11 กรกฎาคม 2558

การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ของผู้ร้อง เป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1299 จะห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว

           แม้การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ของผู้ร้อง เป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1299 จะห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน โดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วก็ตาม แต่โจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและนำยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาด จึงไม่เป็นบุคคลภายนอกที่จะมีสิทธิดีกว่าผู้ร้อง(ผู้ครอบครองปรปักษ์์)

ป.พ.พ.มาตรา 1299 วรรคสอง  "ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว"

แม้การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 เป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1299 จะห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน โดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วก็ตาม แต่โจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและนำยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาด มิใช่ผู้ที่ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดย สุจริตแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง จึงไม่เป็นบุคคลภายนอกที่จะมีสิทธิดีกว่าผู้ร้อง และแม้ขณะโจทก์ยึดที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นยังไม่มีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ถือว่าเป็นการยึดโดยชอบก็ตาม แต่เมื่อต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการ ครอบครองปรปักษ์แล้ว ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 การที่โจทก์นำยึดที่ดินพิพาทเป็นการบังคับคดีที่กระทบถึงสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องชอบจะขอให้ถอนการยึดที่ดินพิพาทได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288
        เรื่องนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอให้บังคับคดี โดยโจทก์นำยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 5158 และนำยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 24688 ตำบลบุ่งขี้เหล็ก อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งถึงที่สุดให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสอง แปลง โดยการครอบครองปรปักษ์ตามสำเนาโฉนดที่ดินและสำเนาคำสั่งศาล โดยผู้ร้องยังไม่ได้จดทะเบียนสิทธิ สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 24688 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ถอนการยึด โจทก์ไม่อุทธรณ์ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
         มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ผู้ร้องชอบที่จะขอให้ถอนการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 5158 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 อันเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 จะบัญญัติว่า สิทธิของผู้ที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมและยังไม่ได้จดทะเบียนสิทธิ ต้องห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน โดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วก็ตาม แต่เมื่อโจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและนำยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์เท่านั้น โจทก์มิได้เป็นผู้ที่ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน โดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง โจทก์จึงมิใช่เป็นบุคคลภายนอกที่จะมีสิทธิดีกว่าผู้ร้องตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้ขณะที่โจทก์ยึดที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นยังไม่มีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ซึ่งถือว่าได้นำยึดที่ดินพิพาทไว้โดยชอบก็ตาม แต่ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 การที่โจทก์นำยึดที่ดินพิพาทจึงเป็นการบังคับคดีที่กระทบถึงสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงชอบที่จะขอให้ถอนการยึดที่ดินพิพาทได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18606/2556)

26 มิถุนายน 2558

เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้

           
           มาตรา 1335  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นท่านว่าแดนแห่งกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นกินทั้งเหนือพื้นดินและใต้พื้นดินด้วย
          มาตรา 1336  ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
 
          เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 244/2567  คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ มีที่มาจากบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. ทำกับทายาทของ ก. เพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ก. ให้แก่ทายาท โดยตกลงให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 8235 (เลขที่ 96870) ให้แก่โจทก์ จึงเป็นสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดก อันมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคสอง โจทก์และจำเลยที่ 1 ต้องผูกพันตามข้อตกลงในสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าว จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกมีหน้าที่จัดการมรดกโดยทั่วไปและแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนภายใต้ขอบอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719, 1723, 1724 วรรคหนึ่ง และ 1745 การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกรู้ว่าโฉนดที่ดินพิพาทอยู่กับโจทก์ แต่กลับมอบอำนาจให้ผู้มีชื่อไปยื่นคำขอออกใบแทนโฉนดที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับใบแทนโฉนดที่ดินพิพาทวันที่ 22 มีนาคม 2561 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในวันที่ 10 เมษายน 2561 เป็นเวลาหลังจากได้รับใบแทนโฉนดที่ดินพิพาทเพียง 18 วัน แสดงให้เห็นถึงความต้องการของจำเลยที่ 1 ที่จะเอาที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกมาเป็นประโยชน์ของตนเพียงผู้เดียว ย่อมไม่เป็นไปเพื่อการจัดการทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทอันเป็นการกระทำผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดกและนอกขอบอำนาจของผู้จัดการมรดก จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้ผู้มีชื่อไปขอใบแทนทั้งที่โฉนดที่ดินไม่ได้สูญหาย ใบแทนโฉนดที่ดินซึ่งจำเลยที่ 1 นำไปจดทะเบียนขายให้แก่จำเลยที่ 2 จึงออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผลให้โฉนดที่ดินถูกยกเลิกไป และถือไม่ได้ว่าใบแทนโฉนดที่ดินเป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่คู่กรณีจะนำไปใช้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.พ.พ. ได้ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 63 วรรคแรกและวรรคสอง, 72 การจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ย่อมใช้สิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 2 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336
          
จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมรับซื้อฝากที่ดินพิพาทจาก จ. โดยไม่สุจริต โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมอันอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนเสียเปรียบ โจทก์ทั้งสามย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทเพื่อกลับคืนสู่กองมรดกได้ เมื่อคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามมีคำขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวกลับมาเป็นของ จ. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. หรือ ต. เพื่อให้ที่ดินพิพาทกลับสู่กองมรดกของ ก. หรือ ต. ดังนี้ ตามคำขอดังกล่าวจึงมีความหมายรวมอยู่ในตัวว่า โจทก์ทั้งสามมีคำขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทระหว่าง จ. ในฐานะส่วนตัวกับ จ. ในฐานะผู้จัดการมรดกด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เพียงพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากและสัญญาขยายกำหนดเวลาไถ่จากการขายฝากที่ดินระหว่าง จ. กับจำเลยที่ 2 เท่านั้น จึงยังไม่ครบถ้วนตามคำฟ้องและคำขอของโจทก์ แต่ที่โจทก์ทั้งสามฎีกาขอให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติตามคำพิพากษา หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายนั้น เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมตามคำขอท้ายดังกล่าวของโจทก์แล้ว ย่อมมีผลทำให้ที่ดินกลับสู่กองมรดกของ ก. หรือ ต. โดยผลของคำพิพากษา อีกทั้ง ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 61 วรรคแปด บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนหรือแก้ไขอย่างใดแล้ว ให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นตามวิธีการที่อธิบดีกำหนด จึงไม่จำต้องบังคับให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวโดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายอีก

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2295/2565 จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ม. ผู้ตาย ซึ่งมิได้ทำพินัยกรรมไว้ จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิและหน้าที่เพียงทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการทรัพย์มรดกโดยทั่วไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ อันได้แก่การแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทโดยธรรมทุกคนเท่านั้น แม้ในการจัดการมรดกทั่วไปเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกให้ทายาท จำเลยที่ 1 อาจทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนขายมรดกได้โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาท แต่ต้องเป็นการกระทำเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท จำเลยที่ 1 ไม่อาจกระทำการใด ๆ ต่อทรัพย์มรดกโดยประการอื่นได้ การที่จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 แล้วเบียดบังเอาเงินที่ขายได้เป็นประโยชน์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถือไม่ได้ว่าเป็นการจัดการมรดกโดยทั่วไปเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทตามอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ หากแต่เป็นการกระทำใด ๆ กับที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยทุจริต แม้จำเลยที่ 1 จะกระทำโดยอาศัยสิทธิการเป็นผู้จัดการมรดกก็ไม่อาจกระทำได้ หากปราศจากความยินยอมของทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย ส่วนจำเลยที่ 3 แม้จะรับฟังว่าซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่จำเลยที่ 3 ก็ไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท เพราะจำเลยที่ 3 ซื้อจากจำเลยที่ 1 ซึ่งขายที่ดินพิพาทแล้วเบียดบังเอาเงินที่ขายได้ไปเป็นประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น อันมิใช่เป็นการทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปตามที่กฎหมายให้อำนาจผู้จัดการมรดกให้กระทำได้ จำเลยที่ 3 จึงไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 1 ผู้ขาย การที่โจทก์และ อ. ซึ่งเป็นคู่สมรสและบุตรของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรม ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ถือเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์และทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกได้มาซึ่งที่ดินพิพาทโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมไม่อาจอ้างการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทที่ยังไม่ได้จดทะเบียนขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 3 ซึ่งซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง จึงมีเหตุให้เพิกถอนการจดทะเบียนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1938/2564 แม้ร้านค้าของจำเลยจะอยู่ในชุมชนการค้า แต่จำเลยรับซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่จาก จ. ที่นำมาขายให้ที่ร้านค้าของจำเลยโดยมิได้ซื้อจากร้านค้าใดร้านค้าหนึ่งในชุมชนการค้านั้น แม้จำเลยรับซื้อไว้โดยสุจริต ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ในท้องตลาดอันจะได้รับความคุ้มครองด้วยการยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1332 โจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริงย่อมมีสิทธิติดตามเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวคืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8816/2563 จำเลยรับซื้อทองคำของโจทก์โดยไม่รู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดข้อหาลักทรัพย์ แม้จะไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร แต่เมื่อทองคำที่จำเลยรับซื้อไว้เป็นของโจทก์ จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์เพราะผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน โจทก์ติดตามเอาคืนได้ และแม้ห้างขายทองของจำเลยจะอยู่ในชุมชนการค้า แต่จำเลยมิได้ซื้อทองจากร้านค้า เพราะซื้อจาก ว. ที่นำมาขาย ถือไม่ได้ว่าซื้อทองคำในท้องตลาด จำเลยต้องคืนทองคำแก่โจทก์วัตถุแห่งหนี้ที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ได้แก่ทองคำที่จำเลยรับซื้อไว้ เมื่อไม่ปรากฏว่า การปฏิบัติการชำระหนี้ด้วยการคืนทองคำเป็นการพ้นวิสัยตั้งแต่เมื่อใด จึงกำหนดให้ใช้ราคาตามราคาขายโดยเฉลี่ยของสมาคมค้าทองคำในวันฟ้อง พร้อมดอกเบี้ยในขณะที่โจทก์ร้องขอให้ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 อันได้แก่วันฟ้อง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5120 - 5122/2562 เงินของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ อ. ขออนุมัติถอนมาจากบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ 1 เป็นแคชเชียร์เช็คระบุชื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้รับเงิน เพื่อนำไปฝากยังธนาคารผู้คัดค้านที่ 2 สาขาสุวินทวงศ์ ไม่ได้มีการนำเข้าฝากที่สาขาดังกล่าว แต่กลับนำไปฝากที่ธนาคารผู้คัดค้านที่ 2 ในบัญชีชื่อของ พ. ที่สาขาดิอเวนิว โดยไม่ปรากฏเหตุที่จะอ้างโดยชอบ จากนั้นมีการโอนเงินไปยังบุคคลต่าง ๆ แม้เงินที่ฝากจะสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้รับฝากคือธนาคารผู้คัดค้านที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 แต่เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินจำนวนเดียวกับที่เป็นของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ถูกถอนออกมาและนำไปฝากโดยผิดวัตถุประสงค์ บุคคลอื่นผู้มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากตามจำนวนที่เบิกถอนมาจากบัญชีของผู้คัดค้านที่ 1 โดยไม่ชอบดังกล่าวย่อมไม่อาจอ้างสิทธิใดได้ เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้เสียหายในคดีอาญามีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งเงินของตนจาก อ. กับพวกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 แม้ต่อมาจะมีการถ่ายโอนเงินของผู้คัดค้านที่ 1 หรือนำไปดำเนินการอย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นการนำไปซื้อทรัพย์สินต่าง ๆ หรือโอนไปให้แก่บุคคลอื่น ทรัพย์สินต่าง ๆ เหล่านั้นก็ไม่ตกเป็นของแผ่นดินและต้องถูกดำเนินการเพื่อให้ได้เงินมาคืนแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ผู้มีสิทธิที่แท้จริงจนครบจำนวน
          ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ทรัพย์สินรายการที่ 42 เป็น "ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด" ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 โดยผู้คัดค้านที่ 7 นำเงินที่ได้จากการที่ผู้คัดค้านที่ 7 และ อ. กับพวกได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐาน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (5) (18) โอนเข้าบัญชีผู้คัดค้านที่ 7 แล้วผู้คัดค้านที่ 7 นำเงินที่รับโอนมาดังกล่าวซื้อทรัพย์สินรายการที่ 42 แล้วขายฝากทรัพย์สินนั้นไว้แก่ผู้คัดค้านที่ 9 และไม่ไถ่คืนในกำหนด เมื่อผู้คัดค้านที่ 9 ซื้อฝากทรัพย์สินรายการที่ 42 นี้โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ในระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านที่ 9 ศาลย่อมสั่งคืนทรัพย์สินรายการนี้ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 9 ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51/1 ทรัพย์สินรายการนี้จึงไม่ตกเป็นของแผ่นดินตามคำร้องของผู้ร้อง แต่ปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้เสียหายจากการกระทำของผู้คัดค้านที่ 7 กับพวก ผู้คัดค้านที่ 1 จึงมีสิทธิติดตามและเอาทรัพย์คืนจากผู้คัดค้านที่ 7 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 เมื่อผู้คัดค้านที่ 7 นำเงินของผู้คัดค้านที่ 1 ไปซื้อทรัพย์สินรายการที่ 42 ผู้คัดค้านที่ 7 จึงไม่มีสิทธิยึดถือทรัพย์สินรายการนี้ไว้ แต่ต้องคืนแก่ผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อต่อมาผู้คัดค้านที่ 7 นำทรัพย์สินรายการนี้ไปขายฝากไว้แก่ผู้คัดค้านที่ 9 แม้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินรายการนี้จะตกเป็นของผู้คัดค้านที่ 9 แต่เมื่อผู้ขายฝากอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 491 และการที่ผู้คัดค้านที่ 1 มีสิทธิติดตามและเอาทรัพย์คืนดังกล่าว ผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ของผู้คัดค้านที่ 7 จึงอาจใช้สิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านที่ 7 ซึ่งเป็นลูกหนี้ในทรัพย์สินรายการนี้แทนผู้คัดค้านที่ 7 กรณีนี้เพื่อคุ้มครองผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เสียหายจึงควรให้ดำเนินการเสมือนมีการใช้สิทธิไถ่ถอนทรัพย์ที่ขายฝากจากผู้คัดค้านที่ 9 เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 9 จึงไม่อาจให้ทรัพย์สินรายการนี้ตกเป็นของผู้คัดค้านที่ 9 ผู้รับซื้อฝากได้ แต่ควรให้ผู้คัดค้านที่ 9 ได้รับเงินค่าสินไถ่ตามที่กำหนดไว้ในหนังสือสัญญาขายฝากโดยนำทรัพย์สินนี้ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระสินไถ่แก่ผู้คัดค้านที่ 9 และคืนส่วนที่เหลือ (หากมี) ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1
          เมื่อการขายทอดตลาดทรัพย์สินรายการที่ 42 เป็นส่วนของวิธีการที่จะให้ทรัพย์สินนั้นถูกนำไปคืนแก่ผู้เสียหาย ขณะเดียวกันก็คุ้มครองผู้รับโอนทรัพย์สินโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน สินไถ่ดังกล่าวจึงไม่ใช่หนี้เงินที่แท้จริงซึ่งหากลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดก็ให้คิดดอกเบี้ยตามนัย ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรไม่กำหนดดอกเบี้ยในสินไถ่ให้ผู้คัดค้านที่ 9

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1986/2562  โจทก์ตกลงซื้อที่ดินมือเปล่าที่จำเลยอ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายจำนวนเนื้อที่ 25 ไร่ ราคา 10,000,000 บาท โจทก์ชำระราคาที่ดินให้แก่จำเลยครบถ้วน และจำเลยส่งมอบการครอบครองที่ดินให้โจทก์แล้ว ต่อมาโจทก์ได้ยื่นเรื่องขอออกโฉนดที่ดินต่อสำนักงานที่ดินจึงทราบว่าที่ดินที่จำเลยขายแก่โจทก์ตั้งอยู่ในเขตที่สวนเลี้ยงสัตว์บ้านท่าแดงซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จึงเป็นการที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาซื้อขายทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ซึ่งจะโอนแก่กันมิได้ตามมาตรา 1305 ซึ่งเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นโมฆะตามมาตรา 150 ทั้งเป็นกรณีที่จำเลยรู้อยู่แล้วว่าที่ดินที่นำมาขายแก่โจทก์เป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่อาจซื้อขายได้ แต่จำเลยจงใจนิ่งเสียไม่แจ้งความจริงดังกล่าวแก่โจทก์ ซึ่งหากโจทก์รู้ความจริงสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเกี่ยวกับที่ดินพิพาทคงจะไม่เกิดขึ้น กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยได้รับเงินค่าที่ดินจำนวนดังกล่าวไปจากโจทก์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย การที่โจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวเท่ากับราคาที่ดินที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยไปนั้น จึงมีลักษณะเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของโจทก์คืนจากจำเลยผู้ที่ไม่มีสิทธิที่จะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีกำหนดอายุความ ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ จำเลยจึงต้องรับผิดคืนเงินราคาที่ดินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7900/2561 (ประชุมใหญ่) โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรลำดับที่ 4 และที่ 5 เนื่องจากจำเลยไม่มีสิทธิยื่นใบเบิกเงินและรับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรดังกล่าว เพราะขัดต่อ พ.ร.ฎ.เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร พ.ศ.2523 มาตรา 7 ประกอบมาตรา 6 ซึ่งการที่จำเลยใช้สิทธิเบิกและรับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรดังกล่าวเป็นผลจากนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐกับจำเลยซึ่งเป็นข้าราชการของหน่วยงานในสังกัดของโจทก์ มิใช่นิติสัมพันธ์ในทางแพ่ง และเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยไปดังกล่าวก็มิใช่กรณีโจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้ให้แก่จำเลย เมื่อจำเลยไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่โจทก์ที่มีอำนาจอนุมัติจ่ายเงินดังกล่าวทราบว่าจำเลยเบิกเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรเกินสามคน ทำให้เจ้าหน้าที่โจทก์จ่ายเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาบุตรของจำเลยลำดับที่ 4 และที่ 5 เกินกว่าสิทธิที่จะได้รับตามกฎหมาย จึงเป็นกรณีที่จำเลยได้รับเงินไปยึดถือโดยไม่ชอบ การที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยไป จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของตนคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความ การเรียกร้องเงินที่จำเลยได้รับไปโดยไม่ชอบดังกล่าว หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องในฐานะเจ้าหนี้ฟ้องให้จำเลยคืนทรัพย์ในฐานลาภมิควรได้ซึ่งต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติว่าด้วยอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 17/2561)

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่  796/2552   ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1653 ตำบลพุขาม อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ปัจจุบันเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 26285 ตำบลพุขาม อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ เนื้อที่ 37 ตารางวา เป็นของจำเลย โดยด้านทิศเหนืออยู่ติดกับที่ดินของจำเลยตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1898 จำเลยได้สร้างบ้านและสิ่งปลูกสร้างคร่อมบนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว ต่อมาที่ดินพิพาทถูกเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์นำออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1400/2541 ของศาลชั้นต้น โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทได้จากการขายทอดตลาดปรากฏว่า มีบ้านและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยบางส่วนอยู่ในที่ดินพิพาท คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่ให้จำเลยรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า ขณะจำเลยปลูกสร้างบ้านลงบนที่ดินพิพาทและบนที่ดินของจำเลยอีกแปลงหนึ่งที่อยู่ติดกันนั้น จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินทั้งสองแปลง จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะปลูกสร้างได้ในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ กรณีจึงมิใช่เป็นการปลูกโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 ครั้นต่อมาเมื่อที่ดินพิพาทถูกบังคับคดีนำออกขายทอดตลาด โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทได้จากการขายทอดตลาด แม้โจทก์จะรู้หรือไม่รู้ว่ามีบ้านและสิ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดินพิพาท แต่ที่ดินพิพาทก็เป็นของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา จึงถือว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต สิทธิของโจทก์ที่ได้ที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดย่อมไม่เสียไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 โจทก์จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และหลังจากโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาจากการขายทอดตลาดแล้ว ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า โจทก์ซึ่งมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทได้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดิน เป็นคุณแก่จำเลย โดยยอมให้จำเลยเป็นเจ้าของบ้านและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินของโจทก์ต่อไป และโจทก์ในฐานะมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมมีแดนแห่งกรรมสิทธิ์ที่ดินและมีสิทธิใช้สอย จำหน่าย ได้ดอกผลกับมีสิทธิติดตามเอาคืนทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1335 และมาตรา 1336 เมื่อโจทก์ผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินไม่ประสงค์จะให้จำเลยปลูกบ้านและสิ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินโจทก์อีกต่อไป และบอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนออกจากที่ดินพิพาทแล้วจำเลยเพิกเฉย จึงเป็นการละเมิดทำให้โจทก์ไม่อาจใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีอำนาจขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ได้ หาใช่เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตอย่างใด และกรณีมิใช่ไม่มีบทกฎหมายที่จะยกขึ้นปรับแก่คดีอันจะต้องอาศัยเพียงบท กฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาวินิจฉัยคดีตามมาตรา 4 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
          พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ.

19 มิถุนายน 2558

นิติกรรมอำพราง ทำสัญญาซื้อขายที่ดินเพื่ออำพรางนิติกรรมการกู้ยิมเงิน สัญญาซื้อขายที่ดินเป็นโมฆะ โดยต้องไปบังคับตามสัญญากู้ยืมเงิน

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 155  "การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้
ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ"

ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้มีอยู่ว่า ที่ดินที่พิพาทกันเป็นที่ดินมือเปล่ารวมสองแปลงมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (นส.3 ก) คือ เลขที่ 1340 และ 1341 ตำบลหนองกราด อำเภอด่านขุนทด นครราชสีมา มีชื่อ จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ต่อมาเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2528 นาย ต. และจำเลยที่ 1 กู้เงินไปจากโจทก์และทำเป็นสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ หลังจากนั้นต่อมาที่ดินพิพาททั้งสองแปลงก็เปลี่ยนออกเป็นโฉนดเลขที่ 32763 และ 32764 มีชื่อนาย ต. และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ต่อมาก็มีการโอนที่ดินต่อมาจากจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยที่ 2 แ ละที่ 3 ตามลำดับ 
ต่อมา โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 32764 ตำบลหนองกราด อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และเพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 ยกที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 32764 ให้แก่จำเลยที่ ๒ กับเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 32763 และโฉนดที่ดินเลขที่ 32764 ขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 32763 และที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 32764 เป็นของโจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1340 เลขที่ดิน 40 และเลขที่ 1341 เลขที่ดิน 41 ตำบลหนองกราด อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ให้โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 หากไม่สามารถพิพากษาบังคับจำเลยที่ 1 ได้ ขอให้พิพากษาเพิกถอนชื่อของนาย ต.ออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ 1340 เลขที่ดิน 40 และเพิกถอนชื่อจำเลยที่ 1 ออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1341 เลขที่ดิน 41 
เรื่องนี้ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า การที่โจทก์ปล่อยปละละเลยให้เวลาล่วงเลยมานานเกือบ 20 ปี นับแต่ที่อ้างว่าซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาจาก ต. และจำเลยที่ 1 โดยมิได้จัดให้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อทางทะเบียนในที่ดินพิพาททั้งสองซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติที่ไม่ดำเนินการปกป้องสิทธิของตนเองเช่นนั้น ถือได้ว่าเป็นข้อพิรุธของโจทก์อย่างยิ่ง ส่อแสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์ทราบดีว่าตนมีสิทธิเพียงเข้าทำกินในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงต่างดอกเบี้ยเท่านั้นเอง การทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามฟ้องจึงเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงิน ทำให้นิติกรรมการซื้อขายดังกล่าวตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคแรก และต้องบังคับตามนิติกรรมการกู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง
          แม้กรณีเช่นนี้จะมิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อ ต.และจำเลยที่ 1 เป็นสำคัญต่างหากจากสัญญาซื้อขายก็ตาม ย่อมถือได้ว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามฟ้อง เป็นนิติกรรมสัญญากู้ยืมเงินที่ทำกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษรระหว่าง ต. กับโจทก์ จึงมีผลบังคับกันได้
          การ ที่ ต. และจำเลยที่ 1 มิได้ขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ แต่ ต. และจำเลยที่ 1 กู้เงินไปจากโจทก์และให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นการทำกินต่างดอกเบี้ย ต. และจำเลยที่ 1 มิได้สละการครอบครองให้แก่โจทก์แต่อย่างใด แม้ว่าโจทก์จะครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นระยะเวลานานเท่าใดก็ตาม ก็ไม่ทำให้โจทก์ได้สิทธิครอบครองหรือได้กรรมสิทธิ์ เพราะยังถือได้ว่าโจทก์ครอบครองแทน ต. หรือทายาทของ ต. และจำเลยที่ 1 อยู่ตลอดไป 
           สรุปว่า แม้ทำเป็นสัญญาซื้อขายที่ดินกันไว้ แต่ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่า การทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามฟ้องเป็นนิติกรรมที่ทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงิน ก็ต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ ตามป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง

23 พฤษภาคม 2558

หมิ่นประมาท : การทะเลาะวิวาท ด่าทอกัน แม้มีข้อความไม่สุภาพอยู่บ้าง หากไม่เป็นถ้อยคำที่ทำให้ผู้ฟังเข้าใจถึงขนาดความเชื่อถือไว้วางใจหรือความคดโกงชั่วร้าย อันจะเป็นเหตุให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

      การทะเลาะวิวาท ด่าทอกัน แม้มีข้อความไม่สุภาพอยู่บ้าง หากไม่เป็นถ้อยคำที่ทำให้ผู้ฟังเข้าใจถึงขนาดความเชื่อถือไว้วางใจ หรือความคดโกงชั่วร้าย อันจะเป็นเหตุให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังแต่ประการใด การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1052/2555 - จำเลยพูดทวงเงินที่ ถ. ค้างชำระแล้วจำเลยกับ ถ. มีปากเสียงด่าว่ากัน และจำเลยได้ด่าว่า โคตรของมึงยืมเงินกูไปเป็นประจำ ไอ้หรัด อีต้อย ก็ไปยืมเงินกู เหตุเกิดขณะ ถ. กับจำเลยต่างทะเลาะ โต้เถียงกันต่างอยู่ในอารมณ์โกรธ ข้อความที่ว่าไอ้หรัดซึ่งหมายถึงผู้เสียหายเป็นเพียงคำเรียกหาที่ไม่สุภาพ ส่วนที่ว่าผู้เสียหายเคยยืมเงินจำเลยก็กล่าวตามข้อเท็จจริงซึ่งผู้เสียหาย รับว่าเคยกู้ยืมเงินจากจำเลยจริง ทั้งการกู้ยืมเงินกันก็ถือเป็นเรื่องปกติ ไม่มีข้อความกล่าวถึงกับว่าผู้เสียหายคดโกง ดังนี้ ตามความรู้สึกของวิญญูชนทั่วๆ ไปจึงไม่เป็นถ้อยคำที่ทำให้ผู้ฟังเข้าใจถึงขนาดความเชื่อถือไว้วางใจ หรือความคดโกงชั่วร้าย อันจะเป็นเหตุให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังแต่ประการใด การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

หมิ่นประมาท : การแสดงความคิดเห็นหรือแสดงข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

          บุตรเข้าใจว่าผู้เสียหายมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับบิดา จึงปรึกษาหารือพูดคุยกับผู้ใหญ่บ้าน เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว ดังนี้ เป็นกรณีที่ลูกบ้านอยู่ในความปกครองของผู้ใหญ่บ้าน พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเป็นการปรับทุกข์ เพื่อให้ผู้ใหญ่บ้านหาทางช่วยแก้ไขปัญหาให้ครอบครัวของตน เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือแสดงข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์  แต่ถ้ามีคนนอกเข้ามานั่งฟังอยู่ด้วย จะมีความผิดฐานหมิ่นประมาททันที
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2542/2554 - ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่นาย ส.ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับการร้องขอจากนาย ม.ให้ไปช่วยไกล่เกลี่ยเรื่องทะเลาะวิวาทระหว่างบุตรของนาย ม. นาย ส.จึงไปที่บ้านของนาย ค. บุตรของนาย ม.คนหนึ่ง พบนาย ค.และบุตรของนาย ม.อีกหลายคน บรรดาบุตรของนาย ม.รวมทั้งจำเลยด้วยต่างเข้าใจว่าโจทก์ร่วมมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับนาย ม.จึงปรึกษาหารือหรือพูดคุยกับนาย ส.เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว โดยจำเลยกับพวกเกรงว่านาย ม.จะถูกโจทก์ร่วมหลอกลวงเอาทรัพย์สินไปหมด จะทำให้จำเลยกับพวกเดือดร้อน ซึ่งข้อเท็จจริงในส่วนนี้ถือได้ว่า ในฐานะที่จำเลยกับพวกเป็นลูกบ้านอยู่ในความปกครองของนาย ส. การพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวจึงเป็นการปรับทุกข์กับนาย ส. เพื่อให้นาย ส.หาทางช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ครอบครัวของนาย ม. ข้อเท็จจริงในส่วนนี้จำเลยมีสิทธิแสดงความคิดเห็นหรือแสดงข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม
          แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่นาง ป.เข้ามาร่วมรับฟังด้วยแล้ว การที่จำเลยกล่าวต่อหน้านาง ป.ว่าโจทก์ร่วมเป็นชู้กับนาย ม.และหลอกเอาเงินของนาย ม.นั้น เห็นว่า ที่จำเลยเข้าใจว่าโจทก์ร่วมมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับนาย ม.บิดาของจำเลย ไม่ก่อให้จำเลยเกิดสิทธิที่จะกล่าวประจานโจทก์ร่วมต่อหน้านาง ป.ด้วยถ้อยคำหมิ่นประมาทเช่นว่านั้น เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนามุ่งประสงค์เพื่อให้โจทก์ร่วมได้รับความอับอาย และเพื่อทำลายชื่อเสียงของโจทก์ร่วม การกระทำดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง