26 ตุลาคม 2557

กฎหมายว่าด้วยลักษณะบุคคล

          บุคคล มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
          บุคคลแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ
          1. บุคคลธรรมดา
          2. นิติบุคคล

          บุคคลธรรมดา

          สภาพบุคคล
          สภาพบุคคล ย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก และสิ้นสุดลงเมื่อตาย (มาตรา 15 วรรคหนึ่ง)
          การเริ่มสภาพบุคคล 
          ต้องประกอบไปด้วยหลักเกณฑ์ 2 ประการ คือ
          1. จะต้องคลอดออกมาแล้ว และ
          2. เมื่อขณะที่คลอดออกมานั้นจะต้องมีชีวิต คือ อยู่รอดเป็นทารก
          การคลอดแล้วมีชีวิตรอดเป็นทารกนั้น แม้มีชีวิตอยู่สักวินาทีก็ถือว่าเป็นบุคคลแล้ว ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ได้ตามกฎหมาย แต่ถ้าในขณะคลอดออกมาไม่มีชีวิตแล้ว ก็ถือว่าไมมีสถานะเป็นบุคคลตามกฎหมาย เมื่อไม่มีสภาพบุคคลแล้ว ก็ไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายแต่ประการใด 
          อย่างไรก็ตามกฎหมายได้ยอมรับสิทธิของทารกที่อยู่ในครรภ์มารดา โดยในมาตรา 15 วรรคสอง "ทารกในครรภ์มารดาก็สามารถมีสิทธิต่างๆได้ หากว่าภายหลังคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก" เช่น กรณีบิดาตายในขณะที่ทารกยังอยู่ในครรภ์มารดา ทารกนั้นย่อมมีสิทธิในมรดกของบิดา หากภายหลังนั้นทารกได้คลอดออกมาแล้วมีชีวิตรอดเป็นทารก สิทธิในการรับมรดกนี้ย่อมย้อนไปถึงเวลาที่ทารกยังอยู่ในครรภ์มารดา
          การสิ้นสภาพบุคคล
          สภาพบุคคลของบุคคลธรรมดา ย่อมสิ้นสุดลงเมื่อตาย ตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง ซึ่งการตายนี้ เป็นการตายตามปกติธรรมดา และรวมถึงการถึงแก่ความตายโดยผลของกฎหมายด้วย เช่น กรณีผู้ใดถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ก็เท่ากับว่าถึงแก่ความตาย
          หลักเกณฑ์ของการเป็นคนสาบสูญ
          1. กรณีธรรมดา คือ ถ้าผู้ใดได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ตลอดระยะเวลา 5 ปี
          2. กรณีพิเศษ คือ ระยะเวลาตาม 1. ให้ลดลงเหลือ 2 ปี
               (1) นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงครามและหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว
               (2) นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป
               (3) นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น
          ซึ่งเมื่อมีกรณีดังกล่าวข้างต้นแล้ว ผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการ ร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้ (มาตรา 61)
          ผลเมื่อศาลสั่งให้เป็นบุคคลสาบสูญ คือ ให้ถือว่าบุคคลนั้นได้ถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังที่ระบุไว้ในมาตรา 61 (มาตรา 62) คือ เมื่อครบห้าปี กรณีธรรมดา และครบสองปี ในกรณีพิเศษ
          ล. ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญมีผลเท่ากับ ล.ถึงแก่ความตาย และเมื่อ ล.เป็นสมาชิกของจำเลย ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับเงินฌาปนกิจสงเคราะห์เพื่อจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัว โดยโจทก์ซึ่งเป็นภริยา ล. เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ดังกล่าว ข้ออ้างของจำเลยว่า หากไร้ซึ่งศพที่จะต้องจัดการแล้วจำเลยไม่อาจจ่ายเงินค่าจัดการศพได้นั้น รับฟังไม่ได้ ดังนั้น การเป็นคนสาบสูญตามคำสั่งศาลเป็นเหตุให้จำเลยต้องจ่ายเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5513/2552)

          ความสามารถของบุคคล
          เมื่อบุคคลพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะแล้ว บุคคลนั้นย่อมมีความสามารถเต็มที่จะทำนิติกรรมใดๆได้โดยลำพังตนเอง ซึ่งการที่บุคคลจะบรรลุนิติภาวะได้นั้น แบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ
          (1) บุคคลพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะ เมื่อมีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์ (มาตรา 19 )
          (2) ผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะโดยการสมรส หากการสมรสนั้นได้ทำตามบทบัญญัติมาตรา 1448 (มาตรา 20) คือ การสมรสเมื่อชายและหญิงมีอายุครบสิบเจ็ดปีบริบูรณ์ หรือกรณีที่ศาลอนุญาตให้ทำการสมรส

          บุคคลที่หย่อนความสามารถ ได้แก่
          (1) ผู้เยาว์ จะทำนิติกรรมใดๆต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน มิฉะนั้น จะเป็นโมฆียะ (มาตรา 21) เว้นแต่ กรณีนิติกรรมบางอย่างที่กฎหมายอนุญาตให้ผู้เยาว์ทำได้เองโดยลำพัง เช่น ผู้เยาว์สามารถทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุครบสิบห้าปีบริบูรณ์ (มาตรา 25) เป็นต้น
          (2) บุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ไม่สามารถกระทำการใดๆได้เลย ถ้าทำลงไปก็เป็นโมฆียะ (มาตรา 29)
          (3) บุคคลวิกลจริต การใดๆที่บุคคลวิกลจริตทำลงนั้นจะเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อ ได้กระทำในขณะที่จริตวิกลอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายได้รู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำวิกลจริต (มาตรา 30)
          (4) บุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ปกติแล้วก็ยังสามารถกระทำการต่างๆได้โดยตนเอง เว้นแต่ กรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 34 จะกระทำโดยลำพังไม่ได้ ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อน หากฝ่าฝืนการนั้นๆก็ตกเป็นโมฆียะ (มาตรา 34)




30 กันยายน 2557

การทำนิติกรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์บางประเภท ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต ตามมาตรา 1574

          ป.พ.พ.มาตรา 1574  นิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ดังต่อไปนี้ ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต
          (1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
          (2) กระทำให้สิ้นสุดลงทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งทรัพยสิทธิของผู้เยาว์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
          (3) ก่อตั้งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอื่นใดในอสังหาริมทรัพย์
          (4) จำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องที่จะให้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ หรือสิทธิเรียกร้องที่จะให้ทรัพย์สินเช่นว่านั้นของผู้เยาว์ปลอดจากทรัพยสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้น
          (5) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
          (ุ6) ก่อข้อผูกพันใดๆที่มุ่งให้เกิดผลตาม (1) (2) หรือ (3)
          (7) ให้กู้ยืมเงิน
          (8) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่จะเอาเงินได้ของผู้เยาว์ให้แทนผู้เยาว์เพื่อการกุศลสาธารณะ เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา ทั้งนี้ พอสมควรแก่ฐานานุรูปของผู้เยาว์
          (9) รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้โดยเสน่หา
          (10) รับประกันโดยประการใดๆอันอาจมีผลให้ผู้เยาว์ต้องถูกบังคับชำระหนี้หรือทำนิติกรรมอื่นที่มีผลให้ผู้เยาว์ต้องรับเป็นผู้รับชำระหนี้ของบุคคลอื่นหรือแทนบุคคลอื่น
          (11) นำทรัพย์สินไปแสวงหาผลประโยชน์นอกจากในกรณีที่บัญญัติไว้มาตรา 1598/4 (1) (2) หรือ (3)
          (12) ประนีประนอมยอมความ
          (13) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

          การทำนิติกรรมใดๆเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์นั้น โดยหลักแล้วผู้ใช้อำนาจปกครองสามารถทำได้ ยกเว้นกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1574 จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนจึงจะทำได้ หากกระทำนิติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1574 นิติกรรมนั้นก็ไม่มีผลผูกพันผู้เยาว์


          ตัวอย่าง

          นาย ว.มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนนาย ย.กับนาง ส. ซึ่งเป็นบิดามารดา นาย ย.กับนาง ส.จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตลอดมา เมื่อนาย ย.กับนาง ส.ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นทรัพย์มรดกของนาย ย.กับนาง ส.ซึ่งตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของบุคคลทั้งสองรวมทั้งนาย ว.ซึ่งเป็นบุตรชายด้วย ต่่อมาได้มีการตั้งผู้จัดการมรดกของนาย ย.กับนาง ส.ตามคำสั่งศาล หลังจากนั้นต่อมา นาย ว.ซึ่งเป็นทายาทได้ถึงแก่ความตาย มรดกของนาย ว.จึงตกทอดแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทชั้นบุตร(ผู้เยาว์)และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยา หลังจากนั้นต่อมา ได้มีการทำข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดก ระหว่างผู้จัดการมรดกกับจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2545 ตามบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดก ข้อ 4 กำหนดว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่า ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 73 เลขที่ีดิน 155 ตำบลเมืองพล อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นมรดกของเจ้ามรดกให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของทายาทนาย ว.ซึ่งในวันทำบันทึกนี้ผู้จัดการมรดกได้มอบโฉนดให้แก่ทายาทของนาย ว.ไปเรียบร้อยแล้ว 
          กรณีนี้ มีปัญหาขึ้นเมื่อทายาทบางคนนำมาฟ้องเป็นคดีขอให้เพิกถอนนิติกรรมการแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าว โดยอ้างว่า จำเลยที่ 2 ทำบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดก ซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล ตามมาตรา 1574(12) มีผลทำให้บันทึกที่ทำขึ้นตกเป็นโมฆะทั้งหมด  ที่สุดศาลได้มีคำวินิจฉัยว่า แม้บันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดก จะมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 1574(12) ที่ผู้แทนโดยชอบธรรมจะกระทำแทนผู้เยาว์ไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตและจำเลยที่ 2 กระทำบันทึกดังกล่าวแทนบุตรผู้เยาว์โดยไม่ได้ขออนุญาตศาลอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าวก็ตาม แต่การขออนุญาตศาลหรือไม่ ไม่ใช่แบบของนิติกรรม และกฎหมายก็มิได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าให้นิติกรรมที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวเป็นโมฆะกรรม ทั้งการที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้แทนโดยชอบธรรมทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ตามมาตรา 1574 ไม่ได้ เว้นแต่ศาลอนุญาตนั้น เป็นเจตนารมย์ของกฎหมายที่ประสงค์ให้ศาลเป็นผู้กำกับดูแลผลประโยชน์ส่วนได้เสียของผู้เยาว์ โดยดูแลให้ผู้แทนโดยชอบธรรมปฏิบัติหน้าที่ของตนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์ของผู้เยาว์อย่างถูกต้องแท้จริงเท่านั้น นิติกรรมที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวจึงไม่ถึงขนาดตกเป็นโมฆะกรรม คงมีผลเพียงไม่ผูกพันผู้เยาว์ที่บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมุ่งประสงค์ที่จะคุ้มครองเท่านั้น..... และเมื่อบันทึกดังกล่าวไม่ตกเป็นโมฆะอันจะทำให้ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดก็สามารถยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างได้ ตามบทบัญญัติ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่มีผลเพียงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์เพื่อปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้เยาว์....จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 เท่านั้นที่ยกการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างเพื่อมิให้ตนต้องผูกพันตามบันทึกดังกล่าวได้ ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกย่อมไม่มีสิทธิที่จะยกขึ้นกล่าวอ้างเพื่อเพิกถอนบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกได้....
          สรุปว่า กรณีที่ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์นั้น หากนิติกรรมนั้นเป็นกรณีตามมาตรา 1574 แล้ว จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน หากฝ่าฝืนมาตรา 1574 นิติกรรมนั้นย่อมไม่มีผลผูกพันผู้เยาว์ แต่ไม่ใช่เรื่องโมฆะกรรม ดังนั้น เฉพาะผู้เยาว์เท่านั้นที่จะยกการฝ่าฝืนมาตรา 1574 ขึ้นกล่าวอ้างเพื่อมิให้ตนต้องผูกพันตามนิติกรรมดังกล่าว บุคคลอื่นไม่มีสิทธิยกเหตุดังกล่าวขึ้นอ้าง

(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6838/2555)


 



29 กันยายน 2557

ความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดก คือ กรณีเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล แล้วกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 353 ผู้ใดได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น หรือทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใดๆโดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น ต้องระวางโทษ.............
          มาตรา 354 ถ้าการกระทำความผิิดตามมาตรา 352 หรือมาตรา 353 ได้กระทำในฐานที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาล หรือตามพินัยกรรม หรือในฐานเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจ อันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ต้องระวางโทษ............

          กรณีเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลแล้วได้กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดก


          ตัวอย่าง

          จำเลยที่ 1 เป็นมารดาและเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลของนาย ท.ผู้ตาย  โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนาย ท. มีบุตรกับนาย ท. 2 คน ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนด เดิมมีชื่อนาย ท. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ หลังจากนาย ท.ถึงแก่ความตายและศาลมีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนาย ท. แล้ว เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2539 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย ท. แล้วโอนขายให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 บุตรของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นน้องสาวของนาย ท. ในวันเดียวกัน ดังนี้ จึงเกิดการฟ้องร้องกัน ซึ่งโจทก์ในฐานะภริยาของเจ้ามรดก ได้ฟ้องให้ลงโทษ จำเลยที่ 1 กับพวก ในความผิดฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์มรดก 
          ซึ่งศาลได้มีคำวินิจฉัยว่า แม้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกที่ดินพร้อมตึกแถวพิพาท แต่เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต ด้วยการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินนั้นเป็นของตนจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 ประกอบมาตรา 354 (ฐานยักยอกทรัพย์มรดก)
          สำหรับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 นั้น เป็นน้องสาวของนาย ท. ทราบดีว่าโจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนาย ท. และมีบุตรกับนาย ท. 2 คน หากจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทมาเป็นของตน จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ย่อมทราบว่าโจทก์และบุตรโจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนาย ท. ต้องไม่ได้รับมรดกที่ดินพร้อมบ้านพิพาทดังกล่าว ดังนั้น แม้จะฟังว่าจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เสียค่าตอบแทนในการโอนทรัพย์มรดกพิพาทตามที่อ้าง ก็ไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต เมื่อข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยที่  1 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนจีนอายุมาก พูดและอ่านภาษาไทยไม่ได้ ทั้งยังป่วยเป็นโรคพาร์คินสันซึ่งต้องอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเชื่อว่าการโอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทน่าจะมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการมากกว่า ......... ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 สมคบกับจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของนาย ท. พี่ชาย มาเป็นของตนโดยทุจริต แต่เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้กระทำในฐานเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาลเหมือนเช่นจำเลยที่ 1 กรณีไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ได้ แต่เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ช่วยเหลือให้จำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลได้จดทะเบียนโอนมรดกเป็นของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดก และโอนขายให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงคงลงโทษได้เพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353, 354 ประกอบมาตรา 86
          สรุปว่า กรณีผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น(ผู้เสียหาย) ก็จะต้องรับผิดทางอาญาฐานยักยอกทรัพย์มรดก ส่วนบุคคลอื่นที่ให้ความร่วมมือก็ผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดกเท่านั้น เพราะบุคคลอื่นไม่ได้กระทำในฐานเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาล




25 กันยายน 2557

คำมั่นจะให้เช่าไม่ใช่หน้าที่ตามสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ จึงไม่ตกติดไปกับผู้รับโอนอสังหาริมทรัพย์ที่เช่า

          ป.พ.พ.มาตรา 569  อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไปเพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า
          ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย

          ดังที่กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 569 ว่าแม้โอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์(บ้าน อาคาร หรือที่ดิน)ที่ให้เช่าไป สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นก็ยังไม่ระงับ คือ สัญญาเช่ามีอยู่อย่างไรก็ยังคงบังคับกันไปโดยผู้รับโอนต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ซึ่งผู้โอนมีต่อผู้เช่านั้นต่อไป แต่จะมีปัญหาในบางกรณีที่มีข้อตกลงเพิ่มเติมเกี่ยวกับเงื่อนไขการต่อสัญญาเช่า ว่าผู้รับโอนจะต้องรับผิดชอบตามข้อตกลงนั้นด้วยหรือไม่


          ตัวอย่าง

          นายแดงทำสัญญาให้นายดำเช่าบ้านมีกำหนด 3 ปี ค่าเช่าเดือนละ 6,000 บาท กำหนดชำระค่าเช่าทุกวันที่ 5 ของเดือน และให้คำมั่นไว้ด้วยว่าจะให้เช่าต่อไปอีก 3 ปี หากผู้เช่ามีความประสงค์จะเช่าต่อไป จากนั้นเมื่อให้เช่าไปแล้ว 2 ปี นายแดงเอาบ้านที่ให้เช่าไปทำสัญญาและจดทะเบียนขายฝากไว้กับนายเขียว มีกำหนดไถ่ถอนภายใน 2 ปี แล้วแจ้งให้นายดำซึ่งเป็นผู้เช่าทราบ ต่อมาเมื่อก่อนจะครบสัญญาเช่า 3 ปี นายดำได้ไปแสดงเจตนาต่อนายเขียวว่าจะเช่าอยู่ต่อไปอีก 3 ปี นายเขียวทราบเรื่องแล้วไม่ว่าอะไร คงเก็บค่าเช่าเรื่อยมา จากนั้นเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่า 3 ปีแล้วผ่านไปอีก 5 เดือน นายแดงได้ไปไถ่ถอนบ้านที่ขายฝากคืนจากนายเขียว จากนั้นนายแดงก็ฟ้องขับไล่นายดำออกจากบ้านเช่าของตน เรื่องไปจบที่ศาล
          ศาลพิพากษาให้ขับไล่นายดำออกจากบ้านเช่า โดยให้เหตุผลว่า สัญญาเช่าบ้าน 3 ปี ระหว่างนายแดงและนายดำมีอยู่ก่อนการขายฝาก จึงต้องตกติดไปยังนายเขียวผู้รับซื้อฝากตาม ป.พ.พ.มาตรา 569 แต่คำมั่นที่จะให้เช่าไม่ตกติดไปด้วยเพราะไม่ใช่หน้าที่ตามสัญญาเช่า คงตกติดไปเฉพาะ "สัญญาเช่า" เท่านั้น ดังนั้น การแสดงเจตนาของนายดำต่อนายเขียวซึ่งแม้จะทำตามคำมั่นก็ไม่เกิดสัญญาเช่าขึ้น แต่การอยู่ต่อมาของนายดำผู้เช่าเมื่อครบกำหนดตามสัญญา 3 ปีแล้ว โดยผู้ให้เช่าไม่ทักท้วง ทำให้เป็นการเช่าโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 570  การที่นายแดงไถ่ถอนการขายฝากเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าไปได้ 5 เดือนนั้น แม้นายดำจะต้องการแสดงเจตนาเข้ารับคำมั่นในตอนนี้ก็ไม่ได้ เพราะการแสดงเจตนาเข้ารับคำมั่นจะให้เช่าจะต้องกระทำภายในสัญญาเช่า คือ 3 ปี ส่วนระยะเวลา 5 เดือนก่อนมีการไถ่ถอนการขายฝากนั้นถือว่า เป็นการเช่าที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาระหว่างนายเขียวกับนายดำ เมื่อนายแดงไถ่ถอนการขายฝาก ตามมาตรา 502 วรรคหนึ่ง ทรัพย์ที่ไถ่ถอนย่อมปลอดจากสิทธิใดๆที่เกิดขึ้นในระหว่างการขายฝาก การเช่าจึงไม่ติดมาในตอนที่นายแดงไถ่ถอน นายแดงจึงมีสิทธิฟ้องขับไล่นายดำได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อนล่วงหน้า ตามมาตรา 566
          สรุปว่า คำมั่นจะให้เช่่าที่เป็นข้อตกลงในสัญญาเช่า ไม่ใช่หน้าที่ตามสัญญาเช่า ผู้รับโอนทรัพย์สินที่ให้เช่าจึงไม่ผูกพันตามคำมั่นนั้น




24 กันยายน 2557

กรณีกรรมการบริษัทได้กระทำการใดให้บริษัทเสียหาย บริษัทสามารถฟ้องกรรมการผู้นั้นได้ แต่ถ้าบริษัทไม่ฟ้อง ผู้ถือหุ้นคนใดจะฟ้องคดีเองก็ได้

          กรณีที่กรรมการกระทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท
          ป.พ.พ.มาตรา 1169  "ถ้ากรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท บริษัทจะฟ้องร้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนแก่กรรมการก็ได้ หรือในกรณีบริษัทไม่ยอมฟ้อง ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้
          อนึ่ง การเรียกร้องเช่นนี้ เจ้าหนี้บริษัทจะเป็นผู้เรียกบังคับก็ได้เท่าที่เจ้าหนี้ยังคงมีสิทธิเรียกร้องแก่บริษัทอยู่"

          กรณีกรรมการบริษัทไปทำนิติกรรมสัญญาใดๆที่ทำให้บริษัทต้องเสียเปรียบหรือได้รับความเสียหาย ผู้ถือหุ้นของบริษัทหามีอำนาจไปฟ้องเพิกถอนนิติกรรมนั้นแต่อย่างใดไม่ คงมีสิทธิเพียงให้บริษัทฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากกรรมการคนนั้น หรือหากบริษัทไม่ยอมฟ้อง ผู้ถือหุ้นดังกล่าวก็ฟ้องเองได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1169

          ตัวอย่าง เช่น
          นาย ป.เป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1  ต่อมาจำเลยที่ 1 โดยนาย ช. และนาย ว. กรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายที่ดินจำนวน 3 แปลงให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 54,000,000 บาทโดยมิได้รับความยินยอมจากนาย ป. และผู้ถือหุ้นคนอื่น โดยในการขายที่ดินดังกล่าวมิได้จ่ายเงินกันจริง วันเดียวกันนั้น จำเลยที่ 2 นำที่ดินดังกล่าวไปจำนองไว้แก่บริษัทจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 29,000,000 บาท โดยกรรมการบริษัทจำเลยที่ 3 ทราบเรื่องดังกล่าวดี นาย ป. เมืื่อทราบเรื่องดังกล่าวจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนนิติกรรมสัญญาซื้อขายและสัญญาจำนองดังกล่าวเสีย
          ซึ่งศาลได้มีคำวินิจฉัยว่า การฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายและสัญญาจำนองดังกล่าวเป็นการจัดการงานของบริษัทจำเลยที่ 1  นาย ป.ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้เป็นเพียงผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจกระทำการใดๆแทนบริษัทจำเลยที่ 1 คงมีสิทธิเพียงควบคุมการดำเนินงานของบริษัทจำเลยที่ 1 บางประการตามที่กฎหมายบัญญัติเท่านั้น หาอาจก้าวล่วงไปจัดการงานของบริษัทจำเลยที่ 1 เสียเองไม่ และแม้ตัว นาย ป.(โจทก์)เป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ด้วยอีกคนหนึ่ง แต่ตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเอกสารท้ายคำฟ้อง ลำพังนาย ป.(โจทก์) คนเดียวไม่มีอำนาจกระทำการใดๆแทนบริษัทจำเลยที่ 1 เช่นกัน นาย ป.(โจทก์) จึงไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินและสัญญาจำนอง  
          แต่ นาย ป (โจทก์) และผู้ถือหุ้นคนอื่นสามารถใช้มติที่ประชุมใหญ่ถอดถอนกรรมการชุดเดิมและแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ แล้วให้กรรมการชุดใหม่ดำเนินการฟ้องแทนบริษัทจำเลยที่ 1 หรือหากนาย ป. (โจทก์) และผู้ถือหุ้นรายอื่นเสียหายก็สามารถเรียกร้องให้บริษัทจำเลยที่ 1 ฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากกรรมการผู้ก่อให้เกิดความเสียหายได้ โดยหากบริษัทจำเลยที่ 1 ไม่ฟ้อง นาย ป.(โจทก์) ในฐานะผู้ถือหุ้นจะดำเนินการฟ้องเองตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง ก็ได้ (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6250/2541)
          
          ดังนั้น ผู้ถือหุ้นหรือกรรมการที่ไม่มีอำนาจ ไม่สามารถเข้าไปจัดการงานของบริษัทโดยตนเองได้ ต้องให้กรรมการของบริษัทผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทเป็นคนจัดการ หากผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหายเนื่องมาจากการกระทำของกรรมการผู้มีอำนาจทำให้บริษัทเสียหาย ผู้ถือหุ้นต้องเรียกร้องให้บริษัทเป็นคนฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากกรรมการเท่านั้น ถ้าบริษัทไม่ยอมฟ้อง ผู้ถือหุ้นก็ไปฟ้องเอง ตามมาตรา 1169 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4605/2561 ความเกี่ยวพันระหว่างผู้ลงทุนในบริษัทจำเลยที่ 1 ย่อมต้องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 22 มาตรา 1015 ซึ่งกำหนดว่า บริษัทเมื่อได้จดทะเบียนตามบทบัญญัติลักษณะดังกล่าวแล้ว จัดว่าเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้ถือหุ้นทั้งหลายซึ่งรวมเข้ากันเป็นบริษัทนั้น โดยบทบัญญัติดังกล่าวมีลักษณะเป็นบทบังคับโดยเด็ดขาด มิได้มีลักษณะเป็นข้อสันนิษฐานเบื้องต้นตามกฎหมาย ที่จะสามารถนำสืบเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น จากบทบัญญัติดังกล่าวบริษัทจึงมีสิทธิหน้าที่แยกต่างหากจากบรรดาผู้ถือหุ้น สามารถมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเป็นของตนเอง ทรัพย์สินของบริษัทจึงแยกต่างหากจากทรัพย์สินของบรรดาผู้ถือหุ้น หากบริษัทก่อหนี้สินก็ต้องถูกบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของบริษัท
          โจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นที่แท้จริงในบริษัทจำเลยที่ 1 โดยบรรดาผู้ถือหุ้นทุกคนของบริษัทจำเลยที่ 1 ถือหุ้นแทนโจทก์ หากเป็นจริงดังที่กล่าวอ้าง โจทก์ก็มีสถานะเป็นเพียงผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ซึ่งผู้ที่เป็นเพียงผู้ถือหุ้นของบริษัท ไม่ได้เป็นกรรมการบริษัทซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคลของบริษัท จะมีสิทธิแต่เพียงควบคุมการดำเนินงานของกรรมการบริษัทบางประการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น หาอาจก้าวล่วงเข้าไปจัดการงานของบริษัทเสียเองได้ไม่ หรือหากกรรมการทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัท ซึ่งบริษัทมีสิทธิจะฟ้องร้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนแก่กรรมการแล้วบริษัทไม่ยอมฟ้องร้อง ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้ตามมาตรา 1169 วรรคหนึ่ง อันเป็นการใช้สิทธิของบริษัทเพื่อประโยชน์ของบริษัท แต่ผู้ถือหุ้นหาอาจจะเข้ามาดำเนินการฟ้องเพิกถอนนิติกรรมสัญญาที่กรรมการบริษัทกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้นิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายทรัพย์สินตามฟ้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 เป็นโมฆะ และให้โอนทรัพย์สินกลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 ตามเดิม หากไม่สามารถกระทำได้ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงินแทน ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ฟังขึ้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3193/2558 ป.พ.พ. มาตรา 1169 บัญญัติว่า "ถ้ากรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท บริษัทจะฟ้องร้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนแก่กรรมการก็ได้ หรือในกรณีที่บริษัทไม่ยอมฟ้องร้อง ผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้ ..." ตามบทบัญญัติดังกล่าว บริษัทย่อมเป็นผู้ฟ้องเรียกให้กรรมการผู้ทำให้บริษัทเสียหายชดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัท ส่วนผู้ถือหุ้นจะเป็นผู้ฟ้องได้ต้องฟ้องแทนหรือฟ้องเพื่อประโยชน์ของบริษัทเฉพาะกรณีที่บริษัทไม่ฟ้องและเป็นการฟ้องเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ส. ฟ้องขอให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระหว่างบริษัท ส. กับจำเลย หาใช่เป็นการฟ้องเพื่อเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากกรรมการผู้ทำให้บริษัทเสียหายไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง นอกจากนี้จำเลยเป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นกรรมการบริษัทจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว

          การฟ้องหรือดำเนินคดีของผู้ถือหุ้นเป็นการฟ้องคดีแทนบริษัท ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิของตนและผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ ผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งจึงยังมีอำนาจฟ้อง หรือดำเนินคดี หรือบังคับคดีต่อไปได้ตราบเท่าที่ผู้ถือหุ้นคนนั้นยังคงเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทอยู่ หากมิได้เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทแล้ว ย่อมมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะฟ้องคดีหรือบังคับคดีได้แต่อย่างใด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1376/2565
การฟ้องคดีของผู้ถือหุ้นมิใช่เป็นการตั้งฐานแห่งสิทธิในการฟ้องในฐานะส่วนตัว แต่เป็นการฟ้องคดีแทนบริษัท ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิของตนและผู้ถือหุ้นคนอื่น ๆ การฟ้องคดีแทนบริษัทของผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง จึงถือได้ว่าเป็นการฟ้องคดีแทนผู้ถือหุ้นคนอื่น ๆ ด้วย ผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งจึงยังมีอำนาจฟ้อง หรือดำเนินคดี หรือบังคับคดีต่อไปได้ตราบเท่าที่ผู้ถือหุ้นคนนั้นยังคงเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทอยู่ เพราะหากมิได้เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทแล้ว ย่อมมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะฟ้องคดีหรือบังคับคดีได้แต่อย่างใด โจทก์ทั้งหกยื่นฟ้องคดีแทนบริษัท ส. ตามมาตรา 1169 วรรคหนึ่ง แต่ต่อมาโจทก์ทั้งหกได้ขายหุ้นส่วนของตนในบริษัทออกไปหมดแล้ว โจทก์ทั้งหกย่อมไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลหรือใช้สิทธิใด ๆ ในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทได้อีก และถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งหกเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีตามคำพิพากษาอีกต่อไป โจทก์ทั้งหกจึงไม่มีอำนาจบังคับคดี