15 กันยายน 2559

การถือกรรมสิทธิ์ที่ดินของคนต่างด้าว


          ประมวลกฎหมายที่ดิน

          มาตรา 86 "คนต่างด้าวจะได้มาซึ่งที่ดินก็โดยอาศัยบทสนธิสัญญาซึ่งบัญญัติให้มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ได้ และอยู่ในบังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ด้วย
          ภายใต้บังคับมาตรา 84 คนต่างด้าวดังกล่าวจะได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ประกอบกิจการในทางพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม เกษตรกรรม การสุสาน การกุศลสาธารณ หรือการศาสนา ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและวิธีการซึ่งกำหนดโดยกฎกระทรวง และต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี"

          มาตรา 94 "บรรดาที่ดินที่คนต่างด้าวได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ได้รับอนุญาต ให้คนต่างด้าวนั้นจัดการจำหน่ายภายในเวลาที่อธิบดีกำหนดให้ ซึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน แต่ไม่เกินหนึ่งปี ถ้าไม่จำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่กำหนด ให้อธิบดีมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้น และให้นำบทบัญญัติเรื่องการบังคับจำหน่ายที่ดินตามความในหมวด 3 มาใช้บังคับโดยอนุโลม"

          คนต่างชาติมีข้อจำกัดในการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในประเทศไทย กล่าวคือ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและวิธีการที่กำหนดโดยกฎกระทรวง และต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย หากคนต่างด้าวทำการฝ่าฝืนกฎหมาย หรือไม่ได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน คนต่างด้าวนั้นต้องจัดการจำหน่ายภายในเวลาที่อธิบดีกำหนดให้ ซึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน แต่ไม่เกินหนึ่งปี ถ้าไม่จำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่กำหนด ให้อธิบดีมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้นได้



          

          แม้คนต่างด้าวที่ได้ที่ดินมาไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 86 แต่ยังมีสิทธิได้รับผลตามมาตรา 94 ที่จะจัดการจำหน่ายทรัพย์สินนั้นได้ ตราบใดที่ยังไม่ได้จำหน่าย ที่ดินนั้นก็ยังคงเป็นของคนต่างด้าวที่จะทำพินัยกรรมยกให้แก่ผู้ใดก็ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2752/2543  โจทก์ทั้งสองฟ้องให้จำเลยแบ่งที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม โดยอ้างว่าเจ้ามรดกซึ่งเป็นคนต่างด้าวซื้อที่ดินดังกล่าวแล้วใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน จึงไม่จำต้องบรรยายฟ้องถึงสนธิสัญญาระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนว่ายินยอมให้เจ้ามรดกซึ่งเป็นคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในประเทศไทยหรือไม่ เพราะเจ้ามรดกมิได้ถือกรรมสิทธิ์เอง ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม การที่เจ้ามรดกยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อขออนุญาตนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองขณะที่จำเลยยังเป็นผู้เยาว์ เป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย และแม้เจ้ามรดกเป็นบุคคลต่างด้าวได้ที่ดินมาโดยไม่ชอบด้วย ป.ที่ดิน มาตรา 86 แต่เจ้ามรดกยังมีสิทธิได้รับผลตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 ในอันที่จะจัดการจำหน่ายที่ดินนั้นได้ ตราบใดที่ยังมิได้จำหน่าย ที่ดินพิพาทและโรงงานก็ยังคงเป็นของเจ้ามรดก ซึ่งอาจทำพินัยกรรมยกให้แก่ผู้ใดได้ทั้งสิ้น จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งสองผู้เป็นทายาทตามพินัยกรรม ตราบใดที่จำเลยยังมิได้แบ่งปันที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสอง ย่อมต้องถือว่าการจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น อายุความยังไม่เริ่มต้นนับ ฟ้องของโจทก์ทั้งสองยังไม่ขาดอายุความ

          เมื่อคนต่างด้าวเสียชีวิต ที่ดินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 86 ย่อมเป็นทรัพย์มรดกที่ทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้รับ ทายาทจึงมีสิทธิฟ้องแบ่งที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5825/2539  ซ.บิดาโจทก์จำเลยเป็นคนต่างด้าวไม่สามารถมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ จึงลงชื่อจำเลยเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์แทน การที่ ซ.ได้ที่ดินมาดังกล่าว แม้จะถือได้ว่าเป็นการได้ที่ดินมาโดยไม่ชอบด้วย ป.ที่ดินมาตรา 86 แต่การได้ที่ดินมานั้นก็มิใช่ว่าจะไม่มีผลใดๆ เสียเลย เพราะ ซ.ยังมีสิทธิได้รับผลตามมาตรา 94 ในอันที่จะจัดการจำหน่ายที่ดินนั้นได้ภายในเวลาที่อธิบดีกำหนด หรืออธิบดีอาจจำหน่ายที่ดินนั้นได้ จึงต้องถือว่าตราบใดที่หรืออธิบดียังไม่ได้จำหน่ายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวก็ยังเป็นของ ซ. เมื่อ ซ.ถึงแก่ความตายนั้นย่อมเป็นทรัพย์มรดก ซึ่งโจทก์ในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมของ ซ.มีอำนาจฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวจากจำเลยได้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

          กรณีที่คนต่างด้าวให้คนอื่นมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแทนตนเอง การกระทำของคนต่างด้าวดังกล่าวเป็นเรื่องตัวการไม่เปิดเผยชื่อยอมให้ผู้เป็นตัวแทนทำการออกหน้าเป็นตัวการว่าเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท คนต่างด้าวจึงหาอาจทำให้เสื่อมเสียสิทธิของบุคคลภายนอกที่มีต่อตัวแทนของคนต่างด้าวและได้ขวนขวายได้สิทธิมาก่อนที่จะรู้ว่าบุคคลนั้นเป็นตัวแทนของคนต่างด้าวได้ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2690/2538  การที่โจทก์ซึ่งเป็นคนต่างด้าวให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทแทน การกระทำดังกล่าวแม้จะตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 86 แต่มาตรา 94 แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าวก็บัญญัติให้คนต่างด้าวจัดการจำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนด ฉะนั้น การได้มาซึ่งที่ดินของโจทก์จึงไม่เสียเปล่าทั้งหมดยังมีผลตามกฎหมายอยู่ จำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริต การที่โจทก์มอบให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทแทนตนเป็นเวลานาน จนจำเลยที่ 1 ไปขอออกใบแทนโฉนดแล้วโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ต่อธนาคารจนธนาคารเร่งรัดหนี้ และต่อมาจำเลยที่ 2 ได้โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 3 การกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นเรื่องตัวการไม่เปิดเผยชื่อยอมให้จำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวแทนทำการออกหน้าเป็นตัวการว่าเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โจทก์จึงหาอาจทำให้เสื่อมเสียสิทธิของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่มีต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเสมือนเป็นตัวแทนของโจทก์และได้ขวนขวายได้สิทธิมาก่อนที่จะรู้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นตัวแทนของโจทก์ได้ไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 806

           กฎหมายไม่ได้ห้ามคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างแต่ประการใด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 301/2538   ในขณะที่โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากบริษัท ย. จำกัด โจทก์เป็นบุคคลต่างด้าว นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทจึงต้องห้ามชัดแจ้ง ตาม ป. ที่ดินมาตรา 86 และตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 113 เดิม (มาตรา 150 ที่แก้ไขใหม่) แต่ผลของการที่นิติกรรมเป็นโมฆะดังกล่าว ไม่ทำให้นิติกรรมเสียเปล่าไป ยังคงมีผลตามกฎหมายอยู่ แต่โจทก์ไม่มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ต้องจัดการจำหน่ายตาม ป. ที่ดิน มาตรา 94 และการบังคับให้จำหน่ายดังกล่าวหมายความเฉพาะที่ดินพิพาทเท่านั้น ไม่รวมถึงสิ่งปลูกสร้างพิพาทด้วยเพราะคนต่างด้าวไม่ต้องห้ามมิให้ถือกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างแต่ประการใด

          สามีโจทก์เป็นคนต่างด้าว ขณะซื้อที่ดินพิพาท แม้จะหย่ากับสามีแล้วยังอยู่ด้วยกัน แต่โจทก์เป็นคนไทย จึงไม่อยู่ในบังคับมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน สัญญาซื้อขายที่ดินไม่เป็นโมฆะ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 128/2538  โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทแล้วให้จำเลยลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินแทน ต่อมาโจทก์ตกลงขายที่ดินพิพาทให้ผู้มีชื่อและได้แจ้งให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนให้ผู้มีชื่อ แต่จำเลยเพิกเฉยและอ้างว่าจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโจทก์จึงไม่ประสงค์ให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนโจทก์ต่อไป ขอบังคับให้จำเลยถอนชื่อจำเลยออกและใส่ชื่อโจทก์ เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ ไม่เคลือบคลุม แม้คดีนี้กับคดีก่อนคู่ความจะเป็นคู่ความเดียวกัน แต่คดีก่อนศาลยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อพิพาททื่เป็นเนื้อหาแห่งคดีว่าจำเลยเป็นตัวแทนโจทก์หรือไม่ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าว สามีโจทก์เป็นคนต่างด้าว ขณะซื้อที่ดินพิพาท แม้จะหย่ากับสามีแล้วยังอยู่ด้วยกัน แต่โจทก์เป็นคนไทย จึงไม่อยู่ในบังคับมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน สัญญาซื้อขายที่ดินไม่เป็นโมฆะ กิจการใดที่ตัวแทนจะไปทำกับบุคคลภายนอกแทนตัวการ กฎหมายบังคับไว้ว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนไปทำกิจการนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย มิฉะนั้นกิจการที่ตัวแทนกระทำไปกับบุคคลภายนอกจะไม่สมบูรณ์ แต่ในระหว่างตัวแทนกับตัวการด้วยกัน ตัวแทนจะอ้าง ป.พ.พ. มาตรา 798 มาใช้บังคับไม่ได้ เมื่อที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่จำเลยลงชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในฐานะตัวแทน โจทก์ซึ่งเป็นตัวการเรียกร้องเอาคืน จำเลยมีหน้าที่ต้องคืนแก่โจทก์




21 สิงหาคม 2559

ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์

          ประมวลกฎหมายอาญา

          มาตรา 358  "ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          มาตรา 359  "ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 358 ได้กระทำต่อ
          (1) เครื่องกลหรือเครื่องจักรที่ใช้ในการประกอบกสิกรรมหรืออุตสาหกรรม
          (2) ปศุสัตว์
          (3) ยวดยานหรือสัตว์พาหนะ ที่ใช้ในการขนส่งสาธารณ หรือในการประกอบกสิกรรม หรืออุตสาหกรรม หรือ
          (4) พืชหรือพืชผลของกสิกร
          ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          มาตรา 360  "ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          มาตรา 360 ทวิ   "ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ วรรคหนึ่ง ที่ประดิษฐานอยู่ในสถานที่ตามมาตรา 335 ทวิ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          มาตรา 361  "ความผิดตามมาตรา 358 และมาตรา 359 เป็นความผิดอันยอมความได้"

          องค์ประกอบความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ มาตรา 358
          1.ผู้ใด
          2.ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์
          3.ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
          4.เจตนา (องค์ประกอบภายใน)

          ส่วนของการกระทำคือ 
          1.ทำให้เสียหาย หมายถึง ทำให้ทรัพย์ชำรุด บุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์เปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวลง
          2.ทำลาย คือ การทำให้ทรัพย์สิ้นสภาพไปเลย
          3.ทำให้เสื่อมค่า คือ การทำให้ทรัพย์ราคาลดลง
          4.ทำให้ไร้ประโยชน์ คือ ทำให้ทรัพย์นั้นหมดประโยชน์ไป แม้เพียงชั่วคราวก็ตาม



          มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ เช่น

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 361/2518  จำเลยล้อมรั้วที่ดินตาม น.ส.3 ของจำเลยรุกล้ำเข้าห้วยสาธารณะกั้นเอาบ่อน้ำสาธารณะมาเป็นของตน ทำให้ประชาชนเข้าไปใช้น้ำในบ่อไม่ได้ โดยมีเจตนาจะเอาบ่อน้ำนั้นไว้ใช้เป็นส่วนตัว มิได้มุ่งหมายหรือมีเจตนาโดยตรงที่จะทำให้บ่อน้ำนั้นเสียหายหรือไร้ประโยชน์และบ่อน้ำคงมีสภาพเป็นบ่อน้ำอยู่ตามเดิม ไม่ได้ถูกทำให้ไร้ประโยชน์ไปอย่างใด ดังนี้การล้อมรั้วกั้นเอาบ่อน้ำไว้จึงเป็นการห่างไกลเกินความประสงค์ของจำเลยในเรื่องทำให้บ่อน้ำนั้นเสียหายหรือ ไร้ประโยชน์ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8140/2541  จำเลยบุกรุกยึดถือครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์และได้แผ้วถางที่ดินดังกล่าวใช้ทำไร่ ทำให้บุคคลอื่นทั่วไปไม่สามารถใช้ประโยชน์จากหนองคำปลาหลาอันเป็นสาธารณประโยชน์ในส่วนที่จำเลยบุกรุกยึดถือครอบครอง เป็นการทำให้หนองสาธารณะนั้นไร้ประโยชน์แม้เป็นเพียงบางส่วน การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อ สาธารณประโยชน์แล้ว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3314/2545   การที่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองคลองควายซึ่งเป็นคลองสาธารณะโดยใช้เสาคอนกรีตปักปิดขวางช่วงปากคลอง ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถใช้ประโยชน์สัญจรผ่านไปมาในคลองเพื่อออกสู่แม่น้ำได้นั้น การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน และฐานทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ตาม ป.อ. มาตรา 360 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จึงไม่อาจอาศัยบทเบาตาม ป. ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสอง มาบังคับให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินซึ่งจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองตามที่โจทก์ขอได้
          ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยและนาย บ. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 9363 เลขที่ดิน 30 ตำบลลานตากฟ้า อำเภอเมืองนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม หลักฐานตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล. 13 ระบุว่าทิศเหนือจดลำกระโดงสาธารณประโยชน์ ทิศใต้จดทางสาธารณประโยชน์ ทิศตะวันออกจดที่ดินเลขที่ 28 ทิศตะวันตกจดแม่น้ำนครชัยศรี ระหว่างวันที่ 5 มกราคม 2538 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 21 เมษายน 2538 เวลากลางวัน จำเลยได้ปักเสาคอนกรีตจำนวน 6 ต้น ปิดขวางลำคลองควาย ซึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้ของที่ดินจำเลยกับนายบุญมีจุดแรก 3 ต้น จุดที่สองห่างจากจุดแรกยาวตามลำคลองประมาณ 75.30 เมตร อีก 3 ต้น ทำให้ประชาชนไม่สามารถสัญจรไปมาในคลองควายเพื่อออกสู่แม่น้ำนครชัยศรีได้ คดีมีปัญหาว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่… พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีเหตุผลและน้ำหนักรับฟังได้ว่าคลองควายซึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้ของที่ดินจำเลยมีสภาพเป็นคลองสาธารณะ เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน เมื่อจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครอง โดยใช้เสาคอนกรีตปักปิดขวางช่วงปากคลอง 3 ต้น และถัดต่อจากปากคลองอีก 3 ต้น ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถใช้ประโยชน์สัญจรผ่านไปมาในคลองเพื่อออกสู่แม่น้ำนครชัยศรีได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง พยานหลักฐานจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ อย่างไรก็ตามการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยึดถือครอบครองคลองควายที่ดินของรัฐ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน และฐานทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้และมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อลงโทษฐานทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้และมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดแล้วจึงไม่อาจอาศัยบทเบาตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสอง มาบังคับให้จำเลยและบริวารออกจากที่คลองควายซึ่งจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองตามที่โจทก์ขอได้ เพราะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ไม่ได้บัญญัติข้อบังคับดังกล่าวไว้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1111/2504   ทำลายทรัพย์ของผู้อื่นซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินที่ผู้นั้นอพยพย้ายออกไปจากที่ดินนั้นแล้ว ไม่ว่าที่ดินนั้นจะเป็นที่สาธารณะหรือของบุคคลใดก็ดี ถึงแม้ผู้เสียหายจะรื้อกระท่อมไปแล้วก็ดี แต่ทรัพย์เหล่านั้นผู้เสียหายก็ยังกล่าวฝากเพื่อนบ้านให้ดูแลไว้ แสดงว่ายังหวงแหนเป็นของตนอยู่ และการทำลายทรัพย์ผู้อื่นนี้ เมื่อเห็นผลอยู่แล้วว่าทำให้ทรัพย์ของเขาเสียหายก็พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำโดยแกล้งหรือทำให้เสียหายถึงขนาด ก็ย่อมมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์แล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 705/2507   ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 นั้น ผู้กระทำจะต้องมีเจตนากระทำเพื่อให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย จึงจะเป็นผิด เพราะฉะนั้น การที่จำเลยเพียงแต่ถอนเสารั้วของโจทก์แล้วเอาไปกองไว้ เพื่อใช้ทางเดินตามที่เคยใช้เท่านั้น มิได้มีเจตนากระทำเพื่อให้ทรัพย์ของโจทก์เสียหายอย่างใด จึงยังไม่ผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 14/2507)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1355/2508   ต้นพลูเป็นต้นไม้ยืนต้น จึงเป็นส่วนควบของที่ดิน  โจทก์เป็นผู้ปลูกต้นพลู แต่ต้นพลูได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่โจทก์ปลูกต้นพลูเสียแล้ว แม้จำเลยจะร่วมกันตัดต้นพลู ก็ย่อมไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง
          ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินแปลงที่โจทก์ปลูกต้นพลูนี้ ขณะเกิดเหตุกรรมสิทธิ์ตกเป็นของจำเลยที่ 4 แล้ว ต้นพลูตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 108 ถือเป็นไม้ยืนต้น จึงเป็นส่วนควบของที่ดิน เมื่อกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นของจำเลยที่ 4 โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ต้นพลูก็ตกเป็นของจำเลยที่ 4 ฉะนั้น หากจะรับฟังดังพยานโจทก์ว่าจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 1, 2, 3 สับฟันขุดถอนต้นพลูรายพิพาทไป ก็ย่อมไม่มีผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ เพราะจำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของต้นพลู โจทก์แม้จะเป็นผู้ปลูกต้นพลู แต่ต้นพลูได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๔ เจ้าของที่ดินซึ่งปลูกต้นพลูเสียแล้ว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 ดังโจทก์ฟ้อง 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 331/2527   โจทก์จำเลยต่างโต้เถียงกรรมสิทธิ์นาพิพาทกันอยู่  เมื่อโจทก์ปลูกต้นข้าวในนาพิพาท จำเลยเสียหายอย่างไรชอบที่จะฟ้องร้องว่ากล่าวกัน  การที่จำเลยกลับเข้าไถนาพิพาทเป็นเหตุให้ข้าวที่โจทก์ปลูกไว้ก่อนเสียหาย  การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ และต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1155/2520  การที่จำเลยถ่อเรือเข้าไปตัดใบบัวในหนองสาธารณะซึ่งผู้เสียหายปลูกต้นข้าวไว้โดยต้นข้าวขึ้นปะปนอยู่กับกอบัว จนเป็นเหตุให้ต้นข้าวเน่าตายไปจำนวนหนึ่ง  เช่นนี้จำเลยย่อมเล็งเห็นอยู่ว่าการถ่อเรือเข้าไปในป่าข้าวทำความเสียหายแก่ต้นข้าวได้  การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเจตนาทำให้เสียทรัพย์
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า  แม้ผู้เสียหายจะอ้างสิทธิครอบครองในหนองสาธารณะที่ปลูกข้าวไว้ไม่ได้  และจำเลยมีสิทธิใช้ประโยชน์ในหนองนี้เท่าเทียมกับผู้เสียหายก็จริง  แต่จำเลยก็ไม่มีสิทธิที่จะไปทำให้ต้นข้าวที่ผู้เสียหายปลูกไว้เสียหาย ตามทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยทราบอยู่ว่าผู้เสียหายซึ่งอยู่บ้านใกล้ ๆ กับจำเลยได้ปลูกข้าวไว้ที่นั่น และเมื่อจำเลยนำเรือเข้าไปตัดใบบัวก็ต้องเห็นต้นข้าวขึ้นปะปนอยู่กับกอบัว  จำเลยย่อมเล็งเห็นอยู่ว่าการถ่อเรือเข้าไปในป่าข้าวทำความเสียหายแก่ต้นข้าว  จึงถือว่าเป็นการกระทำโดยเจตนาของจำเลย  ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสองแล้ว


          ผู้กระทำต้องกระทำโดยมีเจตนาจึงจะเป็นความผิด คือ เจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผล ตามมาตรา 59
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 963/2502   จำเลยเป็นนายอำเภอ สั่งให้คนปลดเชือกผูกป้ายผ้าโฆษณาหาเสียงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งแขวนไว้ที่ทางเดินขึ้นจากท่าเรือจ้างหน้าที่ว่าการอำเภอ ให้พ้นการขีดขวางทางเดิน ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ดูแลรักษาท่าเรือจ้างนั้น ต่อมาผ้าป้ายนั้นได้หายไป โดยไม่ได้เกิดจากการกระทำของจำเลยโดยตรง  จำเลยมิได้มีเจตนาจะทำให้เสียทรัพย์ จำเลยยังไม่มีผิดฐานทำให้เสียทรัพย์และฐานใช้อำนาจและตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วย

          แต่ถ้าผู้กระทำมีอำนาจตามกฎหมายที่จะทำให้ทรัพย์นั้นเสียหายได้ การกระทำนั้นก็ไม่เป็นความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1097/2507  เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของอาคารรื้อถอนอาคารที่นายช่างตรวจพบว่าไม่มั่นคงแข็งแรงหรือไม่ปลอดภัยได้ หากเจ้าของอาคารไม่ปฏิบัติตามหรือไม่อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์เกี่ยวแก่การก่อสร้างอาคารภายใน 15 วัน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นก็มีอำนาจรื้อถอนอาคารนั้นได้ ตามพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2478 มาตรา 11 ทวิ วรรค 3 การที่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นรื้อถอนอาคาร จึงเป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่โดยชอบ ไม่มีมูลเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ 
          ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 นั้น หมายถึงการกระทำแก่ตัวทรัพย์ให้เสียหายฯ เช่น รื้อถอนตึกแถวลง ย่อมเป็นการการกระทำแก่ตัวทรัพย์ ทำให้ตึกแถวถูกทำลายเสียหาย แต่เมื่อรื้อแล้ว ไม่นำวัตถุก่อสร้างไปมอบเจ้าของจนวัตก่อสร้างสูญหายไปนั้น หาใช่เป็นการกระทำแก่ตัวทรัพย์ไม่ จึงไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2207/2524   จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินย่อมมีสิทธิเหนือพื้นดินโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะสร้างรางน้ำรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยและจำเลยมีสิทธิขัดขวางมิให้โจทก์สอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของตนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น การที่จำเลยรื้อรางน้ำดังกล่าวโดยเชื่อว่าได้รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของจำเลย จึงเป็นการใช้สิทธิในที่ดินตามสมควรแก่การสร้างตึกแถวของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 2762/2523)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1846/2500   ในทางแพ่ง    ถ้าจำเลยได้บอกกล่าวโจทก์เสียก่อนและให้เวลาพอสมควรแล้ว  จำเลยก็อาจตัดกิ่งไม้ของโจทก์ที่ยื่นล้ำที่ของจำเลยเข้าไปนั้นได้  ส่วนในทางอาญา  ต้องพิจารณาเจตนาของจำเลยเป็นเรื่องๆไป ถ้าตามพฤติการณ์ที่ปรากฎเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยไม่มีเจตนาทำผิดทางอาญา แม้จำเลยไม่ได้บอกกล่าวโจทก์เสียก่อน จำเลยก็ตัดกิ่งไม้ที่ยื่นรุกล้ำเข้ามาในที่ของตนได้ เพราะเป็นเรื่องที่จำเลยเพียงแต่กระทำการป้องกันกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของตนตามที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้โดยทั่วๆไป หากแต่จำเลยมิได้ปฏิบัติการให้ครบถ้วนตามวิธีการที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1347  เท่านั้น (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5/2501)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6344/2531  นายอำเภอขอความร่วมมือจากประชาชนให้ร่วมกันพัฒนาบริเวณที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ได้ตัดฟันต้นไม้ของโจทก์ในบริเวณนั้นโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของโจทก์ทั้งจำเลยที่ 2 เคยตัดฟันต้นไม้ของโจทก์มาก่อนจนถูกฟ้องมาแล้วครั้งหนึ่ง แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาทำให้ทรัพย์ของโจทก์เสียหาย การที่นายอำเภอขอความร่วมมือดังกล่าว เป็นแต่เพียงคำแนะนำ จำเลยที่ 2 จะกระทำหรือไม่กระทำตามก็ได้ มิได้มีลักษณะเป็นคำสั่งตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 70 อันจะทำให้จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับโทษ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6666/2542   จำเลยมีเจตนาจะทำลายรั้วไม้ไผ่ที่ปักติดเป็นแผงของผู้เสียหายโดยนำไปเผาให้ใช้การไม่ได้เท่านั้น การที่จำเลยดึงรั้วไม้ไผ่ของผู้เสียหายจำนวน2 แผง แล้วนำไปเผาทำลายใกล้บริเวณรั้วนั้น จำเลยจึงมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 358 เพียงบทเดียว มิใช่กระทำผิดหลายบท การเผาแผงไม้ไผ่เป็นการทำลายทรัพย์ของผู้เสียหายให้เสียหาย มิใช่จำเลยวางเพลิงเผารั้วบ้านของผู้เสียหายในขณะที่มีสภาพเป็นรั้วบ้านกั้นขอบเขตเป็นที่อยู่อาศัย จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 217 อีกกระทงหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6303/2539  โจทก์และจำเลยโต้เถียงการครอบครองที่พิพาทอยู่ การที่จำเลยเข้าไปปักเสาสร้างรั้วในที่พิพาทจึงเป็นการเข้าใจโดยสุจริตว่า ที่พิพาทเป็นของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานบุกรุก 
          ต้นไผ่ที่จำเลยเข้าไปตัดฟันปลูกอยู่ในที่พิพาท แม้โจทก์เป็นผู้ปลูกแต่ต้นไผ่เป็นไม้ยืนต้นจึงเป็นส่วนควบของที่พิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่งและตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่พิพาทซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์ประธานตาม ป.พ.พ.มาตรา 144 วรรคสอง เมื่อโจทก์และจำเลยยังโต้เถียงสิทธิครอบครองในที่พิพาทกันอยู่เท่ากับว่าโจทก์และจำเลยยังโต้เถียงกรรมสิทธิ์ของต้นไผ่ซึ่งปลูกอยู่ในที่พิพาทการที่จำเลยเข้าไปตัดฟันต้นไผ่ พฤติการณ์จึงมีเหตุอันสมควรให้จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าต้นไผ่ดังกล่าวเป็นของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์




20 สิงหาคม 2559

ความผิดฐานชิงทรัพย์และความผิดฐานปล้นทรัพย์

          ประมวลกฎหมายอาญา

          มาตรา 339  "ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ
          (1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป
          (2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น
          (3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้
          (4) ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือ
          (5) ให้พ้นจากการจับกุม
          ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองหมื่นบาท
          ถ้าความผิดนั้นเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดแห่งมาตรา 335 หรือเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่เป็นโค กระบือ เครื่องกลหรือเครื่องจักรที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท
          ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
          ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
          ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต"

          มาตรา 339 ทวิ  "ถ้าการชิงทรัพย์ได้กระทำต่อทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ วรรคแรก ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท
          ถ้าการชิงทรัพย์นั้นเป็นการกระทำในสถานที่ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 335 ทวิ วรรคสองด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
          ถ้าการชิงทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
          ถ้าการชิงทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
          ถ้าการชิงทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต"

          มาตรา 340  "ผู้ใดชิงทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท
          ถ้าในการปล้นทรัพย์ ผู้กระทำแม้แต่คนหนึ่งคนใดมีอาวุธติดตัวไปด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบสองปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นสี่พันบาทถึงสี่หมื่นบาท
          ถ้าการปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
          ถ้าการปล้นทรัพย์ได้กระทำโดยแสดงความทารุณจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ใช้ปืนยิง ใช้วัตถุระเบิด หรือกระทำทรมาน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
          ถ้าการปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต"

          มาตรา 340 ทวิ  "ถ้าการปล้นทรัพย์ได้กระทำต่อทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ วรรคแรก ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
          ถ้าการปล้นทรัพย์นั้นเป็นการกระทำในสถานที่ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 335 ทวิ วรรคสองด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
          ถ้าการปล้นทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสอง ผู้กระทำแม้แต่คนหนึ่งคนใดมีอาวุธติดตัวไปด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
          ถ้าการปล้นทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต
          ถ้าการปล้นทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสองได้กระทำโดยแสดงความทารุณจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ใช้ปืนยิง ใช้วัตถุระเบิดหรือกระทำทรมาน ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
          ถ้าการปล้นทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต" 

          มาตรา 340 ตรี  "ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 339 มาตรา 339 ทวิ มาตรา 340 หรือมาตรา 340 ทวิ โดยแต่งเครื่องแบบทหารหรือตำรวจหรือแต่งกายให้เข้าใจว่าเป็นทหารหรือตำรวจ หรือโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ กึ่งหนึ่ง"



          องค์ประกอบความผิดฐานชิงทรัพย์ตามมาตรา 339
          (1) ผู้ใดลักทรัพย์
          (2) โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือใช้กำลังประทุษร้าย
          (3) เจตนาเพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือพาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือให้พ้นจากการจับกุม (เจตนาพิเศษ)

          ความผิดฐานชิงทรัพย์มีพื้นฐานมาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ คือ เป็นการลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีเจตนาพิเศษ 5 ประการตามที่บัญญัติไว้ ดังนั้น ทรัพย์ที่จะชิงได้จะต้องเป็นทรัพย์ที่ถูกลักได้เช่นกัน การใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เป็นเรื่องกระทำต่อร่างกายหรือจิตใจของบุคคล การขู่เข็ญอาจทำด้วยวาจา หรือแสดงกิริยาท่าทาง หรืออาจไม่ต้องแสดงกิริยาท่าทางแต่มีอาวุธซึ่งตามสภาพหรือตามความรู้สึกของคนทั่วไปเห็นว่าเป็นการขู่ว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายอยู่ในตัว
          สำหรับการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์นั้น เป็นความผิดที่ต่อเนื่องมาจากความผิดฐานชิงทรัพย์ กล่าวคือ เป็นการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ โดยมีผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ดังนั้น ถ้าไม่เป็นการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ แม้มีผู้ร่วมกระทำความผิดครบสามคนก็ไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ แต่อาจเป็นความผิดฐานอื่น เช่น ร่วมกันลักทรัพย์ เป็นต้น

         
          ถ้าการประทุษร้ายหรือการขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายมิใช่มีเจตนาเพื่อประสงค์ต่อทรัพย์ ก็ไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 330/2535   พวกจำเลยล้อมรถขายไอศกรีม ของผู้เสียหายไว้ จำเลยที่ 3 เข้าต่อรองราคา แม้จะเป็นราคาที่อาจรู้ว่าผู้เสียหายไม่ตกลงด้วย ก็ไม่ถือว่าเป็นการขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อผู้เสียหาย การล้อมรถโดยไม่ปรากฏว่ามีท่าทางว่าจะเข้ามาทำร้ายผู้เสียหาย เพียงแต่ยืนจับกลุ่มกันอยู่ก่อน ไม่ถือว่าเป็นการใช้พวกเข้าขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้ผู้เสียหายยอมจะให้ทรัพย์แก่พวกจำเลย จึงไม่เป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์   จำเลยที่ 3 เจ้ามาขอซื้อไอศกรีม 7-8 แท่ง ในราคา 1 บาท จนผู้เสียหายไม่พอใจและชักอาวุธออกมา จำเลยทั้งสามจึงกลุ้มรุมทำร้ายผู้เสียหาย เพราะผู้เสียหายชักอาวุธออกมา มิใช่เพราะเจตนาจะทำร้ายผู้เสียหายเพื่อประสงค์ต่อไอศกรีมของผู้เสียหายแต่แรก ทั้งยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 3 หยิบเอาไอศกรีมไปแจกจ่ายพวกจำเลย ประกอบกับหลังจากนั้นโจทก์ไม่มีพยานยืนยันว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันลักเอาไอศกรีมดังกล่าวไป การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ แต่เป็นความผิดทำร้ายร่างกาย ผลการชันสูตรบาดแผลของแพทย์มีความเห็นว่ามีรอยบวมเล็กน้อยที่ขมับด้านซ้าย บาดแผลรักษาหายภายใน 3 วัน เป็นความเป็นผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2188/2545  จำเลยเอาทรัพย์ไปจากผู้เสียหายก็เนื่องจากจำเลยไม่ต้องการให้ผู้เสียหายนำไปขายเล่นการพนัน แสดงว่าจำเลยหาได้มีเจตนาที่จะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับจำเลยหรือผู้อื่นแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์ คงมีความผิดเฉพาะฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับอันตรายแก่กายตาม ป.อ. มาตรา 295
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2767/2516   การลักทรัพย์ที่จะเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 นั้น ในขณะที่ผู้กระทำผิดใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายเจตนาของผู้กระทำผิดจะต้องเป็นไปเพื่อให้ความสะดวกในการลักทรัพย์ เพื่อพาทรัพย์ไปเพื่อให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์ หรือเพื่อยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในขณะที่จำเลยขู่เข็ญหรือใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหาย จำเลยมีเจตนาเพียงแต่จะข่มขู่ผู้เสียหายซึ่งเคยเป็นภรรยาจำเลยให้กลับไปอยู่กับจำเลยอีก  แม้สร้อยคอของผู้เสียหายจะขาดติดมือจำเลยไปเมื่อจำเลยดึงคอเสื้อของผู้เสียหายก็ตาม การกระทำของจำเลยก็หาเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ไม่  แต่การที่จำเลยได้สร้อยคอของผู้เสียหายแล้วจำเลยเอาไว้เสียโดยทุจริตไม่คืนให้ผู้เสียหายถือได้ว่าเจตนาลักทรัพย์ได้เกิดขึ้นแล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334

          กรณีเอาทรัพย์ไปเพื่อหยามน้ำหน้าหรือแสดงอวดเพื่อความคึกคะนอง ศาลฎีกาก็วินิจฉัยไปในทางที่ว่าไม่ประสงค์ต่อทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2753/2539   จำเลยกับพวกขึ้นไปบนรถโดยสารประจำทางบังคับขู่เข็ญให้ผู้เสียหายถอด เสื้อฝึกงานและ แหวนรุ่นทำด้วยเงินซึ่งมีราคาเล็กน้อยจำเลยกับพวกกระทำไป เป็นการแสดงอำนาจบาตรใหญ่ด้วยความคะนอง เพื่อให้ผู้เสียหายซึ่งเป็นนักศึกษาต่างสถาบันที่มีเรื่องทะเลาะวิวาทกับสถาบันของจำเลยเห็นว่าเป็นคนเก่งพอที่จะรังแกคนได้ตามวิสัยวัยรุ่นที่มีความประพฤติไม่เรียบร้อยเท่านั้น มิใช่มุ่งหมายเพื่อจะได้ประโยชน์จากทรัพย์ จึงไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ แต่เป็นความผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้องจึงต้องลงโทษตามที่พิจารณาได้ความ ส่วนเสื้อฝึกงานและแหวนเงินจำเลยไม่มีสิทธิยึดถือไว้ต้องคืนแก่ผู้เสียหาย หลังจากให้ถอดเสื้อฝึกงานและแหวนเงินแล้ว กลุ่มเพื่อนของจำเลย 3 คนได้ชกต่อยผู้เสียหาย จากนั้นจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายในระยะห่าง 1 ฟุต แต่ผู้เสียหายยกขาและแขนขึ้นปิดป้องไว้และกระสุนปืนถูกกระดุมเสื้อซึ่งเป็นแผ่นเหล็กเป็นเหตุให้ไม่ถูกอวัยวะส่วนสำคัญ ถือได้ว่าจำเลยใช้ปืนยิงโดยมีเจตนาฆ่า แต่การกระทำไม่บรรลุผล จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 และมาตรา 371

          การใช้กำลังประทุษร้ายตามมาตรา 339 ไม่ได้บัญญัติว่าจะต้องกระทำต่อเจ้าของทรัพย์หรือผู้ครอบครองทรัพย์เท่านั้น ดังนั้น จะใช้กำลังประทุษร้ายแก่ใครก็ได้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4472/2541   แม้ขณะที่จำเลยกระชากกระเป๋าถือของผู้เสียหาย จำเลยไม่ได้ขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือได้ใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหาย แต่หลังจากจำเลยกระชากกระเป๋าถือของผู้เสียหายแล้วได้วิ่งหนีไปนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ซึ่งจอดอยู่ห่างจากที่ผู้เสียหายถูกกระชากสร้อยเพียง 1 ถึง 2 เมตรเพื่อหลบหนี แต่ถูก ส.วิ่งไปผลักจนรถจักรยานยนต์ล้มลง จำเลยจึงชักอาวุธออกมาจะแทง ส. ดังนี้ การกระทำของจำเลยดังกล่าวยังต่อเนื่องและเกี่ยวพันกันโดยตลอดและยังไม่ขาดตอนจากการวิ่งราวทรัพย์ ทั้งการที่จำเลยชักอาวุธมีดออกมาจะแทง ส.ทันทีที่ ส.ผลักรถจักรยานยนต์ล้มลงนั้น เป็นพฤติการณ์ที่ชี้ชัดว่า จำเลยกระทำโดยมีเจตนาขู่เข็ญไม่ให้ ส.ขัดขวางการหลบหนี เพื่อให้พ้นจากการจับกุมและเพื่อการพาทรัพย์ไป และแม้ ส.จะมิใช่ผู้เสียหาย แต่เมื่อจำเลยกระทำโดยมีเจตนาดังกล่าวและการกระทำของจำเลยยังไม่ขาดตอนจากการกระชากกระเป๋าถือของผู้เสียหายถือได้ว่าจำเลยกระชากกระเป๋าถือผู้เสียหายโดยขู่เข็ญว่าทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้พ้นจากการจับกุมแล้ว จึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4066/2545   การที่จำเลยที่ 1 เปลือยกายถืออาวุธมีดเข้าไปหาผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งนอนอยู่บนเตียงภายในห้องนอนของผู้เสียหายที่ 1  พอดีผู้เสียหายที่ 1 รู้สึกตัวลืมตาขึ้นมาเห็นจำเลยที่ 1  จำเลยที่ 1 พูดขู่มิให้ร้อง  ผู้เสียหายที่ 1 ร้องกรี๊ดสุดเสียง  จำเลยที่ 1 จึงชกปากผู้เสียหายที่ 1 และเอามือซ้ายยัดเข้าไปในปากของผู้เสียหายที่ 1 ผู้เสียหายที่ 1 จึงกัดนิ้วของจำเลยที่ 1 และดิ้นจนตกจากเตียงนอน  ระหว่างนั้นผู้เสียหายที่ 1 ถูกอาวุธมีดของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ถือมาบาดที่ข้อมือซ้าย  ถือว่าจำเลยที่ 1 กระทำการอันไม่สมควรทางเพศแก่ผู้เสียหายที่ 1  โดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย และใช้กำลังประทุษร้ายแล้ว  จึงเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 และเป็นการบุกรุกเข้าไปในเคหสถานของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันควรในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธและใช้กำลังประทุษร้าย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 365(1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364  หลังจากนั้นเมื่อผู้เสียหายที่ 3 เข้ามาในห้องนอนของผู้เสียหายที่ 1 ก็ถูกจำเลยที่ 1 ทำร้าย  และหยิบเอากระเป๋าที่มีอาวุธปืนของผู้เสียหายที่ 2 เก็บไว้  ซึ่งผู้เสียหายที่ 3 นำมาด้วยและตกอยู่ที่พื้นไป ก่อนจะหลบหนี จำเลยที่ 1 วิ่งชนผู้เสียหายที่ 3 และยังใช้มีดฟันผู้เสียหายที่ 3 ได้รับบาดเจ็บ จึงเป็นการลักอาวุธปืนของผู้เสียหายที่ 2 ไปโดยทุจริต โดยใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อสะดวกในการพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นจากการจับกุมและเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย  จึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม

          การใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย จะต้องกระทำต่อผู้อื่น มิใช่กระทำต่อผู้กระทำความผิดด้วยกันเอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5768/2544   การที่จำเลยที่ 2 ถีบหลังจำเลยที่ 1 ล้มลงเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายจำเลยที่ 1 ในขณะจำเลยที่ 1 เดินตามนาย ช. ผู้จัดการธนาคารที่เกิดเหตุผู้เสียหาย แสดงว่าเงินของกลางยังอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหาย แต่การใช้กำลังประทุษร้ายอันจะเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคแรก นั้น ต้องเป็นการประทุษร้ายต่อบุคคลอื่น มิใช่กระทำต่อคนร้ายผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน ดังจะเห็นได้จากเหตุที่ทำให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษหนักขึ้น ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม ถึงวรรคห้า อันได้แก่การกระทำผิดฐานชิงทรัพย์   เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย ผลของการกระทำล้วนเกิดแก่ผู้อื่นทั้งนั้น ดังนั้น  เมื่อจำเลยที่ 2 ใช้กำลังประทุษร้ายจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคนร้ายผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันจึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคแรก และแม้จะได้ความจากคำเบิกความของนายชัยศักดิ์ผู้เสียหายว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ได้ชี้มือไปทางผู้เสียหายซึ่งวิ่งตามไปก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีอาวุธใดติดตัวมาด้วยหรือแสดงอาการหรือวาจาข่มขู่ผู้เสียหายเลย ดังนั้น เพียงแต่จำเลยที่ 2 ชี้มือมาทางผู้เสียหายเท่านั้นยังไม่พอให้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายแต่อย่างใด จึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์เช่นกัน การกระทำของจำเลยทั้งสามขาดองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์ จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ตามฟ้อง จำเลยทั้งสามคงมีความผิดฐานร่วมลักทรัพย์โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การพาทรัพย์นั้นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 336 ทวิ เท่านั้น

          การทำร้ายหรือขู่ว่าจะทำร้ายต้องยังไม่ขาดตอนจากลักทรัพย์ หากมีการทำร้ายขาดตอนไปจากการลักทรัพย์แล้วก็ไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 600/2544  ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ขณะที่จำเลยทั้งสองกำลังลักเอามะม่วงของผู้เสียหายอยู่นั้น ผู้เสียหายเห็นการกระทำจึงได้ตรงเข้าจับกุมตัวจำเลยที่ 1 ไว้ได้จากนั้นได้ลากตัวจำเลยที่ 1 มายังที่ที่มีสายไฟฟ้าวางอยู่เพื่อจะใช้สายไฟฟ้ามัดตัวไว้ส่วนจำเลยที่ 2 ได้วิ่งหลบหนีไปได้ประมาณ 15 เมตรแล้ววิ่งกลับมายังที่ที่ผู้เสียหายกำลังจับตัวจำเลยที่ 1 ไว้ ในมือจำเลยที่ 2 ถือท่อนไม้ไผ่ยาว 175 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว เงื้อจะตีผู้เสียหายพร้อมกับพูดว่า "วางเมียผมเดี๋ยวนี้ หากไม่วางจะตีพ่อใหญ่ให้ตาย" เห็นว่า เมื่อผู้เสียหายเห็นจำเลยทั้งสองกำลังลักเอามะม่วงอยู่นั้นและกำลังจะนำมะม่วงที่เด็ดจากขั้วไว้แล้วนั้นออกไปนอกสวน ผู้เสียหายเห็นการกระทำจึงเข้าจับกุมตัวจำเลยที่ 1 จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ตอนนี้การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ยังดำเนินอยู่ยังไม่ขาดตอน จำเลยที่ 2 ซึ่งในตอนแรกได้วิ่งหลบหนีไปสักครู่เดียวก็กลับมาพร้อมกับถือท่อนไม้ไผ่ตรงเข้าเงื้อจะตีทำร้ายผู้เสียหาย และในทันทีนั้นได้พูดขู่ผู้เสียหายขึ้นว่า "วางเมียผมเดี๋ยวนี้ หากไม่วางจะตีพ่อใหญ่ให้ตาย" ดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ขู่เข็ญผู้เสียหายว่า ในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายทั้งนี้เพื่อให้ผู้เสียหายปล่อยตัวจำเลยที่ 1 ให้พ้นจากการจับกุมอันเป็นการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์

          การใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายต้องมีเจตนาพิเศษ  (1) เพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือพาทรัพย์นั้นไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1763/2509  จำเลยที่ 2 มีปืนเป็นอาวุธยืนคอยอยู่ที่ถนน จำเลยที่ 1 เข้าไปทำทีซื้อข้าวโพดคั่วจากผู้เสียหายแล้วกระชากสร้อยคอผู้เสียหายพาวิ่งไป ตำรวจเดินมาพบเหตุการณ์เข้าพอดี ได้วิ่งไล่ตามในระยะใกล้ชิด จำเลยที่ 2 ได้ยิงปืนขึ้น 3 นัด แล้วจำเลยทั้งสองวิ่งไปด้วยกัน การที่จำเลยที่ 2 ยิงปืนเพื่อขู่เข็ญมิให้ตำรวจไล่ติดตามไปเพื่อความสะดวกแก่การพาทรัพย์ไปนั้น จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์

          การใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายต้องมีเจตนาพิเศษ (2) เพื่อให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6724/2544   ขณะที่ผู้เสียหายทั้งสามเดินไปตามทางเท้า จำเลยขับรถจักรยานยนต์เข้ามาจอดเทียบใกล้ ๆ และแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจขอตรวจบัตรประจำตัวและขอค้นตัวหรือตรวจหายาเสพติดให้โทษ แล้วพูดจาขู่บังคับให้ส่งมอบเงินและทรัพย์สินมีค่าแก่ตนหากขัดขืนจะยิงให้ตาย พร้อมกับทำท่าจะล้วงเอาอาวุธออกมาผู้เสียหายทั้งสามเกิดความกลัวผู้เสียหายที่ 2 กับที่ 3 จึงส่งกระเป๋าเงินให้จำเลยล้วงหยิบเอาเงินสดในกระเป๋าไป ส่วนผู้เสียหายที่ 1 ถอดนาฬิกาข้อมือให้จำเลย จากนั้นจำเลยก็หลบหนีไปการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคหนึ่งแล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์ มิใช่กรรโชกทรัพย์ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่า จำเลยจะเป็นผู้ล้วงหยิบเอาทรัพย์นั้นเองหรือผู้เสียหายเป็นผู้หยิบส่งให้ไป

          การใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายต้องมีเจตนาพิเศษ (3) เพื่อยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1421/2494   ลักบุหรี่ที่เขาวางขายไว้ที่ร้ายแผงลอยไป 1 ซองแล้วเดินเรื่อยๆไป  เจ้าทรัพย์กับพวกติดตามในขณะนั้นชั่วระยะทางเพียงเล็กน้อยก็ทัน  จำเลยจึงใช้มือชกต่อยพวกเจ้าทรัพย์ ดังนี้ แสดงให้เห็นว่าทำร้ายเพื่อระงับการติดตามของคนเหล่านั้นโดยหวังผลที่จะพาบุหรี่ที่ลักมานั้นไป  และเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นผิดอาญาสำหรับความผิดฐานลักทรัพย์ที่ได้กระทำลง ย่อมเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์

          การใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายต้องมีเจตนาพิเศษ (4) เพื่อปกปิดการกระทำความผิดนั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 837/2510   จำเลยเข้าไปลักทรัพย์ในเรือน ขณะที่กำลังจะออกจากเรือน บุตรของผู้เสียหายเห็น ได้ร้องขึ้น จำเลยลงจากเรือนแล้วใช้มีดแทงบุตรของผู้เสียหายตาย ดังนี้ การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดในวาระเดียวกันอันเป็นความผิดทั้งฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 และฐานฆ่าคนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ไม่ใช่เป็นความผิดหลายกรรม

          การใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายต้องมีเจตนาพิเศษ (5) เพื่อให้พ้นจากการจับกุม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1181/2543  ผู้เสียหายยืนเรียกรถแท็กซี่ จำเลยทั้งสองและพวกอีก 1 คนเข้าไปพูดกับผู้เสียหายขอไปนอนด้วยที่โรงแรม ผู้เสียหายปฏิเสธ จำเลยทั้งสองลูบตามตัวผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 ล้วงกระเป๋ากางเกงหยิบเอาเงินสดของผู้เสียหายไป แล้วส่งเงินแก่พวกของตนแล้วทั้งหมดหลบหนีไป ผู้เสียหายวิ่งตามจับจำเลยทั้งสองได้จำเลยที่ 1 กัดมือซ้ายและจำเลยที่ 2 กัดมือขวาของผู้เสียหาย แต่ผู้เสียหายไม่ยอมปล่อยจำเลยทั้งสอง ถือว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกันลักทรัพย์ โดยใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้พ้นจากการจับกุม เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง

          การกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ ต้องร่วมกันกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ตั้งแต่สามคนขึ้นไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 228-231/2521   จำเลยขู่เจ้าทรัพย์ ค้นตัวเอาเงินไป 160 บาทนาฬิกาข้อมือ ยึดรถจักรยานยนต์ไว้แล้วเรียกค่าไถ่ตัว ตกลงให้ภริยาเจ้าทรัพย์ไปเอาเงินค่าไถ่จำเลยคืนเงิน 160 บาท  ให้ภริยาเจ้าทรัพย์นำเงินกลับไปให้จำเลยจำเลยคืนนาฬิกาและจักรยานยนต์ให้ เสื้อกันฝนหายไป ดังนี้ นอกจากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 316 ยังเป็นความผิดตาม มาตรา 340 ด้วย ที่จำเลยคืนเงิน 160 บาท ให้เป็นค่ารถไปเอาเงิน กับคืนนาฬิกาและจักรยานยนต์ ไม่ใช่เรื่องไม่ประสงค์ต่อทรัพย์นั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 375/2533   เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 กับพวกอีก 2 คนเข้าไปในบ้านและพยายามลักทรัพย์ของผู้เสียหาย แล้วพวกของจำเลยดังกล่าวได้ใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายจนได้รับอันตรายแก่กายเพื่อสะดวกในการลักทรัพย์ หรือพาทรัพย์ไปแต่ไม่สามารถพาทรัพย์นั้นไปได้ เพราะมีผู้มาพบเห็นเสียก่อน ดังนี้การที่พวกของจำเลยที่ 1 ใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายดังกล่าว จึงมิได้นอกเหนือความมุ่งหมายหรือเจตนาของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคแรก 80
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8722/2548   ผู้เสียหายขับรถยนต์รับจ้างสาธารณะ จำเลยกับพวกอีก 2 คนว่าจ้างให้ขับไปส่งบริเวณเกษตร เมื่อไปถึงจำเลยกับพวกให้ผู้เสียหายหยุดรถ จำเลยกับพวกลงจากรถโดยไม่ชำระค่าโดยสารอ้างว่าผู้เสียหายโกงมิเตอร์ ผู้เสียหายจึงลงจากรถและตามจำเลยกับพวกไปเพื่อทวงค่าโดยสาร จำเลยหันกลับมาชักมีดปลายแหลมยาวประมาณ 5 นิ้วออกมาจี้หลังผู้เสียหายบังคับให้ผู้เสียหายเดินเข้าไป ในบ้านที่เกิดเหตุแล้วให้ผู้เสียหายนั่งอยู่ภายในห้องในบ้าน จำเลยกับพวกเตะผู้เสียหายคนละ 1 ครั้ง กล่าวหาว่าผู้เสียหายเป็นสายลับให้เจ้าพนักงานตำรวจและพูดข่มขู่ให้ผู้เสียหายเสพเมทแอมเฟตามีน จากนั้นบังคับให้ผู้เสียหายนั่งในลักษณะคู้ตัวไปข้างหน้า ขาเหยียดตรงแล้วจึงเอานาฬิกาข้อมือและเงินสด 880 บาท ไปจากผู้เสียหาย ผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ถือได้ว่าจำเลยกับพวกเอาทรัพย์ไปโดยใช้กำลังประทุษร้าย จึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 เมื่อจำเลยร่วมกระทำความผิดกับพวกอีก 2 คน โดยมีมีดเป็นอาวุธ จึงเป็นความผิดฐานร่วมกับพวกปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธติดตัวไปด้วยตามมาตรา 340 วรรคสอง

          เมื่อการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ แม้มีผู้ร่วมกระทำความผิดครบสามคน ก็ไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์เช่นกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5045/2530   จำเลยกับพวกอีก 4 คน ไล่จับไก่ของผู้เสียหายจากบ้านของผู้เสียหายในขณะที่ไฟไหม้บ้าน หลังจากจับไก่ได้แล้วจำเลยกับพวกยิงปืน 2 นัด ด้วยความคึกคะนอง มิได้ยิงปืนขู่เข็ญผู้เสียหายกับพวกเพื่อความสะดวกแก่การลักทรัพย์พาทรัพย์ไป ให้ยื่นซึ่งทรัพย์ ยึดถือทรัพย์ไว้ หรือเพื่อให้พ้นการจับกุมเพราะไม่ปรากฏว่าจำเลยกับพวกเห็นผู้เสียหายกับพวกซึ่งแอบดูอยู่การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ แต่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 335 (2) (7) และ (8) วรรคสาม 


13 สิงหาคม 2559

สัญญาประกันภัยค้ำจุน (ประกันภัยรถยนต์)

          ป.พ.พ.
          มาตรา 887  "อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ
          บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยโดยตรง แต่ค่าสินไหมทดแทนเช่นว่านี้หาอาจจะคิดเกินไปกว่าจำนวนอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้ตามสัญญานั้นได้ไม่ ในคดีระหว่างบุคคลผู้ต้องเสียหายกับผู้รับประกันภัยนั้น ท่านให้ผู้ต้องเสียหายเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาในคดีด้วย
          อนึ่ง ผู้รับประกันภัยนั้นแม้จะได้ส่งค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้วก็ยังหาหลุดพ้นจากความรับผิดต่อบุคคลผู้ต้องเสียหายนั้นไม่ เว้นแต่ตนจะพิสูจน์ได้ว่าสินไหมทดแทนนั้นผู้เอาประกันภัยได้ใช้ให้แก่ผู้ต้องเสียหายแล้ว"
          มาตรา 888   "ถ้าค่าสินไหมทดแทนอันผู้รับประกันภัยได้ใช้ไปโดยคำพิพากษานั้นยังไม่คุ้มค่าวินาศภัยเต็มจำนวนไซร้ ท่านว่าผู้เอาประกันภัยก็ยังคงต้องรับใช้จำนวนที่ยังขาด เว้นไว้แต่บุคคลผู้ต้องเสียหายจะได้ละเลยเสียไม่เรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาสู่คดีด้วยดังกล่าวไว้ในมาตราก่อน"

          สัญญาประกันภัยค้ำจุน เป็นสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ ตัวอย่างเช่น สัญญาประกันภัยรถยนต์ชั้น 1, 2 หรือ 3 เป็นต้น ที่กำหนดให้บริษัทประกันต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมให้กับบุคคลภายนอกแทนเจ้าของรถที่ทำประกันภัยซึ่งเป็นฝ่ายผิด




          มีคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ 

          เมื่อคดีอาญาฟังได้ว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยกระทำละเมิดต่อโจทก์ แม้ผู้รับประกันภัยจะไม่ได้ถูกฟ้องด้วยก็ตาม แต่ต้องรับผิดชดไช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ เพราะผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9209/2558   แม้ในคดีอาญาจำเลยที่ 3 จะไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลย จึงไม่ถูกผูกพันที่ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งที่ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ก็ตาม แต่จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัย ตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยจะไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ผู้ขับรถยนต์คันที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัยไว้จากจำเลยที่ 2 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 มีสิทธิใช้รถยนต์ดังกล่าวเสมือนเป็นรถยนต์ของตนเอง จึงถือเสมือนว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เอาประกันภัยด้วย ทั้งตามคำให้การ จำเลยที่ 3 ก็มิได้ปฏิเสธว่าตนไม่ต้องรับผิดเพราะจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้เอาประกันภัย ดังนี้ เมื่อคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงยุติว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้มีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย กรณีจึงต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 3 ไม่อาจนำสืบเปลี่ยนแปลงให้ผิดไปจากความรับผิดของจำเลยที่ 1 ได้

          ผู้รับประกันภัยที่ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว และอยู่ในฐานะผู้เข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่ในมูลหนี้ต่อบุคคลภายนอก ต้องนับอายุความตามสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่เดิม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15977/2557   สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ที่เสียหาย ที่ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์และอยู่ในฐานะผู้เข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่ในมูลหนี้ต่อบุคคลภายนอก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 ประกอบ 226 วรรคหนึ่งนั้น ในการนับอายุความของโจทก์ดังกล่าว ต้องนับตามสิทธิของผู้เอาประกันภัย คดีนี้เมื่อสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะฟ้องมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยที่เข้ารับช่วงสิทธิ ก็ย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้เอาประกันภัย คือ ต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยหรือตัวแทนของผู้เอาประกันได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวเช่นกัน หาใช่นับอายุความ ตั้งแต่วันที่โจทก์รู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ เมื่อได้ความว่า ผู้ขับรถคันที่โจทก์รับประกัน ซึ่งถือเป็นตัวแทนของผู้เอาประกันภัยได้รู้ตัวผู้ขับรถยนต์อีกฝ่ายว่าเป็นผู้ใดในวันที่ 3 เมษายน 2546 ซึ่งเป็นวันที่พนักงานสอบสวนนัดผู้ขับรถของผู้เอาประกันมาตกลงกับจำเลยที่ 1 และเป็นวันที่ผู้ขับรถของผู้เอาประกันภัยพบกับพนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุของโจทก์เป็นครั้งแรก ฉะนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 8 ธันวาคม 2548 จึงเกินกว่า 1 ปี เมื่อนับแต่วันที่ 3 เมษายน 2546 ดังกล่าว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

          เมื่อเหตุวินาศภัยได้เกิดขึ้นแก่ อ. ผู้ตาย จากการขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 5 ผู้ครอบครองและเป็นผู้เอาประกันภัยรถแท็กซี่ที่จำเลยที่ 2 ขับ ไว้กับจำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดชอบด้วย แม้ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 ขาดอายุความ มิใช่ศาลยกฟ้องเพราะจำเลยที่ 5 ไม่ต้องรับผิดชอบในเหตุรถเฉี่ยวชนกัน จำเลยที่ 4 จึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาประกันภัย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7109/2557    ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ เมื่อเหตุวินาศภัยได้เกิดขึ้นแก่ อ. ผู้ตาย จากการขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 5 ผู้ครอบครองและเป็นผู้เอาประกันภัยรถแท็กซี่ที่จำเลยที่ 2 ขับ ไว้กับจำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดชอบด้วย แต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 เพราะฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 ขาดอายุความมิใช่ยกฟ้องเพราะจำเลยที่ 5 ไม่ต้องรับผิดชอบในเหตุรถเฉี่ยวชนกัน จำเลยที่ 4 จึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาประกันภัย

          เมื่อความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยยังคงมีอยู่ในขณะที่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์และขณะนั้นจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยซึ่งมีความรับผิดตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยอยู่ก่อนแล้ว จำเลยที่ 2 จึงหาหลุดพ้นความรับผิดไปด้วยไม่ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนยังคงต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 500/2557   ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และผู้ครอบครองรถบรรทุกคันเกิดเหตุที่ได้เอาประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัย โดยวันเกิดเหตุลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถของจำเลยที่ 1 ไปส่งสินค้าให้แก่โจทก์ ย่อมถือได้ว่าลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 รับประกันภัยโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 เมื่อลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถคันที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยถอยหลังชนซุ้มเสาประตูโรมันค้ำยันและรองรับระเบียงหน้าบ้านของโจทก์แตกหักเสียหาย โจทก์ซึ่งเป็นผู้ต้องเสียหายจึงชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยโดยตรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคสอง ซึ่งโจทก์สามารถฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดได้โดยลำพัง เพียงแต่หากโจทก์ผู้ต้องเสียหายไม่ได้ฟ้องหรือเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาสู้คดีด้วย จะมีผลเพียงทำให้ผู้ต้องเสียหายไม่อาจเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนที่ยังขาดจากผู้เอาประกันภัยได้เท่านั้น หาได้มีผลถึงกับทำให้ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดต่อผู้ต้องเสียหายและทำให้ผู้รับประกันภัยหลุดพ้นความรับผิดไปด้วยไม่ คดีนี้ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยรวมมากับจำเลยที่ ๒ ผู้รับประกันภัยโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุ แต่ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุเอง ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เนื่องจากไม่ได้เป็นไปตามคำฟ้องของโจทก์นั้น หาทำให้มูลหนี้อันเกิดจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ระงับสิ้นไปไม่ ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างที่ลูกจ้างได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ตามกฎหมายก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ผิดไปมีผลทำให้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดตามฟ้องเท่านั้น ดังนั้น เมื่อความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยยังคงมีอยู่ในขณะที่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์และขณะนั้นจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยซึ่งมีความรับผิดตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยอยู่ก่อนแล้ว จำเลยที่ 2 จึงหาหลุดพ้นความรับผิดไปด้วยไม่ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนยังคงต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหาย กรณีหาใช่เรื่องมูลความแห่งคดีที่การชำระหนี้มิอาจแบ่งแยกกันได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยหลุดพ้นความรับผิดอันจะเป็นผลให้จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยต้องหลุดพ้นไปจากความรับผิดแต่อย่างใดไม่

          โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกซึ่งผู้เอาประกันจะต้องรับผิดชอบ บุคคลภายนอกมีสิทธิเรียกร้องจากผู้รับประกันภัยได้โดยตรง แม้ผู้เอาประกันภัยจะทำผิดเงื่อนไขกรมธรรม์ก็ตาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3254/2556   โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุน โจทก์ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกซึ่งผู้เอาประกันจะต้องรับผิดชอบ บุคคลภายนอกมีสิทธิเรียกร้องจากผู้รับประกันภัยได้โดยตรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 เมื่อจำเลยผู้เอาประกันภัยทำละเมิดและต้องรับผิดชอบต่อ ว. ท. และ จ. บุคคลภายนอก โจทก์ย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ ว. ท. และ จ. ตามบทบัญญัติในมาตราดังกล่าว โจทก์ไม่อาจนำข้อยกเว้นความรับผิด เนื่องจากขณะขับขี่จำเลยมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดไม่น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 ข้อ 7.6 ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ใช้บังคับระหว่างโจทก์ผู้รับประกันภัยกับจำเลยผู้เอาประกันภัยไปใช้เป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกตามบทบัญญัติในมาตราดังกล่าวได้ โจทก์ยังต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก เพียงแต่เมื่อโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกไปแล้ว จำเลยต้องใช้เงินที่โจทก์ใช้ไปนั้นคืนโจทก์

          การฟ้องให้ผู้รับประกันภัยรับผิดตามสัญญาประกันภัย ซึ่งโจทก์สามารถฟ้องผู้รับประกันภัยให้รับผิดได้โดยไม่จำต้องฟ้องผู้เอาประกันภัยด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 รับประกันภัยรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุจาก น. และข้อเท็จจริงได้ความว่า น. ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุชนรถที่โจทก์รับประกันภัยโดยละเมิด จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2912/2555   แม้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับ น. ในฐานะนายจ้าง แต่โจทก์มิได้ฟ้องโดยยืนยันว่า จำเลยที่ 2 รับประกันภัยรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุจากจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด โจทก์เพียงแต่ฟ้องว่า น. ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถในทางการที่จ้างโดยประมาทชนรถที่โจทก์รับประกันภัย จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์กระบะของจำเลยที่ 1 ไว้ในขณะเกิดเหตุ และกรมธรรม์ยังคุ้มครองอยู่ในขณะเกิดเหตุ โดยกรมธรรม์มีเงื่อนไขสำคัญว่า หากรถยนต์กระบะที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยก่อความเสียหายแก่บุคคลภายนอก จำเลยที่ 2 จะรับผิดต่อบุคคลภายนอกในนามของผู้เอาประกันภัยแทนผู้เอาประกันภัย เป็นการฟ้องให้ผู้รับประกันภัยรับผิดตามสัญญาประกันภัย ซึ่งโจทก์สามารถฟ้องผู้รับประกันภัยให้รับผิดได้โดยไม่จำต้องฟ้องผู้เอาประกันภัยด้วย ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามที่จำเลยที่ 2 ให้การและนำสืบรับว่า จำเลยที่ 2 รับประกันภัยรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุจาก น. และข้อเท็จจริงได้ความว่า น. ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุชนรถที่โจทก์รับประกันภัยโดยละเมิด จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ผู้รับช่วงสิทธิมาฟ้อง

          กรณีเป็นผู้รับประกันภัยของคู่กรณีทั้งฝ่ายจำเลย(ผู้ทำละเมิด)และฝ่ายโจทก์(ผู้เสียหาย) ผู้รับประกันภัยไม่อาจนำเอาหนี้ค่าสินไหมทดแทนที่จ่ายให้แก่โจทก์ไปแล้วมาหักกลบลบกับค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องส่วนที่ขาดอีกได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8829/2551    จำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์และรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 เมื่อรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 เฉี่ยวชนรถยนต์ของโจทก์เสียหาย จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งในฐานะเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ในความเสียหายที่โจทก์ได้รับตามกรมธรรม์ประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 และในฐานะที่จำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 ซึ่งต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกคือโจทก์ในความเสียหายที่เกิดจากรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 เช่นนี้ จำเลยที่ 4 จึงมีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองกรณีเพียงฝ่ายเดียว โจทก์ไม่มีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 4 การที่จำเลยที่ 4 ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 และรับช่วงสิทธิจากโจทก์ไล่เบี้ยเอาแก่ผู้ที่ทำให้รถยนต์โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 4 ก็มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เท่านั้น หาได้ก่อให้เกิดภาระหนี้แก่โจทก์ไม่ เมื่อการใช้ค่าสินไหมทดแทนของจำเลยที่ 4 แก่โจทก์ยังไม่เพียงพอแก่ความเสียหายที่แท้จริง โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายส่วนที่ขาดจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ผู้ทำละเมิด และยังเรียกให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 ภายในวงเงินตามกรมธรรม์ประกันภัยระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 ได้อีกด้วย จำเลยที่ 4 จึงตกเป็นหนี้โจทก์ที่จะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายส่วนที่ขาดแก่โจทก์อีก เมื่อโจทก์ไม่ได้เป็นหนี้จำเลยที่ 4 จึงไม่ใช่กรณีที่บุคคลสองคนต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้อันมีวัตถุประสงค์เป็นอย่างเดียวกัน และหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดจะชำระที่ลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะนำมาหักกลบลบหนี้กันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 จำเลยที่ 4 จึงไม่อาจนำเอาหนี้ค่าสินไหมทดแทนที่จ่ายให้แก่โจทก์ไปแล้วมาหักกลบลบกับค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องส่วนที่ขาดอีกได้ ทั้งไม่ใช่เป็นกรณีที่สิทธิและความรับผิดในหนี้รายใดตกอยู่แก่บุคคลเดียวกันอันจะทำให้หนี้รายนั้นระงับสิ้นไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 353




สัญญากู้ยืมเงิน

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
          มาตรา 650  "อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้นเป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น
          สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม"
          มาตรา 653   "การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
          ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว"
          มาตรา 654  "ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี"
          มาตรา 655  "ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ แต่ทว่าเมื่อดอกเบี้ยค้างชำระไม่น้อยกว่าปีหนึ่ง คู่สัญญากู้ยืมจะตกลงกันให้เอาดอกเบี้ยนั้นทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นก็ได้ แต่การตกลงเช่นนั้นต้องทำเป็นหนังสือ
          ส่วนประเพณีการค้าขายที่คำนวณดอกทบต้นในบัญชีเดินสะพัดก็ดี ในการค้าขายอย่างอื่นทำนองเช่นว่านี้ก็ดี หาอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติซึ่งกล่าวมาในวรรคก่อนนั้นไม่"
          มาตรา 656  "ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นแทนจำนวนเงินนั้นไซร้ ท่านให้คิดเป็นหนี้เงินค้างชำระโดยจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ
          ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมไซร้ หนี้อันระงับไปเพราะการชำระเช่นนั้น ท่านให้คิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ
          ความตกลงกันอย่างใดๆ ขัดกับข้อความดั่งกล่าวมานี้ ท่านว่าเป็นโมฆะ"

          สำหรับอายุความฟ้องคดีสัญญากู้ยืมเงินแบ่งเป็น 3 ประเภท
          1. อายุความทั่วไปตามมาตรา 193/30 มีอายุความสิบปี
          2. กรณีเงินกู้ที่มีการชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ ตามมาตรา 193/33(2) มีอายุความห้าปี
          3. กรณีลูกหนี้เงินกู้เสียชีวิต เจ้าหนี้ต้องฟ้องคดีภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ตามมาตรา 1754 วรรคสาม



       
          สัญญากู้ยืมเงินเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองชนิดหนึ่ง ซึ่งจะบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ให้ยืม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13825/2553  โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2542 และจำเลยได้รับเงินกู้ยืมไปครบถ้วนแล้ว จำเลยให้การว่าจำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินจากโจทก์และไม่เคยได้รับเงินไปจากโจทก์ จำเลยทำสัญญาจำนองที่ดินเพื่อประกันการทำสัญญานายหน้าจัดส่งคนงานไปทำงานที่ไต้หวัน เท่ากับจำเลยให้การว่าสัญญากู้ยืมเงินตามคำฟ้องซึ่งเป็นการยืมใช้สิ้นเปลืองไม่สมบูรณ์ เพราะไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินที่ยืมตาม ป.พ.พ. มาตรา 650 จำเลยจึงไม่ต้องห้ามมิให้นำสืบพยานบุคคลว่าสัญญากู้ยืมเงินตามคำฟ้องไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94
          ที่จำเลยให้การและนำสืบพยานบุคคลว่าสัญญาจำนองดังกล่าวเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญานายหน้าส่งคนไปทำงานที่ดินแดนไต้หวันและจำเลยได้ชำระหนี้หมดแล้วนั้น ก็เป็นการนำสืบถึงที่มาแห่งมูลหนี้จำนอง หาใช่การนำสืบพยานบุคคลแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารอันจะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 ไม่ และการนำสืบพยานบุคคลว่าจำเลยได้ชำระหนี้ตามสัญญานายหน้าส่งคนไปทำงานที่ต่างประเทศก็มิใช่การนำสืบถึงการใช้เงินกู้ยืมที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับมาตรา 653 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7229/2552  หนังสือสัญญากู้เงินซึ่งจำเลยลงลายมือชื่อไว้ระบุจำนวนเงิน 500,000 บาท โดยจำเลยไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวจากโจทก์ แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามีมูลหนี้เดิมเหลืออยู่เพียง 192,111.28 บาท จึงเป็นการทำให้จำนวนหนี้ในสัญญากู้ไม่สมบูรณ์จำนวน 192,111.28 บาท ได้ มิใช่ว่าสัญญากู้ไม่สมบูรณ์ทั้งหมด
          สัญญาขายลดเช็คไม่มีกฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราไว้เหมือนเช่นการกู้ยืมเงิน ดังนั้น การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือนในมูลหนี้เดิมจึงมิใช่เป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5292/2548  โจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้จากจำเลย จำเลยให้การว่าไม่ได้กู้เป็นเรื่องการเล่นแชร์กัน การที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยเล่นแชร์กับโจทก์และจำเลยประมูลแชร์ได้ โจทก์ซึ่งเป็นนายวงแชร์ให้จำเลยทำสัญญากู้เงินเพื่อเป็นประกันว่าจำเลยจะส่งชำระค่าแชร์ในงวดที่เหลือต่อไป และต่อมาการเล่นแชร์สิ้นสุดลงโดยจำเลยส่งชำระค่าแชร์ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว ซึ่งเป็นการนำสืบตามที่จำเลยให้การต่อสู้ และเป็นการนำสืบถึงมูลเหตุที่มาของการทำสัญญากู้เงิน เพื่อแสดงให้เห็นว่าสัญญากู้เงินตามฟ้องไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดใช้เงินแก่โจทก์ เพราะจำเลยส่งชำระค่าแชร์ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว เท่ากับเป็นการนำสืบว่าสัญญาหรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคสอง จำเลยจึงมีสิทธินำสืบได้ หาใช่เป็นการนำสืบถึงการชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินไม่ 
          โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้เถียงในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน แต่กำหนดให้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลเป็นพับซึ่งเป็นผลให้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับจำเลยตกเป็นพับไปด้วย จึงไม่ถูกต้อง เพราะการกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดเป็นผู้รับผิดในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแค่ไหนเพียงไรนั้น เป็นดุลพินิจของศาลโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดี ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์รับผิดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยเป็นเรื่องการใช้ดุลพินิจ มิใช่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย จึงมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7275/2546  เดิม น. และจำเลยได้กู้ยืมเงิน ส. น้องโจทก์จำนวน 150,000 บาท ต่อมาโจทก์และจำเลยตกลงกันให้โจทก์นำเงินกู้ยืมตามฟ้องไปชดใช้หนี้แก่ ส. โดยจำเลยยอมกู้ยืมเงินจากโจทก์และจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันการชำระหนี้จำนวน183,300 บาท แก่โจทก์แม้ในวันที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาจำนองที่ดิน โจทก์จะไม่ได้ส่งมอบเงินกู้ยืมให้แก่จำเลย แต่เมื่อโจทก์ได้ชำระหนี้ที่จำเลยมีต่อ ส. แทนจำเลยไป และจำเลยยอมทำสัญญาจำนองที่ดินแทนถือได้ว่าโจทก์ได้ส่งมอบเงินกู้ยืมให้แก่จำเลยแล้ว การกู้ยืมเงินและสัญญาจำนองที่ดินระหว่างโจทก์และจำเลยย่อมบริบูรณ์ใช้บังคับระหว่างกันได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6792/2543  โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คโดยกล่าวอ้างและนำสืบว่าจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อและประทับตราบริษัทฟาร์มอ่างทองรีสอร์ท จำกัด เพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินที่บริษัทฟาร์มอ่างทองรีสอร์ท จำกัด กู้ไปจากโจทก์ร่วม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทฟาร์มอ่างทองรีสอร์ท จำกัด ยังไม่ได้รับเงินตามสัญญากู้ยืมเงิน ดังนั้น สัญญากู้ยืมเงินย่อมไม่สมบูรณ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 650 วรรคสอง จึงถือไม่ได้ว่าบริษัทฟาร์มอ่างทองรีสอร์ท จำกัด เป็นหนี้โจทก์ร่วมตามสัญญากู้ยืมเงิน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงอันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค
  
          การกู้ยืมเงินเกินกว่าสองพันบาทต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมไว้ จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11637/2556  เช็คพิพาททั้งสี่ฉบับมิได้มีคำว่ากู้หรือยืมเลย และอ่านข้อความในเช็คพิพาททั้งหมดก็ไม่มีข้อความใดเลยที่ส่อแสดงให้รู้ได้ว่าเป็นการกู้ยืมเงินกัน อีกทั้งสภาพของเช็คก็เป็นการใช้เงิน ไม่ใช่การกู้หรือยืมเงิน เช็คพิพาททั้งสี่ฉบับจึงมิใช่เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม          
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3927/2556  เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบแล้วไม่ปรากฏว่ามีเอกสารฉบับใดเลยที่มีข้อความแสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์หรือมีข้อความว่าจะใช้คืนอันเป็นสาระสำคัญของหลักฐานเป็นหนังสือที่บ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์หรือเป็นหนี้โจทก์ ลำพังหนังสือขอเบิกค่าใช้จ่ายประจำเดือนของจำเลยที่ 1 ที่มีเพียงข้อความระบุถึงจำนวนเงินที่ขอเบิกและวันที่ขอรับเงินตามเอกสารหมาย จ.12 ถึง จ.24 คงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 2 ได้รับเช็คไปจากโจทก์แล้วเท่านั้น ยังไม่อาจฟังขยายความออกไปได้ว่าเป็นการรับเช็คที่กู้ยืมเงินจากโจทก์หรือรับเงินที่กู้ยืม หนังสือขอเบิกค่าใช้จ่ายประจำเดือนตามเอกสารดังกล่าวจึงมิใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน ส่วนรายงานที่ ป. มีถึงโจทก์ ก็ปรากฎเพียงข้อความว่า ขอให้โจทก์พิจารณาจ่ายเงินกู้ยืมให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเอกสารที่ ป. จัดทำขึ้นเองแต่ฝ่ายเดียว ทั้งไม่ปรากฏลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ลงไว้เป็นสำคัญ เอกสารดังกล่าวจึงมิใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินอีกเช่นกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22631/2555  การนำสืบถึงการชำระหนี้กู้ยืมด้วยเงินนั้น ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง กำหนดให้ผู้นำสืบต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองนำสืบโดยมีสมุดบันทึกการเก็บเงินเป็นรายวัน ซึ่งมีลายมือชื่อโจทก์มาแสดง แม้สมุดบันทึกดังกล่าวที่ลงลายมือชื่อโจทก์ไม่ได้ระบุว่ารับเงินค่าอะไร แต่ก็มีข้อความระบุจำนวนดอกเบี้ยที่ค้าง ซึ่งบ่งชี้ว่าในเดือนนั้นจำเลยทั้งสองชำระในส่วนที่เป็นต้นเงิน โดยยังค้างดอกเบี้ยไว้ ดังนี้ หลักฐานเป็นหนังสือตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง มิได้เคร่งครัดถึงกับว่าจะต้องมีถ้อยคำว่าใช้หนี้กู้ยืมเงิน เมื่อเอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า เจ้าหนี้มาเก็บเงินเป็นรายวัน มีจำนวนเงินที่เรียกเก็บ และเมื่อลูกหนี้ค้างชำระในส่วนดอกเบี้ย ก็มีรายละเอียดว่าค้างดอกเบี้ยเดือนใดบ้าง โดยมีลายมือชื่อเจ้าหนี้ลงในช่องทุกวัน ที่มาเรียกเก็บเงิน ถือว่าสมุดบันทึกดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งการชำระหนี้เงินกู้ตามมาตรา 653 วรรคสอง จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธินำสืบการใช้เงินได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 36/2555  เอกสารหมาย จ.2 นอกจากจะเป็นหลักฐานว่าจำเลยรับโฉนดที่ดินจาก ส. แล้ว เอกสารดังกล่าวยังมีข้อความที่แสดงว่าเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2536 จำเลยได้กู้ยืมเงินจาก ส. จำนวน 2,000,000 บาท จึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้ด้วย แม้จำเลยซึ่งเป็นผู้กู้ไม่เจตนาให้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมก็ตาม การที่คู่สัญญาได้ทำสัญญากู้ยืมกันเป็นหนังสือไว้แล้ว หามีผลทำให้เอกสารฉบับนี้ไม่เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม โจทก์จึงใช้เอกสารหมาย จ.2 เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือฟ้องให้จำเลยรับผิดได้
          การกู้ยืมเงินระหว่าง ส. กับจำเลยมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้ยืมตามเอกสารหมาย จ.2 แม้จำเลยอ้างว่าชำระหนี้แล้ว แต่จำเลยก็ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ให้ยืม ไม่มีการเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมหรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว จำเลยจึงนำสืบการใช้เงินไม่ได้เพราะต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10406/2554  แบบฟอร์มคำขอกู้ยืมเงินและหนังสือกู้เงินของสมาชิกสหกรณ์ที่โจทก์นำมาใช้กับพนักงานลูกจ้างของโจทก์ ซึ่งคำขอกู้เงินมีสาระสำคัญเพียงว่า จำเลยที่ 1 เสนอคำขอกู้เงินจำนวน 153,500 บาท ส่วนหนังสือกู้เงินมีสาระสำคัญเพียงว่าจำเลยที่ 1 ทำหนังสือกู้ไว้ให้แก่โจทก์เพื่อเป็นหลักฐาน จำเลยที่ 1 ขอกู้เงินไม่เกิน 153,500 บาท เมื่อโจทก์อนุมัติให้ใช้หนังสือกู้นี้ได้ จำเลยที่ 1 จะเบิกรับเงินกู้ตามที่โจทก์อนุมัติ และทำหลักฐานการรับเงินกู้ให้ไว้แก่สหกรณ์ทุกครั้ง ด้านหลังระบุว่า ถ้าโจทก์กำหนดวงเงินกู้ให้น้อยกว่าที่ขอกู้ จำเลยที่ 1 เป็นอันตกลงด้วยทั้งสิ้น ลงชื่อจำเลยที่ 1 ผู้กู้ โดยไม่มีลายมือชื่อโจทก์ผู้ให้กู้อยู่ด้วย คงมีเพียงลายมือชื่อประธานคณะทำงานจากกรรมการดำเนินการซึ่งเป็นประธานในที่ประชุมเป็นผู้อนุมัติพร้อมเลขานุการในช่องบันทึกการอนุมัติเงินกู้หน้าแรกของหนังสือกู้เงิน อันเป็นขั้นตอนปฏิบัติงานตามระเบียบ ฯ ข้อ 9 จึงเป็นเพียงหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง มิใช่หนังสือสัญญากู้ยืมเงิน ส่วนสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำให้ไว้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฝ่ายเดียวลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน จึงเป็นเพียงหลักฐานลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 วรรคสองเท่านั้น หนังสือกู้เงินและหนังสือค้ำประกัน จึงมิใช่ตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตามความมุ่งหมายแห่ง ป.รัษฎากร มาตรา 118 แม้โจทก์จะมิได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 503/2554  โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดในฐานะผู้กู้ยืมจำนวนเงิน 600,000 บาท และจำเลยที่ 2 กับที่ 4 ให้ร่วมรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กู้ยืมจำนวนเงิน 50,000 บาท อีก โดยอาศัยมูลเหตุการกู้ยืมเงินเช่นเดียวกัน แม้โจทก์จะอ้างมูลหนี้กู้ยืมคนละจำนวน และอ้างว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 ต่างกู้เงินโจทก์อีกต่างหากก็ตาม แต่มูลหนี้คดีนี้ก็คือการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 โดยโจทก์อ้างในคำฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืม โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกัน แต่ไม่ได้ระบุจำนวนเงินไว้ในสัญญากู้ยืมเช่นเดียวกับคดีก่อน และอ้างอีกว่าหากบุตรจำเลยที่ 1 คือ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต้องการใช้เงินมาขอกู้เงินจากโจทก์เพิ่มก็ขอให้โจทก์ให้กู้โดยอาศัยสัญญากู้ฉบับดังกล่าว โดยให้บุตรของจำเลยที่ 1 เพียงแต่ทำหลักฐานการรับเงินจากโจทก์ให้โจทก์ยึดเป็นประกัน จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้รับผิดชอบต่อโจทก์เอง เมื่อจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระ โจทก์จึงได้รวบรวมเงินที่จำเลยทั้งสี่กู้ไปจากโจทก์รวมเป็นเงินจำนวน 600,000 บาท กรอกลงในช่องที่ว่างไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน แล้วนำไปฟ้องจำเลยทั้งสี่ตามคดีเดิม ดังนั้นมูลหนี้คดีนี้ก็เป็นมูลหนี้เดิมที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ไปแล้วในคดีเดิมนั่นเอง โดยอาศัยเหตุที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ไป มีจำเลยที่ 2 และที่ 4 ค้ำประกันรวมกับที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 กู้ยืมโจทก์ด้วย เท่ากับโจทก์ได้รื้อร้องฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะ ผู้กู้ยืมเงินและจำเลยที่ 2 กับที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้กู้ยืมด้วย จึงเป็นการฟ้องซ้ำกับคดีเดิมต้องห้ามตามกฎหมาย ทั้งคดีเดิมศาลชั้นต้นก็ได้วินิจฉัยไปแล้วว่า สัญญาการกู้ยืมเงินเป็นสัญญากู้ปลอม โจทก์ไม่อาจอาศัยสัญญากู้ยืมปลอมดังกล่าวมาเป็นหลักฐานฟ้องร้องบังคับคดีได้ เพราะถือว่าการกู้ยืมไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ และลำพังเฉพาะหลักฐานการรับเงินของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ที่โจทก์อ้างก็ไม่ใช่หลักฐานการกู้ยืมเงินที่จะฟ้องร้องบังคับคดีให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 ให้รับผิดได้ 
          หลักฐานการรับเงิน ไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าจำเลยที่ 3 กู้ยืมเงินจากโจทก์และตกลงจะใช้เงินคืนแก่โจทก์หรือกำหนดการเสียดอกเบี้ยไว้อันเป็นลักษณะของการกู้ยืมเงิน หลักฐานการรับเงิน จึงไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4537/2553  ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคแรก (เดิม) บัญญัติว่า “การกู้ยืมเงินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่” สาระสำคัญของหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคแรก อยู่ที่ว่า มีการแสดงให้เห็นว่ามีการกู้ยืมเงินกันก็เพียงพอแล้ว ไม่ได้บังคับถึงกับจะต้องระบุชื่อของผู้ให้กู้ไว้ ดังนั้น เมื่อโจทก์นำหนังสือสัญญากู้และค้ำประกันมาฟ้องจำเลยทั้งสาม และปรากฏชัดว่าเอกสารพิพาทมีสาระสำคัญแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้ แม้จะไม่ได้ระบุชื่อผู้ให้กู้ไว้ให้ถูกต้อง แต่ระบุจำนวนเงินและจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้กู้ครบถ้วน จึงถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมและค้ำประกันของโจทก์ได้แล้ว



          ปัจจุบันนี้เอกสารหลักฐานซึ่งเกิดจากการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ก็ถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้เช่นกัน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8089/2556  การที่จำเลยนำบัตรกดเงินสดควิกแคชไปถอนเงินและใส่รหัสส่วนตัวเปรียบได้กับการลงลายมือชื่อตนเอง ทำรายการเบิกถอนเงินตามที่จำเลยประสงค์ และกดยืนยันทำรายการพร้อมรับเงินสดและสลิป การกระทำดังกล่าวถือเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินจากโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 7,8 และมาตรา 9 ประกอบกับคดีนี้จำเลยมีการขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้สินเชื่อเงินสดควิกแคชที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์ ซึ่งโจทก์มีเอกสารซึ่งมีข้อความชัดว่าจำเลยรับว่าเป็นหนี้โจทก์ขอขยายเวลาชำระหนี้ โดยจำเลยลงลายมือชื่อมาแสดง จึงรับฟังเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมอีกโสดหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

          การกู้ยืมเงินห้ามคิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ยกเว้นสถาบันการเงินเป็นผู้ให้กู้สามารถคิดดอกเบี้ยได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย หากคิดดอกเบี้ยเกินอัตราดังกล่าว ส่วนดอกเบี้ยนั้นเป็นโมฆะ เพราะเป็นการคิดดอกเบี้ยที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 654 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3132/2556  ผลประโยชน์ตอบแทนที่ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับจากจำเลยตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 9 ต้องเป็นผลประโยชน์ตอบแทนที่เป็นสิทธิอันชอบด้วยกฎหมาย แต่ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบได้ความว่าจำเลยที่ 2 หลอกลวงผู้เสียหายแต่ละคนว่าจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในลักษณะเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน หรือคิดเป็นร้อยละ 120 ต่อปี ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย มิใช่เป็นการกู้เงินอันจะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 จึงมีผลทำให้ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะ ดังนั้นเงินที่จำเลยที่ 2 ได้ไปจึงเป็นลาภมิควรได้ ทั้งการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นละเมิด จำเลยที่ 2 จึงต้องคืนเงินในฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 วรรคหนึ่ง และ 438 วรรคหนึ่ง แต่เนื่องจากเป็นหนี้เงิน ผู้เสียหายย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5162/2553  แม้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินจะระบุว่า ให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1.25 บาทต่อเดือน หรือเท่ากับร้อยละ 15 ต่อปี ถูกต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 แต่โจทก์และจำเลยตกลงเรียกดอกเบี้ยสัญญากู้ยืมเงินกันในอัตราร้อยละ 3 บาทต่อเดือน หรือร้อยละ 36 ต่อปี อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 ข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยจึงเป็นการไม่ชอบและตกเป็นโมฆะ เสียเปล่ามาตั้งแต่ต้น ผลเท่ากับไม่เคยมีข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยอยู่ในสัญญา แต่กรณีเป็นหนี้เงินโจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9189/2552  เจ้าหนี้อื่นนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินที่จำเลยจำนองไว้แก่โจทก์ออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งถึงที่สุดให้โจทก์ได้รับชำระหนี้จำนองจำนวน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นตามคำขอของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิบังคับชำระหนี้ตามคำสั่งศาลชั้นต้นได้อยู่แล้ว เมื่อจำเลยมิได้เป็นหนี้โจทก์อีกนอกจากหนี้จำนองดังกล่าว การที่โจทก์กลับนำเอาหนี้จำนองนั้นมาให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินอีกโดยบวกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่จะเรียกได้ตามกฎหมาย อันทำให้ส่วนดอกเบี้ยที่กำหนดตกเป็นโมฆะโดยจำเลยมิได้รับเงินตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวแต่อย่างใด สัญญากู้ยืมเงินจึงไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6471/2552  แม้โจทก์จะไม่นำสืบให้ได้ความชัดว่ามูลหนี้ตามเช็คพิพาทจำนวน 7 ฉบับ ประกอบไปด้วยเงินต้นและดอกเบี้ยซึ่งตกเป็นโมฆะอย่างละเท่าใดก็ตาม แต่เมื่อเป็นเรื่องของการกำหนดค่าเสียหายที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์อันเนื่องมาจากเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการชำระเงิน ศาลก็ย่อมมีดุลพินิจที่จะกำหนดให้ตามที่เห็นสมควรโดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงในสำนวนประกอบพฤติการณ์แห่งคดีและทางได้เสียของคู่ความทุกฝ่าย เมื่อพิจารณาถึงจำนวนเงินต้นตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นที่มาของมูลหนี้ตามเช็ค จำนวนเงินในเช็คพิพาทจำนวน 7 ฉบับ และจำนวนเงินในเช็คที่เหลืออีก 8 ฉบับแล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่าเงินจำนวน 881,250 บาท ตามที่ระบุในสัญญากู้ยืมเงินนั้นแบ่งเป็นดอกเบี้ยที่โจทก์คิดล่วงหน้าและเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดจำนวน 81,250 บาท ซึ่งคิดเป็นต้นเงินจำนวน 800,000 บาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 90.78 ของจำนวนเงินที่ระบุในสัญญากู้ยืมเงินจึงสามารถคำนวณต้นเงินของเช็คแต่ละฉบับไว้ว่าเป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 90.78 ของยอดเงินตามเช็คฉบับนั้นๆ ตามฟ้อง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่เช็คพิพาทแต่ละฉบับถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6465/2552  โจทก์เป็นบริษัทจำกัดที่ประกอบกิจการให้เช่าซื้อทรัพย์สินและให้กู้เงิน เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นสถาบันการเงินตามกฎหมาย การเรียกดอกเบี้ยเงินกู้ของโจทก์จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 654 และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 ดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกเก็บในอัตราร้อยละ 2.5 ต่อเดือน และค่าธรรมเนียมที่โจทก์หักไว้ล่วงหน้าซึ่งคิดแล้วเกินอัตรร้อยละ 15 ต่อปี จึงฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายและตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวรวมทั้งค่าธรรมเนียมจากจำเลยทั้งสองได้ ต้องนำดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่โจทก์เรียกเก็บล่วงหน้าไปแล้วทั้งหมดหักออกจากเงินต้นตามสัญญากู้
          ส่วนดอกเบี้ยซึ่งกำหนดตามสัญญาในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แต่โจทก์คิดจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 2.5 ต่อเดือน หรือร้อยละ 30 ต่อปี ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดให้เรียกดอกเบี้ยได้ ตกเป็นโมฆะ โจทก์จะกลับมาใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามกำหนดในสัญญาอีกไม่ได้ คงเรียกได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดคือวันที่ 3 พฤษภาคม 2550 อันเป็นวันถัดจากวันครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

          แต่ถ้าเป็นสัญญาขายลดเช็ค(หรือสัญญาอื่น)ไม่ใช่สัญญากู้ยืมเงิน ก็ไม่มีกฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7229/2552  โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินและรับเงินสดไปจากโจทก์ จำเลยให้การและนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยเคยนำเช็คไปขายลดแก่กลุ่มของโจทก์ ต่อมากลุ่มของโจทก์อ้างว่าจำเลยยังเป็นหนี้ประมาณ 700,000 บาท หากจำเลยยอมทำสัญญากู้จะลดยอดหนี้ให้เหลือ 500,000 บาท จำเลยจึงได้ลงชื่อในสัญญาเงินกู้ โดยไม่เคยได้รับเงิน ดังนี้ ศาลล่างทั้งสองย่อมมีอำนาจวินิจฉัยถึงรายละเอียดที่มาแห่งมูลหนี้ในการทำสัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่โต้แย้งกันนั้นได้ ซึ่งหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์จริง ไม่ว่ามูลหนี้จะเป็นการกู้ยืมเงินสดหรือเป็นหนี้เงินที่ค้างชำระจากการขายลดเช็ค สัญญากู้ก็มีผลบังคับได้
          โจทก์มีหนังสือสัญญากู้เงินซึ่งจำเลยลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม ส่วนจำนวนเงินที่ระบุไว้ในสัญญากู้แม้จะฟังได้ว่ามูลหนี้เดิมเหลือเพียง 192,111.28 บาท ก็เป็นเพียงการทำให้จำนวนหนี้ในสัญญากู้ไม่สมบูรณ์บางส่วนเท่านั้น โจทก์จึงชอบที่จะเรียกให้จำเลยชำระหนี้ส่วนที่สมบูรณ์จำนวน 192,111.28 บาท ได้ หาใช่ว่าสัญญากู้ไม่สมบูรณ์ทั้งหมดตามที่จำเลยอ้าง เมื่อจำเลยยืนยันข้อเท็จจริงมาในฎีกาว่าหนี้เดิมเป็นมูลหนี้ จากการขายลดเช็ค ซึ่งกรณีสัญญาขายลดเช็คนั้นมิได้มีกฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราไว้เหมือนเช่นการกู้ยืมเงิน ดังนั้น การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน ในมูลหนี้เดิมจึงมิใช่เป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมาย

          ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ แต่เมื่อดอกเบี้ยค้างชำระไม่น้อยกว่าปีหนึ่ง คู่สัญญากู้ยืมจะตกลงกันให้เอาดอกเบี้ยนั้นทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นก็ได้ แต่การตกลงเช่นนั้นต้องทำเป็นหนังสือ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4239/2554  การฟ้องเรียกให้ชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยเป็นการฟ้องให้ผู้กู้ปฏิบัติตามสัญญา ทั้งนี้โดยไม่จำต้องบอกเลิกสัญญาก่อน ตามหนังสือขอให้ชำระหนี้นั้นมีเนื้อหาระบุไว้เพียงว่า จำเลยทั้งสี่เป็นหนี้อยู่จำนวนเท่าใดและขอให้จัดการชำระหนี้ทั้งหมด ไม่มีข้อความใดที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการบอกเลิกสัญญา หนังสือดังกล่าวจึงเป็นเพียงแต่การทวงถามหรือเตือนให้ชำระหนี้เท่านั้น ไม่อาจแปลหรือถือได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญา ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราตามที่ตกลงในสัญญาและนำดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่า 1 ปี ทบเข้ากับต้นเงินแล้วคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นได้ตามข้อตกลงแม้ลูกหนี้ผิดนัดแล้วก็ตาม เมื่อโจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกิน 1 ปี มาทบรวมกับยอดเงินต้นแล้วดอกเบี้ยที่ทบนั้นก็กลายเป็นต้นเงินไม่เป็นดอกเบี้ยที่ค้างอีกต่อไป ข้อตกลงดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 655 วรรคหนึ่ง ซึ่งไม่อยู่ในบังคับข้อห้ามไม่ให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10588/2551  โจทก์นำเอาต้นเงินกับดอกเบี้ยค้างชำระมารวมไว้ในสัญญากู้ยืมเงินฉบับใหม่และคิดดอกเบี้ยในหนี้ต้นเงินใหม่ดังกล่าว การคิดดอกเบี้ยจากดอกเบี้ยที่นำมาทบต้นจึงเป็นการคิดดอกเบี้ยที่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 655 วรรคหนึ่ง เมื่อดอกเบี้ยตามฟ้องได้รวมเอาดอกเบี้ยที่ต้องห้ามตามกฎหมายไว้ด้วย แต่โจทก์ไม่สามารถแยกดอกเบี้ยที่ต้องห้ามดังกล่าวออกมาให้ทราบได้ ฉ. จึงต้องรับผิดต่อโจทก์เฉพาะต้นเงินที่กู้ยืมเท่านั้น โดยให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญานับแต่เวลาที่ ฉ. ผิดนัด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5532/2550  สัญญาข้อ 8 ที่ว่า “เมื่อสัญญานี้ครบกำหนดหากผู้ให้กู้หรือผู้กู้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้บอกเลิกสัญญา ให้ถือว่าสัญญาฉบับนี้มีผลใช้บังคับต่อไปอีกคราวละ 1 ปี ตลอดไป โดยมีเงื่อนไขและข้อตกลงคงเดิมทุกประการจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสัญญา...” มีผลเพียงว่า เมื่ออายุสัญญาเป็นอันต่อออกไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้แล้ว กำหนดเวลาที่จำเลยต้องชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี ก็ขยายตามไปด้วย กำหนดเวลาชำระหนี้ซึ่งทำให้โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงไป กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเปลี่ยนแปลงไปเฉพาะเวลาขณะเริ่มนับอายุความ ส่วนอายุความมิได้เปลี่ยนแปลงไปโดยข้อสัญญาดังกล่าว จึงมิใช่เป็นการขยายอายุความ
          ข้อตกลงตามสัญญากู้กรุงไทยธนวัฏที่ให้โจทก์มีสิทธิหักชำระหนี้จากเงินเดือนที่นายจ้างของจำเลยโอนเข้าบัญชี ไม่มีผลทำให้เงินที่จำเลยเบิกถอนจากบัญชีกลายเป็นเงินที่โจทก์ได้ทดรองจ่าย ส่วนบัตรกรุงไทยเอทีเอ็มที่โจทก์ออกให้แก่จำเลย ก็เพื่อความสะดวกในการเบิกถอนเงิน ซึ่งหากจำเลยมีเงินฝากอยู่ในบัญชีเกินจำนวนที่เบิกถอน ก็เป็นการเบิกถอนเงินฝาก แต่หากจำเลยไม่มีเงินฝากอยู่ในบัญชี เงินที่เบิกถอนไปก็เป็นเงินกู้ที่ตกลงไว้กับโจทก์นั่นเอง สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้รับผิดตามสัญญากู้ที่ทำขึ้นเช่นนี้กฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
          สัญญากู้กรุงไทยธนวัฏไม่มีข้อตกลงที่ให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระได้ การที่โจทก์นำหนี้ที่รวมดอกเบี้ยอยู่ด้วยมาเป็นต้นเงินในการคิดดอกเบี้ยต่อไป ย่อมมีผลเป็นการคิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ จึงฝ่าฝืนข้อห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 655 วรรคหนึ่ง

          การกู้ยืมเงินนั้น ผู้กู้หรือผู้ให้กู้อาจยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นแทนเงินนั้นได้ โดยให้คิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ ตามวิธีการที่กำหนดในมาตรา 656 หากฝ่าฝืน ย่อมมีผลให้ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3437/2559 โจทก์บรรยายฟ้องมีใจความว่า ห. และ จ. ร่วมกันทำมาหากินประกอบธุรกิจนากุ้งและทำประมง และกิจการอื่น ๆ ตลอดระยะเวลาสิบปี มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นที่ทำมาหาได้ร่วมกันจึงเชื่อได้ว่า ห. และ จ. อยู่กินฉันสามีภริยามาเป็นเวลาสิบปี ทรัพย์ที่ทำมาหาได้ต่างมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันหรือเป็นเจ้าของร่วม รวมทั้งหนี้สินที่เกิดจากกิจการที่ทำมาหากินร่วมกันย่อมถือได้ว่าเป็นหนี้ร่วมกัน เมื่อ ห. กู้ยืมเงินจากจำเลยเพื่อนำไปซื้อลูกกุ้งและอาหารกุ้ง ซึ่งเป็นกิจการที่ ห. ทำร่วมกับ จ. และ จ. ร่วมรับรู้โดย ห.เป็นผู้โทรศัพท์แจ้งแล้ว จ. เป็นผู้มารับเงิน หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ร่วมที่ จ. ต้องร่วมกับ ห. ชำระหนี้ การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกและเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ จ. ทำนิติกรรมขายที่ดินพิพาท 2 แปลง ตีใช้หนี้ของ ห. และ จ. ให้แก่จำเลย จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกจำเลยและ ส. หลอกลวง แต่การที่จำเลยรับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงถือว่าจำเลยผู้ให้กู้ยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่น เป็นการชำระหนี้แทนเงินกู้ซึ่งไม่ปรากฏว่าได้มีการตกลงว่ามีการคิดราคาที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ คือเวลาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ข้อตกลงดังกล่าวจึงขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคสอง ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 656 วรรคสาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7378/2552  การกู้ยืมเงินโดยผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาที่ดินเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมนั้น ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคสอง บัญญัติให้หนี้เป็นอันระงับไปเพราะการชำระเช่นนั้นให้ต้องคิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลา และ ณ สถานที่ส่งมอบในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2541 ซึ่งเป็นวันจดทะเบียนโอนที่ดินตีราคาที่ดิน 590,000 บาท ซึ่งเป็นราคาประเมินของกรมที่ดิน แม้โจทก์จำเลยจะมิได้นำสืบถึงราคาซื้อขายในท้องตลาดที่แท้จริงซึ่งเป็นราคาที่ดินเป็นหลักในการคำนวณ ณ เวลาที่ส่งมอบ แต่ก็เห็นได้ว่าราคาประเมินในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินในเบื้องต้นพอจะอนุมานได้ว่าน่าจะใกล้เคียงกับราคาท้องตลาดและไม่แตกต่างกันมาก เว้นแต่จะมีเหตุผลพิเศษสำหรับที่ดินบางแปลงเป็นการเฉพาะรายเท่านั้น ราคาที่ดินขณะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์จึงสูงกว่าภาระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยค้างชำระตามที่จำเลยอ้าง ซึ่งมีอยู่ประมาณ 230,000 บาท จำเลยก็รับว่ามีส่วนต่างอยู่ประมาณ 300,000 บาท ดังนี้ ความตกลงดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคท้าย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนเพราะเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้กู้และทำให้ผู้ให้กู้ได้เปรียบในทางทรัพย์สินเงินทอง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาและเป็นปัญหาที่มิได้ว่ากันมาโดยชอบในศาลล่างศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 เมื่อการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะ จำเลยจึงไม่ได้ที่ดินไปทางทะเบียน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 142/2550  ข้อตกลงที่กำหนดว่า หากโจทก์ผู้กู้ไม่ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่ ส. ผู้ให้กู้ เมื่อครบกำหนดตามสัญญา ก็ให้สิทธิ ส. โอนที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้เงินกู้ได้ทันทีตามหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงลายมือชื่อไว้โดยไม่กรอกข้อความให้ ส. ยึดถือไว้เป็นประกันโดยไม่คำนึงถึงราคาที่ดินพิพาทว่าจะเท่ากับราคาท้องตลาดในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบคือเวลาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์หรือไม่ ข้อตกลงดังกล่าวจึงขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคสอง ย่อมตกเป็นโมฆะตาม มาตรา 656 วรรคสาม ส. หามีสิทธิบังคับให้โจทก์ดำเนินการโอนที่ดินพิพาทไม่ การที่จำเลยบุตรของ ส. จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยโดยขัดต่อ มาตรา 656 วรรคสอง และวรรคสาม ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพราะเป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติห้ามไว้โดยชัดแจ้งเพื่อป้องกันมิให้ผู้กู้ยืมถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ให้กู้ยืม ปัญหานี้จึงเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วย มาตรา 246 และมาตรา 247
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2533/2549  การที่จำเลยนำสืบพยานบุคคลว่า ศ. นำโฉนดที่ดินที่พิพาทไปมอบให้จำเลยเพื่อโอนชำระหนี้เงินยืม 1,500,000 บาท เป็นการนำสืบให้เห็นว่าจำเลยได้โฉนดที่ดินที่พิพาทมาอย่างไร โดยมิได้อ้างถึงหนังสือสัญญากู้เงินและมิได้เป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารหนังสือสัญญากู้เงินมาแสดง แม้จะมีข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากข้อความในหนังสือสัญญากู้เงินที่ระบุว่ามอบโฉนดที่ดินพิพาทไว้เป็นประกันก็ไม่เป็นการสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความที่ห้ามมิให้ศาลรับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 
          จำเลยรับโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของโจทก์เพื่อชำระหนี้ตามเช็คที่ ศ. ซึ่งเป็นบุตรโจทก์ค้างชำระอยู่ มิใช่หนี้ตามสัญญากู้ยืมที่มีการออกเช็คนั้นชำระหนี้ จึงไม่อาจนำ ป.พ.พ. มาตรา 656 มาปรับใช้ได้ ความตกลงในการโอนที่ดินพิพาทชำระหนี้ดังกล่าวจึงไม่เป็นโมฆะ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6449/2544  เมื่อศาลได้มีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้ว ทายาทย่อมหมดอำนาจจัดการทรัพย์มรดกและกระทำนิติกรรมใด ๆ กับบุคคลภายนอก ทั้งนี้จนกว่าจะแบ่งปันทรัพย์มรดกเสร็จ ผู้จัดการมรดกเท่านั้นที่รับชำระหนี้แทนผู้ตายได้ จำเลยเพิ่งโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่อ้างว่าโอนเพื่อชำระหนี้ตามฟ้องภายหลังที่ศาลได้มีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว แม้จำเลยร่วมจะเป็นทายาทของผู้ตายก็ไม่มีสิทธิรับชำระหนี้แทนผู้ตาย 
          เอกสารที่จำเลยอ้างว่าเป็นข้อตกลงการโอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อชำระหนี้เงินกู้แทนการชำระเงินที่จำเลยทำกับจำเลยร่วมไม่ปรากฏว่าได้มีการคิดเป็นหนี้เงินที่ค้างชำระโดยจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งที่ดินในวันที่จดทะเบียนอันเป็นการส่งมอบ ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นการตกลงชำระหนี้เงินกู้ยืมด้วยทรัพย์สินอื่นแทนจำนวนเงินที่กู้ยืมโดยไม่มีการคำนวณหนี้เงินที่ค้างชำระเท่ากับราคาท้องตลาดของที่ดิน จึงเป็นข้อตกลงที่ขัดกับ ป.พ.พ.มาตรา 656 วรรคหนึ่ง และตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 656 วรรคท้าย ดังนั้นการจดทะเบียนโอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยร่วมและการทำข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ทำให้หนี้เงินกู้ระงับลง จำเลยต้องชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

          อายุความฟ้องคดีสัญญากู้ยืมเงิน


          อายุความทั่วไปกำหนดสิบปีตามมาตรา 193/30
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7593/2555  สัญญากู้กรุงไทยธนวัฏแม้จะมีข้อตกลงให้โจทก์มีสิทธิหักชำระหนี้จากเงินเดือนที่นายจ้างของจำเลยที่ 1 โอนเข้าบัญชีและเรียกค่าธรรมเนียมบัตรกรุงไทยเอทีเอ็มจากจำเลยที่ 1 เป็นรายปี ก็ไม่มีผลทำให้เงินที่จำเลยที่ 1 เบิกถอนจากบัญชีของจำเลยที่ 1 กลายเป็นเงินที่โจทก์ได้ออกทดรองจ่ายได้ ส่วนบัตรกรุงไทยเอทีเอ็มที่โจทก์ออกให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น ก็เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการเบิกถอนเงินหรือรับเงินกู้ของจำเลยที่ 1 จากเครื่องถอนเงินอัตโนมัติของโจทก์หรือของธนาคารอื่นที่มีข้อตกลงกับโจทก์ หากจำเลยที่ 1 มีเงินฝากอยู่ในบัญชีเพียงพอกับจำนวนที่เบิกถอนก็เป็นการเบิกถอนเงินฝาก แต่หากจำเลยที่ 1 มีเงินฝากอยู่ในบัญชีไม่เพียงพอกับจำนวนที่เบิกถอน เงินที่เบิกถอนเกินจากเงินฝากก็เป็นเงินกู้ที่ตกลงไว้กับโจทก์ตามสัญญากู้ การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่จำเลยที่ 1 กู้ไปจึงมิใช่เป็นกรณีที่โจทก์เรียกเอาค่าที่ได้ออกเงินทดรองไปก่อนแต่อย่างใด สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้รับผิดตามสัญญากู้ดังกล่าวมิได้มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/30 แต่ในส่วนค่าธรรมเนียมการใช้บัตรเอทีเอ็มปีละ 100 บาท ถือว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างอันพึงได้รับในการนั้น ซึ่งมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16051/2555  โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2541 อยู่ในกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง มีวัตถุประสงค์ให้นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์กู้ยืมเงินเพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างศึกษา ส่วนการนำส่งคืนกองทุนยังให้โอกาสผู้กู้ยืมชำระคืนเมื่อสำเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี ทั้งยังกำหนดให้คิดดอกเบี้ยในอัตราไม่เกินเงินฝากประจำหนึ่งปีของธนาคารออมสิน และห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยทบต้น กำหนดใช้คืนเป็นรายเดือนเป็นระยะเวลาสูงสุดถึงสิบห้าปี ในกรณีผู้ยืมถึงแก่ความตาย ให้หนี้ตามสัญญาระงับไป หรือกรณีผู้กู้พิการหรือทุพลภาพไม่สามารถประกอบการได้ คณะกรรมการกองทุนมีอำนาจระงับการให้ชำระหนี้ตามสัญญาได้ โดยมีเหตุผลการออกพระราชบัญญัติเนื่องจากมีความจำเป็นต้องเร่งดำเนินการพัฒนามนุษย์ เพื่อรองรับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในการยกฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ดังนั้นการให้กู้ยืมเงินตามพระราชบัญญัติก็เป็นไปเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่และให้โอกาสแก่บุคคลผู้ด้อยโอกาสในสังคมโดยแท้ กรณีเป็นเรื่องที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดสิบปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 หาใช่เป็นสิทธิเรียกร้องในเงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ อันมีอายุความห้าปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) ไม่ เพราะแม้ผู้กู้สามารถเลือกผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือนหรือรายปีได้ แต่หากมีความจำเป็นอาจร้องขอผ่อนผันการชำระหนี้ตามระยะเวลาที่แตกต่างไปหรือชะลอการชำระหนี้เป็นการชั่วคราวได้ 

          อายุความห้าปี กรณีเงินกู้ที่มีการชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ ตามมาตรา 193/33 (2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2075/2540  การที่ บ. ผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เป็นรายเดือน ตามตารางกำหนดชำระหนี้เงินกู้ของสัญญากู้ยืมลดหลั่นกันไปแต่ละเดือนจนถึงงวดสุดท้ายนั้น ถือได้ว่า บ.ตกลงชำระหนี้เพื่อผ่อนทุนเป็นงวดๆตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/33(2) สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 16 พฤศจิกายน 2536 เป็นเวลาเกินกว่า 5 ปีนับแต่วันที่ 9 มกราคม 2523 ซึ่งเป็นวันที่ บ. ผิดนัดและโจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ทั้งหมดได้ คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
          จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ส. ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันย่อมถือตามอายุความของลูกหนี้ เมื่อคดีเกี่ยวกับ บ. ลูกหนี้ขาดอายุความแล้ว คดีที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ส.ผู้ค้ำประกันก็ย่อมขาดอายุความไปด้วย  
          การที่โจทก์เพิ่งยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายภายหลังเวลาที่คดีขาดอายุความแล้ว และการที่ บ. ชำระหนี้แก่โจทก์ไปจำนวนหนึ่งนั้นก็เป็นการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความไม่ใช่เป็นเรื่องรับสภาพหนี้ ฉะนั้นการขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายของโจทก์และการที่ บ. ชำระหนี้โจทก์ไปบางส่วน จึงไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12442/2553  แม้จะมีข้อตกลงกำหนดเงื่อนไขในการชำระเงินกู้คืนทุกเดือนตามคำสั่งหรือกำหนดชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยทุกสิ้นเดือน เดือนละ 148,000 บาท ระยะเวลา 5 ปี เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2539 และงวดต่อๆ ไปทุกวันที่ 23 ของเดือนจนกว่าเงินต้นและดอกเบี้ยจะได้มีการชำระครบถ้วนแล้วอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เมื่อผู้ให้กู้เดิมและจำเลยที่ 1 เลือกผูกพันตามข้อตกลงในการชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยคืนโดยวิธีชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยทุกเดือนรวมระยะเวลา 5 ปี นิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้กู้เดิมหรือโจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องกับจำเลยที่ 1 จึงต้องบังคับตามข้อตกลงที่คู่สัญญาเลือกปฏิบัติผูกนิติสัมพันธ์กันนั้น เมื่อข้อตกลงชำระหนี้เงินกู้คืนที่ตกลงผูกนิติสัมพันธ์กันนั้นเป็นการชำระหนี้เพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวจึงมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6854/2553  โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินบริษัท ก. โดยตกลงผ่อนชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยรายเดือนรวม 144 งวด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 22 เมษายน 2548 และชำระงวดถัดไปทุกวันที่ 22 ของทุกเดือน หากผิดนัดไม่ชำระหนี้งวดใด ยอมให้บริษัท ก. เรียกหนี้ตามสัญญาทั้งหมดคืนได้ทันที ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่ตกลงไว้ในสัญญากู้ โดยจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ครั้งสุดท้ายวันที่ 5 กรกฎาคม 2538 เป็นการฟ้องขอให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ซึ่งมีข้อตกลงชำระหนี้ผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (2) สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในหนี้ดังกล่าวจึงมีกำหนดอายุความห้าปี นับแต่วันผิดนัดชำระหนี้คือตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2538 เป็นต้นไป เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เนื่องจากนำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดห้าปี นับแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2538 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องของตนได้ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 13 มิถุนายน 2544 คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว

          อายุความหนึ่งปี กรณีผู้กู้ตาย ผู้ให้กู้ต้องฟ้องคดีภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่ผู้ให้กู้ได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก(ผู้กู้) ตามมาตรา 1754 วรรคสาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8811/2556  สัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับ ส. ไม่ได้กำหนดเวลาชำระต้นเงินคืนไว้ โจทก์ย่อมเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และถือเป็นเวลาที่ผู้ให้กู้อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ อายุความจึงเริ่มนับแต่วันถัดจากวันทำสัญญากู้เงิน และเมื่อ ส. ถึงแก่ความตายก่อนที่โจทก์ทวงถามก็ไม่อาจใช้อายุความทั่วไปตามที่โจทก์ฎีกาเพราะสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดกซึ่งยังไม่ถึงกำหนดเวลาบังคับเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายก่อนถึงกำหนดนั้น เจ้าหนี้ก็ต้องฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้น ภายในหนึ่งปีนับแต่ได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก เมื่อโจทก์เบิกความรับว่า ส. ถึงแก่ความตายในวันที่ 1 ธันวาคม 2548 และโจทก์อยู่ช่วยงานศพด้วย แสดงว่าโจทก์รู้ถึงการตายของ ส. ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2548 โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยในฐานะทายาทของ ส. ให้ชำระหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าว เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 พ้นกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการตายของ ส. ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม