(1) ศาลที่จำเลยหรือผู้ร้องขอมีภูมิลำเนาอยู่ในเขต
(2) ศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น
(3) ศาลที่อสังหาริมทรัพย์ที่ขอบังคับอยู่ในเขต
(4) ไม่อยู่ในเงื่อนไขต้องฟ้องต่อศาลที่กำหนดไว้เป็นพิเศษ
มูลคดี หมายถึง เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้มีอำนาจฟ้องหรือเหตุแห่งการฟ้องร้องนั่นเอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 219/2523 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำบรรยายฟ้องตามที่โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมแล้วนั้นกล่าวถึงการซื้อขายคดีนี้มีใจความว่า ส.ได้สั่งซื้อสินค้ายางรถยนต์ไปจากโจทก์ โดยตกลงจะชำระราคาให้โจทก์เป็นงวด ๆ ตามระยะเวลาที่โจทก์ได้จัดการส่งสินค้าไปถึงสถานที่ประกอบการค้าของ ส. กับจำเลยที่จังหวัดนครปฐมแล้ว โจทก์จึงได้จัดส่งสินค้ายางรถยนต์ตามที่ ส. ได้สั่งซื้อไปยังสถานที่ประกอบการค้าดังกล่าวหลายครั้งหลายคราว ดังนี้ ย่อมเข้าใจได้แล้วว่า ส. ทำคำเสนอ คือสั่งซื้อสินค้ามายังบริษัทโจทก์ในกรุงเทพมหานคร บริษัทโจทก์ก็สนองรับด้วยการจัดส่งสินค้าไปยังร้านของผู้สั่งซื้อที่จังหวัดนครปฐมตามที่ผู้สั่งซื้อกำหนดไว้ แม้ในชั้นพิจารณาก็ไม่ปรากฏว่าผู้ซื้อกับผู้ขายได้ทำสัญญาซื้อขายกันไว้ ณ ที่ใดอีก คงปรากฏหลักฐานแห่งสัญญาซื้อขายจากการที่ฝ่ายผู้ซื้อลงลายมือชื่อไว้ในใบรับของทุกครั้งที่ได้รับของเท่านั้น ดังนี้ ย่อมถือว่าสถานที่รับมอบสินค้าที่สั่งซื้อเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดขึ้นด้วย ที่ศาลจังหวัดนครปฐมเห็นว่ามูลคดีแห่งคดีนี้เกิดขึ้นในเขตศาลจังหวัดนครปฐมนั้นถูกต้องแล้ว
แม้มูลคดีจะเกิดขึ้นในเขตศาลต่างกัน แต่เมื่อมูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกันและจำเลยเป็นคนเดียวกัน ก็ฟ้องที่ศาลเดียวกันได้ ตามมาตรา 5
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2786/2540 มูลคดีที่เกิดขึ้นหมายถึงต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้เกิดอำนาจฟ้องร้องตามสิทธินั้น โจทก์ฟ้องโดยอาศัยเหตุที่จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์เนื่องจากจำเลยขายรถยนต์ซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยให้แก่ผู้อื่นไปโดยโจทก์ไม่ยินยอม ได้ความว่า สัญญาซื้อขายรถยนต์เขียนที่ตำบลหนองหอย จังหวัดเชียงใหม่ แม้จะฟังว่าเป็นสถานที่ซึ่งมูลคดีระหว่างจำเลยกับผู้ซื้อได้เกิดขึ้น แต่ด้วยเหตุเดียวกันนี้หากจำเลยได้ทำสัญญาขายรถยนต์ให้แก่บุคคลภายนอกดังที่โจทก์กล่าวอ้าง ก็เป็นต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิในมูลละเมิดเช่นกัน ทำให้โจทก์เกิดอำนาจฟ้องร้องตามสิทธินั้นขึ้น จังหวัดเชียงใหม่จึงเป็นสถานที่ทีมูลคดีเกิดขึ้น โจทก์ย่อมฟ้องคดีเรียกเงินอันได้จากการขายรถยนต์ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ ส่วนการซื้อขายรถยนต์อีกคันหนึ่งสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำทำที่ตำบลหนองหลวง จังหวัดตาก โดยผู้จะซื้อเป็นคนละคนกับที่ซื้อคันแรก สัญญาทำกันคนละปี หากจะฟังว่าได้ทำสัญญาจะซื้อขายไว้ ก็เป็นเรื่องการซื้อขายที่จังหวัดตาก มูลคดีอันเป็นต้นเหตุแห่งการโต้แย้งสิทธิมิใช่เกิดที่เขตอำนาจของศาลจังหวัดเชียงใหม่
โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยประพฤติผิดสัญญาหรือข้อตกลงในการจดทะเบียนหย่า ดังนั้น สถานที่ที่ได้มีการจดทะเบียนหย่าและทำบันทึกข้อตกลงในเรื่องการใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองของจำเลยจึงถือได้ว่าเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดขึ้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6155/2540 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อแรกต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่าโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดสระบุรีได้หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(1) บัญญัติว่า คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ ปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ระบุว่า จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 51 หมู่ 4 ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ซึ่งอยู่ในเขตศาลจังหวัดปทุมธานี โจทก์มิได้ฟ้องคดีต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลจึงต้องพิจารณาต่อไปว่า ศาลจังหวัดสระบุรีเป็นศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองนั้นเป็นการได้มาโดยความยินยอมในกรณีหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1520 และมาตรา 1566(6) อันเป็นการได้อำนาจปกครองมาโดยข้อสัญญา การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองของจำเลยโดยอ้างเหตุแห่งการฟ้องร้องว่าจำเลยปล่อยปละละเลยไม่ทำหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครอง จึงเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยประพฤติผิดสัญญาหรือข้อตกลงในการจดทะเบียนหย่า ดังนั้น สถานที่ที่ได้มีการจดทะเบียนหย่าและทำบันทึกข้อตกลงในเรื่องการใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองของจำเลยจึงถือได้ว่าเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล เมื่อได้ความว่าโจทก์และจำเลยได้จดทะเบียนการหย่าและทำบันทึกข้อตกลงหลังทะเบียนการหย่าที่สำนักงานเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร จึงต้องถือว่ามูลคดีนี้เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครศาลจังหวัดสระบุรีจึงหาใช่ศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลแต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงไม่อาจนำคดีมาฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดสระบุรีได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8304/2544 โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับชำระหนี้ตามเช็คอันมีมูลหนี้มาจากการซื้อขายหุ้นในบริษัท ก. ตั้งอยู่ที่จังหวัดปัตตานี ส่วนจำเลยให้การว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันการติดตามลูกหนี้ของบริษัท ก. จึงเห็นได้เหตุที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิเป็นหนี้เกี่ยวกับกิจการของบริษัท ก. ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นศาลมูลคดีเกิดด้วยศาลหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดปัตตานี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1793/2548 แม้จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี และได้ทำคำขอ / สัญญาการใช้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูลาร์อันมีลักษณะเป็นคำเสนอต่อตัวแทนของโจทก์ที่จังหวัดจันทบุรี แต่ตัวแทนของโจทก์ส่งคำขอให้โจทก์ตรวจสอบและอนุมัติการทำสัญญากับจำเลยที่ภูมิลำเนาของโจทก์ซึ่งอยู่ในเขตศาลแขวงพระนครเหนือ และโจทก์เป็นผู้เปิดสัญญาณดังกล่าวอันมีลักษณะเป็นคำสนองที่ก่อให้เกิดความผูกพันตามสัญญาระหว่างกัน ทั้งยังเป็นต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันทำให้โจทก์เกิดอำนาจฟ้อง มูลคดีย่อมเกิดขึ้นในศาลแขวงพระนครเหนืออีกศาลหนึ่งโจทก์ชอบที่จะเสนอคำฟ้องต่อศาลแขวงพระนครเหนือได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2916/2548 โจทก์ทำสัญญาซื้อขายเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากับจำเลยทั้งสามที่บริษัทจำเลยที่ 3 ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานครโดยมีข้อตกลงให้จำเลยทั้งสามนำเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไปส่งมอบและติดตั้งให้แก่โจทก์ ณ จังหวัดราชบุรี พร้อมด้วยเงื่อนไขว่า เครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะต้องเดินเครื่องยนต์และจ่ายกระแสไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องตามคุณสมบัติที่ตกลงกัน โจทก์จึงจะชำระราคาที่เหลือให้แก่จำเลยทั้งสาม เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสามนำเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามข้อกำหนดในสัญญาไปส่งมอบและติดตั้งอันเป็นการผิดสัญญา ก็เท่ากับมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาซื้อขายดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขในการส่งมอบและติดตั้งจังหวัดราชบุรี จึงเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดขึ้นอีกแห่งหนึ่งด้วย โจทก์ย่อมฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลจังหวัดราชบุรีขอให้คืนเงินค่าสินค้าที่ชำระไปแล้วแก่โจทก์และขนย้ายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าออกไปได้
ภูมิลำเนา มีความหมายตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามมาตรา 37 ถึงมาตรา 47 และเรื่องภูมิลำเนาของนิติบุคคลอยู่ในมาตรา 68 ถึงมาตรา 69
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 484/2507 ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ไม่ได้จดทะเบียนสาขาบริษัทเป็นบริษัทอีกต่างหากนั้นเห็นว่าอันบริษัทจำกัดนั้น นอกจากสำนักงานใหญ่แล้วจะมีสำนักงานสาขาที่ใดอีกก็ได้ และสาขาบริษัทก็คือส่วนหนึ่งของบริษัทนั้นนั่นเอง จึงไม่ต้องมีการจดทะเบียนให้สาขาเป็นบริษัทขึ้นอีก คดีนี้โจทก์เรียกจำเลยที่ 2 ว่า "บริษัทธนาคาร ม.จำกัด สาขาภูเก็ต" และกล่าวความในฟ้องถึงธนาคาร ม. จำกัดไว้ต่าง ๆ นั้น ต้องถือว่าโจทก์ฟ้องธนาคาร ม. จำกัด นั่นเอง หาใช่ฟ้องบุคคลอื่นใดไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2983/2550 ภูมิลำเนาของผู้ที่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลหรือตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่ เรือนจำหรือทัณฑสถานที่ถูกจำคุกอยู่จนกว่าจะได้รับการปล่อยตัว การที่จำเลยต้องคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและต้องอยู่ที่เรือนจำพิเศษมีนบุรีนั้น เมื่อคำพิพากษาของศาลชั้นต้นยังไม่ถึงที่สุดเพราะโจทก์อุทธรณ์ เรือนจำพิเศษมีนบุรีจึงหาใช่ภูมิลำเนาของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 47 ไม่ ทั้งการที่จำเลยต้องอยู่ที่เรือนจำพิเศษมีนบุรีก็มิใช่เป็นการย้ายถิ่นที่อยู่ของจำเลยด้วยเจตนาปรากฏชัดแจ้งว่าจะเปลี่ยนภูมิลำเนาตาม ป.พ.พ. มาตรา 41 ด้วย และกรณีของจำเลยก็ไม่ต้องด้วยการที่บุคคลใดเลือกเอาถิ่นใดโดยมีเจตนาปรากฏชัดแจ้งว่าจะให้เป็นภูมิลำเนาเฉพาะการเพื่อทำการใดอันจะถือว่าเรือนจำพิเศษมีนบุรีเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการสำหรับการนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 42 อีกเช่นกัน ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้จำเลยตามภูมิลำเนาของจำเลยที่ปรากฏในทะเบียนราษฎร์นั้น จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นได้ส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แก่จำเลยอันมีสถานที่อยู่เป็นแหล่งสำคัญตาม ป.พ.พ. มาตรา 37 การส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แก่จำเลยดังกล่าวจึงชอบแล้ว
การกำหนดเขตศาลแพ่งและภูมิลำเนาเป็นกรณีพิเศษเพื่อประโยชน์ในการเสนอคำฟ้อง
มาตรา 3 "เพื่อประโยชน์ในการเสนอคำฟ้อง
(1) ในกรณีที่มูลคดีเกิดขึ้นในเรือไทยหรืออากาศยานไทยที่อยู่นอกราชอาณาจักรให้ศาลแพ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจ
(2) ในกรณีที่จำเลยไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร
(ก) ถ้าจำเลยเคยมีภูมิลำเนาอยู่ ณ ที่ใดในราชอาณาจักรภายในกำหนดสองปีก่อนวันที่มีการเสนอคำฟ้อง ให้ถือว่าที่นั้นเป็นภูมิลำเนาของจำเลย
(ข) ถ้าจำเลยประกอบหรือเคยประกอบกิจการทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในราชอาณาจักรไม่ว่าโดยตนเองหรือตัวแทน หรือโดยมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการนั้นในราชอาณาจักร ให้ถือว่าสถานที่ที่ใช้หรือเคยใช้ประกอบกิจการหรือติดต่อดังกล่าว หรือสถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่ของตัวแทนหรือของผู้ติดต่อในวันที่มีการเสนอคำฟ้องหรือภายในกำหนดสองปีก่อนนั้น เป็นภูมิลำเนาของจำเลย"
มาตรา 3 (1) มีหลักเกณฑ์คือ
1.ในกรณีที่มูลคดีเกิดขึ้นในเรือไทยหรืออากาศยานไทย
2.เป็นเรือไทยหรืออากาศยานไทยที่อยู่นอกราชอาณาจักร
3. สามารถนำคดีไปฟ้องที่ศาลแพ่งได้
ส่วนมาตรา 3 (2) เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับภูมิลำเนาของจำเลยเพื่อประโยชน์ในการเสนอคำฟ้อง แยกเป็น 2 กรณี คือ
(ก) ถ้าจำเลยเคยมีภูมิลำเนาอยู่ ณ ที่ใดในราชอาณาจักรภายในกำหนดสองปีก่อนวันที่มีการเสนอคำฟ้อง ให้ถือว่าที่นั้นเป็นภูมิลำเนาของจำเลย
(ข) ถ้าจำเลยประกอบหรือเคยประกอบกิจการทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในราชอาณาจักรไม่ว่าโดยตนเองหรือตัวแทน หรือโดยมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการนั้นในราชอาณาจักร ให้ถือว่าสถานที่ที่ใช้หรือเคยใช้ประกอบกิจการหรือติดต่อดังกล่าว หรือสถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่ของตัวแทนหรือของผู้ติดต่อในวันที่มีการเสนอคำฟ้องหรือภายในกำหนดสองปีก่อนนั้น เป็นภูมิลำเนาของจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4580/2542 บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 3 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลที่ให้โอกาสโจทก์ที่จะเสนอคำฟ้องต่อศาลในกรณีที่จำเลยไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรได้หากจำเลยประกอบหรือเคยประกอบกิจการทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในราชอาณาจักรทั้งโดยตนเองหรือตัวแทนหรือเพียงแต่จำเลยมีผู้ติดต่อในการประกอบกิจการในราชอาณาจักรเท่านั้น ก็ถือว่าสถานที่ที่ใช้หรือเคยใช้ประกอบกิจการหรือติดต่อดังกล่าวหรือสถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่ของตัวแทนหรือของผู้ติดต่อในวันที่มีการเสนอคำฟ้องหรือภายในกำหนด 2 ปี ก่อนนั้นเป็นภูมิลำเนาของจำเลย ซึ่งโจทก์สามารถเสนอคำฟ้องต่อศาลที่สถานที่ดังกล่าวอยู่ในเขตศาลได้ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการขนส่งของจำเลยที่ 1 โดยเป็นผู้ติดต่อในการนำเรือให้ถึงท่าปลายทางและติดต่อนำเรือออกจากท่าปลายทางตลอดจนการติดต่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนเรือในกิจการขนส่งทางทะเลอันเป็นธุรกิจบริการของจำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ใช่ผู้ร่วมขนส่งกับจำเลยที่ 1 แต่ก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการขนส่งของจำเลยที่ 1 ในราชอาณาจักรเมื่อปรากฏตามคำฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการของจำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาในเขตศาลแพ่งกรุงเทพใต้ จึงถือว่าภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 เป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้อันเป็นศาลที่ถือว่าจำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(1) ได้ โจทก์ได้ทำสัญญาประกันภัยทางทะเลกับบริษัทผู้เอาประกันภัย ซึ่งเป็นผู้รับตราส่งสินค้าที่เอาประกันภัยดังกล่าว เมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยดังกล่าวแก่บริษัทผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้รับตราส่งสินค้าที่เอาประกันภัย โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของผู้รับตราส่งมาฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งสินค้าดังกล่าวได้ การรับประกันภัยของโจทก์เป็นการรับประกันภัยสินค้าตามจำนวนหน่วย การระบุน้ำหนักไว้เป็นเพียงให้ทราบถึงน้ำหนักของสินค้ารวมทุกหน่วยเท่านั้น และความเสียหายที่เกิดแก่สินค้าเป็นกรณีที่สินค้านั้นสูญหายไปบางส่วนจำนวน 10 หน่วยและสินค้าเสียหายเพราะเหล็กบุบย่นไปบางส่วน ซึ่งตามสัญญาประกันภัยได้ให้ความคุ้มครอง โจทก์ผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยทางทะเลต่อผู้รับตราส่งซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยแม้โจทก์จะรับประกันภัยสินค้าที่ขนส่งทางทะเลไว้จากผู้รับตราส่งภายหลังจากที่เรือซึ่งรับขนส่งสินค้าดังกล่าวออกเดินทางจากท่าเรือต้นทางแล้วก็ตาม แต่ก็ปรากฏว่าเรือดังกล่าวถึงท่าปลายทางภายหลังวันที่โจทก์รับประกันภัยสินค้าที่ขนส่งทางทะเล ซึ่งจำเลยที่ 1 มิได้นำสืบโต้แย้งว่าความเสียหายมิได้เกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งของจำเลยที่ 1 และมิได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวโดยโจทก์รู้อยู่แล้วเช่นนั้นยังจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับตราส่งไปการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของโจทก์แก่ผู้รับตราส่งจึงเป็นการชำระหนี้ไปตามความรับผิดตามสัญญาประกันภัยทางทะเล หาใช่การชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระและไม่สุจริต เมื่อโจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนความเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นเจ้าหนี้และเป็นผู้รับตราส่งสำหรับสินค้าที่เอาประกันภัยแล้ว โจทก์ในฐานะลูกหนี้ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของผู้รับตราส่งผู้เป็นเจ้าหนี้มาเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1ผู้ขนส่งซึ่งต้องรับผิดต่อผู้รับตราส่ง จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งสินค้าที่เอาประกันภัยไว้จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้รับช่วงสิทธิของผู้รับตราส่ง บทบัญญัติมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534เป็นเรื่องการคำนวณราคาของที่สูญหายหรือเสียหายว่าผู้ขนส่งของทางทะเลจะต้องรับผิดตามสัญญารับขนของทางทะเลเพียงใด ไม่อาจนำมาใช้บังคับแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยทางทะเลได้
หลักทั่วไปใช้ภูมิลำเนาและมูลคดีเป็นที่เสนอคำฟ้อง
มาตรา 4 "เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น
(1) คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่
(2) คำร้องขอ ให้เสนอต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล หรือต่อศาลที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล"
คำฟ้องต้องยื่นต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล กรณีที่จำเลยมีภูมิลำเนาหลายแห่งหรือมีมูลคดีเกิดขึ้นหลายแห่ง ก็สามารถฟ้องที่ศาลใดศาลหนึ่งที่เกี่ยวข้องก็ได้ ส่วนคำร้องขอ ให้ยื่นต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล หรือต่อศาลที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล ศาลใดศาลหนึ่งก็ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 447/2540 จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนในประเทศไทย มีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร แม้สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยจะทำขึ้นในต่างประเทศ และจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดที่จดทะเบียนในต่างประเทศย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ศาลแพ่งอันเป็นศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 4 (1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4443/2546 คำว่า "มูลคดีเกิด" ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 (1) หมายถึง ต้นเหตุอันเป็นที่มาของคำฟ้อง โจทก์ฟ้องหย่าจำเลย ต้นเหตุของคำฟ้องคือเหตุหย่า ส่วนการจดทะเบียนสมรสเป็นต้นเหตุของความเป็นสามีภริยากัน สถานที่จดทะเบียนสมรสจึงมิใช่เป็นสถานที่มูลคดีของเหตุฟ้องหย่าเกิด เมื่อโจทก์จำเลยพักอาศัยอยู่บ้านเดียวกันที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จำเลยได้กระทำการเป็นปรปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยา โดยทำร้ายร่างกายโจทก์และขับไล่โจทก์ออกจากบ้าน อันเป็นเหตุฟ้องหย่า จังหวัดนครศรีธรรมราช จึงเป็นสถานที่มูลคดีของเหตุฟ้องหย่าเกิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7788/2546 (ประชุมใหญ่) ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า คำว่า มูลคดี หมายถึงต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์เกิดอำนาจฟ้อง แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ที่ว่า ในทางบัญชีหลังจากจำเลยได้ทำสัญญาและรับบัตรเครดิตไปจากโจทก์จำเลยใช้บัตรเครดิตชำระค่าสินค้าและบริการหลายครั้งหลายหน ประกอบสำเนาใบสมัครสมาชิกบัตรเครดิตกรุงไทยเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 4 ที่ระบุว่า สถานที่รับบัตรเครดิตคือธนาคารกรุงไทย สาขาหนองคาย มิใช่ที่สำนักงานใหญ่ของโจทก์ ดังนั้นการอนุมัติและการออกบัตรเครดิตจึงเป็นเพียงขั้นตอนปฏิบัติระหว่างโจทก์สำนักงานใหญ่กับสาขาหนองคาย เมื่อจำเลยทำสัญญาและรับบัตรเครดิตจากโจทก์สาขาหนองคายอันเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จำเลยจะสามารถนำบัตรเครดิตของโจทก์ไปชำระหนี้ค่าสินค้าและบริการจนเป็นเหตุพิพาทซึ่งเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิและมูลหนี้ตามฟ้อง หากปราศจากเหตุและขั้นตอนสุดท้ายดังกล่าวเสียแล้วโจทก์จำเลยย่อมไม่มีนิติสัมพันธ์เกี่ยวกับบัตรเครดิตหรือสินเชื่อต่อกัน เช่นนี้ มูลคดีนี้มิได้เกิดในเขตศาลชั้นต้น ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฟ้องโจทก์จึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1864/2548 โจทก์และห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. ทำสัญญาจ้าแรงงานเพื่อว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคาร โดยทำสัญญาและก่อสร้างอาคารดังกล่าวที่จังหวัดเชียงใหม่ และจำเลยได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบให้โจทก์ตามมูลหนี้ค่าก่อสร้างเกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงานถือว่ามูลหนี้ตามเช็คเกิดจากสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิที่ทำให้โจทก์เกิดอำนาจฟ้อง มูลหนี้จึงเกิดขึ้นในเขตศาลจังหวัดเชียงใหม่ โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5477/2550 ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) บัญญัติว่า คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาญาจักรหรือไม่ ตามบทบัญญัติดังกล่าว คำว่า มูลคดี หมายถึง ต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์เกิดอำนาจฟ้อง ตามคำฟ้องของโจทก์ระบุว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทระบุชื่อ อ. เป็นผู้รับเงินเพื่อคืนเงินที่ อ. ได้ร่วมลงทุนซื้อที่ดินกับจำเลยจำนวน 140,000 บาท ให้แก่ อ. เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดวันสั่งจ่าย อ. นำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน แม้จะถือว่า อ. เป็นผู้เสียหายในขณะที่เช็คพิพาทถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายก็ตาม แต่เมื่อได้ความว่า อ. ได้โอนเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ โดยสลักหลังเช็คพิพาทและส่งมอบแก่โจทก์ โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงและมีสิทธิเช่นเดียวกับ อ. ในอันที่จะบังคับเอาแก่จำเลยซึ่งมีความผูกพันอยู่แล้วก่อนตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 967 วรรคสาม ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายให้ชำระเงินตามเช็คแก่โจทก์ได้ ความรับผิดของจำเลยเกิดขึ้นเมื่อเช็คพิพาทถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ดังนั้น สถานที่ที่เช็คถูกปฏิเสธการจ่ายเงินย่อมเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดด้วย เมื่อธนาคารตามเช็คที่ถูกปฏิเสธการจ่ายเงินตั้งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ย่อมถือได้ว่ามูลคดีนี้เกิดขึ้นในเขตศาลชั้นต้น โจทก์จึงมีอำนาจเสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว
คดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์
มาตรา 4 ทวิ "คำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ให้เสนอต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ หรือต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล"
ถ้าเป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์แล้ว การยื่นฟ้องก็เป็นไปตามมาตรา 4 ทวิ ซึ่งเป็นข้อยกเว้นมาตรา 4 คือให้ยื่นฟ้องที่
(1) ศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล หรือ
(2) ศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล
คดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หมายความว่า คดีที่การใช้สิทธิเรียกร้องที่จะต้องบังคับหรือพิจารณาเกี่ยวด้วยตัวอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ เป็นการฟ้องบังคับที่ตัวอสังหาริมทรัพย์เข้ามาเกี่ยวข้องในการที่จะต้องถูกบังคับตามคำขอนั้นด้วย เช่น ฟ้องบังคับให้โอนที่ดิน ฟ้องบังคับจำนอง ฟ้องขอให้เปิดทางภาระจำยอมหรือทางจำเป็น ส่วนสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้น คือ ทรัพยสิทธิ์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1134/2514 ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากบ้านพิพาท เป็นคำฟ้องเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เสนอคำฟ้องต่อศาลที่บ้านพิพาทตั้งอยู่ในเขตศาลได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2334/2517 คำฟ้องเรียกเงินค่าขายที่ดิน มิได้บ่งถึงการที่จะบังคับแก่ตัวทรัพย์คือที่ดินนั้น จึงไม่ใช่คำฟ้องที่เกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิหรือประโยชน์ใดๆ อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1783/2527 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องสูญเสียที่ดินของโจทก์ไป จำเลยให้การต่อสู้ว่า ที่ดินที่พิพาทเป็นที่สาธารณะ มิใช่ของโจทก์ และจำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ แม้จำเลยจะมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ว่าที่ดินเป็นของจำเลย และตามคำฟ้องของโจทก์มิได้มีคำขอที่จะบังคับแก่ที่ดินที่พิพาท แต่การที่จะพิจารณาว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ก็จะต้องพิจารณาด้วยว่าที่ดินที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ อันเป็นการพิจารณาถึงความเป็นอยู่แห่งอสังหาริมทรัพย์ จึงเป็นคดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 680/2532 การที่โจทก์ฟ้องบังคับจำนองแก่ที่ดินที่จำเลยที่ 2 นำมาจำนองประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 นั้น จะต้องพิจารณาว่าโจทก์มีสิทธิบังคับจำนองได้หรือไม่ จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์หรือไม่ และจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ อันเป็นการพิจารณาถึงสิทธิที่โจทก์จะฟ้องขอให้บังคับจำนอง คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดเชียงใหม่ก็ตาม แต่เมื่อที่ดินที่จำนองอยู่ที่กรุงเทพมหานคร โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลที่ทรัพย์ตั้งอยู่ในเขตได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4657/2532 คดีฟ้องให้ส่งมอบที่ดินตามสัญญาซื้อขาย เป็นคดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ต้องยื่นคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 683/2534 โจทก์ฟ้องเรียกเงินมัดจำตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคืน กับเรียกค่าเสียหายเพราะจำเลยผิดสัญญาและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว เป็นการฟ้องให้บังคับตัวจำเลยเป็นหนี้เหนือบุคคลไม่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เพราะไม่ได้ฟ้องขอให้บังคับเกี่ยวกับตัวทรัพย์ดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3287/2537 ที่โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ตกลงเลิกสัญญาซื้อขายที่ดินกับจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 1 ตกลงชดใช้เงินให้แก่โจทก์จำนวนหนึ่ง และจำเลยที่ 1 นำน.ส.3 ก. และ น.ส.3 มอบให้โจทก์ไว้เพื่อนำออกขายเอาเงินมาชำระหนี้โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันนำ น.ส.3 ก. และ น.ส.3ดังกล่าวไปจดทะเบียนโอนขายให้จำเลยที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 แล้วยักยอกเงินค่าที่ดินเป็นประโยชน์ส่วนตนนั้น คำฟ้องส่วนนี้มิใช่คำฟ้องที่เกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิหรือประโยชน์ใด ๆ อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา4 ทวิ แต่เป็นคำฟ้องเกี่ยวกับหนี้เหนือบุคคลซึ่งต้องฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3530/2542 โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย และขอให้บังคับจำนองแก่ที่ดินของจำเลยด้วย คำฟ้องบังคับจำนองที่ดินเช่นนี้ย่อมเป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากจะต้องมีการบังคับคดีแก่ตัวทรัพย์นั้น โจทก์จึงมีสิทธิเสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาลได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 4 ทวิ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10342/2551 การฟ้องขอให้จำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองไถ่ถอนจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 737 แม้เป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ แต่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 ทวิ โจทก์ผู้รับจำนองจะเลือกฟ้องต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาก็ได้
คดีที่ภูมิลำเนาจำเลยและมูลคดี มิได้อยู่ในราชอาณาจักร
มาตรา 4 ตรี "คำฟ้องอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 ทวิ ซึ่งจำเลยมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรและมูลคดีมิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักร ถ้าโจทก์เป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ให้เสนอต่อศาลแพ่งหรือต่อศาลที่โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล
คำฟ้องตามวรรคหนึ่ง ถ้าจำเลยมีทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีได้อยู่ในราชอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นการชั่วคราวหรือถาวร โจทก์จะเสนอคำฟ้องต่อศาลที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในเขตศาลก็ได้"
คดีร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก
มาตรา 4 จัตวา "คำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดก ให้เสนอต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย
ในกรณีที่เจ้ามรดกไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ให้เสนอต่อศาลที่ทรัพย์มรดกอยู่ในเขตศาล"
คดีร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกผู้ร้องอาจยื่นคำร้องต่อศาลหนึ่งศาลใดดังนี้
(1) ศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย โดยไม่ต้องพิจารณาว่าเจ้ามรดกถึงแก่ความตายในเขตศาลใด และถ้าเจ้ามรดกมีภูมิลำเนาหลายแห่งก็สามารถเลือกยื่นต่อศาลที่มีภูมิลำเนาแห่งใดก็ได้
(2) กรณีเจ้ามรดกไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ต้องยื่นต่อศาลที่ทรัพย์มรดกอยู่ในเขตศาล
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5912/2539 แม้ผู้ตายมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่จังหวัดพิจิตรและผู้ตายถึงแก่ความตายที่จังหวัดพิจิตร แต่ผู้ตายก็ได้อยู่กินเป็นสามีภริยากับผู้ร้องจนมีบุตรด้วยกันถึง 4 คนที่จังหวัดสมุทรปราการ รวมทั้งผู้ตายได้ซื้อที่ดินไว้ที่จังหวัดสมุทรปราการ แสดงว่าผู้ตายมีบ้านที่จังหวัดสมุทรปราการเป็นสถานที่อยู่อันเป็นแหล่งสำคัญอีกแห่งหนึ่งด้วย บ้านที่จังหวัดสมุทรปราการจึงเป็นภูมิลำเนาของผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 37 ดังนั้น ผู้ร้องจึงมีสิทธิเสนอคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 จัตวา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11216/2558 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกสามราย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 จัตวา วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "คำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกให้เสนอต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย" แต่เจ้ามรดกทั้งสามรายมีภูมิลำเนาต่างท้องที่กัน ตามมาตรา 5 บัญญัติว่า "คำฟ้องหรือคำร้องขอซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะภูมิลำเนาของบุคคลก็ดี เพราะที่ตั้งของทรัพย์สินก็ดี เพราะสถานที่ที่เกิดมูลคดีก็ดี หรือเพราะมีข้อหาหลายข้อก็ดี ถ้ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์หรือผู้ร้องจะเสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลใดศาลหนึ่งเช่นว่านั้นได้" เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าเจ้ามรดกทั้งสามรายมีทรัพย์สินอันเป็นมรดกร่วมกัน ย่อมถือได้ว่าคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสามรายดังกล่าวมีมูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกันพอที่จะพิจารณารวมกันได้ ผู้ร้องย่อมมีอำนาจที่จะยื่นคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสามรายต่อศาลชั้นต้นเดียวกัน
คดีที่ร้องขอเกี่ยวกับนิติบุคคล
มาตรา 4 เบญจ "คำร้องขอเพิกถอนมติของที่ประชุมหรือที่ประชุมใหญ่ของนิติบุคคล คำร้องขอเลิกนิติบุคคล คำร้องขอตั้งหรือถอนผู้ชำระบัญชีของนิติบุคคล หรือคำร้องขออื่นใดเกี่ยวกับนิติบุคคล ให้เสนอต่อศาลที่นิติบุคคลนั้นมีสำนักงานแห่งใหญ่อยู่ในเขตศาล"
คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ต้องจัดการในราชอาณาจักร
มาตรา 4 ฉ "คำร้องขอเกี่ยวกับทรัพย์สินที่อยู่ในราชอาณาจักรก็ดี คำร้องขอที่หากศาลมีคำสั่งตามคำร้องขอนั้นจะเป็นผลให้ต้องจัดการหรือเลิกจัดการทรัพย์สินที่อยู่ในราชอาณาจักรก็ดี ซึ่งมูลคดีมิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักรและผู้ร้องไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรให้เสนอต่อศาลที่ทรัพย์สินดังกล่าวอยู่ในเขตศาล"กรณีศาลที่มีอำนาจเหนือคดีนั้นมีหลายศาล จะยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอศาลใดก็ได้
มาตรา 5 "คำฟ้องหรือคำร้องขอซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้นไม่ว่าจะเป็นเพราะภูมิลำเนาของบุคคลก็ดี เพราะที่ตั้งของทรัพย์สินก็ดี เพราะสถานที่ที่เกิดมูลคดีก็ดี หรือเพราะมีข้อหาหลายข้อก็ดี ถ้ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์หรือผู้ร้องจะเสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลใดศาลหนึ่งเช่นว่านั้นก็ได้"
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2403/2523 การที่ศาลแพ่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลแพ่งไปแล้ว แต่ยังดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่นอกเขตศาลแพ่งต่อไปได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1078/2526 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งมีภูมิลำเนาในเขตศาลแพ่งอ้างว่าเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์โดยสารที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จึงเป็นกรณีที่มูลความแห่งคดีไม่อาจแบ่งแยกกันได้ โจทก์จึงเสนอคำฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแพ่งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 5 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 99/2524 จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการค้าเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่การติดต่อซื้อขายไม้รายพิพาทโจทก์เคยติดต่อกับจำเลยที่ 1 ที่บ้านเลขที่ 195 ถนนข้าวสาร กรุงเทพมหานคร ถือได้ว่าบ้านเลขที่ 195 ดังกล่าว เป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 อีกแห่งหนึ่งในการติดต่อค้าขาย กับโจทก์ในกรุงเทพมหานคร และในกรณีเช่นนี้ แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานครโจทก์ก็ย่อมฟ้อง จำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(2) และ มาตรา 5 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8647/2544 อ. ก. และ ป. เจ้ามรดกทั้งสามรายมีทรัพย์สินอันเป็นมรดกร่วมกัน คือที่ดินน.ส. 3 ที่จังหวัดมหาสารคาม ย่อมถือได้ว่าคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสามรายดังกล่าวมีมูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกันพอที่พิจารณารวมกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 5 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของ อ. และ ก. ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดมหาสารคามในขณะที่ถึงแก่ความตาย ตามมาตรา 4 จัตวา และขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกของ ป. ซึ่งไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดมหาสารคามมาในคำร้องเดียวกันได้
การเสนอคดีที่เกี่ยวเนื่องกับคดีเดิม
มาตรา 7 "บทบัญญัติในมาตรา 4 มาตรา 4 ทวิ มาตรา 4 ตรี มาตรา 4 จัตวา มาตรา 4 เบญจ มาตรา 4 ฉ มาตรา 5 และมาตรา 6 ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติดังต่อไปนี้
(1) คำฟ้องหรือคำร้องขอที่เสนอภายหลังเกี่ยวเนื่องกับคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลใด ให้เสนอต่อศาลนั้น
(2) คำฟ้องหรือคำร้องขอที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลซึ่งคำฟ้องหรือคำร้องขอนั้นจำต้องมีคำวินิจฉัยของศาลก่อนที่การบังคับคดีจะได้ดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้องนั้น ให้เสนอต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีตามมาตรา 302
(3) คำร้องตามมาตรา 101 ถ้าได้เสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลใดแล้วให้เสนอต่อศาลนั้น ในกรณีที่ยังไม่ได้เสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลใด ถ้าพยานหลักฐานซึ่งจะเรียกมาสืบหรือบุคคลหรือทรัพย์หรือสถานที่ที่จะต้องตรวจอยู่ในเขตศาลใด ให้เสนอต่อศาลนั้น
(4) คำร้องที่เสนอให้ศาลถอนคืนหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือการอนุญาตที่ศาลได้ให้ไว้ก็ดี คำร้องที่เสนอให้ศาลถอดถอนบุคคลใดจากฐานะที่ศาลได้แต่งตั้งไว้ก็ดี คำร้องที่เสนอให้ศาลมีคำสั่งใดที่เกี่ยวกับการถอนคืนหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือการอนุญาตหรือที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งเช่นว่านั้นก็ดี คำร้องขอหรือคำร้องอื่นใดที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งไปแล้วก็ดี ให้เสนอต่อศาลในคดีที่ได้มีคำสั่งการอนุญาต การแต่งตั้ง หรือคำพิพากษานั้น"