10 กรกฎาคม 2559

คำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี มีผลให้ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก

          คำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี
       
          ป.วิ.อ. มาตรา 147  "เมื่อมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีแล้ว ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้"

          บทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147 เป็นผลของคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี โดยมีผลให้ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก ยกเว้นว่าจะมีพยานหลักฐานใหม่ที่สำคัญซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหาได้ จึงจะสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันอีกได้

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ เช่น

          คดีนี้พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยไปแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมออกไปจากที่ดินพิพาท จึงเป็นความผิดที่เกิดขึ้นใหม่ มิใช่เรื่องเดียวกัน การสอบสวนคดีใหม่จึงไม่ขัดต่อมาตรา 147
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4243/2550   จำเลยมิได้ครอบครองที่ดินมาก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ จำเลยจึงไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินตาม ป.ที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 4
          พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องในคดีแรกเนื่องจากมีการแจ้งให้จำเลยออกจากที่ดินพิพาทไม่ครบตามระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ พนักงานอัยการยังมิได้วินิจฉัยเนื้อหาสาระสำคัญแห่งคดี อีกทั้งการที่จำเลยยังคงยึดถือครอบครองอยู่ในที่ดินพิพาทเป็นความผิดใหม่ที่ต่อเนื่องกันมา ทางอำเภอจึงได้แจ้งความร้องทุกข์และมีการสอบสวนดำเนินคดีใหม่และแจ้งให้จำเลยออกจากที่ดินพิพาทให้ครบถ้วนตามระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ การฟ้องคดีนี้จึงไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147

          ความเห็นของพนักงานสอบสวนว่าไม่ควรดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหา ยังไม่ใช่คำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีของอัยการ จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 147
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8481/2544  แม้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามจะเคยมีความเห็นว่าไม่ควรดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่ แต่ความเห็นของพนักงานสอบสวนกองปราบปรามดังกล่าวยังไม่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 และมาตรา 146 ดังนั้น จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 147 ที่ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก
          จำเลยที่ 4 มีอาชีพเป็นพ่อค้าขายเครื่องประดับประเภทเพชร พลอย เงิน ทอง นาก และนาฬิกา ได้รับใบอนุญาตให้ค้าของเก่าจำเลยที่ 4 ซื้อทรัพย์สินของกลางทั้ง 16 รายการมาจากจำเลยที่ 3เป็นมูลค่านับสิบล้านบาท แสดงว่าจำเลยที่ 4 ย่อมทราบดีว่าทรัพย์สินของกลางทั้ง 16 รายการเป็นทรัพย์สินที่มีราคาสูงและหาซื้อไม่ได้ในท้องตลาดทั่วไป และย่อมทราบดีว่าทรัพย์สินของกลางได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พฤติการณ์น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 4 ทราบว่าทรัพย์สินของกลางเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 วรรคแรก

          ความเห็นสั่งไม่ฟ้องจำเลยทุกข้อหาของอัยการพิเศษประจำเขต 8 นั้น เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นแย้งในบางข้อหา และไม่มีความเห็นในบางข้อหาเนื่องจากพนักงานสอบสวนยังไม่ได้แจ้งข้อหาให้จำเลยทราบและมิได้ดำเนินคดีมาแต่แรก จึงไม่ถือว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบกับคำสั่งไม่ฟ้องจำเลย  ทำให้คำสั่งไม่ฟ้องจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวยังไม่เป็นที่สุด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5721/2548  พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองภูเก็ตได้ทำสำนวนพร้อมความเห็นสั่งฟ้องจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ. กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนฯ และฐานร่วมกันยักยอกให้อัยการจังหวัดภูเก็ตพิจารณา อัยการจังหวัดภูเก็ตมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยตามความเห็นของพนักงานสอบสวนและสั่งฟ้องในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 267, 268 ด้วย โดยให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาดังกล่าวเพิ่มเติมให้จำเลยทราบก่อนฟ้อง แต่อัยการพิเศษประจำเขต 8 มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องจำเลยทุกข้อหา ส่วนความผิดตาม ป.อ. มาตรา 267, 268 ผู้เสียหายมิได้แจ้งความให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยจึงไม่ต้องดำเนินการในข้อหานี้แก่จำเลย ซึ่งอัยการจังหวัดภูเก็ตได้ดำเนินการตามความเห็นของอัยการพิเศษประจำเขต 8 โดยมีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยทุกข้อหา และยุติการดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ และใช้เอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 267, 268 เมื่ออัยการจังหวัดภูเก็ตทำสำนวนพร้อมความเห็นเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตพิจารณา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตมีความเห็นแย้งให้ฟ้องจำเลยเฉพาะในความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนและความผิดฐานยักยอก ดังนี้ เห็นได้ว่า ในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการนั้น ในชั้นต้นพนักงานสอบสวนยังไม่ได้แจ้งข้อหาให้จำเลยทราบ และมิได้ดำเนินคดีในข้อหานี้มาแต่แรก เมื่ออัยการจังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งให้ยุติการดำเนินการแก่จำเลยในข้อหานี้ ย่อมถือได้ว่าอัยการจังหวัดภูเก็ตยังไม่มีคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องจำเลยในข้อหาดังกล่าว การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตไม่มีความเห็นเกี่ยวกับข้อหานี้ จึงไม่ถือว่าผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นชอบกับคำสั่งไม่ฟ้องจำเลย อันจะทำให้คำสั่งไม่ฟ้องจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวเป็นที่สุด เมื่อสำนวนการสอบสวนเสนอไปยังอัยการสูงสุดพิจารณาเนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นแย้งให้ฟ้องจำเลยในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 145 วรรคสอง การที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ฟ้องจำเลยในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารราชการและใช้เอกสารดังกล่าวด้วยนั้น เป็นการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. พนักงานอัยการ พ.ศ. 2498 มาตรา 12 ที่ให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีได้ทุกศาล ไม่ใช่เป็นการสั่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 145 วรรคสอง คำสั่งให้ฟ้องจำเลยของอัยการสูงสุดย่อมชอบด้วยกฎหมาย



08 กรกฎาคม 2559

ผู้ทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สิน จะต้องเป็นทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น

        มรดก‬

          ป.พ.พ. มาตรา 1600  "ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ เว้นแต่ ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้"
          มาตรา 1646  "บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่างๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้"

‪          ฝากเงินใช้ชื่อผู้ตายเพื่อผู้เยาว์แสดงว่าผู้เยาว์เป็นเจ้าของเงินฝากในบัญชี‬ เงินฝากจึงไม่ใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้ตายจึงไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกเงินฝากดังกล่าวให้แก่ผู้ใด

‪          คำพิพากษาศาลฎีกาที่‬ 18489/2556   ป.พ.พ. มาตรา 1646 บัญญัติว่า บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่างๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้ จากบทบัญญัติดังกล่าวผู้ที่จะทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินได้นั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น จะกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลอื่นไม่ได้ การที่ผู้ตายฝากเงินกับธนาคารจำเลยที่ 1 โดยเปิดบัญชีเงินฝากใช้ชื่อ ผู้ตายเพื่อผู้เยาว์ แสดงว่าผู้เยาว์เป็นเจ้าของเงินฝากในบัญชี เช่นนี้ กรรมสิทธิ์ในเงินย่อมตกเป็นของผู้เยาว์ในทันทีที่ธนาคารจำเลยที่ 1 รับเงินเข้าบัญชีเงินฝาก ผู้ตายจึงไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกเงินฝากดังกล่าวให้แก่ผู้ใด ข้อกำหนดในพินัยกรรมส่วนนี้ไม่มีผลบังคับ
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้คู่ความแถลงไม่สืบพยาน โดยยอมรับข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสองฟ้องและจำเลยทั้งสองให้การ ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 21 ธันวาคม 2550 ดังนั้น ข้อเท็จจริงรับฟังว่า พลโท จ. หรือนาย จ. เปิดบัญชีเงินฝากที่ธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาประชาชื่น ระบุผู้ฝากคือ นาย จ. เพื่อผู้เยาว์ ชื่อเด็กชาย ว. ตามเอกสารท้ายคำให้การของจำเลยที่ 1 โดยสมุดบัญชีก็ใช้ชื่อบัญชีว่า นาย จ. เพื่อเด็กชาย ว. หลังจากนั้นมีการนำเงินเข้าฝากและเบิกถอนเงินจากบัญชีหลายครั้ง ตามสำเนาสมุดคู่ฝากเอกสารท้ายฟ้อง ซึ่งตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ก็ระบุว่า บิดามารดาของจำเลยที่ 2 เคยมาขอรับเงินจากพลโท จ.หลายครั้งเพื่อการศึกษาของจำเลยที่ 2 ต่อมาพลโท จ.ทำพินัยกรรมระบุว่า บัญชีธนาคารออมสิน สาขาประชาชื่น ซึ่งใส่ชื่อบุตรของพันตรี ส. ให้เด็กชาย ส. ทั้งหมด ตามสำเนาบันทึกข้อความเอกสารเพิ่มเติมพินัยกรรมท้ายฟ้อง พลโท จ.ถึงแก่ความตาย มีโจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดก ตามสำเนาคำสั่งศาลแพ่งเอกสารท้ายฟ้อง
          มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า เงินฝากในบัญชีที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกของพลโท จ.หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646 บัญญัติว่า "บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่างๆ อันจะให้เกิดผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้" จากบทบัญญัติดังกล่าวผู้ที่จะทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินได้นั้นจะต้องเป็นทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น จะกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลอื่นไม่ได้ การที่พลโท จ.ขอเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารจำเลยที่ 1 โดยใช้ชื่อบัญชีว่า นาย จ. เพื่อเด็กชาย ว. เช่นเดียวกับในสมุดคู่ฝากเงิน แสดงว่าจำเลยที่ 2 (เด็กชาย ว.)เป็นเจ้าของเงินฝากในบัญชีเงินฝาก เช่นนี้กรรมสิทธิ์ในเงินย่อมตกเป็นของจำเลยที่ 2 ในทันทีที่ธนาคารจำเลยที่ 1 รับเงินเข้าบัญชีเงินฝาก แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความต่อมามีการนำเงินเข้าฝากและมีการเบิกถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากหลายครั้ง การเบิกถอนเงินก็เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างธนาคารจำเลยที่ 1 กับพลโท จ.ว่า ใครเป็นผู้มีอำนาจเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝาก ก่อนที่จำเลยที่ 2 จะมีอำนาจจัดการเองได้ตามเงื่อนไข หรือระเบียบ และวิธีการของธนาคารจำเลยที่ 1 เท่านั้น ซึ่งข้อเท็จจริงก็ได้ความตามคำให้การจำเลยที่ 2 ว่า บิดามารดาของจำเลยที่ 2 ได้มาขอรับเงินจากพลโท จ.หลายครั้งเพื่อการศึกษาของจำเลยที่ 2 ยิ่งเป็นข้อสนับสนุนว่า การถอนเงินของพลโท จ.เป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 2 และเงินในบัญชีเป็นของจำเลยที่ 2 เมื่อกรรมสิทธิ์ในเงินฝากตกเป็นของจำเลยที่ 2 ทันทีที่ธนาคารจำเลยที่ 1 รับเงินเข้าบัญชี พลโท จ.จึงไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกเงินในบัญชีเงินฝากที่พิพาทแก่ผู้ใด ดังนั้น ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ยกเงินฝากในบัญชีดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 ตามสำเนาบันทึกข้อความ ลงวันที่ 9 เมษายน 2537 เอกสารเพิ่มเติมพินัยกรรมท้ายฟ้องหมายเลข 3 จึงไม่มีผลบังคับเนื่องจากไม่ใช่ทรัพย์สินของพลโท จ.อันจะกำหนดการเผื่อตายได้ โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกร้องในเงินจำนวนดังกล่าว


เจ้าหน้าที่ออกโฉนดที่ดินให้ แต่เพิกถอนในภายหลัง เป็นการกระทำละเมิดต่อเจ้าของที่ดินหรือไม่ ?

          พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
          มาตรา 5  "หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้
          ถ้าการละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ได้สังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งใดให้ถือว่ากระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดตามวรรคหนึ่ง"

          การที่เจ้าหน้าที่ออกโฉนดที่ดินให้ แต่เพิกถอนในภายหลัง เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่?

          กรณีนี้เป็นเรื่องของผู้ที่ซื้อที่ดินได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการถูกเพิกถอนโฉนดที่ดิน เนื่องจากออกโฉนดที่ดินทับเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวันซึ่งเป็นที่หลวง

          ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้มีอยู่ว่า เดิมที่ดินที่พิพาทเป็นที่ดินมี ส.ค. 1 ของนาง พ. โดยนาง พ.ไปขอรังวัดออกโฉนดที่ดินและเจ้าพนักงานที่ดินและผู้ว่าราชการจังหวัดออกโฉนดที่ดินให้เมื่อปี พ.ศ. 2501 ต่อมาบิดาของผู้ฟ้องคดีได้ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าว และได้จดทะเบียนยกที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีในปี พ.ศ. 2518 โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งว่าที่ดังกล่าวอยู่ในเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน
          ต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 2548 กรมที่ดินได้เพิกถอนโฉนดที่ดินเนื่องจากเป็นกรณีออกโฉนดทับที่ดินที่ รัชกาลที่ 6 มีพระบรมราชโองการฯ ในปี พ.ศ. 2466 ประกาศเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน และมีพระบรมราชโองการฯ ในปี พ.ศ. 2467 ไม่ให้ทำอันตรายแก่สัตว์ และหนังสือจากศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี ที่ 6,2390 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2466 แจ้งว่า “สมุหเทศาภิบาลประกาศว่าให้งดการออกหนังสือสำคัญที่ดินบริเวณเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ถ้ามีผู้ใดมาขอรับโฉนดหรือตราจอง ให้เสนอเรื่องก่อน เมื่อได้รับคำสั่งประการใดแล้วจึงจัดการต่อไป”

          ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การเพิกถอนโฉนดที่ดินเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีต้องเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว และเสียโอกาสในการนำที่ดินไปลงทุนพัฒนาเป็นที่พักอาศัย จึงอุทธรณ์คำสั่งต่ออธิบดีกรมที่ดิน แต่มีการยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (กรมที่ดินและกระทรวงมหาดไทย) ชดใช้ค่าเสียหาย

          คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 111/2558 - ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า พระบรมราชโองการฯ และประกาศของสมุหเทศาภิบาลมีผลเป็นกฎหมายและเป็นการสงวนหวงห้ามที่ดินให้เป็นที่หลวง โดยมีอาณาเขตที่หวงห้ามไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่ออกโฉนดที่ดินย่อมต้องทราบถึงการมีอยู่ของที่หลวงดังกล่าว หากได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบกฎหมายรวมถึงขอบเขตของที่หลวงหวงห้ามตามประกาศดังกล่าวก่อนที่จะทำการออกโฉนดที่ดินให้แก่นาง พ. การที่เจ้าหน้าที่ไม่ทำการตรวจสอบให้ละเอียดรอบคอบก่อนออกโฉนดที่ดินจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อในการได้ปฏิบัติหน้าที่
          ดังนั้น การที่ต่อมาโฉนดที่ดินได้ถูกเพิกถอนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินเพราะออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมทำให้เกิดความเสียหายแก่บิดาของผู้ฟ้องคดีและผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเป็นผู้รับโอนที่ดินเพราะเสียเงินค่าซื้อที่ดินแล้ว แต่ไม่ได้กรรมสิทธิ์ โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นผลโดยตรงมาจากการที่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อในการออกโฉนดที่ดิน อันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่สังกัดอยู่จะต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดนั้น ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
          สำหรับการพิจารณาค่าเสียหายนั้น ให้พิจารณาจากราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ใช้ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่สำนักงานประเมินราคาทรัพย์สิน กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ประกาศกำหนดไว้ในขณะที่เกิดการกระทำละเมิด คือ ขณะที่มีการเพิกถอนโฉนดที่ดินแปลงพิพาทเมื่อปี พ.ศ. 2548 มาเป็นฐานในการคำนวณและกำหนดให้ และต้องชำระดอกเบี้ยของต้นเงินที่เสียหายในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งคำสั่งเพิกถอนโฉนดอันถือว่าเป็นวันที่มีการกระทำละเมิดเกิดขึ้น แต่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ชดใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้องคดี ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้เกินกว่าคำขอ

         ***คดีนี้เป็นบรรทัดฐานการปฏิบัติราชการที่ดีให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังในการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบคอบและรอบด้านก่อนที่จะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นว่าเป็นที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่สามารถจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

04 กรกฎาคม 2559

ความผิดฐานปลอมเอกสาร การกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนตาม‬ ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก ‪เป็นพฤติการณ์ประกอบการกระทำ‬ แม้ผลจะไม่เกิดขึ้นก็เป็นความผิด

‪‎        ความผิดฐานปลอมเอกสาร‬และใช้เอกสารปลอม


          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 264  "ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          ผู้ใดกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้น ถ้าได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน ให้ถือว่าผู้นั้นปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน"
          มาตรา 265  "ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท"
          มาตรา 268  "ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ
          ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น หรือเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความนั้นเองให้ลงโทษตามมาตรานี้แต่กระทงเดียว"

          ‪การกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนตาม‬ ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก และมาตรา 268 วรรคแรก ‪‎เป็นพฤติการณ์ประกอบการกระทำ‬ มิใช่ผลที่ต้องเกิดขึ้นจากการกระทำ เพียงแต่น่าจะเกิดแม้จะไม่เกิดขึ้นก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว

          ตัวอย่างเช่น
‪          คำพิพากษาศาล‎ฎีกาที่‬ 6654/2550  การกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก และมาตรา 268 วรรคแรก เป็นพฤติการณ์ประกอบการกระทำ มิใช่ผลที่ต้องเกิดขึ้นจากการกระทำ เพียงแต่น่าจะเกิดแม้จะไม่เกิดขึ้นก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว และความเสียหายที่น่าจะเกิดนั้นอาจเป็นความเสียหายที่มีรูปร่าง เช่นความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือความเสียหายต่อศีลธรรม เช่น เสียชื่อเสียง หรือความเสียหายต่อประชาชน เช่น ความไว้เนื้อเชื่อใจในการประกอบธุรกิจด้วย การที่จำเลยปลอมใบรับฝากเงิน อันเป็นเอกสารสิทธิดังกล่าวนำเงินเข้าฝากในบัญชีของบุคคลทั้งสองที่ธนาคาร ก.สาขาสี่แยกบ้านแขก เป็นผลให้เงินของเจ้าของบัญชีทั้งสองบัญชีเพิ่มมากขึ้น แม้จะไม่มีความเสียหายต่อทรัพย์สินแต่เป็นเปลี่ยนแปลงหลักฐานจำนวนเงินของเจ้าของบัญชีทั้งสองในระบบบัญชีของธนาคาร ก. ให้แตกต่างไปจากความเป็นจริง อันจะเป็นผลให้เจ้าของบัญชีทั้งสองและธนาคาร ก. อาจเสียชื่อเสียงไม่ได้รับความเชื่อมั่นไว้วางใจในสังคมและในการประกอบกิจการธุรกิจอันเป็นประการที่น่าจะเกิดความเสียตามบทบัญญัติในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอมตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 และมาตรา 268 วรรคแรก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 769/2540  จำเลยเป็นผู้ทำสัญญากู้ยืมเงิน รวมทั้งลายมือชื่อ ส.ผู้ให้สัญญาด้วยตนเองเมื่อปี 2536 ภายหลังที่ ส.ถึงแก่ความตายไปแล้วในปี 2533 และลงวันที่ย้อนหลังไปว่าได้ทำสัญญาดังกล่าวขึ้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2531 ทำให้เห็นว่าสัญญาดังกล่าวทำขึ้นระหว่าง ส.กับจำเลยในขณะที่ ส.ยังมีชีวิตอยู่ และใจความของสัญญาดังกล่าวที่ว่า ส.กู้ยืมเงินจำเลย 100,000 บาท ถ้า ส.ไม่คืนเงินจำนวนดังกล่าว ส.ยอมโอนที่ดินสวนยางพารา เนื้อที่ 14 ไร่ 1 งานแก่จำเลยนั้น นอกจากไม่เป็นความจริงแล้ว ยังน่าจะเกิดความเสียหายแก่ทายาทของ ส.อีกด้วย และเหตุที่จำเลยทำเอกสารดังกล่าวขึ้นเพื่อจะใช้อ้างกับ ด.ว่าที่ดินของ ส.เป็นของจำเลย และจะได้เรียกร้องค่าเสียหายต่อไป ซึ่งทำให้เห็นได้ว่าการที่จำเลยกระทำดังกล่าวเพื่อให้ ด.หลงเชื่อว่าเอกสารสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นเอกสารที่แท้จริง ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการปลอมเอกสารสิทธิตาม ป.อ.มาตรา 265
          ข้อความที่ว่า "โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน" ตาม ป.อ.มาตรา 264 นั้น ไม่ใช่การกระทำโดยแท้ และไม่ใช่เจตนาพิเศษ จึงไม่เกี่ยวกับเจตนา แต่เป็นพฤติการณ์ที่ประกอบการกระทำที่น่าจะเกิดความเสียหายได้ แม้จะไม่เกิดความเสียหายขึ้นจริงก็เป็นองค์ประกอบความผิดที่พิจารณาได้จากความคิดธรรมดาของบุคคลทั่วไปในลักษณะเดียวกับจำเลย ส่วนคำว่าผู้หนึ่งผู้ใดในข้อความที่ว่า "ได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง" นั้น แสดงว่านอกจากเป็นการกระทำโดยเจตนาแล้วยังต้องมีเจตนาพิเศษในการกระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงด้วย โดยมิได้เจาะจงผู้ที่ถูกกระทำให้หลงเชื่อไว้โดยเฉพาะว่าจะต้องเป็นผู้ใด ดังนั้น การที่จำเลยเจตนากระทำเอกสารปลอมขึ้นเพื่อให้ ด.หลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงก็เป็นความผิดแล้ว แม้จำเลยยังมิได้นำเอกสารดังกล่าวไปใช้แสดงต่อ ด.ก็ตาม ทั้งบุคคลที่จะถูกทำให้หลงเชื่อนี้กฎหมายมิได้กำหนดว่าจำต้องเกี่ยวโยงเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกับบุคคลที่น่าจะเกิดความเสียหายเพราะการกระทำของจำเลย คือทายาทของ ส. แต่อย่างใด แต่อาจเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ได้
          เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 265 แล้ว กรณีไม่จำต้องปรับบทด้วย ป.อ. มาตรา 264 อีก

การแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้

          ป.พ.พ. มาตรา 350 "แปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้น จะทำเป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ก็ได้ แต่จะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมหาได้ไม่"

          การแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ที่ทำกันถูกต้องย่อมมีผลให้หนี้เดิมระงับไป ลูกหนี้เดิมหลุดพ้นจากความรับผิด และให้มาผูกพันกันตามสัญญาฉบับใหม่โดยลูกหนี้คนใหม่

          การแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ จะทำเป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ก็ได้ เช่น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5433/2551  การที่จำเลยทั้งสองยอมให้โจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันของจำเลยทั้งสองในการเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจำนวน 22 คัน ไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบริษัทซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าว โดยโจทก์จะเป็นผู้ชำระหนี้ให้แก่บริษัทจำนวน 14,683,970 บาท โดยบริษัทจะโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกทั้งหมดให้แก่โจทก์ และไม่ติดใจจะเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ อีกต่อไป ถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ โดยลูกหนี้เก่าคือจำเลยทั้งสองให้ความยินยอมตาม ป.พ.พ. มาตรา 350 ดังนั้น หนี้เดิมตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันจึงเป็นอันระงับไปตามมาตรา 349 วรรคหนึ่ง


          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติ จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจำนวน 22 คัน จากบริษัท อ. โดยมีโจทก์เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาจำเลยทั้งสองทำหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ตกลงให้โจทก์รับผิดชอบชำระหนี้ จำนวน 22,770,975 บาท แทนจำเลยทั้งสองให้แก่บริษัท อ. และต่อมาโจทก์ได้ทำหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความกับบริษัท อ. โดยโจทก์ตกลงชำระหนี้ให้แก่บริษัท อ. เป็นเงิน 14,683,970 บาท และบริษัทเอ็มเอ็มซี สิทธิผล จำกัด ไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ ต่อไป
          คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้หรือไม่เพียงใด โจทก์มีนาย ส. และนาย อ.อ เบิกความว่า โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจำนวน 22 คัน ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเช่าซื้อจากบริษัท อ.  ต่อมาจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์จึงไปตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบริษัท อ. โดยตกลงจะชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 14,683,970 บาท และบริษัท อ. ตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกทั้ง 22 คัน ให้แก่โจทก์ เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองยอมให้โจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันของจำเลยทั้งสองในการเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจำนวน 22 คัน ไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบริษัท อ. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าว โดยโจทก์จะเป็นผู้ชำระหนี้ให้แก่บริษัท อ. จำนวน 14,683,970 บาท โดยบริษัท อ. จะโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกทั้งหมดให้แก่โจทก์ และไม่ติดใจจะเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ อีกต่อไป ถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ โดยลูกหนี้เก่าคือจำเลยทั้งสองให้ความยินยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 ดังนั้น หนี้เดิมตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันจึงเป็นอันระงับไปตามมาตรา 349 วรรคหนึ่ง จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดต่อบริษัท อ. อีกต่อไป และการที่โจทก์ได้รับรถยนต์บรรทุกทั้งหมดไปไว้ในการครอบครอง โดยบริษัท อ. ตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้แก่โจทก์ ถือได้ว่าโจทก์ได้ตกลงซื้อรถยนต์บรรทุกจากบริษัท อ. แล้ว ที่โจทก์อ้างว่ารถยนต์บรรทุกทั้งหมดเป็นซากรถที่ใช้งานไม่ได้แล้ว เห็นว่า เป็นความพอใจของโจทก์เองในการทำสัญญา ข้อ 4 ที่ยอมรับมอบกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไขว่ารถยนต์จะอยู่ในสภาพใด ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจปฏิเสธเรื่องสภาพของรถยนต์บรรทุกที่รับคืนมา และที่โจทก์เรียกค่าติดตามรถยนต์คืนจากจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 4,000,000 บาท นั้น เห็นว่า นาย ส. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ เบิกความว่า บริษัท อ. เป็นผู้คืนซากรถยนต์บรรทุกทั้ง 22 คัน ให้แก่โจทก์ ดังนั้น ผู้ติดตามรถยนต์บรรทุกทั้งหมดคือบริษัท อ. มิใช่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายใดๆ ตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้

          การทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้คนใหม่นั้น กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ จึงสามารถแสดงเจตนาทำสัญญาด้วยวาจาได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2339/2551   ป.พ.พ. มาตรา 350 มิได้บัญญัติว่าต้องทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่เป็นหนังสือระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ การแสดงเจตนาด้วยวาจาโดยมีคำเสนอและคำสนองตรงกันก็ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่ต่อกันได้แล้ว
          ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง ต้องมีกรณีเป็นที่สงสัย จึงนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำขึ้นเป็นหนังสือ แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่มีกรณีใดๆ ที่จะต้องสงสัยอีกต่อไป เพราะโจทก์ยินยอมรับโอนที่ดินจากบริษัท ธ. แล้ว ซึ่งตามมาตรา 361 สัญญาระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทาง ย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นแต่เวลาเมื่อคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ การที่โจทก์รับโอนที่ดินจึงเป็นการสนองเจตนาไปถึงบริษัท ธ. ผู้เสนอแล้วย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้น โดยมิจำต้องทำเป็นหนังสือ
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยสั่งซื้อสีทาอาคารจากโจทก์เป็นเงิน 641,865.57 บาท ต่อมาวันที่ 24 กันยายน 2541 บริษัท ธ. ได้ส่งโทรสารถึงโจทก์ขอชำระหนี้แทนจำเลย โดยเสนอโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 37692 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ให้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 ต่อมาวันที่ 18 ธันวาคม 2541 โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวจากบริษัท ธ. โดยใส่ชื่อกรรมการผู้จัดการของโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทน
          ปัญหาต้องวินิจฉัยว่า หนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยนั้นได้มีการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้หรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า ยังไม่มีการทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้อันเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์กับบริษัท ธ. หนี้ตามสัญญาซื้อขายเดิมระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงยังไม่ระงับสิ้นไปนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 บัญญัติว่า แปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้นจะทำเป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ก็ได้ แต่จะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมหาได้ไม่ ตามมาตราดังกล่าวที่กฎหมายบัญญัติให้ทำเป็นสัญญานั้น กฎหมายมิได้บัญญัติว่าต้องทำเป็นหนังสือ การแสดงเจตนาโดยมีคำเสนอและคำสนองตรงกันก็ย่อมถือว่าเป็นการแสดงเจตนาทำสัญญาต่อกันได้แล้ว ตามคำเสนอข้อตกลงการชำระหนี้ของบริษัท ธ. โดยบริษัทดังกล่าวเสนอโอนที่ดินให้แก่โจทก์ตีมูลค่าราคาที่ดินเป็นเงิน 448,000 บาท ส่วนหนี้ที่เหลืออีกจำนวน 193,865.57 บาท ผู้รับสัญญาคือบริษัท ธ. ตกลงจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้ทำบันทึกข้อตกลง ซึ่งต่อมาวันที่ 18 ธันวาคม 2541 โจทก์ก็ได้สนองรับคำเสนอตามเอกสารหมาย จ.10 โดยโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวจากบริษัท ธ. โดยใส่ชื่อกรรมการผู้จัดการโจทก์ไว้แทน คำเสนอของบริษัท ธ. จึงตรงกับคำสนองของโจทก์ เพราะโจทก์ได้รับโอนที่ดินไว้แล้วโดยใส่ชื่อกรรมการผู้จัดการโจทก์ การโอนหนี้ดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีการขืนใจลูกหนี้แต่อย่างใด จึงเป็นการแปลงหนี้โดยชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 หนี้จึงเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 หนี้ที่เกิดขึ้นใหม่ จึงเป็นหนี้ระหว่างโจทก์กับบริษัท ธ. ที่จะต้องว่ากล่าวกันต่อไป
          ที่โจทก์ฎีกาว่า เจตนาของคู่สัญญาทั้งสามฝ่ายที่มีอยู่ในร่างบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.10 และ จ.12 ย่อมแสดงให้เห็นว่าคู่สัญญาทั้งสามฝ่าย อันได้แก่ โจทก์ จำเลยและบริษัท ธ. ประสงค์ที่จะทำความตกลงกันโดยละเอียดก่อนแล้วจึงทำเป็นหนังสือ แต่เมื่อปรากฏว่าคู่สัญญาทั้งสามฝ่ายยังไม่ได้ทำสัญญาเป็นหนังสือ จึงถือว่าสัญญาแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้อันเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์กับบริษัท ธ. ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งโจทก์เห็นว่ากรณีต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคสอง ดังนั้น การที่บริษัท ธ. ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์จึงเป็นการชำระหนี้บางส่วนของจำเลย หนี้ส่วนที่เหลือระหว่างโจทก์จำเลยยังไม่ระงับสิ้นไปนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าได้ตกลงกันว่าสัญญาอันมุ่งจะทำนั้นต้องทำเป็นหนังสือไซร้ เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย ท่านนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำขึ้นเป็นหนังสือ เห็นว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่มีกรณีใดๆ ที่จะต้องสงสัยอีกต่อไป เพราะโจทก์ยินยอมรับโอนที่ดินจากบริษัท ธ. โดยใส่ชื่อกรรมการผู้จัดการของโจทก์ไว้แทนแล้ว ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 361 บัญญัติว่า อันสัญญาระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทางนั้น ย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นแต่เวลาเมื่อคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ การที่โจทก์รับโอนที่ดินจึงเป็นการสนองเจตนาไปถึงบริษัท ธ. ผู้เสนอแล้วย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นโดยมิจำต้องทำเป็นหนังสือ หนี้ระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นอันระงับ

          กรณีผู้จัดการมรดกและทายาทยอมรับสภาพหนี้ของเจ้ามรดกต่อเจ้าหนี้่ มีผลผูกพันกองมรดกเท่านั้น ไม่อาจถือว่าแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3242/2543   จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทของ ด. ยอมรับสภาพหนี้ของ ด. ต่อโจทก์ มีผลผูกพันกองมรดกของ ด. เท่านั้นที่จะต้องรับผิดในหนี้สินตามที่ปรากฏในหนังสือรับสภาพหนี้ ไม่อาจถือได้ถึงขนาดว่าจำเลยยอมเข้าผูกพันตนเป็นลูกหนี้แทนในลักษณะแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ จำเลยจึงมิใช่ลูกหนี้โดยตรงของโจทก์
          แม้จำเลยจะเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกแต่ก็รับผิดไม่เกินทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่อาจก้าวล่วงไปบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่มิใช่ทรัพย์มรดก ประกอบกับหนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ที่ ด. ก่อขึ้นเอง หาก ด. ยังคงมีชีวิตอยู่ ด. อาจถูกฟ้องขอให้ล้มละลายได้ ด. จึงมีหน้าที่และความรับผิดตามกฎหมายล้มละลายต่อโจทก์และเป็นหน้าที่และความรับผิดโดยเฉพาะของ ด. ไม่ใช่เป็นมรดกที่จะตกทอดแก่จำเลยผู้เป็นทายาทหรือผู้จัดการมรดกของ ด. โจทก์จึงนำหนี้ตามฟ้องมาฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ด. ให้ล้มละลายไม่ได้แต่ชอบที่จะฟ้องขอให้จัดการทรัพย์มรดกของ ด. ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 82
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6225/2539   ป. เป็นลูกหนี้โจทก์อยู่ เมื่อ ป. ถึงแก่กรรมแล้วจำเลยทั้งสองทำหนังสือเพื่อชำระหนี้แทน ป. ซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ 1 และเป็นบิดาจำเลยที่ 2 โดยจำเลยทั้งสองมิได้เป็นหนี้โจทก์ โดยระบุว่า ขณะทำสัญญาฉบับนี้ ป.ยังคงเป็นลูกหนี้โจทก์อยู่เป็นจำนวนเงิน 2,720,000 บาทจำเลยทั้งสองยินยอมชดใช้หนี้จำนวนดังกล่าวโดยจะชำระเป็นงวดเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ป. ทำขึ้นเพื่อยอมรับสภาพหนี้ของเจ้ามรดก มิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้อันจะเป็นเหตุให้มูลหนี้เดิมระหว่างโจทก์กับ ป. ระงับลง เพราะ ป. ได้ถึงแก่กรรมไปก่อนที่จะมีการจัดทำหนังสือดังกล่าวแล้วและข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงเจตนาที่ยอมตนเข้าผูกพันรับผิดต่อโจทก์ในฐานะทายาทผู้ตายมิใช่รับผิดเป็นส่วนตัวและเป็นสัญญาที่มีผลสมบูรณ์บังคับกันได้ตามกฎหมาย แต่คงรับผิดต่อโจทก์ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่จำเลยทั้งสองจะได้รับ
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันและไม่โต้แย้งกันฟังได้ว่า นาย ป.เป็นลูกหนี้โจทก์อยู่เป็นเงินจำนวน 2,720,000 บาท เมื่อนาย ป.ถึงแก่กรรมแล้วจำเลยทั้งสองทำหนังสือตามเอกสารหมาย จ.1 เพื่อชำระหนี้แทนนาย ป.ผู้ตายซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ 1 และเป็นบิดาจำเลยที่ 2 โดยจำเลยทั้งสองมิได้เป็นหนี้โจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในปัญหาข้อกฎหมายว่า หนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ตามที่โจทก์ฟ้องมีผลบังคับหรือไม่และจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดหรือไม่เพียงใด พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยทั้งสองได้ทำหนังสือตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งความในข้อ 1 ระบุว่า"ขณะทำสัญญาฉบับนี้ นาย ป. ยังคงเป็นลูกหนี้นาย ก.(โจทก์) อยู่เป็นจำนวนเงิน 2,720,000 บาทข้าพเจ้าทั้งสองตกลงยินยอมชดใช้หนี้จำนวนดังกล่าวโดยจะชำระเป็นงวด งวดละเดือนเดือนละไม่น้อยกว่า 200,000 บาท ชำระงวดแรกในวันที่ 20 ตุลาคม 2534 งวดต่อไปภายในวันที่ 20 ของทุกเดือนและจะชำระให้เสร็จภายในวันที่ 25 มกราคม 2535" เป็นที่เห็นได้ว่าหนังสือตามเอกสารหมาย จ.1 ดังกล่าวเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของนาย ป.ผู้ตายลูกหนี้ทำขึ้นเพื่อยอมรับสภาพหนี้ของเจ้ามรดก เอกสารหมาย จ.1 มิใช่เป็นกรณีของการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้อันจะเป็นเหตุให้มูลหนี้เดิมระหว่างโจทก์กับนาย ป.ระงับลงเพราะนาย ป.ได้ถึงแก่กรรมไปก่อนที่จะมีการจัดทำเอกสารหมาย จ.1 ดังกล่าวแล้วและ เมื่อพิเคราะห์ข้อความในเอกสารหมาย จ.1 แล้วแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยทั้งสองที่ยอมตนเข้าผูกพันรับผิดต่อโจทก์ในฐานะทายาทผู้ตายมิใช่รับผิดเป็นส่วนตัวและเป็นสัญญาที่มีผลสมบูรณ์บังคับกันได้ตามกฎหมาย หากแต่จำเลยทั้งสองคงต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะทายาทของผู้ตายไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่จำเลยทั้งสองจะได้รับ