13 พ.ค. 2557

สิทธิของจำเลยในคดีอาญา


          จำเลย หมายความถึง บุคคลซึ่งถูกฟ้องยังศาลแล้วโดยข้อหาว่าได้กระทำความผิด (ป.วิ.อ.มาตรา 2(3))  บุคคลผู้อยู่ในฐานะจำเลยตามกฎหมายนั้น ได้ผ่านกระบวนการชั้นจับกุม สอบสวนโดยเจ้าพนักงานตำรวจ และการสั่งคดีของพนักงานอัยการให้สั่งฟ้องแล้ว คดีจึงมาถึงศาลเรียบร้อยแล้ว ซึ่งกฎหมายได้รับรองสิทธิจำเลยไว้ดังนี้
          สิทธิของจำเลย
          1.  สิทธิตาม ป.วิ.อ.มาตรา 8 ได้แก่
               1.1 สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม
               1.2 สิทธิในการแต่งทนายความแก้ต่างในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณาในศาลชั้นต้นตลอดจนชั้นศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา
               1.3 สิทธิที่จะปรึกษาทนายความหรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว 
               1.4 สิทธิที่จะตรวจดูสิ่งที่ยื่นเป็นพยานหลักฐาน และคัดสำเนาหรือถ่ายรูปสิ่งนั้นๆ 
               1.5 สิทธิที่จะตรวจดูสำนวนการไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาของศาล และคัดสำเนาหรือขอรับสำเนาที่รับรองว่าถูกต้องโดยเสียค่าธรรมเนียม เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมนั้น
               1.6 สิทธิที่จะตรวจหรือคัดสำเนาคำให้การของตนในชั้นสอบสวนหรือเอกสารประกอบคำให้การของตน
           2. สิทธิตามรัฐธรรมนูญฯ
               2.1 สิทธิพื้นฐานในกระบวนพิจารณา ซึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักประกันขั้นพื้นฐานเรื่อง การได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผย การได้รับทราบข้อเท็จจริงและตรวจเอกสารอย่างเพียงพอ การเสนอข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้ง และพยานหลักฐานของตน การคัดค้านผู้พิพากษาหรือตุลาการ การได้รับการพิจารณาโดยผู้พิพากษาหรือตุลาการที่นั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะ และการได้รับทราบเหตุผลประกอบคำวินิจฉัย คำพิพากษา หรือคำสั่ง (รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 40 (2))
               2.2 มีสิทธิได้รับการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีที่ถูกต้องรวดเร็ว และเป็นธรรม โอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเพียงพอ การตรวจสอบหรือได้รับทราบพยานหลักฐานตามสมควร การได้รับความช่วยเหลือในทางคดีจากทนายความ และการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว (รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 40(7))
           3. สิทธิที่จะมีล่ามหรือล่ามภาษามือ กรณีที่จำเลยไม่สามารถพูดหรือเข้าใจภาษาไทยหรือไม่ สามารถพูดหรือได้ยินหรือสื่อความหมายได้ (ป.วิ.อ.มาตรา 13 วรรคสองและวรรคสาม)
           4. สิทธิที่จะได้รับหลักประกันในเรื่องความสามารถในการต่อสู้คดี ในกรณีที่เชื่อว่าจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดี ได้ (ป.วิอาญา ม.14) 
           5. สิทธิที่จะตั้งข้อรังเกียจผู้พิพากษา (ป.วิ.อ.มาตรา 27)
           6. สิทธิที่จะคัดค้านคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์ (ป.วิ.อ.มาตรา 35) 
           7. สิทธิที่จะไม่ถูกดำเนินคดีซ้ำ (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 36(4))
           8. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีของศาลโดยเปิดเผยและต่อหน้าจำเลย (ป.วิ.อ.มาตรา 172 วรรคแรก) 
           9.  สิทธิที่จะได้รับทราบคำฟ้องและคำอธิบายจากศาล (ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคสอง)
           10. สิทธิที่จะได้รับการแต่งตั้งทนายความเพื่อช่วยเหลือในการดำเนินคดีโดยศาล กรณีที่จำเลยไม่มีทนายความ (ป.วิ.อ.มาตรา 173)