03 กุมภาพันธ์ 2564

หน่วยงานของรัฐที่เวนคืนที่ดิน แต่ไม่ใช้ประโยชน์ที่ดินตามวัตถุประสงค์การเวนคืน ... ต้องคืนเจ้าของเดิม | เวนคืนที่ดิน | คดีปกครอง

         สิทธิในทรัพย์สินของบุคคล ย่อมได้รับการรับรองและคุ้มครองตามกฎหมาย ซึ่งจะมีระบุไว้เสมอในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยการเวนคืนอสังหาริมทรัพยนั้น รัฐจะกระทำมิได้ เว้นแต่ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะกิจการของรัฐ เพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภค การอันจำเป็นในการป้องกันประเทศ การได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ การผังเมือง การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การพัฒนาการเกษตร หรือการอุตสาหกรรม การปฏิรูปที่ดิน การอนุรักษ์โบราณสถานและแหล่งทางประวัติศาสตร์ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอยางอื่น และต้องชดใช้ค่าทดแทนที่เป็นธรรมให้แก่เจ้าของ ตลอดจนผู้ทรงสิทธิบรรดาที่ได้รับความเสียหายจากการเวนคืนนั้น โดยกฎหมายเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ต้องระบุวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน และกําหนดระยะเวลาการเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ไว้ให้ชัดแจ้ง ถ้ามิได้ใช้เพื่อการนั้นภายในระยะเวลาดังกล่าวจะต้องคืนให้เจ้าของเดิมหรือทายาท
          อย่างไรก็ดี แม้รัฐจะตรากฎหมายเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้ประโยชน์ตามอำนาจหน้าที่เพื่อ ประโยชน์สาธารณะตามขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจไว้ แต่ในทางปฏิบัติมีบางครั้งที่หน่วยงานทางปกครองผู้เวนคืนอสังหาริมทรัพย์อาจไม่ได้นำอสังหาริมทรัพย์ที่เวนคืนไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริง หรืออาจนำไปใช้เพียงบางส่วน ทำให้เกิดเป็นข้อพิพาทระหว่างผู้เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพยกับหน่วยงานทางปกครองที่ใช้อำนาจนั้น


          ซึ่งมีกรณีตัวอย่างตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 422/2558 กรณีการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้ตราพระราชกฤษฎีกากําหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ พ.ศ. 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษระบบทางด่วน เพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่ง อันเป็นกิจการสาธารณูปโภค แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืนทั้งหมด แต่กลับนำที่ดินบางส่วนไปใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่นที่ไม่เป็นไปตาม วัตถุประสงค์ของการเวนคืน คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนตามกฎหมาย เนื้อที่ 30 ตารางวา แต่ที่ดินของผู้ฟ้องคดี ถูกนำไปใช้เป็นสองส่วน คือ ส่วนแรกเนื้อที่ 12.65 ตารางวา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (การทางพิเศษแห่งประเทศไทย) ได้ให้กรุงเทพมหานครใช้สร้างพื้นผิวจราจรและทางเท้า วางระบบสาธารณูปโภคบนที่ดิน เช่น ท่อระบายน้ำ ป้าย ต้นไม้ เครื่องหมายจราจรและอื่น ๆ ส่วนที่สองเนื้อที่ 17.35 ตารางวา ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีส่วนที่เหลือจากการเวนคืน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ให้ นางสาว น. เช่าทำประโยชน์ เนื้อที่ 3.35 ตารางวา ส่วนที่เหลืออีก 14 ตารางวา เป็นที่ว่างไม่ได้ทำประโยชน์ใด ๆ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ที่ดินส่วนที่สองมิได้นำไปใช้ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน แต่ได้มีการนำไปหาผลประโยชน์ในทางธุรกิจโดยนำไปเรียกเก็บค่าเช่าจากผู้เช่าที่ดิน จึงนำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษา ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย) คืนที่ดินส่วนนี้โดยยินยอมจะชำระเงิน ค่าที่ดินส่วนที่ขอคืนให้
          กรณีดังกล่าวจึงมีประเด็นปัญหาว่า จะถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินตามขอบเขตวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน หรือไม่? และเจ้าของที่ดินมีสิทธิขอคืนที่ดินส่วนที่สองนั้นหรือไม่ ?ซึ่งกฎหมายเกี่ยวกับการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ กำหนดไว้ว่า ตามปกติการที่รัฐจะเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะกระทำได้เท่าที่มีความจำเป็นตามขอบเขตวัตถุประสงค์ แห่งการเวนคืน และต้องกำาหนดระยะเวลาเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ไว้ให้ชัดแจ้ง เมื่อรัฐได้เวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาแล้ว รัฐย่อมจะต้องนำไปใช้ตามความจำเป็นภายในขอบเขตวัตถุประสงคแห่งการเวนคืน ถ้ารัฐมิได้นำไปใช้ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน หรือใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนเพียงบางส่วน หรือมิได้ใช้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ก็จะต้องคืนให้เจ้าของเดิมหรือทายาท ส่วนการคืนอสังหาริมทรัพย์ ให้เจ้าของเดิมหรือทายาทและการเรียกคืนค่าทดแทนที่ชดใช้ไปให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ (มาตรา 42 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530) ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ถูกเวนคืนเนื้อที่ 30 ตารางวา ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ได้ให้กรุงเทพมหานครใช้เพื่อก่อสร้างถนนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับทางขึ้น - ลงทางพิเศษศรีรัช และให้รับผิดชอบดูแล และบำรุงรักษารวมทั้งใช้สอยเพื่อสาธารณประโยชน์อื่น ๆ โดยเมื่อพิจารณาการนำที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ถูกเวนคืนไปใช้ประโยชน์แล้วเห็นว่า ที่ดินส่วนแรกเป็นการนำที่ดินไปสร้างทางพิเศษตามความหมายของคำว่าทางพิเศษตามข้อ 1 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 ที่บัญญัติว่า ทางพิเศษ หมายความว่า ทางหรือถนนซึ่งจัดสร้างขึ้นใหม่ไม่ว่า ในระดับพื้นดิน ใต้พื้นดิน เหนือพ้นพื้นดินหรือพื้นน้ำ เพื่ออำนวยความสะดวกในการจราจรเป็นพิเศษ และหมายความ รวมถึง ... ทางเท้า ที่จอดรถ เขตทาง ไหล่ทาง ท่อ ทางระบายน้ำ เครื่องหมายจราจรและอาคารหรือสิ่งอื่นอันเป็นอุปกรณ์ เกี่ยวกับงานทางพิเศษ อันถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้นําที่ดินส่วนแรกไปสร้างทางพิเศษตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืนแล้ว สำหรับที่ดินส่วนที่สอง ยังไม่ได้มีการใช้ประโยชน์ ประกอบกับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ได้แสดง พยานหลักฐานเกี่ยวกับแผนงานการใช้ประโยชน์ในที่ดินส่วนนี้ต่อศาลและเมื่อรับฟังประกอบข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองนำที่ดินส่วนที่สองบางส่วนไปเรียกเก็บค่าเช่าจากนางสาว น. ย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมิได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินส่วนที่สองในการสร้างทางพิเศษตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน แต่ได้นําที่ดินที่บังคับเวนคืนมาใช้ประโยชน์อย่างอื่น ซึ่งไม่อาจกระทําได้ แม้พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวและพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืน อสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 จะมิได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับกำหนดระยะเวลาในการใช้ และการคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนให้แก่เจ้าของเดิมหรือทายาทก็ตาม แต่เมื่อมาตรา 33 วรรคห้า ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 (ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น) ได้บัญญัติให้ใช้อสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยการเวนคืนเพื่อประโยชน์ตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย และถ้าไม่ได้ใช้เพื่อประโยชน์ดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนดในกฎหมาย ต้องคืนให้เจ้าของเดิม หรือทายาท เว้นแต่จะนำไปใช้ เพื่อการอื่นและโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมาย อีกทั้งกรณีนี้มิใช่การตกลงซื้อขายกันตามมาตรา 456 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่เป็นมาตรการหนึ่งในการที่รัฐโดยเจ้าหน้าที่เวนคืนสามารถที่จะเลือกใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินที่จะเวนคืน ซึ่งจะต้องดำเนินการภายใต้บทบัญญัติมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ฉะนั้น เมื่อไม่มีการใช้ที่ดินของผู้ฟ้องคดีในส่วนที่สองนี้ ทั้งไม่ปรากฏว่าได้มีการตรากฎหมายเวนคืนที่ดินส่วนที่เหลือจากการใช้ประโยชน์ดังกล่าวไปใช้เพื่อการอื่นอีก ผู้ฟ้องคดีก็ชอบที่จะเรียกคืนที่ดินได้ โดยผู้ถูกฟ้องคดี ทั้งสองมีหน้าที่ต้องคืนที่ดินในส่วนที่สองให้แก่ผู้ฟ้องคดี
          พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันดำเนินการคืนกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวนเนื้อที่ 17.35 ตารางวา ให้แก่ผู้ฟ้องคดีและให้ผู้ฟ้องคดีคืนเงินที่ได้รับจากการเวนคืนที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง

          คดีนี้เป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นมานานแล้วขณะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2521 มีผลใช้บังคับประกอบกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 โดยในปัจจุบันนี้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 ซึ่งออกใช้บังคับและได้มีบทบัญญัติในเรื่องการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ได้จากการเวนคืนและเรื่องการคืนอสังหาริมทรัพย์ให้เจ้าของเดิมหรือทายาทไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ซึ่งระบุให้ที่ดินที่ได้มาโดยการเวนคืนนั้นเจ้าหน้าที่ต้องเริ่มดำเนินการตามวัตถุที่ประสงค์ในการเวนคืนไม่ช้ากว่าห้าปีนับแต่วันพ้นกำหนดระยะเวลาการใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินในเรื่องนั้นๆ หรือภายในระยะเวลาที่กำหนดในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ แล้วแต่กรณี หากไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนภายในระยะเวลา หรือเหลือจากการใช้ประโยชน์ ให้เจ้าของเดิมหรือทายาทมีสิทธิขอคืนที่ดินนั้นได้ ซึ่งการขอคืนที่ดินดังกล่าว เจ้าของเดิมหรือทายาทต้องยื่นคำร้องขอคืนต่อเจ้าหน้าที่ภายในสามปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่ในกรณีที่หากว่าที่ดินที่เวนคืนไปนั้นได้ใช้ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนแล้ว ปรากฏว่าในภายหลังหมดความจำเป็นในการใช้ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว หรือเมื่อพ้นระยะเวลาที่จะขอคืนตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว กรณีนี้เจ้าของเดิมหรือทายาทจะไม่มีสิทธิขอคืน ดังนั้น ปัจจุบันนี้การขอคืนที่ดินที่ถูกเวนคืน จึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562




10 สิงหาคม 2563

การไฟฟ้าปักเสาไฟในที่ดินเอกชนโดยไม่ขออนุญาต | ละเมิด | คดีปกครอง


          การจ่ายกระแสไฟฟ้า สำหรับเมืองไทยส่วนมาก โดยปกติแล้วเสาไฟฟ้าก็จะปักไปตามริมทางสาธารณะ แต่ในกรณีที่ไม่มีทางสาธารณะ ก็อาจจะมีบางครั้งที่จะต้องปักเสาและพาดสายผ่านที่ดินของเอกชน ซึ่งกรณีนี้จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้น
          ถ้าหากการปักเสาพาดสายไฟฟ้าในที่ดินเอกชนนั้นโดยไม่ได้รับความยินยอม การไฟฟ้าก็อาจถูกเจ้าของที่ดินฟ้องเนื่องจากการกระทำละเมิดต่อเจ้าของที่ดิน

          ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ เกิดขึ้นจากบริษัท ท.ได้ซื้อที่ดินในกรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2543 แล้วพบว่าการไฟฟ้านครหลวงได้ปักเสาพาดสายไฟฟ้าและติดตั้งอุปกรณ์ ผ่านที่ดินแปลงนี้ไปสู่ที่ดินแปลงอื่น โดยไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัท ท. ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์
          บริษัท ท. จึงมีหนังสือแจ้งให้การไฟฟ้านครหลวงเคลื่อนย้ายเสาไฟฟ้าและอุปกรณ์เหล่านั้นออกไปจากที่ดิน แต่การไฟฟ้านครหลวงกลับมีหนังสือแจ้งให้บริษัท ท. ต้องเป็นผู้รับผิดชอบเสียค่าใช้จ่ายในการย้ายเสาและสายไฟฟ้าออกไปเอง เป็นเงินจำนวน 173,100 บาท
          บริษัท ท. จึงนำคดีไปฟ้องต่อศาลแพ่งธนบุรีเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2553 ซึ่งการไฟฟ้านครหลวงก็ได้ต่อสู้ในเรื่องเขตอำนาจศาลว่าคดีพิพาทนี้อยูในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

          ศาลแพ่งธนบุรีกับศาลปกครองกลางมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า คดีอยู่ในอำนาจศาลปกครอง ศาลแพงธนบุรีจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

          ต่อมาบริษัท ท. จึงยื่นฟ้องการไฟฟ้านครหลวงต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้การไฟฟ้านครหลวงรื้อถอนเสาและสายไฟฟ้าพร้อมอุปกรณ์ทั้งหมดออกไปจากที่ดิน พร้อมทั้งชำระค่าเสียหายให้แก่ตนด้วย

          ต่อมาคดีขึ้นสู่ศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่บริษัท ท.ฟ้องว่าการไฟฟ้านครหลวงปักเสาพาดสายไฟฟ้าในที่ดินของตนเพื่อส่งผ่านไปยังที่ดินแปลงอื่น ทำให้บริษัท ท. ได้รับความเสียหาย พร้อมทั้งขอให้การไฟฟ้านครหลวงย้ายเสาไฟฟ้าดังกล่าวออกไปและจ่ายค่าเสียหายให้แก่ตน อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ

          เมื่อบริษัท ท. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงที่การไฟฟ้านครหลวงไปดำเนินการปักเสาพาดสายไฟฟ้าและติดตั้งอุปกรณ์อื่นผ่านไปสู่ที่ดินแปลงอื่น บริษัท ท. จึงเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายจากการกระทำของการไฟฟ้านครหลวง และคำขอของบริษัท ท. ที่ขอให้การไฟฟ้านครหลวงย้ายเสาไฟฟ้าออกไปพร้อมจ่ายค่าเสียหายเป็นคำขอที่ศาลปกครองสามารถกำหนดคำบังคับได้ บริษัท ท. จึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว

          ในส่วนเรื่องของระยะเวลาการฟ้องคดี ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า การที่การไฟฟ้านครหลวงปักเสา พาดสายไฟฟ้าและติดตั้งอุปกรณ์อื่นลงในที่ดินของบริษัท ท. โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการกระทำละเมิดต่อบริษัท ท. และตราบใดที่ยังไม่มีการรื้อถอนเสาและสายไฟฟ้าตลอดจนอุปกรณ์ต่าง ๆ ออกจากที่ดิน ย่อมถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อเนื่องตลอดเวลาจนถึงวันฟ้องคดี บริษัท ท. จึงยื่นฟ้องคดีนี้ได้ตลอดตราบเท่าที่ยังคงมีการกระทำละเมิด และถือเป็นการฟ้องคดีภายในระยะเวลาการฟ้องคดี ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ

          ดังนั้น ศาลปกครองจึงมีอำนาจรับคำฟ้องของบริษัท ท. ที่ขอให้ การไฟฟ้านครหลวงรื้อถอนเสาและสายไฟฟ้าพร้อมอุปกรณ์ทั้งหมดออกไปจากที่ดิน พร้อมทั้งชำระค่าเสียหายให้แก่ตนไว้พิจารณาได้

          (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 419/2560)

          ทั้งนี้ การฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้ยื่นฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้ องคดี ทั้งนี้ ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542








04 สิงหาคม 2563

เจ้าของที่ดินซึ่งไม่พอใจเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน ต้องอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีตามกำหนดเวลาก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้องคดี | เวนคืนที่ดิน | คดีปกครอง


          กรณีที่เจ้าของที่ดินหรือเจ้าของอสังหาริมทรัพย์คนใดถูกหน่วยงานของรัฐเวนคืนที่ดินเพื่อนำไปใช้จัดทำบริการสาธารณะ หน่วยงานของรัฐดังกล่าวก็มีหน้าที่จะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดิน ซึ่งได้แก่ ค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืน ค่าทดแทนความเสียหายที่ได้รับจากการเวนคืน

          สำหรับกรณีที่ผู้ถูกเวนคืนที่ดินเห็นว่าการกำหนดค่าทดแทนไม่เป็นธรรมหรือยังไม่พอใจเงินค่าทดแทนที่ได้รับนั้น ผู้ถูกเวนคืนที่ดินจะนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยในทันทีที่ได้รับแจ้งสั่งไม่ได้ โดยต้องทำตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ก่อน คือ การอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด คือ ต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทน และหากรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนหรือรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พิจารณาอุทธรณ์แล้ว ยังไม่เป็นที่พอใจ หรือไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์

          บางครั้งก็อาจจะมีปัญหาเรื่องการนับกำหนดระยะเวลาว่า หากผู้ถูกเวนคืนซึ่งเป็นผู้อุทธรณ์ได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนในวันถัดจากวันสุดท้ายของกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามที่กฎหมายกำหนด และผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ ไม่รับคำอุทธรณ์ เนื่องจากเห็นว่ายื่นเกินกำหนดระยะเวลา ศาลปกครองจะรับคำฟ้องไว้พิจารณาหรือไม่

          สำหรับข้อเท็จจริงเรื่องนี้ เป็นกรณีที่เจ้าของที่ดิน ถูกเวนคืนที่ดินบางส่วนเพื่อสร้างทางหลวง เห็นว่า กรมทางหลวง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้ไม่เหมาะสมไม่เป็นธรรม จึงยื่นอุทธรณ์ แต่เป็นการยื่นเกินระยะเวลาที่กฎหมายเวนคืนกำหนดไว้ อาจจะเพราะเหตุหลงลืมหรือไม่เข้าใจเรื่องการนับกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ ก็ตาม แต่ปรากฏว่ารัฐมนตรีไม่รับอุทธรณ์ เจ้าของที่ดินจึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้กรมทางหลวง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้น

          ซึ่งในที่สุดคดีนี้ไปสิ้นสุดที่ศาลปกครองศาลปกครองสูงสุด โดยคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ คผ. 158/2561 ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีหนังสือลงวันที่ 27 ธันวาคม 2559 แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน และแจ้งให้ใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ภายใน 60 วันนับแต่วันดังกล่าว คือ ภายในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 แต่ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือลงวันที่ 30 ธันวาคม 2559 ยื่นอุทธรณ์โดยนำส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้รับคำอุทธรณ์เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2560 กรณีจึงเป็นการยื่นอุทธรณ์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนที่ดิน พ.ศ. 2530 จึงถือว่าผู้ฟ้องคดีไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายตามที่กฎหมายกำหนดไว้ก่อนนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง ตามมาตรา 42 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 จึงไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา

          เรื่องนี้เป็นกรณีตัวอย่างสำหรับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการเวนคืนที่ดินจากรัฐที่มีความประสงค์ที่จะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอให้ศาลแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายโดยให้รัฐจ่ายค่าแทนที่ดินเพิ่มขึ้น จะต้องดำเนินการโต้แย้งคัดค้านโดยการยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนก่อน หากไม่ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดดังกล่าวก่อนฟ้องคดีต่อศาลหรือไม่ดำเนินการภายในกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว กฎหมายถือว่าไม่ได้ทำตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดก่อนฟ้องคดีต่อศาล จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา 42 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542






21 กรกฎาคม 2563

พฤติการณ์ที่ถือว่าเป็นการยกให้ที่ดินตกเป็นที่สาธารณประโยชน์โดยปริยาย | ละเมิด | คดีปกครอง

          การที่จะทำให้ที่ดินตกเป็น "ที่สาธารณประโยชน์ของแผ่นดิน" ตามมาตรา 1304 (2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ อาจได้มาจากเจ้าของที่ดินแสดงเจตนายกให้หรืออุทิศที่ดินของตนให้แก่รัฐ ทั้งนี้ การอุทิศที่ดินให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีทั้งกรณีอุทิศที่ดินให้โดยแจ้งชัด โดยการทำหนังสือยกให้ หรือให้ถ้อยคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือส่งมอบโฉนดที่ดิน หรือ น.ส. ๓ ให้แก่ราชการ เป็นต้น แต่สำหรับกรณีอุทิศที่ดินให้โดยมีพฤติการณ์ ให้ที่ดินตกเป็นสาธารณประโยชน์โดยปริยาย ย่อมไม่มีเอกสารหลักฐานใดๆที่ปรากฏแจ้งชัด 

          กรณีอุทิศที่ดินให้โดยมีพฤติการณ์ให้ที่ดินตกเป็นสาธารณประโยชน์โดยปริยาย มีพฤติการณ์อย่างไรจึงจะถือว่าให้ที่ดินตกเป็นสาธารณประโยชน์โดยปริยาย ? 

          ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2500 เจ้าอาวาสวัดได้ขอให้เจ้าของที่ดิน บริเวณวัดบริจาคที่ดินให้เป็นถนนสาธารณะเพื่อทำถนนเข้าวัดและโรงเรียน โดยมีผู้บริจาค 11 ราย รวมทั้งนาย ส. บิดาของผู้ฟ้องคดีด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. 2503 นาย ส. ได้จดทะเบียนแบ่งแยกที่ดิน ซึ่งรวมถึงที่ดินที่บริจาคให้วัดด้วย ต่อมาปี พ.ศ. 2538 ผู้ฟ้องคดีได้จดทะเบียนโอนมรดก ที่ดินดังกล่าวเป็นของตนเอง ต่อมาในปี พ.ศ. 2553 ผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขต (พื้นที่กรุงเทพมหานคร) ว่าผู้ฟ้องคดีไม่ใช่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวจึงไม่ต้องชำระภาษีบำรุงท้องที่ ผู้ฟ้องคดีจึงขอให้สำนักงานเขตตรวจสอบสภาพที่ดิน ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ที่ดินพิพาทมีความกว้างประมาณ 10 เมตร ยาวประมาณ 297 เมตร ปัจจุบันคือ ซอยพหลโยธิน 52 ได้มีการก่อสร้างปรับปรุงผิวทางแอสฟัลต์พร้อมรางวี และวางท่อระบายน้ำ โดยส านักงานเขตบางเขน (พื้นที่เขตบางเขนเดิม) เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2531 และได้มีการบันทึกถ้อยคำ ของประชาชนผู้ใช้เส้นทางดังกล่าวจำนวน 7 ราย ปรากฏว่า ได้ใช้เป็นเส้นทางผ่านเข้า – ออกมาเป็นเวลา ประมาณ 19 ปี โดยไม่มีผู้ใดสงวนสิทธิ์ หรือปิดกั้นเก็บค่าผ่านทาง หรือแสดงตนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน มีการเปิดให้ใช้สอยตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน และสำนักงานเขตสายไหมได้เข้าปรับปรุงสาธารณูปโภคตลอดมา ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องกรุงเทพมหานครต่อศาลปกครองว่า ก่อสร้างถนนและวางท่อระบายน้ำ ในที่ดินของตนเอง โดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้กรุงเทพมหานครปรับพื้นที่ในที่ดินพิพาท ให้กลับคืนสู่สภาพเดิมหรือให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน  

          ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า แม้การบริจาคที่ดินบางส่วนของเจ้าของที่ดินเดิมจะไม่ได้ทำเป็นหนังสืออุทิศหรือจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อยกที่ดินให้เป็นถนนสาธารณะก็ตาม แต่การอุทิศ ที่ดินดังกล่าวให้เป็นถนนสาธารณะ ไม่จำต้องทำเป็นหนังสืออุทิศหรือจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อยกที่ดินให้เป็นทางสาธารณะแต่อย่างใด ประกอบกับประชาชนที่อาศัยบริเวณดังกล่าวใช้ถนนในที่ดินพิพาท เป็นทางเข้าออกมาเป็นเวลาประมาณ 19 ปี โดยไม่มีผู้ใดสงวนสิทธิ์ปิดกั้น เก็บค่าผ่านทางหรือแสดงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณถนนในที่ดินพิพาท จึงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทที่บริจาคให้เป็นถนนสาธารณะได้ตกเป็นทางสาธารณะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 และทางสาธารณะดังกล่าวย่อมมีสภาพเป็นทางสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ตามมาตรา 1304 (2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้ต่อมาเจ้าของที่ดินเดิมจะได้จดทะเบียนแบ่งแยกที่ดิน และผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้จัดการมรดกจะได้จดทะเบียนโอนมรดกในที่ดินพิพาทมาเป็นของผู้ฟ้องคดี ก็หาทำให้ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์ไปแล้ว เปลี่ยนสภาพกลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินเดิม และของผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด 
          เมื่อที่ดินพิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ก่อนที่เจ้าของที่ดินเดิมจะได้จดทะเบียนแบ่งแยกที่ดิน ผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้รับโอนที่ดินพิพาทจึงไม่มีสิทธิดีกว่ารัฐในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท การดำเนินการของก่อสร้างถนนของผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี 

          คดีนี้ศาลปกครองได้วางหลักเกี่ยวกับการบริจาคที่ดินให้เป็นสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกันตามมาตรา 1304 (2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่า การแสดงเจตนาอุทิศที่ดินดังกล่าวไม่จำต้องทำเป็นหนังสืออุทิศหรือจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หากปรากฏข้อเท็จจริงรับฟังได้ถึงการแสดงเจตนาของเจ้าของที่ดินให้ที่ดินตกเป็นสาธารณประโยชน์โดยปริยาย เช่น ประชาชนได้ใช้ ประโยชน์ติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่มีผู้ใดสงวนสิทธิ์ ขัดขวาง หรือแสดงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ก็ย่อมมีผลทำให้ที่ดินตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับผลเมืองใช้ร่วมกันแล้ว เจ้าของที่ดินย่อมไม่อาจอ้างการใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินที่ตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้วได้ตามมาตรา 1336 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 




15 ธันวาคม 2561

การสละประโยชน์แห่งอายุความ


          เมื่ออายุความครบกำหนดแล้ว ลูกหนี้จะสละประโยชน์แห่งอายุความนั้นเสียก็ได้ แต่การสละประโยชน์เช่นว่านี้ไม่มีผลกระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลภายนอกหรือผู้ค้ำประกัน (มาตรา 193/24 แห่ง ป.พ.พ.)

          โดยหลักปกติแล้ว เมื่อสิทธิเรียกร้องใดขาดอายุความ ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้ ตามมาตรา 193/10 แต่อย่างไรก็ดี ถ้าหากสิทธิเรียกร้องนั้นขาดอายุความ แต่ลูกหนี้ได้สละประโยชน์แห่งอายุความไปแล้ว ลูกหนี้ก็ไม่อาจยกเหตุอายุความนั้นขึ้นปฏิเสธการชำระหนี้ได้อีก


          พฤติการณ์ของลูกหนี้ที่ถือว่าเป็นการสละประโยชน์แห่งอายุความตามมาตรา 193/24

          (1)  ผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกยอมรับสิทธิในการรับมรดกที่ดินพิพาทของทายาทแล้ว แสดงว่าได้สละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 แล้ว จึงไม่อาจยกอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ขึ้นต่อสู้ทายาทหรือผู้สืบสิทธิของทายาทได้อีก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1774/2558  ภายหลังจาก ห. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ส. สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของ ห. พูดคุยกับ จ. ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ห. ว่า เกี่ยวกับทรัพย์มรดกของ ห. ให้จัดการทำบุญให้เรียบร้อยเสียก่อน หลังจากนั้น จ. ไปหา ส. ปีละ 3 ถึง 4 ครั้ง แต่ละครั้ง ส. ได้มอบข้าวสารแก่ จ. และก่อน ส. ถึงแก่ความตาย ส. บอกแก่ จ. ว่า หาก ส. ถึงแก่ความตายแล้ว ให้ จ. จัดการเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของ ห. ได้ ข้อเท็จจริงยังได้ความต่อไปว่า จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ดำเนินการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 11467 ให้จำเลยเฉพาะส่วนของ ส. ในส่วนที่ดินพิพาทยังเป็นชื่อของ ห. เช่นเดิม แสดงว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ยอมรับสิทธิในการรับมรดกที่ดินพิพาทของทายาทของ ห. นอกจากนี้ หลังจากฟ้องคดีนี้ ทายาทบางส่วนของ ส. ทำหนังสือมอบอำนาจมีเนื้อความทำนองให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทแก่ทายาทของ ห. ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า ส. และจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกซึ่งเป็นตัวแทนทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ส. สละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 แล้ว จำเลยไม่อาจยกอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ห. ได้

          (2)  แม้หนี้ขาดอายุความแล้ว แต่ลูกหนี้ยังยินยอมชำระหนี้บางส่วนให้แก่เจ้าหนี้ ย่อมถือเป็นการแสดงออกโดยปริยายว่าได้ละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความนั้นแล้ว ลูกหนี้จึงไม่อาจอ้างอายุความมาเป็นข้อตัดฟ้องเพื่อปฏิเสธความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/24
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9251/2544  เมื่อโจทก์แจ้งยกเลิกการเป็นสมาชิกบัตรเครดิตและบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ที่ค้างแล้ว จำเลยได้ยินยอมชำระหนี้บางส่วนแก่โจทก์ 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 30 มิถุนายน 2540 ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 12 กันยายน2540 ซึ่งถือมิได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ แต่แสดงว่าจำเลยมิได้ยกอายุความขึ้นมาปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ตามที่เรียกร้อง ดังนั้น แม้สิทธิเรียกร้องของโจทก์จะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ยินยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์ถึง 2 ครั้งดังกล่าว ย่อมถือเป็นการแสดงออกโดยปริยายว่าได้ละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความนั้นแล้วจำเลยจึงไม่อาจอ้างอายุความมาเป็นข้อตัดฟ้องเพื่อปฏิเสธความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/24 และการนับอายุความจึงเริ่มนับต่อไปใหม่เสมือนไม่เคยนับอายุความมาก่อนโดยถืออายุความแห่งมูลหนี้เดิม กล่าวคือ นับอายุความเริ่มต่อไปใหม่ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2540 โจทก์ยื่นคำฟ้องเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม2541 ยังไม่ล่วงพ้นกำหนดเวลา 2 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ


          (3) ลูกหนี้ทำหนังสือรับสภาพหนี้เมื่อสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว ถือว่าได้แสดงเจตนาที่จะสละประโยชน์แห่งอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6525/2542  ตามหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยที่ 1 รับว่ายังค้างชำระหนี้ต้นเงินจำนวน 3,623,313 บาท กับดอกเบี้ยจำนวน 623,309 บาท รวม 4,246,622 บาท จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในยอดเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี ตามสัญญาจำนองของต้นเงินจำนวน 3,623,313 บาท นับแต่วันทำหนังสือรับสภาพหนี้เป็นต้นไป ส่วนดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกิน 5 ปีนั้น เมื่อปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ยอมชำระหนี้โจทก์โดยให้จำเลยที่ 2 เข้าชำระหนี้ให้แก่โจทก์แทนจำนวน 3,000,000 บาท และให้สัญญาจำนองมีภาระตามสัญญาจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จะได้ยกอายุความขึ้นปฏิเสธความรับผิดเกี่ยวกับดอกเบี้ยค้างชำระ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้แสดงเจตนาที่จะสละประโยชน์แห่งอายุความนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/24
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6630/2540 หนังสือสัญญารับสภาพหนี้มีข้อความระบุว่า"ถ้าหากนายพิลาไชยพร (จำเลยที่ 1) นำเงินดังกล่าวไปชำระหนี้ให้แก่นายวิจิตร (โจทก์) เสร็จสิ้นภายในวันที่25 มีนาคม 2536 นายวิจิตรจะไม่ขอคิดดอกเบี้ยแม้แต่บาทเดียว แต่ถ้าผิดนัด นายพิลาไชยพร จะต้องรับผิดตามสัญญาเดิมคือดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เมื่อถูกฟ้องศาลบังคับคดีตามฟ้องข้าพเจ้า นายพิลาไชยพร พอใจตามข้อตกลงนี้ จึงได้ลงชื่อไว้เป็นหลักฐานต่อหน้าพยาน" ดังนี้ แม้สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยค้างชำระเกินกว่า 5 ปี จะขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 แต่กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ได้สละประโยชน์แห่งอายุความนั้นแล้วดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 193/24 จำเลยที่ 1 ไม่อาจอ้างอายุความมาเป็นข้อตัดฟ้องเพื่อปฏิเสธความรับผิดในเรื่องดอกเบี้ยค้างชำระได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6966/2539  มูลหนี้เดิมเป็นหนี้ค่าเช่าซื้อค้างชำระ มีกำหนดอายุความ 2 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(6) เดิม นับตั้งแต่วันครบกำหนดแต่ละงวดตามสัญญาเช่าซื้ออันเป็นวันที่เจ้าหนี้อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของตนได้ คือ อย่างช้าวันที่ 1 ธันวาคม 2529 และเมื่อนับจนถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2533อันเป็นวันทำสัญญารับสภาพหนี้เป็นเวลาเกินกว่า 2 ปีแล้วหนี้ค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อจึงขาดอายุความลูกหนี้ไม่อาจทำสัญญารับสภาพหนี้ได้ เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 (เดิม) ลูกหนี้จะทำหนังสือรับสภาพหนี้ได้ก่อนอายุความครบบริบูรณ์เท่านั้น แต่การที่ลูกหนี้จะทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้พอถือได้ว่า เป็นเรื่องที่ลูกหนี้ละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความและรับสภาพความรับผิดโดยสัญญา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 188 วรรคสามและมาตรา 192 วรรคหนึ่ง เดิม เนื่องจากขณะทำสัญญาดังกล่าวประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/35 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ซึ่งบัญญัติให้สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นจากการที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือมีกำหนดอายุความ 2 ปีนับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดยังไม่ใช้บังคับ สัญญารับสภาพหนี้จึงมีผลใช้บังคับได้ และแม้หากต้องถืออายุความตามสัญญาเช่าซื้ออันเป็นมูลหนี้เดิมคือ 2 ปี เมื่อนับจากวันที่เจ้าหนี้อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องดังที่ระบุไว้ในสัญญารับสภาพหนี้ดังกล่าวคือวันที่ 1 พฤศจิกายน 2533 จนถึงวันที่เจ้าหนี้ฟ้องบังคับตามสัญญาดังกล่าวในวันที่ 16 ตุลาคม 2535 แล้ว ไม่เกินกำหนด2 ปี สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้จึงไม่ขาดอายุความ


          (4) พฤติการณ์ที่ลูกหนี้ยอมรับว่ายังเป็นหนี้อยู่ อันเป็นการรับสภาพความรับผิดซึ่งมีผลเท่ากับเป็นการสละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2554/2542 จำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์ตกแต่ง จัดทำและติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ภายในอาคาร โจทก์ทำงานเสร็จและส่งมอบแล้ว แต่มีงานที่ต้องซ่อมแซมอีกเล็กน้อย ส่วนจำเลยที่ 1 ชำระค่าจ้างเกือบครบแล้ว โดยตกลงกันให้ชำระเงินที่ค้าง เมื่อโจทก์ซ่อมแซมงานดังกล่าวเสร็จ กรณีจึงเข้าลักษณะโจทก์ผู้เป็นช่างฝีมือเรียกเอาค่าการงานที่ได้ทำจากจำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้าง ซึ่งมีกำหนดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1)
          จำเลยที่ 1 ชำระค่าจ้างงวดสุดท้ายบางส่วนให้แก่โจทก์วันที่ 3 พฤษภาคม 2534 ฉะนั้น ต้องเริ่มนับอายุความ ตั้งแต่วันดังกล่าว ซึ่งถือว่าจำเลยรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ตามสิทธิเรียกร้องโดยชำระหนี้ให้บางส่วน อายุความย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) การนับระยะเวลาจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2534 และครบ 2 ปี ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2536 โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 23 กันยายน 2537 คดีจึงขาดอายุความ แต่ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2536 อันเป็นระยะเวลาก่อนโจทก์ฟ้องซึ่งคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว จำเลยที่ 1 มีหนังสือทักท้วงโจทก์ว่า ยอดหนี้รายพิพาทที่โจทก์ทวงถามมานั้นไม่ถูกต้อง อีกทั้งเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2537 จำเลยที่ 1 ยังมีหนังสือแจ้งขอให้โจทก์ลดเงินที่ค้างลงอีก 30,000 บาท และขอให้โจทก์ไปซ่อมแซมงานในส่วนที่ค้างอยู่ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่ายังเป็นหนี้โจทก์อยู่ อันเป็นการรับสภาพความรับผิดซึ่งมีผลเท่ากับเป็นการสละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 ดังนั้น เมื่อนับจากวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องดังกล่าวถึงวันฟ้อง ไม่เกิน 2 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7068 - 7084/2561  เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้เข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาทที่เจ้าพนักงานบังคับคดีนำออกขายทอดตลาด โจทก์ย่อมต้องผูกพันตามเงื่อนไขการเข้าสู้ราคา ข้อสัญญาและคำเตือนผู้ซื้อที่กำหนดไว้ในประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศให้ผู้เข้าประมูลซื้อทราบก่อนที่จะทำการขายทอดตลาดห้องชุดพิพาทแต่ละห้อง เมื่อตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีระบุคำเตือนผู้ซื้อไว้ว่า ผู้ซื้อจะต้องตรวจสอบภาระหนี้สินก่อนและผู้ซื้อได้จะต้องเป็นผู้ชำระหนี้สินค้างชำระต่อนิติบุคคลอาคารชุดก่อนโอนกรรมสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18, 29 และ 41 โจทก์จึงต้องผูกพันตามเนื้อความดังกล่าวในอันที่จะต้องชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของห้องชุดคนเดิมค้างชำระอยู่ก่อนและในวันที่โจทก์เข้าประมูล รวมทั้งหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่โจทก์ประมูลซื้อห้องชุดพิพาทได้ให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 ทั้งตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์เป็นผู้แถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำภาระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของห้องชุดเดิมค้างชำระมาหักออกจากราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดี ประกอบกับในการประกาศขายทอดตลาดห้องชุดบางห้อง เจ้าพนักงานบังคับคดีระบุจำนวนหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางไว้ในประกาศด้วย โจทก์ย่อมทราบถึงภาระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระก่อนโจทก์เข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาท การที่โจทก์ยังเข้าประมูล ย่อมแสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะถือเอาประโยชน์จากอายุความในหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางดังกล่าวต่อไป ถือได้ว่าโจทก์สละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 แล้ว โจทก์จะยกเรื่องหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางทั้งหมดหรือแต่บางส่วนขาดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) และจะขอชำระหนี้นับจากวันฟ้องย้อนหลังไป 5 ปี หาได้ไม่

          (5) เมื่อถูกทวงถามให้ชำระหนี้ ลูกหนี้มิได้ปฏิเสธความรับผิดโดยยกอายุความเป็นข้ออ้างขึ้นใช้ยันเจ้าหนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 85/2540  โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 7804 และ 8282 ให้โจทก์ตามสัญญาเช่าซื้ออ้างว่าโจทก์ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว การฟ้องบังคับตามสัญญาเช่นนี้เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/9 จึงต้องบังคับภายในระยะเวลาอันกฎหมายกำหนดไว้ เมื่อการฟ้องบังคับตามสัญญาเช่าซื้อไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30
          ตามมาตรา 193/12 บัญญัติว่า อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป การเช่าซื้อนั้นเมื่อผู้เช่าซื้อใช้เงินค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้วย่อมเกิดสิทธิเรียกร้องที่จะบังคับให้ผู้ให้เช่าซื้อปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อคือโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าซื้อได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 572 เมื่อโจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่พิพาทเสร็จสิ้นตั้งแต่ปี 2516 และมาฟ้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2535 คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ แต่ปรากฏว่าหลังจากขาดอายุความแล้ว โจทก์ได้ดำเนินการทวงถามเพื่อให้จำเลยทั้งสามโอนกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทแก่โจทก์ จำเลยทั้งสามก็มิได้ปฏิเสธความรับผิดโดยยกอายุความเป็นข้ออ้างขึ้นใช้ยันโจทก์แต่ประการใด ตรงกันข้ามเมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถามไปถึงจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2535 จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือไปถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีใจความว่าจำเลยที่ 1 ได้ตรวจสอบหลักฐานแล้ว ปรากฏว่าโจทก์ได้ซื้อที่ดินพิพาทจำนวน 2 แปลงและได้ชำระราคาครบถ้วนแล้วจำเลยที่ 1 จึงขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ดินจัดสรรให้แก่โจทก์ต่อไป ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็มิได้โต้แย้งจำเลยที่ 1 ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความแต่อย่างใด ตามพฤติการณ์แห่งคดีถือได้ว่าจำเลยทั้งสามได้ละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/24 แล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่อาจยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ได้