20 สิงหาคม 2560

หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย

          มาตรา 310  "ผู้ใดหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
          ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก เป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวถูกกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นถึงแก่ความตาย หรือรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 290 มาตรา 297 หรือมาตรา 298 นั้น"

          องค์ประกอบความผิด
          (1) ผู้ใด
          (2) หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย
          (3) เจตนา (องค์ประกอบภายใน)


          การหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตามมาตรานี้ อาจเป็นการกระทำโดยเคลื่อนไหว หรืองดเว้นการเคลื่อนไหวร่างกายก็ได้
          หน่วงเหนี่ยว คือ ทำให้บุคคลต้องอยู่ ณ ที่นั้นเท่านั้น ไม่ให้ไปจุดอื่น
          กังขัง คือ การบังคับให้คนอยู่ในพื้นที่จำกัด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1514/2532  จำเลยที่ 1 กับพวกขับรถพาผู้เสียหายไปยังที่เปลี่ยวแล้วปลุกปล้ำจับหน้าอกและถอดเสื้อกางเกงผู้เสียหาย พอดีมีรถยนต์บรรทุกผ่านมา จำเลยที่ 1 จึงขับรถพาผู้เสียหายไปยังบ่อเลี้ยงปลาและดึงตัวผู้เสียหายลงมาจากรถ จำเลยที่ 1 กอดจูบผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 กระชากกางเกงของผู้เสียหายออก ผู้เสียหายดิ้นหลุดแล้วกระโดดลงไปในบ่อเลี้ยงปลา จำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวกพูดข่มขู่ว่าถ้าไม่ขึ้นมาจะตามลงไปกดให้ตายบ้าง จะเอาไฟฟ้าช็อตบ้าง ทั้งมีพวกจำเลยบางคนถอดเสื้อกางเกงออกหมด บางคนเหลือแต่กางเกงในเป็นเหตุให้ผู้เสียหายไม่กล้าขึ้น ต้องทนทรมานอยู่ในบ่อถึง 1 ชั่วโมงเศษ และที่ผู้เสียหาขึ้นจากบ่อก็เพราะถูกหลอกว่าพวกจำเลยไปหมดแล้ว ผู้เสียหายจึงขึ้นมาแล้วถูกจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวกจับตัว ข่มขืนกระทำชำเราการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารและฐานหน่วงเหนี่ยวผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 985/2546  การที่จำเลยจับผู้เสียหายกดน้ำจนหมดสติ อันเป็นการกระทำผิดฐานพยายามฆ่าสำเร็จขาดตอนไปแล้ว จำเลยจึงอุ้มผู้เสียหายขึ้นรถยนต์ของจำเลย ซึ่ง ก. ได้ตามมาพูดขอตัวผู้เสียหายเพื่อนำไปส่งโรงพยาบาล แต่จำเลยไม่ยอมคืนให้ จึงเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหาย ซึ่งมีเจตนาต่างหากอีกกรรมหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7532/2557  โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับ ป. ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายโดยใช้มีดปอกผลไม้ปลายแหลม 1 เล่ม ฟันข้อมือขวาของผู้เสียหาย 1 ครั้ง มิได้บรรยายว่า จำเลยกับพวกร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายโดยใช้สายไฟของเครื่องเป่าผมผูกมัดประตูห้องน้ำไว้กับประตูระเบียงห้องจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายไม่สามารถออกจากห้องน้ำได้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวจำเลยและ ป. มิได้ใช้แรงกายภาพกระทำต่อผู้เสียหาย ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ คงเป็นการกระทำที่เป็นการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายตาม ป.อ. มาตรา 310
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9046/2554  การที่จำเลยพาเด็กหญิง ฟ. ไปจากผู้เสียหาย จำเลยมิได้มีเจตนาที่จะเรียกร้องเอาทรัพย์สินจากผู้เสียหายและ อ. เพื่อเป็นค่าไถ่มาตั้งแต่แรก จำเลยเรียกร้องเอาทองคำเท่ากับที่มอบให้ผู้เสียหายไปจำนำ ส่วนเงินที่เรียกร้องเอาจาก อ. ได้ความว่าเป็นค่าที่ดินที่ อ. จะต้องคืนให้จำเลย ทั้งไม่ได้ความว่า อ. เป็นญาติหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้เสียหายหรือเด็กหญิง ฟ. ที่จำเลยจะใช้เป็นเงื่อนไขในการเรียกร้องเงินจาก อ. จำเลยมีเจตนาที่จะเรียกร้องเอาทองคำและเงินที่จำเลยเชื่อว่าจำเลยควรจะได้ ดังนั้น ทองคำและเงินที่จำเลยเรียกร้องจากผู้เสียหายและ อ. จึงมิใช่ค่าไถ่ตาม ป.อ. มาตรา 1 (13) การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 313 (1) (3) วรรคแรก
          การที่จำเลยพาเด็กหญิง ฟ. ไป และไม่ยอมคืนให้แก่ผู้เสียหาย เป็นการหน่วงเหนี่ยวเด็กหญิง ฟ. เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความผิดฐานเรียกค่าไถ่ตาม ป.อ. มาตรา 313 (3) วรรคแรก ที่โจทก์ฟ้อง ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2385-2387/2554  จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ร่วมกันขับรถยนต์ปาดหน้ารถยนต์โจทก์ร่วม แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจแล้วคุมตัวโจทก์ร่วมไปเจรจาหนี้สินกันโดยบังคับโจทก์ร่วมให้ใช้หนี้แก่จำเลยที่ 7 แทนจำเลยที่ 3 พฤติการณ์เป็นการร่วมกันวางแผนโดยแบ่งหน้าที่กันทำอันเป็นการกระทำความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้จำยอมต่อจำเลยทั้งเจ็ดกับพวก โดยกระทำให้เกิดความกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพของผู้อื่น อันเป็นการกระทำผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคสอง และหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3668/2545  จำเลยกับพวกขึ้นไปบนบ้านของผู้เสียหายที่ 1 แล้วจับแขนผู้เสียหายที่ 2 ลากลงจากบ้านพาไปข่มขืนกระทำชำเรายังบ้านที่เกิดเหตุนั้นเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงอยู่ในวาระเดียวกันไม่ขาดตอน และตามพฤติการณ์ก็เป็นเรื่องที่จำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาเพื่อข่มขืนกระทำชำเรา ผู้เสียหายที่ 2 เป็นสำคัญ การกระทำของจำเลยในส่วนนี้ซึ่งเป็นความผิดฐานร่วมกันบุกรุกร่วมกันพาหญิงไปเพื่ออนาจารและข่มขืนกระทำเรา   มิใช่เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน แต่หลังจากที่จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 แล้ว จำเลยกับพวกใส่กลอนขังผู้เสียหายที่ 2 ไว้ในห้องนอนโดยมีพวกของจำเลยอยู่ข้างล่าง ทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ไม่อาจหลบหนีไปได้ การกระทำของจำเลยกับพวกในส่วนหลังนี้จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 2 อีกกรรมหนึ่ง


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4243/2542  จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมผู้เสียหายที่ได้ก่อการทะเลาะวิวาทก่อนหน้านั้นแต่เหตุแห่งการทะเลาะวิวาทได้ยุติลงแล้ว เหตุวิวาทยังไม่ชัดแจ้งว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดไม่ใช่การกระทำผิดซึ่งหน้า โดยมีคู่กรณีกับผู้เสียหายชี้ให้จับ แต่มิได้ร้องทุกข์ไว้ตามระเบียบอีกทั้งไม่ใช่กรณีที่มีเหตุสงสัยว่ากระทำความผิดมาแล้วจะหลบหนี จำเลยซึ่งไม่มีหมายจับไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะจับผู้เสียหาย จำเลยจับผู้เสียหายโดยไม่แจ้งข้อหาไม่ทำบันทึกจับกุม ไม่ส่งมอบตัวให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี กลับนำไปควบคุมที่ด่านตรวจ ชี้เจตนาจำเลยว่ากระทำโดยโกรธแค้น แสดงอำนาจ เพื่อข่มขู่กลั่นแกล้งผู้เสียหายให้เดือดร้อนเสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องรุนแรงต่อความรู้สึกของประชาชนไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 428/2520  ล่ามโซ่ใส่กุญแจประตูใหญ่ ทำให้โจทก์ออกจากบริเวณบ้านไม่ได้ โจทก์ต้องปีนกำแพงรั้วกระโดดลงมาได้รับบาดเจ็บ เป็นความผิดตาม ประมวกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก

          ถ้ากรณีที่ผู้กระทำมีอำนาจตามกฎหมายให้กระทำได้ ก็ไม่มีความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 437/2515  จำเลยเป็นจ่าสิบตำรวจและสิบตำรวจเอกได้จับกุมผู้เสียหายในข้อหาเสพสุราจนเป็นเหตุให้เมาประพฤติวุ่นวายครองสติไม่ได้ขณะอยู่ในถนนสาธารณะ  เมื่อนำไปยังสถานีตำรวจแล้วผู้เสียหายยังร้องเอะอะอาละวาด เตะโน่นเตะนี่ เดินไปมาและจะลงไปจากสถานีตำรวจ  จำเลยจึงเอาตัวผู้เสียหายเข้าไปขังไว้ในห้องขังเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย  และเพื่อไม่ให้ทรัพย์สินของทางราชการเสียหาย  ดังนี้ไม่ถือว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้ผู้เสียหายปราศจากเสรีภาพในร่างกายอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 310
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 248/2524  การที่จำเลยมีความเห็นว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 156/2523 ให้ต่อสู้คดีแทน ได้ลงชื่อเป็นผู้เรียงคำให้การจำเลยโดยโจทก์มิได้จดทะเบียนทนายความ เป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติทนายความจึงให้โจทก์รออยู่ในห้องผู้พิพากษาเพื่อให้ตำรวจมาควบคุมตัวโจทก์ไปดำเนินคดี หากไม่รอจำเลยจะลงโทษโจทก์ฐานละเมิดอำนาจศาลนั้น เป็นการกล่าวอ้างตามอำนาจที่จำเลยมีอยู่ตามกฎหมาย ยังถือไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309, 310

          ถ้าหากตัวของผู้ถูกกระทำยังสามารถเคลื่อนไหวไปไหนมาไหนได้โดยสะดวก ก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 310
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1908/2518  จำเลยจอดรถขวางกั้นไม่ให้โจทก์ถอยรถออกไปจากซอยที่เกิดเหตุ เป็นเพียงขัดขวางไม่ให้โจทก์นำรถออกไปได้เท่านั้น ส่วนตัวโจทก์มีอิสระที่จะออกไปจากซอยได้  การกระทำของจำเลยยังไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 แต่เป็นการรังแกข่มเหงทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนรำคาญ แม้ซอยนั้นจะอยู่ในที่ดินของผู้มีชื่อซึ่งแบ่งให้ผู้อื่นเช่าปลูกบ้าน แต่ประชาชนก็ชอบที่จะเข้าออกไปติดต่อกับผู้ที่อยู่ในซอยนั้นได้ ถือได้ว่าจำเลยได้กระทำในที่สาธารณสถาน จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21/2531  จำเลยโอนสิทธิการเช่าตึกพิพาทให้ ก.และได้ส่งมอบตึกพิพาทให้ ก. แล้ว ก. ว่าจ้างโจทก์ซ่อมแซมตึกพิพาทและอนุญาตให้โจทก์กับครอบครัวเข้าอยู่อาศัยในตึกดังกล่าว แม้ต่อมา ก. ไม่ชำระค่าโอนสิทธิการเช่าส่วนที่ค้าง ก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องไปว่ากล่าวกับ ก. ในทางแพ่ง การที่จำเลยใช้กุญแจใส่ประตูตึกพิพาทเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถเข้าไปใช้ตึกพิพาทได้อีก จึงเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(3) แต่ยังถือไม่ได้ว่าการกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังโจทก์ หรือกระทำด้วยประการใดให้โจทก์ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย จึงไม่มีความผิดตามมาตรา 310 วรรคแรก


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1717/2527  ในวันเกิดเหตุโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างขับรถมาจอดติดการจราจรอยู่ด้วยกัน โดยรถจำเลยที่ 1 จอดอยู่ข้างหน้ารถโจทก์ ปรากฏว่ามีเสียงแตรดังมาทางด้านหลัง จำเลยที่ 1 เข้าใจว่าโจทก์เป็นคนบีบแตรไล่ เมื่อการจราจรบางลงจำเลยที่ 1 และโจทก์ได้ขับรถต่อไปและไปติดสัญญาณไฟแดงด้วยกัน  จำเลยที่ 1 ได้ลงจากรถมาถามโจทก์ว่าบีบแตรไล่ทำไม โจทก์ตอบว่าไม่ได้บีบ เกิดโต้เถียงกัน โจทก์ได้พูดขึ้นว่า จะเป็นทหารเกเรหรืออย่างไร จำเลยโกรธจึงจับแขนโจทก์ซึ่งวางพาดประตูรถพร้อมกับพูดว่าลงมาลงมา ขอตะบันหน้าหน่อย โจทก์สะบัดแขนหลุดและไม่ยอมลงจากรถเช่นนี้ การที่จำเลยที่ 1 จับแขนโจทก์ชักชวนให้โจทก์ลงมาจากรถก็เพื่อให้โจทก์ลงมาวิวาทกับจำเลยเท่านั้น  การกระทำของจำเลยมิใช่การข่มขืนใจให้กระทำหรือไม่กระทำการดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309  จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้
          ต่อมาหลังจากที่โจทก์และจำเลยที่ 1 เกิดโต้เถียงกันดังกล่าวแล้วในระหว่างที่โจทก์ขับรถไปตามถนน จำเลย ที่ 1 ได้ขับรถไล่ตามกลั่นแกล้งโจทก์ โดยขับรถปาดหน้ารถโจทก์ ทำให้โจทก์ต้องหยุดรถอย่างกระทันหัน ดังนี้ แม้ขณะโจทก์ขับรถอยู่โจทก์ย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการขับรถไปตามถนนสาธารณะตามสิทธิที่กฎหมายรับรองได้กรณีจำเลยที่ 1 ขับรถเข้ามาปาดหน้ารถโจทก์และปิดกั้นรถโจทก์ไม่ ให้โจทก์ขับรถไปโดยสะดวก เมื่อจำเลยปาดหน้ารถโจทก์ โจทก์กลัวว่ารถโจทก์จะชนรถของจำเลยโจทก์ก็ต้องหยุดรถ การที่จำเลยขับรถปาดหน้ารถโจทก์ให้โจทก์หยุดรถขับรถไปไม่ได้ การกระทำของจำเลยดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าจำเลยหน่วงเหนี่ยว กักขังกระทำให้โจทก์ปราศจากเสรีภาพในร่างกายตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 310  จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้(ผิดมาตรา 309)

          ถ้าขาดเจตนา การกระทำนั้นก็ไม่เป็นความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 430/2532  จำเลยกับผู้เสียหายแต่งงานกันตามลัทธิศาสนาอิสลาม มีบุตรด้วยกัน 1 คน ต่อมาจำเลยกับผู้เสียหายแยกกันอยู่แต่มิได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน ดังนั้น การที่จำเลยพาผู้เสียหายไปกักขังเพื่อกระทำอนาจารและข่มขืนกระทำชำเรา จึงอาจเป็นกรณีที่จำเลยกระทำไปโดยเข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิกระทำได้กับภริยาซึ่งมีบุตรด้วยกัน และบุตรก็ยังอยู่กับจำเลย อันเสมือนกับทำโดยวิสาสะ ย่อมไม่เข้าลักษณะกระทำโดยมีเจตนาร้ายไม่เป็นความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร หน่วงเหนี่ยวกักขัง

          เหตุให้ต้องรับโทษหนักขึ้น
          ถ้าการหน่วงเหนี่ยวกักขังนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายหรือรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำผิดก็ต้องรับโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 290 มาตรา 297 หรือมาตรา 298 นั้น ตามมาตรา 310 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5131/2554  ผู้ตายซึ่งมีสามีแล้วไม่ได้ยินยอมไปโรงแรมกับจำเลยตั้งแต่ต้น บาดแผลที่ปรากฏให้เห็นภายนอกร่างกายของผู้ตายซึ่งมีโลหิตไหลจากศีรษะและรูหูทั้งสองข้าง วิญญูชนทั่วไปย่อมทราบดีว่าผู้ตายอาการหนักต้องรีบนำผู้ตายไปโรงพยาบาลแทนที่จะพาผู้ตายเข้าโรงแรม และยังปรากฏว่าจำเลยขับรถพาผู้ตายออกจากร้านอาหารผ่านบ้านพักผู้ตายแล้วขับรถวกวนจนกระทั่งพาผู้ตายไปโรงแรมซึ่งอยู่คนละเส้นทาง เชื่อว่า จำเลยไม่มีเจตนาพาผู้ตายไปส่งบ้านพัก หากจำเลยนำผู้ตายไปส่งบ้านพักตามความต้องการของผู้ตายแล้ว เหตุคดีนี้คงไม่เกิดขึ้น การที่ผู้ตายตกลงจากรถจนถึงแก่ความตายเป็นเพราะผู้ตายไม่ต้องการไปกับจำเลยตามเจตนาของจำเลย สาเหตุที่ผู้ตายถึงแก่ความตายจึงเป็นผลโดยตรงจากการที่ผู้ตายถูกจำเลยหน่วงเหนี่ยวกักขังให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย


          หน่วงเหนี่ยวกักขังเพื่อให้กระทำการใดให้แก่ผู้กระทำหรือบุคคลอื่น
          มาตรา 310 ทวิ  "ผู้ใดหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และให้ผู้อื่นนั้นกระทำการใดให้แก่ผู้กระทำหรือบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท"


          ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกาย
          มาตรา 311  "ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถูกหน่วงเหนี่ยว ถูกกักขัง หรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก เป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวถูกกักขัง หรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นถึงแก่ความตายหรือรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 291 หรือมาตรา 300"


ความผิดต่อเสรีภาพ

          มาตรา 309  "ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
          ถ้าความผิดตามวรรคแรกได้กระทำโดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือได้กระทำเพื่อให้ผู้ถูกข่มขืนใจทำ ถอน ทำให้เสียหาย หรือทำลายเอกสารสิทธิอย่างใด ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          ถ้ากระทำโดยอ้างอำนาจอั้งยี่หรือซ่องโจร ไม่ว่าอั้งยี่หรือซ่องโจรนั้นจะมีอยู่หรือไม่ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท"


          องค์ประกอบความผิด
          (1) ผู้ใด
          (2) ขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้าย
          (3) จนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้น
          (4) เจตนา (องค์ประกอบภายใน)

          การข่มขืนใจทำได้ 2 วิธี คือ
          (1) โดยการทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สิน คือ ไม่จำกัดวิธี อาจจะโดยการพูด เขียน หรือหลอกให้กลัวก็ได้
          (2) โดยใช้กำลังประทุษร้าย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1447/2513  จำเลยกับโจทก์ร่วมเข้าหุ้นทำการก่อสร้างโรงเรียนร่วมกัน  จำเลยพาพวกซึ่งมีอาวุธปืนติดตัวไปขู่เข็ญให้โจทก์ร่วมคิดบัญชีการเงินเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงเรียน  โจทก์ร่วมไม่ยอมคิดบัญชีประกอบกับขณะนั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามา  จำเลยกับพวกจึงบังคับให้โจทก์ร่วมคิดบัญชีไม่สำเร็จ  เช่นนี้  การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานพยายามกรรโชก  เพราะจำเลยไม่มีทางได้ประโยชน์ในทางทรัพย์โดยมิชอบแต่อย่างใด  แต่การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายามกระทำผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309  วรรค 2  ประกอบมาตรา 80, 83  เพราะจำเลยมีเจตนาที่จะทำให้โจทก์ร่วมกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตจนยอมคิดบัญชีให้  และจำเลยได้กระทำไปโดยตลอดแล้วเพื่อให้โจทก์ร่วมกลัวและปฏิบัติตามความประสงค์ของจำเลย

          ความผิดต่อเสรีภาพตามมาตรา 309 เป็นความผิดที่ต้องการผล คือ ผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการ ไม่กระทำการ หรือจำยอมต่อสิ่งใด อันเนื่องมาจากผลของความกลัวหรือจากการประทุษร้ายนั้น แต่ถ้าผลไม่เกิดก็ไม่เป็นความผิดสำเร็จ เป็นได้แค่พยายามเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2436/2534  การที่จำเลยซึ่งโดยสารรถจักรยานยนต์ผู้เสียหายมายังไม่ถึงจุดหมายบอกให้ผู้เสียหายเลี้ยวรถกลับไปส่งที่เดิม เมื่อผู้เสียหายเลี้ยวรถจำเลยกลับกระโดดลงจากรถแล้วบอกให้ผู้เสียหายหยุดรถ และเมื่อพวกจำเลยขับขี่รถจักรยานยนต์ตามมาบอกให้ยิง จำเลยก็จ้องปืนมาทางผู้เสียหายครั้นผู้เสียหายไม่หยุดรถและขับรถหลบหนีไป จำเลยก็ยิงปืนขึ้นกรณีไม่ปรากฏเหตุผลอย่างไรที่จำเลยจะต้องให้ผู้เสียหายหยุดรถจนถึงขนาดต้องใช้อาวุธปืนในการบังคับขู่เข็ญเช่นนั้น การกระทำของจำเลยเป็นการข่มขืนใจให้ผู้เสียหายกระทำการโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายของผู้เสียหายอันเป็นความผิดต่อเสรีภาพโดยมีอาวุธปืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสองแต่เมื่อผู้เสียหายไม่หยุดรถตามที่จำเลยข่มขืนใจ จำเลยจึงมีความผิดเพียงขั้นพยายาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3856/2546  การที่จำเลยเป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์ให้ บ. นั่งซ้อนท้ายไปด้วยกัน และจำเลยจอดรถจักรยานยนต์ให้ บ. ลงจากรถไปและใช้อาวุธปืนขู่บังคับผู้เสียหายทั้งสองให้ลงจากรถจักรยานยนต์โดยจำเลยมิได้ห้ามปราม จึงถือได้ว่าจำเลยร่วมกระทำการข่มขืนใจผู้เสียหายทั้งสองให้กระทำการใดไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายเสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้เสียหายอันเป็นความผิดต่อเสรีภาพโดยมีอาวุธตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง แต่เมื่อผู้เสียหายทั้งสองไม่ยอมลงจากรถจักรยานยนต์ตามที่ บ. ข่มขืนใจ จำเลยจึงมีความผิดเพียงขั้นพยายาม


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2406-2408/2519  เจ้าพนักงานตำรวจได้ข่มขืนใจผู้เสียหายให้มอบเงินแก่ตน 500 บาทโดยกล่าวหาว่าเล่นการพนัน เมื่อผู้เสียหายขอให้เพียง 100 บาทก็ไม่พอใจ ทำร้ายผู้เสียหายและแกล้งจับโดยไม่มีอำนาจนำไปส่งสถานีตำรวจเช่นนี้ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 337 วรรค 2, 309 วรรค 2 และ 295 โดยสำหรับความผิดต่อเสรีภาพตามมาตรา 309 และความผิดฐานกรรโชกตามมาตรา 337 นั้น ผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้นแล้ว แม้จะยอมไม่เต็มตามที่ถูกเรียกร้องก็เป็นความผิดสำเร็จ ส่วนความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามมาตรา 148 เพียงแต่ผู้กระทำผิดมีเจตนาจะให้เขาส่งมอบทรัพย์สินให้ ก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว แม้ผู้ถูกข่มขืนใจจะไม่ยอมตามนั้นก็ตาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2191/2522   จำเลยที่ 1 เข้าไปนั่งในรถแล้วใช้ปืนจี้ขู่บังคับให้ ส.  ซึ่งเป็นคนขับรถนั่งเฉยๆและให้เอามือวางไว้ที่พวงมาลัยจน ส.  เกิดความ กลัวจำต้องปฏิบัติตามโดยยอมนั่งเฉยๆและต้องเอามือวางไว้ที่พวงมาลัย ตามที่จำเลยข่มขืนใจให้กระทำ การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดสำเร็จ ตามมาตรา 309 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

ความผิดฐานเป็นอั้งยี่

          มาตรา 209  "ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
          ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า ผู้จัดการหรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในคณะบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท"

          องค์ประกอบความผิดฐานเป็นอั้งยี่ตามมาตรา 209 วรรคหนึ่ง
          (1) ผู้ใด
          (2) เป็นสมาชิกของคณะบุคคล
          (3) ซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย
          (4) เจตนา (องค์ประกอบภายใน)


          เป็นสมาชิกของคณะบุคคล หมายความว่า มีบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปแสดงออกซึ่งเจตนาเข้าร่วมความมุ่งหมายอย่างเดียวกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1176/2543  จำเลยเข้าเป็นสมาชิกกองกำลังติดอาวุธโจรก่อการร้ายขบวนการ บีอาร์เอ็นกลุ่มนาย อ. มีพฤติการณ์กระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเรียกค่าคุ้มครอง ซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเป็นคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีการดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมายจึงมีความผิดฐานอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 วรรคหนึ่ง

          คณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการ หมายความว่า รู้กันเป็นการภายในเฉพาะหมู่คณะ ไม่เปิดเผยแก่บุคคลภายนอก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 301-303/2470  จำเลยจัดการชักชวนให้ราษฎรหลายตำบลสาบานตัวเข้าเป็นสมาชิกในสมาคมซึ่งมิได้จดทะเบียนและมีวัตถุประสงค์จะป้องกันการโจรกรรมในระหว่างสมาชิก และคอยช่วยเหลือหาพยานเท็จ และออกเงินช่วยเหลือเมื่อสมาชิกต้องหาในคดีอาญา มีเครื่องหมายสมาคมรู้กันอยู่ในระหว่างสมาชิกเท่านั้น ดังนี้ วัตถุประสงค์ของสมาคมไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการที่เครื่องหมายของสมาคมรู้กันได้เฉพาะระหว่างสมาชิกนั้น ย่อมแสดงว่าสมาคมนี้ปกปิดวิธีดำเนินการ จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นอั้งยี่

          คณะบุคคลซึ่งมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายนี้ไม่จำเป็นถึงขั้นลงมือกระทำ เพียงแค่เป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมายก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 784/2557  ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ตาม ป.อ. มาตรา 209 เป็นความผิดทันทีเมื่อผู้นั้นได้เข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ความผิดฐานเป็นซ่องโจรตาม ป.อ. มาตรา 210 เป็นขั้นตอนการกระทำความผิดที่ยกระดับถึงขั้นคบคิดกันหรือตกลงกันหรือประชุมหารือกันเพื่อจะกระทำความผิด สภาพความผิดฐานเป็นอั้งยี่และฐานเป็นซ่องโจรจึงสามารถแยกการกระทำแต่ละความผิดได้ จึงเป็นความผิดหลายกรรม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2273/2556   ผู้เสียหายที่ 2 ที่ถูกหน่วงเหนี่ยว ขวางทาง ฉุดรั้งและข่มขืนใจโดยถูกประทุษร้ายเพื่อให้ยอมไม่เข้าร่วมเสนอราคาไม่ได้ยอมตามที่ถูกกระทำดังกล่าว กลับได้เข้าไปยื่นซองเสนอราคาและร้องเรียนต่อเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้อง จนการจัดประกวดราคาในวันดังกล่าวถูกยกเลิก การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกจึงเป็นเพียงการพยายามกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 6 และ ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก
          เจตนาในการตั้งกลุ่มกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ซ่องโจรของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3ก็เพื่อกระทำความผิดฐานต่าง ๆ ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐฯ จึงเป็นเจตนาเดียวกัน เป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงต้องลงโทษในความผิดฐานเป็นอั้งยี่ตาม ป.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 209 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 222/2556  ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ จำเลยกระทำความผิดโดยเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ส่วนความผิดฐานสนับสนุนการก่อการร้ายจำเลยกระทำความผิดด้วยการให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดฐานก่อการร้ายก่อนหรือขณะกระทำความผิด การกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว แม้จำเลยจะได้กระทำในช่วงเดียวกัน แต่การกระทำความผิดนั้นเป็นการกระทำคนละอย่างแตกต่างกันและต่างกรรมต่างวาระ ทั้งเจตนาและความมุ่งหมายในการเป็นอั้งยี่ และสนับสนุนการก่อการร้ายก็เป็นคนละอย่างต่างกัน การกระทำความผิดของจำเลยในความผิดฐานเป็นอั้งยี่และฐานสนับสนุนการก่อการร้ายจึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกันมิใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท


          มาตรา 209 วรรคสอง  "ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า ผู้จัดการหรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในคณะบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท"

          มาตรา 209 วรรคสองเป็นเหตุฉกรรจ์ กล่าวคือ ถ้าผู้กระทำความผิดเป็น
          (1) หัวหน้า
          (2) ผู้จัดการ
          (3) ผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในคณะบุคคลนั้น เช่น รองหัวหน้า เหรัญญิก ที่ปรึกษา เป็นต้น


10 สิงหาคม 2560

กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา

          กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา มาจากสุภาษิตกฎหมายละติน Acta exteriora indicant interiora secreta
          เป็นหลักกฎหมายอาญา มีไว้สำหรับพิจารณาพฤติการณ์ในการกระทำของจำเลยเพื่อนำมาพิจารณาว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดหรือไม่ เพียงใด และยังใช้สำหรับแยกเจตนาฆ่าออกจากเจตนาทำร้ายร่างกายอีกด้วย เพราะถ้ามีเจตนาฆ่าย่อมต้องรับโทษหนักกว่าเจตนาทำร้าย เละเนื่องจากเจตนาเป็นเรื่องที่อยู่ภายในจิตใจของผู้กระทำเอง บุคคลภายนอกไม่มีใครหยั่งรู้ได้ ในการวินิจฉัยหรือพิสูจน์ว่าผู้กระทำมีเจตนากระทำความผิด มีเจตนาฆ่าหรือเพียงมีเจตนาทำร้ายเท่านั้น จึงต้องนำหลักว่า การกระทำที่แสดงออกมาภายนอกเป็นเครื่องชี้ถึงสภาพจิตใจของผู้กระทำ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา มาเป็นหลักในการวินิจฉัย

          การใช้หลักกรรมเป็นเครื่องชี้เจตนาเพื่อวินิจฉัยหรือพิสูจน์ว่าผู้กระทำมีเจตนาฆ่า หรือเจตนาทำร้ายนั้น ศาลไทยอาศัยข้อพิจารณา ดังต่อไปนี้ ***
          1. พิจารณาจากอาวุธที่ใช้กระทำ
          2. พิจารณาจากอวัยวะที่ถูกกระทำ
          3. พิจารณาจากลักษณะของบาดแผลที่ถูกกระทำ
          4. พิจารณาจากพฤติการณ์อื่นๆ


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1344/2498 ว่า ศาลฎีกาปรึกษาคดีนี้แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความตามคำพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลยทั้งสองต่างใช้ปืนแก๊บยิงซึ่งกันและกันฝ่ายละหนึ่งนัดโดยสมัครใจเข้าโรมรันซึ่งกัน กระสุนปืนที่จำเลยที่ 1 ใช้ยิงไม่ถูกจำเลยที่ 2 โดยพลาดไปถูกฝาใบตองพลวง กระสุนกระจายไปเสียก่อน แต่กระสุนปืนที่จำเลยที่ 2 ใช้ยิงจำเลยที่ 1 ถูกตามร่างกายจำเลยที่ 1 มีบาดเจ็บหลายแห่ง แสดงให้เห็นว่า ความแรงของกระสุนปืนที่จำเลยต่างใช้ยิงกันนี้ หากถูกในที่สำคัญอาจทำให้ผู้ถูกยิงถึงแก่ความตายได้ รูปคดีควรฟังว่า จำเลยต่างมีเจตนาจะฆ่าให้ถึงตาย แต่ที่ไม่ตายเพราะยิงพลาดไม่ถูกหรือถูกในที่ไม่สำคัญ ซึ่งเป็นเหตุอันพ้นวิสัยมาป้องกันขัดขวางเสีย จำเลยทั้งสองต้องมีความผิดฐานพยายามฆ่าคนโดยเจตนา ศาลอุทธรณ์ชี้ขาดวางบทกำหนดโทษจำเลยมาชอบแล้ว จึงให้ยกฎีกาจำเลย โดยพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1006/2501 ศาลฎีกาพิเคราะห์คำพยานโจทก์จำเลยแล้ว กรณีฟังได้ว่าการทำร้ายกันเกิดจากการโต้เถียงกันก่อนจริง และเชื่อว่าคงจะเกิดจากสาเหตุอย่างที่พยานโจทก์กล่าวมากกว่าอย่างจำเลยว่า เพราะไม่น่าจะทวงหนี้สินกันต่อหน้าชุมชนอย่างนั้น และเหตุเท่าที่จำเลยว่าแล้ว นายแดงก็ไม่น่าจะทำร้ายจำเลย ข้อที่จำเลยว่านายแดงได้ฟันจำเลยก่อนก็ไม่น่าเชื่อเพราะบาดแผลที่มือจำเลยเป็นบาดแผล กว้างเพียงหนึ่งเซนติเมตร สี่มิลลิเมตร, ยาวสองเซนติเมตร, ลึกหนึ่งเซนติเมตร ห้ามิลลิเมตร เป็นแผลเล็กน้อยไม่สมที่จะถูกฟันด้วยมีดโดยแรง ทั้งในปัจจุบันนั้นก็ไม่มีใครเห็นบาดแผลของจำเลย แม้นายสุนทรผู้ใหญ่บ้านก็ไม่ได้ให้การถึงเลย คดีจึงต้องฟังว่าจำเลยใช้ปืนยิงผู้เสียหายก่อนจริง แล้วผู้เสียหายจึงใช้มีดขว้างจำเลย แต่ศาลฎีกาเห็นว่าการที่จำเลยใช้ปืนยิงผู้เสียหายนั้นยังไม่พอฟังว่าจำเลยมี เจตนาฆ่าผู้เสียหายเพราะจำเลยยิงไปถูกที่ขาเหนือตาตุ่ม ขณะนั้นจำเลยกับผู้เสียหายอยู่ห่างกันเพียงวาเศษ ถ้าจำเลยตั้งใจจะฆ่าผู้เสียหายแล้วก็คงยิงถูกร่างกายผู้เสียหายในที่สำคัญ ๆ ได้ศาลฎีกาจึงเห็นว่าจำเลยไม่เจตนาฆ่าผู้เสียหาย คงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัสตาม มาตรา 297 ป.อ. จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ให้จำคุกจำเลยไว้มีกำหนดสองปี

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 777/2505 ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ที่จำเลยฎีกาว่าตอนเกิดเหตุจำเลยมิได้สมัครใจวิวาทกับผู้ตายนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะนายนิตย์พยานจำเลยเบิกความรับว่าผู้ตายร้องท้าว่า "หรุ่น (นายหรุ่น สุขชูพร จำเลย) เอาหรือวะ" จำเลยก็โดดลงจากเรือพูดว่า "แน่รึ" แล้วต่างก็เข้าต่อสู้กัน จึงฟังได้ว่าจำเลยสมัครใจเข้าต่อสู้กับผู้ตาย ไม่ใช่เป็นการป้องกันตัว ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาหรือไม่ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่า จำเลยใช้มีดดาบยาวหนึ่งแขน กระโดดลงจากเรือไปต่อสู้กับผู้ตาย และฟันผู้ตายถึงสามแห่ง แผลที่สำคัญถูกคอเกือบขาดแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตาย จึงมีความผิดฐานฆ่าคนโดยเจตนา แต่ได้ความว่าเกิดเหตุแล้วจำเลยเข้ามอบตัวต่อกำนันและเล่าเหตุการณ์ให้ฟังโดยตลอด ประกอบกับผู้ตายได้ท้าทายก่อนมีเหตุบรรเทาโทษ พิพากษาแก้ว่าจำเลยมีความผิดตาม มาตรา 288  ให้จำคุกสิบห้าปี ลดโทษกึ่งหนึ่งตาม มาตรา 78 เหลือจำคุกเจ็ดปี หกเดือน

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1085/2510 ผู้ตายมีขวานและมีดขอเป็นอาวุธ จำเลยมีมีดพกเป็นอาวุธ ได้เข้าโรมรันซึ่งกันและกันโดยต่างไม่มีเวลาที่จะเลือกแทงเลือกฟันแทงในที่สำคัญ ทั้งสองคนมีบาดแผลรวมเจ็ดแห่งด้วยกัน ผู้ตายเสียโลหิตมากจึงถึงแก่ความตาย ดังนี้ จำเลยมีความผิดฐานฆ่าคนโดยไม่เจตนา ไม่ใช่ฐานฆ่าคนโดยเจตนา

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1439/2510 ขณะที่ผู้ตายต่อยกับน้องภริยาจำเลยที่ 1, จำเลยที่ 2 ได้ยิงไปก่อนหนึ่งนัดถูกผู้ตาย แล้วต่อมาจำเลยที่ 1 จึงได้ยิงไป ตามพฤติการณ์ดังกล่าวที่จำเลยทั้งสองยิงไปนั้นเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในทันทีทันใดนั้น โดยต่างคนต่างกระทำลงไปมิได้สมคบร่วมรู้กันมาก่อน จะฟังว่าจำเลยที่ 1 สมคบกับจำเลยที่ 2 ฆ่าผู้ตายไม่ได้ ผู้ตายมีบาดแผลถูกยิงแผลเดียว และฟังได้ว่าแผลที่ถูกยิงนั้นเป็นผลแห่งการกระทำของจำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียว ฉะนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานฆ่าผู้ตาย แต่การที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงไปยังผู้ตายกับพวกหลายนัดนั้น ส่อเจตนาให้เห็นว่าจำเลยตั้งใจฆ่า แต่กระสุนปืนพลาดไปถูกที่ไม่สำคัญ จึงไม่ถึงแก่ความตาย ดังนี้ จำเลยต้องมีความผิดฐานพยายามฆ่าคน

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5664/2534 ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายในระยะห่างเพียง 3 เมตร ถูกที่บริเวณเอวของผู้เสียหายอันเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย ซึ่งหากรักษาไม่ทันท่วงทีอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ถือได้ว่าจำเลยกระทำไปโดยเจตนาฆ่าผู้เสียหายแล้ว ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าจำเลยยิงขู่เพราะจำเลยอาจเลือกยิงบริเวณอื่นที่สำคัญและยิงแล้วก็มิได้ยิงซ้ำนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะหากเป็นเพียงการยิงขู่ จำเลยก็มีโอกาสที่จะยิงไปยังทิศทางอื่นที่มิใช่ทิศทางที่ผู้เสียหายยืนอยู่ เช่น ยิงขึ้นฟ้า เป็นต้น ข้ออ้างของจำเลยในเรื่องยิงขู่จึงไม่ประกอบด้วยเหตุผลอันจะพึงรับฟัง ทั้งข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายหรือพวกผู้เสียหายจะเข้าทำร้ายจำเลย อันจะถือได้ว่าเป็นภยันตรายที่จำเลยจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำไปโดยเจตนาฆ่าผู้เสียหายจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13908/2558   โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ก่อให้จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันฆ่า ส. ผู้เสียหายและ อ. ผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ต่อมา จำเลยที่ 1 กับพวกใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายและผู้ตายหลายนัดโดยเจตนาฆ่าและโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเนื่องจากถูกใช้ จ้าง วาน ยุยงส่งเสริมจากจำเลยที่ 2 เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายและผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 2 ขัดแย้งกับผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 มอบอาวุธปืนและบอกให้จำเลยที่ 1 สั่งสอนผู้เสียหาย การมอบอาวุธปืนมีกระสุนปืนหลายนัดให้จำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 2 ว่าให้จำเลยที่ 1 สั่งสอนผู้เสียหายโดยใช้ปืนยิงและย่อมเล็งเห็นได้ว่าหากผู้เสียหายไม่ตายก็ย่อมได้รับบาดเจ็บจากบาดแผลกระสุนปืน จึงเป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำผิดโดยเจตนาตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสอง เมื่อจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายจึงเป็นการกระทำตามที่จำเลยที่ 2 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ฆ่าผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนแล้ว เมื่อผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้และรับโทษเสมือนตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 289 (4), 80 ประกอบมาตรา 84 วรรคสอง และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยรู้จัก ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ตาย ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 บอกให้จำเลยที่ 1 ไปสั่งสอนผู้เสียหายให้เข็ดหลาบ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ทราบเหตุการณ์ที่ผู้เสียหายนัดหมายผู้ตายมารับเพื่อเดินทางกลับบ้าน ทั้งจำเลยที่ 2 ไม่ได้ติดตามผู้เสียหายและผู้ตายไป ตามพฤติการณ์จำเลยที่ 2 ไม่อาจคาดหมายว่าจำเลยที่ 1 จะใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายด้วย การที่จำเลยที่ 1 ยิงผู้ตายถึงแก่ความตายเป็นการกระทำเกินขอบเขตที่ใช้ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาก่อให้จำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตาย เมื่อตามฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่ทางพิจารณาโจทก์สืบไม่สมฟ้องในความผิดฐานดังกล่าว จึงต้องยกฟ้องในข้อหานี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21379/2556  การที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ไล่ทำร้ายผู้ตายกับพวกในระยะกระชั้นชิดโดยถือไม้ถูพื้นชูออกนอกรถยนต์เพื่อข่มขู่ผู้ตายกับพวกไปตลอดทาง โดยมีเจตนาจะทำร้ายผู้ตายกับพวก และผลจากการกระทำดังกล่าวทำให้ผู้ตายต้องขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูงเพื่อหลบหนีการถูกไล่ทำร้ายจนเกิดเหตุชนกับรถยนต์กระบะที่จอดอยู่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้ตายได้รับอันตรายสาหัสและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมมีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 290

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16412/2555  วันเวลาเกิดเหตุจำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นหญิงคนรักนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ระหว่างทางได้เกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับล้มลงทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ตกจากรถจักรยานยนต์ได้รับอันตรายสาหัสนอนหมดสติในพงหญ้าข้างทาง แล้วจำเลยหลบหนีไม่ให้ความช่วยเหลือ ทิ้งให้ผู้เสียหายที่ 2 นอนหมดสติในที่เกิดเหตุ เป็นเวลานานถึง 8 วัน และไม่แจ้งให้ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาทราบ จนมีผู้ไปพบผู้เสียหายที่ 2 จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า การงดเว้นไม่ให้ความช่วยเหลือ ผู้เสียหายที่ 2 อาจถึงแก่ความตายได้ เมื่อผู้เสียหายที่ 2 ไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 59 วรรคท้าย

------------------
*** อ.เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์, คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาค 1,  พิมพ์ครั้งที่ 5,  (กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2540)


ที่ดิน ส.ป.ก.4-01


          ที่ดิน ส.ป.ก. คือ ที่ดินในบริเวณที่ได้ประกาศให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งจะอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยที่ดิน ส.ป.ก. เป็นที่ดินที่ทางภาครัฐยกให้แก่เกษตรกรเพื่อสำหรับใช้เป็นที่ดินในการทำมาหากินด้านการเกษตร สำหรับเกษตรกรที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ ก็จะได้รับเอกสารสิทธิไว้เป็นหลักฐาน คือ ส.ป.ก. 4-01
          ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 4 “การปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม” หมายความว่า  การปรับปรุงเกี่ยวกับสิทธิและการถือครองในที่ดินเพื่อเกษตรกรรมรวมตลอดถึงการจัดที่อยู่อาศัยในที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนั้น โดยรัฐนำที่ดินของรัฐหรือที่ดินที่รัฐ จัดซื้อหรือเวนคืนจากเจ้าของที่ดิน ซึ่งมิได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นด้วยตนเอง หรือมีที่ดินเกินสิทธิตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อจัดให้แก่เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินของตนเองหรือเกษตรกรที่มีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพและสถาบันเกษตรกรได้เช่าซื้อ เช่าหรือเข้าทำประโยชน์โดยรัฐให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม การปรับปรุงทรัพยากรและปัจจัยการผลิต ตลอดจนการผลิตและการจำหน่ายให้เกิดผลดียิ่งขึ้น


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4431/2550  มติคณะรัฐมนตรีไม่ใช่กฎหมายเป็นเพียงแนวทางปฏิบัติเท่านั้น ซึ่งจะทำได้หรือไม่ได้เพียงใด ก็ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายในเรื่องนั้นบัญญัติไว้ ในกรณีเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก็ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ ดังนั้น บุคคลใดจะมีสิทธิที่จะได้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ ก็ต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดหาใช่จะถือตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแต่เพียงอย่างเดียวตามที่จำเลยอ้างในฎีกาแต่อย่างใดไม่ ซึ่งตามที่ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา 4 บัญญัติความหมายของคำว่า “เกษตรกร” หมายความว่า ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก และให้หมายความรวมถึงบุคคลผู้ยากจนหรือผู้จบการศึกษาทางเกษตรกรรม หรือผู้เป็นบุตรของเกษตรกรบรรดาซึ่งไม่มีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นของตนเองและประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดใน พ.ร.ฎ. ด้วย และตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ ข้อ 6 (6) ระบุว่าต้องเป็นผู้ไม่มีที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมเป็นของตนเอง หรือของบุคคลในครอบครัวเดียวกัน หรือมีที่ดินเพียงเล็กน้อยแต่ไม่เพียงพอแก่การประกอบเกษตรกรรมเพื่อเลี้ยงชีพ แสดงให้เห็นว่าเจตนารมณ์ของการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก็เพื่อช่วยให้เกษตรกรรมก็เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีที่ดินทำกิน และเกษตรกรผู้นั้นจะต้องไม่มีที่ดินประกอบเกษตรกรรมเป็นของตนเองหรือมีที่ดินเพียงเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพหรือต้องเช่าที่ดินของผู้อื่นประกอบเกษตรกรรม เมื่อจำเลยมีที่ดินของตนเองจำนวน 108 แปลง และจำเลยประกอบอาชีพอื่นนอกจากด้านการเกษตรโดยประกอบอาชีพค้าขาย มีหุ้นอยู่ในนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดและห้างหุ้นส่วนจำกัดรวม 16 แห่ง จึงถือได้ว่าจำเลยมีที่ดินประกอบเกษตรกรรมเป็นของตนเองและมีรายได้เพียงพอแก่การครองชีพแล้ว และไม่ถือว่าจำเลยเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักแต่อย่างใด จำเลยย่อมขาดคุณสมบัติในการยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน การที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีคำสั่งให้เพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01 ก.) ในที่ดินพิพาทที่ออกให้แก่จำเลยจึงชอบแล้ว ถึงแม้ในตอนแรก โจทก์ได้มอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก 4-01 ก.) ให้แก่จำเลยไปแล้ว แต่เมื่อมาตรวจสอบพบในภายหลังว่า จำเลยเป็นผู้ขาดคุณสมบัติดังกล่าวก็สามารถทำการเพิกถอนได้เนื่องจากจำเลยเป็นผู้ที่ไม่มีสิทธิที่จะได้หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01 ก.) มาตั้งแต่ต้น และเมื่อเพิกถอนการอนุญาตให้จำเลยเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินแล้ว จำเลยไม่ยอมออกไปจากที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2919/2545  โจทก์เป็นเกษตรกรได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินแล้ว 20 ไร่ 2 งาน 84 ตารางวา โดยทำนาทั้งแปลง ถือได้ว่าโจทก์มีที่ดินประกอบเกษตรกรรมเป็นของตนเองและมีรายได้เพียงพอแก่การครองชีพแล้ว โจทก์จึงขาดคุณสมบัติที่จะได้รับโอนที่ดินพิพาทแม้ทางมรดกตกทอด จำเลยซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดชอบที่จะไม่ออกคำสั่งให้โจทก์รับมรดกตกทอดสิทธิการเช่าในที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าขัดกับกฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ได้


           การซื้อขายหรือโอนสิทธิที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ต้องห้ามตามกฎหมาย

          ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง (มาตรา 39)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 679/2558  จำเลยมีสัญชาติอิตาลี โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่ากัน และทำบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าว่า “ให้ที่ดินจำนวน 3 งาน พร้อมบ้านเลขที่ 245 หมู่ที่ 9 ตำบลหนองหว้า อำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว เป็นทรัพย์สินของ ซ. (จำเลย) แต่เพียงผู้เดียว” เมื่อที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งเป็นที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐที่ได้มาโดยผลของกฎหมาย เพื่อให้รัฐนำที่ดินดังกล่าวนี้จัดสรรให้แก่เกษตรกรซึ่งมีคุณสมบัติตามกฎหมายที่มีสิทธิจะได้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมอันเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 19 (7) และเกษตรกรผู้ได้รับการจัดสรรที่ดินนั้นจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิไปให้แก่บุคคลอื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมหรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามมาตรา 39 บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงขัดต่อกฎหมายดังกล่าว อันเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนตกเป็นโมฆะ จำเลยไม่อาจได้ไปซึ่งที่ดินและบ้านพิพาทดังกล่าว แม้โจทก์จะมิได้บรรยายมาในฟ้อง แต่เป็นข้อกฎหมายที่สามารถยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 247
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9152/2557  ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาในคดีก่อน จำเลยซึ่งเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ในคดีดังกล่าวทำบันทึกข้อตกลงกับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.5 มีสาระสำคัญในข้อ 1 ว่า จำเลยจะทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือถอนฟ้องในคดีหมายเลขแดงที่ 573/2544 ของศาลชั้นต้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาในวันที่... จะทำกันที่ศาลฎีกา โดยโจทก์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ข้อ 2 ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือถอนฟ้อง โดยตกลงชำระเงินเป็นค่าซื้อขายที่ดินพิพาทจำนวน 40,000,000 บาท โดยชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่... ให้แก่ผู้ซื้อ โดยผู้ซื้อระบุชื่อจำเลยเป็นผู้รับเงินค่าที่ดิน และจำเลยสามารถตรวจสอบสถานะทางการเงินของผู้ซื้อก่อนวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้ ข้อ 5 จำเลยและทายาทของ ห. ทุกคนจะต้องยินยอมให้ความร่วมมือในการที่ ก. จดทะเบียนรับ ส. เป็นบุตรบุญธรรม เพื่อเป็นวิธีการในการรับโอนที่ดินที่เป็นเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4 - 01 และทายาทของ ห. ทุกคนต้องสละสิทธิในที่ดินทุกแปลงที่ได้ทำการซื้อขายกันตามสัญญาโอนสิทธิฉบับลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 ที่ได้ออกหลักฐาน ส.ป.ก. 4 - 01 ในปัจจุบัน ข้อ 6 ในวันที่โจทก์ไปทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้ซื้อที่สำนักงานที่ดินนั้น จำเลยจะต้องได้รับเงินครบถ้วน 40,000,000 บาท หากโจทก์หรือผู้ซื้อผิดสัญญาให้ถือว่าสัญญาเป็นอันเลิกกัน และโจทก์ยินยอมรับผิดชดใช้เงินค่าที่ดินพร้อมค่าเสียหายแก่จำเลย ในทางกลับกันหากจำเลยผิดนัดไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง จำเลยยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงินค่าปรับ 40,000,000 บาท นั้น บันทึกดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ คู่กรณีต้องดำเนินการทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือถอนฟ้องและชำระเงินกันก่อนศาลฎีกามีคำพิพากษา เพราะเมื่อศาลฎีกาพิพากษาแล้วคำพิพากษาย่อมผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ข้อตกลงนอกศาลที่ทั้งสองฝ่ายทำไว้ไม่อาจมีผลเปลี่ยนแปลงหรือเพิกถอนคำพิพากษาได้ ส่วนตามบันทึกข้อตกลงตามเอกสาร จ.5 ข้อ 5 ที่ระบุว่าจำเลยและทายาทอื่นของ ห. ทุกคนต้องยินยอมและให้ความร่วมมือในการที่ ก. ภริยา ห. จดทะเบียนรับ ส. พี่ชายโจทก์เป็นบุตรบุญธรรมเพื่อเป็นวิธีการในการรับโอนที่ดินที่มีหลักฐานเป็น ส.ป.ก. 4 - 01 ดังกล่าว เป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เนื่องจาก พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 บัญญัติว่า “ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม ข้อตกลงดังกล่าวจึงทำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงข้อห้ามโดยชัดแจ้งของกฎหมาย หาใช่เป็นข้อตกลงที่เป็นการแก้ไขข้อขัดข้องที่กฎหมายเปิดช่องให้กระทำได้ตามที่โจทก์ฎีกา จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 การที่โจทก์เบิกความว่าเงิน 40,000,000 บาท ที่จะจ่ายให้แก่จำเลยตามบันทึกข้อตกลงนั้น เป็นเงินรวมทั้งหมดไม่ได้แบ่งแยกเป็นหลายแปลง จึงฟังได้ว่าโจทก์จำเลยมีเจตนาให้จำเลยโอนที่ดินทั้งหมดทุกแปลงแก่โจทก์โดยโจทก์ตกลงจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินรวม 40,000,000 บาท จึงไม่สามารถแยกส่วนที่ไม่เป็นโมฆะออกจากส่วนที่เป็นโมฆะได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6540/2557  เมื่อทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นสิทธิเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน จึงต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 ที่ต้องตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมเท่านั้น ไม่อาจตกทอดแก่ทายาทโดยพินัยกรรมได้ เมื่อผู้ตายทำพินัยกรรมให้สิทธิเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินตกแก่ผู้คัดค้านเพียงผู้เดียว การทำพินัยกรรมเกี่ยวกับสิทธิดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย พินัยกรรมเกี่ยวกับสิทธิดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 จึงมิใช่กรณีที่ผู้ร้องถูกตัดมิให้รับมรดกด้วยพินัยกรรม ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรม และมีสิทธิที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 จึงไม่มีเหตุที่จะถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย