13 พ.ค. 2557

สิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญา



          ผู้ต้องหา หมายถึง บุคคลผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิด แต่ยังไม่ได้ถูกฟ้องต่อศาล(ป.วิ.อ.มาตรา 2(2))  จากความหมายของผู้ต้องหาดังกล่าว จะเห็นได้ว่าผู้ต้องหานั้นเป็นเพียงผู้ต้องสงสัยว่าได้กระทำความผิดเท่านั้น แต่การที่เขาจะกระทำความผิดจริงหรือไม่นั้น ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่างๆโดยศาล  ซึ่งผู้ต้องหานั้นถือเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ที่รัฐธรรมนูญฯได้รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆไว้ ประเทศไทยได้รับรองสิทธิของผู้ต้องหาไว้ดังนี้

          สิทธิของผู้ต้องหา


          1. สิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดจะแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำผิดมิได้ (รัฐธรรมนูญฯ ม.39)
          2. สิทธิที่จำได้รับการสอบสวนหรือพิจารณาด้วยความถูกต้อง รวดเร็ว ต่อเนื่องและเป็นธรรม (รัฐธรรมนูญฯ ม.40 (3)(4)(7) ป.วิอาญา ม.130, 134 วรรคสาม)
          3. สิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐด้วยการจัดหาทนายความให้ (รัฐธรรมนูญฯ ม.40(7), และ ป.วิอาญา ม.134/1)
          4. สิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำเป็นปฎิปักษ์ต่อตนเองอันอาจทำให้ตนเองถูกฟ้องคดี (รัฐธรรมนูญ ม.40(4))
          5. สิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวในกรณีที่ถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย (ป.วิอาญาม.90)
          6. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาอย่างรวดเร็ว และจะเรียกหลักประกันจนเกินควรมิได้ การไม่ให้ประกันต้องอาศัยเหตุตามกฎหมายและต้องแจ้งเหตุให้ทราบโดยเร็ว (รัฐธรรมนูญฯ ม.40(7) และ ป.วิอาญา ม.106 ถึง 114)
          7. สิทธิที่จะอุทธรณ์คัดค้านการไม่ให้ประกันตัว (ป.วิอาญา ม.119 ทวิ)
          8. สิทธิที่จะมีล่ามหรือล่ามภาษามือ กรณีที่ผู้ต้องหาไม่สามารถพูดหรือเข้าใจภาษาไทยหรือไม่ สามารถพูดหรือได้ยินหรือสื่อความหมายได้ (ป.วิอาญา ม.13 วรรคสองและวรรคสาม)
          9. สิทธิที่จะได้รับหลักประกันในเรื่องความสามารถในการต่อสู้คดี ในกรณีที่เชื่อว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดี ได้ (ป.วิอาญา ม.14)          
          10. ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาซึ่งถูกควบคุมหรือขังมีสิทธิแจ้งหรือขอให้เจ้าพนักงานแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาไว้วางใจทราบถึงการถูกจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุมในโอกาสแรก (ป.วิ.อ.ม.7/1 วรรคแรก)
          11. มีสิทธิพบและปรึกษาผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว (ป.วิ.อ.ม.7/1(1))
          12. มีสิทธิให้ทนายความ หรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจ เข้าฟังการสอบปากคำตนได้ในชั้นสอบสวน (ป.วิ.อ.ม.7/1(2))
          13.  มีสิทธิได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อกับญาติได้ตามสมควร (ป.วิ.อ.ม.7/1(3))
          14. มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเกิดการเจ็บป่วย (ป.วิ.อ.ม.7/1(4))
          15. สิทธิที่จะได้รับโอกาสแก้ข้อหาและที่จะแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ตนได้ในชั้นสอบสวน (ป.วิ.อ.ม.134 วรรคสี่)
          16. สิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ในชั้นสอบสวน ถ้าผู้ต้องหาให้การ ถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้การนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ (ป.วิ.อ.ม.134/4(1))