26 มิถุนายน 2559

ความผิดฐานพรากเด็กและความผิดฐานพรากผู้เยาว์

          ประมวลกฎหมายอาญา

          มาตรา 317    "ผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกพันบาทถึงสามหมื่นบาท
          ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวเด็กซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น
          ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท"

          มาตรา 318    "ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสีย จากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสองหมื่นบาท
          ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวผู้เยาว์ซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น
          ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกพันบาทถึงสามหมื่นบาท"

          มาตรา 319    "ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสองหมื่นบาท
          ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวผู้เยาว์ซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น"

       
          คำว่า “พราก” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 หมายความว่าจากไป พาเอาไปเสีย แยกออกจากกัน เอาออกจากกัน ดังนั้น ความผิดฐานพรากเด็กหรือพรากผู้เยาว์ จึงหมายถึง การพาหรือแยกเด็กหรือผู้เยาว์ออกไปจากอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดาถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยบิดามารดาไม่รู้เห็นยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดา



       

          ความผิดฐานพรากเด็ก ตามมาตรา 317

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  12665/2556***  ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 คำว่า “พราก” หมายความว่าจากไป พาเอาไปเสีย แยกออกจากกัน เอาออกจากกัน ดังนั้น ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม จึงหมายถึง การพาหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดาเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยบิดามารดาเด็กไม่รู้เห็นยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดาเด็ก แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ร้องอนุญาตให้ผู้เสียหายที่ 2 ทำงานเป็นพนักงานเก็บเงินค่าโดยสารให้จำเลย หากรถยนต์โดยสารของจำเลยถึงจังหวัดตรังเวลาค่ำ จำเลยและผู้เสียหายที่ 2 จะนอนค้างคืนที่ห้องเช่า อีกทั้งผู้ร้องเคยไปพักกับผู้เสียหายที่ 2 ที่ห้องเช่าดังกล่าวด้วย แสดงว่าผู้ร้องรู้เห็นยินยอมให้ผู้เสียหายที่ 2 พักอยู่ห้องเช่าจังหวัดตรังกับจำเลย จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม
          การกระทำอนาจาร หมายถึง การกระทำที่ไม่สมควรทางเพศ เช่น กอดจูบ ลูบคลำ แตะต้องเนื้อตัวร่างกายในทางไม่สมควร การกระทำชำเราจึงรวมถึงการกระทำอนาจารอยู่ในตัว เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยปลุกปล้ำ กอดจูบ ถอดเสื้อผ้า และกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้ายตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคสอง และฐานข่มขืนกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่ง เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9829/2556   การกระทำที่เป็นการพรากเด็กไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล ตาม ป.อ. มาตรา 317 นั้น ไม่ถึงขนาดต้องควบคุมตัวเด็กนั้นไว้ เพระการกระทำเช่นนั้นจะเป็นความผิดต่อเสรีภาพอีกต่างหาก คำว่า “พราก” มีความหมายว่า จากไปหรือแยกออกจากกัน สาระสำคัญจึงอยู่ที่การพาไปหรือการแยกเด็กไปนั้น ได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าวให้ไปกับบุคคลที่พาไปหรือไม่ หรือมิฉะนั้นบุคคลที่พาเด็กนั้นไปจะต้องมีเหตุอันสมควร
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความผิดฐานพรากเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารกับฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปีที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำเมื่อวันที่ 14 และ 16 ธันวาคม 2550 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่ฎีกา ความผิดทั้งสองข้อหาดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือไม่ เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปข่มขืนกระทำชำเราในระหว่างเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน 2550 รวม 3 ครั้ง ซึ่งในขณะนั้นผู้เสียหายที่ 1 มีอายุ 13 ปีเศษ ไม่ว่าผู้เสียหายที่ 1 จะยินยอมให้จำเลยกระทำชำเราหรือไม่ ก็เป็นความผิดแล้ว ......ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 อยู่ในความดูแลของนาง ข. ยายของผู้เสียหายที่ 1 การที่จำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่บริเวณฝายในครั้งแรกแล้วกระทำอนาจาร และข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ในครั้งต่อมาโดยพาไปที่กระท่อมบริเวณทุ่งนา และบริเวณลำห้วย การกระทำของจำเลยทั้งสามครั้งจึงเป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร แต่การกระทำของจำเลยในวันที่ 14 มิถุนายน 2550 ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความว่า หลังจากที่ออกไปจับกบกับจำเลยและ นาง ส. แล้วได้เดินกลับมาที่บ้านของจำเลย ขณะที่อยู่ที่หลังบ้านจำเลยเดินมาทางด้านหลังใช้มือโอบและผลักผู้เสียหายที่ 1 ให้นอนลง จากนั้นผู้เสียหายที่ 1 ถูกจำเลยกระทำชำเรา โดยจำเลยไม่ได้พาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่ใด จากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ได้ความว่า นาง ส. จะเป็นผู้ชวนผู้เสียหายที่ 1 ออกไปจับกบ การกระทำของจำเลยในครั้งนี้เป็นเพียงการฉวยโอกาสข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ในขณะผู้เสียหายที่ 1 อยู่บริเวณหลังบ้านของจำเลย จึงไม่เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารด้วย
          ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการต่อมาซึ่งเป็นข้อกฎหมายว่า การกระทำอันเป็นการพรากเด็กนั้น ผู้กระทำต้องมีเจตนาที่จะไม่ให้เด็กนั้นมีอิสระในการเคลื่อนไหวด้วยหรือไม่ เห็นว่า การกระทำที่เป็นการพรากเด็กไปเสียจากบิดามารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 นั้น ไม่ถึงขนาดต้องควบคุมเด็กนั้นไว้ เพราะการกระทำเช่นนั้นจะเป็นความผิดต่อเสรีภาพอีกต่างหาก คำว่า “พราก” ตามพจนานุกรมมีความหมายว่า จากไปหรือแยกออกจากกัน ดังนั้น สาระสำคัญจึงอยู่ที่ว่าการพาไปหรือแยกเด็กไปนั้นได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าวให้ไปกับบุคคลที่พาไปหรือไม่ หรือมิฉะนั้นบุคคลที่พาเด็กนั้นไปจะต้องมีเหตุอันสมควร โดยบทกฎหมายดังกล่าวประสงค์ที่จะลงโทษผู้ที่ละเมิดอำนาจปกครองดูแลเด็กของบุคคลดังกล่าว อันเป็นการคุ้มครองเด็กมิให้ถูกล่อลวงไปในทางเสียหาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  19958/2555  ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตาม ป.อ. มาตรา 317 แม้จะมุ่งคุ้มครองมิให้ผู้ใดมาก่อการรบกวน หรือกระทำการใด ๆ อันจะกระทบต่ออำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็ก แต่กรณีจะเป็นความผิดดังกล่าวได้จะต้องมีการกระทำที่เป็นการพราก ซึ่งหมายถึงการพาไปเสียประกอบด้วย การที่เด็กทั้งห้ามาที่ห้องพักของจำเลยด้วยความสมัครใจ จำเลยไม่เคยเป็นผู้พามา และเด็กทั้งห้าสามารถกลับบ้านของตนเองได้เสมอหากต้องการเช่นนั้น เช่นนี้จำเลยจึงมิได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการพรากเด็กทั้งห้าไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล จำเลยย่อมไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยมีความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาอ้างว่า การกระทำของจำเลยมิได้เป็นการล่วงล้ำอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลของเด็กทั้งห้า เด็กทั้งห้ามาที่ห้องพักของจำเลยเอง หรือมาที่ห้องพักเพราะเพื่อนเป็นผู้ชักชวนโดยจำเลยไม่ได้ใช้กลอุบายล่อลวงมาและเด็กทุกคนมีอิสระที่จะไปไหนมาไหนหรือจะกระทำการหรือไม่กระทำการใดด้วยสมัครใจของตนเองนั้นเห็นว่า ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 แม้จะมุ่งคุ้มครองมิให้มีผู้ใดมาก่อการรบกวน หรือกระทำการใดๆ อันจะกระทบต่ออำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็ก แต่กรณีจะเป็นความผิดดังกล่าวได้จะต้องมีการกระทำที่เป็นการพราก ซึ่งหมายถึง การพาเอาไปเสียประกอบด้วย แต่จากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบได้ความว่า ด.ช. น. รู้จักนาย อ.ซึ่งเคยพักอยู่ห้องเดียวกับจำเลยมาก่อนและเคยมาพักที่ห้องพักของจำเลยด้วย หลังจากนั้น ด.ช. น. ได้แนะนำ ด.ช. ล.  เด็กชาย ช. และเด็กชาย ม.  ให้รู้จักจำเลยและมาที่ห้องพักดังกล่าวเนื่องจากมีของเล่นและคอมพิวเตอร์ ส่วนเด็กชาย ณ.  มีนาย อ. เป็นผู้แนะนำให้รู้จักจำเลย และมาเล่นคอมพิวเตอร์ที่ห้องพักของจำเลยเช่นกัน ทุกครั้งที่มาจำเลยจะให้อาหารและขนมหรือเงินแก่เด็กทั้งห้าโดยเฉพาะเด็กชาย ช.เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยด้วยว่า เหตุที่มาที่ห้องพักของจำเลยเพราะอยู่บ้านก็ไม่มีอะไรจะทำ ซึ่งแสดงว่าเด็กทั้งห้ามาที่ห้องพักของจำเลยเองด้วยความเต็มใจ จำเลยไม่เคยเป็นผู้พามา และเด็กทั้งห้าสามารถกลับบ้านของตนเองได้เสมอหากต้องการเช่นนั้น เช่นนี้จำเลยจึงมิได้กระทำการใด ๆ อันเป็นพรากเด็กทั้งห้าไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล จำเลยย่อมไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวมาด้วยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  11196/2555   การพรากเป็นคนละอย่างกับการพูดชักชวนและการพรากมีความหมายคนละอย่างกับการพูดและไม่ใช่การพูด หากจำเลยพูดแต่ไม่ได้พรากหรือพาผู้เสียหายไปจำเลยย่อมไม่ผิดฐานพรากผู้เยาว์ เพราะการพรากผู้เยาว์จะต้องมีการกระทำที่ยิ่งกว่าการพูดชักชวน เนื่องจากการพูดชักชวน เด็กหรือผู้เยาว์ตัดสินใจไม่ไปตามที่พูดชักชวนได้ จนกว่าจะมีการพาเด็กหรือผู้เยาว์ไปตามทิศทางที่พูดชักชวนไว้ จึงจะมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ได้ สอดคล้องกับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานที่ให้คำนิยามคำว่า พราก หมายถึงต้องมีการกระทำที่พาไป ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยพูดชักชวนผู้เสียหายที่ 1 จนผู้เสียหายที่ 1 ยอมออกจากบ้านมาหาจำเลย การกระทำของจำเลยเป็นการพรากผู้เยาว์แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความเพียงจำเลยพูดชักชวนผู้เสียหายที่ 1 จนผู้เสียหายที่ 1 ใจอ่อนยอมมาหาจำเลยเองโดยจำเลยไม่ได้ไปรับหรือพาผู้เสียหายที่ 1 ออกมาจากบ้าน การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์

          ถ้าเป็นการพรากไปโดยมีเหตุอันสมควร ย่อมไม่มีความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 398/2517   บิดาพรากบุตรนอกสมรสไปเสียจากการปกครองของมารดาเพื่อให้การอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษา การกระทำโดยมีเจตนาดีต่อบุตร เช่นนี้ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการพรากโดยปราศจากเหตุอันสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317

          ผู้ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวเด็กที่ถูกพรากไว้โดยทุจริต จะต้องรับโทษเช่นเดียวกันกับผู้พรากเด็กนั้น ตามมาตรา 317 วรรคสอง
          ส่วนถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 317 นี้ ผู้กระทำผิดได้กระทำเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร ก็จะต้องรับโทษหนักขึ้นตามมาตรา 317 วรรคสาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5409/2530   การที่จำเลยพรากเด็กไปเพื่อให้ขอทานเงินและเก็บหาทรัพย์สินมาให้จำเลย เป็นการกระทำไปเพื่อหาประโยชน์ในทางทรัพย์สิน อันเป็นเจตนาพิเศษในการพรากเด็ก จึงเป็นการกระทำเพื่อหากำไร เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคท้าย

           ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ มาตรา 318, 319

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  13041/2553   ขณะที่จำเลยชักชวนนางสาว ว. ไปพักอาศัยที่บ้านพักครูประจำโรงเรียน ผู้เสียหายซึ่งเป็นมารดาไม่ยินยอม แต่นางสาว ว. ไม่เชื่อฟังเก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋าและจำเลยมารับไป หลังจากนั้นหลายเดือน นางสาว ว. ไม่ได้กลับมาบ้านและไม่ได้ส่งข่าวมาที่บ้านเลย ผู้เสียหายจึงไม่ทราบว่านางสาว ว. อยู่ที่ใด แสดงว่านางสาว ว. เต็มใจออกจากบ้านผู้เสียหายไปพักอาศัยอยู่ที่อื่นตั้งแต่ก่อนวันเกิดเหตุตามฟ้อง และบิดามารดามิได้ใส่ใจติดตาม นางสาว ว. จึงไม่อยู่ในความปกครองดูแลของบิดามารดาแล้ว การที่จำเลยหลอกพานางสาว ว. ไปกระทำชำเราในเวลาต่อมา จึงไม่เป็นการพรากนางสาว ว. ไปเสียจากบิดามารดา ไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตาม ป.อ. มาตรา 318
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า นางสาว ว. ผู้เยาว์เป็นบุตรของนาย บ. และนาง ส. ผู้เสียหาย เกิดเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2528 ขณะเกิดเหตุมีอายุ 17 ปีเศษ ส่วนจำเลยรับราชการเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนวัดอ้อมใหญ่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เมื่อนางสาว ว. เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในปี 2545 จำเลยชักชวน และช่วยเหลือนางสาว ว. ให้ได้เข้าทำงานเป็นครูช่วยสอนนักเรียนอนุบาลที่โรงเรียนวัดอ้อมใหญ่ โดยตอนแรกยังพักอาศัยอยู่กับผู้เสียหายในตำบลหอมเกร็ด อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำผิดฐานพรากผู้เยาว์ตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษหรือไม่ เห็นว่า ตามคำเบิกความของนางสาว ว. พยานโจทก์ได้ความว่า เมื่อนางสาว ว. เข้าทำงานที่โรงเรียนวัดอ้อมใหญ่ในปี 2545 แล้วประมาณ 7 ถึง 8 เดือนก็ลาออก โดยอ้างว่าถูกจำเลยลวนลาม แต่ต่อมาประมาณ 3 เดือน จำเลยชวนกลับเข้าทำงานใหม่เป็นครูรับจ้างช่วยสอนค่าจ้างวันละ 200 บาท นางสาว ว. ก็กลับเข้าทำงานต่อมาจำเลยชักชวนไปพักอาศัยที่บ้านพักครูประจำโรงเรียน แต่บ้านพักครูเต็ม จำเลยจึงชวนไปพักอาศัยที่บ้านใหม่อพาร์ตเมนต์โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้และนางสาว ว. เบิกความอีกว่า ต่อมาต้นเดือนมีนาคม 2546 เวลาประมาณ 10 นาฬิกา อันเป็นวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง ขณะที่พยานสอนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนจำเลยมาบอกให้พยานไปบริจาคหนังสือตามโรงเรียนอื่นๆ กับจำเลย โดยใช้รถยนต์ตู้เป็นพาหนะไปและไปด้วยกันเพียง 2 คน แต่จำเลยขับรถพาเข้าไปที่โรงแรมฟอลโลอินทร์ในเมืองนครปฐมแล้วข่มขืนกระทำชำเรานางสาว ว. และหลังจากนั้นจำเลยยังหลอกพานางสาว ว. ไปกระทำชำเราอีก 4 ครั้ง โดยนางสาว ว. ไม่ยินยอม และผู้เสียหายก็เบิกความว่าตอนที่จำเลยชักชวนนางสาว ว. ไปพักอาศัยที่บ้านพักครูประจำโรงเรียน ผู้เสียหายไม่ยินยอม แต่นางสาว ว. ไม่เชื่อฟังเก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋า และจำเลย ก็มารับนางสาว ว. ไปอยู่ที่บ้านพักครูและยังเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า หลังจากนางสาว ว. ออกจากบ้านไปแล้วหลายเดือน นางสาว ว. ไม่ได้กลับมาบ้านและไม่ได้ส่งข่าวมาที่บ้านเลย จึงไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด พฤติการณ์ตามคำเบิกความพยานโจทก์ดังกล่าวแสดงว่านางสาว ว.เต็มใจออกจากบ้านผู้เสียหายไปพักอาศัยอยู่ที่บ้านใหม่อพาร์ตเมนต์ตั้งแต่ก่อนวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องและบิดามารดาก็มิได้เอาใจใส่ติดตาม ดังนี้ตั้งแต่วันที่นางสาว ว.ไปอยู่ที่อพาร์ตเมนต์ดังกล่าวตลอดมาจนถึงวันเกิดเหตุนั้นนางสาว ว. ไม่ได้อยู่ในความปกครองดูแลของบิดามารดาแล้ว ดังนี้แม้หากจะฟังว่าจำเลยหลอกพานางสาว ว. ไปกระทำชำเราตามที่นางสาว ว.กล่าวอ้างก็ตาม การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นการพรากนางสาว ว. ไปเสียจากบิดามารดา จึงไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่า จำเลยหลอกพานางสาว ว. ไปข่มขืนกระทำชำเราที่โรงแรมหรือไม่และฎีกาของจำเลยข้ออื่นอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยฐานพรากผู้เยาว์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5165/2548   ผู้เสียหายอายุ 17 ปีเศษ ได้หนีตามจำเลยที่ 1 ไปเพื่ออยู่กินเป็นสามี ภริยากับจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีภริยาอยู่ก่อน การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่ถือว่าเป็นการพาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจาร อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 284 และเมื่อได้ความว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์เต็มใจหนีตามจำเลยที่ 1 ไปด้วยเพื่ออยู่กินเป็นสามีภริยากับจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 318 วรรคสาม
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า นางสาว น. เป็นบุตรสาวของโจทก์ร่วมกับนาย ว. เกิดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2521 ซึ่งคำนวณอายุถึงวันเกิดเหตุวันที่ 4 กรกฎาคม 2539 มีอายุ 17 ปี 6 เดือน และอยู่ในความปกครองดูแลของโจทก์ร่วม คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิดจริงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ผู้เสียหายเบิกความว่า ขณะที่ผู้เสียหายอยู่กับจำเลยที่ 1 ที่อำเภอสวี จำเลยกับพวกได้นำผู้เสียหายไปที่บ้านของผู้ใหญ่บ้านและมีการทำบันทึกข้อความกันไว้ตามบันทึกประจำวัน ซึ่งศาลฎีกาได้ตรวจดูบันทึกฉบับดังกล่าวแล้วมีข้อความระบุว่าผู้เสียหายได้มากับจำเลยที่ 1 ด้วยความเต็มใจ และมิได้บังคับขู่เข็ญและคนทั้งสองได้พากันมาพบผู้ใหญ่บ้านเพื่อแจ้งความและลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานต่อหน้าพยาน ซึ่งความข้อนี้แม้ผู้เสียหายจะเบิกความปฏิเสธความถูกต้องของข้อความในบันทึกดังกล่าวว่าผู้เสียหายถูกจำเลยกับพวกขู่เข็ญบังคับระหว่างนั่งรถไปกับจำเลยที่ 1 ว่า ผู้เสียหายถูกข่มขู่ว่าให้บอกผู้ใหญ่บ้านว่ามาด้วยความเต็มใจกับจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ผู้เสียหายก็เพียงแต่เบิกความกล่าวอ้างขึ้นลอย ๆ โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 กับพวกข่มขู่ผู้เสียหายอย่างไร และมีการใช้อาวุธอะไรในการข่มขู่ก็ไม่ปรากฏ ซึ่งความข้อนี้ฝ่ายจำเลยกลับนำนาย ป. ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 ตำบลควน อำเภอสวี จังหวัดชุมพร มาเบิกความรับรองว่า เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2539 เวลาประมาณ 8 นาฬิกา ขณะที่พยานอยู่ที่บ้าน ได้มีนาย ช. เพื่อนบ้านพาจำเลยที่ 1 และผู้เสียหายมาที่บ้านพยาน แจ้งความประสงค์ว่าต้องการแจ้งให้พยานทราบว่าคนทั้งสองได้หนีตามกันมา พยานจึงสอบถามผู้เสียหายแล้ว ผู้เสียหายยอมรับว่าได้หนีตามจำเลยที่ 1 มาจริงและด้วยความสมัครใจ ขณะที่สอบถามนั้นผู้เสียหายไม่ได้มีลักษณะถูกขู่เข็ญบังคับแต่อย่างใด พยานจึงจัดให้มีการบันทึกข้อความไว้ หลังจากวันดังกล่าวประมาณ 7 วัน พยานไปตลาดนัดในหมู่บ้านก็ได้พบผู้เสียหายกับจำเลยที่ 1 อีกครั้งหนึ่ง บุคคลทั้งสองกำลังซื้อกับข้าวอยู่ มีลักษณะยิ้มแย้มแจ่มใส ซึ่งก็สอดคล้องกับคำเบิกความของดาบตำรวจ ส. พยานผู้จับจำเลยที่ 1 ที่เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 1 ว่า ขณะที่โจทก์ร่วมพาพยานไปพบผู้เสียหายที่บ้านของจำเลยที่ 1 พยานเห็นผู้เสียหายบุตรสาวของโจทก์ร่วมมีสภาพปกติดี และบ้านที่พบผู้เสียหายนั้นไม่มีรั้วบ้าน ผู้เสียหายสามารถไปไหนมาไหนก็ได้ พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมดังที่ได้วินิจฉัยมา จึงมีข้อพิรุธและขัดต่อเหตุผลไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิดจริงดังที่ผู้เสียหายเบิกความ แต่กลับรับฟังได้เจือสมพยานจำเลยว่า ผู้เสียหายได้หนีตามจำเลยที่ 1 ไปเพื่ออยู่กินเป็นสามีภริยากับจำเลยที่ 1 ตามที่จำเลยที่ 1 นำสืบจริง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีภริยาอยู่ก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อการอนาจารอันจะเป็นความผิดฐานร่วมกันพาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 284 และเมื่อได้ความจากการวินิจฉัยข้อเท็จจริงเชื่อตามข้อนำสืบของจำเลยที่ 1 ว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์เต็มใจหนีตามจำเลยที่ 1 ไปด้วย เพื่ออยู่กินเป็นสามีภริยากับจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 318 วรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นให้ยกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น