29 มิถุนายน 2567

ตัวแทนโดยปริยาย



          ป.พ.พ.มาตรา  797 วรรคสอง "อันความเป็นตัวแทนนั้นจะเป็นโดยตั้งแต่งแสดงออกชัดหรือโดยปริยายก็ย่อมได้"

          การเป็นตัวแทนโดยปริยายนั้นไม่ได้มีการแต่งตั้งตัวแทนขึ้นโดยสัญญา แต่เกิดขึ้นโดยพฤติการณ์ การกระทำ การแสดงออก ของคู่สัญญา คือ ตัวการได้แสดงออกในเชิงพฤติกรรมเป็นที่เข้าใจของบุคคลภายนอกว่าเห็นชอบด้วย ตัวการยินดีรับรองการกระทำนั้นๆแล้ว พร้อมที่จะรับผลอันนั้น ซึ่งแตกต่างกับเรื่องตัวแทนเชิดที่ตัวการไม่ได้ยอมรับแต่กฎหมายลงโทษตัวการ เพราะตัวการไม่บอกให้บุคคลภายนอกรู้ โดยการแสดงออกของตัวการทำให้บุคคลภายนอกผู้สุจริตเข้าใจผิด กฎหมายจึงบอกว่าต้องรับผิด

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ เช่น

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2122/2514   จำเลยที่ 1 เป็นสามี จำเลยที่ 2 เป็นภรรยา แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์เพื่อซื้อบ้านมาอยู่อาศัยด้วยกันและซื้อทรัพย์สินอื่นมาใช้ร่วมกัน เมื่อจำเลยทั้งสองเลิกร้างกัน จำเลยที่ 2 ได้ฟ้องแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับเอาประโยชน์จากการที่จำเลยที่ 1 ไปกู้เงินโจทก์และยินยอมให้จำเลยที่ 1 กระทำไปในฐานะตัวแทนอันมีผลให้จำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของบ้านและทรัพย์สินอื่นด้วย ฉะนั้นแม้ในสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์จะมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้คนเดียวก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผิดในฐานะเป็นตัวการของจำเลยที่ 1 ในการกู้เงินโจทก์รายนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1
          เมื่อจำเลยกู้เงินของสมาคมโจทก์ คือ เอาเงินของสมาคมโจทก์ไปจำเลยก็มีหน้าที่ต้องใช้เงินคืนแก่สมาคมโจทก์ จำเลยจะโต้แย้งว่าสมาคมโจทก์ไม่มีวัตถุประสงค์ในการให้กู้เงิน ไม่มีอำนาจฟ้องนั้นไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1812-1813/2515   มารดาทำสัญญาโอนขายที่ดินมีโฉนดของจำเลยให้แก่ผู้มีชื่อแทนจำเลย  ตามใบมอบอำนาจซึ่งมารดาให้น้องจำเลยเขียนชื่อและพิมพ์ลายนิ้วมือแทนจำเลย  โดยจำเลยรู้เห็นยินยอมในการกระทำนี้  จำเลยจะกล่าวอ้างในภายหลังว่าตนมิได้มอบอำนาจให้มารดาขายที่ดินแทนหาได้ไม่  เพราะเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1133/2516 (ประชุมใหญ่)   การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพลาธิการกองพลทหารม้า สั่งให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพลขับและสังกัดอยู่ในกองพลเดียวกัน ขับรถยนต์ของทางราชการกองพลทหารม้าไปขนปูนซิเมนต์ให้วัดซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการวัดอยู่ด้วย กิจการดังกล่าวมิใช่ราชการของกองทัพบกจำเลยที่ 3  ทั้งมิได้เกี่ยวกับตัวจำเลยที่ 1 แต่ประการใด  ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการและจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในกิจการนี้โดยปริยาย เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กลับกองพลทหารม้าได้ชนรถยนต์โจทก์เสียหายถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทนจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นตัวการย่อมต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ทำไปนั้น  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 427 ประกอบด้วยมาตรา 820 (วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 32/2515)
          แม้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จะเป็นข้าราชการทหารสังกัดอยู่ในกองพลทหารม้าซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของกองทัพบกจำเลยที่ 3 ก็ตาม  แต่การขนปูนซิเมนต์ดังกล่าวข้างต้นเป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลยที่ 2  มิได้เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการของจำเลยที่ 3แต่อย่างไร  การใช้รถยนต์ของทางราชการก็ดี การเติมน้ำมันของทางราชการก็ดี หาทำให้กิจการส่วนตัวจำเลยที่ 2 กลายเป็นงานราชการของจำเลยที่ 3 ไปไม่  จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นแก่โจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1973/2515  ไวยาวัจกรให้กู้เงินของวัดและทำสัญญาในฐานะไวยาวัจกรของวัด  ซึ่งเท่ากับทำสัญญาในฐานะตัวแทนของวัด  เมื่อจะฟ้องผู้กู้ให้ชำระหนี้  เจ้าอาวาสหรือผู้รักษาการแทนเท่านั้นที่มีอำนาจฟ้องคดีแทนวัด  ไวยาวัจกรซึ่งไม่ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าอาวาสหรือผู้รักษาการแทนให้ดำเนินคดี  หามีอำนาจฟ้องแทนวัดได้ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 475/2522  โจทก์ที่ 2 เช่าซื้อรถยนต์จากบริษัท ช. แล้วเอาประกันภัยไว้กับโจทก์ที่ 1 ระบุให้บริษัท ช. เป็นผู้รับประโยชน์ มีสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 ก่อนบริษัท  ช. แสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์ รถที่เช่าซื้อสูญหายไป และโจทก์ที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 โดยตรงแล้ว จึงเป็นกรณีที่คู่สัญญาประกันภัยเปลี่ยนแปลงข้อตกลงระหว่างกันแล้ว โจทก์ที่ 1 ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของโจทก์ที่ 2 ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามมาตรา 880 มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในนามของตนเองจากลูกหนี้ของโจทก์ที่ 2 ได้ตามมาตรา 226 ส่วนโจทก์ที่ 2 ซึ่งฝากรถยนต์ไว้กับจำเลยและรถหายไป ก็มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในส่วนที่ยังขาดอยู่จากจำเลยได้
          ปั๊มของจำเลยปฏิบัติต่อลูกค้ามีพฤติการณ์แสดงว่าจำเลยยอมรับรถจากผู้อื่นมาอยู่ในความอารักขาของจำเลยที่ปั๊มนั้น จึงเป็นลักษณะรับฝากทรัพย์ตามมาตรา 657 ไม่ใช่ให้เช่าสถานที่เพื่อจอดรถ
          ร. นำรถยนต์ของโจทก์ที่ 2  ไปทดลองขับดูก่อนที่จะซื้อและได้นำไปจอดฝากไว้กับจำเลย ถือได้ว่า ร. เป็นตัวแทนของโจทก์ที่ 2 โดยปริยาย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2164/2523   จำเลยที่ 2 มีหนังสือถึงโจทก์แสดงความประสงค์จะขอซื้อคอนกรีตผสมเสร็จตามราคาที่จำเลยที่ 3 ได้มาติดต่อไว้แล้วเพื่อทำถนน ในวันรุ่งขึ้นโจทก์ก็ส่งคอนกรีตผสมเสร็จมาให้ทันทีและทยอยส่งมาให้อีก 2 ครั้ง จนถนนแล้วเสร็จ ซึ่งถ้าหากจำเลยที่ 2 ไม่มีหนังสือแจ้งไปเหตุไฉนโจทก์จะส่งคอนกรีตผสมเสร็จมาให้ ดังนี้ ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้สนองรับข้อเสนอของจำเลยที่ 2 แล้วโดยสมบูรณ์
          จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 2 เป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยที่ 1  จำเลยที่ 1 มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างถนนในกิจการของจำเลยที่ 1 ให้แล้วเสร็จภายในเวลากำหนด โดยให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ตัดสินใจในการจัดทำถนนให้เสร็จในกำหนดเวลานั้น เป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการในเรื่องทำถนนให้เสร็จตามกำหนดเวลา จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 โดยปริยายในการที่จะต้องสร้างถนนให้ทันตามกำหนดเวลา การที่จำเลยที่ 2 สั่งซื้อคอนกรีตผสมเสร็จจากโจทก์มาสร้างถนนดังกล่าวให้ทันเวลาตามความประสงค์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2434/2526   จำเลยที่ 2 ผู้จัดการธนาคารสาขา ได้รับมอบอำนาจจากธนาคารจำเลยที่ 3 ได้แต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นทนายความฟ้องโจทก์ให้ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนอง ตามหนังสือมอบอำนาจ จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจรับเงินในคดีแทนจำเลยที่ 2 นอกศาล การที่โจทก์มอบเช็คให้จำเลยที่ 1 ไปจัดการชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 3 เพื่อมิให้ที่ดินของโจทก์ต้องถูกขายทอดตลาด จำเลยที่ 1 ยอมรับเช็คไปดำเนินการตามความประสงค์ของโจทก์ จำเลยที่ 1 ย่อมได้ชื่อว่าเป็นตัวแทนโดยปริยายของโจทก์แล้วตาม ป.พ.พ. ม.797 วรรคสอง หากมีความเสียหายเกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 แล้ว ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิด เมื่อที่ดินของโจทก์ต้องถูกขายทอดตลาดไปเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2258/2527   จำเลยที่ 3 ประกอบการขนส่งบุคคลเดินรถโดยสารประจำทาง ได้เช่ารถยนต์ของจำเลยที่ 2 มาใช้ในการเดินรถโดยสารของตนโดยมีจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เป็น คนขับ ดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารโดยประมาทชนโจทก์ได้รับบาดเจ็บ จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วย    แม้นายจ้างของโจทก์จะได้ออกเงินค่ารักษาพยาบาลให้แก่โจทก์ไปแล้วก็หาทำให้จำเลยที่ 1 ผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์พ้นความรับผิดในการชดใช้ค่ารักษาพยาบาลไม่โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลจากจำเลยทั้งสาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2977/2523   ในทางแพ่ง เมื่อโจทก์ฟ้องได้บรรยายข้อเท็จจริงมาชัดแจ้งแล้ว ศาลมีหน้าที่ยกตัวบทกฎหมายขึ้นปรับแก่คดีเอง  คดีนี้โจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงให้เห็นว่า  การที่จำเลยที่ 2 สั่งให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทหารรับใช้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุไปรับบุตรจำเลยที่ 2  มาจากโรงเรียน   ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 2  เป็นตัวการ  และจำเลยที่ 1  เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2  ในกิจการนั้นโดยปริยาย ส่วนที่มีข้อความว่ากระทำไปในฐานะลูกจ้างกระทำไปในทางการที่จ้างด้วยนั้น  ก็เป็นเพียงเหตุที่ยกขึ้นอ้างเปรียบเทียบเท่านั้น จำเลยที่ 2  ซึ่งเป็นตัวการจึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทน ในผลละเมิดที่จำเลยที่ 1 ทำไปนั้นตาม  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 ประกอบด้วย มาตรา 820  ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3352/2529  จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้เป็นผู้ติดต่อกับต่างประเทศในด้านการทำประกันภัยต่อ ระบุตำแหน่งว่าเป็นผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ลงชื่อในสัญญาที่ทำกับโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 รู้เห็นและไม่ทักท้วง จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1ในการทำสัญญาดังกล่าวกับโจทก์ เมื่อสัญญาเหล่านั้นเกี่ยวด้วยการรับประกันภัยอันอยู่ภายในขอบวัตถุที่ประสงค์ของจำเลยที่ 1 โจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงย่อมมีนิติสัมพันธ์ต่อกัน 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3643/2532  โจทก์มอบหมายให้จำเลยดำเนินการในเรื่องการโอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์จากชื่อโจทก์ให้เป็นชื่อของ  ส.  ผู้รับโอนให้เป็นที่เรียบร้อย จำเลยจึงเป็นตัวแทนโดยปริยายของโจทก์และจำเลยได้จัดการให้มีการย้ายเครื่องโทรศัพท์แล้ว ควรจะจัดการให้มีการโอนไปพร้อมกันแต่จำเลยไม่ได้ดำเนินการในเรื่องการโอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์จากชื่อโจทก์เป็นชื่อ  ส.  ให้เป็นที่เรียบร้อยตามที่ได้รับมอบหมายถือได้ว่าจำเลยประมาทเลินเล่อ ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ 
          หลังจากโจทก์ได้รับเงินค่าโอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์จากจำเลยและมอบหมายให้จำเลยดำเนินการโอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์แล้ว โจทก์ควรติดตามดูเรื่องราวว่าได้มีการโอนสิทธิการเช่าจากชื่อโจทก์เป็นชื่อของ  ส.  เรียบร้อยแล้วหรือไม่ แต่โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินการอย่างไร นับว่าโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นพอ ๆ กับจำเลยศาลให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เพียงกึ่งหนึ่งของค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1602/2534  โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ได้นำสืบและอ้างส่งเอกสารหนังสือรับรองและหนังสือมอบอำนาจว่าเป็นไปตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน โดยมีโนตรีพับลิก และสถานเอกอัครราชทูตไทยที่กรุงบอนน์ ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน รับรองความถูกต้อง จึงเป็นการมอบอำนาจถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 วรรคสาม โจทก์มีอำนาจฟ้อง   โจทก์ทำสัญญาซื้อขายสับปะรดกระป๋องจากจำเลย โดยติดต่อผ่านบริษัท อ. นายหน้าของโจทก์ที่ประเทศไต้หวัน และบริษัท อ.ติดต่อจำเลยผ่านบริษัทซ. ตัวแทนของจำเลยที่ประเทศไต้หวัน บริษัทซ. มีหนังสือยืนยันการขายไปถึงโจทก์โดยมีเงื่อนไขเกี่ยวกับปริมาณและราคาสินค้าตรงตามรายการปริมาณและราคาสินค้าตามใบกำกับสินค้า ซึ่งจำเลยจัดทำขึ้นเพื่อส่งไปให้โจทก์ โจทก์และบริษัท ซ. ได้ติดต่อกันทางโทรพิมพ์ กล่าวข้อความเกี่ยวข้องกับจำเลยอันมีสาระสำคัญเชื่อมโยงให้โจทก์กับจำเลยตกลงเข้าทำสัญญา กับทั้งผู้รับประโยชน์ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตคือจำเลย และการที่โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตก็เพื่อสั่งซื้อสินค้าจากจำเลยฝ่ายจำเลยก็ได้รับเงินค่าสินค้าตามเลตเตอร์ออฟเครดิตของโจทก์ และส่งสินค้าให้โจทก์แล้วก็ได้แจ้งยอดหนี้ให้โจทก์ทราบโดยตรง พฤติการณ์เช่นนี้ถือว่าบริษัท ซ. เป็นตัวแทนโดยปริยายของจำเลยไปทำสัญญาซื้อขายสับปะรดกระป๋องกับโจทก์จำเลยจึงต้องผูกพันตามสัญญาซื้อขาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 668/2535   ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 การรับสภาพหนี้จะต้องกระทำโดยลูกหนี้ แต่ลูกหนี้อาจตั้งตัวแทนให้ชำระหนี้แทนได้ซึ่งย่อมต้องถือว่าเป็นการชำระหนี้ของลูกหนี้นั้นเอง จำเลยที่ 2 เคยลงลายมือชื่อรับสินค้าที่จำเลยที่ 1 ซื้อมาจากโจทก์แทนจำเลยที่ 1 และเคยพูดขอผัดผ่อนชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 มอบหลังคาไฟเบอร์กระบะรถชำระหนี้ให้โจทก์ เป็นการกระทำโดยตระหนักเป็นปริยายว่ายอมรับสิทธิเรียกร้องของโจทก์ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 โดยปริยาย จึงเป็นการรับสภาพหนี้ที่มีผลผูกพัน จำเลยที่ 1 ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 700/2535  คณะกรรมการปรับปรุงอาคารพิพาทของผู้ให้เช่ามีมติให้บอกเลิกการเช่าแก่ผู้เช่า ย. ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองอาคารของผู้ให้เช่าได้มีหนังสือบอกเลิกการเช่าแก่ผู้เช่าไปตามมติดังกล่าว แม้ในมตินั้นจะไม่ได้ระบุให้ ย. เป็นผู้บอกเลิกการเช่าแก่ผู้เช่า ก็ถือได้ว่า ย. บอกเลิกการเช่าแทนผู้ให้เช่าแล้วโดยชอบโดยปริยาย ไม่จำเป็นต้องให้ผู้อำนวยการของผู้ให้เช่าต้องมอบอำนาจอีก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2519/2537  ถึงจำเลยจะเป็นเพียงบริษัทนายหน้าในการประกันภัย และที่ปรึกษาประกันภัย แต่ตามพฤติการณ์ที่จำเลยแสดงออกในการติดต่อให้โจทก์นำเอาความเสี่ยงภัยที่โจทก์รับประกันภัยไว้ไปประกันภัยต่อแก่ผู้รับประกันภัยซึ่งอยู่ต่างประเทศนั้นเกินเลยกว่าการเป็นนายหน้า แม้ผู้รับประกันภัยต่อมิได้มีหนังสือแต่งตั้งจำเลยเป็นตัวแทนให้กระทำในกิจการดังกล่าว แต่การปฏิบัติของผู้รับประกันภัยต่อได้ยินยอมให้จำเลยปฏิบัติงานแทนตนตลอดมา จำเลยย่อมอยู่ในฐานะเป็นตัวแทนของผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศโดยปริยายตาม ป.พ.พ. มาตรา 797 วรรคสองในกรณีเช่นนี้ตัวการไม่จำต้องแต่งตั้งตัวแทนเป็นหนังสือและไม่อยู่ในบังคับของมาตรา798 เมื่อตัวการซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยต่ออยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ จำเลยซึ่งเป็นตัวแทนทำสัญญาประกันภัยต่อแทนตัวการ จึงต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยต่อตามลำพังตาม ป.พ.พ. มาตรา 824