02 มีนาคม 2561

ความผิดฐานกระทำอนาจาร

               มาตรา 278  "ผู้ใดกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยบุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้บุคคลนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

               (1) การกระทำอนาจาร คือ การกระทำที่ไม่สมควรในทางเพศต่อร่างกายของผู้อื่น
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4024/2534  การกระทำอนาจารคือการกระทำที่ไม่สมควรในทางเพศ เพียงแต่กอดจูบลูบคลำ แตะต้องเนื้อตัวร่างกายในทางไม่สมควรก็เป็นความผิดสำเร็จแล้วส่วนการกระทำชำเราจะเป็นความผิดสำเร็จเมื่อใช้อวัยวะเพศของชายบังคับใส่ล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศของหญิง การกระทำชำเราจึงรวมถึงการกระทำอนาจารอยู่ในตัว โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน 13 ปีโดยผู้เสียหายไม่ยินยอม ขอให้ลงโทษฐานกระทำชำเรา ย่อมหมายความว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยฐานกระทำอนาจารอยู่ด้วยในตัวแม้ไม่ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 ฐานกระทำอนาจารถ้าพิจารณาได้ความว่าจำเลยได้กอดจูบลูบคลำผู้เสียหาย ก็ย่อมลงโทษฐานกระทำอนาจารซึ่งมีโทษเบากว่าได้ ไม่เกินคำขอ.
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2049/2550  การกระทำอนาจาร คือ การกระทำที่ไม่สมควรในทางเพศ เพียงแต่กอดจูบลูบคลำ แตะต้องเนื้อตัวร่างกายในทางไม่สมควรก็เป็นการอนาจารแล้ว ส่วนการกระทำชำเรานั้นเป็นการกระทำถึงขั้นใช้อวัยวะเพศของชายใส่ล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศของหญิง การกระทำชำเราจึงรวมถึงการกระทำอนาจารอยู่ในตัว เมื่อจำเลยพรากเด็กหญิง อ. ไปเพื่อกระทำชำเราเด็กหญิง อ. การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพรากไปเพื่อการอนาจาร อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม และเป็นความผิดคนละกรรมกับความผิดฐานกระทำชำเรา

               การกระทำต่อเนื้อตัวบุคคลที่ไม่สมควรทางเพศ รวมถึงการกระทำให้อับอายขายหน้าในทางเพศด้วย
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4836/2547  คำว่า "อนาจาร" มีความหมายว่าเป็นการกระทำต่อเนื้อตัวบุคคลที่ไม่สมควรทางเพศซึ่งมิได้หมายความเฉพาะการประเวณีหรือความใคร่เท่านั้น แต่รวมถึงการกระทำให้อับอายขายหน้าในทางเพศด้วย การที่จำเลยกอดเอวโจทก์ร่วม จับมือและดึงแขนโจทก์ร่วมเช่นนั้นจึงเป็นการกระทำอนาจารแก่โจทก์ร่วมโดยใช้กำลังประทุษร้าย เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 278 แม้บางตอนจำเลยจะได้กระทำขณะอยู่ในรถยนต์กระบะแต่การที่จำเลยจับมือและดึงแขนโจทก์ร่วมให้เข้าไปในห้องพักของโรงแรมขณะอยู่ต่อหน้าพนักงานโรงแรมเช่นนั้นเป็นการกระทำโดยเปิดเผยในที่ซึ่งอาจมีคนเห็นได้ แม้ไม่มีผู้ใดเห็นในขณะกระทำนั้นก็เป็นธารกำนัลแล้ว เพราะการกระทำต่อหน้าธารกำนัลมิได้หมายความเฉพาะแต่กระทำโดยประการที่ให้บุคคลอื่นได้เห็นโดยแท้จริงเท่านั้น เพียงแต่กระทำในลักษณะที่เปิดเผยให้บุคคลอื่นสามารถเห็นได้ก็เป็นต่อหน้าธารกำนัลแล้ว ดังนั้น เมื่อจำเลยกระทำอนาจารแก่โจทก์ร่วมโดยใช้กำลังประทุษร้ายต่อหน้าธารกำนัล จึงเป็นความผิดที่มิใช่ความผิดอันยอมความได้

               (2) การกระทำอนาจารตามมาตรา 278 ต้องกระทำโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยบุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้บุคคลนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 501/2503  จำเลยจับมือและกอดเด็กหญิงผู้เสียหายอายุ 14 ปีถือได้ว่าเป็นการใช้แรงกายภาพ ซึ่งเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายตามความหมายใน มาตรา 1(6) แล้ว การกระทำของจำเลยดังกล่าว เป็นความผิดฐานกระทำอนาจารตาม มาตรา 278

               (3) ผู้ถูกกระทำจะเป็นชายหรือหญิงก็ได้ แต่จะเป็นความผิดตามมาตรา 278 นี้ต้องมีอายุเกินกว่า 15 ปี ถ้าผู้ถูกกระทำอายุยังไม่เกิน 15 ปี ก็เป็นความผิดตามมาตรา 279 (อนาจารเด็ก)
               มาตรา 279  "ผู้ใดกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
               ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก ผู้กระทำได้กระทำโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยเด็กนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้เด็กนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบห้าปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

               (4) ผู้กระทำต้องมีเจตนาตามมาตรา 59

               (5) ถ้าการกระทำอนาจารเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย ผู้กระทำความผิดก็ต้องรับโทษหนักขึ้นตามมาตรา 280

               (6) การกระทำความผิดตามมาตรา 278 นั้น ถ้ามิได้เกิดต่อหน้าธารกำนัล ไม่เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย หรือมิได้เป็นการกระทำแก่บุคคลดังระบุไว้ในมาตรา 285 เป็นความผิดอันยอมความได้ (มาตรา 281)

               บุคคลตามมาตรา 285 ได้แก่
               ก. ผู้สืบสันดาน
               ข. ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแล
               ค. ผู้อยู่ในความควบคุมตามหน้าที่ราชการหรือ
               ง. ผู้อยู่ในความปกครอง ในความพิทักษ์หรือในความอนุบาล

               ต่อหน้าธารกำนัล คือ กระทำในลักษณะที่เปิดเผยให้ผู้อื่นสามารถเห็นการกระทำของตนได้
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1279/2506  จำเลยกระทำอนาจารต่อหน้าธารกำนัล ซึ่งเป็นความผิดอันไม่อาจยอมความได้นั้น แม้ไม่มีการร้องทุกข์ เจ้าพนักงานก็ดำเนินคดีแก่จำเลยได้
               จำเลยจับนมผู้เสียหายในรถประจำทางซึ่งมีคนโดยสารแน่นนั้น เป็นการกระทำต่อหน้าธารกำนัล แม้มิได้มีพยานรู้เห็นการกระทำของจำเลยมาเบิกความในชั้นศาล
               การที่จำเลยจับนมผู้เสียหายโดยไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายได้อนุญาตยินยอมนั้น เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายตามมาตรา 278 แล้ว
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4593/2553  จำเลยกระทำอนาจารจับหน้าอกผู้เสียหายในร้านอาหารซึ่งมีลูกค้านั่งรับประทานอาหารอยู่ที่โต๊ะอื่นด้วย และมี น. พนักงานร้านอาหารนั้นเห็นจำเลยจับหน้าอกผู้เสียหายขณะ น. เสิร์ฟอาหารอยู่โต๊ะอื่น จึงเป็นการกระทำต่อหน้าธารกำนัล และมิใช่ความผิดฐานกระทำอนาจารที่จะยอมความได้ ตาม ป.อ. มาตรา 281 ประกอบมาตรา 278 แม้ผู้เสียหายแถลงไม่ติดใจเอาความแก่จำเลยแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ก็ยังไม่ระงับไป ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

               กรณีที่ไม่ใช่กระทำต่อหน้าธารกำนัล
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1173/2508 (ประชุมใหญ่)  จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายต่อหน้าเด็กหญิงคนหนึ่งในห้องนอนมืดเพียงแต่เหตุเกิดต่อหน้าเด็กหญิงเท่านั้น และโจทก์มิได้ยืนยันโต้แย้งว่าจำเลยได้กระทำโดยประการที่ให้เด็กหญิงได้เห็นการกระทำของจำเลย หรือว่าจำเลยได้กระทำในลักษณะที่เปิดเผยให้บุคคลอื่นสามารถเห็นการกระทำของจำเลยได้ ดังนี้ พฤติการณ์แห่งคดีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดต่อหน้าธารกำนัล หากผู้เสียหายได้แถลงต่อศาลไม่ติดใจเอาความจากจำเลย ขอถอนคำร้องทุกข์ ศาลก็ต้องสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 16/2508)
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 493/2528  จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายขณะที่ผู้เสียหายนอนอยู่กับบุตร 2 คน ไม่ปรากฏว่าบุตรของผู้เสียหายคนใดเห็นการกระทำของจำเลย ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดต่อหน้าธารกำนัล การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก จึงเป็นความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 281