ลิขสิทธิ์คืออะไร
"
ลิขสิทธิ์" หมายความว่า สิทธิแต่ผู้เดียวที่จะทำการใด ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น (พรบ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 4 )
สิทธิที่เจ้าของลิขสิทธิ์มี ได้แก่ สิทธิในการทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ และสิ่งบันทึกเสียง ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น และอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิตามที่กล่าวมาข้างต้น (พรบ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 15)
ลิขสิทธิ์เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง โดยลิขสิทธิ์เป็นสิทธิที่ไม่มีรูปร่าง เจ้าของลิขสิทธิ์ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายที่หวงห้ามมิให้ผู้อื่นนำงานของตนไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4076/2533 จำเลยทั้งสองซื้อภาพเขียนไปจากโจทก์ทั้งสอง โดยโจทก์ทั้งสองไม่เคยขายลิขสิทธิ์ในภาพเขียนนั้นให้จำเลยทั้งสอง การที่จำเลยทั้งสองนำภาพเขียนที่ซื้อจากโจทก์ทั้งสองไปพิมพ์บัตรอวยพรปีใหม่จำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ทั้งสอง ถือว่าจำเลยทั้งสองละเมิดลิขสิทธิ์ในภาพเขียนของโจทก์ทั้งสองนั้น
ไม่สามารถอ้างสิทธิเพื่อครอบครองปรปักษ์ในลิขสิทธิ์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 846/2534 เมื่อจำเลยทั้งสองอ้างว่า โจทก์ขายลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทให้แก่ป. ต่อมา ป. ขายต่อให้จำเลยที่ 1 อีกทอดหนึ่ง แต่จำเลยทั้งสองไม่มีหลักฐานการซื้อขายลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทระหว่าง ป. กับโจทก์เป็นหนังสือมาแสดงต่อศาล ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น มาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า ลิขสิทธิ์นั้นโอนได้ แต่การโอนสิทธิหรือใช้ประโยชน์เช่นนั้นไม่สมบูรณ์เว้นแต่จะได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อเจ้าของหรือตัวแทนผู้ได้รับมอบอำนาจโดยชอบจากเจ้าของลิขสิทธิ์ จึงฟังได้ว่าโจทก์ขายลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทให้ ป. ไม่มีลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทที่จะขายให้จำเลย เพลงพิพาทยังเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์อยู่ เมื่อโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองละเมิดลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาท โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง
ในแผ่นเสียงที่ผลิตออกจำหน่ายก่อนจำเลยทั้งสองจะซื้อลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทจาก ป. ที่กระดาษกลางแผ่นเสียงมีข้อความระบุว่า เนื้อร้องและทำนองเป็นของผู้ใด ใครเป็นผู้ขับร้อง จำเลยทั้งสองจึงทราบดีว่าโจทก์เป็นผู้ประพันธ์เนื้อร้องเพลงพิพาทจำเลยทั้งสองมิได้ซื้อลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทจาก ป. โดยสุจริต เพราะหากจำเลยทั้งสองสุจริตจริง ก่อนซื้อจำเลยทั้งสองน่าจะให้ ป. แสดงหลักฐานว่า ป. ได้ซื้อลิขสิทธิ์มาจากโจทก์แล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ขอให้ ป. แสดงหลักฐานดังกล่าวและจำเลยทั้งสองไม่มีหลักฐานการซื้อลิขสิทธิ์จากโจทก์มาแสดง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์แล้ว
โจทก์เพิ่งทราบว่า จำเลยทั้งสองละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2529 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2529 จึงเป็นการฟ้องคดีภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่นโดยอายุการครอบครองหรือการครอบครองปรปักษ์นั้น มีได้เฉพาะกับทรัพย์สินเพียง 2 ประเภท คือ อสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ซึ่งบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 ทรัพย์สิน มุ่งให้ความคุ้มครองในเรื่องกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองในทรัพย์สินดังกล่าวเป็นสำคัญ ส่วนลิขสิทธิ์แม้จะเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง แต่เป็นทรัพย์สินอีกประเภทหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ จนไม่อาจจัดเป็นทรัพย์สินในความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 ได้ กล่าวคือลิขสิทธิ์เป็นทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า "ลิขสิทธิ์" "งาน" และ "ผู้สร้างสรรค์" กับมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันได้ให้ความหมายของคำว่า "สิทธิแต่ผู้เดียว" ไว้โดยเฉพาะแล้ว สิทธิในงานอันมีลิขสิทธิ์ตามที่กฎหมายให้ความคุ้มครองจึงต่างกับสิทธิในกรรมสิทธิ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1336 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สิทธิในลิขสิทธิ์เป็นสิทธิในนามธรรมซึ่งเป็นการให้ความคุ้มครองแก่รูปแบบของการแสดงออกซึ่งความคิดของผู้สร้างสรรค์ เป็นผลงาน 8 ประเภทตามคำจำกัดความของคำว่า"งาน" ดังกล่าวข้างต้น การจะได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์งานจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ ส่วนผู้อื่นซึ่งมิใช่ผู้สร้างสรรค์ งานอาจได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8มาตรา 12 และมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเท่านั้น และลิขสิทธิ์มิได้มีอายุแห่งการคุ้มครองโดยไม่จำกัดเวลาอย่างกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 แต่มีอายุแห่งการคุ้มครองจำกัดและสิ้นอายุแห่งการคุ้มครองได้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 16 ถึงมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์มิได้บัญญัติให้ผู้ใดอาจมีลิขสิทธิ์ได้โดยการครอบครองปรปักษ์ ทั้งสภาพของลิขสิทธิ์ก็ไม่อาจมีการครอบครองเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 13 ดังเช่นสิทธิในกรรมสิทธิ์บนอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีการครอบครองได้ สิ่งที่จำเลยทั้งสองครอบครองไว้จึงเป็นเพียงการครอบครองแผ่นกระดาษที่มีเนื้อเพลงพิพาทอันเป็นสังหาริมทรัพย์เท่านั้น มิได้ก่อให้เกิดสิทธิในลิขสิทธิ์ได้แต่อย่างใด การได้มาซึ่งลิขสิทธิ์จะได้มาโดยทางใดได้บ้างเป็นเรื่องที่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วดังกล่าวข้างต้น เมื่อไม่มีกฎหมายให้สิทธิแก่ผู้ใดได้มาซึ่งลิขสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจอ้างว่าได้ลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทมาโดยการครอบครองปรปักษ์ได้
ผู้สร้างสรรค์คือใคร
"
ผู้สร้างสรรค์" หมายความว่า ผู้ทำหรือผู้ก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์อย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ (มาตรา 4 แห่ง พรบ.ลิขสิทธิ์ฯ)
งานอันมีลิขสิทธิ์
งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่ งานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หรืองานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะของผู้สร้างสรรค์ ไม่ว่างานดังกล่าวจะแสดงออกโดยวิธีหรือรูปแบบอย่างใด การคุ้มครองลิขสิทธิ์ไม่คลุมถึงความคิด หรือขั้นตอน กรรมวิธี หรือระบบ หรือวิธีใช้ หรือทำงาน หรือแนวความคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ (มาตรา 6 แห่ง พรบ.ลิขสิทธิ์ฯ)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4488/2559 การทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์นั้น ไม่ว่าจะเป็นการทำซ้ำจากบันทึกของงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ที่ผู้เสียหายอนุญาตให้ทำขึ้น หรือทำซ้ำจากบันทึกของงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ก็ล้วนเป็นการกระทำต่อโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ซึ่งถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 30 (1) เพราะชุดคำสั่งที่เขียนด้วยภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (source code) หรือภาษาเครื่อง (object code) อันเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 ซึ่งบันทึกอยู่ในงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายหรือบันทึกอยู่ในบันทึกของงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายนั้นเป็นตัวงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 และ 6
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3344/2558 เมื่อโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์ภาพเขียนลายเส้นรูปสุนัขกระโดด ภาพเขียนลายเส้นรูปสุนัขกระโดดกับอักษรโรมันคำว่า “DALMATINER” และภาพเขียนลายเส้นรูปสุนัขกระโดดและอักษรโรมันคำว่า “dalmatiner” จำนวน 3 ภาพ ขึ้นมาด้วยตนเอง ภาพเขียนรูปสุนัขกระโดดดังกล่าวจึงเป็นงานศิลปกรรมประเภทจิตรกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ และโจทก์มีขอบเขตแห่งลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 15 ที่จะทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งภาพเขียนรูปสุนัขกระโดดดังกล่าวให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์ในภาพเขียนนั้นแก่ผู้อื่น กับอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิทำซ้ำ ดัดแปลง และเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งภาพเขียนดังกล่าว เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ใช้ภาพเขียนนี้เป็นเครื่องหมายการค้ากับสินค้าเสื้อ กางเกง เสื้อกีฬา กางเกง กีฬา รองเท้ากีฬา และจดทะเบียนภาพเขียนนี้เป็นเครื่องหมายการค้า โจทก์จึงไม่มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้าภาพเขียนรูปสุนัขกระโดดนี้สำหรับสินค้าดังกล่าวได้ และไม่อาจหวงกันผู้อื่นมิให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าดังกล่าวได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 44 ภาพเขียนรูปสุนัขกระโดดนี้จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 การที่โจทก์อนุญาตให้บริษัท ส. นำภาพเขียนรูปสุนัขกระโดดอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าเสื้อและกางเกง แล้วบริษัท ส. โอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 นำไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้กับสินค้าในจำพวก 25 รายการสินค้า เสื้อ กางเกง ต่อมาจำเลยที่ 1 โอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 5 การที่จำเลยทั้งแปดได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าเสื้อและกางเกงจึงเป็นการใช้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 44 ในการใช้เครื่องหมายการค้านี้อย่างเครื่องหมายการค้าโดยชอบ การกระทำของจำเลยทั้งแปดหาใช่การกระทำต่อภาพเขียนรูปสุนัขกระโดดซึ่งเป็นรูปแบบของการแสดงออกซึ่งความคิดที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใดไม่ จึงไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในภาพเขียนรูปสุนัขกระโดดของโจทก์ และไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเพื่อการละเมิดลิขสิทธิ์แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7036/2543 พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 78 วรรคหนึ่งหมายความว่า งานใดเข้าลักษณะเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทใดประเภทหนึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ. 2474 หรือ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 และยังได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติทั้งสองดังกล่าวอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ใช้บังคับ ก็คงให้ได้รับความคุ้มครองต่อไปตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ส่วนมาตรา 78 วรรคสองหมายความว่า งานใดที่ได้จัดทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2537 ใช้บังคับและไม่มีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติทั้งสองดังกล่าวแต่เป็นงานที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537ก็ให้งานนั้นได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537แต่ทั้งนี้นับแต่วันที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มีผลใช้บังคับไม่ใช่นับแต่วันที่งานนั้นได้สร้างขึ้น
การพิจารณาว่าหนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วของโจทก์ซึ่งได้สร้างขึ้นเมื่อกลางปี 2534 มีลิขสิทธิ์หรือไม่ ต้องใช้กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นคือพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 แม้หลักเกณฑ์ตามมาตรา 6 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 จะไม่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหลักเกณฑ์นั้นไม่มีอยู่ เพราะหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปในการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ดังนี้ ในการพิจารณาว่างานใดมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 หรือไม่ จึงต้องอาศัยหลักเกณฑ์ทั่วไปนั้นด้วย
หนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วของโจทก์เป็นตำราเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 โดยวางรากฐานการเรียนการสอนเป็นขั้นตอนเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตรชั้นประถมศึกษา มีเนื้อหาสาระของตัวอย่างการคิดและวิเคราะห์ แบบทดสอบคิดเลขเร็ว และโจทก์ปัญหาในภาคผนวกเพื่อพัฒนาและเสริมสร้างทักษะในสายการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์โดยให้นักเรียนมีแนวการคิดและมีการวิเคราะห์หาคำตอบได้รวดเร็ว และดัดแปลงวิธีการคิดให้เป็นแนวทางของตนเองได้ ทั้งเป็นงานที่ทำให้เกิดความเข้าใจในการคิดเลข มีความสัมพันธ์กันตามลำดับความง่ายยากตามขั้นตอน จูงใจให้เกิดความสนุกสนานในการเรียนรู้และทำความเข้าใจเพื่อให้มีความสามารถในการคิดเลขได้รวดเร็วยิ่งขึ้น การที่โจทก์นำตัวเลขรูปภาพสัญลักษณ์ โจทก์ปัญหาและเครื่องหมายต่าง ๆ กันมาปรับใช้โดยมีวิธีการคิดตามลำดับเพื่อให้เข้ากับหลักสูตรและพัฒนาเสริมสร้างทักษะในการเรียนตามวัยของเด็กนักเรียนในลำดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6โดยอาศัยข้อมูลและประสบการณ์จากการใช้สอนในโรงเรียนมาเป็นเวลานานหลายปี เป็นการริเริ่มสร้างสรรค์งานของโจทก์เพื่อให้นักเรียนสามารถคิดคำนวณเลขได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ถือได้ว่าเป็นงานนิพนธ์ที่โจทก์ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยแสดงออกซึ่งการริเริ่มของโจทก์เองอันเป็นงานวรรณกรรมตามความหมายในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์สร้างสรรค์งานดังกล่าว หาใช่เป็นเพียงความคิด ขั้นตอนกรรมวิธี ระบบวิธีใช้หรือทำงาน แนวความคิด หลักการการค้นพบ หรือทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ อันไม่ได้รับความคุ้มครองแต่อย่างใดไม่ หนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วจึงเป็นงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์
แม้สัญญาจะระบุชื่อสัญญาว่า "หนังสือสัญญาขายลิขสิทธิ์"แต่มีข้อความในรายละเอียดกำหนดจำนวนตำราคณิตคิดเลขเร็วสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 ให้จำเลยที่ 1 พิมพ์ กำหนดเดือนและปีที่เริ่มจำหน่าย และการคิดเงินค่าลิขสิทธิ์ โจทก์มิได้ลงนามในฐานะผู้ขายและจำเลยที่ 1 มิได้ลงนามในฐานะผู้ซื้อเอกสารดังกล่าวจึงเป็นเพียงบันทึกข้อตกลงเท่านั้น จากการคิดค่าแห่งลิขสิทธิ์เป็นรายเล่มและกำหนดจำนวนพิมพ์ของหนังสือแต่ละเล่ม แสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ได้มีเจตนาที่จะซื้อขายสิทธิในการทำซ้ำงานมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ แต่เป็นกรณีที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิแต่ผู้เดียวของโจทก์ในการทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ได้ตามมาตรา 13(4) และ 14แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่ทำข้อตกลงดังกล่าวเท่านั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงมิใช่ข้อตกลงในการซื้อขายลิขสิทธิ์โดยโจทก์มีเจตนาโอนลิขสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 1 ตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ขอซื้อลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมทั้งหกเล่มของโจทก์และแนบสำเนาสัญญามาท้ายฟ้องซึ่งระบุว่าเป็นหนังสือสัญญาขายลิขสิทธิ์ก็ตาม ก็เป็นเพียงความเข้าใจคลาดเคลื่อนของโจทก์ โจทก์มีเจตนาที่แท้จริงเพียงอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิแต่ผู้เดียวของโจทก์ในการทำซ้ำงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์เท่านั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นเพียงสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์
แม้หนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วของโจทก์จะมีการปรับปรุงใหม่โดยโจทก์และนักวิชาการของจำเลยที่ 1 ในระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 แต่เป็นการปรับปรุงโดยเปลี่ยนรูปแบบปกหนังสือใหม่และจัดรูปแบบหนังสือโดยแยกคำเฉลยออกพิมพ์ต่างหาก ส่วนเนื้อหาของหนังสือยังเหมือนเดิม หนังสือที่ปรับปรุงใหม่จึงไม่ใช่เป็นงานสร้างสรรค์ที่โจทก์ได้สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่หรือดัดแปลงโดยปรับปรุงงานเดิมในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ แต่เป็นงานสร้างสรรค์หรืองานวรรณกรรมเดียวกันกับหนังสือฉบับเดิมนั่นเอง หนังสือที่ปรับปรุงใหม่จึงมิใช่เป็นงานที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ในฐานะที่เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1จึงไม่มีสิทธินำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ปรับปรุงใหม่ออกโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยพิมพ์ออกจำหน่ายในฐานะที่เป็นนายจ้างของโจทก์ได้ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 7
การได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์งานต้องเป็นไปตามเงื่อนไขตามที่ระบุไว้ในมาตรา 8 ด้วย
มาตรา 8 "ให้ผู้สร้างสรรค์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานที่ตนได้สร้างสรรค์ขึ้น ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่ยังไม่ได้มีการโฆษณางาน ผู้สร้างสรรค์ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยหรืออยู่ในราชอาณาจักรหรือเป็นผู้มีสัญชาติหรืออยู่ในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วยตลอดระยะเวลาหรือเป็นส่วนใหญ่ในการสร้างสรรค์งานนั้น
(2)ในกรณีที่ได้มีการโฆษณางานแล้ว การโฆษณางานนั้นในครั้งแรกได้กระทำขึ้นในราชอาณาจักร หรือในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย หรือในกรณีที่การโฆษณาครั้งแรกได้กระทำนอกราชอาณาจักร หรือในประเทศอื่นที่ไม่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย หากได้มีการโฆษณางานดังกล่าวในราชอาณาจักรหรือในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่ง ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วยภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้มีการโฆษณาครั้งแรก หรือผู้สร้างสรรค์เป็นผู้ มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ใน (1) ในขณะที่มีการโฆษณางานครั้งแรกในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย ถ้าผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล นิติบุคคลนั้นต้องเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย"
ซึ่งการโฆษณาอันเป็นเงื่อนไขการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ตามมาตรา 8 มีความหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะตามมาตรา 4 กล่าวคือ "การโฆษณา" หมายความว่า การนำสำเนาจำลองของงานไม่ว่าในรูปหรือ ลักษณะอย่างใดที่ทำขึ้นโดยความยินยอมของผู้สร้างสรรค์ออกจำหน่าย โดยสำเนาจำลองนั้นมีปรากฏต่อสาธารณชนเป็นจำนวนมากพอสมควรตามสภาพของงานนั้น แต่ทั้งนี้ไม่หมายความรวมถึง การแสดง หรือการทำให้ปรากฏซึ่งนาฏกรรม ดนตรีกรรม หรือภาพยนตร์ การบรรยาย หรือการปาฐกถา ซึ่งวรรณกรรม การแพร่เสียงแพร่ภาพเกี่ยวกับงานใด การนำศิลปกรรมออกแสดงและการก่อสร้าง งานสถาปัตยกรรม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9801/2555 น. เป็นผู้คิดค้นรูปแบบรายการโทรทัศน์ประเภทสปอร์ตเรียลลิตี้ “THE WINNER” ซึ่งเป็นรายการโทรทัศน์จัดประกวดและคัดเลือกนักฟุตบอลให้เป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อทำการเผยแพร่ออกอากาศทางโทรทัศน์ แม้รูปแบบรายการโทรทัศน์ดังกล่าวที่ น. คิดขึ้นในขณะนำมาเสนอกับจำเลยจะยังไม่มีการแสดงออกทางความคิดจนเกิดเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 แต่ต่อมาได้มีการจดทะเบียนตั้งบริษัทโจทก์โดยมี น. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจโจทก์ โจทก์และจำเลยตกลงร่วมกันผลิตรายการโทรทัศน์ดังกล่าวและได้ทำบันทึกข้อตกลงระหว่างกัน โดยจำเลยตกลงที่จะชำระค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ในการได้สิทธิผลิตและออกอากาศชุดรายการโทรทัศน์ดังกล่าว ข้อตกลงเกี่ยวกับการที่โจทก์อนุญาตให้สิทธิจำเลยผลิตรายการตามรูปแบบรายการดังกล่าวและนำไปออกอากาศจึงมีผลผูกพันและสามารถบังคับได้ตามกฎหมายระหว่างโจทก์และจำเลย
โจทก์แจ้งต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่าโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานโสตทัศนวัสดุ ชื่อ “THE WINNER” ก่อนที่โจทก์จะได้สร้างสรรค์งานดังกล่าวซึ่งขณะนั้นไม่มีงานลิขสิทธิ์เกิดขึ้น การแจ้งดังกล่าวจึงไม่ทำให้โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าว เพราะการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์นั้นจะต้องมีการสร้างสรรค์งานและเข้าเงื่อนไขตามที่บัญญัติไว้ตามกฎหมาย
โจทก์เป็นนิติบุคคลสัญชาติไทยเป็นผู้สร้างสรรค์งานโสตทัศนวัสดุเทปต้นฉบับรายการโทรทัศน์ “THE WINNER” ตอนที่ 1 ถึง 3 ก่อนที่จำเลยจะนำมาตัดต่อเพื่อออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ เป็นตอนที่ 1 ถึง 3 โจทก์จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานโสตทัศนวัสดุเทปต้นฉบับรายการโทรทัศน์ตอนที่ 1 ถึงที่ 3 ดังกล่าวตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 8 (2)
จำเลยได้มีการประชุมร่วมกับโจทก์และตกลงให้จำเลยตัดต่อเทปต้นฉบับเพื่อออกอากาศใหม่ ถือว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยทำการตัดต่อเทปตอนที่ 1 ถึง 3 ใหม่ตามการแสดงออกทางความคิดของจำเลยเพื่อออกอากาศ เป็นการที่โจทก์ยินยอมอนุญาตให้จำเลยดัดแปลงงานโสตทัศน์วัสดุเทปต้นฉบับรายการโทรทัศน์อันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยจึงมีลิขสิทธิ์ในงานโสตทัศนวัสดุเทปโทรทัศน์รายการโทรทัศน์ที่ดัดแปลงแล้วนำออกอากาศในตอนที่ 1 ถึง 3 ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 11 จำเลยนำเทปรายการโทรทัศน์ตอนที่ 1 ถึง 3 ที่จำเลยได้ออกอากาศมาตัดต่อใหม่เป็นเทปรายการโทรทัศน์ดังกล่าวตอนที่ 4 ถึง 6 เป็นการที่จำเลยดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของตนเอง จำเลยจึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานโสตทัศนวัสดุเทปรายการโทรทัศน์ ตอนที่ 4 ถึงที่ 6 ดังกล่าว
เทปรายการโทรทัศน์ตอนที่ 7 ถึง 27 เป็นเทปรายการโทรทัศน์ที่จำเลยสร้างสรรค์ขึ้นภายหลังที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยผลิตรายการโทรทัศน์ดังกล่าวตามบันทึกข้อตกลง โดยโจทก์ให้สิทธิจำเลยในการผลิตและออกอากาศชุดรายการโทรทัศน์ “THE WINNER” ที่โจทก์เป็นเจ้าของสิทธิในรูปแบบรายการดังกล่าว โดยไม่ปรากฎข้อตกลงอื่นเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานโสตทัศนวัสดุเทปรายการโทรทัศน์ ที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ผลิต จำเลยซึ่งเป็นผู้สร้างสรรค์งานโสตทัศนวัสดุเทปรายการโทรทัศน์ตอนที่ 7 ถึง 27 ดังกล่าวจึงเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าวตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 8 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7407/2553 โจทก์มีสัญชาติเยอรมัน แต่โจทก์ไม่บรรยายฟ้องว่าประเทศที่โจทก์ถือสัญชาติเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี หรือขณะสร้างสรรค์งานโจทก์อยู่ในราชอาณาจักรหรือประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วยตลอดระยะเวลาหรือเป็นส่วนใหญ่ในการสร้างสรรค์งาน หรืองานของโจทก์ได้มีการโฆษณางานในราชอาณาจักรหรือประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีแล้ว อันเป็นเงื่อนไขการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 8 คำฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 896/2534 ปรากฏตามเอกสารที่โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาทำขึ้นพร้อมคำแปลและอ้างเป็นพยานว่า พ. รองประธานกรรมการอาวุโสของโจทก์ยืนยันว่าได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ยืนยันว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์พิพาท ด. ที่ปรึกษาสมาคมลงชื่อรับรองลายมือชื่อของ พ.ว่าเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจให้มาลงนามของโจทก์ ร.โนตารีปับลิกมลรัฐนิวยอร์ก รับรองว่า พ. และ ด. ทำการปฏิญาณต่อหน้าตน น. เสมียนเคาน์ตี้และจ่าศาลของศาลซูพรีมคอร์ต แห่งมลรัฐนิวยอร์กประจำเคาน์ตี้ออฟนิวยอร์กรับรองว่า ร.เป็นโนตารีปับลิกประจำมลรัฐนิวยอร์กและเป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ย.กงศุลใหญ่ไทย ณ มลรัฐนิวยอร์กรับรองลายมือชื่อของ น. ดังนี้ จะเห็นได้ว่าเอกสารดังกล่าวมีการรับรองกันมาตามลำดับเนื้อความแห่งเอกสารนั้นย่อมมีอยู่จริง จึงนำมาฟังประกอบคำเบิกความของ ล. กรรมการบริษัท ซ. ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ได้ว่า ภาพยนตร์พิพาทเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ ทั้งบริษัท ซ. ได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้นำภาพยนตร์ของโจทก์มาทำวีดีโอเทปซ้ำเพื่อออกจำหน่ายแก่สมาชิกในประเทศไทยติดต่อกันมาได้ 3 ปีแล้ว โจทก์มอบอำนาจให้บริษัท ซ. ปกป้องลิขสิทธิ์และฟ้องร้องตามหนังสือมอบอำนาจ ย่อมแสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นผู้สร้างภาพยนตร์พิพาทขึ้นเอง ภาพยนตร์พิพาทจึงเป็นงานสร้างสรรค์ของโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีละเมิดลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์ของโจทก์ได้
ขณะเกิดเหตุประเทศสหรัฐอเมริกายังไม่ได้เข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมทำ ณ กรุงเบอร์น ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอยู่แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2474 โดยเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาดังกล่าวฉบับที่ทำ ณ กรุงเบอร์น เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1908 และสำเร็จบริบูรณ์ด้วยโปรโตคล เพิ่มเติม ลงนาม ณ กรุงเบอร์นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1914 แต่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ก็มิได้มีบทบัญญัติกีดกันงานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศที่มิได้เป็นภาคีในอนุสัญญาเบอร์น เพื่อไม่ให้ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งนี้โดยที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2526 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ ได้กำหนดเงื่อนไขการให้ความคุ้มครองแก่งานดังกล่าวไว้ในมาตรา 4 ว่า "งานอันมีลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้ (1)... ในกรณีที่ได้โฆษณาแล้ว การโฆษณาต้องกระทำเป็นครั้งแรกในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญา..." ด้วยเหตุนี้งานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศนอกภาคีอนุสัญญาเบอร์น อย่างเช่นงานของประเทศสหรัฐอเมริกาย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ หากได้กระทำการโฆษณาเป็นครั้งแรกในประเทศใดประเทศหนึ่งที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาเบอร์น เมื่อปรากฏว่าประเทศแคนาดาเป็นประเทศภาคีประเทศหนึ่งในอนุสัญญาดังกล่าว งานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศสหรัฐอเมริกาจึงอาจได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ งานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศสหรัฐอเมริกาจะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ก็ต่อเมื่อได้มีการโฆษณางานนั้นตามความหมายของเงื่อนไขการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย ฉะนั้น การทำให้ปรากฏซึ่งภาพยนตร์โดยการนำออกฉายเป็นครั้งแรกในประเทศแคนาดาแม้จะถือเป็นการโฆษณา แต่ก็มิใช่การโฆษณางานในความหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯและมาตรา 4(1) แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว หากแต่เป็นเพียงการโฆษณาในความหมายของคำว่า "โฆษณา" ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ซึ่งใช้เฉพาะในกรณีที่ต้องการทราบความหมายของการนำออกโฆษณาอันเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวประการหนึ่งของเจ้าของลิขสิทธิ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13(2) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวและในกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์โดยการโฆษณาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันเท่านั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงเพียงว่า โจทก์นำภาพยนตร์พิพาททั้งสองเรื่องไปฉายโฆษณาเป็นครั้งแรกในประเทศแคนาดาเท่านั้น หาได้ปรากฏว่าโจทก์ได้นำก๊อปปี้ฟิล์มภาพยนตร์พิพาทอันเป็นสำเนาจำลองออกจำหน่ายโดยให้ก๊อปปี้ฟิล์มภาพยนตร์นั้นมีปรากฏต่อสาธารณชนเป็นจำนวนมากพอสมควรแต่อย่างใดไม่ งานภาพยนตร์ของโจทก์จึงไม่อาจได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ ได้.
อายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์
มาตรา 19 "ภายใต้บังคับมาตรา 21 และมาตรา 22 ลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ให้มีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และมีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลาห้าสิบปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตายในกรณีที่มีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าวให้มีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ร่วม และมีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลาห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย
ถ้าผู้สร้างสรรค์หรือผู้สร้างสรรค์ร่วมทุกคนถึงแก่ความตายก่อนที่ได้มีการโฆษณางานนั้น ให้ลิขสิทธิ์ดังกล่าวมีอายุห้าสิบปี นับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก
ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้น ในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก"
มาตรา 20 "งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยผู้สร้างสรรค์ใช้ นามแฝงหรือไม่ปรากฏชื่อผู้สร้างสรรค์ ให้ลิขสิทธิ์มีอายุ ห้าสิบปีนับแต่ได้สร้างงานนั้นขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปี นับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก
ในกรณีที่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ให้นำมาตรา 19 มาใช้บังคับโดยอนุโลม"
มาตรา 21 "ลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียงหรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพให้มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก"
มาตรา 22 "ลิขสิทธิ์ในงานศิลปประยุกต์ให้มีอายุยี่สิบห้าปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้นแต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวให้ลิขสิทธิ์มีอายุยี่สิบห้าปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก"
มาตรา 23 "ลิขสิทธิ์ในงานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการจ้างหรือตามคำสั่งหรือในความควบคุมตาม มาตรา 14 ให้มีอายุห้าสิบปีนับแต่ ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้นแต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก"
มาตรา 24 "การโฆษณางานตามมาตรา 19 มาตรา 20 มาตรา 21 มาตรา 22 หรือมาตรา 23 อันเป็นการเริ่มนับอายุ แห่งการ คุ้มครองลิขสิทธิ์ หมายความถึง การนำงานออกทำการโฆษณาโดยความยินยอมของเจ้าของลิขสิทธิ์"
การละเมิดลิขสิทธิ์
มาตรา 27 "การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 (5) ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
(1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง
(2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน"
มาตรา 28 "การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ หรือสิ่งบันทึกเสียง อันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 15 (5) ทั้งนี้ ไม่ว่าในส่วนที่เป็นเสียง และหรือภาพ ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
(1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง
(2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน
(3) ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าว
มาตรา 28/1 "การทำซ้ำโดยการบันทึกเสียงหรือภาพหรือทั้งเสียงและภาพจากภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ ในโรงภาพยนตร์ตามกฎหมายว่าด้วยภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 (5) ในระหว่างการฉายในโรงภาพยนตร์ ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และมิให้นำมาตรา 32 วรรคสอง (2) มาใช้บังคับ"
มาตรา 29 "การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานแพร่เสียงแพร่ภาพอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 (5) ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
(1) จัดทำโสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง หรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
(2) แพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
(3) จัดให้ประชาชนฟังและหรือชมงานแพร่เสียงแพร่ภาพ โดยเรียกเก็บเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นในทางการค้า"
มาตรา 30 "การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่โปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ตามพระราช-บัญญัตินี้ โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 (5) ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
(1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง
(2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน
(3) ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าว"
มาตรา 31 "ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานนั้นเพื่อหากำไร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดัง ต่อไปนี้
(1) ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า ให้เช่าซื้อ หรือเสนอให้เช่าซื้อ
(2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน
(3) แจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์
(4) นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร"
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2660/2559 องค์ประกอบของความผิดในส่วนการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) (2) คือการกระทำซ้ำหรือดัดแปลงเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์อันเป็นการกระทำเพื่อการค้า โดยองค์ประกอบในส่วนของงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นนั้นต้องเป็นงานสร้างสรรค์ที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครอง โดยได้มาตามเงื่อนไขของกฎหมาย และต้องอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ด้วย เพราะลิขสิทธิ์เป็นสิทธิที่มีจำกัดเวลาให้ได้รับความคุ้มครองอยู่ภายในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น หลังจากพ้นกำหนดอายุการคุ้มครองแล้วงานอันมีลิขสิทธิ์จะตกเป็นสมบัติสาธารณะที่สาธารณชนสามารถใช้ประโยชน์จากงานนั้นได้ ดังนี้ ในส่วนขององค์ประกอบของความผิดที่ว่างานอันมีลิขสิทธิ์ต้องอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายนั้นจึงเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานนี้ที่เป็นสาระสำคัญ
แม้งานออกแบบและแบบร่างชุดกระโปรงจะเป็นงานจิตรกรรม แต่เมื่อโจทก์ทั้งสามนำไปใช้ประโยชน์ทางการค้า อันเป็นประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานจิตรกรรมแล้ว งานของโจทก์ทั้งสามจึงเป็นงานศิลปประยุกต์ ตามบทบัญญัติมาตรา 4 วรรคหก (7) แห่งพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ซึ่งมีลักษณะงานและอายุแห่งการคุ้มครองแตกต่างไปจากงานจิตรกรรม ตามบทบัญญัติมาตรา 4 วรรคหก (1) การที่จะรู้ว่างานดังกล่าวอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์หรือไม่ ก็ต้องเป็นไปตามมาตรา 22 ซึ่งบัญญัติว่า ลิขสิทธิ์ในงานศิลปประยุกต์ให้มีอายุยี่สิบห้าปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น แต่ถ้าได้โฆษณางานในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุยี่สิบห้าปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก ดังนี้เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามได้สร้างสรรค์งานดังกล่าวเมื่อใด หรือมีการโฆษณางานหรือไม่ หากมีการโฆษณางาน โจทก์ทั้งสามได้มีการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อใด คำฟ้องของโจทก์ทั้งสามจึงไม่มีข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่าลิขสิทธิ์ดังกล่าวอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 จึงเป็นคำฟ้องที่มิได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิดให้ครบองค์ประกอบของความผิดตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) (2) ไม่ชอบด้วยพ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2659/2559 โจทก์บรรยายฟ้องความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าแต่เพียงว่า จำเลยทั้งสามละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทงานดนตรีกรรม งานบันทึกเสียงและงานโสตทัศนวัสดุของผู้เสียหาย โดยนำแผ่นซีดีที่บันทึกเนื้อร้อง ทำนองเพลง และภาพคาราโอเกะ ซึ่งได้มีผู้ทำซ้ำหรือดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน โดยจำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วว่าการเผยแพร่งานดังกล่าวของผู้เสียหายต่อสาธารณชนเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานดังกล่าวได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ฟ้องของโจทก์ในความผิดดังกล่าวจึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10579/2551 โจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฯ มาตรา 31 โดยโจทก์บรรยายฟ้องเพียงแต่ว่าจำเลยเปิดแผ่นเอ็มพี 3 และซีดีเพลงให้ลูกค้าในร้านอาหารของจำเลยได้ร้องและฟังเพลงของผู้เสียหายจำนวน 1 เพลง เพียง "เพื่อประโยชน์ในทางการค้า" ขายอาหารและเครื่องดื่มของจำเลย ซึ่งความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวต้องเป็นการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น "เพื่อหากำไร" เท่านั้นแต่ตามคำบรรยายฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าได้ร้องและฟังเพลง โดยเรียกเก็บค่าตอบแทนจากลูกค้าในการเปิดเพลงดังกล่าวหรือเรียกเก็บรวมไปกับค่าอาหารและเครื่องดื่มแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฯ มาตรา 31 เพราะไม่ครบองค์ประกอบความผิดของบทมาตราดังกล่าวซึ่งต้องเป็นการกระทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการละเมิดลิขสิทธิ์นั้นด้วย ดังนั้น แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 185
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8220/2553 ความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ต้องเป็นการเผยแพร่งานนั้นต่อสาธารณชน "เพื่อหากำไร" ซึ่งหมายความว่า กำไรนั้นหากจำเลยได้มาหรือจะได้มาจะต้องเกิดจากการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น แต่ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมานั้นได้ความว่า จำเลยประกอบกิจการค้าขายอาหารตามสั่งและเครื่องดื่มจำเลยเปิดแผ่นวีซีดีเพลง "กำลังใจที่เธอไม่รู้" อันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ซึ่งได้มีผู้ทำขึ้นหรือดัดแปลงขึ้นให้ลูกค้าในร้านอาหารของจำเลยได้ฟัง ไม่ปรากฏว่าจำเลยเปิดเพลงดังกล่าวเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าได้ฟังเพลงโดยการเรียกเก็บค่าตอบแทนจากลูกค้าในการเปิดเพลงดังกล่าว หรือเรียกเก็บเพิ่มรวมไปกับค่าอาหารและเครื่องดื่มแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง เพราะไม่ครบองค์ประกอบความผิดของบทมาตราดังกล่าวซึ่งต้องเป็นการกระทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการละเมิดลิขสิทธิ์ แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10377/2555 การละเมิดลิขสิทธิ์โดยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานดนตรีกรรมหรือโสตทัศนวัสดุหรือสิ่งบันทึกเสียงตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 และมาตรา 28 ต้องเป็นการกระทำโดยตรงแก่งานที่มีลิขสิทธิ์โดยชอบเท่านั้น ไม่รวมถึงการกระทำโดยใช้งานที่มีการทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์มาก่อน โดยกรณีการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่มีการทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์นั้น กฎหมายบัญญัติแยกลักษณะการกระทำที่จะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ไว้ต่างหากในมาตรา 31 การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์กับการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นมาแล้วจึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ที่แตกต่างกัน
ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยนำเอาแผ่นซีดีเพลงซึ่งมีผู้ทำซ้ำขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายมาเปิดเผยแพร่เสียงต่อสาธารณชนภายในร้านข้าวต้มของจำเลย โดยจำเลยรู้ว่าแผ่นดังกล่าวเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย การกระทำดังกล่าวมิใช่การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 และมาตรา 28 แต่กลับเป็นข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำแก่งานที่บุคคลอื่นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายมาก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายฟ้องจึงไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานดนตรีกรรมและสิ่งบันทึกเสียงอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยตรงตามมาตรา 27 (2) และมาตรา 28 (2) ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 69 ไม่ว่าจะเป็นวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษได้
ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์
มาตรา 32 "การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ หากไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงาน อันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร มิให้ถือว่า เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ภายใต้บังคับบทบัญญัติในวรรคหนึ่ง การกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามวรรคหนึ่ง มิให้ถือว่าเป็น การละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
(1) วิจัยหรือศึกษางานนั้น อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร
(2) ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่นในครอบครัวหรือญาติสนิท
(3) ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น
(4) เสนอรายงานข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น
(5) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของศาลหรือเจ้าพนักงาน ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หรือในการรายงานผลการพิจารณาดังกล่าว
(6) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏ โดยผู้สอนเพื่อประโยชน์ ในการสอนของตน อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร
(7) ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนของงาน หรือตัดทอน หรือทำบทสรุปโดยผู้สอน หรือสถาบันศึกษา เพื่อแจกจ่ายหรือจำหน่ายแก่ผู้เรียนในชั้นเรียนหรือในสถาบันศึกษา ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการกระทำเพื่อหากำไร
(8) นำงานนั้นมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการถามและตอบในการสอบ
(9) ทำซ้ำ หรือดัดแปลง เพื่อประโยชน์ของคนพิการที่ไม่สามารถเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์อันเนื่องมาจากความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน สติปัญญา หรือการเรียนรู้ หรือความบกพร่องอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยต้องไม่เป็นการกระทำเพื่อหากำไร ทั้งนี้ รูปแบบของการทำซ้ำหรือดัดแปลงตามความจำเป็นของคนพิการ และองค์กรผู้จัดทำ รวมทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการเพื่อทำซ้ำหรือดัดแปลงให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา"
มาตรา 32/1 "การจำหน่ายต้นฉบับหรือสำเนางานอันมีลิขสิทธิ์โดยผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในต้นฉบับหรือสำเนางานอันมีลิขสิทธิ์นั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์"
มาตรา 32/2 "การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ที่ทำหรือได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายในระบบคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะเป็นการทำซ้ำที่จำเป็นต้องมีสำหรับการนำสำเนามาใช้เพื่อให้อุปกรณ์ที่ใช้ในระบบคอมพิวเตอร์ หรือกระบวนการส่งงานอันมีลิขสิทธิ์ทางระบบคอมพิวเตอร์ทำงานได้ตามปกติ มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์"
มาตรา 33 "การกล่าว คัด ลอก เลียน หรืออ้างอิงงานบางตอนตามสมควรจากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยมีการรับรู้ถึง ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้ปฏิบัติตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง"
มาตรา 34 "การทำซ้ำโดยบรรณารักษ์ของห้องสมุดซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หากการทำซ้ำนั้นมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหากำไร และได้ปฏิบัติตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) การทำซ้ำเพื่อใช้ในห้องสมุดหรือให้แก่ห้องสมุดอื่น
(2) การทำซ้ำงานบางตอนตามสมควรให้แก่บุคคลอื่น เพื่อประโยชน์ในการ วิจัยหรือการศึกษา"
มาตรา 35 "การกระทำแก่โปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หากไม่มีวัตถุประสงค์ เพื่อหากำไรและได้ปฏิบัติตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) วิจัยหรือศึกษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์
(2) ใช้เพื่อประโยชน์ของเจ้าของสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น
(3) ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น
(4) เสนอรายงานข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น
(5) ทำสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในจำนวนที่สมควร โดยบุคคลผู้ซึ่งได้ซื้อหรือได้รับโปรแกรมนั้นมาจาก บุคคลอื่นโดยถูกต้อง เพื่อเก็บไว้ใช้ประโยชน์ในการบำรุงรักษา หรือป้องกันการสูญหาย
(6) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของศาลหรือเจ้าพนักงาน ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หรือในการรายงานผลการพิจารณาดังกล่าว
(7) นำโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการถามและตอบในการสอบ
(8) ดัดแปลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในกรณีที่จำเป็นแก่การใช้
(9) จัดทำสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อเก็บรักษาไว้สำหรับการอ้างอิงหรือค้นคว้าเพื่อประโยชน์ ของสาธารณชน"
มาตรา 36 "การนำงานนาฏกรรม หรือดนตรีกรรม ออกแสดงเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชนตามความเหมาะสมโดยมิได้จัดทำขึ้น หรือดำเนินการ เพื่อหากำไรเนื่องจากการจัดให้มีการเผยแพร่ต่อ สาธารณชนนั้น และมิได้จัดเก็บค่าเข้าชมไม่ว่าโดยทางตรง หรือโดยทางอ้อม และนักแสดงไม่ได้รับค่าตอบแทนในการแสดงนั้น มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หากเป็นการดำเนินการโดยสมาคม มูลนิธิ หรือองค์การอื่นที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อการสาธารณกุศล การศึกษา การศาสนา หรือการสังคมสงเคราะห์ และได้ปฏิบัติตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง"
มาตรา 37 "การวาดเขียน การเขียนระบายสี การก่อสร้าง การแกะลายเส้น การปั้น การ แกะสลัก การพิมพ์ภาพ การถ่ายภาพ การถ่ายภาพยนตร์ การแพร่ภาพ หรือการ กระทำใดๆ ทำนอง เดียวกันนี้ซึ่งศิลปกรรมใดอันตั้งเปิดเผยประจำอยู่ในที่สาธารณะ นอกจากงานสถาปัตยกรรม มิให้ถือว่า เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมนั้น"
มาตรา 38 "การวาดเขียน การเขียนระบายสี การแกะลายเส้น การปั้น การแกะสลัก การ พิมพ์ภาพ การถ่ายภาพ การถ่ายภาพยนตร์หรือ การแพร่ภาพซึ่งงานสถาปัตยกรรมใด มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสถาปัตยกรรมนั้น"
มาตรา 39 "การถ่ายภาพหรือการถ่ายภาพยนตร์หรือการแพร่ภาพซึ่งงานใดๆ อันมีศิลปกรรมใด รวมอยู่เป็นส่วนประกอบด้วย มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในศิลปกรรมนั้น"
มาตรา 40 "ในกรณีที่ลิขสิทธิ์ในศิลปกรรมใดมีบุคคลอื่นนอกจากผู้สร้างสรรค์เป็นเจ้าของอยู่ด้วยการที่ผู้สร้างสรรค์คนเดียวกันได้ทำ ศิลปกรรมนั้นอีกในภายหลังในลักษณะที่เป็นการทำซ้ำบางส่วนกับศิลปกรรมเดิม หรือใช้แบบพิมพ์ ภาพร่าง แผนผัง แบบจำลอง หรือข้อมูล ที่ได้จากการศึกษาที่ใช้ในการทำศิลปกรรมเดิม ถ้าปรากฏว่าผู้สร้างสรรค์มิได้ทำซ้ำหรือลอกแบบในส่วนอันเป็น สาระสำคัญของศิลปกรรมเดิม มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในศิลปกรรมนั้น"
มาตรา 41 "อาคารใดเป็นงานสถาปัตยกรรมอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ การบูรณะอาคารนั้นในรูปแบบเดิม มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์"
มาตรา 42 "ในกรณีที่อายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์ใดสิ้นสุดลงแล้ว มิให้ถือว่าการนำภาพยนตร์นั้นเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ สิ่งบันทึกเสียงหรืองานที่ใช้จัดทำภาพยนตร์นั้น"
มาตรา 43 "การทำซ้ำ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการโดยเจ้าพนักงาน ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายหรือตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ดังกล่าวซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ และที่อยู่ในความครอบครองของทางราชการ มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้ปฏิบัติตาม มาตรา 32 วรรคหนึ่ง"
สิทธิของนักแสดง
มาตรา 44 "นักแสดงย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการกระทำอันเกี่ยวกับการแสดงของตน ดัง ต่อไปนี้
(1) แพร่เสียงแพร่ภาพ หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งการแสดง เว้นแต่จะเป็นการแพร่เสียงแพร่ภาพหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนจากสิ่งบันทึกการแสดงที่มีการบันทึกไว้แล้ว
(2) บันทึกการแสดงที่ยังไม่มีการบันทึกไว้แล้ว
(3) ทำซ้ำซึ่งสิ่งบันทึกการแสดงที่มีผู้บันทึกไว้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนักแสดงหรือสิ่งบันทึกการแสดง ที่ได้รับอนุญาตเพื่อวัตถุประสงค์อื่น หรือสิ่งบันทึกการแสดงที่เข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ของนักแสดงตามมาตรา 53"
มาตรา 45 "ผู้ใดนำสิ่งบันทึกเสียงการแสดงซึ่งได้นำออกเผยแพร่เพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้าแล้ว หรือนำสำเนาของงานนั้นไปแพร่เสียงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยตรง ให้ผู้นั้นจ่ายค่าตอบแทนที่เป็นธรรมแก่นักแสดง ในกรณีที่ตกลงค่าตอบแทนไม่ได้ ให้อธิบดีเป็นผู้มีคำสั่งกำหนดค่าตอบแทน ทั้งนี้ โดยให้คำนึงถึงอัตราค่าตอบแทนปกติในธุรกิจประเภทนั้น
คำสั่งของอธิบดีตามวรรคหนึ่ง คู่กรณีอาจอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของอธิบดี คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด"
มาตรา 46 "ในกรณีที่การแสดงหรือการบันทึกเสียงการแสดงใดมีนักแสดงมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป นักแสดงเหล่านั้นอาจแต่งตั้งตัวแทนร่วมเพื่อดูแลหรือบริหารเกี่ยวกับสิทธิของตนได้"
มาตรา 47 "ให้นักแสดงมีสิทธิในการแสดงตามมาตรา 44 หากเป็นไปตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(1) นักแสดงนั้นมีสัญชาติไทยหรือมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร หรือ
(2) การแสดงหรือส่วนใหญ่ของการแสดงนั้นเกิดขึ้นในราชอาณาจักร หรือในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของนักแสดงซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย"
มาตรา 48 "ให้นักแสดงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนตามมาตรา 45 หากเป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) นักแสดงมีสัญชาติไทยหรือมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ในขณะที่มีการบันทึกเสียงการแสดงนั้น หรือในขณะที่เรียกร้องสิทธิ หรือ
(2) การบันทึกเสียงการแสดงหรือส่วนใหญ่ของการบันทึกเสียงการแสดงนั้นเกิดขึ้นในราชอาณาจักร หรือในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครอง สิทธิของนักแสดงซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย"
มาตรา 49 "สิทธิของนักแสดงตามมาตรา 44 ให้มีอายุห้าสิบปีนับแต่วันสิ้นปีปฏิทินของปีที่มีการแสดง ในกรณีที่มีการบันทึกการแสดงให้มีอายุห้าสิบปีนับแต่วันสิ้นปีปฏิทินของปีที่มีการบันทึกการแสดง"
มาตรา 50 "สิทธิของนักแสดงตามมาตรา 45 ให้มีอายุห้าสิบปีนับแต่วันสิ้นปีปฏิทินของปีที่ได้มีการบันทึกการแสดง"
มาตรา 51 "สิทธิของนักแสดงตามมาตรา 44 และมาตรา 45 ย่อมโอนให้แก่กันได้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน และจะโอนให้โดยมีกำหนดเวลาหรือตลอดอายุแห่งการคุ้มครอง ก็ได้
ในกรณีที่มีนักแสดงมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป นักแสดงมีสิทธิโอนเฉพาะสิทธิส่วนที่เป็นของตนเท่านั้น
การโอนโดยทางอื่นนอกจากทางมรดกต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอน ถ้าไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ในสัญญาโอน ให้ถือว่าเป็นการโอนมีกำหนดระยะเวลาสามปี"
มาตรา 51/1 "นักแสดงย่อมมีสิทธิที่จะแสดงว่า ตนเป็นนักแสดงในการแสดงของตน และมีสิทธิห้ามผู้รับโอนสิทธิของนักแสดงหรือบุคคลอื่นใดบิดเบือน ตัดทอน ดัดแปลง หรือทำโดยประการอื่นใดแก่การแสดงนั้นจนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง หรือเกียรติคุณของนักแสดง และเมื่อนักแสดงถึงแก่ความตาย ทายาทของนักแสดงมีสิทธิฟ้องร้องบังคับตามสิทธิดังกล่าวได้ตลอดอายุแห่งการคุ้มครองสิทธิของนักแสดง ทั้งนี้ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นเป็นลายลักษณ์อักษร"
มาตรา 52 "ผู้ใดกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 44 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนักแสดงหรือไม่จ่ายค่าตอบแทนตามมาตรา 45 ให้ถือว่าผู้นั้นละเมิดสิทธิของนักแสดง"
มาตรา 53 "ให้นำมาตรา 32 มาตรา 32/2 มาตรา 32/3 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 42 และมาตรา 43 มาใช้บังคับแก่สิทธิของนักแสดงโดยอนุโลม"
งานอันไม่มีลิขสิทธิ์
สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือตอบโต้ของ กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่นจัดทำขึ้น (มาตรา 7 แห่ง พรบ.ลิขสิทธิ์ฯ)