13 พฤษภาคม 2557

สิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญา



          ผู้ต้องหา หมายถึง บุคคลผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิด แต่ยังไม่ได้ถูกฟ้องต่อศาล(ป.วิ.อ.มาตรา 2(2))  จากความหมายของผู้ต้องหาดังกล่าว จะเห็นได้ว่าผู้ต้องหานั้นเป็นเพียงผู้ต้องสงสัยว่าได้กระทำความผิดเท่านั้น แต่การที่เขาจะกระทำความผิดจริงหรือไม่นั้น ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่างๆโดยศาล  ซึ่งผู้ต้องหานั้นถือเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ที่รัฐธรรมนูญฯได้รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆไว้ ประเทศไทยได้รับรองสิทธิของผู้ต้องหาไว้ดังนี้

          สิทธิของผู้ต้องหา


          1. สิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดจะแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำผิดมิได้ (รัฐธรรมนูญฯ ม.39)
          2. สิทธิที่จำได้รับการสอบสวนหรือพิจารณาด้วยความถูกต้อง รวดเร็ว ต่อเนื่องและเป็นธรรม (รัฐธรรมนูญฯ ม.40 (3)(4)(7) ป.วิอาญา ม.130, 134 วรรคสาม)
          3. สิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐด้วยการจัดหาทนายความให้ (รัฐธรรมนูญฯ ม.40(7), และ ป.วิอาญา ม.134/1)
          4. สิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำเป็นปฎิปักษ์ต่อตนเองอันอาจทำให้ตนเองถูกฟ้องคดี (รัฐธรรมนูญ ม.40(4))
          5. สิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวในกรณีที่ถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย (ป.วิอาญาม.90)
          6. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาอย่างรวดเร็ว และจะเรียกหลักประกันจนเกินควรมิได้ การไม่ให้ประกันต้องอาศัยเหตุตามกฎหมายและต้องแจ้งเหตุให้ทราบโดยเร็ว (รัฐธรรมนูญฯ ม.40(7) และ ป.วิอาญา ม.106 ถึง 114)
          7. สิทธิที่จะอุทธรณ์คัดค้านการไม่ให้ประกันตัว (ป.วิอาญา ม.119 ทวิ)
          8. สิทธิที่จะมีล่ามหรือล่ามภาษามือ กรณีที่ผู้ต้องหาไม่สามารถพูดหรือเข้าใจภาษาไทยหรือไม่ สามารถพูดหรือได้ยินหรือสื่อความหมายได้ (ป.วิอาญา ม.13 วรรคสองและวรรคสาม)
          9. สิทธิที่จะได้รับหลักประกันในเรื่องความสามารถในการต่อสู้คดี ในกรณีที่เชื่อว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดี ได้ (ป.วิอาญา ม.14)          
          10. ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาซึ่งถูกควบคุมหรือขังมีสิทธิแจ้งหรือขอให้เจ้าพนักงานแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาไว้วางใจทราบถึงการถูกจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุมในโอกาสแรก (ป.วิ.อ.ม.7/1 วรรคแรก)
          11. มีสิทธิพบและปรึกษาผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว (ป.วิ.อ.ม.7/1(1))
          12. มีสิทธิให้ทนายความ หรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจ เข้าฟังการสอบปากคำตนได้ในชั้นสอบสวน (ป.วิ.อ.ม.7/1(2))
          13.  มีสิทธิได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อกับญาติได้ตามสมควร (ป.วิ.อ.ม.7/1(3))
          14. มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเกิดการเจ็บป่วย (ป.วิ.อ.ม.7/1(4))
          15. สิทธิที่จะได้รับโอกาสแก้ข้อหาและที่จะแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ตนได้ในชั้นสอบสวน (ป.วิ.อ.ม.134 วรรคสี่)
          16. สิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ในชั้นสอบสวน ถ้าผู้ต้องหาให้การ ถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้การนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ (ป.วิ.อ.ม.134/4(1))

08 พฤษภาคม 2557

จำนอง

มาตรา 702 " อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนอง เป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง
          ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่"


ลักษณะของสัญญาจำนอง

          (1) ผู้จำนองอาจเป็นได้ทั้งลูกหนี้ชั้นต้นหรือบุคคลภายนอก เนื่องจากการจำนองเป็นการประกันการชำระหนี้ด้วยทรัพย์สิน ไม่ใช่เอาบุคคลมาประกันการชำระหนี้ ดังนั้น ผู้จำนองจึงอาจเป็นลูกหนี้ชั้นต้นหรือบุคคลที่สาม ก็ได้

          (2) เอาทรัพย์สินตราไว้เป็นประกันการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ คือ นำเอาเอกสารที่แสดงกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ทรัพย์สินนั้นมีผลผูกพันเป็นประกันการชำระหนี้ประธานต่อเจ้าหนี้ ดังนั้น ผู้รับจำนองจึงต้องเป็นเจ้าหนี้ด้วย

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 817/2521  ผู้รับจำนองต้องเป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้อันใดอันหนึ่งตามมาตรา702 แต่ผู้จำนองอาจไม่ใช่ตัวลูกหนี้ก็ได้ ตาม มาตรา709จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2  จำนองที่ดินแก่โจทก์ที่ 2 ซึ่งไม่ใช่เจ้าหนี้ จำนองจึงบังคับแก่หนี้ที่จำเลยที่ 1กู้โจทก์ที่ 1 ไม่ได้ชำระดอกเบี้ยด้วยเช็ค เจ้าหนี้ไม่เอาเช็คไปขึ้นเงินลูกหนี้ยังต้องชำระดอกเบี้ยตามจำนวนในเช็ค
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4436/2545  การที่จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่โจทก์นั้น แท้จริงแล้วเป็นการจำนองประกันหนี้ที่จำเลยมีต่อ ล. โจทก์ผู้รับจำนองจึงมิได้เป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่จำเลยจำนองที่ดินเป็นประกัน สัญญาจำนองจึงไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงบังคับจำนองแก่จำเลยมิได้  
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 817/2521(ประชุมใหญ่) การที่จำเลยทั้งสองจำนองที่ดินไว้ต่อโจทก์ที่ 2 เพื่อประกันเงินกู้ที่จำเลยที่ 1 กู้ไปจากโจทก์ที่ 1 สัญญาจำนองจะมีผลผูกพันจำเลยทั้งสองหรือไม่ ศาลฎีกาพิจารณาแล้วมาตรา 709 เป็นเพียงกล่าวถึงผู้จำนองว่าอาจจะเป็นบุคคลอื่นไม่ใช่ลูกหนี้ก็ได้เท่านั้น  ส่วนผู้รับจำนองมีกล่าวไว้ในมาตรา 702 ซึ่งกำหนดลักษณะของสัญญาจำนองว่าเป็นสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจำนองเป็น ประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ เมื่อพิจารณาประกอบกับมาตรา 709 แล้ว ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ผู้รับจำนองจะต้องเป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่มีการจำนองค้ำประกันนั้น ซึ่งอาจเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นในอนาคต หรือหนี้มีเงื่อนไข จะจำนองไว้เพื่อหนี้นั้นอาจเป็นผลได้จริง ก็จำนองได้ ส่วนผู้จำนองจะเป็นลูกหนี้หรือบุคคลอื่นใดก็ได้ไม่จำกัด เมื่อโจทก์ที่ 2 ผู้รับจำนองยังไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ สัญญาจำนองจึงไม่มีหนี้ที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2
          แต่ถ้ากรณีที่บริษัทเป็นตัวการที่ไม่เปิดเผยชื่อแสดงตนให้ปรากฏและรับเอาสัญญาจำนองที่กรรมการบริษัททำไว้แทน บริษัทย่อมมีสิทธิทำได้ตามมาตรา 806
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2761/2549  โจทก์ที่ 1 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำนิติกรรมแทนโจทก์ที่ 2 การที่โจทก์ที่ 1 รับจำนองที่ดินจากจำเลยเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ที่จำเลยกู้ยืมไปจากโจทก์ที่ 2 เป็นการกระทำแทนโจทก์ที่ 2 แม้ตามหนังสือสัญญาจำนองระบุชื่อโจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับจำนองเท่านั้น โดยไม่ได้ระบุว่ากระทำการแทนโจทก์ที่ 2 ก็เป็นกรณีที่โจทก์ที่ 2 ตัวการซึ่งยังไม่เปิดเผยชื่อแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาจำนองซึ่งโจทก์ที่ 1 ได้ทำไว้แทนตน ซึ่งโจทก์ที่ 2 มีสิทธิกระทำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 และเป็นกรณีที่ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 798 วรรคหนึ่ง ที่การตั้งตัวแทนเพื่อทำสัญญาจำนองเป็นหนังสือ ดังนั้นแม้การตั้งตัวแทนของโจทก์ที่ 2 เพื่อทำสัญญาจำนองกับจำเลยจะมิได้ทำเป็นหนังสือ แต่เมื่อสิทธิของโจทก์ที่ 2 ตามสัญญาจำนองเป็นสิทธิที่มีอยู่ในฐานะตัวการที่ไม่เปิดเผยชื่อตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 โจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำนองได้

          (3) หนี้ที่จำนองเป็นประกันต้องเป็นหนี้ที่สมบูรณ์ เช่นเดียวกับเรื่องค้ำประกัน

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9091/2538  ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอนไว้ภายใน 10 ปี ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 31 ดังนั้นการที่โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายเพื่อโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยภายในกำหนดเวลาห้ามโอนเป็นการกระทำนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายนิติกรรมสัญญาจะซื้อจะขายจึงตกเป็นโมฆะ แม้ต่อมาหลังจากทำสัญญาแล้วจะได้มีพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.ที่ดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2521 มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 31 แห่ง ป.ที่ดิน ที่ใช้บังคับอยู่เดิมมิให้ใช้บังคับกับที่ดินในกรณีเช่นคดีนี้ก็ตาม ก็ไม่ทำให้นิติกรรมที่เป็นโมฆะแล้วนั้นกลับสมบูรณ์ขึ้นได้อีก ดังนั้นเมื่อสัญญาจะซื้อจะขายตกเป็นโมฆะ สัญญาจำนองเพื่อประกันสัญญาจะซื้อจะขายจึงไม่อาจบังคับได้เพราะสัญญาจำนองจะมีได้เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 707 ประกอบด้วย มาตรา 681 ดังนั้น จึงไม่อาจบังคับตามสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาจำนองได้ เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายตกเป็นโมฆะ จึงต้องบังคับตามป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง กล่าวคือ ในการคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรมให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ จำเลยต้องคืนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และรับเงินค่าที่ดินพิพาทที่โจทก์นำไปวางไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์ 

          (4) สัญญาจำนองเป็นสัญญาที่เป็นเพียงหนี้อุปกรณ์ ที่ทำขึ้นเพื่อประกันการชำระหนี้ประธาน หนี้จำนองจึงต้องอยู่ภายใต้หนี้ประธาน ถ้าหนี้ประธานไม่ผูกพัน ย่อมมีผลให้สัญญาจำนองไม่ผูกพันให้ผู้จำนองต้องรับผิดด้วย

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 906/2536   การที่จำเลยที่ 1 ผู้จัดการสาขาธนาคารจำเลยที่ 2 ให้สินเชื่อแก่โจทก์ร่วมอยู่ในกรอบวัตถุประสงค์ของธนาคารจำเลยที่ 2 และการที่จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ลงชื่อในใบรับเงินในใบถอนเงิน โดยจำเลยที่ 1ไม่ได้จ่ายเงินนั้น เป็นการกระทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมีมูลเหตุควรเชื่อว่าจำเลยที่ 1 มีอำนาจกระทำได้ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามหลักกฎหมายเรื่องตัวการตัวแทน   การจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ แม้จะจดทะเบียนจำนองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยชอบ แต่เมื่อไม่มีมูลหนี้ที่ลูกหนี้จะต้องรับผิดต่อผู้รับจำนอง ผู้จำนองก็มีสิทธิขอให้ผู้รับจำนองจดทะเบียนปลดจำนองได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2793/2546   แม้โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จำกัด จะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยเงินกู้จากผู้กู้ได้ในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้บริษัทเงินทุนปฏิบัติในการกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากประชาชนฯ และตามประกาศของบริษัทโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อขณะทำสัญญากู้เงิน โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี และต่อมาได้ทำสัญญากู้เพิ่มกำหนดดอกเบี้ยใหม่เป็นอัตราร้อยละ 12.5ต่อปี แม้จะมีข้อตกลงต่อไปว่า ในกรณีที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ถูกต้องจำเลยยอมให้โจทก์เรียกให้ชำระหนี้ทั้งหมดและคิดดอกเบี้ยในเงินต้นที่ค้างชำระในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้เดิมจึงเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วนศาลลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383
          หนี้จำนองเป็นเพียงหนี้อุปกรณ์ซึ่งจะต้องมีหนี้ประธานเสียก่อน การบังคับจำนองจึงจะกระทำได้ เมื่อหนี้กู้ยืมเงินซึ่งเป็นหนี้ประธานกำหนดอัตราดอกเบี้ยเท่าใดหนี้จำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์จึงคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เพียงเท่าดอกเบี้ยที่โจทก์คิดไว้จากหนี้ตามสัญญากู้เงินอันเป็นหนี้ประธาน ซึ่งตามสัญญากู้เงินเพิ่มเติมครั้งที่ 1จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์เพิ่มอีก โดยระบุว่าจำเลยยอมชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี จึงเป็นข้อตกลงตามเจตนาของคู่สัญญา อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจึงมิใช่เบี้ยปรับ แม้จำเลยผิดสัญญาโจทก์ยังคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่งศาลชั้นต้นลดเบี้ยปรับจากอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ลงโดยกำหนดให้โจทก์ได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ซึ่งน้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยก่อนที่จำเลยผิดนัดมีผลเป็นการงดเบี้ยปรับโดยสิ้นเชิงจึงไม่ถูกต้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6525/2542   โจทก์เป็นสถาบันการเงิน มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 30 (2) กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับตาม ป.พ.พ.มาตรา 654 แม้ตามสัญญากู้ยืมจำเลยที่ 1 จะยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ซึ่งโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตรานี้ได้ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้ไว้แก่โจทก์โดยโจทก์ยอมคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิคิดได้เพียงอัตรานี้แม้ตามสัญญาจำนองจะกำหนดดอกเบี้ยไว้อัตราร้อยละ 21 ต่อปี แต่หนี้ตามสัญญาจำนองเป็นเพียงหนี้อุปกรณ์ เมื่อต่อมาโจทก์คิดดอกเบี้ยหนี้กู้ยืมซึ่งเป็นหนี้ประธานได้เพียงอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี โจทก์จึงไม่อาจคิดดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองให้สูงกว่าอัตรานี้ได้ 

          (5) ผู้รับจำนองมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองเป็นประกันก่อนเจ้าหนี้สามัญ (มาตรา 702 วรรคสอง)

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6293/2545  โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยเพื่อนำออกขายทอดตลาดปรากฏว่าโฉนดที่ดินของที่ดินที่ถูกยึดอยู่ในความครอบครองของผู้ร้องในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากเจ้าหนี้เดิมของจำเลย ผู้ร้องย่อมเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้จำนองในที่ดินผู้ร้องในฐานะผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินจำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญโดยมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 702 วรรคสอง เพราะการจำนองย่อมติดตามตัวที่ดินไปตลอดจนกว่าผู้ร้องจะได้รับชำระหนี้ แต่การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ผู้ร้องส่งมอบโฉนดที่ดินที่จะขายทอดตลาดนั้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 275, 276 ประกอบด้วยมาตรา 304 กรณีเรื่องสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินจึงเป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องผู้เป็นเจ้าหนี้กับจำเลยผู้เป็นลูกหนี้เท่านั้น ผู้ร้องจะยึดหน่วงโฉนดที่ดินไว้รอจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้อันเป็นการกระทบสิทธิโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอีกคดีหนึ่งที่จะบังคับยึดที่ดินเพื่อขายทอดตลาดหาได้ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4105/2548  การขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองมีทั้งการขายโดยปลอดจำนอง และการขายโดยจำนองติดไป หากเป็นการขายทอดตลาดโดยปลอดจำนอง เจ้าหนี้จำนองย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้รายอื่น ส่วนการขายทอดตลาดโดยจำนองติดไป ผู้รับจำนองยังมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง โดยบังคับจำนองเอาแก่ผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนองตามมาตรา 735 เมื่อจำเลยเป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนองโดยการซื้อทรัพย์สินที่จำนองจากการขายทอดตลาด มิใช่คู่สัญญาตามสัญญาจำนอง จำเลยจึงเป็นบุคคลภายนอก ย่อมไม่ต้องรับผิดตามสัญญาจำนองและสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองที่ยอมให้บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นที่มิใช่ทรัพย์สินที่จำนอง แม้โจทก์ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองโดยมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 702 วรรคสอง แต่จำเลยผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนองก็มีหน้าที่เพียงปลดเปลื้องภาระจำนองด้วยการไถ่ถอนจำนอง ตามบทบัญญัติในบรรพ 3 ลักษณะ 12 หมวด 5 แห่ง ป.พ.พ. เท่านั้น ดังนั้น จำเลยจึงไม่ต้องชำระหนี้ตามสัญญาจำนองแก่โจทก์ และหากการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองได้เงินสุทธิไม่พอ จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดแก่โจทก์อีก

          ผู้จำนองต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ที่จำนองหรือต้องเป็นตัวแทนผู้ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของ หากบุคคลอื่นเป็นผู้จำนอง การจำนองนั้นย่อมไม่มีผลผูกพันเจ้าของที่แท้จริง แม้ว่าผู้รับจำนองจะทำการโดยสุจริตก็ตาม (มาตรา 705)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1765/2548  ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินจัดสรรของสหกรณ์นิคมสวรรคโลก จำกัด จำเลยที่ 2 การทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงอยู่ภายใต้บังคับข้อกำหนดห้ามโอนตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “ภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้ นอกจากการตกทอดโดยทางมรดก หรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ แล้วแต่กรณี ดังนั้น เมื่อโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทภายในกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้โจทก์จะเข้าครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว ก็ถือว่าเป็นเพียงการครอบครองที่ดินพิพาทไว้แทนจำเลยที่ 1 เจ้าของที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธินำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 ได้ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1917/2551  ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 ย่อมเป็นการต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 ไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสอง โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 จะรับจำนองไว้โดยสุจริตหรือไม่ เมื่อการจำนองไม่มีผลตามกฎหมายเสียแล้ว โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมจำนองนั้นได้ การที่โจทก์ทั้งสองขอให้ศาลพิพากษาห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้อง จึงมีความหมายรวมอยู่ในตัวว่าโจทก์ทั้งสองขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง เพื่อให้จำเลยทั้งสองสิ้นสิทธิในที่ดินพิพาทจะเข้ามาเกี่ยวข้องอีกต่อไปไม่ได้ การที่ศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง จึงเป็นการปรับกฎหมายให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ที่เข้าใจได้จากรายละเอียดของคำฟ้อง ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142
          บอกถอนการมอบอำนาจและขอคืนโฉนดแล้ว แต่ผู้รับมอบอำนาจยังเอาไปจำนองเท่ากับเป็นการจำนองโดยที่เจ้าของไม่ยินยอมด้วย การจำนองจึงไม่มีผลผูกพันเจ้าของ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1531/2519  การที่จำเลยเซ็นหนังสือมอบอำนาจที่ยังมิได้กรอกข้อความให้ไว้ในวันทำสัญญาค้ำประกัน พร้อมกับมอบโฉนดที่ดินของจำเลยให้ไว้ประกันด้วยนั้น ย่อมแสดงว่าจำเลยยินยอมให้เอาที่ดินของจำเลยนั้นตราเป็นประกันชำระหนี้ได้ด้วย ฉะนั้น หากมีการกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจให้ทำจำนองแม้จะกระทำภายหลังก็ถือได้ว่าข้อความนั้นตรงตามความประสงค์ของจำเลยแล้ว แต่ทั้งนี้การทำจำนองต้องกระทำเสียก่อนที่จำเลยเพิกถอนความประสงค์นั้น   
          การที่โจทก์นำหนังสือมอบอำนาจของจำเลยมากรอกข้อความขึ้นในภายหลังแล้วนำไปทำจำนองนั้น เมื่อกระทำหลังจากที่จำเลยขอถอนการค้ำประกันและขอคืนโฉนดแล้วจึงหาใช่ความประสงค์ของจำเลยไม่ ฉะนั้น การจำนองที่กระทำขึ้นโดยอาศัยหนังสือมอบอำนาจที่จำเลยเพียงแต่ลงชื่อให้ไว้ แต่ไม่ประสงค์จะผูกพันต่อไปแล้ว จึงหากผูกมัดจำเลยไม่ จำเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญาจำนองดังกล่าวนั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5927/2548  จำเลยที่ 1 ลักลอบปลอมหนังสือมอบอำนาจและนำโฉนดที่ดินของโจทก์ไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์มิได้มีส่วนรู้เห็นกับจำเลยที่ 1 และโจทก์มิได้ประมาทเลินเล่อ แม้จำเลยที่ 2 จะรับจำนองไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนก็ตาม แต่ก็เป็นการรับจำนองอันสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 กระทำโดยมิชอบ นิติกรรมจำนองดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ เพราะการจำนองทรัพย์สินนั้นนอกจากผู้เป็นเจ้าของในขณะนั้นแล้วท่านว่าใครอื่นจะจำนองหาได้ไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 705
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6229/2549  อ. ขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินทีมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่โจทก์โดยทำเป็นหนังสือแต่ไม่ได้จดทะเบียนโอนสิทธิกันต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ อ. ได้สละเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทและโอนการครอบครองโดยส่งมอบที่ดินพิพาทแก่โจทก์ และโจทก์เข้าครอบครองโดยเจตนายึดถือเพื่อตนในวันที่ซื้อขายแล้ว ดังนั้น การครอบครองที่ดินพิพาทของ อ. จึงสิ้นสุดลง และโจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367, 1377 และ 1378 อ. ไม่ใช่เจ้าของ อ. และไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปจำนองแก่จำเลยที่ 2 เพราะต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 การจำนองจึงไม่มีผล โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับจำนองสุจริตหรือไม่เพราะสิทธิของผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ที่ห้ามมิให้ยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน โดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง นั้น ต้องเป็นการได้สิทธิในที่ดินที่ได้จดทะเบียนแล้ว และสิทธิที่ได้นั้นต้องเกิดจากเอกสารสิทธิของที่ดินที่ออกโดยชอบ เมื่อการออกโฉนดที่ดินพิพาทไม่ชอบ จำเลยที่ 2 จะอ้างสิทธิที่เกิดจากที่ดินส่วนที่ออกโดยไม่ชอบดังกล่าวหาได้ไม่ กรณีไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 1299 วรรคสอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจำนองที่ดินพิพาทระหว่าง อ. กับจำเลยที่ 2 ได้
          คำพิพากษาฎีกาที่ 18374/2556  อ. ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ พ. เป็นของตนเองโดยโจทก์และทายาทคนอื่นๆ ของ พ. ไม่ได้รู้เห็นยินยอมเป็นเรื่องที่ อ. ในฐานะผู้จัดการมรดกทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ พ. ที่ อ. มีส่วนได้เสียเป็นของตนเองในฐานะส่วนตัว เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกซึ่งต้องห้ามโดยชัดแจ้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 นิติกรรมการโอนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ที่ดินพิพาทยังคงเป็นกองมรดกของ พ. อยู่อย่างเดิม ไม่ได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ อ. ในฐานะส่วนตัว เมื่อ อ. ในฐานะผู้โอนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยที่ตนเองไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่จดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพิพาทในนามเดิมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ และการที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปจำนองเป็นประกันหนี้เงินกู้ไว้กับจำเลยที่ 2 ทั้งๆ ที่ตนเองไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในขณะจำนองเป็นการต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 แม้จำเลยที่ 2 รับจำนองไว้โดยสุจริตก็ตาม ก็ไม่มีผลทำให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิตามนิติกรรมจำนอง การจำนองที่ดินพิพาทไม่ผูกพันโจทก์และทายาทคนอื่นๆ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10738/2551  ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ บ. ซึ่งเป็นมารดาของผู้ร้องและจำเลยเนื่องจากจำเลยอ้างว่า บ. ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้จำเลย แล้วจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยและนำไปจำนองเป็นประกันหนี้ต่อโจทก์ต่อมาศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์และให้ยึดที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดซึ่งโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทเพื่อบังคับคดีแล้ว แต่ผู้ร้องยื่นคำร้องในคดีที่จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกขอให้ถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ บ. ศาลไต่สวนและมีคำสั่งถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกเนื่องจากพินัยกรรมที่จำเลยอ้างเป็นโมฆะ และตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแทน คดีถึงที่สุดแล้ว กรณีจึงต้องถือว่าขณะจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทให้แก่ตนเองในฐานะส่วนตัวทั้งที่ตนไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมที่อ้าง เป็นการทำนิติกรรมซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของ บ. อันเป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 นิติกรรมการโอนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โดยถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนเกิดขึ้นเลยกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังเป็นของกองมรดกของ บ. อยู่ตามเดิม สัญญาจำนองที่จำเลยในฐานะส่วนตัวทำกับโจทก์ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ แก่โจทก์ที่จะบังคับเอาแก่ที่ดินพิพาท เพราะผู้จำนองไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่จำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 แม้โจทก์จะอ้างว่ารับจำนองโดยสุจริตก็ตาม      

          กรณีเจ้าของรวม ย่อมสามารถจำนองได้เฉพาะส่วนแห่งสิทธิของตนเท่านั้น ตามมาตรา 1361 วรรคหนึ่ง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5423/2553  ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเฉพาะส่วนและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองระบุว่า จำเลยจำนองทรัพย์ดังกล่าวเฉพาะส่วนกรรมสิทธิ์ของจำเลยเท่านั้นเป็นประกันการชำระหนี้ แต่ตัวทรัพย์ทั้งหมดนั้นจำเลยจะก่อภาระติดพันได้ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่ง เจ้าของรวมทุกคนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง เมื่อไม่ปรากฏว่าเจ้าของรวมคนอื่นยินยอมให้จำเลยทำนิติกรรมจำนอง การจำนองดังกล่าวจึงไม่ผูกพันตัวทรัพย์ทั้งหมด การที่จำเลยเจ้าของรวมคนหนึ่งจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเฉพาะ ส่วนของตนต่อโจทก์จึงเป็นการจำนองเฉพาะส่วนแห่งสิทธิของตนเท่านั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคหนึ่ง ย่อมไม่กระทบถึงส่วนแห่งสิทธิของเจ้าของรวมคนอื่น            

ค้ำประกัน

          มาตรา 680  "อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่ง เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น
          อนึ่ง สัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่"

          สัญญาค้ำประกันจะต้องมีลักษณะ 3 ประการ คือ

          1. ผู้ค้ำประกันต้องเป็นบุคคลภายนอก กล่าวคือ สัญญาค้ำประกัน เป็นสัญญาที่บุคคลภายนอกผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ เพื่อชำระหนี้เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ดังนั้น ผู้ค้ำประกันต้องเป็นบุคคลภายนอกหรือบุคคลที่สาม มิใช่ตัวเจ้าหนี้หรือตัวลูกหนี้เอง โดยสัญญาค้ำประกันเป็นการประกันการชำระหนี้ด้วยตัวบุคคล ไม่ใช่ประกันการชำระหนี้ด้วยทรัพย์หรือนิติกรรมอื่น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2223/2539  การที่โจทก์ทำหนังสือมอบสิทธิการรับเงินฝากให้ไว้แก่ธนาคารผู้ให้กู้ มิใช่การค้ำประกันตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 แต่ก็เป็นเรื่องความตกลงกันในทางฝากเงินเพื่อเป็นประกันหนี้อันเป็นสัญญารูปแบบหนึ่ง เมื่อโจทก์ชำระหนี้แก่ธนาคารแทนจำเลยตามที่จำเลยขอร้องโดยจำเลยรับจะชำระเงินคืนโจทก์ และธนาคารผู้เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยก็ยอมรับชำระหนี้แล้ว จำเลยจึงต้องใช้เงินคืนโจทก์ตามข้อสัญญาที่โจทก์และจำเลยได้ตกลงกันไว้ 

          2. ต้องมีหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ ซึ่งเรียกว่าหนี้ประธาน โดยอาจเกิดเป็นหนี้ที่เกิดจากสัญญาหรือละเมิดก็ได้ ถ้าไม่มีหนี้ประธาน หากทำสัญญาค้ำประกันเอาไว้ ผู้ค้ำประกันก็ไม่ต้องรับผิด
          3. ผู้ค้ำประกันต้องผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น คือ ผู้ค้ำประกันต้องทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่อเจ้าหนี้ หากทำสัญญาไว้กับบุคคลอื่น สัญญานั้นย่อมไม่ใช่สัญญาค้ำประกัน

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3781/2533  โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้เงินและค้ำประกัน ทางพิจารณาข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินกู้ตามฟ้องไปจากโจทก์แต่เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองเช่าหลักทรัพย์ที่ดินของโจทก์เพื่อประกันตัวนาย ว. ญาติของจำเลยที่ 2 โดยโจทก์เรียกค่าตอบแทนและให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินโดยให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันให้ไว้เพื่อเป็นประกันในการที่โจทก์ยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัวนาย ว. ในคดีอาญาต่อศาล การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญากู้เงินและค้ำประกันต่อโจทก์ก่อนแล้วโจทก์จึงไปยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัวนาย ว. นั้น ขณะทำสัญญากู้เงินและค้ำประกันดังกล่าว สัญญาประกันตัวนาย ว. ยังไม่ได้ทำและความเสียหายอันเกิดจากสัญญาประกันตัวนาย ว. ยังไม่ได้เกิดขึ้น ทำให้ไม่มีมูลหนี้เดิมที่จะแปลงเป็นมูลหนี้ในสัญญากู้เงินได้ จึงไม่เป็นการแปลงนี้ อีกทั้งยังไม่รู้ว่าศาลจะตีราคาประกันเท่าใด จึงเป็นหนี้ที่ไม่แน่นอนและไม่อาจทำสัญญากู้เงินเพื่อประกันหนี้นั้นได้ ดังนั้น จำเลยที่ 1 ผู้กู้เงินและจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4783/2543  ผู้ร้องทำหนังสือสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไว้ต่อศาล ซึ่งเป็นองค์กรแห่งรัฐ เพื่อทุเลาการบังคับตามคำพิพากษาของศาล มิใช่ทำสัญญาค้ำประกันกับเจ้าหนี้ ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างบุคคล จึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.ในเรื่องค้ำประกัน ที่ให้โจทก์บังคับชำระหนี้เอาแก่จำเลยที่ 1 ก่อน แล้วจึงบังคับเอาแก่ผู้ร้องในฐานะผู้ค้ำประกันในภายหลังมาปรับใช้แก่กรณีของผู้ร้อง โดยอาศัยเทียบบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5370/2549  มูลหนี้ที่เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้นั้นเนื่องมาจากลูกหนี้ที่ 1 ขอให้เจ้าหนี้ออกหนังสือค้ำประกันผลงานและหนังสือค้ำประกันเงินเบิกล่วงหน้าของบริษัท ฮ. ต่อบริษัท ก. ต่อมาเจ้าหนี้ถูกบริษัท ก. ฟ้องเป็นคดีแพ่งและศาลมีคำพิพากษาให้เจ้าหนี้ซึ่งเป็นจำเลยในคดีแพ่งดังกล่าวรับผิดต่อบริษัท ก. ภายหลังจากศาลมีคำพิพากษาเจ้าหนี้ได้ชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่บริษัท ก. แล้วจึงมายื่นขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ ดังนั้นการที่ลูกหนี้ที่ 1 ขอให้เจ้าหนี้ค้ำประกันผลงานและค้ำประกันเงินเบิกล่วงหน้าของบริษัท ฮ. ต่อบริษัท ก. โดยลูกหนี้ที่ 1 รับรองกับเจ้าหนี้ผู้ค้ำประกันว่าถ้าเจ้าหนี้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอย่างใด ๆ ในการค้ำประกันนั้น ลูกหนี้ที่ 1 จะใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าหนี้ผู้ค้ำประกันทั้งสิ้น การรับรองเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นสัญญาค้ำประกันแต่ถือได้ว่าเป็นสัญญาอย่างหนึ่งที่มีผลบังคับได้ในระหว่างเจ้าหนี้ผู้ค้ำประกันกับลูกหนี้ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขอให้เจ้าหนี้ออกหนังสือค้ำประกัน เมื่อเจ้าหนี้ต้องเสียหายโดยชำระหนี้แทนบุคคลที่ตนค้ำประกันไปตามคำพิพากษาของศาล เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ที่ 1 ใช้เงินนั้นได้ตามสัญญา เมื่อต่อมาปรากฏว่าลูกหนี้ที่ 1 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้จึงนำหนี้ดังกล่าวมาขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ หนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและไม่ต้องห้ามที่จะขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 94



          สัญญาค้ำประกันจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ 

          สัญญาค้ำประกันต้องการเพียงหลักฐานเป็นหนังสือที่ผู้ค้ำประกันลงชื่อฝ่ายเดียวก็ใช้บังคับสำหรับฟ้องร้องดำเนินคดีได้ เจ้าหนี้หาจำต้องลงชื่อในสัญญาด้วยไม่ ตามมาตรา 680 วรรคท้าย หลักฐานเป็นหนังสือที่จะใช้ในการฟ้องร้องไม่จำเป็นต้องทำไว้กับเจ้าหนี้โดยตรง จะทำไว้ต่อบุคคลอื่น แม้จะไม่มีเจตนาจะใช้เป็นหลักฐานก็ได้ เช่น จดหมาย บันทึกข้อความ รายงานการประชุม รายงานประจำวันเกี่ยวแก่คดี
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7103/2539  ข้อความในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีระบุถึงการที่โจทก์ประสงค์จะขอถอนคำร้องทุกข์คดีอาญา เนื่องจากไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 อีกต่อไป เพราะตกลงกันได้โดยจำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คพิพาท 3 ฉบับ สั่งจ่ายเงินรวม 410,000 บาท เพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ และมีจำเลยที่ 2 ยืนยันว่าหากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสามฉบับ จำเลยที่ 2 ยินยอมรับชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งให้แก่โจทก์นั้น ย่อมแสดงให้เข้าใจได้ชัดเจนว่าถ้าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค จำเลยที่ 2 จะยอมชำระเงินตามเช็คแก่โจทก์นั่นเอง ทั้งจำเลยที่ 2 ก็ลงลายมือชื่อท้ายเอกสารดังกล่าวในช่องที่ระบุว่าผู้ค้ำประกัน รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าวจึงเป็นหลักฐานเป็นหนังสือที่จำเลยที่ 2 ยอมตนเข้าค้ำประกันการชำระเงินตามเช็คที่จำเลยที่ 1 ออกให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3847/2541  คำว่าหลักฐานเป็นหนังสือที่จะรับฟังเป็นหลักฐานแห่งการค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 วรรคสอง กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องมีข้อความบรรจุอยู่ในเอกสารฉบับเดียวกัน อาจเป็นข้อความที่รวบรวมจากเอกสารหลายฉบับที่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องเดียวกันก็ได้ 
          เอกสารหมาย จ.17 มีข้อความว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมเป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ และในเอกสารหมาย จ.11 มีข้อความว่าจำเลยที่ 2 ค้ำประกันการชำระหนี้ของลูกหนี้ต่อโจทก์ เอกสารทั้งสองฉบับนี้ย่อมรับฟังประกอบกันเป็นหลักฐานแห่งการค้ำประกันได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ กรณีมิใช่ศาลรับฟังพยานบุคคลประกอบข้ออ้างว่าเอกสารหมาย จ.11 ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ.มาตรา 94 (ข) 

          หนี้ที่ค้ำประกันนั้นต้องเป็นหนี้ที่สมบูรณ์

          สัญญาค้ำประกัน สามารถทำได้ทั้งเพื่อค้ำประกันการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ก่อนแล้ว และหนี้ในอนาคตก็ได้ ที่สำคัญคือหนี้ที่ค้ำประกันนั้นต้องเป็นหนี้ที่สมบูรณ์ ตามมาตรา 681

          (1) หนี้ประธานไม่สมบูรณ์เพราะวัตถุประสงค์ของสัญญาต้องห้ามตามกฎหมาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 375/2537  จำเลยทำสัญญายอมชำระหนี้ให้โจทก์แทน ส. เป็นการตอบแทนที่จำเลยขอให้โจทก์ถอนฟ้องคดีอาญาที่โจทก์ฟ้อง ส.วัถตุประสงค์ของสัญญาเป็นการตกลงให้ระงับคดีอาญาแผ่นดิน ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน สัญญาตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150 (มาตรา 113 (เดิม))
          (2) หนี้ประธานไม่สมบูรณ์เพราะไม่ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1800/2511  สัญญาเช่าซื้อต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ถ้าหากทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้เช่าซื้อฝ่ายเดียวย่อมเป็นโมฆะ เจ้าของทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อจะฟ้องผู้เช่าซื้อให้รับผิดตามสัญญาหาได้ไม่ 
          ทำสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อซึ่งสัญญาเป็นโมฆะผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิด เพราะการค้ำประกันจะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์
          (3) หนี้ประธานสมบูรณ์แต่ขาดหลักฐานเป็นหนังสือ เช่น กู้ยืมเงินกว่า 2,000 บาทขึ้นไป โดยส่งมอบเงินที่กู้ยืมให้แก่ผู้กู้แล้ว แต่ไม่ได้ทำสัญญาหรือหลักฐานเป็นหนังสือ ดังนี้ สามารถทำสัญญาค้ำประกันได้เพราะมีหนี้ประธานที่สมบูรณ์ แต่เจ้าหนี้ฟ้องผู้กู้ไม่ได้เพราะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ส่วนผู้ค้ำประกันหากมีการทำหลักฐานเป็นหนังสือไว้ เจ้าหนี้ย่อมสามารถฟ้องผู้ค้ำประกันได้ แต่ผู้ค้ำประกันก็มีสิทธิตามมาตรา 694 ที่สามารถยกข้อต่อสู้ของผู้กู้ซึ่งเป็นลูกหนี้ขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้
          (4) หนี้ประธานอันเกิดแต่นิติกรรมที่เป็นโมฆียะนั้น ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดเพียงใดหรือไม่ ก็ต้องเป็นไปตามมาตรา 681 วรรคสี่ "หนี้อันเกิดแต่สัญญาซึ่งไม่ผูกพันลูกหนี้เพราะทำด้วยความสำคัญผิดหรือเพราะเป็นผู้ไร้ความสามารถนั้นก็อาจจะมีประกันอย่างสมบูรณ์ได้ ถ้าหากว่าผู้ค้ำประกันรู้เหตุสำคัญผิดหรือไร้ความสามารถนั้นในขณะที่เข้าทำสัญญาผูกพันตน"

          สัญญาค้ำประกันตามกฎหมายใหม่ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม
          (1) หนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไขตามมาตรา 681 วรรคสอง ต้องระบุวัตถุประสงค์ในการก่อหนี้รายที่ค้ำประกัน ลักษณะของมูลหนี้ จำนวนเงินสูงสุดที่ค้ำประกัน และระยะเวลาในการก่อหนี้ที่จะค้ำประกัน เว้นแต่เป็นการค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวตามมาตรา 699 จะไม่ระบุระยะเวลาดังกล่าวก็ได้
          (2) สัญญาค้ำประกันต้องระบุหนี้หรือสัญญาที่ค้ำประกันไว้โดยชัดแจ้ง และผู้ค้ำประกันย่อมรับผิดเฉพาะหนี้หรือสัญญาที่ระบุไว้เท่านั้น ตามมาตรา 681 วรรคสาม
          (3) ถ้าไม่ระบุหรือระบุข้อตกลงเกี่ยวกับการค้ำประกันที่แตกต่างไปจากมาตรา 681 วรรคสอง และวรรคสาม ย่อมตกเป็นโมฆะ
          (4) ข้อตกลงใดที่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ ตามมาตรา 681/1 (แต่ไม่รวมถึงผู้ค้ำประกันที่เป็นนิติบุคคล)
          (5) เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดเจ้าหนี้จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ก่อนที่หนังสือบอกกล่าวจะไปถึงผู้ค้ำประกันมิได้ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ค้ำประกันที่จะชำระหนี้เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ (มาตรา 686 วรรคหนึ่ง)
          ในกรณีที่เจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง (มาตรา 686 วรรคสอง)

          สรุป มาตรา 681/5 ที่ห้ามมิให้ตกลงแตกต่าง หากมีการตกลงแตกต่างจากบทมาตราที่กำหนดไว้ เฉพาะข้อตกลงนั้นย่อมตกเป็นโมฆะ คือ
          (1) มาตรา 681 วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม เรื่องความสมบูรณ์และเนื้อหาของสัญญาค้ำประกัน
          (2) มาตรา 686 เมื่อลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้ต้องบอกกล่าวผู้ค้ำประกันก่อนจึงจะฟ้องผู้ค้ำประกันได้
          (3) มาตรา 694 ผู้ค้ำประกันมีสิทธิยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้
          (4) มาตรา 698 ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดเมื่อหนี้ของลูกหนี้ระงับ
          (5) มาตรา 699 ผู้ค้ำประกันหนี้ในอนาคตมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเพื่อคราวอันเป็นอนาคต
          ทั้งนี้ มาตรา 681/1 มีผลใช้บังคับแก่สัญญาค้ำประกันที่ทำขึ้นตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 ยกเว้นกรณีตามมาตรา 686 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2558

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 795/2545  การซื้อขายสินค้าของจำเลยที่ 1 ตามใบแจ้งหนี้สำเร็จบริบูรณ์ก่อนเวลาที่จำเลยที่ 2 เข้ามาค้ำประกันแล้ว ดังนี้ แม้วันที่ครบกำหนดชำระราคาค่าสินค้าจะเป็นเวลาภายหลังวันที่ทำสัญญาค้ำประกันก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็คงต้องรับผิดเฉพาะหนี้ค่าสินค้าตามใบแจ้งหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังจากวันที่จำเลยที่ 2 เข้าค้ำประกันการซื้อสินค้าของจำเลยที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 431/2544  - การที่โจทก์กรอกข้อความลงในสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันที่จำเลยลงลายมือชื่อ แต่ยังไม่ได้กรอกข้อความอื่นใดว่าได้มีการกู้ยืมเงิน และค้ำประกันในจำนวนเงินถึง 100,000 บาทเกินกว่าจำนวนหนี้ที่เป็นจริง โดยจำเลยทั้งสองมิได้รู้เห็นยินยอมด้วยสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันจึงไม่สมบูรณ์ ทำให้เอกสารนั้นเป็นเอกสารปลอม โจทก์จึงอ้างเอกสารนั้นมาเป็น พยานหลักฐานในคดีอย่างใดไม่ได้ ฉะนั้น การกู้ยืมเงินและการค้ำประกันที่ฟ้อง จึงถือว่าไม่มีพยานหลักฐานเป็นหนังสือที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 และ มาตรา 680 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4057/2548  - สัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันมีความรับผิดแต่เพียงฝ่ายเดียว การตีความให้ผู้ค้ำประกันรับผิดจึงต้องเป็นไปโดยเคร่งครัด จะตีความไปในทางขยายความรับผิดของผู้ค้ำประกันให้เกินเลยไปกว่าข้อความที่ปรากฏชัดแจ้งในสัญญาค้ำประกันไม่ได้ จำเลยเข้าทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของ ภ. วันใดย่อมหมายถึงจำเลยยอมค้ำประกันการทำงานของ ภ. นับแต่วันที่ทำสัญญาค้ำประกันนั้นเป็นต้นไป มิใช่หมายความถึงยอมค้ำประกันหนี้ที่ ภ. เป็นหนี้โจทก์อยู่แล้วก่อนหน้าวันที่จำเลยตกลงยอมเข้าเป็นผู้ค้ำประกันซึ่ง เป็นการขยายความรับผิดของผู้ค้ำประกัน หากโจทก์ประสงค์จะให้จำเลยรับผิดในหนี้ที่ ภ. ก่อให้เกิดขึ้นก่อนหน้าวันที่จำเลยเข้าเป็นผู้ค้ำประกันก็ต้องระบุไว้ให้ ชัดเจน เมื่อสัญญาค้ำประกันไม่มีข้อความระบุไว้ชัดแจ้งว่าจำเลยยอมรับผิดในหนี้ที่ ภ. ก่อให้เกิดขึ้นแล้วก่อนวันทำสัญญา แต่หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นหนี้ที่ ภ. ก่อให้เกิดขึ้นก่อนวันที่จำเลยเข้าเป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามฟ้องให้แก่โจทก์



06 พฤษภาคม 2557

บุคคลสิทธิและทรัพยสิทธิ

          คำว่า “บุคคลสิทธิ” และ “ทรัพยสิทธิ” นั้นเป็นคำที่ใช้ในภาษากฎหมาย  คำว่า “ทรัพยสิทธิ” มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1298 ว่า “ทรัพยสิทธิทั้งหลายนั้น ท่านว่าจะก่อตั้งขึ้นได้แต่ด้วยอาศัยอำนาจในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น” แต่คำว่า “บุคคลสิทธิ” ไม่มีกฎหมายได้บัญญัติไว้
           คำพิพากษาฎีกาที่ 695/2508 วินิจฉัยกล่าวถึงบุคคลสิทธิ และทรัพยสิทธิว่า “จำเลยเสียเงินช่วยค่าก่อสร้างห้องที่เช่าให้แก่ผู้ให้เช่าคนเดิม และเสียเงินค่าต่อเติมอีก สัญญาต่างตอบแทนระหว่างจำเลยกับผู้ให้เช่าคนเดิมเป็นบุคคลสิทธิ ซึ่งมีผลผูกพันระหว่างคู่สัญญา มิใช่ทรัพยสิทธิ ย่อมไม่มีผลตกติดไปกับทรัพย์ของคู่สัญญา ซึ่งโอนไปยังบุคคลอืน จะบังคับให้โจทก์ทำสัญญาและจดทะเบียนให้จำเลยเช่าไม่ได้”  

          ความหมายของคำว่า "บุคคลสิทธิ" และ "ทรัพยสิทธิ" 
          บุคคลสิทธิ หมายถึง สิทธิที่มีอยู่เหนือบุคคลในอันที่จะบังคับบุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญาหรือเป็นลูกหนี้ให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือให้งดเว้นมิให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือให้ส่งมอบทรัพย์ให้ เช่น สิทธิของเจ้าหนี้ตามสัญญากู้ซึ่งสามารถบังคับให้ลูกหนี้ชำระเงินตามสัญญากู้ ได้ สิทธิตามสัญญาเช่า ซึ่งผู้ให้เช่ามีสิทธิบังคับผู้เช่าให้ชำระค่าาตามสัญญาเช่าได้ และผู้เช่าก็มีสิทธิบังคับผู้ให้เช่าให้ส่งมอบทรัพย์ที่เช่าได้ หรือสิทธิตามสัญญาจ้างทำของซึ่งผู้ว่าจ้างมีสิทธิบังคับให้ผู้รับจ้างทำการ ใด ๆ ตามสัญญาจ้างทำของได้ และผู้รับจ้างก็มีสิทธิบังคับให้ผู้ว่าจ้างชำระค่าจ้างได้ หรือสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในทางละเมิด ซึ่งผู้เสียหายมีสิทธิบังคับผู้ทำละเมิดให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ตนได้ เป็นต้น บุคคลสิทธินี้เป็นสิทธิที่จะบังคับเอาแก่คู่สัญญาผู้สืบสิทธิของคู่สัญญา หรือ ลูกหนี้เท่านั้น จะใช้บังคับหรือใช้ยันต่อบุคคลอื่นทั่วไปมิได้เลย และหากคู่สัญญาผู้สืบสิทธิของคู่สัญญา หรือลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตามสิทธินั้น ๆ ผู้ที่มีสิทธิความสัญญาหรือเจ้าหนี้ต้องฟ้องร้องบังคับคดียังโรงศาล จะบังคับกันเองมิได้ บุคคลสิทธินี้อาจเกิดขึ้นได้โดยนิติกรรม เช่น สัญญา หรือนิติเหตุ เช่นละเมิดก็ได้



        ทรัพยสิทธิ หมายถึง สิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สิน หรือเป็นสิทธิที่จะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินโดยตรง เช่น กรรมสิทธิ์เป็นทรัพยสิทธิที่ทำให้ผู้เป็นเจ้าของทรัพยสิทธิสามารถใช้สอย จำหน่ายทรัพย์สิน ติดตามเอาทรัพย์สินนั้นคืนจากผู้ที่ไม่มีอำนาจยึดถือไว้ได้ ทรัพยสิทธิเป็นสิทธิที่ใช้ยันแก่บุคคลได้ทั่วไป หรือใช้ยันแก่บุคคลได้ทั่วโลก เช่น เรามีกรรมสิทธิ์ในนาฬิกาของเราซึ่งเป็นทรัพยสิทธิ แม้ว่าเราจะนำนาฬิกานั้นไปต่างประเทศแห่งใด เราก็ยังมีกรรมสิทธิ์ในนาฬิกาของเราอยู่ ผู้ใดมาเอาไปโดยไม่มีสิทธิ เราย่อมติดตามเอาคืนได้เสมอ ทรัพยสิทธินอกจากตัวอย่าง เช่น กรรมสิทธิ์แล้วยังมีสิทธิครอบครอง สิทธิจำนำ สิทธิจำนอง สิทธิยึดหน่วง ลิขสิทธิ์ สิทธิในเครื่องหมายการค้า ภารจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเก็บกิน สิทธิเหนือพื้นดิน และภารติดพันในอสังหาริมทรัพย์เป็นต้น เนื่องจากทรัพยสิทธิเป็นสิทธิที่ใช้ยันต่อบุคคลใด ๆ ได้ทั่วไป ทรัพยสิทธิจึงจะก่อตั้งขึ้นได้ก็โดยอาศัยอำนาจของกฎหมาย เพื่อที่จะให้บุคคลทั้งหลายทั่วไปได้รับรู้ เพราะมีหลักอยู่ว่าบุคคลจะอ้างความไม่รู้กฎหมายมาเป็นข้อแก้ตัวมิได้ เช่น สิทธิอาศัยจะก่อตั้งขึ้นได้ก็เฉพาะในโรงเรือนเท่านั้น ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1402 จะตกลงให้มีสิทธิอาศัยในที่ดินหรือทรัพย์สินอื่นมิได้ 

        ความแตกต่างของบุคคลสิทธิ และทรัพยสิทธิ 
        1. บุคคลสิทธิ เป็นสิทธิระหว่างคู่สัญญา ผู้สืบสิทธิของคู่สัญญา หรือเจ้าหนี้กับลูกหนี้ ในอันที่จะบังคับให้คู่สัญญา ผู้สืบสิทธิของคู่สัญญา หรือลูกหนี้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ หรือส่งมอบทรัพย์ตามสัญญา หรือตามมูลหนี้ สิทธิเช่นนี้เป็นสิทธิเรียกร้องอย่างหนึ่ง

        ทรัพยสิทธิ เป็นสิทธิที่ใช้บังคับเอาจากทรัพย์สิน(สิทธิเหนือทรัพย์สิน) โดยไม่คำนึงถึงตัวบุคคลว่าจะเป็นคู่สัญญาผู้สืบสิทธิของคู่สัญญา หรือลูกหนี้ของผู้ทรงทรัพยสิทธิหรือไม่ เช่น สิทธิจำนองเป็นทรัพยสิทธิ ฉะนั้นผู้จำนองจึงมีสิทธิบังคับจำนองเอาจากตัวทรัพย์จำนองได้เสมอ ไม่ว่าทรัพย์จำนองจะโอนไปเป็นของผู้ใดทั้งๆที่ผู้นั้นมิได้เป็นผู้จำนองทรัพย์นั้นต่อผู้รับจำนองเลยก็ตาม (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 702)

        2. บุคคลสิทธิ เกิดขึ้นได้โดยนิติกรรม เช่น ทำสัญญาจะซื้อขาย ทำสัญญาเช่าทรัพย์ ทำสัญญาจ้างแรงงาน หรือจ้างทำของเป็นต้น สิทธิที่จะบังคับคู่สัญญาหรือผู้สืบสิทธิของคู่สัญญาให้ปฏิบัติตามสัญญานั้นๆ คือ บุคคลสิทธิ นอกจากนี้บุคคลสิทธิยังเกิดจากนิติเหตุได้ เช่น เมื่อมีการทำละเมิดนั้น ผู้เสียหายย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ทำละเมิด สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนี้ก็เป็นบุคคลสิทธิ

        ทรัพยสิทธิ เกิดขึ้นได้โดยอาศัยอำนาจของกฎหมายเท่านั้น กล่าวคือ ถ้าไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจในการก่อตั้งไว้แล้ว ผู้หนึ่งผู้ใดจะคิดค้นก่อตั้งทรัพยสิทธิขึ้นมาเองมิได้ ทรัพยสิทธิที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้อำนาจก่อตั้งได้ เช่น กรรมสิทธิ์ สิทธิอาศัย การจำยอม สิทธิครอบครอง สิทธิเก็บกิน สิทธิเหนือพื้นดิน ภารติดพันในอสังหาริมทรัพย์ บุริมสิทธิ สิทธิยึดหน่วงจำนอง และจำนำเป็นต้น ส่วนทรัพยสิทธิตามกฎหมายอื่น เช่น ลิขสิทธิเกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม สิทธิในเครื่องหมายการค้าเกิดขึ้นตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า

        3. บุคคลสิทธิ ก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะเจาะจงเท่านั้น เช่น ในกรณีสัญญาก็คือคู่สัญญา หรือผู้สืบสิทธิของคู่สัญญา ในอันที่จะกระทำการ งดเว้นกระทำการ หรือส่งมอบทรัพย์ตามสัญญา ในกรณีละเมิดก็คือผู้ทำละเมิด หรือผู้อื่นที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดร่วมกับผู้ทำละเมิดด้วยเท่านั้น เช่น นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 ตัวการต้องร่วมรับผิดกับตัวแทนตามมาตรา 427 ผู้ว่าจ้างต้องรับผิดในการทำละเมิดของผู้รับจ้างตามมาตรา 428 ครูอาจารย์ นายจ้าง ผู้รับดูแลผู้ไร้ความสามารถ ต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถตามมาตรา 430 เป็นต้น

        ทรัพยสิทธิ ก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลทั่วไปกล่าวคือบุคคลใด ๆ ก็ตามจะต้องรับรู้ในทรัพยสิทธิของเจ้าของทรัพยสิทธิ จะต้องไม่เกี่ยวข้องขัดขวางการใช้ทรัพยสิทธินั้น เช่น ก. มีการจำยอมในอันที่จะเดินผ่านที่ดินของ ข. เป็นเวลา 10 ปี ก่อนครบ 10 ปี ข. ขายที่ดินนั้นให้ ค. ค. ก็จำต้องยอมให้ ก. มีสิทธิเดินผ่านที่ดินนั้นได้ต่อไปจนกว่าจะครบ 10 ปี ค. จะอ้างว่าภารจำยอมมีอยู่ระหว่าง ก. และ ข. เท่านั้น ตนมิได้ยินยอมรู้เห็นด้วยมิได้

        4. บุคคลสิทธิ เป็นสิทธิที่ไม่คงทนถาวร มีระยะเวลาจำกัดในการใช้ หากไม่ใช้เสียภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ บุคคลสิทธินั้นย่อมสิ้นไป ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้นี้เรียกว่า อายุความ ทั้งนี้จะเห็นได้จากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 163 ซึ่งบัญญัติว่า “อันสิทธิเรียกร้องอย่างใด ๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับเสียภายในระยะเวลาอันกฎหมายกำหนดไว้ ท่านว่าตกเป็นอันขาดอายุความ ห้ามมิให้ฟ้องร้อง” อายุความที่ยาวที่สุดที่กฎหมายอนุญาตไว้มีกำหนด 10 ปี ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 164

        ทรัพยสิทธิ เป็นสิทธิที่คงทนถาวร หม้จะไม่ใช้ทรัพยสิทธิช้านานเพียงใด ทรัพยสิทธิก็หาระงับสิ้นไปไม่ เช่น กรรมสิทธิ์ แม้ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์จะมิได้ใช้สอยทรัพย์นั้นช้านานเท่าใดก็ตาม กรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นก็ยังมีอยู่ ทรัพย์นั้นยังเป็นของเจ้าของอยู่เสมอ เว้นเสียแต่จะปล่อยให้บุคคลอื่นครอบครองปรปักษ์ทรัพย์นั้นจนครบระยะเวลาตาม ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1382 หรือ มาตรา 1383 บุคคลอื่นย่อมได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นไป ซึ่งก็เป็นเรื่องที่บุคคลอื่นได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ตามวิธีการที่กฎหมาย บัญญัติไว้ หาใช่กรรมสิทธิ์ระงับไปเพราะการไม่ใช้ไม่ เพราะเพียงแต่ไม่ใช้กรรมสิทธิ์โดยไม่มีผู้ใดเข้ามาเกี่ยวข้องโดยการครอบครอง ปรปักษ์แล้ว ไม่มีทางที่กรรมสิทธิ์จะระงับไปได้เลย มีข้อยกเว้นสำหรับทรัพยสิทธิอยู่ 2 ประเภท คือ ภารจำยอมและภารติดพันในอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1399 และ มาตรา 1434 บัญญัติว่า ถ้าไม่ใช้ 10 ปี ย่อมสิ้นไป การสิ้นไปของทรัพยสิทธิ 2 ประเภทนี้ถือว่าเป็นกรณีพิเศษนอกเหนือไปจากหลักทั่วไป


          บุคคลสิทธิใช้บังคับได้เฉพาะคู่สัญญา ผู้สืบสิทธิของคู่สัญญาหรือลูกหนี้เท่านั้น  คู่สัญญานั้นรวมถึงตัวการซึ่งมอบให้ตัวแทนเข้าทำนิติกรรมแทนตนด้วย ทั้งนี้เพราะตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลาย อันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจของตัวแทน ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 820 ส่วนผู้สืบสิทธิของคู่สัญญานั้นได้แก่ทายาทของคู่สัญญา ไม่ว่าจะเป็นทายาทโดยธรรม หรือผู้รับพินัยกรรมก็ตาม ทั้งนี้เพราะมาตรา 1600 บัญญัติว่า “ฯลฯ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้” และ มาตรา 1603 บัญญัติว่า “กองมรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมายหรือโดยพินัยกรรม ฯลฯ” นอกจากนี้หากมีกฎหมายบัญญัติให้บุคคลใดซึ่งได้รับโอนทรัพย์สิน ต้องรับสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนไปด้วย ก็ถือว่าผู้รับโอนทรัพย์สินนั้นเป็นผู้สืบสิทธิของผู้โอนทรัพย์ด้วย เช่น ผู้รับโอนทรัพย์สินหรือรับโอนสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ขายฝากตามมาตรา 498 และผู้ที่รับโอนทรัพย์สินที่เช่าย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอน ซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 569 เป็นต้น 
          
          การได้ทรัพยสิทธิในทรัพย์สินนั้น มีทางได้มา 2 ประการด้วยกันคือ ได้มาโดยนิติกรรมประการหนึ่ง และได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมอีกประการหนึ่ง สำหรับการได้ทรัพยสิทธิไม่ว่าจะโดยนิติกรรมหรือโดยทางอื่น นอกจากนิติกรรม ทรัพยสิทธินั้นจะต้องเป็นทรัพยสิทธิที่กฎหมายอนุญาตให้ก่อตั้งได้ดังที่ บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1298 เช่น กรรมสิทธิ์ จำนำ จำนอง ภารจำยอมเป็นต้น ฉะนั้นการได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจึงอาจทำได้โดยนิติกรรม เช่น ซื้อ แลกเปลี่ยน หรือรับให้ หรืออาจได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมเช่นครอบครองปกปักษ์ เป็นต้น
        การได้มาซึ่งทรัพยสิทธิโดยนิติกรรมก็ดี หรือโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมก็ดี จะสมบูรณ์เพียงใดแค่ไหนย่อมแล้วแต่บทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องนั้นๆ บัญญัติไว้โดยเฉพาะ เช่น การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 มิฉะนั้นเป็นโมฆะ การจำนองก็ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 714 มิฉะนั้นก็เป็นโมฆะ นอกจากนี้การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมไม่บริบูรณ์ ตามที่บัญญัติไว้ในวรรคแรกของมาตรา 1299 และการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ถ้ายังมิได้จดทะเบียน จะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนมิได้ และจดยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน และโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วมิได้ ทั้งนี้ดังที่บัญญัติไว้ในวรรคท้ายของมาตรา 1299

        การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้น มีความหมายกว้างขวางไม่ว่าจะได้มาโดยการซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้หรือจำนอง ก็อยู่ในความหมายของคำว่า “ได้มา” แต่ “การได้มา” ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1299 วรรคแรกนั้น จะนำไปใช้กับการได้มาโดยการซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้หรือจำนอง หรือนิติกรรมอย่างอื่นที่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษมิได้ เพราะ มาตรา 1299 วรรคแรกบัญญัติว่า “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้ หรือกฎหมายอื่น ท่านว่าการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับ อสังหาริมทรัพย์นั้นไม่สมบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่” ซึ่งแสดงว่าวรรคแรกของมาตรา 1299 นี้นำไปใช้เฉพาะกับการได้มาโดยนิติกรรม ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ นอกเหนือไปจากที่มีบัญญัติไว้ในลักษณะอื่นแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือที่มีบัญญัติไว้เป็นพิเศษในกฎหมายอื่นๆเท่านั้น กล่าวโดยสรุปก็คือ มาตรา 1299 วรรคแรก ส่วนใหญ่จะใช้กับการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิต่างๆ ในบรรพ 4 ตั้งแต่การจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน ภารติดพันในอสังหาริมทรัพย์ และการยกอสังหาริมทรัพย์ตีใช้หนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่เท่านั้น เพราะการได้ทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยนิติกรรมดังกล่าวข้างต้น มิได้มีบัญญัติเป็นอย่างอื่นไว้ในประมวลกฎหมายอื่น


        การได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมนั้น ตามแนวคำพิพากษาฎีกาพอจะแบ่งได้เป็น 3 ประการ คือ

        1. เป็นการได้มาโดยผลแห่งกฎหมาย หรือโดยกฎหมายบัญญัติไว้ เช่น การได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 (คำพิพากษาฎีกาที่ 513/2518 วินิจฉัยว่า การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองตามมาตรา 1382 ย่อมเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมอย่างหนึ่งที่ มาตรา 1299 วรรค 2 มุ่งหมายถึง) หรือการได้ภารจำยอมโดยอายุความตามมาตรา 1401 ประกอบด้วยมาตรา 1382 (คำพิพากษาฎีกาที่ 237/2508 วินิจฉัยว่า โจทก์ใช้ตรอกพิพาทเป็นทางเดินเข้าออกจากที่ดินโจทก์สู่ทางสาธารณะมากกว่า 10 ปี ตรอกพิพาทจึงตกอยู่ในการจำยอมโดยอายุความตามมาตรา 1401 และมิใช่เป็นการได้มาโดยนิติกรรมอันจะต้องจดทะเบียนตามมาตรา 1299)

        2. เป็นการได้มาโดยการรับมรดก (คำพิพากษาฎีกาที่ 1619/2506 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 ทายาทย่อมได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์มรดกตั้งแต่เจ้ามรดกตาย แม้จะยังไม่ได้จดทะเบียนสิทธินั้นตามมาตรา 1299 ก็ตาม) ผู้เขียนมีความเห็นเป็นส่วนตัวว่า การรับมรดกไม่ว่าจะเป็นในฐานะทายาทโดยธรรม หรือเป็นผู้รับพินัยกรรมก็ตาม ก็น่าจะถือว่าเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมทั้งสิ้น แม้ว่าจะมี คำพิพากษาฎีกาที่ 1840/2514 วินิจฉัยว่า การได้มาซึ่งสิทธิอาศัยโดยพินัยกรรมถือเป็นการได้มาโดยนิติกรรมตามมาตรา 1299 วรรคค้นก็ตาม ทั้งนี้ เพราะนอกจากจะมี คำพิพากษาฎีกาที่ 1812/2506 ซึ่งวินิจฉัยว่า “เมื่อผู้ทำพินัยกรรมตาย ที่ดินที่ระบุไว้ในพินัยกรรมย่อมตกได้แก่ผู้รับพินัยกรรมทันทีตามมาตรา 1673 โดยมิต้องทำการรับมรดกและเข้าครอบครองที่ดินนั้น” แล้วการรับทรัพย์สินตามพินัยกรรมก็ยังเป็นการได้ทรัพย์สินต่อเมื่อมีความตาย ของผู้ทำพินัยกรรมเกิดขึ้น เพราะกฎหมายบัญญัติไว้ให้มีผลเช่นนั้น (มาตรา 1673) จึงน่าจะถือว่าเป็นการได้มาโดยผลแห่งกฎหมาย แม้ว่าผลนั้นจะเริ่มมาจากพินัยกรรมซึ่งเป็นนิติกรรมก็ตาม แต่นิติกรรมนั้นก็ไม่สามารถจะกำหนดผลของนิติกรรมเองได้ นอกเสียจากที่มาตรา 1673 กำหนดไว้ จึงจะอ้างว่าผลของพินัยกรรมเป็นผลของนิติกรรมย่อมไม่ถนัด

        3. เป็นการได้มาโดยคำพิพากษาของศาล (คำพิพากษาฎีกาที่ 352/2488 วินิจฉัยว่า คำพิพากษาของศาลซึ่งแสดงหรือให้บุคคลได้สิทธิหรือมีสิทธิอย่างใดนั้น บุคคลนั้นย่อมได้สิทธิ หรือมีสิทธิตามคำพิพากษาโดยสมบูรณ์ แม้จะเป็นพวกอสังหาริมทรัพย์ ก็ไม่จำต้องขอให้จดทะเบียนเสียก่อน) การได้มาโดยคำพิพากษาของศาลที่จะถือเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม นั้น น่าจะต้องมิใช่คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เพราะคำพิพากษาเช่นว่านี้ ย่อมเป็นคำพิพากษาที่ตัดสินไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งเป็นนิติกรรม การได้ทรัพยสิทธิตามคำพิพากษาดังกล่าว แท้ที่จริงแล้วจึงเป็นการได้ทรัพยสิทธิโดยนิติกรรม

        การได้ทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยนิติกรรมตามมาตรา 1299 วรรคแรกนั้น ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว ย่อมไม่บริบูรณ์ กล่าวคือ ไม่สมบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิ ใช้ยันต่อบุคคลภายนอกมิได้เลย โดยไม่ต้องคำนึงว่าบุคคลภายนนอกนั้นสุจริตหรือไม่ หรือเสียค่าตอบแทนหรือไม่ แต่การได้มาโดยนิติกรรมที่ไม่บริบูรณ์นั้นยังมีผลใช้บังคับกันได้ในฐานะเป็น บุคคลสิทธิ ในระหว่างคู่สัญญาหรือผู้สืบสิทธิของคู่สัญญาอยู่ หาถึงกับเสียเปล่าหรือเป็นโมฆะดังเช่นที่บัญญัติไว้ในเรื่องซื้อขาย แลกเปลี่ยน หรือให้อสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 456, 519 และ 525 เป็นต้น



03 พฤษภาคม 2557

สัญญาซื้อขาย

          มาตรา 453  "อันว่าซื้อขายนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่ง เรียกว่าผู้ขาย โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่าผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย "

          สัญญาซื้อขาย คือ สัญญาซึ่งมีคู่สัญญา 2 ฝ่าย  ฝ่ายหนึ่งเรียกว่า "ผู้ขาย" ได้ตกลงโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่ อีกฝ่าหนึ่งเรียกว่า "ผู้ซื้อ" และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาให้แก่ผู้ขาย
          ดังนั้น หากทำสัญญากันโดยที่คู่สัญญาไม่มีเจตนาจะให้มีการโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้แก่อีกฝ่าย ก็ไม่เข้าลักษณะสัญญาซื้อขาย แม้ในสัญญาจะระบุว่าเป็นสัญญาซื้อขายก็ตาม เช่น สัญญาซื้อเวลาออกอากาศสถานีวิทยุโทรทัศน์ เป็นต้น
          เมื่อสัญญาซื้อขายมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ การโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อ ดังนั้น ผู้ขายจะต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินนั้น แต่หากเป็นสัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไขจะโอนกรรมสิทธิ์ในภายหน้าหรือสัญญาจะซื้อจะขาย กรณีนี้ ผู้ขายอาจยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในขณะทำสัญญา โดยอาจนำทรัพย์สินที่ตนเองจะมีกรรมสิทธิ์ในอนาคตภายหน้ามาทำสัญญาขายล่วงหน้าได้
          อย่างไรก็ตาม กรณีที่นำทรัพย์สินของบุคคลอื่นมาขายโดยไม่มีสิทธิ แม้ผู้ซื้อจะกระทำการโดยสุจริตก็ตาม ผู้ซื้อก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง ตามหลัก "ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  19413/2555   แม้การโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินและสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดินพิพาทระบุว่าเป็นการขายก็ตาม แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 เบิกความทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 รวบรวมเงินไปไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจาก ม. จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงโอนขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ในวันเดียวกัน การโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงมิใช่เป็นการซื้อขายเพราะมิได้มีการชำระราคากันจริง แต่ถือเป็นการให้โดยเสน่หา ส่วนการที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 หาเงินมาไถ่ถอนที่ดินพิพาทแทนจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการกระทำเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ผู้เป็นมารดาของจำเลยที่ 4 จะถือเอาการที่ต้องไถ่ถอนจำนองเองเป็นค่าตอบแทนการโอนหาได้ไม่ เมื่อเป็นการโอนให้โดยเสน่หา แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้รู้ฝ่ายเดียว โจทก์ก็ชอบที่จะขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนทรัพย์ดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  13955/2555  ข้อความในสัญญาเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดที่ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อผ่อนชำระราคาได้ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทย่อมโอนไปยังผู้ซื้อทันทีแม้ยังไม่ได้จดทะเบียนรถยนต์พิพาทเป็นชื่อของโจทก์ก็ตาม การที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนเปลี่ยนชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์พิพาทเป็นการไม่ชอบ โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนรถยนต์พิพาทตามฟ้องได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9603/2553  โจทก์ร่วมตกลงซื้อรถยนต์ตู้กับจำเลยในราคา 310,000 บาท ซึ่งในสัญญาข้อ 3 ระบุว่า จำเลยตกลงรับชำระราคารถยนต์จำนวน 200,000 บาท ในวันที่ 27 ตุลาคม 2540 ส่วนจำนวนที่เหลือจะชำระให้จำเลยในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2540 สัญญาซื้อขายดังกล่าวไม่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้แต่ประการใดจึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้ย่อมโอนให้แก่โจทก์ร่วมตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 453, 458  
          ใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์มิใช่เอกสารสำคัญที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ เพียงแต่เป็นพยานหลักฐานอันหนึ่งที่แสดงถึงการเสียภาษีประจำปีและแสดงว่าผู้มีชื่อในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์น่าจะเป็นเจ้าของเท่านั้น คดีจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ตู้คันดังกล่าว ดังนั้น การที่จำเลยขับรถยนต์ตู้ไปจากที่จอดรถ จึงเป็นการเอารถยนต์ตู้ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมไปโดยไม่มีอำนาจ แม้จำเลยจะอ้างว่าสืบเนื่องมาจากโจทก์ร่วมไม่ยอมชำระหนี้ที่ค้าง แต่ก็เป็นการใช้อำนาจบังคับให้ชำระหนี้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพราะโจทก์ร่วมค้างชำระราคารถยนต์แก่จำเลยเพียงประมาณ 20,000 บาท แต่จำเลยจะให้โจทก์ร่วมชำระเงินแก่จำเลยถึง 100,000 บาท การที่จำเลยเอารถยนต์ตู้ไปจากโจทก์ร่วมเพื่อเรียกร้องให้โจทก์ร่วมชำระหนี้นั้น เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต เป็นความผิดฐานลักทรัพย์

          สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์
          มาตรา 456 "การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย
          สัญญาจะขายหรือจะซื้อ หรือคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
          บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับถึงสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่นบาท หรือกว่านั้นขึ้นไปด้วย"

          การซื้อขายที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ  แต่ถึงจะเป็นโมฆะ ถ้าหากผู้ซื้อได้เข้าครอบครองที่ดินโดยความสงบ และโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาครบ 10 ปี ก็ย่อมได้กรรมสิทธิ์เช่นกัน แต่เป็นการได้กรรมสิทธิ์มาโดยการครอบครองปรปักษ์ มิใช่ได้กรรมสิทธิ์จากสัญญาซื้อขาย
          แต่หากทำสัญญาซื้อขายบ้านหรือสิ่งปลูกสร้าง แม้จะถือเป็นอสังหาริมทรัพย์ แต่ถ้าเจตนาในการทำสัญญาซื้อขายเพื่อรื้อถอนเอาไป ซึ่งเป็นการซื้อขายอย่างสังหาริมทรัพย์ ก็ไม่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนแต่อย่างใด

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1401/2553  เมื่อ จ. ทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับโจทก์ทั้งสองในวันที่ 12 ตุลาคม 2539 และได้มอบที่ดินให้โจทก์ทั้งสองครอบครองแล้วในวันเดียวกัน ซึ่งนับถึงวันฟ้องเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว เมื่อการซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์ทั้งสองกับ จ. มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่เนื่องจากที่ดินเป็นที่ดินที่ยังไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ จ. จึงมีแต่สิทธิครอบครอง การซื้อขายเมื่อได้ส่งมอบที่ดินให้โจทก์ทั้งสองไปแล้วก็ฟังได้ว่า จ. สละการครอบครองไม่ยึดถือที่ดินอีกต่อไป โจทก์ทั้งสองย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377, 1378 แล้ว การได้สิทธิครอบครองที่ดินของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นการได้มาด้วยการครอบครองตามกฎหมาย มิใช่เป็นการได้มาตามสัญญาซื้อขายซึ่งตกเป็นโมฆะดังกล่าวแล้ว โจทก์ทั้งสองจะใช้สิทธิฟ้องร้องบังคับให้จำเลย ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ จ. ส่งมอบหนังสือรับรองทำประโยชน์ (น.ส. 3) และจดทะเบียนคัดชื่อจำเลยออกแล้วใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองที่ดินเนื้อที่ 5 ไร่ แทนชื่อจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก อันเป็นการจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองตามสัญญาซื้อขายหาได้ไม่ และเมื่อฟังว่าโจทก์ทั้งสองไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวแก่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ จ. เจ้ามรดกแล้ว ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม หรือไม่อีกต่อไป แต่เนื่องจากโจทก์ทั้งสองได้สิทธิครอบครองที่ดินแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงชอบที่จะขอให้ห้ามจำเลยรบกวนการครอบครองที่ดินได้