12 กรกฎาคม 2567

ที่ดินถูกแนวเขตเดินสายไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่าน ที่ดินราคาตกทั้งแปลง จึงจะต้องจ่ายค่าทดแทนที่เป็นธรรม


          เมื่อมีไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านที่ดิน เจ้าของที่ดินก็ย่อมมีความกังวล แม้ที่ดินจะยังเป็นกรรมสิทธิ์ของตนและได้รับค่าทดแทนจากรัฐ แต่ก็ต้องถูกรอนสิทธิโดยถูกจํากัดการใช้ประโยชน์ รวมทั้งค่าทดแทนที่ได้รับก็อาจไม่เป็นที่พอใจแก่เจ้าของที่ดิน

          ข้อเท็จจริงคดีนี้ ... การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ และเดินสายไฟฟ้าพาดผ่านกลางที่ดินของผู้ฟ้องคดี เนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน 53.6 ตารางวา โดย กฟผ. ได้จ่ายค่าทดแทนที่ดินกรณีถูกเขตเดินสายไฟฟ้า ตามหลักการเดียวกันกับกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้บังคับขณะนั้น (พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 มิได้กําหนดหลักเกณฑ์การคํานวณค่าทดแทนดังกล่าวไว้) ซึ่งจะจ่ายให้ไม่เต็มจํานวน โดยคิดเป็นอัตราร้อยละของราคาที่ดินที่กําหนด เพราะมิได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่ถูกเขตเดินสายไฟฟ้า (ต่างจากการเวนคืนที่ดินที่มีการโอนกรรมสิทธิ์หรือถูกพรากกรรมสิทธิ์ในที่ดิน)  ทั้งนี้ กฟผ. ได้กําหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าทดแทนตามประเภทการทําประโยชน์ในที่ดิน กล่าวคือ 

          1. ที่ตั้งเสาไฟฟ้า จ่ายค่าทดแทนให้ในอัตราร้อยละ 100ของราคาที่ดินที่กําหนด 

          2. ที่บ้าน จ่ายค่าทดแทนให้ในอัตราร้อยละ 90 ของราคาที่ดินที่กําหนด 

          3. ที่สวน จ่ายค่าทดแทนให้ในอัตราร้อยละ 70 ของราคาที่กําหนด 

          4. ที่นา รวมตลอดถึงที่ดินว่างเปล่าและที่ดินในลักษณะอื่น ๆ (นอกจากที่บ้านและที่สวน) จ่ายค่าทดแทนให้ในอัตราร้อยละ 50 ของราคาที่กําหนด

          ส่วนการพิจารณากําหนดราคาที่ดินเพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการคํานวณค่าทดแทนนั้น ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหาข้อมูลราคาที่ดินและทรัพย์สิน ซึ่งมีมติให้นําราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินของกรมธนารักษ์มาเป็นเกณฑ์ในการกําหนดค่าทดแทนดังกล่าว

         สําหรับที่ดินของผู้ฟ้องคดีซึ่งถูกเขตเดินสายไฟฟ้าพาดผ่านเป็นเนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน 53.6 ตารางวาได้คำนวณค่าทดแทนตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้วรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 382,735 บาท แต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าค่าทดแทนที่ได้รับไม่เป็นธรรม เพราะที่ดินราคาตกทั้งแปลง จึงอุทธรณ์ขอเพิ่มเงินค่าทดแทน โดยให้จ่ายค่าทดแทนในราคาต่อไร่เท่ากันทั้งหมด แต่ กฟผ. ปฏิเสธ จึงนําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น โดยต่อมาศาลปกครองชั้นต้นได้พิพากษาให้ กฟผ. จ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้แก่ผู้ฟ้องคดี 

          กฟผ. จึงอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุด 

          คดีมีประเด็นว่า การกําหนดค่าทดแทนที่ดินของผู้ฟ้องคดีในส่วนที่ถูกเขตเดินสายไฟฟ้าชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมหรือไม่ ? หากไม่เป็นธรรม กฟผ. (ผู้ถูกฟ้องคดี) ต้องจ่ายค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นอีกเป็นจํานวนเท่าใด ?

          ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า กฟผ. ได้ก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า โดยเขตเดินสายไฟฟ้าได้พาดผ่านกลางที่ดินของผู้ฟ้องคดี เนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน 53.6 ตารางวา ซึ่งได้จ่ายค่าทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี โดยแบ่งค่าทดแทนเป็นส่วน ๆ ได้แก่  (1) ประเภทที่บ้าน บริเวณที่ดินติดทางระยะ 40 เมตร เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 2.5 ตารางวา กําหนดราคาไร่ละ 80,000 บาท จ่ายค่าทดแทนในอัตราร้อยละ 90 ของราคาที่ดิน เป็นเงิน 108,450 บาท  (2) ประเภทที่นา บริเวณที่ดินอื่น ๆ เนื้อที่ 7 ไร่ 1งาน 71.8 ตารางวา กําหนดราคาไร่ละ 40,000 บาท จ่ายค่าทดแทนในอัตราร้อยละ 50 ของราคาที่ดินเป็นเงิน 148,590 บาท  (3) ประเภทที่ว่าง บริเวณที่ดินอื่น ๆ เนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 79.3 ตารางวา กําหนดราคาไร่ละ 40,000 บาท จ่ายค่าทดแทนในอัตราร้อยละ 50 ของราคาที่ดินเป็นเงิน 118,965 บาท รวมเป็นเงิน 376,005 บาท และจ่ายค่าทดแทนที่ดินบริเวณที่เป็นที่ตั้งเสาไฟฟ้า เนื้อที่ 1 งาน 34.6 ตารางวา เพิ่มเติมอีกเป็นเงิน 6,730 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 382,735 บาท 

          ทั้งนี้ คณะกรรมการพิจารณาราคาที่ดินและทรัพย์สินจังหวัดได้มีมติกําหนดค่าทดแทนดังกล่าวโดยใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ของกรมธนารักษ์มาเปรียบเทียบ สําหรับที่ดินแปลงพิพาทเป็นที่ดินในโซน 08 ลําดับที่ 7  ส่วนที่อยู่ในหน่วยที่ 12 ที่ดินติดทางสาธารณประโยชน์อื่น ระยะ 40 เมตร ราคาประเมินฯ ไร่ละ 40,000 บาท คณะกรรมการฯ กําหนดค่าทดแทนเพิ่มขึ้นเป็นไร่ละ 80,000 บาท และส่วนที่อยู่ในหน่วยที่ 14 ที่ดินอื่น ๆ ราคาประเมินฯ ไร่ละ 24,000 บาท คณะกรรมการฯ กําหนดค่าทดแทนเพิ่มขึ้นเป็นไร่ละ 40,000 บาท ซึ่งศาลเห็นว่า คณะกรรมการฯ ได้ปรับค่าทดแทนสูงขึ้นจากพื้นฐานราคาประเมินที่ดินที่เป็นบริเวณติดทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศเหนือแต่เพียงด้านเดียว ทั้งๆ ที่ที่ดินแปลงพิพาทติดทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศใต้ด้วย จึงเป็นที่ดินที่ติดทางสาธารณประโยชน์มากกว่าหนึ่งด้าน และเป็นที่ดินที่มีสภาพทําเลที่ตั้งดีกว่าที่ดินแปลงอื่นที่อยู่ในโซนเดียวกัน ซึ่งมีที่ดินติดทางสาธารณประโยชน์อื่น ๆ เพียงด้านเดียว การกําหนดค่าทดแทนให้ผู้ฟ้องคดีสําหรับที่ดินในหน่วยที่ 12 เป็นเงินไร่ละ 80,000 บาท และในหน่วยที่ 14 เป็นเงินไร่ละ 40,000 บาท จึงยังไม่เหมาะสมและเป็นธรรม ประกอบกับเมื่อพิจารณารูปแปลงที่ดิน เห็นได้ว่าที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นที่ดินแปลงใหญ่ เนื้อที่ทั้งหมด 58 ไร่ 1 งาน 7 ตารางวา ถูกเขตเดินสายไฟฟ้าพาดผ่านเฉียงจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปยังทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จึงทําให้ที่ดินมีลักษณะเหมือนถูกแบ่งออกเป็นสองแปลง และที่ดินส่วนที่เหลือบางส่วนไม่อาจใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งก่อนถูกเขตโครงข่ายไฟฟ้า ที่ดินของผู้ฟ้องคดีมีด้านหน้ากว้างอยู่ติดทางสาธารณประโยชน์ มีศักยภาพสูงต่อการพัฒนาทั้งในเชิงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชยกรรม เมื่อถูกโครงข่ายไฟฟ้าพาดผ่านรวมถึงมีเสาไฟฟ่าตั้งอยู่บนที่ดิน ย่อมทําให้ลักษณะการใช้ประโยชน์ในที่ดินถูกจํากัดลงอย่างมาก โดยเฉพาะส่วนที่เหลือด้านทิศเหนือของแนวโครงข่ายไฟฟ้าจะมีเนื้อที่น้อย และรูปแปลงเป็นรูปสามเหลี่ยมเรียวยาวขนานไปตามแนวโครงข่ายไฟฟ้า ซึ่งไม่เหมาะสมที่จะก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย หรือสิ่งปลูกสร้างบางประเภท การก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าของ กฟผ. ส่งผลกระทบโดยตรงในการก่อให้เกิดอุปสรรคหรือข้อจํากัดในการใช้ที่ดินและทําให้มูลค่าของที่ดินทั้งแปลงลดลง แม้จะไม่ได้เป็นการพรากกรรมสิทธิ์ในที่ดินไปจากผู้ฟ้องคดี แต่ก็ก่อให้เกิดความเสียหายโดยไม่มีระยะเวลาจํากัด ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้ได้รับความเสียหายเกินกว่าปกติ 

         ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรมจึงควรกําหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเขตเดินสายไฟฟ้า เนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน 53.6 ตารางวา ในราคาเท่ากันทั้งแปลง ตามราคาค่าทดแทนที่คณะกรรมการฯ กําหนดให้สูงสุด คือ ไร่ละ 80,000 บาท และกําหนดจ่ายในอัตราร้อยละ 90 ของราคาที่ดิน ในส่วนของที่ตั้งเสาไฟฟ้าจ่ายในอัตราร้อยละ 100 เนื้อที่ 1 งาน 34.6 ตารางวา คิดเป็นจํานวนเงินค่าทดแทน 26,920 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทนจํานวนทั้งสิ้น 1,074,340 บาท ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดีได้รับเงินค่าทดแทนไปแล้ว 382,735 บาท ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษาให้ กฟผ. จ่ายค่าทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีเพิ่มอีกเป็นเงิน 691,605 บาท 

          (คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 253/2565)

29 มิถุนายน 2567

การกระทำ "โดยทุจริต"


          ป.อ. มาตรา 1 (1) “โดยทุจริต” หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น

          คำว่า โดยทุจริต อยู่ในบทบัญญัติของกฎหมายอาญา โดยเฉพาะในความผิดอาญาที่เกี่ยวกับทรัพย์
          องค์ประกอบของคำว่า "โดยทุจริต" 
          (1) แสวงหาประโยชน์
          (2) ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
          (3) สำหรับตนเองหรือผู้อื่น

          (1) แสวงหาประโยชน์ ซึ่งหมายถึง ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินและประโยชน์ที่มิใช่ทรัพย์สินด้วย 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1664/2565  ตามมาตรา 1 (1) แห่ง ป.อ. กำหนดบทนิยามคำว่า “โดยทุจริต” หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น การกระทำโดยทุจริตจึงมิได้จำกัดว่าต้องเป็นการแสวงหาประโยชน์เกี่ยวกับทรัพย์เท่านั้น เมื่อศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสามมีเจตนาเอาฮาร์ดดิสก์ของโจทก์ร่วมไปเพื่อไม่ให้โจทก์ร่วมมีหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดของตนหรือเป็นการเอาไปเพื่อทำลายหลักฐาน จึงเป็นการเอาทรัพย์นั้นไปในลักษณะตัดกรรมสิทธิ์ และถือว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองอันเป็นการลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริตแล้ว การที่จำเลยทั้งสามไปที่ร้านที่เกิดเหตุโดยอ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดขอตรวจค้นและใส่กุญแจมือโจทก์ร่วมไพล่หลังมิได้กระทำเพื่อเหตุใดเหตุหนึ่งตามมาตรา 339 (1) ถึง (5) ในการที่จะเอาฮาร์ดดิสก์ของโจทก์ร่วมไป แต่เป็นการทำเพื่อไม่ให้โจทก์ร่วมขัดขืนหรือหลบหนี ดังนั้น การลักเอาฮาร์ดดิสก์ของโจทก์ร่วมไปจึงเป็นเจตนาที่เกิดขึ้นในภายหลัง การใช้กำลังประทุษร้ายโจทก์ร่วมจึงไม่ใช่เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้นยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือให้พ้นจากการจับกุม อันจะเป็นความผิดข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีหรือใช้อาวุธปืน แต่เป็นเพียงความผิดข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ในเคหสถานในเวลากลางคืนโดยลวงว่าเป็นเจ้าพนักงานและโดยมีหรือใช้อาวุธปืน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10139/2557 จำเลยทั้งสี่เอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยมีเจตนาเพื่อจะตรวจดูว่าทรัพย์ที่เอาไปนั้นเป็นของจำเลยทั้งสี่ที่ถูกคนร้ายลักไปหรือไม่เท่านั้น มิใช่เป็นการเอาไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น จึงไม่เป็นการกระทำ "โดยทุจริต" ตามบทนิยามความหมายของคำว่า "โดยทุจริต" ใน ป.อ. มาตรา 1 (1) การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์เพราะขาดเจตนาพิเศษเรื่องการกระทำโดยทุจริตดังกล่าว ซึ่งย่อมส่งผลทำให้การกระทำของจำเลยทั้งสี่ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้องไปด้วย และการกระทำของจำเลยทั้งสี่เช่นนี้หาใช่ว่าจำเลยทั้งสี่กระทำโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด ซึ่งถือว่าจำเลยทั้งสี่ไม่มีเจตนากระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสอง ประกอบวรรคสาม ดังคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13417/2555 ผู้เสียหายและจำเลยรู้จักกันก่อนเกิดเหตุ 2 เดือน และเคยทำงานด้วยกัน โดยจำเลยเป็นผู้ว่าจ้างให้ผู้เสียหายนำต้นกล้ายางไปส่งมอบให้เกษตรกร วันเกิดเหตุผู้เสียหายเป็นฝ่ายเชื้อเชิญให้จำเลยเข้าไปในบ้านและไปนั่งพูดคุยกันที่โต๊ะอาหาร บ่งชี้ว่าผู้เสียหายและจำเลยรู้จักและมีความคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ขณะที่จำเลยเอาอาวุธปืนของผู้เสียหายไป แม้เป็นเรื่องที่กระทำไปโดยพลการแต่ก็มี ถ. น้องเขยของผู้เสียหายรู้เห็น จึงเป็นการเอาไปอย่างเปิดเผย ถ. ยังให้การในชั้นสอบสวนว่า เห็นจำเลยหยิบอาวุธปืนของผู้เสียหายไปโดยเข้าใจว่าผู้เสียหายอนุญาตจึงไม่ได้ทักท้วง อันแสดงว่า ถ. ก็เห็นว่าผู้เสียหายกับจำเลยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและจำเลยมิได้กระทำการอย่างใดที่มีพิรุธอันแสดงให้เห็นว่า ต้องการลักอาวุธปืนของผู้เสียหาย ครั้นผู้เสียหายทราบจาก ถ. ว่าจำเลยเอาอาวุธปืนไปและติดต่อสอบถามจำเลยทางโทรศัพท์ จำเลยก็รับว่าเอาอาวุธปืนไปจริงและยังบอกว่าจะนำไปคืนให้ ซึ่งผิดวิสัยของผู้ที่ต้องการลักทรัพย์ของผู้อื่นที่ย่อมปฏิเสธการกระทำของตน แม้จำเลยจะนำอาวุธปืนไปคืนล่าช้าจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายต้องเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน แต่จำเลยมิได้นำอาวุธปืนไปแสวงหาประโยชน์ด้วยการนำไปจำหน่ายหรือก่อหนี้ผูกพันอื่นใด และนำไปคืนผู้เสียหายพร้อมกระสุนปืนครบถ้วน พฤติการณ์น่าเชื่อว่าจำเลยเอาอาวุธปืนของผู้เสียหายไปโดยถือวิสาสะ มิได้มีเจตนาเอาไปโดยทุจริต จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10143/2551 ผู้เสียหายกับจำเลยรู้จักกันมาก่อน ไปเที่ยวดื่มสุราด้วยกัน พยานโจทก์ที่ไปในที่เกิดเหตุกับจำเลยและผู้เสียหายเบิกความว่า ขณะที่กำลังรอรถโดยสารประจำทางอยู่นั้น จำเลยกับผู้เสียหายกอดกันในฐานะคนรัก หลังเกิดเหตุเมื่อสิบตำรวจเอก ป. ตามไปพบจำเลยอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุเพียงประมาณ 100 เมตร พบจำเลยถอดเสื้อเอาเสื้อพาดบ่าไว้ โดยจำเลยมีอาการมึนเมาและร้อยตำรวจโท น. พนักงานสอบสวนก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ขณะจับตัวจำเลย จำเลยมีอาการมึนเมา จากพฤติการณ์แห่งคดีเชื่อว่าจำเลยรู้จักคุ้นเคยกับผู้เสียหายและจำเลยกระทำในขณะมึนเมา การที่จำเลยเอาสร้อยข้อมือทองคำของผู้เสียหายไปนั้นไม่ได้ประสงค์จะเอาไปในลักษณะเป็นการประทุษร้ายต่อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ของผู้เสียหาย จำเลยมิได้เจตนาที่จะเอาทรัพย์ไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงไม่มีเจตนาทุจริต ไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2188/2545 จำเลยกับผู้เสียหายอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ก่อนวันเกิดเหตุทะเลาะกันแล้วจำเลยหนีออกจากบ้าน ครั้นวันเกิดเหตุจำเลยไปพบผู้เสียหายที่บ้านและขอคืนดีผู้เสียหายขอค่าทำขวัญ แต่ตกลงจำนวนเงินกันไม่ได้ จำเลยโกรธทำร้ายผู้เสียหายและเอาสร้อยคอทองคำ 2 เส้น แหวนทองคำ 3 วง กับตุ้มหูทองคำ 1 คู่ ต่อมาจำเลยนำทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดคืนผู้เสียหาย และกลับมาอยู่กินด้วยกัน จำเลยเอาทรัพย์ดังกล่าวไป เนื่องจากจำเลยไม่ต้องการให้ผู้เสียหายนำไปขายเล่นการพนัน การกระทำของจำเลยเป็นไปโดยเปิดเผยต่อหน้าผู้อื่น เป็นการใช้อำนาจของการเป็นสามีปกป้องทรัพย์สินของครอบครัวด้วยความโกรธโดยเข้าใจว่ามีสิทธิกระทำได้ และการที่จำเลยได้นำทรัพย์ทั้งหมดคืนแก่ผู้เสียหายก็แสดงว่าไม่มีเจตนาที่จะเอาทรัพย์ไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับจำเลยหรือผู้อื่น จำเลยไม่มีเจตนาทุจริต จึงไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์คงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6390/2544 การที่จำเลยนำน้ำมันซึ่งจำเลยมีสิทธิเบิกไปใช้ได้ด้วยตนเองไปเติมใส่รถยนต์คันอื่นเพื่อใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้นำรถยนต์คันอื่นนั้นไปใช้ในกิจกรรมอื่นซึ่งไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ที่จำเลยจะพึงใช้ได้อันอาจถือได้ว่าจำเลยได้ประโยชน์จากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าวเป็นส่วนตัว เมื่อข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำการเบียดบังเอาน้ำมันเชื้อเพลิงที่จำเลยสั่งจ่ายไปเป็นของจำเลยหรือของผู้อื่นโดยทุจริตหรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2497/2541 จำเลยว่าจ้างผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ไปส่งจำเลยโดยจำเลยไม่ได้พกมีดปลายแหลมไป เมื่อถึงที่เกิดเหตุจำเลยบอกให้หยุดรถ ผู้เสียหายหยุดรถเพราะรู้สึกว่ามีมีดปลายแหลมจี้ที่ด้านหลัง และโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า สิ่งที่ผู้เสียหายเข้าใจว่าเป็นมีดปลายแหลมนั้นคืออะไร และสามารถใช้เป็นอาวุธได้หรือไม่ จึงต้องสันนิษฐาน ในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยว่าสิ่งของนั้นไม่สามารถใช้เป็นอาวุธได้ การที่ผู้เสียหายตกใจกลัวจึงเป็นเรื่องที่ผู้เสียหายกลัวไปเอง และคำพูดที่จำเลยบอกให้ผู้เสียหายหยุดรถ โจทก์ก็ไม่ได้ นำสืบให้เห็นว่าเป็นคำพูดลักษณะใดอันจะแสดงว่าเป็นการขู่เข็ญ ว่าในทันทีทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือข่มขืนใจให้ผู้เสียหายหยุดรถ นอกจากนั้น ผู้เสียหายทราบว่าในขณะนั้นจำเลยจะไปเยี่ยมภริยาจำเลยที่โรงพยาบาล การที่จำเลยนำรถจักรยานยนต์ไปจอดที่ลานจอดรถของโรงพยาบาลในลักษณะเปิดเผย จนกระทั่งเจ้าพนักงานตำรวจตามยึดคืนได้ในวันรุ่งขึ้น ประกอบกับจำเลยไม่ได้หลบหนีไปที่ใดทั้งที่รู้ว่าผู้เสียหายและเพื่อนผู้เสียหายทราบที่อยู่ของจำเลย จึงเป็นการแสดงว่าเมื่อผู้เสียหายกระโดดหนีจากรถจักรยานยนต์แล้วจำเลยก็ขับรถจักรยานยนต์ไปยังจุดมุ่งหมายแล้วจอดรถทิ้งไว้โดยไม่ประสงค์จะเอารถจักรยานยนต์ไว้เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับตนหรือผู้อื่น การกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนาทุจริตในการลักทรัพย์ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 863/2513 คำว่า 'โดยทุจริต' หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองและผู้อื่น การที่จำเลยทั้งสองสมคบหลอกลวงโจทก์โดยจำเลยที่ 2 แสดงตนต่อโจทก์ว่าเป็นนาย ช. เจ้าของที่ดินตาม น.ส.3. จนโจทก์หลงเชื่อทำหนังสือรับรองทรัพย์ยื่นขอประกันตัวนาย ก.ต่อศาลนั้น แม้จะไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับประโยชน์เป็นทรัพย์สินแต่อย่างใดก็ตาม ก็ทำให้นาย ก. ได้รับประโยชน์จากการใช้หนังสือรับรองทรัพย์นั้นอ้างต่อศาลจนได้รับประกันตัวไป ซึ่งย่อมถือว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์สำหรับผู้อื่นอันเป็นการกระทำโดยทุจริตเช่นกัน

          (2) ประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย คือ ต้องเป็นประโยชน์ที่ผู้แสวงหานั้นไม่มีสิทธิจะได้รับตามกฎหมาย ถ้าประโยชน์นั้นผู้แสวงหามีสิทธิจะได้รับตามกฎหมายแล้ว ก็ย่อมมิใช่ทุจริต 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12909/2557 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แม้พยานหลักฐานโจทก์ยังฟังไม่ได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า ในการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว จำเลยมีเจตนาพิเศษ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมที่ดินหรือผู้หนึ่งผู้ใดก็ตาม แต่บทมาตรานี้ยังมีองค์ประกอบความผิดในกรณีเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งไม่จำต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด เพียงแต่ได้ความว่าเป็นการกระทำโดยทุจริตก็เข้าองค์ประกอบเป็นความผิดแล้ว อีกทั้งตามมาตรา 1 (1) แห่งประมวลกฎหมายอาญา กำหนดบทนิยามคำว่า "โดยทุจริต "หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น การที่จำเลยลงลายมือชื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1481 ตำบลพรุใน อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา เนื้อที่ 16 ไร่ 2 งาน 94 ตารางวา ให้แก่นาย ด. ซึ่งเป็นการกระทำที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลย โดยไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้องว่านาย ด. ยื่นขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริงหรือไม่ และทำให้นาย ด. ได้ไปซึ่งหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวโดยไม่มีสิทธิได้รับ ถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับผู้อื่น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3670/2542 ผู้เสียหายฟ้องจำเลยทั้งสองขอแบ่งนามรดก และข้าวเปลือกเหนียวที่เก็บเกี่ยวได้จากนาพิพาท ขณะที่คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาล ผู้เสียหายและจำเลยทั้งสองได้ไปตกลงกันที่สถานีตำรวจว่า ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะไม่เอาข้าวเปลือกเหนียวที่ได้จากการทำนาพิพาทไปขาย แต่ยอมให้แต่ละฝ่ายเอาไปสีรับประทานได้ ผู้เสียหายทำผิดข้อตกลงดังกล่าว โดยผู้เสียหายเอาข้าวเปลือกเหนียวจำนวน50 ถุงปุ๋ย ไปให้ น. เพื่อเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่ผู้เสียหายยืมจาก น. มา จำเลยทั้งสองจึงปิดยุ้งข้าวพิพาท การกระทำของจำเลยทั้งสองก็เพื่อรักษาผลประโยชน์ในทรัพย์พิพาท ซึ่งอยู่ในระหว่างพิจารณาคดีนั่นเอง ดังนั้น แม้จะปรากฏว่า จำเลยทั้งสองจะได้กวาดข้าวเปลือกเหนียวไปกองรวมไว้ ในยุ้งข้าวด้วยก็ตามพฤติการณ์การกระทำของจำเลยทั้งสอง ก็ขาดเจตนาทุจริต ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8329/2540 การที่จำเลยที่ 1 เอาทรัพย์ของผู้ตายไปฝังดินไว้ภายหลังจากฆ่าผู้ตายโดยจะขุดมาแบ่งกับพวกเมื่อเรื่องเงียบแล้ว ถือได้ว่าเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต เป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เข้าลักษณะความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 แล้ว ส่วนจำเลยที่ 1 จะขุดเอาทรัพย์ดังกล่าวขึ้นมาในภายหลังหรือไม่เป็นดุลพินิจของจำเลยที่ 1 ไม่ทำให้การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่เสร็จสมบูรณ์แล้วเปลี่ยนแปลงไป จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานลักทรัพย์

          (3) สำหรับตนเองหรือผู้อื่น คือ การแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายนั้น เพื่อต้องการเอาประโยชน์เป็นของตนเองหรือของผู้อื่น หรือร่วมกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 565/2542  ส.ตกลงให้จำเลยเป็นนายหน้าขายที่ดินของส.และที่ดินของโจทก์ร่วมโดยสัญญานายหน้ามีข้อตกลงว่า จำเลย จะต้องนำดินลูกรังมาถมในที่ดินดังกล่าวให้สูงขึ้นประมาณ 50 เซนติเมตร เพื่อให้ขายได้ราคาสูงขึ้น การที่จำเลย สั่งให้ ค. ขุดทรายแก้วในที่ดินของโจทก์ร่วมโดยอ้างว่าที่ดินเป็นของตน และทำสัญญาขุดทรายกับ ค. โดยระบุว่าจำเลยได้รับมอบอำนาจมาจาก ว. และ ป. มิได้ระบุว่ารับมอบอำนาจมาจากโจทก์ร่วม เมื่อ ว. มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าว คงมีเพียง ป. เท่านั้นที่มีชื่อเป็นเจ้าของรวมในที่ดิน แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาปกปิด ข้อเท็จจริงไม่ให้ ค. ทราบว่าที่ดินเป็นของโจทก์ร่วมปรากฏว่าจำเลยขายทรายแก้วที่ขุดได้ให้แก่ ค. ในราคาถึง 87,000 บาท โดยมิได้นำเงินนั้นมอบแก่โจทก์ร่วม นับว่าเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองแล้ว การกระทำของจำเลยมีเจตนาทุจริต มิใช่การกระทำตามสัญญาโดยอาศัยสิทธิอันชอบธรรม เพื่อผลประโยชน์ของคู่สัญญาอันเป็นเรื่องทางแพ่ง แต่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 572/2517 จำเลยซึ่งเป็นปลัดอำเภอมีหน้าที่ทำตั๋วรูปพรรณสัตว์พาหนะลงลายมือชื่อประทับตราตำแหน่งลงในตั๋วรูปพรรณที่รู้ว่า ปลอมลายพิมพ์นิ้วมือเจ้าของสัตว์ ทำให้มีผู้ใช้เอกสารนั้นอ้างเมื่อถูกตรวจค้น แม้จะไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับผลประโยชน์แต่ประการใด แต่ก็เป็นการทำให้จำเลยอื่นได้รับประโยชน์ในการใช้เอกสารนั้นไปอ้างเมื่อถูกตรวจค้นหรือถูกจับ ถือว่าเป็นการกระทำโดยทุจริตเช่นกัน จึงมีความผิดตามมาตรา 157,161 และ 162(2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14267/2558 โจทก์มีหน้าที่ต้องทำงานประจำในห้องการเงิน แต่เมื่อ ว. มาซื้อสินค้าของจำเลยที่ 1 และนำสินค้าไปยังเครื่องคิดเงิน โจทก์ได้ไปทำหน้าที่คิดเงินให้แก่ ว. ซึ่งปรากฏรายการสินค้าที่ ว. ได้รับไปโดยโจทก์ไม่ได้คิดเงินจำนวน 7 รายการ คิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 1,931 บาท โจทก์ทำงานให้แก่จำเลยที่ 1 ในหน้าที่คิดราคาค่าสินค้าและเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าเพื่อนำส่งให้แก่จำเลยที่ 1 มาเป็นเวลานาน ย่อมมีความชำนาญในการทำงานในหน้าที่ของตนเป็นอย่างดี แม้โจทก์จะกล่าวอ้างว่าเหตุที่ไม่คิดเงินจากสินค้าจำนวน 7 รายการ จาก ว. เนื่องจากหลงลืมและเกิดจากความผิดพลาดในการทำงาน แต่สินค้าจำนวน 7 รายการ ดังกล่าวเป็นสินค้าที่มีลักษณะชิ้นใหญ่สามารถมองเห็นและตรวจสอบได้ง่าย การที่โจทก์ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการคิดเงินค่าสินค้าแต่กลับไม่คิดเงินค่าสินค้าจำนวน 7 รายการ จาก ว. ทำให้จำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างเสียหายไม่ได้รับชำระค่าสินค้าดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่โจทก์อาศัยโอกาสในการปฏิบัติงานในหน้าที่ของตนเป็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับผู้อื่น ถือได้ว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่แล้ว



ตัวแทนโดยปริยาย



          ป.พ.พ.มาตรา  797 วรรคสอง "อันความเป็นตัวแทนนั้นจะเป็นโดยตั้งแต่งแสดงออกชัดหรือโดยปริยายก็ย่อมได้"

          การเป็นตัวแทนโดยปริยายนั้นไม่ได้มีการแต่งตั้งตัวแทนขึ้นโดยสัญญา แต่เกิดขึ้นโดยพฤติการณ์ การกระทำ การแสดงออก ของคู่สัญญา คือ ตัวการได้แสดงออกในเชิงพฤติกรรมเป็นที่เข้าใจของบุคคลภายนอกว่าเห็นชอบด้วย ตัวการยินดีรับรองการกระทำนั้นๆแล้ว พร้อมที่จะรับผลอันนั้น ซึ่งแตกต่างกับเรื่องตัวแทนเชิดที่ตัวการไม่ได้ยอมรับแต่กฎหมายลงโทษตัวการ เพราะตัวการไม่บอกให้บุคคลภายนอกรู้ โดยการแสดงออกของตัวการทำให้บุคคลภายนอกผู้สุจริตเข้าใจผิด กฎหมายจึงบอกว่าต้องรับผิด

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ เช่น

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2122/2514   จำเลยที่ 1 เป็นสามี จำเลยที่ 2 เป็นภรรยา แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์เพื่อซื้อบ้านมาอยู่อาศัยด้วยกันและซื้อทรัพย์สินอื่นมาใช้ร่วมกัน เมื่อจำเลยทั้งสองเลิกร้างกัน จำเลยที่ 2 ได้ฟ้องแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับเอาประโยชน์จากการที่จำเลยที่ 1 ไปกู้เงินโจทก์และยินยอมให้จำเลยที่ 1 กระทำไปในฐานะตัวแทนอันมีผลให้จำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของบ้านและทรัพย์สินอื่นด้วย ฉะนั้นแม้ในสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์จะมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้คนเดียวก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผิดในฐานะเป็นตัวการของจำเลยที่ 1 ในการกู้เงินโจทก์รายนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1
          เมื่อจำเลยกู้เงินของสมาคมโจทก์ คือ เอาเงินของสมาคมโจทก์ไปจำเลยก็มีหน้าที่ต้องใช้เงินคืนแก่สมาคมโจทก์ จำเลยจะโต้แย้งว่าสมาคมโจทก์ไม่มีวัตถุประสงค์ในการให้กู้เงิน ไม่มีอำนาจฟ้องนั้นไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1812-1813/2515   มารดาทำสัญญาโอนขายที่ดินมีโฉนดของจำเลยให้แก่ผู้มีชื่อแทนจำเลย  ตามใบมอบอำนาจซึ่งมารดาให้น้องจำเลยเขียนชื่อและพิมพ์ลายนิ้วมือแทนจำเลย  โดยจำเลยรู้เห็นยินยอมในการกระทำนี้  จำเลยจะกล่าวอ้างในภายหลังว่าตนมิได้มอบอำนาจให้มารดาขายที่ดินแทนหาได้ไม่  เพราะเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1133/2516 (ประชุมใหญ่)   การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพลาธิการกองพลทหารม้า สั่งให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพลขับและสังกัดอยู่ในกองพลเดียวกัน ขับรถยนต์ของทางราชการกองพลทหารม้าไปขนปูนซิเมนต์ให้วัดซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการวัดอยู่ด้วย กิจการดังกล่าวมิใช่ราชการของกองทัพบกจำเลยที่ 3  ทั้งมิได้เกี่ยวกับตัวจำเลยที่ 1 แต่ประการใด  ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการและจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในกิจการนี้โดยปริยาย เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กลับกองพลทหารม้าได้ชนรถยนต์โจทก์เสียหายถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทนจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นตัวการย่อมต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ทำไปนั้น  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 427 ประกอบด้วยมาตรา 820 (วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 32/2515)
          แม้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จะเป็นข้าราชการทหารสังกัดอยู่ในกองพลทหารม้าซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของกองทัพบกจำเลยที่ 3 ก็ตาม  แต่การขนปูนซิเมนต์ดังกล่าวข้างต้นเป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลยที่ 2  มิได้เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการของจำเลยที่ 3แต่อย่างไร  การใช้รถยนต์ของทางราชการก็ดี การเติมน้ำมันของทางราชการก็ดี หาทำให้กิจการส่วนตัวจำเลยที่ 2 กลายเป็นงานราชการของจำเลยที่ 3 ไปไม่  จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นแก่โจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1973/2515  ไวยาวัจกรให้กู้เงินของวัดและทำสัญญาในฐานะไวยาวัจกรของวัด  ซึ่งเท่ากับทำสัญญาในฐานะตัวแทนของวัด  เมื่อจะฟ้องผู้กู้ให้ชำระหนี้  เจ้าอาวาสหรือผู้รักษาการแทนเท่านั้นที่มีอำนาจฟ้องคดีแทนวัด  ไวยาวัจกรซึ่งไม่ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าอาวาสหรือผู้รักษาการแทนให้ดำเนินคดี  หามีอำนาจฟ้องแทนวัดได้ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 475/2522  โจทก์ที่ 2 เช่าซื้อรถยนต์จากบริษัท ช. แล้วเอาประกันภัยไว้กับโจทก์ที่ 1 ระบุให้บริษัท ช. เป็นผู้รับประโยชน์ มีสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 ก่อนบริษัท  ช. แสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์ รถที่เช่าซื้อสูญหายไป และโจทก์ที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 โดยตรงแล้ว จึงเป็นกรณีที่คู่สัญญาประกันภัยเปลี่ยนแปลงข้อตกลงระหว่างกันแล้ว โจทก์ที่ 1 ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของโจทก์ที่ 2 ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามมาตรา 880 มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในนามของตนเองจากลูกหนี้ของโจทก์ที่ 2 ได้ตามมาตรา 226 ส่วนโจทก์ที่ 2 ซึ่งฝากรถยนต์ไว้กับจำเลยและรถหายไป ก็มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในส่วนที่ยังขาดอยู่จากจำเลยได้
          ปั๊มของจำเลยปฏิบัติต่อลูกค้ามีพฤติการณ์แสดงว่าจำเลยยอมรับรถจากผู้อื่นมาอยู่ในความอารักขาของจำเลยที่ปั๊มนั้น จึงเป็นลักษณะรับฝากทรัพย์ตามมาตรา 657 ไม่ใช่ให้เช่าสถานที่เพื่อจอดรถ
          ร. นำรถยนต์ของโจทก์ที่ 2  ไปทดลองขับดูก่อนที่จะซื้อและได้นำไปจอดฝากไว้กับจำเลย ถือได้ว่า ร. เป็นตัวแทนของโจทก์ที่ 2 โดยปริยาย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2164/2523   จำเลยที่ 2 มีหนังสือถึงโจทก์แสดงความประสงค์จะขอซื้อคอนกรีตผสมเสร็จตามราคาที่จำเลยที่ 3 ได้มาติดต่อไว้แล้วเพื่อทำถนน ในวันรุ่งขึ้นโจทก์ก็ส่งคอนกรีตผสมเสร็จมาให้ทันทีและทยอยส่งมาให้อีก 2 ครั้ง จนถนนแล้วเสร็จ ซึ่งถ้าหากจำเลยที่ 2 ไม่มีหนังสือแจ้งไปเหตุไฉนโจทก์จะส่งคอนกรีตผสมเสร็จมาให้ ดังนี้ ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้สนองรับข้อเสนอของจำเลยที่ 2 แล้วโดยสมบูรณ์
          จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 2 เป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยที่ 1  จำเลยที่ 1 มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างถนนในกิจการของจำเลยที่ 1 ให้แล้วเสร็จภายในเวลากำหนด โดยให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ตัดสินใจในการจัดทำถนนให้เสร็จในกำหนดเวลานั้น เป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการในเรื่องทำถนนให้เสร็จตามกำหนดเวลา จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 โดยปริยายในการที่จะต้องสร้างถนนให้ทันตามกำหนดเวลา การที่จำเลยที่ 2 สั่งซื้อคอนกรีตผสมเสร็จจากโจทก์มาสร้างถนนดังกล่าวให้ทันเวลาตามความประสงค์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2434/2526   จำเลยที่ 2 ผู้จัดการธนาคารสาขา ได้รับมอบอำนาจจากธนาคารจำเลยที่ 3 ได้แต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นทนายความฟ้องโจทก์ให้ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนอง ตามหนังสือมอบอำนาจ จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจรับเงินในคดีแทนจำเลยที่ 2 นอกศาล การที่โจทก์มอบเช็คให้จำเลยที่ 1 ไปจัดการชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 3 เพื่อมิให้ที่ดินของโจทก์ต้องถูกขายทอดตลาด จำเลยที่ 1 ยอมรับเช็คไปดำเนินการตามความประสงค์ของโจทก์ จำเลยที่ 1 ย่อมได้ชื่อว่าเป็นตัวแทนโดยปริยายของโจทก์แล้วตาม ป.พ.พ. ม.797 วรรคสอง หากมีความเสียหายเกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 แล้ว ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิด เมื่อที่ดินของโจทก์ต้องถูกขายทอดตลาดไปเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2258/2527   จำเลยที่ 3 ประกอบการขนส่งบุคคลเดินรถโดยสารประจำทาง ได้เช่ารถยนต์ของจำเลยที่ 2 มาใช้ในการเดินรถโดยสารของตนโดยมีจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เป็น คนขับ ดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารโดยประมาทชนโจทก์ได้รับบาดเจ็บ จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วย    แม้นายจ้างของโจทก์จะได้ออกเงินค่ารักษาพยาบาลให้แก่โจทก์ไปแล้วก็หาทำให้จำเลยที่ 1 ผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์พ้นความรับผิดในการชดใช้ค่ารักษาพยาบาลไม่โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลจากจำเลยทั้งสาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2977/2523   ในทางแพ่ง เมื่อโจทก์ฟ้องได้บรรยายข้อเท็จจริงมาชัดแจ้งแล้ว ศาลมีหน้าที่ยกตัวบทกฎหมายขึ้นปรับแก่คดีเอง  คดีนี้โจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงให้เห็นว่า  การที่จำเลยที่ 2 สั่งให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทหารรับใช้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุไปรับบุตรจำเลยที่ 2  มาจากโรงเรียน   ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 2  เป็นตัวการ  และจำเลยที่ 1  เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2  ในกิจการนั้นโดยปริยาย ส่วนที่มีข้อความว่ากระทำไปในฐานะลูกจ้างกระทำไปในทางการที่จ้างด้วยนั้น  ก็เป็นเพียงเหตุที่ยกขึ้นอ้างเปรียบเทียบเท่านั้น จำเลยที่ 2  ซึ่งเป็นตัวการจึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทน ในผลละเมิดที่จำเลยที่ 1 ทำไปนั้นตาม  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 ประกอบด้วย มาตรา 820  ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3352/2529  จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้เป็นผู้ติดต่อกับต่างประเทศในด้านการทำประกันภัยต่อ ระบุตำแหน่งว่าเป็นผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ลงชื่อในสัญญาที่ทำกับโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 รู้เห็นและไม่ทักท้วง จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1ในการทำสัญญาดังกล่าวกับโจทก์ เมื่อสัญญาเหล่านั้นเกี่ยวด้วยการรับประกันภัยอันอยู่ภายในขอบวัตถุที่ประสงค์ของจำเลยที่ 1 โจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงย่อมมีนิติสัมพันธ์ต่อกัน 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3643/2532  โจทก์มอบหมายให้จำเลยดำเนินการในเรื่องการโอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์จากชื่อโจทก์ให้เป็นชื่อของ  ส.  ผู้รับโอนให้เป็นที่เรียบร้อย จำเลยจึงเป็นตัวแทนโดยปริยายของโจทก์และจำเลยได้จัดการให้มีการย้ายเครื่องโทรศัพท์แล้ว ควรจะจัดการให้มีการโอนไปพร้อมกันแต่จำเลยไม่ได้ดำเนินการในเรื่องการโอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์จากชื่อโจทก์เป็นชื่อ  ส.  ให้เป็นที่เรียบร้อยตามที่ได้รับมอบหมายถือได้ว่าจำเลยประมาทเลินเล่อ ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ 
          หลังจากโจทก์ได้รับเงินค่าโอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์จากจำเลยและมอบหมายให้จำเลยดำเนินการโอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์แล้ว โจทก์ควรติดตามดูเรื่องราวว่าได้มีการโอนสิทธิการเช่าจากชื่อโจทก์เป็นชื่อของ  ส.  เรียบร้อยแล้วหรือไม่ แต่โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินการอย่างไร นับว่าโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นพอ ๆ กับจำเลยศาลให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เพียงกึ่งหนึ่งของค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1602/2534  โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ได้นำสืบและอ้างส่งเอกสารหนังสือรับรองและหนังสือมอบอำนาจว่าเป็นไปตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน โดยมีโนตรีพับลิก และสถานเอกอัครราชทูตไทยที่กรุงบอนน์ ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน รับรองความถูกต้อง จึงเป็นการมอบอำนาจถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 วรรคสาม โจทก์มีอำนาจฟ้อง   โจทก์ทำสัญญาซื้อขายสับปะรดกระป๋องจากจำเลย โดยติดต่อผ่านบริษัท อ. นายหน้าของโจทก์ที่ประเทศไต้หวัน และบริษัท อ.ติดต่อจำเลยผ่านบริษัทซ. ตัวแทนของจำเลยที่ประเทศไต้หวัน บริษัทซ. มีหนังสือยืนยันการขายไปถึงโจทก์โดยมีเงื่อนไขเกี่ยวกับปริมาณและราคาสินค้าตรงตามรายการปริมาณและราคาสินค้าตามใบกำกับสินค้า ซึ่งจำเลยจัดทำขึ้นเพื่อส่งไปให้โจทก์ โจทก์และบริษัท ซ. ได้ติดต่อกันทางโทรพิมพ์ กล่าวข้อความเกี่ยวข้องกับจำเลยอันมีสาระสำคัญเชื่อมโยงให้โจทก์กับจำเลยตกลงเข้าทำสัญญา กับทั้งผู้รับประโยชน์ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตคือจำเลย และการที่โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตก็เพื่อสั่งซื้อสินค้าจากจำเลยฝ่ายจำเลยก็ได้รับเงินค่าสินค้าตามเลตเตอร์ออฟเครดิตของโจทก์ และส่งสินค้าให้โจทก์แล้วก็ได้แจ้งยอดหนี้ให้โจทก์ทราบโดยตรง พฤติการณ์เช่นนี้ถือว่าบริษัท ซ. เป็นตัวแทนโดยปริยายของจำเลยไปทำสัญญาซื้อขายสับปะรดกระป๋องกับโจทก์จำเลยจึงต้องผูกพันตามสัญญาซื้อขาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 668/2535   ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 การรับสภาพหนี้จะต้องกระทำโดยลูกหนี้ แต่ลูกหนี้อาจตั้งตัวแทนให้ชำระหนี้แทนได้ซึ่งย่อมต้องถือว่าเป็นการชำระหนี้ของลูกหนี้นั้นเอง จำเลยที่ 2 เคยลงลายมือชื่อรับสินค้าที่จำเลยที่ 1 ซื้อมาจากโจทก์แทนจำเลยที่ 1 และเคยพูดขอผัดผ่อนชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 มอบหลังคาไฟเบอร์กระบะรถชำระหนี้ให้โจทก์ เป็นการกระทำโดยตระหนักเป็นปริยายว่ายอมรับสิทธิเรียกร้องของโจทก์ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 โดยปริยาย จึงเป็นการรับสภาพหนี้ที่มีผลผูกพัน จำเลยที่ 1 ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 700/2535  คณะกรรมการปรับปรุงอาคารพิพาทของผู้ให้เช่ามีมติให้บอกเลิกการเช่าแก่ผู้เช่า ย. ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองอาคารของผู้ให้เช่าได้มีหนังสือบอกเลิกการเช่าแก่ผู้เช่าไปตามมติดังกล่าว แม้ในมตินั้นจะไม่ได้ระบุให้ ย. เป็นผู้บอกเลิกการเช่าแก่ผู้เช่า ก็ถือได้ว่า ย. บอกเลิกการเช่าแทนผู้ให้เช่าแล้วโดยชอบโดยปริยาย ไม่จำเป็นต้องให้ผู้อำนวยการของผู้ให้เช่าต้องมอบอำนาจอีก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2519/2537  ถึงจำเลยจะเป็นเพียงบริษัทนายหน้าในการประกันภัย และที่ปรึกษาประกันภัย แต่ตามพฤติการณ์ที่จำเลยแสดงออกในการติดต่อให้โจทก์นำเอาความเสี่ยงภัยที่โจทก์รับประกันภัยไว้ไปประกันภัยต่อแก่ผู้รับประกันภัยซึ่งอยู่ต่างประเทศนั้นเกินเลยกว่าการเป็นนายหน้า แม้ผู้รับประกันภัยต่อมิได้มีหนังสือแต่งตั้งจำเลยเป็นตัวแทนให้กระทำในกิจการดังกล่าว แต่การปฏิบัติของผู้รับประกันภัยต่อได้ยินยอมให้จำเลยปฏิบัติงานแทนตนตลอดมา จำเลยย่อมอยู่ในฐานะเป็นตัวแทนของผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศโดยปริยายตาม ป.พ.พ. มาตรา 797 วรรคสองในกรณีเช่นนี้ตัวการไม่จำต้องแต่งตั้งตัวแทนเป็นหนังสือและไม่อยู่ในบังคับของมาตรา798 เมื่อตัวการซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยต่ออยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ จำเลยซึ่งเป็นตัวแทนทำสัญญาประกันภัยต่อแทนตัวการ จึงต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยต่อตามลำพังตาม ป.พ.พ. มาตรา 824

28 มิถุนายน 2567

ตัวแทนเชิด

               ป.พ.พ. มาตรา  821 "บุคคลผู้ใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี รู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน"

               ตัวแทนเชิดตามมาตรา 821 มี 2 กรณี คือ

               1. บุคคลผู้ใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี

               2. รู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี

               บุคคลผู้นั้น(ตัวการ)จะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน

               ตัวแทนเชิด เกิดจากการกระทำด้วยพฤติกรรม กิริยา อาการ ที่ตัวการแสดงออกต่อบุคคลภายนอก โดยทำให้บุคคลภายนอกนั้นเข้าใจว่าตัวการได้มอบหมายให้บุคคลอีกคนหนึ่งเป็นตัวแทนของตัวการ ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น แต่กฎหมายปิดปากตัวการและให้ตัวการรับผิดแทน

               (1) การแสดงออกโดยตัวการ ไม่ได้มอบอำนาจให้บุคคลอีกคนหนึ่งนั้น ถือเป็นความผิดและความรับผิดชอบของตัวการ

               (2) สภาพการณ์เช่นนั้น ตัวการมีหน้าที่ต้องแสดงความจริง แต่ตัวการแสดงในทางตรงกันข้ามและทำให้บุคคลภายนอกเข้าใจผิดเป็นอย่างอื่น

               (3) กฎหมายประสงค์คุ้มครองบุคคลภายนอกผู้สุจริต

               (4) ตัวการต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก แต่บุคคลภายนอกไม่ต้องผูกพันรับผิดต่อตัวการ ตัวการจึงฟ้องบุคคลภายนอกไม่ได้

               (5) ตัวแทนเชิดไม่ใช่ตัวแทนที่เกิดขึ้นโดยผลของสัญญา ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ตัวแทนเชิดรับผิดต่อบุคคลภายนอก

               (6) ตัวแทนเชิดเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 798


               คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ เช่น

              พฤติการณ์ที่ ธ. ได้ขอให้ จ. โทรศัพท์ไปหาโจทก์เพื่อช่วยพูดถึงสาเหตุที่ ธ. ซื้อขายขาดทุนและเป็นหนี้บริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งหากเงินที่นำมาใช้เป็นเงินของ ธ. เองก็ไม่มีความจำเป็นที่ จ. จะต้องโทรศัพท์ไปชี้แจงให้โจทก์ทราบ ดังนั้น การซื้อขายในบัญชีของ ธ. จ. จึงน่าจะทราบดีว่าเป็นการซื้อขายโดยใช้เงินของโจทก์ และ ธ. น่าจะกระทำการแทนโจทก์
              คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 114/2565  ธ. เป็นผู้แจ้งการโอนเงินเข้าบัญชีลูกค้าของจำเลยที่ 1 แก่ จ. เพื่อทำการสั่งซื้อสินค้าเกษตรล่วงหน้า แม้ว่าเงินดังกล่าวเป็นของโจทก์ที่โอนมาจากบัญชีธนาคารของโจทก์ก็ตาม แต่เชื่อว่าโจทก์ต้องรู้เห็นยินยอมให้ ธ. ใช้เงินดังกล่าวเพื่อทำการสั่งซื้อสินค้าเกษตรล่วงหน้าแก่ จ. แทน เพราะถ้าโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมหรือบอกให้ ธ. ทราบว่าโจทก์ได้โอนเงินจำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีเพื่อลูกค้าของจำเลยที่ 1 ในวันใด เป็นจำนวนเท่าไร ไม่น่าเชื่อว่า ธ. จะแจ้งให้ จ. ทราบและออกใบรับเงินได้อย่างถูกต้อง ขณะที่ จ. ซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้ากับ ธ. นั้นโจทก์รับรู้ด้วย เมื่อสถานะทางบัญชีซื้อขายของ ธ. ขาดทุน และถูกเรียกเก็บเงินประกันเพิ่มเติม และเป็นหนี้บริษัทจำเลยที่ 1 ธ. ได้ขอให้ จ. โทรศัพท์ไปหาโจทก์เพื่อช่วยพูดถึงสาเหตุที่ ธ. ซื้อขายขาดทุนและเป็นหนี้บริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งหากเงินที่นำมาใช้เป็นเงินของ ธ. เองก็ไม่มีความจำเป็นที่ จ. จะต้องโทรศัพท์ไปชี้แจงให้โจทก์ทราบ ดังนั้น การซื้อขายในบัญชีของ ธ. จ. จึงน่าจะทราบดีว่าเป็นการซื้อขายโดยใช้เงินของโจทก์ และ ธ. น่าจะกระทำการแทนโจทก์ เช่นนี้ถือว่า โจทก์ได้เชิดหรือยอมให้ ธ. เชิดตนเองออกเป็นตัวแทนของตนในการใช้เงินจำนวนพิพาทที่โอนเข้าบัญชีลูกค้าของจำเลยที่ 1 ทำการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแทน โจทก์จึงต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่า ธ. เป็นตัวแทนของตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821

              รู้เห็นและยินยอมให้มารดาเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้ขายทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับโจทก์ฝ่ายผู้จะซื้อ แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ลงลายมือชื่อไว้ในสัญญา แต่การแสดงออกดังกล่าวเป็นการเชิดให้มารดาออกเป็นตัวแทนหรือยินยอมให้มารดาเชิดตัวเองเป็นตัวแทนทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่ด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันต่อโจทก์ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดิน
              คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2573/2546   จำเลยที่ 1 และที่ 3 รู้เห็นและยินยอมให้จำเลยที่ 2 มารดาเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้ขายทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับโจทก์ฝ่ายผู้จะซื้อแม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ลงลายมือชื่อไว้ในสัญญา แต่การแสดงออกดังกล่าวเป็นการเชิดให้จำเลยที่ 2 ออกเป็นตัวแทนหรือยินยอมให้จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่ด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันต่อโจทก์ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 และการนำสืบว่าจำเลยที่ 2 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ก็หาจำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 ไม่ ทั้งหาใช่เป็นการนำสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญาจะซื้อขายอันต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) ไม่ เพราะเป็นแต่เพียงการนำสืบความจริงว่าจำเลยที่ 2 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนเข้าเป็นคู่สัญญากับโจทก์เท่านั้น

             กรรมการบริษัทจำเลยสั่งซื้อสินค้าโดยใช้ใบสั่งซื้อซึ่งเป็นแบบพิมพ์ของจำเลย และพนักงานบริษัทจำเลยเป็นผู้รับสินค้า รวมทั้งกรรมการบริษัทจำเลยทำหนังสือขอผ่อนผันการชำระหนี้โดยใช้แบบพิมพ์ของจำเลย ย่อมแสดงว่าจำเลยรู้แล้วยอมให้กรรมการบริษัทเชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทน
              คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4046/2546   ตามหนังสือรับรองระบุว่า กรรมการของจำเลยมี 4 คน ซึ่งรวมทั้ง ว. ด้วย กรรมการ 2 คน ลงชื่อร่วมกันและประทับตราของจำเลยจึงมีผลผูกพันจำเลย แต่การที่ ว. ลงชื่อสั่งซื้อสินค้าโดยใช้ใบสั่งซื้อซึ่งเป็นแบบพิมพ์ของจำเลย เมื่อโจทก์นำสินค้าไปส่ง พนักงานของจำเลยได้รับสินค้านั้น และต่อมา ว. ในฐานะกรรมการผู้จัดการของจำเลยมีหนังสือขอผ่อนผันการชำระหนี้ โดยใช้แบบพิมพ์ของจำเลยอีก ย่อมแสดงว่าจำเลยรู้แล้วยอมให้ ว. เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนซื้อสินค้าจากโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์

               การเป็นตัวแทนเชิดนั้น ตัวการไม่ปรารถนาที่จะผูกพันกับบุคคลภายนอกสำหรับการกระทำของตัวแทน
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1664/2548   จำเลยที่ 1 เป็นบุตรเขยจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 รับราชการ มีอายุมากแล้ว จำเลยที่ 1 ทำสัญาว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ลงบนที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขออนุญาตทำการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ดังกล่าวต่อเทศบาลด้วยตนเอง เมื่อก่อสร้างเสร็จ ท. หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างโจทก์ตกลงซื้ออาคารพาณิชย์จากจำเลยที่ 2 จำนวน 1 ห้อง โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อผู้จะขายในสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาวางมัดจำ การที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าหนี้ตามฟ้องคดีนี้ไม่ถูกต้อง เพราะต้องหักเงินค่ามัดจำและค่าหินขัดออกก่อนนั้น หากจำเลยที่ 2 ไม่เกี่ยวข้องกับการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างกับโจทก์แล้วเหตุใดจึงจะยอมให้มีการหักเงินกันได้ เพราะไม่ใช่หนี้ที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิด ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ก่อนหน้านี้จำเลยที่ 2 เคยติดต่อว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ดังกล่าว ต่อมาจำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 มาทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารพาณิชย์กับโจทก์ กรณีดังกล่าวจำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวแทนโดยปริยายของจำเลยที่ 2 ไม่ใช่เรื่องตัวแทนเชิด เพราะการเป็นตัวแทนเชิดนั้น ตัวการไม่ปรารถนาที่จะผูกพันกับบุคคลภายนอกสำหรับการกระทำของตัวแทน

               การที่จำเลยทั้งสองเคยสั่งให้โจทก์ลงโฆษณามาก่อนหลายครั้ง โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อในใบสั่งโฆษณา แม้จะไม่ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับของบริษัท แต่พฤติการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 เชิดจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของตนว่าจ้างโจทก์โฆษณา 
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4594/2549   จำเลยทั้งสองเคยสั่งให้โจทก์ลงโฆษณามาก่อนหลายครั้ง โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อในใบสั่งโฆษณา แม้ในครั้งที่พิพาทกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 จะมิได้ลงลายมือชื่อไว้แต่ก็เป็นเรื่องข้อตกลงภายในของบริษัทจำเลยที่ 1 ไม่อาจนำมาเป็นข้ออ้างเพื่อปัดความรับผิดต่อโจทก์ซึ่งบุคคลภายนอก ทั้งข้อความที่ลงโฆษณาก็เป็นเรื่องที่อยู่ในกิจการและประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ฝ่ายเดียว พฤติการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 เชิดจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของตนว่าจ้างโจทก์โฆษณา จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันรับผิดชำระสินจ้างแก่โจทก์
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12939/2557    ต. อยู่กันฉันสามีภริยากับโจทก์ที่ 1 มาประมาณ 30 ปี และอาศัยอยู่ด้วยกันกับโจทก์ที่ 2 ที่บ้านเกิดเหตุจากสภาพโจทก์ที่ 1 ย่อมทราบถึงการซ่อมรถและซ่อมบ้านที่บริษัท ว. เป็นผู้จัดการให้เป็นอย่างดีเมื่อซ่อมบ้านเสร็จ ต. รับมอบงาน โจทก์ที่ 1 ก็ไม่คัดค้าน ครั้นซ่อมรถเสร็จ ต. กับโจทก์ที่ 2 เป็นคนลงชื่อรับค่าซ่อมในสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ที่ 1 ก็ไม่โต้แย้งคัดค้านว่า ต. และโจทก์ที่ 2 ไม่มีอำนาจกระทำการแทนตน พฤติการณ์ย่อมฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 รู้แล้วยอมให้ ต. และโจทก์ที่ 2 เชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนในการรับค่าซ่อมบ้านและซ่อมรถตามสัญญาประนีประนอมยอมความ การเป็นตัวแทนเชิดนั้นไม่อยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 798 ที่ต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือเหมือนการตั้งตัวแทนทั่วไป สัญญาประนีประนอมยอมความจึงมีผลบังคับถึงโจทก์ที่ 1 ด้วย

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16482/2557    ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 18, 19 และ 39 กำหนดให้การซื้อหรือการจ้างด้วยวิธีตกลงราคาซึ่งมีราคาไม่เกิน 100,000 บาท ให้เจ้าหน้าที่พัสดุติดต่อตกลงราคากับผู้ขายหรือผู้รับจ้างโดยตรงแล้วให้หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุจัดซื้อและจัดจ้างได้ภายในวงเงินที่ได้รับความเห็นชอบจากหัวหน้าส่วนราชการ แต่หากกรณีจำเป็นและเร่งด่วนที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดหมายไว้ก่อนและไม่อาจดำเนินการตามปกติได้ทัน ให้เจ้าหน้าที่พัสดุหรือเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติราชการนั้นดำเนินการไปก่อนได้แล้วรีบรายงานขอความเห็นชอบต่อหัวหน้าส่วนราชการ จำเลยที่ 1 ได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 3 ทำหน้าที่หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่นและแต่งตั้งให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้มีสิทธิมารับสินค้าที่ได้สั่งซื้อหลายครั้งไปจากโจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันควรเชื่อว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 อยู่ในขอบเขตอำนาจที่กระทำแทนจำเลยที่ 1 ส่วนระเบียบขั้นตอนการจัดจ้างหรือสั่งซื้อที่ระบุว่าจำเลยที่ 3 ละเลยไม่ปฏิบัตินั้นก็เป็นระเบียบภายในของจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ได้ประกาศให้บุคคลภายนอกทราบ ดังนั้น แม้จำเลยที่ 3 จะทำการจัดซื้อสินค้าจากโจทก์แทนจำเลยที่ 1 โดยผิดระเบียบขั้นตอนและเพื่อประโยชน์ของตนโดยไม่สุจริต แต่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่ได้รู้เห็นเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดระเบียบขั้นตอนของจำเลยที่ 3 จึงเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตและต้องได้รับความคุ้มครอง

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18460/2557   การขยายกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากกฎหมายมิได้บังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพียงแต่อย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับไถ่ จึงจะบังคับกันได้  การไม่นำหนังสือหรือหลักฐานเป็นหนังสือไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ คงมีผลทำให้คู่สัญญาไม่อาจยกการขยายเวลาขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วเท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 496 วรรคสอง ดังนั้น การตกลงขยายกำหนดเวลาไถ่ตามหนังสือขอต่อสัญญาขายฝาก ซึ่งมีจำเลยที่ 1 ผู้รับไถ่ลงลายมือชื่อไว้ แม้มิได้นำไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 แม้ไม่ได้ลงลายมือชื่อ แต่การที่จำเลยที่ 2 รู้เห็นยินยอมในการกระทำของจำเลยที่ 1 กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เชิดจำเลยที่ 1 หรือยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการตกลงและทำหนังสือขยายกำหนดเวลาไถ่ให้แก่โจทก์ การลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับไถ่ด้วย หนังสือขยายกำหนดเวลาไถ่จึงมีผลผูกพันจำเลยทั้งสอง เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงโดยนำทรัพย์สินที่รับซื้อฝากไปขายก่อนครบกำหนดเวลาไถ่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5896/2558   สัญญาเช่าข้อ 7 ระบุว่า สมาชิกต้องไม่นำรถยนต์ไปให้ผู้อื่นขับขี่เป็นอันขาด แสดงว่าจำเลยที่ 2 ทราบแต่แรกว่าไม่สามารถนำรถของตนให้ผู้อื่นหรือจำเลยที่ 1 เช่า สัญญาดังกล่าวนี้จึงเป็นการทำขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการนำรถออกรับจ้างเท่านั้น เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ทำสัญญายอมผูกพันให้จำเลยร่วมที่ 2 ใช้รอยตราหรือเครื่องหมายและคำว่า “สหกรณ์แท็กซี่รวมมิตร จก” ไว้ที่ด้านข้างของรถแท็กซี่เพื่อออกแล่นรับผู้โดยสารในนามของจำเลยที่ 2 โดยเปิดเผย จำเลยร่วมที่ 2 เป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 การนำรถแท็กซี่เข้าร่วมเป็นกิจการและตรงตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงได้ผลประโยชน์จากการที่จำเลยที่ 1 ขับรถแท็กซี่ที่มีตราของจำเลยที่ 2 ออกแล่นรับจ้าง จำเลยร่วมที่ 2 เจ้าของรถย่อมต้องได้รับผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 2 ได้เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน จำเลยร่วมที่ 2 และจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วยเช่นกัน


16 มิถุนายน 2567

ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ กรณีถ้ามูลเหตุละเมิดนั้นเกิดจากผู้บังคับบัญชา ก็จะต้องมีสัดส่วนความรับผิดที่มากกว่าเจ้าหน้าที่ | ละเมิด | คดีปกครอง


          ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่นั้น หากเป็นกรณีละเมิดอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะมีกฎหมายเฉพาะ คือ พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 อันเป็นกฎหมายที่มีเจตนารมณ์มุ่งคุ้มครองเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของทางราชการ

           ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ เป็นเรื่องของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) ที่ได้อนุมัติให้ดําเนินโครงการฝึกอบรมและอนุมัติให้เบิกจ่ายเงินค่าพาหนะโดยที่ไม่มีการดําเนินโครงการฝึกอบรมจริง 

          ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า เมื่อครั้งที่ผู้ฟ้องคดีดํารงตําแหนงนายก อบจ. ได้อนุมัติให้ดําเนินโครงการฝึกอบรมศักยภาพในการประกอบอาชีพของกลุ่มแม่บ้านในจังหวัด (ตามที่รองปลัด อบจ. ในขณะนั้น เสนอผ่านฝ่ายการคลังและปลัด อบจ. ตามขั้นตอนสายงานการบังคับบัญชา)โดยมีการอนุมัติให้เบิกจ่ายเงินยืม เป็นค่าพาหนะให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรม และอนุมัติให้ส่งใช้เงินยืมรวม 3 ครั้ง เป็นเงินกว่า 16 ล้านบาท ซึ่งในจํานวนนี้ ผู้ฟ้องคดีได้เป็นผู้ลงนามอนุมัติไป 2 ครั้ง 
          ต่อมา สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้เข้าตรวจสอบและพบว่า โครงการดังกล่าวมีเจตนาที่จะให้เงินสนับสนุนกลุ่มแม่บ้าน หมู่บ้านละ 20,000 บาท โดยจ่ายเป็นค่าพาหนะให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรม คนละ 200 บาท โดยที่ไม่มีการฝึกอบรมจริง ทําให้ อบจ.ได้รับความเสียหาย จึงให้ อบจ. แจ้งความดําเนินคดีอาญาและดําเนินการทางวินัยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหาผู้รับผิดทางละเมิดด้วย
          นายก อบจ. คนปัจจุบัน จึงมีคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดขึ้น โดยรายงานผลการสอบสวนสรุปได้ว่า การกระทําของผู้ฟ้องคดีถือเป็นการกระทําโดยปราศจากความระมัดระวัง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง อันเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง กรณีที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2549 และระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 แต่เนื่องจากกลุ่มแม่บ้านเป็นผู้ได้รับประโยชน์ ส่วนเจ้าหน้าที่ไม่ได้รับผลประโยชน์ส่วนตน จึงไม่ใช่เป็นการทุจริต เห็นควรให้หักส่วนความรับผิดทางละเมิดออกร้อยละ 30 ของค่าเสียหายทั้งหมด ตามมาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ฯ ทั้งนี้ คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ ได้กำหนดสัดส่วนความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ตามแนวทางหนังสือเวียนของกระทรวงการคลัง (หนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 0406.2/ว. 66 ลงวันที่ 25 กันยายน 2550 ที่กําหนดแนวทางการกําหนดสัดส่วนความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ กรณีการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือระเบียบ ข้อ 4.2 จ่ายเงินเกินสิทธิ/ไม่มีสิทธิ/ผิดระเบียบ มาปรับใช้ ดังนี้  1. กลุ่มผู้บังคับบัญชารับผิดร้ อยละ 40 ของค่าเสียหาย (แบ่งเป็น ผู้ผ่านงาน (ชั้นต้น/ชั้นกลาง) รับผิดร้อยละ 20 และผู้อนุมัติ (ชั้นสูง) รับผิดร้อยละ 20) และ 2. กลุ่มผู้ปฏิบัติรับผิดร้อยละ 60 ของค่าเสียหาย) นายก อบจ. เห็นด้วย จึงมีคําสั่งให้ผู้เกี่ยวข้องจํานวน 25 ราย รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ อบจ. โดยส่วนของผู้ฟ้องคดีให้รับผิดในสัดส่วนของกลุ่มผู้บังคับบัญชาชั้นสูง ร้อยละ 20 ของค่าเสียหาย เป็นเงินจํานวนประมาณ 2 ล้านบาทจากนั้นได้มีการส่งสํานวนการสอบข้อเท็จจริงให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ
          ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสืออุทธรณ์คําสั่งดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าตนใช้อํานาจสั่งการให้ดําเนินโครงการในทางนโยบาย ในฐานะที่เป็นผู้บริหารเท่านั้น ส่วนในการปฏิบัติเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงาน ซึ่งย่อมมีการตรวจสอบและควบคุมดูแลกันตามสายการบังคับบัญชาอีกทั้งโครงการดังกล่าว เกิดประโยชน์แก่กลุ่มแม่บ้านและอยู่ในอํานาจหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อ อบจ. จึงไม่เป็นการกระทําละเมิดแต่อย่างใด นอกจากนี้คําสั่งที่ให้ชดใช้เงินยังไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก ก่อนออกคําสั่งไม่ได้ส่งสํานวนการสอบข้อเท็จจริงฯ ให้กระทรวงการคลังตรวจสอบก่อน ตามข้อ 17 วรรคสอง ของระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 แต่ได้ส่งสํานวนดังกล่าวให้กระทรวงการคลังในภายหลังซึ่งล่วงพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว ต่อมา ผู้ฟ้องคดี ได้ยื่นฟ้องนายก อบจ. ต่อศาลปกครองชั้นต้น เพื่อขอให้เพิกถอนคําสั่งพิพาท
          ศาลปกครองชั้นต้นมีคําพิพากษายกฟ้อง 
          ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด
          คดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า คําสั่งที่ให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ อบจ. เป็นเงินจํานวนประมาณ 2 ล้านบาท ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?
          โดยมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยก่อนว่า ผู้ฟ้องคดีได้กระทําละเมิดต่อ อบจ. ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือไม่?
          ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้บริหารท้องถิ่นมีอํานาจหน้าที่ในการกําหนดนโยบายที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย และมีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารราชการของ อบจ. ให้เป็นไปตามกฎหมายและตามที่กำหนดไว้ในระเบียบ รวมถึงระเบียบกระทรวงมหาดไทยฯ 2 ฉบับดังกล่าว ซึ่งในการอนุมัติโครงการต้องพิจารณาขั้นตอนรายละเอียดของการดําเนินโครงการ ตลอดจนต้องควบคุมดูแลให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามที่กาหนดไว้ในระเบียบ การที่ผู้ฟ้องคดีลงนามอนุมัติให้ดําเนินโครงการ และลงนามอนุมัติให้ยืมเงินทดรองจ่ายและให้ส่งใช้เงินยืม จํานวน 2 ครั้ง โดยให้ตัวแทนกลุ่มแม่บ้านรับเงินไปจากผู้ฟ้องคดีทั้งที่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โครงการดังกล่าวไม่ได้จัดการฝึกอบรมจริง แต่มีการนําบัญชีรายชื่อกลุ่มแม่บ้าน หมู่บ้านละ 100 คน เพื่อที่จะจ่ายเป็นเงินค่าพาหนะเดินทางคนละ 200 บาท เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นผู้อนุมัติให้เบิกเงินเพื่อส่งใช้เงินยืม ซึ่งเป็นการจัดทำเอกสารส่งใช้เงินยืม โดยไม่เป็นไปตามระเบียบฯ พฤติการณ์ถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีกระทําโดยจงใจหรือประมาทเลินเลออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้ อบจ. ได้รับความเสียหาย จึงเป็นการกระทําละเมิดต่อ อบจ. ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อบจ. มีสิทธิที่จะเรียกให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ
          กรณีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ผู้ฟ้องคดีจะต้องรับผิดชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ อบจ. เพียงใด ?
          ศาลเห็นว่า เมื่อการกระทําละเมิดครั้งนี้มีมูลเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการกําหนดนโยบายของฝ่ายบริหารที่ต้องการหลีกเลี่ยงระเบียบการเบิกจ่ายเงินของทางราชการ ฉะนั้น การนําแนวทางการกำหนดสัดส่วนความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ตามหนังสือเวียนของกระทรวงการคลังข้างต้นมาปรับใช้ จึงไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรม 
          ศาลจึงเห็นสมควรให้กำหนดสัดส่วนความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่กรณีนี้ใหม่ ดังนี้ 1. กลุ่มผู้บังคับบัญชา ให้รับผิดร้อยละ ๙๕ ของค่าเสียหาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้ผ่านงาน (ชั้นต้น/ชั้นกลาง) ให้รับผิดร้อยละ 45 และผู้อนุมัติ (ชั้นสูง) ให้รับผิดร้อยละ 50 และ 2. กลุ่มผู้ปฏิบัติ ให้รับผิดร้อยละ 5 ของค่าเสียหาย ในส่วนความรับผิดของผู้ฟ้องคดีนั้น เมื่อหักส่วนความรับผิดออกร้อยละ 30 ของความเสียหายทั้งหมดแล้ว คิดเป็นเงินที่ผู้ฟ้องคดีต้องชดใช้จํานวนทั้งสิ้นกว่า 5 ล้านบาท ดังนั้น คําสั่งที่ให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ อบจ. เป็นเงินจํานวนประมาณ 2 ล้านบาท จึงเป็นคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นคุณแก่ผู้ฟ้องคดีแล้ว 
          สําหรับระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีฯ ข้อ 17 วรรคสอง ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐส่งสํานวนการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดให้กระทรวงการคลังตรวจสอบภายใน 7 วัน นับแต่
วันวินิจฉัยสั่งการ ซึ่งกำหนดเวลา 7 วัน ดังกล่าว เป็นเพียงการกำหนดเวลาเร่งรัดให้หน่วยงานของรัฐต้องเร่งรีบปฏิบัติเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าหากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว หน่วยงานของรัฐจะไม่ต้องส่งสํานวนให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ หรือหากส่งสํานวนให้กระทรวงการคลังเมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว จะทําให้ผลการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดที่ออกมาภายหลังจากนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อยางใด นอกจากนั้น ในการออกคําสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่รับผิด กฎหมายได้บังคับว่าจะต้องกระทําภายในอายุความตามที่กฎหมายกําหนด ซึ่งกรณีนี้เป็นช่วงเวลาที่ใกล้จะครบอายุความ 10 ปี นับแต่วันทําละเมิด กรณีจึงมีเหตุทําให้หน่วยงานต้องรีบดําเนินการออกคําสั่งเรียกให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ทันภายในกาหนดเวลาดังกล่าว เพื่อสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจะไม่ขาดอายุความแล้วจึงส่งสํานวนการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดให้กระทรวงการคลังตรวจสอบภายหลังจากนั้น จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า การดําเนินการ ดังกล่าวไม่ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีฟังไม่ขึ้น
           ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้นที่ยกฟ้อง (คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๕๙๐/๒๕๖๖)