ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 197 "เมื่อจำเลยได้รับหมายเรียกให้ยื่นคำให้การแล้ว จำเลยมิได้ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามกฎหมายหรือตามคำสั่งศาล ให้ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ"
1. จำเลยตามมาตรา 197 ที่ได้รับหมายเรียกให้ยื่นคำให้การแล้ว ที่มีหน้าที่ต้องยื่นคำให้การแก้คดีได้แก่คู่ความดังต่อไปนี้
(1) จำเลยที่ถูกโจทก์ฟ้อง มาตรา 177 วรรคหนึ่ง "เมื่อได้ส่งหมายเรียกและคำฟ้องให้จำเลยแล้ว ให้จำเลยทำคำให้การเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายในสิบห้าวัน" จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องยื่นคำให้การภายในกำหนด 15 วันนับแต่ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ถ้าไม่ยื่นก็ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
(2) โจทก์ที่ถูกจำเลยฟ้องแย้ง โจทก์เดิมที่ฟ้องจำเลยเมื่อถูกจำเลยฟ้องแย้ง โจทก์เดิมก็มีฐานะเป็นจำเลยในส่วนฟ้องแย้ง จึงมีหน้าที่ต้องยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้ส่งคำให้การถึงโจทก์ ตามาตรา 178 วรรคหนึ่ง ถ้าโจทก์ไม่ยื่นคำให้การแก้ฟ้องนั้น มาตรา 199 ฉ บัญญัติว่า "ในกรณีที่โจทก์มิได้ให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ให้นำบทบัญญัติในส่วนที่ 1 นี้มาใช้บังคับเพียงเท่าที่เกี่ยวกับฟ้องแย้งเช่นว่านั้นโดยอนุโลม" หมายความว่า โจทก์ก็จะขาดนัดยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งทันที คดีในส่วนฟ้องแย้งก็จะดำเนินไปแบบคดีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
(3) ผู้ร้องสอดที่ถูกหมายเรียกให้เข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีตามมาตรา 57(3) ต้องยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งด้วย ตามมาตรา 177 วรรคสุดท้าย "บทบัญญัติแห่งมาตรานี้ ให้ใช้บังคับแก่บุคคลภายนอกที่ถูกเรียกเข้ามาเป็นผู้ร้องสอดตามมาตรา 57(3) โดยอนุโลม" ถ้าไม่ยื่นก็ขาดนัดยื่นคำให้การ แต่ถ้าเรียกเข้ามาเป็นโจทก์ร่วม ไม่มีหน้าที่ยื่นคำให้การ
สำหรับผู้ร้องสอดตามมาตรา 57(1) ซึ่งเป็นกรณีร้องสอดเข้ามาอ้างสิทธิของตนเองต่อสู้คดีกับโจทก์ แม้จะอ้างว่าขอเข้ามาเป็นจำเลยร่วม แต่เมื่อเป็นการอ้างสิทธิของตนเอง เพื่อให้รับรองสิทธิของตนหรือเพื่อบังคับตามสิทธิของตนเอง คำร้องสอดในกรณีนี้ เป็นทั้งคำฟ้องคำให้การและฟ้องแย้งโจทก์เป็นจำเลยอยู่ในตัว ผู้ร้องสอดตามมาตรา 57(1) จึงไม่มีหน้าที่ต้องยื่นคำให้การ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 163/2507 คำร้องของผู้ร้องสอดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57 (1) นั้น ย่อมเป็นทั้งคำให้การต่อสู้และฟ้องแย้งคดีได้อยู่ในตัวแล้วแต่กรณี จึงไม่มีหน้าที่ต้องยื่นคำให้การ
ส่วนผู้ร้องสอดที่เข้ามาตามมาตรา 57(2) ในฐานะจำเลยร่วมตามมาตรา 58 วรรคสอง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ร้องสอดที่ได้เป็นคู่ความตามอนุมาตรา (2) แห่งมาตราก่อน ใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่คู่ความฝ่ายซึ่งตนเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมในชั้นพิจารณาเมื่อตนร้องสอด และห้ามมิให้ใช้สิทธิเช่นว่านั้นในทางที่ขัดกับสิทธิของโจทก์หรือจำเลยเดิม และให้ผู้ร้องสอดเสียค่าฤชาธรรมเนียมอันเกิดแต่การที่ร้องสอด แต่ถ้าศาลได้อนุญาตให้เข้าแทนที่โจทก์หรือจำเลยเดิม ผู้ร้องสอดจึงมีฐานะเสมอด้วยคู่ความที่ตนเข้าแทน" ดังนั้น ถ้าจำเลยเดิมขาดนัดยื่นคำให้การ ผู้ร้องสอดก็ไม่มีสิทธิจะยื่นคำให้การ แต่ถ้าจำเลยเดิมไม่ได้ขาดนัดยื่นคำให้การ ผู้ร้องสอดตามมาตรา 57(2) ก็มีสิทธิยื่นคำให้การได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 875/2537 จำเลยร่วมยื่นคำร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมพร้อมยื่นคำให้การมาก่อนที่จะครบกำหนดเวลาที่จำเลยจะยื่นคำให้การได้ และศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าเป็นจำเลยร่วมได้ จึงต้องถือว่าจำเลยร่วมใช้สิทธิของจำเลยที่มีอยู่ในขณะที่ตนร้องสอด ไม่อาจถือว่าจำเลยร่วมใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่จำเลยมีอยู่ขณะที่ร้องสอดเข้ามาเมื่อปรากฎต่อมาว่าจำเลยมิได้ยื่นคำให้การ จึงไม่มีกรณีที่จะถือว่าข้อต่อสู้ตามคำให้การของจำเลยร่วมเป็นไปในทางที่ขัดสิทธิของจำเลยเดิม ดังนั้นการยื่นคำให้การของจำเลยร่วมจึงไม่เป็นการใช้สิทธิที่ขัดกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 58 วรรคสอง ศาลต้องรับคำให้การของจำเลยร่วมไว้พิจารณา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 996/2549 จำเลยร่วมร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) จำเลยร่วมจึงต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่ตนเข้าเป็นจำเลยร่วมตามมาตรา 58 วรรคสอง ฉะนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำให้การจนศาลสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การแล้ว จำเลยร่วมย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำให้การของตนเข้ามา อันเป็นการใช้สิทธินอกเหนือจากที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ได้ และเมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับคำให้การของจำเลยร่วมไว้โดยผิดหลงศาลชั้นต้นชอบที่จะเพิกถอนคำสั่งรับคำให้การของจำเลยร่วมแล้วสั่งไม่รับคำให้การของจำเลยร่วมให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง
(4) โจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีร้องขัดทรัพย์ มีหน้าที่ต้องยื่นคำให้การแก้คำร้องขัดทรัพย์ เพราะในคดีร้องขัดทรัพย์นั้น ผู้ร้องขัดทรัพย์มีฐานะเป็นโจทก์ ส่วนโจทก์เดิมหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีฐานะเป็นจำเลย ดังนั้น โจทก์เดิมหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีหน้าที่ต้องยื่นคำให้การแก้คำร้องขัดทรัพย์ ถ้าไม่ยื่นก็จะตกเป็นผู้ขาดนัดยื่นคำให้การแก้คำร้องขัดทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1900/2538 โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกง นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยขายทอดตลาดเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นร้องขัดทรัพย์ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 288 วรรคสอง ให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดคดีเหมือนอย่างคดีธรรมดา โดยโจทก์ร่วมมีฐานะเป็นจำเลย โจทก์(พนักงานอัยการ)หาใช่ผู้ร้องขอให้บังคับคดีจึงไม่มีฐานะเป็นจำเลย ดังนั้น แม้ศาลจะมีคำสั่งในคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ให้โจทก์ให้การแก้คดี แต่เมื่อโจทก์ร่วมซึ่งมีฐานะเป็นจำเลยได้ให้การแก้คดีแล้ว จึงมิใช่กรณีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 วรรคแรก ผู้ร้องในฐานะโจทก์ไม่จำต้องยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งว่า โจทก์ขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 วรรคสอง หาได้ไม่
คดีแพ่งต่อไปนี้จะไม่มีการขาดนัดยื่นคำให้การ
(1) คดีที่ไม่มีข้อพิพาท ซึ่งคดีประเภทนี้จะเริ่มโดยการทำเป็นคำร้องขอยื่นต่อศาลตามมาตรา 188(1) ศาลจะประกาศนัดไต่สวน และกำหนดให้ผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำคัดค้านภายในกำหนดมิฉะนั้นจะถือว่าไม่ค้าน ไม่มีการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้ยื่นคำให้การแก้คดีเหมือนอย่างคดีแพ่งสามัญ แม้จะมีผู้คัดค้านเข้ามาในคดีก็ไม่มีฐานะเป็นจำเลย
(2) คดีแพ่งสามัญที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง
(3) ชั้นอุทธรณ์ฎีกา การที่จำเลยอุทธรณ์หรือฎีกาไม่ยื่นแก้อุทธรณ์หรือฎีกาไม่ถือว่าขาดนัดยื่นคำให้การ
2. จำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การภายในกำหนด
(1) คำให้การมีความหมายตามมาตรา 1 (4) “คำให้การ หมายความว่า กระบวนพิจารณาใดๆ ซึ่งคู่ความฝ่ายหนึ่งยกข้อต่อสู้เป็นข้อแก้คำฟ้องตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้ นอกจากคำแถลงการณ์" ดังนั้น ถ้าสิ่งที่ยื่นมิใช่คำให้การ แม้จำเลยจะยื่นภายในกำหนดก็ไม่ถือว่ายื่นคำให้การ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4411/2539 คำสั่งของศาลชั้นต้นในคำแถลงของโจทก์ที่ยื่นเข้ามาคัดค้านคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดที่สั่งว่า "โจทก์มีหน้าที่ต้องยื่นคำให้การในกำหนด แต่กลับแถลงคัดค้านตามคำแถลงนี้ ให้รับรวมสำนวน สำเนาให้ผู้ร้อง" สามารถเข้าใจได้ชัดเจนว่า ศาลชั้นต้นเห็นว่าคำแถลงคัดค้านดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นคำให้การของโจทก์จึงได้แจ้งให้โจทก์ทราบในคำสั่งนั้นว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องยื่นคำให้การในกำหนด ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำแถลงคัดค้านของโจทก์ดังกล่าว ให้รับรวมสำนวนสำเนาให้ผู้ร้อง จึงเป็นการรับไว้เป็นคำแถลงเท่านั้น มิใช่รับไว้เป็นคำให้การของโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ยื่นคำให้การภายในกำหนด โจทก์ย่อมขาดนัดยื่นคำให้การ ผู้ร้องจึงต้องมีคำขอต่อศาลภายในสิบห้าวัน นับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้โจทก์ยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลงเพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์ขาดนัดยื่นคำให้การ เมื่อผู้ร้องไม่ยื่นคำขอต่อศาลภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ศาลชั้นต้นชอบที่จะจำหน่ายคดีของผู้ร้องออกจากสารบบความได้ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 198 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 911/2548 รายงานกระบวนพิจารณาเป็นเอกสารที่ศาลจดแจ้งข้อความเกี่ยวด้วยเรื่องที่ได้กระทำในการนั่งพิจารณาหรือในการดำเนินกระบวนพิจารณาอื่นๆ ของศาลตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 48 ส่วนคำให้การเป็นคำคู่ความซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งใน ป.วิ.พ. มาตรา 67 ว่าให้คู่ความทำเป็นหนังสือโดยใช้แบบพิมพ์ของศาลที่จัดไว้และมีรายการต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในบทบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะได้บันทึกคำแถลงของจำเลยที่ 4 ที่ยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ก็ถือไม่ได้ว่ารายงานกระบวนพิจารณาฉบับดังกล่าวเป็นคำให้การของจำเลยที่ 4
เมื่อจำเลยที่ 4 มิได้ยื่นคำให้การภายในกำหนด กรณีจึงถือว่าจำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ต้องมีคำขอต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยที่ 4 ยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลงเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยทั้งสี่จะแถลงยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง และศาลชั้นต้นสามารถพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องทำการสืบพยานอีกต่อไป ก็ไม่ทำให้โจทก์หมดหน้าที่ที่จะต้องมีคำขอตามบทกฎหมายดังกล่าว เมื่อโจทก์มิได้มีคำขอศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ออกจากสารบบความได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 วรรคสอง
(2) ถ้าคำให้การที่ยื่นต่อศาลภายในกำหนดแม้เป็นคำให้การที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง เพราะให้การขัดแย้งกัน ทำให้เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งหรือเป็นคำให้การที่ยอมรับตามฟ้องโจทก์โดยไม่ต่อสู้ แต่ก็ถือว่าเป็นการยื่นคำให้การโดยถูกต้องตามมาตรา 177 วรรคแรก ศาลต้องสั่งรับคำให้การ
(3) คำให้การที่ทำมาโดยถูกต้องตามมาตรา 177 แต่ยื่นเกินกำหนดเวลา ศาลต้องมีคำสั่งไม่รับคำให้การ กรณีนี้ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
3. เมื่อจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การแล้วโจทก์มีหน้าที่สำคัญ 2 ประการ คือ
(1) โจทก์มีหน้าที่ต้องยื่นคำขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาด ให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดตามมาตรา 198 วรรคหนึ่ง "ถ้าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ให้โจทก์มีคำขอต่อศาลภายในสิบห้าวันนับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด" ซึ่งถ้าโจทก์ไม่ยื่นคำขอต่อศาล ศาลก็จะมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความตามมาตรา 198 วรรคสอง
(2) โจทก์มีหน้าที่นำพยานมาสืบตามที่ศาลหรือกฎหมายกำหนด ถ้าโจทก์ไม่นำพยานมาสืบหรือไม่มาศาลในวันสืบพยานก็ถือว่าคดีโจทก์ไม่มีมูล ซึ่งศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์ ตามมาตรา 198 ทวิ วรรคท้าย "ถ้าโจทก์ไม่นำพยานหลักฐานมาสืบตามความในมาตรานี้ภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ให้ถือว่าคดีของโจทก์ไม่มีมูล และให้ศาลยกฟ้องของโจทก์"
ซึ่งบุคคลที่อยู่ในฐานะโจทก์ที่ต้องยื่นคำขอตามมาตรา 198 วรรคหนึ่ง ได้แก่
(1) โจทก์ที่ยื่นฟ้องคดี
(2) จำเลยที่ใช้สิทธิฟ้องแย้ง ซึ่งมีฐานะเป็นโจทก์สำหรับฟ้องแย้งนั้น
(3) ผู้ร้องขัดทรัพย์ ซึ่งมีฐานะเป็นโจทก์ในคดีร้องขัดทรัพย์
(4) โจทก์ที่ขอให้หมายเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามมาตรา 57 (3)
4. ขั้นตอนพิจารณาคดีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
(1) โจทก์ต้องยื่นคำขอต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดตามมาตรา 198 วรรคหนึ่ง ถ้าโจทก์ไม่ยื่นคำขอศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาตามมาตรา 198 วรรคสามและมาตรา 198 ทวิ ต่อไปไม่ได้เลย ซึ่งศาลก็จะมีคำสั่งจำหน่ายคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1124/2550 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลย ถึงแม้มิได้สั่งให้โจทก์เป็นผู้นำส่ง แต่เมื่อจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลชั้นต้น จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องติดตามผลการส่งหมายเอง เมื่อเจ้าหน้าที่ศาลส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยได้โดยวิธีปิดหมายตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2546 และต่อมาวันที่ 14 พฤศจิกายน 2546 โจทก์ได้ยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาล ซึ่งหากโจทก์ตรวจสำนวนย่อมจะทราบผลการส่งหมายและดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้ก่อนวันที่ 19 พฤศจิกายน 2549 ซึ่งเป็นวันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดี การที่โจทก์ไม่ติดตามขวนขวายตรวจสำนวนเพื่อทราบผลการส่งหมายอันเป็นความบกพร่องไม่ใส่ใจในคดี จึงเป็นการปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกสารบบความจึงชอบแล้ว
อย่างไรก็ตาม ถ้าโจทก์ไม่ยื่นคำขอต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดตามมาตรา 198 วรรคหนึ่ง ซึ่งมาตรา 198 วรรคสองให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความนั้น เป็นอำนาจศาลที่จะใช้ดุลพินิจสั่งจำหน่ายคดี ไม่ใช่บทบังคับให้ศาลต้องสั่งจำหน่ายคดีเสียทุกกรณี โดยศาลจะพิจารณาว่าโจทก์ละทิ้งคดีหรือไม่ ถ้าโจทก์ไม่มีพฤติการณ์ละทิ้งคดี ศาลก็มีอำนาจใช้ดุลพินิจไม่จำหน่ายคดีก็ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 498-499/2509 บทบัญญัติใน ป.วิ.พ.มาตรา 198 มิได้บังคับให้ศาลจำต้องสั่งจำหน่ายคดีเสมอไป เพียงแต่ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งจำหน่ายคดีเมื่อพ้น 15 วันได้ ฉะนั้น ในกรณีที่ศาลยังมิได้มีคำสั่งจำหน่ายคดี แม้โจทก์จะยื่นคำขอเมื่อพ้น 15 วัน ศาลก็มีอำนาจที่จะสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การได้ อ้างฎีกาที่ 1464/2495
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4713/2541 ป.วิ.พ.มาตรา 198 มีเจตนารมณ์ให้เป็นอำนาจของศาลที่จะใช้ดุลพินิจมีคำสั่งจำหน่ายคดีในกรณีที่โจทก์ไม่ยื่นคำขอภายในเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ หรืออีกนัยหนึ่งบทบัญญัติดังกล่าวเป็นเรื่องระหว่างศาลกับโจทก์ในอันที่ศาลจะพิจารณาว่าโจทก์ยังประสงค์จะดำเนินคดีในกรณีดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งโดยปกติศาลย่อมจะมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีโดยอาศัยเหตุจากการละเว้นของโจทก์ดังกล่าว เว้นแต่จะมีเหตุสมควรที่ศาลจะไม่สั่งจำหน่ายคดีของโจทก์
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลชั้นต้น และกรณีเป็นการส่งหมายข้ามเขตซึ่งศาลเป็นผู้ส่งเอง เมื่อศาลชั้นต้นมิได้แจ้งผลการส่งหมายดังกล่าวให้โจทก์ทราบ โจทก์ย่อมไม่ทราบระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลง นอกจากนี้เมื่อโจทก์มาขอดูสำนวนจึงทราบว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ และได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ ซึ่งถือได้ว่าโจทก์ประสงค์จะดำเนินคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ต่อไปพฤติการณ์ของโจทก์ในคดีนี้จึงมีเหตุสมควรที่ศาลจะไม่สั่งจำหน่ายคดีของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1124/2550 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลย ถึงแม้มิได้สั่งให้โจทก์เป็นผู้นำส่ง แต่เมื่อจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลชั้นต้น จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องติดตามผลการส่งหมายเอง เมื่อเจ้าหน้าที่ศาลส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยได้โดยวิธีปิดหมายตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2546 และต่อมาวันที่ 14 พฤศจิกายน 2546 โจทก์ได้ยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาล ซึ่งหากโจทก์ตรวจสำนวนย่อมจะทราบผลการส่งหมายและดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้ก่อนวันที่ 19 พฤศจิกายน 2549 ซึ่งเป็นวันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดี การที่โจทก์ไม่ติดตามขวนขวายตรวจสำนวนเพื่อทราบผลการส่งหมายอันเป็นความบกพร่องไม่ใส่ใจในคดี จึงเป็นการปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกสารบบความจึงชอบแล้ว
แม้มีกระบวนการอย่างอื่นที่ศาลได้กระทำไปก่อน แต่โจทก์ก็ยังคงมีหน้าที่ยื่นคำขอตามมาตรา 198 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1820/2530 การที่จำเลยซึ่งมิได้ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอนุญาตให้ยื่นคำให้การและศาลสั่งไต่สวนคำร้องดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องระหว่างศาลกับจำเลย และมิใช่เหตุที่จะทำให้โจทก์ได้รับยกเว้นหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 ในอันที่จะต้องมีคำขอต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ทั้งโจทก์จะถือว่าระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลงในวันที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 310/2523 ผู้ร้องขัดทรัพย์ต้องมีคำขอต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้โจทก์ยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์ขาดนัด ถ้าผู้ร้องไม่ยื่นคำขอต่อศาลภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นออกเสียจากสารบบความผู้ร้องจะอ้างว่ามิได้มีเจตนาทิ้งคำร้อง เพราะผู้ร้องได้รับหมายนัดสืบพยานผู้ร้อง จึงเข้าใจว่าโจทก์ยื่นคำให้การแล้วนั้นไม่ได้ เพราะการที่ศาลมีคำสั่งไม่รับคำให้การและให้นัดสืบพยานผู้ร้องไป หามีผลลบล้างให้ผู้ร้องไม่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 198 ไม่
หากโจทก์มาทราบภายหลังว่าตนเองยังไม่ได้ยื่นคำขอตามมาตรา 198 วรรคหนึ่ง โจทก์อาจยื่นคำขอต่อศาลในทันทีที่ทราบ สาลอาจถือว่าโจทก์ไม่มีพฤติการณ์ละทิ้งคดีและอาจใช้ดุลพินิจไม่จำหน่ายคดีก็ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1065/2533 การที่โจทก์ไม่ยื่นคำขอต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลงเพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 198 วรรคสอง ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์มิให้โจทก์ปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่กำหนด แต่ศาลจะสั่งจำหน่ายคดีหรือไม่อยู่ในดุลพินิจ เมื่อโจทก์ยื่นคำขอและศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การแล้ว มาตรา 198 วรรคสาม ให้ศาลกำหนดวันสืบพยานส่งให้จำเลยทราบ
ศาลได้ประกาศวันนัดให้จำเลยยื่นคำให้การและวันนัดสืบพยานโจทก์ทางหนังสือพิมพ์แล้ว และโจทก์ได้มาดำเนินกระบวนพิจารณาตามนัดทุกครั้ง แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป เมื่อศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวนัดหนึ่งแล้วโจทก์ก็อาจมีคำขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การได้
กรณีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและโจทก์ยื่นคำขอตามมาตรา 198 วรรคหนึ่งไว้แล้ว ต่อมาจำเลยขออนุญาตยื่นคำให้การและศาลอนุญาตให้ยื่นคำให้การ คำขอที่โจทก์เคยยื่นไว้ก็เป็นอันเพิกถอนไป หากจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การอีกเป็นครั้งที่สอง โจทก์ก็ต้องยื่นคำขอตามมาตรา 198 วรรคหนึ่ง อีกครั้ง หากไม่ยื่นคำขอ ศาลก็สามารถมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความตามมาตรา 198 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1820/2530 การที่จำเลยซึ่งมิได้ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอนุญาตให้ยื่นคำให้การและศาลสั่งไต่สวนคำร้องดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องระหว่างศาลกับจำเลย และมิใช่เหตุที่จะทำให้โจทก์ได้รับยกเว้นหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 ในอันที่จะต้องมีคำขอต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ทั้งโจทก์จะถือว่าระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลงในวันที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การไม่ได้
5. ผลของคำสั่งจำหน่ายคดีตามมาตรา 198 วรรคสอง
(1) คำสั่งจำหน่ายคดีไม่ใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา คู่ความสามารถอุทธรณ์ได้ทันทีโดยไม่ต้องโต้แย้งคำสั่งไว้ก่อนตามมาตรา 226(2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1365/2530 คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 แม้จะไม่ทำให้คดีเสร็จทั้งเรื่องแต่เป็นเหตุให้คดีโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 เสร็จสิ้นไปจึงไม่ถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ได้
(2) ศาลมีอำนาจสั่งคืนค่าขึ้นศาลบางส่วนให้โจทก์ได้ตามมาตรา 151 วรรคสาม
(3) โจทก์มีสิทธินำคดีมาฟ้องใหม่ได้ภายในอายุความ
(4) คำสั่งจำหน่ายคดีตามมาตรา 198 วรรคสองไม่มีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงแต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2148/2520 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีก่อนเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดภายในอายุความ 1 ปี แม้มีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 173(เดิม) แต่เมื่อโจทก์ขาดนัดพิจารณาและศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 201 วรรคแรก(เดิม)นั้น ย่อมถือได้ว่าโจทก์ละทิ้งคดีและไม่นับว่าการฟ้องคดีดังกล่าวเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 174 (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 74/2512) การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีหลัง เมื่อเกินกำหนด 1 ปี นับแต่โจทก์ทราบว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์ จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 วรรคแรก
6. เมื่อโจทก์ยื่นคำขอตามมาตรา 198 วรรคหนึ่งแล้ว ศาลต้องดำเนินการตามมาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง "ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การมิได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายในการนี้ศาลจะยกขึ้นอ้างโดยลำพังซึ่งข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ได้"
(1) ศาลจะพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การได้ต่อเมื่อฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย หากฟ้องโจทก์ไม่มีมูล เช่น การกระทำของจำเลยไม่ได้โต้แย้งสิทธิโจทก์ หรือโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เช่นนี้ถือว่าฟ้องโจทก์ไม่มีมูล ศาลมีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์ได้เลย ส่วนบางกรณีฟ้องโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย แต่โจทก์อ้างส่งเอกสารเป็นพยานซึ่งตามประมวลรัษฎากรบังคับไว้ให้ต้องติดอากรแสตมป์ โจทก์ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์จึงต้องห้ามมิให้รับฟังเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐาน ศาลก็มีอำนาจยกฟ้องได้เพราะเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามมาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่งตอนท้าย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3031/2544 โจทก์ฟ้องว่าเจ้ามรดกของจำเลยกู้ยืมเงิน จำเลยให้การปฏิเสธว่าสัญญากู้ยืมเงินเป็นเอกสารปลอม การจะฟังว่าเจ้ามรดกกู้ยืมเงินโจทก์จริงหรือไม่ต้องอาศัยหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเป็นพยาน เมื่อหนังสือสัญญาที่โจทก์อ้างเป็นพยานติดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วน จึงเป็นตราสารที่ไม่ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ส่วนการที่โจทก์นำพยานบุคคลและพยานเอกสารสืบไปฝ่ายเดียวโดยจำเลยไม่ติดใจซักค้านและนำพยานเข้าสืบหักล้างพยานโจทก์นั้นก็หาใช่ว่าจำเลยยอมรับว่าเจ้ามรดกกู้ยืมเงินโจทก์โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2906/2548 ตามสัญญากู้เงินข้อ 1 นะบุว่า ในระยะ 3 ปีแรกนับแต่วันทำสัญญากู้เงิน โจทก์มึสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราคงที่หลังจากนั้นโจทก์จึงมีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้ แต่ถ้าจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้เมื่อใด ตามสัญญากู้เงินข้อ 3 ให้สิทธิโจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ล่วงพ้น 3 ปี ดังนั้น เมื่อจำเลยผิดนัดแล้ว โจทก์จึงปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นเป็นร้อยละ 13.50 ต่อปี อันเป็นการใช้สิทธิตามสัญญากู้เงินข้อ 3 ซึ่งหากจำเลยไม่ผิดนัดโจทก์ยังไม่มีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นในขณะนั้นได้ การที่โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นจึงมิใช่เป็นการเรียกเอาดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินอันเป็นดอกผลนิตินัยตามปกติ แต่มีลักษณะเป็นการเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้อันเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.50 ต่อปี เป็นเบี้ยปรับซึ่งกำหนดไว้สูงเกินส่วนและใช้ดุลพินิจลดจำนวนลงจึงชอบด้วยมาตรา 383
กรณีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลจะมีพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีได้ก็ต่อเมื่อศาลเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยปัญหาเรื่องดอกเบี้ยโดยพิเคราะห์จากเอกสารที่โจทก์อ้างส่งเป็นพยานแล้วเห็นว่าเป็นเบี้ยปรับ เป็นการวินิจฉัยอยู่ในประเด็นตามคำฟ้อง มิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5181/2556 จำเลยทำใบเสนอราคาคอนกรีตเทรองพื้นและคอนกรีตโครงสร้างต่อโจทก์มีการระบุถึงรายละเอียดของรายการสินค้าประเภทคอนกรีตเทรองพื้นและคอนกรีตโครงสร้างพร้อมราคาไว้ และจำเลยยังระบุเงื่อนไขเพื่อประกอบการพิจารณาของโจทก์ไว้รวม 9 ข้อ ในใบเสนอราคาดังกล่าว โดยข้อ 4 ระบุถึงการติดตั้งเครื่องผสมคอนกรีต ณ หน้างานก่อสร้าง กำหนดติดตั้งแล้วเสร็จ 30 วัน นับจากวันทำสัญญา และในข้อ 9 ระบุถึงการที่ผู้ซื้อมีเหตุจำเป็นต้องซื้อคอนกรีตจากผู้ขายรายอื่นเนื่องจากเหตุที่ผู้ขายไม่สามารถให้บริการได้ ผู้ขายยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ซื้อในอัตราค่าเสียหายตามความเป็นจริง ซึ่งในข้อ 4 และข้อ 9 นี้เท่านั้นที่ได้กล่าวถึงสัญญาและสัญญาซื้อขายไว้ แม้จะมิได้ระบุว่าสัญญาและสัญญาซื้อขายจะต้องทำเป็นหนังสือกันในภายหลังดังที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาใบเสนอราคาดังกล่าวในข้อ 7 ที่ระบุให้ผู้ซื้อซึ่งหมายถึงโจทก์ต้องออกหนังสือค้ำประกันของธนาคารเท่ากับมูลค่า 2,000,000 บาท โดยผู้ขายเป็นผู้รับผิดชอบค่าธรรมเนียมธนาคารที่เกิดขึ้นด้วย แต่โจทก์กลับมิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามใบเสนอราคาในข้อ 7 นี้ โดยขอออกหนังสือค้ำประกันของธนาคารตามวงเงินประกันแต่อย่างใดและแสดงให้เห็นว่า โจทก์เองก็มิได้ตกลงโดยยินยอมที่จะผูกพันและปฏิบัติตามใบเสนอราคาดังกล่าวทั้งหมดทุกข้อ ที่โจทก์ให้จำเลยปฏิบัติตามใบเสนอราคาเฉพาะในข้อ 9 ซึ่งเป็นประโยชน์แก่โจทก์ แต่กลับไม่ยอมปฏิบัติตามใบเสนอราคาในข้อ 7 ซึ่งเป็นข้อสาระสำคัญที่จำเลยได้แสดงไว้โดยชัดแจ้งว่า โจทก์จะต้องตกลงด้วยในข้อนี้ การที่โจทก์ยังมิได้ขอออกหนังสือค้ำประกันของธนาคารตามใบเสนอราคาข้อ 7 นี้ จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์และจำเลยได้ตกลงตามใบเสนอราคากันทั้งหมดทุกข้อแล้ว ใบเสนอราคาที่จำเลยทำถึงโจทก์เป็นเพียงการทำความเข้าใจกันกับโจทก์ไว้เฉพาะบางสิ่งบางอย่างในเบื้องต้นเท่านั้น ถึงแม้ว่าจะได้ระบุไว้ก็หาเป็นการผูกพันจำเลยไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคหนึ่งและวรรคสอง การที่โจทก์ซื้อคอนกรีตจากจำเลยเรื่อยมา ก็เป็นเพียงการซื้อขายสินค้าเฉพาะสิ่งตามรายการที่มีการส่งมอบให้แก่กันเป็นคราว ๆ ไปเท่านั้น มิได้เป็นคำสนองเข้ารับทำสัญญาตามใบเสนอราคาดังกล่าว
โจทก์ว่าจ้าง ส. เป็นผู้ดำเนินการรื้อถอนและปรับพื้นที่ในส่วนที่จำเลยก่อสร้างขึ้นเพื่อผลิตคอนกรีตส่งให้แก่โจทก์เพื่อส่งมอบพื้นที่ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นเงิน 70,000 บาท เมื่อตามใบเสนอราคาข้อ 4 ระบุถึงการติดตั้งเครื่องผสมคอนกรีต ณ หน้างานก่อสร้าง กำหนดติดตั้งแล้วเสร็จ 30 วัน นับจากวันทำสัญญา แสดงให้เห็นว่าจำเลยก่อสร้างหรือติดตั้งเครื่องผสมคอนกรีตขึ้นโดยได้รับความยินยอมจากโจทก์ ต่อมาโจทก์ไม่ได้ยินยอมให้จำเลยอยู่บนพื้นที่ที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะอยู่และต้องรื้อถอนสิ่งก่อสร้างออกไป แต่โจทก์กลับว่าจ้าง ส. รื้อถอนสิ่งก่อสร้างออกไป โดยจำเลยมิได้ตกลงว่าจะเป็นฝ่ายเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยจึงไม่มีความรับผิดตามสัญญาที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ แม้จำเลยจะขาดนัดยื่นคำให้การก็ตาม แต่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง ศาลจะมีคำพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การมิได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่า คำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ในการนี้ศาลจะยกขึ้นอ้างโดยลำพังซึ่งข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ได้ เมื่อคดีโจทก์ไม่มีมูลให้รับฟังได้ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญา ซึ่งปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง
(2) เมื่อศาลเห็นว่าฟ้องโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายแล้ว กระบวนพิจารณาจะแยกเป็น 2 กรณี
ก. คดีที่ศาลเห็นสมควรให้สืบพยานก่อนพิพากษาตามมาตรา 198 ทวิ วรรคสอง ตอนต้น เป็นดุลพินิจของศาลที่จะสืบพยานเกี่ยวกับข้ออ้างของโจทก์หรือพยานหลักฐานอื่นไปฝ่ายเดียวตามที่เห็นว่าจำเป็น
ข. คดีที่กฎหมายบังคับให้ต้องสืบพยานก่อนพิพากษา ตามมาตรา 198 ทวิ วรรคสอง ตอนท้าย และมาตรา 198 ทวิ วรรคสาม (1) และ (2) ซึ่งได้แก่
1) คดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคล
2) คดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัว
3) คดีพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์
4) ในกรณีที่โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงินจำนวนแน่นอน
5) ในกรณีที่โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงินอันไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน
7. การสืบพยานในคดีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
(1) เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องแจ้งวันนัดสืบพยานไปให้โจทก์และจำเลยทราบ ซึ่งแม้จะมีการสืบพยานฝ่ายเดียวแต่จำเลยก็มีสิทธิถามค้านพยานโจทก์ได้ตามมาตรา 199 วรรคสอง จึงเป็นหน้าที่ที่ศาลจะต้องแจ้งวันนัดสืบพยานให้ทั้งโจทก์และจำเลยทราบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5441/2546 การปิดประกาศแจ้งวันนัดที่หน้าศาลจะมีผลใช้ได้ต่อเมื่อกำหนดเวลา 15 วัน นับตั้งแต่ปิดประกาศได้ล่วงพ้นไปแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 วรรคสอง คดีนี้ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 23 พฤศจิกายน 2544 โดยปิดประกาศแจ้งวันนัดให้จำเลยทราบที่หน้าศาลเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2544 ซึ่งการปิดประกาศนี้จะมีผลเป็นการแจ้งวันนัดให้จำเลยทราบโดยชอบนับตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2544 ดังนั้น ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2544 เมื่อจำเลยไม่มาศาล หากโจทก์และพยานโจทก์จะมาศาลก็ไม่อาจสืบพยานโจทก์ได้
ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งเลื่อนคดีไปเพื่อแจ้งวันนัดให้จำเลยทราบโดยชอบเสียก่อน การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ถือว่าคดีของโจทก์ไม่มีมูลและให้ยกฟ้องของโจทก์เพราะโจทก์ไม่นำพยานหลักฐานมาสืบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคห้า จึงเป็นการไม่ชอบ
(2) หากโจทก์หรือจำเลยไม่มาศาลในวันนัดสืบพยาน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ก็ไม่ถือว่าขาดนัดพิจารณา กล่าวคือ กรณีโจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานต้องถือว่าโจทก์ไม่นำพยานหลักฐานมาสืบตามที่ศาลกำหนด โดยผลของมาตรา 198 ทวิ วรรคท้าย ให้ถือว่าคดีโจทก์ไม่มีมูล ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง ส่วนกรณีของจำเลยที่ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานนั้นไม่ถือว่าขาดนัดพิจารณาแต่ให้บังคับตามบทบัญญัติเรื่องขาดนัดยื่นคำให้การสำหรับจำเลยนั้นจนเสร็จการพิจารณา
(3) การสืบพยานในคดีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การนั้น โจทก์ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยพยานหลักฐานเช่นเดียวกับคดีสามัญ เช่น โจทก์มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีระบุพยานตามมาตรา 88
(4) จำเลยที่ขาดนัดพิจารณาไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบ แต่มีสิทธิถามค้านพยานโจทก์ได้ ตามมาตรา 199 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6165/2538 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 วรรคสองที่บัญญัติให้สิทธิจำเลยที่จะสาบานตนเข้าเบิกความเป็นพยานได้ แม้จะขาดนัดยื่นคำให้การนั้น เป็นแต่กฎหมายให้สิทธิไว้ จำเลยจะใช้สิทธินั้นหรือไม่ก็ได้ เมื่อตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ขอใช้สิทธินี้เลยทั้งเมื่อศาลจดรายงานว่าหมดพยานโจทก์ทั้งสอง ให้รอฟังคำพิพากษาวันนี้ จำเลยที่ 1 ไม่ได้โต้แย้ง กลับลงชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาและลงชื่อรับฟังคำพิพากษา การที่ศาลชั้นต้นไม่ได้สอบถามจำเลยที่ 1 ว่าจะถามค้านพยานโจทก์ทั้งสองหรือไม่ จะสาบานตนเข้าเบิกความเป็นพยานหรือไม่ จึงไม่ใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1212/2501 จำเลยขาดนัดให้การ ไม่มีสิทธิสืบพยาน แต่อ้างตนเองและถามค้านพยานโจทก์ได้ จำเลยถามค้าน พยานโจทก์คนหนึ่งรับว่าโจทก์เช่าที่จากจำเลยตามสัญญาเช่า ศาลวินิจฉัยข้อความในสัญญาเช่านั้นได้
(5) คดีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การนั้นประเด็นแห่งคดีจะมีเฉพาะคำฟ้องของโจทก์เท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1261/2547 จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การจึงไม่มีประเด็นว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ และในเรื่องอายุความเมื่อไม่ได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างเอาอายุความเป็นมูลยกฟ้องไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยในข้อนี้จึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2906/2548 ตามสัญญากู้เงินข้อ 1 นะบุว่า ในระยะ 3 ปีแรกนับแต่วันทำสัญญากู้เงิน โจทก์มึสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราคงที่หลังจากนั้นโจทก์จึงมีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้ แต่ถ้าจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้เมื่อใด ตามสัญญากู้เงินข้อ 3 ให้สิทธิโจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ล่วงพ้น 3 ปี ดังนั้น เมื่อจำเลยผิดนัดแล้ว โจทก์จึงปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นเป็นร้อยละ 13.50 ต่อปี อันเป็นการใช้สิทธิตามสัญญากู้เงินข้อ 3 ซึ่งหากจำเลยไม่ผิดนัดโจทก์ยังไม่มีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นในขณะนั้นได้ การที่โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นจึงมิใช่เป็นการเรียกเอาดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินอันเป็นดอกผลนิตินัยตามปกติ แต่มีลักษณะเป็นการเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้อันเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.50 ต่อปี เป็นเบี้ยปรับซึ่งกำหนดไว้สูงเกินส่วนและใช้ดุลพินิจลดจำนวนลงจึงชอบด้วยมาตรา 383
กรณีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลจะมีพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีได้ก็ต่อเมื่อศาลเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยปัญหาเรื่องดอกเบี้ยโดยพิเคราะห์จากเอกสารที่โจทก์อ้างส่งเป็นพยานแล้วเห็นว่าเป็นเบี้ยปรับ เป็นการวินิจฉัยอยู่ในประเด็นตามคำฟ้อง มิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
8. คำขอให้พิจารณาคดีใหม่
มาตรา 199 ตรี "จำเลยซึ่งศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้แพ้คดีโดยขาดนัดยื่นคำให้การถ้ามิได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น จำเลยนั้นอาจมีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ เว้นแต่
(1) ศาลเคยมีคำสั่งให้พิจารณาคดีนั้นใหม่มาครั้งหนึ่งแล้ว
(2) คำขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้นต้องห้ามตามกฎหมาย"
การขอให้พิจารณาคดีใหม่มีหลักเกณฑ์ดังนี้
(1) จำเลยแพ้คดีโดยขาดนัดยื่นคำให้การ
(2) จำเลยผู้ขอให้พิจารณาคดีใหม่จะต้องไม่ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ให้ตนแพ้คดีนั้น
(3) การขอพิจารณาคดีใหม่จะต้องอ้างเหตุว่าการขาดนัดมิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควร
(4) จำเลยผู้ขอให้พิจารณาคดีใหม่จะต้องไม่ใช่จำเลยตามมาตรา 199 ตรี (1) หรือ (2) ได้แก่ (1) ศาลได้เคยมีคำสั่งให้พิจารณาคดีนั้นใหม่มาครั้งหนึ่งแล้ว (2) คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ต้องห้ามตามกำหมาย
กรณีที่คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ต้องห้ามตามกฎหมายได้แก่
1) กรณีจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและมาศาลก่อนวินิจฉัยชี้ขาดคดี และแจ้งต่อศาลในโอกาสแรกว่าประสงค์จะต่อสู้คดี ขออนุญาตยื่นคำให้การ ศาลเห็นว่าไม่จงใจจึงอนุญาตให้ยื่นคำให้การภายในเวลาที่ศาลกำหนดตามมาตรา 199 วรรคหนึ่ง แต่จำเลยมาขาดนัดยื่นคำให้การอีกเป็นครั้งที่สอง จำเลยจะมาขออนุญาตยื่นคำให้การอีกไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 199 วรรคสาม และแม้ต่อมาศาลจะพิพากษาให้แพ้คดีก็จะมาขอให้พิจารณาคดีใหม่ตามมาตรา 199 ตรีอีกไม่ได้ เพราะต้องห้ามตามมาตรา 199 ตรี (2) ประกอบมาตรา 199 วรรคสาม
2) จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การมาศาล แต่ไม่ได้แจ้งต่อศาลในโอกาสแรกว่าประสงค์จะต่อสู้คดี จำเลยประเภทนี้ไม่มีเหตุที่จะได้รับอนุญาตจากศาลให้ยื่นคำให้การ เท่ากับเป็นจำเลยที่ศาลไม่อนุญาตให้ยื่นคำให้การตามมาตรา 199 วรรคสอง จำเลยจะมาขออนุญาตให้ยื่นคำให้การตามมาตรา 199 วรรคหนึ่งอีกไม่ได้ เพราะต้องห้ามตามมาตรา 199 วรรคสาม และถ้าต่อมาแพ้คดีก็จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้เพราะต้องห้ามตามมาตรา 199 ตรี (2) ประกอบมาตรา 199 วรรคสาม
3) จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การมาศาลและได้แจ้งต่อศาลในโอกาสแรกว่าประสงค์จะต่อสู้คดี ขออนุญาตยื่นคำให้การ แต่ศาลไม่อนุญาตเพราะเห็นว่าการขาดนัดนั้นเป็นไปโดยจงใจหรือไม่มีเหตุอันสมควร จึงไม่อนุญาตให้ยื่นคำให้การ จำเลยจะมาขออนุญาตให้ยื่นคำให้การตามมาตรา 199 วรรคหนึ่งอีกไม่ได้ และถ้าต่อมาแพ้คดีก็จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้เพราะต้องห้ามตามมาตรา 199 ตรี (2) ประกอบมาตรา 199 วรรคสาม
มาตรา 199 จัตวา "คำขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้น ให้ยื่นต่อศาลภายในสิบห้าวันนับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การ แต่ถ้าศาลได้กำหนดการอย่างใดๆเพื่อส่งคำบังคับเช่นว่านี้โดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือโดยวิธีอื่นแทนจะต้องได้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดนั้นแล้ว ในกรณีที่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การไม่สามารถยื่นคำขอภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ จำเลยนั้นอาจยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง แต่กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตามห้ามมิให้ยื่นคำขอเช่นว่านี้เมื่อพ้นกำหนดหกเดือนนับแต่วันที่ได้ยึดทรัพย์หรือได้มีการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยวิธีอื่น
คำขอตามวรรคหนึ่งให้กล่าวโดยชัดแจ้งซึ่งเหตุที่จำเลยได้ขาดนัดยื่นคำให้การและข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลที่แสดงให้เห็นว่าหากศาลได้พิจารณาคดีนั้นใหม่ตนอาจเป็นฝ่ายชนะ และในกรณีที่ยื่นคำขอล่าช้า ให้แสดงเหตุแห่งการที่ล่าช้านั้นด้วย"