01 สิงหาคม 2559

การร้องเพิกถอนการบังคับคดี ตามมาตรา 296

          ป.วิ.พ. มาตรา 296  " ในกรณีที่คำบังคับ หมายบังคับคดี หรือคำสั่งศาลในชั้นบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ เมื่อศาลเห็นสมควรไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลงหรือเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีรายงานต่อศาล หรือเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายเพราะเหตุดังกล่าวยื่นคำร้องต่อศาล ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขคำบังคับ หมายบังคับคดี หรือคำสั่งดังกล่าวทั้งหมดหรือบางส่วนหรือมีคำสั่งอย่างใดตามที่ศาลเห็นสมควร
          ภายใต้บังคับมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ เมื่อศาลเห็นสมควรไม่ว่าเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลงหรือเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายเพราะเหตุดังกล่าวยื่นคำร้องต่อศาล ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวง หรือวิธีการบังคับใดๆโดยเฉพาะ หรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างใดตามที่ศาลเห็นสมควร
การยื่นคำร้องตามมาตรานี้อาจกระทำได้ไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่าสิบห้าวันนับแต่วันที่ที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น แต่ทั้งนี้ผู้ยื่นคำร้องต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หลังจากได้ทราบเรื่องฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้แล้วหรือต้องมิได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำนั้น และในกรณีเช่นว่านี้ผู้ยื่นคำร้องจะขอต่อศาลในขณะเดียวกันนั้นให้มีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ในระหว่างพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดก็ได้
          เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ให้ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลง เมื่อได้มีการดำเนินการดังต่อไปนี้
          (1) ในกรณีที่คำบังคับหรือหมายบังคับคดีกำหนดให้ส่งมอบทรัพย์สิน กระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างใด เมื่อได้มีการปฏิบัติตามคำบังคับหรือหมายบังคับคดีที่ให้ส่งมอบทรัพย์สินกระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างนั้นแล้ว แต่ถ้าการปฏิบัติตามคำบังคับหรือหมายบังคับคดีดังกล่าว อาจแยกได้เป็นส่วนๆ เมื่อได้มีการปฏิบัติตามคำบังคับหรือหมายบังคับคดีในส่วนใดแล้ว ให้ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงเฉพาะในส่วนนั้น
          (2) ในกรณีที่คำบังคับหรือหมายบังคับคดีกำหนดให้ใช้เงิน เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้จ่ายเงินตามมาตรา 318 มาตรา 319 มาตรา 320 มาตรา 321 หรือมาตรา 322 แล้วแต่กรณีแล้ว แต่ถ้าทรัพย์สินที่ถูกบังคับคดีมีหลายรายการ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้จ่ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินรายการใดแล้ว ให้ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงเฉพาะทรัพย์สินรายการนั้น
          ในการยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรานี้ หากมีพยานหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำร้องนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่อาจได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องดังกล่าวร้องขอ ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้ยื่นคำร้องวางเงินหรือหาประกันต่อศาลตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนดเพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลนั้นได้ ถ้าผู้ยื่นคำร้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องนั้นเสีย คำสั่งของศาลที่ออกตามความในวรรคนี้ให้เป็นที่สุด
          ในกรณีที่ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องที่ยื่นไว้ตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องดังกล่าวเห็นคำร้องนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า บุคคลดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่งยกคำร้องเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ยื่นคำร้องนั้นชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้แยกการพิจารณาเป็นสำนวนต่างหากจากคดีเดิม และเมื่อศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าคำร้องนั้นรับฟังได้ ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ยื่นคำร้องนั้นชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลที่ได้รับความเสียหายดังกล่าวตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควรถ้าผู้ยื่นคำร้องนั้นไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ศาลมีอำนาจบังคับผู้ยื่นคำร้องนั้นได้เสมือนหนึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา"

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาไดวินิจฉัยไว้ เช่น

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9314/2557    การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีบรรยายสภาพที่ดินว่าติดทางสาธารณะ แต่แผนที่สังเขปแสดงข้อมูลถูกต้องว่าติดทางในหมู่บ้านจัดสรร จึงฟังไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีจงใจปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์และใช้กลฉ้อฉลผู้ซื้อทรัพย์ การที่จำเลยทั้งสามไม่ได้ทำการตรวจสอบให้ดีก่อนทำการประมูลว่าแท้จริงที่ดินดังกล่าวติดทางสาธารณะหรือทางส่วนบุคคล จึงเป็นความบกพร่องของจำเลยทั้งสามเองเพราะตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ระบุคำเตือนผู้ซื้อไว้แล้วว่าเรื่องเขตเนื้อที่ ประเภทและสภาพของทรัพย์ เป็นหน้าที่ผู้ซื้อที่จะต้องไปตรวจสอบสถานที่ด้วยตนเอง จำเลยทั้งสามจึงยกเรื่องดังกล่าวมากล่าวอ้างว่า เข้าซื้อทรัพย์โดยถูกกลฉ้อฉลทำให้สำคัญผิดในสาระสำคัญของทรัพย์หาได้ไม่ และการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีระบุรายละเอียดในประกาศไม่ถูกต้องทั้งหมด ก็ไม่ถึงขนาดที่ทำให้ผู้ซื้อทรัพย์ประมูลซื้อในราคาที่สูงกว่าความเป็นจริง เพราะก่อนซื้อจำเลยทั้งสามได้ตรวจสอบทำเล สภาพและสถานที่ตั้งแล้ว พยานหลักฐานจำเลยทั้งสามฟังไม่ได้ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีใช้กลฉ้อฉลผู้ซื้อ
          ป.พ.พ. มาตรา 514 บัญญัติให้ผู้สู้ราคาในการขายทอดตลาดย่อมพ้นความผูกพันในราคาที่ตนสู้แต่ขณะเมื่อมีผู้อื่นสู้ราคาสูงขึ้น หรือมีการถอนทรัพย์สินรายนั้นจากการขายทอดตลาด ผู้สู้ราคาก็พ้นความผูกพันแต่ขณะที่ถอนนั้นดุจกัน แต่กรณีของจำเลยทั้งสามเป็นเรื่องที่สู้ราคาสูงสุดและเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินได้จากการขายทอดตลาดแล้วไม่ชำระราคา จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 514 เจ้าพนักงานบังคับคดีนำทรัพย์ออกขายทอดตลาดอีกครั้งหนึ่งได้ราคา 10,500,000 บาท ซึ่งไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ไม่ครบ จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้สู้ราคาเดิมต้องรับผิดในส่วนที่ขาด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 และสัญญาซื้อขายจำเลยทั้งสามจึงต้องชำระเงินส่วนที่ขาด 1,650,000 บาท แก่โจทก์ สัญญาซื้อขายระบุชัดว่า ขอวางเงินมัดจำไว้ 50,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระภายใน 15 วัน เงินจำนวนนี้จึงเป็นเงินมัดจำ เมื่อจำเลยทั้งสามไม่ชำระราคาภายในกำหนด จำเลยทั้งสามจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา เจ้าพนักงานบังคับคดีมีสิทธิริบเงินดังกล่าว เมื่อริบเงินดังกล่าวแล้วย่อมไม่สามารถนำมาหักจากเงิน 1,650,000 บาท ที่จำเลยทั้งสามต้องชำระแก่โจทก์ได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16195/2556    คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยออกขายทอดตลาดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แต่ได้เงินไม่พอชำระหนี้ และความปรากฏว่าจำเลยถึงแก่ความตายไปแล้ว โจทก์จึงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของจำเลยเพิ่ม จึงเป็นกรณีที่โจทก์ขอให้ดำเนินการบังคับคดีเอาจากกองมรดกของจำเลยตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 271 ซึ่งโจทก์มีสิทธิที่จะดำเนินการดังกล่าวภายในระยะเวลา 10 ปี มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องคดีมรดกซึ่งมีอายุความ 1 ปี นับแต่เมื่อโจทก์เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ดังที่ผู้ร้องอ้าง ผู้ร้องทั้งสามจึงไม่อาจยกเหตุนี้ขึ้นอ้างเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 ได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8212/2556   ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 302 วรรคหนึ่ง ศาลจังหวัดลพบุรีเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาไต่สวนและมีคำสั่งเกี่ยวกับการบังคับคดีนี้ และมีอำนาจมอบหมายให้ศาลชั้นต้นดำเนินการบังคับคดีแทนได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 302 วรรคสาม ฉะนั้นเมื่ออยู่ระหว่างการบังคับคดีแทน ศาลชั้นต้นเห็นว่าตนเองบังคับคดีผิดพลาดหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย ก็ย่อมเพิกถอนกระบวนการบังคับคดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบมาตรา 296 วรรคหนึ่ง
          ก่อนผู้ซื้อทรัพย์เข้าสู้ราคาได้ไปดูที่ดินพิพาททั้งสองแปลงโดยอาศัยแผนที่สังเขปแสดงที่ตั้งของหลักประกันและบริเวณใกล้เคียงแล้ว และได้ตรวจดูที่ดินข้างเคียงในแผนที่ดังกล่าวที่มีการขายทอดตลาดในวันเดียวกันเป็นข้ออ้างอิง จึงเชื่อว่าที่ดินที่ได้ไปดูตามแผนที่ดังกล่าวเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) จึงเข้าสู้ราคาซื้อที่ดินดังกล่าว เมื่อปรากฏว่าที่ดินทั้งสองแปลงไม่มีอยู่จริง จึงไม่อาจถือได้ว่าผู้ซื้อทรัพย์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
          เมื่อที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ไม่มีอยู่จริง ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดและนำออกขายทอดตลาด จึงเป็นการบังคับคดีที่ไม่ชอบและฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งศาลมีอำนาจให้เพิกถอนการยึดทรัพย์และการขายทอดตลาดที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคหนึ่ง 

          ส่งหมายแจ้งการยึดและประกาศขายทอดตลาดโดยมิชอบแล้ว ศาลจะต้องมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและให้ขายทอดตลาดใหม่ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7385/2556    โจทก์ส่งแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อส่งหมายแจ้งการยึดและประกาศขายทอดตลาดให้แก่ ส. ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดิน เมื่อแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรมีข้อความระบุว่า ส. ถูกจำหน่ายชื่อจากทะเบียนบ้าน เนื่องจากตายเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2542 ปรับปรุงข้อมูลครั้งสุดท้ายวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2550 ย่อมแสดงว่า ในขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งหมายแจ้งการยึดและประกาศขายทอดตลาดนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องทราบแล้วว่า ส. ได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว จึงไม่มีสภาพเป็นบุคคลที่จะส่งหมายแจ้งการยึดและประกาศขายทอดตลาดให้ทราบได้ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดียังคงส่งหมายดังกล่าวให้แก่ ส. โดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2550 กรณีจึงถือไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งหมายแจ้งการยึดและประกาศขายทอดตลาดโดยชอบแล้ว เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ส่งหมายดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องทายาทของผู้ตายซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียทราบ จึงเป็นการดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง ชอบที่ศาลจะต้องมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวและให้ขายทอดตลาดใหม่ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งหมายแจ้งการยึดและหมายแจ้งประกาศขายทอดตลาดให้แก่ ส. ผู้ตาย ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินที่โจทก์นำยึดไว้ โดยไม่ได้ส่งหมายให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทของ ส. นั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า ได้ความจากคำเบิกความผู้ร้องว่า ในการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 7121 ตำบลบ้านม้า อำเภอบางปะหัน (นครใน) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โจทก์หรือผู้แทนโจทก์ได้ส่งแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อส่งหมายแจ้งการยึดและหมายแจ้งประกาศขายทอดตลาดให้แก่ ส. ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินแปลงดังกล่าวด้วย เมื่อแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรมีตราประทับของกระทรวงยุติธรรมและมีลายมือชื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีรับรอง มีข้อความระบุในเอกสาร “....นาย ส...บุคคลนี้ถูกจำหน่ายชื่อจากทะเบียนบ้านเนื่องจากตายเมื่อ 19 มกราคม 2542 ปรับปรุงข้อมูลครั้งสุดท้าย วันที่ 7 เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 รับรองว่าเป็นรายการจากฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎร วันที่ 8 เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550...” ย่อมแสดงว่า ในขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งหมายแจ้งการยึดและหมายแจ้งประกาศขายทอดตลาดนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องทราบแล้วว่า ส. เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินที่โจทก์นำยึดได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว จึงไม่มีสภาพเป็นบุคคลที่จะส่งหมายแจ้งการยึดและหมายแจ้งประกาศขายทอดตลาดให้ทราบได้ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดียังคงส่งหมายดังกล่าวให้แก่ผู้ตายโดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2550 ตามที่ปรากฏจากแบบรายงานการตรวจสอบผลการส่งประกาศขายทอดตลาด เอกสารท้ายรายงานข้อเท็จจริงของเจ้าพนักงานบังคับคดีฉบับลงวันที่ 3 มีนาคม 2551 กรณีจึงถือไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งหมายแจ้งการยึดและหมายแจ้งประกาศขายทอดตลาดโดยชอบแล้ว เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ส่งหมายดังกล่าวให้ผู้ร้องทายาทของผู้ตายซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียทราบ จึงเป็นการดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 306 วรรคหนึ่ง ชอบที่ศาลจะต้องมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวและให้ขายทอดตลาดใหม่ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของผู้ร้องนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น
          พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 7121 ตำบลบ้านม้า อำเภอบางปะหัน (นครใน) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16991/2555    การขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง ต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง และเกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี แม้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ซื้อทรัพย์เดิมจากการขายทอดตลาดจะเป็นบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าหลังจากผู้ร้องประมูลซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างได้จากการขายทอดตลาดแล้ว ผู้ร้องไม่ชำระราคา เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องนำทรัพย์ออกขายทอดตลาดใหม่ จากนั้นผู้ซื้อทรัพย์ประมูลซื้อในราคาซึ่งสูงกว่าราคาที่ผู้ร้องประมูลซื้อไว้ครั้งก่อน จึงไม่มีราคาทรัพย์ส่วนที่ขาดที่ผู้ร้องจะต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้ต้องเสียหายเพราะเหตุที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2997/2554    คำฟ้องของโจทก์ที่ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 23422 พร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้าง และให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถอนการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 19323 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง โดยโจทก์ทั้งสองอ้างว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งประกาศขายทอดตลาดให้ทราบ และขายทอดตลาดทรัพย์ไปในราคาต่ำกว่าราคาปกติ ทำให้โจทก์ทั้งสองมีหนี้ค้างชำระต้องถูกยึดทรัพย์อื่นอีก อันเป็นคำฟ้องที่อ้างว่าการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง จึงต้องยื่นคำร้องต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดี โจทก์ทั้งสองหาอาจนำคดีมาฟ้องใหม่ได้ไม่และในกรณีที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายเป็นค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีแทนโจทก์ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์นั้น เมื่อศาลยังไม่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดหรือเพิกถอนการยึดทรัพย์ก็จะฟังว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งสองหาได้ไม่ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2202/2554   เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีหนังสือแจ้งอายัดเงินประกันผลงานของจำเลยไปยังผู้ร้อง ผู้ร้องได้มีหนังสือปฏิเสธการส่งเงินแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีว่า ได้มีการหักเงินประกันผลงานไปแล้วและไม่มีเงินเหลือที่จะส่งให้ ถือว่าเป็นการปฏิเสธหรือโต้แย้งหนี้ที่เรียกร้องเอาแก่ผู้ร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 312 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นจึงต้องไต่สวนให้ได้ความว่าผู้ร้องยังมีหนี้ต้องชำระแก่จำเลยอยู่หรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีให้ยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้ร้องโดยไม่ได้ทำการไต่สวนเสียก่อนจึงเป็นการไม่ชอบ

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 284/2554   จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด โดยอ้างว่าการขายทอดตลาดมีผู้เข้าสู้ราคาเพียงรายเดียวและราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดต่ำเกินสมควรอันเกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลหรือความไม่สุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีและโจทก์ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยแล้ว จำเลยยื่นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาว่าการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ไปโดยมีผู้เข้าสู้ราคาเพียงรายเดียวชอบหรือไม่ ซึ่งเป็นอุทธรณ์ในประเด็นที่ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุอื่นตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง มิใช่ประเด็นที่ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุการขายทอดตลาดทรัพย์สินในราคาต่ำเกินสมควรโดยมิชอบตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง อันจะทำให้คำสั่งศาลชั้นต้นเป็นที่สุดได้ตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสี่
          การขายทอดตลาดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา กฎหมายมิได้บัญญัติให้ต้องมีผู้เข้าแข่งขันประมูลราคา แม้การขายทอดตลาดทรัพย์คดีนี้จะมีโจทก์เข้าสู้ราคาเป็นผู้ซื้อทรัพย์เพียงรายเดียวก็ตาม เจ้าพนักงานบังคับคดีก็สามารถดำเนินการขายทอดตลาดไปได้โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ประมูลราคารายอื่นเข้ามาแข่งขันด้วยประกอบกับยังได้ความอีกว่า การขายทอดตลาดดังกล่าวเป็นการขายทอดตลาดครั้งที่ 19 ซึ่งการขายทอดตลาดครั้งก่อนหน้านี้ไม่มีผู้ใดสนใจเข้าสู้ราคานอกจากโจทก์ดังนั้น การดำเนินการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงชอบด้วยกฎหมายแล้วไม่มีเหตุให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้

          ยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบเรื่องที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสามกำหนด ผู้ร้องทั้งสามย่อมไม่มีสิทธิร้องคัดค้านให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 108/2554    ผู้ร้องทั้งสามทราบประกาศการขายทอดตลาดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้ร้องทั้งสามโดยชอบ และทราบเรื่องที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 อันเป็นวันขายทอดตลาดแล้ว แต่ผู้ร้องทั้งสามมายื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2549 จึงเป็นการยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาสิบห้าวันที่ ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสามกำหนด ผู้ร้องทั้งสามย่อมไม่มีสิทธิร้องคัดค้านให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือไม่อีก

          การยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของจำเลยอาจกระทำได้ไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่า 15 วัน นับแต่วันที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1574/2553    การยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของจำเลยที่ 1 อาจกระทำได้ไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่า 15 วัน นับแต่วันที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสาม คดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีเพิ่งขายทอดตลาดไปเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 และยังมิได้จ่ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดแก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้การบังคับคดีจึงยังไม่เสร็จลงตามมาตรา 296 วรรคสี่ ส่วนที่ต้องไม่ช้ากว่า 15 วัน นับแต่วันที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น ศาลชั้นต้นต้องไต่สวนให้ได้ความก่อนว่ามีข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นหรือไม่และจำเลยที่ 1 ทราบแล้วหรือไม่ เมื่อใด เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งโดยไม่ไต่สวนจึงเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบ การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 14 ธันวาคม 2547 ฉบับแรก ขอให้รับคำร้องขอเพิกถอนการพิจารณาของจำเลยที่ 1 ไว้ไต่สวนต่อไป ย่อมเป็นการแสดงว่าจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา 27 จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
          จำเลยที่ 1 เพิ่งทราบเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2547 ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดไปแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมอบให้ ว. ไปขอคัดถ่ายเอกสารการขายทอดตลาดที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดสมุทรสาคร และเพิ่งได้รับเอกสารมาเมื่อวันที่ 7 เดือนเดียวกัน ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นตั้งแต่วันที่ 7 เดือนดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 1 ทราบแล้วก็มอบให้ทนายความของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ทนายความของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดฉบับลงวันที่ 9 ธันวาคม 2547 จึงเป็นการยื่นคำร้องไม่ช้ากว่า 15 วัน นับแต่วันที่ทราบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสาม

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7878/2553    คำร้องของผู้ซื้อทรัพย์อ้างว่า โจทก์ไม่สามารถส่งมอบที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ที่ขายทอดตลาดให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ได้ เนื่องจากที่ดินดังกล่าวได้ออกทับโฉนดที่ดินแปลงอื่นโดยไม่มีเนื้อที่เหลืออยู่เลย เท่ากับอ้างว่าโจทก์หรือเจ้าพนักงานบังคับคดีนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาดแต่ไม่สามารถส่งมอบทรัพย์ให้แก่ผู้ซื้อ ถือได้แล้วว่าเป็นการอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสองแล้ว เมื่อได้ความว่า มีการออกเอกสารสิทธิในที่ดินทับซ้อนกันและยังมิได้มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินฉบับใดฉบับหนึ่ง ย่อมมีเหตุขัดข้องในการบังคับคดีให้ลุล่วงไป กรณีมีเหตุสมควรให้เพิกถอนการขายทอดตลาดรายนี้ได้ ส่วนเรื่องเพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินฉบับใดฉบับหนึ่งหรือไม่อย่างไรเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องไปว่ากล่าวกันต่างหากหลังจากเพิกถอนการขายทอดตลาดแล้ว

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5752/2553    จำเลยยื่นคำร้องขอเพิกถอนหมายบังคับคดีในคดีนี้อ้างว่าจำเลยไม่ได้ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลพิพากษาตามยอม การที่จำเลยยื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีในอีกคดีหนึ่งที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอายัดทรัพย์สินของจำเลยว่า ทรัพย์สินของจำเลยถูกเจ้าหนี้หลายรายรวมทั้งโจทก์อายัดไว้แล้ว การอายัดทรัพย์สินในคดีดังกล่าวจึงเป็นการอายัดซ้ำ ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการอายัดและเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ถอนการอายัดแล้วเป็นการดำเนินการในคดีอื่นมิใช่ในคดีนี้ จึงมิใช่กรณีที่จำเลยได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หรือเป็นการให้สัตยาบันแก่การกระทำนั้น จำเลยจึงมีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดีในคดีนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม
          วันครบกำหนดชำระหนี้ตรงกับวันเสาร์ การที่จำเลยนำเงินเข้าบัญชีของโจทก์ในธนาคารทันทีในวันแรกที่เปิดทำการจึงไม่ถือว่าจำเลยผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์ล่วงพ้นกำหนดและตกเป็นผู้ผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/8 แม้ธนาคารเปิดทำการในวันเสาร์อาทิตย์ก็มี ก็ไม่อาจเป็นข้อยกเว้นของกฎหมายได้
          
          ทราบถึงสิทธิของผู้ร้องแล้ว แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่แจ้งกำหนดวันขายทอดตลาดให้แก่ผู้ร้องที่ 1 ทราบ จึงเป็นการบังคับคดีโดยฝ่าฝืนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องที่ 1 ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7342/2552     เมื่อโจทก์ขอหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อบังคับคดีจำเลยแล้ว ผู้ร้องที่ 1 ก็ได้รับซื้อสินทรัพย์อันเป็นสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อจำเลยตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 หลังจากนั้นผู้ร้องที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แทนโจทก์ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี ผู้ร้องที่ 1 ย่อมเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 แม้ผู้ร้องที่ 1 จะไม่ได้ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิต่อศาลชั้นต้น แต่ก็ได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้วผู้ร้องที่ 1 จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในการบังคับคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทราบถึงสิทธิของผู้ร้องแล้วก่อนวันขายทอดตลาด การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยโดยได้แจ้งกำหนดวันขายทอดตลาดให้โจทก์ทราบแต่ไม่แจ้งแก่ผู้ร้องที่ 1 ทราบ จึงเป็นการบังคับคดีโดยฝ่าฝืนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องที่ 1 ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง และศาลชอบที่จะต้องมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวและให้ขายทอดตลาดใหม่

          ระหว่างการขายทอดตลาดทรัพย์ จำเลยได้ตกลงกับโจทก์โดยขอผ่อนชำระหนี้ และจำเลยได้ผ่อนชำระตามบันทึกดังกล่าวให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีหน้าที่ที่จะขอให้งดการบังคับคดี โดยงดการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยไว้ แต่โจทก์หาได้กระทำแต่อย่างใด คงปล่อยให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลย ทั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งให้ผู้ร้องทราบถึงวันขายทอดตลาด พฤติการณ์ดังกล่าวจึงมีเหตุให้ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7313/2552    ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์โดยอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมาย กล่าวคือมิได้แจ้งประกาศการขายทอดตลาดทรัพย์ให้จำเลยที่ 1 หรือให้แก่ผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียทราบถึงวันขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ทั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ไปโดยไม่สุจริต สมรู้ร่วมคิดกับผู้ซื้อทรัพย์กดราคาและกระทำโดยประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องทั้งสอง จึงเป็นการร้องขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ประกอบมาตรา 296 วรรคสอง หากผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งอาจได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องขอดังกล่าวเห็นว่ามีพยานหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำร้องนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้ร้องทั้งสองวางเงินหรือหาประกันต่อศาลภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนด เพื่อเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลนั้นได้ซึ่งผู้ซื้อทรัพย์ได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้ผู้ร้องทั้งสองนำเงินมาวางประกัน 50,000 บาท ผู้ร้องทั้งสองได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้ว ต่อมาศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง ผู้ร้องทั้งสองยื่นอุทธรณ์ หากผู้ซื้อทรัพย์เห็นว่าคำร้องนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า ผู้ซื้อทรัพย์ก็มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าวเพื่อขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องทั้งสองนั้นชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้ ในกรณีเช่นว่านี้ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้แยกการพิจารณาเป็นสำนวนต่างหากจากคดีเดิม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคท้าย ดังนั้น ที่ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้มีคำสั่งให้ผู้ร้องทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนในคดีเดิมจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
          ระหว่างการขายทอดตลาดทรัพย์ จำเลยที่ 3 ได้ตกลงกับโจทก์โดยขอผ่อนชำระหนี้ และจำเลยที่ 3 ได้ผ่อนชำระตามบันทึกดังกล่าวให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีหน้าที่ที่จะขอให้งดการบังคับคดี โดยงดการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ไว้ แต่โจทก์หาได้กระทำแต่อย่างใด คงปล่อยให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ทั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งให้ผู้ร้องที่ 1 ทราบถึงวันขายทอดตลาด พฤติการณ์ดังกล่าวจึงมีเหตุให้ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดจึงมิใช่การยื่นคำร้องโดยไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6956/2552   จำเลยในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับเงินค่าขายทรัพย์พิพาทไปเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2548 ต้องถือว่าการบังคับคดีสำหรับทรัพย์สินพิพาทได้เสร็จลงแล้วตั้งแต่วันดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสองและวรรคสาม การที่โจทก์มายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดในวันที่ 14 มีนาคม 2548 เป็นการยื่นภายหลังจากการบังคับคดีได้เสร็จลง โจทก์จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5321/2552   จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทในราคาต่ำกว่าราคาประเมินและมูลค่าที่ดินมาก โดย ศ. ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ได้คัดค้านแล้ว แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่เลื่อนการขายทอดตลาดไปทั้งที่เป็นการขายทอดตลาดที่มีผู้เสนอราคาครั้งแรก เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการโต้แย้งกระบวนวิธีการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง มิใช่โต้แย้งว่าราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินมีจำนวนต่ำเกินสมควร อันเกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการเข้าสู้ราคาหรือความไม่สุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ซึ่งการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดในกรณีของจำเลยทั้งสองนี้ไม่มีบทกฎหมายบัญญัติให้คำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นที่สุด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองโดยวินิจฉัยว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นที่สุดตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับแก่กรณีการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง จึงเป็นการไม่ถูกต้องไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 242 (1) ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยทั้งสองจะไม่ได้ยกขึ้นอ้างในฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247
          แม้จำเลยที่ 1 ไม่มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาท แต่จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อการขายทอดตลาดครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ไม่มีผู้เสนอราคาต่อมาในการขายทอดตลาดครั้งที่ 3 ผู้ซื้อทรัพย์ทั้งสองได้เสนอราคาสูงสุด ก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะเคาะไม้ขายให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิคัดค้านว่าราคาดังกล่าวมีจำนวนต่ำเกินสมควร ในกรณีเช่นว่านี้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องเลื่อนการขายทอดตลาดไปตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคหนึ่ง ศ. เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิคัดค้านราคาในนามของจำเลยที่ 1 ได้ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่เลื่อนการขายทอดตลาดไปโดยอนุมัติการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ ถือได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง

การร้องขอกันส่วน การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่นๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย

          ป.วิ.พ. มาตรา 322  "ภายใต้บังคับมาตรา 323 และมาตรา 324 บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงทรัพยสิทธิ บุริมสิทธิ สิทธิยึดหน่วง หรือสิทธิอื่นซึ่งบุคคลภายนอกมีอยู่เหนือทรัพย์สินหรืออาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นตามกฎหมาย"

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ เช่น

          ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้รู้ข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องอ้างว่าผู้ร้องซึ่งเป็นคู่สมรสไม่รู้เห็นยินยอมในการที่จำเลยนำที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องและจำเลยไปจำนองไว้กับโจทก์แต่อย่างใด เมื่อที่ดินพิพาทมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวต้องถือว่าโจทก์รับจำนองไว้โดยสุจริต การจำนองจึงสมบูรณ์มีผลผูกพันทรัพย์จำนองทั้งหมดทุกส่วน เมื่อโจทก์ฟ้องบังคับจำนองและศาลพิพากษาให้บังคับตามสัญญาจำนองแล้วเช่นนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาได้ ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้กับส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินรายนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7608/2553   ทางนำสืบของผู้ร้องไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้รู้ข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องอ้างว่าผู้ร้องไม่รู้เห็นยินยอมในการที่จำเลยนำที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องและจำเลยไปจำนองไว้กับโจทก์แต่อย่างใด เมื่อที่ดินพิพาทมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวต้องถือว่าโจทก์รับจำนองไว้โดยสุจริต การจำนองจึงสมบูรณ์มีผลผูกพันทรัพย์จำนองทั้งหมดทุกส่วน เมื่อโจทก์ฟ้องบังคับจำนองและศาลพิพากษาให้บังคับตามสัญญาจำนองแล้วเช่นนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาได้ ส่วนการที่จำเลยนำทรัพย์ส่วนของผู้ร้องเข้าร่วมจำนองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ร้องนั้น หากเป็นเหตุให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายอย่างไร ผู้ร้องก็ชอบที่จะไปว่ากล่าวเอาแก่จำเลยเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก จะมาร้องขอกันส่วนให้การบังคับคดีมีผลผิดไปจากคำพิพากษาหาได้ไม่
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ร้องกับจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยจำนองไว้กับโจทก์และโจทก์ดำเนินการบังคับคดีนำยึดในคดีนี้เป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องและจำเลยได้มาระหว่างสมรส โดยมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิขอกันส่วนทรัพย์จำนองที่โจทก์นำยึดดังกล่าวหรือไม่ ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้ร้องยอมให้ใส่ชื่อจำเลยเป็นเจ้าของเพียงผู้เดียวในที่ดินพิพาทเพราะไว้ใจจำเลยเนื่องจากเป็นสามีภริยากัน แต่ผู้ร้องไม่รู้เห็นยินยอมในการที่จำเลยนำที่ดินพิพาทไปจำนองไว้กับโจทก์นั้น เห็นว่า ทางนำสืบของผู้ร้องไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รู้ข้อเท็จจริงดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้างแต่อย่างใด เมื่อที่ดินพิพาทมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวต้องถือว่าโจทก์รับจำนองไว้โดยสุจริต การจำนองจึงสมบูรณ์มีผลผูกพันทรัพย์จำนองทั้งหมดทุกส่วน เมื่อโจทก์ฟ้องบังคับจำนองและศาลพิพากษาให้บังคับตามสัญญาจำนองแล้วเช่นนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาได้ ส่วนการที่จำเลยนำทรัพย์ส่วนของผู้ร้องเข้าร่วมจำนองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ร้องนั้น หากเป็นเหตุให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายอย่างไร ผู้ร้องก็ชอบที่จะไปว่ากล่าวเอาแก่จำเลยเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก จะมาร้องขอกันส่วนให้การบังคับคดีมีผลผิดไปจากคำพิพากษาหาได้ไม่ ฎีกาข้ออื่นของผู้ร้องไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4803/2553   ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นสินสมรสของจำเลยที่ 1 กับผู้ร้อง เมื่อบุคคลทั้งสองจดทะเบียนหย่ากันสินสมรสต้องแบ่งให้แก่จำเลยที่ 1 กับผู้ร้องคนละส่วนเท่ากัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1533 จำเลยที่ 1 และผู้ร้องจดทะเบียนหย่ากันโดยจำเลยที่ 1 ทำบันทึกยกสินสมรสส่วนของตนให้แก่ผู้ร้องแต่มิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ นิติกรรมให้จึงไม่สมบูรณ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 จำเลยที่ 1 กับผู้ร้องยังคงเป็นเจ้าของรวมมีส่วนเท่าๆ กัน
          นับแต่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินสินสมรสเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2517 แก่ ส. ซึ่งขณะนั้นจำเลยที่ 1 กับผู้ร้องยังมิได้จดทะเบียนหย่ากัน ก็ได้มีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและจดทะเบียนจำนองแก่นิติบุคคลอื่นอีกหลายรายต่อเนื่องกันมาโดยตลอดจนถึงโจทก์ซึ่งจดทะเบียนรับจำนองครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2536 เป็นระยะเวลายาวนานถึง 19 ปีเศษ ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้ใช้สิทธิโต้แย้งการทำนิติกรรมจำนองของจำเลยที่ 1 จึงมีเหตุผลให้น่าเชื่อว่าผู้ร้องได้รับรู้และไม่คัดค้าน เมื่อผู้ร้องมิได้นำสืบให้รับฟังได้ว่าโจทก์จดทะเบียนรับจำนองโดยรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่จำนองแต่ผู้เดียว ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่าโจทก์รับจำนองโดยสุจริต นิติกรรมจำนองทรัพย์สินดังกล่าวจึงมีผลบริบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จำนองย่อมมีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินที่จำนองได้ทั้งหมดเพราะสิทธิจำนองครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจำนองหมดทุกสิ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 716 และเป็นทรัพยสิทธิใช้ยันแก่ผู้ร้องและบุคคลทั่วไป อีกทั้งถือได้ว่าการยื่นคำร้องขอกันส่วนของผู้ร้องเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอกันเงินสินสมรสส่วนของตนจากการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาท

          ผู้ร้องรู้เห็นในการที่ภริยากู้ยืมเงินจากโจทก์หนี้รายนี้จึงเป็นหนี้ร่วมระหว่างผู้ร้องกับภริยาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4) ผู้ร้องจะต้องร่วมรับผิดกับภริยาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินซึ่งเป็นสินสมรสได้ทั้งหมด ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้กับส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินรายนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6686/2552   ผู้ร้องเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของ ส. การที่ ส. กู้ยืมเงินโจทก์เป็นจำนวนมาก น่าเชื่อว่านำเงินมาใช้จ่ายในครอบครัวและให้การศึกษาบุตร ทั้งยังต้องใช้เงินรักษาตัวเป็นจำนวนมาก อีกทั้ง ส. นำโฉนดที่ดินไปวางเป็นประกันเงินกู้ให้แก่โจทก์ ผู้ร้องน่าจะทราบดีเพราะผู้ร้องยืนยันว่า ส. ไม่เคยหยิบโฉนดที่ดินโดยไม่บอกกล่าวผู้ร้องก่อน ทั้งผู้ร้องยังเบิกความยอมรับว่า ภายหลังได้รับหนังสือทวงถามหนี้ ผู้ร้องเคยไปพบโจทก์รวม 2 ครั้ง คดีรับฟังได้ว่า ผู้ร้องรู้เห็นในการที่ ส. กู้ยืมเงินจากโจทก์หนี้รายนี้จึงเป็นหนี้ร่วมระหว่างผู้ร้องกับ ส. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4) ผู้ร้องจะต้องร่วมรับผิดกับ ส. ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินซึ่งเป็นสินสมรสได้ทั้งหมด ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้กับส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินรายนี้

          ในกรณีจำนองที่ดินเฉพาะส่วนของเจ้าของรวมบางคน แต่ขณะจำนองที่ดินยังไม่มีการแบ่งแยก ถือว่าการจำนองที่ดินพิพาทจึงยังคงครอบไปถึงส่วนเหล่านั้นหมดทุกส่วนด้วยกันอยู่นั่นเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 717 วรรคหนึ่ง หากต่อมาภายหลังจำนองมีการตกลงแบ่งแยกที่ดินเป็นสัดส่วนก็จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้รับจำนองด้วย มิฉะนั้น การแบ่งแยกการครอบครองที่ดินย่อมไม่มีผลผูกพันผู้รับจำนองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเพราะไม่ได้ตกลงยินยอมด้วย เมื่อมีการบังคับจำนอง เจ้าของรวมคนอื่นจึงไม่มีสิทธิขอกันที่ดินเฉพาะส่วนของตนออกจากที่ดินพิพาทก่อนขายทอดตลาด แต่ขอกันส่วนได้เฉพาะเงินที่ได้จากการขายทอดตลาด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4805-4806/2552   ในขณะที่จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนเป็นประกันเงินกู้ไว้แก่โจทก์ ผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทยังมิได้แบ่งแยกการครอบครองที่ดินกันเป็นส่วนสัด กรณีต้องถือว่าผู้ร้องทั้งสอง จำเลย และผู้ถือกรรมสิทธ์รวมคนอื่นได้ร่วมกันครอบครองที่ดินพิพาททุกส่วนทั้งแปลง แม้ภายหลังผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมจะได้ตกลงแบ่งแยกการครอบครองที่ดินพิพาทกันเป็นส่วนสัดแล้วตาม ก็เป็นเพียงข้อตกลงภายในระหว่างผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมด้วยกันเอง โดยโจทก์มิได้ตกลงด้วยจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก การจำนองที่ดินพิพาทจึงยังคงครอบไปถึงส่วนเหล่านั้นหมดทุกส่วนด้วยกันอยู่นั่นเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 717 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิยึดที่ดินพิพาททั้งแปลงออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ ผู้ร้องทั้งสองไม่มีสิทธิขอกันที่ดินเฉพาะส่วนของตนออกจากที่ดินพิพาทก่อนขายทอดตลาด 
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ผู้ร้องทั้งสอง จำเลย ต. ม. ช.  และ ก. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 3034 ตำบลบางบ่อ อำเภอบางบ่อ (บางเหี้ย) จังหวัดสมุทรปราการ ต่อมาวันที่ 29 กันยายน 2535 จำเลย จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนประกันหนี้เงินกู้ไว้แก่โจทก์ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ชำระ โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพิพาทั้งแปลงออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษามีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ผู้ร้องทั้งสองมีสิทธิขอกันส่วนที่ดินเฉพาะส่วนของตนออกจากที่ดินพิพาทก่อนขายทอดตลาดหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าในขณะที่จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่โจทก์ ผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทยังมิได้แบ่งแยกการครอบครองที่ดินกันเป็นส่วนสัด โจทก์จึงมีสิทธิยึดที่ดินพิพาททั้งแปลงออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ได้ เห็นว่า ในข้อนี้ผู้ร้องทั้งสองอ้างว่าผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทได้แบ่งแยกการครอบครองที่ดินกันเป็นส่วนสัดแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิยึดที่ดินพิพาทแปลงออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ ผู้ร้องทั้งสองจึงต้องมีภาระการพิสูจน์ให้เห็นว่าผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทได้ตกลงแบ่งแยกการครอบครองที่ดินกันเป็นส่วนสัดก่อนที่โจทก์จะรับจำนองที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลย แต่ข้อเท็จจริงกลับได้ความตามคำเบิกความของ ว. ผู้รับมอบอำนาจของผู้ร้องทั้งสองและ พ. พยานผู้ร้องทั้งสองซึ่งรับราชการในตำแหน่งนักวิชาการที่ดิน 6ว. สำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการสาขาบางพลี ว่า ผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทได้ร่วมกันยื่นคำขอเพื่อรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2538 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์รับจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยแล้วเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2535 ถึง 3 ปีเศษ และในครั้งแรกเอกสารของผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมบางคนไม่ครบจึงยังไม่สามารถแบ่งแยกได้ต่อมาทำการรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมใหม่ โดยมีข้อตกลงให้แบ่งที่ดินออกเป็นทางสาธารณประโยชน์ 1 แปลง เป็นคลองชลประทาน 1 แปลง และแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม 7 แปลง โดยมีเนื้อที่และตำแหน่งตามบันทึกถ้อยคำ ผู้ร้องที่ 1 จึงมีหนังสือแจ้งว่าให้ผู้ร้องที่ 1 ดำเนินการแจ้งไปยังผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมเพื่อทำการแบ่งแยกต่อไป ต่อมาวันที่ 2 ตุลาคม 2540 เจ้าพนักงานที่ดินได้รังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมและจัดทำโฉนดที่ดินแล้ว โดยผู้ร้องทั้งสองได้รับแบ่งคนละ 2 ไร่ 3 งาน 54 ตารางวา แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม จะเห็นได้ว่า การนำสืบพยานหลักฐานของผู้ร้องทั้งสองไม่ว่าจะเป็นการนำสืบถึงเรื่องการยื่นคำขอเพื่อรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมหรือข้อตกลงเกี่ยวกับการแบ่งแยกการครอบครองที่ดินพิพาทกันเป็นส่วนสัดระหว่างผู้ถูกกรรมสิทธิ์รวม ล้วนแต่เป็นข้อเท็จจริงซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากที่โจทก์รับจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยแล้วทั้งสิ้น โดยผู้ร้องมิได้นำสืบให้เห็นถึงข้อตกลงระหว่างผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมเกี่ยวกับการแบ่งแยกการครอบครองที่ดินพิพาทกันเป็นส่วนสัดก่อนที่โจทก์รับจำนองที่ดินพิพาทไว้จากจำเลย ส่วนหนังสือสัญญาจำนองที่ดินพิพาท แม้จะมีข้อความระบุว่าจำเลยตกลงจำนองที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนกรรมสิทธิ์ของตนแก่โจทก์ก็ตาม แต่ก็มิได้ระบุว่ามีการแบ่งแยกที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยกับผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมคนอื่นว่ามีอาณาเขตอย่างไร อันจะพอถือได้ว่ามีการตกลงแบ่งแยกการครอบครองที่ดินพิพาทกันเป็นส่วนสัดแล้ว ก่อนที่โจทก์รับจำนองที่ดินพิพาทไว้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ในขณะที่จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนเป็นประกันเงินกู้ไว้แก่โจทก์ ผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทยังมิได้แบ่งแยกการครอบครองที่ดินกันเป็นส่วนสัดกรณีต้องถือว่าผู้ร้องทั้งสอง จำเลย และผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมคนอื่นได้ร่วมกันครอบครองที่ดินพิพาททุกส่วนทั้งแปลง แม้ภายหลังผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมจะได้ตกลงแบ่งแยกการครอบครองที่ดินพิพาทกันเป็นส่วนสัดแล้วก็ตาม ก็เป็นเพียงข้อตกลงภายในระหว่างผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมด้วยกันเอง โดยโจทก์มิได้ตกลงด้วย จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก การจำนองที่ดินพิพาทจึงยังคงครอบไปถึงส่วนเหล่านั้นหมดทุกส่วนด้วยกันอยู่นั่นเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 717 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิยึดที่ดินพิพาททั้งแปลงออกขาดทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ ผู้ร้องทั้งสองไม่มีสิทธิขอกันที่ดินเฉพาะส่วนของตนออกจากที่ดินพิพาทก่อนขายทอดตลาดที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”

          แต่ถ้าเป็นกรณีเจ้าหนี้สามัญมีสิทธิบังคับคดีได้เท่าที่จำเลยมีสิทธิในที่ดินพิพาทเท่านั้น เมื่อที่ดินมีการตกลงแบ่งแยกการครอบครองที่ดินพิพาทก่อนมีการบังคับคดีแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่มีสิทธิเอาที่ดินส่วนของผู้ร้องมาขายทอดตลาด ผู้ร้องย่อมมีสิทธิขอให้กันที่ดินพิพาทส่วนที่ผู้ร้องครอบครองก่อนนำที่ดินทั้งแปลงออกขายทอดตลาดได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2124/2551   ที่ดินพิพาทมีชื่อจำเลยและผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน แต่ผู้ร้องและจำเลยได้ตกลงแบ่งแยกการครอบครองที่ดินพิพาทก่อนมีการบังคับคดีแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวย่อมผูกพันจำเลยและผู้ร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้สามัญมีสิทธิบังคับคดีได้เท่าที่จำเลยมีสิทธิในที่ดินพิพาทเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิเอาที่ดินส่วนของผู้ร้องมาขายทอดตลาดได้ ผู้ร้องย่อมมีสิทธิขอให้กันที่ดินพิพาทส่วนที่ผู้ร้องครอบครองก่อนนำที่ดินทั้งแปลงออกขายทอดตลาดได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287
       
          จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้ผู้ร้องตามมูลหนี้สัญญาจะซื้อจะขายและศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมจนคดีถึงที่สุดแล้ว สิทธิของผู้ร้องตามคำพิพากษาที่จะเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่ตนย่อมเกิดขึ้นทันที ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะที่จะบังคับให้จดทะเบียนสิทธิของตนเหนือที่ดินพิพาททั้งสองแปลงได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ.มาตรา 1300 โจทก์ทั้งสองหามีสิทธิขอให้บังคับยึดที่ดินพิพาททั้งสองเพื่อนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้อันเป็นการกระทบถึงสิทธิของผู้ร้องตาม ป.วิ.พ.มาตรา 287 ได้ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 797/2552    ตาม ป.พ.พ.มาตรา 6 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่า ผู้ร้องและจำเลยสมคบกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความขึ้นโดยเจตนาไม่สุจริต เพื่อให้ทรัพย์สินพ้นจากการบังคับดคีและทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์จึงต้องมีภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว เมื่อจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้ผู้ร้องตามมูลหนี้สัญญาจะซื้อจะขายและศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมจนคดีถึงที่สุดแล้ว สิทธิของผู้ร้องตามคำพิพากษาที่จะเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่ตนย่อมเกิดขึ้นทันทีแม้ผู้ร้องจะต้องชำระเงินที่เหลือจำนวนหนึ่งให้แก่จำเลยตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความด้วยก็ตาม การที่ผู้ร้องยังไม่ชำระเงินที่เหลือจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยมีผลเพียงทำให้ผู้ร้องยังไม่อาจจะเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ตอบแทนเท่านั้น หามีผลทำให้สิทธิของผู้ร้องที่จะเรียกให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาหมดไปไม่ ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะที่จะบังคับให้จดทะเบียนสิทธิของตนเหนือที่ดินพิพาททั้งสองแปลงได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ.มาตรา 1300 โจทก์ทั้งสองหามีสิทธิขอให้บังคับยึดที่ดินพิพาททั้งสองเพื่อนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้อันเป็นการกระทบถึงสิทธิของผู้ร้องตาม ป.วิ.พ.มาตรา 287 ได้ไม่
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2540 ผู้ร้องได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 7808, 7809 ตำบลบางพูด (บางพัง) อำเภอปากเกร็ดจังหวัดนนทบุรี เนื้อที่ 33.9 และ 35 ตารางวา และให้จำเลยรับเงินจำนวน 1,102,800บาท จากผู้ร้อง หากไม่สามารถโอนได้ให้คืนเงินจำนวน 275,200 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ระหว่างพิจารณา ผู้ร้องกับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และศาลพิพากษาตามยอมให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่ผู้ร้อง และผู้ร้องยอมชำระเงินจำนวน 1,102,800 บาท ให้แก่จำเลย หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และหากจำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงได้ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 275,200 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีแก่ผู้ร้อง ต่อมาโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเพื่อนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสอง ผู้ร้องจึงมายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการยึด 
          คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องในข้อแรกว่า ผู้ร้องกับจำเลยสมคบกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความขึ้นโดยเจตนาไม่สุจริตหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต ดังนั้นการที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่า ผู้ร้องและจำเลยสมคบกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความขึ้นโดยเจตนาไม่สุจริต เพื่อให้ทรัพย์สินพ้นจากการบังคับคดีและทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์จึงต้องมีภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว แต่จากพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองมีเพียง ส. ทนายโจทก์ทั้งสองมาเบิกความว่า ผู้ร้องไม่ใช่ลูกค้าผู้ซื้อที่ดินจากจำเลย เนื่องจากไม่มีชื่อผู้ร้องในบัญชีรายชื่อลูกค้าตามเอกสารหมาย ค. 2 เท่านั้น รายชื่อลูกค้าในรายงานสรุปการขายเอกสารหมาย ค. 2 มิใช่รายชื่อลูกค้าทั้งหมด จึงยังไม่อาจสรุปได้จากเอกสารหมาย ค. 2 ว่า ผู้ร้องมิได้เป็นลูกค้าของจำเลยดังที่ ส. เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ทั้งสองไม่มีน้ำหนักพอให้รับฟังได้ว่า ผู้ร้องกับจำเลยสมคบกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ดังนี้ คดีจึงฟังไม่ได้ว่า ผู้ร้องกับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยเจตนาไม่สุจริต 
          มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องข้อต่อไปว่า ผู้ร้องอยู่ในฐานะที่จะบังคับให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้ผู้ร้องตามมูลหนี้สัญญาจะซื้อจะขายและศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมจนคดีถึงที่สุดแล้วตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2575/2540 ของศาลชั้นต้น สิทธิของผู้ร้องตามคำพิพากษาที่จะเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่ตนย่อมเกิดขึ้นทันที แม้ผู้ร้องจะต้องชำระเงินที่เหลือจำนวนหนึ่งให้แก่จำเลยตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความด้วยก็ตาม การที่ผู้ร้องยังไม่ชำระเงินที่เหลือจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยมีผลเพียงทำให้ผู้ร้องยังไม่อาจจะเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ตอบแทนเท่านั้น หามีผลทำให้สิทธิของผู้ร้องที่จะเรียกให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาหมดไปไม่ ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะที่จะบังคับให้จดทะเบียนสิทธิของตนเหนือที่ดินพิพาททั้งสองแปลงได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 โจทก์ทั้งสองหามีสิทธิขอให้บังคับคดียึดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเพื่อนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้อันเป็นการกระทบถึงสิทธิของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้องมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น”

          แม้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทมาก่อนที่ศาลในคดีอื่นจะได้พิพากษาบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้อง แต่เมื่อศาลในคดีอื่นได้พิพากษาบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้องแล้ว ที่ดินพิพาทจะต้องตกเป็นของผู้ร้องเท่านั้น ไม่มีเหตุที่จะให้ที่ดินพิพาทหลุดมือจากผู้ร้องตกไปเป็นของผู้อื่น จึงถือได้ว่าผู้ร้องอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ศาลก็ไม่อาจปล่อยให้มีการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทได้ เพราะผู้ที่ซื้อได้ไม่มีสิทธิที่จะได้รับโอนเนื่องจากผู้ร้องเท่านั้นที่มีสิทธิจะได้รับโอน ทั้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 บัญญัติไม่ให้การยึดทรัพย์มีผลกระทบถึงสิทธิของผู้ร้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8870/2550   การที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาท ยังไม่มีการจดทะเบียนสิทธิโอนที่ดินพิพาท แต่เมื่อได้ยึดมาแล้วต้องนำออกขายทอดตลาด หากมีผู้ซื้อได้ก็ต้องมีการโอนทางทะเบียนให้แก่ผู้ซื้อ จึงมิใช่เพียงแต่ยึดไว้เท่านั้น การที่ศาลในคดีอื่นได้พิพากษาบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้องแล้ว ที่ดินพิพาทจะต้องตกเป็นของผู้ร้องเท่านั้น ไม่มีเหตุที่จะให้ที่ดินพิพาทหลุดมือจากผู้ร้องตกไปเป็นของผู้อื่น จึงถือได้ว่าผู้ร้องอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 แม้โจทก์จะได้นำยึดที่ดินพิพาทไว้ก่อนที่ศาลจะพิพากษาบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้อง แต่ศาลก็ไม่อาจปล่อยให้มีการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทได้ เพราะผู้ที่ซื้อได้ไม่มีสิทธิที่จะได้รับโอนเนื่องจากผู้ร้องเท่านั้นที่มีสิทธิจะได้รับโอน ทั้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 ก็มีบทบัญญัติไม่ให้การยึดทรัพย์มีผลกระทบถึงสิทธิของผู้ร้อง
          ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคนหนึ่งมีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษากับเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอีกคนหนึ่งได้นั้น หมายถึง เจ้าหนี้ผู้ที่จะมาขอเฉลี่ยต้องเป็นผู้ไม่มีอำนาจเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ ส่วนกรณีที่ผู้ร้องได้สิทธิโดยคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้อง ผู้ร้องมีสิทธิตามคำพิพากษาที่จะบังคับให้จดทะเบียนสิทธิได้อยู่แล้วจึงไม่มีกรณีที่จะต้องมาขอเฉลี่ยทรัพย์ แม้โจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยก็ไม่มีสิทธิยึดที่ดินเพื่อบังคับคดีให้กระทบกระทั่งสิทธิ

          ทรัพย์ที่โจทก์นำยึดเป็นสินสมรสที่ผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมกัน เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธินำยึดและขายทอดตลาดได้ทั้งแปลง ผู้ร้องคงมีสิทธิขอกันส่วนของตนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14800/2551    เมื่อทรัพย์ที่โจทก์นำยึดเป็นสินสมรส อันเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมกัน โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธินำยึดและขายทอดตลาดได้ทั้งแปลง ผู้ร้องคงมีสิทธิขอกันส่วนของตนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดเท่านั้น จึงไม่สมควรมีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้อง โดยให้ระงับการขายทอดตลาดทรัพย์ไว้ในระหว่างการอุทธรณ์
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ผู้ร้องฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยทำเป็นคำร้องซึ่งไม่ถูกต้อง แต่เมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของผู้ร้องมาโดยไม่สั่งให้ผู้ร้องแก้ไขจึงอนุโลมให้ถือว่าเป็นฎีกาที่สั่งรับมาโดยชอบ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องมีว่า สมควรมีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้องในระหว่างอุทธรณ์หรือไม่ โดยผู้ร้องกล่าวอ้างมาในคำร้องขอกันส่วนว่า ที่ดินที่โจทก์นำยึดเป็นสินสมรสของผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 และหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่หนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา ขอให้ศาลมีคำสั่งกันที่ดินส่วนของผู้ร้องไว้นั้น เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง แต่เมื่อทรัพย์ที่โจทก์นำยึดเป็นสินสมรส อันเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมกัน โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธินำยึดและขายทอดตลาดได้ทั้งแปลง ผู้ร้องคงมีสิทธิขอกันส่วนของตนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดเท่านั้น จึงไม่สมควรมีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้องโดยให้ระงับการขายทอดตลาดทรัพย์ไว้ในระหว่างอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
          ซื้อที่ดินพร้อมบ้านพิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริตย่อมได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 ผู้ซื้อจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาท จำเลยจะยกเหตุว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับ ส. สามีจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีที่ถูกยึดที่ดินและบ้านพิพาทขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลเพื่อร้องขอกันส่วนเงินจากการขายทอดตลาดมาเป็นข้อต่อสู้เพื่ออยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทดังกล่าวหาได้ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8239/2551    โจทก์ซื้อที่ดินพร้อมบ้านพิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริตย่อมได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาท จำเลยจะยกเหตุว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับ ส. สามีจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีที่ถูกยึดที่ดินและบ้านพิพาทขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลเพื่อร้องขอกันส่วนเงินจากการขายทอดตลาดมาเป็นข้อต่อสู้เพื่ออยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทดังกล่าวหาได้ไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย

          หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดูตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ ถือได้ว่าเป็นหนี้ร่วมกันระหว่างผู้ร้องและจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (1)  เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิที่จะดำเนินการบังคับคดีแก่เงินในบัญชีเงินฝากของผู้ร้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6306/2551   สัญญากู้ยืมเงินเป็นหนี้ที่จำเลยซึ่งเป็นภริยาผู้ร้องก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรส และเป็นหนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดูตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ ถือได้ว่าเป็นหนี้ร่วมกันระหว่างผู้ร้องและจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (1) แม้ภายหลังจำเลยกับผู้ร้องได้จดทะเบียนหย่าและแบ่งสินสมรสกันก็ไม่กระทบสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะดำเนินการบังคับคดีแก่เงินในบัญชีเงินฝากของผู้ร้อง โจทก์จึงมีสิทธิอายัดเงินในบัญชีเงินฝากของผู้ร้องเพื่อนำมาชำระหนี้ให้โจทก์ได้

การร้องขัดทรัพย์ - ในการบังคับคดี ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือจำเลยไม่ใช่ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ ก่อนที่ได้เอาทรัพย์สินเช่นว่านี้ออกขายทอดตลาดผู้ที่ถูกโต้แย้งสิทธิในการยึดทรัพย์นั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้ปล่อยทรัพย์สินนั้นได้

          ป.วิ.พ.
          มาตรา 323  "ภายใต้บังคับมาตรา 55 บุคคลใดกล่าวอ้างว่าจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ หรือตนเป็นเจ้าของรวมซึ่งมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในทรัพย์สินนั้นซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้แบ่งการครอบครองเป็นส่วนสัด หรือตนเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์สินนั้นซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทรัพย์แบ่งได้ หรือตนเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนในทรัพย์สินนั้นได้อยู่ก่อน บุคคลนั้นอาจร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนหรือเฉพาะส่วนของตน แล้วแต่กรณี โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีการยึดทรัพย์สินนั้น แต่ถ้าไม่สามารถยื่นคำร้องขอภายในระยะเวลาดังกล่าว บุคคลนั้นจะยื่นคำร้องขอเมื่อพ้นระยะเวลาเช่นว่านั้นได้ก็ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและได้ยื่นคำร้องขอไม่ช้ากว่าเจ็ดวันก่อนวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดไว้เพื่อการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้นเป็นครั้งแรก เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย บุคคลนั้นจะยื่นคำร้องขอในภายหลังก็ได้ แต่จะต้องยื่นเสียก่อนขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้น
          ในกรณีที่เป็นทรัพย์สินตามมาตรา 332 ผู้กล่าวอ้างอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้มีการยึดทรัพย์สินนั้น แต่ถ้าไม่สามารถยื่นคำร้องขอภายในระยะเวลาดังกล่าว บุคคลนั้นจะยื่นคำร้องขอเมื่อพ้นระยะเวลาเช่นว่านั้นได้ก็ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ แต่จะต้องยื่นเสียก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะจ่ายเงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินนั้นแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามมาตรา 339 หรือก่อนที่บัญชีส่วนเฉลี่ยแสดงจำนวนเงินที่ขายทรัพย์สินนั้นเป็นที่สุดตามมาตรา 340 แล้วแต่กรณี  ทั้งนี้ ให้ถือว่าเงินจำนวนสุทธิที่ได้จากการขายนั้นเป็นเสมือนทรัพย์สินที่ขอให้ปล่อย
          เมื่อศาลสั่งรับคำร้องขอไว้แล้ว ให้ส่งสำเนาคำร้องขอแก่โจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษา และเจ้าพนักงานบังคับคดี เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับคำร้องขอเช่นว่านี้ถ้าทรัพย์สินที่ยึดนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินตามมาตรา 332 ให้งดการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไว้ในระหว่างรอคำวินิจฉัยชี้ขาด และให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นเหมือนอย่างคดีธรรมดา
          โจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำร้องว่าคำร้องขอนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงการบังคับคดี เมื่อปรากฏพยานหลักฐานเบื้องต้นว่าคำร้องนั้นฟังได้ ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้กล่าวอ้างวางเงินหรือหาประกันต่อศาลตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควร เพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสำหรับความเสียหายที่อาจได้รับจากการยื่นคำร้องขอนั้น ถ้าผู้กล่าวอ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ส่วนเงินหรือประกันที่วางไว้ต่อศาลดังกล่าว เมื่อศาลเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต่อไป จะสั่งคืนหรือยกเลิกประกันนั้นก็ได้คำสั่งของศาลตามวรรคนี้ให้เป็นที่สุด
          ในกรณีที่ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องขอที่ยื่นไว้ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ถ้าโจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องขอดังกล่าวเห็นว่าคำร้องขอนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงการบังคับคดี บุคคลดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องขอเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ผู้กล่าวอ้างชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ตนได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้แยกการพิจารณาเป็นสำนวนต่างหากจากคดีเดิม และเมื่อศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าคำร้องนั้นฟังได้ ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้กล่าวอ้างชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควรถ้าบุคคลดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล โจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจร้องขอให้ศาลบังคับคดีแก่บุคคลนั้นเสมือนหนึ่งว่าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา"



          หลักเกณฑ์ร้องขัดทรัพย์
          1. ผู้ร้องต้องมีส่วนได้เสียโดยถูกโต้แย้งสิทธิในทรัพย์ที่ถูกยึด เช่น เจ้าของ หรือผู้ครอบครอง
          2. จำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่ถูกยึด แต่ถ้าจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษามีส่วนเป็นเจ้าของทรัพย์นั้นด้วย เช่น เป็นเจ้าของรวมในทรัพย์นั้น ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์
          3. ต้องร้องขัดทรัพย์ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้มีการยึดทรัพย์สินนั้น แต่ถ้าไม่สามารถยื่นคำร้องขอภายในระยะเวลาดังกล่าว บุคคลนั้นจะยื่นคำร้องขอเมื่อพ้นระยะเวลาเช่นว่านั้นได้ก็ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและได้ยื่นคำร้องขอไม่ช้ากว่าเจ็ดวันก่อนวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดไว้เพื่อการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้นเป็นครั้งแรก เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย บุคคลนั้นจะยื่นคำร้องขอในภายหลังก็ได้ แต่จะต้องยื่นเสียก่อนขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้น (มาตรา 323 วรรคแรก ที่แก้ไขใหม่)
          4. ต้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์ต่อศาลที่มีอำนาจบังคับคดี ซึ่งก็คือ ศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในศาลชั้นต้น
          5. การร้องขัดทรัพย์ทำได้เฉพาะคดีที่มีการนำยึดทรัพย์เพื่อบังคับคดีเอากับจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น ถ้าเป็นกรณีขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลเพื่อนำเงินมาแบ่งกันในระหว่างเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมซึ่งโจทก์และจำเลยมิใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อกัน จึงมิใช่การร้องขอให้บังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดอันเป็นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 (มาตรา 323 ที่แก้ไขใหม่)

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ เช่น 

          ถ้าทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้นั้นจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของ ผู้ถูกโต้แย้งสิทธิร้องขัดทรัพย์นั้นได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7677/2557    ขณะที่จำเลยที่ 3 และ ล. ซื้อที่ดินพิพาทจาก ท. นั้น ส. ผู้ตายยังไม่ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทส่วนหนึ่งในส่วนของจำเลยที่ 3 จึงเป็นสินสมรสของผู้ตายและจำเลยที่ 3 ภายหลังผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นสินสมรสของผู้ตาย รวมทั้งทรัพย์สินอื่น ๆ ของผู้ตายทั้งหมดเป็นมรดกตกทอดแก่จำเลยที่ 3 ตามที่ผู้ตายทำพินัยกรรมยกให้แก่จำเลยที่ 3 เพียงผู้เดียวในทันที โดยที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก เมื่อจำเลยที่ 3 เป็นทายาทของผู้ตายผู้เดียว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดก ที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นสินสมรสของผู้ตายย่อมตกเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลยที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 3 และ ล. จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงเป็นการที่จำเลยที่ 3 ให้ทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลยที่ 3 เอง โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธินำยึดที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 4 และที่ 5 โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของ ส. ผู้ตายที่ตกทอดแก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ในฐานะทายาทโดยธรรมได้
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ ส. ที่ตกทอดแก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 หรือไม่ เห็นว่า ขณะที่จำเลยที่ 3 และ ล. ซื้อที่ดินพิพาทจาก ท. ตามหนังสือสัญญาขายที่ดิน ส. ผู้ตายยังไม่ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทส่วนหนึ่งในส่วนของจำเลยที่ 3 จึงเป็นสินสมรสของผู้ตายและจำเลยที่ 3 แต่ภายหลังที่ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2535 ตามสำเนาใบมรณบัตร ที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นสินสมรสของผู้ตาย รวมทั้งทรัพย์สินอื่น ๆ ของผู้ตายทั้งหมดเป็นมรดกตกทอดแก่จำเลยที่ 3 ตามที่ผู้ตายทำพินัยกรรมยกให้แก่จำเลยที่ 3 เพียงผู้เดียวในทันที โดยที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย เมื่อจำเลยที่ 3 เป็นทายาทของผู้ตายผู้เดียวที่ได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตาย กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะต้องจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดก ย่อมถือว่าการจัดการทรัพย์มรดกเสร็จสิ้นแล้ว และที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นสินสมรสของผู้ตายอันเป็นมรดกของผู้ตายที่ตกทอดแก่จำเลยที่ 3 ที่เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับเพียงผู้เดียวตามพินัยกรรมนั้นย่อมตกเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลยที่ 3 แล้วเช่นกัน ประกอบกับในเวลาก่อนหรือขณะที่ผู้ตายถึงแก่ความตายนั้น โจทก์ทั้งสองยังมิได้ฟ้องร้องให้ผู้ตายหรือทายาทของผู้ตายต้องรับผิดในมูลละเมิด ทั้งยังไม่ปรากฏด้วยว่าโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าหนี้กองมรดกของผู้ตายในขณะผู้ตายถึงแก่ความตายจนกระทั่งการจัดการมรดกเสร็จสิ้นอันจะก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ทั้งสองในอันจะบังคับชำระหนี้เอาจากกองมรดกของผู้ตายได้ จึงไม่ใช่เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าหนี้กองมรดกที่ยังไม่ได้รับชำระหนี้ในอันที่จะถือว่าทรัพย์มรดกยังคงอยู่ในระหว่างจัดการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1736 วรรคหนึ่ง เมื่อภายหลังจำเลยที่ 3 และ ล. จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงเป็นการที่จำเลยที่ 3 ให้ทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลยที่ 3 เองโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธินำยึดที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 4 และที่ 5 โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของ ส. ผู้ตายที่ตกทอดแก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ในฐานะทายาทโดยธรรมได้ สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์ทั้งสองอ้างมานั้นข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฎีกาอ้างว่า การโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นการโอนโดยฉ้อฉลไม่สุจริตเพื่อหลบเลี่ยงมิให้โจทก์ทั้งสองบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา การที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ร้องขัดทรัพย์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตนั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสองมิได้ให้การเป็นประเด็นไว้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น

          เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและนำยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาด มิใช่ผู้ที่ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง จึงไม่เป็นบุคคลภายนอกที่จะมีสิทธิดีกว่าผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมาโดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้ร้องจึงร้องขัดทรัพย์ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18606/2556    แม้การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 เป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1299 จะห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วก็ตาม แต่โจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและนำยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาด มิใช่ผู้ที่ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง จึงไม่เป็นบุคคลภายนอกที่จะมีสิทธิดีกว่าผู้ร้อง และแม้ขณะโจทก์ยึดที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นยังไม่มีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ถือว่าเป็นการยึดโดยชอบก็ตาม แต่เมื่อต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 การที่โจทก์นำยึดที่ดินพิพาทเป็นการบังคับคดีที่กระทบถึงสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องชอบจะขอให้ถอนการยึดที่ดินพิพาทได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 (มาตรา 323)

          โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดบ้านของผู้ร้องมิใช่ของจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษา เป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้ปล่อยทรัพย์สินเช่นว่านั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 323 (288 เดิม)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1237/2555    ผู้ร้องกล่าวในคำร้องว่า ผู้ร้องปลูกสร้างบ้านเลขที่ 7/1 บนที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของจำเลยหลังจากจำเลยเสียชีวิตแล้ว แต่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินแปลงดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินรวมถึงบ้านเลขที่ 7/1 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องด้วย จึงเป็นการนำยึดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1734 เจ้าหนี้กองมรดกชอบแต่จะได้รับการชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น หากข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง บ้านเลขที่ 7/1 ย่อมเป็นทรัพย์สินของผู้ร้อง โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กองมรดกของจำเลยหามีสิทธิบังคับชำระหนี้ไม่ การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดบ้านหลังดังกล่าวเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้ปล่อยทรัพย์สินเช่นว่านั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 ชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องทำการไต่สวนคำร้องของผู้ร้องในส่วนนี้

          เมื่อจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษามีส่วนเป็นเจ้าของร่วมในรถยนต์คันพิพาทนั้นด้วย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1596/2554    ผู้ร้องซื้อรถยนต์คันพิพาทในระหว่างที่เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย โดยผู้ร้องรวบรวมเงินมาซื้อโดยได้นำเงินบางส่วนที่ผู้ร้องเก็บสะสมมาตั้งแต่ก่อนจดทะเบียนสมรสกับจำเลย และอีกส่วนหนึ่งเป็นเงินกู้จากสหกรณ์ออมทรัพย์โดยเงินกู้ที่ได้มาเป็นเงินที่ผู้ร้องได้มาในระหว่างเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายกับจำเลย ย่อมถือเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 หาใช่เป็นเงินที่ได้มาจากการเปลี่ยนสินส่วนตัวของผู้ร้องมาเป็นสินสมรสดังเช่นที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง เมื่อรถยนต์คันพิพาทเป็นสินสมรส จำเลยจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมด้วย และตามคำร้องของผู้ร้องเป็นการร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่โจทก์นำยึดคืนแก่ผู้ร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 ดังนี้ คดีจึงมีประเด็นวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่า ทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้เป็นของจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ เมื่อจำเลยมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมในรถยนต์คันพิพาทนั้นด้วย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด



          การขายทอดตลาดทรัพย์สินเพื่อนำเงินมาแบ่งกันตามคำสั่งศาล อันเป็นการแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้มีสิทธิร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 วรรคสอง โจทก์และจำเลยทั้งสองมิใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อกัน จึงมิใช่การร้องขอให้บังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 322 (271 เดิม) ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดอันเป็นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 323 (288 เดิม)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9508/2553    ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้อง ให้เพิกถอนหมายบังคับคดีและการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท โดยอ้างว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์กับจำเลยที่ 1 และไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ว. เพราะก่อนที่ ว. จะถึงแก่ความตายได้ยกที่ดินพิพาทให้ผู้ร้อง โดยสละการครอบครองและส่งมอบการครอบครองให้ผู้ร้องตามคำร้องของผู้ร้องมีความมุ่งหมายเพื่อได้รับผลที่จะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปล่อยที่ดินพิพาทที่ยึดคืนให้แก่ผู้ร้อง จึงเป็นกรณีที่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 288 ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะในเรื่องร้องขัดทรัพย์ มิใช่เป็นการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีตาม มาตรา 296 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27
          โจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทเพื่อนำออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาแบ่งให้โจทก์และจำเลยทั้งสองตามส่วน เป็นวิธีการแบ่งทรัพย์สินให้เป็นไปตามคำพิพากษาที่ให้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท โดยศาลกำหนดไว้ว่าหากไม่สามารถแบ่งได้ให้ประมูลราคากันระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองถ้าตกลงกันไม่ได้ให้นำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดนำเงินที่ได้แบ่งให้โจทก์ 1 ใน 3 ส่วน อันเป็นวิธีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้มีสิทธิร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 วรรคสอง โจทก์และจำเลยทั้งสองมิใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อกัน จึงมิใช่การร้องขอให้บังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดอันเป็นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288

          ถ้ามีการขายทอดตลาดบ้านพิพาทที่ผู้ร้องอ้างว่า บ้านดังกล่าวเป็นของตนมิใช่ของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาเสร็จสิ้นแล้ว ย่อมล่วงเลยเวลาที่ผู้ร้องจะขอปล่อยทรัพย์นั้นได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7320/2553    ข้อเท็จจริงได้ความตามรายงานการยึดทรัพย์ประกอบบัญชียึดทรัพย์ว่า โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดบ้านซึ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 8418 ซึ่งจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับ ส. โดยแสดงรายละเอียดสภาพของบ้านว่าเป็นบ้านตึกชั้นเดียว กระเบื้องซีแพค ผนังก่ออิฐฉาบปูนขอบเรียบ มี 2 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ ด้านหลังต่อเติมเป็นห้องครัว ด้านข้างทำเป็นที่จอดรถ ไม่ปรากฏเลขทะเบียน แต่โจทก์ยืนยันว่าเป็นบ้านเลขที่ 142 และเป็นของจำเลย ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว โดยระบุสภาพของบ้านและแผนที่แสดงที่ตั้งของบ้านไว้ชัดเจน เป็นที่เข้าใจได้ว่าบ้านที่จะขายทอดตลาดเป็นบ้านที่ปลูกสร้างบนที่ดินของจำเลยที่ยึดไว้ บ้านที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดและประกาศขายทอดตลาดกับบ้านที่ขายทอดตลาดให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์จึงเป็นบ้านหลังเดียวกัน มิใช่เป็นการขายทอดตลาดบ้านหลังที่มิได้ยึดแต่ประการใด แม้เลขที่ของบ้านจะไม่ตรงกัน ก็เป็นเพียงการระบุเลขที่บ้านผิดไป มิได้มีผลให้การขายทอดตลาดไม่ชอบ ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการขายทอดตลาด ที่ผู้ร้องที่ 1 อ้างว่า บ้านดังกล่าวเป็นของตนมิใช่ของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ผู้ร้องที่ 1 ก็ชอบที่จะร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ดังกล่าวเสียก่อนที่ได้เอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 วรรคหนึ่ง เมื่อการขายทอดตลาดบ้านพิพาทเสร็จสิ้นแล้ว ย่อมล่วงเลยเวลาที่ผู้ร้องที่ 1 จะขอปล่อยทรัพย์นั้นได้
          ศาลฎีกาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องทั้งสองว่า มีเหตุเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์คดีนี้หรือไม่ เห็นว่า ในส่วนของจำเลยซึ่งเป็นผู้ร้องที่ 2 นั้น ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งผู้ร้องที่ 2 มิได้โต้แย้งว่า ผู้ร้องที่ 2 ทราบเรื่องที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดบ้านพิพาทและนำออกขายทอดตลาดอย่างช้าที่สุดในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2547 ดังนั้น หากจะร้องขอให้ศาลเพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวโดยอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ผู้ร้องที่ 2 ย่อมต้องร้องขอเสียก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่า 15 วัน นับแต่วันดังกล่าวซึ่งเป็นวันที่ผู้ร้องที่ 2 ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสาม แต่ผู้ร้องที่ 2 เพิ่งยื่นคำร้องคดีนี้เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548 ซึ่งล่วงพ้นกำหนดเวลาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายข้างต้นแล้ว ผู้ร้องที่ 2 จึงไม่อาจร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทได้ ศาลฎีการับวินิจฉัยให้เพียงในส่วนของผู้ร้องที่ 1 ซึ่งข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2545 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดบ้านซึ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 8418 ซึ่งจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับนางสาวสมวงศ์ โดยแสดงรายละเอียดสภาพบ้านชัดเจนว่าเป็นบ้านตึกชั้นเดียว กระเบื้องซีแพค ผนังก่ออิฐฉาบปูนขอบเรียบ มี 2 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ ด้านหลังต่อเติมเป็นห้องครัว ด้านข้างทำเป็นที่จอดรถ ไม่ปรากฏเลขทะเบียน แต่โจทก์ยืนยันว่าเป็นบ้านเลขที่ 142 และเป็นทรัพย์ของจำเลย ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว โดยระบุสภาพของบ้านและมีแผนที่แสดงที่ตั้งของบ้านไว้ชัดเจนเป็นที่เข้าใจได้ว่า บ้านที่จะขายทอดตลาดเป็นบ้านที่ปลูกสร้างบนที่ดินของจำเลยที่ยึดไว้โดยเป็นการขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เช่นนี้บ้านที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้และประกาศขายทอดตลาดกับบ้านที่ขายทอดตลาดให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ไปจึงเป็นบ้านหลังเดียวกัน มิใช่เป็นการขายทอดตลาดบ้านหลังที่มิได้ยึด แม้เลขที่ของบ้านจะไม่ตรงกัน ก็เป็นเพียงการระบุเลขที่บ้านผิดไปจากความจริง แต่มิได้มีผลให้การขายทอดตลาดบ้านนั้นไม่ชอบดังที่ผู้ร้องที่ 1 อ้าง จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการขายทอดตลาดส่วนที่ผู้ร้องที่ 1 อ้างว่า บ้านดังกล่าวเป็นของตนมิใช่ของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ผู้ร้องที่ 1 ก็ชอบที่ร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ดังกล่าวเสียก่อนที่ได้เอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 วรรคหนึ่ง เมื่อการขายทอดตลาดบ้านพิพาทเสร็จสิ้นแล้ว ย่อมล่วงเลยเวลาที่ ผู้ร้องที่ 1 จะขอให้ปล่อยทรัพย์นั้นได้ สำหรับข้ออ้างตามฎีกาของผู้ร้องทั้งสองข้ออื่นนอกจากนี้ ผู้ร้องทั้งสองมิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นไว้ ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสองมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องทั้งสองฟังไม่ขึ้น

          การร้องขัดทรัพย์ ต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนเอาทรัพย์ออกขายทอดตลาด เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดไปก่อนแล้วผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7318/2553    โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของผู้ร้องและขายทอดตลาดให้แก่โจทก์โดยผู้ร้องไม่รู้เห็นมาก่อน ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าจำเลยไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ ขอให้ยกกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงเกี่ยวกับการบังคับคดี อันมีความมุ่งหมายเพื่อได้รับผลที่จะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปล่อยทรัพย์ที่ยึดคืนให้แก่ผู้ร้องไปในที่สุด จึงเป็นกรณีที่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 288 ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในเรื่องขัดทรัพย์ มิใช่เป็นการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกกระบวนวิธีการบังคับคดีตามกฎหมาย และตามมาตรา 288 วรรคหนึ่ง ต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนเอาทรัพย์ออกขายทอดตลาด เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดไปก่อนแล้วผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยการยึดที่ดินจำนวน 2 แปลง ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องโดยวินิจฉัยว่าผู้ร้องยื่นคำร้องเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน โดยวินิจฉัยว่ามีปัญหาตามอุทธรณ์ของผู้ร้องเฉพาะที่ดินแปลงที่ 1 ว่า กรณีของผู้ร้องเป็นการร้องขัดทรัพย์ และผู้ร้องยื่นคำร้องภายหลังจากที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายที่ดินแปลงที่ 1 ไปแล้ว โดยมิได้วินิจฉัยถึงที่ดินแปลงที่ 2 ที่ผู้ร้องอุทธรณ์มาด้วยว่าเป็นอย่างไร จึงเป็นการมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิพากษา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ผู้ร้องฎีกาขอให้มีคำสั่งให้มีการไต่สวนหรือมีคำสั่งให้ปล่อยทรัพย์ที่ถูกนำยึดโดยมิชอบ โดยอ้างว่าที่ดินแปลงที่ 1 ที่ถูกขายทอดตลาดเป็นของผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่รู้เห็นในการยึดทรัพย์และการประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ การปฏิบัติของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการนำยึดเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีการตรวจสอบให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 304 ไม่มีการแจ้งการยึดทรัพย์ให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าของทรัพย์ที่แท้จริงทราบ พิเคราะห์แล้ว ผู้ร้องยื่นคำร้องอ้างว่า ที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้และขายทอดตลาดนั้นเป็นของผู้ร้อง โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดทรัพย์ของผู้ร้องและดำเนินการขายทอดตลาดให้แก่โจทก์โดยผู้ร้องไม่รู้เห็นมาก่อน การบังคับคดีจึงกระทำไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องมิได้เป็นลูกหนี้ ในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย ขอให้นัดไต่สวนและมีคำสั่งเพิกถอนการนำยึดที่ดินที่ผิดกระบวนการและมิชอบ ให้งดการบังคับคดีไว้ก่อน ปล่อยทรัพย์ที่ยึดคืนให้แก่ผู้ร้องนั้น เห็นว่า ตามคำร้องของผู้ร้องเป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยทั้งสามหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ ขอให้ยกกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงเกี่ยวกับการบังคับคดีครั้งนี้ อันมีความมุ่งหมายเพื่อได้รับผลที่จะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปล่อยทรัพย์ที่ยึดคืนให้แก่ผู้ร้องไปในที่สุด จึงเป็นกรณีที่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในเรื่องขัดทรัพย์นั่นเอง มิใช่เป็นการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกกระบวนวิธีการบังคับคดีตามกฎหมายแต่อย่างใด และการจะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปล่อยทรัพย์ที่ยึดคืนให้แก่ผู้ร้องได้นั้น ตามมาตรา 288 วรรคหนึ่ง ก็กำหนดให้ยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนเอาทรัพย์ออกขายทอดตลาด ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดแปลงที่ 1 ไปก่อนแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
          อนึ่ง คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยการยึดที่ดินจำนวน 2 แปลง คือแปลงที่ 1 เนื้อที่ 90 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง  และแปลงที่ 2  เนื้อที่  70  ตารางวา ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องโดยวินิจฉัยว่าผู้ร้องยื่นคำร้องเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยวินิจฉัยว่ามีปัญหาตามอุทธรณ์ของผู้ร้องเฉพาะที่ดินแปลงที่ 1 ว่า กรณีของผู้ร้องเป็นการร้องขัดทรัพย์ และผู้ร้องยื่นคำร้องภายหลังจากที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายที่ดินแปลงที่ 1 ไปแล้ว จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องไม่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลก่อนที่จะได้เอาทรัพย์สินที่ยึดออกขายทอดตลาด โดยมิได้วินิจฉัยถึงที่ดินแปลงที่ 2 ที่ผู้ร้องอุทธรณ์มาด้วยว่าเป็นอย่างไร อันเป็นการมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246 และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้ร้องมิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 247 และเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยมิต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยเห็นว่า สำหรับที่ดินแปลงที่ 2 ข้อเท็จจริงได้ความว่าขณะผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2545 ที่ดินแปลงนี้เจ้าพนักงานบังคับคดียังขายทอดตลาดไม่ได้และอยู่ระหว่างเจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดใหม่ ถือได้ว่าสำหรับที่ดินแปลงที่ 2 นี้ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้ว ที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของผู้ร้องทั้งฉบับโดยให้เหตุผลว่าผู้ร้องมิได้ยื่นคำร้องภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดซึ่งรวมถึงคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สำหรับที่ดินแปลงที่ 2 ด้วย ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา และเมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า คำร้องของผู้ร้องเป็นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ซึ่งผู้ร้องต้องเสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่พิพาท แต่ปรากฏตามคำร้องว่าผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลมาแบบคดีไม่มีทุนทรัพย์เพียง 200 บาท จึงให้ศาลชั้นต้นดำเนินการเสียให้ถูกต้องก่อนดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปด้วย”
          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ศาลชั้นต้นสั่งให้ผู้ร้องนำเงินค่าขึ้นศาลสำหรับที่ดินแปลงที่ 2 มาชำระเสียให้ถูกต้องภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควร แล้วจึงให้รับคำร้องของผู้ร้องสำหรับที่ดินแปลงที่ 2 ไว้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป หากผู้ร้องไม่ดำเนินการให้จำหน่ายคดีผู้ร้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

          เจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนั้นตามหลักเรื่องส่วนควบ การที่โจทก์นำยึดสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องในฐานะเจ้าของทรัพย์ ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3737/2553    แม้ในการซื้อขายสิ่งปลูกสร้างพิพาท ผู้ร้องกับจำเลยมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่สิ่งปลูกสร้างนี้อยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 7412 ซึ่งจำเลยทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนขายฝากให้แก่ผู้ร้องแล้ว กรรมสิทธิ์ในที่ดินย่อมตกเป็นของผู้ร้อง เมื่อบ้านเลขที่ 50 อยู่บนที่ดินดังกล่าวมาก่อน และจำเลยยังได้ทำหนังสือสัญญาโอนสิ่งปลูกสร้างนั้นให้แก่ผู้ร้องด้วย สิ่งปลูกสร้างจึงเป็นส่วนควบของที่ดินซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 144 วรรคสอง บัญญัติว่า เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น เช่นนี้ การที่โจทก์นำยึดสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องในฐานะเจ้าของทรัพย์ ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้เป็นบ้านเลขที่ 50 ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลหลักแก้ว อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 7412 ซึ่งเดิมเป็นของจำเลย ต่อมาวันที่ 9 มิถุนายน 2546 จำเลยทำสัญญาขายฝากให้แก่ผู้ร้อง มีกำหนด 2 ปี เป็นจำนวนเงิน 800,000 บาท ตามหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินเอกสารหมาย ร.5 ครั้นวันรุ่งขึ้นจำเลยกับผู้ร้องทำสัญญาโอนทรัพย์ชำระหนี้และเงื่อนไขการซื้อคืนตามเอกสารหมาย ร.2 ระบุว่า จำเลยตกลงขายบ้านไม้ทรงไทย 4 หลังซึ่งรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทในคดีนี้ให้แก่ผู้ร้อง โดยมิได้จดทะเบียนการซื้อขายนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ดังกล่าวหรือไม่ โดยโจทก์อ้างว่า การซื้อขายบ้านพิพาทเป็นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อจำเลยกับผู้ร้องยังมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ผู้ร้องจึงเป็นเพียงบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนเท่านั้น ไม่มีอำนาจร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ เห็นว่า แม้ในการซื้อขายสิ่งปลูกสร้างพิพาท ผู้ร้องกับจำเลยมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่สิ่งปลูกสร้างนี้อยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 7412 ซึ่งจำเลยทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนขายฝากให้แก่ผู้ร้องแล้ว กรรมสิทธิ์ในที่ดินย่อมตกเป็นของผู้ร้อง เมื่อบ้านเลขที่ 50 อยู่บนที่ดินดังกล่าวมาก่อน และจำเลยยังได้ทำหนังสือสัญญาโอนสิ่งปลูกสร้างนั้นให้แก่ผู้ร้องด้วยสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นส่วนควบของที่ดิน ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 144 วรรคสอง บัญญัติว่า เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้นเช่นนี้ การที่โจทก์นำยึดสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องในฐานะเจ้าของทรัพย์ ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

          การร้องขัดทรัพย์จะต้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินพิพาทก่อนเอาออกขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 591/2553    แม้จำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมาก่อน ป. ซื้อที่ดินพิพาทและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทในคดีที่ ป. เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกไปจากที่ดินพิพาทตามคดีแพ่งของศาลชั้นต้นก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าก่อนหน้านั้น ป. นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองแก่ ก. ในปี 2530 และถูก ก. ฟ้องบังคับจำนองที่ดินพิพาทต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2531 แต่ ป. ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม ก. จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาด และโจทก์เป็นผู้ซื้อทอดตลาดที่ดินพิพาทได้ก็ต้องถือว่า ก. ยึดสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทจาก ป. แล้วหากจำเลยเป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยก็ต้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทในคดีที่ ก. เป็นโจทก์ฟ้องบังคับจำนองแก่ ป. ก่อนเอาที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทและศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ขายแล้ว แม้ ป. ไม่ได้เป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจนำที่ดินออกขายทอดตลาดได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 308 เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีนำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดและโจทก์เป็นผู้ซื้อทอดตลาดที่ดินพิพาทได้ โจทก์จึงได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทจากการซื้อทอดตลาด สิทธิของโจทก์ผู้ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลจึงมิเสียไป ถึงแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าที่ดินพิพาทนั้นมิใช่ของ ป. ลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 อันเป็นข้อยกเว้นหลักกฎหมายที่ว่า “ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน”
          เมื่อโจทก์เป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลย การที่จำเลยปลูกห้องแถว 5 ห้อง รุกล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทย่อมเป็นการละเมิดต่อโจทก์และทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยจึงต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แต่จำเลยมิได้ยกข้อโต้แย้งเกี่ยวกับจำนวนค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดให้จำเลยใช้แก่โจทก์ขึ้นอ้างไว้โดยชัดแจ้งในฎีกา ฎีกาของจำเลยในส่วนค่าเสียหายจึงไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ และเมื่อจำเลยไม่ได้เป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท การที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีบังคับคดีรื้อถอนห้องแถว 5 ห้อง ของจำเลยออกจากที่ดินพิพาทตามคำพิพากษา การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นละเมิดต่อจำเลย โจทก์จึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยตามฟ้องแย้ง

          เมื่อที่พิพาทเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องย่อมมีสิทธิยกข้ออ้างดังกล่าวขึ้นยันแก่โจทก์เจ้าหนี้สามัญตามคำพิพากษาผู้นำยึดได้ เมื่อจำเลยมิได้มีกรรมสิทธิ์รวมในที่พิพาท ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอให้ปล่อยที่พิพาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3862/2552    แม้ที่พิพาทมีชื่อของจำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์รวมกับผู้ร้อง แต่จำเลยที่ 2 ตกลงยอมแบ่งที่พิพาทให้เป็นของผู้ร้องตามข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2513 ผู้ร้องได้ครอบครองตลอดมา โดยจำเลยที่ 2 ไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยวกับที่พิพาทเลย การที่จำเลยที่ 2 นำที่พิพาทไปขอออกโฉนดที่ดินซึ่งได้มาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2536 ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 2 ยอมแบ่งที่พิพาทให้เป็นของผู้ร้องแต่ผู้เดียวแล้ว เห็นได้ชัดว่า การขอออกโฉนดที่ดินสำหรับที่พิพาทของจำเลยที่ 2 มิได้กระทำไปในฐานะที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองอยู่ด้วยแล้ว พยานหลักฐานของผู้ร้องมีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานที่ว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 เมื่อที่พิพาทเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องย่อมมีสิทธิยกข้ออ้างดังกล่าวขึ้นยันแก่โจทก์เจ้าหนี้สามัญตามคำพิพากษาผู้นำยึดได้ เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้มีกรรมสิทธิ์รวมในที่พิพาท ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอให้ปล่อยที่พิพาท

          การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิดังกล่าวของผู้ร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 322 (287 เดิม) แต่การที่ผู้ร้องมิได้ใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยรถยนต์ของผู้ร้องที่ถูกเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้เอารถยนต์นั้นออกขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 323 (288 เดิม) และผู้ร้องได้ปล่อยให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดไปเช่นนี้ สิทธิของผู้ร้องอันอาจที่จะบังคับเหนือทรัพย์สินในฐานะเจ้าของทรัพย์สินของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ดังกล่าวย่อมเป็นอันหมดไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2891/2552    เมื่อสัญญาเช่าซื้อระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 เลิกกัน ผู้ร้องในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งบัญญัติให้เจ้าของทรัพย์สินนั้นมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นสิทธิของเจ้าของทรัพย์สินที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินของตนตามกฎหมายซึ่งการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิดังกล่าวของผู้ร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 แต่การที่ผู้ร้องมิได้ใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยรถยนต์ของผู้ร้องที่ถูกเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้เอารถยนต์นั้นออกขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 วรรคหนึ่ง และผู้ร้องได้ปล่อยให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดไปเช่นนี้ สิทธิของผู้ร้องอันอาจที่จะบังคับเหนือทรัพย์สินในฐานะเจ้าของทรัพย์สินของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ดังกล่าวย่อมเป็นอันหมดไป ทั้งเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดก็ไม่ใช่เป็นทรัพย์สินที่เข้าแทนที่รถยนต์ของผู้ร้องในฐานะนิตินัยอย่างเดียวกันกับรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์สินอันก่อนดังที่บัญญัติไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 226 วรรคสอง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิกันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดดังกล่าวเพื่อชำระให้แก่ผู้ร้องก่อนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติมาตรา 288 ได้

          บุคคลที่อาจยื่นคำร้องขัดทรัพย์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 ได้ จะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียอย่างใดๆ ในทรัพย์ที่ถูกยึด อันถือได้ว่าเป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิจากการยึดทรัพย์นั้น ถ้าผู้ถูกโต้แย้งสิทธิเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งเป็นนิติบุคคล ผู้ร้องในฐานะหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจึงไม่มีอำนาจร้องขัดทรัพย์ในนามส่วนตัว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10506/2551    บุคคลที่อาจยื่นคำร้องขัดทรัพย์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 ได้ จะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียอย่างใดๆ ในทรัพย์ที่ถูกยึด อันถือได้ว่าเป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิจากการยึดทรัพย์นั้น เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์อ้างว่า อพาร์ตเมนต์ที่ถูกยึดไม่ใช่ของจำเลยที่ 2 แต่เป็นทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. หากเป็นดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้างจริง บุคคลที่ถูกโต้แย้งสิทธิจากการยึดทรัพย์ก็คือห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. เจ้าของทรัพย์สินซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากตัวผู้ร้องซึ่งเป็นเพียงหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ทรัพย์ที่ถูกยึดจึงหาได้เป็นสิทธิของผู้ร้องด้วยไม่ กรณีไม่อาจถือได้ว่าผู้ร้องถูกโต้แย้งสิทธิ และถึงแม้ห้างดังกล่าวเหลือผู้ร้องเพียงคนเดียว เพราะหุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดถึงแก่ความตายไป ก็เป็นผลให้เลิกห้างและชำระบัญชีโดยผู้ชำระบัญชีจะเป็นผู้ดำเนินการของห้างหุ้นส่วนตามแต่จำเป็นเพื่อการชำระสะสางกิจการให้เสร็จไปด้วยดีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1259 เมื่อผู้ร้องเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดซึ่งเป็นเพียงหุ้นส่วนธรรมดาจึงไม่มีอำนาจร้องขัดทรัพย์คดีนี้

          คำร้องขัดทรัพย์ เป็นคำฟ้องหรือคำร้องขอที่เกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2) ที่ต้องยื่นต่อศาลที่มีอำนาจบังคับคดีตามมาตรา 302 ซึ่งคือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในศาลชั้นต้น 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9362/2551     คำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึดหรือคำร้องขัดทรัพย์ เป็นคำฟ้องหรือคำร้องขอที่เกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2) ที่ต้องยื่นต่อศาลที่มีอำนาจบังคับคดีตามมาตรา 302 ซึ่งบัญญัติว่า ศาลที่มีอำนาจออกหมายบังคับคดีหรือหมายจับลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือมีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องใด ๆ อันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาคือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในศาลชั้นต้น ดังนั้น การยื่นคำร้องขัดทรัพย์จึงต้องยื่นต่อศาลชั้นต้นที่พิจารณาและตัดสินคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2) ประกอบมาตรา 302 จะยื่นต่อศาลชั้นต้นที่ดำเนินการบังคับคดีแทนศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ได้
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องทั้งสองว่า ศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 7 (2) บัญญัติว่า “คำฟ้องหรือคำร้องขอที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลซึ่งคำฟ้องหรือคำร้องขอนั้นจำต้องมีคำวินิจฉัยของศาลก่อนที่การบังคับคดีจะได้ดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้องนั้น ให้เสนอต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีตามมาตรา 302” และมาตรา 302 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ศาลที่มีอำนาจออกหมายบังคับคดีหรือหมายจับลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือมีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องใดๆ อันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งได้เสนอต่อศาลตามบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ คือ ศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น” ดังนั้น การยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึด (คำร้องขัดทรัพย์) ต้องยื่นต่อศาลชั้นต้นที่เป็นศาลที่ได้ออกหมายบังคับคดีคือศาลที่ได้พิจารณาและตัดสินคดีในชั้นต้นตามมาตรา 7 (2) ประกอบมาตรา 302 จะยื่นต่อศาลที่ดำเนินการบังคับคดีแทนศาลที่ออกหมายบังคับคดีไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ศาลที่ออกหมายบังคับคดีคือศาลแพ่งไม่ใช่ศาลชั้นต้น การที่ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทต่อศาลชั้นต้นจึงเป็นการเสนอคำร้องขอต่อศาลที่ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทไว้พิจารณาพิพากษาจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

          คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีเดิมเป็นที่ยุติว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ย่อมผูกพันผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความกันมาแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องจะอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องอีกหาได้ไม่ ผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องขัดทรัพย์ในคดีนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8856/2551    คดีเดิมจำเลยที่ 1 เคยฟ้องขับไล่ผู้ร้องออกจากที่ดินพิพาท ผู้ร้องต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 ปลอมหนังสือมอบอำนาจที่ผู้ร้องลงลายมือชื่อไว้โดยยังไม่กรอกข้อความ ต่อมาจำเลยทั้งกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจแล้วนำไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้ตนเอง โดยผู้ร้องไม่ยินยอม ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า จำเลยที่ 1 มิได้ปลอมหนังสือมอบอำนาจและฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เมื่อผู้ร้องอ้างว่าทรัพย์เป็นของผู้ร้องอีกและจำเลยที่ 1 ในคดีนี้เป็นคู่ความในคดีเดิม ดังนั้นคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีเดิมย่อมผูกพันผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความกันมาแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องจะอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องอีกหาได้ไม่ ผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องขัดทรัพย์ในคดีนี้
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีอำนาจร้องขัดทรัพย์หรือไม่ เห็นว่า คดีเดิมจำเลยที่ 1 เคยฟ้องขับไล่ผู้ร้องออกจากที่ดินพิพาท ผู้ร้องต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 ปลอมหนังสือมอบอำนาจที่ผู้ร้องลงลายมือชื่อไว้โดยยังไม่กรอกข้อความ ต่อมาจำเลยที่ 1 กรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจแล้วนำไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้ตนเองโดยผู้ร้องไม่ยินยอม ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า จำเลยที่ 1 มิได้ปลอมหนังสือมอบอำนาจที่ผู้ร้องลงลายมือชื่อและฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ของจำเลยที่ 1 สืบเนื่องมาจากการที่ผู้ร้องโอนที่ดินชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 และให้ขับไล่ผู้ร้องออกจากที่ดินพิพาท ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 800/2547 เมื่อผู้ร้องในคดีนี้อ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องอีกและจำเลยที่ 1 ในคดีนี้เป็นคู่ความในคดีเดิม ดังนั้น คำพิพาทษาศาลฎีกาในคดีเดิมย่อมผูกพันผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความกันมาแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ที่ผู้ร้องอ้างในฎีกาว่าแม้จะมีคำพิพากษาศาลฎีกาพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่คดีดังกล่าวก็นานมาแล้ว และหลังจากจำเลยที่ 1 ชนะคดี จำเลยที่ 1 ก็ไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทแต่อย่างใด ผู้ร้องเป็นฝ่ายครอบครองที่ดินพิพาทมาโดยตลอดนั้น เห็นว่า ข้ออ้างดังกล่าวล้วนไม่อาจเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสียซึ่งความมีผลผูกพันของคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวได้ ผู้ร้องจะอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องอีกหาได้ไม่ ผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องขัดทรัพย์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น

          ทรัพย์สินที่ผู้ร้องและจำเลยหรือลูกนี้ตามคำพิพากษาเป็นเจ้าของร่วมกัน หาใช่ทรัพย์สินของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียวไม่ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8452/2551     ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทจากผู้ขายในระหว่างสมรส ที่ดินและบ้านพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างสมรส ย่อมเป็นสินสมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1)
          ฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2540 โดยมีการตกลงแบ่งทรัพย์สินกันตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนหย่า ให้ที่ดินและบ้านพิพาทตกได้แก่ผู้ร้องนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องกล่าวอ้างขึ้นมาใหม่ มิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
          ป.พ.พ. มาตรา 1533 บัญญัติว่า “เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน” เมื่อข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องนำสืบไม่ปรากฏว่าผู้ร้องและจำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินและบ้านพิพาทอันเป็นสินสมรสกันแล้ว กรณีต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวม ดังนี้ ที่ดินและบ้านพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมกัน หาใช่ทรัพย์สินของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียวไม่ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288

          เมื่อที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง โจทก์ก็ไม่อาจบังคับคดีเอาแก่สินส่วนตัวของผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีได้ ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขัดทรัพย์นั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3473/2551    ผู้ร้องอุทธรณ์และฎีกาว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง มิใช่สินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลย และหนี้ตามคำพิพากษามิใช่หนี้ร่วมระหว่างจำเลยกับผู้ร้องซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้ศาลจะต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องหรือเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลย หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง กรณีก็ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยกับผู้ร้องหรือไม่ เพราะแม้จะเป็นหนี้ร่วม โจทก์ก็ไม่อาจยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลอดชำระหนี้แก่โจทก์ได้เนื่องจากโจทก์มิได้ฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลยด้วยการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยกปัญหาว่าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยกับผู้ร้องหรือไม่ขึ้นวินิจฉัยก่อนแล้วฟังข้อเท็จจริงว่าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยกับผู้ร้อง และพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทของผู้ร้อง โดยไม่วินิจฉัยปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องหรือเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ
          การที่ จ. ได้รับยกให้ที่ดินพิพาทมาจากผู้ที่เป็นบิดามารดาและต่อมา จ. ก็ยกที่ดินพิพาทให้บุตรคือผู้ร้อง น่าเชื่อว่าหลังจาก จ. ได้รับยกให้ที่ดินพิพาทแล้ว จ. ได้ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินพิพาทต่อจากบิดามารดาในฐานะเจ้าของจนกระทั่งยกที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้อง เมื่อ จ. ครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านมาเป็นเวลาประมาณ 30 ปี จ. ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แม้จะยังมิได้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนจากบิดามารดามาเป็นชื่อ จ. ก็ตาม และเมื่อ จ. ยกที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องในปี 2510 ผู้ร้องก็ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ได้รับการยกให้จาก จ. ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องเพราะผู้ร้องได้มาก่อนจดทะเบียนสมรสกับจำเลยในปี 2519 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ในปี 2530 จึงไม่มีผลทำให้ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องกลายเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยแต่อย่างใด เมื่อที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง โจทก์ก็ไม่อาจบังคับคดีเอาแก่สินส่วนตัวของผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีได้ กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยกับผู้ร้องหรือไม่เพราะไม่มีผลต่อรูปคดี

          แม้ทรัพย์อันเป็นที่ดินที่ถูกยึดนั้นเป็นของผู้ร้อง แต่ถ้าผู้ร้องรู้เห็นยินยอมให้จำเลยนำที่ดินนั้นไปเป็นหลักประกันตัวผู้ต้องหา เมื่อจำเลยผิดสัญญาและโจทก์ยึดที่ดินพิพาทบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องจะใช้สิทธิร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทหาได้ไม่ เพราะเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นการไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 5 ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 505/2551    ผู้ร้องรู้เห็นและยินยอมในการที่จำเลยนำที่ดินพิพาทไปเป็นหลักประกันตัวผู้ต้องหา เมื่อจำเลยผิดสัญญาประกันและศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาประกันแต่จำเลยไม่ชำระ โจทก์มีอำนาจยึดที่ดินพิพาทบังคับชำระหนี้ได้ไม่ว่าทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสหรือสินส่วนตัว ผู้ร้องจะอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวและจะใช้สิทธิร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทหาได้ไม่ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นการไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 5

          คำสั่งศาลที่อนุญาตให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจำหน่ายทรัพย์ที่ยึดซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ที่เก็บไว้นานไม่ได้และนำเงินจำนวนดังกล่าวเก็บรักษาไว้ตามมาตรา 288 วรรคสอง (2) ซึ่งมาตรา 288 วรรคสาม บัญญัติให้คำสั่งศาลเป็นที่สุด ผู้ร้องขอเพิกถอนไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 472/2551    ป.วิ.พ. มาตรา 288 วรรคสอง (2) บัญญัติว่า “...ถ้าปรากฏว่าทรัพย์สินที่ยึดนั้นเป็นสังหาริมทรัพย์ที่เก็บไว้นานไม่ได้ ศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินเช่าว่านี้โดยไม่ชักช้า” คดีนี้โจทก์นำยึดข้าวเปลือกโดยอ้างว่าเป็นของจำเลย และยื่นคำร้องขอให้นำออกขายทอดตลาดเนื่องจากว่าทรัพย์ที่ยึดเป็นข้าวเปลือกที่เก็บไว้นานอาจเกิดความเสียหายได้ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจำหน่ายทรัพย์ที่ยึดและนำเงินจำนวนดังกล่าวเก็บรักษาไว้ คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งตามมาตรา 288 วรรคสอง (2) ซึ่งมาตรา 288 วรรคสาม บัญญัติให้คำสั่งศาลเป็นที่สุด การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้งดการขายทอดตลาดข้าวเปลือก เท่ากับเป็นการขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่อนุญาตตามมาตรา 288 วรรคสอง (2) ซึ่งเป็นที่สุดแล้ว คำร้องดังกล่าวมิใช่คำร้องขอให้งดการบังคับคดีหรือคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างการพิจารณา ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องได้ แม้ศาลชั้นต้นรับคำร้องไว้และศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่เป็นเหตุให้ผู้ร้องฎีกาต่อไปได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของผู้ร้องมาเป็นการไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

          การใช้สิทธิร้องขัดทรัพย์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 288 (มาตรา 323 ใหม่) ได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่มีการบังคับคดียึดทรัพย์สินที่อ้างว่าเป็นของลูกหนี้เพื่อขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่น แต่ถ้ามิใช่กรณีที่ศาลพิพากษาให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ และต้องนำทรัพย์สินของจำเลยออกขายทอดตลาด จึงนำบทบัญญัติ มาตรา 288 มาใช้บังคับไม่ได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ถอนหรือปล่อยที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8897/2550     การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจะใช้สิทธิตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 288 ได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่มีการบังคับคดียึดทรัพย์สินที่อ้างว่าเป็นของลูกหนี้เพื่อขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่น แต่สำหรับคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลย ระหว่างพิจารณา โจทก์กับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยยอมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม มิใช่กรณีที่ศาลพิพากษาให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ และต้องนำทรัพย์สินของจำเลยออกขายทอดตลาด จึงหาอาจนำบทบัญญัติ มาตรา 288 มาใช้บังคับไม่ได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ถอนหรือปล่อยที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้อง หากผู้ร้องถูกโต้แย้งสิทธิอย่างไรก็ชอบที่จะยื่นฟ้องโจทก์เป็นคดีต่างหาก และตามคำร้องของผู้ร้องมีประเด็นพิจารณาเพียงว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ถอนการยึดหรือปล่อยที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องหรือไม่ จึงไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าผู้ร้องเป็นผู้มีอำนาจพิเศษที่จะอยู่ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องหรือไม่
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นตันที่ให้ยกคำร้องโดยไม่มีการไต่สวนพยานก่อนเป็นการชอบหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่าภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอม จำเลยและบริวารไม่ยอมออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้อง โจทก์จึงขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี และนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปปิดประกาศให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลความว่า ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องใส่ชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ไว้แทนผู้ร้อง ขอให้ถอนการยึดหรือปล่อยทรัพย์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องโดยไม่ได้ใต่สวนพยานก่อน เห็นว่า การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจะใช้สิทธิตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 ได้นั้นจะต้องเป็นกรณีที่มีการบังคับคดียึดทรัพย์สินที่อ้างว่าเป็นของลูกหนี้เพื่อขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่น แต่สำหรับคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยยอมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้อง และศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม จึงมิใช่กรณีที่ศาลพิพากษาให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ และต้องมีการนำทรัพย์ของจำเลยออกขายทอดตลาด จึงหาอาจนำบทบัญญัติมาตรา 288 มาใช้บังคับไม่ได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ถอนหรือปล่อยที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้อง หากผู้ร้องถูกโต้แย้งสิทธิอย่างไรก็ชอบที่จะยื่นฟ้องโจทก์เป็นคดีต่างหาก ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาในทำนองว่า ตามคำร้องของผู้ร้องเป็นเรื่องของการขอแสดงอำนาจพิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3) นั้น เห็นว่า ตามคำร้องของผู้ร้องมีประเด็นเพียงว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ถอนการยึดหรือปล่อยที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องหรือไม่ กรณีจึงไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าผู้ร้องเป็นผู้มีอำนาจพิเศษที่จะอยู่ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นไต่สวนก่อนจึงชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น” 




30 กรกฎาคม 2559

ความผิดฐานลักทรัพย์และความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์

          ประมวลกฎหมายอาญา

          มาตรา 334  "ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท"

          มาตรา 335    "ผู้ใดลักทรัพย์
          (1) ในเวลากลางคืน
          (2) ในที่หรือบริเวณที่มีเหตุเพลิงไหม้ การระเบิด อุทกภัย หรือในที่หรือบริเวณที่มีอุบัติเหตุ เหตุทุกขภัยแก่รถไฟหรือยานพาหนะอื่นที่ประชาชนโดยสาร หรือภัยพิบัติอื่นทำนองเดียวกัน หรืออาศัยโอกาสที่มีเหตุเช่นว่านั้น หรืออาศัยโอกาสที่ประชาชนกำลังตื่นกลัวภยันตรายใดๆ
          (3) โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ หรือโดยผ่านสิ่งเช่นว่านั้นเข้าไปด้วยประการใดๆ
          (4) โดยเข้าทางช่องทางซึ่งได้ทำขึ้นโดยไม่ได้จำนงให้เป็นทางคนเข้า หรือเข้าทางช่องทางซึ่งผู้เป็นใจเปิดไว้ให้
          (5) โดยแปลงตัวหรือปลอมตัวเป็นผู้อื่น มอมหน้าหรือทำด้วยประการอื่นเพื่อไม่ให้เห็นหรือจำหน้าได้
          (6) โดยลวงว่าเป็นเจ้าพนักงาน
          (7) โดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป
          (8) ในเคหสถาน สถานที่ราชการหรือสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณที่ตนได้เข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือซ่อนตัวอยู่ในสถานที่นั้นๆ
          (9) ในสถานที่บูชาสาธารณ สถานีรถไฟ ท่าอากาศยาน ที่จอดรถหรือเรือสาธารณ สาธารณสถานสำหรับขนถ่ายสินค้า หรือในยวดยานสาธารณ
          (10) ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์
          (11) ที่เป็นของนายจ้างหรือที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง
          (12) ที่เป็นของผู้มีอาชีพกสิกรรม บรรดาที่เป็นผลิตภัณฑ์ พืชพันธุ์ สัตว์หรือเครื่องมืออันมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมหรือได้มาจากการกสิกรรมนั้น
          ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท
          ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราดังกล่าวแล้วตั้งแต่สองอนุมาตราขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท
          ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่เป็นโค กระบือ เครื่องกลหรือเครื่องจักรที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หกพันบาทถึงสองหมื่นบาท
          ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรานี้ เป็นการกระทำโดยความจำใจหรือความยากจนเหลือทนทาน และทรัพย์นั้นมีราคาเล็กน้อย ศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 334 ก็ได้"

          มาตรา 335 ทวิ  "ผู้ใดลักทรัพย์ที่เป็นพระพุทธรูปหรือวัตถุในทางศาสนา ถ้าทรัพย์นั้นเป็นที่สักการะบูชาของประชาชน หรือเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพระพุทธรูป หรือวัตถุดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หกพันบาทถึงสองหมื่นบาท
          ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก ได้กระทำในวัด สำนักสงฆ์ สถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนา โบราณสถานอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน สถานที่ราชการหรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท"

          มาตรา 336  "ผู้ใดลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า ผู้นั้นกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
          ถ้าการวิ่งราวทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท
          ถ้าการวิ่งราวทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หกพันบาทถึงสองหมื่นบาท
          ถ้าการวิ่งราวทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท"

          มาตรา 336 ทวิ  " ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 334 มาตรา 335 มาตรา 335 ทวิ หรือมาตรา 336 โดยแต่งเครื่องแบบทหารหรือตำรวจหรือแต่งกายให้เข้าใจว่าเป็นทหารหรือตำรวจ หรือโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ กึ่งหนึ่ง"

          มีคำพิพากษาฎีกาได้วินิจฉัยไว้ เช่น

          โจทก์เป็นหนี้จำเลย จำเลยจึงมายึดรถกะบะของโจทก์ไปโดยโจทก์ไม่ยินยอม เป็นการใช้อำนาจบังคับเพื่อให้ตนได้รับชำระหนี้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง เป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต อันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16502/2557  จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ร่วมกู้ยืมเงินเพื่อนำไปใช้จ่ายในการเล่นการพนันโดยยึดถือรถกระบะที่โจทก์ร่วมเช่าซื้อมาจากผู้ให้เช่าซื้อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ร่วมนำรถกระบะกลับไปใช้ และโจทก์ร่วมไม่นำรถกระบะกลับมาคืนภายในเวลาที่ตกลงกันไว้ จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีอำนาจนำรถกระบะกลับมายึดถือครอบครองโดยโจทก์ร่วมไม่ยินยอม การที่จำเลยที่ 1 เอารถกระบะไปจากโจทก์ร่วม แม้น่าเชื่อว่าหากโจทก์ร่วมชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วน จำเลยที่ 1 คงจะคืนรถกระบะให้ แต่ก็เห็นได้ว่าถ้าโจทก์ร่วมไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 1 คงไม่คืนรถกระบะให้ การที่จำเลยที่ 1 เอารถกระบะไปดังกล่าวจึงเป็นการตัดกรรมสิทธิ์ในรถกระบะของผู้ให้เช่าซื้อขณะอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วมตลอดไปแล้ว และเมื่อเป็นการใช้อำนาจบังคับเพื่อให้ตนได้รับชำระหนี้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมต้องถือว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง ดังนี้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต อันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ และไม่ว่าโจทก์ร่วมจะผิดสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ก็ตาม เมื่อโจทก์ร่วมเป็นผู้ครอบครองรถกระบะคันดังกล่าวในขณะที่กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันเอารถกระบะของผู้ให้เช่าซื้อไปโดยทุจริต โจทก์ร่วมย่อมเป็นผู้เสียหายและเข้าร่วมเป็นโจทก์ร่วมคดีนี้ได้

          เจ้าของรวมในสวนยางพาราแต่ยอมให้ผู้เสียหายครอบครองและได้ประโยชน์เพียงผู้เดียว แต่จ้างคนเข้าไปกรีดยางพาราจะเอาน้ำยางไปเพียงผู้เดียว เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง  แต่เมื่อน้ำยางพาราที่กรีดยังอยู่ในถ้วยรองน้ำยางยังไม่ได้ถูกนำไป เป็นเพียงพยายามกระทำความผิดฐานลักทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3142/2557  แม้จำเลยและผู้เสียหายเป็นเจ้าของรวมในสวนยางพาราที่เกิดเหตุ แต่ก่อนเกิดเหตุจำเลยยอมให้ผู้เสียหายครอบครองและได้ประโยชน์เพียงผู้เดียว การที่จำเลยจ้าง ส. เข้าไปกรีดยางพาราจะเอาน้ำยางพาราไปเพียงผู้เดียว จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง ย่อมเป็นการทุจริตแล้ว เมื่อน้ำยางพาราที่กรีดยังอยู่ในถ้วยรองน้ำยางยังไม่ได้ถูกนำไป เป็นเพียงพยายามกระทำความผิดฐานลักทรัพย์
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า ผู้เสียหายและจำเลยต่างเคยมีคู่สมรสและมีบุตรมาก่อน ต่อมาได้อยู่กินฉันสามีภริยาตั้งแต่ปี 2516 แล้วจดทะเบียนสมรสกันในปี 2527 และมีบุตรด้วยกัน ปี 2539 จำเลยไปมีภริยาใหม่ ปี 2546 จำเลยฟ้องหย่าผู้เสียหายแล้วถอนฟ้อง ปี 2548 ผู้เสียหายฟ้องหย่าจำเลยและศาลมีคำพิพากษาในปี 2549 ให้หย่าขาดจากกันและคดีถึงที่สุด ที่ดินโฉนดเลขที่ 3558 เดิมจำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ ต่อมาจำเลยได้โอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้เสียหาย ที่ดินที่เกิดเหตุอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินสาธารณะซึ่งปลูกยางพาราประมาณ 1,000 ต้น ซึ่งผู้เสียหายอ้างว่าตนกับบุตรสาวที่เกิดจากสามีเดิมเป็นผู้ปลูกและบำรุงรักษาโดยจำเลยไม่เกี่ยวข้องเพราะรับราชการอยู่ที่อื่น ส่วนจำเลยอ้างว่าตนเป็นผู้จับจองทำประโยชน์โดยปลูกต้นไม้รวมต้นยางพาราบางส่วนเมื่อประมาณปี 2516 หรือปี 2517 ภายหลังเกิดพายุเกย์ได้รับความเสียหายจึงได้ซื้อต้นยางพารามาปลูกทดแทนประมาณ 1,000 ต้น และกรีดน้ำยางได้เมื่อปี 2539 โดยจำเลยและผู้เสียหายช่วยกันดูแลรักษาและนำรายได้มาใช้จ่ายในครัวเรือน เมื่อวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องภายหลังการหย่า จำเลยได้ว่าจ้างนาย ส.และนาย อ. ไปกรีดน้ำยางพาราในที่ดินเกิดเหตุ บุคคลทั้งสองได้กรีดน้ำยางรองใส่ถ้วยยางแต่ยังไม่ได้เก็บน้ำยางไปรวมประมาณ 300 ต้น เป็นเหตุให้บุคคลทั้งสองและจำเลยถูกจับกุมดำเนินคดีนี้
          มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำผิดฐานพยายามลักทรัพย์ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาหรือไม่ จำเลยอ้างว่าผู้เสียหายและจำเลยเป็นเจ้าของรวมในสวนยางพาราที่เกิดเหตุ และยอมรับว่าก่อนเกิดเหตุยอมให้ผู้เสียหายครอบครองและได้ประโยชน์เพียงผู้เดียว ที่จำเลยจ้างนาย ส. เข้าไปกรีดน้ำยางพาราก็ทำโดยเปิดเผยเพราะเข้าใจว่ามีอำนาจทำได้ เห็นว่า การเอาทรัพย์ที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริตก็เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335 ดังนั้น แม้ฟังได้ตามข้ออ้างของจำเลยว่า จำเลยและผู้เสียหายเป็นเจ้าของรวมในน้ำยางพารา แต่จำเลยก็จะเอาน้ำยางพาราที่นาย ส. กรีดจากต้นยางพาราไปเพียงผู้เดียว โดยขณะนั้นผู้เสียหายเป็นผู้เดียวที่ครอบครองและได้ประโยชน์ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ผู้เสียหายจะครอบครองสวนยางพาราที่เกิดเหตุแทนจำเลยด้วยเพราะมีเหตุพิพาทและหย่าขาดจากกันแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองย่อมเป็นการทุจริตแล้ว จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เมื่อน้ำยางพาราที่กรีดยังอยู่ในถ้วยรองน้ำยางยังไม่ได้ถูกนำไปเป็นเพียงพยายามกระทำความผิดฐานลักทรัพย์

          จำเลยทำงานในโรงพยาบาล ห้องน้ำที่เกิดเหตุเป็นสถานที่ที่จำเลยต้องทำงานตามหน้าที่ และเหตุเกิดช่วงเวลาทำงาน จึงมิใช่เรื่องที่จำเลยเข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วลักทรัพย์ในสถานที่ดังกล่าว การกระทำความผิดจึงมิใช่ลักทรัพย์ในสถานที่ราชการ แต่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 334
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 483/2557  จำเลยเป็นพนักงานช่วยงานพยาบาลซึ่งทำงานในโรงพยาบาลที่เกิดเหตุ ห้องน้ำที่เกิดเหตุเป็นสถานที่ที่จำเลยต้องเข้าไปทำงานตามหน้าที่ และเหตุคดีนี้เกิดในช่วงเวลาที่จำเลยทำงาน กรณีจึงมิใช่เรื่องที่จำเลยเข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วลักทรัพย์ในสถานที่ดังกล่าว การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 334 มิใช่ลักทรัพย์ในสถานที่ราชการ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553 เวลา 6.15 นาฬิกา ผู้เสียหายซึ่งไปเฝ้าดูแลพันเอก บ. บิดาของผู้เสียหายที่พักรักษาโรคปอดอยู่ที่ห้องผู้ป่วยพิเศษเลขที่ 1301 หอผู้ป่วย 1 อายุรกรรมชายในโรงพยาบาลอานันทมหิดล สถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ได้เข้าห้องน้ำภายในห้องผู้ป่วยดังกล่าว แล้วถอดแหวนเพชร 1 วง ราคา 20,000 บาท กับแหวนทองคำประดับพลอย 1 วง ราคา 10,000 บาท ไว้บนถาดวางสบู่เหนือที่ใส่ม้วนกระดาษชำระที่มีลักษณะตามภาพถ่ายสถานที่เกิดเหตุ เมื่ออาบน้ำและซักผ้าเสร็จผู้เสียหายออกจากห้องน้ำนำผ้าที่ซักไปตากที่ระเบียงด้านข้างห้องผู้ป่วยนั้น ช่วงเวลาดังกล่าวจำเลยซึ่งเป็นพนักงานช่วยงานพยาบาลนำถุงปัสสาวะของพันเอก บ. ใส่กระป๋องไปเทใส่โถส้วมชักโครกในห้องน้ำที่ผู้เสียหายเพิ่งออกมา หลังจากนั้นจำเลยออกจากห้องผู้ป่วยพิเศษเลขที่ 1301 ไป ต่อมาผู้เสียหายเข้าห้องน้ำเพื่อจะเอาแหวนทั้งสองวงที่วางไว้ แต่พบว่าหายไป ผู้เสียหายทราบจากพันเอก บ. ว่าเห็นจำเลยนำถุงปัสสาวะไปเททิ้งในห้องน้ำจึงแจ้งเรื่องให้หัวหน้าหอผู้ป่วยทราบ หัวหน้าหอผู้ป่วยเรียกพยาบาล 2 คน ผู้ช่วยพยาบาล 2 คน และจำเลยซึ่งอยู่เวรและเกี่ยวข้องในวันดังกล่าวมาตรวจค้นตัวและตรวจค้นล็อกเกอร์ประจำตัวของบุคคลทั้งห้านั้นแล้วไม่พบแหวนของผู้เสียหายที่หายไป จากนั้นเวลาประมาณ 9 นาฬิกา ผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรเมืองลพบุรี พนักงานสอบสวนไปตรวจสถานที่เกิดเหตุแล้วทำแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ ถ่ายรูปสถานที่เกิดเหตุ และทำบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุคดีอาญา วันที่ 23 กรกฎาคม 2553 จำเลยเข้ามอบตัวเพื่อขอต่อสู้คดีตามบันทึกการมอบตัวผู้ต้องหา ชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่าลักทรัพย์ในสถานที่ราชการ จำเลยให้การปฏิเสธตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา
          คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยคือคนร้ายที่ลักแหวน 2 วงของผู้เสียหายไปหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานใดที่เห็นจำเลยเอาแหวนทั้งสองวงของผู้เสียหายไป และหัวหน้าหอผู้ป่วยตรวจค้นไม่พบแหวนของผู้เสียหายที่จำเลยก็ตาม แต่ในเหตุที่มีจำเลยเพียงคนเดียวเข้าไปเทปัสสาวะของพันเอก บ. ลงโถส้วมในห้องน้ำที่เกิดเหตุแล้วแหวนทั้งสองวงของผู้เสียหายซึ่งวางอยู่ใกล้โถส้วมดังกล่าวหายไป ทั้งการตรวจค้นจำเลยก็มิได้กระทำในเวลาใกล้ชิดกับเวลาที่จำเลยออกจากห้องน้ำที่เกิดเหตุ รูปคดีจากพยานหลักฐานโจทก์จึงมีเหตุผลโดยชัดแจ้งว่าจำเลยคือคนร้ายที่ลักแหวน 2 วงของผู้เสียหายไป ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
          อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (8) วรรคแรกมานั้น เห็นว่า จำเลยเป็นพนักงานช่วยงานพยาบาลซึ่งทำงานในโรงพยาบาลที่เกิดเหตุ ห้องน้ำที่เกิดเหตุเป็นสถานที่ที่จำเลยต้องเข้าไปทำงานตามหน้าที่ และเหตุคดีนี้เกิดในช่วงเวลาที่จำเลยทำงาน กรณีจึงมิใช่เรื่องที่จำเลยเข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วลักทรัพย์ในสถานที่ดังกล่าว การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 มิใช่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในสถานที่ราชการ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

          ทำสัญญาซื้อขายหน้าดิน โดยผู้ซื้อไม่ทราบว่าที่ดินเป็นของผู้เสียหาย ผู้ซื้อเข้าไปขุดหน้าดินจึงไม่มีความผิดเพราะขาดเจตนา ส่วนผู้ขายนำหน้าดินของผู้เสียหายไปขาย เป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองแล้ว โดยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต โดยกระทำผ่านผู้ซื้อกับพวก ผู้ขายมีความผิดฐานบุกรุกและลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18654/2555  จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายหน้าดินจากจำเลยที่ 2 โดยมิได้ระแวงว่าหน้าดินที่จำเลยที่ 2 เสนอขายจะเป็นที่ดินของผู้ใด หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ให้ ว. กับพวก ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เข้าไปขุดดินในที่ดินของโจทก์ร่วมตามสัญญาซื้อขายดังกล่าว อันเป็นการกระทำโดยสุจริต จึงขาดเจตนารบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์และลักทรัพย์ของโจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดฐานบุกรุกและลักทรัพย์ ส่วนจำเลยที่ 2 นำหน้าดินของโจทก์ร่วมมาขายให้แก่จำเลยที่ 1 จนลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เข้ามาขุดเอาหน้าดินของโจทก์ร่วมไปโดยใช้ยานพาหนะนั้น นับว่าเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองแล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนารบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข เข้าไปในที่ดินของโจทก์ร่วมและเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต โดยกระทำผ่านจำเลยที่ 1 กับพวก แต่เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิด จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย คงฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานบุกรุก และลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 ประกอบมาตรา 336 ทวิ เท่านั้น

          ถ้าเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยถือวิสาสะ มิได้มีเจตนาเอาไปโดยทุจริต ก็ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13417/2555   ผู้เสียหายและจำเลยรู้จักกันก่อนเกิดเหตุ 2 เดือน และเคยทำงานด้วยกัน โดยจำเลยเป็นผู้ว่าจ้างให้ผู้เสียหายนำต้นกล้ายางไปส่งมอบให้เกษตรกร วันเกิดเหตุผู้เสียหายเป็นฝ่ายเชื้อเชิญให้จำเลยเข้าไปในบ้านและไปนั่งพูดคุยกันที่โต๊ะอาหาร บ่งชี้ว่าผู้เสียหายและจำเลยรู้จักและมีความคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ขณะที่จำเลยเอาอาวุธปืนของผู้เสียหายไป แม้เป็นเรื่องที่กระทำไปโดยพลการแต่ก็มี ถ. น้องเขยของผู้เสียหายรู้เห็น จึงเป็นการเอาไปอย่างเปิดเผย ถ. ยังให้การในชั้นสอบสวนว่า เห็นจำเลยหยิบอาวุธปืนของผู้เสียหายไปโดยเข้าใจว่าผู้เสียหายอนุญาตจึงไม่ได้ทักท้วง อันแสดงว่า ถ. ก็เห็นว่าผู้เสียหายกับจำเลยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและจำเลยมิได้กระทำการอย่างใดที่มีพิรุธอันแสดงให้เห็นว่า ต้องการลักอาวุธปืนของผู้เสียหาย ครั้นผู้เสียหายทราบจาก ถ. ว่าจำเลยเอาอาวุธปืนไปและติดต่อสอบถามจำเลยทางโทรศัพท์ จำเลยก็รับว่าเอาอาวุธปืนไปจริงและยังบอกว่าจะนำไปคืนให้ ซึ่งผิดวิสัยของผู้ที่ต้องการลักทรัพย์ของผู้อื่นที่ย่อมปฏิเสธการกระทำของตน แม้จำเลยจะนำอาวุธปืนไปคืนล่าช้าจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายต้องเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน แต่จำเลยมิได้นำอาวุธปืนไปแสวงหาประโยชน์ด้วยการนำไปจำหน่ายหรือก่อหนี้ผูกพันอื่นใด และนำไปคืนผู้เสียหายพร้อมกระสุนปืนครบถ้วน พฤติการณ์น่าเชื่อว่าจำเลยเอาอาวุธปืนของผู้เสียหายไปโดยถือวิสาสะ มิได้มีเจตนาเอาไปโดยทุจริต จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์

28 กรกฎาคม 2559

สามีมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาในทำนองชู้สาวและภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้

          ป.พ.พ.
          มาตรา 1523  "เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง หรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น
          สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้ และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้
          ถ้าสามีหรือภริยายินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้อีกฝ่ายหนึ่งกระทำการตามมาตรา 1516 (1)  หรือให้ผู้อื่นกระทำการตามวรรคสอง สามีหรือภริยานั้นจะเรียกค่าทดแทนไม่ได้"

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ เช่น
          ถ้าฟ้องเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งเป็นชู้กับสามีตามมาตรา 1523 วรรคหนึ่ง จะต้องเป็นกรณีที่ศาลพิพากษาให้หย่าขาดจากสามี แต่ถ้าเป็นกรณีหย่ากันโดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาล ก็มิใช่กรณีพิพากษาให้หย่ากัน จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทน 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8943/2557   ภริยามีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีได้โดยอาศัยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น” ดังนั้น การที่โจทก์จะได้รับค่าทดแทนจากจำเลยได้จึงต้องเป็นกรณีที่ศาลพิพากษาให้โจทก์และ น. หย่ากันและเหตุที่ น. อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องจำเลยฉันภริยา มีชู้ หรือร่วมประเวณีกับจำเลยเป็นอาจิณ เมื่อปรากฏว่าโจทก์กับ น. หย่ากันโดยทำสัญญาประนีประนอมต่อศาล แม้ศาลมีคำพิพากษาตามยอม การทำสัญญาประนีประนอมกันนั้นหาใช่การที่คู่ความยอมรับตามคำฟ้องและคำให้การกันไม่ จึงไม่ใช่กรณีที่ศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะมีเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากจำเลยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้และแม้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง จะให้สิทธิภริยาเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว โดยไม่ต้องฟ้องหย่าสามีโดยอาศัยเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (1) ก็ตาม แต่ตามคำฟ้องของโจทก์หาได้บรรยายฟ้องโดยอ้างพฤติการณ์ว่าจำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับ น. สามีโจทก์ในทำนองชู้สาวไม่ จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นที่โจทก์จะนำสืบเกี่ยวกับข้อเท็จจริงดังกล่าว

          ถ้าเพียงแต่สงสัยในความสัมพันธ์ระหว่างสามีโจทก์กับจำเลย ก็ยังเรียกค่าทดแทนมิได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10851/2555  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง การที่ภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มีความสัมพันธ์กับสามีของตนในทำนองชู้สาวได้ก็เฉพาะแต่หญิงนั้นต้องแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสามีของตนในทำนองชู้สาว เมื่อโจทก์เพียงแต่สงสัยในความสัมพันธ์ระหว่างสามีโจทก์กับจำเลย เช่น การที่สามีโจทก์ไปค้ำประกันหนี้เช่าซื้อรถยนต์ให้จำเลย การรับฟังผู้อื่นเล่ามาว่ามีคนต้องการโทรศัพท์ไปหาสามีโจทก์ เมื่อโทรหาจำเลยก็ติดต่อกับสามีโจทก์ก็ได้ หรือมีผู้เล่าว่าสามีโจทก์ไปหาจำเลยที่บ้านเช่า แต่ไม่ปรากฏว่ามีพยานอื่นสนับสนุนยังไม่พอฟังว่าเป็นการแสดงตนโดยเปิดเผย ทั้งการที่จำเลยกับสามีโจทก์อยู่ด้วยกันตามลำพังในโรงแรมชานเมือง แม้เป็นพฤติกรรมที่ทำให้น่าเชื่อว่าจำเลยอาจจะไปมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อสิทธิที่โจทก์จะเรียกค่าทดแทนจากจำเลยนั้น จำเลยต้องแสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวเท่านั้น แต่การกระทำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการลักลอบและพยายามปกปิดการกระทำให้ทราบกันตามลำพังระหว่างจำเลยและสามีโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลย

          แม้ไม่เคยพาออกงานสังคมหรือแนะนำให้บุคคลอื่นรู้จักในฐานะภริยา แต่การที่จำเลยทั้งสองไปไหนมาไหนด้วยกันอย่างเปิดเผยอยู่ในบ้านซึ่งปลูกสร้างในแหล่งชุมชนด้วยกันในเวลากลางคืน ขับรถรับส่งเมื่อไปทำกิจธุระหรือซื้ออาหารด้วยกัน ย่อมบ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาว อันเป็นเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) และมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากบุคคลที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวจากสามีโจทก์ตามมาตรา 1523 วรรคหนึ่งแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6516/2552  แม้จำเลยที่ 1 จะไม่เคยพาจำเลยที่ 2 ออกงานสังคม หรือแนะนำให้บุคคลอื่นรู้จักในฐานะภริยาแต่การที่จำเลยทั้งสองไปไหนมาไหนด้วยกันอย่างเปิดเผยอยู่ในบ้านซึ่งปลูกสร้างในแหล่งชุมชนด้วยกันในเวลากลางคืน ขับรถรับส่งเมื่อไปทำกิจธุระหรือซื้ออาหารด้วยกัน ย่อมบ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวและเอื้ออาทรดูแลเอาใจใส่ต่อกัน แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาอันเป็นเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) แล้ว และโจทก์ยังมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีโจทก์ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ได้อีกด้วย

          ไม่ว่าจะได้อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องฉันภริยาอยู่ก่อนแล้วหรือไม่ แต่เมื่อจดทะเบียนสมรสแล้ว โจทก์ย่อมได้รับสิทธิและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6164/2552   เมื่อโจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมได้รับสิทธิและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะไปอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยา ไม่ว่าจะได้อุปการะหรือยกย่องอยู่ก่อนแล้วหรือไม่ ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นเมื่อจำเลยที่ 2 รู้ว่าโจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 แล้ว แต่ยังรับการอุปการะเลี้ยงดูและการยกย่องฉันภริยาอยู่อีกจึงเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิโดยชอบที่จะนำคดีมาสู่ศาลเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสองได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

          ค่าทดแทนนี้ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์โดยศาลจะสั่งให้ชำระครั้งดียวหรือแบ่งชำระเป็นงวดๆ มีกำหนดเวลาตามที่ศาลจะเห็นสมควรก็ได้ ตามมาตรา 1525 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2498/2552  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1525 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การกำหนดค่าทดแทนกรณีศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามีเป็นชู้ หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากหญิงอื่นหรือชู้ ตามมาตรา 1523 วรรคหนึ่ง นั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์โดยศาลจะสั่งให้ชำระครั้งดียวหรือแบ่งชำระเป็นงวดๆ มีกำหนดเวลาตามที่ศาลจะเห็นสมควรก็ได้ และวรรคสองบัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้จะต้องชำระค่าทดแทนเป็นคู่สมรสของอีกฝ่ายหนึ่ง ให้ศาลคำนึงถึงจำนวนทรัพย์สินที่คู่สมรสนั้นได้รับไปจากการแบ่งสินสมรสเพราะการหย่านั้นด้วย เมื่อโจทก์เรียกค่าทดแทนจากจำเลยซึ่งเป็นคู่สมรสเป็นเงิน 5,000,000 บาท โดยมิได้แสดงพฤติการณ์พิเศษให้เห็นว่าเพราะเหตุใดโจทก์จึงควรได้ค่าทดแทนจำนวนดังกล่าว ศาลจึงต้องกำหนดโดยคำนึงถึงฐานานุรูปของโจทก์ จำเลยและพฤติการณ์แห่งคดี อีกทั้งทรัพย์สินที่โจทก์ได้รับจากการแบ่งสินสมรสตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองตามบทบัญญัติมาตรา 1525 ดังกล่าว ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนเพราะเหตุจำเลยอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยาเป็นเงิน 500,000 บาท นับว่าเหมาะสมตามควรแก่พฤติการณ์แล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะกำหนดค่าทดแทนให้มากไปกว่านี้