18 มิ.ย. 2559

การเลิกสัญญาและการลดเบี้ยปรับ ถ้ามิได้บอกเลิกสัญญาภายในเวลาอันสมควรแต่ปล่อยปละละเลยจนค่าปรับมีจำนวนสูงเกินสมควร ถือว่าฝ่ายที่มีสิทธิบอกเลิกมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย ศาลย่อมมีอำนาจลดค่าเสียหายลงเป็นจำนวนพอสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 223

‪‎          การเลิกสัญญาและการลดเบี้ยปรับ

          มาตรา 223  "ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้นต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร
          วิธีเดียวกันนี้ ท่านให้ใช้แม้ทั้งที่ความผิดของฝ่ายผู้ที่เสียหายจะมีแต่เพียงละเลยไม่เตือนลูกหนี้ให้รู้สึกถึงอันตรายแห่งการเสียหายอันเป็นอย่างร้ายแรงผิดปกติ ซึ่งลูกหนี้ไม่รู้หรือไม่อาจจะรู้ได้ หรือเพียงแต่ละเลยไม่บำบัดปัดป้อง หรือบรรเทาความเสียหายนั้นด้วย อนึ่งบทบัญญัติแห่งมาตรา 220 นั้นท่านให้นำมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม"

          มาตรา 386  "ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การเลิกสัญญาเช่นนั้นย่อมทำด้วยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง
          แสดงเจตนาดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น ท่านว่าหาอาจจะถอนได้ไม่"
‪          การเลิกสัญญาที่มีข้อตกลงให้คิดเบี้ยปรับได้ต้องบอกเลิกภายในเวลาอันควรด้วย‬ ถ้ามิได้บอกเลิกสัญญาภายในเวลาอันสมควรแต่ปล่อยปละละเลยจนค่าปรับมีจำนวนสูงเกินสมควร ถือว่าฝ่ายที่มีสิทธิบอกเลิกมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วยการละเลยไม่บำบัดปัดป้องหรือบรรเทาความเสียหาย ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 223

          ‪ตัวอย่างเช่น
          คำพิพากษาศาล‎ฎีกาที่‬ 15948/2557   สัญญาจ้างแปรสภาพมันสำปะหลัง ข้อ 11 เป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 มีกำหนดเวลาการส่งมอบมันสำปะหลังเส้นตามที่โจทก์จะกำหนดให้ส่งมอบในแต่ละคราว หากจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบได้ทันตามเวลาที่โจทก์กำหนดหรือส่งมอบไม่ครบจำนวน และจำเลยที่ 1 มิได้บอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 ตกลงชำระค่าปรับแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ส่งมอบมันสำปะหลังเส้นแก่โจทก์และไม่บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญา แม้โจทก์บอกเลิกสัญญาเมื่อล่วงเลยเกินกว่า 7 ปี จะถือว่าคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาส่งมอบงานเป็นสาระสำคัญหาได้ไม่ เพราะตามสัญญาดังกล่าวมิได้กำหนดหน้าที่ให้โจทก์ต้องบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 ก่อน จึงจะมีสิทธิเรียกค่าปรับได้ แต่ที่โจทก์มิได้บอกเลิกสัญญาภายในเวลาอันสมควรแต่ปล่อยปละละเลยจนค่าปรับมีจำนวนสูงเกินสมควร ถือว่าโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วยการละเลยไม่บำบัดปัดป้องหรือบรรเทาความเสียหาย ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 223
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16994/2557   ในขณะที่ ศ. และ อ. ร่วมกันลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้ ช. กระทำการต่าง ๆ รวมทั้งอำนาจลงลายมือชื่อทำสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์ ศ. และ อ. ยังเป็นกรรมการของโจทก์ ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้ยกเลิกหรือเพิกถอนหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว ช. ย่อมมีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้แทนโจทก์ได้ตลอดไป
          ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์รายเดือนที่ผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิด ตามปกติย่อมคิดเทียบได้กับดอกเบี้ยซึ่งผู้ให้เช่าซื้อคิดรวมไว้ล่วงหน้าตามจำนวนปีหรืองวดที่ผ่อนชำระจากราคารถที่เช่าซื้อที่แท้จริง เพราะเงินส่วนนี้คือส่วนที่ทำให้ผู้ให้เช่าซื้อขาดประโยชน์ไปในแต่ละเดือน รถที่เช่าซื้อเป็นรถเทรลเลอร์ดั๊มเป็นตัวพ่วงไม่มีเครื่องยนต์ การใช้งานจะนำรถเทรลเลอร์ดั๊มไปพ่วงกับรถบรรทุก รถที่เช่าซื้อมิใช่รถยนต์รับจ้างทั่วไปที่อาจนำรถออกไปทำธุรกิจให้บุคคลทั่ว ๆ ไปเช่าเป็นรายเดือนได้ทุกเดือนดังที่โจทก์บรรยายฟ้องมา และเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อกำหนดให้โจทก์มีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ แต่โจทก์ไม่ดำเนินการกลับปล่อยปละละเลยไปนานร่วม 5 ปีเศษ จึงไปติดตามยึดรถที่เช่าซื้อคืนอันเป็นเหตุให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน แม้โจทก์จะได้รับความเสียหายตลอดเวลาจนกว่าจะได้รถที่เช่าซื้อคืน ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็สามารถผ่อนปรนความเสียหายโดยการรีบส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์ได้ แต่เมื่อโจทก์ละเลยไม่รีบดำเนินการใด ๆ ตามข้อสัญญาภายในเวลาอันควรโดยไม่ปรากฏเหตุข้อจำเป็นหรือเหตุขัดข้องประการอื่นแล้ว ถือว่าโจทก์มีส่วนผิดเช่นกัน การกำหนดให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าขาดประโยชน์นานถึง 69 เดือน ย่อมทำให้โจทก์จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนมากกว่ากรณีที่ปฏิบัติตามสัญญาเสียอีก เมื่อคำนึงถึงประโยชน์ที่โจทก์ได้จากการเช่าซื้อและราคารถที่ขายได้ เห็นสมควรกำหนดค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์เป็นเวลา 24 เดือน
          ค่าเบี้ยประกันภัยเป็นเงินที่โจทก์ทดรองจ่ายไปตามสัญญาเช่าซื้อ เป็นเรื่องที่ตัวแทนเรียกเอาเงินที่ทดรองจ่ายไปชดใช้จากตัวการ ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้ ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30