มาตรา 120 "ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน"
มาตรา 134 "เมื่อผู้ต้องหาถูกเรียก หรือส่งตัวมา หรือเข้าหาพนักงานสอบสวนเอง หรือปรากฏว่าผู้ใดซึ่งมาอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวนเป็นผู้ต้องหา ให้ถามชื่อตัว ชื่อรอง ชื่อสกุล สัญชาติ บิดามารดา อายุ อาชีพ ที่อยู่ ที่เกิด และแจ้งให้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิด แล้วจึงแจ้งข้อหาให้ทราบ
............................. "
คดีอาญานั้นต้องสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวนเท่านั้น หากเป็นการสอบสวนที่ทำขึ้นโดยคณะกรรมการหรือเจ้าหน้าที่อื่นที่ไม่มีอำนาจสอบสวนในความผิดนั้น การสอบสวนนั้นก็เป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีผลเท่ากับความผิดนั้นยังไม่มีการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวนมาก่อน จึงห้ามมิให้อัยการฟ้องคดี และหากมีการฟ้องคดีไป ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้อง
ดังมีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3130/2556 - คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหาได้มีอำนาจที่จะตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม รายงานการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติก็มิได้ชี้มูลความผิดฐานนี้ การที่อนุกรรมการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการไต่สวนในความผิดฐานนี้มาด้วย จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ และแม้การสอบสวนของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงซึ่งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกำแพงเพชรแต่งตั้งจะพบการกระทำความผิดฐานนี้ ก็มิใช่การสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อหานี้ให้จำเลยทราบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว
จำเลยเป็นพนักงานสอบสวนแก้ไขข้อความในสำนวนการสอบสวนจากเดิมที่มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาเป็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาหลังจากเสนอสำนวนการสอบสวนให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นลงชื่อแล้วเพื่อช่วยผู้ต้องหามิให้ต้องโทษ จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และ 200 วรรคแรก
+ ---------------------+
คดีนี้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 200, 264, 265, 268
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า นาง ส. ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บ - 4091 ตาก ชนกับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บ - 8214 กำแพงเพชร และ 5ท - 4810 เชียงใหม่ มีผู้ถึงแก่ความตายและรับอันตรายสาหัส เหตุเกิดที่ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร โดยจำเลยเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการดำเนินคดีนาง ส.ผู้ต้องหาในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถของผู้อื่นเสียหายและเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและรับอันตรายสาหัส ตามสำนวนการสอบสวนคดีจราจรที่ 18/2541 ต่อมาจำเลยย้ายไปรับราชการที่สถานีตำรวจภูธรปางมะค่า ศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 294/2542 มีคำสั่งเรียกสำนวนการสอบสวนไปยังผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองกำแพงเพชร พันตำรวจเอก ศ. ตรวจสอบแล้วไม่พบหลักฐานการส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชร จึงติดต่อแจ้งให้จำเลยนำสำนวนการสอบสวนไปมอบให้ จำเลยนำสำนวนการสอบสวนคดีจราจรที่ 18/2541 ไปมอบให้พันตำรวจเอก ศ.พบว่า มีการแก้ไขข้อความในสำนวนการสอบสวนหลายแห่งด้วยการใช้น้ำยาลบข้อความเดิมออกแล้วพิมพ์กับเขียนข้อความใหม่แทน โดยแก้ไขหนังสือส่งสำนวนจากข้อความเดิม “ส่งสำนวนที่เห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาฝากขัง” เป็น “ส่งสำนวนที่เห็นควรสั่งไม่ฟ้องและได้ปล่อยตัวผู้ต้องหาไปแล้ว” แก้ไขรายงานการสอบสวนจากข้อความ “ให้การสอดคล้องต้องกันและจากการสอบสวนผู้ต้องหาแล้วรับว่าได้ขับรถคันเกิดเหตุมาจริงแต่ไม่ได้เฉี่ยวชนรถของผู้ใด โดยพนักงานสอบสวนได้ตรวจสอบสภาพที่เกิดเหตุและพิเคราะห์ร่องรอยของรถที่ถูกเฉี่ยวชนแล้วไม่ได้เป็นไปตามคำให้การของผู้ต้องหา แต่เป็นไปตามคำให้การของพยานที่มากับรถยนต์กระบะสองคันที่ถูกรถของผู้ต้องหา” เป็น “ให้การสอดคล้องต้องกันว่ามีรถจักรยานยนต์คันหนึ่งขับมาตัดหน้ารถของผู้ต้องหาในระยะกระชั้นชิดเป็นเหตุให้ผู้ต้องหาต้องหักหลบรถจึงเสียหลักวิ่งมาชนเกาะกลางถนนแล้วข้ามมาชนกับรถผู้อื่น จึงเป็นเหตุสุดวิสัยที่ผู้ต้องหาจะหลีกเลี่ยงได้ในขณะนั้น สาเหตุที่ผู้ต้องหาขับรถมาชนรถของผู้อื่นนี้จึงเป็นเหตุสุดวิสัย อันเป็นอุบัติเหตุซึ่งไม่อาจคาดคิดได้” แก้ไขจากข้อความ “สั่งฟ้อง” เป็น “สั่งไม่ฟ้อง” แก้ไขบันทึกการควบคุมตัวผู้ต้องหาจากข้อความ “ได้ไปขอฝากขังผู้ต้องหาเป็นครั้งที่ 7 นับแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2541 ถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2541” เป็น “ได้ขอปล่อยตัวผู้ต้องหาต่อศาล เนื่องจากมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา” และแก้ไขคำร้องขอปล่อยตัวผู้ต้องหาจากตัวเลข “19” เป็นเลข “8” พันตำรวจเอก ศ.รายงานไปยังผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกำแพงเพชร ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกำแพงเพชรมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงรวบรวมพยานหลักฐานและทำรายงานความเห็นต่อผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกำแพงเพชรว่า การกระทำของจำเลยมีมูล 1. กระทำผิดวินัยร้ายแรง โดยเป็นพนักงานสอบสวนรับผิดชอบสำนวนการสอบสวนคดีจราจรที่ 18/2541 แล้วไม่ส่งสำนวนดังกล่าวให้พนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชรพิจารณาตามระเบียบและกฎหมาย แต่ได้นำเอาสำนวนการสอบสวนไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขสำระสำคัญซึ่งไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง 2. กระทำผิดกฎหมายอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 3. กระทำผิดกฎหมายอาญาฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 จึงเห็นควรตั้งคณะกรรมการพิจารณาภาคทัณฑ์ทางวินัยร้ายแรงตามข้อ 1 และเห็นควรดำเนินคดีอาญา ตามข้อ 2 และ 3 ตามรายงานผลการสืบสวนข้อเท็จจริง พันตำรวจเอก ศ.เข้าร้องทุกข์ต่อพันตำรวจโท พ. พนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลย ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกำแพงเพชรส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน คณะอนุกรรมการไต่สวนรายงานการไต่สวนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีมติว่า การกระทำของจำเลยมีมูลเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงและมีมูลเป็นความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และฐานเป็นเจ้าพนักงานสอบสวน กระทำการหรือไม่กระทำการใด ๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อจะช่วยบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องโทษหรือให้รับโทษน้อยลงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200 กับส่งรายงานเอกสารและความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีแก่จำเลย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 97
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้คัดค้านพันตำรวจเอก ข.และพันตำรวจโท พ.อนุกรรมการไต่สวนว่า เป็นผู้รู้เห็นเกี่ยวข้องในทางคดีและมีอคติโกรธเคืองกันในเรื่องส่วนตัว พันตำรวจโท พ.ถอนตัวไป แต่พันตำรวจเอก ข.ไม่ขอถอนตัวยังคงปฏิบัติหน้าที่ร่วมถามปากคำพยานรวม 7 ปาก กับร่วมลงชื่อในรายงานการไต่สวน จึงไม่อาจฟังว่าพันตำรวจเอก ข.ดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อรายงานการไต่สวนมีพันตำรวจเอก ข.ร่วมลงชื่อด้วย อันถือได้ว่าเป็นสำนวนการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เท่ากับเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องแล้วพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องโจทก์ด้วยเหตุผลเดียวกัน ที่โจทก์ฎีกาว่ารายงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นสำนวนการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า อำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ในการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 84 (เดิม) เป็นเรื่องการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หาได้มีอำนาจที่จะตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268 ด้วยไม่ ทั้งตามรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติก็ได้ไต่สวนและมีมติว่าการกระทำของจำเลยมีมูลเป็นความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และฐานเป็นพนักงานสอบสวนกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อจะช่วยบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องโทษ หรือให้รับโทษน้อยลงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200 มิได้ชี้มูลความผิดจำเลยฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอมด้วย เพราะเหตุที่มิใช่เป็นความผิดที่อยู่ในอำนาจหน้าที่การตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาตินั่นเอง ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าอนุกรรมการไต่สวนดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่ากับเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและยกฟ้องจำเลยในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอมด้วยเหตุผลดังกล่าวด้วยจึงไม่ชอบ อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากที่พันตำรวจเอก ศ.เข้าร้องทุกข์ต่อพันตำรวจโท พ.ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย พันตำรวจโท พ.มิได้แจ้งข้อหาความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอมให้จำเลยทราบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 กับมิได้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม แม้การสอบสวนของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงซึ่งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกำแพงเพชรแต่งตั้งจะได้พบการกระทำของจำเลยซึ่งเป็นการปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม ก็มิใช่เป็นการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 ถือได้ว่าคดีนี้มิได้มีการสอบสวนจำเลยในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอมมาก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วยในผล ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 200 วรรคแรก จำเลยนำสืบว่าจำเลยได้คัดค้านพันตำรวจเอก ข.และพันตำรวจโท พ.อนุกรรมการไต่สวนว่า เป็นผู้รู้เห็นเกี่ยวข้องในทางคดีและมีอคติโกรธเคืองกันในเรื่องส่วนตัว ตามหนังสือเรื่อง ขอคัดค้านผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการไต่สวน ซึ่งพันตำรวจโท พ.ได้ถอนตัวไป ส่วนพันตำรวจเอก ข.ยังคงปฏิบัติหน้าที่ร่วมถามปากคำพยานรวม 7 ปาก การทำหน้าที่ร่วมถามปากคำของพันตำรวจเอก ข. ขัดกับมาตรา 46 วรรคสองและวรรคสาม ทำให้การสอบสวนไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 46 วรรคท้าย บัญญัติว่า “การยื่นคำคัดค้าน การพิจารณาคำคัดค้าน และการแต่งตั้งบุคคลเป็นอนุกรรมการไต่สวนแทนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกำหนด” ซึ่งตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของอนุกรรมการไต่สวน พ.ศ.2543 ข้อ 9 ระบุว่า “คำคัดค้านผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการต้องทำเป็นหนังสือยื่นต่อประธานกรรมการภายในเจ็ดวันนับแต่วันรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน หรือวันทราบเหตุแห่งการคัดค้านโดยแสดงข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุแห่งการคัดค้านไว้ในคำคัดค้านด้วยว่าจะทำให้การไต่สวนข้อเท็จจริงไม่ได้ความจริงและความยุติธรรมอย่างใด” ซึ่งตามหนังสือที่จำเลยอ้างว่าคัดค้านตามเอกสารนั้น ระบุเพียงว่ามีอคติโกรธเคืองในเรื่องส่วนตัวและเป็นผู้รู้เห็นเกี่ยวข้องในทางคดี อันเป็นเหตุตามมาตรา 46 (1) (3) เท่านั้น แต่ไม่ได้แสดงข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุแห่งการคัดค้านไว้ในคำคัดค้านด้วยว่าจะทำให้การไต่สวนข้อเท็จจริงไม่ได้ความจริงและความยุติธรรมอย่างใด นอกจากนี้พยานโจทก์ปากนาย ซ.เบิกความตอบโจทก์ถามติงว่า “หนังสือที่จำเลยอ้างว่าคัดค้านตามเอกสาร ไม่มีการลงเลขรับเอกสารไว้ตามระเบียบงานสารบรรณ และพยานเพิ่งเคยเห็นเอกสาร เมื่อมีการแจ้งให้จำเลยคัดค้านอนุกรรมการไต่สวน จำเลยไม่ได้คัดค้าน พยานเข้าใจว่าจำเลยคงติดต่อกับประธานอนุกรรมการทางโทรศัพท์” ซึ่งเมื่อพิจารณาหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบเรื่องการแต่งตั้งอนุกรรมการไต่สวน ระบุให้จำเลยลงลายมือชื่อและวันที่รับทราบคำสั่ง แล้วส่งคืนสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ภายใน 15 วัน โดยบันทึกรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน จำเลยลงชื่อรับทราบคำสั่งเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2544 ตรงกับวันที่ส่งในใบรับฝากไปรษณีย์ด่วนพิเศษ ที่จำเลยส่งคืนสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีการลงเลขรับเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2544 แต่หนังสือที่จำเลยอ้างว่าคัดค้านอนุกรรมการไต่สวน ไม่ปรากฏว่ามีการลงเลขรับเอกสารไว้ หากเอกสารทั้งสองฉบับได้ส่งทางไปรษณีย์ไปพร้อมกันจริง ก็น่าจะมีการลงเลขรับเอกสารในวันเดียวกัน แต่หนังสือที่จำเลยอ้างว่าคัดค้านอนุกรรมการไต่สวน ไม่มีการลงเลขรับเอกสาร จึงน่าเชื่อว่าใบรับฝากไปรษณีย์ด่วนพิเศษ เป็นหลักฐานการส่งบันทึกรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ไม่ใช่หลักฐานการส่งหนังสือคัดค้าน ดังที่จำเลยกล่าวอ้าง อีกทั้งสำนวนรายงานการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่จำเลยขอหมายเรียกมาจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ก็ไม่ปรากฏว่ามีเรื่องการคัดค้านอนุกรรมการไต่สวนตามที่จำเลยกล่าวอ้าง จึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยได้ยื่นคำคัดค้านอนุกรรมการไต่สวนเป็นหนังสือในวันที่ 15 มกราคม 2544 จริง เมื่อการคัดค้านอนุกรรมการไต่สวนของจำเลยไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายจึงไม่มีผลกระทบถึงการปฏิบัติหน้าที่ของพันตำรวจเอก ข.และไม่มีผลทำให้รายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงและมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นสำนวนการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 97 เสียไปหรือเป็นการไม่ชอบ ส่วนที่จำเลยนำสืบว่า พันตำรวจเอก ข.เคยขอให้จำเลยช่วยเหลือและจำเลยไม่สามารถช่วยเหลือได้จึงทำให้พันตำรวจเอก ข.ไม่พอใจ ก็เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่า พันตำรวจเอก ข.มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยตามที่จำเลยกล่าวอ้าง การไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จึงเป็นไปโดยชอบ ถือได้ว่าความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 200 วรรคแรก มีการสอบสวนโดยชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดดังกล่าว สำหรับปัญหาว่า จำเลยกระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานสอบสวนกระทำการหรือไม่กระทำการในตำแหน่งอย่างใดๆ โดยมิชอบเพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องโทษหรือให้รับโทษน้อยลงหรือไม่นั้น ศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัย แต่ศาลชั้นต้นได้สืบพยานคู่ความจนเสร็จสิ้นแล้วเพื่อมิให้ล่าช้า ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยชี้ขาดไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองพิจารณาพิพากษาใหม่ ซึ่งโจทก์มีพันตำรวจโท พ. รองผู้กำกับการตำรวจภูธรเมืองกำแพงเพชรและพันตำรวจเอก น. ผู้กำกับการตำรวจภูธรเมืองกำแพงเพชร ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยและร่วมลงชื่อในสำนวนการสอบสวนคดีจราจรที่ 18/2541 เพื่อส่งสำนวนและความเห็นไปยังพนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชรเป็นพยาน โดยพันตำรวจโท พ.เบิกความว่า พยานมีความเห็นสั่งฟ้องนาง ส. ผู้ต้องหาแล้วเสนอความเห็นต่อไปยังผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น การแก้ไขข้อความกระทำหลังจากพยานมีความเห็นและลงชื่อในเอกสารแล้ว ส่วนพันตำรวจเอก น.แม้เบิกความว่า ขณะที่ลงชื่อพยานจำไม่ได้ว่ามีความเห็นสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง แต่พยานเชื่อว่าเป็นการแก้ไขภายหลัง เพราะไม่มีการลงชื่อกำกับการแก้ไขไว้และหากเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดจำนวนมากก็จะให้พิมพ์ขึ้นมาใหม่ โดยไม่มีเหตุผลและข้อสงสัยใดที่พยานทั้งสองจะต้องเบิกความบิดเบือนความจริง ทั้งหากมีการแก้ไขข้อความจำนวนมากซึ่งสกปรกเลอะเทอะอย่างเห็นได้ชัด ไม่เชื่อว่าพยานทั้งสองจะยอมลงชื่อและทำความเห็นในสำนวนการสอบสวน ซึ่งต้องเสนอไปให้พนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชรพิจารณาโดยไม่สั่งให้จำเลยไปทำมาใหม่ เช่นนี้ฟังได้ว่าจำเลยแก้ไขข้อความในสำนวนการสอบสวนหลังจากที่จำเลยเสนอสำนวนการสอบสวนที่มีความเห็นสั่งฟ้องนาง ส.ผู้ต้องหาให้พันตำรวจโท พ.และพันตำรวจเอก น. ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นลงชื่อในสำนวนการสอบสวนเพื่อส่งสำนวนและความเห็นไปยังพนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชร หาใช่เป็นการแก้ไขก่อนจำเลยเสนอสำนวนต่อบุคคลทั้งสองดังจำเลยอ้างไม่ ที่จำเลยอ้างอีกว่าการแก้ไขข้อความต่างๆ เป็นการแก้ไขให้ถูกต้องตามความจริง ก็ยากแก่การรับฟัง เพราะหากจำเลยสอบสวนแล้วมีความเห็นว่านาง ส.ผู้ต้องหาไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหาเนื่องจากมีรถจักรยานยนต์ตัดหน้าในระยะกระชั้นชิดเป็นเหตุให้ผู้ต้องหาต้องหักหลบรถจึงเสียหลักวิ่งเข้าชนเกาะกลางถนนแล้วข้ามไปชนกับรถยนต์คันอื่น อันเป็นเหตุสุดวิสัยเป็นอุบัติเหตุซึ่งไม่อาจคาดคิดได้ จำเลยย่อมสามารถที่จะพิมพ์ข้อความและมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องได้อยู่แล้ว ไม่มีเหตุผลใดเลยที่จำเลยจะต้องทำสำนวนการสอบสวนโดยเชื่อว่าผู้ต้องหามีความผิดและมีความเห็นสั่งฟ้องก่อนแล้วจึงแก้ไขข้อความในภายหลัง ยิ่งไปกว่านั้นจำเลยมิได้ส่งสำนวนพร้อมด้วยความเห็นไปให้พนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชรตามขั้นตอน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 142 และหลังจากที่ได้รับคำสั่งย้ายไปรับราชการที่อื่นจำเลยยังนำสำนวนการสอบสวนติดตัวไปด้วย ทั้งๆที่เป็นเอกสารที่ต้องอยู่ในระบบราชการของสถานีตำรวจภูธรเมืองกำแพงเพชร มิใช่ทรัพย์สินส่วนตัวหรือเป็นเอกสารที่ต้องติดตัวจำเลยไปด้วย ที่จำเลยอ้างว่า จำเลยลืมส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชรเป็นการกล่าวอ้างง่ายๆ จึงยากแก่การรับฟัง และที่อ้างอีกว่า จำเลยไม่ทราบว่าสำนวนได้ติดตัวจำเลยไปด้วยขณะที่ย้ายไปรับราชการที่อื่น ก็เป็นข้ออ้างที่ขาดเหตุผลไม่น่ารับฟังเช่นกัน ไม่เชื่อว่าจำเลยจะกระทำไปโดยไม่รู้สำนึกในสิ่งที่ได้กระทำไป การที่จำเลยเก็บสำนวนไว้ที่ตัวจึงเชื่อว่าเพื่อปกปิดซ่อนเร้นเรื่องที่จำเลยแก้ไขสำนวนการสอบสวนโดยมิชอบนั่นเอง พฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยล้วนเป็นพิรุธผิดวิสัยของพนักงานสอบสวนที่ปฏิบัติราชการตามอำนาจหน้าที่โดยสุจริตอย่างตรงไปตรงมา อันมีเหตุซึ่งเชื่อได้ว่าจำเลยแก้ไขข้อความในสำนวนการสอบสวนจากเดิมที่มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาเป็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาหลังจากเสนอสำนวนการสอบสวนให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นลงชื่อแล้วเพื่อช่วยผู้ต้องหามิให้ต้องโทษ จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และ 200 วรรคแรก