11 มีนาคม 2561

สัญญาเช่าซื้อ


          มาตรา 572  "อันว่าเช่าซื้อนั้น คือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว
          สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ"

          สัญญาเช่าซื้อเป็นลักษณะของสัญญาเช่าทรัพย์ที่ประกอบด้วยคำมั่นว่า หากผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราวครบถ้วนตามที่ตกลงกันแล้ว ก็จะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า

          แบบของสัญญาเช่าซื้อ
          สัญญาเช่าซื้อกฎหมายกำหนดให้ต้องทำเป็นหนังสือ ทั้งนี้ ตามมาตรา 572 วรรคสอง "สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ"
          การทำเป็นหนังสือ คือ คู่สัญญาทั้งฝ่ายผู้เช่าซื้อและผู้ให้เช่าซื้อจะต้องลงลายมือชื่อในสัญญาด้วยกัน หากสัญญามีเพียงลายมือชื่อของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเท่านั้น ก็เท่ากับไม่ได้ทำสัญญาเช่าซื้อเป็นหนังสือ มีผลให้สัญญาดังกล่าวตกเป็นโมฆะ


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 953/2520  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 วรรค 2 บัญญัติว่าสัญญาเช่าซื้อนั้น ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ ซึ่งหมายความถึงว่า เจ้าของทรัพย์สินและผู้เช่าซื้อจะต้องลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อด้วยกันทั้งสองฝ่าย
          โจทก์เป็นบริษัทจำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลและจดทะเบียนข้อบังคับไว้ว่าลายมือชื่อกรรมการใดๆ สองนายร่วมกันพร้อมด้วยตราบริษัทพึงมีผลผูกพันบริษัทแต่ตามสัญญาเช่าซื้อกรรมการบริษัทโจทก์ลงชื่อเพียงคนเดียวและไม่ได้ประทับตราบริษัท ไม่ถูกต้องตามข้อบังคับของบริษัทซึ่งได้จดทะเบียนไว้ เท่ากับว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์หรือผู้ให้เช่าซื้อไม่ได้ลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ

          การสิ้นสุดของสัญญาเช่าซื้อ

          (1) ผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญา
          มาตรา 573  "ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ด้วยส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 73/2522  โจทก์ไม่ได้ใช้รถยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อ เพราะตำรวจยึดไปสอบสวนกรณีรถนั้นถูกลักมา เป็นการผิดวัตถุประสงค์ของการเช่าซื้อ โจทก์บอกเลิกสัญญาได้โดยไม่ต้องคืนรถแก่จำเลยผู้ให้เช่าซื้อ แม้จำเลยมิได้ประมาทเลินเล่อในการที่ถูกตำรวจยึดรถไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14324/2558  จำเลยเป็นฝ่ายเริ่มต้นติดต่อกับโจทก์เพื่อคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อ แสดงให้เห็นจุดประสงค์ของจำเลยที่ต้องการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น เมื่อโจทก์ได้รับการติดต่อก็ตกลงและนัดหมายรับรถยนต์ที่เช่าซื้อไปคืนโดยมอบหมายให้ ส. ตัวแทนโจทก์ การที่จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่ ส. จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อด้วยการส่งมอบทรัพย์คืนแก่โจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันนับแต่วันดังกล่าวแล้ว แม้ต่อมาจำเลยจะตกลงขายสิทธิการเช่าซื้อให้ ส. ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว เมื่อจำเลยมิได้ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อและไม่ปรากฏว่าขณะเลิกสัญญาจำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดต่อโจทก์อย่างไร จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3238/2552  การที่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์เพื่อขอโอนสิทธิการเช่าซื้อให้แก่ ท. และโจทก์ได้เรียกเก็บเงินค่าเปลี่ยนสัญญา ค่าเปลี่ยนชื่อในเล่มทะเบียนโดยใช้แบบพิมพ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าตรวจสภาพรถ ค่าปรับล่าช้าและสั่งจ่ายเช็ครวม 6 ฉบับ เพื่อชำระค่าเช่าซื้อล่วงหน้าและโจทก์ยึดรถจากผู้ครอบครองคือ ท. และเป็นการยึดรถที่จังหวัดยโสธรอันเป็นภูมิลำเนาของ ท. ซึ่งโจทก์รับในฎีกาว่ายึดรถยนต์ได้จาก ท. พฤติการณ์ดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ซึ่งเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่โจทก์แล้ว ดังนั้น ไม่ว่าการเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อจากจำเลยที่ 1 เป็น ท. นั้น โจทก์จะไม่อนุมัติในภายหลัง สัญญาเช่าซื้อก็เป็นอันเลิกกันแล้วนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้สิทธิผู้เช่าซื้อเลิกสัญญา เมื่อสัญญาเลิกกันโดยจำเลยที่ 1 มิได้ประพฤติผิดสัญญาและไม่มีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7024/2548  จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์เรื่อยมาโดยไม่มีการผิดนัดจนถึงงวดที่ 5 จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อกับ พ. พนักงานของโจทก์ ณ ที่ทำการของโจทก์ว่าจะเปลี่ยนสัญญาเช่าซื้อใหม่ โดยให้ ย. เป็นผู้เช่าซื้อ และให้ ก. เป็นผู้ค้ำประกันแทนจำเลยทั้งสอง พ. จึงให้จำเลยที่ 1 และ ย. ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อเดิมและผู้เช่าซื้อใหม่ลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์หนังสือโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อของโจทก์ให้ ย. ลงลายมือชื่อเป็นผู้เช่าซื้อในสัญญาเช่าซื้อโดยไม่มีการกรอกข้อความและลงลายมือชื่อรับมอบรถยนต์ในหนังสือหลักฐานการรับมอบรถยนต์ที่ทำขึ้นโดยบริษัทโจทก์ โดย พ. พนักงานของโจทก์ลงลายมือชื่อในฐานะเป็นฝ่ายโอนสิทธิและผู้ส่งมอบ มีการตรวจสอบความถูกต้องในการจัดทำเอกสารพนักงานฝ่ายอื่นของโจทก์อีกด้วย ทั้งในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าธรรมเนียมในการโอนสิทธิให้แก่โจทก์รับไปถูกต้องตามประเพณีปฏิบัติในการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อของโจทก์แล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้วในวันดังกล่าว ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อได้ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อถือได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่โจทก์แล้ว โดยไม่ต้องคำนึงว่าหนังสือโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาเช่าซื้อระหว่าง ย. กับโจทก์จะได้ทำถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ สัญญาเช่าซื้อระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ก็เป็นอันเลิกกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันได้


          (2) ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญา
          มาตรา 574  "ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติด ๆ กัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย
          อนึ่ง ในกรณีกระทำผิดสัญญาเพราะผิดนัดไม่ใช้เงินซึ่งเป็นคราวที่สุดนั้น ท่านว่าเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะริบบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อนและกลับเข้าครองทรัพย์สินได้ต่อเมื่อระยะเวลาใช้เงินได้พ้นกำหนดไปอีกงวดหนึ่ง"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2764/2559  หนังสือบอกกล่าวที่จำเลยมีถึงโจทก์และผู้ค้ำประกัน นอกจากแจ้งเตือนให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระติดต่อกัน 3 งวดแล้ว ยังได้ระบุถึงหนี้รายการอื่น ๆ คือค่าทนายความและค่าดอกเบี้ยล่าช้า ซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากการชำระค่าเช่าซื้อล่าช้าของโจทก์ทำให้มีค่าใช้จ่ายและดอกเบี้ย ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 4 และ ข้อ 9 ส่วนค่ามิเตอร์ ค่าปรับ และค่าวิทยุอันเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นรถรับจ้างสาธารณะหรือรถแท็กซี่ โดยปกติโจทก์ในฐานะผู้ใช้ประโยชน์รถยนต์ต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หากจำเลยในฐานะผู้ให้เช่าซื้อชำระค่าใช้จ่ายแทนไปก็ชอบที่จะทวงถามจากโจทก์ได้ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 10 จำเลยจึงบอกกล่าวให้ชำระหนี้ตามที่พึงมีสิทธิ เมื่อมีการส่งหนังสือบอกกล่าวโดยมีผู้รับแทนเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2553 โจทก์จะต้องชำระหนี้ตามที่ทวงถามภายใน 30 วัน ซึ่งครบกำหนดวันที่ 30 พฤษภาคม 2553 แต่โจทก์ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 15 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2553 และชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 16 พร้อมดอกเบี้ยล่าช้าเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2553 ส่วนค่าเช่าซื้องวดที่ 17 โจทก์ชำระเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2553 เมื่อโจทก์มิได้นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดไปชำระให้แก่จำเลยภายในกำหนดเวลา 30 วัน ตามหนังสือบอกกล่าว สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันนับถัดจากวันครบกำหนดดังกล่าว ส่วนข้อความที่ว่า หากชำระล่าช้ากว่าวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 จะต้องชำระเพิ่มอีก 1 งวด เป็นแต่เพียงระบุค่างวดเช่าซื้อที่ค้างให้สอดคล้องกับระยะเวลาการชำระหนี้ โดยโจทก์ต้องชำระหนี้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าว แต่หากโจทก์ชำระหนี้หลังจากวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 โจทก์ต้องชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 18 เพิ่มอีก 1 งวด หรือชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างรวม 4 งวด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยประสงค์ให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่คงค้างให้ครบทันงวด มิใช่ยอมให้มีการชำระค่าเช่าซื้อล่าช้า ประกอบกับตามพฤติการณ์ของจำเลยที่เคยคิดดอกเบี้ยล่าช้าจากโจทก์ ก็เป็นข้อสนับสนุนอีกส่วนหนึ่งว่าจำเลยยึดถือกำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ อีกทั้งการที่จำเลยให้พนักงานไปติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อจนสามารถยึดรถยนต์กลับคืนมาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2553 ชี้ชัดอยู่ว่าจำเลยเคร่งครัดตามหนังสือบอกกล่าวโดยไม่ประสงค์ให้สัญญาเช่าซื้อมีผลบังคับต่อไป ส่วนที่โจทก์ชำระเงินโดยนำฝากเข้าบัญชีของจำเลยภายหลังสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว จำเลยคงรับไว้เป็นค่าเสียหายตามที่ระบุในสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 15.3 ซึ่งจำเลยมีหนังสือชี้แจงไปยังโจทก์แล้วว่าการที่โจทก์ไม่ส่งมอบรถยนต์คืนหลังจากสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน ทำให้จำเลยต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากในการติดตามสืบหารถยนต์ จำเลยสืบทราบว่าโจทก์นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปขายโดยวิธีให้เช่าซื้อแก่ ป. การที่จำเลยจะนำเงินที่ได้รับชำระจากโจทก์มาหักเป็นค่าเสียหายในการติดตามรถยนต์คืนนับว่ามีเหตุผลอันสมควรและเป็นไปตามข้อสัญญา ทั้งเป็นการหักกับค่าเสียหายในค่าขาดประโยชน์ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับรถคืนอีกด้วย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันจากเหตุที่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบแล้ว
          แต่ถ้าคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดระยะเวลาการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ หากผู้ให้เช่าซื้อประสงค์จะเลิกสัญญา จะต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อภายในระยะเวลาอันควรก่อน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10417/2551  สัญญาเช่าซื้อว่าเริ่มชำระงวดแรกวันที่ 25 เมษยน 2540 เช่นนี้ เมื่อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 9 จึงเป็นงวดประจำวันที่ 25 ธันวาคม 2540 แต่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดงวดที่ 9 นับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2541 แสดงว่าโจทก์ยอมรับชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามงวดที่ระบุในสัญญา เช่นนี้ถือว่าโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ถือเอากำหนดระยะเวลาการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ หากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อภายในระยะเวลาอันควรก่อน การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อทันทีเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2541 จึงไม่ชอบ

          (3) สัญญาเช่าซื้อระงับลงด้วยเหตุอื่น เช่น ทรัพย์สินที่เช่าซื้อสูญหายไปทั้งหมด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2805/2540  สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ประเภทหนึ่ง เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายสัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567 แต่สัญญาเช่าซื้อข้อ 5 ระบุว่า "ถ้าทรัพย์สินที่เช่าซื้อถูกโจรภัย..สูญหาย ผู้เช่าซื้อยอมรับผิดฝ่ายเดียว... และยอมชำระเงินค่าเช่าซื้อจนครบ..." หมายความว่า ผู้เช่าซื้อจะต้องชำระราคารถยนต์ที่เช่าซื้อที่ยังไม่ได้ชำระตามสัญญาจนครบ โดยไม่ได้ระบุให้ผู้เช่าซื้อผ่อนชำระเป็นงวด ๆ เหมือนกรณีที่ทรัพย์ที่เช่าซื้อไม่ถูกโจรภัยหรือไม่สูญหาย อันมีลักษณะกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้า ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567 และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ไม่เป็นโมฆะ โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายและศาลมีอำนาจลดหย่อนลงได้หากเห็นว่ากำหนดไว้สูงเกินควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคแรก
          โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 5 เนื่องจากรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกคนร้ายลักไป และโจทก์ไม่ได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมา จึงมิใช่เป็นการฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563 กรณีไม่มีการส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าซื้อ ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30


          กรณีสัญญาเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภค***
          ปัจจุบันนี้มีประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561  ซึ่งออกโดยอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 35 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 ประกอบกับมาตรา 3 มาตรา 4 และมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกากําหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกําหนดธุรกิจที่ควบคุมสัญญาและลักษณะสัญญา พ.ศ. 2522 ดังนั้น การทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคจึงต้องมีข้อความเป็นไปตามที่ประกาศดังกล่าวข้างต้นกำหนดไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14578/2557  โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์แล้วผิดสัญญา โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาพร้อมเรียกให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนและใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามสัญญา โดยโจทก์แนบสำเนาสัญญาเช่าซื้อพร้อมคำฟ้องและอ้างส่งต่อศาล ทั้งมีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาพร้อมค่าเสียหาย ซึ่งสัญญาเช่าซื้อข้อ 6 ระบุความรับผิดของผู้เช่าซื้อในกรณีทรัพย์ที่เช่าซื้อสูญหายไว้ว่า หากเป็นความผิดของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อตกลงรับผิดชอบชำระค่าเช่าซื้อให้แก่เจ้าของจนครบถ้วนตามสัญญา แต่หากมิใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อตกลงรับผิดชอบค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับ หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถาม หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดเพียงเท่าที่เจ้าของได้จ่ายไปจริงตามความจำเป็นและมีเหตุผลอันสมควร ซึ่งเห็นได้ว่า แม้รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายอันเป็นเหตุให้สัญญาเช่าซื้อระงับไป จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่าซื้อก็ยังคงมีความรับผิดอันจะต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามข้อสัญญาที่โจทก์นำมาเป็นหลักแห่งข้อหาในการฟ้องคดีนี้ ส่วนจะใช้ค่าเสียหายอย่างไร เพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับว่าความสูญหายของรถยนต์ที่เช่าซื้อเกิดจากความผิดของจำเลยที่ 1 หรือไม่ ดังนั้น ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์จึงพอถือได้ว่า โจทก์เรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายรวมอยู่ด้วยแล้ว
          สัญญาเช่าซื้อข้อ 6 ข้างต้นมิได้กำหนดบังคับให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของทรัพย์โดยเด็ดขาดทุกกรณี หากแต่ได้แบ่งความรับผิดในแต่ละกรณีไว้ต่างหากจากกัน จึงมิใช่การเอาเปรียบหรือทำให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งต้องรับภาระเกินกว่าที่คาดหมายตามปกติ ทั้งข้อสัญญาดังกล่าวยังเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2543 ข้อ 4 (4) ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 35 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 และเป็นประกาศฉบับที่ใช้ในขณะทำสัญญาเช่าซื้อคดีนี้ ประกาศดังกล่าวเป็นประกาศที่ออกมาเพื่อคุ้มครองให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคในการเข้าทำสัญญาเช่าซื้อ ดังนี้ ข้อสัญญาดังกล่าวจึงมิใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
          สัญญาเช่าซื้อข้อ 6 กำหนดว่า หากทรัพย์สินที่เช่าซื้อสูญหายโดยมิใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อตกลงรับผิดชอบค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับ หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถาม การติดตามทรัพย์ที่เช่าซื้อ ค่าทนายความ หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดเพียงเท่าที่เจ้าของจ่ายไปจริงตามความจำเป็นและมีเหตุผลอันสมควร ดังนี้ จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่าซื้อจึงต้องผูกพันตามข้อตกลงนั้น แต่เนื่องจากโจทก์มิได้นำสืบให้ได้ความว่า โจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการทวงถาม การติดตามทรัพย์ที่เช่าซื้อ ค่าทนายความหรือค่าใช้จ่ายอื่นไปหรือไม่ เพียงใด จึงไม่กำหนดให้ คงมีเพียงค่าเสียหายจากการที่ทรัพย์ที่เช่าซื้อสูญหายไป ซึ่งแม้สัญญาเช่าซื้อจะเป็นอันระงับไปเพราะรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายอันเป็นเหตุให้โจทก์ไม่อาจเรียกค่าเสียหายเป็นราคารถยนต์นั้นได้ แต่เมื่อพิจารณาว่าหากรถยนต์ที่เช่าซื้อไม่สูญหาย และจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อจนครบถ้วนทั้ง 42 งวด โจทก์จะได้รับผลประโยชน์เป็นเงินรวม 77,209.44 บาท แต่คดีนี้โจทก์ได้รับผลประโยชน์จากจำเลยที่ 1 มาเพียง 5 งวด รถยนต์ก็มาสูญหายเสียก่อน จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 68,100 บาท จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์

02 มีนาคม 2561

ความผิดฐานกระทำอนาจาร

               มาตรา 278  "ผู้ใดกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยบุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้บุคคลนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

               (1) การกระทำอนาจาร คือ การกระทำที่ไม่สมควรในทางเพศต่อร่างกายของผู้อื่น
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4024/2534  การกระทำอนาจารคือการกระทำที่ไม่สมควรในทางเพศ เพียงแต่กอดจูบลูบคลำ แตะต้องเนื้อตัวร่างกายในทางไม่สมควรก็เป็นความผิดสำเร็จแล้วส่วนการกระทำชำเราจะเป็นความผิดสำเร็จเมื่อใช้อวัยวะเพศของชายบังคับใส่ล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศของหญิง การกระทำชำเราจึงรวมถึงการกระทำอนาจารอยู่ในตัว โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน 13 ปีโดยผู้เสียหายไม่ยินยอม ขอให้ลงโทษฐานกระทำชำเรา ย่อมหมายความว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยฐานกระทำอนาจารอยู่ด้วยในตัวแม้ไม่ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 ฐานกระทำอนาจารถ้าพิจารณาได้ความว่าจำเลยได้กอดจูบลูบคลำผู้เสียหาย ก็ย่อมลงโทษฐานกระทำอนาจารซึ่งมีโทษเบากว่าได้ ไม่เกินคำขอ.
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2049/2550  การกระทำอนาจาร คือ การกระทำที่ไม่สมควรในทางเพศ เพียงแต่กอดจูบลูบคลำ แตะต้องเนื้อตัวร่างกายในทางไม่สมควรก็เป็นการอนาจารแล้ว ส่วนการกระทำชำเรานั้นเป็นการกระทำถึงขั้นใช้อวัยวะเพศของชายใส่ล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศของหญิง การกระทำชำเราจึงรวมถึงการกระทำอนาจารอยู่ในตัว เมื่อจำเลยพรากเด็กหญิง อ. ไปเพื่อกระทำชำเราเด็กหญิง อ. การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพรากไปเพื่อการอนาจาร อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม และเป็นความผิดคนละกรรมกับความผิดฐานกระทำชำเรา

               การกระทำต่อเนื้อตัวบุคคลที่ไม่สมควรทางเพศ รวมถึงการกระทำให้อับอายขายหน้าในทางเพศด้วย
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4836/2547  คำว่า "อนาจาร" มีความหมายว่าเป็นการกระทำต่อเนื้อตัวบุคคลที่ไม่สมควรทางเพศซึ่งมิได้หมายความเฉพาะการประเวณีหรือความใคร่เท่านั้น แต่รวมถึงการกระทำให้อับอายขายหน้าในทางเพศด้วย การที่จำเลยกอดเอวโจทก์ร่วม จับมือและดึงแขนโจทก์ร่วมเช่นนั้นจึงเป็นการกระทำอนาจารแก่โจทก์ร่วมโดยใช้กำลังประทุษร้าย เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 278 แม้บางตอนจำเลยจะได้กระทำขณะอยู่ในรถยนต์กระบะแต่การที่จำเลยจับมือและดึงแขนโจทก์ร่วมให้เข้าไปในห้องพักของโรงแรมขณะอยู่ต่อหน้าพนักงานโรงแรมเช่นนั้นเป็นการกระทำโดยเปิดเผยในที่ซึ่งอาจมีคนเห็นได้ แม้ไม่มีผู้ใดเห็นในขณะกระทำนั้นก็เป็นธารกำนัลแล้ว เพราะการกระทำต่อหน้าธารกำนัลมิได้หมายความเฉพาะแต่กระทำโดยประการที่ให้บุคคลอื่นได้เห็นโดยแท้จริงเท่านั้น เพียงแต่กระทำในลักษณะที่เปิดเผยให้บุคคลอื่นสามารถเห็นได้ก็เป็นต่อหน้าธารกำนัลแล้ว ดังนั้น เมื่อจำเลยกระทำอนาจารแก่โจทก์ร่วมโดยใช้กำลังประทุษร้ายต่อหน้าธารกำนัล จึงเป็นความผิดที่มิใช่ความผิดอันยอมความได้

               (2) การกระทำอนาจารตามมาตรา 278 ต้องกระทำโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยบุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้บุคคลนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 501/2503  จำเลยจับมือและกอดเด็กหญิงผู้เสียหายอายุ 14 ปีถือได้ว่าเป็นการใช้แรงกายภาพ ซึ่งเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายตามความหมายใน มาตรา 1(6) แล้ว การกระทำของจำเลยดังกล่าว เป็นความผิดฐานกระทำอนาจารตาม มาตรา 278

               (3) ผู้ถูกกระทำจะเป็นชายหรือหญิงก็ได้ แต่จะเป็นความผิดตามมาตรา 278 นี้ต้องมีอายุเกินกว่า 15 ปี ถ้าผู้ถูกกระทำอายุยังไม่เกิน 15 ปี ก็เป็นความผิดตามมาตรา 279 (อนาจารเด็ก)
               มาตรา 279  "ผู้ใดกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
               ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก ผู้กระทำได้กระทำโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยเด็กนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้เด็กนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบห้าปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

               (4) ผู้กระทำต้องมีเจตนาตามมาตรา 59

               (5) ถ้าการกระทำอนาจารเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย ผู้กระทำความผิดก็ต้องรับโทษหนักขึ้นตามมาตรา 280

               (6) การกระทำความผิดตามมาตรา 278 นั้น ถ้ามิได้เกิดต่อหน้าธารกำนัล ไม่เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย หรือมิได้เป็นการกระทำแก่บุคคลดังระบุไว้ในมาตรา 285 เป็นความผิดอันยอมความได้ (มาตรา 281)

               บุคคลตามมาตรา 285 ได้แก่
               ก. ผู้สืบสันดาน
               ข. ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแล
               ค. ผู้อยู่ในความควบคุมตามหน้าที่ราชการหรือ
               ง. ผู้อยู่ในความปกครอง ในความพิทักษ์หรือในความอนุบาล

               ต่อหน้าธารกำนัล คือ กระทำในลักษณะที่เปิดเผยให้ผู้อื่นสามารถเห็นการกระทำของตนได้
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1279/2506  จำเลยกระทำอนาจารต่อหน้าธารกำนัล ซึ่งเป็นความผิดอันไม่อาจยอมความได้นั้น แม้ไม่มีการร้องทุกข์ เจ้าพนักงานก็ดำเนินคดีแก่จำเลยได้
               จำเลยจับนมผู้เสียหายในรถประจำทางซึ่งมีคนโดยสารแน่นนั้น เป็นการกระทำต่อหน้าธารกำนัล แม้มิได้มีพยานรู้เห็นการกระทำของจำเลยมาเบิกความในชั้นศาล
               การที่จำเลยจับนมผู้เสียหายโดยไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายได้อนุญาตยินยอมนั้น เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายตามมาตรา 278 แล้ว
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4593/2553  จำเลยกระทำอนาจารจับหน้าอกผู้เสียหายในร้านอาหารซึ่งมีลูกค้านั่งรับประทานอาหารอยู่ที่โต๊ะอื่นด้วย และมี น. พนักงานร้านอาหารนั้นเห็นจำเลยจับหน้าอกผู้เสียหายขณะ น. เสิร์ฟอาหารอยู่โต๊ะอื่น จึงเป็นการกระทำต่อหน้าธารกำนัล และมิใช่ความผิดฐานกระทำอนาจารที่จะยอมความได้ ตาม ป.อ. มาตรา 281 ประกอบมาตรา 278 แม้ผู้เสียหายแถลงไม่ติดใจเอาความแก่จำเลยแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ก็ยังไม่ระงับไป ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

               กรณีที่ไม่ใช่กระทำต่อหน้าธารกำนัล
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1173/2508 (ประชุมใหญ่)  จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายต่อหน้าเด็กหญิงคนหนึ่งในห้องนอนมืดเพียงแต่เหตุเกิดต่อหน้าเด็กหญิงเท่านั้น และโจทก์มิได้ยืนยันโต้แย้งว่าจำเลยได้กระทำโดยประการที่ให้เด็กหญิงได้เห็นการกระทำของจำเลย หรือว่าจำเลยได้กระทำในลักษณะที่เปิดเผยให้บุคคลอื่นสามารถเห็นการกระทำของจำเลยได้ ดังนี้ พฤติการณ์แห่งคดีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดต่อหน้าธารกำนัล หากผู้เสียหายได้แถลงต่อศาลไม่ติดใจเอาความจากจำเลย ขอถอนคำร้องทุกข์ ศาลก็ต้องสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 16/2508)
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 493/2528  จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายขณะที่ผู้เสียหายนอนอยู่กับบุตร 2 คน ไม่ปรากฏว่าบุตรของผู้เสียหายคนใดเห็นการกระทำของจำเลย ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดต่อหน้าธารกำนัล การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก จึงเป็นความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 281          


07 ตุลาคม 2560

มาตรฐานการพิสูจน์ในคดีอาญา (การชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน)

          มาตรา 227  "ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริง และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น
          เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย"

          มาตรฐานตามมาตรา 227 นี้ ถือเป็นมาตรฐานขั้นต่ำในทางระบบกฎหมายสากล เรียกว่ามาตรฐานนี้ว่า proof beyond reasonable doubt คือ โจทก์ต้องนำสืบให้เห็นโดยปราศจากเหตุอันควรสงสัย ***



          เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14822/2558  สำหรับความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์นั้น แม้ขณะเกิดเหตุจะฟังได้ว่า พวกของจำเลยเป็นผู้ยกเอาเก้าอี้ของโจทก์ไปโดยความรู้เห็นของจำเลยก็ตาม แต่พวกของจำเลยนำเก้าอี้ไปตั้งวางไว้ที่บริเวณหลังร้านของโจทก์ในระยะห่างจากจุดเดิมเพียงไม่กี่เมตร โดยจำเลยต่อสู้ว่านำเก้าอี้ไปใช้นั่งพูดคุยกันซึ่งก็มีเหตุผลควรแก่การรับฟัง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยสั่งการให้ขนเคลื่อนย้ายเก้าอี้ไปไว้ในบ้านจำเลยหรือนำเก้าอี้ไปทำประโยชน์อื่นใด ดังนั้นการที่จำเลยไม่ยอมคืนเก้าอี้ให้แก่โจทก์ในตอนแรกจึงเป็นเพียงพฤติการณ์ที่เกะกะระรานสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่โจทก์มากกว่าจะเป็นการเอาเก้าอี้ไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับจำเลยหรือพวกของจำเลย คดียังมีเหตุอันควรสงสัยรับฟังไม่ได้แน่ชัดว่า จำเลยกับพวกเอาเก้าอี้ของโจทก์ไปโดยทุจริตหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง จึงไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12563/2558  แม้ในชั้นสอบสวนทั้ง ธ. และ อ. จะให้การต่อพันตำรวจตรี ส. พนักงานสอบสวนว่า จำเลยกับ พ. ร่วมกันลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมาขายให้ ธ. 2 คัน และยังร่วมกันลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมาขายให้ อ. อีก 1 คัน แต่ในชั้นพิจารณาทั้ง ธ. และ อ. ไม่ได้มาเบิกความยืนยันการกระทำผิดของจำเลย เพื่อให้จำเลยมีโอกาสถามค้านเพื่ออธิบายข้อเท็จจริง ย่อมทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ทั้งปรากฏจากคำให้การชั้นสอบสวนของ ธ. ว่า ก่อนรับซื้อรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน รตจ กรุงเทพมหานคร 284 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2551 พ. ได้โทรศัพท์มาติดต่อขายรถจักรยานยนต์ให้โดยอ้างว่าเป็นสิทธิพิเศษของตนที่มีสิทธิซื้อในราคาเริ่มเปิดประมูล แต่ต้องการขายสิทธิดังกล่าว ต่อมาวันที่ 2 กันยายน 2551 พ. ขับรถกระบะของผู้เสียหายบรรทุกรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้า หมายเลขทะเบียน รษต กรุงเทพมหานคร 653 มาขายให้อีกโดยขับมาคนเดียว กลับบอกว่าครั้งนี้เป็นสิทธิของตน ส่วนครั้งก่อนเป็นสิทธิของจำเลย พฤติการณ์ของ พ. ตามคำให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าวมีข้อเคลือบแคลงสงสัยว่า จำเลยร่วมกระทำผิดกับ พ. หรือไม่ และตามคำให้การชั้นสอบสวนของ อ. ที่ว่า รถจักรยานยนต์ฮอนด้า หมายเลขทะเบียน วจม กรุงเทพมหานคร 424 มี พ. ขับมาขายโดยไม่ปรากฏว่ามีจำเลยเข้าไปมีส่วนร่วมกระทำผิดด้วยนั้นก็สอดคล้องกับที่ น. เบิกความว่า รถจักรยานยนต์คันดังกล่าว ต้องโทรศัพท์สอบถามจากบุคคลที่เคยมาประมูลซื้อรถ จึงทราบว่า พ. เป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์ไปขาย ดังนี้ ลำพังคำให้การชั้นสอบสวนของ ธ. และ อ. ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน จึงไม่อาจฟังลงโทษจำเลยได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13985/2556  แม้อุทธรณ์ของจำเลยจะไม่ปรากฏว่าจำเลยอุทธรณ์โต้แย้งในข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายไว้โดยชัดแจ้งก็ตาม แต่เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์มีเหตุสงสัยตามสมควรว่า จำเลยนำเมทแอมเฟตามีน 202 เม็ด มาส่งมอบให้แก่ ศ. หรือไม่ จึงยกฟ้องโจทก์ในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 202 เม็ดดังกล่าว กับข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเพราะเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 202 เม็ดดังกล่าว จึงเป็นข้อเท็จจริงเดียวที่เกี่ยวเนื่องกัน ศาลอุทธรณ์มีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ และในเรื่องนี้ร้อยตำรวจเอก ณ. เบิกความว่า ขณะพยานกับพวกเข้าจับกุมจำเลย จำเลยไม่ยอมให้จับกุมและใช้มือทั้งสองข้างชกต่อย โดยพยานถูกชกต่อยที่บริเวณหน้าอก และจ่าสิบตำรวจ ช. เบิกความว่าถูกชกต่อยที่บริเวณใบหน้า แต่ไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานใด ๆ ว่าพยานทั้งสองได้รับบาดเจ็บ ซึ่งถ้าถูกจำเลยชกต่อยจริง โดยเฉพาะบริเวณใบหน้าน่าจะมีร่องรอยผิวหนังถลอกหรือฟกช้ำบ้าง ตรงกันข้ามกับจำเลยที่มีบาดแผลฟกช้ำทั่วไปตามร่างกาย พูดไม่ได้ มีลักษณะปากแข็งเกร็งและมีรอยฟกช้ำบริเวณแขนและขา จากข้อเท็จจริงดังที่กล่าวมาจึงมีความสงสัยตามสมควรเช่นเดียวกันว่า จำเลยได้กระทำความผิดข้อหานี้หรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13389/2556  การที่ ช. เคยถูกดำเนินคดีว่าร่วมกับจำเลยทั้งสองในคดีนี้พยายามฆ่าผู้เสียหาย แม้ขณะเบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีนี้ ศาลพิพากษายกฟ้อง ช. แล้วก็ตาม คำเบิกความของ ช. ก็ยังมีลักษณะเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดจึงมีน้ำหนักน้อย ส่วนผู้เสียหายโจทก์ไม่สามารถนำมาเบิกความ คงอ้างส่งคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่ครั้งแรกให้การว่าคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายคือจำเลยที่ 1 ต่อมาให้การอีกครั้งว่าคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงคือจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าจำหน้าคนร้ายสับสน คำให้การที่ผู้เสียหายยืนยันว่าคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายคือจำเลยที่ 2 ไม่มีน้ำหนัก ส่วน ส. ซึ่งอยู่ร่วมกับผู้เสียหายในคืนเกิดเหตุก็เบิกความยืนยันเฉพาะว่าเห็นจำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่ ช. ขับมาเท่านั้น ส่วนคนร้ายคนอื่นพยานไม่เห็นหน้าและมองไม่ทัน พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบจึงยังมีเหตุสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 2 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4494/2555  ผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์ร่วมและพนักงานของโจทก์ร่วมเบิกความตรงกันว่า เหตุที่พยานทั้งสองทราบว่าสินค้ายาของกลางเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมก็โดยการตรวจสอบเปรียบเทียบกับสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าจริง ซึ่งจะมีความแตกต่างกันอยู่ 4 ประการ ซึ่งเมื่อพิจารณากล่องบรรจุสินค้า ฉลาก และขวดยาของสินค้ายาของปลอมและที่แท้จริงเปรียบเทียบกันแล้วเห็นว่าคล้ายกันมาก ผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์ทราบว่ายาของปลอมมีลักษณะอย่างไรก็เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของโจทก์ร่วมเป็นคนชี้ส่วนสำคัญให้ดู ทั้งเภสัชกรและผู้ตรวจวิเคราะห์ยาของกลางก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า หากเห็นแต่ยาของกลางเพียงอย่างเดียวจะไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นยาที่แท้จริงหรือยาปลอม และพนักงานสอบสวนก็ไม่สามารถระบุว่ายาใดเป็นยาปลอมหรือยาที่แท้จริงเพราะไม่ทราบรายละเอียดของตัวยาที่ผสมอยู่ แสดงว่าสินค้ายาคาโตซาลที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของกลางคล้ายกับสินค้าที่แท้จริงมาก ถ้าไม่ทราบถึงรายละเอียดข้อแตกต่างมาก่อนก็เป็นการยากที่จะสังเกตได้เอง ดังนี้แม้จำเลยจะเป็นสัตวแพทย์และเป็นผู้มีสินค้าของกลางไว้เพื่อจำหน่ายก็ไม่แน่ว่าจะได้สังเกตว่าสินค้าของกลางเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้า
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2892/2555  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยกระทำไปโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงเพราะผู้ตายใช้อาวุธปืนเด็กเล่นเล็งมายังกลุ่มของจำเลยก่อน ทำให้จำเลยสำคัญผิดว่ากำลังจะถูกผู้ตายใช้อาวุธปืนยิง จำเลยจึงใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเพื่อป้องกันตนอันเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริง แม้จำเลยจะไม่ได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในศาลชั้นต้น แต่เหตุที่จำเลยเพิ่งยกข้อต่อสู้นี้ในชั้นอุทธรณ์ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัย ก็เนื่องมาจากจำเลยเพิ่งทราบข้อเท็จจริงในสำนวนการสอบสวนอันเป็นประโยชน์แก่จำเลย เพราะหลังจากเสร็จการพิจารณาของศาลชั้นต้นแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ส่งสำนวนการสอบสวนคดีนี้มาประกอบการวินิจฉัย ซึ่งเอกสารในสำนวนการสอบสวนนั้น มีสาระสำคัญเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในชั้นสอบสวน ศาลจึงชอบที่จะใช้ดุลพินิจรับฟังข้อเท็จจริงจากสำนวนการสอบสวนที่โจทก์ไม่ได้อ้างส่งศาลเป็นพยานเพื่อพิสูจน์ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหรือไม่ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาเห็นว่า เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยปัญหานี้มานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา และศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวน ในข้อนี้ได้ความจากคำเบิกความของดาบตำรวจ ธ. อีกว่า พยานสอบถามรายละเอียดจากนาย พ. และผู้เสียหายหลังกลับมาที่หมู่บ้านแก้งสมบูรณ์ได้ความว่า ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหาย นาย พ. กับผู้ตายและพวกดื่มสุราที่บริเวณงานได้มีพวกของนาย พ. มาแจ้งว่าถูกวัยรุ่นหมู่บ้านห้วยปอตีทำร้ายผู้เสียหาย นาย พ. กับผู้ตายและพวกที่ดื่มสุราจึงออกไปพบวัยรุ่นหมู่บ้านห้วยปอที่บริเวณที่เกิดเหตุ เมื่อไปถึงผู้ตายวิ่งนำหน้าพวกผู้ตายและใช้อาวุธปืนเด็กเล่นเล็งไปทางกลุ่มวัยรุ่นบ้านห้วยปอจึงถูกจำเลยใช้อาวุธปืนยิงสวนได้รับบาดเจ็บในเวลานั้นและได้ความตามบันทึกคำให้การของดาบตำรวจ ธ. และนาย พ. ในชั้นสอบสวนตรงกันว่า ก่อนเกิดเหตุนั้นจำเลยกับพวกกำลังจะขึ้นรถจักรยานยนต์เดินทางออกไปจากที่เกิดเหตุ แต่ผู้ตายวิ่งนำหน้าพวกของผู้ตายโดยนาย พ. วิ่งตามไปติด ๆ และผู้ตายใช้อาวุธปืนเด็กเล่นยกขึ้นเล็งไปทางกลุ่มวัยรุ่นบ้านห้วยปอ จึงถูกจำเลยใช้อาวุธปืนยิงสวนถูกที่บริเวณหน้าท้อง เห็นว่า คำเบิกความและคำให้การในชั้นสอบสวนของดาบตำรวจ ธ. สอดคล้องกับคำเบิกความของนาย ท. และผู้เสียหายในข้อที่ว่าผู้ตายวิ่งนำหน้าพวกของตนเข้าไปหากลุ่มวัยรุ่น ซึ่งมีจำเลยร่วมอยู่ด้วยทำให้น้ำหนักคำเบิกความของนาย พ. ที่อ้างว่าผู้ตายเพียงแต่ใช้ขวดขว้างไปยังกลุ่มวัยรุ่นบ้านห้วยปอ ขณะจำเลยกำลังจะซ้อนรถจักรยานยนต์เพื่ออกไปจากบริเวณดังกล่าวมีน้ำหนักน้อย ดังนั้น พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงรับฟังประกอบสำนวนการสอบสวนคดีนี้มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยไม่ได้ก่อเหตุทะเลาะวิวาทกับผู้ตาย เมื่อผู้ตายกับพวกวิ่งเข้ามาหาโดยผู้ตายถืออาวุธปืนเด็กเล่นจ้องเล็งไปทางจำเลยในระยะใกล้ชิดในสภาวะและพฤติการณ์เช่นนั้น จำเลยย่อมไม่มีเวลาไตร่ตรองว่าอาวุธปืนในมือของผู้ตายเป็นอาวุธปืนจริงหรือไม่ จำเลยจึงมีโอกาสสำคัญผิดคิดว่าผู้ตายจะใช้อาวุธปืนจริงยิงจำเลยก่อนได้ ซึ่งการสำคัญผิดในสภาวะและพฤติการณ์เช่นนี้ไม่อาจถือได้ว่าเกิดจากความประมาทของจำเลย การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเพียง 1 นัด แล้วขึ้นรถจักรยานยนต์ของพวกจำเลยหลบหนีไป นับว่าเป็นการกระทำที่พอสมควรแก่เหตุอันเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 ประกอบด้วย มาตรา 62 วรรคแรก จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า จำเลยมีความผิดและลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ฐานฆ่าผู้อื่นมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4862/2554  โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "BOSCH" ที่โจทก์ร่วมใช้กับสินค้าต่างๆ ในการประกอบการค้าของโจทก์ร่วมและได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าหลายชนิดของโจทก์ร่วมในราชอาณาจักร การที่มีบุคคลอื่นผลิตสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์นำมาให้จำเลยจำหน่ายโดยที่สินค้า กล่องบรรจุสินค้า และสมุดคู่มือการใช้สินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์ดังกล่าวใช้คำว่า "BOSCH HID" ติดอยู่กับสินค้า ซึ่งคำดังกล่าวมีตัวอักษรเป็นตัวพิมพ์ใหญ่สีแดงเช่นเดียวกันกับเครื่องหมายการค้าคำว่า "BOSCH" ของโจทก์ร่วม อีกทั้งข้างกล่องบรรจุสินค้ายังติดสติกเกอร์ระบุคำว่า "GERMANY BOSCH" เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า "BOSCH" ของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศเยอรมนี แม้โจทก์ร่วมจะไม่มีสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์นั้นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในราชอาณาจักร แต่สินค้าดังกล่าวก็เป็นสินค้าชนิดเดียวกับสินค้าไฮดรอลิก ซึ่งเป็นชิ้นส่วนของยานพาหนะของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนไว้ในราชอาณาจักร ย่อมถือได้ว่าเจ้าของสินค้าที่ผลิตสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์ดังกล่าวเอาเครื่องหมายการค้าคำว่า "BOSCH" ของโจทก์ร่วมทุกตัวอักษรที่ยังไม่ได้จดทะเบียนไว้กับสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์มาใช้โดยเจตนาให้ประชาชนผู้ซื้อสินค้าดังกล่าวหลงเชื่อว่าสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์นั้นเป็นสินค้าของโจทก์ร่วม และแม้จะปรากฏว่าคำที่ใช้กับสินค้าดังกล่าวมีคำว่า "HID" ต่อจากคำว่า "BOSCH" ด้วยก็ตาม คำว่า "HID" เป็นเพียงสิ่งบ่งบอกถึงคุณสมบัติของสินค้าที่หมายถึงให้ความเข้มข้นของแสงไฟสูงเท่านั้น ไม่ใช่การเพิ่มเติมในส่วนสาระสำคัญเพียงพอที่จะทำให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าคำว่า "BOSCH" และ คำว่า "BOSCH HID" จึงหาทำให้ประชาชนผู้ซื้อสินค้าไม่อาจหลงเชื่อว่าสินค้านั้นไม่ใช่สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า "BOSCH" ของโจทก์ร่วมไม่ อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า บริษัท บ. เจ้าของสินค้าได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมให้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "BOSCH" กับสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์หรือไม่ ซึ่งหากได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมแล้ว การที่จำเลยเสนอจำหน่ายสินค้าดังกล่าวย่อมไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 275 ประกอบมาตรา 272 (1) ได้ เพราะเป็นการเสนอขายสินค้าที่มิได้มีการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีความสงสัยตามสมควร ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง

          การใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักฟังพยานหลักฐาน ศาลมีอำนาจหยิบยกข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่ได้ความจากการนำสืบของทั้งสองฝ่ายมาใช้ดุลพินิจรับฟังได้ตามสมควรตามพฤติการณ์แห่งคดี อันเป็นอำนาจโดยอิสระของศาลในการค้นหาเหตุผลเพื่อหาข้อเท็จจริงแห่งคดีให้ได้ข้อยุติ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12795/2558  การใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักฟังพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลย เป็นการใช้ดุลพินิจในการค้นหาเหตุผลจากพยานหลักฐานเหล่านั้นว่าควรจะรับฟังได้เพียงใดหรือไม่ ฝ่ายใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่ากัน ศาลมีอำนาจหยิบยกข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่ได้ความจากการนำสืบของทั้งสองฝ่ายมาใช้ดุลพินิจรับฟังได้ตามสมควรตามพฤติการณ์แห่งคดี อันเป็นอำนาจโดยอิสระของศาลชั้นต้นในการค้นหาเหตุผลเพื่อหาข้อเท็จจริงแห่งคดีให้ได้ข้อยุติ ข้อที่โจทก์ร่วมอุทธรณ์โต้แย้งว่าเหตุผลที่ศาลชั้นต้นหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อย ก็เป็นเพียงความคิดเห็นของโจทก์ร่วม ทั้งไม่มีกฎหมายบัญญัติบังคับว่า หากเป็นรายละเอียดปลีกย่อยแล้วจะนำมาใช้ประกอบดุลพินิจไม่ได้ การใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานของศาลชั้นต้นจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่ถือเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ

          ในคดีอาญาศาลจะต้องใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง จะไม่พิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำความผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น กรณีที่ศาลวินิจฉัยคดีโดยฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีอาญาเรื่องก่อนซึ่งถึงที่สุด โดยมิได้วินิจฉัยตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนคดีนี้ จึงเป็นการไม่ชอบ เป็นการขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 186 (5) และมาตรา 227 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5677/2555  ในการพิพากษาคดีอาญาหาได้มีบทบัญญัติของกฎหมาย ให้ศาลจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาในคดีอื่นดังเช่นที่บัญญัติไว้สำหรับคดีแพ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ไม่ แม้โจทก์ทั้งสามกับบริษัท ส. ซึ่งมีจำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการ จะเป็นคู่ความเดียวกันและพยานหลักฐานของจำเลยจะเป็นชุดเดียวกันกับจำเลยเคยอ้างและนำสืบในคดีอาญาก่อนมาแล้วก็ตาม เพราะในคดีอาญาศาลจะต้องใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง จะไม่พิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำความผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยคดีนี้โดยฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีอาญาก่อนซึ่งถึงที่สุด โดยมิได้วินิจฉัยตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนคดีนี้ จึงเป็นการไม่ชอบ เป็นการขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 186 (5) และมาตรา 227 วรรคหนึ่ง

--------------
          ***ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล, คำอธิบายกฎหมายลักษณะพยานหลักฐาน, พิมพ์ครั้งที่ ๕  (สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, พ.ศ.๒๕๕๓)


12 กันยายน 2560

ฝากทรัพย์

          สัญญาฝากทรัพย์ คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ฝากส่งมอบทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับฝากและ ผู้รับฝากตกลงว่าจะเก็บรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ในอารักขาแห่งตน แล้วจะคืนให้ (มาตรา 657)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1936/2549  การที่จำเลยที่ 2 จัดสถานที่จอดรถให้แก่ลูกค้า ผู้ที่นำรถเข้าไปจอดเป็นผู้หาที่จอดรถเองและเก็บลูกกุญแจรถไว้เอง พนักงานของจำเลยที่ 1 มอบบัตรจอดรถให้ตอนขาเข้า คอยดูแลจัดหาที่จอดรถ และรับบัตรจอดรถคืนตอนขาออกเป็นการช่วยรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกค้าที่นำรถเข้าไปจอด โดยไม่เก็บค่าจอดรถ การที่ลูกค้านำรถเข้าไปจอดดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นการมอบการครอบครองรถให้แก่จำเลยทั้งสอง จึงไม่ใช่สัญญาฝากทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 657 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญาฝากทรัพย์
          บัตรจอดรถของจำเลยที่ 2 ที่พนักงานของจำเลยที่ 1 แจกให้แก่ลูกค้าเมื่อนำรถเข้าจอดในลานจอดรถยนต์เป็นหลักฐานสำคัญที่จะแสดงว่ารถของลูกค้า ซึ่งเข้ามาจอดในลานจอดรถสูญหายอาจเกิดจากพนักงานของจำเลยที่ 1 ปล่อยรถออกไปโดยมิได้ตรวจและเรียกบัตรจอดรถคืน หรือเจ้าของรถประมาทเลินเล่อลืมบัตรจอดรถไว้ในรถเป็นเหตุให้คนร้ายที่ลักรถนำบัตรจอดรถไปแสดงต่อพนักงานของจำเลยที่ 1 แล้วนำรถออกไปได้ หรือแม้แต่เจ้าของรถรู้เห็นกับคนร้ายโดยให้บัตรจอดรถแก่คนร้ายให้นำรถออกไปก็เป็นได้ กล่าวคือ บัตรจอดรถของจำเลยที่ 2 ต้องยังอยู่ในความครอบครองของเจ้าของรถ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์มีบัตรจอดรถของจำเลยที่ 2 มาแสดงว่าบัตรจอดรถยังอยู่กับโจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์พิพาทแต่พนักงานของจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อปล่อยรถยนต์พิพาทออกไปโดยไม่ได้ตรวจบัตรจอดรถ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์พิพาทสูญหายไป


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4235/2541  โจทก์นำรถยนต์ไปฝากไว้กับจำเลย จำเลยเรียกเก็บค่าฝากเป็นรายเดือน มีระเบียบว่าเจ้าของรถต้องฝากกุญแจไว้กับจำเลยเพื่อจำเลยเลื่อนรถได้ในกรณีที่มีรถอื่นเข้ามาจอด ซึ่งโจทก์ได้มอบกุญแจรถให้จำเลยทุกครั้งที่มาจอดพฤติการณ์ดังกล่าว เป็นการรับฝากทรัพย์โดยมีบำเหน็จ หาใช่เป็นเรื่องให้เช่าสถานที่จอดรถไม่

          หน้าที่ของผู้รับฝาก
          (1) กรณีรับฝากทรัพย์เป็นการทำให้เปล่า ไม่มีบำเหน็จ ผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินซึ่งฝาก นั้นเหมือนเช่นเคยประพฤติในกิจการของตนเอง (มาตรา 659 วรรคหนึ่ง)
          (2) กรณีที่การรับฝากทรัพย์นั้นมีบำเหน็จค่าฝาก ผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือ เพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดั่งนั้น ทั้งนี้ย่อมรวมทั้งการใช้ฝีมืออันพิเศษเฉพาะการในที่จะพึงใช้ฝีมือเช่นนั้นด้วย (มาตรา 659 วรรคสอง)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10082/2551  การที่จะพิจารณาว่าจำเลยในฐานะผู้รับฝากรถยนต์ไว้โดยมีบำเหน็จค่าฝากได้ใช้ความ ระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้นหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับคนทั่วๆไปในภาวะเช่นนั้นว่าควรจะพึงใช้ความระมัดระวังเช่นไร จำเลยใช้ห้องแถวซึ่งอยู่ติดกับถนนเป็นที่ตั้งอู่ บริเวณด้านหน้าของอู่ตั้งประชิดติดกับขอบถนน แสดงว่าอู่ของจำเลยเป็นอู่ขนาดเล็กย่อมเป็นไปได้ยากที่จะมีการกั้นรั้วหรือ จัดหายามมาคอยระแวดระวังในเวลากลางคืน การที่จำเลยจอดรถยนต์กระบะคันพิพาทไว้บริเวณด้านหน้าอู่ของจำเลยโดยได้ล็อกประตูและล็อกพวงมาลัยรถยนต์คันพิพาท ส่วนตัวจำเลยก็นอนอยู่ภายในอู่ดังกล่าว เมื่อได้ยินเสียงเครื่องยนต์รถดังขึ้นก็ได้ลุกขึ้นดู เมื่อพบว่ารถยนต์คันพิพาทหายไป ก็ได้แจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจที่ผ่านมาทราบและออกติดตามคนร้ายกับเจ้าพนักงานตำรวจด้วย ตามพฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้นแล้ว
          (3) กรณีที่ผู้รับฝากเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใด ก็จำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้ และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะ อย่างนั้น (มาตรา 659 วรรคสาม)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8144/2548  การที่โจทก์กับ ม. ขอเปิดบัญชีร่วมกับธนาคารจำเลยที่ 1 โดยกำหนดเงื่อนไขในการเบิกถอนเงินจากบัญชีว่าโจทก์กับ ม. ต้องลงลายมือชื่อร่วมกันจึงจะเซ็นสั่งจ่ายเงินจากบัญชีได้นั้น ย่อมแสดงให้เห็นได้อยู่ในตัวจากสัญญาฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์ถือเอาเงื่อนไขการเบิกถอนเงินตามที่กำหนดไว้ในคำขอเปิดบัญชีร่วมเป็น สาระสำคัญและเป็นเงื่อนไขที่ทำให้โจทก์ผู้ฝากเงินเกิดความมั่นใจว่าหากโจทก์ มิได้ร่วมลงลายมือชื่อในใบถอนเงินด้วย จะไม่มีใครสามารถที่จะเบิกถอนเงินจากบัญชีได้ ดังนั้น หากจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเงื่อนไขการเบิกถอนเงินเช่นว่านี้เป็นอย่างอื่น ย่อมต้องถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขในส่วนที่เป็นสาระสำคัญยิ่งของสัญญา ฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 กล่าวคือ หากจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเงื่อนไขดังกล่าวก็ชอบที่ฝ่ายโจทก์คือทั้งโจทก์ และ ม. จะต้องมาปรากฏตัวแสดงตนต่อจำเลยที่ 1 ด้วยตนเองหรือทำหนังสือมอบอำนาจมาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ การที่จำเลยที่ 1 เห็นว่า โจทก์และ ม. เป็นลูกค้ารายใหญ่และยอมผ่อนปรนวิธีปฏิบัติให้โดยไม่จำเป็นที่จะต้องให้ บุคคลทั้งสองมาปรากฏตัวเพื่อแสดงความประสงค์พร้อมกันด้วยตนเองต่อจำเลยที่ 1 นั้น ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มุ่งหมายเพียงเพื่อการเอาใจลูกค้ารายใหญ่ให้ได้รับความสะดวกโดยไม่ถือ ปฏิบัติเช่นที่ต้องปฏิบัติตามปกติ ถือว่าจำเลยที่ 1 มิได้ใช้ความระมัดระวังเท่าที่เป็นธรรมดาที่ต้องใช้และสมควรต้องใช้ในกิจการ ธนาคารพาณิชย์ของตน เมื่อลายมือชื่อของโจทก์ในหนังสือขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกจ่ายเงินฝาก เป็นลายมือชื่อปลอม พนักงานของจำเลยที่ 1 ตรวจสอบแล้ว ไม่ทราบว่าเป็นลายมือชื่อปลอมจึงอนุมัติให้ ม. เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกถอนได้ เช่นนี้ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ผู้รับฝากซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์มิได้ใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้ในกิจการธนาคารของตนในส่วนนี้อีกโสดหนึ่งด้วย
          ขณะที่โจทก์กับ ม. เปิดบัญชีร่วมต่อจำเลยที่ 1 และ ม. ยื่นหนังสือขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกจ่ายเงินจากบัญชี รวมทั้งขณะที่ ม. เบิกถอนเงินจากบัญชีร่วมดังกล่าวไปแต่ผู้เดียวนั้น โจทก์กับ ม. ยังเป็นสามีภริยากัน ซึ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาย่อมเป็นสินสมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1470 และถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ตามมาตรา 1474 วรรคสอง บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส ประกอบกับหากเงินในบัญชีเงินฝากเป็นของโจทก์คนเดียว ก็ไม่มีเหตุที่โจทก์กับ ม. จะกำหนดเงื่อนไขการเบิกถอนเงินว่าต้องลงลายมือสั่งจ่ายทั้งสองคนร่วมกัน จึงฟังว่าเงินในบัญชีเงินฝากที่ ม. เบิกถอนไปนั้นเป็นสินสมรส ซึ่งโจทก์มีส่วนอยู่เพียงกึ่งหนึ่งเท่านั้น จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์ในส่วนนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4001/2540  ธนาคารจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอาชีพรับฝากเงินจึงต้องใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบลายมือชื่อของโจทก์ผู้ฝากเงินให้ละเอียดรอบคอบ เมื่อเปรียบเทียบลายมือโจทก์ในใบถอนเงินฝากกับลายมือโจทก์ในบัตรตัวอย่างลายมือชื่อผู้ฝากและสมุดคู่ฝากแล้ว เห็นได้ว่าลักษณะการเขียนและลายเส้นลายหนาแตกต่างกัน เช่นตัว "ย" เป็นต้น เมื่อปรากฎด้วยว่าลายมือในใบถอนเงินฝากก็มิใช่เป็นของโจทก์ทั้งหมด จึงเป็นสิ่งผิดปกติ เพราะหากโจทก์มาถอนเงินด้วยตนเองก็น่าจะต้องกรอกข้อความทั้งหมดด้วยตนเอง จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 จึงควรจะต้องสอบถามให้ได้ความว่าผู้ใดเป็นผู้กรอกข้อความร่วมกับผู้ถอนหรือขอตรวจดูบัตรประจำตัวประชาชนหรือใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบลายมือชื่อให้ลายละเอียดรอบคอบมากขึ้น แต่ปรากฎว่าจำเลยที่ 4 มิได้กระทำ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 4 ได้ตรวจลายมือชื่อโจทก์โดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งผู้ตรวจในภาวะเช่นจำเลยที่ 4 จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ จำเลยที่ 4 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์เพียงแต่ทำสมุดคู่ฝากหายไปเท่านั้น ซึ่งเป็นเหตุปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ เหตุที่เกิดขึ้นในคดีนี้เพราะมีผู้ปลอมลายมือชื่อโจทก์ในใบถอนเงินและนำไปถอนเงินจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้จ่ายเงินให้ผู้ปลอมไปโดยประมาทเลินเล่อโดยโจทก์ไม่มีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วย ดังนี้เหตุที่โจทก์ทำสมุดหาย จึงไม่ใช่ผลโดยตรงที่ทำให้เกิดเหตุในคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีส่วนร่วมในความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6280/2538  จำเลยประกอบธุรกิจธนาคาร การจ่ายเงินตามเช็คที่มีผู้มาขอเบิกเงินเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งของจำเลยซึ่งต้องปฏิบัติอยู่เป็นประจำจำเลยย่อมมีความชำนาญในการตรวจสอบลายมือชื่อในเช็คว่าเป็นลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายหรือไม่ยิ่งกว่าบุคคลธรรมดา ทั้งจำเลยจะต้องมีความระมัดระวังในการจ่ายเงินตามเช็คยิ่งกว่าวิญญูชนทั่วๆไป การที่จำเลยจ่ายเงินตามเช็คพิพาทให้แก่ผู้นำมาเรียกเก็บเงินไปโดยที่ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่ใช่ลายมือชื่อโจทก์ทั้งที่มีตัวอย่างลายมือชื่อโจทก์ที่ให้ไว้กับจำเลยกับมีเช็คอีกหลายฉบับที่โจทก์เคยสั่งจ่ายไว้อยู่ที่จำเลย จึงเป็นการขาดความระมัดระวังของจำเลย เป็นการกระทำละเมิดและผิดสัญญาฝากทรัพย์ต่อโจทก์ จำเลยจะยกข้อตกลงยกเว้นความรับผิดตามที่ระบุไว้ในคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันมาอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดไม่ได้ การที่เช็คพิพาทซึ่งอยู่ในความครอบครองของโจทก์ตกไปอยู่ในความครอบครองของบุคคลอื่นจนกระทั่งมีการปลอมลายมือชื่อโจทก์นั้นแสดงว่าโจทก์ละเลยไม่ระมัดระวังในการดูแลรักษาแบบพิมพ์เช็คดังกล่าวอันถือได้ว่าโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย การกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์เพียงใดนั้นต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ
          (4) ห้ามผู้รับฝากเอาทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นออกมาใช้สอยเอง หรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย หรือให้บุคคลภายนอกเก็บรักษา ยกเว้นแต่ผู้ฝากจะอนุญาต หากผู้รับฝากฝ่าฝืนก็จะต้องรับผิดเมื่อทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นสูญหายหรือบุบสลายอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง (มาตรา 660)
          (5) ผู้รับฝากต้อง รับบอกกล่าวแก่ผู้ฝากโดยพลัน ถ้า
               ก. บุคคลภายนอกอ้างว่ามีสิทธิเหนือทรัพย์สินซึ่งฝากและยื่นฟ้องผู้รับฝาก หรือ
               ข. บุคคลภายนอกอ้างว่ามีสิทธิเหนือทรัพย์สินซึ่งฝากและยึดทรัพย์สินนั้น
          (6) ผู้รับฝากมีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์ที่รับฝากไว้ ดังนี้
               ก. ถ้าได้กำหนดเวลากันไว้ว่าจะพึงคืนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเมื่อไร ผู้รับฝากไม่มีสิทธิจะคืนทรัพย์สินก่อนถึงเวลากำหนด เว้นแต่ในเหตุจำเป็นอันมิอาจจะก้าวล่วงเสียได้
               ข. ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดเวลาไว้ว่าจะพึงคืนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเมื่อไร ผู้รับฝากอาจคืนทรัพย์สินนั้นได้ทุกเมื่อ
               ค. ผู้รับฝากจำต้องคืนทรัพย์สินซึ่งรับฝากไว้นั้นให้แก่ผู้ฝาก หรือทรัพย์สินนั้นฝากในนามของผู้ใด คืนให้แก่ผู้นั้น หรือผู้รับฝากได้รับคำสั่งโดยชอบให้คืนทรัพย์สินนั้นไปแก่ผู้ใด คืนให้แก่ผู้นั้น แต่หากผู้ฝากทรัพย์ตาย ท่านให้คืนทรัพย์สินนั้นให้แก่ทายาท

          หน้าที่ของผู้ฝาก
          (1) ค่าคืนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้น ย่อมตกแก่ผู้ฝากเป็นผู้เสีย
          (2) ค่าใช้จ่ายใดอันควรแก่การบำรุงรักษาทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นผู้ฝากจำต้องชดใช้ให้แก่ผู้รับฝาก เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้ โดยสัญญาฝากทรัพย์ว่าผู้รับฝากจะต้องออกเงินค่าใช้จ่ายนั้นเอง
          (3) สำหรับกรณีฝากทรัพย์มีบำเหน็จก็ต้องมีหน้าที่จ่ายค่าบำเหน็จ โดยถ้าไม่ได้กำหนดเวลาไว้ในสัญญา หรือไม่มีกำหนดโดยจารีตประเพณีว่าบำเหน็จค่าฝากทรัพย์นั้นจะพึงชำระเมื่อไร ให้ชำระเมื่อคืนทรัพย์สินซึ่งฝาก ถ้าได้กำหนดเวลากันไว้เป็นระยะอย่างไรก็พึงชำระเมื่อสิ้นระยะเวลานั้นทุกคราวไป


          อายุความ
          ความรับผิดเพื่อใช้เงินบำเหน็จค่าฝากทรัพย์ หรือชดใช้เงินค่าใช้จ่าย หรือใช้ค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันสิ้นสัญญา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9190/2547  เมื่อจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของท่าเทียบเรือและรับจ้างขนสินค้าขึ้นจากเรือได้ขนถ่ายรถยนต์ของโจทก์ทั้งหมด ขึ้นจากเรือเสร็จแล้ว โจทก์มิได้รับรถยนต์ไปทันที แต่ได้ให้จำเลยเก็บรักษาไว้ที่ลานพักสินค้าของจำเลย โดยมีการคิดค่าเก็บรักษา จึงมีลักษณะเป็นสัญญาฝากทรัพย์โดยมีบำเหน็จรวมอยู่ด้วย ซึ่งหากรถยนต์ได้รับความเสียหาย จำเลยผู้รับฝากต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ผู้ฝาก การฟ้องเรียกค่าซ่อมแซมรถยนต์เป็นการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับการฝากทรัพย์ อันมีอายุความ 6 เดือนนับแต่วันสิ้นสัญญา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 671 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2539 จึงเกินกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2538 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์รับรถยนต์คืนไปจากจำเลยอันเป็นวันสิ้นสัญญาฝากทรัพย์ สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยจึงขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4712/2546  โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 5 รับผิดในฐานะที่เป็นผู้รับฝากตู้สินค้าไว้แล้วสินค้าได้สูญหายไปในระหว่างที่จำเลยที่ 5 รับฝากเป็นการฟ้องเรียกให้ใช้ราคาทรัพย์ ไม่ใช่เรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 671 และกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ10 ปี ตามมาตรา 193/30 เมื่อผู้ขนส่งส่งมอบและผู้รับตราส่งรับมอบสินค้าเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2541 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ผู้รับตราส่งรู้ว่าสินค้าหายไป จากวันดังกล่าวนับถึงวันฟ้องคือวันที่ 9 ธันวาคม 2542 ยังไม่ครบ 10 ปี ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 5 จึงไม่ขาดอายุความ

31 สิงหาคม 2560

หน่วยงานรัฐใช้ดุลพินิจในการกําหนดจุดและรูปแบบเพื่อสร้างสะพานคนเดินข้ามถนนสาธารณะ แต่ปิดทางเข้าออกที่ดินเอกชน | ละเมิด | คดีปกครอง

          กรณีที่ กรมทางหลวง (ผู้ถูกฟ้องคดี) ดําเนินการก่อสร้างสะพานคนเดินข้ามถนนบริเวณด้านหน้าที่ดินของเอกชนเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน (ผู้ฟ้องคดี) แต่บันไดสะพานปิดทางเข้าออกที่ดินของผู้ฟ้องคดีเกือบทั้งหมด ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถเข้าออกที่ดินได้และผู้ฟ้องคดีได้ขอให้แก้ไขแล้ว แต่กรมทางหลวงไม่ได้ดําเนินการแก้ไขให้ ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งให้กรมทางหลวงแก้ไขแบบบันไดสะพาน

          โดยที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นที่ดินว่างเปล่าหน้ากว้าง 10 เมตร และไม่ได้อาศัยในที่ดินแปลงนั้น ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้ทราบว่ามีการก่อสร้างสะพานปิดบังหน้าที่ดิน ภายหลังการก่อสร้างสะพานแล้วเสร็จตามสัญญา  แต่กรมทางหลวง (ผู้ถูกฟ้องคดี) อ้างว่า ก่อนดําเนินการก่อสร้างสะพานคนเดินข้ามถนน มีการติดป้ายประกาศแจ้งให้ผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วันแล้ว และไม่ได้แจ้งผู้ฟ้องคดีว่าจะมีการก่อสร้างสะพานในบริเวณดังกล่าว เจ้าหน้าที่ของกรมทางหลวง (ผู้ถูกฟ้องคดี) ได้เสนอแนวทางแก้ไขตําแหน่งบันไดสะพานตามรูปแบบใหม่ โดยให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย และกรมทางหลวง (ผู้ถูกฟ้องคดี) กล่าวอ้างต่อศาลปกครองสูงสุดว่า จุดก่อสร้างสะพานเป็นถนน 4 ช่องจราจร ใกล้สี่แยกไฟจราจร อยู่ในบริเวณย่านชุมชนหนาแน่น มีการจราจรคับคั่ง ใกล้ตลาดและโรงเรียน มีนักเรียนและประชาชนเดินข้ามเป็นจํานวนมากและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง สามารถอํานวยความสะดวกปลอดภัยแก่ผู้ใช้ทางให้ได้รับประโยชน์สูงสุด




          มีประเด็นปัญหาที่ต้องพิจารณาคือ การก่อสร้างสะพานคนเดินข้ามถนนเป็นการดําเนินการที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ? 

          โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การก่อสร้างสะพานคนเดินข้ามถนนเป็นการกระทําตามอํานาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 ซึ่งการใช้ดุลพินิจในการกําหนดจุดและรูปแบบในการก่อสร้างสะพานคนเดินข้ามถนน เป็นการดําเนินกิจการทางปกครองเพื่อบริการสาธารณะ โดยจะต้องดําเนินการชอบด้วยรูปแบบขั้นตอนและคํานึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เมื่อการก่อสร้างสะพานมีบันไดสะพานที่มีความยาว 11.30 เมตร ปิดบังหน้าที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่มีความยาว 10 เมตร เกือบตลอดทั้งแนว และที่ดินของผู้ฟ้องคดีมีทางเข้าออกเฉพาะด้านหน้าที่ดินเพียงทางเดียว ส่วนด้านหลังและด้านข้างทั้งสองข้างของที่ดินติดกับที่ดินของเอกชน ทําให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถเข้าออกถนนได้ อีกทั้ง ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดินเพียงรายเดียวที่บันไดสะพานคนเดินข้ามถนนพาดผ่าน ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีย่อมเล็งเห็นได้ว่า การก่อสร้างบันไดสะพานคนเดินข้ามถนนดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อผู้ฟ้องคดีโดยตรง การที่ผู้ถูกฟ้องคดีติดป้ายประกาศเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน แต่มิได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบ จึงเป็นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ให้ข้อมูล ชี้แจงและให้เหตุผลแก่ผู้ฟ้องคดีก่อนจะมีการกําหนดตําแหน่ง แบบรูปสะพานและดําเนินการก่อสร้างสะพาน และไม่คํานึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และแม้ว่าการก่อสร้างสะพานดังกล่าวจะเป็นการดําเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะและการกําหนดจุดก่อสร้างสะพานจะเกิดประโยชน์่อประชาชนผู้เดินข้ามถนนก็ตาม แต่ในการจัดทําบริการสาธารณะจะต้องคํานึงถึงความเสียหายของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างด้วย ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างบันไดสะพานคนข้ามถนน ซึ่งมีบันไดสะพานทอดยาวปิดบังหน้าที่ดินของผู้ฟ้องคดีเกือบตลอดทั้งแนว จนทําให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถเข้าออกถนนและไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ตามสมควร จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่เหมาะสมและเป็นการกระทําที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทําละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องดําเนินการแก้ไขแบบบันไดสะพานคนเดินข้ามถนน เพื่อให้ผู้ฟ้องคดีสามารถเข้าออกที่ดินของผู้ฟ้องคดีได้ เมื่อการแก้ไขบันไดสะพานคนข้ามตามแบบรูปสะพานที่ผู้ถูกฟ้องคดีเสนอต่อศาลปกครองสูงสุดทําให้ไม่ปิดบังหน้าที่ดินของผู้ฟ้องคดีและผู้ฟ้องคดีสามารถเข้าออกถนนและใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ตามสมควร จึงพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันนับแต่วันที่มีคําพิพากษา (คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 1491/2559)

          ผลของคดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได่มีคําสั่งให้กรมทางหลวงชี้แจงเกี่ยวกับการแก่ไขแบบบันไดสะพานที่ทําให้ผู้ฟ้องคดีสามารถเข้าออกที่ดินได้ โดยให้คํานึงถึงความปลอดภัยของโครงสร้าง ความสะดวกและความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้สะพานและประโยชน์ใช้สอยของสะพานคนเดินข้ามเป็นสําคัญ โดยคำนึงถึงความสําคัญของ “หลักความได้สัดส่วน” ที่เข้ามาควบคุมไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อํานาจตามอําเภอใจ แม้จะเป็นการดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ที่กฎหมายกําหนดให้กระทําได้ก็ตาม