07 พฤศจิกายน 2559

การร้องขอเพิกถอนหมายจับ เมื่อศาลมีสั่งอย่างใดแล้ว จะอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้ เนื่องจากเป็นอำนาจเฉพาะตัวของผู้พิพากษาศาลชั้นต้น

          อำนาจในการออกหมายจับผู้ต้องหาเป็นอำนาจเฉพาะตัวของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นคนหนึ่ง เมื่อมีสั่งอย่างใดแล้ว จะอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้

          ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
          มาตรา  59 "ศาลจะออกคำสั่งหรือหมายจับ หมายค้น หรือหมายขัง ตามที่ศาลเห็นสมควรหรือโดยมีผู้ร้องขอก็ได้
          ในกรณีที่ผู้ร้องขอเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ต้องเป็นพนักงานฝ่ายปกครองตั้งแต่ระดับสามหรือตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่าขึ้นไป
          ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนซึ่งมีเหตุอันควรโดยผู้ร้องขอไม่อาจไปพบศาลได้ ผู้ร้องขออาจร้องขอต่อศาลทางโทรศัพท์ โทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่นที่เหมาะสมเพื่อขอให้ศาลออกหมายจับหรือหมายค้นก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้เมื่อศาลสอบถามจนปรากฏว่ามีเหตุที่จะออกหมายจับหรือหมายค้นได้ตามมาตรา 59/1 และมีคำสั่งให้ออกหมายนั้นแล้ว ให้จัดส่งสำเนาหมายเช่นว่านี้ไปยังผู้ร้องขอโดยทางโทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่น  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา
          เมื่อได้มีการออกหมายตามวรรคสามแล้ว ให้ศาลดำเนินการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขอหมายมาพบศาลเพื่อสาบานตัวโดยไม่ชักช้า โดยจดบันทึกถ้อยคำของบุคคลดังกล่าวและลงลายมือชื่อของศาลผู้ออกหมายไว้ หรือจะใช้เครื่องบันทึกเสียงก็ได้โดยจัดให้มีการถอดเสียงเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของศาลผู้ออกหมาย บันทึกที่มีการลงลายมือชื่อรับรองดังกล่าวแล้ว ให้เก็บไว้ในสารบบของศาล หากความปรากฏต่อศาลในภายหลังว่าได้มีการออกหมายไปโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ศาลอาจมีคำสั่งให้เพิกถอนหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงหมายเช่นว่านั้นได้  ทั้งนี้ ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ร้องขอจัดการแก้ไขเพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องตามที่เห็นสมควรก็ได้"
          มาตรา 59/1 "ก่อนออกหมาย จะต้องปรากฏพยานหลักฐานตามสมควรที่ทำให้ศาลเชื่อได้ว่ามีเหตุที่จะออกหมายตามมาตรา 66 มาตรา 69 หรือมาตรา 71
          คำสั่งศาลให้ออกหมายหรือยกคำร้อง จะต้องระบุเหตุผลของคำสั่งนั้นด้วย
          หลักเกณฑ์ในการยื่นคำร้องขอ การพิจารณา รวมทั้งการออกคำสั่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา"
          มาตรา  66 "เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้
          (1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี หรือ
          (2) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น
          ถ้าบุคคลนั้นไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือไม่มาตามหมายเรียกหรือตามนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร ให้สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นจะหลบหนี"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2853/2559  การไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนหมายจับของผู้ร้องก่อนมีคำสั่งเป็นดุลพินิจในการดำเนินกระบวนพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ของศาลชั้นต้นเพื่อให้การพิจารณาคดีเสร็จไปโดยรวดเร็วและชอบด้วยกฎหมาย เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำร้องของผู้ร้องสามารถวินิจฉัยได้ ศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะมีคำสั่งได้ทันทีโดยไม่จำต้องไต่สวนก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21 (4) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
          อำนาจในการออกหมายจับเป็นอำนาจเฉพาะตัวของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นคนหนึ่งเพื่อให้ได้ตัวผู้ต้องหามาสอบสวน ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (1) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (2) มาตรา 66 และมาตรา 134 ผู้ร้องซึ่งถูกหมายจับของศาลชั้นต้นยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 59 วรรคสี่ ตอนท้าย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ดังนี้ ผู้ร้องจะอุทธรณ์หรือฎีกาไม่ได้



31 ตุลาคม 2559

เจ้าพนักงานท้องถิ่นละเลยต่อหน้าที่โดยไม่ตรวจสอบ ดูแลสภาพโครงสร้าง ระบบและอุปกรณ์ต่างๆ ในการป้องกันและบรรเทาอัคคีภัยของอาคารสถานบริการ เมื่อเกิดเพลิงไหม้และมีผู้เสียชีวิต หน่วยงานรัฐต้นสังกัดจะต้องรับผิดชอบ

          คดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ         

          กรณีของเจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ โดยไม่ควบคุมดูแลและตรวจสอบอาคารที่เจ้าของได้ดัดแปลงให้ผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ต่อมาเกิดอุบัติภัยในอาคารจนมีผู้เสียชีวิต มีปัญหาว่าเจ้าพนักงานท้องถิ่นและหน่วยงานรัฐต้นสังกัด จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากความเสียหายนั้นหรือไม่ อย่างไร ?
         
          มีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยไว้ กรณีไฟไหม้ "ซานติก้าผับ"

          คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 222/2558  ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เจ้าของอาคารได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารชนิดตึก (ชั้นลอย) 1 ชั้น เพื่อใช้เป็นอาคารพาณิชย์ พักอาศัย แต่ต่อมาได้มีการดัดแปลงอาคารดังกล่าวเป็นสถานบันเทิง ชื่อว่า “ซานติก้าผับ” โดยมิได้ขออนุญาตดัดแปลงอาคาร ซึ่งต่อมาได้เกิดเพลิงไหม้และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก รวมทั้งบุตรของผู้ฟ้องคดีด้วย
          ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองว่า การที่บุตรของผู้ฟ้องคดีเสียชีวิตในที่เกิดเหตุเป็นผลมาจากการละเลยต่อหน้าที่ของเจ้าหน้าที่(ผู้อำนวยการเขตซึ่งได้รับมอบอำนาจจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครตามกฎหมายควบคุมอาคาร) ของผู้ถูกฟ้องคดี(กรุงเทพมหานคร) โดยไม่ตรวจสอบ
ควบคุม ดูแลสภาพโครงสร้าง ระบบ อุปกรณ์ต่างๆ ในการป้องกันและบรรเทาอัคคีภัยของอาคารสถานบริการให้เป็นไปตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยอ้างข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพอาคาร ตามรายงานการตรวจสอบที่เกิดเหตุของเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
          โดยขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดี
          ผู้ถูกฟ้องคดีให้การต่อสู้ว่า การก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ไม่เคยขออนุญาตดัดแปลง ไม่เคยปรากฏว่ามีเหตุร้องเรียน และได้มีการตรวจสถานที่ตามนโยบายจัดระเบียบสังคมของรัฐบาลพบว่ามีระบบป้องกนอัคคีภัยเพียงพอ และเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานสรุปความเห็นการเกิดเหตุว่า มีสาเหตุจากการจุดดอกไม้เพลิง (พลุ) และประกายไฟและความร้อนไปถูกกับโฟมที่ใช้ตกแต่งสถานที่ มิใช่มีสาเหตุมาจากการก่อสร้างที่ผิดจากแบบแปลน

          คดีมีประเด็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีอันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่

          คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ผู้อํานวยการเขตในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครย่อมต้องมีอำนาจตามมาตรา 40 มาตรา 41 มาตรา 42 และมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ผู้อำนวยการเขตจึงสามารถที่จะทําการตรวจสอบได้ว่ามีการดัดแปลงอาคารหรือใช้อาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่ออาคารดังกล่าวได้เปิดเป็นสถานบริการซึ่งมีผู้ใช้บริการจำนวนมากและตั้งอยู่ห่างจากสำนักงานเขตไม่มาก ทั้งยังปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตได้เคยเข้าไปตรวจสถานที่ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุถึง 3 ครั้งตามนโยบายจัดระเบียบสังคมของรัฐบาลขณะนั้น ผู้อำนวยการเขตจึงไม่อาจอ้างว่าอาคารดังกล่าวได้มีการก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนหรือเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาต และได้ใช้ หรือยินยอมให้บุคคลใดใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้โดยไม่มีใบรับรองจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น
          ถ้าหากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้อำนวยการเขต ได้ใช้อํานาจตามพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว เจ้าของอาคารก็จะไม่สามารถใช้อาคารโดยผิดกฎหมาย และไม่เกิดเพลิงไหม้จนเป็นเหตุให้บุตรของผู้ฟ้องคดีเสียชีวิตได้ จึงเป็นกรณีที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้อํานวยการเขตกระทําละเมิดจากการละเลยต่อหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และความเสียหายของผู้ฟ้องคดีเป็นผลโดยตรงจากการละเลยต่อหน้าที่ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้อำนวยการเขต อันเป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะหน่วยงานของรัฐจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 



10 ตุลาคม 2559

กรณีถูกเวนคืนที่ดินและต้นยางพารา ผู้ถูกเวนคืนสามารถขอค่าเสียหายในอนาคตได้อีก | เวนคืนที่ดิน

          การกำหนดค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งต้นไม้ อันเนื่องมาจากการเวนคืนที่ดินโดยหน่วยงานของรัฐนั้น มักจะกำหนดในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง โดยมักจะอ้างไปถึงราคากลางต่างๆที่หน่วยงานของรัฐกำหนดขึ้น และมักจะไม่คำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติ การได้มาและสภาพที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์และความเสียหายของผู้ถูกเวนคืนอย่างรอบด้าน ค่าทดแทนดังกล่าวที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18  ได้รับจากหน่วยงานของรัฐจึงมักจะไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งการกำหนดค่าทดแทนดังกล่าวจะต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมและความเสียหายที่ผู้ถูกเวนคืนได้รับจากการเวนคืนด้วย ดังมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยไว้ว่า การกำหนดค่าทดแทนจากการเวนคืนที่ดินและต้นไม้นั้น จะต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมที่เป็นค่าเสียหายในอนาคตให้ด้วย
          คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 113/2557  เป็นเรื่องของเจ้าของสวนยางพารา ซึ่งถูกเวนคืนที่ดินและต้นยางพารา แต่ไม่พอใจการกำหนดราคาค่าทดแทนต้นยางพาราที่หน่วยงานของรัฐกำหนดให้จึงนำคดีมาฟ้องศาลปกครองขอให้กรมชลประทาน ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่เวนคืนที่ดินจ่ายค่าทดแทนเพิ่มขึ้น
          ข้อเท็จจริงในคดีนี้ กรมชลประทานได้เวนคืนที่ดินของผู้ฟ้องคดีเนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน 4 ตารางวา และเวนคืนต้นยางพาราจำนวน  356 ต้น โดยกรมชลประทานกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินไร่ละ 30,000 บาท และค่าทดแทนต้นยางพาราต้นละ 500 บาท ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าขณะที่ต้นยางพาราถูกเวนคืนมีอาย 7  ปีซึ่งถือเป็นช่วงที่ต้นยางพาราเริ่มให้น้ำยางดี มีจุดคุ้มทุนอยู่ที่ 13 ปีควรได้รับค่าชดเชยต้นละ 704 บาท เงินค่าทดแทนต้นยางพาราที่กรมชลประทานกำหนดให้เป็นราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมากจึงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่ไม่ได้รับแจงผลการพิจารณาอุทธรณ์จึงนาคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง
          คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดี(กรมชลประทาน)อ้างว่า เจ้าของที่ดินรายอื่นที่ถูกเวนคืนโครงการเดียวกับผู้ฟ้องคดีไม่ได้เรียกร้องเงินค่าทดแทนต้นยางพาราเพิ่ม ซึ่งการจ่ายเงินค่าทดแทนตนยางพาราให้แก่ผู้ฟ้องคดีต้นละ  704 บาท จะไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนรายอื่น อีกทั้ง คณะกรรมการกําหนดราคาเบื้องต้นไม่เคยนําค่าเสียโอกาสในอนาคตมากําหนดการจ่ายเงินค่าทดแทนต้นไม้ในการเวนคืนทุกโครงการ ประเด็นของคดีนี้คือกรมชลประทานกำหนดค่าทดแทนต้นยางพาราให้แก่ผู้ฟ้องคดีถูกต้องและเป็นธรรมหรือไม่ ?
          ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ถึงแม้ราคาค่าชดเชยต้นยางพาราที่ผู้ถูกฟ้องคดีกำหนดให้แก่ผู้ฟ้องคดีต้นละ  500 บาท จะสูงกว่าราคาค่าชดเชยต้นยางพาราที่กำหนดไว้ในบัญชีประเมินค่าชดเชยของสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ปีพ.ศ. 2543-2545 แต่พยานผู้เชี่ยวชาญ มีความเห็นว่า หากต้นยางพาราของผู้ฟ้องคดีไม่ถูกเวนคืน จะสามารถให้ผลผลิตได้อีก 16 ปีและต้นยางพาราควรจะมีค่าตอบแทนต้นละ 1,021.44 บาท โดยคำนวณจาก ผลตอบแทนหลงหักต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวผลผลิต และนำมาคูณด้วยระยะเวลาการให้ผลผลิต จำนวน 16 ปี อีกทั้ง เมื่อต้นยางพาราไม่สามารถให้ผลผลิตก็สามารถขายลำต้นเพื่อแปรรูปได้ไร่ละประมาณ 10,000 บาท จึงเห็นว่า แม้ไม่อาจคาดหมายว่าผลผลิตและราคานํ้ายางพารา ซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรจะคงที่ตลอดระยะเวลายาวนาน 16 ปี เพราะขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัยต่างๆ ที่ไม่อาจควบคุมได้ในอนาคตหลายประการ เช่น ภัยธรรมชาติ โรคและศัตรูพืช ราคาปัจจัยการผลิต ปริมาณน้ำฝน  การดูแลรักษา แต่เมื่อคำนึงถึงความเป็นธรรมและความเสียหายที่ได้รับจากการเวนคืนตามมาตรา 49 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในเวลาที่มีการเวนคืนต้นไม้ของผู้ฟ้องคดีแล้วเห็นว่าเงินค่าทดแทนที่ได้รับยังไม่เป็นธรรม ส่วนการที่ผู้ที่ถูกเวนคืนเช่นเดียวกับผู้ฟ้องคดีพอใจในเงินค่าทดแทนที่ผู้ถูกฟ้องคดีกําหนดให้นั้น ก็มิอาจถือเป็นเกณฑ์ว่าเงินค่าทดแทนที่ผู้ถูกฟ้องคดีกําหนดให้ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม เมื่อผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยกับเงินค่าทดแทนจึงยอมดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติเพื่อรักษาสิทธิของตนเองได้แต่เมื่อผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระเงินค่าทดแทนต้นยางพาราเพิ่มเป็นต้นละ 740 บาท ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องจ่ายเงินค่าทดแทนต้นยางพาราเพิ่มให้ผู้ฟ้องคดีอีกต้นละ 204 บาท



15 กันยายน 2559

การถือกรรมสิทธิ์ที่ดินของคนต่างด้าว


          ประมวลกฎหมายที่ดิน

          มาตรา 86 "คนต่างด้าวจะได้มาซึ่งที่ดินก็โดยอาศัยบทสนธิสัญญาซึ่งบัญญัติให้มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ได้ และอยู่ในบังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ด้วย
          ภายใต้บังคับมาตรา 84 คนต่างด้าวดังกล่าวจะได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ประกอบกิจการในทางพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม เกษตรกรรม การสุสาน การกุศลสาธารณ หรือการศาสนา ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและวิธีการซึ่งกำหนดโดยกฎกระทรวง และต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี"

          มาตรา 94 "บรรดาที่ดินที่คนต่างด้าวได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ได้รับอนุญาต ให้คนต่างด้าวนั้นจัดการจำหน่ายภายในเวลาที่อธิบดีกำหนดให้ ซึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน แต่ไม่เกินหนึ่งปี ถ้าไม่จำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่กำหนด ให้อธิบดีมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้น และให้นำบทบัญญัติเรื่องการบังคับจำหน่ายที่ดินตามความในหมวด 3 มาใช้บังคับโดยอนุโลม"

          คนต่างชาติมีข้อจำกัดในการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในประเทศไทย กล่าวคือ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและวิธีการที่กำหนดโดยกฎกระทรวง และต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย หากคนต่างด้าวทำการฝ่าฝืนกฎหมาย หรือไม่ได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน คนต่างด้าวนั้นต้องจัดการจำหน่ายภายในเวลาที่อธิบดีกำหนดให้ ซึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน แต่ไม่เกินหนึ่งปี ถ้าไม่จำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่กำหนด ให้อธิบดีมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้นได้



          

          แม้คนต่างด้าวที่ได้ที่ดินมาไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 86 แต่ยังมีสิทธิได้รับผลตามมาตรา 94 ที่จะจัดการจำหน่ายทรัพย์สินนั้นได้ ตราบใดที่ยังไม่ได้จำหน่าย ที่ดินนั้นก็ยังคงเป็นของคนต่างด้าวที่จะทำพินัยกรรมยกให้แก่ผู้ใดก็ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2752/2543  โจทก์ทั้งสองฟ้องให้จำเลยแบ่งที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม โดยอ้างว่าเจ้ามรดกซึ่งเป็นคนต่างด้าวซื้อที่ดินดังกล่าวแล้วใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน จึงไม่จำต้องบรรยายฟ้องถึงสนธิสัญญาระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนว่ายินยอมให้เจ้ามรดกซึ่งเป็นคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในประเทศไทยหรือไม่ เพราะเจ้ามรดกมิได้ถือกรรมสิทธิ์เอง ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม การที่เจ้ามรดกยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อขออนุญาตนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองขณะที่จำเลยยังเป็นผู้เยาว์ เป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย และแม้เจ้ามรดกเป็นบุคคลต่างด้าวได้ที่ดินมาโดยไม่ชอบด้วย ป.ที่ดิน มาตรา 86 แต่เจ้ามรดกยังมีสิทธิได้รับผลตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 ในอันที่จะจัดการจำหน่ายที่ดินนั้นได้ ตราบใดที่ยังมิได้จำหน่าย ที่ดินพิพาทและโรงงานก็ยังคงเป็นของเจ้ามรดก ซึ่งอาจทำพินัยกรรมยกให้แก่ผู้ใดได้ทั้งสิ้น จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งสองผู้เป็นทายาทตามพินัยกรรม ตราบใดที่จำเลยยังมิได้แบ่งปันที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสอง ย่อมต้องถือว่าการจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น อายุความยังไม่เริ่มต้นนับ ฟ้องของโจทก์ทั้งสองยังไม่ขาดอายุความ

          เมื่อคนต่างด้าวเสียชีวิต ที่ดินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 86 ย่อมเป็นทรัพย์มรดกที่ทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้รับ ทายาทจึงมีสิทธิฟ้องแบ่งที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5825/2539  ซ.บิดาโจทก์จำเลยเป็นคนต่างด้าวไม่สามารถมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ จึงลงชื่อจำเลยเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์แทน การที่ ซ.ได้ที่ดินมาดังกล่าว แม้จะถือได้ว่าเป็นการได้ที่ดินมาโดยไม่ชอบด้วย ป.ที่ดินมาตรา 86 แต่การได้ที่ดินมานั้นก็มิใช่ว่าจะไม่มีผลใดๆ เสียเลย เพราะ ซ.ยังมีสิทธิได้รับผลตามมาตรา 94 ในอันที่จะจัดการจำหน่ายที่ดินนั้นได้ภายในเวลาที่อธิบดีกำหนด หรืออธิบดีอาจจำหน่ายที่ดินนั้นได้ จึงต้องถือว่าตราบใดที่หรืออธิบดียังไม่ได้จำหน่ายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวก็ยังเป็นของ ซ. เมื่อ ซ.ถึงแก่ความตายนั้นย่อมเป็นทรัพย์มรดก ซึ่งโจทก์ในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมของ ซ.มีอำนาจฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวจากจำเลยได้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

          กรณีที่คนต่างด้าวให้คนอื่นมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแทนตนเอง การกระทำของคนต่างด้าวดังกล่าวเป็นเรื่องตัวการไม่เปิดเผยชื่อยอมให้ผู้เป็นตัวแทนทำการออกหน้าเป็นตัวการว่าเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท คนต่างด้าวจึงหาอาจทำให้เสื่อมเสียสิทธิของบุคคลภายนอกที่มีต่อตัวแทนของคนต่างด้าวและได้ขวนขวายได้สิทธิมาก่อนที่จะรู้ว่าบุคคลนั้นเป็นตัวแทนของคนต่างด้าวได้ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2690/2538  การที่โจทก์ซึ่งเป็นคนต่างด้าวให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทแทน การกระทำดังกล่าวแม้จะตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 86 แต่มาตรา 94 แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าวก็บัญญัติให้คนต่างด้าวจัดการจำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนด ฉะนั้น การได้มาซึ่งที่ดินของโจทก์จึงไม่เสียเปล่าทั้งหมดยังมีผลตามกฎหมายอยู่ จำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริต การที่โจทก์มอบให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทแทนตนเป็นเวลานาน จนจำเลยที่ 1 ไปขอออกใบแทนโฉนดแล้วโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ต่อธนาคารจนธนาคารเร่งรัดหนี้ และต่อมาจำเลยที่ 2 ได้โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 3 การกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นเรื่องตัวการไม่เปิดเผยชื่อยอมให้จำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวแทนทำการออกหน้าเป็นตัวการว่าเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โจทก์จึงหาอาจทำให้เสื่อมเสียสิทธิของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่มีต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเสมือนเป็นตัวแทนของโจทก์และได้ขวนขวายได้สิทธิมาก่อนที่จะรู้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นตัวแทนของโจทก์ได้ไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 806

           กฎหมายไม่ได้ห้ามคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างแต่ประการใด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 301/2538   ในขณะที่โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากบริษัท ย. จำกัด โจทก์เป็นบุคคลต่างด้าว นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทจึงต้องห้ามชัดแจ้ง ตาม ป. ที่ดินมาตรา 86 และตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 113 เดิม (มาตรา 150 ที่แก้ไขใหม่) แต่ผลของการที่นิติกรรมเป็นโมฆะดังกล่าว ไม่ทำให้นิติกรรมเสียเปล่าไป ยังคงมีผลตามกฎหมายอยู่ แต่โจทก์ไม่มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ต้องจัดการจำหน่ายตาม ป. ที่ดิน มาตรา 94 และการบังคับให้จำหน่ายดังกล่าวหมายความเฉพาะที่ดินพิพาทเท่านั้น ไม่รวมถึงสิ่งปลูกสร้างพิพาทด้วยเพราะคนต่างด้าวไม่ต้องห้ามมิให้ถือกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างแต่ประการใด

          สามีโจทก์เป็นคนต่างด้าว ขณะซื้อที่ดินพิพาท แม้จะหย่ากับสามีแล้วยังอยู่ด้วยกัน แต่โจทก์เป็นคนไทย จึงไม่อยู่ในบังคับมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน สัญญาซื้อขายที่ดินไม่เป็นโมฆะ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 128/2538  โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทแล้วให้จำเลยลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินแทน ต่อมาโจทก์ตกลงขายที่ดินพิพาทให้ผู้มีชื่อและได้แจ้งให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนให้ผู้มีชื่อ แต่จำเลยเพิกเฉยและอ้างว่าจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโจทก์จึงไม่ประสงค์ให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนโจทก์ต่อไป ขอบังคับให้จำเลยถอนชื่อจำเลยออกและใส่ชื่อโจทก์ เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ ไม่เคลือบคลุม แม้คดีนี้กับคดีก่อนคู่ความจะเป็นคู่ความเดียวกัน แต่คดีก่อนศาลยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อพิพาททื่เป็นเนื้อหาแห่งคดีว่าจำเลยเป็นตัวแทนโจทก์หรือไม่ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าว สามีโจทก์เป็นคนต่างด้าว ขณะซื้อที่ดินพิพาท แม้จะหย่ากับสามีแล้วยังอยู่ด้วยกัน แต่โจทก์เป็นคนไทย จึงไม่อยู่ในบังคับมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน สัญญาซื้อขายที่ดินไม่เป็นโมฆะ กิจการใดที่ตัวแทนจะไปทำกับบุคคลภายนอกแทนตัวการ กฎหมายบังคับไว้ว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนไปทำกิจการนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย มิฉะนั้นกิจการที่ตัวแทนกระทำไปกับบุคคลภายนอกจะไม่สมบูรณ์ แต่ในระหว่างตัวแทนกับตัวการด้วยกัน ตัวแทนจะอ้าง ป.พ.พ. มาตรา 798 มาใช้บังคับไม่ได้ เมื่อที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่จำเลยลงชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในฐานะตัวแทน โจทก์ซึ่งเป็นตัวการเรียกร้องเอาคืน จำเลยมีหน้าที่ต้องคืนแก่โจทก์




21 สิงหาคม 2559

ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์

          ประมวลกฎหมายอาญา

          มาตรา 358  "ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          มาตรา 359  "ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 358 ได้กระทำต่อ
          (1) เครื่องกลหรือเครื่องจักรที่ใช้ในการประกอบกสิกรรมหรืออุตสาหกรรม
          (2) ปศุสัตว์
          (3) ยวดยานหรือสัตว์พาหนะ ที่ใช้ในการขนส่งสาธารณ หรือในการประกอบกสิกรรม หรืออุตสาหกรรม หรือ
          (4) พืชหรือพืชผลของกสิกร
          ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          มาตรา 360  "ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          มาตรา 360 ทวิ   "ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ วรรคหนึ่ง ที่ประดิษฐานอยู่ในสถานที่ตามมาตรา 335 ทวิ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          มาตรา 361  "ความผิดตามมาตรา 358 และมาตรา 359 เป็นความผิดอันยอมความได้"

          องค์ประกอบความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ มาตรา 358
          1.ผู้ใด
          2.ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์
          3.ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
          4.เจตนา (องค์ประกอบภายใน)

          ส่วนของการกระทำคือ 
          1.ทำให้เสียหาย หมายถึง ทำให้ทรัพย์ชำรุด บุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์เปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวลง
          2.ทำลาย คือ การทำให้ทรัพย์สิ้นสภาพไปเลย
          3.ทำให้เสื่อมค่า คือ การทำให้ทรัพย์ราคาลดลง
          4.ทำให้ไร้ประโยชน์ คือ ทำให้ทรัพย์นั้นหมดประโยชน์ไป แม้เพียงชั่วคราวก็ตาม



          มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ เช่น

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 361/2518  จำเลยล้อมรั้วที่ดินตาม น.ส.3 ของจำเลยรุกล้ำเข้าห้วยสาธารณะกั้นเอาบ่อน้ำสาธารณะมาเป็นของตน ทำให้ประชาชนเข้าไปใช้น้ำในบ่อไม่ได้ โดยมีเจตนาจะเอาบ่อน้ำนั้นไว้ใช้เป็นส่วนตัว มิได้มุ่งหมายหรือมีเจตนาโดยตรงที่จะทำให้บ่อน้ำนั้นเสียหายหรือไร้ประโยชน์และบ่อน้ำคงมีสภาพเป็นบ่อน้ำอยู่ตามเดิม ไม่ได้ถูกทำให้ไร้ประโยชน์ไปอย่างใด ดังนี้การล้อมรั้วกั้นเอาบ่อน้ำไว้จึงเป็นการห่างไกลเกินความประสงค์ของจำเลยในเรื่องทำให้บ่อน้ำนั้นเสียหายหรือ ไร้ประโยชน์ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8140/2541  จำเลยบุกรุกยึดถือครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์และได้แผ้วถางที่ดินดังกล่าวใช้ทำไร่ ทำให้บุคคลอื่นทั่วไปไม่สามารถใช้ประโยชน์จากหนองคำปลาหลาอันเป็นสาธารณประโยชน์ในส่วนที่จำเลยบุกรุกยึดถือครอบครอง เป็นการทำให้หนองสาธารณะนั้นไร้ประโยชน์แม้เป็นเพียงบางส่วน การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อ สาธารณประโยชน์แล้ว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3314/2545   การที่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองคลองควายซึ่งเป็นคลองสาธารณะโดยใช้เสาคอนกรีตปักปิดขวางช่วงปากคลอง ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถใช้ประโยชน์สัญจรผ่านไปมาในคลองเพื่อออกสู่แม่น้ำได้นั้น การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน และฐานทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ตาม ป.อ. มาตรา 360 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จึงไม่อาจอาศัยบทเบาตาม ป. ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสอง มาบังคับให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินซึ่งจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองตามที่โจทก์ขอได้
          ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยและนาย บ. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 9363 เลขที่ดิน 30 ตำบลลานตากฟ้า อำเภอเมืองนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม หลักฐานตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล. 13 ระบุว่าทิศเหนือจดลำกระโดงสาธารณประโยชน์ ทิศใต้จดทางสาธารณประโยชน์ ทิศตะวันออกจดที่ดินเลขที่ 28 ทิศตะวันตกจดแม่น้ำนครชัยศรี ระหว่างวันที่ 5 มกราคม 2538 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 21 เมษายน 2538 เวลากลางวัน จำเลยได้ปักเสาคอนกรีตจำนวน 6 ต้น ปิดขวางลำคลองควาย ซึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้ของที่ดินจำเลยกับนายบุญมีจุดแรก 3 ต้น จุดที่สองห่างจากจุดแรกยาวตามลำคลองประมาณ 75.30 เมตร อีก 3 ต้น ทำให้ประชาชนไม่สามารถสัญจรไปมาในคลองควายเพื่อออกสู่แม่น้ำนครชัยศรีได้ คดีมีปัญหาว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่… พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีเหตุผลและน้ำหนักรับฟังได้ว่าคลองควายซึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้ของที่ดินจำเลยมีสภาพเป็นคลองสาธารณะ เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน เมื่อจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครอง โดยใช้เสาคอนกรีตปักปิดขวางช่วงปากคลอง 3 ต้น และถัดต่อจากปากคลองอีก 3 ต้น ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถใช้ประโยชน์สัญจรผ่านไปมาในคลองเพื่อออกสู่แม่น้ำนครชัยศรีได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง พยานหลักฐานจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ อย่างไรก็ตามการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยึดถือครอบครองคลองควายที่ดินของรัฐ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน และฐานทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้และมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อลงโทษฐานทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้และมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดแล้วจึงไม่อาจอาศัยบทเบาตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสอง มาบังคับให้จำเลยและบริวารออกจากที่คลองควายซึ่งจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองตามที่โจทก์ขอได้ เพราะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ไม่ได้บัญญัติข้อบังคับดังกล่าวไว้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1111/2504   ทำลายทรัพย์ของผู้อื่นซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินที่ผู้นั้นอพยพย้ายออกไปจากที่ดินนั้นแล้ว ไม่ว่าที่ดินนั้นจะเป็นที่สาธารณะหรือของบุคคลใดก็ดี ถึงแม้ผู้เสียหายจะรื้อกระท่อมไปแล้วก็ดี แต่ทรัพย์เหล่านั้นผู้เสียหายก็ยังกล่าวฝากเพื่อนบ้านให้ดูแลไว้ แสดงว่ายังหวงแหนเป็นของตนอยู่ และการทำลายทรัพย์ผู้อื่นนี้ เมื่อเห็นผลอยู่แล้วว่าทำให้ทรัพย์ของเขาเสียหายก็พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำโดยแกล้งหรือทำให้เสียหายถึงขนาด ก็ย่อมมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์แล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 705/2507   ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 นั้น ผู้กระทำจะต้องมีเจตนากระทำเพื่อให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย จึงจะเป็นผิด เพราะฉะนั้น การที่จำเลยเพียงแต่ถอนเสารั้วของโจทก์แล้วเอาไปกองไว้ เพื่อใช้ทางเดินตามที่เคยใช้เท่านั้น มิได้มีเจตนากระทำเพื่อให้ทรัพย์ของโจทก์เสียหายอย่างใด จึงยังไม่ผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 14/2507)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1355/2508   ต้นพลูเป็นต้นไม้ยืนต้น จึงเป็นส่วนควบของที่ดิน  โจทก์เป็นผู้ปลูกต้นพลู แต่ต้นพลูได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่โจทก์ปลูกต้นพลูเสียแล้ว แม้จำเลยจะร่วมกันตัดต้นพลู ก็ย่อมไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง
          ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินแปลงที่โจทก์ปลูกต้นพลูนี้ ขณะเกิดเหตุกรรมสิทธิ์ตกเป็นของจำเลยที่ 4 แล้ว ต้นพลูตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 108 ถือเป็นไม้ยืนต้น จึงเป็นส่วนควบของที่ดิน เมื่อกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นของจำเลยที่ 4 โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ต้นพลูก็ตกเป็นของจำเลยที่ 4 ฉะนั้น หากจะรับฟังดังพยานโจทก์ว่าจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 1, 2, 3 สับฟันขุดถอนต้นพลูรายพิพาทไป ก็ย่อมไม่มีผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ เพราะจำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของต้นพลู โจทก์แม้จะเป็นผู้ปลูกต้นพลู แต่ต้นพลูได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๔ เจ้าของที่ดินซึ่งปลูกต้นพลูเสียแล้ว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 ดังโจทก์ฟ้อง 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 331/2527   โจทก์จำเลยต่างโต้เถียงกรรมสิทธิ์นาพิพาทกันอยู่  เมื่อโจทก์ปลูกต้นข้าวในนาพิพาท จำเลยเสียหายอย่างไรชอบที่จะฟ้องร้องว่ากล่าวกัน  การที่จำเลยกลับเข้าไถนาพิพาทเป็นเหตุให้ข้าวที่โจทก์ปลูกไว้ก่อนเสียหาย  การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ และต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1155/2520  การที่จำเลยถ่อเรือเข้าไปตัดใบบัวในหนองสาธารณะซึ่งผู้เสียหายปลูกต้นข้าวไว้โดยต้นข้าวขึ้นปะปนอยู่กับกอบัว จนเป็นเหตุให้ต้นข้าวเน่าตายไปจำนวนหนึ่ง  เช่นนี้จำเลยย่อมเล็งเห็นอยู่ว่าการถ่อเรือเข้าไปในป่าข้าวทำความเสียหายแก่ต้นข้าวได้  การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเจตนาทำให้เสียทรัพย์
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า  แม้ผู้เสียหายจะอ้างสิทธิครอบครองในหนองสาธารณะที่ปลูกข้าวไว้ไม่ได้  และจำเลยมีสิทธิใช้ประโยชน์ในหนองนี้เท่าเทียมกับผู้เสียหายก็จริง  แต่จำเลยก็ไม่มีสิทธิที่จะไปทำให้ต้นข้าวที่ผู้เสียหายปลูกไว้เสียหาย ตามทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยทราบอยู่ว่าผู้เสียหายซึ่งอยู่บ้านใกล้ ๆ กับจำเลยได้ปลูกข้าวไว้ที่นั่น และเมื่อจำเลยนำเรือเข้าไปตัดใบบัวก็ต้องเห็นต้นข้าวขึ้นปะปนอยู่กับกอบัว  จำเลยย่อมเล็งเห็นอยู่ว่าการถ่อเรือเข้าไปในป่าข้าวทำความเสียหายแก่ต้นข้าว  จึงถือว่าเป็นการกระทำโดยเจตนาของจำเลย  ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสองแล้ว


          ผู้กระทำต้องกระทำโดยมีเจตนาจึงจะเป็นความผิด คือ เจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผล ตามมาตรา 59
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 963/2502   จำเลยเป็นนายอำเภอ สั่งให้คนปลดเชือกผูกป้ายผ้าโฆษณาหาเสียงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งแขวนไว้ที่ทางเดินขึ้นจากท่าเรือจ้างหน้าที่ว่าการอำเภอ ให้พ้นการขีดขวางทางเดิน ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ดูแลรักษาท่าเรือจ้างนั้น ต่อมาผ้าป้ายนั้นได้หายไป โดยไม่ได้เกิดจากการกระทำของจำเลยโดยตรง  จำเลยมิได้มีเจตนาจะทำให้เสียทรัพย์ จำเลยยังไม่มีผิดฐานทำให้เสียทรัพย์และฐานใช้อำนาจและตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วย

          แต่ถ้าผู้กระทำมีอำนาจตามกฎหมายที่จะทำให้ทรัพย์นั้นเสียหายได้ การกระทำนั้นก็ไม่เป็นความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1097/2507  เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของอาคารรื้อถอนอาคารที่นายช่างตรวจพบว่าไม่มั่นคงแข็งแรงหรือไม่ปลอดภัยได้ หากเจ้าของอาคารไม่ปฏิบัติตามหรือไม่อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์เกี่ยวแก่การก่อสร้างอาคารภายใน 15 วัน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นก็มีอำนาจรื้อถอนอาคารนั้นได้ ตามพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2478 มาตรา 11 ทวิ วรรค 3 การที่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นรื้อถอนอาคาร จึงเป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่โดยชอบ ไม่มีมูลเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ 
          ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 นั้น หมายถึงการกระทำแก่ตัวทรัพย์ให้เสียหายฯ เช่น รื้อถอนตึกแถวลง ย่อมเป็นการการกระทำแก่ตัวทรัพย์ ทำให้ตึกแถวถูกทำลายเสียหาย แต่เมื่อรื้อแล้ว ไม่นำวัตถุก่อสร้างไปมอบเจ้าของจนวัตก่อสร้างสูญหายไปนั้น หาใช่เป็นการกระทำแก่ตัวทรัพย์ไม่ จึงไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2207/2524   จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินย่อมมีสิทธิเหนือพื้นดินโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะสร้างรางน้ำรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยและจำเลยมีสิทธิขัดขวางมิให้โจทก์สอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของตนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น การที่จำเลยรื้อรางน้ำดังกล่าวโดยเชื่อว่าได้รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของจำเลย จึงเป็นการใช้สิทธิในที่ดินตามสมควรแก่การสร้างตึกแถวของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 2762/2523)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1846/2500   ในทางแพ่ง    ถ้าจำเลยได้บอกกล่าวโจทก์เสียก่อนและให้เวลาพอสมควรแล้ว  จำเลยก็อาจตัดกิ่งไม้ของโจทก์ที่ยื่นล้ำที่ของจำเลยเข้าไปนั้นได้  ส่วนในทางอาญา  ต้องพิจารณาเจตนาของจำเลยเป็นเรื่องๆไป ถ้าตามพฤติการณ์ที่ปรากฎเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยไม่มีเจตนาทำผิดทางอาญา แม้จำเลยไม่ได้บอกกล่าวโจทก์เสียก่อน จำเลยก็ตัดกิ่งไม้ที่ยื่นรุกล้ำเข้ามาในที่ของตนได้ เพราะเป็นเรื่องที่จำเลยเพียงแต่กระทำการป้องกันกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของตนตามที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้โดยทั่วๆไป หากแต่จำเลยมิได้ปฏิบัติการให้ครบถ้วนตามวิธีการที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1347  เท่านั้น (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5/2501)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6344/2531  นายอำเภอขอความร่วมมือจากประชาชนให้ร่วมกันพัฒนาบริเวณที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ได้ตัดฟันต้นไม้ของโจทก์ในบริเวณนั้นโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของโจทก์ทั้งจำเลยที่ 2 เคยตัดฟันต้นไม้ของโจทก์มาก่อนจนถูกฟ้องมาแล้วครั้งหนึ่ง แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาทำให้ทรัพย์ของโจทก์เสียหาย การที่นายอำเภอขอความร่วมมือดังกล่าว เป็นแต่เพียงคำแนะนำ จำเลยที่ 2 จะกระทำหรือไม่กระทำตามก็ได้ มิได้มีลักษณะเป็นคำสั่งตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 70 อันจะทำให้จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับโทษ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6666/2542   จำเลยมีเจตนาจะทำลายรั้วไม้ไผ่ที่ปักติดเป็นแผงของผู้เสียหายโดยนำไปเผาให้ใช้การไม่ได้เท่านั้น การที่จำเลยดึงรั้วไม้ไผ่ของผู้เสียหายจำนวน2 แผง แล้วนำไปเผาทำลายใกล้บริเวณรั้วนั้น จำเลยจึงมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 358 เพียงบทเดียว มิใช่กระทำผิดหลายบท การเผาแผงไม้ไผ่เป็นการทำลายทรัพย์ของผู้เสียหายให้เสียหาย มิใช่จำเลยวางเพลิงเผารั้วบ้านของผู้เสียหายในขณะที่มีสภาพเป็นรั้วบ้านกั้นขอบเขตเป็นที่อยู่อาศัย จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 217 อีกกระทงหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6303/2539  โจทก์และจำเลยโต้เถียงการครอบครองที่พิพาทอยู่ การที่จำเลยเข้าไปปักเสาสร้างรั้วในที่พิพาทจึงเป็นการเข้าใจโดยสุจริตว่า ที่พิพาทเป็นของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานบุกรุก 
          ต้นไผ่ที่จำเลยเข้าไปตัดฟันปลูกอยู่ในที่พิพาท แม้โจทก์เป็นผู้ปลูกแต่ต้นไผ่เป็นไม้ยืนต้นจึงเป็นส่วนควบของที่พิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่งและตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่พิพาทซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์ประธานตาม ป.พ.พ.มาตรา 144 วรรคสอง เมื่อโจทก์และจำเลยยังโต้เถียงสิทธิครอบครองในที่พิพาทกันอยู่เท่ากับว่าโจทก์และจำเลยยังโต้เถียงกรรมสิทธิ์ของต้นไผ่ซึ่งปลูกอยู่ในที่พิพาทการที่จำเลยเข้าไปตัดฟันต้นไผ่ พฤติการณ์จึงมีเหตุอันสมควรให้จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าต้นไผ่ดังกล่าวเป็นของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์