กรณีอุทิศที่ดินให้โดยมีพฤติการณ์ให้ที่ดินตกเป็นสาธารณประโยชน์โดยปริยาย มีพฤติการณ์อย่างไรจึงจะถือว่าให้ที่ดินตกเป็นสาธารณประโยชน์โดยปริยาย ?
ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2500 เจ้าอาวาสวัดได้ขอให้เจ้าของที่ดิน บริเวณวัดบริจาคที่ดินให้เป็นถนนสาธารณะเพื่อทำถนนเข้าวัดและโรงเรียน โดยมีผู้บริจาค 11 ราย รวมทั้งนาย ส. บิดาของผู้ฟ้องคดีด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. 2503 นาย ส. ได้จดทะเบียนแบ่งแยกที่ดิน ซึ่งรวมถึงที่ดินที่บริจาคให้วัดด้วย ต่อมาปี พ.ศ. 2538 ผู้ฟ้องคดีได้จดทะเบียนโอนมรดก ที่ดินดังกล่าวเป็นของตนเอง ต่อมาในปี พ.ศ. 2553 ผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขต (พื้นที่กรุงเทพมหานคร) ว่าผู้ฟ้องคดีไม่ใช่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวจึงไม่ต้องชำระภาษีบำรุงท้องที่ ผู้ฟ้องคดีจึงขอให้สำนักงานเขตตรวจสอบสภาพที่ดิน ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ที่ดินพิพาทมีความกว้างประมาณ 10 เมตร ยาวประมาณ 297 เมตร ปัจจุบันคือ ซอยพหลโยธิน 52 ได้มีการก่อสร้างปรับปรุงผิวทางแอสฟัลต์พร้อมรางวี และวางท่อระบายน้ำ โดยส านักงานเขตบางเขน (พื้นที่เขตบางเขนเดิม) เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2531 และได้มีการบันทึกถ้อยคำ ของประชาชนผู้ใช้เส้นทางดังกล่าวจำนวน 7 ราย ปรากฏว่า ได้ใช้เป็นเส้นทางผ่านเข้า – ออกมาเป็นเวลา ประมาณ 19 ปี โดยไม่มีผู้ใดสงวนสิทธิ์ หรือปิดกั้นเก็บค่าผ่านทาง หรือแสดงตนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน มีการเปิดให้ใช้สอยตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน และสำนักงานเขตสายไหมได้เข้าปรับปรุงสาธารณูปโภคตลอดมา ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องกรุงเทพมหานครต่อศาลปกครองว่า ก่อสร้างถนนและวางท่อระบายน้ำ ในที่ดินของตนเอง โดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้กรุงเทพมหานครปรับพื้นที่ในที่ดินพิพาท ให้กลับคืนสู่สภาพเดิมหรือให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า แม้การบริจาคที่ดินบางส่วนของเจ้าของที่ดินเดิมจะไม่ได้ทำเป็นหนังสืออุทิศหรือจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อยกที่ดินให้เป็นถนนสาธารณะก็ตาม แต่การอุทิศ ที่ดินดังกล่าวให้เป็นถนนสาธารณะ ไม่จำต้องทำเป็นหนังสืออุทิศหรือจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อยกที่ดินให้เป็นทางสาธารณะแต่อย่างใด ประกอบกับประชาชนที่อาศัยบริเวณดังกล่าวใช้ถนนในที่ดินพิพาท เป็นทางเข้าออกมาเป็นเวลาประมาณ 19 ปี โดยไม่มีผู้ใดสงวนสิทธิ์ปิดกั้น เก็บค่าผ่านทางหรือแสดงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณถนนในที่ดินพิพาท จึงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทที่บริจาคให้เป็นถนนสาธารณะได้ตกเป็นทางสาธารณะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 และทางสาธารณะดังกล่าวย่อมมีสภาพเป็นทางสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ตามมาตรา 1304 (2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้ต่อมาเจ้าของที่ดินเดิมจะได้จดทะเบียนแบ่งแยกที่ดิน และผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้จัดการมรดกจะได้จดทะเบียนโอนมรดกในที่ดินพิพาทมาเป็นของผู้ฟ้องคดี ก็หาทำให้ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์ไปแล้ว เปลี่ยนสภาพกลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินเดิม และของผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด
เมื่อที่ดินพิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ก่อนที่เจ้าของที่ดินเดิมจะได้จดทะเบียนแบ่งแยกที่ดิน ผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้รับโอนที่ดินพิพาทจึงไม่มีสิทธิดีกว่ารัฐในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท การดำเนินการของก่อสร้างถนนของผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี
คดีนี้ศาลปกครองได้วางหลักเกี่ยวกับการบริจาคที่ดินให้เป็นสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกันตามมาตรา 1304 (2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่า การแสดงเจตนาอุทิศที่ดินดังกล่าวไม่จำต้องทำเป็นหนังสืออุทิศหรือจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หากปรากฏข้อเท็จจริงรับฟังได้ถึงการแสดงเจตนาของเจ้าของที่ดินให้ที่ดินตกเป็นสาธารณประโยชน์โดยปริยาย เช่น ประชาชนได้ใช้ ประโยชน์ติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่มีผู้ใดสงวนสิทธิ์ ขัดขวาง หรือแสดงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ก็ย่อมมีผลทำให้ที่ดินตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับผลเมืองใช้ร่วมกันแล้ว เจ้าของที่ดินย่อมไม่อาจอ้างการใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินที่ตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้วได้ตามมาตรา 1336 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์