20 สิงหาคม 2559

ความผิดฐานชิงทรัพย์และความผิดฐานปล้นทรัพย์

          ประมวลกฎหมายอาญา

          มาตรา 339  "ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ
          (1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป
          (2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น
          (3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้
          (4) ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือ
          (5) ให้พ้นจากการจับกุม
          ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองหมื่นบาท
          ถ้าความผิดนั้นเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดแห่งมาตรา 335 หรือเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่เป็นโค กระบือ เครื่องกลหรือเครื่องจักรที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท
          ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
          ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
          ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต"

          มาตรา 339 ทวิ  "ถ้าการชิงทรัพย์ได้กระทำต่อทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ วรรคแรก ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท
          ถ้าการชิงทรัพย์นั้นเป็นการกระทำในสถานที่ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 335 ทวิ วรรคสองด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
          ถ้าการชิงทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
          ถ้าการชิงทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
          ถ้าการชิงทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต"

          มาตรา 340  "ผู้ใดชิงทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท
          ถ้าในการปล้นทรัพย์ ผู้กระทำแม้แต่คนหนึ่งคนใดมีอาวุธติดตัวไปด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบสองปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นสี่พันบาทถึงสี่หมื่นบาท
          ถ้าการปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
          ถ้าการปล้นทรัพย์ได้กระทำโดยแสดงความทารุณจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ใช้ปืนยิง ใช้วัตถุระเบิด หรือกระทำทรมาน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
          ถ้าการปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต"

          มาตรา 340 ทวิ  "ถ้าการปล้นทรัพย์ได้กระทำต่อทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ วรรคแรก ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
          ถ้าการปล้นทรัพย์นั้นเป็นการกระทำในสถานที่ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 335 ทวิ วรรคสองด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
          ถ้าการปล้นทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสอง ผู้กระทำแม้แต่คนหนึ่งคนใดมีอาวุธติดตัวไปด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
          ถ้าการปล้นทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต
          ถ้าการปล้นทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสองได้กระทำโดยแสดงความทารุณจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ใช้ปืนยิง ใช้วัตถุระเบิดหรือกระทำทรมาน ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
          ถ้าการปล้นทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต" 

          มาตรา 340 ตรี  "ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 339 มาตรา 339 ทวิ มาตรา 340 หรือมาตรา 340 ทวิ โดยแต่งเครื่องแบบทหารหรือตำรวจหรือแต่งกายให้เข้าใจว่าเป็นทหารหรือตำรวจ หรือโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ กึ่งหนึ่ง"



          องค์ประกอบความผิดฐานชิงทรัพย์ตามมาตรา 339
          (1) ผู้ใดลักทรัพย์
          (2) โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือใช้กำลังประทุษร้าย
          (3) เจตนาเพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือพาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือให้พ้นจากการจับกุม (เจตนาพิเศษ)

          ความผิดฐานชิงทรัพย์มีพื้นฐานมาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ คือ เป็นการลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีเจตนาพิเศษ 5 ประการตามที่บัญญัติไว้ ดังนั้น ทรัพย์ที่จะชิงได้จะต้องเป็นทรัพย์ที่ถูกลักได้เช่นกัน การใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เป็นเรื่องกระทำต่อร่างกายหรือจิตใจของบุคคล การขู่เข็ญอาจทำด้วยวาจา หรือแสดงกิริยาท่าทาง หรืออาจไม่ต้องแสดงกิริยาท่าทางแต่มีอาวุธซึ่งตามสภาพหรือตามความรู้สึกของคนทั่วไปเห็นว่าเป็นการขู่ว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายอยู่ในตัว
          สำหรับการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์นั้น เป็นความผิดที่ต่อเนื่องมาจากความผิดฐานชิงทรัพย์ กล่าวคือ เป็นการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ โดยมีผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ดังนั้น ถ้าไม่เป็นการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ แม้มีผู้ร่วมกระทำความผิดครบสามคนก็ไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ แต่อาจเป็นความผิดฐานอื่น เช่น ร่วมกันลักทรัพย์ เป็นต้น

         
          ถ้าการประทุษร้ายหรือการขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายมิใช่มีเจตนาเพื่อประสงค์ต่อทรัพย์ ก็ไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 330/2535   พวกจำเลยล้อมรถขายไอศกรีม ของผู้เสียหายไว้ จำเลยที่ 3 เข้าต่อรองราคา แม้จะเป็นราคาที่อาจรู้ว่าผู้เสียหายไม่ตกลงด้วย ก็ไม่ถือว่าเป็นการขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อผู้เสียหาย การล้อมรถโดยไม่ปรากฏว่ามีท่าทางว่าจะเข้ามาทำร้ายผู้เสียหาย เพียงแต่ยืนจับกลุ่มกันอยู่ก่อน ไม่ถือว่าเป็นการใช้พวกเข้าขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้ผู้เสียหายยอมจะให้ทรัพย์แก่พวกจำเลย จึงไม่เป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์   จำเลยที่ 3 เจ้ามาขอซื้อไอศกรีม 7-8 แท่ง ในราคา 1 บาท จนผู้เสียหายไม่พอใจและชักอาวุธออกมา จำเลยทั้งสามจึงกลุ้มรุมทำร้ายผู้เสียหาย เพราะผู้เสียหายชักอาวุธออกมา มิใช่เพราะเจตนาจะทำร้ายผู้เสียหายเพื่อประสงค์ต่อไอศกรีมของผู้เสียหายแต่แรก ทั้งยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 3 หยิบเอาไอศกรีมไปแจกจ่ายพวกจำเลย ประกอบกับหลังจากนั้นโจทก์ไม่มีพยานยืนยันว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันลักเอาไอศกรีมดังกล่าวไป การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ แต่เป็นความผิดทำร้ายร่างกาย ผลการชันสูตรบาดแผลของแพทย์มีความเห็นว่ามีรอยบวมเล็กน้อยที่ขมับด้านซ้าย บาดแผลรักษาหายภายใน 3 วัน เป็นความเป็นผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2188/2545  จำเลยเอาทรัพย์ไปจากผู้เสียหายก็เนื่องจากจำเลยไม่ต้องการให้ผู้เสียหายนำไปขายเล่นการพนัน แสดงว่าจำเลยหาได้มีเจตนาที่จะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับจำเลยหรือผู้อื่นแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์ คงมีความผิดเฉพาะฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับอันตรายแก่กายตาม ป.อ. มาตรา 295
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2767/2516   การลักทรัพย์ที่จะเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 นั้น ในขณะที่ผู้กระทำผิดใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายเจตนาของผู้กระทำผิดจะต้องเป็นไปเพื่อให้ความสะดวกในการลักทรัพย์ เพื่อพาทรัพย์ไปเพื่อให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์ หรือเพื่อยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในขณะที่จำเลยขู่เข็ญหรือใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหาย จำเลยมีเจตนาเพียงแต่จะข่มขู่ผู้เสียหายซึ่งเคยเป็นภรรยาจำเลยให้กลับไปอยู่กับจำเลยอีก  แม้สร้อยคอของผู้เสียหายจะขาดติดมือจำเลยไปเมื่อจำเลยดึงคอเสื้อของผู้เสียหายก็ตาม การกระทำของจำเลยก็หาเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ไม่  แต่การที่จำเลยได้สร้อยคอของผู้เสียหายแล้วจำเลยเอาไว้เสียโดยทุจริตไม่คืนให้ผู้เสียหายถือได้ว่าเจตนาลักทรัพย์ได้เกิดขึ้นแล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334

          กรณีเอาทรัพย์ไปเพื่อหยามน้ำหน้าหรือแสดงอวดเพื่อความคึกคะนอง ศาลฎีกาก็วินิจฉัยไปในทางที่ว่าไม่ประสงค์ต่อทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2753/2539   จำเลยกับพวกขึ้นไปบนรถโดยสารประจำทางบังคับขู่เข็ญให้ผู้เสียหายถอด เสื้อฝึกงานและ แหวนรุ่นทำด้วยเงินซึ่งมีราคาเล็กน้อยจำเลยกับพวกกระทำไป เป็นการแสดงอำนาจบาตรใหญ่ด้วยความคะนอง เพื่อให้ผู้เสียหายซึ่งเป็นนักศึกษาต่างสถาบันที่มีเรื่องทะเลาะวิวาทกับสถาบันของจำเลยเห็นว่าเป็นคนเก่งพอที่จะรังแกคนได้ตามวิสัยวัยรุ่นที่มีความประพฤติไม่เรียบร้อยเท่านั้น มิใช่มุ่งหมายเพื่อจะได้ประโยชน์จากทรัพย์ จึงไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ แต่เป็นความผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้องจึงต้องลงโทษตามที่พิจารณาได้ความ ส่วนเสื้อฝึกงานและแหวนเงินจำเลยไม่มีสิทธิยึดถือไว้ต้องคืนแก่ผู้เสียหาย หลังจากให้ถอดเสื้อฝึกงานและแหวนเงินแล้ว กลุ่มเพื่อนของจำเลย 3 คนได้ชกต่อยผู้เสียหาย จากนั้นจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายในระยะห่าง 1 ฟุต แต่ผู้เสียหายยกขาและแขนขึ้นปิดป้องไว้และกระสุนปืนถูกกระดุมเสื้อซึ่งเป็นแผ่นเหล็กเป็นเหตุให้ไม่ถูกอวัยวะส่วนสำคัญ ถือได้ว่าจำเลยใช้ปืนยิงโดยมีเจตนาฆ่า แต่การกระทำไม่บรรลุผล จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 และมาตรา 371

          การใช้กำลังประทุษร้ายตามมาตรา 339 ไม่ได้บัญญัติว่าจะต้องกระทำต่อเจ้าของทรัพย์หรือผู้ครอบครองทรัพย์เท่านั้น ดังนั้น จะใช้กำลังประทุษร้ายแก่ใครก็ได้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4472/2541   แม้ขณะที่จำเลยกระชากกระเป๋าถือของผู้เสียหาย จำเลยไม่ได้ขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือได้ใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหาย แต่หลังจากจำเลยกระชากกระเป๋าถือของผู้เสียหายแล้วได้วิ่งหนีไปนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ซึ่งจอดอยู่ห่างจากที่ผู้เสียหายถูกกระชากสร้อยเพียง 1 ถึง 2 เมตรเพื่อหลบหนี แต่ถูก ส.วิ่งไปผลักจนรถจักรยานยนต์ล้มลง จำเลยจึงชักอาวุธออกมาจะแทง ส. ดังนี้ การกระทำของจำเลยดังกล่าวยังต่อเนื่องและเกี่ยวพันกันโดยตลอดและยังไม่ขาดตอนจากการวิ่งราวทรัพย์ ทั้งการที่จำเลยชักอาวุธมีดออกมาจะแทง ส.ทันทีที่ ส.ผลักรถจักรยานยนต์ล้มลงนั้น เป็นพฤติการณ์ที่ชี้ชัดว่า จำเลยกระทำโดยมีเจตนาขู่เข็ญไม่ให้ ส.ขัดขวางการหลบหนี เพื่อให้พ้นจากการจับกุมและเพื่อการพาทรัพย์ไป และแม้ ส.จะมิใช่ผู้เสียหาย แต่เมื่อจำเลยกระทำโดยมีเจตนาดังกล่าวและการกระทำของจำเลยยังไม่ขาดตอนจากการกระชากกระเป๋าถือของผู้เสียหายถือได้ว่าจำเลยกระชากกระเป๋าถือผู้เสียหายโดยขู่เข็ญว่าทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้พ้นจากการจับกุมแล้ว จึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4066/2545   การที่จำเลยที่ 1 เปลือยกายถืออาวุธมีดเข้าไปหาผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งนอนอยู่บนเตียงภายในห้องนอนของผู้เสียหายที่ 1  พอดีผู้เสียหายที่ 1 รู้สึกตัวลืมตาขึ้นมาเห็นจำเลยที่ 1  จำเลยที่ 1 พูดขู่มิให้ร้อง  ผู้เสียหายที่ 1 ร้องกรี๊ดสุดเสียง  จำเลยที่ 1 จึงชกปากผู้เสียหายที่ 1 และเอามือซ้ายยัดเข้าไปในปากของผู้เสียหายที่ 1 ผู้เสียหายที่ 1 จึงกัดนิ้วของจำเลยที่ 1 และดิ้นจนตกจากเตียงนอน  ระหว่างนั้นผู้เสียหายที่ 1 ถูกอาวุธมีดของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ถือมาบาดที่ข้อมือซ้าย  ถือว่าจำเลยที่ 1 กระทำการอันไม่สมควรทางเพศแก่ผู้เสียหายที่ 1  โดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย และใช้กำลังประทุษร้ายแล้ว  จึงเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 และเป็นการบุกรุกเข้าไปในเคหสถานของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันควรในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธและใช้กำลังประทุษร้าย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 365(1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364  หลังจากนั้นเมื่อผู้เสียหายที่ 3 เข้ามาในห้องนอนของผู้เสียหายที่ 1 ก็ถูกจำเลยที่ 1 ทำร้าย  และหยิบเอากระเป๋าที่มีอาวุธปืนของผู้เสียหายที่ 2 เก็บไว้  ซึ่งผู้เสียหายที่ 3 นำมาด้วยและตกอยู่ที่พื้นไป ก่อนจะหลบหนี จำเลยที่ 1 วิ่งชนผู้เสียหายที่ 3 และยังใช้มีดฟันผู้เสียหายที่ 3 ได้รับบาดเจ็บ จึงเป็นการลักอาวุธปืนของผู้เสียหายที่ 2 ไปโดยทุจริต โดยใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อสะดวกในการพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นจากการจับกุมและเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย  จึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม

          การใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย จะต้องกระทำต่อผู้อื่น มิใช่กระทำต่อผู้กระทำความผิดด้วยกันเอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5768/2544   การที่จำเลยที่ 2 ถีบหลังจำเลยที่ 1 ล้มลงเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายจำเลยที่ 1 ในขณะจำเลยที่ 1 เดินตามนาย ช. ผู้จัดการธนาคารที่เกิดเหตุผู้เสียหาย แสดงว่าเงินของกลางยังอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหาย แต่การใช้กำลังประทุษร้ายอันจะเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคแรก นั้น ต้องเป็นการประทุษร้ายต่อบุคคลอื่น มิใช่กระทำต่อคนร้ายผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน ดังจะเห็นได้จากเหตุที่ทำให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษหนักขึ้น ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม ถึงวรรคห้า อันได้แก่การกระทำผิดฐานชิงทรัพย์   เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย ผลของการกระทำล้วนเกิดแก่ผู้อื่นทั้งนั้น ดังนั้น  เมื่อจำเลยที่ 2 ใช้กำลังประทุษร้ายจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคนร้ายผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันจึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคแรก และแม้จะได้ความจากคำเบิกความของนายชัยศักดิ์ผู้เสียหายว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ได้ชี้มือไปทางผู้เสียหายซึ่งวิ่งตามไปก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีอาวุธใดติดตัวมาด้วยหรือแสดงอาการหรือวาจาข่มขู่ผู้เสียหายเลย ดังนั้น เพียงแต่จำเลยที่ 2 ชี้มือมาทางผู้เสียหายเท่านั้นยังไม่พอให้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายแต่อย่างใด จึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์เช่นกัน การกระทำของจำเลยทั้งสามขาดองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์ จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ตามฟ้อง จำเลยทั้งสามคงมีความผิดฐานร่วมลักทรัพย์โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การพาทรัพย์นั้นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 336 ทวิ เท่านั้น

          การทำร้ายหรือขู่ว่าจะทำร้ายต้องยังไม่ขาดตอนจากลักทรัพย์ หากมีการทำร้ายขาดตอนไปจากการลักทรัพย์แล้วก็ไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 600/2544  ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ขณะที่จำเลยทั้งสองกำลังลักเอามะม่วงของผู้เสียหายอยู่นั้น ผู้เสียหายเห็นการกระทำจึงได้ตรงเข้าจับกุมตัวจำเลยที่ 1 ไว้ได้จากนั้นได้ลากตัวจำเลยที่ 1 มายังที่ที่มีสายไฟฟ้าวางอยู่เพื่อจะใช้สายไฟฟ้ามัดตัวไว้ส่วนจำเลยที่ 2 ได้วิ่งหลบหนีไปได้ประมาณ 15 เมตรแล้ววิ่งกลับมายังที่ที่ผู้เสียหายกำลังจับตัวจำเลยที่ 1 ไว้ ในมือจำเลยที่ 2 ถือท่อนไม้ไผ่ยาว 175 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว เงื้อจะตีผู้เสียหายพร้อมกับพูดว่า "วางเมียผมเดี๋ยวนี้ หากไม่วางจะตีพ่อใหญ่ให้ตาย" เห็นว่า เมื่อผู้เสียหายเห็นจำเลยทั้งสองกำลังลักเอามะม่วงอยู่นั้นและกำลังจะนำมะม่วงที่เด็ดจากขั้วไว้แล้วนั้นออกไปนอกสวน ผู้เสียหายเห็นการกระทำจึงเข้าจับกุมตัวจำเลยที่ 1 จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ตอนนี้การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ยังดำเนินอยู่ยังไม่ขาดตอน จำเลยที่ 2 ซึ่งในตอนแรกได้วิ่งหลบหนีไปสักครู่เดียวก็กลับมาพร้อมกับถือท่อนไม้ไผ่ตรงเข้าเงื้อจะตีทำร้ายผู้เสียหาย และในทันทีนั้นได้พูดขู่ผู้เสียหายขึ้นว่า "วางเมียผมเดี๋ยวนี้ หากไม่วางจะตีพ่อใหญ่ให้ตาย" ดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ขู่เข็ญผู้เสียหายว่า ในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายทั้งนี้เพื่อให้ผู้เสียหายปล่อยตัวจำเลยที่ 1 ให้พ้นจากการจับกุมอันเป็นการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์

          การใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายต้องมีเจตนาพิเศษ  (1) เพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือพาทรัพย์นั้นไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1763/2509  จำเลยที่ 2 มีปืนเป็นอาวุธยืนคอยอยู่ที่ถนน จำเลยที่ 1 เข้าไปทำทีซื้อข้าวโพดคั่วจากผู้เสียหายแล้วกระชากสร้อยคอผู้เสียหายพาวิ่งไป ตำรวจเดินมาพบเหตุการณ์เข้าพอดี ได้วิ่งไล่ตามในระยะใกล้ชิด จำเลยที่ 2 ได้ยิงปืนขึ้น 3 นัด แล้วจำเลยทั้งสองวิ่งไปด้วยกัน การที่จำเลยที่ 2 ยิงปืนเพื่อขู่เข็ญมิให้ตำรวจไล่ติดตามไปเพื่อความสะดวกแก่การพาทรัพย์ไปนั้น จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์

          การใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายต้องมีเจตนาพิเศษ (2) เพื่อให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6724/2544   ขณะที่ผู้เสียหายทั้งสามเดินไปตามทางเท้า จำเลยขับรถจักรยานยนต์เข้ามาจอดเทียบใกล้ ๆ และแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจขอตรวจบัตรประจำตัวและขอค้นตัวหรือตรวจหายาเสพติดให้โทษ แล้วพูดจาขู่บังคับให้ส่งมอบเงินและทรัพย์สินมีค่าแก่ตนหากขัดขืนจะยิงให้ตาย พร้อมกับทำท่าจะล้วงเอาอาวุธออกมาผู้เสียหายทั้งสามเกิดความกลัวผู้เสียหายที่ 2 กับที่ 3 จึงส่งกระเป๋าเงินให้จำเลยล้วงหยิบเอาเงินสดในกระเป๋าไป ส่วนผู้เสียหายที่ 1 ถอดนาฬิกาข้อมือให้จำเลย จากนั้นจำเลยก็หลบหนีไปการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคหนึ่งแล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์ มิใช่กรรโชกทรัพย์ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่า จำเลยจะเป็นผู้ล้วงหยิบเอาทรัพย์นั้นเองหรือผู้เสียหายเป็นผู้หยิบส่งให้ไป

          การใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายต้องมีเจตนาพิเศษ (3) เพื่อยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1421/2494   ลักบุหรี่ที่เขาวางขายไว้ที่ร้ายแผงลอยไป 1 ซองแล้วเดินเรื่อยๆไป  เจ้าทรัพย์กับพวกติดตามในขณะนั้นชั่วระยะทางเพียงเล็กน้อยก็ทัน  จำเลยจึงใช้มือชกต่อยพวกเจ้าทรัพย์ ดังนี้ แสดงให้เห็นว่าทำร้ายเพื่อระงับการติดตามของคนเหล่านั้นโดยหวังผลที่จะพาบุหรี่ที่ลักมานั้นไป  และเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นผิดอาญาสำหรับความผิดฐานลักทรัพย์ที่ได้กระทำลง ย่อมเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์

          การใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายต้องมีเจตนาพิเศษ (4) เพื่อปกปิดการกระทำความผิดนั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 837/2510   จำเลยเข้าไปลักทรัพย์ในเรือน ขณะที่กำลังจะออกจากเรือน บุตรของผู้เสียหายเห็น ได้ร้องขึ้น จำเลยลงจากเรือนแล้วใช้มีดแทงบุตรของผู้เสียหายตาย ดังนี้ การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดในวาระเดียวกันอันเป็นความผิดทั้งฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 และฐานฆ่าคนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ไม่ใช่เป็นความผิดหลายกรรม

          การใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายต้องมีเจตนาพิเศษ (5) เพื่อให้พ้นจากการจับกุม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1181/2543  ผู้เสียหายยืนเรียกรถแท็กซี่ จำเลยทั้งสองและพวกอีก 1 คนเข้าไปพูดกับผู้เสียหายขอไปนอนด้วยที่โรงแรม ผู้เสียหายปฏิเสธ จำเลยทั้งสองลูบตามตัวผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 ล้วงกระเป๋ากางเกงหยิบเอาเงินสดของผู้เสียหายไป แล้วส่งเงินแก่พวกของตนแล้วทั้งหมดหลบหนีไป ผู้เสียหายวิ่งตามจับจำเลยทั้งสองได้จำเลยที่ 1 กัดมือซ้ายและจำเลยที่ 2 กัดมือขวาของผู้เสียหาย แต่ผู้เสียหายไม่ยอมปล่อยจำเลยทั้งสอง ถือว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกันลักทรัพย์ โดยใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้พ้นจากการจับกุม เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง

          การกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ ต้องร่วมกันกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ตั้งแต่สามคนขึ้นไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 228-231/2521   จำเลยขู่เจ้าทรัพย์ ค้นตัวเอาเงินไป 160 บาทนาฬิกาข้อมือ ยึดรถจักรยานยนต์ไว้แล้วเรียกค่าไถ่ตัว ตกลงให้ภริยาเจ้าทรัพย์ไปเอาเงินค่าไถ่จำเลยคืนเงิน 160 บาท  ให้ภริยาเจ้าทรัพย์นำเงินกลับไปให้จำเลยจำเลยคืนนาฬิกาและจักรยานยนต์ให้ เสื้อกันฝนหายไป ดังนี้ นอกจากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 316 ยังเป็นความผิดตาม มาตรา 340 ด้วย ที่จำเลยคืนเงิน 160 บาท ให้เป็นค่ารถไปเอาเงิน กับคืนนาฬิกาและจักรยานยนต์ ไม่ใช่เรื่องไม่ประสงค์ต่อทรัพย์นั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 375/2533   เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 กับพวกอีก 2 คนเข้าไปในบ้านและพยายามลักทรัพย์ของผู้เสียหาย แล้วพวกของจำเลยดังกล่าวได้ใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายจนได้รับอันตรายแก่กายเพื่อสะดวกในการลักทรัพย์ หรือพาทรัพย์ไปแต่ไม่สามารถพาทรัพย์นั้นไปได้ เพราะมีผู้มาพบเห็นเสียก่อน ดังนี้การที่พวกของจำเลยที่ 1 ใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายดังกล่าว จึงมิได้นอกเหนือความมุ่งหมายหรือเจตนาของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคแรก 80
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8722/2548   ผู้เสียหายขับรถยนต์รับจ้างสาธารณะ จำเลยกับพวกอีก 2 คนว่าจ้างให้ขับไปส่งบริเวณเกษตร เมื่อไปถึงจำเลยกับพวกให้ผู้เสียหายหยุดรถ จำเลยกับพวกลงจากรถโดยไม่ชำระค่าโดยสารอ้างว่าผู้เสียหายโกงมิเตอร์ ผู้เสียหายจึงลงจากรถและตามจำเลยกับพวกไปเพื่อทวงค่าโดยสาร จำเลยหันกลับมาชักมีดปลายแหลมยาวประมาณ 5 นิ้วออกมาจี้หลังผู้เสียหายบังคับให้ผู้เสียหายเดินเข้าไป ในบ้านที่เกิดเหตุแล้วให้ผู้เสียหายนั่งอยู่ภายในห้องในบ้าน จำเลยกับพวกเตะผู้เสียหายคนละ 1 ครั้ง กล่าวหาว่าผู้เสียหายเป็นสายลับให้เจ้าพนักงานตำรวจและพูดข่มขู่ให้ผู้เสียหายเสพเมทแอมเฟตามีน จากนั้นบังคับให้ผู้เสียหายนั่งในลักษณะคู้ตัวไปข้างหน้า ขาเหยียดตรงแล้วจึงเอานาฬิกาข้อมือและเงินสด 880 บาท ไปจากผู้เสียหาย ผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ถือได้ว่าจำเลยกับพวกเอาทรัพย์ไปโดยใช้กำลังประทุษร้าย จึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 เมื่อจำเลยร่วมกระทำความผิดกับพวกอีก 2 คน โดยมีมีดเป็นอาวุธ จึงเป็นความผิดฐานร่วมกับพวกปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธติดตัวไปด้วยตามมาตรา 340 วรรคสอง

          เมื่อการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ แม้มีผู้ร่วมกระทำความผิดครบสามคน ก็ไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์เช่นกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5045/2530   จำเลยกับพวกอีก 4 คน ไล่จับไก่ของผู้เสียหายจากบ้านของผู้เสียหายในขณะที่ไฟไหม้บ้าน หลังจากจับไก่ได้แล้วจำเลยกับพวกยิงปืน 2 นัด ด้วยความคึกคะนอง มิได้ยิงปืนขู่เข็ญผู้เสียหายกับพวกเพื่อความสะดวกแก่การลักทรัพย์พาทรัพย์ไป ให้ยื่นซึ่งทรัพย์ ยึดถือทรัพย์ไว้ หรือเพื่อให้พ้นการจับกุมเพราะไม่ปรากฏว่าจำเลยกับพวกเห็นผู้เสียหายกับพวกซึ่งแอบดูอยู่การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ แต่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 335 (2) (7) และ (8) วรรคสาม 


13 สิงหาคม 2559

สัญญาประกันภัยค้ำจุน (ประกันภัยรถยนต์)

          ป.พ.พ.
          มาตรา 887  "อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ
          บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยโดยตรง แต่ค่าสินไหมทดแทนเช่นว่านี้หาอาจจะคิดเกินไปกว่าจำนวนอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้ตามสัญญานั้นได้ไม่ ในคดีระหว่างบุคคลผู้ต้องเสียหายกับผู้รับประกันภัยนั้น ท่านให้ผู้ต้องเสียหายเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาในคดีด้วย
          อนึ่ง ผู้รับประกันภัยนั้นแม้จะได้ส่งค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้วก็ยังหาหลุดพ้นจากความรับผิดต่อบุคคลผู้ต้องเสียหายนั้นไม่ เว้นแต่ตนจะพิสูจน์ได้ว่าสินไหมทดแทนนั้นผู้เอาประกันภัยได้ใช้ให้แก่ผู้ต้องเสียหายแล้ว"
          มาตรา 888   "ถ้าค่าสินไหมทดแทนอันผู้รับประกันภัยได้ใช้ไปโดยคำพิพากษานั้นยังไม่คุ้มค่าวินาศภัยเต็มจำนวนไซร้ ท่านว่าผู้เอาประกันภัยก็ยังคงต้องรับใช้จำนวนที่ยังขาด เว้นไว้แต่บุคคลผู้ต้องเสียหายจะได้ละเลยเสียไม่เรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาสู่คดีด้วยดังกล่าวไว้ในมาตราก่อน"

          สัญญาประกันภัยค้ำจุน เป็นสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ ตัวอย่างเช่น สัญญาประกันภัยรถยนต์ชั้น 1, 2 หรือ 3 เป็นต้น ที่กำหนดให้บริษัทประกันต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมให้กับบุคคลภายนอกแทนเจ้าของรถที่ทำประกันภัยซึ่งเป็นฝ่ายผิด




          มีคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ 

          เมื่อคดีอาญาฟังได้ว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยกระทำละเมิดต่อโจทก์ แม้ผู้รับประกันภัยจะไม่ได้ถูกฟ้องด้วยก็ตาม แต่ต้องรับผิดชดไช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ เพราะผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9209/2558   แม้ในคดีอาญาจำเลยที่ 3 จะไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลย จึงไม่ถูกผูกพันที่ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งที่ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ก็ตาม แต่จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัย ตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยจะไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ผู้ขับรถยนต์คันที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัยไว้จากจำเลยที่ 2 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 มีสิทธิใช้รถยนต์ดังกล่าวเสมือนเป็นรถยนต์ของตนเอง จึงถือเสมือนว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เอาประกันภัยด้วย ทั้งตามคำให้การ จำเลยที่ 3 ก็มิได้ปฏิเสธว่าตนไม่ต้องรับผิดเพราะจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้เอาประกันภัย ดังนี้ เมื่อคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงยุติว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้มีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย กรณีจึงต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 3 ไม่อาจนำสืบเปลี่ยนแปลงให้ผิดไปจากความรับผิดของจำเลยที่ 1 ได้

          ผู้รับประกันภัยที่ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว และอยู่ในฐานะผู้เข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่ในมูลหนี้ต่อบุคคลภายนอก ต้องนับอายุความตามสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่เดิม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15977/2557   สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ที่เสียหาย ที่ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์และอยู่ในฐานะผู้เข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่ในมูลหนี้ต่อบุคคลภายนอก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 ประกอบ 226 วรรคหนึ่งนั้น ในการนับอายุความของโจทก์ดังกล่าว ต้องนับตามสิทธิของผู้เอาประกันภัย คดีนี้เมื่อสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะฟ้องมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยที่เข้ารับช่วงสิทธิ ก็ย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้เอาประกันภัย คือ ต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยหรือตัวแทนของผู้เอาประกันได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวเช่นกัน หาใช่นับอายุความ ตั้งแต่วันที่โจทก์รู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ เมื่อได้ความว่า ผู้ขับรถคันที่โจทก์รับประกัน ซึ่งถือเป็นตัวแทนของผู้เอาประกันภัยได้รู้ตัวผู้ขับรถยนต์อีกฝ่ายว่าเป็นผู้ใดในวันที่ 3 เมษายน 2546 ซึ่งเป็นวันที่พนักงานสอบสวนนัดผู้ขับรถของผู้เอาประกันมาตกลงกับจำเลยที่ 1 และเป็นวันที่ผู้ขับรถของผู้เอาประกันภัยพบกับพนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุของโจทก์เป็นครั้งแรก ฉะนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 8 ธันวาคม 2548 จึงเกินกว่า 1 ปี เมื่อนับแต่วันที่ 3 เมษายน 2546 ดังกล่าว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

          เมื่อเหตุวินาศภัยได้เกิดขึ้นแก่ อ. ผู้ตาย จากการขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 5 ผู้ครอบครองและเป็นผู้เอาประกันภัยรถแท็กซี่ที่จำเลยที่ 2 ขับ ไว้กับจำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดชอบด้วย แม้ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 ขาดอายุความ มิใช่ศาลยกฟ้องเพราะจำเลยที่ 5 ไม่ต้องรับผิดชอบในเหตุรถเฉี่ยวชนกัน จำเลยที่ 4 จึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาประกันภัย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7109/2557    ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ เมื่อเหตุวินาศภัยได้เกิดขึ้นแก่ อ. ผู้ตาย จากการขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 5 ผู้ครอบครองและเป็นผู้เอาประกันภัยรถแท็กซี่ที่จำเลยที่ 2 ขับ ไว้กับจำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดชอบด้วย แต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 เพราะฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 ขาดอายุความมิใช่ยกฟ้องเพราะจำเลยที่ 5 ไม่ต้องรับผิดชอบในเหตุรถเฉี่ยวชนกัน จำเลยที่ 4 จึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาประกันภัย

          เมื่อความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยยังคงมีอยู่ในขณะที่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์และขณะนั้นจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยซึ่งมีความรับผิดตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยอยู่ก่อนแล้ว จำเลยที่ 2 จึงหาหลุดพ้นความรับผิดไปด้วยไม่ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนยังคงต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 500/2557   ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และผู้ครอบครองรถบรรทุกคันเกิดเหตุที่ได้เอาประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัย โดยวันเกิดเหตุลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถของจำเลยที่ 1 ไปส่งสินค้าให้แก่โจทก์ ย่อมถือได้ว่าลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 รับประกันภัยโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 เมื่อลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถคันที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยถอยหลังชนซุ้มเสาประตูโรมันค้ำยันและรองรับระเบียงหน้าบ้านของโจทก์แตกหักเสียหาย โจทก์ซึ่งเป็นผู้ต้องเสียหายจึงชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยโดยตรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคสอง ซึ่งโจทก์สามารถฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดได้โดยลำพัง เพียงแต่หากโจทก์ผู้ต้องเสียหายไม่ได้ฟ้องหรือเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาสู้คดีด้วย จะมีผลเพียงทำให้ผู้ต้องเสียหายไม่อาจเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนที่ยังขาดจากผู้เอาประกันภัยได้เท่านั้น หาได้มีผลถึงกับทำให้ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดต่อผู้ต้องเสียหายและทำให้ผู้รับประกันภัยหลุดพ้นความรับผิดไปด้วยไม่ คดีนี้ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยรวมมากับจำเลยที่ ๒ ผู้รับประกันภัยโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุ แต่ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุเอง ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เนื่องจากไม่ได้เป็นไปตามคำฟ้องของโจทก์นั้น หาทำให้มูลหนี้อันเกิดจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ระงับสิ้นไปไม่ ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างที่ลูกจ้างได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ตามกฎหมายก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ผิดไปมีผลทำให้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดตามฟ้องเท่านั้น ดังนั้น เมื่อความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยยังคงมีอยู่ในขณะที่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์และขณะนั้นจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยซึ่งมีความรับผิดตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยอยู่ก่อนแล้ว จำเลยที่ 2 จึงหาหลุดพ้นความรับผิดไปด้วยไม่ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนยังคงต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหาย กรณีหาใช่เรื่องมูลความแห่งคดีที่การชำระหนี้มิอาจแบ่งแยกกันได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยหลุดพ้นความรับผิดอันจะเป็นผลให้จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยต้องหลุดพ้นไปจากความรับผิดแต่อย่างใดไม่

          โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกซึ่งผู้เอาประกันจะต้องรับผิดชอบ บุคคลภายนอกมีสิทธิเรียกร้องจากผู้รับประกันภัยได้โดยตรง แม้ผู้เอาประกันภัยจะทำผิดเงื่อนไขกรมธรรม์ก็ตาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3254/2556   โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุน โจทก์ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกซึ่งผู้เอาประกันจะต้องรับผิดชอบ บุคคลภายนอกมีสิทธิเรียกร้องจากผู้รับประกันภัยได้โดยตรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 เมื่อจำเลยผู้เอาประกันภัยทำละเมิดและต้องรับผิดชอบต่อ ว. ท. และ จ. บุคคลภายนอก โจทก์ย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ ว. ท. และ จ. ตามบทบัญญัติในมาตราดังกล่าว โจทก์ไม่อาจนำข้อยกเว้นความรับผิด เนื่องจากขณะขับขี่จำเลยมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดไม่น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 ข้อ 7.6 ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ใช้บังคับระหว่างโจทก์ผู้รับประกันภัยกับจำเลยผู้เอาประกันภัยไปใช้เป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกตามบทบัญญัติในมาตราดังกล่าวได้ โจทก์ยังต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก เพียงแต่เมื่อโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกไปแล้ว จำเลยต้องใช้เงินที่โจทก์ใช้ไปนั้นคืนโจทก์

          การฟ้องให้ผู้รับประกันภัยรับผิดตามสัญญาประกันภัย ซึ่งโจทก์สามารถฟ้องผู้รับประกันภัยให้รับผิดได้โดยไม่จำต้องฟ้องผู้เอาประกันภัยด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 รับประกันภัยรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุจาก น. และข้อเท็จจริงได้ความว่า น. ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุชนรถที่โจทก์รับประกันภัยโดยละเมิด จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2912/2555   แม้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับ น. ในฐานะนายจ้าง แต่โจทก์มิได้ฟ้องโดยยืนยันว่า จำเลยที่ 2 รับประกันภัยรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุจากจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด โจทก์เพียงแต่ฟ้องว่า น. ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถในทางการที่จ้างโดยประมาทชนรถที่โจทก์รับประกันภัย จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์กระบะของจำเลยที่ 1 ไว้ในขณะเกิดเหตุ และกรมธรรม์ยังคุ้มครองอยู่ในขณะเกิดเหตุ โดยกรมธรรม์มีเงื่อนไขสำคัญว่า หากรถยนต์กระบะที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยก่อความเสียหายแก่บุคคลภายนอก จำเลยที่ 2 จะรับผิดต่อบุคคลภายนอกในนามของผู้เอาประกันภัยแทนผู้เอาประกันภัย เป็นการฟ้องให้ผู้รับประกันภัยรับผิดตามสัญญาประกันภัย ซึ่งโจทก์สามารถฟ้องผู้รับประกันภัยให้รับผิดได้โดยไม่จำต้องฟ้องผู้เอาประกันภัยด้วย ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามที่จำเลยที่ 2 ให้การและนำสืบรับว่า จำเลยที่ 2 รับประกันภัยรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุจาก น. และข้อเท็จจริงได้ความว่า น. ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุชนรถที่โจทก์รับประกันภัยโดยละเมิด จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ผู้รับช่วงสิทธิมาฟ้อง

          กรณีเป็นผู้รับประกันภัยของคู่กรณีทั้งฝ่ายจำเลย(ผู้ทำละเมิด)และฝ่ายโจทก์(ผู้เสียหาย) ผู้รับประกันภัยไม่อาจนำเอาหนี้ค่าสินไหมทดแทนที่จ่ายให้แก่โจทก์ไปแล้วมาหักกลบลบกับค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องส่วนที่ขาดอีกได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8829/2551    จำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์และรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 เมื่อรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 เฉี่ยวชนรถยนต์ของโจทก์เสียหาย จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งในฐานะเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ในความเสียหายที่โจทก์ได้รับตามกรมธรรม์ประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 และในฐานะที่จำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 ซึ่งต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกคือโจทก์ในความเสียหายที่เกิดจากรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 เช่นนี้ จำเลยที่ 4 จึงมีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองกรณีเพียงฝ่ายเดียว โจทก์ไม่มีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 4 การที่จำเลยที่ 4 ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 และรับช่วงสิทธิจากโจทก์ไล่เบี้ยเอาแก่ผู้ที่ทำให้รถยนต์โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 4 ก็มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เท่านั้น หาได้ก่อให้เกิดภาระหนี้แก่โจทก์ไม่ เมื่อการใช้ค่าสินไหมทดแทนของจำเลยที่ 4 แก่โจทก์ยังไม่เพียงพอแก่ความเสียหายที่แท้จริง โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายส่วนที่ขาดจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ผู้ทำละเมิด และยังเรียกให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 ภายในวงเงินตามกรมธรรม์ประกันภัยระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 ได้อีกด้วย จำเลยที่ 4 จึงตกเป็นหนี้โจทก์ที่จะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายส่วนที่ขาดแก่โจทก์อีก เมื่อโจทก์ไม่ได้เป็นหนี้จำเลยที่ 4 จึงไม่ใช่กรณีที่บุคคลสองคนต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้อันมีวัตถุประสงค์เป็นอย่างเดียวกัน และหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดจะชำระที่ลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะนำมาหักกลบลบหนี้กันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 จำเลยที่ 4 จึงไม่อาจนำเอาหนี้ค่าสินไหมทดแทนที่จ่ายให้แก่โจทก์ไปแล้วมาหักกลบลบกับค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องส่วนที่ขาดอีกได้ ทั้งไม่ใช่เป็นกรณีที่สิทธิและความรับผิดในหนี้รายใดตกอยู่แก่บุคคลเดียวกันอันจะทำให้หนี้รายนั้นระงับสิ้นไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 353




สัญญากู้ยืมเงิน

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
          มาตรา 650  "อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้นเป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น
          สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม"
          มาตรา 653   "การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
          ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว"
          มาตรา 654  "ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี"
          มาตรา 655  "ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ แต่ทว่าเมื่อดอกเบี้ยค้างชำระไม่น้อยกว่าปีหนึ่ง คู่สัญญากู้ยืมจะตกลงกันให้เอาดอกเบี้ยนั้นทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นก็ได้ แต่การตกลงเช่นนั้นต้องทำเป็นหนังสือ
          ส่วนประเพณีการค้าขายที่คำนวณดอกทบต้นในบัญชีเดินสะพัดก็ดี ในการค้าขายอย่างอื่นทำนองเช่นว่านี้ก็ดี หาอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติซึ่งกล่าวมาในวรรคก่อนนั้นไม่"
          มาตรา 656  "ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นแทนจำนวนเงินนั้นไซร้ ท่านให้คิดเป็นหนี้เงินค้างชำระโดยจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ
          ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมไซร้ หนี้อันระงับไปเพราะการชำระเช่นนั้น ท่านให้คิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ
          ความตกลงกันอย่างใดๆ ขัดกับข้อความดั่งกล่าวมานี้ ท่านว่าเป็นโมฆะ"

          สำหรับอายุความฟ้องคดีสัญญากู้ยืมเงินแบ่งเป็น 3 ประเภท
          1. อายุความทั่วไปตามมาตรา 193/30 มีอายุความสิบปี
          2. กรณีเงินกู้ที่มีการชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ ตามมาตรา 193/33(2) มีอายุความห้าปี
          3. กรณีลูกหนี้เงินกู้เสียชีวิต เจ้าหนี้ต้องฟ้องคดีภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ตามมาตรา 1754 วรรคสาม



       
          สัญญากู้ยืมเงินเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองชนิดหนึ่ง ซึ่งจะบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ให้ยืม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13825/2553  โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2542 และจำเลยได้รับเงินกู้ยืมไปครบถ้วนแล้ว จำเลยให้การว่าจำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินจากโจทก์และไม่เคยได้รับเงินไปจากโจทก์ จำเลยทำสัญญาจำนองที่ดินเพื่อประกันการทำสัญญานายหน้าจัดส่งคนงานไปทำงานที่ไต้หวัน เท่ากับจำเลยให้การว่าสัญญากู้ยืมเงินตามคำฟ้องซึ่งเป็นการยืมใช้สิ้นเปลืองไม่สมบูรณ์ เพราะไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินที่ยืมตาม ป.พ.พ. มาตรา 650 จำเลยจึงไม่ต้องห้ามมิให้นำสืบพยานบุคคลว่าสัญญากู้ยืมเงินตามคำฟ้องไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94
          ที่จำเลยให้การและนำสืบพยานบุคคลว่าสัญญาจำนองดังกล่าวเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญานายหน้าส่งคนไปทำงานที่ดินแดนไต้หวันและจำเลยได้ชำระหนี้หมดแล้วนั้น ก็เป็นการนำสืบถึงที่มาแห่งมูลหนี้จำนอง หาใช่การนำสืบพยานบุคคลแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารอันจะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 ไม่ และการนำสืบพยานบุคคลว่าจำเลยได้ชำระหนี้ตามสัญญานายหน้าส่งคนไปทำงานที่ต่างประเทศก็มิใช่การนำสืบถึงการใช้เงินกู้ยืมที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับมาตรา 653 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7229/2552  หนังสือสัญญากู้เงินซึ่งจำเลยลงลายมือชื่อไว้ระบุจำนวนเงิน 500,000 บาท โดยจำเลยไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวจากโจทก์ แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามีมูลหนี้เดิมเหลืออยู่เพียง 192,111.28 บาท จึงเป็นการทำให้จำนวนหนี้ในสัญญากู้ไม่สมบูรณ์จำนวน 192,111.28 บาท ได้ มิใช่ว่าสัญญากู้ไม่สมบูรณ์ทั้งหมด
          สัญญาขายลดเช็คไม่มีกฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราไว้เหมือนเช่นการกู้ยืมเงิน ดังนั้น การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือนในมูลหนี้เดิมจึงมิใช่เป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5292/2548  โจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้จากจำเลย จำเลยให้การว่าไม่ได้กู้เป็นเรื่องการเล่นแชร์กัน การที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยเล่นแชร์กับโจทก์และจำเลยประมูลแชร์ได้ โจทก์ซึ่งเป็นนายวงแชร์ให้จำเลยทำสัญญากู้เงินเพื่อเป็นประกันว่าจำเลยจะส่งชำระค่าแชร์ในงวดที่เหลือต่อไป และต่อมาการเล่นแชร์สิ้นสุดลงโดยจำเลยส่งชำระค่าแชร์ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว ซึ่งเป็นการนำสืบตามที่จำเลยให้การต่อสู้ และเป็นการนำสืบถึงมูลเหตุที่มาของการทำสัญญากู้เงิน เพื่อแสดงให้เห็นว่าสัญญากู้เงินตามฟ้องไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดใช้เงินแก่โจทก์ เพราะจำเลยส่งชำระค่าแชร์ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว เท่ากับเป็นการนำสืบว่าสัญญาหรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคสอง จำเลยจึงมีสิทธินำสืบได้ หาใช่เป็นการนำสืบถึงการชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินไม่ 
          โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้เถียงในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน แต่กำหนดให้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลเป็นพับซึ่งเป็นผลให้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับจำเลยตกเป็นพับไปด้วย จึงไม่ถูกต้อง เพราะการกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดเป็นผู้รับผิดในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแค่ไหนเพียงไรนั้น เป็นดุลพินิจของศาลโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดี ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์รับผิดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยเป็นเรื่องการใช้ดุลพินิจ มิใช่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย จึงมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7275/2546  เดิม น. และจำเลยได้กู้ยืมเงิน ส. น้องโจทก์จำนวน 150,000 บาท ต่อมาโจทก์และจำเลยตกลงกันให้โจทก์นำเงินกู้ยืมตามฟ้องไปชดใช้หนี้แก่ ส. โดยจำเลยยอมกู้ยืมเงินจากโจทก์และจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันการชำระหนี้จำนวน183,300 บาท แก่โจทก์แม้ในวันที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาจำนองที่ดิน โจทก์จะไม่ได้ส่งมอบเงินกู้ยืมให้แก่จำเลย แต่เมื่อโจทก์ได้ชำระหนี้ที่จำเลยมีต่อ ส. แทนจำเลยไป และจำเลยยอมทำสัญญาจำนองที่ดินแทนถือได้ว่าโจทก์ได้ส่งมอบเงินกู้ยืมให้แก่จำเลยแล้ว การกู้ยืมเงินและสัญญาจำนองที่ดินระหว่างโจทก์และจำเลยย่อมบริบูรณ์ใช้บังคับระหว่างกันได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6792/2543  โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คโดยกล่าวอ้างและนำสืบว่าจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อและประทับตราบริษัทฟาร์มอ่างทองรีสอร์ท จำกัด เพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินที่บริษัทฟาร์มอ่างทองรีสอร์ท จำกัด กู้ไปจากโจทก์ร่วม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทฟาร์มอ่างทองรีสอร์ท จำกัด ยังไม่ได้รับเงินตามสัญญากู้ยืมเงิน ดังนั้น สัญญากู้ยืมเงินย่อมไม่สมบูรณ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 650 วรรคสอง จึงถือไม่ได้ว่าบริษัทฟาร์มอ่างทองรีสอร์ท จำกัด เป็นหนี้โจทก์ร่วมตามสัญญากู้ยืมเงิน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงอันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค
  
          การกู้ยืมเงินเกินกว่าสองพันบาทต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมไว้ จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11637/2556  เช็คพิพาททั้งสี่ฉบับมิได้มีคำว่ากู้หรือยืมเลย และอ่านข้อความในเช็คพิพาททั้งหมดก็ไม่มีข้อความใดเลยที่ส่อแสดงให้รู้ได้ว่าเป็นการกู้ยืมเงินกัน อีกทั้งสภาพของเช็คก็เป็นการใช้เงิน ไม่ใช่การกู้หรือยืมเงิน เช็คพิพาททั้งสี่ฉบับจึงมิใช่เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม          
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3927/2556  เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบแล้วไม่ปรากฏว่ามีเอกสารฉบับใดเลยที่มีข้อความแสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์หรือมีข้อความว่าจะใช้คืนอันเป็นสาระสำคัญของหลักฐานเป็นหนังสือที่บ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์หรือเป็นหนี้โจทก์ ลำพังหนังสือขอเบิกค่าใช้จ่ายประจำเดือนของจำเลยที่ 1 ที่มีเพียงข้อความระบุถึงจำนวนเงินที่ขอเบิกและวันที่ขอรับเงินตามเอกสารหมาย จ.12 ถึง จ.24 คงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 2 ได้รับเช็คไปจากโจทก์แล้วเท่านั้น ยังไม่อาจฟังขยายความออกไปได้ว่าเป็นการรับเช็คที่กู้ยืมเงินจากโจทก์หรือรับเงินที่กู้ยืม หนังสือขอเบิกค่าใช้จ่ายประจำเดือนตามเอกสารดังกล่าวจึงมิใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน ส่วนรายงานที่ ป. มีถึงโจทก์ ก็ปรากฎเพียงข้อความว่า ขอให้โจทก์พิจารณาจ่ายเงินกู้ยืมให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเอกสารที่ ป. จัดทำขึ้นเองแต่ฝ่ายเดียว ทั้งไม่ปรากฏลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ลงไว้เป็นสำคัญ เอกสารดังกล่าวจึงมิใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินอีกเช่นกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22631/2555  การนำสืบถึงการชำระหนี้กู้ยืมด้วยเงินนั้น ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง กำหนดให้ผู้นำสืบต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองนำสืบโดยมีสมุดบันทึกการเก็บเงินเป็นรายวัน ซึ่งมีลายมือชื่อโจทก์มาแสดง แม้สมุดบันทึกดังกล่าวที่ลงลายมือชื่อโจทก์ไม่ได้ระบุว่ารับเงินค่าอะไร แต่ก็มีข้อความระบุจำนวนดอกเบี้ยที่ค้าง ซึ่งบ่งชี้ว่าในเดือนนั้นจำเลยทั้งสองชำระในส่วนที่เป็นต้นเงิน โดยยังค้างดอกเบี้ยไว้ ดังนี้ หลักฐานเป็นหนังสือตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง มิได้เคร่งครัดถึงกับว่าจะต้องมีถ้อยคำว่าใช้หนี้กู้ยืมเงิน เมื่อเอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า เจ้าหนี้มาเก็บเงินเป็นรายวัน มีจำนวนเงินที่เรียกเก็บ และเมื่อลูกหนี้ค้างชำระในส่วนดอกเบี้ย ก็มีรายละเอียดว่าค้างดอกเบี้ยเดือนใดบ้าง โดยมีลายมือชื่อเจ้าหนี้ลงในช่องทุกวัน ที่มาเรียกเก็บเงิน ถือว่าสมุดบันทึกดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งการชำระหนี้เงินกู้ตามมาตรา 653 วรรคสอง จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธินำสืบการใช้เงินได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 36/2555  เอกสารหมาย จ.2 นอกจากจะเป็นหลักฐานว่าจำเลยรับโฉนดที่ดินจาก ส. แล้ว เอกสารดังกล่าวยังมีข้อความที่แสดงว่าเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2536 จำเลยได้กู้ยืมเงินจาก ส. จำนวน 2,000,000 บาท จึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้ด้วย แม้จำเลยซึ่งเป็นผู้กู้ไม่เจตนาให้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมก็ตาม การที่คู่สัญญาได้ทำสัญญากู้ยืมกันเป็นหนังสือไว้แล้ว หามีผลทำให้เอกสารฉบับนี้ไม่เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม โจทก์จึงใช้เอกสารหมาย จ.2 เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือฟ้องให้จำเลยรับผิดได้
          การกู้ยืมเงินระหว่าง ส. กับจำเลยมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้ยืมตามเอกสารหมาย จ.2 แม้จำเลยอ้างว่าชำระหนี้แล้ว แต่จำเลยก็ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ให้ยืม ไม่มีการเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมหรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว จำเลยจึงนำสืบการใช้เงินไม่ได้เพราะต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10406/2554  แบบฟอร์มคำขอกู้ยืมเงินและหนังสือกู้เงินของสมาชิกสหกรณ์ที่โจทก์นำมาใช้กับพนักงานลูกจ้างของโจทก์ ซึ่งคำขอกู้เงินมีสาระสำคัญเพียงว่า จำเลยที่ 1 เสนอคำขอกู้เงินจำนวน 153,500 บาท ส่วนหนังสือกู้เงินมีสาระสำคัญเพียงว่าจำเลยที่ 1 ทำหนังสือกู้ไว้ให้แก่โจทก์เพื่อเป็นหลักฐาน จำเลยที่ 1 ขอกู้เงินไม่เกิน 153,500 บาท เมื่อโจทก์อนุมัติให้ใช้หนังสือกู้นี้ได้ จำเลยที่ 1 จะเบิกรับเงินกู้ตามที่โจทก์อนุมัติ และทำหลักฐานการรับเงินกู้ให้ไว้แก่สหกรณ์ทุกครั้ง ด้านหลังระบุว่า ถ้าโจทก์กำหนดวงเงินกู้ให้น้อยกว่าที่ขอกู้ จำเลยที่ 1 เป็นอันตกลงด้วยทั้งสิ้น ลงชื่อจำเลยที่ 1 ผู้กู้ โดยไม่มีลายมือชื่อโจทก์ผู้ให้กู้อยู่ด้วย คงมีเพียงลายมือชื่อประธานคณะทำงานจากกรรมการดำเนินการซึ่งเป็นประธานในที่ประชุมเป็นผู้อนุมัติพร้อมเลขานุการในช่องบันทึกการอนุมัติเงินกู้หน้าแรกของหนังสือกู้เงิน อันเป็นขั้นตอนปฏิบัติงานตามระเบียบ ฯ ข้อ 9 จึงเป็นเพียงหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง มิใช่หนังสือสัญญากู้ยืมเงิน ส่วนสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำให้ไว้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฝ่ายเดียวลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน จึงเป็นเพียงหลักฐานลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 วรรคสองเท่านั้น หนังสือกู้เงินและหนังสือค้ำประกัน จึงมิใช่ตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตามความมุ่งหมายแห่ง ป.รัษฎากร มาตรา 118 แม้โจทก์จะมิได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 503/2554  โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดในฐานะผู้กู้ยืมจำนวนเงิน 600,000 บาท และจำเลยที่ 2 กับที่ 4 ให้ร่วมรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กู้ยืมจำนวนเงิน 50,000 บาท อีก โดยอาศัยมูลเหตุการกู้ยืมเงินเช่นเดียวกัน แม้โจทก์จะอ้างมูลหนี้กู้ยืมคนละจำนวน และอ้างว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 ต่างกู้เงินโจทก์อีกต่างหากก็ตาม แต่มูลหนี้คดีนี้ก็คือการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 โดยโจทก์อ้างในคำฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืม โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกัน แต่ไม่ได้ระบุจำนวนเงินไว้ในสัญญากู้ยืมเช่นเดียวกับคดีก่อน และอ้างอีกว่าหากบุตรจำเลยที่ 1 คือ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต้องการใช้เงินมาขอกู้เงินจากโจทก์เพิ่มก็ขอให้โจทก์ให้กู้โดยอาศัยสัญญากู้ฉบับดังกล่าว โดยให้บุตรของจำเลยที่ 1 เพียงแต่ทำหลักฐานการรับเงินจากโจทก์ให้โจทก์ยึดเป็นประกัน จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้รับผิดชอบต่อโจทก์เอง เมื่อจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระ โจทก์จึงได้รวบรวมเงินที่จำเลยทั้งสี่กู้ไปจากโจทก์รวมเป็นเงินจำนวน 600,000 บาท กรอกลงในช่องที่ว่างไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน แล้วนำไปฟ้องจำเลยทั้งสี่ตามคดีเดิม ดังนั้นมูลหนี้คดีนี้ก็เป็นมูลหนี้เดิมที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ไปแล้วในคดีเดิมนั่นเอง โดยอาศัยเหตุที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ไป มีจำเลยที่ 2 และที่ 4 ค้ำประกันรวมกับที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 กู้ยืมโจทก์ด้วย เท่ากับโจทก์ได้รื้อร้องฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะ ผู้กู้ยืมเงินและจำเลยที่ 2 กับที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้กู้ยืมด้วย จึงเป็นการฟ้องซ้ำกับคดีเดิมต้องห้ามตามกฎหมาย ทั้งคดีเดิมศาลชั้นต้นก็ได้วินิจฉัยไปแล้วว่า สัญญาการกู้ยืมเงินเป็นสัญญากู้ปลอม โจทก์ไม่อาจอาศัยสัญญากู้ยืมปลอมดังกล่าวมาเป็นหลักฐานฟ้องร้องบังคับคดีได้ เพราะถือว่าการกู้ยืมไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ และลำพังเฉพาะหลักฐานการรับเงินของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ที่โจทก์อ้างก็ไม่ใช่หลักฐานการกู้ยืมเงินที่จะฟ้องร้องบังคับคดีให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 ให้รับผิดได้ 
          หลักฐานการรับเงิน ไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าจำเลยที่ 3 กู้ยืมเงินจากโจทก์และตกลงจะใช้เงินคืนแก่โจทก์หรือกำหนดการเสียดอกเบี้ยไว้อันเป็นลักษณะของการกู้ยืมเงิน หลักฐานการรับเงิน จึงไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4537/2553  ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคแรก (เดิม) บัญญัติว่า “การกู้ยืมเงินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่” สาระสำคัญของหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคแรก อยู่ที่ว่า มีการแสดงให้เห็นว่ามีการกู้ยืมเงินกันก็เพียงพอแล้ว ไม่ได้บังคับถึงกับจะต้องระบุชื่อของผู้ให้กู้ไว้ ดังนั้น เมื่อโจทก์นำหนังสือสัญญากู้และค้ำประกันมาฟ้องจำเลยทั้งสาม และปรากฏชัดว่าเอกสารพิพาทมีสาระสำคัญแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้ แม้จะไม่ได้ระบุชื่อผู้ให้กู้ไว้ให้ถูกต้อง แต่ระบุจำนวนเงินและจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้กู้ครบถ้วน จึงถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมและค้ำประกันของโจทก์ได้แล้ว



          ปัจจุบันนี้เอกสารหลักฐานซึ่งเกิดจากการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ก็ถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้เช่นกัน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8089/2556  การที่จำเลยนำบัตรกดเงินสดควิกแคชไปถอนเงินและใส่รหัสส่วนตัวเปรียบได้กับการลงลายมือชื่อตนเอง ทำรายการเบิกถอนเงินตามที่จำเลยประสงค์ และกดยืนยันทำรายการพร้อมรับเงินสดและสลิป การกระทำดังกล่าวถือเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินจากโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 7,8 และมาตรา 9 ประกอบกับคดีนี้จำเลยมีการขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้สินเชื่อเงินสดควิกแคชที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์ ซึ่งโจทก์มีเอกสารซึ่งมีข้อความชัดว่าจำเลยรับว่าเป็นหนี้โจทก์ขอขยายเวลาชำระหนี้ โดยจำเลยลงลายมือชื่อมาแสดง จึงรับฟังเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมอีกโสดหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

          การกู้ยืมเงินห้ามคิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ยกเว้นสถาบันการเงินเป็นผู้ให้กู้สามารถคิดดอกเบี้ยได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย หากคิดดอกเบี้ยเกินอัตราดังกล่าว ส่วนดอกเบี้ยนั้นเป็นโมฆะ เพราะเป็นการคิดดอกเบี้ยที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 654 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3132/2556  ผลประโยชน์ตอบแทนที่ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับจากจำเลยตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 9 ต้องเป็นผลประโยชน์ตอบแทนที่เป็นสิทธิอันชอบด้วยกฎหมาย แต่ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบได้ความว่าจำเลยที่ 2 หลอกลวงผู้เสียหายแต่ละคนว่าจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในลักษณะเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน หรือคิดเป็นร้อยละ 120 ต่อปี ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย มิใช่เป็นการกู้เงินอันจะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 จึงมีผลทำให้ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะ ดังนั้นเงินที่จำเลยที่ 2 ได้ไปจึงเป็นลาภมิควรได้ ทั้งการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นละเมิด จำเลยที่ 2 จึงต้องคืนเงินในฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 วรรคหนึ่ง และ 438 วรรคหนึ่ง แต่เนื่องจากเป็นหนี้เงิน ผู้เสียหายย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5162/2553  แม้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินจะระบุว่า ให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1.25 บาทต่อเดือน หรือเท่ากับร้อยละ 15 ต่อปี ถูกต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 แต่โจทก์และจำเลยตกลงเรียกดอกเบี้ยสัญญากู้ยืมเงินกันในอัตราร้อยละ 3 บาทต่อเดือน หรือร้อยละ 36 ต่อปี อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 ข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยจึงเป็นการไม่ชอบและตกเป็นโมฆะ เสียเปล่ามาตั้งแต่ต้น ผลเท่ากับไม่เคยมีข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยอยู่ในสัญญา แต่กรณีเป็นหนี้เงินโจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9189/2552  เจ้าหนี้อื่นนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินที่จำเลยจำนองไว้แก่โจทก์ออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งถึงที่สุดให้โจทก์ได้รับชำระหนี้จำนองจำนวน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นตามคำขอของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิบังคับชำระหนี้ตามคำสั่งศาลชั้นต้นได้อยู่แล้ว เมื่อจำเลยมิได้เป็นหนี้โจทก์อีกนอกจากหนี้จำนองดังกล่าว การที่โจทก์กลับนำเอาหนี้จำนองนั้นมาให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินอีกโดยบวกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่จะเรียกได้ตามกฎหมาย อันทำให้ส่วนดอกเบี้ยที่กำหนดตกเป็นโมฆะโดยจำเลยมิได้รับเงินตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวแต่อย่างใด สัญญากู้ยืมเงินจึงไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6471/2552  แม้โจทก์จะไม่นำสืบให้ได้ความชัดว่ามูลหนี้ตามเช็คพิพาทจำนวน 7 ฉบับ ประกอบไปด้วยเงินต้นและดอกเบี้ยซึ่งตกเป็นโมฆะอย่างละเท่าใดก็ตาม แต่เมื่อเป็นเรื่องของการกำหนดค่าเสียหายที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์อันเนื่องมาจากเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการชำระเงิน ศาลก็ย่อมมีดุลพินิจที่จะกำหนดให้ตามที่เห็นสมควรโดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงในสำนวนประกอบพฤติการณ์แห่งคดีและทางได้เสียของคู่ความทุกฝ่าย เมื่อพิจารณาถึงจำนวนเงินต้นตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นที่มาของมูลหนี้ตามเช็ค จำนวนเงินในเช็คพิพาทจำนวน 7 ฉบับ และจำนวนเงินในเช็คที่เหลืออีก 8 ฉบับแล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่าเงินจำนวน 881,250 บาท ตามที่ระบุในสัญญากู้ยืมเงินนั้นแบ่งเป็นดอกเบี้ยที่โจทก์คิดล่วงหน้าและเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดจำนวน 81,250 บาท ซึ่งคิดเป็นต้นเงินจำนวน 800,000 บาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 90.78 ของจำนวนเงินที่ระบุในสัญญากู้ยืมเงินจึงสามารถคำนวณต้นเงินของเช็คแต่ละฉบับไว้ว่าเป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 90.78 ของยอดเงินตามเช็คฉบับนั้นๆ ตามฟ้อง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่เช็คพิพาทแต่ละฉบับถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6465/2552  โจทก์เป็นบริษัทจำกัดที่ประกอบกิจการให้เช่าซื้อทรัพย์สินและให้กู้เงิน เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นสถาบันการเงินตามกฎหมาย การเรียกดอกเบี้ยเงินกู้ของโจทก์จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 654 และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 ดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกเก็บในอัตราร้อยละ 2.5 ต่อเดือน และค่าธรรมเนียมที่โจทก์หักไว้ล่วงหน้าซึ่งคิดแล้วเกินอัตรร้อยละ 15 ต่อปี จึงฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายและตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวรวมทั้งค่าธรรมเนียมจากจำเลยทั้งสองได้ ต้องนำดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่โจทก์เรียกเก็บล่วงหน้าไปแล้วทั้งหมดหักออกจากเงินต้นตามสัญญากู้
          ส่วนดอกเบี้ยซึ่งกำหนดตามสัญญาในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แต่โจทก์คิดจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 2.5 ต่อเดือน หรือร้อยละ 30 ต่อปี ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดให้เรียกดอกเบี้ยได้ ตกเป็นโมฆะ โจทก์จะกลับมาใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามกำหนดในสัญญาอีกไม่ได้ คงเรียกได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดคือวันที่ 3 พฤษภาคม 2550 อันเป็นวันถัดจากวันครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

          แต่ถ้าเป็นสัญญาขายลดเช็ค(หรือสัญญาอื่น)ไม่ใช่สัญญากู้ยืมเงิน ก็ไม่มีกฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7229/2552  โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินและรับเงินสดไปจากโจทก์ จำเลยให้การและนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยเคยนำเช็คไปขายลดแก่กลุ่มของโจทก์ ต่อมากลุ่มของโจทก์อ้างว่าจำเลยยังเป็นหนี้ประมาณ 700,000 บาท หากจำเลยยอมทำสัญญากู้จะลดยอดหนี้ให้เหลือ 500,000 บาท จำเลยจึงได้ลงชื่อในสัญญาเงินกู้ โดยไม่เคยได้รับเงิน ดังนี้ ศาลล่างทั้งสองย่อมมีอำนาจวินิจฉัยถึงรายละเอียดที่มาแห่งมูลหนี้ในการทำสัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่โต้แย้งกันนั้นได้ ซึ่งหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์จริง ไม่ว่ามูลหนี้จะเป็นการกู้ยืมเงินสดหรือเป็นหนี้เงินที่ค้างชำระจากการขายลดเช็ค สัญญากู้ก็มีผลบังคับได้
          โจทก์มีหนังสือสัญญากู้เงินซึ่งจำเลยลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม ส่วนจำนวนเงินที่ระบุไว้ในสัญญากู้แม้จะฟังได้ว่ามูลหนี้เดิมเหลือเพียง 192,111.28 บาท ก็เป็นเพียงการทำให้จำนวนหนี้ในสัญญากู้ไม่สมบูรณ์บางส่วนเท่านั้น โจทก์จึงชอบที่จะเรียกให้จำเลยชำระหนี้ส่วนที่สมบูรณ์จำนวน 192,111.28 บาท ได้ หาใช่ว่าสัญญากู้ไม่สมบูรณ์ทั้งหมดตามที่จำเลยอ้าง เมื่อจำเลยยืนยันข้อเท็จจริงมาในฎีกาว่าหนี้เดิมเป็นมูลหนี้ จากการขายลดเช็ค ซึ่งกรณีสัญญาขายลดเช็คนั้นมิได้มีกฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราไว้เหมือนเช่นการกู้ยืมเงิน ดังนั้น การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน ในมูลหนี้เดิมจึงมิใช่เป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมาย

          ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ แต่เมื่อดอกเบี้ยค้างชำระไม่น้อยกว่าปีหนึ่ง คู่สัญญากู้ยืมจะตกลงกันให้เอาดอกเบี้ยนั้นทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นก็ได้ แต่การตกลงเช่นนั้นต้องทำเป็นหนังสือ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4239/2554  การฟ้องเรียกให้ชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยเป็นการฟ้องให้ผู้กู้ปฏิบัติตามสัญญา ทั้งนี้โดยไม่จำต้องบอกเลิกสัญญาก่อน ตามหนังสือขอให้ชำระหนี้นั้นมีเนื้อหาระบุไว้เพียงว่า จำเลยทั้งสี่เป็นหนี้อยู่จำนวนเท่าใดและขอให้จัดการชำระหนี้ทั้งหมด ไม่มีข้อความใดที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการบอกเลิกสัญญา หนังสือดังกล่าวจึงเป็นเพียงแต่การทวงถามหรือเตือนให้ชำระหนี้เท่านั้น ไม่อาจแปลหรือถือได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญา ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราตามที่ตกลงในสัญญาและนำดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่า 1 ปี ทบเข้ากับต้นเงินแล้วคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นได้ตามข้อตกลงแม้ลูกหนี้ผิดนัดแล้วก็ตาม เมื่อโจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกิน 1 ปี มาทบรวมกับยอดเงินต้นแล้วดอกเบี้ยที่ทบนั้นก็กลายเป็นต้นเงินไม่เป็นดอกเบี้ยที่ค้างอีกต่อไป ข้อตกลงดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 655 วรรคหนึ่ง ซึ่งไม่อยู่ในบังคับข้อห้ามไม่ให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10588/2551  โจทก์นำเอาต้นเงินกับดอกเบี้ยค้างชำระมารวมไว้ในสัญญากู้ยืมเงินฉบับใหม่และคิดดอกเบี้ยในหนี้ต้นเงินใหม่ดังกล่าว การคิดดอกเบี้ยจากดอกเบี้ยที่นำมาทบต้นจึงเป็นการคิดดอกเบี้ยที่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 655 วรรคหนึ่ง เมื่อดอกเบี้ยตามฟ้องได้รวมเอาดอกเบี้ยที่ต้องห้ามตามกฎหมายไว้ด้วย แต่โจทก์ไม่สามารถแยกดอกเบี้ยที่ต้องห้ามดังกล่าวออกมาให้ทราบได้ ฉ. จึงต้องรับผิดต่อโจทก์เฉพาะต้นเงินที่กู้ยืมเท่านั้น โดยให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญานับแต่เวลาที่ ฉ. ผิดนัด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5532/2550  สัญญาข้อ 8 ที่ว่า “เมื่อสัญญานี้ครบกำหนดหากผู้ให้กู้หรือผู้กู้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้บอกเลิกสัญญา ให้ถือว่าสัญญาฉบับนี้มีผลใช้บังคับต่อไปอีกคราวละ 1 ปี ตลอดไป โดยมีเงื่อนไขและข้อตกลงคงเดิมทุกประการจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสัญญา...” มีผลเพียงว่า เมื่ออายุสัญญาเป็นอันต่อออกไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้แล้ว กำหนดเวลาที่จำเลยต้องชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี ก็ขยายตามไปด้วย กำหนดเวลาชำระหนี้ซึ่งทำให้โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงไป กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเปลี่ยนแปลงไปเฉพาะเวลาขณะเริ่มนับอายุความ ส่วนอายุความมิได้เปลี่ยนแปลงไปโดยข้อสัญญาดังกล่าว จึงมิใช่เป็นการขยายอายุความ
          ข้อตกลงตามสัญญากู้กรุงไทยธนวัฏที่ให้โจทก์มีสิทธิหักชำระหนี้จากเงินเดือนที่นายจ้างของจำเลยโอนเข้าบัญชี ไม่มีผลทำให้เงินที่จำเลยเบิกถอนจากบัญชีกลายเป็นเงินที่โจทก์ได้ทดรองจ่าย ส่วนบัตรกรุงไทยเอทีเอ็มที่โจทก์ออกให้แก่จำเลย ก็เพื่อความสะดวกในการเบิกถอนเงิน ซึ่งหากจำเลยมีเงินฝากอยู่ในบัญชีเกินจำนวนที่เบิกถอน ก็เป็นการเบิกถอนเงินฝาก แต่หากจำเลยไม่มีเงินฝากอยู่ในบัญชี เงินที่เบิกถอนไปก็เป็นเงินกู้ที่ตกลงไว้กับโจทก์นั่นเอง สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้รับผิดตามสัญญากู้ที่ทำขึ้นเช่นนี้กฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
          สัญญากู้กรุงไทยธนวัฏไม่มีข้อตกลงที่ให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระได้ การที่โจทก์นำหนี้ที่รวมดอกเบี้ยอยู่ด้วยมาเป็นต้นเงินในการคิดดอกเบี้ยต่อไป ย่อมมีผลเป็นการคิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ จึงฝ่าฝืนข้อห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 655 วรรคหนึ่ง

          การกู้ยืมเงินนั้น ผู้กู้หรือผู้ให้กู้อาจยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นแทนเงินนั้นได้ โดยให้คิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ ตามวิธีการที่กำหนดในมาตรา 656 หากฝ่าฝืน ย่อมมีผลให้ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3437/2559 โจทก์บรรยายฟ้องมีใจความว่า ห. และ จ. ร่วมกันทำมาหากินประกอบธุรกิจนากุ้งและทำประมง และกิจการอื่น ๆ ตลอดระยะเวลาสิบปี มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นที่ทำมาหาได้ร่วมกันจึงเชื่อได้ว่า ห. และ จ. อยู่กินฉันสามีภริยามาเป็นเวลาสิบปี ทรัพย์ที่ทำมาหาได้ต่างมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันหรือเป็นเจ้าของร่วม รวมทั้งหนี้สินที่เกิดจากกิจการที่ทำมาหากินร่วมกันย่อมถือได้ว่าเป็นหนี้ร่วมกัน เมื่อ ห. กู้ยืมเงินจากจำเลยเพื่อนำไปซื้อลูกกุ้งและอาหารกุ้ง ซึ่งเป็นกิจการที่ ห. ทำร่วมกับ จ. และ จ. ร่วมรับรู้โดย ห.เป็นผู้โทรศัพท์แจ้งแล้ว จ. เป็นผู้มารับเงิน หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ร่วมที่ จ. ต้องร่วมกับ ห. ชำระหนี้ การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกและเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ จ. ทำนิติกรรมขายที่ดินพิพาท 2 แปลง ตีใช้หนี้ของ ห. และ จ. ให้แก่จำเลย จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกจำเลยและ ส. หลอกลวง แต่การที่จำเลยรับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงถือว่าจำเลยผู้ให้กู้ยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่น เป็นการชำระหนี้แทนเงินกู้ซึ่งไม่ปรากฏว่าได้มีการตกลงว่ามีการคิดราคาที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ คือเวลาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ข้อตกลงดังกล่าวจึงขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคสอง ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 656 วรรคสาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7378/2552  การกู้ยืมเงินโดยผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาที่ดินเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมนั้น ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคสอง บัญญัติให้หนี้เป็นอันระงับไปเพราะการชำระเช่นนั้นให้ต้องคิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลา และ ณ สถานที่ส่งมอบในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2541 ซึ่งเป็นวันจดทะเบียนโอนที่ดินตีราคาที่ดิน 590,000 บาท ซึ่งเป็นราคาประเมินของกรมที่ดิน แม้โจทก์จำเลยจะมิได้นำสืบถึงราคาซื้อขายในท้องตลาดที่แท้จริงซึ่งเป็นราคาที่ดินเป็นหลักในการคำนวณ ณ เวลาที่ส่งมอบ แต่ก็เห็นได้ว่าราคาประเมินในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินในเบื้องต้นพอจะอนุมานได้ว่าน่าจะใกล้เคียงกับราคาท้องตลาดและไม่แตกต่างกันมาก เว้นแต่จะมีเหตุผลพิเศษสำหรับที่ดินบางแปลงเป็นการเฉพาะรายเท่านั้น ราคาที่ดินขณะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์จึงสูงกว่าภาระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยค้างชำระตามที่จำเลยอ้าง ซึ่งมีอยู่ประมาณ 230,000 บาท จำเลยก็รับว่ามีส่วนต่างอยู่ประมาณ 300,000 บาท ดังนี้ ความตกลงดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคท้าย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนเพราะเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้กู้และทำให้ผู้ให้กู้ได้เปรียบในทางทรัพย์สินเงินทอง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาและเป็นปัญหาที่มิได้ว่ากันมาโดยชอบในศาลล่างศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 เมื่อการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะ จำเลยจึงไม่ได้ที่ดินไปทางทะเบียน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 142/2550  ข้อตกลงที่กำหนดว่า หากโจทก์ผู้กู้ไม่ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่ ส. ผู้ให้กู้ เมื่อครบกำหนดตามสัญญา ก็ให้สิทธิ ส. โอนที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้เงินกู้ได้ทันทีตามหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงลายมือชื่อไว้โดยไม่กรอกข้อความให้ ส. ยึดถือไว้เป็นประกันโดยไม่คำนึงถึงราคาที่ดินพิพาทว่าจะเท่ากับราคาท้องตลาดในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบคือเวลาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์หรือไม่ ข้อตกลงดังกล่าวจึงขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคสอง ย่อมตกเป็นโมฆะตาม มาตรา 656 วรรคสาม ส. หามีสิทธิบังคับให้โจทก์ดำเนินการโอนที่ดินพิพาทไม่ การที่จำเลยบุตรของ ส. จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยโดยขัดต่อ มาตรา 656 วรรคสอง และวรรคสาม ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพราะเป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติห้ามไว้โดยชัดแจ้งเพื่อป้องกันมิให้ผู้กู้ยืมถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ให้กู้ยืม ปัญหานี้จึงเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วย มาตรา 246 และมาตรา 247
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2533/2549  การที่จำเลยนำสืบพยานบุคคลว่า ศ. นำโฉนดที่ดินที่พิพาทไปมอบให้จำเลยเพื่อโอนชำระหนี้เงินยืม 1,500,000 บาท เป็นการนำสืบให้เห็นว่าจำเลยได้โฉนดที่ดินที่พิพาทมาอย่างไร โดยมิได้อ้างถึงหนังสือสัญญากู้เงินและมิได้เป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารหนังสือสัญญากู้เงินมาแสดง แม้จะมีข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากข้อความในหนังสือสัญญากู้เงินที่ระบุว่ามอบโฉนดที่ดินพิพาทไว้เป็นประกันก็ไม่เป็นการสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความที่ห้ามมิให้ศาลรับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 
          จำเลยรับโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของโจทก์เพื่อชำระหนี้ตามเช็คที่ ศ. ซึ่งเป็นบุตรโจทก์ค้างชำระอยู่ มิใช่หนี้ตามสัญญากู้ยืมที่มีการออกเช็คนั้นชำระหนี้ จึงไม่อาจนำ ป.พ.พ. มาตรา 656 มาปรับใช้ได้ ความตกลงในการโอนที่ดินพิพาทชำระหนี้ดังกล่าวจึงไม่เป็นโมฆะ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6449/2544  เมื่อศาลได้มีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้ว ทายาทย่อมหมดอำนาจจัดการทรัพย์มรดกและกระทำนิติกรรมใด ๆ กับบุคคลภายนอก ทั้งนี้จนกว่าจะแบ่งปันทรัพย์มรดกเสร็จ ผู้จัดการมรดกเท่านั้นที่รับชำระหนี้แทนผู้ตายได้ จำเลยเพิ่งโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่อ้างว่าโอนเพื่อชำระหนี้ตามฟ้องภายหลังที่ศาลได้มีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว แม้จำเลยร่วมจะเป็นทายาทของผู้ตายก็ไม่มีสิทธิรับชำระหนี้แทนผู้ตาย 
          เอกสารที่จำเลยอ้างว่าเป็นข้อตกลงการโอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อชำระหนี้เงินกู้แทนการชำระเงินที่จำเลยทำกับจำเลยร่วมไม่ปรากฏว่าได้มีการคิดเป็นหนี้เงินที่ค้างชำระโดยจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งที่ดินในวันที่จดทะเบียนอันเป็นการส่งมอบ ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นการตกลงชำระหนี้เงินกู้ยืมด้วยทรัพย์สินอื่นแทนจำนวนเงินที่กู้ยืมโดยไม่มีการคำนวณหนี้เงินที่ค้างชำระเท่ากับราคาท้องตลาดของที่ดิน จึงเป็นข้อตกลงที่ขัดกับ ป.พ.พ.มาตรา 656 วรรคหนึ่ง และตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 656 วรรคท้าย ดังนั้นการจดทะเบียนโอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยร่วมและการทำข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ทำให้หนี้เงินกู้ระงับลง จำเลยต้องชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

          อายุความฟ้องคดีสัญญากู้ยืมเงิน


          อายุความทั่วไปกำหนดสิบปีตามมาตรา 193/30
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7593/2555  สัญญากู้กรุงไทยธนวัฏแม้จะมีข้อตกลงให้โจทก์มีสิทธิหักชำระหนี้จากเงินเดือนที่นายจ้างของจำเลยที่ 1 โอนเข้าบัญชีและเรียกค่าธรรมเนียมบัตรกรุงไทยเอทีเอ็มจากจำเลยที่ 1 เป็นรายปี ก็ไม่มีผลทำให้เงินที่จำเลยที่ 1 เบิกถอนจากบัญชีของจำเลยที่ 1 กลายเป็นเงินที่โจทก์ได้ออกทดรองจ่ายได้ ส่วนบัตรกรุงไทยเอทีเอ็มที่โจทก์ออกให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น ก็เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการเบิกถอนเงินหรือรับเงินกู้ของจำเลยที่ 1 จากเครื่องถอนเงินอัตโนมัติของโจทก์หรือของธนาคารอื่นที่มีข้อตกลงกับโจทก์ หากจำเลยที่ 1 มีเงินฝากอยู่ในบัญชีเพียงพอกับจำนวนที่เบิกถอนก็เป็นการเบิกถอนเงินฝาก แต่หากจำเลยที่ 1 มีเงินฝากอยู่ในบัญชีไม่เพียงพอกับจำนวนที่เบิกถอน เงินที่เบิกถอนเกินจากเงินฝากก็เป็นเงินกู้ที่ตกลงไว้กับโจทก์ตามสัญญากู้ การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่จำเลยที่ 1 กู้ไปจึงมิใช่เป็นกรณีที่โจทก์เรียกเอาค่าที่ได้ออกเงินทดรองไปก่อนแต่อย่างใด สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้รับผิดตามสัญญากู้ดังกล่าวมิได้มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/30 แต่ในส่วนค่าธรรมเนียมการใช้บัตรเอทีเอ็มปีละ 100 บาท ถือว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างอันพึงได้รับในการนั้น ซึ่งมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16051/2555  โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2541 อยู่ในกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง มีวัตถุประสงค์ให้นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์กู้ยืมเงินเพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างศึกษา ส่วนการนำส่งคืนกองทุนยังให้โอกาสผู้กู้ยืมชำระคืนเมื่อสำเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี ทั้งยังกำหนดให้คิดดอกเบี้ยในอัตราไม่เกินเงินฝากประจำหนึ่งปีของธนาคารออมสิน และห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยทบต้น กำหนดใช้คืนเป็นรายเดือนเป็นระยะเวลาสูงสุดถึงสิบห้าปี ในกรณีผู้ยืมถึงแก่ความตาย ให้หนี้ตามสัญญาระงับไป หรือกรณีผู้กู้พิการหรือทุพลภาพไม่สามารถประกอบการได้ คณะกรรมการกองทุนมีอำนาจระงับการให้ชำระหนี้ตามสัญญาได้ โดยมีเหตุผลการออกพระราชบัญญัติเนื่องจากมีความจำเป็นต้องเร่งดำเนินการพัฒนามนุษย์ เพื่อรองรับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในการยกฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ดังนั้นการให้กู้ยืมเงินตามพระราชบัญญัติก็เป็นไปเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่และให้โอกาสแก่บุคคลผู้ด้อยโอกาสในสังคมโดยแท้ กรณีเป็นเรื่องที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดสิบปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 หาใช่เป็นสิทธิเรียกร้องในเงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ อันมีอายุความห้าปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) ไม่ เพราะแม้ผู้กู้สามารถเลือกผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือนหรือรายปีได้ แต่หากมีความจำเป็นอาจร้องขอผ่อนผันการชำระหนี้ตามระยะเวลาที่แตกต่างไปหรือชะลอการชำระหนี้เป็นการชั่วคราวได้ 

          อายุความห้าปี กรณีเงินกู้ที่มีการชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ ตามมาตรา 193/33 (2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2075/2540  การที่ บ. ผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เป็นรายเดือน ตามตารางกำหนดชำระหนี้เงินกู้ของสัญญากู้ยืมลดหลั่นกันไปแต่ละเดือนจนถึงงวดสุดท้ายนั้น ถือได้ว่า บ.ตกลงชำระหนี้เพื่อผ่อนทุนเป็นงวดๆตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/33(2) สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 16 พฤศจิกายน 2536 เป็นเวลาเกินกว่า 5 ปีนับแต่วันที่ 9 มกราคม 2523 ซึ่งเป็นวันที่ บ. ผิดนัดและโจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ทั้งหมดได้ คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
          จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ส. ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันย่อมถือตามอายุความของลูกหนี้ เมื่อคดีเกี่ยวกับ บ. ลูกหนี้ขาดอายุความแล้ว คดีที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ส.ผู้ค้ำประกันก็ย่อมขาดอายุความไปด้วย  
          การที่โจทก์เพิ่งยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายภายหลังเวลาที่คดีขาดอายุความแล้ว และการที่ บ. ชำระหนี้แก่โจทก์ไปจำนวนหนึ่งนั้นก็เป็นการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความไม่ใช่เป็นเรื่องรับสภาพหนี้ ฉะนั้นการขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายของโจทก์และการที่ บ. ชำระหนี้โจทก์ไปบางส่วน จึงไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12442/2553  แม้จะมีข้อตกลงกำหนดเงื่อนไขในการชำระเงินกู้คืนทุกเดือนตามคำสั่งหรือกำหนดชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยทุกสิ้นเดือน เดือนละ 148,000 บาท ระยะเวลา 5 ปี เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2539 และงวดต่อๆ ไปทุกวันที่ 23 ของเดือนจนกว่าเงินต้นและดอกเบี้ยจะได้มีการชำระครบถ้วนแล้วอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เมื่อผู้ให้กู้เดิมและจำเลยที่ 1 เลือกผูกพันตามข้อตกลงในการชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยคืนโดยวิธีชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยทุกเดือนรวมระยะเวลา 5 ปี นิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้กู้เดิมหรือโจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องกับจำเลยที่ 1 จึงต้องบังคับตามข้อตกลงที่คู่สัญญาเลือกปฏิบัติผูกนิติสัมพันธ์กันนั้น เมื่อข้อตกลงชำระหนี้เงินกู้คืนที่ตกลงผูกนิติสัมพันธ์กันนั้นเป็นการชำระหนี้เพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวจึงมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6854/2553  โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินบริษัท ก. โดยตกลงผ่อนชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยรายเดือนรวม 144 งวด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 22 เมษายน 2548 และชำระงวดถัดไปทุกวันที่ 22 ของทุกเดือน หากผิดนัดไม่ชำระหนี้งวดใด ยอมให้บริษัท ก. เรียกหนี้ตามสัญญาทั้งหมดคืนได้ทันที ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่ตกลงไว้ในสัญญากู้ โดยจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ครั้งสุดท้ายวันที่ 5 กรกฎาคม 2538 เป็นการฟ้องขอให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ซึ่งมีข้อตกลงชำระหนี้ผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (2) สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในหนี้ดังกล่าวจึงมีกำหนดอายุความห้าปี นับแต่วันผิดนัดชำระหนี้คือตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2538 เป็นต้นไป เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เนื่องจากนำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดห้าปี นับแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2538 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องของตนได้ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 13 มิถุนายน 2544 คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว

          อายุความหนึ่งปี กรณีผู้กู้ตาย ผู้ให้กู้ต้องฟ้องคดีภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่ผู้ให้กู้ได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก(ผู้กู้) ตามมาตรา 1754 วรรคสาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8811/2556  สัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับ ส. ไม่ได้กำหนดเวลาชำระต้นเงินคืนไว้ โจทก์ย่อมเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และถือเป็นเวลาที่ผู้ให้กู้อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ อายุความจึงเริ่มนับแต่วันถัดจากวันทำสัญญากู้เงิน และเมื่อ ส. ถึงแก่ความตายก่อนที่โจทก์ทวงถามก็ไม่อาจใช้อายุความทั่วไปตามที่โจทก์ฎีกาเพราะสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดกซึ่งยังไม่ถึงกำหนดเวลาบังคับเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายก่อนถึงกำหนดนั้น เจ้าหนี้ก็ต้องฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้น ภายในหนึ่งปีนับแต่ได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก เมื่อโจทก์เบิกความรับว่า ส. ถึงแก่ความตายในวันที่ 1 ธันวาคม 2548 และโจทก์อยู่ช่วยงานศพด้วย แสดงว่าโจทก์รู้ถึงการตายของ ส. ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2548 โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยในฐานะทายาทของ ส. ให้ชำระหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าว เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 พ้นกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการตายของ ส. ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม



01 สิงหาคม 2559

การร้องเพิกถอนการบังคับคดี ตามมาตรา 296

          ป.วิ.พ. มาตรา 296  " ในกรณีที่คำบังคับ หมายบังคับคดี หรือคำสั่งศาลในชั้นบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ เมื่อศาลเห็นสมควรไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลงหรือเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีรายงานต่อศาล หรือเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายเพราะเหตุดังกล่าวยื่นคำร้องต่อศาล ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขคำบังคับ หมายบังคับคดี หรือคำสั่งดังกล่าวทั้งหมดหรือบางส่วนหรือมีคำสั่งอย่างใดตามที่ศาลเห็นสมควร
          ภายใต้บังคับมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ เมื่อศาลเห็นสมควรไม่ว่าเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลงหรือเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายเพราะเหตุดังกล่าวยื่นคำร้องต่อศาล ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวง หรือวิธีการบังคับใดๆโดยเฉพาะ หรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างใดตามที่ศาลเห็นสมควร
การยื่นคำร้องตามมาตรานี้อาจกระทำได้ไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่าสิบห้าวันนับแต่วันที่ที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น แต่ทั้งนี้ผู้ยื่นคำร้องต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หลังจากได้ทราบเรื่องฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้แล้วหรือต้องมิได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำนั้น และในกรณีเช่นว่านี้ผู้ยื่นคำร้องจะขอต่อศาลในขณะเดียวกันนั้นให้มีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ในระหว่างพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดก็ได้
          เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ให้ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลง เมื่อได้มีการดำเนินการดังต่อไปนี้
          (1) ในกรณีที่คำบังคับหรือหมายบังคับคดีกำหนดให้ส่งมอบทรัพย์สิน กระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างใด เมื่อได้มีการปฏิบัติตามคำบังคับหรือหมายบังคับคดีที่ให้ส่งมอบทรัพย์สินกระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างนั้นแล้ว แต่ถ้าการปฏิบัติตามคำบังคับหรือหมายบังคับคดีดังกล่าว อาจแยกได้เป็นส่วนๆ เมื่อได้มีการปฏิบัติตามคำบังคับหรือหมายบังคับคดีในส่วนใดแล้ว ให้ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงเฉพาะในส่วนนั้น
          (2) ในกรณีที่คำบังคับหรือหมายบังคับคดีกำหนดให้ใช้เงิน เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้จ่ายเงินตามมาตรา 318 มาตรา 319 มาตรา 320 มาตรา 321 หรือมาตรา 322 แล้วแต่กรณีแล้ว แต่ถ้าทรัพย์สินที่ถูกบังคับคดีมีหลายรายการ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้จ่ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินรายการใดแล้ว ให้ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงเฉพาะทรัพย์สินรายการนั้น
          ในการยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรานี้ หากมีพยานหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำร้องนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่อาจได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องดังกล่าวร้องขอ ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้ยื่นคำร้องวางเงินหรือหาประกันต่อศาลตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนดเพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลนั้นได้ ถ้าผู้ยื่นคำร้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องนั้นเสีย คำสั่งของศาลที่ออกตามความในวรรคนี้ให้เป็นที่สุด
          ในกรณีที่ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องที่ยื่นไว้ตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องดังกล่าวเห็นคำร้องนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า บุคคลดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่งยกคำร้องเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ยื่นคำร้องนั้นชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้แยกการพิจารณาเป็นสำนวนต่างหากจากคดีเดิม และเมื่อศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าคำร้องนั้นรับฟังได้ ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ยื่นคำร้องนั้นชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลที่ได้รับความเสียหายดังกล่าวตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควรถ้าผู้ยื่นคำร้องนั้นไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ศาลมีอำนาจบังคับผู้ยื่นคำร้องนั้นได้เสมือนหนึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา"

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาไดวินิจฉัยไว้ เช่น

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9314/2557    การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีบรรยายสภาพที่ดินว่าติดทางสาธารณะ แต่แผนที่สังเขปแสดงข้อมูลถูกต้องว่าติดทางในหมู่บ้านจัดสรร จึงฟังไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีจงใจปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์และใช้กลฉ้อฉลผู้ซื้อทรัพย์ การที่จำเลยทั้งสามไม่ได้ทำการตรวจสอบให้ดีก่อนทำการประมูลว่าแท้จริงที่ดินดังกล่าวติดทางสาธารณะหรือทางส่วนบุคคล จึงเป็นความบกพร่องของจำเลยทั้งสามเองเพราะตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ระบุคำเตือนผู้ซื้อไว้แล้วว่าเรื่องเขตเนื้อที่ ประเภทและสภาพของทรัพย์ เป็นหน้าที่ผู้ซื้อที่จะต้องไปตรวจสอบสถานที่ด้วยตนเอง จำเลยทั้งสามจึงยกเรื่องดังกล่าวมากล่าวอ้างว่า เข้าซื้อทรัพย์โดยถูกกลฉ้อฉลทำให้สำคัญผิดในสาระสำคัญของทรัพย์หาได้ไม่ และการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีระบุรายละเอียดในประกาศไม่ถูกต้องทั้งหมด ก็ไม่ถึงขนาดที่ทำให้ผู้ซื้อทรัพย์ประมูลซื้อในราคาที่สูงกว่าความเป็นจริง เพราะก่อนซื้อจำเลยทั้งสามได้ตรวจสอบทำเล สภาพและสถานที่ตั้งแล้ว พยานหลักฐานจำเลยทั้งสามฟังไม่ได้ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีใช้กลฉ้อฉลผู้ซื้อ
          ป.พ.พ. มาตรา 514 บัญญัติให้ผู้สู้ราคาในการขายทอดตลาดย่อมพ้นความผูกพันในราคาที่ตนสู้แต่ขณะเมื่อมีผู้อื่นสู้ราคาสูงขึ้น หรือมีการถอนทรัพย์สินรายนั้นจากการขายทอดตลาด ผู้สู้ราคาก็พ้นความผูกพันแต่ขณะที่ถอนนั้นดุจกัน แต่กรณีของจำเลยทั้งสามเป็นเรื่องที่สู้ราคาสูงสุดและเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินได้จากการขายทอดตลาดแล้วไม่ชำระราคา จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 514 เจ้าพนักงานบังคับคดีนำทรัพย์ออกขายทอดตลาดอีกครั้งหนึ่งได้ราคา 10,500,000 บาท ซึ่งไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ไม่ครบ จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้สู้ราคาเดิมต้องรับผิดในส่วนที่ขาด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 และสัญญาซื้อขายจำเลยทั้งสามจึงต้องชำระเงินส่วนที่ขาด 1,650,000 บาท แก่โจทก์ สัญญาซื้อขายระบุชัดว่า ขอวางเงินมัดจำไว้ 50,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระภายใน 15 วัน เงินจำนวนนี้จึงเป็นเงินมัดจำ เมื่อจำเลยทั้งสามไม่ชำระราคาภายในกำหนด จำเลยทั้งสามจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา เจ้าพนักงานบังคับคดีมีสิทธิริบเงินดังกล่าว เมื่อริบเงินดังกล่าวแล้วย่อมไม่สามารถนำมาหักจากเงิน 1,650,000 บาท ที่จำเลยทั้งสามต้องชำระแก่โจทก์ได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16195/2556    คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยออกขายทอดตลาดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แต่ได้เงินไม่พอชำระหนี้ และความปรากฏว่าจำเลยถึงแก่ความตายไปแล้ว โจทก์จึงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของจำเลยเพิ่ม จึงเป็นกรณีที่โจทก์ขอให้ดำเนินการบังคับคดีเอาจากกองมรดกของจำเลยตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 271 ซึ่งโจทก์มีสิทธิที่จะดำเนินการดังกล่าวภายในระยะเวลา 10 ปี มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องคดีมรดกซึ่งมีอายุความ 1 ปี นับแต่เมื่อโจทก์เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ดังที่ผู้ร้องอ้าง ผู้ร้องทั้งสามจึงไม่อาจยกเหตุนี้ขึ้นอ้างเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 ได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8212/2556   ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 302 วรรคหนึ่ง ศาลจังหวัดลพบุรีเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาไต่สวนและมีคำสั่งเกี่ยวกับการบังคับคดีนี้ และมีอำนาจมอบหมายให้ศาลชั้นต้นดำเนินการบังคับคดีแทนได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 302 วรรคสาม ฉะนั้นเมื่ออยู่ระหว่างการบังคับคดีแทน ศาลชั้นต้นเห็นว่าตนเองบังคับคดีผิดพลาดหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย ก็ย่อมเพิกถอนกระบวนการบังคับคดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบมาตรา 296 วรรคหนึ่ง
          ก่อนผู้ซื้อทรัพย์เข้าสู้ราคาได้ไปดูที่ดินพิพาททั้งสองแปลงโดยอาศัยแผนที่สังเขปแสดงที่ตั้งของหลักประกันและบริเวณใกล้เคียงแล้ว และได้ตรวจดูที่ดินข้างเคียงในแผนที่ดังกล่าวที่มีการขายทอดตลาดในวันเดียวกันเป็นข้ออ้างอิง จึงเชื่อว่าที่ดินที่ได้ไปดูตามแผนที่ดังกล่าวเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) จึงเข้าสู้ราคาซื้อที่ดินดังกล่าว เมื่อปรากฏว่าที่ดินทั้งสองแปลงไม่มีอยู่จริง จึงไม่อาจถือได้ว่าผู้ซื้อทรัพย์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
          เมื่อที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ไม่มีอยู่จริง ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดและนำออกขายทอดตลาด จึงเป็นการบังคับคดีที่ไม่ชอบและฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งศาลมีอำนาจให้เพิกถอนการยึดทรัพย์และการขายทอดตลาดที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคหนึ่ง 

          ส่งหมายแจ้งการยึดและประกาศขายทอดตลาดโดยมิชอบแล้ว ศาลจะต้องมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและให้ขายทอดตลาดใหม่ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7385/2556    โจทก์ส่งแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อส่งหมายแจ้งการยึดและประกาศขายทอดตลาดให้แก่ ส. ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดิน เมื่อแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรมีข้อความระบุว่า ส. ถูกจำหน่ายชื่อจากทะเบียนบ้าน เนื่องจากตายเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2542 ปรับปรุงข้อมูลครั้งสุดท้ายวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2550 ย่อมแสดงว่า ในขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งหมายแจ้งการยึดและประกาศขายทอดตลาดนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องทราบแล้วว่า ส. ได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว จึงไม่มีสภาพเป็นบุคคลที่จะส่งหมายแจ้งการยึดและประกาศขายทอดตลาดให้ทราบได้ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดียังคงส่งหมายดังกล่าวให้แก่ ส. โดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2550 กรณีจึงถือไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งหมายแจ้งการยึดและประกาศขายทอดตลาดโดยชอบแล้ว เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ส่งหมายดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องทายาทของผู้ตายซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียทราบ จึงเป็นการดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง ชอบที่ศาลจะต้องมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวและให้ขายทอดตลาดใหม่ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งหมายแจ้งการยึดและหมายแจ้งประกาศขายทอดตลาดให้แก่ ส. ผู้ตาย ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินที่โจทก์นำยึดไว้ โดยไม่ได้ส่งหมายให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทของ ส. นั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า ได้ความจากคำเบิกความผู้ร้องว่า ในการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 7121 ตำบลบ้านม้า อำเภอบางปะหัน (นครใน) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โจทก์หรือผู้แทนโจทก์ได้ส่งแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อส่งหมายแจ้งการยึดและหมายแจ้งประกาศขายทอดตลาดให้แก่ ส. ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินแปลงดังกล่าวด้วย เมื่อแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรมีตราประทับของกระทรวงยุติธรรมและมีลายมือชื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีรับรอง มีข้อความระบุในเอกสาร “....นาย ส...บุคคลนี้ถูกจำหน่ายชื่อจากทะเบียนบ้านเนื่องจากตายเมื่อ 19 มกราคม 2542 ปรับปรุงข้อมูลครั้งสุดท้าย วันที่ 7 เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 รับรองว่าเป็นรายการจากฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎร วันที่ 8 เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550...” ย่อมแสดงว่า ในขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งหมายแจ้งการยึดและหมายแจ้งประกาศขายทอดตลาดนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องทราบแล้วว่า ส. เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินที่โจทก์นำยึดได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว จึงไม่มีสภาพเป็นบุคคลที่จะส่งหมายแจ้งการยึดและหมายแจ้งประกาศขายทอดตลาดให้ทราบได้ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดียังคงส่งหมายดังกล่าวให้แก่ผู้ตายโดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2550 ตามที่ปรากฏจากแบบรายงานการตรวจสอบผลการส่งประกาศขายทอดตลาด เอกสารท้ายรายงานข้อเท็จจริงของเจ้าพนักงานบังคับคดีฉบับลงวันที่ 3 มีนาคม 2551 กรณีจึงถือไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งหมายแจ้งการยึดและหมายแจ้งประกาศขายทอดตลาดโดยชอบแล้ว เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ส่งหมายดังกล่าวให้ผู้ร้องทายาทของผู้ตายซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียทราบ จึงเป็นการดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 306 วรรคหนึ่ง ชอบที่ศาลจะต้องมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวและให้ขายทอดตลาดใหม่ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของผู้ร้องนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น
          พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 7121 ตำบลบ้านม้า อำเภอบางปะหัน (นครใน) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16991/2555    การขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง ต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง และเกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี แม้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ซื้อทรัพย์เดิมจากการขายทอดตลาดจะเป็นบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าหลังจากผู้ร้องประมูลซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างได้จากการขายทอดตลาดแล้ว ผู้ร้องไม่ชำระราคา เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องนำทรัพย์ออกขายทอดตลาดใหม่ จากนั้นผู้ซื้อทรัพย์ประมูลซื้อในราคาซึ่งสูงกว่าราคาที่ผู้ร้องประมูลซื้อไว้ครั้งก่อน จึงไม่มีราคาทรัพย์ส่วนที่ขาดที่ผู้ร้องจะต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้ต้องเสียหายเพราะเหตุที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2997/2554    คำฟ้องของโจทก์ที่ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 23422 พร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้าง และให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถอนการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 19323 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง โดยโจทก์ทั้งสองอ้างว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งประกาศขายทอดตลาดให้ทราบ และขายทอดตลาดทรัพย์ไปในราคาต่ำกว่าราคาปกติ ทำให้โจทก์ทั้งสองมีหนี้ค้างชำระต้องถูกยึดทรัพย์อื่นอีก อันเป็นคำฟ้องที่อ้างว่าการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง จึงต้องยื่นคำร้องต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดี โจทก์ทั้งสองหาอาจนำคดีมาฟ้องใหม่ได้ไม่และในกรณีที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายเป็นค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีแทนโจทก์ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์นั้น เมื่อศาลยังไม่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดหรือเพิกถอนการยึดทรัพย์ก็จะฟังว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งสองหาได้ไม่ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2202/2554   เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีหนังสือแจ้งอายัดเงินประกันผลงานของจำเลยไปยังผู้ร้อง ผู้ร้องได้มีหนังสือปฏิเสธการส่งเงินแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีว่า ได้มีการหักเงินประกันผลงานไปแล้วและไม่มีเงินเหลือที่จะส่งให้ ถือว่าเป็นการปฏิเสธหรือโต้แย้งหนี้ที่เรียกร้องเอาแก่ผู้ร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 312 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นจึงต้องไต่สวนให้ได้ความว่าผู้ร้องยังมีหนี้ต้องชำระแก่จำเลยอยู่หรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีให้ยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้ร้องโดยไม่ได้ทำการไต่สวนเสียก่อนจึงเป็นการไม่ชอบ

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 284/2554   จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด โดยอ้างว่าการขายทอดตลาดมีผู้เข้าสู้ราคาเพียงรายเดียวและราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดต่ำเกินสมควรอันเกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลหรือความไม่สุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีและโจทก์ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยแล้ว จำเลยยื่นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาว่าการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ไปโดยมีผู้เข้าสู้ราคาเพียงรายเดียวชอบหรือไม่ ซึ่งเป็นอุทธรณ์ในประเด็นที่ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุอื่นตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง มิใช่ประเด็นที่ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุการขายทอดตลาดทรัพย์สินในราคาต่ำเกินสมควรโดยมิชอบตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง อันจะทำให้คำสั่งศาลชั้นต้นเป็นที่สุดได้ตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสี่
          การขายทอดตลาดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา กฎหมายมิได้บัญญัติให้ต้องมีผู้เข้าแข่งขันประมูลราคา แม้การขายทอดตลาดทรัพย์คดีนี้จะมีโจทก์เข้าสู้ราคาเป็นผู้ซื้อทรัพย์เพียงรายเดียวก็ตาม เจ้าพนักงานบังคับคดีก็สามารถดำเนินการขายทอดตลาดไปได้โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ประมูลราคารายอื่นเข้ามาแข่งขันด้วยประกอบกับยังได้ความอีกว่า การขายทอดตลาดดังกล่าวเป็นการขายทอดตลาดครั้งที่ 19 ซึ่งการขายทอดตลาดครั้งก่อนหน้านี้ไม่มีผู้ใดสนใจเข้าสู้ราคานอกจากโจทก์ดังนั้น การดำเนินการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงชอบด้วยกฎหมายแล้วไม่มีเหตุให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้

          ยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบเรื่องที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสามกำหนด ผู้ร้องทั้งสามย่อมไม่มีสิทธิร้องคัดค้านให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 108/2554    ผู้ร้องทั้งสามทราบประกาศการขายทอดตลาดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้ร้องทั้งสามโดยชอบ และทราบเรื่องที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 อันเป็นวันขายทอดตลาดแล้ว แต่ผู้ร้องทั้งสามมายื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2549 จึงเป็นการยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาสิบห้าวันที่ ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสามกำหนด ผู้ร้องทั้งสามย่อมไม่มีสิทธิร้องคัดค้านให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือไม่อีก

          การยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของจำเลยอาจกระทำได้ไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่า 15 วัน นับแต่วันที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1574/2553    การยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของจำเลยที่ 1 อาจกระทำได้ไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่า 15 วัน นับแต่วันที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสาม คดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีเพิ่งขายทอดตลาดไปเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 และยังมิได้จ่ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดแก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้การบังคับคดีจึงยังไม่เสร็จลงตามมาตรา 296 วรรคสี่ ส่วนที่ต้องไม่ช้ากว่า 15 วัน นับแต่วันที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น ศาลชั้นต้นต้องไต่สวนให้ได้ความก่อนว่ามีข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นหรือไม่และจำเลยที่ 1 ทราบแล้วหรือไม่ เมื่อใด เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งโดยไม่ไต่สวนจึงเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบ การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 14 ธันวาคม 2547 ฉบับแรก ขอให้รับคำร้องขอเพิกถอนการพิจารณาของจำเลยที่ 1 ไว้ไต่สวนต่อไป ย่อมเป็นการแสดงว่าจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา 27 จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
          จำเลยที่ 1 เพิ่งทราบเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2547 ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดไปแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมอบให้ ว. ไปขอคัดถ่ายเอกสารการขายทอดตลาดที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดสมุทรสาคร และเพิ่งได้รับเอกสารมาเมื่อวันที่ 7 เดือนเดียวกัน ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นตั้งแต่วันที่ 7 เดือนดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 1 ทราบแล้วก็มอบให้ทนายความของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ทนายความของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดฉบับลงวันที่ 9 ธันวาคม 2547 จึงเป็นการยื่นคำร้องไม่ช้ากว่า 15 วัน นับแต่วันที่ทราบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสาม

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7878/2553    คำร้องของผู้ซื้อทรัพย์อ้างว่า โจทก์ไม่สามารถส่งมอบที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ที่ขายทอดตลาดให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ได้ เนื่องจากที่ดินดังกล่าวได้ออกทับโฉนดที่ดินแปลงอื่นโดยไม่มีเนื้อที่เหลืออยู่เลย เท่ากับอ้างว่าโจทก์หรือเจ้าพนักงานบังคับคดีนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาดแต่ไม่สามารถส่งมอบทรัพย์ให้แก่ผู้ซื้อ ถือได้แล้วว่าเป็นการอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสองแล้ว เมื่อได้ความว่า มีการออกเอกสารสิทธิในที่ดินทับซ้อนกันและยังมิได้มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินฉบับใดฉบับหนึ่ง ย่อมมีเหตุขัดข้องในการบังคับคดีให้ลุล่วงไป กรณีมีเหตุสมควรให้เพิกถอนการขายทอดตลาดรายนี้ได้ ส่วนเรื่องเพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินฉบับใดฉบับหนึ่งหรือไม่อย่างไรเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องไปว่ากล่าวกันต่างหากหลังจากเพิกถอนการขายทอดตลาดแล้ว

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5752/2553    จำเลยยื่นคำร้องขอเพิกถอนหมายบังคับคดีในคดีนี้อ้างว่าจำเลยไม่ได้ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลพิพากษาตามยอม การที่จำเลยยื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีในอีกคดีหนึ่งที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอายัดทรัพย์สินของจำเลยว่า ทรัพย์สินของจำเลยถูกเจ้าหนี้หลายรายรวมทั้งโจทก์อายัดไว้แล้ว การอายัดทรัพย์สินในคดีดังกล่าวจึงเป็นการอายัดซ้ำ ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการอายัดและเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ถอนการอายัดแล้วเป็นการดำเนินการในคดีอื่นมิใช่ในคดีนี้ จึงมิใช่กรณีที่จำเลยได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หรือเป็นการให้สัตยาบันแก่การกระทำนั้น จำเลยจึงมีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดีในคดีนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม
          วันครบกำหนดชำระหนี้ตรงกับวันเสาร์ การที่จำเลยนำเงินเข้าบัญชีของโจทก์ในธนาคารทันทีในวันแรกที่เปิดทำการจึงไม่ถือว่าจำเลยผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์ล่วงพ้นกำหนดและตกเป็นผู้ผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/8 แม้ธนาคารเปิดทำการในวันเสาร์อาทิตย์ก็มี ก็ไม่อาจเป็นข้อยกเว้นของกฎหมายได้
          
          ทราบถึงสิทธิของผู้ร้องแล้ว แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่แจ้งกำหนดวันขายทอดตลาดให้แก่ผู้ร้องที่ 1 ทราบ จึงเป็นการบังคับคดีโดยฝ่าฝืนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องที่ 1 ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7342/2552     เมื่อโจทก์ขอหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อบังคับคดีจำเลยแล้ว ผู้ร้องที่ 1 ก็ได้รับซื้อสินทรัพย์อันเป็นสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อจำเลยตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 หลังจากนั้นผู้ร้องที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แทนโจทก์ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี ผู้ร้องที่ 1 ย่อมเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 แม้ผู้ร้องที่ 1 จะไม่ได้ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิต่อศาลชั้นต้น แต่ก็ได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้วผู้ร้องที่ 1 จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในการบังคับคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทราบถึงสิทธิของผู้ร้องแล้วก่อนวันขายทอดตลาด การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยโดยได้แจ้งกำหนดวันขายทอดตลาดให้โจทก์ทราบแต่ไม่แจ้งแก่ผู้ร้องที่ 1 ทราบ จึงเป็นการบังคับคดีโดยฝ่าฝืนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องที่ 1 ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง และศาลชอบที่จะต้องมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวและให้ขายทอดตลาดใหม่

          ระหว่างการขายทอดตลาดทรัพย์ จำเลยได้ตกลงกับโจทก์โดยขอผ่อนชำระหนี้ และจำเลยได้ผ่อนชำระตามบันทึกดังกล่าวให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีหน้าที่ที่จะขอให้งดการบังคับคดี โดยงดการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยไว้ แต่โจทก์หาได้กระทำแต่อย่างใด คงปล่อยให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลย ทั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งให้ผู้ร้องทราบถึงวันขายทอดตลาด พฤติการณ์ดังกล่าวจึงมีเหตุให้ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7313/2552    ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์โดยอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมาย กล่าวคือมิได้แจ้งประกาศการขายทอดตลาดทรัพย์ให้จำเลยที่ 1 หรือให้แก่ผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียทราบถึงวันขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ทั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ไปโดยไม่สุจริต สมรู้ร่วมคิดกับผู้ซื้อทรัพย์กดราคาและกระทำโดยประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องทั้งสอง จึงเป็นการร้องขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ประกอบมาตรา 296 วรรคสอง หากผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งอาจได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องขอดังกล่าวเห็นว่ามีพยานหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำร้องนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้ร้องทั้งสองวางเงินหรือหาประกันต่อศาลภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนด เพื่อเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลนั้นได้ซึ่งผู้ซื้อทรัพย์ได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้ผู้ร้องทั้งสองนำเงินมาวางประกัน 50,000 บาท ผู้ร้องทั้งสองได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้ว ต่อมาศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง ผู้ร้องทั้งสองยื่นอุทธรณ์ หากผู้ซื้อทรัพย์เห็นว่าคำร้องนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า ผู้ซื้อทรัพย์ก็มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าวเพื่อขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องทั้งสองนั้นชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้ ในกรณีเช่นว่านี้ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้แยกการพิจารณาเป็นสำนวนต่างหากจากคดีเดิม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคท้าย ดังนั้น ที่ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้มีคำสั่งให้ผู้ร้องทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนในคดีเดิมจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
          ระหว่างการขายทอดตลาดทรัพย์ จำเลยที่ 3 ได้ตกลงกับโจทก์โดยขอผ่อนชำระหนี้ และจำเลยที่ 3 ได้ผ่อนชำระตามบันทึกดังกล่าวให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีหน้าที่ที่จะขอให้งดการบังคับคดี โดยงดการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ไว้ แต่โจทก์หาได้กระทำแต่อย่างใด คงปล่อยให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ทั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งให้ผู้ร้องที่ 1 ทราบถึงวันขายทอดตลาด พฤติการณ์ดังกล่าวจึงมีเหตุให้ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดจึงมิใช่การยื่นคำร้องโดยไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6956/2552   จำเลยในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับเงินค่าขายทรัพย์พิพาทไปเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2548 ต้องถือว่าการบังคับคดีสำหรับทรัพย์สินพิพาทได้เสร็จลงแล้วตั้งแต่วันดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสองและวรรคสาม การที่โจทก์มายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดในวันที่ 14 มีนาคม 2548 เป็นการยื่นภายหลังจากการบังคับคดีได้เสร็จลง โจทก์จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5321/2552   จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทในราคาต่ำกว่าราคาประเมินและมูลค่าที่ดินมาก โดย ศ. ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ได้คัดค้านแล้ว แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่เลื่อนการขายทอดตลาดไปทั้งที่เป็นการขายทอดตลาดที่มีผู้เสนอราคาครั้งแรก เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการโต้แย้งกระบวนวิธีการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง มิใช่โต้แย้งว่าราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินมีจำนวนต่ำเกินสมควร อันเกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการเข้าสู้ราคาหรือความไม่สุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ซึ่งการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดในกรณีของจำเลยทั้งสองนี้ไม่มีบทกฎหมายบัญญัติให้คำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นที่สุด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองโดยวินิจฉัยว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นที่สุดตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับแก่กรณีการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง จึงเป็นการไม่ถูกต้องไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 242 (1) ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยทั้งสองจะไม่ได้ยกขึ้นอ้างในฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247
          แม้จำเลยที่ 1 ไม่มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาท แต่จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อการขายทอดตลาดครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ไม่มีผู้เสนอราคาต่อมาในการขายทอดตลาดครั้งที่ 3 ผู้ซื้อทรัพย์ทั้งสองได้เสนอราคาสูงสุด ก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะเคาะไม้ขายให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิคัดค้านว่าราคาดังกล่าวมีจำนวนต่ำเกินสมควร ในกรณีเช่นว่านี้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องเลื่อนการขายทอดตลาดไปตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคหนึ่ง ศ. เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิคัดค้านราคาในนามของจำเลยที่ 1 ได้ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่เลื่อนการขายทอดตลาดไปโดยอนุมัติการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ ถือได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง