ร้องขัดทรัพย์

          ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

          มาตรา 323  "ภายใต้บังคับมาตรา 55 บุคคลใดกล่าวอ้างว่าจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ หรือตนเป็นเจ้าของรวมซึ่งมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในทรัพย์สินนั้นซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้แบ่งการครอบครองเป็นส่วนสัด หรือตนเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์สินนั้นซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทรัพย์แบ่งได้ หรือตนเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนในทรัพย์สินนั้นได้อยู่ก่อน บุคคลนั้นอาจร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนหรือเฉพาะส่วนของตน แล้วแต่กรณี โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีการยึดทรัพย์สินนั้น แต่ถ้าไม่สามารถยื่นคำร้องขอภายในระยะเวลาดังกล่าว บุคคลนั้นจะยื่นคำร้องขอเมื่อพ้นระยะเวลาเช่นว่านั้นได้ก็ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและได้ยื่นคำร้องขอไม่ช้ากว่าเจ็ดวันก่อนวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดไว้เพื่อการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้นเป็นครั้งแรก เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย บุคคลนั้นจะยื่นคำร้องขอในภายหลังก็ได้ แต่จะต้องยื่นเสียก่อนขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้น
          ในกรณีที่เป็นทรัพย์สินตามมาตรา 332 ผู้กล่าวอ้างอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้มีการยึดทรัพย์สินนั้น แต่ถ้าไม่สามารถยื่นคำร้องขอภายในระยะเวลาดังกล่าว บุคคลนั้นจะยื่นคำร้องขอเมื่อพ้นระยะเวลาเช่นว่านั้นได้ก็ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ แต่จะต้องยื่นเสียก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะจ่ายเงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินนั้นแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามมาตรา 339 หรือก่อนที่บัญชีส่วนเฉลี่ยแสดงจำนวนเงินที่ขายทรัพย์สินนั้นเป็นที่สุดตามมาตรา 340 แล้วแต่กรณี  ทั้งนี้ ให้ถือว่าเงินจำนวนสุทธิที่ได้จากการขายนั้นเป็นเสมือนทรัพย์สินที่ขอให้ปล่อย
          เมื่อศาลสั่งรับคำร้องขอไว้แล้ว ให้ส่งสำเนาคำร้องขอแก่โจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษา และเจ้าพนักงานบังคับคดี เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับคำร้องขอเช่นว่านี้ถ้าทรัพย์สินที่ยึดนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินตามมาตรา 332 ให้งดการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไว้ในระหว่างรอคำวินิจฉัยชี้ขาด และให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นเหมือนอย่างคดีธรรมดา
          โจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำร้องว่าคำร้องขอนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงการบังคับคดี เมื่อปรากฏพยานหลักฐานเบื้องต้นว่าคำร้องนั้นฟังได้ ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้กล่าวอ้างวางเงินหรือหาประกันต่อศาลตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควร เพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสำหรับความเสียหายที่อาจได้รับจากการยื่นคำร้องขอนั้น ถ้าผู้กล่าวอ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ส่วนเงินหรือประกันที่วางไว้ต่อศาลดังกล่าว เมื่อศาลเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต่อไป จะสั่งคืนหรือยกเลิกประกันนั้นก็ได้คำสั่งของศาลตามวรรคนี้ให้เป็นที่สุด
          ในกรณีที่ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องขอที่ยื่นไว้ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ถ้าโจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องขอดังกล่าวเห็นว่าคำร้องขอนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงการบังคับคดี บุคคลดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องขอเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ผู้กล่าวอ้างชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ตนได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้แยกการพิจารณาเป็นสำนวนต่างหากจากคดีเดิม และเมื่อศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าคำร้องนั้นฟังได้ ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้กล่าวอ้างชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควรถ้าบุคคลดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล โจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจร้องขอให้ศาลบังคับคดีแก่บุคคลนั้นเสมือนหนึ่งว่าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา"



          มีหลักเกณฑ์ ดังนี้
          1.  ต้องมีการยึดทรัพย์สินเพื่อนำออกขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่น
          2.  เหตุผลที่ยกขึ้นอ้าง คือ จำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษา ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้
          3.  การร้องขัดทรัพย์ อยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 55 กล่าวคือ ผู้ยื่นคำร้องต้องถูกโต้แย้งสิทธิ ซึ่งผู้ที่ถูกโต้แย้งสิทธิจากการที่ทรัพย์นั้นถูกยึด อาจยื่นคำร้องต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด
          4. โดยปกติจะต้องร้องขัดทรัพย์ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้มีการยึดทรัพย์สินนั้น แต่ถ้าไม่สามารถยื่นคำร้องขอภายในระยะเวลาดังกล่าว บุคคลนั้นจะยื่นคำร้องขอเมื่อพ้นระยะเวลาเช่นว่านั้นได้ก็ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและได้ยื่นคำร้องขอไม่ช้ากว่าเจ็ดวันก่อนวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดไว้เพื่อการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้นเป็นครั้งแรก เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย บุคคลนั้นจะยื่นคำร้องขอในภายหลังก็ได้ แต่จะต้องยื่นเสียก่อนขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้น (มาตรา 323 วรรคแรก ที่แก้ไขใหม่)
          5. ศาลต้องพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีเหมือนอย่างคดีธรรมดา

          1. ต้องมีการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาออกขายทอดตลาด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6547/2538   ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยส่งมอบและจดทะเบียนโอนอาคารพาณิชย์ห้องพิพาทให้โจทก์  จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา  โจทก์จึงดำเนินการบังคับคดีโดยเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ไปจัดการให้โจทก์เข้าครอบครองอาคารพาณิชย์ห้องพิพาทและส่งมอบให้โจทก์เข้าครอบครองแล้ว  การส่งมอบดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 ตรี เพื่อจัดการให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเข้าครอบครองทรัพย์ หาใช่เป็นการยึดทรัพย์เพื่อนำออกขายทอดตลาดตามความใน ป.วิ.พ. มาตรา 288 (เดิม) ไม่  กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 288 (เดิม) ที่ผู้ร้องจะมาร้องขอให้ปล่อยอาคารพาณิชย์ห้องพิพาทได้ 
          เรื่องนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยส่งมอบและจดทะเบียนอาคารพาณิชย์ให้โจทก์ จำเลยไม่ปฎิบัติตาม โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการให้โจทก์เข้าครอบครองอาคารนั้น โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 296 ตรี ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยอาคารพาณิชย์ดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นของผู้ร้องโดยซื้อจากจำเลยโดยสุจริต ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีนี้ถือว่าเป็นการบังคับตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 ตรี  เพื่อจัดการให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเข้าครอบครองทรัพย์ หาเป็นการยึดอาคารพาณิชย์เพื่อนำออกขายทอดตลาดตามความใน มาตรา 288 (เดิม) ไม่ กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตราดังกล่าว ผู้ร้องจะร้องขอให้ปล่อยอาคารพาณิชย์ห้องพิพาทไม่ได้ ผู้ร้องอ้างว่าอาคารพาณิชย์เป็นของผู้ร้องก็ชอบที่จะไปว่ากล่าวเป็นเรื่องอื่นต่างหาก แต่ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขัดทรัพย์เข้ามาในคดีนี้

          กรณีอายัดสิทธิเรียกร้อง ผู้ร้องอ้างว่าตนเป็นเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้น จำเลยไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องฯ ผู้ร้องอ้างไม่ได้ ไม่เป็นการร้องขัดทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1141/2540 ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นคนขายกุ้งให้ผู้คัดค้านไม่ใช่จำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้อายัดเงินค่ากุ้งที่ขายให้แก่ผู้คัดค้านตามที่ศาลมีคำสั่งอายัดเงินดังกล่าวจากผู้คัดค้านไว้ชั่วคราวในระหว่างพิจารณา ขอให้เพิกถอนการอายัดเงินดังกล่าว ดังนี้ สิทธิในฐานะเป็นเจ้าหนี้ผู้คัดค้านที่ผู้ร้องอ้างมิใช่เป็นบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่นซึ่งผู้ร้องอาจร้องขอให้บังคับได้ตามกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 และไม่ใช่การขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดไว้ตามมาตรา 288 หากผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้คัดค้านจริงผู้ร้องก็มีเพียงสิทธิเรียกร้องให้ผู้คัดค้านชำระหนี้ให้ตนเท่านั้นไม่มีสิทธิที่จะบังคับจากเงินที่ผู้คัดค้านรับว่าเป็นหนี้จำเลยและได้ส่งมาตามที่ศาลอายัดดังกล่าว ผู้ร้องชอบที่จะไปว่ากล่าวเอาแก่ผู้คัดค้านเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก

          ฟ้องขอให้แบ่งทรัพย์ระหว่างเจ้าของรวม แม้จะมีการยึดทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกัน ก็เป็นเพียงวิธีหนึ่งในการแบ่งทรัพย์ระหว่างเจ้าของรวมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 วรรคสอง ไม่ใช่การบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. จึงร้องขัดทรัพย์ไม่ได้    
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 676/2546   โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินพิพาท ซึ่งโจทก์ทั้งสามและจำเลยเป็นผู้มีชื่อในเอกสารสิทธิดังกล่าวร่วมกัน ต่อมาศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสาม เนื้อที่ 2 ไร่ 47 ตารางวา หากจำเลยไม่ยอมแบ่งแยกให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หากไม่สามารถแบ่งแยกได้ให้นำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดเพื่อเอาเงินแบ่งกันตามส่วนจำเลยไม่ยอมแบ่งแยกและการแบ่งแยกไม่อาจกระทำได้ โจทก์ทั้งสามจึงขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีคดีที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดเพื่อเอาเงินแบ่งกันตามส่วน การยึดทรัพย์ในกรณีนี้มิใช่เป็นการร้องขอให้บังคับคดีตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หากแต่เป็นการร้องขอให้ศาลกำหนดวิธีการแบ่งทรัพย์สินกันระหว่างโจทก์ทั้งสามและจำเลยผู้เป็นเจ้าของรวมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 วรรคสอง ฉะนั้น ผู้ร้องทั้งห้าจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2968/2544    โจทก์ฟ้องจำเลยให้แบ่งมรดกของ ล. ให้แก่โจทก์ตามสัญญาแบ่งมรดก ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยแบ่งมรดกบางส่วนให้โจทก์ตามสัญญาแบ่งมรดก หากแบ่งกันไม่ได้ให้เอาออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันตามส่วน เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดทรัพย์พิพาทเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์พิพาทดำเนินการเพื่อแบ่งทรัพย์สินในฐานะเจ้าของรวมเท่านั้น โจทก์และจำเลยจึงมิใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อกัน กรณีไม่ใช่การร้องขอให้บังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ผู้ร้องและจำเลยย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288  ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน  แม้คู่ความไม่ได้อุทธรณ์ขึ้นมา ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

          2. ผู้ที่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์
          ในการร้องขัดทรัพย์นั้น มีเงื่อนไขที่สำคัญ คือ ข้ออ้างที่ว่า จำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษา มิใช่เจ้าของทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ ส่วนผู้ที่จะร้องขัดทรัพย์ กฎหมายไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ยึดด้วย แต่ตามมาตรา 323 วรรคแรก บัญญัติให้อยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 55 แสดงว่าผู้ที่จะร้องขัดทรัพย์ได้ต้องเป็นผู้ที่ถูกโต้แย้งสิทธิเท่านั้น ผู้ที่ถูกโต้แย้งสิทธิอาจจะเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ยึดไว้ หรืออาจเป็นผู้ที่มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในทรัพย์ที่ยึดก็ได้ เช่น
          1. ผู้เช่าซื้อซึ่งครอบรองทรัพย์ที่เช่าซื้อ แม้จะยังชำระค่าเช่าซื้อไม่รบ ก็ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียแล้ว จึงมีสิทธิร้องขัดทรัพย์ได้
          2. ผู้ได้รับสัมปทานป่าไม้ ร้องขัดทรัพย์ไม้ที่ถูกยึดจากป่าที่ได้รับสัมปทาน
          3. หน่วยงานของรัฐมีส่วนได้เสียเกี่ยวกับทรัพย์ที่ตนดูแลรักษา
          4. เจ้าหนี้ผู้ครอบครองที่ดินประกันหนี้ ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินนั้น
          5. ผู้ที่ได้กรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์

          ผู้เช่าซื้อซึ่งครอบครองทรัพย์ที่เช่าซื้อนั้น เป็นผู้มีส่วนได้เสีย มีสิทธิร้องขัดทรัพย์ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 399/2534 (ป)  ผู้ร้องเป็นคู่สัญญาเช่าซื้อทรัพย์ที่ถูกยึด แม้จะชำระค่าเช่าซื้อยังไม่ครบ แต่ในระหว่างสัญญาเช่าซื้อ ผู้ร้องมีสิทธิยึดถือประโยชน์ตลอดจนต้องรับผิดในความเสียหายหรือสูญหายอันเกิดแก่ทรัพย์ที่ถูกยึด และเมื่อผู้ร้องชำระค่าเช่าซื้อครบย่อมได้กรรมสิทธิ์ ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย เมื่อทรัพย์ที่ผู้ร้องเช่าซื้อมาถูกยึด ถือได้ว่าผู้ร้องถูกโต้แย้งสิทธิในทรัพย์ที่ถูกยึดตามป.วิ.พ. มาตรา 55 ผู้ร้องจึงร้องขัดทรัพย์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 ปรากฏว่าผู้ร้องเช่าซื้อทรัพย์ที่ถูกยึดมาและยังใช้เงินไม่ครบ ทรัพย์ที่ถูกยึดเป็นของผู้ให้เช่าซื้อ ไม่ใช่ทรัพย์ของจำเลยศาลต้องปล่อยทรัพย์ที่ยึด

          ผู้ที่ได้รับสัมปทานป่าไม้ มีส่วนได้เสีย มีสิทธิร้องขัดทรัพย์เมื่อไม้ที่ถูกตัดจากป่าสัมปทานของตนถูกยึด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1824/2493   ตาม ป.วิ.แพ่งมาตรา 288 (เดิม) ประกอบด้วยมาตรา 55 นั้น ผู้ที่จะต้องใช้สิทธิทางศาลเช่นในกรณีร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดเพราะทรัพย์นั้นมิใช่ของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น หาจำจะต้องเป็นผู้มีกรรมสิทธิในทรัพย์นั้นไม่ ผู้มีส่วนได้เสียในกรณีย่อมมาใช้สิทธิทางศาลได้ด้วยการร้องขัดทรัพย์ ผู้รับสัมปทานจากรัฐบาลให้มีสิทธิเข้าถือเอาไม้ในป่าตามที่กำหนดให้นั้น ย่อมมีสิทธิร้องขัดทรัพย์ในเมื่อไม้ที่ถูกตัดมาจากป่าสัมปทานของผู้ร้องได้ถูกยึดทรัพย์ไว้

          หน่วยงานของรัฐมีส่วนได้เสียเกี่ยวกับทรัพย์ที่ตนดูแลรักษา มีสิทธิร้องขัดทรัพย์เมื่อทรัพย์ที่ตนดูแลรักษาอยู่ถูกยึด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1823/2493  ประเด็นในเรื่องร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ถูกยึดนั้นมีว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ถูกยึดนั้นหรือไม่ และตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 288 (เดิม) ประกอบด้วยมาตรา 55 นั้น ผู้ที่จะต้องใช้สิทธิทางศาลในกรณีขอให้ปล่อยทรัพย์นั้น ก็หาจำต้องเป็นผู้มีกรรมสิทธิในทรัพย์นั้นไม่ ผู้มีส่วนได้เสียในกรณีย่อมมาใช้สิทธิทางศาลได้ด้วยการร้องขัดทรัพย์ 
          มีผู้ลอบตัดฟันไม้สักอันเป็นไม้หวงห้ามแล้วแปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาตภายหลังถูกเจ้าหนี้ยึดไม้เหล่านี้ไว้เพื่อบังคับคดี กรมป่าไม้ซึ่งรัฐหรือแผ่นดินมอบหน้าที่ให้เป็นผู้ดูแลรักษาไม้หวงห้ามย่อมมีสิทธิร้องขัดทรัพย์ขอให้ปล่อยไม้นั้นได้ 

          เจ้าหนี้ผู้ครอบครองที่ดินประกันหนี้ ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินนั้น มีสิทธิร้องขัดทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 28/2506   เมื่อเจ้าหนี้มายึดนาที่อยู่ในการครอบครองของผู้ร้อง ถือได้ว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิในการที่ผู้ร้องจะครอบครองที่นาพิพาทต่อไปแล้ว การร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ถูกยึด ประเด็นมีอยู่ว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้นหรือไม่ ถ้ามิใช่ศาลก็ต้องสั่งปล่อย เหตุนี้ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอให้ปล่อยพิพาทได้ 
          ผู้ร้องอ้างว่าได้ครอบครองที่นาที่ถูกยึดโดยเจ้าของเดิมนำมาประกันเงินกู้ ขอให้สั่งปล่อยที่นานั้น  แม้เจ้าของเดิมตายมากกว่า 1 ปีแล้ว ผู้ร้องก็ยังฟ้องร้องอ้างได้ จะนำอายุความมรดกมาบังคับไม่ได้ 
          คดีก่อน ผู้ร้องฟ้องขอให้ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับที่นาพิพาท แต่คดีนี้ผู้ร้องอ้างว่าที่นาพิพาทมิใช่ทรัพย์ของจำเลย ขอให้ศาลปล่อยนาพิพาทซึ่งถูกยึด ประเด็นและคู่ความต่างกัน การร้องขัดทรัพย์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
          ผู้ที่ได้กรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ มีสิทธิร้องขัดทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1561/2508   ภริยาที่มิชอบด้วยกฎหมาย ถ้าหากได้ครอบครองที่ดินอันเป็นมรดกของสามีมาโดยสงบและเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลากว่า 10 ปี ก็ย่อมมีสิทธิได้ที่พิพาทในทางครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 207/2548  การที่ผู้ร้องขัดทรัพย์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ถือว่าเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากทางนิติกรรมตามมาตรา 1299 วรรคสอง แต่โจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาท โจทก์มิใช่ผู้สิทธิในที่ดินพิพาทโดยเสียค่าตอบแทนและโดสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว จึงมิใช่บุคคลภายนอกที่จะได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะมิได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็ยกขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ โจทก์ไม่มีสิทธิยึดที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา
       



          ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ.มาตรา 1300  มีสิทธิร้องขัดทรัพย์ได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8698/2549   ผู้ร้องทำสัญญาจะซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 ได้ชำระราคาคารบถ้วนและเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแล้ว คงเหลือแต่การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ผู้ร้องเท่านั้น ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ.มาตรา 1300 และโดยเหตุที่การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิและสิทธิอื่นๆซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 โจทก์จึงไม่มีสิทธินำยึดที่ดินพิพาทเพื่อบังคับคดี อันเป็นการกระทบกระทั่งถึงสิทธิของผู้ร้องตามบทกฎหมายดังกล่าว ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอให้ปล่อยที่ดินพาทที่โจทก์ยึดได้  

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7198/2558  ผู้ร้องประกอบธุรกิจขายอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่ปี 2546 เมื่อผู้ร้องทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 แล้วได้สร้างบ้านในที่ดินดังกล่าวซึ่งมีรูปแบบเดียวกันกับบ้านหลังอื่นที่อยู่ในโครงการหมู่บ้านจัดสรรของผู้ร้อง และประกาศขายแก่บุคคลทั่วไป หากผู้ร้องไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทก็คงไม่สร้างบ้านในที่ดินดังกล่าวเพราะต้องใช้เงินลงทุนมาก และที่ผู้ร้องอ้างเหตุที่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเป็นของตนเนื่องจากต้องการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้เป็นชื่อผู้ซื้อเพื่อประหยัดค่าธรรมเนียมในการโอนนั้น ก็เป็นเหตุผลทางด้านการประกอบธุรกิจที่รับฟังได้ไม่ถึงกับเป็นข้อพิรุธแต่อย่างใด
          ผู้ร้องทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 2 และชำระราคาครบถ้วนแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เป็นของตน ผู้ร้องจึงเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 และโดยเหตุที่การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินที่ยึดได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธินำยึดที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อบังคับคดีอันเป็นการกระทบกระทั่งถึงสิทธิผู้ร้องตามบทกฎหมายดังกล่าว ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างได้ 

 
         
 
 



          3. ผู้ที่ไม่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์
         
          เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมกับลูกหนี้ตามคำพิพากษาในทรัพย์ที่ยึด เท่ากับจำเลยมีส่วนเป็นเจ้าของอยู่ด้วย ร้องขัดทรัพย์ไม่ได้  ต้องใช้วิธีร้องขอกันส่วนจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาด ตามมาตรา  287 (เดิม) ถ้าผู้ร้องกับลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งเป็นเจ้าของรวมได้แบ่งแยกการครอบครองที่ดินเป็นสัดส่วนแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีจะยึดที่ดินส่วนที่ผู้ร้องครอบครองด้วยมิได้ ต้องกันที่ดินที่ผู้ร้องครอบครองครอบครองออกก่อนนำออกขายทอดตลาด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1449/2524  การร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 288 (เดิม) ต้องเป็นกรณีที่กล่าวอ้างว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษามิใช่เจ้าของทรัพย์สินที่ยึด เมื่อปรากฏว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้นอยู่ด้วย ศาลก็ต้องยกคำร้องของผู้ร้องเสีย เพราะกรรมสิทธิ์ของเจ้าของรวมแต่ละคนย่อมครอบไปเหนือทรัพย์สินทั้งหมดจนกว่าจะมีการแบ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2451/2548  เมื่อผู้ร้องและจำเลยได้ตกลงแบ่งแยกการครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมของจำเลยกับผู้ร้องก่อนมีการบังคับคดีแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวย่อมผูกพันจำเลยและผู้ร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 โจทก์ซึ่งเป็นเพียงเจ้าหนี้สามัญจึงมีสิทธิบังคับคดีได้เท่าที่จำเลยมีสิทธิในที่ดินพิพาทเท่านั้น ไม่มีสิทธิเอาที่ดินส่วนของผู้ร้องมาขายทอดตลาดได้ ถือได้ว่าผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมีสิทธิอื่น ๆ อันอาจร้องขอให้บังคับเหนือที่ดินนั้นได้ตามกฎหมาย ซึ่งการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องย่อมมีสิทธิขอให้กันที่ดินส่วนที่ผู้ร้องครอบครองก่อนนำที่ดินพิพาททั้งแปลงออกขายทอดตลาดได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม)

          หลักสำคัญในเรื่องการร้องขัดทรัพย์  คือ ข้ออ้างว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ การที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าว แต่ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษามิได้มีส่วนเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์สินที่ถูกยึด เจ้าของรวมคนหนึ่ง ย่อมร้องขัดทรัพย์ได้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2467/2549  โจทก์ขอให้บังคับคดีและนำยึดบ้านซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินของผู้ร้องออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา ผู้ร้องยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นโดยอ้างว่าบ้านเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องแต่ผู้เดียว มิใช่สินสมรสของจำเลยกับผู้ร้อง แม้ตามคำร้องขอจะมิได้อ้างว่าเป็นบ้านที่ผู้ร้องได้มาโดยการรับมรดกร่วมกับพี่น้องตามที่ผู้ร้องยกขึ้นอ้างมาในฎีกาก็ตาม แต่ก็เป็นการอ้างถึงที่มาเพื่อแสดงให้เห็นว่าบ้านดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องซึ่งโจทก์ไม่มีสิทธินำยึดนั่นเอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิยกขึ้นอ้างในฎีกาได้ เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในประเด็นตามคำร้อง มิใช่เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น
          บ้านที่โจทก์นำยึดออกขายทอดตลาดซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินของผู้ร้องเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องได้มาโดยการรับมรดกร่วมกับทายาทอื่นของ ล. สิทธิของผู้ร้องในบ้านจึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471 (3) มิใช่สินสมรสที่โจทก์จะมีสิทธินำยึดได้ และผู้ร้องในฐานะเจ้าของรวมคนหนึ่งย่อมใช้สิทธิครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อเรียกร้องเอาทรัพย์สินคืนได้ตามมาตรา 1359 จึงมีอำนาจร้องขัดทรัพย์

          ทรัพย์สินที่ถูกยึดเป็นสินสมรสของผู้ร้องกับลูกหนี้ตามคำพิพากษา เท่ากับจำเลยเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ร้องขัดทรัพย์ไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5266/2539  แม้ผู้ร้องจะเป็นภริยาของจำเลยแต่ก็มิได้ถูกฟ้องด้วยจึงเป็นบุคคลภายนอกและชอบที่จะนำคดีตามที่กล่าวอ้างว่าสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเป็นการจัดการสินสมรสโดยผู้ร้องมิได้ให้ความยินยอมด้วยไปฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนเป็นอีกคดีหนึ่ง จะยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนในคดีซึ่งตนมิได้เป็นคู่ความด้วยหาได้ไม่  การร้องขอให้ศาลมีคำสั่งปล่อยทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 288 (เดิม) ต้องเป็นเรื่องที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าจำเลยไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ดังกล่าว เมื่ออ้างว่าทรัพย์นั้นเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยร่วมกันเท่ากับยอมรับว่าจำเลยเป็นเจ้าของทรัพย์ด้วย ผู้ร้องจึงหามีสิทธิขอให้ปล่อยทรัพย์ไม่

          ผู้รับจำนำร้องขัดทรัพย์ในทรัพย์ที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษานำมาจำนำไม่ได้ เพราะทรัพย์ที่จำนำเป็นของจำเลย แต่เมื่อขายทอดตลาดแล้วต้องชำระหนี้ให้แก่ผู้รับจำนำก่อน 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1451/2503  โจทก์นำยึดสังหาริมทรัพย์เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา  แต่เป็นทรัพย์ซึ่งจำเลยจำนำไว้กับผู้ร้อง  เช่นนี้ เมื่อผู้ร้องร้องเข้ามาหากกองหมายขายทอดตลาดแล้วได้เงินเท่าใดต้องหักใช้หนี้ผู้ร้องก่อน

          ผู้มีสิทธิตามสัญญาจะซื้อขายทรัพย์สินจากจำเลย ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อ จึงไม่สิทธิร้องขัดทรัพย์ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2183/2519  ผู้ร้องตกลงซื้อที่ดินมีโฉนดแต่ยังมิได้ชำระราคาครบถ้วน แม้ผู้ขายจะได้มอบที่ดินให้ครอบครองก็ถือว่า เป็นการครอบครองแทนผู้ขาย กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังเป็นของผู้ขายอยู่ยังมิได้ตกเป็นของผู้ร้อง เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิ์ยึดที่ดินแปลงดังกล่าวขายทอดตลาดชำระหนี้ได้ ผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์
          ถ้าเป็นการทำสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดในที่ดินมือเปล่ากันเอง และผู้ซื้อได้เข้าครอบครองที่ดินแล้ว ดังนี้แม้สัญญาซื้อขายจะตกเป็นโมฆะ เพราะไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ก็ถือว่าผู้ขายได้โอนสิทธิครอบครองที่ดินให้ผู้ซื้อแล้ว โดยการส่งมอบ ผู้ซื้อย่อมได้สิทธิครอบครองที่ดิน มีสิทธิร้องขัดทรัพย์ได้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1078/2520  จำเลยขายที่พิพาทซึ่งเป็นที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่ผู้ร้อง และสละเจตนาครอบครองที่พิพาทให้ผู้ร้องแล้วตั้งแต่วันทำสัญญา ดังนี้ การครอบครองของจำเลยย่อมสิ้นสุดลง ผู้ร้องเข้ายึดถือที่พิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตน จึงได้สิทธิครอบครองทันทีที่จำเลยสละเจตนาครอบครอง ซึ่งการโอนโดยข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 1377, 1378 นั้น มีผลบังคับกันได้ ไม่ต้องมีแบบอยู่ในตัว การที่ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนหาทำให้การซื้อขายเป็นโมฆะไม่

          ทรัพย์ที่ยึดไม่เป็นส่วนควบกับที่ดินของผู้ร้อง ร้องขัดทรัพย์ไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 151/2532  ส.  บิดาผู้ร้องปลูกบ้านโดย ใช้ เงินของ  ส.  และจำเลยซึ่งเป็นมารดาผู้ร้องลงในที่ดินผู้ร้องซึ่ง ขณะปลูกนั้นผู้ร้องอายุไม่เกิน 7 ปี เพื่อใช้ เป็นที่อยู่อาศัยร่วมกัน พอถือได้ว่าปลูกโดยผู้ร้องทั้งสามรู้เห็นยินยอมด้วย กรณีเข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 109 บ้านพิพาทจึงไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดินอันจะถือว่าเป็นของผู้ร้องทั้งสาม ผู้ร้องทั้งสามไม่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์บ้านพิพาทที่โจทก์นำยึด

          แม้จะได้ความว่าทรัพย์ที่ยึดนั้นเป็นของผู้ร้องขัดทรัพย์จริง แต่ถ้าผู้ร้องขัดทรัพย์เป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อ ยอมให้จำเลยซึ่งเป็นตัวแทนแสดงออกนอกหน้าเป็นตัวการนำทรัพย์ดังกล่าวไปจำนอง ผู้ร้องจะร้องขัดทรัพย์ให้เสื่อมสิทธิของผู้รับจำนองไม่ได้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1792/2530  การที่ศาลชั้นต้นตรวจคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้อง เมื่อไม่มีเหตุที่ศาลชั้นต้นจะต้องมีคำสั่งให้คืนไปให้ทำมาใหม่หรือแก้ไขเพิ่มเติมแล้วศาลชั้นต้นก็ต้องสั่งให้รับไว้ คำร้องขัดทรัพย์จะแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาหรือไม่นั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องพิจารณาในชั้นตรวจคำร้องขัดทรัพย์ ตามคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องที่อ้างว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของที่ดินทั้งสามแปลงที่โจทก์นำยึดโดยใส่ชื่อ จำเลยไว้ในโฉนด แทนนั้นหากเป็นความจริงก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องซึ่งเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อ ยอมให้จำเลยผู้เป็นตัวแทนทำการออกหน้าเป็นตัวการนำที่ดินพิพาททั้งสามแปลงไปจำนองกับโจทก์ ผู้ร้องจึงหาอาจทำให้เสื่อมเสียแก่สิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่มีต่อจำเลยผู้เป็นตัวแทนและขวนขวายได้สิทธิมาก่อนที่จะรู้ว่าจำเลยเป็นตัวแทนของผู้ร้องได้ไม่ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์
          ศาลยกคำร้องขัดทรัพย์เพราะไม่มีพยานมาสืบ เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นแห่งคดีแล้ว  ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์อีก เป็นร้องซ้ำ ตามมาตรา  148
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1817/2542   ศาลมีคำสั่งถึงที่สุดให้ยกคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องในคราวก่อนเพราะผู้ร้องไม่มีพยานมาสืบ เท่ากับว่าผู้ร้องไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนข้ออ้างในประเด็นแห่งคดีที่ผู้ร้องนำมาฟ้อง เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นแห่งคดีของผู้ร้องนั้นแล้ว ผู้ร้องจะร้องขัดทรัพย์ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอีกไม่ได้ เป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ.มาตรา 148 และกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 148 (1) เพราะมาตรา 288 (เดิม) ให้ศาลพิจารณาชี้ขาดคดีคำร้องขัดทรัพย์นั้นเหมือนคดีธรรมดา คำร้องของผู้ร้องจึงเป็นคำร้องซ้ำ

          เจ้าหนี้กองมรดก มีสิทธิเพียงได้รับชำระหนี้จากกองมรดกเท่านั้น ไม่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1237/2555  ผู้ร้องกล่าวในคำร้องว่า ผู้ร้องปลูกสร้างบ้านเลขที่ 7/1 บนที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของจำเลยหลังจากจำเลยเสียชีวิตแล้ว แต่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินแปลงดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินรวมถึงบ้านเลขที่ 7/1 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องด้วย จึงเป็นการนำยึดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1734 เจ้าหนี้กองมรดกชอบแต่จะได้รับการชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น หากข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง บ้านเลขที่ 7/1 ย่อมเป็นทรัพย์สินของผู้ร้อง โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กองมรดกของจำเลยหามีสิทธิบังคับชำระหนี้ไม่ การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดบ้านหลังดังกล่าวเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้ปล่อยทรัพย์สินเช่นว่านั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 ชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องทำการไต่สวนคำร้องของผู้ร้องในส่วนนี้

          4. กำหนดเวลาร้องขัดทรัพย์
          ในการยื่นคำร้องขัดทรัพย์จะต้องยื่นคำร้องก่อนขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดนั้น โดยต้องเป็นการขายทอดตลาดที่บริบูรณ์ด้วย การประกาศให้มีการขายทอดตลาดแล้วมีการเลื่อนออกไป ยังไม่ถือว่าเป็นการขายทอดตลาด ผู้ร้องยังมีสิทธิร้องขัดทรัพย์ได้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3030/2528   คำว่า "ก่อนที่ได้เอาทรัพย์สินเช่นว่านี้ออกขายทอดตลาด" ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 (เดิม)  หมายความถึงการขายทอดตลาดบริบูรณ์โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีมีการตกลงด้วยการเคาะไม้หรือด้วยกิริยาอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งตามจารีตประเพณีในการขายทอดตลาด หรือศาลมีคำสั่งให้ขายแล้ว ส่วนการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเพียงแต่นำเรือนพิพาทออกดำเนินการขายทอดตลาด 2 ครั้งแล้วเลื่อนไปประกาศขายทอดตลาดอีกเป็นครั้งที่สามการดำเนินการขายทอดตลาดทั้งสองครั้งยังถือไม่ได้ว่าเป็นการขายทอดตลาดผู้ร้องจึงมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขัดทรัพย์ก่อนการขายทอดตลาดในครั้งที่สามได้

          ถ้ามีการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดจนสำเร็จบริบูรณ์ไปแล้ว ผู้ร้องจึงมายื่นคำร้องว่าทรัพย์ที่ยึดเป็นของผู้ร้องขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาด มีผลเท่ากับขอให้ศาลปล่อยทรัพย์ที่ยึดเกินกำหนดเวลาตามมาตรา 288 (เดิม) จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 835/2549   การร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดที่มีความมุ่งหมายเพื่อได้รับผลที่จะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปล่อยทรัพย์ที่ยึดคืนให้แก่ผู้ร้อง เป็นกรณีที่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 288 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้ต้องยื่นคำร้องต่อศาลก่อนที่ได้เอาทรัพย์ออกขายทอดตลาด คดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการขายทอดตลาดที่ดินเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2543 โดยผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ซื้อได้แต่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดให้แก่ผู้ร้องเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2543 ซึ่งล่วงเลยการเอาทรัพย์นั้นออกขายทอดตลาดไปแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องนี้ได้

          5. ผลของการยื่นคำร้องขัดทรัพย์
          เมื่อได้ยื่นคำร้องขัดทรัพย์แล้ว ผู้ร้องมีหน้าที่นำส่งสำเนาคำร้องให้โจทก์ จำเลยและเจ้าพนักงานบังคับคดี ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับคำร้องแล้ว มีผลให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องงดการขายทอดตลาดไว้ระหว่างรอการพิจารณาและมีคำวินิจฉัยชี้ขาดของสาล
       
          6. การพิจารณาคดีร้องขัดทรัพย์เหมือนคดีธรรมดา
          สำหรับการพิจารณาคดีร้องขัดทรัพย์ ศาลต้องพิจารณาและชี่ขาดตัดสินเหมือนคดีธรรมดา ผู้ร้องขัดทรัพย์จึงมานะเสมือนโจทก์ ส่วนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา(โจทก์เดิม) มีฐานะเสมือนเป็นจำเลย ดังนี้โจทก์เดิมจึงต้องยื่นคำให้การแก้คดี ภายใน 15 วัน นับแต่วันส่งหมายเรียก ถ้าไม่ยื่นในกำหนดถือว่าโจทก์เดิมขาดนัดยื่นคำให้การ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 310/2523  ผู้ร้องขัดทรัพย์ต้องมีคำขอต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้โจทก์ยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์ขาดนัด ถ้าผู้ร้องไม่ยื่นคำขอต่อศาลภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นออกเสียจากสารบบความผู้ร้องจะอ้างว่ามิได้มีเจตนาทิ้งคำร้อง เพราะผู้ร้องได้รับหมายนัดสืบพยานผู้ร้อง จึงเข้าใจว่าโจทก์ยื่นคำให้การแล้วนั้นไม่ได้ เพราะการที่ศาลมีคำสั่งไม่รับคำให้การและให้นัดสืบพยานผู้ร้องไป หามีผลลบล้างให้ผู้ร้องไม่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 198 ไม่
          ถ้าศาลไม่ได้สั่งให้ส่งหมายเรียก หรือกำหนดเวลาให้โจทก์ยื่นคำให้การแก้คำร้องขัดทรัพย์ เพียงแต่นัดพร้อม ดังนี้โจทก์ยื่นคำให้การต่อสู้คดีในวันนัดพร้อมได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 514/2503 (ประชุมใหญ่) ผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์ ศาลสั่งส่งสำเนาให้โจทก์จำเลยและเจ้าพนักงานบังคับคดี และนัดพร้อม ครั้นถึงวันนัดพร้อม คู่ความไม่มีทางตกลงกันได้ ศาลนัดสืบพยานผู้ร้อง ในวันนัดพร้อมนั้นเอง หลังแต่ทำการนัดพร้อมแล้ว โจทก์ยื่นคำให้การแก้คำร้องข้อทรัพย์ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับคำให้การของโจทก์ เช่นนี้ เป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา เพราะตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 บัญญัติให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเหมือนอย่างคดีธรรมดา ย่อมหมายความว่า เมื่อผู้ร้องขัดทรัพย์ได้ยื่นคำร้องขอแล้ว ศาลชั้นต้นชอบที่จะออกหมายเรียกให้โจทก์ยื่นคำให้การแก้คำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้อง แต่เรื่องนี้ศาลชั้นต้นมิได้ส่งหมายเรียกหรือกำหนดเวลาให้โจทก์ยื่นคำให้การแก้คำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้อง จึงไม่มีเหตุที่จะปฏิเสธได้รับคำให้การแก้คดีของโจทก์ได้  
          คำร้องขัดทรัพย์เปรียบเสมือนคำฟ้อง จึงต้องแสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างและอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตามมาตรา 172 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9594/2544  ในการพิจารณาคดีร้องขัดทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 288 วรรคสอง กำหนดว่าศาลต้องพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นเหมือนอย่างคดีธรรมดา ผู้ร้องขัดทรัพย์จึงมีฐานะเสมือนเป็นโจทก์ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา(โจทก์เดิม) มีฐานะเสมือนจำเลย ดังนั้น คำร้องขอของผู้ร้องขัดทรัพย์จึงเปรียบเสมือนคำฟ้อง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่าคำร้องขอของผู้ร้องมิได้แสดงโดยชัดแจ้งว่าทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้รายการใดเป็นของผู้ร้อง จึงเป็นคำฟ้องของผู้ร้องขัดทรัพย์ที่ไม่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นฟ้องเคลือบคลุม แต่ฟ้องเคลือบคลุมในคดีแพ่งก็ไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลจะยกขึ้นพิจารณาเองไม่ได้ โจทก์ซึ่งเป็นเสมือนจำเลยจะต้องต่อสู้เป็นประเด็นไว้ในคำให้การ ทั้งจะต้องให้การโดยชัดแจ้งด้วยว่าฟ้องเคลือบคลุมอย่างไร มิฉะนั้น ไม่เป็นประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยถึง และในคดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นเสมือนจำเลยก็ไม่ได้ให้การต่อสู้คดีว่าคำร้องขอของผู้ร้องขัดทรัพย์เคลือบคลุมแต่อย่างใดการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่าคำร้องขอของผู้ร้องเป็นคำร้องขอที่ขาดสาระสำคัญในเรื่องอำนาจฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่ถูกต้องศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
          จำเลยจะเข้ามาในคดีร้องขัดทรัพย์หรือไม่ก็ได้ แต่ถ้าเข้ามาต้องโต้แย้งคัดค้านคำร้องขัดทรัพย์เป็นประเด็นไว้ มิฉะนั้นไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกา 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 614-615/2514 (ประชุมใหญ่)  ในคดีร้องขัดทรัพย์ ผู้ที่เป็นคู่ความก็คือโจทก์และผู้ร้องขัดทรัพย์จำเลยจะเข้ามาในคดีหรือไม่ก็ได้ เมื่อเข้ามาแล้วมีข้อโต้แย้งคัดค้านคำร้องขัดทรัพย์อย่างไร ต้องตั้งประเด็นขึ้นไว้ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จึงจะใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาในประเด็นที่ตั้งไว้นั้นได้ เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเพียงแต่เข้ามาแทนที่จำเลยโดยไม่มีข้อโต้แย้งคัดค้านอย่างไร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีข้อที่จะยกขึ้นอุทธรณ์ฎีกา จึงอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้

          7. ประเด็นแห่งคดีในชั้นร้องขัดทรัพย์
          ในชั้นร้องขัดทรัพย์ คดีมีประเด็นว่า “ทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้เป็นของจำเลย หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่” (สมควรปล่อยทรัพย์นั้นจาการยึดหรือไม่)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1194/2505   ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 ให้อำนาจแต่เพียงร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ถูกยึด ไม่มีข้อบัญญัติให้ผู้ร้องว่ากล่าวหรือเรียกร้องในกรณีอื่น  เมื่อผู้ร้องขัดทรัพย์หาว่าโจทก์จำเลยทำให้ผู้ร้องเสียหายและเรียกค่าเสียหายจากโจทก์จำเลยเนื่องจากการถูกยึดทรัพย์ ผู้ร้องก็ต้องเสนอข้อหาโดยทำเป็นคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 จะเรียกร้องมาในคำร้องขัดทรัพย์ไม่ได้ 
          จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ทำสัญญารับจ้างเหมาสร้างทางไว้กับผู้ร้องขัดทรัพย์ก่อนถูกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายึดทรัพย์ โดยมีข้อกำหนดในสัญญาว่า "ถ้ามีการเลิกสัญญาโดยผู้รับจ้างเหมาผิดสัญญาด้วยประการใดๆ สัมภาระสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ของผู้รับจ้างเหมาที่นำไปไว้ในบริเวณที่ก่อสร้าง ผู้รับจ้างเหมายอมให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ว่าจ้างทั้งหมด ผู้รับจ้างเหมาจะนำเอาไปไม่ได้"  และมีข้อสัญญาให้ผู้ว่าจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ในเมื่อผู้รับจ้างเหมาผิดสัญญา ดังนี้ เมื่อผู้ร้องขัดทรัพย์ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างได้บอกเลิกสัญญาโดยจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา สัมภาระสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่ถูกยึดโดยเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องขัดทรัพย์ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างตามข้อกำหนดในสัญญา แม้ถึงว่าการบอกเลิกสัญญานั้นจะกระทำภายหลังที่โจทก์ได้ยึดทรัพย์นี้แล้วก็ตาม โจทก์ก็ไม่มีสิทธิให้ขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดนั้นได้
          ศาลจะไปวินิจฉัยในเรื่องอื่นก็ไม่ได้ เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9337/2538   ในชั้นร้องขัดทรัพย์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 กฎหมายประสงค์ให้ศาลที่ออกหมายบังคับคดีชี้ขาดเพียงว่า ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้หรือไม่เท่านั้น จะไปวินิจฉัยว่า ฮ. เจ้ามรดกไม่ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์ไม่ได้ ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาดังกล่าว จึงเป็นการวินิจฉัยคดีนอกประเด็นชั้นร้องขัดทรัพย์

          8. ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีร้องขัดทรัพย์ คือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น กล่าวคือมีการฟ้องคดีที่ศาลไหน ศาลนั้นก็เป็นศาลที่ออกหมายบังคับคดี ต้องร้องขัดทรัพย์ที่ศาลนั้น จะไปร้องขัดทรัพย์ต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีแทนไม่ได้
          ในกรณีคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง  แม้ทุนทรัพย์ที่ร้องขัดทรัพย์จะเกินอำนาจของศาลแขวง  ศาลแขวงก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีร้องขัดทรัพย์ได้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 901/2511  การพิจารณาชั้นร้องขัดทรัพย์ถือเป็นการพิจารณาในเรื่องเดิมที่โจทก์ฟ้องจำเลย ฉะนั้น แม้คดีร้องขัดทรัพย์ ผู้ร้องได้ตั้งจำนวนทุนทรัพย์มา 5,000 บาท(เดิม) ก็หาเกินอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาไม่
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การพิจารณาชั้นร้องขัดทรัพย์ถือเป็นการพิจารณาในเรื่องที่โจทก์ฟ้องจำเลย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 288 วรรคต้น บัญญัติว่าก่อนที่จะเอาทรัพย์สินที่ถูกยึดออกขายทอดตลาด หรือจำหน่ายโดยวิธีอื่น ผู้ร้องอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้ปล่อยทรัพย์สินเช่นว่านั้นได้ ฉะนั้นถึงแม้ว่าคดีนี้ผู้ร้องขัดทรัพย์ได้ตั้งจำนวนทุนทรัพย์มา 5,000 บาทก็หาเกินอำนาจศาลแขวงพิษณุโลกที่จะพิจารณาพิพากษาไม่คำร้องขัดทรัพย์เช่นว่านี้ มาตรา 7(2) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งบัญญัติว่าให้เสนอต่อศาลที่ระบุในมาตรา 302 ซึ่งมาตรา 302 ก็บัญญัติไว้ชัดว่า "ศาลที่มีอำนาจออกหมายบังคับคดี ฯลฯ หรือมีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องใด ๆอันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษา ฯลฯ ซึ่งได้เสนอต่อศาลตามบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ คือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินในชั้นต้น ฯลฯ" ซึ่งสำหรับคดีนี้ก็คือศาลแขวงพิษณุโลก

          9. ทุนทรัพย์ในชั้นร้องขัดทรัพย์ ถือตามราคาทรัพย์ที่ขอให้ปล่อย ไม่ใช่ทุนทรัพย์ที่โจทก์จำเลยพิพาทกันในคดีเดิม
          ราคาทรัพย์สินพิพาทที่จะคิดเป็นทุนทรัพย์นั้น ถือตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีตีราคาไว้ แม้ทรัพย์นั้นติดจำนอง ก็จะหักจำนองออกก่อนไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 653/2513   การร้องขัดทรัพย์ถือเสมือนหนึ่งว่าเป็นการฟ้องคดีซึ่งเริ่มด้วยการยื่นคำร้องขอต้องเสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง คือ ตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีตีราคาไว้  ไม่ใช่เสียตามทุนทรัพย์ที่โจทก์จะได้รับชำระหนี้จากจำเลย  และแม้ทรัพย์นั้นจะติดจำนองอยู่ ก็ต้องเสียค่าขึ้นศาลเต็มราคา จะหักหนี้จำนองออกก่อนไม่ได้
          ศาลฎีกาเห็นว่า การร้องขัดทรัพย์นั้นถือเสมือนหนึ่งว่าเป็นการฟ้องคดีซึ่งเริ่มด้วยการยื่นคำร้องขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 288 ต้องเสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง คือตามราคาที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีตีราคาไว้ ผู้ร้องจะถือเอาทุนทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องมาเป็นหลักสำหรับเสียค่าขึ้นศาลในเรื่องร้องขัดทรัพย์หาได้ไม่ เพราะการร้องขัดทรัพย์นั้นเป็นอีกคดีหนึ่งต่างหากจากคดีเดิม และแม้ที่ดินรายนี้จะติดจำนองที่ดินก็ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องอยู่ ผู้ร้องจะขอให้หักหนี้จำนองออกเพื่อไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลในเงินจำนวนนี้ไม่ได้ เพราะไม่เกี่ยวกับทุนทรัพย์ในเรื่องการร้องขัดทรัพย์แต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์ยึดทรัพย์มีราคามากเกินกว่าที่โจทก์ชนะคดีนั้น ก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์จำเลย หาเกี่ยวกับผู้ร้องไม่
          ทุนทรัพย์ในการอุทธรณ์ หรือฎีกา ก็ต้องถือตามราคาทรัพย์ที่ขอให้ปล่อย ถ้าทรัพย์นั้นเป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ก็ต้องนำราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาคำนวณคิดเป็นทุนทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 306/2513   ผู้ร้องขัดทรัพย์ร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ 2 รายการคือ ที่ดินและเรือนมีทุนทรัพย์รวมกัน 10,000 บาท  (โจทก์นำยึดอ้างว่าที่ดินเป็นของจำเลยที่ 1 เรือนเป็นของจำเลยที่ 2)  แม้ผู้ร้องขัดทรัพย์ฎีกาเฉพาะที่ดินซึ่งมีราคาเพียง 4,000 บาท ก็ต้องถือว่าคดีนี้มีทุนทรัพย์ 10,000 บาทจึงไม่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง

          ซึ่งถ้าศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องขัดทรัพย์ เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ต่อไปได้ ผู้ร้องขัดทรัพย์จะขอให้ทุเลาการบังคับคดีไม่ได้ หากผู้ร้องประสงค์จะให้งดการขายทอดตลาดไว้ก่อน จะต้องยื่นคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างพิจารณา ตามมาตรา 264  ส่วนถ้าเป็นกรณีที่ศาลให้ผู้ร้องขัดทรัพย์ชนะคดี ทางแก้ของโจทก์ ก็คือการขอตามมาตรา 264 จะขอทุเลาการบังคับไม่ได้ เพราะไม่มีการบังคับคดีเช่นกัน