25 มี.ค. 2560

ความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 138

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 138  "ผู้ใดต่อสู้ หรือขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษ....
          ถ้าการต่อสู้หรือขัดขวางนั้น ได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ผู้กระทำต้องระวางโทษ..."

          องค์ประกอบความผิดตามมาตรา 138

          (1) ต่อสู้ หรือขัดขวาง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 984/2514 (ประชุมใหญ่)  คืนเกิดเหตุ ตำรวจกับพวกตามหาเรือของเจ้าทรัพย์ที่ถูกคนร้ายชิงไปพบจำเลยทั้งสองอยู่ในเรือลำหนึ่ง ตำรวจซึ่งอยู่ในเครื่องแบบแสดงตัวและบอกให้จำเลยเข้ามาหา จำเลยทั้งสองรู้ว่าเป็นตำรวจแต่ขัดขืน และได้ยิงปืนมาที่เรือตำรวจ 1 นัดกระสุนปืนถูกผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานที่ขาแล้วจำเลยทั้งสองโดดน้ำหนีพร้อมกัน ดังนี้จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำผิดฐานต่อสู้ขัดขวางและพยายามฆ่าเจ้าพนักงานกับผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานที่กระทำตามหน้าที่ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 12/2514)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1664/2515  การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยจำเลยที่ 1 ชกพลตำรวจ อ. ที่หน้าอกและจำเลยทั้งสองชกต่อยพลตำรวจ อ. กับพวก นั้น. เมื่อไม่ปรากฏว่า เจ้าพนักงานตำรวจได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดตามมาตรา 138 วรรคสอง, 83 เท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4884/2533  จำเลยขับรถยนต์เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ล้มลงแล้วขับรถยนต์หลบหนี เจ้าพนักงานตำรวจจึงขับรถยนต์ติดตามเพื่อจับกุม แต่จำเลยขัดขวางการจับกุมโดยขับรถยนต์ปาด ไปทางซ้ายและทางขวาจนถึงบริเวณที่เจ้าพนักงานตำรวจยืนอยู่ที่จุดสกัดจับ จำเลยก็ขับรถพุ่งเข้าใส่เจ้าพนักงานตำรวจที่ยืนอยู่นั้น การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางและพยายามฆ่าเจ้าพนักงานเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 501/2537  เมื่อผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลย จำเลยกล่าวกับผู้เสียหายว่า เป็นนายจับอย่างไรก็ได้และเรียกทำเย็ดแม่ ดังนี้ ที่จำเลยกล่าวว่าเป็นนายจับอย่างไรก็ได้ เป็นเพียงคำกล่าวในทำนองตัดพ้อต่อว่า ไม่ได้กล่าวหาว่า ผู้เสียหายกลั่นแกล้งจึงไม่เป็นการดูหมิ่นผู้เสียหาย แต่ที่จำเลยกล่าวว่า เรียกทำเย็ดแม่เป็นคำด่าอันเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายแล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 136 เมื่อผู้เสียหายจับกุมจำเลยในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ จำเลยดิ้นรนขัดขืนและชกหน้าผู้เสียหาย 1 ครั้ง จนฟันผู้เสียหายหักและมีโลหิตไหลออกจากปาก จำเลยจึงมีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสองและทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 อีกกระทงหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5249/2537  จำเลยกับพวกร่วมกันชิงทรัพย์รถจักรยานยนต์ ระหว่างจำเลยหลบหนีถูกผู้เสียหายกับพวกซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจติดตามจับกุม จำเลยขับรถจักรยานยนต์เข้าข้างทางและล้มลงจำเลยลงจากรถจักรยานยนต์แล้วชักอาวุธปืนสั้นเล็งมาทางผู้เสียหายกับพวกเพื่อข่มขู่มิให้ผู้เสียหายกับพวกทำการจับกุมจำเลยจำเลยจึงมีความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยมีหรือใช้อาวุธปืนขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง, 140 วรรคแรก และวรรคสาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5479/2536  เมื่อมีผู้ร้องเรียนว่าจำเลยมีพฤติการณ์น่าสงสัยโดยตอนกลางวันจะปิดบ้านและเก็บตัวอยู่ภายในบ้าน ตอนกลางคืนจึงออกจากบ้านไม่ยุ่งเกี่ยวกับเพื่อนบ้านและไม่ปรากฏว่าประกอบอาชีพอะไร สงสัยว่าภายในบ้านจะมีสิ่งของผิดกฎหมายซุกซ่อนอยู่ ถือได้ว่าเป็นกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีสิ่งของผิดกฎหมายซุกซ่อนอยู่ในบ้านที่เกิดเหตุอันเป็นเหตุให้ออกหมายค้นได้ จำเลยใช้มือผลักหน้าอกของร้อยตำรวจโทป. ขณะเข้าตรวจค้นตามหมายค้นอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย จึงเป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ การที่จำเลยชี้นิ้วและพูดด่าร้อยตำรวจโท ป. กับพวกในขณะเข้าทำการตรวจค้นว่า "ไอ้พวกอันธพาลไอ้พวกฉิบหายไอ้มือปืน" และยังได้ร้องด่าอีกว่า "ตำรวจหัวควย" ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามจึงเป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2218/2536  เมื่อจำเลยชะลอความเร็วของรถเพราะติดรถยนต์คันอื่นซึ่งติดสัญญาณไฟแดงเพื่อจะเลี้ยวขวา เจ้าพนักงานตำรวจได้ลงจากรถยนต์ปิกอัพวิ่งไปกระโดดเกาะบันไดขึ้นหลังคารถตรงประตูรถด้านหน้าด้านคนขับ จำเลยได้ขับรถเบี่ยงลงถนนทางด้านซ้ายเฉียดเสาไฟฟ้า เมื่อเลยสี่แยกไป เจ้าพนักงานตำรวจปีนขึ้นไปอยู่บนหลังคารถ จำเลยได้ขับรถชิดซ้ายและขับรถส่ายไปมา ดังนี้ การกระทำของจำเลยดังกล่าวก็เพื่อที่จะหลบหนีเจ้าพนักงานตำรวจไม่ให้จับกุมได้เท่านั้นแม้จะขับรถส่ายไปมาก็เป็นการกันมิให้รถยนต์ของเจ้าพนักงานตำรวจแซงขึ้นหน้ารถตนเองได้ซึ่งหากจำเลยมีเจตนาฆ่าคงจะกระทำในโอกาสแรกโดยการขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุพุ่งเข้าชนเจ้าพนักงานตำรวจในขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้นั้นยืนโบกมือ ขวางทางอยู่กลางถนนที่ด่านตำรวจ การที่จำเลยไม่หยุดรถเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจส่งสัญญาณให้หยุดที่ด่านตรวจโดยเร่งความเร็วหลบแผงกั้นเป็นด่านตรวจของเจ้าพนักงานตำรวจ และขับรถส่ายไปมาในขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจอยู่บนหลังคารถด้วยนั้น ตามพฤติการณ์จำเลยมีเจตนาที่จะหลบหนีให้พ้นการตรวจค้นและจับกุมของเจ้าพนักงานตำรวจเพียงอย่างเดียวอันเป็นความผิดฐานขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้ายเท่านั้น ส่วนที่จำเลยขับรถเบี่ยงลงถนนด้านซ้ายเฉียดเสาไฟฟ้าข้างถนน ก็ปรากฏว่าก่อนที่จำเลยจะขับรถเบี่ยงไปเช่นนั้นมีรถยนต์หลายคันจอดขวางติดสัญญาณไฟแดงอยู่เมื่อได้สัญญาณไฟเขียว จำเลยก็รีบร้อนขับรถออกไปเพื่อให้พ้นจากการถูกจับกุม แต่เมื่อไม่อาจขับรถออกไปทันทีได้จึงต้องเบี่ยงลงข้างทางที่มีที่ว่างพอให้รถยนต์บรรทุกสิบล้อที่จำเลยขับผ่านไปได้เผอิญตรงนั้นมีเสาไฟฟ้าอยู่ 1 ต้น จำเลยจึงต้องขับรถเบี่ยงเฉียดเสาไฟฟ้านั้นไป อีกทั้งรถยนต์บรรทุกสิบล้อที่จำเลยขับเป็นรถขนาดใหญ่และเป็นขณะเพิ่งออกรถ ย่อมไม่อาจใช้ความเร็วสูงได้จำเลยจึงมีเพียงเจตนาหลบหนีเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อให้พ้นจากการถูกจับกุม การกระทำของจำเลยยังไม่ถึงขั้นพยายามฆ่าเจ้าพนักงานโดยเล็งเห็นผลการกระทำของตน

          แต่การขอร้องตำรวจให้ปล่อยตัวไม่ใช่การขัดขวาง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 128/2515  ตำรวจจับเด็กเที่ยวเร่ร่อนตามหน้าที่ เด็กขอร้องให้จำเลยช่วยจำเลยถามว่าเป็นอะไรมาจับเด็กเมื่อตำรวจแสดงตัวว่าเป็นตำรวจแล้วจำเลยพูดว่า ขอได้ไหมอย่าจับเด็กนี้เลย ตำรวจจึงอธิบายให้ฟังว่าเป็นหน้าที่ จำเลยก็ยอมให้เอาตัวเด็กไป ดังนี้การกระทำของจำเลยหาเป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ไม่
          การที่จำเลยเพียงถือขวดโซดาไว้ในมือ ไม่ได้ใช้ขวดโซดาจะตีหรือหยิบมีดมาจะทำร้าย ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิด (ฐานพยายามทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน)

          การนิ่งเฉยก็ไม่ถือว่าเป็นการขัดขวาง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 900/2536  พยานโจทก์ไม่มีใครรู้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ได้ช่วยจำเลยที่ 4 แบ่งบรรจุเฮโรอีนใส่หลอดพลาสติกและพยานที่สืบสวนมาก็ไม่ได้ความว่าสืบมาอย่างไร จากใคร เมื่อรู้ก่อนนานแล้วทำไมไม่ดำเนินการจับกุม เหตุใดต้องรอมาจนถึงวันเกิดเหตุ ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ถูกกล่าวหา จึงน่าเป็นเพราะอยู่ด้วยกับจำเลยที่ 4 ในบ้านเกิดเหตุ เฮโรอีนของกลางอาจบรรจุหลอดพลาสติกมาก่อนแล้วก็ได้และตามวิสัยการกระทำผิดอันร้ายแรงเช่นนี้ ชอบที่จำเลยที่ 4 กับพวกต้องปิดบังไว้ไม่น่าให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ล่วงรู้ไปได้ พยานหลักฐานโจทก์จึงมีเหตุสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 จะได้กระทำผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้องหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ส่วนความผิดฐานขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่นั้น เมื่อไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 ที่ 4 กระทำอื่นใดนอกเหนือไปจากจำเลยที่ 4 ไม่ยอมเปิดประตูและจำเลยที่ 1 พูดห้ามมิให้เปิดกับเรียกจำเลยที่ 4 เข้าไปในบ้าน หลังจากนั้นไฟฟ้าภายในบ้านก็ดับลงไม่ทราบว่าใครเป็นคนดับและจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้กระทำการอันใดบ้าง การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 4 จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดฐานขัดขวางเจ้าพนักงาน และการที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 อยู่ภายในบ้านเกิดเหตุด้วย จะถือว่าได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 4 ไม่ให้ความสะดวกแก่เจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ไม่ได้

          ดิ้นหนีไม่เป็นการต่อสู้ขัดขวาง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 568/2536  จ่าสิบตำรวจ ส.กับพวกพบจำเลยกับพวกสะพาย อาวุธปืนยาวมาคนละกระบอก จ่าสิบตำรวจ ส. กับพวกจึงขอตรวจค้น จำเลยส่งอาวุธปืนยาวให้เจ้าพนักงานตำรวจแล้วได้กระโดดหนีเจ้าพนักงานตำรวจ และจ่าสิบตำรวจ ส.จึงได้กระโดดเข้าจับจำเลยและกอดปล้ำกันตกลงไปตามทางลาดชัน การที่จำเลยกระโดดหนีเจ้าพนักงานตำรวจนี้ ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการต่อสู้ขัดขวางการจับกุมของเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่อันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138

          ปัดป้องไม่ยอมให้เข้าใกล้ตัวไม่เป็นการต่อสู้ขัดขวาง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8198/2550  การที่สิบตำรวจตรี ส. เบิกความว่า เมื่อวิ่งไล่ตามจำเลยจนทันแล้วจำเลยหันกลับมาใช้มือปัดป้องไม่ยอมให้พยานเข้ามาใกล้ตัว เมื่อพยานเข้าไปกอดและพยานให้จำเลยคว่ำหน้าลง จำเลยล้มลงพร้อมกับพยาน จากนั้นพยานสั่งให้จำเลยนอนอยู่เฉยๆ แล้วพยานใส่กุญแจข้อมือและให้จำเลยลุกขึ้น โดยไม่ปรากฏว่าพยานเบิกความว่าจำเลยใช้เท้าถีบหรือใช้มือผลักอก อันเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายแต่อย่างใดการที่จำเลยปัดป้องไม่ยอมให้สิบตำรวจตรี ส. เข้าใกล้ตัว การกระทำของจำเลยยังถือไม่ได้ว่าเป็นการต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่

          ขับรถผ่านเลยไปไม่ยอมหยุดตามที่เรียก ไม่เป็นการต่อสู้ขัดขวาง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 223/2531  จำเลยขับรถยนต์สิบล้อไปถึงด่านตรวจ ได้รับสัญญาณให้หยุดรถจากเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งยืนอยู่ริมถนนบริเวณด่านตรวจนั้นแล้วไม่ปฏิบัติตามโดยจำเลยขับรถผ่านเลยไป ดังนี้ เมื่อไม่ได้ความว่าจำเลยกระทำการอื่นใดนอกเหนือไปจากนี้การกระทำของจำเลยจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดฐานขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่. 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2410/2545  จำเลยขับรถยนต์กระบะมาถึงด่านตรวจ เจ้าพนักงานตำรวจได้ให้สัญญาณให้หยุดรถเพื่อตรวจ จำเลยไม่ยอมหยุดและได้ขับรถเลยไปจนต้องมีการไล่ติดตามเพื่อสกัดจับ การที่จำเลยขับรถเลยไปไม่ยอมหยุดให้ตรวจค้นก็ดี การที่จำเลยดิ้นรนเพื่อให้หลุดพ้นจากการจับกุมก็ดี เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการจะหลบหนี จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่

          แต่การกดมือตำรวจไว้ เป็นการต่อสู้ขัดขวาง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9212/2539  ก่อนเกิดเหตุสิบตำรวจเอก พ. พบเห็นจำเลยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าจะกระทำความผิดโดยมีเครื่องมืออาวุธหรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำผิด และพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งเป็นความผิดซึ่งหน้าแม้สิบตำรวจเอก พ. ไม่มีหมายจับ แต่ได้แสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจให้จำเลยทราบแล้ว สิบตำรวจเอก พ.จึงมีอำนาจตรวจค้นและจับจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78(1)(2), 93 การที่จำเลยใช้มือกดอาวุธปืนไม่ให้สิบตำรวจเอก พ.ดึงออกมาจากเอวจำเลยเพื่อยึดเป็นของกลาง จึงเป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง

          (2) เจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 77/2541   ต. เป็นหัวหน้าพนักงานเวรฝ่ายรักษาความปลอดภัยจึงเป็นพนักงานตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง แต่งตั้งเจ้าพนักงานเพื่อปฎิบัติการตามพระราชบัญญัติการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2530 ข้อ 2.1 ซึ่งแต่งตั้งให้หัวหน้าพนักงานเวรฝ่ายรักษาความปลอดภัยเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ต. ได้รับทราบทางวิทยุว่าจำเลยทั้งหกเข้ามารบกวนผู้โดยสารที่บริเวณห้องผู้โดยสารขาเข้า จึงสั่งให้ อ.กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอื่นช่วยกันไล่จำเลยทั้งหกออกไปจากบริเวณดังกล่าว หากจำเลยทั้งหกไม่ยอมออกไปก็ให้ทำการจับกุม ต่อมาประมาณ 10 นาที ต. ได้รับแจ้งว่าอ. กำลังถูกรุมทำร้ายจึงรีบวิ่งไปที่เกิดเหตุ เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุพวกจำเลยกระจายกันวิ่งหลบหนี แสดงว่า ต.ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานไม่ได้เข้าจับกุมจำเลยทั้งหก เพียงแต่ต.อนุญาตให้ อ. ณ. และ ย. ซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานเข้าทำการจับกุมจำเลย กรณีจึงไม่อาจถือว่า ต.เป็นเจ้าพนักงานปฎิบัติหรือกระทำตามหน้าที่ เพราะ ต.ไม่ได้เข้าจับกุมจำเลย เมื่อไม่มีเจ้าพนักงานปฎิบัติการหรือกระทำตามหน้าที่เช่นนี้แล้วการที่ อ.ณ.และ ย.เข้าจับจำเลยที่ 1 จึงไม่อยู่ในฐานะที่บุคคลทั้งสามเป็นผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานในการที่เจ้าพนักงานนั้นปฎิบัติ การหรือกระทำตามหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138, 289(3), 296 แต่กลับกลายเป็นการเข้าจับกุมโดยไม่มีอำนาจ แม้จำเลยทั้งหกจะต่อสู้ขัดขวางก็ถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่เกินสมควรแก่เหตุ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7985/2540  การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตาม ป.อ.มาตรา 138 จะต้องเป็นการกระทำต่อเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายโดยได้รับการแต่งตั้งตามวิธีการที่กฎหมายให้อำนาจและกำหนดไว้
          ตาม พ.ร.บ.กองอาสารักษาดินแดน พ.ศ.2497 มาตรา 16(2) กองอาสารักษาดินแดนมีหน้าที่ทำหน้าที่ตำรวจรักษาความสงบภายในท้องที่ร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ และมาตรา 29 เจ้าหน้าที่หรือสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนในระหว่างทำการตามหน้าที่ ให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายลักษณะอาญา ตามบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้เสียหายทำงานร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจึงจะมีอำนาจตามกฎหมายและให้ถือว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าพนักงาน เมื่อปรากฏว่าผู้เสียหายมีหน้าที่เพียงสกัดกั้นผู้กระทำผิดต่อกฎหมายแต่ไม่มีหน้าที่จับกุม หากจะจับกุมจะต้องมีเจ้าพนักงานตำรวจและปลัดอำเภอร่วมด้วยดังนี้ การที่ไม่มีเจ้าพนักงานตำรวจหรือเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองร่วมกับผู้เสียหายในการจับกุมจำเลย ผู้เสียหายจึงไม่เป็นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1037/2503  สารวัตรกำนันเป็นผู้ช่วยกำนัน เมื่อกำนันมีหน้าที่และอำนาจจับกุมผู้กระทำความผิด สารวัตรกำนันก็ย่อมช่วยกำนันทำการจับกุมผู้กระทำความผิดได้ และการช่วยทำการจับกุมผู้กระทำผิดนี้ ไม่จำเป็นจะต้องให้กำนันเรียกร้องให้ช่วยหรือต้องมีตัวกำนันอยู่ด้วย เพราะกฎหมายให้มีหน้าที่ช่วยกำนันอยู่ในตัวเป็นปกติแล้ว เมื่อจำเลยต่อสู้และทำร้ายสารวัตรกำนันในการจับกุมจำเลยและควบคุมจำเลยส่งพนักงานสอบสวน ย่อมได้ชื่อว่าจำเลยต่อสู้ผู้ต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 และทำร้ายผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานตามมาตรา 289 อันเป็นความผิดตามมาตรา 296

          หากบุคคลนั้นไม่มีกฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่ช่วยเจ้าพนักงานอยู่ในตัว จะต้องมีเจ้าพนักงานกระทำการตามหน้าที่อยู่ในขณะนั้นด้วย จึงจะเป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 984/2514 (ประชุมใหญ่)  คืนวันเกิดเหตุ สิบตำรวจเอก ส. กับสิบตำรวจโท ช. แต่งเครื่องแบบตำรวจ นั่งเรือหางยาวไปตามหาเรือมาดของเจ้าทรัพย์ที่ถูกคนร้ายชิงไป โดยมีนาย ล. นาย อ. และนาย ข. ไปด้วย ต่อมาพบเรือนั้นจมน้ำอยู่ มีจำเลยทั้งสองนั่งเรือแจวมา สิบตำรวจเอกสุเทพว่า "นี่ตำรวจ นั่นเรืออะไร เข้ามานี่ก่อน" จำเลยรู้ว่าเป็นตำรวจแต่เบนหัวเรือหนี สิบตำรวจเอก ส. ไล่ตาม จำเลยยิงปืนมา1 นัด กระสุนปืนถูกนาย ล. ที่เข่าขวาและกลางขาขวา เมื่อเรือตำรวจวิ่งไล่ตามเรือจำเลยต่อไปจนห่าง 2 วา จำเลยทั้งสองกระโดดน้ำหนี จึงวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำผิดฐานใช้ปืนเป็นอาวุธ ต่อสู้ขัดขวางและฐานพยายามฆ่าสิบตำรวจเอก ส. กับพวก ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานกระทำตามหน้าที่และเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการกระทำตามหน้าที่

          (3) ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ 
          โดยต้องอยู่ในหน้าที่และต้องชอบด้วยกฎหมาย ถ้าไม่มีหน้าที่ผู้ต่อสู้ขัดขวางก็ไม่ผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7152/2538  ส.ต.ต. ส.กับพวกแต่งกายในเครื่องแบบร่วมกันไปจับกุมผู้ลักลอบเล่นการพนันไฮโลว์ ก่อนไปจับกุมได้ไปขอแบ่งรายได้ที่เก็บจากการเล่นการพนันดังกล่าวจาก ก. ก.ปฏิเสธ ส.ต.ต. ส.ก็พูดจาในทำนองข่มขู่ ต่อจากนั้นได้ไปยังบริเวณที่มีการเล่นการพนันกัน เมื่อไปถึง ส.ต.ต. ส.ได้ร้องตะโกนให้พวกเล่นการพนันวิ่งหนีโดยไม่ได้เข้าจับกุมบุคคลเหล่านั้น แต่ได้ยึดเครื่องมือที่ใช้เล่นการพนันและเงินสดโดยไม่ได้ทำบันทึกการยึดของกลางไว้ การกระทำของ ส.ต.ต. ส.กับพวกหาใช่เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่หรือกระทำการตามหน้าที่หรือกระทำการตามหน้าที่ในการเข้าจับกุมผู้ลักลอบเล่นการพนันไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3178/2540  ผู้เสียหายได้พบจำเลยในขณะที่จำเลยซึ่งมีอาการเมาสุรานั่งคร่อมอยู่บนรถจักรยานยนต์โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำความผิดและผู้เสียหายมิได้เข้าทำการจับกุมจำเลยอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยแต่อย่างใด อีกทั้งการที่ ส. แจ้งต่อผู้เสียหายก็ระบุแต่เพียงว่าอาจมีเรื่องกันบริเวณปากซอยให้ไปช่วยคนหน่อย จึงฟังไม่ได้ว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นโดยจำเลยเป็นผู้ก่อเหตุหรือกระทำความผิดแต่อย่างใด การที่ผู้เสียหายปฏิบัติภารกิจอื่นแล้วเข้าไปยังที่เกิดเหตุโดยยังมิได้มีเหตุการณ์วิวาทเกิดขึ้นแต่ผู้เสียหายกลับไปมีเรื่องกับจำเลยเป็นส่วนตัว โดยถูกจำเลยพูดว่ากล่าวและผลักอก จึงไม่ใช่เรื่องที่ผู้เสียหายกำลังปฏิบัติการตามหน้าที่ในการเข้าระงับเหตุทะเลาะวิวาทหรือจับกุมผู้กระทำความผิด การกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 แต่อย่างใด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2535/2550  บ. พบกองไม้กระยาเลยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายอันเป็นไม้ผิดกฎหมายวางกองอยู่ข้างบ้าน ว. และ ว. รับว่ามีไม้หวงห้ามยังไม่ได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจริง การกระทำของ ว. ไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้าเพราะไม่ใช่ความผิดที่เห็นกำลังกระทำหรือพบในอาการใด ซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าได้กระทำผิดมาแล้วสด ๆ ไม่เข้าข้อยกเว้นความผิดที่ระบุไว้ในบัญชีท้าย ป.วิ.อ. หรือเข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 80 วรรคสอง (1) (2) ดังนั้น บ. ไม่มีอำนาจที่จะจับ ว. โดยไม่มีหมายจับได้ การที่ ว. ตาม บ. มาที่หน่วยคุ้มครองป่าจึงไม่ใช่เป็นการถูกจับตัวมา แม้ในเวลาต่อมาจำเลยจะขับรถยนต์มาที่หน่วยคุ้มครองป่าและรับ ว. ขึ้นรถยนต์ของจำเลยขับออกจากหน่วยคุ้มครองป่าไป บ. ติดตามจำเลยไปจนทันและเกิดเหตุกระทบกระทั่งกันขึ้นระหว่างจำเลยและ บ. ยังไม่เป็นการที่จำเลยต่อสู้หรือขัดขวาง บ. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน

          (4) เจตนา (องค์ประกอบภายใน)
          ต้องรู้ว่าเป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 148/2513  เจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นตัวจำเลยในที่เปลี่ยวโดยไม่ได้แต่งเครื่องแบบตำรวจหรือแสดงหลักฐานให้เห็นได้ว่าตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจทำการตามหน้าที่ ทั้งนี้ต่างฝ่ายไม่รู้จักกันมาก่อนจำเลยไม่มีทางรู้ได้ว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ เช่นนี้ แม้จำเลยจะได้ทำการต่อสู้ชกต่อยขัดขวางมิให้เจ้าพนักงานตำรวจค้นเอาเงินทรัพย์สินใด ๆ ของจำเลยไปก็ตาม จำเลยก็หามีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ดังฟ้องโจทก์ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1954/2546  ผู้เสียหายที่ 1 สวมกางเกงขายาวสีกากี สวมเสื้อยืดคอกลมสีขาวเข้าไปขอตรวจค้นตัวจำเลยโดยแจ้งว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ แต่ไม่ได้แต่งเครื่องแบบตำรวจหรือแสดงหลักฐานให้เห็นว่าตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจผู้ทำการตามหน้าที่ กรณีอาจทำให้จำเลยเข้าใจผิดไปได้ แม้จำเลยจะต่อสู้ชกต่อยหรือใช้มีดแทงผู้เสียหายที่ 1 เพื่อขัดขวางไม่ให้ผู้เสียหายที่ 1 ตรวจค้นและจับกุม จำเลยก็หามีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่และพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ไม่แม้ในชั้นสอบสวนจำเลยจะให้การรับสารภาพฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ แต่บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเป็นเพียงพยานบอกเล่าโดยลำพังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังเพื่อลงโทษจำเลยได้

          มาตรา 138 วรรคสอง  "ถ้าการต่อสู้ขัดขวางนั้น ได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ผู้กระทำต้องระวางโทษ..."

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 52/2523  เจ้าพนักงานตำรวจไล่จับญาติของจำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาในข้อหาฆ่าคนตายจำเลยที่ 1 กอดเอวเจ้าพนักงานตำรวจคนหนึ่ง จำเลยที่ 2 ดึงเสื้อเจ้าพนักงานตำรวจอีกคนหนึ่งไว้ เพื่อมิให้เจ้าพนักงานจับกุมผู้ต้องหาการที่จำเลยที่ 1 กอดเอวและจำเลยที่ 2 ดึงเสื้อนั้นเป็นการใช้แรงกายกระทำต่อกายของเจ้าพนักงานตำรวจ ถือได้ว่าเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(6) เพื่อต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 วรรค 2
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3850/2543  การที่จำเลยใช้มือผลักและใช้ตัวดันเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อแย่งถุงพลาสติกที่มีเมทแอมเฟตามีนบรรจุอยู่จากมือเจ้าพนักงานตำรวจไปใส่ปากเคี้ยวเพื่อทำลายหลักฐานนั้น ถือได้ว่าเป็นการขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานตำรวจผู้มีหน้าที่และกำลังตรวจค้นเพื่อรวบรวมสิ่งของที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานว่าจำเลยได้กระทำผิดตามที่มีการกล่าวหาหรือที่เจ้าพนักงานตำรวจได้สืบทราบมาหรือไม่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ส่วนการกระทำของจำเลยที่ใช้มือผลักเจ้าพนักงานตำรวจกระเด็นไปติดประตูแล้วใช้ตัวดันเพื่อแย่งถุงพลาสติกที่มีเมทแอมเฟตามีนบรรจุมาใส่ปากเพื่อเคี้ยวทำลายหลักฐานนั้น จำเลยย่อมเล็งเห็นผลของการผลักและดันของจำเลยว่าเป็นการทำอันตรายต่อร่างกายหรือจิตใจของเจ้าพนักงานตำรวจได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายตามกฎหมายแล้ว แม้จำเลยจะมิได้มีเจตนาโดยประสงค์ต่อผลในการที่จะกระทำต่อร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งของเจ้าพนักงานตำรวจก็ตาม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง