19 มิ.ย. 2558

นิติกรรมอำพราง ทำสัญญาซื้อขายที่ดินเพื่ออำพรางนิติกรรมการกู้ยิมเงิน สัญญาซื้อขายที่ดินเป็นโมฆะ โดยต้องไปบังคับตามสัญญากู้ยืมเงิน

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 155  "การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้
ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ"

ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้มีอยู่ว่า ที่ดินที่พิพาทกันเป็นที่ดินมือเปล่ารวมสองแปลงมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (นส.3 ก) คือ เลขที่ 1340 และ 1341 ตำบลหนองกราด อำเภอด่านขุนทด นครราชสีมา มีชื่อ จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ต่อมาเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2528 นาย ต. และจำเลยที่ 1 กู้เงินไปจากโจทก์และทำเป็นสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ หลังจากนั้นต่อมาที่ดินพิพาททั้งสองแปลงก็เปลี่ยนออกเป็นโฉนดเลขที่ 32763 และ 32764 มีชื่อนาย ต. และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ต่อมาก็มีการโอนที่ดินต่อมาจากจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยที่ 2 แ ละที่ 3 ตามลำดับ 
ต่อมา โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 32764 ตำบลหนองกราด อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และเพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 ยกที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 32764 ให้แก่จำเลยที่ ๒ กับเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 32763 และโฉนดที่ดินเลขที่ 32764 ขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 32763 และที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 32764 เป็นของโจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1340 เลขที่ดิน 40 และเลขที่ 1341 เลขที่ดิน 41 ตำบลหนองกราด อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ให้โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 หากไม่สามารถพิพากษาบังคับจำเลยที่ 1 ได้ ขอให้พิพากษาเพิกถอนชื่อของนาย ต.ออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ 1340 เลขที่ดิน 40 และเพิกถอนชื่อจำเลยที่ 1 ออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1341 เลขที่ดิน 41 
เรื่องนี้ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า การที่โจทก์ปล่อยปละละเลยให้เวลาล่วงเลยมานานเกือบ 20 ปี นับแต่ที่อ้างว่าซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาจาก ต. และจำเลยที่ 1 โดยมิได้จัดให้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อทางทะเบียนในที่ดินพิพาททั้งสองซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติที่ไม่ดำเนินการปกป้องสิทธิของตนเองเช่นนั้น ถือได้ว่าเป็นข้อพิรุธของโจทก์อย่างยิ่ง ส่อแสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์ทราบดีว่าตนมีสิทธิเพียงเข้าทำกินในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงต่างดอกเบี้ยเท่านั้นเอง การทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามฟ้องจึงเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงิน ทำให้นิติกรรมการซื้อขายดังกล่าวตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคแรก และต้องบังคับตามนิติกรรมการกู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง
          แม้กรณีเช่นนี้จะมิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อ ต.และจำเลยที่ 1 เป็นสำคัญต่างหากจากสัญญาซื้อขายก็ตาม ย่อมถือได้ว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามฟ้อง เป็นนิติกรรมสัญญากู้ยืมเงินที่ทำกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษรระหว่าง ต. กับโจทก์ จึงมีผลบังคับกันได้
          การ ที่ ต. และจำเลยที่ 1 มิได้ขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ แต่ ต. และจำเลยที่ 1 กู้เงินไปจากโจทก์และให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นการทำกินต่างดอกเบี้ย ต. และจำเลยที่ 1 มิได้สละการครอบครองให้แก่โจทก์แต่อย่างใด แม้ว่าโจทก์จะครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นระยะเวลานานเท่าใดก็ตาม ก็ไม่ทำให้โจทก์ได้สิทธิครอบครองหรือได้กรรมสิทธิ์ เพราะยังถือได้ว่าโจทก์ครอบครองแทน ต. หรือทายาทของ ต. และจำเลยที่ 1 อยู่ตลอดไป 
           สรุปว่า แม้ทำเป็นสัญญาซื้อขายที่ดินกันไว้ แต่ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่า การทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามฟ้องเป็นนิติกรรมที่ทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงิน ก็ต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ ตามป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง