ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 339 "ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ
(1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป
(2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น
(3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้
(4) ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือ
(5) ให้พ้นจากการจับกุม
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองหมื่นบาท
ถ้าความผิดนั้นเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดแห่งมาตรา 335 หรือเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่เป็นโค กระบือ เครื่องกลหรือเครื่องจักรที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท
ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต"
มาตรา 339 ทวิ "ถ้าการชิงทรัพย์ได้กระทำต่อทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ วรรคแรก ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท
ถ้าการชิงทรัพย์นั้นเป็นการกระทำในสถานที่ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 335 ทวิ วรรคสองด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
ถ้าการชิงทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
ถ้าการชิงทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
ถ้าการชิงทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต"
มาตรา 340 "ผู้ใดชิงทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท
ถ้าในการปล้นทรัพย์ ผู้กระทำแม้แต่คนหนึ่งคนใดมีอาวุธติดตัวไปด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบสองปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นสี่พันบาทถึงสี่หมื่นบาท
ถ้าการปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
ถ้าการปล้นทรัพย์ได้กระทำโดยแสดงความทารุณจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ใช้ปืนยิง ใช้วัตถุระเบิด หรือกระทำทรมาน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
ถ้าการปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต"
มาตรา 340 ทวิ "ถ้าการปล้นทรัพย์ได้กระทำต่อทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ วรรคแรก ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
ถ้าการปล้นทรัพย์นั้นเป็นการกระทำในสถานที่ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 335 ทวิ วรรคสองด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
ถ้าการปล้นทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสอง ผู้กระทำแม้แต่คนหนึ่งคนใดมีอาวุธติดตัวไปด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
ถ้าการปล้นทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต
ถ้าการปล้นทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสองได้กระทำโดยแสดงความทารุณจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ใช้ปืนยิง ใช้วัตถุระเบิดหรือกระทำทรมาน ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
ถ้าการปล้นทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต"
มาตรา 340 ตรี "ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 339 มาตรา 339 ทวิ มาตรา 340 หรือมาตรา 340 ทวิ โดยแต่งเครื่องแบบทหารหรือตำรวจหรือแต่งกายให้เข้าใจว่าเป็นทหารหรือตำรวจ หรือโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ กึ่งหนึ่ง"
องค์ประกอบความผิดฐานชิงทรัพย์ตามมาตรา 339
(1) ผู้ใดลักทรัพย์
(2) โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือใช้กำลังประทุษร้าย
(3) เจตนาเพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือพาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือให้พ้นจากการจับกุม (เจตนาพิเศษ)
ความผิดฐานชิงทรัพย์มีพื้นฐานมาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ คือ เป็นการลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีเจตนาพิเศษ 5 ประการตามที่บัญญัติไว้ ดังนั้น ทรัพย์ที่จะชิงได้จะต้องเป็นทรัพย์ที่ถูกลักได้เช่นกัน การใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เป็นเรื่องกระทำต่อร่างกายหรือจิตใจของบุคคล การขู่เข็ญอาจทำด้วยวาจา หรือแสดงกิริยาท่าทาง หรืออาจไม่ต้องแสดงกิริยาท่าทางแต่มีอาวุธซึ่งตามสภาพหรือตามความรู้สึกของคนทั่วไปเห็นว่าเป็นการขู่ว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายอยู่ในตัว
สำหรับการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์นั้น เป็นความผิดที่ต่อเนื่องมาจากความผิดฐานชิงทรัพย์ กล่าวคือ เป็นการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ โดยมีผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ดังนั้น ถ้าไม่เป็นการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ แม้มีผู้ร่วมกระทำความผิดครบสามคนก็ไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ แต่อาจเป็นความผิดฐานอื่น เช่น ร่วมกันลักทรัพย์ เป็นต้น
ถ้าการประทุษร้ายหรือการขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายมิใช่มีเจตนาเพื่อประสงค์ต่อทรัพย์ ก็ไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 330/2535 พวกจำเลยล้อมรถขายไอศกรีม ของผู้เสียหายไว้ จำเลยที่ 3 เข้าต่อรองราคา แม้จะเป็นราคาที่อาจรู้ว่าผู้เสียหายไม่ตกลงด้วย ก็ไม่ถือว่าเป็นการขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อผู้เสียหาย การล้อมรถโดยไม่ปรากฏว่ามีท่าทางว่าจะเข้ามาทำร้ายผู้เสียหาย เพียงแต่ยืนจับกลุ่มกันอยู่ก่อน ไม่ถือว่าเป็นการใช้พวกเข้าขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้ผู้เสียหายยอมจะให้ทรัพย์แก่พวกจำเลย จึงไม่เป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ จำเลยที่ 3 เจ้ามาขอซื้อไอศกรีม 7-8 แท่ง ในราคา 1 บาท
จนผู้เสียหายไม่พอใจและชักอาวุธออกมา จำเลยทั้งสามจึงกลุ้มรุมทำร้ายผู้เสียหาย เพราะผู้เสียหายชักอาวุธออกมา มิใช่เพราะเจตนาจะทำร้ายผู้เสียหายเพื่อประสงค์ต่อไอศกรีมของผู้เสียหายแต่แรก ทั้งยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 3 หยิบเอาไอศกรีมไปแจกจ่ายพวกจำเลย
ประกอบกับหลังจากนั้นโจทก์ไม่มีพยานยืนยันว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันลักเอาไอศกรีมดังกล่าวไป การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ แต่เป็นความผิดทำร้ายร่างกาย ผลการชันสูตรบาดแผลของแพทย์มีความเห็นว่ามีรอยบวมเล็กน้อยที่ขมับด้านซ้าย บาดแผลรักษาหายภายใน 3 วัน เป็นความเป็นผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2188/2545 จำเลยเอาทรัพย์ไปจากผู้เสียหายก็เนื่องจากจำเลยไม่ต้องการให้ผู้เสียหายนำไปขายเล่นการพนัน แสดงว่าจำเลยหาได้มีเจตนาที่จะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับจำเลยหรือผู้อื่นแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์ คงมีความผิดเฉพาะฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับอันตรายแก่กายตาม ป.อ. มาตรา 295
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2767/2516 การ
ลักทรัพย์ที่จะเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 นั้น ในขณะที่ผู้กระทำผิด
ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายเจตนาของผู้กระทำผิดจะต้องเป็นไปเพื่อให้ความสะดวกในการลักทรัพย์ เพื่อพาทรัพย์ไปเพื่อให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์ หรือเพื่อยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า
ในขณะที่จำเลยขู่เข็ญหรือใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหาย จำเลยมีเจตนาเพียงแต่จะข่มขู่ผู้เสียหายซึ่งเคยเป็นภรรยาจำเลยให้กลับไปอยู่กับจำเลยอีก แม้สร้อยคอของผู้เสียหายจะขาดติดมือจำเลยไปเมื่อจำเลยดึงคอเสื้อของผู้เสียหายก็ตาม การกระทำของจำเลยก็หาเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ไม่ แต่การที่จำเลยได้สร้อยคอของผู้เสียหายแล้วจำเลยเอาไว้เสียโดยทุจริตไม่คืนให้ผู้เสียหายถือได้ว่าเจตนาลักทรัพย์ได้เกิดขึ้นแล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334
กรณีเอาทรัพย์ไปเพื่อหยามน้ำหน้าหรือแสดงอวดเพื่อความคึกคะนอง ศาลฎีกาก็วินิจฉัยไปในทางที่ว่าไม่ประสงค์ต่อทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2753/2539 จำเลยกับพวกขึ้นไปบนรถโดยสารประจำทาง
บังคับขู่เข็ญให้ผู้เสียหายถอด เสื้อฝึกงานและ แหวนรุ่นทำด้วยเงินซึ่งมีราคาเล็กน้อยจำเลยกับพวกกระทำไป เป็นการแสดงอำนาจบาตรใหญ่ด้วยความคะนอง เพื่อให้ผู้เสียหายซึ่งเป็นนักศึกษาต่างสถาบันที่มีเรื่องทะเลาะวิวาทกับสถาบันของจำเลยเห็นว่าเป็นคนเก่งพอที่จะรังแกคนได้ตามวิสัยวัยรุ่นที่มีความประพฤติไม่เรียบร้อยเท่านั้น มิใช่มุ่งหมายเพื่อจะได้ประโยชน์จากทรัพย์ จึงไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ แต่เป็นความผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้องจึงต้องลงโทษตามที่พิจารณาได้ความ ส่วนเสื้อฝึกงานและแหวนเงินจำเลยไม่มีสิทธิยึดถือไว้ต้องคืนแก่ผู้เสียหาย หลังจากให้ถอดเสื้อฝึกงานและแหวนเงินแล้ว กลุ่มเพื่อนของจำเลย 3 คนได้ชกต่อยผู้เสียหาย จากนั้นจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายในระยะห่าง 1 ฟุต แต่ผู้เสียหายยกขาและแขนขึ้นปิดป้องไว้และกระสุนปืนถูกกระดุมเสื้อซึ่งเป็นแผ่นเหล็กเป็นเหตุให้ไม่ถูกอวัยวะส่วนสำคัญ ถือได้ว่าจำเลยใช้ปืนยิงโดยมีเจตนาฆ่า แต่การกระทำไม่บรรลุผล จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 และมาตรา 371
การใช้กำลังประทุษร้ายตามมาตรา 339 ไม่ได้บัญญัติว่าจะต้องกระทำต่อเจ้าของทรัพย์หรือผู้ครอบครองทรัพย์เท่านั้น ดังนั้น จะใช้กำลังประทุษร้ายแก่ใครก็ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4472/2541 แม้ขณะที่จำเลยกระชากกระเป๋าถือของผู้เสียหาย จำเลยไม่ได้ขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือได้ใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหาย แต่หลังจากจำเลยกระชากกระเป๋าถือของผู้เสียหายแล้วได้วิ่งหนีไปนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ซึ่งจอดอยู่ห่างจากที่ผู้เสียหายถูกกระชากสร้อยเพียง 1 ถึง 2 เมตรเพื่อหลบหนี แต่ถูก ส.วิ่งไปผลักจนรถจักรยานยนต์ล้มลง จำเลยจึงชักอาวุธออกมาจะแทง ส. ดังนี้ การกระทำของจำเลยดังกล่าวยังต่อเนื่องและเกี่ยวพันกันโดยตลอดและยังไม่ขาดตอนจากการวิ่งราวทรัพย์ ทั้งการที่จำเลยชักอาวุธมีดออกมาจะแทง ส.ทันทีที่ ส.ผลักรถจักรยานยนต์ล้มลงนั้น เป็นพฤติการณ์ที่ชี้ชัดว่า จำเลยกระทำโดยมีเจตนาขู่เข็ญไม่ให้ ส.ขัดขวางการหลบหนี เพื่อให้พ้นจากการจับกุมและเพื่อการพาทรัพย์ไป และแม้ ส.จะมิใช่ผู้เสียหาย แต่เมื่อจำเลยกระทำโดยมีเจตนาดังกล่าวและการกระทำของจำเลยยังไม่ขาดตอนจากการกระชากกระเป๋าถือของ
ผู้เสียหายถือได้ว่าจำเลยกระชากกระเป๋าถือผู้เสียหายโดยขู่เข็ญว่าทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้พ้นจากการจับกุมแล้ว จึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4066/2545 การที่จำเลยที่ 1 เปลือยกายถืออาวุธมีดเข้าไปหาผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งนอนอยู่บนเตียงภายในห้องนอนของ
ผู้เสียหายที่ 1 พอดีผู้เสียหายที่ 1 รู้สึกตัวลืมตาขึ้นมาเห็นจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 พูดขู่มิให้ร้อง ผู้เสียหายที่ 1 ร้องกรี๊ดสุดเสียง จำเลยที่ 1 จึงชกปากผู้เสียหายที่ 1 และเอามือซ้ายยัดเข้าไปในปากของผู้เสียหายที่ 1 ผู้เสียหายที่ 1 จึงกัดนิ้วของจำเลยที่ 1 และดิ้นจนตกจากเตียงนอน ระหว่างนั้นผู้เสียหายที่ 1 ถูกอาวุธมีดของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ถือมาบาดที่ข้อมือซ้าย ถือว่าจำเลยที่ 1 กระทำการอันไม่สมควรทางเพศแก่ผู้เสียหายที่ 1 โดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย และใช้กำลังประทุษร้ายแล้ว จึงเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 และเป็นการบุกรุกเข้าไปในเคหสถานของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันควรในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธและใช้กำลังประทุษร้าย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 365(1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364 หลังจากนั้น
เมื่อผู้เสียหายที่ 3 เข้ามาในห้องนอนของผู้เสียหายที่ 1 ก็ถูกจำเลยที่ 1 ทำร้าย และหยิบเอากระเป๋าที่มีอาวุธปืนของผู้เสียหายที่ 2 เก็บไว้ ซึ่งผู้เสียหายที่ 3 นำมาด้วยและตกอยู่ที่พื้นไป ก่อนจะหลบหนี จำเลยที่ 1 วิ่งชนผู้เสียหายที่ 3 และยังใช้มีดฟันผู้เสียหายที่ 3 ได้รับบาดเจ็บ จึงเป็นการลักอาวุธปืนของผู้เสียหายที่ 2 ไปโดยทุจริต โดยใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อสะดวกในการพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นจากการจับกุมและเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย จึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม
การใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย จะต้องกระทำต่อผู้อื่น มิใช่กระทำต่อผู้กระทำความผิดด้วยกันเอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5768/2544 การที่จำเลยที่ 2 ถีบหลังจำเลยที่ 1 ล้มลงเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายจำเลยที่ 1 ในขณะจำเลยที่ 1 เดินตามนาย ช. ผู้จัดการธนาคารที่เกิดเหตุผู้เสียหาย แสดงว่าเงินของกลางยังอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหาย
แต่การใช้กำลังประทุษร้ายอันจะเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคแรก นั้น ต้องเป็นการประทุษร้ายต่อบุคคลอื่น มิใช่กระทำต่อคนร้ายผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน ดังจะเห็นได้จากเหตุที่ทำให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษหนักขึ้น ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม ถึงวรรคห้า อันได้แก่การกระทำผิดฐานชิงทรัพย์ เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย ผลของการกระทำล้วนเกิดแก่ผู้อื่นทั้งนั้น ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ใช้กำลังประทุษร้ายจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคนร้ายผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันจึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคแรก และแม้จะได้ความจากคำเบิกความของนายชัยศักดิ์ผู้เสียหายว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ได้ชี้มือไปทาง
ผู้เสียหายซึ่งวิ่งตามไปก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีอาวุธใดติดตัวมาด้วยหรือแสดงอาการหรือวาจาข่มขู่ผู้เสียหายเลย ดังนั้น เพียงแต่จำเลยที่ 2 ชี้มือมาทางผู้เสียหายเท่านั้นยังไม่พอให้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายแต่อย่างใด จึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์เช่นกัน
การกระทำของจำเลยทั้งสามขาดองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์ จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ตามฟ้อง จำเลยทั้งสามคงมีความผิดฐานร่วมลักทรัพย์โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การพาทรัพย์นั้นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 336 ทวิ เท่านั้น
การทำร้ายหรือขู่ว่าจะทำร้ายต้องยังไม่ขาดตอนจากลักทรัพย์ หากมีการทำร้ายขาดตอนไปจากการลักทรัพย์แล้วก็ไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 600/2544 ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ขณะที่จำเลยทั้งสองกำลังลักเอามะม่วงของผู้เสียหายอยู่นั้น
ผู้เสียหายเห็นการกระทำจึงได้ตรงเข้าจับกุมตัวจำเลยที่ 1 ไว้ได้จากนั้นได้ลากตัวจำเลยที่ 1 มายังที่ที่มีสายไฟฟ้าวางอยู่เพื่อจะใช้สายไฟฟ้ามัดตัวไว้ส่วนจำเลยที่ 2 ได้วิ่งหลบหนีไปได้ประมาณ 15 เมตรแล้ววิ่งกลับมายังที่ที่ผู้เสียหายกำลังจับตัวจำเลยที่ 1 ไว้ ในมือจำเลยที่ 2 ถือท่อนไม้ไผ่ยาว 175 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว เงื้อจะตีผู้เสียหายพร้อมกับพูดว่า "วางเมียผมเดี๋ยวนี้ หากไม่วางจะตีพ่อใหญ่ให้ตาย" เห็นว่า
เมื่อผู้เสียหายเห็นจำเลยทั้งสองกำลังลักเอามะม่วงอยู่นั้นและกำลังจะนำมะม่วงที่เด็ดจากขั้วไว้แล้วนั้นออกไปนอกสวน ผู้เสียหายเห็นการกระทำจึงเข้าจับกุมตัวจำเลยที่ 1 จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ตอนนี้การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ยังดำเนินอยู่ยังไม่ขาดตอน จำเลยที่ 2 ซึ่งในตอนแรกได้วิ่งหลบหนีไปสักครู่เดียวก็กลับมาพร้อมกับถือท่อนไม้ไผ่ตรงเข้าเงื้อจะตีทำร้ายผู้เสียหาย และในทันทีนั้นได้พูดขู่ผู้เสียหายขึ้นว่า "วางเมียผมเดี๋ยวนี้ หากไม่วางจะตีพ่อใหญ่ให้ตาย" ดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ขู่เข็ญผู้เสียหายว่า ในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายทั้งนี้เพื่อให้ผู้เสียหายปล่อยตัวจำเลยที่ 1 ให้พ้นจากการจับกุมอันเป็นการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์
การใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายต้องมีเจตนาพิเศษ (1) เพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือพาทรัพย์นั้นไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1763/2509 จำเลยที่ 2 มีปืนเป็นอาวุธยืนคอยอยู่ที่ถนน จำเลยที่ 1 เข้าไปทำทีซื้อข้าวโพดคั่วจากผู้เสียหายแล้วกระชากสร้อยคอผู้เสียหายพาวิ่งไป ตำรวจเดินมาพบเหตุการณ์เข้าพอดี ได้วิ่งไล่ตามในระยะใกล้ชิด จำเลยที่ 2 ได้ยิงปืนขึ้น 3 นัด แล้วจำเลยทั้งสองวิ่งไปด้วยกัน การที่จำเลยที่ 2 ยิงปืนเพื่อขู่เข็ญมิให้ตำรวจไล่ติดตามไปเพื่อความสะดวกแก่การพาทรัพย์ไปนั้น จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์
การใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายต้องมีเจตนาพิเศษ (2) เพื่อให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6724/2544 ขณะที่ผู้เสียหายทั้งสามเดินไปตามทางเท้า จำเลยขับรถจักรยานยนต์เข้ามาจอดเทียบใกล้ ๆ และแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจขอตรวจบัตรประจำตัวและขอค้นตัวหรือตรวจหายาเสพติดให้โทษ
แล้วพูดจาขู่บังคับให้ส่งมอบเงินและทรัพย์สินมีค่าแก่ตนหากขัดขืนจะยิงให้ตาย พร้อมกับทำท่าจะล้วงเอาอาวุธออกมาผู้เสียหายทั้งสามเกิดความกลัวผู้เสียหายที่ 2 กับที่ 3 จึงส่งกระเป๋าเงินให้จำเลยล้วงหยิบเอาเงินสดในกระเป๋าไป ส่วนผู้เสียหายที่ 1 ถอดนาฬิกาข้อมือให้จำเลย จากนั้นจำเลยก็หลบหนีไปการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคหนึ่งแล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์ มิใช่กรรโชกทรัพย์ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่า จำเลยจะเป็นผู้ล้วงหยิบเอาทรัพย์นั้นเองหรือผู้เสียหายเป็นผู้หยิบส่งให้ไป
การใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายต้องมีเจตนาพิเศษ (3) เพื่อยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1421/2494 ลักบุหรี่ที่เขาวางขายไว้ที่ร้ายแผงลอยไป 1 ซองแล้วเดินเรื่อยๆไป เจ้าทรัพย์กับพวกติดตามในขณะนั้นชั่วระยะทางเพียงเล็กน้อยก็ทัน จำเลยจึงใช้มือชกต่อยพวกเจ้าทรัพย์ ดังนี้ แสดงให้เห็นว่าทำร้ายเพื่อระงับการติดตามของคนเหล่านั้นโดยหวังผลที่จะพาบุหรี่ที่ลักมานั้นไป และเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นผิดอาญาสำหรับความผิดฐานลักทรัพย์ที่ได้กระทำลง ย่อมเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์
การใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายต้องมีเจตนาพิเศษ (4) เพื่อปกปิดการกระทำความผิดนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 837/2510 จำเลยเข้าไปลักทรัพย์ในเรือน ขณะที่กำลังจะออกจากเรือน บุตรของผู้เสียหายเห็น ได้ร้องขึ้น จำเลยลงจากเรือนแล้วใช้มีดแทงบุตรของผู้เสียหายตาย ดังนี้ การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดในวาระเดียวกันอันเป็นความผิดทั้งฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 และฐานฆ่าคนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ไม่ใช่เป็นความผิดหลายกรรม
การใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายต้องมีเจตนาพิเศษ (5) เพื่อให้พ้นจากการจับกุม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1181/2543 ผู้เสียหายยืนเรียกรถแท็กซี่ จำเลยทั้งสองและพวกอีก 1 คนเข้าไปพูดกับผู้เสียหายขอไปนอนด้วยที่โรงแรม ผู้เสียหายปฏิเสธ
จำเลยทั้งสองลูบตามตัวผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 ล้วงกระเป๋ากางเกงหยิบเอาเงินสดของผู้เสียหายไป แล้วส่งเงินแก่พวกของตนแล้วทั้งหมดหลบหนีไป ผู้เสียหายวิ่งตามจับจำเลยทั้งสองได้จำเลยที่ 1 กัดมือซ้ายและจำเลยที่ 2 กัดมือขวาของผู้เสียหาย แต่ผู้เสียหายไม่ยอมปล่อยจำเลยทั้งสอง ถือว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกันลักทรัพย์ โดยใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้พ้นจากการจับกุม เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง
การกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ ต้องร่วมกันกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ตั้งแต่สามคนขึ้นไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 228-231/2521 จำเลยขู่เจ้าทรัพย์ ค้นตัวเอาเงินไป 160 บาทนาฬิกาข้อมือ ยึดรถจักรยานยนต์ไว้แล้วเรียกค่าไถ่ตัว ตกลงให้ภริยาเจ้าทรัพย์ไปเอาเงินค่าไถ่จำเลยคืนเงิน 160 บาท ให้ภริยาเจ้าทรัพย์นำเงินกลับไปให้จำเลยจำเลยคืนนาฬิกาและจักรยานยนต์ให้ เสื้อกันฝนหายไป ดังนี้ นอกจากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 316 ยังเป็นความผิดตาม มาตรา 340 ด้วย ที่จำเลยคืนเงิน 160 บาท ให้เป็นค่ารถไปเอาเงิน กับคืนนาฬิกาและจักรยานยนต์ ไม่ใช่เรื่องไม่ประสงค์ต่อทรัพย์นั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 375/2533 เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า
จำเลยที่ 1 กับพวกอีก 2 คนเข้าไปในบ้านและพยายามลักทรัพย์ของผู้เสียหาย แล้วพวกของจำเลยดังกล่าวได้ใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายจนได้รับอันตรายแก่กายเพื่อสะดวกในการลักทรัพย์ หรือพาทรัพย์ไปแต่ไม่สามารถพาทรัพย์นั้นไปได้ เพราะมีผู้มาพบเห็นเสียก่อน ดังนี้การที่พวกของจำเลยที่ 1 ใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายดังกล่าว จึงมิได้นอกเหนือความมุ่งหมายหรือเจตนาของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคแรก 80
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8722/2548 ผู้เสียหายขับรถยนต์รับจ้างสาธารณะ จำเลยกับพวกอีก 2 คนว่าจ้างให้ขับไปส่งบริเวณเกษตร เมื่อไปถึงจำเลยกับพวกให้ผู้เสียหายหยุดรถ
จำเลยกับพวกลงจากรถโดยไม่ชำระค่าโดยสารอ้างว่าผู้เสียหายโกงมิเตอร์ ผู้เสียหายจึงลงจากรถและตามจำเลยกับพวกไปเพื่อทวงค่าโดยสาร จำเลยหันกลับมาชักมีดปลายแหลมยาวประมาณ 5 นิ้วออกมาจี้หลังผู้เสียหายบังคับให้ผู้เสียหายเดินเข้าไป ในบ้านที่เกิดเหตุแล้วให้ผู้เสียหายนั่งอยู่ภายในห้องในบ้าน จำเลยกับพวกเตะผู้เสียหายคนละ 1 ครั้ง กล่าวหาว่าผู้เสียหายเป็นสายลับให้เจ้าพนักงานตำรวจและพูดข่มขู่ให้ผู้เสียหายเสพเมทแอมเฟตามีน จากนั้นบังคับให้ผู้เสียหายนั่งในลักษณะคู้ตัวไปข้างหน้า ขาเหยียดตรงแล้วจึงเอานาฬิกาข้อมือและเงินสด 880 บาท ไปจากผู้เสียหาย ผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ถือได้ว่าจำเลยกับพวกเอาทรัพย์ไปโดยใช้กำลังประทุษร้าย จึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 เมื่อจำเลยร่วมกระทำความผิดกับพวกอีก 2 คน โดยมีมีดเป็นอาวุธ จึงเป็นความผิดฐานร่วมกับพวกปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธติดตัวไปด้วยตามมาตรา 340 วรรคสอง
เมื่อการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ แม้มีผู้ร่วมกระทำความผิดครบสามคน ก็ไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์เช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5045/2530 จำเลยกับพวกอีก 4 คน ไล่จับไก่ของผู้เสียหายจากบ้านของผู้เสียหายในขณะที่ไฟไหม้บ้าน
หลังจากจับไก่ได้แล้วจำเลยกับพวกยิงปืน 2 นัด ด้วยความคึกคะนอง มิได้ยิงปืนขู่เข็ญผู้เสียหายกับพวกเพื่อความสะดวกแก่การลักทรัพย์พาทรัพย์ไป ให้ยื่นซึ่งทรัพย์ ยึดถือทรัพย์ไว้ หรือเพื่อให้พ้นการจับกุมเพราะไม่ปรากฏว่าจำเลยกับพวกเห็นผู้เสียหายกับพวกซึ่งแอบดูอยู่การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ แต่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 335 (2) (7) และ (8) วรรคสาม