มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้
“เครื่องหมาย” หมายความว่า ภาพถ่าย ภาพวาด ภาพประดิษฐ์ ตรา ชื่อ คำ ข้อความ ตัวหนังสือ ตัวเลข ลายมือชื่อ กลุ่มของสี รูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุ เสียง หรือสิ่งเหล่านี้อย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน
“เครื่องหมายการค้า” หมายความว่า เครื่องหมายที่ใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้า เพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น
“เครื่องหมายบริการ” หมายความว่า เครื่องหมายที่ใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับบริการ เพื่อแสดงว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายของเจ้าของเครื่องหมายบริการนั้นแตกต่างกับบริการที่ใช้เครื่องหมายบริการของบุคคลอื่น
“เครื่องหมายรับรอง” หมายความว่า เครื่องหมายที่เจ้าของเครื่องหมายรับรองใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการของบุคคลอื่น เพื่อเป็นการรับรองเกี่ยวกับแหล่งกำเนิด ส่วนประกอบ วิธีการผลิต คุณภาพ หรือคุณลักษณะอื่นใดของสินค้านั้น หรือเพื่อรับรองเกี่ยวกับสภาพ คุณภาพ ชนิด หรือคุณลักษณะอื่นใดของบริการนั้น
ความหมายของเครื่องหมายการค้า
“เครื่องหมายการค้า” หมายความว่า เครื่องหมายที่ใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้า เพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น (มาตรา 4)
เครื่องหมายการค้าเป็นเครื่องหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการแยกความแตกต่างของสินค้า โดยเครื่องหมายใดจะจัดเป็นเครื่องหมายการค้าได้จะต้องประกอบด้วยลักษณะ 3 ข้อ กล่าวคือ
(1) จะต้องเป็นเครื่องหมายตามความหมายในมาตรา 4 กล่าวคือ ภาพถ่าย ภาพวาด ภาพประดิษฐ์ ตรา ชื่อ คำ ข้อความ ตัวหนังสือ ตัวเลข ลายมือชื่อ กลุ่มของสี รูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุ เสียง หรือสิ่งเหล่านี้อย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน
(2) จะเป็นเครื่องหมายที่ใช้เป็นเครื่องหมายการค้าอยู่ก่อนแล้วก็ได้ หรือหากไม่ได้ใช้อยู่ก่อน แต่มีเจตนาจะใช้ในอนาคตก็ได้
(3) เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้า เพื่อแสดงความแตกต่างของสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าหนึ่งกับเครื่องหมายการค้าอื่น ซึ่งใช้อย่างเครื่องหมายการค้า หากนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ก็ไม่น่าจะถือว่าเป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้า
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 547/2538 แม้ที่กล่องบรรจุสินค้าผงหมึกและฉลากปิดข้างขวดบรรจุสินค้าผงเหล็กที่จำเลยที่ 1 นำเข้ามาจำหน่ายจะมีคำว่า MITA ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ที่ได้จดทะเบียนไว้ในประเทศไทยสำหรับสินค้าเครื่องถ่ายเอกสารแต่จำเลยทั้งห้ามิได้นำคำดังกล่าวมาใช้อย่างเครื่องหมายการค้า กล่าวคือ สินค้าผงหมึกและผงเหล็กที่จำเลยที่ 1 นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายมิได้ระบุว่าเป็นผงหมึกและผงเหล็กภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า mita ของโจทก์ที่ 1สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่ไม่มีเครื่องหมายการค้าระบุหรือติดไว้ที่กล่องหรือขวดบรรจุสินค้า สิทธิในเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ที่ 1 เป็นสิทธิแต่ผู้เดียวเพื่อใช้เครื่องหมายการค้านั้นสำหรับสินค้าจำพวกที่ได้จดทะเบียนไว้เพื่อระบุว่าสินค้านั้นเป็นของโจทก์ที่ 1 และแยกแยะให้เห็นว่าสินค้าของโจทก์ที่ 1 แตกต่างจากสินค้าของผู้ผลิตอื่นเท่านั้น หาได้รวมไปถึงสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะผลิตสินค้า ขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งสินค้าที่ผลิตขึ้นนั้นอันเป็นสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรการประดิษฐ์ไม่ ประกอบกับกล่องและขวดบรรจุผงหมึกและผงเหล็กที่จำเลยที่ 1 นำเข้ามาจำหน่ายก็มิได้เขียนคำว่า MITA ให้มีลักษณะบ่งเฉพาะว่า mita เช่นเดียวกับของโจทก์ที่ 1 แต่เขียนด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ว่า MITA และคำว่า TONER กับ DEVELOPER ก็เขียนด้วยตัวพิมพ์ใหญ่เช่นเดียวกัน รวมทั้งข้อความว่า FOR USE IN ซึ่งหมายความว่า ใช้กับหรือใช้สำหรับ ก็เขียนด้วยตัวพิมพ์ใหญ่เห็นได้ชัดเจน แม้กล่องและขวดบรรจุสินค้าดังกล่าวจะมิได้ระบุชื่อบริษัท ผู้ผลิต แต่ก็มิได้ระบุชื่อบริษัทโจทก์ที่ 1 ว่าเป็นผู้ผลิตผงหมึกและผงเหล็กที่จำเลยที่ 1 นำเข้ามาจำหน่าย ส่วนกล่องบรรจุผงหมึกของโจทก์ที่ 1 คำว่า TONER เขียนด้วยตัวพิมพ์ใหญ่เฉพาะอักษร T เพียงตัวเดียว ตัวอักษรนอกนั้นเขียนด้วยตัวพิมพ์เล็ก โดยเขียนว่า Toner มีเครื่องหมายการค้าคำว่า mitaเขียนเรียงกันตามแนวนอน 6 แนว แถวละ 8 คำ อยู่ส่วนบนของกล่อง มีคำว่าmita เขียนด้วยตัวอักษรสีขาวบนพื้นกรอบสี่เหลี่ยมสีแดงเห็นได้เด่นชัดทั้งหกด้านของกล่องสีดำและมีชื่อบริษัทโจทก์ที่ 1 อยู่ด้วย แต่ไม่มีข้อความว่า FOR USE IN ส่วนที่ฉลากปิดข้างขวดบรรจุสินค้าผงหมึกของโจทก์ที่ 1 ก็เป็นฉลากสีฟ้า มีคำว่าmita เป็นตัวอักษรสีขาวเห็นเด่นชัด คำว่า TONER เป็นตัวอักษรเล็กกว่าคำว่า mita มาก และฝาขวดเป็นสีน้ำเงิน แต่ฉลากปิดข้างขวดบรรจุสินค้าผงหมึกของจำเลยที่ 1 เป็นสีน้ำตาลเข้ม มีคำว่า TONER FOR USE IN MITA เห็นได้เด่นชัดและฝาขวดเป็นสีน้ำตาลเข้ม กล่องและขวดสินค้าผงหมึกที่จำเลยที่ 1 นำเข้ามาจำหน่ายกับของโจทก์ที่ 1 จึงแตกต่างอย่างชัดเจน สำหรับขวดบรรจุสินค้าผงเหล็กที่จำเลยที่ 1 นำเข้ามาจำหน่ายและของโจทก์ที่ 1 ก็แตกต่างกันชัดเจนเช่นกัน ดังนี้ จากข้อความที่ระบุข้างกล่องและขวดบรรจุสินค้าที่จำเลยที่ 1 จำหน่ายอย่างชัดเจนว่า FOR USE IN MITA ซึ่งหมายถึงสินค้าที่ใช้กับเครื่อง-ถ่ายเอกสารมิต้า ประชาชนผู้ต้องใช้สินค้าผงหมึกและผงเหล็กดังกล่าวย่อมทราบดีว่าสินค้าที่จำเลยทั้งห้าจำหน่ายมิใช่สินค้าของโจทก์ที่ 1 เพียงแต่เป็นสินค้าที่อาจใช้แทนกันได้เท่านั้น ประชาชนจึงไม่สับสนหรือหลงผิดว่าสินค้าที่จำเลยทั้งห้าจำหน่ายเป็นสินค้าของโจทก์ที่ 1 แต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ได้นำผงหมึกและผงเหล็กเข้ามาจำหน่ายและเสนอจำหน่ายในประเทศไทยดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่า จำเลยทั้งห้าได้จำหน่ายหรือเสนอจำหน่ายสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 และข้อความในการประกอบการค้าของโจทก์ทั้งสองเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของโจทก์ที่ 1 การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงยังไม่เป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า mita ของโจทก์ที่ 1 โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจขอให้ห้ามจำเลยทั้งห้านำเข้ามาในราชอาณาจักร จำหน่าย หรือเสนอจำหน่ายสินค้าผงหมึกและผงเหล็กที่นำเข้าดังกล่าวและเรียกให้จำเลยทั้งห้าชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้
ลักษณะเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนได้
มาตรา 6 "เครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ ต้องประกอบด้วยลักษณะดังต่อไปนี้
(1) เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ
(2) เป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัตินี้ และ
(3) ไม่เป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่บุคคลอื่นได้จดทะเบียนไว้แล้ว"
เครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ
มาตรา 7 "เครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ได้แก่ เครื่องหมายการค้าอันมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้านั้นทราบและเข้าใจได้ว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่น
เครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นสาระสำคัญดังต่อไปนี้ ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ
(1) ชื่อตัว ชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา ชื่อเต็มของนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรือชื่อในทางการค้าที่แสดงโดยลักษณะพิเศษและไม่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง
(2) คำหรือข้อความอันไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง และไม่เป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
(3) คำที่ประดิษฐ์ขึ้น
(4) ตัวหนังสือหรือตัวเลขที่ประดิษฐ์ขึ้น
(5) กลุ่มของสีที่แสดงโดยลักษณะพิเศษ
(6) ลายมือชื่อของผู้ขอจดทะเบียนหรือของเจ้าของเดิมของกิจการของผู้ขอจดทะเบียน หรือลายมือชื่อของบุคคลอื่นโดยได้รับอนุญาตจากบุคคลนั้นแล้ว
(7) ภาพของผู้ขอจดทะเบียนหรือของบุคคลอื่นโดยได้รับอนุญาตจากบุคคลนั้นแล้ว หรือในกรณีที่บุคคลนั้นตายแล้วโดยได้รับอนุญาตจากบุพการี ผู้สืบสันดาน และคู่สมรสของบุคคลนั้น ถ้ามี แล้ว
(8) ภาพที่ประดิษฐ์ขึ้น
(9) ภาพอันไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง และไม่เป็นภาพแผนที่หรือภาพแสดงสถานที่ทางภูมิศาสตร์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
(10) รูปร่างหรือรูปทรงอันไม่เป็นลักษณะโดยธรรมชาติของสินค้านั้นเอง หรือไม่เป็นรูปร่างหรือรูปทรงที่จำเป็นต่อการทำงานทางเทคนิคของสินค้านั้น หรือไม่เป็นรูปร่างหรือรูปทรงที่ทำให้สินค้านั้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้น
(11) เสียงอันไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง หรือเสียงที่ไม่เป็นเสียงโดยธรรมชาติของสินค้านั้น หรือเสียงที่ไม่ได้เกิดจากการทำงานของสินค้านั้น
เครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะตามวรรคสอง (1) ถึง (11) หากได้มีการจำหน่าย เผยแพร่ หรือโฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นจนแพร่หลายแล้วตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และพิสูจน์ได้ว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์นั้นแล้ว ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ
คำว่า "CAFE" หมายถึง กาแฟ หรือภัตตาคารขนาดเล็ก เมื่อใช้กับกาแฟจึงเป็นคำสามัญไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 608/2545 คำว่า "JAVA" หรือ "จาวา" ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ส่วนคำว่า"CAFE" เรียกขานว่า คาเฟ่ ความหมายตามพจนานุกรมหมายถึง กาแฟหรือภัตตคารขนาดเล็ก จึงถือเป็นคำสามัญไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะเช่นเดียวกัน ตัวอักษรโรมันที่สะกดเป็นคำทั้งหมดไม่ว่าจะออกสำเนียงแยกเป็นคำหรือรวมกันเสียงเรียกขานก็ไม่แตกต่างกัน และสื่อความหมายให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่เล็งถึงลักษณะและแหล่งกำเนิดของสินค้านั้นโดยตรงจึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ซึ่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่อาจรับจดทะเบียนให้ได้
เครื่องหมายการค้าคำว่า "SINVINOJAVATEASTRAIGHT" มิได้มีแต่คำว่า "JAVA" อันเป็นชื่อในภูมิศาสตร์ หรือคำว่า "TEA" ซึ่งเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติแห่งสินค้าโดยตรงเท่านั้น แต่ยังมีคำอื่นที่มีลักษณะบ่งเฉพาะประกอบอยู่ด้วย จึงอาจได้รับการจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะจดทะเบียน นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมิได้มีแต่เพียงคำว่า "JAVA" ซึ่งเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ที่ประชาชนโดยทั่วไปรู้จักและมีคำว่า "CAFE" ซึ่งเป็นคำอันได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้ากาแฟโดยตรงอย่างเครื่องหมายการค้าคำว่า"JAVACAFE" ของโจทก์ซึ่งไม่อาจรับจดทะเบียนได้เพราะไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 6(1) ประกอบมาตรา 7 วรรคสอง (2)
คำว่า "จระเข้" (รวมทั้งรูปจระเข้) ไม่ใช่สิ่งบ่งเฉพาะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4559/2533 เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นรูปจระเข้มีตัวหนังสืออักษรภาษาไทยว่าแกรนด์แสลม และตัวหนังสืออักษรโรมันว่า GRANDSLAM ยื่นขอจดทะเบียนใช้กับสินค้าในจำพวก 48 รายการสินค้ายาสีฟันน้ำยาสระผม ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปจระเข้และมีตัวหนังสืออักษรโรมันว่า LACOSTE ได้รับการจดทะเบียนไว้แล้วสำหรับสินค้าจำพวก 48 รายการสินค้าน้ำหอม น้ำหอมชโลมตัวหลังอาบน้ำ น้ำหอมหลังโกนหนวด และน้ำหอมทาผิว แม้เครื่องหมายการค้าของจำเลยจะมีรูปจระเข้เป็นสาระสำคัญส่วนหนึ่งและอาจเรียกได้ว่าตราจระเข้เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แต่การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าจะเหมือนหรือคล้ายกันหรือไม่ต้องพิจารณาส่วนประกอบต่าง ๆ ทั้งหมดเข้าด้วยกัน จะพิจารณาเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งตามลำพังหาได้ไม่ เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีตัวหนังสืออักษรโรมันเป็นชื่อยี่ห้อสินค้าอ่านออกเสียงว่า ลาคอสท์ประกอบด้วยจระเข้อยู่เหนือตัวหนังสือดังกล่าว ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยนอกจากตัวหนังสืออักษรโรมันแล้ว ยังมีตัวหนังสืออักษรภาษาไทยอ่านได้ชัดเจนว่า แกรนด์แสลม อยู่เหนือตัวหนังสืออักษรโรมันด้วย อันเป็นการบอกให้ทราบแน่ชัดว่าสินค้าของจำเลยเรียกชื่อยี่ห้อว่า แกรนด์แสลม ชื่อยี่ห้อและการอ่านออกเสียงเรียกขานเครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงแตกต่างจากของโจทก์เป็นอันมากย่อมเป็นที่สังเกตของสาธารณชนทั่วไป และไม่ทำให้สาธารณชนทั่วไปที่ซื้อสินค้ายี่ห้อ แกรนด์แสลม เข้าใจผิดว่าสินค้านั้นเป็นสินค้ายี่ห้อลาคอสท์ของโจทก์ ส่วนคำว่าจระเข้หรือรูปจระเข้ก็มิใช่สิ่งบ่งเฉพาะ เป็นเพียงคำหรือชื่อสามัญทั่วไปโจทก์ไม่มีสิทธิจะสงวนรูปจระเข้ดังกล่าวไปไว้ใช้สำหรับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ทั้งเครื่องหมายการค้าของจำเลยใช้กับสินค้าคนละชนิดกับของโจทก์สาธารณชนย่อมไม่เกิดความสับสนหรือหลงผิดในเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายเครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ดังนี้ไม่อาจเพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้
(1) ชื่อ
ชื่อตัว ชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา ชื่อเต็มของนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรือชื่อในทางการค้าที่แสดงโดยลักษณะพิเศษและไม่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง (มาตรา 7 วรรคสอง (1))
การใช้นามสกุลเป็นเครื่องหมายการค้า
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 234/2540 อักษรโรมันคำว่า "WILLCOME" เป็นคำที่ไม่มีคำแปลหรือมีความหมายว่าอย่างไรและโจทก์นำสืบข้อเท็จจริงฟังได้ว่าคำว่า "WELLCOME" เป็นนามสกุลของผู้เริ่มก่อตั้งบริษัทโจทก์ในอดีตและบริษัทโจทก์ตั้งขึ้นเมื่อปี 2423 นอกจากโจทก์จะใช้คำว่า "WELLCOME" เป็นเครื่องหมายการค้าแล้วโจทก์ยังใช้คำดังกล่าวเป็นชื่อบริษัทโจทก์ด้วย โจทก์เริ่มจำหน่ายผลิตภัณฑ์โดยใช้เครื่องหมายคำว่า "WELLCOME" มาตั้งแต่ก่อนปี 2444 ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "WELLCOME" ครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษ เมื่อปี 2450 และที่ประเทศไทยเมื่อปี 2490 สำหรับสินค้าจำพวกที่ 3 และได้ส่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า "WELLCOME" ไปจำหน่ายในประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ในขณะที่จำเลยอ้างว่า ว. ผู้ก่อตั้งห้างเวลล์คัมซุปเปอร์มาร์เก็ต เป็นผู้คิดชื่อ "WELLCOME" โดยครั้งแรกตั้งชื่อคำว่า "WELLCOME" แต่เจ้าหน้าที่ไม่รับจดทะเบียนเพราะเป็นคำสามัญทั่วไปแปลว่าต้อนรับ จึงต้องเพิ่มอักษร L เข้าไปอีก 1 ตัว แต่จำเลยเพิ่งเริ่มดำเนินกิจการ WELLCOMESUPERMARKET เมื่อปี 2488 อันเป็นเวลาภายหลังที่โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "WELLCOME" หลายสิบปีด้วยแล้วย่อมไม่มีเหตุผลให้เชื่อว่า ว. จะได้คิดค้นคำดังกล่าวขึ้นมาเองและเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยบังเอิญเช่นนั้น แต่น่าเชื่อว่าเป็นการนำเอาคำว่า "WELLCOME" มาจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แล้วนำคำว่า SUPERMARKET มาประกอบเพื่อให้มีลักษณะแตกต่างไปจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แม้ว่าจำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยมีคำว่า "SUPERMARKET" ประกอบกับคำว่า "WELLCOME" และจำเลยขอจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกที่ 50 ได้แก่ สินค้าเบ็ดเตล็ด อันเป็นสินค้าต่างจำพวก และไม่มีลักษณะที่เกี่ยวเนื่องหรือสัมพันธ์กันกับสินค้าจำพวกที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 48 ซึ่งเป็นสินค้ายารักษาโรคมนุษย์ เคมีภัณฑ์ และเครื่องสำอางของโจทก์ภายใต้เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า "WELLCOME" ก็ตาม แต่ก็ปรากฎจากพยานหลักฐานของโจทก์ว่า โจทก์ได้โฆษณาสินค้าภายในเครื่องหมายการค้าคำว่า "WELLCOME" หลายชนิด และแจกสินค้าตัวอย่างเช่น กระเป๋า ถุงพลาสติก สมุดบันทึก และกระเป๋าสตางค์ อันเป็นสินค้าเบ็ดเตล็ดในจำพวกที่ 50 ตามวิสัญญีสาร และแผ่นปลิวโฆษณา อันถือได้ว่าเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว กับสินค้าจำพวกที่ 50 แล้ว การใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "WELLCOME" "SUPERMARKET" ของจำเลยกับสินค้าจำพวกที่ 50 จึงอาจทำให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่พิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วน เมื่อเห็นแต่คำว่า "WELLCOME" ซึ่งเป็นจุดเด่นของเครื่องหมายการค้า สับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ได้ การขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "WELLCOMESUPERMARKET" ของจำเลยมีลักษณะคล้ายคลึงหรือเหมือนกับเครื่องหมายการค้าคำว่า "WELLCOME" ของโจทก์ เมื่อคำว่า "WELLCOME" เป็นนายสกุลของผู้เริ่มก่อตั้งบริษัทโจทก์ โจทก์เป็นเจ้าของและได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าของโจทก์มาก่อนจำเลยหลายสิบปี โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายคำว่า "WELLCOME" และคำว่า "WELLCOMESUPERMARKET" ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 206656 สำหรับสินค้าจำพวกที่่ 50 ของจำเลยดีกว่าจำเลย และเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนดังกล่าวได้ ตามมาตรา 41(1) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาห้ามจำเลยใช้หรือยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือเข้าเกี่ยวข้องเกี่ยวข้องใดๆกับเครื่องหมายการค้าคำว่า "WELLCOME" สำหรับสินค้าทุกจำพวกรวมทั้งเครื่องหมายการค้าอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกที่ 50 จึงไม่อาจฟ้องคดีเพื่อฟ้องกันการล่วงสิทธิในเครื่องหมายการค้าของตนและห้ามผู้อื่นมิให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าจำพวกดังกล่าวได้ ดังเช่นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนแล้ว ทั้งนี้ตามนัยมาตรา 27 และ 29 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดข้อพิพาท
(2) คำ ข้อความ ชื่อทางภูมิศาสตร์
คำหรือข้อความอันไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง และไม่เป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด (มาตรา 7 วรรคสอง(2))
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3549/2541 คำว่า "CONCERT" ซึ่งมีความหมายว่าการแสดงดนตรีสากลโดยใช้เครื่องดนตรีวงใหญ่และอาจมีนักร้องประสานเสียงด้วยหรือมโหรีสังคีตและการประสานเสียงเมื่อนำมาใช้กับสินค้าจำพวกวิทยุ ตู้ลำโพง โทรทัศน์ เครื่องเล่นวีดีโอและเครื่องขยายเสียง คำว่า "CONCERT" หาใช่คำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าดังกล่าวโดยตรงไม่เพราะสินค้าวิทยุและตู้ลำโพงมิใช่สินค้าที่ใช้รับฟังได้เฉพาะเสียงการแสดงดนตรี มโหรีสังคีตหรือการประสานเสียงเท่านั้น หากแต่ใช้รับฟังเสียงอื่นได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเสียงคนพูด เสียงสัตว์ร้อง เสียงคนหรือสัตว์เดินหรือวิ่งเสียงที่เกิดจากธรรมชาติ เช่น เสียงคลื่นทะเล ฟ้าร้องเสียงการทำและปรุงอาหารหรือเครื่องดื่ม และเสียงอื่น ๆอีกมากมาย เสียงดนตรีจึงเป็นเพียงเสียงอย่างหนึ่งในบรรดาเสียงอื่นอีกมากมายที่รับฟังได้จากวิทยุและตู้ลำโพงส่วนโทรทัศน์และเครื่องเล่นวีดีโอก็ใช้ได้ทั้งชมภาพและฟังเสียงทุกชนิดไม่จำกัดเฉพาะเสียงดนตรี เครื่องขยายเสียงก็สามารถขยายเสียงได้ทุกชนิดไม่จำกัดเฉพาะเสียงดนตรีเช่นกันความหมายของคำว่า "CONCERT" เน้นไปที่การแสดงดนตรีวงใหญ่ที่ทำให้เกิดเสียงดนตรีขึ้นมา แต่เสียงอื่นที่มิได้เกิดจากการแสดงมีได้มากมายหลายกรณี คำว่า "CONCERT"จึงเป็นคำที่ไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าวิทยุตู้ลำโพง โทรทัศน์ เครื่องเล่นวีดีโอ และเครื่องขยายเสียง โดยตรงย่อมมีลักษณะบ่งเฉพาะเมื่อนำมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าดังกล่าว ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติมาตรา 7 วรรคสอง(2)แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534เครื่องหมายการค้าคำว่า "CONCERT" ของโจทก์จึงมีลักษณะพึงรับการจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การกำหนดชื่อทางภูมิศาสตร์ตามมาตรา 7 วรรคสอง (2)
แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2559 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2559 กำหนดให้ชื่อทางภูมิศาสตร์ดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ตามมาตรา ๗ วรรคสอง (๒) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ กล่าวคือ
(1) ชื่อประเทศ ชื่อกลุ่มประเทศ ชื่อภูมิภาค หรือเขตปกครองตนเองซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับประเทศ
(2) ชื่อทวีป แคว้น รัฐ มณฑล หรือชื่อเมืองหลวงของประเทศ
(3) ชื่อมหาสมุทร
(4) ชื่อทางภูมิศาสตร์อื่น ๆ ที่ประชาชนโดยทั่วไปในประเทศไทยรู้จักกันแพร่หลาย เช่น เขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ คาบสมุทร ทะเล อ่าว เกาะ ทะเลสาบ ภูเขา แม่น้ำ จังหวัด เมืองท่า อำเภอ ถนน เป็นต้น
ชื่อทางภูมิศาสตร์ข้างต้น ให้หมายความรวมถึงชื่อย่อ ชื่อเดิม หรือชื่อที่ใช้เรียกขานทั่วไปโดยไม่จำกัดเฉพาะชื่อในทางราชการ
(3) กลุ่มของสี ตัวหนังสือ ตัวเลข หรือคำที่ประดิษฐ์ขึ้น
คำที่ประดิษฐ์ขึ้น, ตัวหนังสือหรือตัวเลขที่ประดิษฐ์ขึ้น, กลุ่มของสีที่แสดงโดยลักษณะพิเศษ (มาตรา 7 วรรคสอง (3) - (5)
คำที่ประดิษฐ์ขึ้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5112 - 5113/2543 คำว่า "โต๊ะกัง" เดิมนายโต๊ะกัง แซ่ตั้ง ประกอบกิจการร้านค้าทองคำรูปพรรณและใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "โต๊ะกัง" สำหรับสินค้าทองคำรูปพรรณของตนตั้งแต่ก่อนปี 2457 โดยมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น และใช้ชื่อร้านค้าว่า "ตั้งโต๊ะกัง" ซึ่งนำมาจากชื่อของนายโต๊ะกังเอง โดยที่คำดังกล่าวมิได้มีความหมายว่าร้านค้าทองคำแต่อย่างใด ครั้นเมื่อเครื่องหมายการค้าคำว่า "โต๊ะกัง" เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ต่อมามีผู้ประกอบกิจการค้าทองคำหลายรายนำคำว่า "โต๊ะกัง" มาใช้เป็นชื่อหรือเครื่องหมายการค้าของตนเนื่องจากเห็นว่าเป็นคำที่มีผู้รู้จักและเป็นที่นิยมโดยทั่วไป แต่ก็มิใช่ว่าผู้ประกอบการค้าทองคำทั่วไปนิยมใช้คำนี้เป็นชื่อหรือเครื่องหมายการค้าโดยเห็นว่า มีความหมายถึงร้านค้าทองคำ
ประชาชนผู้ซื้อสินค้าทองคำจากผู้ประกอบกิจการดังกล่าวหรือซื้อทองคำที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า "โต๊ะกัง" ย่อมสามารถพิจารณาเครื่องหมายการค้าเหล่านี้เพื่อแยกแยะความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ แสดงให้เห็นว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า "โต๊ะกัง" นี้ยังคงมีความหมายบ่งเฉพาะที่ใช้แสดงความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ คำว่า "โต๊ะกัง" จึงเป็นคำที่ประดิษฐ์ขึ้นและมีลักษณะบ่งเฉพาะได้และมิใช่คำสามัญที่หมายถึงร้านค้าทองรูปพรรณดังที่โจทก์ทั้งสองอ้างมาในอุทธรณ์ การที่โจทก์ทั้งสองนำคำว่า "โต๊ะกัง" มาประกอบกับเครื่องหมายการค้าของตน จึงเป็นการนำเอาเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นซึ่งได้รับจดทะเบียนไว้ก่อนมาใช้เป็นส่วนสาระสำคัญอันมีลักษณะเด่น ประชาชนอาจสังเกตและจดจำได้ง่ายกว่าคำอื่นตลอดจนรูปที่โจทก์ทั้งสองนำมาประกอบ ทั้งคำว่า "โต๊ะกัง" ที่เขียนและอ่านออกเสียงได้เหมือนกันย่อมถือว่าเป็นจุดเด่นที่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดได้ง่าย
ตัวหนังสือหรือตัวเลขที่ประดิษฐ์ขึ้น กล่าวคือ จะเป็นภาษาอะไรก็ได้ แต่ต้องไม่ได้เขียนอย่างวิธีการเขียนธรรมดา
กลุ่มของสี หมายถึง สีที่รวมกลุ่มกันตั้งแต่ 2 สีขึ้นไป เช่น แถบสีส้ม เขียว แดง ของ 7 ELEVEN
(4) ลายมือชื่อ
ลายมือชื่อของผู้ขอจดทะเบียนหรือของเจ้าของเดิมของกิจการของผู้ขอจดทะเบียน หรือลายมือชื่อของบุคคลอื่นโดยได้รับอนุญาตจากบุคคลนั้นแล้ว (มาตรา 7 วรรคสอง (6))
(5) ภาพบุคคล
ภาพของผู้ขอจดทะเบียนหรือของบุคคลอื่นโดยได้รับอนุญาตจากบุคคลนั้นแล้ว หรือในกรณีที่บุคคลนั้นตายแล้วโดยได้รับอนุญาตจากบุพการี ผู้สืบสันดาน และคู่สมรสของบุคคลนั้น ถ้ามี แล้ว (มาตรา 7 วรรคสอง (7))
(6) ภาพประดิษฐ์
ภาพที่ประดิษฐ์ขึ้น (มาตรา 7 วรรคสอง (8))
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 630/2551 การรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีหลักเกณฑ์ตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ (ฉบับที่ 2)ฯ โดยสรุปคือเครื่องหมายการค้านั้นต้องมีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 และไม่เป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าตามมาตรา 13 พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ ไม่ได้ให้คำนิยามคำว่า "ลักษณะบ่งเฉพาะ" ไว้โดยแจ้งชัดแต่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 7 วรรคแรกว่า "เครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะได้แก่ เครื่องหมายการค้าอันมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนผู้ใช้สินค้านั้นทราบและเข้าใจได้ว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่น" และในมาตรา 7 วรรคสอง ได้บัญญัติว่า "เครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นสาระสำคัญต่อไปนี้ ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ...(6) ภาพที่ประดิษฐ์ขึ้น" เมื่อพิเคราะห์เครื่องหมายการค้า "รูปขวด" ของโจทก์ที่ขอจดทะเบียนที่มีลักษณะบ่งเฉพาะพิเศษโดยมีส่วนเว้า ส่วนนูน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีลวดลายเป็นจุดที่เว้าลึกรอบขวดในระยะที่ห่างเท่ากันแล้ว เห็นว่า รูปขวดของโจทก์มีลักษณะไม่เหมือนรูปขวดทั่วไป แต่เป็นภาพที่ประดิษฐ์ขึ้นตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 7 วรรคสอง (6) ซึ่งถือได้ว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองที่ทำให้ประชาชนผู้ใช้สินค้าทราบและเข้าใจได้ว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่น เครื่องหมายการค้ารูปขวดของโจทก์จึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7
ข้อยกเว้น
เครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะตามวรรคสอง (1) ถึง (11) หากได้มีการจำหน่าย เผยแพร่ หรือโฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นจนแพร่หลายแล้วตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และพิสูจน์ได้ว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์นั้นแล้ว ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ (มาตรา 7 วรรคสาม)
เครื่องหมายการค้าที่ต้องห้ามมิให้จดทะเบียน
มาตรา 8 "เครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ห้ามมิให้รับจดทะเบียน
(1) ตราแผ่นดิน พระราชลัญจกร ลัญจกรในราชการ ตราจักรี ตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตราประจำตำแหน่ง ตราประจำกระทรวง ทบวง กรม หรือตราประจำจังหวัด
(2) ธงชาติของประเทศไทย ธงพระอิสริยยศ หรือธงราชการ
(3) พระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย พระปรมาภิไธยย่อ พระนามาภิไธยย่อ หรือนามพระราชวงศ์
(4) พระบรมฉายาลักษณ์ หรือพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือรัชทายาท
(5) ชื่อ คำ ข้อความ หรือเครื่องหมายใด อันแสดงถึงพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือพระราชวงศ์
(6) ธงชาติหรือเครื่องหมายประจำชาติของรัฐต่างประเทศ ธงหรือเครื่องหมายขององค์การระหว่างประเทศ ตราประจำประมุขของรัฐต่างประเทศ เครื่องหมายราชการและเครื่องหมายควบคุมและรับรองคุณภาพสินค้าของรัฐต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ หรือชื่อและชื่อย่อของรัฐต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ของรัฐต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศนั้น
(7) เครื่องหมายราชการ เครื่องหมายกาชาด นามกาชาด หรือกาเจนีวา
(8) เครื่องหมายที่เหมือนหรือคล้ายกับเหรียญ ใบสำคัญ หนังสือรับรอง ประกาศนียบัตร หรือเครื่องหมายอื่นใดอันได้รับเป็นรางวัลในการแสดงหรือประกวดสินค้าที่รัฐบาลไทย ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐของประเทศไทย รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศได้จัดให้มีขึ้น เว้นแต่ผู้ขอจดทะเบียนจะได้รับเหรียญ ใบสำคัญ หนังสือรับรอง ประกาศนียบัตร หรือเครื่องหมายเช่นว่านั้น เป็นรางวัลสำหรับสินค้านั้น และใช้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้านั้น แต่ทั้งนี้ต้องระบุปีปฏิทินที่ได้รับรางวัลด้วย
(9) เครื่องหมายที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบาย
(10) เครื่องหมายที่เหมือนกับเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด หรือคล้ายกับเครื่องหมายดังกล่าวจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ไม่ว่าจะได้จดทะเบียนไว้แล้วหรือไม่ก็ตาม
(11) เครื่องหมายที่คล้ายกับ (1) (2) (3) (4) (5) (6) หรือ (7)
(12) สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
(13) เครื่องหมายอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด"
ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2543) ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2543 และประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง เครื่องหมายที่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548 กำหนดให้เครื่องหมายต่อไปนี้เป็นเครื่องหมายที่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียน คือ
(1) เครื่องหมายที่เหมือนหรือคล้ายกับชื่อเภสัชภัณฑ์สากลที่องค์การอนามัยโลกได้ขึ้นทะเบียนสงวนสิทธิการครอบครองไว้
(2) เครื่องหมายและคำบรรยายซึ่งอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดเกี่ยวกับชนิดของสินค้าหรือบริการ หรือสับสนหรือหลงผิดเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดหรือความเป็นเจ้าของสินค้าหรือบริการ
(3) ภาพสัญลักษณ์ประจำชาติไทย คือ ภาพช้างไทย ภาพดอกราชพฤกษ์ ภาพศาลาไทย แนบท้ายประกาศฯ
(4) เครื่องหมายที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือคล้ายกับภาพสัญลักษณ์ประจำชาติไทยตาม (3)
การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
(1) ผู้มีสิทธิขอจดทะเบียน
กฎหมายไม่ได้กำหนดคุณสมบัติไว้เป็นพิเศษ ดังนั้น บุคคลใดฏ้สามารถขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทยได้ โดยมีมาตรา 28 แห่ง พรบ.เครื่องหมายการค้าฯ ให้สิทธิพิเศษแก่บุคคลที่มีคุณสมบัติดังกล่าว ให้มีสิทธิที่จะขอให้ถือว่าวันที่บุคคลนั้นได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศเป็นครั้งแรก เป็นวันที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนในประเทศไทย
มาตรา 28 "บุคคลใดได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้นอกราชอาณาจักร ถ้ายื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นในราชอาณาจักรภายในหกเดือนนับแต่วันที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านอกราชอาณาจักรเป็นครั้งแรก บุคคลนั้นจะขอให้ถือว่าวันที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านอกราชอาณาจักรเป็นครั้งแรก เป็นวันที่ได้ยื่นคำขอในราชอาณาจักรก็ได้ หากบุคคลนั้นมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(1) มีสัญชาติไทย หรือเป็นนิติบุคคลที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทย
(2) มีสัญชาติของประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย หรือ
(3) มีสัญชาติของประเทศที่ยินยอมให้สิทธิในทำนองเดียวกันแก่บุคคลสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทย
(4) มีภูมิลำเนา หรือประกอบอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรมอย่างจริงจังในประเทศไทย หรือในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย
ในกรณีที่คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ได้ยื่นเป็นครั้งแรกนอกราชอาณาจักรถูกปฏิเสธ หรือผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนถอนคืนหรือละทิ้งคำขอ บุคคลดังกล่าวจะขอใช้สิทธิตามวรรคหนึ่งไม่ได้
ในกรณีที่มีการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ถูกปฏิเสธ หรือคำขอที่ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนถอนคืนหรือละทิ้งตามวรรคสองนอกราชอาณาจักรซ้ำอีกภายในระยะเวลาหกเดือนนับแต่วันที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านอกราชอาณาจักรเป็นครั้งแรก บุคคลซึ่งยื่นคำขอดังกล่าวจะขอใช้สิทธิตามวรรคหนึ่งได้ เมื่อ
(1) คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามวรรคสองยังมิได้มีการขอใช้สิทธิในการระบุวันยื่นคำขอจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง และ
(2) คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามวรรคสองไม่อาจดำเนินการใดตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าในประเทศที่มีการยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ต่อไป และ
(3) การถูกปฏิเสธ ถอนคืน หรือถูกละทิ้งในครั้งแรกมิได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณชน"
(2) ใครยื่นขอจดก่อนเป็นรายแรกย่อมมีสิทธิได้รับจดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น
มาตรา 20 "ในกรณีที่มีผู้ขอจดทะเบียนหลายรายต่างยื่นคำขอจดทะเบียนเพื่อเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ถ้านายทะเบียนเห็นว่าเครื่องหมายการค้าเหล่านั้นมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ให้นายทะเบียนดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ได้ยื่นไว้เป็นรายแรก และมีหนังสือแจ้งคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนรายหลังรอการพิจารณาดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ก่อน
(1) เป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนกัน ไม่ว่าจะใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่นายทะเบียนเห็นว่ามีลักษณะอย่างเดียวกัน
(2) เป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ไม่ว่าจะใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่นายทะเบียนเห็นว่ามีลักษณะอย่างเดียวกัน
ในกรณีที่เครื่องหมายการค้าที่ยื่นไว้เป็นรายแรกไม่ได้รับการจดทะเบียน ให้นายทะเบียนพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ได้ยื่นไว้เป็นรายถัดไป และมีหนังสือแจ้งให้ผู้ขอจดทะเบียนรายนั้นและรายอื่นทราบโดยไม่ชักช้า"
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1900/2548 โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "diamond" สำหรับใช้กับสินค้าโช้คอัพประตูไว้ก่อนที่จำเลยที่ 3 จะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "dimond" สำหรับสินค้าโช้คอัพประตูกับสินค้าโครงฝ้าเพดานทำด้วยโลหะ ลูกเลื่อนประตูทำด้วยโลหะ และลูกเลื่อนหน้าต่างทำด้วยโลหะ เมื่อเครื่องหมายการค้าที่โจทก์กับที่จำเลยที่ 3 ยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดสินค้า โจทก์ซึ่งยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ก่อนจึงเป็นผู้มีสิทธิได้รับการจดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า เว้นแต่จำเลยที่ 2 จะมีคำสั่งให้โจทก์กับจำเลยที่ 3 ตกลงกันเองก่อน ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 24 หรือเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 เห็นว่าต่างฝ่ายต่างได้ใช้เครื่องหมายการค้ากันมาแล้วด้วยกันโดยสุจริตตามมาตรา 27 แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ดำเนินการตามมาตรา 24 หรือมาตรา 27 แต่อย่างใด เนื่องจากมีเหตุบกพร่องในการตรวจสอบข้อมูลเครื่องหมายการค้าเพราะความขัดข้องของระบบคอมพิวเตอร์ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้แก่จำเลยที่ 3 จึงเป็นการจดทะเบียนที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 20 อันจะต้องเพิกถอนการจดทะเบียนที่ไม่ชอบเสียทั้งหมด แม้จำเลยที่ 3 จะได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าบางรายการที่แตกต่างกับที่โจทก์ขอจดทะเบียนไว้ก็ตาม
โจทก์ได้ร้องขอต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 แล้ว แต่การร้องขอดังกล่าวเป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนไว้นั้นเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้แล้ว จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกัน ตามมาตรา 61 ส่วนการที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 3 ได้จดทะเบียนไว้ดีกว่าจำเลยที่ 3 ตามมาตรา 67 ซึ่งเป็นการอ้างเหตุแห่งการเพิกถอนที่แตกต่างกัน การที่โจทก์ได้ร้องขอให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 จึงไม่เป็นการต้องห้ามมิให้โจทก์พิสูจน์ว่ามีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าและร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นแต่อย่างใด
(3) กรณีต่างคนต่างใช้กันมาโดยสุจริต
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5083/2543 โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วตั้งแต่ปี 2520 ถึงปี 2524 คือเครื่องหมายการค้า และ ใช้กับสินค้าตามรายการจำพวกสินค้าเดิม ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 จำพวกที่ 42 วัตถุที่ใช้เป็นอาหาร หรือเป็นเครื่องปรุงอาหาร จำพวกที่ 44 น้ำแร่และน้ำอัดลมซึ่งเป็นเองและทำขึ้น จำพวกที่ 45 ยาสูบที่แต่งแล้วและยังมิได้แต่ง และจำพวกที่ 48 เครื่องหอม (รวมทั้งเครื่องเบ็ดเตล็ดสำหรับแต่งกาย ตบแต่งผิว สิ่งที่ทำขึ้นใช้สำหรับฟัน สำหรับผม และสบู่หอม) ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้า ต่อมาเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2535 จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า รูปวัวกระทิงคู่หันหน้าเข้าหากัน เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 12 (ใหม่) ตามพระราชบัญญํติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 รายการสินค้า แหนบรถยนต์ ตามสำเนาคำขอจดทะเบียนเลขที่ 234051 โจทก์ยื่นคำคัดค้าน นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยไม่รับจดทะเบียน จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยให้ยกคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของจำเลยที่ 1 ต่อไป
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารูปวัวกระทิงสีแดง 2 ตัว หันหน้าเข้าหากัน และได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าแหนบรถยนต์ของจำเลยที่ 1 เป็นเวลานานกว่า 30 ปี มาแล้วโดยสุจริตตั้งแต่ก่อนที่โจทก์จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เมื่อปี 2520 ส่วนที่โจทก์อ้างว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 1 ขอจดทะเบียนตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 134051 ไม่มีคำว่า "ตราวัวชนกัน" จึงแตกต่างและเป็นคนละเครื่องหมายกับเครื่องหมายการค้าที่เคยจดทะเบียนไว้ เห็นว่า สาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวอยู่ที่รูปวัวกระทิง 2 ตัว หันหน้าเข้าหากัน คำว่า "ตราวัวชนกัน" เป็นเพียงส่วนประกอบ เมื่อจำเลยที่ 1 นำเครื่องหมายรูปวัวกระทิง 2 ตัว หันหน้าเข้าหากันอันเป็นส่วนสาระสำคัญนั้นมายื่นขอจดทะเบียนใหม่ ย่อมถือได้ว่าเป็นการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในเครื่องหมายเดียวกับที่จำเลยที่ 1 ใช้มาก่อนโดยสุจริตดังกล่าวแล้วนั่นเอง จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปวัวกระทิงตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 234051 และนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าชอบที่จะรับจดทะเบียนให้ได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ส่วนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้วางเงื่อนไขและข้อจำกัดสิทธิในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ว่า เครื่องหมายรูปกระทิงให้ใช้สีอื่นนอกจากสีแดงนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูปวัวกระทิง 2 ตัว หันหน้าเข้าหากัน ซึ่งเป็นวัวกระทิงสีแดง เนื่องจากจำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายดังกล่าวมาก่อนโดยสุจริต ดังวินิจฉัยมาแล้วข้างต้น ประกอบกับสินค้าของโจทก์เป็นเครื่องบริโภคอุปโภค ส่วนสินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นเครื่องอะไหล่แหนบรถยนต์อันเป็นเครื่องกล จึงเป็นสินค้าต่างจำพวกกัน มีลักษณะและวัตถุประสงค์ในการใช้สินค้าแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง นอกจากนี้ยังปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 กับสินค้าแหนบรถยนต์นำออกจำหน่ายมาก่อนโจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเวลากว่า 10 ปี และต่อมาโจทก์กับจำเลยที่ 1 ก็ต่างใช้เครื่องหมายการค้าของตนกับสินค้าที่แตกต่างกันนั้นมาอีกกว่า 10 ปี โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยโต้แย้งว่าการใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์เสียหายเพราะประชาชนสับสนหลงผิดว่าสินค้าและเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 เป็นของโจทก์มาก่อนแต่อย่างใด จึงไม่มีเหตุสมควรกำหนดเงื่อนไขและข้อจำกัดสิทธิในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวางเงื่อนไขและข้อจำกัดสิทธิในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ว่า รูปกระทิงให้ใช้สีอื่นนอกจากสีแดงย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 352/2550 โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้า "ตราเด็ก" มานานแล้วโดยสุจริต เช่นเดียวกับที่ผู้คัดค้านใช้เครื่องหมายการค้า "ตราเด็กสมบูรณ์" แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วของผู้คัดค้านจะเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันและใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกัน นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าย่อมมีอำนาจรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า "ตราเด็ก" ของโจทก์ตามมาตรา 27 ได้ เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนตามมาตรา 27 ได้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่ถือเป็นเครื่องหมายการค้าที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบาย ไม่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 8(9) แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน และแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้า "ตราเด็กสมบูรณ์" ของผู้คัดค้าน ใช้กับสินค้าที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดจำนวนมาก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งมีการโฆษณาส่งเสริมการขายอย่างกว้างขวางเป็นที่แพร่หลายจนสาธารณชนทั่วไปที่บริโภคสินค้าของผู้คัดค้านรู้จักเป็นอย่างดี ตรงตามหลักเกณฑ์ของเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2534) เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปอันเป็นเครื่องหมายการค้าที่ห้ามมิให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนตามมาตรา 8(10) แต่ข้อห้ามดังกล่าวย่อมหมายถึงการห้ามบุคคลอื่นใดนำเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปมายื่นขอจดทะเบียนโดยเจตนาลอกเลียนเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปเพื่อประโยชน์ทางการค้าของตนโดยมิชอบ อันนำไปสู่การสร้างความสับสนหลงผิดให้แก่สาธารณชนทั่วไปในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า กรณีดังกล่าวไม่อาจแปลความรวมไปถึงเจ้าของเครื่องหมายการค้าเดิมที่ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าของตนโดยสุจริตควบคู่ร่วมสมัยกับเครื่องหมายการค้าที่ต่อมาภายหลังกลับกลายเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปดั่งเช่น เครื่องหมายการค้า "ตราเด็ก" กับเครื่องหมายการค้า "ตราเด็กสมบูรณ์" ในคดีนี้ เพราะมิฉะนั้นแล้วเท่ากับว่าเป็นการจำกัดสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าเดิมที่ใช้มาโดยสุจริตให้ไม่ได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายโดยเท่าเทียมกัน ย่อมเป็นการไม่ชอบธรรมกับเจ้าของเครื่องหมายการค้าเดิม เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า "ตราเด็ก" และใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้ารายการน้ำปลามาเป็นเวลานานโดยสุจริต โจทก์ย่อมรับได้ความคุ้มครองตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีดุลพินิจที่จะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันได้ โดยจะมีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดเกี่ยวกับวิธีการใช้และเขตแห่งการใช้เครื่องหมายการค้านั้นเพื่อป้องกันสาธารณชนสับสนหลงผิดไว้ด้วยก็ได้
(4) การคัดค้านการขอจดทะเบียน
มาตรา 35 "เมื่อได้ประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายใดตามมาตรา 29 แล้ว บุคคลใดเห็นว่าตนมีสิทธิดีกว่าผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้น หรือเห็นว่าเครื่องหมายการค้ารายนั้นไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 หรือการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้นไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ บุคคลนั้นจะยื่นคำคัดค้านต่อนายทะเบียนก็ได้ แต่ต้องยื่นภายในหกสิบวันนับแต่วันประกาศโฆษณาตามมาตรา 29 พร้อมทั้งแสดงเหตุแห่งการคัดค้าน
การคัดค้านตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง"
เมื่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้มีคำวินิจฉัยแล้ว ผู้ขอจดทะเบียนหรือผู้คัดค้านมีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้ภายใน 60 วัน นับแต่ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัย
เมื่อคณะกรรมการได้มีคำวินิจฉัยแล้ว ให้มีหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยพร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ขอจดทะเบียนและผู้คัดค้านทราบโดยไม่ชักช้า ซึ่งผู้ขอจดทะเบียนหรือผู้คัดค้านมีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการ โดยการฟ้องคดีต่อศาลภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ
ในกรณีที่มิได้มีการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนภายในกำหนดเวลา หรือมิได้มีการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการภายในกำหนดเวลาตามที่กฎหมายบัญญัติ ให้ถือว่าคำวินิจฉัยของนายทะเบียนหรือของคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี เป็นที่สุด
(5) อายุการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
มาตรา 53 "การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้มีอายุสิบปีนับแต่วันที่จดทะเบียนตามมาตรา 42 และอาจต่ออายุได้ตามมาตรา 54
อายุการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามวรรคหนึ่ง มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างการดำเนินคดีทางศาลตามมาตรา 38 ด้วย"
สิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้า
เมื่อได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว เจ้าของเครื่องหมายการค้าย่อมมีสิทธิตามกฎหมาย เป็นต้นว่า สิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้น สิทธิในการอนุญาติให้ผู้อื่นใช้เครื่องหมายการค้าหรือการโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าให้ผู้อื่น รวมทั้งสิทธิในการฟ้องคดีในกรณีที่มีการละเมิดและเรียกค่าสินไหมทดแทน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7331/2544 เครื่องหมายการค้าของโจทก์คือเครื่องหมายประกอบด้วยคำว่า KinderEm-eukal และรูปประดิษฐ์เป็นรูปการ์ตูนเด็กผู้ชายซึ่งโดยเฉพาะในส่วนรูปประดิษฐ์การ์ตูนเด็กผู้ชายซึ่งไม่มีในเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นส่วนที่แตกต่างจากเครื่องหมายการค้าที่มีคำว่า KINDER ของจำเลยอย่างเด่นชัด ส่วนที่เป็นคำว่าKinderEm-eukal อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมในรูปประดิษฐ์การ์ตูนเด็กผู้ชายนั้นแม้จะมีคำว่า KINDER คำเดียวกับคำว่า KINDER ในเครื่องหมายการค้าของจำเลย และคำว่า KINDER นี้ก็เป็นคำที่ใช้ในภาษาเยอรมันก็ตามแต่ตามความเป็นจริงคำว่า KINDER นี้ก็เป็นคำซึ่งมีความหมายตามพจนานุกรมว่า เด็กหลายคนย่อมเป็นคำที่คนทั่วไปสามารถนำมาใช้ได้เป็นปกติอยู่แล้ว ดังนี้ แม้จำเลยจะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่าKINDER ไว้ ก็ไม่ถึงกับมีสิทธิหวงกันไม่ให้ผู้อื่นใช้คำนี้โดยเด็ดขาดเพียงแต่ผู้ที่จะนำคำว่า KINDER ไปใช้เป็นส่วนหนึ่งประกอบเครื่องหมายการค้าของตนในภายหลังต้องทำให้เครื่องหมายการค้านั้นมีลักษณะแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของจำเลยและไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดได้
เมื่อเครื่องหมายการค้าคำว่า KinderEm-eukal ประกอบรูปการ์ตูนเด็กผู้ชายของโจทก์มิได้มีสาระสำคัญเป็นลักษณะเด่นอยู่ที่คำว่า KINDER อย่างที่ใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลย แต่เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีสาระสำคัญเป็นลักษณะเด่นที่คำว่า KinderEm-eukal และยังมีรูปการ์ตูนเด็กผู้ชายประกอบอีกด้วย เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงมีจุดแตกต่างกับของจำเลยในส่วนสำคัญอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งผู้บริโภคสามารถใช้เป็นที่สังเกตแยกให้เห็นความแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้โดยง่ายทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นได้ด้วยว่าโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้านี้โดยสุจริต มิใช่การใช้คำว่า Kinder เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าโดยหวังที่จะอาศัยชื่อเสียงเกียรติคุณจากเครื่องหมายการค้าของจำเลยเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่ใช่เครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของและแหล่งกำเนิดของสินค้า
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7631/2547 แม้เครื่องหมายการค้า และ ของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจะมีรูปช้างเป็นสาระสำคัญเช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้า ของจำเลยที่ 1 แต่การนำรูปช้างซึ่งเป็นสัตว์ตามธรรมชาติหรือช้างเอราวัณซึ่งเป็นสัตว์ในวรรณคดีมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้านั้นบุคคลใดก็อาจนำไปใช้ได้ เพราะการที่บุคคลใดเลือกนำรูปช้างหรือรูปช้างเอราวัณไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของตนก็มิได้หมายความว่าจะเป็นการตัดสิทธิบุคคลอื่นไม่ให้ใช้รูปช้างหรือรูปช้างเอราวัณโดยเด็ดขาด เพียงแต่ผู้ที่จะนำรูปช้างหรือรูปช้างเอราวัณไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของตนในภายหลังจะต้องทำเครื่องหมายการค้าให้มีความแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้ใช้มาก่อนมากพอที่จะไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของจำเลยที่ 1 มีข้อแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์หลายประการ ทั้งลักษณะของรูปช้างและส่วนประกอบอื่นของเครื่องหมายการค้าแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่า "TUSCO TRAFO" ในเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 เป็นชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 และมีขนาดใหญ่พอ ๆ กับรูปช้าง จึงเป็นจุดเด่น นับได้ว่าเป็นสาระสำคัญส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าและอาจเรียกขานเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ได้ว่า ตราช้างทัสโก้ หรือตราทัสโก้ เมื่อเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 มีส่วนสำคัญที่สามารถสังเกตเห็นความแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยง่ายเช่นนี้ จึงไม่มีเหตุที่จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าสินค้าของจำเลยที่ 1 ที่ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวนั้นเป็นสินค้าเจ้าของเดียวกันกับของโจทก์หรือบริษัทในเครือของโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้น เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ขอจดทะเบียนไว้จึงไม่คล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้ก่อนจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าอันจะถือว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 มิใช่เครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 6 (3) ประกอบด้วยมาตรา 13
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 284/2539 โจทก์เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าคอมพิวเตอร์ ภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า "UNIX" ทั้งในต่างประเทศและประเทศไทยและสำหรับในประเทศไทยโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับสินค้าจำพวกที่ 8 ชนิดสินค้าคอมพิวเตอร์ ส่วนและอุปกรณ์เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ซึ่งอยู่ในจำพวกนี้รวมทั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์และคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ พร้อมทั้งได้โฆษณาเผยแพร่สินค้าคอมพิวเตอร์ ของโจทก์มาก่อนที่จำเลยจะยื่นขอจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดและใช้ชื่อบริษัททั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษว่า"บริษัทยูนิกซ์คอมพิวเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด" และ"UNIXCOMPUTER(THAILAND)COMPANYLIMITED" คำว่า "UNIX"ที่จำเลยนำไปจดทะเบียนเป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยและเป็นส่วนหนึ่งของตรา บริษัท จำเลยเหมือนกันกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า "UNIX" ซึ่งใช้กับสินค้าคอมพิวเตอร์ ของโจทก์จำเลยประกอบธุรกิจจำหน่ายรับซ่อมเครื่องคอมพิวเตอร์ และจัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์จำเลยอยู่ในวงการธุรกิจคอมพิวเตอร์ ทราบดีว่าคำว่า "UNIX" เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนที่ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่โจทก์ผลิตและจำหน่าย การที่จำเลยนำคำว่า"UNIX" ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ไปจดทะเบียนเป็นส่วนหนึ่งของชื่อและตราของบริษัทจำเลยและจำเลยรับเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า"ONIX" ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์มากย่อมทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดว่าสินค้าคอมพิวเตอร์หรือการค้าของจำเลยเป็นสินค้าหรือการค้าของโจทก์เป็นการแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงและเกียรติคุณในเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์โดยมิได้รับอนุญาต การใช้คำว่า "UNIX" เป็นส่วนหนึ่งของชื่อและตรา บริษัท จำเลยจึงเป็นการใช้โดยไม่สุจริตเป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย ฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ โจทก์ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า "UNIX" ย่อมมีสิทธิขัดขวางมิให้จำเลยนำคำดังกล่าวไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อและตรา บริษัท จำเลยและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ การที่จำเลยรู้อยู่แล้วยังจำหน่ายสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า "ONIX" ซึ่งเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า "UNIX" ที่ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ของโจทก์ที่ผลิตออกจำหน่ายจนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าย่อมถือได้ว่าเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายดังกล่าวซึ่งติดมากับสินค้านั้นอยู่ในตัว ดังนี้แม้จำเลยจะมิใช่ผู้ผลิตสินค้านั้นและคิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าคำว่า "ONIX" การกระทำของจำเลยก็เป็นการใช้เครื่องหมายการค้าโดยละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า "UNIX"ของโจทก์แล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6648/2542 แม้จำเลยที่ 2 จะได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นรูปรวงข้าวอยู่ในวงกลมสำหรับสินค้าจำพวกเครื่องจักร กับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นรูปรวงข้าวอยู่ในวงกลมและมีภาษาไทยคำว่า "ตรารวงข้าว" อยู่ใต้รูปสำหรับสินค้าจำพวกเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และยังคงจดทะเบียนอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าข้างต้นต่อไปตามมาตรา 117 ก็ตาม แต่การที่จำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้ารูปรวงข้าวในวงกลมและคำว่า "InterNationalGroup" กับสินค้าจำพวกเครื่องไฟฟ้าโดยไม่มีคำว่า "ตรารวงข้าว" กำกับ ทั้งยังเน้นคำว่า "National" ซึ่งไม่ใช่เครื่องหมายการค้าของตนให้ใหญ่เป็นพิเศษยิ่งกว่าคำอื่น ย่อมแสดงว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองยังคงมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าตรารวงข้าวที่จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนไว้ตามกฎหมายเดิมต่อไปหรือไม่จึงไม่ทำให้จำเลยทั้งสองเสียเปรียบหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมแต่อย่างใด เพราะข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองเป็นคนละเรื่องกับการจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "National" ของผู้เสียหาย ฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น จำเลยคงมีความผิดตามฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9247/2547 จำเลยเคยเห็นสินค้ารองเท้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า "AIRWALK" ของโจทก์มาก่อนจึงได้เลียนแบบมาเป็นเครื่องหมายการค้าคำว่า "AIR WALK" ของจำเลยแล้วนำไปยื่นขอจดทะเบียน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "AIR WALK" โดยไม่สุจริต จำเลยไม่อาจอ้างสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ได้ยื่นขอจดทะเบียนโดยไม่สุจริตนั้นมาฟ้องแย้งขอให้ห้ามโจทก์มิให้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "AIRWALK" กับสินค้ารองเท้าของโจทก์และให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย เมื่อโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า "AIRWALK" และใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้ารองเท้ามาก่อนที่จำเลยจะยื่นคำขอจดทะเบียน โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า "AIR WALK" ดีกว่าจำเลยผู้ได้รับการจดทะเบียนและมีสิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้
เมื่อโจทก์ไม่เคยโฆษณาเผยแพร่และส่งสินค้ารองเท้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า "AIRWALK" เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยก่อนที่จำเลยจะยื่นขอจดทะเบียนและได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "AIR WALK" ประกอบกับโจทก์ยังมิได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "AIRWALK" กับสินค้ารองเท้าในประเทศไทย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยซึ่งใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "AIR WALK" กับสินค้ารองเท้าแตะที่จำเลยได้จดทะเบียนให้ชดใช้ค่าเสียหายในการล่วงสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า "AIRWALK" ของโจทก์ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนได้ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 29 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ