4 เม.ย. 2559

แสดงเจตนาทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนขายที่ดินเพราะถูกคู่กรณีอีกฝ่ายใช้กลฉ้อฉลว่าได้โอนเงินเข้าบัญชีของบุตรผู้ขายแล้ว สัญญาซื้อขายที่ดินจึงตกเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. 159 โจทก์มีสิทธิบอกล้างเสียได้ตามมาตรา 175 (3) เท่านั้น

          ป.พ.พ.
          มาตรา 159 "การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะ
          การถูกกลฉ้อฉลที่จะเป็นโมฆียะตามวรรคหนึ่ง จะต้องถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าว การอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น
          ถ้าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลโดยบุคคลภายนอก การแสดงเจตนานั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงกลฉ้อฉลนั้น"
          มาตรา 175  "โมฆียะกรรมนั้น บุคคลต่อไปนี้จะบอกล้างเสียก็ได้
          (1) ...............................
          (2) ...............................
          (3) บุคคลผู้แสดงเจตนาเพราะสำคัญผิด หรือถูกกลฉ้อฉล หรือถูกข่มขู่
          (4)................................."
          มาตรา 176  "โมฆียะกรรมเมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ ก็ให้ได้รับค่าเสียหายชดใช้ให้แทน
          ถ้าบุคคลใดได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าการใดเป็นโมฆียะ เมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าบุคคลนั้นได้รู้ว่าการนั้นเป็นโมฆะ นับแต่วันที่ได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าเป็นโมฆียะ
          ห้ามมิให้ใช้สิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่การกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามวรรคหนึ่ง เมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันบอกล้างโมฆียะกรรม"

          ผู้ขายจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่ผู้ซื้อ เพราะหลงเชื่อตามที่ผู้ซื้อหลอกลวงว่าได้โอนเงินค่าที่ดินเข้าบัญชีเงินฝากของบุตรผู้ขายแล้ว เป็นเรื่องที่ผู้ขายแสดงเจตนาทำนิติกรรมเพราะถูกผู้ซื้อใช้กลฉ้อฉล หากผู้ขายทราบความจริงว่ายังไม่มีการโอนเงินเข้าบัญชี การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้ซื้อก็คงจะมิได้กระทำขึ้น สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อ จึงตกเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. 159 ผู้ขายมีสิทธิบอกล้างเสียได้ตามมาตรา 175 (3) เท่านั้น สัญญาจึงไม่ตกเป็นโมฆะ หาใช่ผู้ขายแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรมหรือตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม หรือทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม อันจะถือว่าเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมซึ่งจะมีผลให้นิติกรรมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156
       
          ดังมีคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7394/2550 - ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ให้จดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 31421 ตำบลท่าไข่ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2539 ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินโดยทำให้โจทก์หลงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 โอนเงิน 36,500,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของบุตรโจทก์ เพื่อชำระเป็นค่าที่ดินแก่โจทก์เรียบร้อยแล้วแต่ความจริงไม่มีการโอนเงินเข้าบัญชี และในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนขายฝากที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี เป็นเงิน 6,500,000 บาท กำหนดสินไถ่ไว้เป็นเงิน 7,350,000 บาท ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินสำหรับปัญหาที่โจทก์ฎีกาขึ้นมาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงเสียก่อนว่า จำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตหรือไม่เห็นว่า เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 กระทำการโดยไม่สุจริตภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ที่ต้องเป็นฝ่ายนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต... และศาลฎีกาวินิจฉัยว่า... พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 มีน้ำหนักดีว่าพยานหลักฐานของโจทก์เหตุอื่นๆ ที่โจทก์อ้างมาในฎีกาเป็นเพียงความคิดเห็นของโจทก์เองไม่ทำให้ผลของการวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต
           ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 เพราะหลงเชื่อตามที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงว่าได้โอนเงินค่าที่ดินเข้าบัญชีเงินฝากของบุตรโจทก์แล้ว เป็นเรื่องที่โจทก์แสดงเจตนาทำนิติกรรมเพราะถูกจำเลยที่ 1 ใช้กลฉ้อฉล หากโจทก์ทราบความจริงว่ายังไม่มีการโอนเงินเข้าบัญชี การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ก็คงจะมิได้กระทำขึ้น สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงตกเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. 159 โจทก์มีสิทธิบอกล้างเสียได้ตามมาตรา 175 (3) เท่านั้น สัญญาจึงไม่ตกเป็นโมฆะ หาใช่โจทก์แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรมหรือตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม หรือทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม อันจะถือว่าเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมซึ่งจะมีผลให้นิติกรรมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156
          ปัญหาสุดท้ายที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 โจทก์อุทธรณ์ฝ่ายเดียวโดยจำเลยทั้งสองมิได้อุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย จึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “โมฆียะกรรมเมื่อบอกลางแล้วให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ ก็ให้ได้รับค่าเสียหายชดใช้ให้แทน” คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ให้ขายที่ดินแก่จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยทั้งสองคบคิดกันฉ้อฉลโจทก์โดยจำเลยที่ 1 ขายฝากที่ดินแก่จำเลยที่ 2 ขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากระหว่างจำเลยทั้งสองและให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินคืนโจทก์ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์บอกล้างโมฆียะกรรมแล้วโดยการฟ้องจำเลยที่ 1 แต่ไม่อาจยกเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 2 ซึ่งรับซื้อฝากโดยสุจริต และพิพากษาให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 กับให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 แม้โจทก์จะอุทธรณ์ฝ่ายเดียวก็ตาม แต่การที่โจทก์บอกล้างโมฆียะกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ต้องโอนที่ดินคืนโจทก์ อันเป็นการกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่อาจโอนที่ดินคืนโจทก์เพราะจำเลยที่ 2 รับซื้อฝากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตแล้ว ศาลชั้นต้นชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 เสียเท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่ถูกต้อง เพราะมีผลกระทบให้การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งจำเลยที่ 2 ได้รับโอนต่อเนื่องมาทางทะเบียนต้องขาดสาย ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ มาตรา 246 โดยพิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วย แม้จำเลยทั้งสองจะมิได้อุทธรณ์เพราะเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
          หลังจากโจทก์ฟ้องคดีแรกแล้ว โจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 คดีหลังโดยมีสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกับคดีแรก ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาก็เป็นอย่างเดียวกัน เพียงแต่มีคำขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เพิ่มเติมจากคดีแรกเท่านั้น คำขอบังคับในคดีหลังโจทก์อาจขอได้ในคดีแรกอยู่แล้ว จึงเป็นการฟ้องเรื่องเดียวกัน เมื่อโจทก์ฟ้องคดีหลังขณะคดีแรกอยู่ระหว่างการพิจารณา ฟ้องโจทก์ในคดีหลังจึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)