คำพิพากษาผูกพันคู่ความ

          ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่

          มาตรา 145  "ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการอุทธรณ์ฎีกา และการพิจารณาใหม่ คำพิพากษาหรือคำสั่งใดๆ ให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่ง นับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่ง จนถึงวันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย ถ้าหากมี
          ถึงแม้ศาลจะได้กล่าวไว้โดยทั่วไปว่าให้ใช้คำพิพากษาบังคับแก่บุคคลภายนอกซึ่งมิได้เป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลด้วยก็ดี คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นย่อมไม่ผูกพันบุคคลภายนอก เว้นแต่ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 142 (1), 245 และ 274 และในข้อต่อไปนี้
          (1) คำพิพากษาเกี่ยวด้วยฐานะหรือความสามารถของบุคคล หรือคำพิพากษาสั่งให้เลิกนิติบุคคล หรือคำสั่งเรื่องล้มละลายเหล่านี้ บุคคลภายนอกจะยกขึ้นอ้างอิงหรือจะใช้ยันแก่บุคคลภายนอกก็ได้
          (2) คำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินใดๆ เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกนั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่า"




          คำพิพากษาหรือคำสั่งผูกพันคู่ความ แต่ไม่ผูกพันบุคคลภายนอก มีหลักการสำคัญดังนี้

          1. คำพิพากษาผูกพันคู่ความ ข้อที่จะต้องผูกพันคู่ความนั้น ผูกพันจนกว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นจะถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือถูกกลับ หรือถูกงดเสีย 
          คู่ความที่จะต้องผูกพันตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น จะต้องยังมีฐานะเป็นคู่ความอยู่ในขณะที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ถ้าพ้นจากการเป็นคู่ความไปก่อนศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง เช่น ศาลสั่งจำหน่ายคดีคู่ความคนใดไปก่อน คนนั้นก็ไม่ถือเป็นคู่ความอีกต่อไปจึงไม่ต้องผูกพันในคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น สำหรับผู้สืบสิทธิของคู่ความก็ต้องผูกพันในคำพิพากษาหรือคำสั่งเช่นเดียวกับคู่ความที่ตนสืบสิทธิมาเช่นกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2233/2548   คดีก่อน ธนาคาร ก. เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลย โดยมีจำเลยคดีนี้เป็นผู้ร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีก่อนแล้วว่า ที่ดินทั้งสามแปลงตามฟ้องเป็นของจำเลยคดีนี้ เมื่อโจทก์และจำเลยคดีนี้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว ผลของคำพิพากษาย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง และแม้จำเลยจะยังมิได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งที่ดินทั้งสามแปลงตามคำพิพากษาคดีดังกล่าว โจทก์ก็ไม่อยู่ในฐานะบุคคลภายนอกซึ่งอาจอ้างสิทธิตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสองได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินทั้งสามแปลงตามฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7542/2548   โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของพันตรี พ. ผู้วายชนม์ ให้การกับนำสืบต่อสู้ในคดีเดิมที่ถูก ช. ฟ้องขับไล่ว่า จำเลย (โจทก์คดีนี้) และพันตรี พ. ร่วมกันซื้อที่ดินตามฟ้องในคดีนั้น คดีถึงที่สุดโดยศาลวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของ ช. ตามที่บรรยายฟ้องและนำสืบว่าเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทคดีนี้ คำพิพากษาในคดีเดิมจึงผูกพันคู่ความคือ ช. และจำเลย (โจทก์คดีนี้) ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ดังนี้ แม้คดีนี้โจทก์จะฟ้องในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของพันตรี พ. ซึ่งถือได้ว่าเป็นบริวารของจำเลยในคดีเดิม โจทก์ก็คือคู่ความฝ่ายจำเลยในคดีเดิมนั่นเอง ส่วนจำเลยทั้งสองซึ่งร่วมกันซื้อที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทคดีนี้จาก ช. และพันตำรวจตรี ย. จำเลยทั้งสองก็คือผู้รับโอนสิทธิจากคู่ความในคดีเดิมคือ ช. ซึ่งเป็นฝ่ายโจทก์ ฉะนั้น เมื่อคดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทต้องวินิจฉัยว่าที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ตามฟ้องเป็นของจำเลยทั้งสองในฐานะผู้รับโอนสิทธิจาก ช. อันจะพึงส่งผลให้จำเลยทั้งสองมีสิทธิขอให้ทางราชการออกโฉนดที่ดินให้ได้หรือไม่ จึงเป็นคดีที่มีประเด็นข้อพิพาทที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้ย่อมเป็นฟ้องซ้ำกับคดีเดิมต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
          สำหรับการผูกพันคู่ความนั้น ผูกพันกันในสาระสำคัญสองประการ
          (1.1) ผูกพันในผลคำพิพากษา หมายความว่า เมื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลไว้อย่างไรแล้ว คู่ความฝ่ายที่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นมีความผูกพันที่ต้องปฏิบัติตาม เมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาขอให้ศาลบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ถึงแม้คำพิพากษาจะยังไม่ถึงที่สุดก็ตาม เว้นแต่ศาลได้อนุญาตให้มีการทุเลาการบังคับไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1182/2500   โจทก์ฟ้องเรียกเอาที่จากนาง ป. ระหว่างคดีนาง ป.ตายลง นาย ม. บุตรนาง ป.ได้ยื่นคำร้องขอรับมรดกความนาง ป.เพื่อดำเนินคดีกับโจทก์ต่อไป จำเลยก็ยื่นคำร้องต่อศาลขอรับมรดก คดีนาง ป.ด้วยโดยอ้างเหตุว่าเพราะนาง ป.ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้จำเลย ศาลสั่งให้จำเลยฟ้องนาย ม.เพื่อแสดงว่าจำเลยมีสิทธิในกองทรัพย์สินดีกว่านาย ม. แต่จำเลยไม่จัดการฟ้องนาย ม.ในเวลาที่ศาลกำหนด ศาลจึงสั่งให้นาย ม.รับมรดกความนาง ป. นาย ม.จึงดำเนินคดีกับโจทก์ ต่อมาได้ทำสัญญาประณีประนอมยอมความกัน โดยนาย ม.ยอมให้ที่พิพาทเป็นของโจทก์ ๆ ตกลงชำระเงินให้นาย ม.จำนวนหนึ่ง เช่นนี้ถือว่าถ้าแม้จำเลยจะมีสิทธิตามพินัยกรรมจริง จำเลยก็ต้องได้รับผลของการดำเนินคดีที่นาย ม.ได้ทำไป เท่ากับจำเลยยอมให้นาย ม.ดำเนินการแทน จำเลยจะอ้างว่าจำเลยได้จัดการให้อำเภอโอนที่พิพาทให้จำเลยโดยถูกต้องตามสิทธิในพินัยกรรมมายันโจทก์ไม่ได้ เมื่อโจทก์ได้ชำระเงินให้นาย ม.ครบก็ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทและฟ้องขับไล่จำเลยได้.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 687/2508    คดีที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้ขายขายทรัพย์มีคุณภาพไม่ตรงตามคำโฆษณา ให้ผู้ขายรับทรัพย์คืนและคืนเงินให้ผู้ซื้อพร้อมด้วยดอกเบี้ยนัน เมื่อผู้ซื้อได้เอาทรัพย์นั้นไปใช้โดยไม่สุจริตจนชำรุดเสียหาย ผู้ขายก็ชอบที่จะชดใช้คืนเงินลดลงตามส่วนแห่งสภาพความเสียหายซึ่งเกิดขึ้นจากการกระทำของผู้ซื้อได้ แต่จะบังคับให้ผู้ซื้อรับคืนทรัพย์โดยผู้ขายไม่ต้องชดใช้เงินอย่างใดไม่ได้ ในเมื่อทรัพย์นั้นยังอยู่ในสภาพที่พอจะซ่อมแซมได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1423/2517   ศาลพิพากษาให้ขับไล่จำเลย และให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่เช่าของโจทก์ที่ให้จำเลยเช่า จำเลยจะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา คือต้องออกและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดิน เมื่อจำเลยเป็นผู้ให้เช่าสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินโจทก์ แม้คำพิพากษาจะมิได้สั่งให้ผู้เช่าซึ่งเป็นบริวารจำเลยออกไปจากที่ดินของโจทก์คำพิพากษาย่อมใช้บังคับขับไล่ผู้เช่าสิ่งปลูกสร้างได้ด้วย จำเลยจะอ้างเป็นเหตุไม่ยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ศาลพิพากษาให้รื้อหาได้ไม่
          อ. โจทก์ในคดีแพ่งแดงที่  82/2514  ยึดห้องแถวและสิ่งปลูกสร้างไว้ตามคำสั่งศาล ไม่เป็นเหตุให้ศาลงดการบังคับคดีตามคำพิพากษาในคดีนี้ เพราะการที่จำเลยจะต้องรื้อห้องแถวและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินโจทก์เป็นการกระทำโดยคำสั่งศาล
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7182/2539   ผู้ที่เกี่ยวข้องในการทำนิติกรรมตามฟ้องนอกจากจำเลยแล้วยังมีบุคคลอื่นอีกหลายคน แต่โจทก์ฟ้องจำเลยเพียงคนเดียวโดยมิได้ฟ้องบุคคลดังกล่าวด้วย ซึ่งขณะที่โจทก์ฟ้องจำเลยไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทแล้ว หากศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมตามคำขอของโจทก์แล้ว ย่อมเป็นการพิพากษากระทบไปถึงสิทธิของบุคคลภายนอกซึ่งมิได้เข้ามาเป็นคู่ความในคดีต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 จึงไม่อาจบังคับตามคำขอของโจทก์ได้ ปัญหาดังกล่าวแม้คู่ความจะไม่อุทธรณ์และฎีกาแต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองและพิพากษายกฟ้องโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5623/2548  ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจำเลยต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี แม้จำเลยจะยื่นฎีกา แต่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมผูกพันคู่ความอยู่จนกว่าจะถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสียถ้าหากมี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ดังนี้ต้องถือว่าคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ชอบที่จะถอนฟ้องได้ และศาลชั้นต้นชอบที่จะมีอำนาจสั่ง เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องโดยจำเลยไม่คัดค้านแล้ว ซึ่งการถอนคำฟ้องย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องรวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่นๆ อันมีต่อมาภายหลังยื่นคำฟ้อง และกระทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นคำฟ้องเลยตามมาตรา 176 ดังนั้น ฎีกาของจำเลยจึงต้องถูกลบล้างไปด้วยผลของการถอนฟ้อง ศาลฎีกาสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3792/2551   สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสอง ได้กำหนดเวลาชำระหนี้แต่ละงวดไว้แน่นอนตามวันแห่งปฏิทิน ซึ่งหากจำเลยทั้งสองผิดนัดการชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งถือว่าจำเลยทั้งสองผิดนัดการชำระหนี้ทุกงวด ยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที แสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาที่ประสงค์ให้ถือเอาเวลาชำระหนี้ที่กำหนดไว้เป็นสาระสำคัญ และศาลชั้นต้นได้พิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว จึงผูกพันโจทก์และจำเลยทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคแรก แม้โจทก์จะรับชำระหนี้งวดที่ 1 ถึงงวดที่ 4 ซึ่งชำระไม่ตรงตามกำหนด โดยโจทก์ไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดจากจำเลยทั้งสองก็เป็นเรื่องที่โจทก์ยังไม่ประสงค์จะบังคับคดีในขณะนั้นเท่านั้น ไม่ทำให้จำเลยทั้งสองพ้นจากความผูกพันที่จะต้องชำระหนี้งวดต่อไปให้ตรงตามกำหนด เมื่อจำเลยทั้งสองยังคงชำระหนี้งวดที่ 5 ไม่ตรงตามกำหนดอีก จึงเป็นผู้ผิดนัด
          จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้บังคับคดีด้วยการยึดที่ดินของจำเลยที่ 2 มาชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 แม้โจทก์จะทราบมาก่อนว่าที่ดินดังกล่าวจำเลยที่ 2 ได้เสนอขายต่อสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสุพรรณบุรี จำกัด และคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสุพรรณบุรี จำกัด มีมติให้ซื้อจากจำเลยที่ 2 แล้ว ก็ไม่เป็นการใช้สิทธิบังคับคดีโดยไม่สุจริต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5433/2558   เมื่อศาลฎีกาพิพากษาว่า ค. เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้ ต. และบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาท ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ดังนั้น การที่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ค. ใช้สิทธิฟ้องจำเลยในฐานะบริวารของ ต. ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าว เมื่อ ต. ถูกผูกพันโดยคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ค. จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งเป็นบริวารของ ต. ออกไปจากที่ดินพิพาทได้
          (1.2) ข้อผูกพันตามข้อเท็จจริงที่ได้ความเป็นยุติในคดีนั้น ในชั้นพิจารณาคดีถ้ามีข้อเท็จจริงที่ได้ความเป็นยุติในคดีนั้นไม่ว่าโดยการวินิจฉัยของศาลหรือที่คู่ความรับกัน ดังนี้ ถือว่าข้อเท็จจริงนั้นผูกพันคู่ความในคดีตลอดไป แม้จะไปกล่าวอ้างในคดีอื่นก็จะอ้างให้แตกต่างไปจากข้อเท็จจริงที่ยุติในคดีเดิมนั้นไม่ได้ ข้อสำคัญ คือ ข้อเท็จจริงที่จะมีผลผูกพันนั้นจะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในประเด็นแห่งคดีหรือเกี่ยวเนื่องกับประเด็นแห่งคดี
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1336/2526   คดีก่อนศาลแพ่งได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าจำเลยที่ 1  ซื้อที่ดินรายพิพาทมาจากนาย พ.และนาง ถ. โดยสุจริต และจดทะเบียนสิทธิแล้ว และต่อมายกให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่  2  ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินรายพิพาทโดยชอบ โจทก์ไม่อาจยกการได้กรรมสิทธิ์โดยทางครอบครองซึ่งมิได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ขึ้นต่อสู้  โจทก์มิได้อุทธรณ์คัดค้านประการใด คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์  ซึ่งเป็นคู่ความในกระบวนพิจารณามิให้โต้เถียงเป็นอย่างอื่น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ส่วนโจทก์ร่วมนั้นในระหว่างที่โจทก์กับจำเลยที่ 2  พิพาทกันในคดีก่อน โจทก์ร่วมยังเป็นภริยาของโจทก์อยู่  ถึงแม้โจทก์ร่วมจะได้ร่วมกับโจทก์ครอบครองที่ดินรายพิพาทมา ที่ดินรายพิพาทก็เป็นสินสมรสซึ่งโจทก์ในฐานะสามีมีอำนาจจัดการ การที่โจทก์เข้าต่อสู้คดีเกี่ยวกับที่ดินรายพิพาทย่อมเป็นการกระทำแทนโจทก์ร่วมด้วย  คำพิพากษาในคดีก่อนจึงผูกพันโจทก์ร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 ดุจเดียวกัน  ดังนั้นโจทก์และโจทก์ร่วมจะฟ้องคดีใหม่ว่า จำเลยที่ 1 มิได้ซื้อที่ดินและจำเลยที่ 2  ไม่ได้กรรมสิทธิ์อันเป็นการโต้แย้งคำพิพากษาในคดีก่อนหาได้ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 733/2538  คดีก่อนอัยการเป็นโจทก์ฟ้องเพื่อประโยชน์ของจำเลยตามป.พ.พ. มาตรา 1562 อันเป็นการฟ้องแทนจำเลยซึ่งห้ามมิให้ฟ้องโจทก์ซึ่งเป็นบุพการี คำพิพากษาศาลฎีกาในกรณีดังกล่าวจึงมีผลผูกพันจำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคแรก ที่พิพากษายืนตามศาลล่างทั้งสองว่าจำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนโจทก์ เมื่อประเด็นพิพาทในคดีนี้มีเพียงว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเท่านั้น คดีก็ไม่ต้องสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยอีกต่อไป
        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6220/2550   โจทก์และจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่างเป็นคู่ความในคดีแพ่งอีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวได้วินิจฉัยแล้วว่าจำเลย (โจทก์ในคดีนี้) เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อและพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ (จำเลยที่ 1 ในคดีนี้) โดยรับรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนไปในสภาพปัจจุบัน คดีถึงที่สุดแล้ว คำพิพากษาของศาลในคดีดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยทั้งสามในคดีนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โจทก์จะกล่าวอ้างหรือโต้เถียงให้ศาลวินิจฉัยข้อเท็จจริงให้แตกต่างไปจากเดิมไม่ได้ แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจะไม่ได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวด้วย เมื่อเป็นกรณีคำพิพากษาผูกพันคู่ความแล้วก็ต้องฟังว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อ ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้เพื่อให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้ออีก

          2. คำพิพากษาหรือคำสั่งไม่ผูกพันบุคคลภายนอก บุคคลภายนอก คือ ผู้ที่ไม่ได้เป็นคู่ความในคดี รวมถึงคู่ความในคดีซึ่งพ้นจากฐานะคู่ความในคดีไปแล้วก่อนศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง เช่น ถอนฟ้อง หรือศาลสั่งจำหน่ายคดีสำหรับบุคคลนั้นไป
          ถ้าคดีใดที่มิได้ฟ้องบุคคลใดๆเข้ามาเป็นจำเลยในคดีนั้นด้วย แต่มีคำขอท้ายฟ้องที่จะต้องบังคับไปถึงบุคคลนั้นด้วย ศาลก็พิพากษาให้ไม่ได้ ต้องยกคำขอในส่วนนี้ ถ้ามีข้อเท็จจริงที่ศาลต้องวินิจฉัยไปเกี่ยวข้องกับสิทธิของบุคคลภายนอกคดีด้วย ศาลก็วินิจฉัยให้ไม่ได้ต้องยกฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 681-682/2502  โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินซึ่งมีชื่อบุตรจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่บุตรจำเลยมิได้เป็นคู่ความในคดี กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ศาลจะพิพากษาหรือสั่งใด ๆ ให้ผูกพันบุตรของจำเลย ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2251/2538    คำสั่งศาลที่แสดงว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ มีผลผูกพันโจทก์ต่อเมื่อโจทก์ได้ทราบเรื่องที่จำเลยยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้วไม่โต้แย้งคัดค้านภายในเวลาที่ศาลกำหนดไว้ เมื่อโจทก์ไม่ทราบเรื่องที่จำเลยยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ทำให้ไม่อาจโต้แย้งคัดค้านคำร้องขอของจำเลยได้ คำสั่งของศาลจึงไม่ผูกพันโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีเพื่อพิสูจน์ว่าตนมีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145(2) ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4751/2539  ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้ศาลที่พิจารณาคดีอาญาจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งดังนั้น ในการพิพากษาคดีอาญาศาลไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีแพ่ง ส่วนคำพิพากษาต้องผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคแรก นั้นก็ผูกพันคู่ความเฉพาะในคดีแพ่งดังกล่าวเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10261/2550   โจทก์และจำเลยในคดีนี้กับคู่ความในคดีก่อนเป็นคู่ความเดียวกัน โดยคดีก่อนจำเลยฟ้องโจทก์มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยคือขอให้พิสูจน์สิทธิในที่ดินพิพาทที่โจทก์นำไปออกโฉนดว่าเป็นของจำเลยหรือไม่ ศาลชั้นต้นได้มีคำวินิจฉัยแล้วว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย แม้ศาลชั้นต้นจะยกฟ้อง ก็เนื่องมาจากว่าจำเลยมิได้ร้องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินซึ่งจำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์ออกโฉนดดังกล่าวโดยมิชอบ แต่จำเลยกลับมีคำขอให้บังคับโจทก์โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่จำเลย ซึ่งเมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยย่อมไม่จำต้องมีการโอนกรรมสิทธิ์กันอีก เนื่องจากที่พิพาทเป็นของจำเลยอยู่แล้ว ที่จำเลยมีคำขอให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ให้นั้นจึงเป็นกรณีที่ไม่จำต้องมีการบังคับตามคำขอ มิใช่คำฟ้องไม่สมบูรณ์ แต่เป็นกรณีที่ศาลไม่อาจบังคับตามคำขอให้ได้เท่านั้น คู่ความยังคงต้องผูกพันตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. 145
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 583/2551   กรณีที่จะเป็นการขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 200 ต้องเป็นกรณีที่โจทก์หรือจำเลยที่ได้ยื่นคำให้การไว้ไม่มาศาลในวันสืบพยาน และไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ซึ่งวันสืบพยานดังกล่าวต้องเป็นวันสืบพยานในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองก่อนเจ้าหนี้รายอื่นและขอเฉลี่ยทรัพย์ ผู้ร้องจึงมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อสนับสนุนข้ออ้างของตนตามคำร้องในวันนัดไต่สวน ซึ่งมิใช่เป็นการสืบพยานในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี จึงไม่อาจนำบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาโดยขาดนัดที่ศาลจะต้องจำหน่ายคดีตามมาตรา 202 มาบังคับใช้ได้  เมื่อผู้ร้องไม่มาศาลในวันนัดไต่สวนคำร้องโดยไม่มีเหตุอันสมควร การที่ศาลชั้นต้นฟังว่าผู้ร้องไม่นำพยานหลักฐานมาสืบและศาลสั่งยกคำร้อง จึงเป็นคำสั่งที่ชอบแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5444/2551   การฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 นั้น เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จะต้องฟ้องคู่กรณีทั้งสองฝ่ายที่ทำนิติกรรม คือ ลูกหนี้กับผู้ได้ลาภงอกจากนิติกรรมเป็นจำเลยในคดี จะฟ้องเพียงคนใดคนหนึ่งไม่ได้ เพราะมิฉะนั้นแล้วคำพิพากษาของศาลย่อมไม่ผูกพันลูกหนี้หรือผู้ได้รับลาภงอก
          อ. เป็นลูกหนี้ของโจทก์ แต่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรของ อ. และเป็นผู้ได้รับลาภงอกจากการกระทำนิติกรรมกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับจำนองที่ดินและบ้านพิพาทจากจำเลยที่ 1 มิได้ฟ้อง อ. ด้วย แม้จะปรากฏว่า อ. ถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว โจทก์ก็ชอบที่จะฟ้องทายาทหรือผู้จัดการมรดกของ อ. ได้ การที่โจทก์บรรยายฟ้องมาว่า ก่อน อ. ถึงแก่กรรมได้พักอาศัยอยู่กับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดูแลรักษา อ. มาโดยตลอด จึงเป็นไปไม่ได้ที่ อ. จะขายที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เพราะขัดต่อเหตุผล ถือว่านิติกรรมดังกล่าวทำเพื่อฉ้อฉลทำให้โจทก์เสียเปรียบนั้นเป็นเพียงการบรรยายฟ้องเพื่อสนับสนุนข้ออ้างของโจทก์ที่ว่า อ. กับจำเลยที่ 1 ร่วมกันทำนิติกรรมเพื่อฉ้อฉลโจทก์เท่านั้น หาใช่การบรรยายฟ้องเพื่อแสดงให้เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ อ. ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมคดีนี้ได้

          3. คำพิพากษาที่พิพากษาถึงบุคคลภายนอกคดีไม่มีผลบังคับ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2865/2530   โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลอนุญาตและสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 แล้ว ต่อมาโจทก์กับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน สัญญาดังกล่าวถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำในฐานะคู่ความแห่งคดี คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคสองศาลจะออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 หาได้ไม่
          ปัญหาว่าคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลผูกพันจำเลยที่ 2 หรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแต่ศาลชั้นต้น ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้

          ข้อยกเว้น
          หลักคำพิพากษาไม่ผูกพันบุคคลภายนอกนั้นมีข้อยกเว้น ดังนี้
          (1) คำพิพากษาในเรื่องขับไล่ ถ้าศาลพิพากษาให้ขับไล่จำเลยก็ให้ขับไล่บริวารของจำเลยด้วย มาตรา 142(1)
          (2) คำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือฎีกาในกรณีที่เป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แต่ลูกหนี้บางคนอุทธรณ์ บางคนไม่อุทธรณ์หรือฎีกา ศาลอุทธรณ์หรือฎีกาเห็นสมควรจะให้คำพิพากษามีผลไปถึงลูกหนี้ที่ไม่ได้อุทธรณ์หรือฎีกาด้วยก็ได้ ตามมาตรา 245
          (3) ในกรณีบุคคลภายนอกทำสัญญาค้ำประกันต่อศาลตามมาตรา 274  คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นย่อมใช้บังคับแก่การประกันนั้นได้โดยไม่ต้องฟ้องผู้ค้ำประกันขึ้นใหม่
          (4) คำพิพากษาในกรณีดังต่อไปนี้บุคคลภายนอกยกขึ้นอ้างอิงได้ หรือคู่ความจะยกขึ้นยันกับบุคคลภายนอกก็ได้
          ก. คำพิพากษาหรือคำสั่งเกี่ยวด้วยฐานะหรือความสามารถของบุคคล
          ข. คำพิพากษาหรือคำสั่งให้เลิกนิติบุคคล
          ค. คำสั่งล้มละลาย
          (5) คำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินใดๆ เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คู่ความนั้นอาจใช้ยันบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่า
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1967/2552   ศาลฎีกามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ และขับไล่ ท. ระหว่างบังคับคดี จำเลยได้ยึดถือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ไว้ โจทก์จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) จำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) อยู่ในเขตที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ซึ่งเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ดินที่จำเลยครอบครองและใช้ประโยชน์ และจำเลยเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ที่ดินพิพาท โดยรับมอบการครอบครองมาจาก ท. โดยชอบ จนได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท กับมีสิทธิยึดหน่วงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) คำให้การของจำเลยดังกล่าวจึงขัดแย้งกันไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินพิพาทกับที่ดินที่จำเลยครอบครองเป็นที่ดินคนละแปลงกันหรือไม่ และจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท กรณีจึงรับฟังได้ตามคำฟ้องของโจทก์ว่า ที่ดินพิพาทกับที่ดินที่จำเลยครอบครองเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวแม้จำเลยไม่ใช่คู่ความในคดีที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาก็ตาม แต่คำพิพากษาในคดีดังกล่าวก็ใช้ยันจำเลยผู้เป็นบุคคลภายนอกได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง (2) การที่จำเลยให้การรับว่าได้รับที่ดินพิพาทมาจาก ท. ซึ่งไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่จำเลยได้ อันเป็นการรับมอบที่ดินพิพาทโดยเด็ดขาด มิใช่เพื่อประกันการชำระหนี้แล้วได้ครอบครองโดยสงบ เปิดเผย เจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 1 ปี ทำให้ได้สิทธิครอบครอง โดยไม่ได้ให้การว่าจำเลยมีสิทธิดีกว่าโจทก์ด้วยเหตุประการอื่น จำเลยจึงไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทตามบทบัญญัติข้างต้น โจทก์ย่อมเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยไม่มีสิทธิยึดหน่วงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ไว้ แม้ว่า ท. ยังไม่ได้ชำระเงินยืมและดอกเบี้ยให้จำเลย