04 กรกฎาคม 2559

การแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้

          ป.พ.พ. มาตรา 350 "แปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้น จะทำเป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ก็ได้ แต่จะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมหาได้ไม่"

          การแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ที่ทำกันถูกต้องย่อมมีผลให้หนี้เดิมระงับไป ลูกหนี้เดิมหลุดพ้นจากความรับผิด และให้มาผูกพันกันตามสัญญาฉบับใหม่โดยลูกหนี้คนใหม่

          การแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ จะทำเป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ก็ได้ เช่น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5433/2551  การที่จำเลยทั้งสองยอมให้โจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันของจำเลยทั้งสองในการเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจำนวน 22 คัน ไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบริษัทซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าว โดยโจทก์จะเป็นผู้ชำระหนี้ให้แก่บริษัทจำนวน 14,683,970 บาท โดยบริษัทจะโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกทั้งหมดให้แก่โจทก์ และไม่ติดใจจะเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ อีกต่อไป ถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ โดยลูกหนี้เก่าคือจำเลยทั้งสองให้ความยินยอมตาม ป.พ.พ. มาตรา 350 ดังนั้น หนี้เดิมตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันจึงเป็นอันระงับไปตามมาตรา 349 วรรคหนึ่ง


          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติ จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจำนวน 22 คัน จากบริษัท อ. โดยมีโจทก์เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาจำเลยทั้งสองทำหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ตกลงให้โจทก์รับผิดชอบชำระหนี้ จำนวน 22,770,975 บาท แทนจำเลยทั้งสองให้แก่บริษัท อ. และต่อมาโจทก์ได้ทำหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความกับบริษัท อ. โดยโจทก์ตกลงชำระหนี้ให้แก่บริษัท อ. เป็นเงิน 14,683,970 บาท และบริษัทเอ็มเอ็มซี สิทธิผล จำกัด ไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ ต่อไป
          คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้หรือไม่เพียงใด โจทก์มีนาย ส. และนาย อ.อ เบิกความว่า โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจำนวน 22 คัน ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเช่าซื้อจากบริษัท อ.  ต่อมาจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์จึงไปตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบริษัท อ. โดยตกลงจะชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 14,683,970 บาท และบริษัท อ. ตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกทั้ง 22 คัน ให้แก่โจทก์ เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองยอมให้โจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันของจำเลยทั้งสองในการเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจำนวน 22 คัน ไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบริษัท อ. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าว โดยโจทก์จะเป็นผู้ชำระหนี้ให้แก่บริษัท อ. จำนวน 14,683,970 บาท โดยบริษัท อ. จะโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกทั้งหมดให้แก่โจทก์ และไม่ติดใจจะเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ อีกต่อไป ถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ โดยลูกหนี้เก่าคือจำเลยทั้งสองให้ความยินยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 ดังนั้น หนี้เดิมตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันจึงเป็นอันระงับไปตามมาตรา 349 วรรคหนึ่ง จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดต่อบริษัท อ. อีกต่อไป และการที่โจทก์ได้รับรถยนต์บรรทุกทั้งหมดไปไว้ในการครอบครอง โดยบริษัท อ. ตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้แก่โจทก์ ถือได้ว่าโจทก์ได้ตกลงซื้อรถยนต์บรรทุกจากบริษัท อ. แล้ว ที่โจทก์อ้างว่ารถยนต์บรรทุกทั้งหมดเป็นซากรถที่ใช้งานไม่ได้แล้ว เห็นว่า เป็นความพอใจของโจทก์เองในการทำสัญญา ข้อ 4 ที่ยอมรับมอบกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไขว่ารถยนต์จะอยู่ในสภาพใด ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจปฏิเสธเรื่องสภาพของรถยนต์บรรทุกที่รับคืนมา และที่โจทก์เรียกค่าติดตามรถยนต์คืนจากจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 4,000,000 บาท นั้น เห็นว่า นาย ส. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ เบิกความว่า บริษัท อ. เป็นผู้คืนซากรถยนต์บรรทุกทั้ง 22 คัน ให้แก่โจทก์ ดังนั้น ผู้ติดตามรถยนต์บรรทุกทั้งหมดคือบริษัท อ. มิใช่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายใดๆ ตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้

          การทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้คนใหม่นั้น กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ จึงสามารถแสดงเจตนาทำสัญญาด้วยวาจาได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2339/2551   ป.พ.พ. มาตรา 350 มิได้บัญญัติว่าต้องทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่เป็นหนังสือระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ การแสดงเจตนาด้วยวาจาโดยมีคำเสนอและคำสนองตรงกันก็ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่ต่อกันได้แล้ว
          ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง ต้องมีกรณีเป็นที่สงสัย จึงนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำขึ้นเป็นหนังสือ แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่มีกรณีใดๆ ที่จะต้องสงสัยอีกต่อไป เพราะโจทก์ยินยอมรับโอนที่ดินจากบริษัท ธ. แล้ว ซึ่งตามมาตรา 361 สัญญาระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทาง ย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นแต่เวลาเมื่อคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ การที่โจทก์รับโอนที่ดินจึงเป็นการสนองเจตนาไปถึงบริษัท ธ. ผู้เสนอแล้วย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้น โดยมิจำต้องทำเป็นหนังสือ
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยสั่งซื้อสีทาอาคารจากโจทก์เป็นเงิน 641,865.57 บาท ต่อมาวันที่ 24 กันยายน 2541 บริษัท ธ. ได้ส่งโทรสารถึงโจทก์ขอชำระหนี้แทนจำเลย โดยเสนอโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 37692 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ให้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 ต่อมาวันที่ 18 ธันวาคม 2541 โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวจากบริษัท ธ. โดยใส่ชื่อกรรมการผู้จัดการของโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทน
          ปัญหาต้องวินิจฉัยว่า หนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยนั้นได้มีการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้หรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า ยังไม่มีการทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้อันเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์กับบริษัท ธ. หนี้ตามสัญญาซื้อขายเดิมระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงยังไม่ระงับสิ้นไปนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 บัญญัติว่า แปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้นจะทำเป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ก็ได้ แต่จะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมหาได้ไม่ ตามมาตราดังกล่าวที่กฎหมายบัญญัติให้ทำเป็นสัญญานั้น กฎหมายมิได้บัญญัติว่าต้องทำเป็นหนังสือ การแสดงเจตนาโดยมีคำเสนอและคำสนองตรงกันก็ย่อมถือว่าเป็นการแสดงเจตนาทำสัญญาต่อกันได้แล้ว ตามคำเสนอข้อตกลงการชำระหนี้ของบริษัท ธ. โดยบริษัทดังกล่าวเสนอโอนที่ดินให้แก่โจทก์ตีมูลค่าราคาที่ดินเป็นเงิน 448,000 บาท ส่วนหนี้ที่เหลืออีกจำนวน 193,865.57 บาท ผู้รับสัญญาคือบริษัท ธ. ตกลงจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้ทำบันทึกข้อตกลง ซึ่งต่อมาวันที่ 18 ธันวาคม 2541 โจทก์ก็ได้สนองรับคำเสนอตามเอกสารหมาย จ.10 โดยโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวจากบริษัท ธ. โดยใส่ชื่อกรรมการผู้จัดการโจทก์ไว้แทน คำเสนอของบริษัท ธ. จึงตรงกับคำสนองของโจทก์ เพราะโจทก์ได้รับโอนที่ดินไว้แล้วโดยใส่ชื่อกรรมการผู้จัดการโจทก์ การโอนหนี้ดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีการขืนใจลูกหนี้แต่อย่างใด จึงเป็นการแปลงหนี้โดยชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 หนี้จึงเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 หนี้ที่เกิดขึ้นใหม่ จึงเป็นหนี้ระหว่างโจทก์กับบริษัท ธ. ที่จะต้องว่ากล่าวกันต่อไป
          ที่โจทก์ฎีกาว่า เจตนาของคู่สัญญาทั้งสามฝ่ายที่มีอยู่ในร่างบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.10 และ จ.12 ย่อมแสดงให้เห็นว่าคู่สัญญาทั้งสามฝ่าย อันได้แก่ โจทก์ จำเลยและบริษัท ธ. ประสงค์ที่จะทำความตกลงกันโดยละเอียดก่อนแล้วจึงทำเป็นหนังสือ แต่เมื่อปรากฏว่าคู่สัญญาทั้งสามฝ่ายยังไม่ได้ทำสัญญาเป็นหนังสือ จึงถือว่าสัญญาแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้อันเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์กับบริษัท ธ. ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งโจทก์เห็นว่ากรณีต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคสอง ดังนั้น การที่บริษัท ธ. ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์จึงเป็นการชำระหนี้บางส่วนของจำเลย หนี้ส่วนที่เหลือระหว่างโจทก์จำเลยยังไม่ระงับสิ้นไปนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าได้ตกลงกันว่าสัญญาอันมุ่งจะทำนั้นต้องทำเป็นหนังสือไซร้ เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย ท่านนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำขึ้นเป็นหนังสือ เห็นว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่มีกรณีใดๆ ที่จะต้องสงสัยอีกต่อไป เพราะโจทก์ยินยอมรับโอนที่ดินจากบริษัท ธ. โดยใส่ชื่อกรรมการผู้จัดการของโจทก์ไว้แทนแล้ว ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 361 บัญญัติว่า อันสัญญาระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทางนั้น ย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นแต่เวลาเมื่อคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ การที่โจทก์รับโอนที่ดินจึงเป็นการสนองเจตนาไปถึงบริษัท ธ. ผู้เสนอแล้วย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นโดยมิจำต้องทำเป็นหนังสือ หนี้ระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นอันระงับ

          กรณีผู้จัดการมรดกและทายาทยอมรับสภาพหนี้ของเจ้ามรดกต่อเจ้าหนี้่ มีผลผูกพันกองมรดกเท่านั้น ไม่อาจถือว่าแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3242/2543   จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทของ ด. ยอมรับสภาพหนี้ของ ด. ต่อโจทก์ มีผลผูกพันกองมรดกของ ด. เท่านั้นที่จะต้องรับผิดในหนี้สินตามที่ปรากฏในหนังสือรับสภาพหนี้ ไม่อาจถือได้ถึงขนาดว่าจำเลยยอมเข้าผูกพันตนเป็นลูกหนี้แทนในลักษณะแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ จำเลยจึงมิใช่ลูกหนี้โดยตรงของโจทก์
          แม้จำเลยจะเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกแต่ก็รับผิดไม่เกินทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่อาจก้าวล่วงไปบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่มิใช่ทรัพย์มรดก ประกอบกับหนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ที่ ด. ก่อขึ้นเอง หาก ด. ยังคงมีชีวิตอยู่ ด. อาจถูกฟ้องขอให้ล้มละลายได้ ด. จึงมีหน้าที่และความรับผิดตามกฎหมายล้มละลายต่อโจทก์และเป็นหน้าที่และความรับผิดโดยเฉพาะของ ด. ไม่ใช่เป็นมรดกที่จะตกทอดแก่จำเลยผู้เป็นทายาทหรือผู้จัดการมรดกของ ด. โจทก์จึงนำหนี้ตามฟ้องมาฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ด. ให้ล้มละลายไม่ได้แต่ชอบที่จะฟ้องขอให้จัดการทรัพย์มรดกของ ด. ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 82
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6225/2539   ป. เป็นลูกหนี้โจทก์อยู่ เมื่อ ป. ถึงแก่กรรมแล้วจำเลยทั้งสองทำหนังสือเพื่อชำระหนี้แทน ป. ซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ 1 และเป็นบิดาจำเลยที่ 2 โดยจำเลยทั้งสองมิได้เป็นหนี้โจทก์ โดยระบุว่า ขณะทำสัญญาฉบับนี้ ป.ยังคงเป็นลูกหนี้โจทก์อยู่เป็นจำนวนเงิน 2,720,000 บาทจำเลยทั้งสองยินยอมชดใช้หนี้จำนวนดังกล่าวโดยจะชำระเป็นงวดเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ป. ทำขึ้นเพื่อยอมรับสภาพหนี้ของเจ้ามรดก มิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้อันจะเป็นเหตุให้มูลหนี้เดิมระหว่างโจทก์กับ ป. ระงับลง เพราะ ป. ได้ถึงแก่กรรมไปก่อนที่จะมีการจัดทำหนังสือดังกล่าวแล้วและข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงเจตนาที่ยอมตนเข้าผูกพันรับผิดต่อโจทก์ในฐานะทายาทผู้ตายมิใช่รับผิดเป็นส่วนตัวและเป็นสัญญาที่มีผลสมบูรณ์บังคับกันได้ตามกฎหมาย แต่คงรับผิดต่อโจทก์ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่จำเลยทั้งสองจะได้รับ
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันและไม่โต้แย้งกันฟังได้ว่า นาย ป.เป็นลูกหนี้โจทก์อยู่เป็นเงินจำนวน 2,720,000 บาท เมื่อนาย ป.ถึงแก่กรรมแล้วจำเลยทั้งสองทำหนังสือตามเอกสารหมาย จ.1 เพื่อชำระหนี้แทนนาย ป.ผู้ตายซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ 1 และเป็นบิดาจำเลยที่ 2 โดยจำเลยทั้งสองมิได้เป็นหนี้โจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในปัญหาข้อกฎหมายว่า หนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ตามที่โจทก์ฟ้องมีผลบังคับหรือไม่และจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดหรือไม่เพียงใด พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยทั้งสองได้ทำหนังสือตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งความในข้อ 1 ระบุว่า"ขณะทำสัญญาฉบับนี้ นาย ป. ยังคงเป็นลูกหนี้นาย ก.(โจทก์) อยู่เป็นจำนวนเงิน 2,720,000 บาทข้าพเจ้าทั้งสองตกลงยินยอมชดใช้หนี้จำนวนดังกล่าวโดยจะชำระเป็นงวด งวดละเดือนเดือนละไม่น้อยกว่า 200,000 บาท ชำระงวดแรกในวันที่ 20 ตุลาคม 2534 งวดต่อไปภายในวันที่ 20 ของทุกเดือนและจะชำระให้เสร็จภายในวันที่ 25 มกราคม 2535" เป็นที่เห็นได้ว่าหนังสือตามเอกสารหมาย จ.1 ดังกล่าวเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของนาย ป.ผู้ตายลูกหนี้ทำขึ้นเพื่อยอมรับสภาพหนี้ของเจ้ามรดก เอกสารหมาย จ.1 มิใช่เป็นกรณีของการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้อันจะเป็นเหตุให้มูลหนี้เดิมระหว่างโจทก์กับนาย ป.ระงับลงเพราะนาย ป.ได้ถึงแก่กรรมไปก่อนที่จะมีการจัดทำเอกสารหมาย จ.1 ดังกล่าวแล้วและ เมื่อพิเคราะห์ข้อความในเอกสารหมาย จ.1 แล้วแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยทั้งสองที่ยอมตนเข้าผูกพันรับผิดต่อโจทก์ในฐานะทายาทผู้ตายมิใช่รับผิดเป็นส่วนตัวและเป็นสัญญาที่มีผลสมบูรณ์บังคับกันได้ตามกฎหมาย หากแต่จำเลยทั้งสองคงต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะทายาทของผู้ตายไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่จำเลยทั้งสองจะได้รับ



01 กรกฎาคม 2559

สัญญาจ้างทำของ(จ้างเหมาก่อสร้าง) - ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้วโดยมิได้อิดเอื้อน‬ ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิดเพื่อการที่ส่งมอบเนิ่นช้า (มาตรา 597)

‎          จ้างทำของ‬ ‪(จ้างเหมาก่อสร้าง‬)

       
          ป.พ.พ.
          มาตรา 587  "อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น"
          มาตรา 597 " ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้วโดยมิได้อิดเอื้อน ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิดเพื่อการที่ส่งมอบเนิ่นช้า"

‪          เมื่อคู่สัญญามิได้ถือเอาระยะเวลาตามที่กำหนดในสัญญาเป็นสาระสำคัญจึงไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับ‬ จากการส่งมอบงานล่าช้า
          ‪‎ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้วโดยมิได้อิดเอื้อน‬ ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิดเพื่อการที่ส่งมอบเนิ่นช้า

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่‬ 3012/2552  นอกจากงานก่อสร้างตามสัญญา จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ทำงานเพิ่มเติมไปจากสัญญา ซึ่งโจทก์ต้องใช้เวลาในการดำเนินการเพิ่มขึ้น ประกอบกับการส่งงานงวดที่ 14 และที่ 15 โจทก์ส่งมอบพร้อมกันภายหลังล่วงพ้นระยะเวลาก่อสร้างสิ้นสุดแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินค่างวดทั้งสองงวดให้โจทก์ โดยไม่ปรากฏว่าในขณะรับมอบงานจำเลยที่ 1 ได้อิดเอื้อนหรือสงวดสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับไว้ การที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้บอกโจทก์แล้วว่าจะมีคนมาใช้ประโยชน์ในอาคารที่ก่อสร้างก็เป็นเพียงคำปรารภหาใช่เป็นการสงวนสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับไม่
          การที่จำเลยที่ 1 รับมอบงานงวดที่ 14 และที่ 15 ทั้งที่ระยะเวลาก่อสร้างสิ้นสุดแล้วและให้โจทก์ก่อสร้างงานงวดที่ 16 ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายต่อไป ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้ถือเอาระยะเวลาตามสัญญาเป็นสำคัญ ทั้งมีงานที่จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ทำนอกเหนือสัญญาด้วย จึงเป็นพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่าข้อสัญญาที่เกี่ยวกับการส่งมอบงานล่าช้าไม่แล้วเสร็จตามสัญญานี้ โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างมีเจตนาให้ระงับกันไปไม่ถือเป็นการผิดสัญญา จึงทำให้จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับที่โจทก์ส่งมอบงานพ้นกำหนดเวลาสิ้นสุดตามสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 381 วรรคสาม และมาตรา 597
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2467 - 2468/2552  โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารขนาด 16 คูหา แบ่งงวดงานก่อสร้างทั้งหมด 11 งวด กำหนดลงมือก่อสร้างวันที่ 1 ตุลาคม 2537 ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2538 จำเลยที่ 1 ไม่สามารถส่งงานตามกำหนดงวดในสัญญาได้ โจทก์ที่ 1 ก็ยอมรับโดยเมื่อพ้นกำหนดตามสัญญาคือวันที่ 30 กันยายน 2538 โจทก์ที่ 1 มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 เร่งรัดทำการก่อสร้างตามงวดงาน เอกสารทุกฉบับที่โจทก์ที่ 1 ส่งถึงจำเลยที่ 1 เป็นเวลาหลังจากครบกำหนดตามสัญญาก่อสร้างแล้ว ฝ่ายจำเลยที่ 1 ยืนยันว่าโจทก์ที่ 1 ไม่ถือเอาระยะเวลาเป็นสาระสำคัญแม้จะส่งงานเกินกำหนดเวลาแต่ละงวดโจทก์ที่ 1 ก็ยอมรับผลงาน การที่โจทก์ที่ 1 ยอมรับผลงานก่อสร้างที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบงวดงานจึงเป็นการขยายระยะเวลาสัญญาว่าจ้างไปโดยไม่มีกำหนด มิได้ถือเอาวันที่กำหนดไว้เป็นสาระสำคัญ จนกระทั่งจำเลยที่ 1 ขอเบิกเงินค่างวดงานในงวดที่ 9 แต่โจทก์ที่ 1 ปฏิเสธโดยขอให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กันยายน 2539 แสดงว่าโจทก์ที่ 1 ได้กำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบงานทั้งหมดใหม่คือวันที่ 15 กันยายน 2539 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญา โจทก์ที่ 1 มีหนังสือบอกเลิกสัญญาลงวันที่ 16 กันยายน 2539 ส่งถึงจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2539 จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2539 มิใช่วันที่ 30 กันยายน 2538 ดังนั้น จำเลยจที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากโจทก์ทั้งสิบหก
          เมื่อฝ่ายโจทก์มิได้ถือเอากำหนดส่งมอบงานเดิมในวันที่ 30 กันยายน 2538 เป็นสาระสำคัญ และได้กำหนดให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบงานใหม่เป็นวันที่ 15 กันยายน 2539 โจทก์ที่ 1 จึงอ้างว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาก่อนวันที่ 15 กันยายน 2538 หาได้ไม่ โจทก์ที่ 1 ไม่อาจเรียกร้องค่าปรับรายวันตามสัญญาในระหว่างวันที่ 30 กันยายน 2538 ถึงวันที่ 15 กันยายน 2539 จากจำเลยที่ 1 ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7809/2540  จำเลยทำงานล่วงเลยเวลาที่กำหนดไว้ แต่โจทก์ยอมรับเอาผลงานและชำระเงินให้จำเลยโดยดี โดยงานที่จำเลยทำส่วนใหญ่สมบูรณ์ มีความชำรุดบกพร่องเพียงเล็กน้อย ดังนี้ถือได้ว่าจำเลยได้ทำงานที่จ้างให้โจทก์เสร็จแล้ว
          ตามสัญญาจ้างเหมาฉบับพิพาทมีข้อความว่า ผู้รับจ้างต้องทำงานรายนี้ให้แล้วเสร็จบริบูรณ์ภายในกำหนด 180 วัน นับแต่วันที่ปรากฏในสัญญานี้เป็นต้นไปถ้าหากไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดนี้ผู้รับจ้างยินยอมให้ผู้ว่าจ้างปรับเป็นรายวันจนกว่าผู้รับจ้างจะทำงานรายนี้แล้วเสร็จสมบูรณ์ แต่ถ้าผู้ว่าจ้างเห็นว่าผู้รับจ้างไม่มีทางที่จะทำงานจ้างรายนี้ให้แล้วเสร็จได้ เมื่อครบกำหนด 60 วันแล้ว ผู้รับจ้างยังทำไม่แล้วเสร็จ ผู้ว่าจ้างมีอำนาจที่จะเลิกสัญญานี้ได้ทันที และหากเกิดความเสียหายใด ๆ ขึ้นอันเนื่องจากผู้รับจ้างเหมาผิดสัญญา ผู้ว่าจ้างมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ตามกฎหมายอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้ เมื่อครบกำหนดแล้วโจทก์ไม่ได้บอกเลิกสัญญาแล้วใช้สิทธิเรียกเบี้ยปรับตามสัญญา แต่กลับยอมต่ออายุสัญญาให้จำเลยโดยยอมรับเอาผลงานของจำเลยและชำระค่าจ้างให้จำเลยในวันซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่ครบกำหนดอายุสัญญาที่โจทก์ต่อให้แล้ว แสดงว่า โจทก์ไม่ได้ถือเอาระยะเวลาตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากจำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6697/2540  แม้โจทก์ผู้รับจ้างจะก่อสร้างอาคารให้จำเลยไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญา แต่จำเลยก็ตกลงยินยอมให้โจทก์ทำการก่อสร้างต่อจนอาคารแล้วเสร็จ และจำเลยได้จดทะเบียนโอนขายอาคารนั้นให้บุคคลอื่นไป หลังจากนั้นจำเลยยังให้โจทก์ก่อสร้างเพิ่มเติมอาคารอีกหลังหนึ่งด้วยและจำเลยก็ไม่ติดใจเรื่องค่าปรับวันละ 1,000 บาท ตามสัญญา ดังนี้เมื่อจำเลยไม่ได้เคร่งครัดเรื่องกำหนดเวลาการก่อสร้างและไม่ได้ติดใจในเรื่องค่าปรับ ทั้งยังยอมรับผลงานของโจทก์หลังจากพ้นกำหนดเวลาตามสัญญาแล้ว อันเป็นการยอมรับชำระหนี้โดย มิได้สงวนสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับ จำเลยย่อมหมดสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับจากโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381 วรรคสาม

          ***แต่ถ้าผู้ว่าจ้างรับมอบงานโดยมีการโต้แย้งเรื่องค่าจ้างไว้ ถือว่ารับมอบงานโดยอิดเอื้อนแล้ว ได้สงวนสิทธิไว้เช่นนั้นในเวลาชำระหนี้แล้ว ผู้ว่าจ้างจึงมีสิทธิเรียกค่าปรับ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2919/2540  ในวันส่งมอบงานมีการโต้แย้งกันเรื่องค่าจ้าง จึงมิใช่โจทก์รับมอบงานโดยไม่อิดเอื้อน และบันทึกที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบงานให้โจทก์ระบุว่าค่าปรับจำเลยที่ 1 ขอผัดผ่อนไปก่อน โจทก์ขอสงวนสิทธิไว้เพื่อจะเรียกร้องต่อไป ดังนี้จึงฟังได้ว่า โจทก์ได้สงวนสิทธิไว้เช่นนั้นในเวลาชำระหนี้แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลยทั้งสองได้
          โจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 1 ทำงานผิดพลาดบกพร่อง โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 มาจัดการซ่อมแซม แต่จำเลยที่ 1ไม่มาทำ โจทก์ต้องไปจ้างช่างอื่นมาทำให้ใหม่ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์รวมเป็นเงิน 67,650 บาท ซึ่งเป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญา จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/30
          ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่ารายการเกี่ยวกับการทาสีบ้าน บันไดหลุดหลวม ก๊อกน้ำโถส้วม ปูนฉาบบ้านร้าวขาดอายุความ โจทก์อุทธรณ์ว่ารายการดังกล่าวไม่ขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดีโจทก์ขาดอายุความจึงไม่ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับความเสียหายดังกล่าว เป็นการไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ.ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง และศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยประเด็นที่ว่าจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชดใช้ความเสียหายในรายการดังกล่าวหรือไม่โดยไม่ส่งสำนวนคืนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247
          บ้านโจทก์ชำรุดบกพร่อง โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 มาทำการซ่อมแซมแล้วแต่จำเลยที่ 1 ไม่มา โจทก์จึงมีสิทธิจ้างผู้อื่นให้ทำงานแทนจำเลยที่ 1 ได้และการที่จำเลยที่ 1 ไม่ทำการซ่อมแซม จำเลยที่ 1 จึงผิดสัญญาข้อ 6 แม้โจทก์จะยังไม่ได้จ้างบุคคลอื่นซ่อมแทนจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ก็เป็นฝ่ายผิดสัญญาและโจทก์ได้รับความเสียหายแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าจ้างบุคคลอื่นทำแทนจำเลยที่ 1 จากจำเลยทั้งสองได้ แต่ตามสัญญาก่อสร้างไม่ได้ระบุว่า ช่องหลังคาต้องป้องกันค้างคาวได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์สำหรับรายการดังกล่าว



29 มิถุนายน 2559

เปิดเพลงให้ลูกค้าฟังในร้านกาแฟหรือร้านอาหารโดยไม่ได้เรียกเก็บค่าตอบแทนจากลูกค้าในการเปิดเพลงแต่อย่างใด การกระทำจึงไม่เป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ

‪          พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ‬
          มาตรา 31 "ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของ ผู้อื่น กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานนั้นเพื่อหากำไร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดัง ต่อไปนี้
          (1) ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า ให้เช่าซื้อ หรือเสนอให้เช่าซื้อ
          (2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน
          (3) แจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์
          (4) นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร"

          การเปิดเพลงให้ลูกค้าฟังในร้านกาแฟหรือร้านอาหารโดยไม่ได้เรียกเก็บค่าตอบแทนจากลูกค้าในการเปิดเพลงหรือเรียกเก็บรวมไปกับค่าอาหารหรือเครื่องดื่มแต่อย่างใด การกระทำจึงไม่เป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ เพราะมิได้เป็นการหากำไรโดยตรงจากการละเมิดลิขสิทธิ์

‪          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10579/2551 โจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฯ มาตรา 31 โดยโจทก์บรรยายฟ้องเพียงแต่ว่าจำเลยเปิดแผ่นเอ็มพี 3 และซีดีเพลงให้ลูกค้าในร้านอาหารของจำเลยได้ร้องและฟังเพลงของผู้เสียหายจำนวน 1 เพลง เพียง "เพื่อประโยชน์ในทางการค้า" ขายอาหารและเครื่องดื่มของจำเลย ซึ่งความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวต้องเป็นการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น "เพื่อหากำไร" เท่านั้นแต่ตามคำบรรยายฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าได้ร้องและฟังเพลง โดยเรียกเก็บค่าตอบแทนจากลูกค้าในการเปิดเพลงดังกล่าวหรือเรียกเก็บรวมไปกับค่าอาหารและเครื่องดื่มแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฯ มาตรา 31 เพราะไม่ครบองค์ประกอบความผิดของบทมาตราดังกล่าวซึ่งต้องเป็นการกระทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการละเมิดลิขสิทธิ์นั้นด้วย ดังนั้น แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 185
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8220/2553 ความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ต้องเป็นการเผยแพร่งานนั้นต่อสาธารณชน "เพื่อหากำไร" ซึ่งหมายความว่า กำไรนั้นหากจำเลยได้มาหรือจะได้มาจะต้องเกิดจากการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น แต่ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมานั้นได้ความว่า จำเลยประกอบกิจการค้าขายอาหารตามสั่งและเครื่องดื่มจำเลยเปิดแผ่นวีซีดีเพลง "กำลังใจที่เธอไม่รู้" อันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ซึ่งได้มีผู้ทำขึ้นหรือดัดแปลงขึ้นให้ลูกค้าในร้านอาหารของจำเลยได้ฟัง ไม่ปรากฏว่าจำเลยเปิดเพลงดังกล่าวเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าได้ฟังเพลงโดยการเรียกเก็บค่าตอบแทนจากลูกค้าในการเปิดเพลงดังกล่าว หรือเรียกเก็บเพิ่มรวมไปกับค่าอาหารและเครื่องดื่มแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง เพราะไม่ครบองค์ประกอบความผิดของบทมาตราดังกล่าวซึ่งต้องเป็นการกระทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการละเมิดลิขสิทธิ์ แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง

26 มิถุนายน 2559

ความผิดฐานพรากเด็กและความผิดฐานพรากผู้เยาว์

          ประมวลกฎหมายอาญา

          มาตรา 317    "ผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกพันบาทถึงสามหมื่นบาท
          ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวเด็กซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น
          ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท"

          มาตรา 318    "ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสีย จากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสองหมื่นบาท
          ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวผู้เยาว์ซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น
          ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกพันบาทถึงสามหมื่นบาท"

          มาตรา 319    "ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสองหมื่นบาท
          ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวผู้เยาว์ซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น"

       
          ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 คำว่า “พราก” หมายความว่าจากไป พาเอาไปเสีย แยกออกจากกัน เอาออกจากกัน ดังนั้น ความผิดฐานพรากเด็กหรือพรากผู้เยาว์ จึงหมายถึง การพาหรือแยกเด็กหรือผู้เยาว์ออกไปจากอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดาถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยบิดามารดาไม่รู้เห็นยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดา



       

          ความผิดฐานพรากเด็ก ตามมาตรา 317

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  12665/2556   ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 คำว่า “พราก” หมายความว่าจากไป พาเอาไปเสีย แยกออกจากกัน เอาออกจากกัน ดังนั้น ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม จึงหมายถึง การพาหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดาเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยบิดามารดาเด็กไม่รู้เห็นยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดาเด็ก แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ร้องอนุญาตให้ผู้เสียหายที่ 2 ทำงานเป็นพนักงานเก็บเงินค่าโดยสารให้จำเลย หากรถยนต์โดยสารของจำเลยถึงจังหวัดตรังเวลาค่ำ จำเลยและผู้เสียหายที่ 2 จะนอนค้างคืนที่ห้องเช่า อีกทั้งผู้ร้องเคยไปพักกับผู้เสียหายที่ 2 ที่ห้องเช่าดังกล่าวด้วย แสดงว่าผู้ร้องรู้เห็นยินยอมให้ผู้เสียหายที่ 2 พักอยู่ห้องเช่าจังหวัดตรังกับจำเลย จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม
          การกระทำอนาจาร หมายถึง การกระทำที่ไม่สมควรทางเพศ เช่น กอดจูบ ลูบคลำ แตะต้องเนื้อตัวร่างกายในทางไม่สมควร การกระทำชำเราจึงรวมถึงการกระทำอนาจารอยู่ในตัว เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยปลุกปล้ำ กอดจูบ ถอดเสื้อผ้า และกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้ายตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคสอง และฐานข่มขืนกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่ง เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9829/2556   การกระทำที่เป็นการพรากเด็กไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล ตาม ป.อ. มาตรา 317 นั้น ไม่ถึงขนาดต้องควบคุมตัวเด็กนั้นไว้ เพระการกระทำเช่นนั้นจะเป็นความผิดต่อเสรีภาพอีกต่างหาก คำว่า “พราก” มีความหมายว่า จากไปหรือแยกออกจากกัน สาระสำคัญจึงอยู่ที่การพาไปหรือการแยกเด็กไปนั้น ได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าวให้ไปกับบุคคลที่พาไปหรือไม่ หรือมิฉะนั้นบุคคลที่พาเด็กนั้นไปจะต้องมีเหตุอันสมควร
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความผิดฐานพรากเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารกับฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปีที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำเมื่อวันที่ 14 และ 16 ธันวาคม 2550 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่ฎีกา ความผิดทั้งสองข้อหาดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือไม่ เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปข่มขืนกระทำชำเราในระหว่างเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน 2550 รวม 3 ครั้ง ซึ่งในขณะนั้นผู้เสียหายที่ 1 มีอายุ 13 ปีเศษ ไม่ว่าผู้เสียหายที่ 1 จะยินยอมให้จำเลยกระทำชำเราหรือไม่ ก็เป็นความผิดแล้ว ......ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 อยู่ในความดูแลของนาง ข. ยายของผู้เสียหายที่ 1 การที่จำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่บริเวณฝายในครั้งแรกแล้วกระทำอนาจาร และข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ในครั้งต่อมาโดยพาไปที่กระท่อมบริเวณทุ่งนา และบริเวณลำห้วย การกระทำของจำเลยทั้งสามครั้งจึงเป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร แต่การกระทำของจำเลยในวันที่ 14 มิถุนายน 2550 ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความว่า หลังจากที่ออกไปจับกบกับจำเลยและ นาง ส. แล้วได้เดินกลับมาที่บ้านของจำเลย ขณะที่อยู่ที่หลังบ้านจำเลยเดินมาทางด้านหลังใช้มือโอบและผลักผู้เสียหายที่ 1 ให้นอนลง จากนั้นผู้เสียหายที่ 1 ถูกจำเลยกระทำชำเรา โดยจำเลยไม่ได้พาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่ใด จากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ได้ความว่า นาง ส. จะเป็นผู้ชวนผู้เสียหายที่ 1 ออกไปจับกบ การกระทำของจำเลยในครั้งนี้เป็นเพียงการฉวยโอกาสข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ในขณะผู้เสียหายที่ 1 อยู่บริเวณหลังบ้านของจำเลย จึงไม่เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารด้วย
          ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการต่อมาซึ่งเป็นข้อกฎหมายว่า การกระทำอันเป็นการพรากเด็กนั้น ผู้กระทำต้องมีเจตนาที่จะไม่ให้เด็กนั้นมีอิสระในการเคลื่อนไหวด้วยหรือไม่ เห็นว่า การกระทำที่เป็นการพรากเด็กไปเสียจากบิดามารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 นั้น ไม่ถึงขนาดต้องควบคุมเด็กนั้นไว้ เพราะการกระทำเช่นนั้นจะเป็นความผิดต่อเสรีภาพอีกต่างหาก คำว่า “พราก” ตามพจนานุกรมมีความหมายว่า จากไปหรือแยกออกจากกัน ดังนั้น สาระสำคัญจึงอยู่ที่ว่าการพาไปหรือแยกเด็กไปนั้นได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าวให้ไปกับบุคคลที่พาไปหรือไม่ หรือมิฉะนั้นบุคคลที่พาเด็กนั้นไปจะต้องมีเหตุอันสมควร โดยบทกฎหมายดังกล่าวประสงค์ที่จะลงโทษผู้ที่ละเมิดอำนาจปกครองดูแลเด็กของบุคคลดังกล่าว อันเป็นการคุ้มครองเด็กมิให้ถูกล่อลวงไปในทางเสียหาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  19958/2555  ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตาม ป.อ. มาตรา 317 แม้จะมุ่งคุ้มครองมิให้ผู้ใดมาก่อการรบกวน หรือกระทำการใด ๆ อันจะกระทบต่ออำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็ก แต่กรณีจะเป็นความผิดดังกล่าวได้จะต้องมีการกระทำที่เป็นการพราก ซึ่งหมายถึงการพาไปเสียประกอบด้วย การที่เด็กทั้งห้ามาที่ห้องพักของจำเลยด้วยความสมัครใจ จำเลยไม่เคยเป็นผู้พามา และเด็กทั้งห้าสามารถกลับบ้านของตนเองได้เสมอหากต้องการเช่นนั้น เช่นนี้จำเลยจึงมิได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการพรากเด็กทั้งห้าไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล จำเลยย่อมไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยมีความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาอ้างว่า การกระทำของจำเลยมิได้เป็นการล่วงล้ำอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลของเด็กทั้งห้า เด็กทั้งห้ามาที่ห้องพักของจำเลยเอง หรือมาที่ห้องพักเพราะเพื่อนเป็นผู้ชักชวนโดยจำเลยไม่ได้ใช้กลอุบายล่อลวงมาและเด็กทุกคนมีอิสระที่จะไปไหนมาไหนหรือจะกระทำการหรือไม่กระทำการใดด้วยสมัครใจของตนเองนั้นเห็นว่า ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 แม้จะมุ่งคุ้มครองมิให้มีผู้ใดมาก่อการรบกวน หรือกระทำการใดๆ อันจะกระทบต่ออำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็ก แต่กรณีจะเป็นความผิดดังกล่าวได้จะต้องมีการกระทำที่เป็นการพราก ซึ่งหมายถึง การพาเอาไปเสียประกอบด้วย แต่จากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบได้ความว่า ด.ช. น. รู้จักนาย อ.ซึ่งเคยพักอยู่ห้องเดียวกับจำเลยมาก่อนและเคยมาพักที่ห้องพักของจำเลยด้วย หลังจากนั้น ด.ช. น. ได้แนะนำ ด.ช. ล.  เด็กชาย ช. และเด็กชาย ม.  ให้รู้จักจำเลยและมาที่ห้องพักดังกล่าวเนื่องจากมีของเล่นและคอมพิวเตอร์ ส่วนเด็กชาย ณ.  มีนาย อ. เป็นผู้แนะนำให้รู้จักจำเลย และมาเล่นคอมพิวเตอร์ที่ห้องพักของจำเลยเช่นกัน ทุกครั้งที่มาจำเลยจะให้อาหารและขนมหรือเงินแก่เด็กทั้งห้าโดยเฉพาะเด็กชาย ช.เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยด้วยว่า เหตุที่มาที่ห้องพักของจำเลยเพราะอยู่บ้านก็ไม่มีอะไรจะทำ ซึ่งแสดงว่าเด็กทั้งห้ามาที่ห้องพักของจำเลยเองด้วยความเต็มใจ จำเลยไม่เคยเป็นผู้พามา และเด็กทั้งห้าสามารถกลับบ้านของตนเองได้เสมอหากต้องการเช่นนั้น เช่นนี้จำเลยจึงมิได้กระทำการใด ๆ อันเป็นพรากเด็กทั้งห้าไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล จำเลยย่อมไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวมาด้วยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  11196/2555   การพรากเป็นคนละอย่างกับการพูดชักชวนและการพรากมีความหมายคนละอย่างกับการพูดและไม่ใช่การพูด หากจำเลยพูดแต่ไม่ได้พรากหรือพาผู้เสียหายไปจำเลยย่อมไม่ผิดฐานพรากผู้เยาว์ เพราะการพรากผู้เยาว์จะต้องมีการกระทำที่ยิ่งกว่าการพูดชักชวน เนื่องจากการพูดชักชวน เด็กหรือผู้เยาว์ตัดสินใจไม่ไปตามที่พูดชักชวนได้ จนกว่าจะมีการพาเด็กหรือผู้เยาว์ไปตามทิศทางที่พูดชักชวนไว้ จึงจะมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ได้ สอดคล้องกับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานที่ให้คำนิยามคำว่า พราก หมายถึงต้องมีการกระทำที่พาไป ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยพูดชักชวนผู้เสียหายที่ 1 จนผู้เสียหายที่ 1 ยอมออกจากบ้านมาหาจำเลย การกระทำของจำเลยเป็นการพรากผู้เยาว์แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความเพียงจำเลยพูดชักชวนผู้เสียหายที่ 1 จนผู้เสียหายที่ 1 ใจอ่อนยอมมาหาจำเลยเองโดยจำเลยไม่ได้ไปรับหรือพาผู้เสียหายที่ 1 ออกมาจากบ้าน การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์

          ต้องเป็นการพรากไปโดยปราศจากเหตุอันสมควรด้วยจึงจะเป็นความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 398/2517   บิดาพรากบุตรนอกสมรสไปเสียจากการปกครองของมารดาเพื่อให้การอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษา การกระทำโดยมีเจตนาดีต่อบุตร เช่นนี้ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการพรากโดยปราศจากเหตุอันสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317

          ผู้ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวเด็กที่ถูกพรากไว้โดยทุจริต จะต้องรับโทษเช่นเดียวกันกับผู้พรากเด็กนั้น ตามมาตรา 317 วรรคสอง
          ส่วนถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 317 นี้ ผู้กระทำผิดได้กระทำเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร ก็จะต้องรับโทษหนักขึ้นตามมาตรา 317 วรรคสาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5409/2530   การที่จำเลยพรากเด็กไปเพื่อให้ขอทานเงินและเก็บหาทรัพย์สินมาให้จำเลย เป็นการกระทำไปเพื่อหาประโยชน์ในทางทรัพย์สิน อันเป็นเจตนาพิเศษในการพรากเด็ก จึงเป็นการกระทำเพื่อหากำไร เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคท้าย

           ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ มาตรา 318, 319

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  13041/2553   ขณะที่จำเลยชักชวนนางสาว ว. ไปพักอาศัยที่บ้านพักครูประจำโรงเรียน ผู้เสียหายซึ่งเป็นมารดาไม่ยินยอม แต่นางสาว ว. ไม่เชื่อฟังเก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋าและจำเลยมารับไป หลังจากนั้นหลายเดือน นางสาว ว. ไม่ได้กลับมาบ้านและไม่ได้ส่งข่าวมาที่บ้านเลย ผู้เสียหายจึงไม่ทราบว่านางสาว ว. อยู่ที่ใด แสดงว่านางสาว ว. เต็มใจออกจากบ้านผู้เสียหายไปพักอาศัยอยู่ที่อื่นตั้งแต่ก่อนวันเกิดเหตุตามฟ้อง และบิดามารดามิได้ใส่ใจติดตาม นางสาว ว. จึงไม่อยู่ในความปกครองดูแลของบิดามารดาแล้ว การที่จำเลยหลอกพานางสาว ว. ไปกระทำชำเราในเวลาต่อมา จึงไม่เป็นการพรากนางสาว ว. ไปเสียจากบิดามารดา ไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตาม ป.อ. มาตรา 318
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า นางสาว ว. ผู้เยาว์เป็นบุตรของนาย บ. และนาง ส. ผู้เสียหาย เกิดเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2528 ขณะเกิดเหตุมีอายุ 17 ปีเศษ ส่วนจำเลยรับราชการเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนวัดอ้อมใหญ่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เมื่อนางสาว ว. เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในปี 2545 จำเลยชักชวน และช่วยเหลือนางสาว ว. ให้ได้เข้าทำงานเป็นครูช่วยสอนนักเรียนอนุบาลที่โรงเรียนวัดอ้อมใหญ่ โดยตอนแรกยังพักอาศัยอยู่กับผู้เสียหายในตำบลหอมเกร็ด อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำผิดฐานพรากผู้เยาว์ตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษหรือไม่ เห็นว่า ตามคำเบิกความของนางสาว ว. พยานโจทก์ได้ความว่า เมื่อนางสาว ว. เข้าทำงานที่โรงเรียนวัดอ้อมใหญ่ในปี 2545 แล้วประมาณ 7 ถึง 8 เดือนก็ลาออก โดยอ้างว่าถูกจำเลยลวนลาม แต่ต่อมาประมาณ 3 เดือน จำเลยชวนกลับเข้าทำงานใหม่เป็นครูรับจ้างช่วยสอนค่าจ้างวันละ 200 บาท นางสาว ว. ก็กลับเข้าทำงานต่อมาจำเลยชักชวนไปพักอาศัยที่บ้านพักครูประจำโรงเรียน แต่บ้านพักครูเต็ม จำเลยจึงชวนไปพักอาศัยที่บ้านใหม่อพาร์ตเมนต์โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้และนางสาว ว. เบิกความอีกว่า ต่อมาต้นเดือนมีนาคม 2546 เวลาประมาณ 10 นาฬิกา อันเป็นวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง ขณะที่พยานสอนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนจำเลยมาบอกให้พยานไปบริจาคหนังสือตามโรงเรียนอื่นๆ กับจำเลย โดยใช้รถยนต์ตู้เป็นพาหนะไปและไปด้วยกันเพียง 2 คน แต่จำเลยขับรถพาเข้าไปที่โรงแรมฟอลโลอินทร์ในเมืองนครปฐมแล้วข่มขืนกระทำชำเรานางสาว ว. และหลังจากนั้นจำเลยยังหลอกพานางสาว ว. ไปกระทำชำเราอีก 4 ครั้ง โดยนางสาว ว. ไม่ยินยอม และผู้เสียหายก็เบิกความว่าตอนที่จำเลยชักชวนนางสาว ว. ไปพักอาศัยที่บ้านพักครูประจำโรงเรียน ผู้เสียหายไม่ยินยอม แต่นางสาว ว. ไม่เชื่อฟังเก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋า และจำเลย ก็มารับนางสาว ว. ไปอยู่ที่บ้านพักครูและยังเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า หลังจากนางสาว ว. ออกจากบ้านไปแล้วหลายเดือน นางสาว ว. ไม่ได้กลับมาบ้านและไม่ได้ส่งข่าวมาที่บ้านเลย จึงไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด พฤติการณ์ตามคำเบิกความพยานโจทก์ดังกล่าวแสดงว่านางสาว ว.เต็มใจออกจากบ้านผู้เสียหายไปพักอาศัยอยู่ที่บ้านใหม่อพาร์ตเมนต์ตั้งแต่ก่อนวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องและบิดามารดาก็มิได้เอาใจใส่ติดตาม ดังนี้ตั้งแต่วันที่นางสาว ว.ไปอยู่ที่อพาร์ตเมนต์ดังกล่าวตลอดมาจนถึงวันเกิดเหตุนั้นนางสาว ว. ไม่ได้อยู่ในความปกครองดูแลของบิดามารดาแล้ว ดังนี้แม้หากจะฟังว่าจำเลยหลอกพานางสาว ว. ไปกระทำชำเราตามที่นางสาว ว.กล่าวอ้างก็ตาม การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นการพรากนางสาว ว. ไปเสียจากบิดามารดา จึงไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่า จำเลยหลอกพานางสาว ว. ไปข่มขืนกระทำชำเราที่โรงแรมหรือไม่และฎีกาของจำเลยข้ออื่นอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยฐานพรากผู้เยาว์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5165/2548   ผู้เสียหายอายุ 17 ปีเศษ ได้หนีตามจำเลยที่ 1 ไปเพื่ออยู่กินเป็นสามี ภริยากับจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีภริยาอยู่ก่อน การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่ถือว่าเป็นการพาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจาร อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 284 และเมื่อได้ความว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์เต็มใจหนีตามจำเลยที่ 1 ไปด้วยเพื่ออยู่กินเป็นสามีภริยากับจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 318 วรรคสาม
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า นางสาว น. เป็นบุตรสาวของโจทก์ร่วมกับนาย ว. เกิดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2521 ซึ่งคำนวณอายุถึงวันเกิดเหตุวันที่ 4 กรกฎาคม 2539 มีอายุ 17 ปี 6 เดือน และอยู่ในความปกครองดูแลของโจทก์ร่วม คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิดจริงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ผู้เสียหายเบิกความว่า ขณะที่ผู้เสียหายอยู่กับจำเลยที่ 1 ที่อำเภอสวี จำเลยกับพวกได้นำผู้เสียหายไปที่บ้านของผู้ใหญ่บ้านและมีการทำบันทึกข้อความกันไว้ตามบันทึกประจำวัน ซึ่งศาลฎีกาได้ตรวจดูบันทึกฉบับดังกล่าวแล้วมีข้อความระบุว่าผู้เสียหายได้มากับจำเลยที่ 1 ด้วยความเต็มใจ และมิได้บังคับขู่เข็ญและคนทั้งสองได้พากันมาพบผู้ใหญ่บ้านเพื่อแจ้งความและลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานต่อหน้าพยาน ซึ่งความข้อนี้แม้ผู้เสียหายจะเบิกความปฏิเสธความถูกต้องของข้อความในบันทึกดังกล่าวว่าผู้เสียหายถูกจำเลยกับพวกขู่เข็ญบังคับระหว่างนั่งรถไปกับจำเลยที่ 1 ว่า ผู้เสียหายถูกข่มขู่ว่าให้บอกผู้ใหญ่บ้านว่ามาด้วยความเต็มใจกับจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ผู้เสียหายก็เพียงแต่เบิกความกล่าวอ้างขึ้นลอย ๆ โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 กับพวกข่มขู่ผู้เสียหายอย่างไร และมีการใช้อาวุธอะไรในการข่มขู่ก็ไม่ปรากฏ ซึ่งความข้อนี้ฝ่ายจำเลยกลับนำนาย ป. ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 ตำบลควน อำเภอสวี จังหวัดชุมพร มาเบิกความรับรองว่า เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2539 เวลาประมาณ 8 นาฬิกา ขณะที่พยานอยู่ที่บ้าน ได้มีนาย ช. เพื่อนบ้านพาจำเลยที่ 1 และผู้เสียหายมาที่บ้านพยาน แจ้งความประสงค์ว่าต้องการแจ้งให้พยานทราบว่าคนทั้งสองได้หนีตามกันมา พยานจึงสอบถามผู้เสียหายแล้ว ผู้เสียหายยอมรับว่าได้หนีตามจำเลยที่ 1 มาจริงและด้วยความสมัครใจ ขณะที่สอบถามนั้นผู้เสียหายไม่ได้มีลักษณะถูกขู่เข็ญบังคับแต่อย่างใด พยานจึงจัดให้มีการบันทึกข้อความไว้ หลังจากวันดังกล่าวประมาณ 7 วัน พยานไปตลาดนัดในหมู่บ้านก็ได้พบผู้เสียหายกับจำเลยที่ 1 อีกครั้งหนึ่ง บุคคลทั้งสองกำลังซื้อกับข้าวอยู่ มีลักษณะยิ้มแย้มแจ่มใส ซึ่งก็สอดคล้องกับคำเบิกความของดาบตำรวจ ส. พยานผู้จับจำเลยที่ 1 ที่เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 1 ว่า ขณะที่โจทก์ร่วมพาพยานไปพบผู้เสียหายที่บ้านของจำเลยที่ 1 พยานเห็นผู้เสียหายบุตรสาวของโจทก์ร่วมมีสภาพปกติดี และบ้านที่พบผู้เสียหายนั้นไม่มีรั้วบ้าน ผู้เสียหายสามารถไปไหนมาไหนก็ได้ พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมดังที่ได้วินิจฉัยมา จึงมีข้อพิรุธและขัดต่อเหตุผลไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิดจริงดังที่ผู้เสียหายเบิกความ แต่กลับรับฟังได้เจือสมพยานจำเลยว่า ผู้เสียหายได้หนีตามจำเลยที่ 1 ไปเพื่ออยู่กินเป็นสามีภริยากับจำเลยที่ 1 ตามที่จำเลยที่ 1 นำสืบจริง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีภริยาอยู่ก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อการอนาจารอันจะเป็นความผิดฐานร่วมกันพาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 284 และเมื่อได้ความจากการวินิจฉัยข้อเท็จจริงเชื่อตามข้อนำสืบของจำเลยที่ 1 ว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์เต็มใจหนีตามจำเลยที่ 1 ไปด้วย เพื่ออยู่กินเป็นสามีภริยากับจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 318 วรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นให้ยกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น



18 มิถุนายน 2559

การเลิกสัญญาและการลดเบี้ยปรับ ถ้ามิได้บอกเลิกสัญญาภายในเวลาอันสมควรแต่ปล่อยปละละเลยจนค่าปรับมีจำนวนสูงเกินสมควร ถือว่าฝ่ายที่มีสิทธิบอกเลิกมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย ศาลย่อมมีอำนาจลดค่าเสียหายลงเป็นจำนวนพอสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 223

‪‎          การเลิกสัญญาและการลดเบี้ยปรับ

          มาตรา 223  "ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้นต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร
          วิธีเดียวกันนี้ ท่านให้ใช้แม้ทั้งที่ความผิดของฝ่ายผู้ที่เสียหายจะมีแต่เพียงละเลยไม่เตือนลูกหนี้ให้รู้สึกถึงอันตรายแห่งการเสียหายอันเป็นอย่างร้ายแรงผิดปกติ ซึ่งลูกหนี้ไม่รู้หรือไม่อาจจะรู้ได้ หรือเพียงแต่ละเลยไม่บำบัดปัดป้อง หรือบรรเทาความเสียหายนั้นด้วย อนึ่งบทบัญญัติแห่งมาตรา 220 นั้นท่านให้นำมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม"

          มาตรา 386  "ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การเลิกสัญญาเช่นนั้นย่อมทำด้วยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง
          แสดงเจตนาดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น ท่านว่าหาอาจจะถอนได้ไม่"
‪          การเลิกสัญญาที่มีข้อตกลงให้คิดเบี้ยปรับได้ต้องบอกเลิกภายในเวลาอันควรด้วย‬ ถ้ามิได้บอกเลิกสัญญาภายในเวลาอันสมควรแต่ปล่อยปละละเลยจนค่าปรับมีจำนวนสูงเกินสมควร ถือว่าฝ่ายที่มีสิทธิบอกเลิกมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วยการละเลยไม่บำบัดปัดป้องหรือบรรเทาความเสียหาย ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 223

          ‪ตัวอย่างเช่น
          คำพิพากษาศาล‎ฎีกาที่‬ 15948/2557   สัญญาจ้างแปรสภาพมันสำปะหลัง ข้อ 11 เป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 มีกำหนดเวลาการส่งมอบมันสำปะหลังเส้นตามที่โจทก์จะกำหนดให้ส่งมอบในแต่ละคราว หากจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบได้ทันตามเวลาที่โจทก์กำหนดหรือส่งมอบไม่ครบจำนวน และจำเลยที่ 1 มิได้บอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 ตกลงชำระค่าปรับแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ส่งมอบมันสำปะหลังเส้นแก่โจทก์และไม่บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญา แม้โจทก์บอกเลิกสัญญาเมื่อล่วงเลยเกินกว่า 7 ปี จะถือว่าคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาส่งมอบงานเป็นสาระสำคัญหาได้ไม่ เพราะตามสัญญาดังกล่าวมิได้กำหนดหน้าที่ให้โจทก์ต้องบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 ก่อน จึงจะมีสิทธิเรียกค่าปรับได้ แต่ที่โจทก์มิได้บอกเลิกสัญญาภายในเวลาอันสมควรแต่ปล่อยปละละเลยจนค่าปรับมีจำนวนสูงเกินสมควร ถือว่าโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วยการละเลยไม่บำบัดปัดป้องหรือบรรเทาความเสียหาย ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 223
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16994/2557   ในขณะที่ ศ. และ อ. ร่วมกันลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้ ช. กระทำการต่าง ๆ รวมทั้งอำนาจลงลายมือชื่อทำสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์ ศ. และ อ. ยังเป็นกรรมการของโจทก์ ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้ยกเลิกหรือเพิกถอนหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว ช. ย่อมมีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้แทนโจทก์ได้ตลอดไป
          ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์รายเดือนที่ผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิด ตามปกติย่อมคิดเทียบได้กับดอกเบี้ยซึ่งผู้ให้เช่าซื้อคิดรวมไว้ล่วงหน้าตามจำนวนปีหรืองวดที่ผ่อนชำระจากราคารถที่เช่าซื้อที่แท้จริง เพราะเงินส่วนนี้คือส่วนที่ทำให้ผู้ให้เช่าซื้อขาดประโยชน์ไปในแต่ละเดือน รถที่เช่าซื้อเป็นรถเทรลเลอร์ดั๊มเป็นตัวพ่วงไม่มีเครื่องยนต์ การใช้งานจะนำรถเทรลเลอร์ดั๊มไปพ่วงกับรถบรรทุก รถที่เช่าซื้อมิใช่รถยนต์รับจ้างทั่วไปที่อาจนำรถออกไปทำธุรกิจให้บุคคลทั่ว ๆ ไปเช่าเป็นรายเดือนได้ทุกเดือนดังที่โจทก์บรรยายฟ้องมา และเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อกำหนดให้โจทก์มีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ แต่โจทก์ไม่ดำเนินการกลับปล่อยปละละเลยไปนานร่วม 5 ปีเศษ จึงไปติดตามยึดรถที่เช่าซื้อคืนอันเป็นเหตุให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน แม้โจทก์จะได้รับความเสียหายตลอดเวลาจนกว่าจะได้รถที่เช่าซื้อคืน ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็สามารถผ่อนปรนความเสียหายโดยการรีบส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์ได้ แต่เมื่อโจทก์ละเลยไม่รีบดำเนินการใด ๆ ตามข้อสัญญาภายในเวลาอันควรโดยไม่ปรากฏเหตุข้อจำเป็นหรือเหตุขัดข้องประการอื่นแล้ว ถือว่าโจทก์มีส่วนผิดเช่นกัน การกำหนดให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าขาดประโยชน์นานถึง 69 เดือน ย่อมทำให้โจทก์จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนมากกว่ากรณีที่ปฏิบัติตามสัญญาเสียอีก เมื่อคำนึงถึงประโยชน์ที่โจทก์ได้จากการเช่าซื้อและราคารถที่ขายได้ เห็นสมควรกำหนดค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์เป็นเวลา 24 เดือน
          ค่าเบี้ยประกันภัยเป็นเงินที่โจทก์ทดรองจ่ายไปตามสัญญาเช่าซื้อ เป็นเรื่องที่ตัวแทนเรียกเอาเงินที่ทดรองจ่ายไปชดใช้จากตัวการ ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้ ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30