวนคืน
          (7) ค่าเสียหายที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์
          ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็จะปิดประกาศราคาที่คณะกรรมการกำหนดราคาได้กำหนดราคาค่าทดแทนให้ทราบตามสถานที่เดียวกันกับที่ปิดประกาศพระราชกฤษฎีกาฯ
          5. เมื่อคณะกรรมการได้กำหนดราคาค่าทดแทนแล้ว เจ้าหน้าที่จะมีหนังสือมาแจ้งให้เจ้าของทรัพย์สินมาทำบันทึกข้อตกลงหรือสัญญาซื้อขาย
          6. การจ่ายเงินค่าทดแทน หน่วยงานที่เวนคืนจะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนทั้งหมดให้แก่เจ้าของทรัพย์สินภายใน 120 วันนับแต่วันทำบันทึกข้อตกลงหรือสัญญาซื้อขาย กรณีเป็นที่ดิน หน่วยงานที่เวนคืนจะจ่ายเงินค่าทดแทนเมื่อเจ้าของทรัพย์สินได้จดทะเบียนหรือแก้ไขหลักฐานทางทะเบียนแล้ว เมื่อประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา และมีประกาศกำหนดให้การเวนคืนเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากเจ้าของทรัพย์สินไม่ยอมทำบันทึกข้อตกลงหรือสัญญาซื้อขาย หรือยินยอมทำแต่ไม่ยอมมารับเงินค่าทดแทน เจ้าหน้าที่จะนำเงินไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์หรือนำฝากธนาคารออมสินในชื่อของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน 
          7. การใช้อำนาจทางกฎหมายเพื่อรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง กรณีที่ทำบันทึกข้อตกลงหรือสัญญาซื้อขาย เจ้าหน้าที่สามารถรื้อถอนได้ตามบันทึกข้อตกลงหรือสัญญาซื้อขายนั้น แต่ถ้าไม่ได้ทำบันทึกข้อตกลงหรือสัญญาซื้อขาย เจ้าหน้าที่ก็จะดำเนินการแจ้งการครอบครอง วางเงินค่าทดแทน และรื้อถอนตามกฎหมายต่อไป

          สิทธิของผู้ถูกเวนคืน

          1. กรณีจัดซื้อโดยวิธีปรองดอง เจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่มีสิทธิอุทธรณ์ค่าทดแทน
          2. กรณีถูกเวนคืนโดยการออกเป็นพระราชกฤษฎีกา หากเจ้าของอสังหาริมทรัพย์หรือผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนไม่พอใจค่าททดแทนที่ได้รับก็สามารถรับเงินค่าทดแทนไปก่อน จากนั้นยังมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ค่าทดแทนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ภายใน 60 วันนับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งให้ไปรับเงินค่าทดแทน ซึ่งหากผลการพิจารณาอุทธรณ์ของรัฐมนตรียังไม่เป็นที่พอใจของผู้อุทธรณ์หรือรัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ ผู้นั้นก็ยังมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาหกสิบวันนับแต่วันยื่นอุทธรณ์ดังกล่าว แล้วแต่กรณี