ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 87 วรรคหนึ่ง "ในกรณีที่มีการกระทำความผิดเพราะมีผู้ใช้ให้กระทำตามมาตรา 84 เพราะมีผู้โฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิดตามมาตรา 85 หรือโดยมีผู้สนับสนุนตามมาตรา 86 ถ้าความผิดที่เกิดขึ้นนั้น ผู้กระทำได้กระทำไปเกินขอบเขตที่ใช้หรือที่โฆษณาหรือประกาศ หรือเกินไปจากเจตนาของผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำความผิด ผู้โฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิด หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิด แล้วแต่กรณี ต้องรับผิดทางอาญาเพียงสำหรับความผิดเท่าที่อยู่ในขอบเขตที่ใช้ หรือที่โฆษณาหรือประกาศ หรืออยู่ในขอบเขตแห่งเจตนาของผู้สนับสนุนการกระทำความผิดเท่านั้น แต่ถ้าโดยพฤติการณ์อาจเล็งเห็นได้ว่า อาจเกิดการกระทำความผิดเช่นที่เกิดขึ้นนั้นได้จากการใช้ การโฆษณา หรือประกาศ หรือการสนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำความผิด ผู้โฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิด หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิด แล้วแต่กรณี ต้องรับผิดทางอาญาตามความผิดที่เกิดขึ้นนั้น"
เจ้าพนักงานตำรวจใช้ลูกน้องไปจับกุมผู้ตาย แต่ลูกน้องไปใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจนผู้ตายถึงแก่ความตายเนื่องจากผู้ตายต่อสู้ไม่ยอมให้จับตัวนั้น เป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้า ที่เกิดขึ้นทันทีทันใด โดยเจ้าพนักงานตำรวจผู้ใช้ไม่อาจคาดหมายได้ว่า ลูกน้องของตนจะกระทำเช่นนั้น เป็นการกระทำเกินขอบเขตที่ใช้ เจ้าพนักงานตำรวจผู้ใช้ไม่ต้องร่วมรับผิดในความผิดฐานฆ่าคนตาย
แต่การที่เจ้าพนักงานตำรวจใช้ให้ลูกน้องไปจับตัวผู้ตายมารีดเค้นหาความจริงดังกล่าว เจ้าพนักงานตำรวจผู้ใช้ย่อมคาดหมายได้ว่าผู้ตายอาจขัดขืนและในการรีดเค้นความจริงจากผู้ตายอาจมีการต่อสู้ทำร้ายร่างกายเกิดขึ้น ถือว่าเจ้าพนักงานตำรวจผู้ใช้นั้นได้ใช้ให้กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายด้วย เมื่อลูกน้องทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงานตำรวจผู้ใช้แล้วผู้ตายถึงแก่ความตาย เจ้าพนักงานตำรวจในฐานะผู้ใช้ให้กระทำความผิดจึงต้องรับผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6151/2556 จำเลยที่ 3 เพียงแต่ใช้ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ส. จับตัวผู้ตายมาเพื่อค้นหาความจริงเกี่ยวกับรถของจำเลยที่ 3 ที่หายไปเท่านั้น การที่ ส. ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจนผู้ตายถึงแก่ความตายเนื่องจากผู้ตายต่อสู้ไม่ยอมให้จับตัวนั้น เป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้า ที่เกิดขึ้นทันทีทันใด โดยจำเลยที่ 3 ไม่อาจคาดหมายได้ว่า ส. จะกระทำเช่นนั้น เป็นการกระทำเกินขอบเขตที่ใช้ พฤติการณ์แห่งคดียังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ส. ฆ่าผู้ตาย แต่การที่จำเลยที่ 3 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ส. ไปจับตัวผู้ตายมารีดเค้นหาความจริงดังกล่าว จำเลยที่ 3 ย่อมคาดหมายได้ว่าผู้ตายอาจขัดขืนและในการรีดเค้นความจริงจากผู้ตาย อาจมีการต่อสู้ทำร้ายร่างกายเกิดขึ้น ถือว่าจำเลยที่ 3 ใช้ให้กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ส. ทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 3 แล้วผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ใช้ให้กระทำความผิดจึงต้องรับผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2545 เวลาประมาณ 19 นาฬิกา จ่าสิบเอก ก. ผู้ตาย จ่าสิบเอก อ. และจำเลยที่ 3 กับพวก พากันไปนั่งดื่มสุราและรับประทานอาหารที่ร้านชงโค จนกระทั่งเวลาประมาณ 22 นาฬิกา ได้พากันไปรับประทานอาหารและดื่มสุราต่อที่ร้านมายาคาราโอเกะ โดยขับรถเก๋งยี่ห้อฮอนด้าแอคคอร์ดของจำเลยที่ 3 จอดไว้ที่บริเวณลานจอดรถของร้านอาหารดังกล่าว ต่อมาเวลาประมาณ 24 นาฬิกา ผู้ตายเดินลงไปที่ลานจอดรถ มีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายแล้วช่วยกันจับตัวผู้ตายโยนใส่รถยนต์กระบะยี่ห้อมิตซูบิชิสีน้ำเงิน ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นคนขับรถคันดังกล่าวหลบหนีไปจากที่เกิดเหตุ เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจมาที่เกิดเหตุได้ยึดชิ้นส่วนกระสุนปืนหลายชิ้น รองเท้าหนังของผู้ตาย 1 คู่ ซึ่งตกอยู่ที่เกิดเหตุและยึดรถยนต์เก๋งยี่ห้อฮอนด้าของจำเลยที่ 3 เป็นของกลาง หลังจากนั้นได้พาจำเลยที่ 3 ไปสอบปากคำที่สถานีตำรวจ จากการค้นตัวจำเลยที่ 3 พบโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 0 1892 8644 ในถุงเท้าด้านขวาและพบซิมการ์ดของโทรศัพท์เครื่องดังกล่าวในถุงเท้าด้านซ้ายของจำเลยที่ 3 จึงยึดเป็นของกลาง ในวันรุ่งขึ้น เวลาประมาณ 9 นาฬิกา พบศพของผู้ตายถูกทิ้งอยู่ใต้สะพานคลองมะขามเตี้ย แพทย์ได้ทำรายงานการตรวจชันสูตรพลิกศพผู้ตาย ระหว่างพิจารณา ภริยาของผู้ตาย และบุตรผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน คดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ส่วนจำเลยที่ 3 ความผิดฐานร่วมกันมีและพาอาวุธปืน มีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นและพาอาวุธปืน ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและใช้ให้ผู้อื่นฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามาหรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามทุกปากเบิกความสอดคล้องลำดับเหตุการณ์สมเหตุผล ไม่มีพิรุธ และเมื่อพิจารณาประกอบกับที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และนาย ส.จับตัวผู้ตายมาเพื่อรีดเค้นความจริงเกี่ยวกับรถยนต์ของจำเลยที่ 3 ที่หายไป ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า แม้รับฟังว่าจำเลยที่ 3 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และนายสุชาติไปจับตัวผู้ตายมาก็ตาม จำเลยที่ 3 ไม่อาจคาดหมายได้ว่าผู้ตายจะต่อสู้ และจำเลยที่ 3 ไม่อาจเล็งเห็นผลได้ว่านาย ส.จะใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายนั้น เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 เพียงแต่ใช้ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และนาย ส.จับตัวผู้ตายมาเพื่อเค้นหาความจริงเกี่ยวกับรถของจำเลยที่ 3 ที่หายไปเท่านั้น การที่นาย ส.ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจนผู้ตายถึงแก่ความตายเนื่องจากผู้ตายต่อสู้ไม่ยอมให้จับตัวนั้น เป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นทันทีทันใด โดยจำเลยที่ 3 ไม่อาจคาดหมายได้ว่านาย ส.จะกระทำเช่นนั้น เป็นการกระทำเกินขอบเขตที่ใช้ พฤติการณ์แห่งคดียังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และนาย ส.ฆ่าผู้ตาย แต่การที่จำเลยที่ 3 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และนาย ส.ไปจับตัวผู้ตายมารีดเค้นหาความจริงดังกล่าว จำเลยที่ 3 ย่อมคาดหมายได้ว่าผู้ตายอาจขัดขืนและในการรีดเค้นความจริงจากผู้ตายอาจมีการต่อสู้ทำร้ายร่างกายเกิดขึ้น ถือว่าจำเลยที่ 3 ใช้ให้กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และนาย ส.ทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 3 แล้วผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ใช้ให้กระทำความผิดจึงต้องรับผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย