เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย"
มาตรฐานตามมาตรา 227 นี้ ถือเป็นมาตรฐานขั้นต่ำในทางระบบกฎหมายสากล เรียกว่ามาตรฐานนี้ว่า proof beyond reasonable doubt คือ โจทก์ต้องนำสืบให้เห็นโดยปราศจากเหตุอันควรสงสัย ***
เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14822/2558 สำหรับความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์นั้น แม้ขณะเกิดเหตุจะฟังได้ว่า พวกของจำเลยเป็นผู้ยกเอาเก้าอี้ของโจทก์ไปโดยความรู้เห็นของจำเลยก็ตาม แต่พวกของจำเลยนำเก้าอี้ไปตั้งวางไว้ที่บริเวณหลังร้านของโจทก์ในระยะห่างจากจุดเดิมเพียงไม่กี่เมตร โดยจำเลยต่อสู้ว่านำเก้าอี้ไปใช้นั่งพูดคุยกันซึ่งก็มีเหตุผลควรแก่การรับฟัง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยสั่งการให้ขนเคลื่อนย้ายเก้าอี้ไปไว้ในบ้านจำเลยหรือนำเก้าอี้ไปทำประโยชน์อื่นใด ดังนั้นการที่จำเลยไม่ยอมคืนเก้าอี้ให้แก่โจทก์ในตอนแรกจึงเป็นเพียงพฤติการณ์ที่เกะกะระรานสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่โจทก์มากกว่าจะเป็นการเอาเก้าอี้ไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับจำเลยหรือพวกของจำเลย คดียังมีเหตุอันควรสงสัยรับฟังไม่ได้แน่ชัดว่า จำเลยกับพวกเอาเก้าอี้ของโจทก์ไปโดยทุจริตหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง จึงไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12563/2558 แม้ในชั้นสอบสวนทั้ง ธ. และ อ. จะให้การต่อพันตำรวจตรี ส. พนักงานสอบสวนว่า จำเลยกับ พ. ร่วมกันลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมาขายให้ ธ. 2 คัน และยังร่วมกันลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมาขายให้ อ. อีก 1 คัน แต่ในชั้นพิจารณาทั้ง ธ. และ อ. ไม่ได้มาเบิกความยืนยันการกระทำผิดของจำเลย เพื่อให้จำเลยมีโอกาสถามค้านเพื่ออธิบายข้อเท็จจริง ย่อมทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ทั้งปรากฏจากคำให้การชั้นสอบสวนของ ธ. ว่า ก่อนรับซื้อรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน รตจ กรุงเทพมหานคร 284 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2551 พ. ได้โทรศัพท์มาติดต่อขายรถจักรยานยนต์ให้โดยอ้างว่าเป็นสิทธิพิเศษของตนที่มีสิทธิซื้อในราคาเริ่มเปิดประมูล แต่ต้องการขายสิทธิดังกล่าว ต่อมาวันที่ 2 กันยายน 2551 พ. ขับรถกระบะของผู้เสียหายบรรทุกรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้า หมายเลขทะเบียน รษต กรุงเทพมหานคร 653 มาขายให้อีกโดยขับมาคนเดียว กลับบอกว่าครั้งนี้เป็นสิทธิของตน ส่วนครั้งก่อนเป็นสิทธิของจำเลย พฤติการณ์ของ พ. ตามคำให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าวมีข้อเคลือบแคลงสงสัยว่า จำเลยร่วมกระทำผิดกับ พ. หรือไม่ และตามคำให้การชั้นสอบสวนของ อ. ที่ว่า รถจักรยานยนต์ฮอนด้า หมายเลขทะเบียน วจม กรุงเทพมหานคร 424 มี พ. ขับมาขายโดยไม่ปรากฏว่ามีจำเลยเข้าไปมีส่วนร่วมกระทำผิดด้วยนั้นก็สอดคล้องกับที่ น. เบิกความว่า รถจักรยานยนต์คันดังกล่าว ต้องโทรศัพท์สอบถามจากบุคคลที่เคยมาประมูลซื้อรถ จึงทราบว่า พ. เป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์ไปขาย ดังนี้ ลำพังคำให้การชั้นสอบสวนของ ธ. และ อ. ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน จึงไม่อาจฟังลงโทษจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13985/2556 แม้อุทธรณ์ของจำเลยจะไม่ปรากฏว่าจำเลยอุทธรณ์โต้แย้งในข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายไว้โดยชัดแจ้งก็ตาม แต่เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์มีเหตุสงสัยตามสมควรว่า จำเลยนำเมทแอมเฟตามีน 202 เม็ด มาส่งมอบให้แก่ ศ. หรือไม่ จึงยกฟ้องโจทก์ในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 202 เม็ดดังกล่าว กับข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเพราะเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 202 เม็ดดังกล่าว จึงเป็นข้อเท็จจริงเดียวที่เกี่ยวเนื่องกัน ศาลอุทธรณ์มีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ และในเรื่องนี้ร้อยตำรวจเอก ณ. เบิกความว่า ขณะพยานกับพวกเข้าจับกุมจำเลย จำเลยไม่ยอมให้จับกุมและใช้มือทั้งสองข้างชกต่อย โดยพยานถูกชกต่อยที่บริเวณหน้าอก และจ่าสิบตำรวจ ช. เบิกความว่าถูกชกต่อยที่บริเวณใบหน้า แต่ไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานใด ๆ ว่าพยานทั้งสองได้รับบาดเจ็บ ซึ่งถ้าถูกจำเลยชกต่อยจริง โดยเฉพาะบริเวณใบหน้าน่าจะมีร่องรอยผิวหนังถลอกหรือฟกช้ำบ้าง ตรงกันข้ามกับจำเลยที่มีบาดแผลฟกช้ำทั่วไปตามร่างกาย พูดไม่ได้ มีลักษณะปากแข็งเกร็งและมีรอยฟกช้ำบริเวณแขนและขา จากข้อเท็จจริงดังที่กล่าวมาจึงมีความสงสัยตามสมควรเช่นเดียวกันว่า จำเลยได้กระทำความผิดข้อหานี้หรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13389/2556 การที่ ช. เคยถูกดำเนินคดีว่าร่วมกับจำเลยทั้งสองในคดีนี้พยายามฆ่าผู้เสียหาย แม้ขณะเบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีนี้ ศาลพิพากษายกฟ้อง ช. แล้วก็ตาม คำเบิกความของ ช. ก็ยังมีลักษณะเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดจึงมีน้ำหนักน้อย ส่วนผู้เสียหายโจทก์ไม่สามารถนำมาเบิกความ คงอ้างส่งคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่ครั้งแรกให้การว่าคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายคือจำเลยที่ 1 ต่อมาให้การอีกครั้งว่าคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงคือจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าจำหน้าคนร้ายสับสน คำให้การที่ผู้เสียหายยืนยันว่าคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายคือจำเลยที่ 2 ไม่มีน้ำหนัก ส่วน ส. ซึ่งอยู่ร่วมกับผู้เสียหายในคืนเกิดเหตุก็เบิกความยืนยันเฉพาะว่าเห็นจำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่ ช. ขับมาเท่านั้น ส่วนคนร้ายคนอื่นพยานไม่เห็นหน้าและมองไม่ทัน พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบจึงยังมีเหตุสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 2 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4494/2555 ผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์ร่วมและพนักงานของโจทก์ร่วมเบิกความตรงกันว่า เหตุที่พยานทั้งสองทราบว่าสินค้ายาของกลางเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมก็โดยการตรวจสอบเปรียบเทียบกับสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าจริง ซึ่งจะมีความแตกต่างกันอยู่ 4 ประการ ซึ่งเมื่อพิจารณากล่องบรรจุสินค้า ฉลาก และขวดยาของสินค้ายาของปลอมและที่แท้จริงเปรียบเทียบกันแล้วเห็นว่าคล้ายกันมาก ผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์ทราบว่ายาของปลอมมีลักษณะอย่างไรก็เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของโจทก์ร่วมเป็นคนชี้ส่วนสำคัญให้ดู ทั้งเภสัชกรและผู้ตรวจวิเคราะห์ยาของกลางก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า หากเห็นแต่ยาของกลางเพียงอย่างเดียวจะไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นยาที่แท้จริงหรือยาปลอม และพนักงานสอบสวนก็ไม่สามารถระบุว่ายาใดเป็นยาปลอมหรือยาที่แท้จริงเพราะไม่ทราบรายละเอียดของตัวยาที่ผสมอยู่ แสดงว่าสินค้ายาคาโตซาลที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของกลางคล้ายกับสินค้าที่แท้จริงมาก ถ้าไม่ทราบถึงรายละเอียดข้อแตกต่างมาก่อนก็เป็นการยากที่จะสังเกตได้เอง ดังนี้แม้จำเลยจะเป็นสัตวแพทย์และเป็นผู้มีสินค้าของกลางไว้เพื่อจำหน่ายก็ไม่แน่ว่าจะได้สังเกตว่าสินค้าของกลางเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้า
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2892/2555 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยกระทำไปโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงเพราะผู้ตายใช้อาวุธปืนเด็กเล่นเล็งมายังกลุ่มของจำเลยก่อน ทำให้จำเลยสำคัญผิดว่ากำลังจะถูกผู้ตายใช้อาวุธปืนยิง จำเลยจึงใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเพื่อป้องกันตนอันเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริง แม้จำเลยจะไม่ได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในศาลชั้นต้น แต่เหตุที่จำเลยเพิ่งยกข้อต่อสู้นี้ในชั้นอุทธรณ์ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัย ก็เนื่องมาจากจำเลยเพิ่งทราบข้อเท็จจริงในสำนวนการสอบสวนอันเป็นประโยชน์แก่จำเลย เพราะหลังจากเสร็จการพิจารณาของศาลชั้นต้นแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ส่งสำนวนการสอบสวนคดีนี้มาประกอบการวินิจฉัย ซึ่งเอกสารในสำนวนการสอบสวนนั้น มีสาระสำคัญเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในชั้นสอบสวน ศาลจึงชอบที่จะใช้ดุลพินิจรับฟังข้อเท็จจริงจากสำนวนการสอบสวนที่โจทก์ไม่ได้อ้างส่งศาลเป็นพยานเพื่อพิสูจน์ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหรือไม่ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาเห็นว่า เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยปัญหานี้มานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา และศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวน ในข้อนี้ได้ความจากคำเบิกความของดาบตำรวจ ธ. อีกว่า พยานสอบถามรายละเอียดจากนาย พ. และผู้เสียหายหลังกลับมาที่หมู่บ้านแก้งสมบูรณ์ได้ความว่า ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหาย นาย พ. กับผู้ตายและพวกดื่มสุราที่บริเวณงานได้มีพวกของนาย พ. มาแจ้งว่าถูกวัยรุ่นหมู่บ้านห้วยปอตีทำร้ายผู้เสียหาย นาย พ. กับผู้ตายและพวกที่ดื่มสุราจึงออกไปพบวัยรุ่นหมู่บ้านห้วยปอที่บริเวณที่เกิดเหตุ เมื่อไปถึงผู้ตายวิ่งนำหน้าพวกผู้ตายและใช้อาวุธปืนเด็กเล่นเล็งไปทางกลุ่มวัยรุ่นบ้านห้วยปอจึงถูกจำเลยใช้อาวุธปืนยิงสวนได้รับบาดเจ็บในเวลานั้นและได้ความตามบันทึกคำให้การของดาบตำรวจ ธ. และนาย พ. ในชั้นสอบสวนตรงกันว่า ก่อนเกิดเหตุนั้นจำเลยกับพวกกำลังจะขึ้นรถจักรยานยนต์เดินทางออกไปจากที่เกิดเหตุ แต่ผู้ตายวิ่งนำหน้าพวกของผู้ตายโดยนาย พ. วิ่งตามไปติด ๆ และผู้ตายใช้อาวุธปืนเด็กเล่นยกขึ้นเล็งไปทางกลุ่มวัยรุ่นบ้านห้วยปอ จึงถูกจำเลยใช้อาวุธปืนยิงสวนถูกที่บริเวณหน้าท้อง เห็นว่า คำเบิกความและคำให้การในชั้นสอบสวนของดาบตำรวจ ธ. สอดคล้องกับคำเบิกความของนาย ท. และผู้เสียหายในข้อที่ว่าผู้ตายวิ่งนำหน้าพวกของตนเข้าไปหากลุ่มวัยรุ่น ซึ่งมีจำเลยร่วมอยู่ด้วยทำให้น้ำหนักคำเบิกความของนาย พ. ที่อ้างว่าผู้ตายเพียงแต่ใช้ขวดขว้างไปยังกลุ่มวัยรุ่นบ้านห้วยปอ ขณะจำเลยกำลังจะซ้อนรถจักรยานยนต์เพื่ออกไปจากบริเวณดังกล่าวมีน้ำหนักน้อย ดังนั้น พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงรับฟังประกอบสำนวนการสอบสวนคดีนี้มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยไม่ได้ก่อเหตุทะเลาะวิวาทกับผู้ตาย เมื่อผู้ตายกับพวกวิ่งเข้ามาหาโดยผู้ตายถืออาวุธปืนเด็กเล่นจ้องเล็งไปทางจำเลยในระยะใกล้ชิดในสภาวะและพฤติการณ์เช่นนั้น จำเลยย่อมไม่มีเวลาไตร่ตรองว่าอาวุธปืนในมือของผู้ตายเป็นอาวุธปืนจริงหรือไม่ จำเลยจึงมีโอกาสสำคัญผิดคิดว่าผู้ตายจะใช้อาวุธปืนจริงยิงจำเลยก่อนได้ ซึ่งการสำคัญผิดในสภาวะและพฤติการณ์เช่นนี้ไม่อาจถือได้ว่าเกิดจากความประมาทของจำเลย การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเพียง 1 นัด แล้วขึ้นรถจักรยานยนต์ของพวกจำเลยหลบหนีไป นับว่าเป็นการกระทำที่พอสมควรแก่เหตุอันเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 ประกอบด้วย มาตรา 62 วรรคแรก จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า จำเลยมีความผิดและลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ฐานฆ่าผู้อื่นมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4862/2554 โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "BOSCH" ที่โจทก์ร่วมใช้กับสินค้าต่างๆ ในการประกอบการค้าของโจทก์ร่วมและได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าหลายชนิดของโจทก์ร่วมในราชอาณาจักร การที่มีบุคคลอื่นผลิตสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์นำมาให้จำเลยจำหน่ายโดยที่สินค้า กล่องบรรจุสินค้า และสมุดคู่มือการใช้สินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์ดังกล่าวใช้คำว่า "BOSCH HID" ติดอยู่กับสินค้า ซึ่งคำดังกล่าวมีตัวอักษรเป็นตัวพิมพ์ใหญ่สีแดงเช่นเดียวกันกับเครื่องหมายการค้าคำว่า "BOSCH" ของโจทก์ร่วม อีกทั้งข้างกล่องบรรจุสินค้ายังติดสติกเกอร์ระบุคำว่า "GERMANY BOSCH" เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า "BOSCH" ของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศเยอรมนี แม้โจทก์ร่วมจะไม่มีสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์นั้นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในราชอาณาจักร แต่สินค้าดังกล่าวก็เป็นสินค้าชนิดเดียวกับสินค้าไฮดรอลิก ซึ่งเป็นชิ้นส่วนของยานพาหนะของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนไว้ในราชอาณาจักร ย่อมถือได้ว่าเจ้าของสินค้าที่ผลิตสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์ดังกล่าวเอาเครื่องหมายการค้าคำว่า "BOSCH" ของโจทก์ร่วมทุกตัวอักษรที่ยังไม่ได้จดทะเบียนไว้กับสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์มาใช้โดยเจตนาให้ประชาชนผู้ซื้อสินค้าดังกล่าวหลงเชื่อว่าสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์นั้นเป็นสินค้าของโจทก์ร่วม และแม้จะปรากฏว่าคำที่ใช้กับสินค้าดังกล่าวมีคำว่า "HID" ต่อจากคำว่า "BOSCH" ด้วยก็ตาม คำว่า "HID" เป็นเพียงสิ่งบ่งบอกถึงคุณสมบัติของสินค้าที่หมายถึงให้ความเข้มข้นของแสงไฟสูงเท่านั้น ไม่ใช่การเพิ่มเติมในส่วนสาระสำคัญเพียงพอที่จะทำให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าคำว่า "BOSCH" และ คำว่า "BOSCH HID" จึงหาทำให้ประชาชนผู้ซื้อสินค้าไม่อาจหลงเชื่อว่าสินค้านั้นไม่ใช่สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า "BOSCH" ของโจทก์ร่วมไม่ อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า บริษัท บ. เจ้าของสินค้าได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมให้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "BOSCH" กับสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์หรือไม่ ซึ่งหากได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมแล้ว การที่จำเลยเสนอจำหน่ายสินค้าดังกล่าวย่อมไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 275 ประกอบมาตรา 272 (1) ได้ เพราะเป็นการเสนอขายสินค้าที่มิได้มีการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีความสงสัยตามสมควร ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง
การใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักฟังพยานหลักฐาน ศาลมีอำนาจหยิบยกข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่ได้ความจากการนำสืบของทั้งสองฝ่ายมาใช้ดุลพินิจรับฟังได้ตามสมควรตามพฤติการณ์แห่งคดี อันเป็นอำนาจโดยอิสระของศาลในการค้นหาเหตุผลเพื่อหาข้อเท็จจริงแห่งคดีให้ได้ข้อยุติ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12795/2558 การใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักฟังพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลย เป็นการใช้ดุลพินิจในการค้นหาเหตุผลจากพยานหลักฐานเหล่านั้นว่าควรจะรับฟังได้เพียงใดหรือไม่ ฝ่ายใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่ากัน ศาลมีอำนาจหยิบยกข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่ได้ความจากการนำสืบของทั้งสองฝ่ายมาใช้ดุลพินิจรับฟังได้ตามสมควรตามพฤติการณ์แห่งคดี อันเป็นอำนาจโดยอิสระของศาลชั้นต้นในการค้นหาเหตุผลเพื่อหาข้อเท็จจริงแห่งคดีให้ได้ข้อยุติ ข้อที่โจทก์ร่วมอุทธรณ์โต้แย้งว่าเหตุผลที่ศาลชั้นต้นหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อย ก็เป็นเพียงความคิดเห็นของโจทก์ร่วม ทั้งไม่มีกฎหมายบัญญัติบังคับว่า หากเป็นรายละเอียดปลีกย่อยแล้วจะนำมาใช้ประกอบดุลพินิจไม่ได้ การใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานของศาลชั้นต้นจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่ถือเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ
ในคดีอาญาศาลจะต้องใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง จะไม่พิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำความผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น กรณีที่ศาลวินิจฉัยคดีโดยฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีอาญาเรื่องก่อนซึ่งถึงที่สุด โดยมิได้วินิจฉัยตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนคดีนี้ จึงเป็นการไม่ชอบ เป็นการขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 186 (5) และมาตรา 227 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5677/2555 ในการพิพากษาคดีอาญาหาได้มีบทบัญญัติของกฎหมาย ให้ศาลจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาในคดีอื่นดังเช่นที่บัญญัติไว้สำหรับคดีแพ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ไม่ แม้โจทก์ทั้งสามกับบริษัท ส. ซึ่งมีจำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการ จะเป็นคู่ความเดียวกันและพยานหลักฐานของจำเลยจะเป็นชุดเดียวกันกับจำเลยเคยอ้างและนำสืบในคดีอาญาก่อนมาแล้วก็ตาม เพราะในคดีอาญาศาลจะต้องใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง จะไม่พิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำความผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยคดีนี้โดยฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีอาญาก่อนซึ่งถึงที่สุด โดยมิได้วินิจฉัยตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนคดีนี้ จึงเป็นการไม่ชอบ เป็นการขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 186 (5) และมาตรา 227 วรรคหนึ่ง
--------------
***ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล, คำอธิบายกฎหมายลักษณะพยานหลักฐาน, พิมพ์ครั้งที่ ๕ (สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, พ.ศ.๒๕๕๓)